วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เงินถุงแดง พระคลังข้างที่ จุดเริ่มต้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์



เงินถุงแดงกับอิสรภาพของชาติจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112


บางท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเงินถุงแดง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าช่วยให้ไทยหรือสยามในขณะนั้นสามารถรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเก็บออมเงินส่วนพระองค์ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเก็บใส่ถุงผ้าสีแดงจึงเป็นที่มาของเงินถุงแดง เพื่อสำรองไว้สำหรับใช้เวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ เงินส่วนนี้เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศต่อเนื่องหลายปีทำให้มีกำไรมาก ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้วยังโปรดให้ขุนนางแต่งสำเภาค้าขายเรื่อยมา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านการค้ามาตั้งแต่ทรงพระยศ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงกำกับกรมท่า ซึ่งมีหน้าที่ในด้านการค้า และการต่างประเทศ นอกจากจะทรงกำกับดูแลสำเภาหลวงแล้ว ยังทรงมีสำเภาค้าส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายท่านที่ส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ เงินที่ได้กำไรมาจากสำเภาค้าส่วนพระองค์นี้ ทรงใส่ถุงผ้าสีแดงเก็บไว้ข้างพระแท่นบรรทม จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระคลังข้างที่ จนมีจำนวนมากถึงกับต้องสร้างเป็นห้องเก็บไว้

วิธีการหารายได้ของพระองค์ท่าน คือ จัดแต่งเรือสำเภานำสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ อย่างเช่นจีน อินเดียและประเทศแถบเปอร์เซีย มีการค้าขายทั้งสำเภาหลวงและสำเภาของส่วนพระองค์ โดยทรงนำสินค้าของส่วนพระองค์ใส่เรือสำเภาของส่วนพระองค์ค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ได้มาในส่วนของสำเภาหลวงให้เข้าคลังหลวง ในส่วนสำเภาของส่วนพระองค์ ได้ทรงแบ่งส่วนหนึ่งถวายรัชกาลที่ 2 เพื่อนำเข้าพระคลังหลวง อีกส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เป็นเงินส่วนพระองค์ที่ทรงใส่ไว้ในถุงแดงข้างที่พระบรรทม เมื่อเงินเต็มถุงก็จะทรงนำเข้า พระคลังหลวงไว้เป็นสมบัติแผ่นดินทั้งหมด และทรงออมใหม่เพื่อพระราชทานเก็บเข้าพระคลังหลวงเป็นสมบัติแผ่นดินอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และการที่ทรงใช้ถุงสีแดงใส่เงินนั้นอาจจะมาจากคติความเชื่อของชาวจีนที่ติดต่อค้าขายกับไทยมากในขณะนั้น ซึ่งจะนิยมนำเงินใส่ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาล   หรืองานมงคลเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยและมีโชคดี

สำหรับเหรียญที่อยู่ในถุงแดงนั้นเป็นเหรียญเม็กซิโก เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเทศไทย หรือสยามในขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจและค้าขายระหว่างประเทศจึงเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีสกุลเงินต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันในไทย เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่าเงินในถุงแดงน่าจะเป็นเงินต่างประเทศที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ดังเช่น เหรียญรูปนกของเม็กซิโก ซึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่หลายชาติให้การยอมรับ โดยเหรียญนกเม็กซิโกมีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียกเหรียญนี้ว่า “เหรียญนก” แม้ว่าสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าของไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นเงินพดด้วงก็ตาม


จากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กรณีพิพาทไทยกับฝรั่งเศสนั้น ส่งผลให้ไทยต้องจ่ายค่าปรับแก่ฝรั่งเศสภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะเสียดินแดนพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ไทยเกือบเสียเอกราชมากที่สุดเมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในเดือนกรกฎาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เรือรบฝรั่งเศสได้ชัยชนะรุกผ่านเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาเทียบท่าอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนครได้สำเร็จและได้หันปืนใหญ่น้อยบนเรือเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ทางฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทยโดยมีข้อเรียกร้องให้ไทยต้องจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ ให้ชำระเป็นเงินเหรียญทันทีในการชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ โดยกำหนดภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยและสั่งทูตฝรั่งเศสออกจากไทย ซึ่งอาจทำให้ไทยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เงินถุงแดงจึงถูกนำมาใช้สมทบเป็นค่าปรับที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง โดยนำไปสมทบกับเงินในท้องพระคลังหลวงที่มีอยู่เพื่อนำไปเป็นค่าปรับสงครามแก่ฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่เพียงพอกับเงิน 3 ล้านฟรังก์ ทำให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการจึงช่วยกันถวายเงิน ทอง เครื่องประดับและของมีค่า  ไปแลกเป็นเงินเหรียญรวบรวมใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวัง กล่าวกันว่าเงินค่าปรับที่จ่ายให้ฝรั่งเศสนั้น เป็นเหรียญทองเม็กซิโกรวมทั้งหมด 801,282 เหรียญ ซึ่ง 1 เหรียญเท่ากับ 3.2 ฟรังก์ น้ำหนักของเงินเหรียญทั้งหมดรวมกันกว่า 23 ตัน ต้องขนกันตลอดวันบรรทุกใส่รถออกจากประตูต้นสนของพระบรมมหาราชวังไปลงเรือ ที่ท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อให้ทันตามกำหนดที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาดเนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง 48 ชั่วโมง ผลจากล้อรถที่บรรทุกน้ำหนักเงินเหรียญ 23 ตันนั้น ได้กดทับจนทำให้เกิดรอยสึกบนพื้นถนนเป็นทางทอดยาว

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกเสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ประชวรหนักจากการที่ฝรั่งเศสเข้ามารุกรานแผ่นดิน จนท้อพระทัยอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานเงินถุงแดงที่ทรงเก็บสะสมไว้เมื่อครั้ง ทำการค้าสำเภากับชาวต่างประเทศและพระราชทานให้แก่แผ่นดิน สำหรับใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน นำมาไถ่บ้านไถ่เมืองและรักษาเอกราชของชาติไว้ให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติฝรั่งเศสไว้ได้

 
“เงินข้างที่” ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้ชื่อว่า “พระคลังข้างที่” และต่อมาเมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ 2475 ได้ยึดกรมพระคลังข้างที่จากพระมหากษัตริย์ ไปเป็นของรัฐบาลคณะราษฎร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

ซึ่งฟังชื่อแล้ว เหมือนว่าเป็น “สำนักงาน-ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์” แต่ความจริง คณะราษฎรยึดไปเป็นของรัฐบาลของตน กำไรที่เกิดจากการที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ นั้น รัฐบาลเป็นผู้จัดการกับเงินก่อนนั้น ไม่ได้ถึงมือพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

จนกระทั่งปี 2560 คณะ คสช.จึงได้ออกกฎหมาย ถวายสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะถูกคณะราษฏร์ยึดไป คืนไปสู่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง