ความเป็นมา
อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีที่มาจาก
นิทานปันหยี ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง
มีเรื่องเล่ากันว่าพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงได้นางข้าหลวงมาจากปัตตานี นางข้าหลวงคนนี้ได้เล่านิทานปันหยีหรือเรืองอิเหนาของชวาถวาย เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงนำเค้าเรื่องมาแต่งเป็นบทละครเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงแต่งเรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก) ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาเป็นบทละครสำหรับใช้แสดงละครรำ ในตอนท้ายของบทพระราชนิพนธ์ได้อ้างถึงเรื่องอิเหนาในสมัยอยุธยาว่า
อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง | | สำหรับงานการฉลองกองกุศล |
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ | แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ |
***********************
ดินแดนชวาโบราณมีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า วงศ์อสัญแดหวาหรือวงศ์เทวา เพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากเทวดา คือ องค์ปะตาระกาหลา กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์ องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน องค์ที่สองครองเมืองดาหา องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์ ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงจึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ 5 องค์ ตามลำดับตำแหน่ง คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู เหมาหราหงี แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า กล่าวคือ เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์ องค์โตชื่อนิหลาอระตา ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน องค์ที่สองชื่อ ดาหราวาตี ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา ส่วนองค์สุดท้องชื่อ จินดาส่าหรี ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน และได้ครองเมืองหมันหยา
ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู ชื่อว่า กะหรัดตะปาตี ต่อมามีโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก ชื่อ อิเหนา หรือ ระเด่นมนตรี และมีราชธิดาชื่อวิยะดา ส่วนท้าวดาหามีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อ บุษบา และมีโอรสชื่อ สียะตรา บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีราชธิดาชื่อระเด่นจินตะหรา อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อระเด่นสุหรานากง ราชธิดาชื่อระเด่นจินดาส่าหรี ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ ระเด่นสกาหนึ่งรัด ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันของสุหรานากง
เมื่อพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับกะหรัดตะปาตี อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก จนพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็ยังไม่ยอมกลับกุเรปัน ท้าวกุเรปันจึงต้องอ้างว่าประไหมสุหรีจะมีพระประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลังใจให้พระราชมารดา อิเหนาจำใจต้องกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติ พระราชธิดาหน้าตาน่ารัก นามว่า ระเด่นวิยะดา
อย่างไรก็ตามอิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่า แล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา น้องชายสุดท้องของระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ นางดรสาซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี ส่วนระตูจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา คือ นางสะการะวาตี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา แล้วได้สองนางคือ นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ สั่งความตัดรอดนางบุษบา ท้าวกุเรปันและท้าดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก้จะยกให้
ฝ่ายจรกา ระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง และเป็นอนุชาของท้าวล่าส่ำ (ท้าล่าส่ำผู้นี้มีธิดา คือ ระเด่นกุสุมา เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา) จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ แต่อยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่วงวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของเมืองสิงหัดส่าหร คือ นางจินดาส่าหรี ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดแอบวาดภาพนางบุษบาอีก ช่างวาดแอบวาดภาพได้ 2 ภาพ คือ ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทบและภาพที่แต่งองค์เต็มที่ ขณะเดินทางกลับองค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหลถึงกับสลบลงทันที
เมื่อจรกาได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน จึงรีบให้ระตูล่าส่ำ พี่ชายมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่ว ต่ำศักดิ์ แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอก็จะยกให้ จึงจำใจยกนางบุษบาให้จรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น