วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566

ท้าวปาจิต - อรพิม



 “ปาจิต-อรพิม” เป็นนิทานเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” เนื้อเรื่องแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนาและเล่าเป็นแบบนิทานชาวบ้านผนวกการอธิบายชื่อบ้านนามเมือง “ปาจิต-อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่นบริเวณอีสานใต้ ซึ่งใช้อธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองแถบปราสาทหินพิมายและสถานที่ในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน

 

ท้าวปาจิต  เป็นโอรสของพระเจ้าอุทุมราช  กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธม  เมื่อเจริญวัยหนุ่มพระบิดาให้เลือกคู่ครอง  โดยการให้ทหารไปประกาศเรียกสาวทั้งเมืองมาให้ท้าวปาจิตเลือก  ทั้งลูกสาวเสนาอำมาตย์  ข้าราชการ  พ่อค้า  ชาวนา  ชาวไร่   แต่ท้าวปาจิตไม่ได้คล้องพวงมาลัยให้สาวคนใด  พระเจ้าอุทุมราชจึงได้ให้โหรทำนายเนื้อคู่ให้แก่พระโอรส  เมื่อโหรหลวงตรวจดูดวงชะตาแล้วจึงกราบทูลว่าเนื้อคู่ของท้าวปาจิตยังไม่เกิด  ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่งในอำเภอพิมาย  ท้าวปาจิตยังไม่แน่ใจในคำทำนายจึงเดินทางไปหาหญิงผู้นั้น  ซึ่งสังเกตได้ง่ายว่ามีครรภ์และมีเงากลดกั้นอยู่


ท้าวปาจิตไม่รอช้าเร่งออกเดินทางตามคำทำนายของโหร  จนกระทั้งมาถึงเขตเมืองพิมาย  จึงกางแผนที่ออกดู  พื้นที่ตรงนั้นจึงเรียกว่าบ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็นบ้านจารตำรา  ท้าวปาจิตได้ข้ามถนนเข้าในเขตเมืองพิมาย  บริเวณนั้นเรียกว่าบ้านถนน  แล้วเดินทางมาตามทางจนถึงหมู่บ้านหนึ่งที่มีต้นสนุนมาก  บริเวณนั้นจึงเรียกว่าบ้านสะนุ่น  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านท่าหลวง  แต่ปรากฏว่าเดินผิดเส้นทางจึงเดินทางไปอีกเส้นทางหนึ่งถึงบ้านสำริต  พบหญิงครรภ์แก่ชื่อยายบัวกำลังดำนาอยู่  เหนือหัวของนางบัวมีเงาเมฆคล้ายกลดกั้นอยู่ท้าวปาจิตก็แน่ใจว่าเป็นหญิงตามคำทำนาย  จึงเข้าไปแนะนำตนเองพร้อมแจ้งจุดประสงค์ที่เดินทางมา  และตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยยายบัวดำนาจนกว่าจะคลอดลูก  หากลูกคลอดเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย  แต่ถ้าหากเป็นหญิงจะมาสู่ขอเป็นมเหสี  ยายบัวก็ได้ตกลงตามที่แจ้ง

ท้าวปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวเรื่อยมาจนยายบัวครบกำหนดคลอด  จึงตามหมอตำแยมาทำคลอด  หมู่บ้านนั้นต่อมาจึงเรียกชื่อว่าบ้านตำแย  ทางด้านยายบัวได้คลอดลูกออกมาเป็นหญิงตรงตามคำทำนายจึงให้ชื่อว่าอรพิม  มีหน้าตางดงาม  ผิวพรรณผ่องใสเป็นที่พอใจของท้าวปาจิต  เมื่อเจริญวัยสาวก็ได้ผูกใจรักใคร่กับท้าวปาจิต  วันหนึ่งท้าวปาจิตจึงบอกให้นางอรพิมทราบว่าตนจะกลับบ้านกลับเมืองเพื่อยกขันหมากจากนครธมมาสู่ขอนางอรพิม  เพื่อไปอภิเษกสมรสที่นครธม  แล้วก็ลานางไปเมื่อมาถึงนครธมท้าวปาจิตได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราช  พระเจ้าอุทุมราชจึงได้จัดขบวนขันหมาก  มีรี้พลมากมาย  ในขณะเดียวกันด้านเมืองพิมายได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม โดยพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพิมายได้ทราบถึงความงามของนางอรพิมจึงได้ให้พระยารามไปนำตัวนางอรพิมมาขังไว้ในพระราชวัง    ด้านนางอรพิมขัดขืนไม่ได้จำต้องมาจึงได้ตั้งจิต อธิฐานว่าถ้าไม่ใช่ท้าวปาจิตแล้วผู้ใดแตะต้องกายนางของให้ร่างกายนางร้อนเหมือนไป  พระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องไม่ได้  นางจึงได้ทูลพระองค์ว่าจะรอให้พี่ชายนางมาก่อนจึงจะยินยอมเป็นมเหสี

ทางด้านขบวนขันหมากของท้าวปาจิต  เดินทางมาหลายคืนหลายวันจนถึงลำน้ำแห่งหนึ่งจึงได้หยุดพักเพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พัก  ชาวบ้านเห็นผู้คนในขบวนมากมายจึงเข้ามาไต่ถาม  
ทหารจึงได้ตอบว่าจะเดินทางไปบ้านสำริต  เพราะพระโอรสของกษัตริย์จากเมืองขอมจะมาสู่ขอสาวบ้านนี้  ชื่อนางอรพิม  ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่าพระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวนางอรพิมไปไว้ในปราสาท

พระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิตทราบเรื่องก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก  โดยเฉพาะท้าวปาจิตโกรธมากถึงกับโยนข้าวของเครื่องใช้ขันหมากทิ้งลงแม่น้ำหมด  (ที่ตรงนั้นเรียกว่าลำมาศ)  ไหลลงสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้  ส่วนรถทรง  ก็ตีล้อดุมรถ  และกงรถจนหักทำลายหมด  ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ในที่แห่งหนึ่ง (เรียกชื่อว่าบ้านกงรถ)  จากนั้นท้าวปาจิตจึงเดินทางไปตามลำพัง  พระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารจึงเดินทางกลับนครธม

ท้าวปาจิตเดินทางไปพบยายบัวปลอบโยนนางรับปากว่าจะช่วยนางอรพิมออกมาให้ได้  


ท้าวปาจิตปลอมเป็นชาย เมื่อนางอรพิมเห็นจึงเรียกว่า พี่มา กลายเป็นชื่อเมืองพิมายในปัจจุบัน หลังสังหารกษัตริย์พรหมทัต ทั้งสองต่างก็หลบหนีไปตามทาง ในระหว่างทางพบกับนายพรานคนหนึ่ง นายพรานลอบฆ่าท้าวปาจิตตาย นางอรพิมจึงฆ่านายพรานเสีย นางอรพิมได้รากไม้จากพระอินทร์มาจึงช่วยให้ท้าวปาจิตฟื้น เแล้วดินทางต่อจนมาพบสามเณรที่พานางอรพิมหลบหนีปาจิต นางจึงออกอุบายให้สามเณรขึ้นไปที่ต้นมะเดื่อแล้วเอาหนามสุมไฟ เณรตายไปกลายเป็นแมงหวี่ตอมผลมะเดื่อ


จากนั้นท้าวปาจิตจึงใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆจนคลี่คลายจนช่วยนางอรพิมได้ในที่สุด
(ที่มา  นายใส คำชำนิ ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้านกงรถ)

ต่อมาผู้คนได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นที่อยู่ทำมาหากินในบริเวณที่ได้พบ “กงล้อ กงเกวียน” หรือ “กงรถ” จึงพากันขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านกงรถ” และตั้งเป็นชื่อของตำบลเนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่คนอพยพมาอยู่เป็นหมู่บ้านแรก คนส่วนใหญ่ในตำบลได้อพยพมาจากมหาสารคาม อุบลราชธานี  นางรองและนครราชสีมา  เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่ทำกินในบริเวณแหล่งน้ำ ลำห้วยตะเคียนลำห้วยกงรถและลำน้ำมาศ

 ปัจจุบัน  “กงรถ” ดังกล่าว ทางราชการได้เก็บรักษาไว้  และบ้านกงรถยังเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดนครราชสีมา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 53 หน้า 1530   วันที่ 27 กันยายน  2479)

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง