วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

บรรหาร ศิลปอาชา

 บรรหาร ศิลปอาชา



บรรหาร ศิลปอาชา   นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 21 ประธานกรรมการมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี 11 สมัย อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อดีตนายกสภาสถาบันการพลศึกษา อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง จำกัด และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ทั้งเป็นพี่ชายของชุมพล ศิลปอาชา อดีตรองนายกรัฐมนตรี

ประวัติ

ตามทะเบียนราษฎร บรรหารเกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 แต่บางแหล่งว่าเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

บรรหารเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เดิมมีชื่อว่า เต็กเซียง แซ่เบ๊ (馬德祥) มีชื่อเล่นว่า "​เติ้ง" ​บิดาของบรรหาร คือ เซ่งกิม แซ่เบ๊ ส่วนมารดาของบรรหาร คือ สายเอ็ง แซ่เบ๊ เป็นเจ้าของร้านสิ่งทอชื่อ ย่งหยูฮง ทั้งคู่มีบุตร 6 คน ดังนี้ตามลำดับ สมบูรณ์ ศิลปอาชา, สายใจ ศิลปอาชา, อุดม ศิลปอาชา, บรรหาร ศิลปอาชา, ดรุณี วายากุล, และชุมพล ศิลปอาชา


บรรหารจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเองชื่อ บริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2505 ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด นทีทอง และ พ.ศ. 2508 ก่อตั้งบริษัทวารทิพย์ จำกัด

ต่อมาก่อตั้งบริษัท บี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขายเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2523 ครอบครัวบรรหารได้ก่อตั้งบริษัท สหศรีชัยเคมิคอลส์ จำกัด เพื่อขายเคมีภัณฑ์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท คอสติกไทย จำกัด บริษัททั้งหมดเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้แก่กรมโยธาธิการและการประปาส่วนภูมิภาคจนมีฐานะดีขึ้น

ใน พ.ศ. 2515 เขาเป็นผู้ร่วมทุนก่อตั้ง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง อีกด้วย 


บทบาททางการเมือง

บรรหารเข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ใน พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง

ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ใน พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเดิม อีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่


ต่อมาบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทยใน พ.ศ. 2523 และในปีเดียวกันนั้น เขาถูกพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และคณะรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า เขาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องดังกล่าว

นายบรรหาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (3 มีนาคม พ.ศ. 2523 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2524)

นายบรรหารเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 9 มกราคม พ.ศ. 2533)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (9 มกราคม พ.ศ. 2533 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร (7 เมษายน พ.ศ. 2535 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2535)

พฤษภาทมิฬ

ก่อนเกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 บรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทย เป็นตัวแทนพรรคชาติไทย ในฐานะ พรรคร่วมรัฐบาลให้สัญญาว่าจะแถลงถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาบรรหาร และตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ออกโทรทัศน์ ปฏิเสธ เรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลและนำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในที่สุด


ต่อมาใน พ.ศ. 2537 บรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 หลังจากรัฐบาลนายชวนหลีกภัยยุบสภาแล้ว  นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้บรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

รัฐบาลบรรหาร มีผลงานที่โดดเด่น อาทิเช่น การริเริ่มการปฏิรูปการเมืองโดยให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รับมือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 การจัดพระราชพิธีกาญจนาภิเษก การนำประเทศเข้าสู่เวทีประชาคมโลก เช่น การเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีสหประชาชาติ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก พ.ศ. 2538 (WORLDTECH’ 95 THAILAND)

การบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา ดำเนินไปด้วยความไม่ราบรื่น จนกระทั่งในวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 เขาถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 แทน

บรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ" หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร" และ"ปลาไหล" เนื่องจากเป็นคนพลิกพลิ้วว่องไว ลื่นไหลไปกับทุกสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี


บทบาทหลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตร

ในการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 พรรคชาติไทยซึ่งใช้คำหาเสียงว่า "สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล" บรรหารในฐานะหัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะไม่ขอร่วมรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 พรรคชาติไทยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

ก่อนการเลือกตั้งในปลาย พ.ศ. 2550 ไม่นาน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ บรรหารตอบว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง" ซึ่งบรรหารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่สาธารณชนก็ตีความว่า หมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หลังการเลือกตั้งปรากฏว่า บรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมบรรหารเป็นการใหญ่

บรรหารรวมทั้งวราวุธและกัญจนาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี เนื่องจากการยุบพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นบรรหารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีผู้พบระเบิดที่ที่ทำการพรรคชาติไทยเพื่อเป็นการข่มขู่ที่มีข่าวว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทยพัฒนาจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ธันวาคม พ.ศ. 2551ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยชุมพล ศิลปอาชาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและ ธีระ วงศ์สมุทรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ใน พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มอบปริญญาครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่บรรหารอีกด้วย ระหว่างที่บรรหารเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่นั้น บรรหารเคยเรียนกับนายวิษณุ เครืองามด้วย


ใน พ.ศ. 2554 พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเนื่องจากทั้งสองพรรคมีความเป็นศัตรูกันอย่างชัดเจนโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อใช้กับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามส่งผลให้เกิดคดี นักการเมืองจากทั้งสองพรรค ถูกศาลออกหมายจับ ในข้อหาทำผิดกฎหมายดังกล่าวจำนวนมาก ในขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาได้ผลประโยชน์จากการร่วมงานกับทั้งสองพรรคกล่าวคือ ชุมพล ศิลปอาชาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและธีระ วงศ์สมุทรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ใน พ.ศ. 2556 เขาอาสาทำงานเป็น ผู้ประสานงานคณะทำงานเวทีปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเข้าพบ สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556 เขายืนยันว่าพรรคชาติไทย ไม่ได้ทำผิดและไม่สมควรถูกยุบพรรค

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 1

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกเขารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2557 เขาไปรายงานตัวในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557


สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะร่ำรวยรองจากทักษิณ ชินวัตร หากเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรี 10 คน คือ ชวน หลีกภัย, พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขายังเป็นอาของนคร ศิลปอาชา ซึ่งได้ตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560


นายบรรหารสมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร 3 คน

  • บุตรชาย 1 คน คือ วราวุธ ศิลปอาชา สมรสกับสุวรรณา ไรวินท์
  • บุตรหญิง 2 คน คือ กัญจนา ศิลปอาชา และภัคณีรัศ ศิลปอาชา (เดิมชื่อปาริชาติ)


อสัญกรรม

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559 เกิดภาวะภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ จึงนำส่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อาการวิกฤติตั้งแต่วันแรกที่เข้ารักษา จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 04:42 นาฬิกา รวมอายุ 83 ปี 247 วัน


วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ชวน หลีกภัย

 

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย   ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ประวัติและครอบครัว

นายชวน หลีกภัย เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ที่ตำบลท้ายพรุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทับเที่ยง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน ของนายนิยม กับแม่ถ้วน หลีกภัย เมื่อยังเด็ก ชวนมีชื่อเรียกในครอบครัวว่า "เอียด" หมายถึง เล็ก เนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก

ชวนจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษมูลนิธิ และโรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร และนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2505 มีบุตรชายกับภักดิพร สุจริตกุล หนึ่งคน คือ สุรบถ หลีกภัย

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมกับรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คน คือ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และสุรินทร์ มาศดิตถ์

การทำงาน

ชวนเริ่มทำงานเป็นทนายความ ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์สมัยแรกในปี 2512 

พ.ศ. 2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยแรก) 

พ.ศ. 2518 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สอง) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม

พ.ศ. 2519 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สาม) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  

พ.ศ. 2522 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สี่) 

พ.ศ. 2523 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

พ.ศ. 2524 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

พ.ศ. 2525-2526 รัฐมนตรว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

พ.ศ. 2526 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ห้า) 

พ.ศ. 2529 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่หก) 

พ.ศ. 2529-2531 ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

พ.ศ. 2531 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เจ็ด) 

พ.ศ. 2531-2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

พ.ศ. 2532 - 26 ส.ค.2533 รองนายกรัฐมนตรี 

พ.ศ. 2533 (ส.ค.- ธ.ค.2533) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

26 ม.ค.2534 - 4 พ.ค. 2546 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  

พ.ศ. 2535 (22 มี.ค.2535) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่แปด) 

พ.ศ. 2535 (13 ก.ย.2535) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เก้า) 


นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 (23 ก.ย.2535 - 20 ก.ค.2538)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบ) พ.ศ. 2538 (2 ก.ค.2538)

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538 (4 ส.ค.2538)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบเอ็ด) พ.ศ. 2539 (17 พ.ย.2539)

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539 (21 ธ.ค.2539)


นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 (9 พ.ย.2540 - 8 ก.พ.2544)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2540 (14 พ.ย.2540-18 ก.พ.2544)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบสอง) พ.ศ. 2544 (6 ม.ค.2544)

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 (11 มี.ค.2544)

ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน)

และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายรัฐบาล ชวนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2534


นายกรัฐมนตรีสมัยแรก

การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา โดยได้ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 79 ที่นั่ง ชนะพรรคชาติไทยที่ได้ 77 ที่นั่ง ชวนตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคความหวังใหม่และพรรคเอกภาพ 

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (23 กันยายน พ.ศ. 2535 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538) รัฐบาลชวน 1 มีนโยบายที่โดดเด่น อาทิ การเร่งรัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การขยายช่องทางจราจรหลักเป็น 4 ช่องจราจรทั่วทั้งประเทศ สร้างรางรถไฟรางคู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อม เริ่มศึกษาการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย โครงการนมโรงเรียน ริเริ่มกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ส่งเสริมการกระจายอำนาจโดยผลักดันพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นทั่วประเทศ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นครั้งแรก

ในปี 2537 พรรคพลังธรรมเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีหลังพรรคความหวังใหม่ ออกจากรัฐบาล

รัฐบาลชวนสมัยแรกได้มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อสมาชิกคณะรัฐมนตรีไปมีส่วนในเอกสารโครงการปฏิรูปที่ดิน สปก. 4-01 ซึ่งมีการจำหน่ายในจังหวัดภูเก็ต เกิดการวิจารณ์จากสาธารณะและสื่ออย่างหนัก จึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านนำโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้นำฝ่ายค้าน หยิบเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและได้กำหนดวันลงมติคือวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ปรากฏว่าพรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่ารัฐบาลตอบคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคลุมเครือไม่ชัดเจน ทางพรรคจึงได้มีมติงดออกเสียงให้รัฐบาล ทำให้ผลการประชุมของพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลืออยู่จึงเห็นตรงกันให้มีการยุบสภา นายชวนในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2538

ผลการเลือกตั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชาได้เป็นนายกรัฐมตรีต่อเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 แล้วยุบสภา

นายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ถึง 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ลาออกเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ


นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

ดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 

และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2540 

ชวน หลีกภัย ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง โดยรับช่วงต่อหลังจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจนต้องลอยตัวค่าเงินบาท ชวนได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือจนได้รับความเชื่อถือและเห็นชอบจากสถาบันการเงินนานาชาติและสหรัฐอเมริกา มุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลผสมก็เอาชนะความพยายามของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ชวนจะไม่ใช่นักการเมืองที่น่าดึงดูดใจ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนและไว้วางใจ เพราะถูกมองว่าซื่อสัตย์ มุ่งปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลจัดตั้งขึ้น โดยกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมสนับสนุนให้พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ดำรงตำแหน่งแทน โดยการสนับสนุนของพรรคความหวังใหม่ (125 คน) พรรคชาติพัฒนา (52 คน) พรรคประชากรไทย (18 คน) และ พรรคมวลชน (2 คน) รวม 197 เสียง ส่วนฝ่ายค้านเดิมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ (123 คน) ร่วมกับพรรคชาติไทย (39 คน) พรรคเอกภาพ (8 คน) พรรคพลังธรรม (1 คน) พรรคไท (1 คน) และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้แก่ พรรคกิจสังคม (20 คน) และพรรคเสรีธรรม (4 คน) สนับสนุนชวน หลีกภัย ด้วยเสียงทั้งสิ้นรวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ก่อให้เกิดกลุ่มการเมืองชื่อ กลุ่มงูเห่า หมายถึง สมาชิกพรรคประชากรไทย 12 คนที่สนับสนุนรัฐบาลโดยคำชวนของพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ จนถูกพรรคประชากรไทยขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย กลุ่มงูเห่าทั้ง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด

นอกจากกรณีกลุ่มงูเห่าแล้ว ยังมีกรณีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดทางการเมืองอีก 2 ท่าน 

แม้ว่าชวนจะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มือสะอาด จนได้รับฉายา Mr. Clean (นายสะอาด)  แต่รัฐบาลเขาเต็มไปด้วยกรณีอื้อฉาวและข่าวลือการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกตั้งข้อหาว่ารับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยาแห่งหนึ่งและบังคับให้โรงพยาบาลของรัฐซื้อยาราคาสูงเกินจริง, สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับการละเมิดกองทุนตั้งสหกรณ์ในจังหวัดสถราษฎร์ธานี, กรณีอื้อฉาวเมล็ดพันธุ์ "รั้วกินได้" ซึ่งมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เกินราคามหาศาลแก่พื้นที่ชนบท จนทำให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรต้องลาออก, กรณีอื้อฉาวการตัดไม้สาละวิน ซึ่งไม้บางส่วนไปปรากฏในสำนักงานพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดพิจิตร และสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรีอื่นอีก8 คนถูกพบว่าปกปิดการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

นอกจากนี้ การอนุมัติแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของสังคม สื่อมวลชน และโดยเฉพาะญาติของผู้เสียชีวิต/สูญหายในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19

หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ชวน หลีกภัยกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปี 2554 เขาก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2546 ผู้มารับช่วงต่อจากเขาคือบัญญัติ บรรทัดฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี พ.ศ.2548 นายบัญญัติจึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ นายชวนจึงผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน นายชวน หลีกภัเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำพรรคประชาธิปัตย์การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2549

ในปี 2556-2557 นายชวนเคยชุมนุมร่วมกับกปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ภายหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ชวน หลีกภัยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

วาทะของนายชวน หลีกภัย

นายชวน หลีกภัย ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีคารมคมคาย โดยเฉพาะในแบบเชือดเฉือน จนได้ฉายาว่า "ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง" ตัวอย่างวาทะเด็ดของ นายชวน หลีกภัย เช่น

ยังไม่ได้รับรายงาน ..

เราไม่อาจทำให้คนทุกคนร่ำรวยเท่าเทียมกันได้ แต่เราสามารถทำให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันได้ ..

ยอมให้คนโง่ที่คนรอบข้างซื่อสัตย์ปกครองประเทศ ดีกว่าปล่อยให้คนซื่อแต่คนรอบข้างโกงกินปกครองประเทศ ..


ปัจจุบันนายชวน หลีกภัย อายุ 83 ปี



วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก สุจินดา คราประยูร

 พลเอก สุจินดา คราประยูร 



นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย เป็นนายทหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ประวัติ 

พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2476 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเล็กของจวง กับสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน โดยครอบครัวเป็นข้าราชการกรมรถไฟ สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (สกุลเดิม หนุนภักดี)

การศึกษา 

พลเอก สุจินดา คราประยูร เข้ารับการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนปิยะวิทยา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 – 5 ที่จังหวัดหนองคาย เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องย้ายไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดหนองคาย ต่อมาได้กลับเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จาก (โรงเรียนวัดราชบพิธ) แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบมัธยมปีที่ 8 สอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้เพียงปีเดียวก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่นได้แก่ พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล พันเอก ณรงค์ กิตติขจร พลเอก ศัลย์ ศรีเพ็ญ หลักสูตรเวสท์ปอยต์ รุ่นที่ 5 ตามลำดับ ต่อมาได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่จากฟอร์ทซิลส์ (Fort Sill’s) รัฐโอคลาโฮม่า (Oklahoma) ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จหลักสูตรเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 44 เป็นอันดับที่ 1 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาจากฟอร์ดลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth)

รับราชการทหาร 

พลเอก สุจินดา เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้รับพระราชทานยศ ว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 

 ได้ประจำกองร้อย กรมนักเรียนโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ต่อมารักษาราชการ ผู้ช่วยนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองบังคับการทหารปืนใหญ่ กองพลที่ 4

พ.ศ. 2502 รักษาราชการนายทหารสื่อสาร กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 และรับพระราชทานยศร้อยตรี

พ.ศ. 2503 รักษาราชการผู้บังคับกองร้อยบังคับการและบริการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21

พ.ศ. 2504 รับพระราชทานยศร้อยโท

พ.ศ. 2505 ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 และรับพระราชทานยศร้อยเอก

พ.ศ. 2507 ครูกองการศึกษา โรงเรียนทหารปืนใหญ่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่

พ.ศ. 2510 รักษาราชการอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และรับพระราชทานยศพันตรี

พ.ศ. 2512 - 2513 ราชการสงครามเวียดนาม ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

พ.ศ. 2514 รองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และรับพระราชทานยศพันโท

พ.ศ. 2517 หัวหน้าแผนกกรมข่าวทหารบก

พ.ศ. 2518 รักษาราชการนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกรมข่าวทหารบกและรับพระราชทานยศพันเอก

พ.ศ. 2522 หัวหน้ากอง กรมข่าวทหารบก

พ.ศ. 2524 รองเจ้ากรมยุทธการทหารบก

พ.ศ. 2526 นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2525 เจ้ากรมยุทธการทหารบก ราชองครักษ์เวร และรับพระราชทานยศพลตรี

พ.ศ. 2528 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ และรับพระราชทานยศพลโท ราชองครักษ์เวร ต่อมาเป็นราชองครักษ์พิเศษ

พ.ศ. 2529 รองเสนาธิการทหารบก

พ.ศ. 2530 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรับพระราชทานยศพลเอก

พ.ศ. 2532 รองผู้บัญชาการทหารบก นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ต่อมาเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบ ที่ 2 รักษาพระองค์, นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ กองพันที่ 21 รักษาพระองค์ และนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองพันที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2533 ผู้บัญชาการทหารบก

พ.ศ. 2534 ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อจากพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่เกษียณอายุราชการ

พลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น พรรคร่วม 5 พรรคประกาศสนับสนุนณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ พลเอก สุจินดา ได้แต่งตั้ง พลเอก อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 48 ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ

 

ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ยุติบทบาทการดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและการให้คำแนะนำทางด้านการเมือง การปกครอง และการปฏิวัติรัฐประหารในยุคต่อ ๆ มาจากประสบการณ์ตรง และในวันที่ 6 สิงหาคม ของทุกปี พลเอก สุจินดา คราประยูร จะเปิดบ้านให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าและนักธุรกิจเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ณ บ้านพักซอยระนอง 2 พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์และตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย


รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 47 วัน

ปัจจุบันอายุ 88 ปี


วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นายอานันท์ ปันยารชุน

นายอานันท์ ปันยารชุน



อานันท์ ปันยารชุน  เป็นนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 18 อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ประเทศแคนาดา สหรัฐ และประเทศเยอรมนี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 และพฤษภาทมิฬ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2540

ประวัติ

อานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คน ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ชาวไทยเชื้อสายมอญ กับคุณหญิงปฤกษ์ ปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) ชาวไทยเชื้อสายจีน (แคะ) ซึ่งตัวเขาเองมีเชื้อสายจีนมาจากยายซึ่งใช้แซ่เล่า (จีน: หลิว)

นายอานันท์สมรสกับหม่อมราชวงศ์สดศรีสุริยา จักรพันธุ์ ธิดาหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์  และหม่อมเจ้าทิตยาทรงกลด รพีพัฒน์ มีธิดา 2 คน

การศึกษาและการทำงาน

อานันท์ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากดัลวิชคอจเลจ (Dulwich College) และปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อ พ.ศ. 2498

หลังจบการศึกษา อานันท์เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2510 จากนั้นย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแคนาดา สหรัฐ และเป็นผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ

ในปี พ.ศ. 2518 อานันท์ ปันยารชุน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2518 อานันท์ ปันยารชุน ถูกปลดจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำคณะทูตถาวรสหประชาชาติ ณ นคร นิวยอร์ก โดยให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสหรัฐเพียงตำแหน่งเดียวในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2518ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็น เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ ประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร

จากนั้นถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศเยอรมนี ก่อนจะลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2522

นายอานันท์ หันมาทำงานด้านธุรกิจ ร่วมงานกับกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน จนกระทั่งเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเมื่อ พ.ศ. 2534 และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อานันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 

ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นกัน ทั้งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ผลจากการเลือกให้นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในตอนนั้นช่วยให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เกิดภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภารกิจหลักของรัฐบาลนายอานันท์ในสมัยแรก คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอานันท์ ได้นำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภาพพจน์ที่ดี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

การบริหารประเทศของนายอานันท์ ภายใต้คำสั่งของคณะรสช. ทำให้รัฐบาล รสช ได้รับ ได้สืบทอดอำนาจได้

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วยพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดาเคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกล่าวในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"  

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างรุนแรง มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงเพิ่มขึ้นจนถึงห้าแสนคน จนนำมาสู่การใช้กำลังปะทะ และปราบปรามในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20

 รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย 1 ปี 141 วัน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

อานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หลังการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ  ซึ่งไม่สามารถแก้ไขอะไรได้  

อานันท์ ปันยารชุน เป็นสมาชิกคณะมนตรีไตรภาคีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค พ.ศ. 2554 - 2557 ตัวแทนประเทศไทย

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

อานันท์ สนับสนุนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เขาเป็นนักวิจารณ์พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นเวลาหลายปีก่อนรัฐประหาร และเขาโทษทักษิณว่าเป็นต้นเหตุ เขายังเกรงว่า คณะรัฐประหารจะล้มเหลวและทักษิณจะกลับคืน อานันท์อ้างว่า ประชาชนตอบรับรัฐประหารอย่างดีและการห้ามการคัดค้านหรือกิจกรรมทางการเมืองของคณะรัฐประหารจะไม่อยู่นาน เขายังประหลาดใจต่อการประณามของนานาประเทศต่อรัฐประหาร

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 

อานันท์ยืนยันว่าประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่คนไทยหลอกตัวเองว่ามี ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่เข้าใจว่ามีความจำเป็น ตนเห็นว่าความชอบธรรมไม่สำคัญเท่ากับทำอะไรให้ประเทศชาติบ้าง เชื่อว่าหากรัฐบาลยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ทหารก็คงไม่ออกมารัฐประหาร เขากล่าวว่า อยากเห็นธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ตนเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบเดียวของประชาธิปไตย ต้องมีค่านิยมประชาธิปไตย องค์กรถ่วงดุล ระบบตุลาการที่เที่ยงธรรมและสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วย

เมื่อถูกถามว่า รัฐประหารจะนำไปสู่สังคมที่ดี มีคุณค่าประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งหรือไม่ เขาตอบว่า "เท่าที่ผมอ่านหนังสือพิมพ์ เขาบอกมันจะมีเลือกตั้ง" เขาเห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยได้ทำทุกวิถีทางในการจัดการกับปัญหาแล้ว แต่ช่องทางมันตันหมด เขาไม่ตอบว่าเห็นด้วยกับรัฐประหารหรือไม่ แต่บอกว่ารัฐประหารไม่จำเป็นต้องไม่ดีเสียหมด เขากล่าวว่า ต้องระวังไม่ให้สังคมกลับไปสู่จุดก่อนเกิดรัฐประหาร เพราะประชาชนจะถามว่า ทำไมทหารยังเข้ามาเหมือนเดิม

ปัจจุบันนายอานันท์ อายุ 90 ปี


วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ 



นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17 ของประเทศไทย เป็นนักการทูต นักการเมืองและนายทหารบก   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในหลายกระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงกลาโหม

พลเอกชาติชาย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ พรรคชาติไทย และ พรรคชาติพัฒนา

ประวัติ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2463 ที่ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร เดิมมีชื่อว่า "สมบุญ ชุณหะวัณ" เป็นบุตรของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กับคุณหญิงวิบุลย์ลักสม์ ชุณหะวัณ ในครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเท่งไฮ้ (เฉิงไห่) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ชาติชาย" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ขณะมีอายุได้ 12 ปี

พลเอกชาติชาย สมรสกับ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ (สกุลเดิม โสพจน์) พระญาติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

มีบุตรชายคือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และบุตรสาวคือ วาณี ชุณหะวัณ  (อดีตภริยานายระวี หงษ์ประภาส มีบุตรสาวชื่อ ปวีณา หงส์ประภาส)  

พลเอกชาติชาย เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายทหารม้า และโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก (อาร์เมอร์สคูล) รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา

พล.อ.ชาติชาย มีพี่สาว 3 คน และน้องสาว 1 คน


พลเอกชาติชาย รับราชการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2483 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ประจำกรมเสนาธิการทหารบก ในช่วงที่ต้องไปประจำการที่ สหรัฐไทยเดิมพอดี 

พลเอกชาติชาย มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 โดยเป็นหนึ่งในกำลังทหารที่บุกไปที่ทำเนียบท่าช้าง เพื่อทำการควบคุมตัว นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี โดยขณะนั้นมีอายุ 27 ปี 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ รองผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ และผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 2 และผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ

  และการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามบิดา คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ โดยขณะมียศเพียงแค่ร้อยเอกเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 


ในปี พ.ศ. 2501 ได้ถูกเหตุการณ์ทางการเมืองผันแปรชีวิตไปเป็นอุปทูตอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศอาร์เจนตินา และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศออสเตรีย ตุรกี สำนักวาติกัน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2515 พลเอกชาติชาย เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับตำแหน่ง อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสุดท้าย ในชีวิตข้าราชการประจำ เนื่องจากในปลายปี พ.ศ. 2515 นี้เอง พลเอกชาติชาย ที่ขณะนั้นยังมียศเป็น พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 32 ของไทย ที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้น พลเอกชาติชาย ก็ได้เข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว

ในปี พ.ศ. 2517 พลเอกชาติชาย ได้ร่วมกับ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย และ พลตรีศิริ สิริโยธิน ก่อตั้ง พรรคชาติไทย ขึ้น โดยมี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค


ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พลเอกชาติชาย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาอีกรวม 5 สมัย พลเอกชาติชาย และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี

โดยได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามลำดับดังนี้

พ.ศ. 2515 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พ.ศ. 2517 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา รวม 5 สมัย

พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

พ.ศ. 2523 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพ.ศ. 2529 รองนายกรัฐมนตร และต่อมาในปี 

พ.ศ. 2529 พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 สามารถนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี 

พ.ศ. 2531 ในชั้นต้นมีการทาบทาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ และประกาศวางมือทางการเมือง พลเอกชาติชายจึงได้รับการสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย 

  

 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง มีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน กลุ่มอินโดจีน เช่น การประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของ สมเด็จสีหนุ ขึ้น นโยบายต่างประเทศของ รัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

ทางด้านเศรษฐกิจ ได้อนุมัติโครงการเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ เช่น โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และโครงการทางด่วนยกระดับ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนั้น ร้อนแรงถึงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อปี กระทั่งมีการคาดหมายโดยทั่วไปว่าประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ 5" ของเอเชีย (Fifth Asian Tiger) ต่อจาก "4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย" คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีชื่อที่เรียกเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "น้าชาติ" มีคำพูดติดปากเมื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "No Problem" หมายถึง "ไม่มีปัญหา" จนเป็นที่จดจำได้ทั่วไป ซึ่งศิลปินเพลง แอ๊ด คาราบาว ได้นำไปประพันธ์เป็นเพลงล้อเลียนการเมืองชื่อ "โนพลอมแพลม"

การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เริ่มประสบปัญหาในช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อถูกโจมตีว่ามีการทุจริต หาผลประโยชน์ในโครงการลงทุนของรัฐ จนมีคำกล่าวโจมตีการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชายว่าเป็น "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" ขณะที่การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสัดส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เป็นจำนวนมากก็ถูกโจมตีว่ามีสภาพเป็น "เผด็จการรัฐสภา"

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535


ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย รวม 2 ปี 203 วัน

บทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. พลเอกชาติชายได้เดินทางไปพำนักอยู่ในอังกฤษระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย และก่อตั้ง พรรคชาติพัฒนา ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2535 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก ต่อมาได้นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 โดย พลเอกชาติชายชนะเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาททางการเมืองใหม่อีกครั้ง

ปลายปี พ.ศ. 2540 เมื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในตอนแรกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในขณะนั้นมีมติร่วมกันที่จะสนับสนุน พลเอกชาติชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง แต่ในที่สุด พรรคกิจสังคม ที่มีมนตรี พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค ได้เปลี่ยนไปสนับสนุน นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน ตามมาด้วย พรรคประชากรไทย ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค เกิดกรณี ส.ส. "กลุ่มงูเห่า" ที่แสดงตัวสนับสนุน นายชวน หลีกภัยเช่นเดียวกัน ทำให้ในที่สุดผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนใหม่กลายเป็น นายชวน หลีกภัย ที่ได้เป็น นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 แทนที่จะเป็น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

รางวัลและเกียรติยศ

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก นายกองใหญ่ ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ. 2532


อสัญกรรม


   พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันพุธที่ พฤษภาคม พ.ศ.2541 ณโรงพยาบาลครอมเวลล์ ประเทศอังกฤษ รวมอายุได้ 78 ปี 32 วัน



เนื้อเพลง