เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5
ย้อนกลับไปเกือบ 150 ปีก่อน บนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในเอเชียอย่างยากที่จะยับยั้ง ความคิด”อย่างฝรั่ง” มีอิทธิพลมากถึงขนาดกลืนกลินวัฒนธรรมในบางประเทศไปจนหมดสิ้น ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดอ่าน และตั้งรับเรื่องนี้ด้วยการให้เหล่าราชวงศ์ทั้งผู้น้อง พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ทุกองค์ เล่าเรียนภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ซึ่งอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงถือเป็นกษัตริย์ในทวีปเอเชียคนหนึ่งเลยทีเดียว ที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามเมื่อพระองค์ทรงพบปะกับกษัตริย์ และพระราชินีของประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสามารถตรัสสนธนาได้อย่างเป็นกันเอง และสนิทสนมกับเหล่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ตะวันตกอย่างแน่นแฟ้น อันนำเอาประโยชน์ต่างๆ มาสู่สยามมากมาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน เป็นครูและลูกศิษย์ที่มีความผูกพันธ์กันตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงพระเยาว์ แต่ด้วยความที่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อคราวโตขึ้น แม้ทั้งคู่จะนัดแนะเจอกันสักขนาดไหน ก็มีเหตุให้การพบปะกันนั้นต้องเป็นการล้มเหลวไปทุกครั้งจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งต้องจบชีวิตไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้พบหน้ากันเลย สร้างความโศรกเศร้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้ทรงบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ “ความทรงจำ”พระนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จกลับจากการประพาสอินเดีย ได้ทรงริเริ่มความคิดขึ้นมาหนึ่งอย่าง คือในปี พ.ศ.2415 ทรงได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ อันเป็นความคิดที่ทรงดำริมานานแล้ว แต่ไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ แต่ในเวลานั้น ได้มีครูชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมน้าชายของเขาในสยาม เขาคนนั้นคือ นาย “ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน” เขาผู้นี้คือหลานชายของหลวงรัถยาพิบาลบัญชา (กัปตัน Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษผู้รับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาการกองโปลิศ(กรมตำรวจ)ของสยามเป็นคนแรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบ ก็ทรงโปรดให้ว่าจ้างไว้เป็นครูนั่นเอง
ในเหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ร่วมเรียนในเวลานั้นมีเชื้อพระวงศ์อยู่หลายพระองค์ รวมทั้งเหล่าบรรดามหาดเล็กด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าบรรดาเจ้านายผู้พี่ เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องช่วยราชการ รวมไปถึงพวกบรรดามหาดเล็กก็ติดงานหน้าที่ ทำให้เหลือจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด เหลือเพียงเจ้านายที่เป็นลูกศิษย์รัก (Favorite Pulpils) เพียง 4 พระองค์เท่านั้น อันได้แก่ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ, สมเด็จพระราชปิตุลาฯ,สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในช่วงแรกที่ทรงได้เปิดการเรียนการสอน ก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล เพราะศิษย์ก็ไม่เข้าใจภาษาของครู ครูก็ไม่เข้าใจภาษาของศิษย์ ต้องคอยเปิดหนังสือ “สัพพะพะวะจะนะ” อันเป็นพจนานุกรมที่สังฆราชปาลกัวทรงแต่งไว้ อย่างเป็นประจำ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าว่า มีครั้งหนึ่ง ท่านทรงได้แกล้งเพื่อนนักเรียน จนถูกครูแป๊ตเตอร์สันจับให้ยืนขึ้นบนเก้าอี้ที่มุมห้องเป็นเวลา 15 นาที ท่านเล่าว่าครั้งนั้นอาจถือเป็นครั้งแรกที่เด็กชาวไทยถูกทำโทษด้วยวิธีแบบฝรั่ง เมื่อเพื่อนนักเรียนต่างไม่เคยเห็น ก็พากันจ้องดูกันอย่างสนใจ พร้อมกับหัวเราะเยาะกันสนุกสนาน ด้วยความอับอายทำให้ท่านเหงื่อแตกโทรมไปหมดทั้งตัวหลังจากนั้นมาก็เข็ดหลาบ ไม่กล้าทำผิดอีกเลย
เมื่อเวลาล่วงเลยไป เจ้านายรุ่นพี่ทั้งสองพระองค์ก็เจริญพระชันษาขึ้น ต้องออกไปช่วยราชการบ้านเมือง ทำให้นักเรียนเหลือเพียง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรสรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนกระทั่งถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงไปผนวชเป็นสามเณร ทำให้เหลือท่านเป็นลูกศิษย์รักของครูเพียงคนเดียวในท้ายที่สุด
เมื่อท่านเป็นลูกศิษย์ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวทำให้ทรงใกล้ชิดกับครูแป๊ตเตอร์สันเป็นอย่างมาก เมื่อร่ำเรียนเสร็จแล้ว ครูแป๊ตเตอร์สันจะไปทำธุระที่ไหน หรือไปพบเพื่อนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบางกอกก็จะชักชวนให้พระองค์ทรงขึ้นรถไปด้วย ทำให้พระองค์ทรงคุ้นชินกับชาวต่างชาติตั้งแต่ในเวลานั้นเป็นต้นมา
เมื่อครบตามสัญญาการว่าจ้างที่ทำไว้กับสยาม 3 ปี ครูแป๊ตเตอร์สันก็ได้ออกจากสยาม และถูกรัฐบาลอังกฤษส่งไปเป็นครูที่เกาะมอรีเซียส ในมหาสมุทรอินเดียต่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของครูแป๊ตเตอร์สันอีกเลย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ อยู่ดีๆวันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงได้รับจดหมายจ่าหน้าถึงท่านว่า“ถึง พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” อันเป็นชื่อในวัยเด็กของท่าน คนที่ไปรษณีย์บางคนมีความรู้เรื่อง
ประวัติอยู่บ้าง จึงได้ทำการส่งมาให้ท่านถูก เมื่อเปิดซองทอดพระเนตรดูท่านก็ทรงดีใจเป็นอันมากเมื่อพบว่าเป็นจดหมายของครูชาวต่างชาติที่ท่านรักในวัยเด็ก ในจดหมายบอกเล่าเรื่องราวของครูแป๊ตเตอร์สันที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันตัวเขาได้เกษียณราชการและกลับไปอยู่ที่เกาะอังกฤษเรียบร้อยแล้วโดยได้อาศัยอยู่กับหลานชายที่เป็นนักพรตตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต อยู่ดีๆ นึกคิดถึงศิษย์เก่าในสยาม จึงได้ทำการเขียนจดหมายมาถามถึงว่า ศิษย์รักของท่านทั้ง 4 พระองค์ยังเป็นอยู่สบายดีรึเปล่า แต่ในเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และสมเด็จพระมหาสมณฯ ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วเหลือแต่เพียงสมเด็จพระปิตุลาฯ และตัวท่าน ท่านจึงได้นำเอาจดหมายฉบับนั้นไปถวายสมเด็จพระปิตุลาฯ ทอดพระเนตร เมื่อสมเด็จพระปิตุลาฯทรงอ่านจดหมายก็ดีใจเป็นอันมาก ทรงได้เขียนจดหมายตอบ พร้อมพระรูป และเงินไปประทานเช่นเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง อีกทั้งท่านยังได้ทรงอธิบายไปถึงครูแป๊ตเตอร์สันในจดหมายว่า ปัจจุบันท่านใช้ชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนยศเมื่อทรงได้ช่วยราชการเมื่อเจริญพรรษาขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ไม่นานก็มีจดหมายตอบจากครูแป๊ตเตอร์สันมาอีกครั้งว่า เสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ เพราะในปี 2434 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อนานมาแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครูแป๊ตเตอร์สันกลับไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษพอดี มีข่าวครึกโครมว่ามีเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งนามว่า “ปริ๊นซ์ ดำรง” ทรงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนได้ข่าวก็มาถามครูแป๊ตเตอร์สันว่ารู้จัก ปริ๊นซ์ ดำรง หรือไม่ ท่านก็ได้ตอบกลับไปว่า ไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปริ๊นซ์ ดำรงเลย และแสดงความเสียใจว่า “ไม่รู้เลย ว่าคือศิษย์รักของตัวเอง ถ้ารู้จะรีบไปหา” หลังจากนั้นพระองค์กับครูแป๊ตเตอร์สันก็ทรงเขียนจดหมายติดต่อกันเรื่อยมา
จนกระทั่งในปี 2473 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปพบครูรักของท่านในวัยเด็กให้ได้ ซึ่งเวลานั้นครูแป๊ตเตอร์สันมีอายุถึง 85 ปีแล้ว และอาศัยอยู่ที่เมืองคลอยส์เตอร์ กะว่าเมื่อไปพบจะทรงชวนฉายพระรูปฉายาลักษณ์ร่วมกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเด็ก เพื่อเอามาให้ลูกหลานของพระองค์ดู เมื่อท่านทรงเดินทางไปถึงกรุงลอนดอน เหล่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ก็มารุมทำข่าว เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ ทุกคนถามท่านว่า “ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน” ท่านจึงได้ทรงตอบว่า เรียนในบ้านเมืองของตนเอง พวกนักหนังสือพิมพ์ก็พากันแปลกใจว่าใครไปสอนให้ ท่านจึงทรงตอบว่า
ชื่อมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แป๊ตเตอร์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันกลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะอังกฤษแล้ว และจะทรงพยายามไปพบครูที่เมืองคลอยส์เตอร์ให้ได้ จากนั้นหนังสือพิมพ์จึงพากันตีพิมพ์ขึ้นสรรเสริญครูแป๊ตเตอร์สันกันอย่างแพร่หลายโด่งดังไปทั่วอังกฤษ จนกระทั่งพระองค์ทรงเสร็จสิ้นธุระในลอนดอน จึงได้ทรงให้อุปทูตติดต่อไปยังหลานชายของครูแป๊ตเตอร์สันที่เป็นนักพรต ว่าพระองค์มีพระประสงค์จะไปพบมิสเตอร์แป๊ตเตอร์สัน จะสะดวกวันใดบ้าง แต่คำตอบที่ได้ก็สร้างความตกใจให้พระองค์เป็นอย่างมาก หลานชายผู้เป็นนักพรตได้ตอบว่าตอนนี้ครูแป๊ตเตอร์สันประสบกับโรคชรา มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย และตั้งแต่ที่ได้ยินข่าวจาก
วิทยุว่าพระองค์ทรงเดินทางมาที่อังกฤษ ก็คิดจะบอกให้ครูแป๊ตเตอร์สันทราบ เพราะท่านทรงรักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาก แต่ด้วยที่มีอาการแทรกซ้อนมากเหลือเกิน จึงได้เอาไปปรึกษากับหมอก่อน ซึ่งหมอได้สั่งห้ามบอกครูเด็ดขาดเพราะเกรงว่าอารมณ์ความยินดีที่จะจู่โจมขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงทรงทราบดังนั้นก็จนใจ เพราะทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล หลังจากพระองค์ทรงออกจากกรุงลอนดอนมาได้ไม่นาน ก็ได้รับจดหมายจากนักพรตว่า ครูแป๊ตเตอร์สัน ถึงแก่กรรมแล้ว สร้างความโศรกเศร้าเสียใจให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก และเสียดายที่ไม่ได้พบครูที่ท่านรักในวัยเด็กสมประสงค์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเศร้าทีเดียว เรื่องของพระองค์ท่านได้สอนให้เรารู้อย่างหนึ่งว่าบางครั้งโอกาสกับโชคชะตามักเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในที บางครั้งโอกาสที่เราได้รับ อาจไม่ได้ถูกยอมรับจากโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมาเสมอไป 13 ปีต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2486
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น