วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นายสมัคร สุนทรเวช

 สมัคร สุนทรเวช 



นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 25  เคยดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ประวัติ 

สมัคร สุนทรเวช เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552   เป็นบุตรของ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช; 2435–2521) กับคุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร; 2445–2524) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุนทรเวช" และได้นำมาใช้เป็นนามสกุลร่วมกับบรรดาน้อง ๆ ของท่าน) และเป็นหลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำราชสำนัก

สมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ดังนี้

  1. พันเอก (พิเศษ) แพทย์หญิง มยุรี พลางกูร - อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  2. เยาวมาลย์ ราชวังเมือง - ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  3. พลอากาศเอก สมมต สุนทรเวช - อดีตที่ปรึกษาทหารอากาศ
  4. สมัคร สุนทรเวช
  5. มโนมัย สุนทรเวช - พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  6. สุมิตร สุนทรเวช - นักการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย

การศึกษา
  • ระดับอนุบาล: โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม
  • ระดับประถมศึกษา: โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา
  • ระดับมัธยมศึกษา: โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
  • ระดับอาชีวศึกษา: โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์
  • ระดับอุดมศึกษา: นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มทำงานเป็นสื่อมวลชนสายการเมือง โดยเขียนบทความและความคิดเห็นทางการเมืองแบบไม่ประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2500 หลังจากนั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ จนมามีบทบาทโดดเด่นช่วงปี 2519 เป็นผู้ถ่ายทอดพระราชประสงค์ของพระราชินี และเป็นสมาชิกกลุ่ม "ซอยราชครู" ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ใน พ.ศ. 2519 สมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อม ๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และใน พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย ละดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค

ครอบครัว

สมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช (สกุลเดิม: นาคน้อย) มีบุตรสาวฝาแฝดคือ กาญจนากร ไชยสาส์น และกานดาภา มุ่งถิ่น และเนื่องจากคุณหญิงสุรัตน์เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 สถานะการเงินจึงมั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวได้ สมัครจึงมิได้ทำงานประจำใด ๆ โดยทำงานการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 อย่างไรก็ตาม นายสมัครยังรับเป็นผู้จัดการมรดกตระกูลธรรมวัฒนะ ตามคำสั่งเสียของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ

ศึกษาเพิ่มเติม

  • ประกาศนียบัตรวิชามัคคุเทศก์: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน

  • พ.ศ. 2496: เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd. (พ.ศ. 2496–2497)
  • พ.ศ. 2497: เสมียนแผนกรถยนต์ และภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd. (พ.ศ. 2497–2502)
  • พ.ศ. 2502: ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd. (พ.ศ. 2502–2504)
  • พ.ศ. 2504: Free Lance Guide, World Travel Service Co.,Ltd. (พ.ศ. 2504–2506)
  • พ.ศ. 2507: ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2507–2509)
  • พ.ศ. 2510: Dietary Aid, Fox River Rehabilitation Hospital, Chicago U.S.A. (พ.ศ. 2510–2511)
  • พ.ศ. 2512: ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2512–2513)
  • พ.ศ. 2513: ผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd. (พ.ศ. 2513–2514)
  • พ.ศ. 2514: เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2514–2516)
  • พ.ศ. 2516: ลาออกจากงานประจำและทำงานการเมืองอย่างเดียวเรื่อยมา เนื่องจากภรรยามีรายได้มั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวแล้ว

บทบาททางการเมือง

สมัครเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ พ.ศ. 2511 

 เริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2514 ได้รับเลือกตั้ง เมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2514

ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2516

และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 ในชีวิตการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง สรุปประวัติทางการเมืองได้ดังนี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 2 (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518) แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย


พ.ศ. 2519 ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3 เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2519 – 23 กันยายน พ.ศ. 2519

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2519–2520) ในรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520)

พ.ศ. 2522: ก่อตั้งพรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง และสถาบันการเงิน (พ.ศ. 2523–2526)

พ.ศ. 2526: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เมษายน 2526)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 2 (30 เมษายน พ.ศ. 2526 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529)

พ.ศ. 2529: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม 2529)

ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง (พ.ศ. 2529–2531)

ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2531–2533)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534)

พ.ศ. 2535: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (มีนาคม 2535 – กันยายน 2535)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร  (7 เมษายน พ.ศ. 2535 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)

ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม (พ.ศ. 2535–2538)

พ.ศ. 2538: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม 2538)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539)

พ.ศ. 2539: สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (พฤศจิกายน 2539)

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)


สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน

สมัคร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่าง พ.ศ. 2543-2547 นับเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 13 และเป็นคนที่ 5 ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คดีเรื่องการทุจริตกรณีจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ก็ยังมีการดำเนินการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน

หลังพ้นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครบวาระ 4 ปี สมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2549

ผลการนับคะแนน สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 แต่ ร.ต.อ.นิติภูมิ ยังไม่ทันได้รับการรับรองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เรื่องการไปขึ้นเวทีปราศัยของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "หาเสียง" และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการชี้ขาดเรื่องดังกล่าว การเลือกตั้งวุฒิสภา พ.ศ. 2549 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้สมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

พ.ศ. 2550: รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2550 – 30 กันยายน 2551)

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนที่มีเขาเป็นหัวหน้าพรรคได้จัดตั้งรัฐบาล โดยนโยบายของเขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยเหลือค่าครองชีพหลังวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 เขาถูกมองว่าเป็นนอมนีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2551 เขาพ้นจากตำแหน่งหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นลูกจ้างของเอกชนแห่งหนึ่ง

พ.ศ. 2551: นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (29 มกราคม – 9 กันยายน พ.ศ. 2551)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน มียงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สมัคร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงการดำรงตำแหน่งของสมัคร สุนทรเวช นี้ว่าเป็นนอมินี (ตัวแทน) ของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกในข้อหาลงนามชื่อยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมองค์คณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า สมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2556 วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ หนึ่งในองค์คณะฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่าการตัดสินคดีของนายสมัครนั้นมีความผิดพลาด เพราะองค์คณะฯต้องรีบทำคำวินิจฉัยให้เสร็จทันในวันตัดสินคดี คำวินิจฉัยในคดีของนายสมัครถือเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดหลักการ เพราะนำข้อกฎหมายขึ้นก่อน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัครยังได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ (ยังไม่มีเอกสารยื่นใบลาออก) โดยให้เหตุผลว่า ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรค

การปฏิบัติงาน

  • เสนอนโยบายการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ โดยการสร้างใช้หัวเจาะกระสุนกันน้ำซึมเข้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเจาะอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดิน คาดว่าปริมาณแม่น้ำโขงจะไหลผ่านอุโมงค์นี้ และแจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่น ๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคในภาคอีสาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ถ้าอีสานมีน้ำ อีสานหายจน"
  • เสนอแนวคิดสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
  • ริเริ่มโครงการขนส่งสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ความมั่นคง

  • การประนีประนอมกับทหาร โดยสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการเรื่องโผการโยกย้ายนายทหาร โดยจะปล่อยให้ทางทหารนั้นจัดการกันเอง ซึ่งทำให้ทางทหารแสดงท่าทีเป็นมิตรกับสมัครด้วย
  • เสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่

เศรษฐกิจ

  • ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%
  • ลดราคาสินค้าหมูเนื้อแดงขายจาก 120 บาท ต่อ กก. เหลือเพียง 98 บาท ต่อ กก.
  • มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • มาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยคนจน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมโดยการทำเงินภาษีมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จนรัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายเวลาเพิ่มในเวลาต่อมา

สิทธิมนุษยชน

  • ใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด
  • เสนอให้มีเปิดการบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับทั้งความเห็นชอบและคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ 

คดีหมิ่นประมาทดำรง ลัทธพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่กรรมโดยการประกอบอัตวินิบาต ขณะกำลังเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากปัญหาความเครียดส่วนตัว ต่อมาสมัคร ซึ่งถูกปรับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2529 กลายเป็นฝ่ายค้าน ได้เขียนบทความว่า ดำรงยิงตนเองให้ถึงแก่ความตายเพื่อหนีความผิดค้าเฮโรอีนข้ามประเทศ สมศรี ลัทธพิพัฒน์ (เกตุทัต) ภรรยาของดำรง มอบหมายให้บัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ ฟ้องหมิ่นประมาทสมัคร สุนทรเวช ศาลฎีกาตัดสินเมื่อเดือนธันวาคม 2531ว่า สมัครมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ และปรับ 4,000 บาท ทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ 7 วัน

กรณีคำแถลงปลอม

เมื่อ พ.ศ. 2530 สมัคร สุนทรเวช ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 43[ และได้อภิปรายไม่ไว้วางใจจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 44) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 สมัครอภิปรายกล่าวหาว่า จิรายุรับสินบนโดยนำสำเนาคำแถลงแสดงการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเฟิสต์ อินเตอร์สเตตในสหรัฐอเมริกา มาแสดงในสภาและอภิปรายว่ามีชื่อของจิรายุเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว ซึ่งมีรายการโอนเงินค่าสินบน เป็นจำนวนเงิน 92 ล้านบาท[31] จิรายุได้ปฏิเสธและระบุว่าข้อกล่าวหาของสมัครเป็นเท็จและตนไม่เคยมีบัญชีธนาคารในสหรัฐอเมริกา

ต่อมา จากการตรวจสอบโดยคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พบว่า คำแถลงที่สมัครนำมาแสดงนั้นเป็นของปลอม และจิรายุไม่เคยมีบัญชีเงินฝากในธนาคารนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ กับสมัคร เนื่องจากมีกฎหมายให้เอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[33] ต่อมา สมัครได้ยอมรับว่า ได้นำเอกสารเท็จมาแสดงในการอภิปรายในครั้งนั้นจริง

การจัดรายการโทรทัศน์

สมัคร ร่วมจัดรายการ สนทนาปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มวีหนึ่ง (MV1) ซึ่งถูกโจมตีโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นสื่อที่เข้าข้าง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรและหลังจากที่มีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมัคร สุนทรเวช ได้เลิกรายการของตนไป

ก่อนหน้านั้น สมัครได้จัดรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์–ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระยะเวลา 30 นาที ซึ่งสมัครได้กล่าวว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่าย นาวาตรี ประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า พลเอก เปรม เป็นที่เคารพของหลายฝ่าย และเป็นถึงประธานองคมนตรี ทำให้สมัครขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง

คดีหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สมัคร และ ดุสิต ศิริวรรณ ซึ่งร่วมกันจัดรายการโทรทัศน์ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5" ทาง ททบ.5 และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา โดยทั้งสองกล่าวหาว่า สามารถทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครในรายการโทรทัศน์

 

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สมัครได้เคยกล่าวไว้ในรายการ สมัคร–ดุสิต คิดตามวัน ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายเพียงคนเดียว และคนนั้นเป็นญวนอีกด้วย ซึ่งสมัครได้ย้ำอีกครั้ง ในการให้สัมภาษณ์กับ แดน ริเวอส์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และยังกล่าวอีกว่า "ผมบอกว่า ถ้าผมเป็นคนเลวมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าผมเป็นคนเกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้ามาถึงป่านนี้หรอก"

ความขัดแย้งกับ พลตรี จำลอง ศรีเมือง

สมัครถือเป็นนักการเมืองที่เป็นเสมือน "คู่รักคู่แค้น" กับ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาโดยตลอด โดยความขัดแย้งของทั้งคู่มีมาตั้งแต่สมัยที่ พลตรี จำลอง เป็นเลขาธิการ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สมัครเป็นผู้ที่สนับสนุนกฎหมายทำแท้งเสรี แต่ พลตรี จำลอง เป็นผู้คัดค้าน จนในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา หลังจากนั้นเมื่อทั้งคู่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในกรุงเทพมหานครเหมือนกัน พลตรี จำลอง เมื่อลงรับสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยของสมัครได้อย่างขาดลอยถึง 2 ครั้ง 

ต่อมาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทยที่สนับสนุน พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่า "พรรคมาร" ขณะที่ พลตรี จำลอง เป็นผู้นำในการประท้วง พลเอก สุจินดา และเมื่อสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรี จำลอง ก็ยังเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมต่อต้านการดำรงตำแหน่งของสมัครอีก

ความสนใจ สัตว์เลี้ยง

นับได้ว่าสมัครเป็นบุคคลที่ชื่นชอบแมวมากที่สุดคนหนึ่ง เขาเริ่มเลี้ยงแมวตั้งแต่วัยเด็ก และเคยเลี้ยงแมวหลายตัวด้วยกัน โดยแมวตัวที่สมัครรักที่สุดมีชื่อว่า เหวิน เหวิน ซึ่งเมื่อเหวิน เหวินตายจากไปสมัครก็ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ จำนวน 3 บท  

โภชนาการ

สมัครเป็นบุคคลที่ชอบจ่ายตลาด และทำอาหารมาก โดยเป็นผู้ดำเนินรายการ ชิมไปบ่นไป ทาง ไอทีวี และ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ส่วน ยกโขยง 6 โมงเช้า ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศสมัครมักจะใช้เวลาช่วงเช้าก่อนเริ่มพิธีการในการจ่ายตลาด และดูความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้สมัครยังเคยทำข้าวผัดให้แก่ทหารในบริเวณชายแดนด้วย


การถึงแก่อนิจกรรมและพิธีศพ

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัครเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ โดยไม่เป็นที่เปิดเผยทางสื่อมวลชนมากนัก จนกระทั่งกฤษณะ ไชยรัตน์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ เดินทางไปถ่ายทำรายการถึงโรงพยาบาล อาการป่วยของสมัครจึงเป็นที่เปิดเผยในวงกว้างต่อมา สมัครจึงเดินทางไปรักษาต่อยังสหรัฐอเมริกาและเดินทางกลับมารักษาตัวในประเทศไทยอีกครั้ง จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 08.48 น. 

สิริอายุได้ 74 ปี


 

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์



นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย เป็นนักการเมืองและอดีตทหารบกชาวไทย สภาองคมนตรีไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และองคมนตรี


ประวัติ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดในค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เป็นบุตรของพันโท พโยม จุลานนท์ ซึ่งเป็นบุตรของพันเอก พระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) ต้นตระกูลจุลานนท์ บิดาเคยดำรงตำแหน่งสูงระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นที่รู้จักกันในนาม "สหายคำตัน" กับมารดาชื่ออัมโภช จุลานนท์ (สกุลเดิม ท่าราบ) ซึ่งเป็นของบุตรพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)


ชีวิตครอบครัว

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมรสครั้งแรกกับนางสาวดวงพร รัตนกรี มีบุตรชาย 1 คนคือ พันโท นนท์ จุลานนท์ ผู้บังคับกองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาที่ 1 กองทัพภาคที่ 1 

สมรสครั้งที่สองกับ พันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช) มีบุตรชาย 2 คน คือ นายสันต์ จุลานนท์ (ข้าว) และ นายจุล จุลานนท์ (น้ำ) พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้นิยมการเดินป่าชมธรรมชาติ เป็นประธาน "มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" และเป็นที่ปรึกษาของเยาวชนกลุ่ม "รักษ์เขาใหญ่" ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ในชื่อ "ลุงแอ้ด"

พล.อ. สุรยุทธ์ นั้นมีชื่อเล่นว่า “แอ่ด” คือมาจากชื่อของรถรบสมัยนั้น ที่ทหารม้าหรือทหารรถรบ (ม้าเหล็ก) ตั้งฉายาว่า “รุ่นไอ้แอ่ด” บิดาของ พล.อ. สุรยุทธ์ จึงเอาชื่อเล่นของรถถังรุ่นไอ้แอ่ดมาเป็นชื่อเล่นของลูกชาย ดังนั้น ที่เรียกกันว่า “แอ๊ด” หรือ “บิ๊กแอ๊ด” นั้น จึงเป็นการเรียกผิดและเขียนผิด เปลี่ยนชื่อกันไปเองโดยความเข้าใจผิด เพราะชื่อเล่นที่แท้นั้นคือ “แอ่ด” คือออกเสียงเป็น ไม้เอก ไม่ใช่ไม้ตรี


การศึกษา

จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์, โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเลขประจำตัว ส.ก.12129 ก่อนเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 1 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 โดยสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2508 

และเริ่ม รับราชการประจำศูนย์การทหารราบ ในยศร้อยตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จากนั้นจึงไปศึกษาต่อหลักสูตรเสนาธิการทหารบก ที่สหรัฐอเมริกา และทำงานในหน่วยรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บิดาก็ยังเป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น 

เมื่อเข้ารับราชการแล้วยังผ่านการอบรมในหลายหลักสูตรคือ

  • พ.ศ. 2509 หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่าทหารราบ
  • พ.ศ. 2509 หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม
  • พ.ศ. 2511 หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่าทหารราบ สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2516 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52
  • พ.ศ. 2517 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2517 หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา

ใน พ.ศ. 2529–2531 พล.อ. สุรยุทธ์ เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ภายหลังจากที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีประชาชนรวมตัวกันชุมนุมตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขับไล่ พล.อ. สุจินดา ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา ต้องสลายการชุมนุม โดย พล.อ. สุรยุทธ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ได้เป็นผู้สั่งการกองกำลังทหารเข้าตรวจค้นในบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยไม่ให้ใช้อาวุธ 

ต่อมาสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541  ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 พลเอก สุรยุทธ์ ถูก ดร.ทักษิณปรับย้ายพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีฐานผลิตยาเสพติดในประเทศพม่าโดยพลการ

หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2546 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ วางเป้าหมายไว้ว่า จะอุปสมบทและออกธุดงค์ไปในภาคอีสาน แต่ยังไม่ทันได้เข้าอุปสมบทดังที่ตั้งใจไว้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 จนเมื่อดำรงตำแหน่งองคมนตรีได้สักระยะจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาอุปสมบทเป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การดำรงตำแหน่งที่สำคัญ

พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยดำรงตำแหน่งทางทหาร และตำแหน่งพิเศษอื่นดังนี้ ราชการทหาร

  • รับราชการประจำศูนย์การทหารราบ พ.ศ. 2508
  • ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 พ.ศ. 2509
  • ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยรพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่2 พ.ศ. 2513
  • ครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.ศ. 2515
  • ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 พ.ศ. 2521
  • ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 พ.ศ. 2526
  • นายทหารคนสนิทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2529
  • ผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1 พ.ศ. 2532
  • ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พ.ศ. 2535
  • แม่ทัพภาคที่ 2 พ.ศ. 2537
  • ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก พ.ศ. 2540
  • ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พ.ศ. 2540
  • ผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2541 - 2545
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2545 -2546

ตำแหน่งพิเศษ

  • ราชองค์รักษ์เวร พ.ศ. 2526
  • นายทหารคนสนิท นายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) พ.ศ. 2529-2531
  • นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2531
  • สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1 และ 2 พ.ศ. 2535 และ 2539
  • ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546

 การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากการเชิญเพื่อให้ช่วยรับภาระในการนำรัฐบาลชั่วคราวถึง 2 ครั้งจากพล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงเข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

การปฏิบัติงานของรัฐบาล

  • วางยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยเน้นการพัฒนาคนและครอบครัวให้พึ่งพาตนเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีงบประมาณส่วนกลาง 5000 ล้านบาท ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานงานจากส่วนกลางสู่ชุมชน 

การคลัง

  • นำ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก มาใช้

วัฒนธรรม

  • ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่สามารถโมษณาได้ในเวลา22.00เป็นต้นไป 
  • ออกมาตรการคุมเข้มไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เต้นโคโยตี้ 

สาธารณสุข

  • ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เปลี่ยนเป็น รักษาฟรีทุกโรค และให้คนไทยห่างไกลจากโรค 

พลังงาน

  • ยกเลิกแผนการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า 

การศึกษา

  • ให้โรงเรียนดัง 430 โรงเรียนทั่วประเทศ รับเด็กนักเรียนจากพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนครึ่งหนึ่ง ส่วนโรงเรียนอื่นจะต้องรับนักเรียนเข้าทั้งหมดโดยไม่มีการสอบ หากมีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับ ให้ใช้วิธีจับสลาก 

สิทธิมนุษยชน

  • ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปฯเรื่องห้ามการชุมนุมประท้วง แต่ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก 
  • การสั่งห้ามคนขับรถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพเข้าร่วมการประท้วงคณะเผด็จการ/รัฐบาลทหาร สมัชชาคนจนหลายพันคนถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าร่วมการประท้วงในกรุงเทพฯโดยอ้างว่าพวกเขาไม่มีใบอนุญาตให้เดินทางตามกฎอัยการศึก (ซึ่งยังมีผลครอบคลุม 30 กว่าจังหวัดในเวลานั้น) 
  • สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลนีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรีถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้น การปิดเว็บไซต์ที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเหมาะสม
  • รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ผลักดันกฎหมายที่ระบุว่า ผู้ที่พยายามเข้าเว็บไซต์ใด ๆ ที่รัฐบาลได้เซ็นเซอร์ไว้หนึ่งหมื่นกว่าเว็บ จะต้องรับโทษตามกฎหมาย และเอาผิดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่เปิดเผยไอพีแอดเดรสของผู้ใช้แก่รัฐบาล
  • การปิดวิทยุชุมชนที่ต่อสายตรงสัมภาษณ์อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์หลังเกิดรัฐประหารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยได้โทรศัพท์เข้ามาที่สถานีวิทยุชุมชนคลื่น 87.75FM และคลื่น 92.75FM วันต่อมา รัฐบาลทหาร กรมประชาสัมพันธ์ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในได้เข้ามาตรวจสอบวิทยุชุมชนแห่งนี้ ทำให้วิทยุชุมชนนี้งดออกอากาศ
  • การก่อตั้งเครือข่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารจำนวน 700,000 คนเพื่อสกัดกั้นผู้ประท้วงรัฐบาลทหาร ผบ.กอ.รมน. กล่าวว่า "เราต้องสกัดกั้นผู้ประท้วงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้ามีผู้ประท้วงน้อยกว่า 50,000 คน ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร"
  • วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 รัฐบาลทหารสั่งเซ็นเซอร์การแพร่ภาพการสัมภาษณ์ ทักษิณ ชินวัตร ทาง CNN ในประเทศไทย

สื่อสารมวลชน

บัญชีทรัพย์สิน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. พ.ศ. 2549 พบว่า พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีทรัพย์สินรวม 25,246,091 บาท โดยเป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 5 บัญชี จำนวน 7,283,341 บาท หลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น 82,500 บาท ที่ดิน 9 แปลง มูลค่า 17,880,250 บาท พ.อ.หญิง คุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ ภริยา มีทรัพย์สินรวม 65,566,363 บาท โดยเป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 15 บัญชี จำนวน 20,620,933 บาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาล 10,030,000 บาท เงินลงทุนอื่น 33,430 บาท ที่ดิน 3 แปลง มูลค่า 7 ล้านบาท บ้าน 3 หลัง มูลค่า 10 ล้าน ยานพาหนะ 3 คัน มูลค่า 3,725,000 ทรัพย์อื่น 14,157,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับอัญมณี ทั้งสองคนมีทรัพย์สินรวม 90,812,454 บาท  

ฉายานาม

เนื่องจากรัฐบาลของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีที่เป็นผู้สูงอายุ และข้าราชการประจำที่เกษียณอายุแล้วจำนวนมาก สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาให้ว่า "รัฐบาลขิงแก่" แต่ก็มีสื่อมวลชนบางแขนง ตั้งฉายาให้ว่า ยุทธ ยายเที่ยง เนื่องจากมีคดีพัวพันเกี่ยวกับการโกงที่ดินเขายายเที่ยง และโดยที่นายกรัฐมนตรีเองถูกมองว่ามุ่งเน้นการรักษาคุณธรรม จริยธรรม และในขณะเดียวกันก็ทำงานเชื่องช้า ทำให้ได้รับฉายาจากนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าเป็น "ฤๅษีเลี้ยงเต่า" โดยตั้งล้อกับฉายาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยได้รับฉายาว่า "ฤๅษีเลี้ยงลิง"

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการรับตำแหน่งจากคณะรัฐประหารแล้ว พล.อ. สุรยุทธ์ ยังถูกกล่าวหาในเรื่องการบุกรุกป่าสงวนและการคอรัปชั่นด้วย

การบุกรุกป่าสงวน

พลเอก สุรยุทธ์ ถูกกล่าวหาว่าครอบครองพื้นที่ป่าสงวนเขายายเที่ยง ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขัดต่อกฎหมายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ได้พิสูจน์แล้วว่าที่ผืนนี้เป็นหนึ่งในจำนวนหลายร้อยแปลงที่เรียกว่า "พื้นที่จัดสรรแบบหมู่บ้านป่าไม้" และเอกสารสิทธิ์คือ ภบท.5 ซึ่งสามารถตกทอดได้ทางทายาทโดยธรรมเท่านั้น และแปลงที่พลเอกสุรยุทธ์ครอบครองนั้นผู้ได้รับจัดสรรโดยถูกต้องแต่แรกคือ นายเบ้า สินนอก เมื่อพลเอกสุรยุทธ์เป็นผู้นำแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ซื้อที่ดินมาจากพันเอก สุรฤทธิ์ จันทราทิพ ซึ่งก็ซื้อมาอีกทอดหนึ่ง โปรดสังเกตว่าช่องว่างทางกฎหมายนี้ที่ทำให้บุคคลมากมายทั่วประเทศยอมเสียเงินซื้อที่ ภบท.5 ที่ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ยกเว้นตกทอด ทั้ง ๆ รู้แก่ใจว่าเมื่อรัฐเรียกคืนก็ต้องคืน พล.อ. สุรยุทธ์กล่าวว่าเขาจะลาออกและคืนที่ดินนี้ (ซึ่งเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าเขาเป็นเจ้าของ) ทันทีหากพบความผิด [26] อารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปกป้องสุรยุทธ์ว่า "พล.อ. สุรยุทธ์ซื้อที่ดินนี้มาจากคนอื่น ดังนั้นจะต้องไปถามคน ๆ นั้นว่าที่ดินนี้เป็นพื้นที่สงวนหรือไม่"

จรัญ ดิษฐาอภิชัย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวว่า "ผมรับไม่ได้ที่ใครคนหนึ่งสร้างบ้านหรูหราในพื้นที่ป่าสงวน กลับเรียกตัวเองว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและความพอเพียง"

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ปฏิเสธที่จะตรวจสอบคดีนี้โดยให้เหตุผลว่าไม่มีอำนาจไปตรวจสอบ กล้าณรงค์ จันทิก หนึ่งใน ปปช. กล่าวว่า พลเอก สุรยุทธ์ เกษียณจากกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2546 แต่เพิ่งมาฟ้องร้องกัน 4 ปีหลังเกษียณ ปปช. ไม่สามารถสอบสวนคดีที่มีอายุเกิน 2 ปีหลังจากเกษียณได้  

การฉ้อราษฎร์บังหลวง

พล.อ. สุรยุทธ์ ชื่นชอบสะสมโมเดลรถไฟ เขาถูกกล่าวหาว่าครอบครองโบกี้รถไฟ 4 โบกี้ ไว้ที่บ้านเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา อย่างผิดกฎหมาย พล.อ. สุรยุทธ์กล่าวว่าจริง ๆ แล้วเขามีมากกว่า 4 โบกี้ แต่ทั้งหมดเป็นรถไฟจำลองขนาดเล็กวิ่งด้วยไฟฟ้า อยู่ในกรุงเทพฯ และได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้เผยแพร่ภาพสิ่งปลูกสร้างคล้ายรางรถไฟที่อยู่บนเขาใกล้ที่พักของ พล.อ. สุรยุทธ์ ที่เขายายเที่ยง ซึ่งก่อนการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง พล.อ. สุรยุทธ์ ได้เชิญสื่อมวลชนราว 40 คน ขึ้นไปเยี่ยมชมและทานอาหารกลางวัน ณ บ้านพักบนเขายายเที่ยงดังกล่าว จึงปรากฏความจริงว่าสิ่งที่ดูคล้ายโบกี้รถไฟนั้นคืออาคารที่ปลูกอยู่ใกล้กับตัวบ้านพัก 

หลังจากที่มีการชุมนุมบนหมู่บ้านเขายายเที่ยง และด้วยเกรงว่าชาวบ้านอีกมากที่ครอบครองที่ดินลักษณะเดียวกันจะได้รับผลกระทบ พล.อ. สุรยุทธ์ จึงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมารับมอบที่ดินที่มีปัญหาของตนกลับไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดโดยไม่รื้อถอน

รางวัลและเกียรติยศ

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก นายกองใหญ่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2550  


ปัจจุบันอายุ 78 ปี

เนื้อเพลง