วัดสระเกศมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร
วัดสระเกศเป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรี อยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่าชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อทรงกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ.2325
มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้เปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า
"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"
ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'"
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดสระเกศยังเป็นที่รู้จักในภาพอันน่าสะพรึงกลัว นั่นคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร
ขณะนั้นยังไม่มีวิธีรักษา ไม่รู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงใช้วิธีพระราชทานกำลังพระราชหฤทัย โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง
ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน
กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาตกโรคประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน
บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการและธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วยและจัดการกับศพของญาติมิตร
ในเวลานั้นวัดสระเกศเป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน อหิวาตกโรคเวียนมาในทุกฤดูแล้งและหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี จนในปี พ.ศ.2392 อหิวาต์ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ
เรียกกันว่าห่าลงปีระกา ในระยะเวลาช่วง 1 เดือนที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000-20,000 คน และตลอดฤดูตายถึง 40,000 คน
เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คือรัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงเพศบรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ
มีศพที่นำมาเผาสูงสุดถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้นศพที่เผาไม่ทันก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ไปลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง
แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้งที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระหายได้ และจิกกินซากศพจนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว
แร้งวัดสระเกศจึงเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา เมื่อฝูงแร้งมากมายขนาดที่เรียกได้ว่ามืดฟ้ามัวดิน แห่ลงกินซากศพที่กองอยู่เป็นภูเขาเลากาข้างภูเขาทอง นับเป็นภาพที่อุจาดต่อสายตาและน่าสยดสยองอย่างมากต่อผู้พบเห็น ซากศพคนตายเหล่านั้นตายด้วยอหิวาตกโรค ทิ้งเกลื่อนกลาดที่วัดสระเกศ มีแร้งจิกกินจนกระดูกขาวโพลน
มีเรื่องเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งคิดพิเรนทร์จับแร้งตัวหนึ่งใส่กระสอบ แล้วแบกไปที่บ้านฝรั่งตอนก่อนถึงวันคริสต์มาส 4-5 วัน แล้วบอกว่ามีไก่งวงมาขายในราคาถูก เป็นไก่งวงที่เลี้ยงไว้ในทุ่งจึงเปรียวมาก ต้องใส่กระสอบไว้ ฝรั่งชะโงกหน้าลงมาดู ชายคนนั้นก็เผยอปากถุงให้เห็นหัวแดง ตัวใหญ่เท่าไก่งวง ดิ้นขลุกขลักอยู่ในกระสอบ จึงรับซื้อไว้ในราคา 4 บาท
รุ่งขึ้นฝรั่งสั่งให้พ่อครัวเอาไก่งวงออกมายืดเส้นยืดสายก่อนที่จะตายในกระสอบ แต่พอเปิดกระสอบปล่อยออกมาแร้งก็วิ่งอ้าวแล้วบินหนีไป เรื่องนี้จึงเป็นที่เล่ากันอย่างสนุกสนานต่อๆ มา คำว่า "ไก่งวงวัดสระเกศ" จึงเป็นคำฮิตของบางกอกในสมัยนั้นไปด้วย
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2457 ได้มีการผลิตน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯ อหิวาต์จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่ก็ยังไม่ขาดหายไป แม้ในทุกวันนี้ก็ยังมีอหิวาต์เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน แต่ความรู้ และสุขาภิบาลในสมัยนี้ทำให้โรคไม่สามารถระบาดได้รุนแรง คร่าชีวิตผู้คนมากมายได้อย่างในสมัยก่อน
ส่วนแร้งปัจจุบันหาได้ยากแล้ว กลายเป็นสัตว์เกือบสูญพันธุ์ โดยเฉพาะแร้งเทาหลังขาวซึ่ง
ลงมาจิกกินซากศพที่วัดสระเกศ ปัจจุบันถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ที่จริงสมัยก่อนเมื่อพูดถึงแร้งวัดสระเกศต้องกล่าวถึงเปรตวัดสุทัศน์ด้วย ซึ่งเปรตเป็นมนุษย์ที่ทำบาปกรรมแบบขั้นสุด เมื่อตายไปแล้วจะเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์ ปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบลาน มักปรากฏตัวตอนกลางคืน
สมัยก่อนบรรยากาศแถววัดสุทัศน์นั้นน่ากลัว มักมีคนเล่าว่าพบเห็นผีเปรตอยู่เสมอ แต่บ้างก็บอกว่านั่นคือเงาจากเสาชิงช้า ความเชื่อแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับเรื่องราวของเปรตแห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เล่ากันว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ นั่นเอง.
เปรต
เป็นผีจำพวกหนึ่ง ซึ่งได้เคยสร้างบาปกรรมอย่างหนักไว้ในอดีต พอสิ้นชีวิตลงก็ต้องมารับกรรมกลายเป็นเปรตตามแต่ผลของกรรมจะบันดาล ทำให้เปรตต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากแร้นแค้น ชอบส่งเสียงร้องหรือขึ้นมาขอส่วนบุญจากมนุษย์
ตามความเชื่อของคนไทย เปรต เป็นผี มีรูปร่างสูงเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ผิวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญในงานบุญต่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมบุญได้แล้วเกิดใหม่ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็นอยู่
โดยเปรตนั้นแบ่งได้เป็น 12 ตระกูล ตามคัมภีร์เปรตวัตถุหรือนิรยกถาอันเป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องของเปรต คือ
1. วันตาสาเปรต คือ เปรตที่กินน้ำลาย น้ำมูก อาเจียนเป็นอาหาร
2. กูณปราทเปรต คือ เปรตที่กินซากศพคนและสัตว์เป็นอาหาร
3. คูถขาทเปรต คือ เปรตที่กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
4. อัคคิชาลมุขเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
5. สุจิมุขเปรตตระกูล คือ เปรตที่มีปากเท่ารูเข็ม
6. ตัณหาชิตาเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
7. นิชฌาบกเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้เผา
8. สัตตังคาเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือ เล็บเท้ายาว และคมเหมือนมีด
9. ปัพพตังคาเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
10. อังครังคาเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเหมือนงูเหลือม
11. เวมานิกเปรต คือ เปรตที่เสวยทุกข์ในกลางคืน และไปเสวยสุขในวิมานบนสวรรค์ตอนกลางวัน
12. มหิทธิกาเปรต คือ เปรตที่มีฤทธิ์มากและเป็นเจ้าแห่งเปรตทั้งหลาย
สุดท้ายฝากข้อคิดเตือนใจไว้สักนิด การที่เราจะตายไปแล้วเกิดเป็นเปรต ก็ขึ้นอยู่กับบาปกรรมที่ได้กระทำไว้บนโลกมนุษย์ เช่น ผู้ที่ชอบดุด่าตบตีผู้มีพระคุณหรือบุพการี พ่อแม่ ผู้ที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต