วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566

เสือไหหลำ

 


海南 = ชาวไหหนำ / เสือไหหลำ
(คณะเสือไหหลํา ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ นครสวรรค์)

ตำนานการเเสดง เสือเพียง 1 เดียว ที่อยู่รวมกับ 4สิงโต ก็คือ “เสือไหหลำ” นั่นเอง  การละเล่นที่ดุดัน เสียงเครื่องดนตรีเร้าใจ   บอกกล่าวเล่าขานถึงเนื้อเรื่องของการเเสดงว่า “เสือกินเด็ก”

“เสือ” ตามความเชื่อของชาวจีนไหหนำ เป็นสัญลักษณ์ของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดีคือ “เจ้าพ่อเทพารักษ์” 

เสือเป็นเสมือนสัตว์ที่คอยเบิกทางก่อนที่เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากงจะเสด็จ คอยปกป้องภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามมาย่างกราย ดังนั้นชาวไหหลำซึ่งนับถือเทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง จึงนำเสือมาเป็นสัญลักษณ์ใช้เชิดในเทศกาลและงานพิธีมงคลต่างๆเพื่อให้ตนเองและครอบครัวประสพแต่โชคดี และนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล 

สำหรับประวัติความเป็นมาของการเชิดเสือ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ..

ณ หมู่บ้านหนึ่งของอำเภอบุ้นเชียง ในหมู่เกาะไหหลำมีศาลเจ้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์รูปจำลองของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และที่บริเวณใกล้กับศาลเจ้าฯ เป็นที่อยู่ของเสือตัวหนึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง”เลี้ยงไว้ ซึ่งโดยปรกติเสือตัวนี้จะเป็นสัตว์ที่ไม่เคยทำอันตรายแก่ผู้ใด จวบจนวันหนึ่งมีเด็กชายซึ่งเป็นบุตรของหญิงในหมู่บ้านนั้น ด้วยความซุกซนจึงได้แหย่เสือตัวนี้ซึ่งกำลังหลับอยู่ เสือตัวนี้จึงตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ จึงคำรามลั่นและมุ่งตรงเข้ามาทำร้ายเด็กและได้กลืนเด็กลงท้องไปเรื่องรู้ถึงแม่ของเด็กก็ตกใจจึงได้ออกตามผู้กล้าทั้งหลายในหมู่บ้านให้มาช่วยเหลือลูกของตนแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แม่ของเด็กก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ความล่วงรู้ถึง “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” ด้วยทิพย์ญาณที่เสือได้กลืนเอาเด็กลงท้อง จึงบัญชาให้องครักษ์ 2 องศ์มาช่วยชีวิตเด็ก ดังนั้นองครักษ์ทั้ง 2 องค์จึงได้ปรากฏกายมาสยบเสือและได้ช่วยให้เสือยอมคายเด็กออกมาโดยปลอดภัย 

ดังนั้นชาวจีนไหหลำได้นำตำนานเรื่องนี้ มาเป็นการแสดงในตอนหนึ่งของการเชิดเสือ และเมื่อชาวจีนไหหลำได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ชุมชนปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้น้ำเอาวัฒนธรรมประเพณีของการเชิดเสือเข้ามาเผยแพร่ให้ลูกหลานของชนรุ่นหลังได้สืบทอดวัฒนธรรมการเชิดเสือจนแพร่หลาย และยังได้อัญเชิญ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” มาประดิษฐ์สถานเพื่อสักการบูชา ซึ่งปัจจุบันองค์จำลองของ “เทพเจ้าบ๊วนเถ่ากง” หรือ “เจ้าพ่อเทพารักษ์” ได้ประดิษฐานรวมกับ “เจ้าพ่อกวนอู” “เจ้าแม่ทับทิม” “เจ้าแม่สวรรค์” ณ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิมแควใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดปากน้ำโพซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง