วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร

 




นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ (ร.ศ. ๑๐๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเลียบหัวเมืองแหลมมลายูทั้งปักษ์ใต้และฝ่ายตะวันตก กำหนดระยะทางจะเสด็จไปเรือจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองชุมพร แต่เมืองชุมพรเสด็จโดยทางบกข้ามแหลมมลายูตรงกิ่วกระ ไปลงเรือที่เมืองกระบุรีล่องลำน้ำปากจั่นลงไปยังเมืองระนอง ต่อนั้นเสด็จไปเรือทางทะเล แวะตามหัวเมืองฝ่ายตะวันตกจนตลอดพระราชอาณาเขต แล้วเลยไปอ้อมแหลมมลายูที่เมืองสิงคโปร์ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นมา เมื่อขากลับกรุงเทพฯ โปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสครั้งนั้น

เพราะเหตุใดจึงโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสเป็นเรื่องอันหนึ่งในประวัติ ของตัวฉันเอง จะเล่าฝากไว้ด้วยตรงนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. ๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดให้ฉันไปตามเสด็จเป็นมัคคุเทศก์ เพราะฉันได้เคยไปเที่ยวหัวเมืองทางนั้น รู้เบาะแสมาแต่ปีก่อน ก็การที่เป็นมัคคุเทศก์นั้นมีหน้าที่เป็นต้นรับสั่งกะการประพาสที่ต่างๆ ตลอดทางที่เสด็จไป ฉันสนองพระเดชพระคุณชอบพระราชหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่นั้นมาจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส แต่ชอบเรียกกันเป็นคำแผลงภาษาอังกฤษว่า Lord Program Maker ตามเสด็จประพาสต่อมาเป็นนิจจนตลอดรัชกาลที่ ๕ และคงอยู่ในตำแหน่งนั้นสืบมาในรัชกาลที่ ๖ อีก ๓ ปี รวมเวลาที่ได้เป็นผู้จัดการเสด็จประพาสอยู่ ๒๖ ปี จึงพ้นจากหน้าที่นั้นพร้อมกับถวายเวนคืนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับเข้าไปจัดการเสด็จประพาสถวายอีก เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลพายัพครั้งหนึ่ง และเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง จึงอ้างได้ว่าได้รับราชการเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสสนองพระเดชพระคุณมา ๓ รัชกาล แต่เมื่อไปตามเสด็จครั้งหลัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับต้องทรงระวังมิให้ฉันเหนื่อยเกินไป เพราะตัวฉันแก่ชราอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ก็เป็นครั้งที่สุดซึ่งฉันได้จัดการเสด็จประพาสเพียงนั้น

เมื่อจัดการเสด็จประพาสครั้ง ร.ศ. ๑๐๙ ฉันต้องล่วงหน้าลงไปจัดพาหนะสำหรับเดินทางบก และตรวจพลับพลาที่ประทับ กับทั้งการทำทางที่จะเสด็จไปแต่เมืองชุมพรจนถึงเมืองระนอง แล้วจึงกลับมาเข้าขบวนตามเสด็จที่เมืองชุมพร ฉันไปถึงเมืองชุมพรได้ฟังเขาเล่าเรื่องเสือใหญ่ ซึ่งกำลังดุร้ายกินผู้คนอยู่ในแขวงเมืองชุมพรในเวลานั้น และไปมีเหตุขึ้นเนื่องด้วยเรื่องเสือตัวนั้น เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด จึงเขียนเล่าไปยังหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งฉันเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง สำหรับให้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ดูเรื่องเข้ากับนิทานโบราณคดีที่เขียนบัดนี้เหมาะดี จึงคัดสำเนาจากหนังสือวชิรญาณวิเศษมาแก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย และเขียนเล่าเรื่องเสือตัวนั้นอันมีต่อมาเมื่อภายหลัง ยังไม่ปรากฏในหนังสือซึ่งฉันเขียนไว้แต่ก่อน เพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ เรื่องที่เขียนไว้แต่เดิมดังต่อไปนี้

เรื่องเสือใหญ่ที่เมืองชุมพร

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ กล่าวตามที่ฉันได้ยินด้วยหูและได้เห็นด้วยตาของตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าได้สงสัยว่าเป็นความเท็จซึ่งแต่งแต่โดยเดาเลย เป็นความจริงแท้ทีเดียว

เมื่อวันที่ ๖ เมษายน (ร.ศ. ๑๐๙) นี้ ฉันไปถึงปากน้ำเมืองชุมพรลงเรือโบตขึ้นไปที่บ้านด่าน หาเรือซึ่งจะรับขึ้นไปถึงเมืองชุมพร ด้วยเรือไฟที่มาส่งฉันเขาจะต้องรีบใช้จักรไปราชการที่อื่นอีก ขณะเมื่อฉันนั่งพักคอยเรืออยู่ที่บ้านด่านนั้น ได้สนทนากับขุนด่านและกรมการราษฎรชาวปากน้ำชุมพรหลายคน ซึ่งฉันได้รู้จักมาแต่ก่อนบ้าง ที่ยังไม่รู้จักบ้าง พูดจาไถ่ถามถึงทุกข์สุขต่างๆ ตลอดไปจนเรื่องการทำมาหากินของราษฎร และเรื่องสัตว์สิงห์ต่างๆ คือเสือเป็นต้น เขาจึงเล่าให้ฟังเป็นปากเดียวกันดังนี้ ว่าในเวลานั้นมีเสือดุที่แขวงเมืองชุมพรตัวหนึ่ง เสือนั้นตัวใหญ่ยาวสัก ๙ ศอก เท้าเป๋ข้างหนึ่ง จึงเรียกกัน “อ้ายเป๋” เที่ยวกัดกินคนตามแขวงบ้านใหม่ บ้านละมุ เสียหลายคน ประมาณกันแต่หกเจ็ดคนขึ้นไปถึงสิบคนยี่สิบคน และว่าเสือตัวนี้กล้าหาญผิดกับเสือซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ถึงเข้ากัดคนกลางวันแสกๆ บางทีคนนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน ก็เข้ามาฉวยเอาไป บางคนไปขึ้นพะองทำตาลก็มาคาบเท้าลากไป จนชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้าม ไม่อาจจะไปป่าหากินแต่คนเดียวสองคนได้ บางคนก็ว่าเป็นเสือสมิงศักดิ์สิทธิ์ไม่มีผู้ใดอาจจะไปดักหรือไปยิงจนทุกวันนี้ เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ ได้สืบถามตามชาวเมืองจนกระทั่งกรมการทั้งเมืองชุมพรและเมืองกระบุรี ก็รู้เรื่องเสือดุตัวนี้แทบทุกคน ฉันจึงให้ทำบัญชีรายชื่อคนถูกเสือกัด ซึ่งตามภาษาชาวชุมพรเขาเรียกว่า “เสือขบ” ไว้สำหรับกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ได้รายชื่อเขาจดมาให้ดังนี้

อำเภอท่าแซะแขวงเมืองชุมพร จำนวนคนที่เสือขบ นายช่วยผัวอำแดงจันทร์ ตำบลบางรึกคนหนึ่ง อำแดงเกต บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายน้อย บ้านท่าแซะคนหนึ่ง นายเบี้ยว บ้านท่าแซะคนหนึ่ง อำแดงเช้าภรรยานายลอม บ้านคูริงคนหนึ่ง หลานนายยอด บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายนองผัวอำแดงสายทอง บ้านรับร่อคนหนึ่ง นายน้อย บุตรขุนตะเวนบ้านล่อคนหนึ่ง นายเชต บ้านหาดหงคนหนึ่ง รวมที่ได้รายชื่อ ๙ คน บัญชีได้เพิ่มเติมมาจากเมืองกระบุรีมีรายการพิสดารออกไป

๑) นายอ่อน หมายเลขกองกลาง อยู่บ้านรับร่อ ไปตัดจากมุงเรือนที่ปลายคลองรับร่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน เวลาบ่าย ๕ โมง เสือกัดตายตามผีไม่ได้

๒) นายนอง ว่าที่หมื่นจบ คุมเลขกองด่าน อยู่บ้านหาดพังไกร ไปขึ้นทำน้ำตาลที่กลางนาหาดพังไกร เมื่อเดือนตุลาคมข้างขึ้น เวลากลางวัน ตะวันเที่ยง พอกลับลงจากปลายตาลเสือกัดตาย ตามผีมาได้ครึ่งหนึ่ง

๓) อำแดงแป้น ลูกขุนชนะ คุมเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวน ไปหาผักริมนาท่าญวน เมื่อเดือนตุลาคม ข้างแรม กลางวันบ่าย ๓ โมง เสือกัดตาย ตามผีได้

๔) นายแบน เป็นเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวณ ไปหาตัวเลขจะพามาทำทางรับเสด็จที่เมืองกระ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เวลาพลบค่ำ เสือกัดตายที่นาป่าตอ อำเภอท่าญวน

๕) อำแดงเลี้ยน ภรรยานายพลอย เลขกองกลาง อยู่บ้านเขาปูน นั่งสานสาดอยู่ที่ใต้ถุนร้านไล่นกที่ในไร่ เวลาตะวันเที่ยง เสือกัดตาย ตามผีได้

ตามคำที่เล่าและ สืบได้ชื่อกับจำนวนคนที่เสือกัด พอฟังเป็นยุติได้ ว่าที่เมืองชุมพรเดี๋ยวนี้มีเสือตัวใหญ่ ดุร้ายกัดคนตายเสียหลายคน ชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้ามเสือตัวนั้นอยู่แทบทั่วกันทั้งเมือง นี่ว่าตามที่ได้ยินด้วยหู ทีนี้จะเล่าถึงที่ได้เห็นด้วยตาตัวเองต่อไป

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองชุมพร แต่แรกเจ้าเมืองกรมการเขาจะให้พักที่ทำเนียบริมจวนเจ้าเมือง แต่ฉันเห็นว่าห่างไกลจากธุระของฉัน จึงขอไปพักอยู่ที่ทำเนียบชายทุ่งริมที่ทำพลับพลารับเสด็จ ในค่ำวันนั้นกรมการเขาจัดคนมากองไฟรอบที่พักฉัน (ซึ่งยังไม่ได้ทำรั้วล้อม) มีผู้คนนั่งอยู่ด้วยกันหลายสิบคน ทั้งคนที่ไปด้วยและชาวหัวเมืองพวกคนทำพลับพลาก็อีกหลายร้อยคน อยู่ในชายทุ่งนั้นด้วยกัน ในคืนแรกไปอยู่ฉันนอนหลับตลอดรุ่ง ต่อเช้าขึ้นจึงได้ทราบว่าเมื่อเที่ยงคืนพวกกองไฟร้องโวยวายกันขึ้น พวกที่ไปกับฉันให้ไปสืบถาม ได้ความว่าได้ยินเสียงเสือเข้ามาร้องอยู่ที่ริมบึงต่อชายทุ่งนั้น เสียงที่ร้องนี้พวกที่ไปกับฉันได้ยินก็มี แต่คนพวกนั้นไม่เคยได้ยินเสียงเสือ ไล่เลียงเข้าก็เป็นแต่ว่าได้ยินเสียง แต่จะเป็นเสียงอะไรไม่รู้ ฉันถามกรมการว่าในที่เหล่านั้นเสือเคยเข้ามาหรือไม่ เขาบอกว่าเคยเข้ามาอยู่บ้าง ก็เป็นสงบกันไป จนค่ำวันที่สอง ฉันนอนกำลังหลับสนิท สะดุ้งตกใจได้ยินเสียงโวยวายโกลาหลกันใหญ่ ลุกทะลึ่งออกมาดูเห็นบรรดาพวกที่ไปกับฉันซึ่งนอนอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน บางคนปีนขึ้นไปอยู่บนขื่อก็มี ที่เข้าห้องปิดประตูก็มี นอกจากนั้นก็ลุกขึ้นยืนอยู่บนที่นอนของตน ล้วนแต่โบกมือเฮ้อวๆ ๆ ๆ อยู่ด้วยกันเต็มเสียง ฉันกำลังมัวนอนไม่รู้ว่าเรื่องราวอันใด ก็พลอย เฮ้อว ไปด้วยกับเขาสักสองสามที จึงได้สติถามว่า “อะไรกัน” เขาบอกว่าเสือเข้ามา ฉันร้องห้ามให้สงบโวยวายกันลง ในขณะนั้นเดือนหงายสว่าง มองไปดูเห็นพวกที่ไปด้วยกันที่อยู่เรือนอีกหลังหนึ่งตรงกันข้าม ก็กำลังลุกขึ้นโบกมือร้อง เฮ้อวๆ เหมือนเช่นพวกข้างนี้ ส่วนพวกหัวเมืองทั้งที่มาทำพลับพลาและมากองไฟล้อมทำเนียบ เบ็ดเสร็จเห็นจะกว่า ๓๐๐ คน ดูรวมกันเป็นจุกๆ อยู่ที่นั่นหมู่หนึ่ง อยู่ที่นี่หมู่หนึ่ง เป็นกลุ่มๆ กันไป ต่างร้องโวยวายกันทั่วทุกคน เสียงโวยวายในเวลานั้น ถ้าจะประมาณแต่ในวังก็เห็นจะได้ยินถึงเสาชิงช้า ค่อยสงบลงๆ จนเงียบกันเกือบเป็นปรกติ ฉันจึงให้คนไปสืบถามให้ได้ความว่า เสือมันเข้ามาทางไหน และได้ทำใครเป็นอันตรายบ้างหรืออย่างไร สืบถามซักไซ้ก็ได้ความว่า ต้นเหตุเกิดที่โรงไว้ของข้างหลังเรือนฉันพัก โรงนั้นเป็นโรงใหญ่ไม่มีฝาอยู่สองด้าน มีคนนอนอยู่หลายคน คนหัวเมืองคนหนึ่งละเมอเสียงโวยวายขึ้น คนหัวเมืองอีกคนหนึ่งนอนอยู่เคียงกัน ได้ยินเสียงเพื่อนกันโวยวายก็ตกใจลุกทะลึ่งขึ้นร้องว่า “เสือ” แล้วก็วิ่งหนีด้วยเข้าใจว่าเสือมากัดอ้ายคนละเมอ ส่วนอ้ายคนละเมอเห็นเขาวิ่งร้อง “เสือ เสือ” ก็สำคัญว่าเสือเข้ามา พลอยลุกขึ้นวิ่งร้องว่า “เสือ” ตามเขาไป อ้ายสองคนนี้ เข้าที่ไหนคนก็ลุกขึ้นร้องโวยวายต่อๆ ไปด้วย ครั้นได้ความชัดอย่างนี้ก็ได้แต่หัวเราะกันไป อีกกว่าชั่วโมงจึงสงบเงียบหลับกันไปอีก นี่แลที่ฉันได้เห็นในเรื่องเสือตัวใหญ่นั้นด้วยตาของฉันเอง แต่มิใช่ได้เห็นตัวเสือใหญ่นั้นดอกนะ (เรื่องที่ลงหนังสือวชิรญาณวิเศษ หมดเพียงเท่านี้)

หนทางบกที่เดินข้ามกิ่วกระ แต่เมืองชุมพรไปจนลำน้ำปากจั่น ณ เมืองกระบุรี ระยะทางเพียง ๑,๐๘๓ เส้น พวกชาวเมืองที่ไปมาค้าขาย เขาเดินวันเดียวตลอด แต่ขบวนเสด็จผู้คนมากต้องกะให้เดินเป็น ๒ วัน เพราะต้องข้ามเขาบรรทัดเป็นทางกันดาร ได้ลองนับที่ต้องขึ้นเขาและลงข้ามไหล่เขามีถึง ๓๑ แห่ง ข้ามลำธาร ๕๓ แห่ง ลุยไปตามลำธาร ๒๑ แห่ง พาหนะก็ใช้ได้แต่ช้างม้ากับคนเดินหาบหาม ขบวนคนมากต้องเดินช้าอยู่เอง เมื่อฉันล่วงหน้าไปตรวจทางครั้งนั้น ได้พบเห็นของประหลาดที่ไม่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนบางอย่าง จะเล่าไว้ด้วย อย่างหนึ่งคือต้นไม้ใบมีพิษเรียกว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นต้นไม้ขนาดย่อม สูงราวห้าหกศอกขึ้นแซกแซมต้นไม้อื่นอยู่ในป่า ไม้อย่างนี้ที่ครีบใบมีขนเป็นหนามเล็กๆ อยู่รอบใบ ถ้าถูกขนนั้นเข้าก็เกิดพิษให้ปวดเจ็บ เขาว่าพิษร้ายแรงถึงช้างกลัว เห็นต้นก็ไม่เข้าใกล้ เพียงเอาใบตะลังตังช้างจี้ให้ถูกตัวช้างก็วิ่งร้องไป จึงเรียกว่า ตะลังตังช้าง ชาวเมืองชุมพรเล่าต่อไปว่า หาดริมลำธารแห่งหนึ่งในทางที่ฉันไปนั้น เรียกกันว่า “หาดพม่าตาย” เพราะเมื่อพม่ามาตีเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ พักนอนค้างที่หาดนั้น พวกหนึ่งไม่รู้ว่าใบตะลังตังช้างมีพิษเอามาปูนอน รุ่งขึ้นก็ตายหมดทั้งพวก คนไปเห็นพม่านอนตายอยู่ที่หาดจึงเรียกกันว่า หาดพม่าตาย แต่นั้นมา แต่ฉันฟังเล่าออกจะสงสัยว่าที่จริงเห็นจะเป็นเมื่อพม่าหนีไทยกลับไป มีพวกที่ถูกบาดเจ็บถึงสาหัสไปตายลงที่หาดนั้น จึงเรียกว่าหาดพม่าตายมาแต่เดิม เผอิญคนไปเห็นที่แถวนั้นมีต้นตะลังตังช้างชุม ผู้ที่ไม่รู้เหตุเดิมจึงสมมตว่าตายเพราะถูกพิษใบตะลังตังช้าง ถ้าเอาใบตะลังตังช้างมาปูนอนดังว่า คงรู้สึกพิษสงของใบไม้ตั้งแต่แรกพอหนีเอาตัวรอดได้ ไหนจะนอนทนพิษอยู่จนขาดใจตาย ยังมีบางคนกล่าวต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่าใบตะลังตังช้างนั้น ถ้าตัดเอาครีบตรงที่มีขนออกเสียให้หมดแล้ว ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงกินอร่อยดี ดูก็แปลก แต่ฉันไม่ได้ทดลองให้ใครกินใบตะลังตังช้างหรือเอาจี้ช้างให้ฉันดู เป็นแต่ให้เอามาพิจารณาดู รูปร่างอยู่ในประเภทใบไม้เหลี่ยม เช่นใบมะเขือ ขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อยหนึ่ง แต่ที่ครีบมีขนเหมือนขลิบรอบทั้งใบ ใบไม้มีพิษพวกนั้นยังมีอีก ๒ อย่าง เรียกว่า “ตะลังตังกวาง” อย่างหนึ่ง “สามแก้ว” อย่างหนึ่ง แต่รูปใบรีปลายมน เป็นไม้ต่างพรรณกับตะลังตังช้าง เป็นแต่ที่ครีบมีขนเช่นเดียวกัน และว่าพิษสงอ่อนไม่ร้างแรงถึงตะลังตังช้าง ได้ยินเขาว่าทางข้างเหนือที่เมืองลำพูน ต้นตะลังตังกวางก็มี แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตาเหมือนที่แหลมมลายู

เมื่อไปถึงตำบล “บกอินทนิล” ในแดนเมืองกระบุรี ซึ่งจัดเป็นที่ประทับร้อน ในวันที่ ๒ ก็เห็นของประหลาดอีก ฉันได้ยินเสียงสัตว์ร้องอยู่ในป่าที่ต้นเลียบใหญ่ใกล้ๆ กับที่ประทับ ฟังเหมือนเสียงตุ๊กแก ไปดูก็เห็นตุ๊กแกมีอยู่ในโพลงต้นเลียบนั้นหลายตัว ออกประหลาดใจเพราะเคยสำคัญมาแต่ก่อนว่าตุ๊กแกมีแต่ตามบ้านผู้เรือนคน เพิ่งไปรู้เมื่อครั้งนั้นว่าตุ๊กแกป่าก็มี ต่อนั้นมาอีกหลายปี ฉันตามเสด็จไปเมืองชวาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ตอนเสด็จไปทอดพระเนตรภูเขาไฟโบรโม ประทับแรมอยู่ที่บนเขาโตสารี ห้องที่ฉันอยู่ในโฮเต็ลใกล้กับห้องของนักปราชญ์ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญวิชาสัตวศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งออกมาเที่ยวหาสัตว์แปลกๆ ทางตะวันออกนี้ จะเป็นเยอรมันหรือฮอลันดาหาทราบไม่ แต่ดูเป็นคนแก่แล้วพูดกันได้ในภาษาอังกฤษ จึงชอบพูดจาสนทนากัน แกบอกว่าที่ในป่าเมืองชวามีสัตว์ประหลาดอย่างหนึ่ง เวลาคนเดินทางนอนค้างอยู่ในป่า มันมักลอบมาอมหัวแม่ตีนดูดเลือดไปกิน คนนอนไม่รู้สึกตัวเป็นแต่อ่อนเพลียไปจนถึงตายก็มี ฉันว่าสัตว์อย่างนั้นในเมืองไทยก็มี เรียกว่า “โป่งค่าง” ฉันเคยได้ยินเขาเล่าว่ามันลอบดูดเลือดคนกินเช่นนั้น แต่ฉันไม่เคยเห็นรูปร่างของมันว่าเป็นอย่างไร แกบอกว่าแกหาตัวสัตว์อย่างนั้นได้ที่ในเมืองชวาหลายตัว ฉันอยากเห็น แกจึงพาเข้าไปดูในห้องสำนักงานของแก เห็นเอาใส่ขวดแช่เหล้าไว้ เข้าไปพิจารณาดูก็ตุ๊กแกเรานี่เอง จึงหวนรำลึกขึ้นทันทีถึงตุ๊กแกในโพรงต้นเลียบที่บกอินทนิล คงเป็นตุ๊กแกป่านั่นเองที่เราเรียกกันว่า ตัวโป่งค่าง

เมื่อฉันไปพักอยู่ที่เมืองระนอง ก็มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สมัยนั้นยังไม่มีตำรวจภูธร กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงจัดให้ทหารเรือหมวดหนึ่ง มีนายทหารเรือคุมไปสำหรับรักษาที่พักของฉัน ทหารเรือพวกนั้นจึงไปด้วยกันกับฉันจนถึงเมืองระนอง วันหนึ่งฉันกำลังนั่งอยู่กับพระยาระนอง (คอซิมก้อง ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาดำรงสุจริตฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร) และพระกระบุรี (คอซิมบี้ ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต) ข้าราชการที่ไปกับฉันก็นั่งอยู่ด้วยหลายคน ขณะนั้นนายทหารเรือเข้าไปบอกว่าทหารเรือป่วยไปคนหนึ่ง อาการเป็นไข้ตัวร้อนและมีเม็ดผุดขึ้นตามผิวหนัง ดูเหมือนจะออกฝีดาษ พอพระยาระนองกับพระกระบุรีได้ยินก็ตกใจ ออกปากว่าน่าจะเกิดลำบากเสียแล้ว เพราะราษฎรแถวนั้นยังกลัวฝีดาษยิ่งนัก ผิดกับชาวหัวเมืองชั้นใน ถ้ารู้ว่ามีคนออกฝีดาษอยู่ที่นั่นเห็นจะพากันหลบหนี ไม่มีใครทำการรับเสด็จ ฉันก็ตกใจ ถามว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าเมืองทั้งสองคนบอกว่า ตามประเพณีของราษฎรทางนั้น ถ้ามีคนออกฝีดาษที่บ้านไหน พวกชาวบ้านช่วยกันปลูกทับกระท่อมให้คนเจ็บไปอยู่ต่างหาก หายาและข้าวปลาอาหารไปวางไว้ให้ที่กระท่อม แล้วพวกชาวบ้านพากันทิ้งบ้านเรือนไปอยู่เสียให้ห่างไกล จนคนไข้หายสนิทจึงกลับมา ถ้าคนไข้ตายก็เผาเสียให้สูญไปด้วยกันกับกระท่อม เขาอยากให้ฉันส่งทหารเรือคนที่เจ็บไปไว้ที่เกาะว่างผู้คน กลางลำน้ำปากจั่น เขาจะให้ไปปลูกทับกระท่อมที่อาศัย และจะลองหาคนที่ออกฝีดาษแล้วไปช่วยอยู่รักษาพยาบาล มิฉะนั้น ถ้าฉันพาคนไข้กลับไปด้วย ไปถึงไหนราษฎรที่มาทำงานอยู่ที่นั่นก็คงพากันหลบหนีไปหมด ฉันสงสารทหารเรือคนไข้ ยังมิรู้ที่จะว่าประการใด พระทิพจักษ์ฯ หมอที่ไปประจำตัวฉันพูดขึ้นว่า จะไปตรวจดูเสียให้แน่ก่อน แกไปสักครู่หนึ่งเดินยิ้มกลับมา บอกว่าไม่ต้องทรงพระวิตกแล้ว คนเจ็บเป็นแต่ออกอีสุกอีใสมิใช่ฝีดาษ เพราะเม็ดที่ขึ้นห่างๆ กันไม่เป็นพืดเหมือนเม็ดฝีดาษ พิษไข้ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนอย่างออกฝีดาษ รักษาไม่กี่วันก็หาย ได้ฟังดังนั้นก็โล่งใจไปด้วยกันหมด ขากลับจากเมืองระนอง พระทิพจักษ์ฯ แกรับคนไข้มาในเรือลำเดียวกับแก เมื่อขึ้นเดินบก ฉันก็ให้จัดช้างตัวหนึ่งให้คนไข้นอนมาในสัปคับ นำหน้าช้างตัวที่ฉันขี่มาจนถึงเมืองชุมพร รักษาต่อมาไม่กี่วันก็หายเป็นปรกติ ต่อเมื่อคนไข้หายสนิทแล้ว พระทิพจักษ์ฯ จึงกระซิบบอกฉันว่า ที่จริงทหารเรือคนนั้นออกฝีดาษนั่นเอง แต่ออกอย่างบางพิษสงไม่ร้ายแรง แกเห็นพอจะพามาได้จึงคิดเอากลับมา ฉันก็มิรู้ที่จะว่าประการใด นอกจากขอบใจ เพราะรอดลำบากมาได้ด้วยมายาของแก

เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้โดยพิสดาร พิมพ์อยู่ในหนังสือ “เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู” แล้ว ฉันจะเล่าแต่เรื่องเสือใหญ่ต่อไป เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ต่อมาไม่ช้าใน พ.ศ. ๒๔๓๓ นั่นเอง ได้ข่าวว่าเสือใหญ่ที่เมืองชุมพรถูกยิงตายแล้ว ฉันอยากรู้เรื่องที่ยิงเสือตัวนั้น ให้สืบถาม ได้ความว่าชาวเมืองชุมพรคนหนึ่ง มีกิจธุระจะต้องเดินทางไปในป่า เอาปืนติดมือไปด้วย แต่มิได้ตั้งใจจะไปยิงเสือ เดินไปในเวลากลางวัน พอเลี้ยวต้นไม้ที่บังอยู่ริมทางแห่งหนึ่งก็เจอะ อ้ายเป๋ เสือใหญ่ประชันหน้ากันใกล้ๆ ชายคนนั้นมีสติเพียงลดปืนลงจากบ่า ขึ้นนกหลับตายิงไปตรงหน้าแล้วก็ทิ้งปืน วิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเพราะพบเสือใกล้ๆ ข้างฝ่ายเสือก็เห็นจะไม่ได้คาดว่าจะพบคน คงยืนชะงักอยู่ ลูกปืนจึงถูกที่หัวเสือตายอยู่กับที่ สิ้นชีวิตเสือใหญ่เพียงนั้น แต่ยังไม่หมดเรื่อง ฉันนึกถึงความหลังเกิดอยากได้หนังหรือหัวกะโหลกเสือตัวนั้น ให้ไปถามหา ได้ความว่า เมื่ออ้ายเป๋ถูกยิงตายแล้ว กำนันนายตำบลเอาซากไปส่งต่อพระยาชุมพร (ยัง) พระยาชุมพรออกเงินให้เป็นบำเหน็จแก่คนยิง แล้วได้ซากเสือไว้มิรู้ที่จะทำอย่างไร มีเจ๊กไปขอซื้อว่าจะเอาไปทำยา พระยาชุมพรก็เลยขายซากให้เจ๊กไป ฉันให้ลงไปถามหาช้าไปจึงไม่ได้หนังหรือหัวกะโหลกอ้ายเป๋ดังประสงค์ เป็นสิ้นเรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพรเพียงเท่านี้. 

นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง

 

นิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง

เมืองภูเก็ต เดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม จนเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงได้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ฉันลงไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลภูเก็ตครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เวลาฉันพักอยู่ที่เมืองภูเก็ต พระครูวิสุทธิวงศาจารย์เป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อยู่ ณ วัดฉลองมาหา พอฉันแลเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยที่หน้าแข้งของท่านมีรอยปิดทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ระกะไป ราวกับพระพุทธรูปหรือเทวรูปโบราณที่คนบนบาน เมื่อพูดจาปราศรัยดูก็เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ เวลานั้นดูเหมือนจะมีอายุได้สัก ๖๐ ปี ฉันถามท่านว่าเหตุไฉนจึงปิดทองที่หน้าแข้ง ท่านตอบว่า “เมื่ออาตมภาพเข้ามาถึงในเมือง พวกชาวตลาดเขาขอปิด” ฉันได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดอยากรู้ ว่าเหตุไฉนคนจึงปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง จึงสืบถามเรื่องประวัติของท่าน ได้ความตามที่ตัวท่านเองเล่าให้ฟังบ้าง ข้าราชการเมืองภูเก็ต ที่เขารู้เห็นเล่าให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องประหลาดดังจะเล่าต่อไปนี้

ท่านพระครูองค์นี้ชื่อ แช่ม เป็นชาวบ้านฉลองอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น เดิมเป็นลูกศิษย์พระอยู่ในวัดฉลองมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นเติบใหญ่บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้น จนอายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ เรียนวิปัสสนาธุระและคาถาอาคมต่างๆ ต่อมา จนมีพรรษาอายุมากได้เป็นสมภารวัดฉลอง เรื่องประวัติแต่ต้นจนตอนนี้ไม่แปลกอย่างไร มาเริ่มมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์เมื่อเกิดเหตุด้วยพวกจีนกรรมกรทำเหมืองแร่ที่ เมืองภูเก็ตเป็นกบฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ (ดังจะมีเรื่องปรากฏในนิทานที่ ๑๕ ต่อไปข้างหน้า) เวลานั้นรัฐบาลไม่มีกำลังพอจะปราบปรามพวกจีนกบฏให้ราบคาบ ได้แต่รักษาตัวเมืองไว้ ตามบ้านนอกออกไป พวกจีนเที่ยวปล้นสะดมฆ่าฟันผู้คนได้ตามชอบใจ ไม่มีใครต่อสู้ จึงเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต เรื่องที่เล่าต่อไปตอนนี้ เขียนตามคำท่านพระครูวัดฉลองเล่าให้ฟังเอง ว่าเมื่อได้ข่าวไปถึงบ้านฉลองว่ามีจีนจะออกไปปล้น พวกชาวบ้านกลัวพากันอพยพหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามบนภูเขาโดยมาก เวลานั้น มีชายชาวบ้านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านสักสองสามคน ไปชวนให้ท่านหนีไปด้วย แต่ท่านตอบว่า “ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนอายุถึงปานนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ด้วย จะทิ้งวัดไปเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละ จะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย” พวกลูกศิษย์อ้อนวอนเท่าใด ท่านก็ยืนคำอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่ยอมทิ้งวัดไป ก็พูดกันว่า “เมื่อขรัวพ่อไม่ยอมไป จะทิ้งให้ท่านตายเสียอย่างไร” จึงเข้าไปพูดแก่ท่านว่า “ถ้าขรัวพ่อไม่ไป พวกผมก็จะอยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่างหนึ่ง” ท่านจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้คนละผืน พวกนั้นไปเที่ยวเรียกหาเพื่อนได้คนเพิ่มเติมมารวมกันสัก ๑๐ คน เชิญตัวท่านให้ลงไปอยู่ที่ในโบสถ์ พวกเขาไปเที่ยวหาเครื่องศัสตราวุธสำหรับตัว แล้วพากันมาอยู่ที่ในวัดฉลอง พออีกสองวันจีนพวกหนึ่งก็ออกไปปล้น แต่พวกจีนรู้ว่าชาวบ้านหนีไปเสียโดยมาก แล้วเดินไปโดยประมาทไม่ระวังตัว พวกไทยแอบเอากำแพงแก้วรอบโบสถ์บังตัว พอพวกจีนไปถึงก็ยิงเอาแตกหนีไปได้โดยง่าย พอมีข่าวว่าพวกลูกศิษย์ท่านวัดฉลองรบชนะจีน ชาวบ้านฉลองที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ตามภูเขาก็พากันกลับมาบ้านเรือน ที่เป็นผู้ชายก็ไปหาท่านวัดฉลอง ขอรับอาสาว่าถ้าพวกจีนยกไปอีกจะช่วยรบ แต่ท่านตอบว่า “ข้าเป็นพระเป็นสงฆ์ จะรบฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะรบพุ่งอย่างไร ก็ไปคิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะให้แต่เครื่องคุณพระสำหรับป้องกันตัว” คนเหล่านั้นไปเที่ยวชักชวนกันรวมคนได้กว่าร้อยคน ท่านวัดฉลองก็ลงผ้าประเจียดแจกให้ทุกคน พวกนั้นนัดกันเอาผ้าประเจียดโพกหัวเป็นเครื่องหมาย ทำนองอย่างเครื่องแบบทหาร พวกจีนเลยเรียกว่า “อ้ายพวกหัวขาว” จัดกันเป็นหมวดหมู่มีตัวนายควบคุม แล้วเลือกที่มั่นตั้งกองรายกัน เอาวัดฉลองเป็นที่บัญชาการคอยต่อสู้พวกจีน ในไม่ช้าพวกจีนก็ยกไปอีก คราวนี้ยกกันไปเป็นขบวนรบ มีทั้งธงนำและกลองสัญญาณ จำนวนคนที่ยกไปก็มากกว่าครั้งก่อน พวกจีนยกไปถึงบ้านฉลองในตอนเช้า พวกไทยเป็นแต่คอยต่อสู้อยู่ในที่มั่นเอาปืนยิงกราดไว้ พวกจีนเข้าไปในหมู่บ้านฉลองไม่ได้ ก็หยุดยั้งอยู่ภายนอก ต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายจนเวลาตะวันเที่ยง พวกจีนหยุดรบไปกินข้าวต้ม พวกไทยได้ทีก็เข้ารุกล้อมไล่ยิงพวกจีนในเวลากำลังสาละวนกินอาหาร ประเดี๋ยวเดียวพวกจีนก็ล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด ตามคำท่านพระครูว่า “จีนรบสู้ไทยไม่ได้ด้วยมันต้องกินข้าวต้ม พวกไทยไม่ต้องกินข้าวต้มจึงเอาชนะได้ง่ายๆ” แต่นั้นพวกจีนก็ไม่กล้าไปปล้นบ้านฉลองอีก เป็นแต่พวกหัวหน้าประกาศตีราคาศีรษะท่านวัดฉลอง ว่าถ้าใครตัดเอาไปให้ได้จะให้เงินสินบน ๑,๐๐๐ เหรียญ ชื่อท่านวัดฉลองก็ยิ่งโด่งดังหนักขึ้น เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้วยกความชอบของเจ้าอธิการแช่มวัดฉลอง ที่ได้เป็นหัวหน้าในการต่อสู้พวกจีนกบฏในครั้งนั้น ประจวบเวลาตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งให้เป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา แต่ทางฝ่ายชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่าที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม ก็นับถือกันเป็นอย่างผู้วิเศษทั่วทั้งจังหวัด เรื่องที่เล่ามาเพียงนี้เป็นชั้นก่อนเกิดการปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง

มูลเหตุที่จะปิดทองนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนนับถือท่านพระครูวัดฉลองว่าเป็นผู้วิเศษแล้ว ด้วยครั้งหนึ่งมีชาวเมืองภูเก็ตสักสี่ห้าคนลงเรือลำหนึ่งไปเที่ยวตกเบ็ดในทะเล เผอิญไปถูกพายุใหญ่จนจวนเรือจะอับปาง คนในเรือพากันกลัวตาย คนหนึ่งออกปากบนเทวดาอารักษ์ที่เคยนับถือขอให้ลมสงบ พายุก็กลับกล้าหนักขึ้น คนอื่นบนสิ่งอื่นที่เคยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ลมก็ไม่ซาลง จนสิ้นคิดมิรู้ที่จะบนบานอะไรต่อไป มีคนหนึ่งในพวกนั้นออกปากบนว่าถ้ารอดชีวิตได้ จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง พอบนแล้วลมพายุก็ซาลงทันที พวกคนหาปลาเหล่านั้นรอดกลับมาได้ จึงพากันไปหาท่านพระครูขออนุญาตปิดทองแก้สินบน ท่านพระครูว่า “ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป จะทำนอกรีตมาปิดทองคนเป็นๆ อย่างนี้ข้าไม่ยอม” แต่คนหาปลาโต้ว่า “ก็ผมบนไว้อย่างนั้น ถ้าขรัวพ่อไม่ยอมให้ผมปิดทองแก้สินบน ฉวยแรงสินบนทำให้ผมเจ็บล้มตาย ขรัวพ่อจะว่าอย่างไร” ท่านพระครูจนถ้อยคำสำนวนด้วยตัวท่านก็เชื่อเรื่องแรงสินบน เกรงว่าถ้าเกิดเหตุร้ายแก่ผู้บน บาปจะตกอยู่แก่ตัวท่านก็ต้องยอม จึงเอาน้ำมาลูบขาและยื่นออกไปให้ปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง แต่ให้ปิดเพียงแผ่นเล็กๆ แผ่นหนึ่งพอเป็นกิริยาบุญ พอคนบนกลับไปแล้วก็ล้างเสีย แต่เมื่อกิตติศัพท์เล่าลือกันไปว่ามีชาวเรือรอดตายได้ด้วยปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ก็มีผู้อื่นเอาอย่าง ในเวลาเจ็บไข้หรือเกิดเหตุการณ์ กลัวจะเป็นอันตรายก็บนปิดทองท่านพระครูวัดฉลองบ้าง ฝ่ายท่านพระครูมิรู้ที่จะขัดขืนอย่างไร ก็จำต้องยอมให้ปิด จึงเกิดประเพณีปิดทองท่านพระครูวัดฉลองขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตัวท่านเคยบอกกับฉันว่าที่ถูกปิดทองนั้นอยู่ข้างรำคาญ ด้วยคันผิวหนังตรงที่ทองปิด จนล้างออกเสียแล้วจึงหาย แต่ก็ไม่กล้าขัดขวางคนขอปิดทอง เพราะฉะนั้นท่านพระครูเข้าไปในเมืองเมื่อใด พวกที่ได้บนบานไว้ใครรู้เข้าก็ไปคอยดักทางขอปิดทองแก้สินบนคล้ายกับคอยใส่บาตร ท่านพระครูเห็นคนคอยปิดทองร้องนิมนต์ ก็ต้องหยุดให้เขาปิดทองเป็นระยะไปตลอดทาง วันนั้นท่านกำลังจะมาหาฉันไม่มีเวลาล้าง ทองจึงติดหน้าแข้งมาให้ฉันเห็น ตั้งแต่รู้จักกันเมื่อวันนั้น ท่านพระครูวัดฉลองกับฉันก็เลยชอบกันมา ท่านเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อใดก็มาหาฉันไม่ขาด เคยทำผ้าประเจียดมาให้ฉัน ฝีมือเขียนงามดีมาก ฉันไปเมืองภูเก็ตเมื่อใดก็ไปเยี่ยมท่านถึงวัดฉลองทุกครั้ง

การที่คนปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง เป็นแรกที่จะเกิดประเพณีปิดทองคนเป็นๆ เหมือนเช่นพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นธรรมดาที่กิตติศัพท์จะเลื่องลือระบือเกียรติคุณของท่านพระครูวัดฉลอง แพร่หลายจนนับถือกันทั่วไปทุกหัวเมืองทางทะเลตะวันตก ใช่แต่เท่านั้น แม้จนในเมืองปีนังอันเป็นอาณาเขตของอังกฤษ คนก็พากันนับถือท่านพระครูวัดฉลอง เพราะที่เมืองปีนัง พลเมืองมีไทยและจีนเชื้อสายไทย ผู้ชายเรียกกันว่า “บาบ๋า” ผู้หญิงเรียกกันว่า “ยอหยา” ล้วนถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก เขาช่วยกันสร้างวัดและนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปอยู่ก็หลายวัด แต่ในเมืองปีนังไม่มีพระเถระ พวกชาวเมืองทั้งพระและคฤหัสถ์ จึงสมมตท่านพระครูวัดฉลองให้เป็นมหาเถระสำหรับเมืองปีนัง ถ้าสร้างโบสถ์ใหม่ก็นิมนต์ให้ไปผูกพัทธสีมา ถึงฤดูบวชนาคเมื่อก่อนเข้าพรรษา ก็นิมนต์ให้ไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์บวชนาค และที่สุดแม้พระสงฆ์เกิดอธิกรณ์ ก็นิมนต์ไปให้ไต่สวนพิพากษา ท่านพระครูพิพากษาว่าอย่างไรก็เป็นสิทธิขาด จึงเป็นอย่างสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วยอีกเมืองหนึ่ง ผิดกับเมืองภูเก็ตเพียงเป็นด้วยส่วนตัวท่านเอง มิใช่ในทางราชการ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ ชาวกรุงเทพฯ กับชาวเมืองปีนังยังห่างเหินกันมาก แต่มีเรือเมล์ไปมาในระหว่างเมืองปีนังกับเมืองภูเก็ตทุกสัปดาห์ ไปมาหากันได้ง่าย ท่านพระครูวัดฉลองอยู่มาจนแก่ชรา อายุเห็นจะกว่า ๘๐ ปีจึงถึงมรณภาพ

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ได้ไปเมืองภูเก็ตช้านาน จนถึงรัชกาลที่ ๗ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลานั้นท่านพระครูวัดฉลอง ถึงมรณภาพเสียนานแล้ว ฉันคิดถึงท่านพระครูจึงเลยไปที่วัดฉลองด้วย ในคราวนี้สะดวกด้วยเมืองภูเก็ตมีถนนรถยนต์ไปได้หลายทาง รถยนต์ไปครู่เดียวก็ถึงวัดฉลอง เห็นวัดครึกครื้นขึ้นกว่าเคยเห็นแต่ก่อนจนแปลกตา เป็นต้นว่ากุฎีเจ้าอาวาสที่ท่านพระครูเคยอยู่ก็กลายเป็นตึกสองชั้น กุฎีพระสงฆ์และศาลาที่ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นก็มีอีกหลายหลัง เขาบอกว่ามีผู้สร้างถวายท่านพระครูเมื่อภายหลัง แต่เมื่อมีผู้ไปสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ท่านพระครูไม่ยอมให้แก้ไขในบริเวณโบสถ์ที่ท่านเคยลงไปอยู่เมื่อต่อสู้พวกจีน กำแพงแก้วที่พวกลูกศิษย์เคยอาศัยบังตัวรบจีนครั้งนั้นก็ไม่ให้รื้อแย่งแก้ไข ยังคงอยู่อย่างเดิม ที่ในกุฎีของท่านพระครูเขาตั้งโต๊ะที่บูชาไว้ มีรูปฉายของท่านพระครูขยายเป็นขนาดใหญ่ใส่กรอบอย่างลับแลตั้งไว้เป็นประธาน บนโต๊ะนั้น มีรอยคนปิดทองแก้สินบนที่กระจกเต็มไปหมดทั้งแผ่น เหลือเป็นช่องว่างอยู่แต่ที่ตรงหน้าท่านพระครู ดูประหลาดที่ยังชอบบนปิดทองท่านพระครูอยู่ จนเมื่อตัวท่านล่วงลับไปนานแล้ว ไม้เท้าของท่านพระครูที่ชอบถือติดมือ ก็เอาวางไว้ข้างหน้ารูปและมีรอยปิดทองด้วย ไม้เท้าอันนี้ก็มีเรื่องแปลกอยู่ พวกกรมการเมืองภูเก็ตเขาเคยเล่าให้ฉันฟังตั้งแต่ท่านพระครูยังอยู่ ว่ามีเด็กผู้หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งในเมืองภูเก็ตเป็นคนมีวิสัยชอบพูดอะไรเล่น โลนๆ ครั้งหนึ่งเด็กคนนั้นเจ็บ ออกปากบนตามประสาโลน ว่าถ้าหายเจ็บจะปิดทองตรงที่ลับของขรัวพ่อวัดฉลอง ครั้นหายเจ็บถือว่าพูดเล่นก็เพิกเฉยเสีย อยู่มาไม่ช้าเด็กคนนั้นกลับเจ็บไปอีก คราวนี้เจ็บมากหมอรักษาอาการก็ไม่คลายขึ้น พ่อแม่สงสัยว่าจะเป็นด้วยถูกผีหรือด้วยแรงสินบน ถามตัวเด็กว่ามันได้บนบานไว้บ้างหรือไม่ แต่แรกตัวเด็กละอายไม่รับว่าได้บนไว้เช่นนั้น จนทนอาการเจ็บไม่ไหว จึงบอกความตามจริงให้พ่อแม่รู้ ก็พากันไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง แล้วปรึกษาว่าจะควรทำอย่างไรดี ท่านพระครูว่าบนอย่างลามกเช่นนั้นใครจะยอมให้ปิดทองได้ ข้างพ่อแม่เด็กก็เฝ้าอ้อนวอนด้วยกลัวลูกจะเป็นอันตราย ท่านพระครูมิรู้ที่จะทำประการใด จึงคิดอุบายเอาไม้เท้าอันนั้นสอดเข้าไปใต้ที่นั่ง แล้วให้เด็กปิดทองที่ปลายไม้เท้า ผู้เล่าว่าพอแก้สินบนแล้วก็หายเจ็บ ฉันได้ถามท่านพระครูว่าเคยให้เด็กหญิงปิดทองปลายไม้เท้าแก้สินบนจริงหรือ ท่านเป็นแต่ยิ้มอยู่ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงนึกว่าเห็นจะเป็นเรื่องจริงดังเขาเล่า

เรื่องพระครูวัดฉลอง ยังได้เห็นอัศจรรย์ต่อมาอีก เมื่อฉันไปอยู่เมืองปีนังใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ไปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ เห็นมีรูปฉายท่านพระครูวัดฉลองเข้ากรอบลับแลตั้งอยู่บนโต๊ะเครื่องบูชาข้าง พระประธานที่ในโบสถ์ และมีรอยปิดทองแก้สินบนเต็มไปทั้งแผ่นกระจก เช่นเดียวกับที่เมืองภูเก็ต เดี๋ยวนี้รูปนั้นก็ยังอยู่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์ ดูน่าพิศวง พิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเห็นว่าควรนับว่าพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (แช่ม) วัดฉลอง เป็นอัจฉริยบุรุษได้คนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.

นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด




  นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด

เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เวลานั้นยังไม่ได้ทำรถไฟสายเหนือ ต้องไปทางเรือแต่กรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ แล้วฉันขึ้นเดินทางบกไปเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เดินทางเกือบเดือนหนึ่งจึงถึงเมืองเชียงใหม่ ขากลับลงเรือล่องลำแม่น้ำพิงแต่เมืองเชียงใหม่ลงมาทางเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร มาร่วมทางขาไปที่ปากน้ำโพเมืองนครสวรรค์ แต่นั้นก็กลับตามทางเดิมจนถึงกรุงเทพฯ

ฉันเคยได้ยินว่าทางเมืองเหนือทั้งในมณฑลพิษณุโลก อันเคยเป็นเมืองพระร่วง และมณฑลพายัพอันเป็นแหล่งช่าง เชียงแสน มีพระพุทธรูปโบราณอย่างงามๆ มากกว่าทางอื่น คนหาพระพุทธรูปมักเที่ยวเสาะหาทางนั้น นับถือกันว่าต่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรจึงจะดี ถ้าหาได้พระขัดสมาธิเพชรอย่างย่อมขนาดหน้าตักในระหว่าง ๖ นิ้วจน ๑๐ นิ้วด้วยยิ่งดีขึ้น แต่ฉันขึ้นไปครั้งนั้นตั้งใจจะไปเสาะหาพระพุทธรูปที่ลักษณะงามเป็นสำคัญ ไม่เลือกว่าจะต้องเป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชรหรือขัดสมาธิราบ ปรารถนาจะใคร่ได้พระขนาดเขื่องหน้าตักราวศอกเศษ เพราะเห็นว่าขนาดนั้นฝีมือช่างทำได้งามกว่าพระขนาดเล็กเช่นเขาหากัน

เมื่อขึ้นไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ วันหนึ่งฉันไปเที่ยวที่เมืองทุ่งยั้ง แวะดูวัดพระมหาธาตุอันเป็นวัดโบราณแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์ มีพระสถูปมหาธาตุกับพระวิหารหลวงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ในวัด พระมหาธาตุองค์เดิมพังมีผู้สร้างใหม่แปลงรูปเสียแล้ว แต่วิหารหลวงยังคงอยู่อย่างที่พระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ในวิหารหลวงนั้นมีพระพุทธรูปปั้นองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักสัก ๘ ศอกตั้งเป็นประธาน เมื่อฉันเข้าไปบูชาเห็นมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง วางนอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธาน แปลกตา จึงถามพวกกรมการว่าเหตุไฉนจึงเอาพระพุทธรูปไปวางทิ้งไว้ในพระหัตถ์พระประธานเช่นนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นเดิมอยู่ที่วัดอื่น ดูเหมือนชื่อว่าวัดวังหมู หรือวัดอะไรฉันจำไม่ได้แน่ แต่เป็นพระมีปาฏิหาริย์อย่างแปลกประหลาด คล้ายกับมีผีพระยามารคอยผจญอยู่เสมอ ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการบูชาเมื่อใด ในไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทะเลาะกันในตำบลนั้น จนคนครั่นคร้ามไม่มีใครกล้าไปบูชา แต่พวกเด็กลูกศิษย์วัดที่เป็นคนคะนองเห็นสนุก พอรู้ว่าจะมีการประชุมชนที่วัดนั้นเช่นบวชนาคเป็นต้น ลอบเอาเครื่องสักการะเช่นหมากเมี่ยงไปถวายพระพุทธรูปองค์นั้น ก็มักเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเนืองๆ อยู่มาคืนวันหนึ่งพระพุทธรูปองค์นั้นหายไป ต่อมาภายหลังเห็นมานอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธานในวิหารหลวงวัดทุ่งยั้ง ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เอามา แต่พวกชาวบ้านก็ไม่มีใครสมัครจะรับเอากลับไปไว้ที่วัดเดิม จึงทิ้งอยู่อย่างนั้น ฉันได้ฟังเล่าเห็นขันกลั้นหัวเราะไม่ได้ สั่งให้เขายกพระองค์นั้นลงมาตั้งดูที่ฐานชุกชีตรงหน้าพระประธาน พอเห็นชัดก็ชอบ ด้วยเป็นพระปางมารวิชัยฝีมือแบบสุโขทัย ทำงามและได้ขนาดที่ฉันหาด้วย จึงว่าแก่พวกกรมการเมืองทุ่งยั้งว่า เมื่อไม่มีใครสมัครจะรับพระพุทธรูปองค์นั้นไปแล้ว ฉันจะขอรับเอาลงมากรุงเทพฯ เขาก็ยอมอนุญาตด้วยยินดี และดูเหมือนจะประหลาดใจที่ฉันไม่เชื่อคำของเขาด้วย ฉันจุดธูปเทียนบูชาแล้วสั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมายังที่ทำเนียบจอดเรือในวันนั้น พอค่ำถึงเวลาจะกินอาหาร พวกข้าราชการที่ไปด้วยมากินพร้อมกันตามเคย แต่วันนั้นสังเกตเห็นเขาหัวเราะต่อกระซิกกันแปลกกว่าปรกติ ฉันถามว่ามีเรื่องอะไรขบขันหรือ เขาบอกว่าเมื่อฉันไปวัดพระมหาธาตุ ฝีพายไปเกิดวิวาทชกกันขึ้นที่นั่นคู่หนึ่ง ฉันก็รู้เท่าว่าเขาพากันลงความเห็นว่าเป็นเพราะฉันไปถวายเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นั้น โดยไม่เชื่อคำพวกกรมการ แต่ฉันกลับเห็นขันที่เผอิญเกิดเหตุเข้าเรื่อง ไม่เห็นเป็นอัศจรรย์อันใด ก็สั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงเรือที่ขึ้นไปส่งกลับลงมากรุงเทพฯ

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งไปที่วัดพระสิงห์ เห็นเขารวมพระพุทธรูปหล่อของโบราณทั้งที่ดีและชำรุด ตั้งไว้บนฐานชุกชีที่ในวิหารหลวงมากมายหลายสิบองค์ ฉันปีนขึ้นไปเที่ยวพิจารณาดูเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่งลักษณะงามต้องตาและได้ขนาดที่ฉันปรารถนา ให้ยกลงมาตั้งพิจารณาดูต่างหากก็ยิ่งเห็นงาม จึงขอต่อเจ้าเชียงใหม่เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วไปว่าวานพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อท่านยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีให้ช่วยปฏิสังขรณ์ขัดสี เพราะท่านมีช่างสำหรับหล่อและแต่งพระพุทธรูปอยู่ที่วัดนั้น และตัวท่านเองก็ชอบพอกับฉันมาแต่ก่อน พระพุทธรูป ๒ องค์นั้น องค์ที่มาจากเมืองทุ่งยั้ง ลงรักปิดทองคำเปลว องค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่เดิมเป็นแต่ขัดไม่ได้ปิดทอง ช่างวัดจักรวรรดิฯ ลงมือขัดพระองค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่ก่อน พอเปลื้องผ้าถนิมออกก็แลเห็นเนื้อทองที่หล่อสีสุกปลั่งงามแปลกกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระพุฒาจารย์ท่านจึงให้ปฏิสังขรณ์พระองค์นั้นก่อน มีคนโจษกันตั้งแต่พระองค์นั้นยังอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ว่า เป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาด เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้ว ฉันรับมาตั้งไว้บูชาในท้องพระโรงเมื่อฉันยังอยู่วังเก่า ใกล้กับสะพานดำรงสถิต ใครๆ ไปเห็นก็ชมทุกคนว่าเป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาดมาก

ก็ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปที่จะตั้งในวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบราณแบบต่างๆ มาตั้ง ทำนองอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ โปรดให้ฉันเป็นพนักงานเสาะหาพระพุทธรูปถวาย วันหนึ่งตรัสแก่ฉันว่าต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธานที่การเปรียญสักองค์หนึ่ง ให้เป็นพระขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งพระระเบียง แต่จะต้องให้งามสมกับที่เป็นพระประธาน ฉันจะหาถวายได้หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธรูปขนาดนั้นมาไว้ที่บ้านองค์หนึ่ง “ถ้าโปรดจะถวาย” (หมายความว่าถ้าไม่ถูกพระราชหฤทัยก็ไม่ถวาย) ไม่ตรัสตอบว่ากระไรในเวลานั้น ต่อมาอีกสักสองสามวันมีพระราชกิจจะเสด็จลงไปเมืองสมุทรปราการ เพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียถวาย และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ ไปเชิญมาจากอินเดียจนถึงเมืองสมุทรปราการ เวลาทรงรถไปสถานีรถไฟที่หัวลำโพง เสด็จแวะที่บ้านฉัน ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่ท้องพระโรง พอทอดพระเนตรเห็นก็โปรด ออกพระโอษฐ์ว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” ตรัสสั่งกรมวังในขณะนั้นว่า ให้จัดยานมาศกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระองค์นั้นเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงขนานพระนามถวายว่า “พระพุทธนรสีห์” ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งแต่นั้นมา เมื่อสร้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตรแล้ว โปรดให้เชิญพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนใหญ่ไปตั้งเป็นพระประธานอยู่จนสร้างพระอุโบสถใหญ่แล้ว แต่พระประธานสำหรับพระอุโบสถใหญ่นั้น ให้เที่ยวตรวจพระโบราณตามหัวเมืองจนกระทั่งเมืองเชียงแสน ก็ไม่มีพระพุทธรูปงามถึงสมควรจะเชิญมา จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกมาเป็นพระประธาน และโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ ตั้งไว้เป็นพระประธานที่พระวิหารสมเด็จในวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์นั้นโปรดให้เชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังสถิตอยู่ในพระราชมนเทียรนั้นจนบัดนี้ มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่าตัวฉันผู้เชิญลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจากกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนีผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็นพระราชาคณะสามัญก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้

พระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งนั้น จะว่ามีอภินิหารก็ได้ แต่เป็นไปอีกทางหนึ่งต่างหาก เมื่อฉันถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว พระพุฒาจารย์ท่านปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์เมืองทุ่งยั้งเสร็จก็ส่งมาให้ฉัน ให้ตั้งไว้ที่ท้องพระโรง บูชาแทนพระพุทธนรสีห์มาได้สักสองเดือน วันหนึ่งฉันไปหามารดาตามเคย ท่านถามว่าได้ยินว่าที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ใคร ชะรอยจะมีคนในพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันในครั้งนั้นไปบอกให้ท่านทราบ แต่เมื่อท่านรู้แล้วฉันก็เล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมาคนที่ในบ้านก็อยู่กันเป็นปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้านดูเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันไม่หยุด ท่านส่งเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ให้จดชื่อคนวิวาทมาให้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง ๖ คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่าขอให้ฉันคิดดูให้ดี ฉันกลับมาคิดดูเห็นว่าถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดใจมารดา จึงไปเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ แต่นั้นเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิตถ์คนหนึ่ง ซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่าถ้าฝากให้เขาเชิญกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งอย่างเดิม จะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ จึงสั่งให้คนไปขอพระองค์นั้นคืน พระพุฒาจารย์ตกใจรีบมาหา บอกว่าสำคัญว่าฉันสิ้นอาลัยให้พระองค์นั้นเป็นสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกศิษย์ซึ่งเคยเป็นคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญใจแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นอันสิ้นกระแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น ได้แต่หวังใจว่าเพราะพ่อค้าคนที่ได้พระไป ไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดทะเลาะเหมือนหนหลัง

คำนำนิทานโบราณคดี

 

คำนำนิทานโบราณคดี

เรื่องต่างๆ ที่จะเล่าต่อไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง มิใช่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงเรียกว่า “นิทานโบราณคดี” เหตุที่จะเขียนนิทานเหล่านี้ เกิดแต่ลูกที่อยู่ด้วยอยากรู้เรื่องเก่าแก่ก่อนเธอเกิด ถึงเวลานั่งกินอาหารพร้อมกันมักชวนให้เล่าให้ฟังเนืองๆ ส่วนตัวฉันเองเมื่อตกมาถึงเวลาแก่ชราดูก็ชอบเล่าอะไรๆ ให้เด็กฟังเหมือนอย่างคนแก่ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน แม้ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นหนุ่มก็เคยชอบไต่ถามท่านผู้ใหญ่อย่างเดียวกัน ยังจำได้ถึงสมัยเมื่อฉันเป็นนายทหารมหาดเล็กประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลาค่ำมักชอบไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ที่วังตรงหน้าประตูวิเศษชัยศรี ทูลถามถึงเรื่องโบราณต่าง ๆ ท่านก็โปรดตรัสเล่าให้ฟังโดยไม่ทรงรังเกียจ ดูเหมือนจะพอพระหฤทัยให้ทูลถามด้วยเสียอีก การที่คนแก่ชอบเล่าอะไรให้เด็กฟัง น่าจะเป็นธรรมดามนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่โดยมากเล่าแล้วก็แล้วไป ต่อบางทีจึงมีคนเขียนเรื่องที่เล่าลงไว้เป็นลายลักษน์อักษร ตัวฉันเองเดิมก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียน แต่ลูกหญิงพูนพิสมัย เธอว่า เรื่องต่างๆที่ฉันเล่าให้ฟัง ล้วนมีแก่นสารเป็นคติน่ารู้ ถ้าปล่อยให้สูญเสียน่าเสียดาย เธออ้อนวอนขอให้ฉันเขียนรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานและผู้อื่นต่อไป ฉันจึงได้เริ่มเขียนนิทานโบราณคดีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะเขียนเรื่องชนิดใด สุดแต่นึกเรื่องอะไรขึ้นได้เห็นว่าน่าจะเขียน ก็เขียนลงเป็นนิทาน นึกเรื่องใดได้ก่อนก็เขียนก่อน เรื่องใดนึกขึ้นได้ภายหลังก็เขียนทีหลัง นิทานที่เขียนจึงเป็นเรื่องหลายอย่างต่างชนิดระคนปนกัน แต่หวังใจว่าผู้อ่านจะไม่เสียเวลาเปล่าด้วยอ่านนิทานเหล่านี้.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีนัง วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕

นิทานโบราณคดี

 นิทานโบราณคดี 



พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายในพระชนมชีพ 

พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2487 (พ.ศ. 2405 - 2486)

พระนิพนธ์นิทานโบราณคดี เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่ทรงรับรู้จากการเดินทางไปตรวจราชการต่างจังหวัด ในช่วงที่ทรงมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (2435 - 2457) และความรู้ที่ได้จากการทูลถามเรื่องเก่าๆ เมื่อทรงร่วมโต๊ะเสวยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมควรที่จะมีการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ มิฉะนั้นความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ทรงรับรู้ก็จะสูญหาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงมีวิธีการเขียนแบบใหม่ ที่ต่างจากนักเขียนร่วมสมัยกับพระองค์ คือ ทรงอ้างหลักฐาน และแทรกพระวิจารณ์เข้าไปด้วย ซึ่งเน้นการใช้ และตรวจสอบหลักฐานเอกสารอ้างอิง เป็นการวางหลักของการศึกษาทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ขณะเดียวกันท่านก็ทรงกระทำหน้าที่เป็นผู้อธิบาย โลกเก่าและโลกใหม่ให้เข้าด้วยกัน ในนิทานโบราณคดี ทรงนิพนธ์ด้วยการโยงเรื่องที่กำลังเล่าอยู่ขณะนั้น ไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอดีต เมื่อทรงจำได้หรือสามารถหาหลักฐานอ้างอิงได้ เท่ากับในการเล่าเรื่องๆ หนึ่งจะทรงเล่าอย่างรอบด้านมีลักษณะเป็นพัฒนาการ จนเกือบครบองค์ความรู้ของเรื่องนั้นๆ เลยที่เดียว
หนังสือนิทานโบราณคดี จึงไม่เป็นเพียงหนังสือที่อ่านสนุกเท่านั้น แต่ให้ความรู้มหาศาล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้ภาษาง่ายๆ ในการเขียน ทรงคัดแต่เรื่องที่น่าสนใจที่มีลักษณะแปลกๆ โดยเฉพาะบรรยากาศของยุคสมัยที่เป็นสังคมของชาวบ้านท้องถิ่น บุคลิก อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนไทยในสมัยนั้น ซึ่งไม่สามารถหาอ่านได้ง่ายนัก ได้อย่างน่าสนใจ

🙏 🙏 🙏
 

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร



ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ชื่อเล่น ปู เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ด้วยวัย 44 ปีถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่อายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเพื่อไทย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม

ยิ่งลักษณ์เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 

ยิ่งลักษณ์เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายเลิศ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และนางยินดี ชินวัตร ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าจันทร์ทิพย์ ระมิงค์วงศ์ (หลานตาของเจ้าไชยสงคราม สมพมิตร ณ เชียงใหม่ ซึ่งสืบเชื้อสายจากพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้านครเชียงใหม่) 

ยิ่งลักษณ์มีพี่น้อง 10 คน ซึ่งรวมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์, และพายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นน้องสะใภ้ของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเยาวภาผู้เป็นพี่สาว

ยิ่งลักษณ์เป็นหลานอาของสุเจตน์ ชินวัตร อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และสุรพันธ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยพลเอก ชัยสิทธิ์เป็นบุตรชายของพันเอกพิเศษ ศักดิ์ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชายคนโตของเลิศ ยิ่งลักษณ์ยังเป็นญาติของพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านทางคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาของทักษิณอีกด้วย

การศึกษา

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย 

มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต 

ต่อมา เป็นผู้บริหารในธุรกิจที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ผู้เป็นพี่ชาย ก่อตั้งขึ้น 

ภายหลัง ยิ่งลักษณ์ได้เป็นประธานบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ดร.ทักษิณ เสนอชื่อยิ่งลักษณ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้น ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554


ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

ยิ่งลักษณ์สมรสกับอนุสรณ์ อมรฉัตร อดีตผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มลิงก์เอเชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยมีธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานในพิธีมงคลสมรส[9] แต่มิได้จดทะเบียนสมรส[10] โดยมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนคือ ศุภเสกข์ อมรฉัตร (ชื่อเล่น: ไปค์)


อาชีพธุรกิจ

เมื่อปี พ.ศ. 2534 ยิ่งลักษณ์เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเทเลอินโฟมีเดีย จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร ในตำแหน่งพนักงานฝึกหัดด้านการตลาดและการขาย 

หลังจากนั้นในปีเดียวกัน เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ จนกระทั่งสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตในเวลาต่อมา 

จากนั้น พ.ศ. 2537 จึงมาเป็นผู้จัดการทั่วไป ของบริษัทเรนโบว์ มีเดีย ซึ่งเดิมเป็นแผนกงานโฆษณา ของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี; ปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์) โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากไอบีซีคือรองกรรมการผู้อำนวยการ 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 เข้าสู่แวดวงธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น โดยขึ้นถึงประธานกรรมการบริหารบริษัทเป็นตำแหน่งสุดท้าย

หลังจากสกุลชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยิ่งลักษณ์ก็ลาออกจากตำแหน่งในเอไอเอส โดยก่อนหน้านั้น เธอขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 เพื่อไปบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวชินวัตรโดยตรง ด้วยการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ดูแลพอร์ตการลงทุนพัฒนาที่ดินทั้งหมดแทนบุษบา ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549 และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในยุคที่ดร.ทักษิณเป็นประธานสโมสรฯ 

นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ของวุฒิสภา  

บทบาททางการเมือง

พรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ในราวปลายปี พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นก็มี ส.ส.กับสมาชิกพรรคจำนวนมาก ย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ก็เป็นทางเลือกแรกของ ดร.ทักษิณ ที่จะให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธโดยกล่าวว่า ตนไม่เคยต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี และเพียงแต่สนใจจะทำธุรกิจของตนเท่านั้น โดยเธอจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นบางครั้ง เฉพาะเมื่อทางพรรคส่งจดหมายเชิญเท่านั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จึงได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแทน 

ปลายปี พ.ศ. 2553 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ แสดงเจตจำนงว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางภาวะคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งอย่างกะทันหันในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 ยิ่งเพิ่มการโต้เถียงภายในพรรค เกี่ยวกับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตัวเต็งคือยิ่งลักษณ์กับมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลผสม ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ยังคงไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยย้ำว่าเธอต้องการมุ่งความสนใจไปยังการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามเธอได้รับการหนุนหลังจากนักการเมืองอาวุโส  

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกยิ่งลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม เธอมิได้เป็นหัวหน้าพรรค และมิได้เข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นของดร.ทักษิณ โดยเขาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า "เธอเป็นโคลนของผม" และ "เธอสามารถตอบ 'ใช่' หรือ 'ไม่' ในนามของผมได้"

ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

ผลการหยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้งชี้ว่า พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย โดยคาดว่าจะได้สูงถึง 310 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 

ผลอย่างเป็นทางการออกมาว่า พรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75.03% มีบัตรเสียจำนวน 3 ล้านบัตร  

ยิ่งลักษณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว กับพรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) พรรคมหาชน (1 ที่นั่ง) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) รวมแล้วมี 300 ที่นั่ง

 รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณกล่าวว่า เขายอมรับผลการเลือกตั้ง และหลังจากที่พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว จะไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง ด้านผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโดยปกติแล้วจะให้สัมภาษณ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ใด ๆ

สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 296 ต่อ 3 (งดออกเสียง 197 ไม่เข้าประชุม 4) เลือกยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 

และมีการจัดเตรียมพิธีรับพระบรมราชโองการไว้พร้อมแล้ว ณ อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แต่จากนั้นให้หลังอีกสามวัน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีลงมา ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม ทว่าประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม 

จากนั้นยิ่งลักษณ์จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 10 สิงหาคม

นักวิจารณ์รีบชี้ให้ความขาดประสบการณ์การเมืองของยิ่งลักษณ์ โดยว่า เหตุผลหลักที่เธอได้ตำแหน่งเพราะเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งแนะว่า บทบาทหลักของเธอคือเพื่อผนึกกำลังผู้ภักดีต่อทักษิณ คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งชนบทยากจนเป็นหลักผู้รักษาเขาในอำนาจ แล้วทำหน้าที่เป็นผู้แทนโดยเขาปกครองจากโพ้นทะเล

การทูต

ยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนต่างประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี 36 ประเทศ เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ 21 ครั้ง

พ.ศ. 2554  หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อุทกภัยลุกลามจากภาคเหนือ ไปยังที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางอย่างรวดเร็ว และจนถึงต้นเดือนตุลาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด อุทกภัยในประเทศไทยครั้งนี้ นับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 50 ปี ยิ่งลักษณ์จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนกลาง ราวกลางเดือนตุลาคม และออกตรวจเยี่ยมจังหวัดที่ประสบภัย ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม ยิ่งลักษณ์ยังให้สัญญาว่า จะลงทุนในโครงการป้องกันอุทกภัยระยะยาว รวมทั้งการก่อสร้างคลองระบายน้ำ มาตรการลดอุทกภัยถูกขัดขวาง โดยการพิพาทระหว่างประชาชน จากสองฝั่งของกำแพงกั้นน้ำ โดยฝั่งที่ถูกน้ำท่วมเข้าทำลายกำแพงกั้นน้ำในหลายกรณี และบางครั้งส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้นำทหาร เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจแก่ทหารมากขึ้น ในการรับมือกับปัญหาการทำลายกำแพงกั้นน้ำ ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่าไม่ช่วยให้การจัดการอุทกภัยดีขึ้น เธอประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และออกประกาศให้พื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลมากขึ้น ในการจัดการการควบคุมอุทกภัยและการระบายน้ำแทน อย่างไรก็ตามเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติเนื่องจากพื้นที่ใดเมื่อเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจะได้รับเงินและงบประมาณลงไปในการช่วยเหลือพื้นที่นั้น

การคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

นับแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน  ซึ่งเดิมวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดยประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ การคัดค้านดังกล่าวยังมีนิสิต-นักศึกษา นักวิชาการบางส่วน พนักงานเอกชน และนักแสดงส่วนหนึ่ง ทั้งในการชุมนุมต่าง ๆ และในเครือข่ายสังคม โดยนัดหมายให้เปลี่ยนภาพอวตาร ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นตามรูปแบบของป้ายจราจรทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีดำ มีข้อความว่า "คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ใช้อำนาจบริหารและเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น ซึ่งออกและรับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริงกับประชาชน อาทิ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

หลังจากนั้น นส.ยิ่งลักษณ์นายกรัฐมนตรีประกาศว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และการปรองดองแห่งชาติอีก 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระทั้งหมดแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุม ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำเวทีราชดำเนิน ประกาศว่าจะชุมนุมต่อ จนกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ถอนร่างเอง

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้จัดเวทีชุมนุมที่ลานอเนกประสงค์หลังสนามฟุตบอลเอสซีจี เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้กล่าวว่า "การชุมนุมวันนี้มีคนเสื้อแดงกทม. ปริมณฑล และในภาคกลาง เดินทางมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก อาทิ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี และสมุทรปราการ ทั้งนี้ แกนนำนปช.และพรรคเพื่อไทยได้ประสานความร่วมมือกันเดินสายจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและต่อต้านการล้มประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐบาล"

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของวุฒิสภานั้น มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ร้องขอให้ประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช เลื่อนประชุมเป็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนจากเดิมวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อลงมติถอนร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวให้ตกไปโดยเร็ว อันจะเป็นการลดความตึงเครียด ของสถานการณ์บ้านเมือง แต่กลุ่ม 40 ส.ว. ไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน แล้วรวมตัวกันอยู่ภายในห้องประชุมเล็ก อาคารรัฐสภา 2 โดยอ้างมติคณะกรรมการประสานงาน (วิป) วุฒิสภา ที่กำหนดให้มีการประชุม ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน แม้ประธานวุฒิสภา และสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่หนึ่ง จะเข้าเจรจาให้ร่วมการประชุมแล้วก็ตาม ซึ่งสมชาย แสวงการ สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ได้อ้างว่า ไม่พอใจการเลื่อนนัดวันประชุม โดยเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้เป็นเวลา 180 วัน ก่อนจะส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 หลังช่วงที่การเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพนานสองปี จนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะรัฐมนตรีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

การสอบสวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง พ.ศ. 2557

ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ยิ่งลักษณ์กำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนบทบาทในโครงการรับจำนำข้าวหลังดำเนินคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเป็นทางการกับรัฐมนตรีสองคน ป.ป.ช. จะตรวจสอบดูว่าเธอประมาทในฐานะประธาน กขช. หรือไม่ แม้เป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่ยิ่งลักษณ์ยอมรับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2556 ว่า เธอไม่เคยร่วมการประชุมของ กขช.

วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์ในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้เงิน

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิเสธการเพิ่มหลักฐาน 72 ชิ้นในคดีรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ มีกำหนดการนั่งพิจารณาคดีถอดถอนจากตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2558[68] มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน[69]

วันที่ 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลให้เธอถูกห้ามเล่นการเมืองห้าปี นอกจากนี้ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอีกหากพบว่ามีความผิด หลังมีมติดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ถูกห้ามแถลงข่าว

ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

รวมดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ปี 275 วัน

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี  

แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 15 วัน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติรัฐประหาร จึงทำให้นิวัฒน์ธำรงและคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง


หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

   วันที่ 19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 และไต่สวนนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560

วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีหกเดือน รวม 26 นัดไต่สวนโดยไม่เคยขาดแม้แต่นัดเดียว ด้วยความมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหาและไม่เคยได้รับการไต่สวนภายใต้หลักนิติธรรมจากป.ป.ช. และอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ ความตอนหนึ่งว่า

"ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ ให้กับชาวนา"

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ นัดอ่านคำพิพากษา แต่ยิ่งลักษณ์ไม่มาศาลฯ จึงมีการออกหมายจับและริบเงินประกัน 30 ล้านบาท มีรายงานว่ายิ่งลักษณ์หลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนวันนัด มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 กันยายน 2560 อัตราโทษของยิ่งลักษณ์อาจมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีและถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดชีวิต ในวันที่ 26 สิงหาคม 2560 สมาชิกอาวุโสพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เธอหลบหนีออกนอกประเทศไปดูไบตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ศาลฯ มีคำสั่งออกหมายจับยิ่งลักษณ์ วันเดียวกันมีการอ่านคำพิพากษาในคดีระบายข้าวจีทูจี ว่า จำเลยมีความผิดฐานทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐปลอม โดยศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปีฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต

ในเดือนเมษายน 2564 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วมูลค่า 49.5 ล้านบาท แต่ศาลพิเคราะห์ว่าหน่วยงานทั้งสองไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่ต้องรับผิด


ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร อายุ 54 ปี


 

เนื้อเพลง