วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญาคำฟู กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์มังราย

 


พญาคำฟู
หรือที่เรียกกันว่า เจ้าคำฟู หรือท้าวคำฟู เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ ในราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๗๗ - ๑๘๗๙ รวมระยะเวลาการครองราชย์ ๒ ปี

พญาคำฟูเป็นพระราชโอรสในพญาแสนภู ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า

"เจ้าพระญาแสนภูก็แต่งลูกตน เจ้าพ่อท้าวคำฟู อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนตนเจ้าก็ไปส่งสะกาน เจ้าพระญาไชยสงครามพ่อในเมืองเชียงรายได้ ๑ เดือนบัวระมวลชุอัน ท้าวก็ลวดอยู่เสวยเมืองเชียงรายหั้นแล แล้วก็แต่งหื้ออภิเษกพ่อท้าวคำฟูลูกตนอายุได้ ๒๖ ปี หื้อเป็นพระญาในเมืองเชียงใหม่ ในปีเปิกสี ศักราชได้ ๖๙๐ ตัวปีหั้นแล"

สรุปคือ พญาคำฟู เป็นหลานของขุนคราม หรือพญาไชยสงคราม โอรสพระองค์ที่ ๒ ในพญามังราย (ขุนเครื่อง ขุนคราม และ ขุนเครือ)

หลังจากเจ้าคำฟูได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พญาแสนภูก็ทรงย้ายเมืองหลวง จากเชียงใหม่ไปไว้ที่เชียงแสน ภายหลังพญาแสนภูเสด็จสวรรคตเจ้าคำฟูจึงได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนา
ระหว่าง พ.ศ.๑๘๗๗-๑๘๗๙

พญาคำฟูได้พัฒนา ปกครองนครเชียงใหม่ให้เกิดความผาสุก ร่มเย็นในรัชสมัยของพระองค์
แม้จะเป็นเวลาเพียง ๒ ปีแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง สงบสุขไม่มีศึกสงคราม ในยุคสมัยของพญาคำฟูนี้พระองค์ทรงร่วมมือกับพญาผานองเจ้าเมืองปัว เข้าตีเมืองพะเยาและ สามารถที่จะผนวกเอารัฐพะเยาที่เป็นอิสระอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้


พญาคำฟูสวรรคตจากการถูกเงือก หรือ จระเข้ กัดถือเป็นการตายร้าย จึงได้รับการบูชาเป็นผีอารักษ์ ปกป้องเมืองเชียงใหม่

การที่ทรงสิ้นพระชนม์เพราะจระเข้กัดตายนั้นตามตำนานเล่าว่า เป็นเพราะพญาคำฟูเสียสัตย์สาบานกษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่สวรรคตยังแม่น้ำคำเพราะเงือก(จระเข้)ขบ

เรื่องนี้ปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้บันทึกตรงกันว่าพญาคำฟู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายรัชกาลที่๖ได้กระทำผิดสาบานที่ได้ให้ไว้กับสหายเศรษฐีชื่อ งัวหง
ว่าจะไม่คิดร้ายต่อกันแต่พญาคำฟูกลับเสียสัตย์ลักลอบกระทำมิจฉาจาร กับ ภรรยาของงัวหง
การกระทำครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสวรรคตในสังคมสมัยนั้นเชื่อเรื่องลี้ลับมากดังปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า....

“พญาได้เห็นภรรยา ของสหายนั้นทรงรูปลักษณะงามท่วงทีดี ก็มีใจปฏิพัทธ์จึงลอบลักสมัครสังวาส กระทำมิจฉาจารด้วยนางผู้เป็นภรรยาของสหายนั้นด้วยเหตุพญาได้เสียสัตย์สาบานดังนี้
อยู่มาได้เจ็ดวันพญาคำฟู ลงอาบน้ำดำเศียรในลำน้ำแม่คำ เงือกใหญ่ตัวหนึ่งออกมาจากเงื้อมผามาขบคาบสรีระพญาคำฟูพญาคำฟูก็ถึงกาลกิริยาในแม่น้ำนั้น ต่อครบเจ็ดวัน ศพพญาคำฟูจึงลอยขึ้นมาคนทังหลายจึงรู้ว่าพญาคำฟูสิ้นชีพวายชนม์แล้ว”

กู่อัฐิของพญาคำฟู เป็นกู่เล็ก ๆ ลักษณะเป็นทรงกลมเส้นรอบวงประมาณเมตรครึ่งด้านบนเป็นแผ่นศิลาทรงกลมปิดไว้อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศเหนือเยื้องขวา ไปประมาณ ๑๐ เมตร
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระธาตุหลวงเป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู

ในปี ๒๔๖๙ ครูบาศรีวิชัย มาแผ้วถางบูรณะวัดพระสิงห์ วรมหาวิหารได้พบกู่อัฐิค้นพบข้างในมีผอบบรรจุอัฐิซ้อนกัน ๓ ใบ 
ชั้นนอกทำด้วยทองเหลืองหนัก ๒๕๔ บาท ๓ สลึง สูง ๒๓ นิ้ว
ชั้นกลางทำด้วยเงินหนัก ๑๘๕ บาท ๒ สลึง สูง ๑๘ นิ้ว
ชั้นในสุด ทำด้วยทองคำหนัก ๑๒๒ บาท ๒ สลึง สูง ๑๔ นิ้ว

และ ยังพบแผ่นทองจารึกเรื่องราวต่าง ๆสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอัฐิของพญาคำฟู ผู้สร้างวัด
ทางราชการได้นำไปเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่ที่ข่วงสิงห์และขณะนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาผอบทั้ง ๓ ใบ และจารึกตลอดถึงเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นได้สูญหายไปในขณะเกิดสงครามซึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๔

หลังจากพญาคำฟูเสด็จสวรรคตพระราชโอรสในพญาคำฟูขึ้นครองราชย์ต่อ ออกพระนาม พญาผายู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง