วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 9 สมัยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า "มาร์ค" เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เขามีเชื้อสายจีนฮั่น จากฮกเกี้ยน บิดาชื่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารดาชื่อ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ

ภิสิทธิ์ เป็นบุตรชายคนเดียว ในจำนวนบุตร 3 คน ของศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สดใส เวชชาชีวะ มีพี่สาว คือ ศาสตราจารย์ อลิสา วัชรสินธุ แพทย์ และงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนและนักแปล

เมื่อยังมีอายุไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวเวชชาชีวะได้เดินทางกลับประเทศไทย 

การศึกษา

อภิสิทธิ์ได้เข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร 

ระดับประถมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

จากนั้นได้ย้ายกลับประเทศอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชน ระดับเตรียมอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของลอนดอน 

ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมืองและ เศรษฐศาสตร์ (philosophy, politics and economics, PPE) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาวิชานี้ ต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล)

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อภิสิทธิ์เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ระหว่างปี พ.ศ. 2530–2531 และได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 

ก่อนจะลาออกจากราชการกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอีกครั้ง ปริญญานิพนธ์ของอภิสิทธิ์ได้รับการยอมรับในระดับดีมาก โดยเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับ 1 

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หลังจากนั้นยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในปี พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า

ต้นปี พ.ศ. 2549 อภิสิทธิ์ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากการใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 

และต้นปี พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมือง

อภิสิทธิ์ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับพิชัย รัตตกุล ในเขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมาเมืองไทย ต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ 

และได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี ซึ่งนับว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น และเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส "มหาจำลองฟีเวอร์" กับการเป็นนักการเมือง "หน้าใหม่" ที่เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 อภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมปราศรัยและคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก สุจินดา คราประยูร ที่ สนามหลวง และลานพระบรมรูปทรงม้า ในฐานะนักวิชาการ และตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในครั้งนั้นประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลสุจินดา คราประยูร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลงานทางการเมืองที่สำคัญ คือการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่ดำเนินการจัดทำจนสำเร็จในช่วงเวลาที่อภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบสิทธิแก่เยาวชนไทยในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 43 โดยอภิสิทธิ์มีบทบาทดูแลทั้งด้านนโยบาย หลักการและรายละเอียด รวมทั้งผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา และได้ดูแลจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาประกาศใช้

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตกรรมการการศึกษาแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยให้ความเห็นไว้ว่า อภิสิทธิ์เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของ พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการปฏิรูปการศึกษาของไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง

หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากบัญญัติ บรรทัดฐาน ตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2548 อภิสิทธิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย คนที่ 7 หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2548 และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี และได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ทำการรัฐประหารโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

อภิสิทธิ์ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2550 ให้กับสมัคร สุนทรเวช และต่อมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา 


จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังศารัฐธรรมนูญ 

ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล เพราะนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึงมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และเนื่องจากนายยงยุทธเป็นกรรมการบริหารพรรค จึงถือว่าพรรคผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 สรุปความได้ว่าการซื้อเสียงดังกล่าว ถือว่าพรรคพลังประชาชนกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิชอบ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งบทลงโทษของพรรคการเมืองที่ผิดมาตรานี้คือต้องถูกยุบพรรค เพราะการซื้อเสียงถือเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 

จึงทำให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

ต่อมาได้มีการโหวตในสภาโดยฝั่งอดีตพรรคพลังประชาชนได้ส่งตัวแทนคือ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ส่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลการโหวตปรากฏว่าฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ชนะเนื่องจากมี ส.ส.บางส่วนของอดีตพรรคพลังประชาชนโหวตสวนมติพรรคจึงทำให้นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะชนะการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในวัย 44 ปี 

อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงวิกฤตการณ์การเงินโลก และความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น 

รัฐบาลอภิสิทธิ์เผชิญการประท้วงใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 

 ในปี พ.ศ. 2552 ระหว่างเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามสังหาร ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นความพยายามฆ่านายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ต้องหาจำนวน 20 ราย

และเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ดำเนินโครงการปรองดองเพื่อสืบสวนเหตุสลายการชุมนุม แต่การทำงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกลับถูกทหารและหน่วยงานของรัฐขัดขวาง กองทัพไทยปะทะกับกัมพูชาหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. 2552−2553 ซึ่งเป็นการสู้รบนองเลือดที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ เหตุความไม่สงบในชายแดนภาคใต้บานปลายขึ้นระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรายงานการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

จนกระทั่งอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อมาจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และพ้นจากตำแหน่งไป 

หลังแพ้การเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่ได้รับเลือกใหม่ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งหมด ในเดือนเดียวกัน เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาฆ่าคนจากการสลายการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 คน

จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย สมัยที่ 3 ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 และได้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ก็พ้นจากตำแหน่งไปเนื่องด้วย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่บ้านพักอภิสิทธิ์ บ้านเลขที่ 32 ซอยสุขุมวิท 31

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดให้มีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งผลปรากฎว่า อภิสิทธิ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง โดยเอาชนะนายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้นำ กปปส. ไปได้ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 และไม่สามารถทำที่นั่งได้ตามเป้าหมาย อภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาประกาศจะไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ฝ่ายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จึงตอบโต้ว่า ไม่ใช่แค่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ แต่ต้องไม่เอาพรรคพลังประชารัฐด้วย เชื่อว่ามีบางพรรคที่บอกว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์ แต่อยากจับมือพลังประชารัฐเพื่อชูตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ[106] สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ระบุว่า อภิสิทธิ์น่าจะแพ้เลือกตั้ง เพราะไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง[107] 24 มีนาคม 2562 เขาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ที่นั่งต่ำกว่า 100 ที่นั่ง[108] ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ


ปัจจุบันอายุ 57 ปี


วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

สมชาย วงศ์สวัสดิ์  


 

นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้พิพากษา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ในขณะที่สมชายดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงยึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยใช้สนามบินดอนเมืองเป็นที่ทำการแทน


ประวัติ

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ที่ตำบลสวนขัน อำเภอฉวาง (ปัจจุบันคือ อำเภอช้างกลาง) จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเจิม-นางดับ วงศ์สวัสดิ์ สมรสกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23

มีบุตร - ธิดา 3 คน คือ

  1. ผศ.ดร.ยศธนัน วงศ์สวัสดิ์ (เชน) สมรสกับ นางสาวนันทกานต์ บุตรสาวของนายวิโรจน์ และนางภาวิณี ศิลป์เสวีกุล เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558
  2. น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (เชียร์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1
  3. น.ส.ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ (เชอรี่) สมรสกับ นายนัม ลีนาล เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีกัมพู­ชา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การศึกษา

สำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2513 ต่อมาปี 2516 เข้าศึกษาต่อเนติบัณฑิตไทย (นบท.) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ 2539 ปริญญาบัตร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 38 และในปี 2545 รัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

การทำงาน

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วสอบบรรจุเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2517 

ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวง พ.ศ. 2518 

ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ พ.ศ. 2519 

จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2520 

แล้วจึงย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2526

 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพังงา พ.ศ. 2529 

ต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง พ.ศ. 2530 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2531 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2532 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาธนบุรี พ.ศ. 2533 

เลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พ.ศ. 2536 

ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 2 พ.ศ. 2540

ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ พ.ศ. 2541 

หลังจากนั้นได้ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายบริหาร พ.ศ. 2542 

หลังจากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งสูงสุดเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม 11 พ.ย. 2542 

หลังจากนั้นจึงย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน 8 มีนาคม 2549 และได้ลาออกจากราชการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ พ.ศ. 2542–2549

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในปี พ.ศ. 2550 เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

17 กันยายน 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 เสียง ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ทำให้นายสมชาย ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ จึงได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค

เมื่อเวลา 12.30 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน นายมณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และนายสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายหลังนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แถลงด้วยวาจาเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่รอพรรคพลังประชาชนไม่ได้ส่งตัวเข้าแถลงปิดคดีแต่อย่างใด

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคพลังประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีมติให้ยุบพรรคมัฌชิมาฯ และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 43 คน) ตามประกาศ คปค. เช่นกัน

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรคชาติไทยตามไปอีกพรรค โดยศาลฯได้วินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 68 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และกฎหมายได้เอาไว้เป็นเด็ดขาด แม้จะมีการโต้แย้งว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นฟังไม่ขึ้น (รวม 29 คน) ตามประกาศ คปค.


รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 75 วัน

ฉายานาม

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมทั้ง ตั้งฉายารัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ว่าเป็น รัฐบาล "ชายกระโปรง"

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 2


ปัจจุบันอายุ 74 ปี

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ที่มา ถนนวิภาวดี - รังสิต

ที่มา ถนนวิภาวดี - รังสิต

เพราะอะไรทำไมถึงตั้งถนนเส้นนี้ว่า “ถนนวิภาวดี - รังสิต”

มาจากพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ที่เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณที่ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ ๒๕๐๐ และพระกรณียกิจที่เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เป็นต้นมา
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ พระองค์หญิง ได้ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และเสด็จแทนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพราะตั้งพระทัยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทรงมีพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมเยียนบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า
จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่า มีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับระเบิด ๒ คน ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บ จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับตชด. ๒ คนนั้นไปส่งโรงพยาบาล แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน
ซึ่งก่อนการสิ้นพระชนม์พระองค์ยังมีพระสติสัมปชัญญะดี ทรงเป็นห่วงตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ตลอด มีรับสั่งว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” และ “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าอีกว่า พระองค์ตรัสขอให้พระมหาวีระและครูบาธรรมชัยกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวแทน ทรง “ขอนิพพาน” และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่พระองค์เห็นนั้น สวยงดงาม และ “แจ่มใสเหลือเกิน”
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว มีการรายงานข่าวอย่างละเอียดตั้งแต่การเชิญพระศพมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวกันอย่างใหญ่โต กรุงเทพโกรธเกรี้ยวต่อการสิ้นพระชนม์ เพราะรัฐบาลและทางราชสำนักถือว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูง และมีการประณามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างหนัก การสังหารเจ้านายสตรีก็เป็นสิ่งที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่คาดคิดเช่นกัน
“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ได้ทรงเล่าเรื่องอำเภอพระแสงและมาทำงานช่วยเหลือราษฎรในอำเภอนี้ตามพระราชดำริ ให้สมาชิกสมาคมสตรีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒ ไว้ว่า
“...ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอพระแสงมาแต่ก่อนเลย จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานบ่ายวันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เล่าพระราชทานข้าพเจ้าถึงข้าราชการอนามัยชั้นตรีผู้หนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปประจำสถานีอนามัยชั้น ๒ ที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุรษฎร์ธานี ซึ่งพอไปถึงก็หมดกำลังใจจะทำงาน อยากจะลาออกจากราชการให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะนอกจากไม่มีที่ให้อยู่อาศัย ถึงกับต้องพาบุตรภรรยาไปเช่าห้องแถวกลางตลาดแล้ว ในสถานีอนามัยยังแทบไม่มีหยูกยาหรือเครื่องใช้ที่จะบริการคนไข้ได้เลย ทั้ง ๆ ที่อนามัยแห่งนี้เป็นอนามัยแห่งเดียวที่มีอยู่ในตัวอำเภอ ขนาดตัวอำเภอยังติดต่อกับตัวจังหวัดหรืออำเภออื่นได้ยาก เพราะไม่มีถนนไปถึง ไม่มีทางรถไฟผ่าน ทางเดียวที่จะติดต่อกับภายนอกได้ก็คือทางลำแม่น้ำ ซึ่งจะไปไหนมาไหนก็ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงไม่เคยไปพระแสง ถึงกับพูดกันทีเล่นทีจริงในจังหวัดว่า ไปเวียดนามดีกว่าไปพระแสง
เมื่อความทุรกันดารของพระแสงทราบถึงพระกรรณโดยบังเอิญ รวมทั้งข้อขัดข้องของข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งเต็มไปด้วยความตั้งใจดี อยากจะทำงานตามหน้าที่ แต่หมดปัญญาสิ้นวิธี เพราะไม่ว่าจะคิดหาทางออกอย่างไรก็ตันไปหมดทุกทาง ก็ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชปรารถนาที่จะช่วยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชื่อ ดุสิต ผู้นั้น ได้ทำงานตามความตั้งใจให้ลุล่วงไปให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.ประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์พิเศษ นำตัวคุณดุสิต ซึ่งบังเอิญขึ้นมากรุงเทพฯขณะนั้น มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ที่ศาลาผกาภิรมย์ ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินช่วยเหลือคุณดุสิตให้สามารถทำงานตามหน้าที่ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อจักรยานยนต์สำหรับใช้ ๑ คัน ซื้อเวชภัณฑ์และยาตามบัญชีที่เขียนมา และยังพระราชทานเงินสดจำนวนหนึ่งสำหรับเก็บไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปตามตำบลต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบำบัดโรคแก่ราษฎร เช่นค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับเรือ ค่าซ่อมยานพาหนะ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะเบิกจากทางราชการมาใช้ให้ทันท่วงทีได้ นอกจากคุณดุสิตจะเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ยังทำงานละเอียดละออมาก ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายและรายงานผลงานที่เริ่มทำทันทีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยเหลือ ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอมิได้ขาด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเล่าเรื่องพระราชทานข้าพเจ้า ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนชอบท่องเที่ยวในที่แปลก ๆ และสนใจในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็กลายเป็นหนุมานอาสาขึ้นมาทันที...”
พวงมาลาดอกไม้สดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางไว้หน้าพระศพของท่านหญิงนั้น มีข้อความตอนหนึ่ง จากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” จารึกไว้ดังนี้
“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
ส่วนพวงมาลาพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีคำไว้อาลัยปรากฏดังนี้
“ทิวาวารผ่านมาเยือนหล้าโลก
พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย
อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย
แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการสถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้เสนอให้ตั้งชื่อ “ถนนซูเปอร์ไฮเวย์” จากดินแดงไปรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์
นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้นำความเจริญต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่พระแสง” และพระองค์ยังได้ประทานชื่อตำบลบางสวรรค์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระแสง
---------------------------------------------
ข้อเท็จจริง
๑. การตั้งชื่อถนนตามพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” นั้น มิใช่ตั้งเพื่อความเป็นเจ้าของแต่ประการได้ หากแต่ตั้งชื่อว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ และเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี
๒. การสิ้นพระชนม์ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” มิใช่การลอบสังหาร ถ้าลอบสังหารนั่นหมายถึง ต้องมีการเตรียมการและวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ครั้งนั้นแม้แต่ผู้ก่อการร้ายที่ระดมยิงเอง ก็ไม่รู้เลยว่า พระองค์เจ้าวิภาวดีฯ อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ด้วย แม่แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง ก็ทราบทีหลังว่าบนเฮลิคอปเตอร์นั่นมีพระองค์เจ้าเจ้าวิภาวดีฯ อยู่ ก็ตอนที่มีการแถลงการณ์การสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพแล้ว จึงไม่ใช่การลอบสังหารแบบที่คนบางกลุ่มกำลังกล่าวอ้าง
๓. เหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ครั้งนั้น ไม่ใช่ฝีมือของชาวบ้านประชาชนทั่วไป แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ จนเป็นเหตุให้ท้ายที่สุดพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สิ้นพระชนม์ (ผู้ก่อการร้ายที่ต่อสู้กับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.))
๔. ไม่ใช่ระดมยิง แล้วเฮลิคอปเตอร์ตกจนสิ้นพระชนม์ แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน แล้วมาสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา

เนื้อเพลง