วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด

 

นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด

จะเล่าถึงเรื่องโจรแปลกประหลาดที่ฉันได้เคยรู้จัก ๒ คน ชื่อว่าโจรทิม ชาวเมืองอินทบุรีคนหนึ่ง โจรจันทร์ ชาวเมืองปทุมธานีคนหนึ่ง จะเล่าเรื่องของโจรทิมก่อน



เรื่องโจรทิม

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ฉันยังเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งกำหนดว่าจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันนั่งในที่ประชุมเสนาบดีแต่ในเวลานั้น ค่ำวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับที่ประชุมเสนาบดี ณ มุขกะสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเคย แต่คืนวันนั้นมีราชการน้อย พอปรึกษาสิ้นระเบียบวาระแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าได้ทรงรับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯ ถวายทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง อยู่ข้างแปลกประหลาด โปรดให้อ่านให้เสนาบดีฟัง เป็นฎีกาของอ้ายทิมนักโทษชาวเมืองอินทบุรี ต้องจำคุกด้วยเป็นโจรปล้นทรัพย์ ความที่กราบบังคมทูลในฎีกา ว่าตั้งแต่อ้ายทิมต้องจำคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำการในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานมาจนชำนาญ จึงคิดว่าจะพยายามในกระบวนจักสานไม่ให้ฝีมือใครสู้ได้หมดทั้งคุก แล้วจะทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าและโปรดของสิ่งนั้น จะขอพระราชทานโทษให้พ้นเวรจำออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้ายเหมือนหนหลังจนตลอดชีวิต บัดนี้อ้ายทิมต้องจำคุกมา ๑๐ ปี ได้พยายามทำสิ่งของนั้นสำเร็จดังตั้งใจแล้ว ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าโปรดฝีมือที่ทำนั้น อ้ายทิมขอพระราชทานโทษสักครั้งหนึ่ง ในท้ายฎีกาอ้างว่าถ้าความที่กราบทูลเป็นความเท็จแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต

ตรงนี้ จะต้องแทรกอธิบายสักหน่อย ด้วยในสมัยนั้นยังไม่ได้ตั้งประมวลกฎหมาย ยังใช้ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องจำอยู่นานเท่าใด จะพ้นจากเวรจำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทาน นักโทษในคุกจึงต้องถวายฎีกาขอพระราชโทษ ชั้นเดิมมักให้ญาติพี่น้องถวายฎีกาแทนตัว ครั้นมีการไปรษณีย์เกิดขึ้น ก็ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ จำนวนฎีกาคนคุกขอพระราชทานโทษจึงมีมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกำหนดเวลาไว้ตามพระราชนิยม ว่าคนโทษอย่างใดต้องติดเวรจำมาได้นานเท่าใดแล้ว หรือว่าได้ทำความชอบพิเศษอย่างใด จึงทรงพิจารณา ถ้าถวายฎีกาไม่เข้าในเกณฑ์ก็ยกฎีกาเสีย ฎีกาของอ้ายทิมเข้าในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชวินิจฉัย เพราะต้องจำคุกมาถึง ๑๐ ปีแล้ว

เมื่ออ่านฎีกาอ้ายทิมในที่ประชุมแล้ว ดำรัสสั่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นและเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนครบาลอยู่ในเวลานั้น ให้ไปสอบสวนดูว่าคำที่อ้ายทิมนักโทษอ้างในฎีกามีจริงเพียงไร ถึงคราวประชุมหน้า กรมพระนเรศฯ นำกาถังน้ำร้อนที่อ้ายทิมได้สานไว้ใบหนึ่งเข้าไปถวาย และกราบทูลว่าคำที่อ้ายทิมอ้างนั้นสอบสวนได้ความจริงทุกข้อ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกาถัง เห็นเป็นฝีมืออย่างประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง ฉันก็จะให้มันเห็นผลความจริง” จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานอ้ายทิม แล้วดำรัสสั่งกรมพระนเรศฯ ให้ส่งตัวไปให้ฉันผู้เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ จัดการบวชอ้ายทิมเป็นนาคของหลวงบวชพระราชทาน

สมัยนั้น นักโทษยังต้องจองจำอยู่ในคุกเดิมที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกรมนครบาลคุมตัวโจรทิมไปส่ง ฉันแลเห็นดูผิดมนุษย์จนน่าสังเวช ด้วยผมยาวรุงรังไปทั้งหัว เนื้อตัวก็ขะมุกขะมอมอย่างว่า “ขี้ไคลท่วมหัว” มีแต่ผ้าขาดนุ่งติดตัวไป แต่สังเกตดูกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อย รุ่นราวเป็นกลางคนอายุสัก ๔๐ ปีเศษ ฉันรับตัวไว้แล้วต้องเริ่มด้วยให้อาบน้ำถูขี้ไคลตัดผม แล้วให้เครื่องนุ่งห่มใหม่ และจัดที่ให้อยู่ในบ้านฉันจนกว่าจะไปบวช แต่แรกคนในบ้านออกจะพากันกลัวด้วยได้ยินว่าเป็นโจร ต่อเมื่อรู้เรื่องที่โจรทิมทูลขอโทษ จึงพากันสงสารสิ้นรังเกียจ ช่วยอุปการะเลี้ยงดูด้วยเมตตาจิตทั่วทั้งบ้าน ส่วนการที่จะบวชนั้นฉันปรึกษากับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นที่พระยาวุฒิการบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เห็นว่าควรให้บวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปบอกพระราชาคณะเจ้าอาวาส ก็ยินดีจะรับพระทิมไว้ในวัดนั้น ฉันให้ไปเบิกผ้าไตรกับเครื่องบริขารของหลวงมาแล้ว ถึงวันกำหนดจึงให้นายทิมแต่งตัวนุ่งผ้ายกสวมเสื้อครุยตามแบบนาคหลวง แล้วพาตัวขึ้นรถไปยังวัดพระเชตุพนฯ ด้วยกันกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ มีพวกข้าราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงนครบาล กับทั้งพวกที่บ้านของฉันพากันไปช่วย ข้างฝ่ายพระสงฆ์ พระราชาคณะกับพระฐานานุกรมคณะปรก ก็พร้อมเพรียงกันทำพิธีอุปสมบทที่ในพระอุโบสถ ดูครึกครื้นสมกับที่เป็นนาคหลวง

เมื่อบวชแล้วพระทิมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ๒ พรรษา ในระหว่างนั้น ตัวฉันย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ในปีนั้นเอง วันหนึ่งพระทิมมาหา บอกว่าเมื่อจำพรรษาที่ ๒ อยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เกิดอาพาธเป็นโรคเหน็บชา Beri-beri รักษาตัวมาพอค่อยคลายขึ้นบ้างแต่ยังอ่อนเพลีย เธออยากจะขึ้นไปอยู่วัดที่เมืองอินทบุรี ด้วยมีญาติโยมอยู่ในเมืองนั้น เจ็บไข้พอจะได้อาศัยความอุปการะของเขา ถามว่าฉันจะรังเกียจหรือไม่ ฉันตอบว่าตัวเธอนั้น พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโทษโปรดบวชให้เป็นโสดแก่ตัวแล้ว จะไปไหนหรืออยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ แต่ที่เธอมาปรึกษาฉันก่อนนั้นก็ดีอยู่ ฉันจะมีท้องตราไปฝากให้เจ้าเมืองกรมการเขาช่วยอุปการะด้วย แต่เมื่อขึ้นไปอยู่เมืองอินท์ ถ้าเธอจะย้ายไปอยู่ที่ไหนต่อไปให้บอกเจ้าเมืองกรมการให้เขารู้เสียก่อนจึงจะดี เธอรับคำ ฉันก็ให้ทำท้องตราให้เธอถือขึ้นไปยังเมืองอินท์ แต่นั้นพระทิมก็เงียบหายไปกว่าปี

ครั้นถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ในเวลากำลังไทยวิวาทกันกับฝรั่งเศส วันหนึ่งฉันลงมาจากบนเรือน เห็นพระทิมมานั่งคอยอยู่ที่ท้องพระโรง ฉันถามเธอว่ามีกิจธุระอะไรหรือ พระทิมตอบว่า “อาตมภาพอยู่ที่เมืองอินท์ ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่ม ได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูรู้อยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึก ไปอาสารบฝรั่งเศสสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้ว ถ้ารอดชีวิตอยู่ ก็จะกลับบวชอีกอย่างเดิม” ฉันได้ฟังนึกรักใจพระทิม จึงตอบว่า ฉันจะต้องไปกราบทูลก่อน เพราะเมื่อเธอบวชเป็นนาคหลวงของพระเจ้าอยู่หัว ให้เธอพักรอฟังอยู่ที่บ้าน ฉันไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ชอบพระราชหฤทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” โปรดให้ฉันเชิญกระแสรับสั่งไปบอกพระทิม ว่าซึ่งมีความกตัญญูคิดจะสนองพระเดชพระคุณนั้นทรงขอบใจนัก แต่การรบพุ่งใช้แต่คนฉกรรจ์ที่ยังมีกำลังมาก พระทิมอายุมากเกินขนาดเสียแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด เธอได้ฟังกระแสรับสั่งอย่างนั้นก็ลากลับไป แต่นั้นมาฉันจะได้พบกับพระทิมอีกบ้างหรืออย่างไรจำไม่ได้ แต่ไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องคิดถึงพระทิมมาหลายปี

จนถึงครั้งหนึ่ง จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันได้รับใบบอกมาจากเมืองอินทบุรีว่าพระทิมอาพาธถึงมรณภาพ เขาเห็นว่าเธอเป็นพระที่พระเจ้าอยู่หัวโปรดบวชพระราชทาน และฉันได้สั่งให้อุปการะ จึงปรึกษากับพวกญาติให้รอการปลงศพพระทิมไว้ บอกมาให้ฉันทราบก่อน ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงพระกรุณาแก่พระทิมมาแต่ก่อน จึงนำความขึ้นกราบทูลว่าพระทิมถึงมรณภาพเสียแล้ว มีพระราชดำรัสว่าพระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัวก็ได้ทรงอุปการะมาแต่ก่อน โปรดให้ฉันเบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลเป็นของหลวงส่งไปพระราชทานเพลิงศพพระทิม เพราะฉะนั้น งานศพพระทิมก็กลายเป็นอย่างศพกรมการที่ได้พระราชทานสัญญาบัตร ด้วยมีข้าหลวงพระราชทานเพลิงและมีกรมการไปช่วยงานเป็นเกียรติยศ สิ้นเรื่องประวัติพระโจรทิมเพียงเท่านี้ พิเคราะห์ดูสมกับคำสุภาษิตโบราณซึ่งว่า “ไม้ต้นคดปลายตรงยังดัดเอาดีได้ ถ้าปลายคดถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้” จึงเขียนเรื่องรักษาไว้มิให้สูญเสีย



เรื่องโจรจันทร์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ มีโจรพวกหนึ่งสมคบกันเที่ยวปล้นในแขวงจังหวัดปทุมธานี จังหวัดอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรีเนืองๆ ถึงเดือนกรกฎาคม โจรพวกนั้นปล้นไล่ฝูงกระบือในแขวงจังหวัดปทุมธานี แล้วไปปล้นที่บ้านชีปะขาว ในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีอีกแห่งหนึ่งติดๆ กัน เวลานั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) ยังเป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เป็นผู้เข้มแข็งขึ้นชื่อในการปราบโจรผู้ร้าย สามารถจับโจรพวกนั้นที่เป็นชาวเมืองสุพรรณได้หลายคน ให้การรับเป็นสัจซัดพวกเพื่อน จึงให้จับโจรที่เป็นชาวเมืองอื่นเอาไปรวมกันไปชำระที่เมืองนครปฐม

ในเวลากำลังชำระโจรพวกนั้น วันหนึ่งฉันออกไปเมืองนครปฐมเพื่อจะผ่อนพักในเวลาราชการเบาบางตามเคย เห็นตำรวจภูธรคุมนักโทษคนหนึ่ง ขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยไปพร้อมกับฉัน แล้วไปลงที่สถานีพระปฐมเจดีย์ ฉันถามได้ความว่าเป็นพวกโจรรายที่กำลังชำระคนหนึ่ง ซึ่งจับตัวไปจากเมืองปทุมธานี ค่ำวันนั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหารด้วยกันกับฉันตามเคย แต่พอกินแล้วท่านขอลาว่าจะต้องไปชำระผู้ร้าย ฉันถามว่าเหตุไฉนจึงต้องไปชำระเอง ท่านบอกว่าโจรคนที่ได้ตัวมาใหม่ในวันนั้นเป็นตัวสำคัญนัก ที่เมืองปทุมธานีเรียกกันว่า “จันทร์เจ้า” เป็นหัวหน้าของผู้ร้ายพวกนั้นทั้งหมด ถ้าให้คนอื่นชำระเกรงจะไม่ได้ความจริง ถึงคืนต่อมาเมื่อกินอาหารด้วยกัน ฉันถามว่าชำระผู้ร้ายได้ความอย่างไร ท่านตอบแต่ว่า “ยังถวายรายงานไม่ได้” จนถึงคืนที่ ๔ เวลาเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหาร ดูยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันถามถึงการชำระผู้ร้าย ท่านบอกว่าโจรจันทร์เจ้ารับเป็นสัจแล้ว

แต่ก่อนมาฉันยังไม่เคยรู้จักตัวหัวหน้านายโจร หรือที่เรียกตามคำโบราณว่า “มหาโจร” นึกอยากรู้จักโจรจันทร์เจ้า จึงบอกเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่า เมื่อท่านชำระสะสางโจรจันทร์เจ้าเสร็จสิ้นสำนวนแล้ว ขอให้คุมตัวมาให้พบกับฉันสักหน่อย ท่านให้คุมมาในวันรุ่งขึ้น พอฉันแลเห็นก็นึกประหลาดใจ ด้วยดูเป็นคนสุภาพ รูปพรรณสัณฐานไม่มีลักษณะอย่างใดที่จะส่อว่าใจคอเหี้ยมโหด ถึงเป็นตัวหัวหน้านายโจร เมื่อพูดด้วย ถ้อยคำที่ตอบก็เรียบร้อยเหมือนอย่างเคยเพ็ดทูลเจ้านายมาแต่ก่อน ฉันออกพิศวง จึงถามว่าได้เคยเฝ้าแหนเจ้านายมาแต่ก่อนบ้างหรือ โจรจันทร์ตอบว่าได้เคยเฝ้าหลายพระองค์ ที่เคยทรงใช้สอยก็มี ฉันยิ่งสงสัย ถามว่า “ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่ทรงรังเกียจหรือ” โจรจันทร์ตอบว่า “เจ้านายท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่ในพวกโจรด้วยกันเท่านั้น” เพราะพวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เรียกกันว่า “นักเลง” คนอื่นก็เลยเรียกว่านักเลง หมายความแต่ว่าเป็นคนกว้างขวาง นักเลงคนไหนมีพวกมากก็เรียกกันว่า “นักเลงโต” นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี แต่นักเลงเป็นคนกว้างรับใช้สอยได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงชอบใช้ ก็ได้คุ้นเคยกับผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยเหตุนั้น ฉันไถ่ถามความข้ออื่นต่อไป โจรจันทร์ก็เล่าให้ฟังโดยซื่อแม้จนลักษณะที่ทำโจรกรรม คงเป็นเพราะเห็นว่าได้รับสารภาพความผิดต่อเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ หมดแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องปกปิดต่อไป แต่การที่ถามโจรจันทร์ ความประสงค์ของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ กับความประสงค์ของตัวฉันผิดกัน เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ประสงค์จะรู้เรื่องปล้นเมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นสำคัญ แต่ตัวฉันอยากรู้วิธีของโจรผู้ร้ายทั่วไป ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่โจรจันทร์ถูกจับ ฟังคำอธิบายของโจรจันทร์จึงเลยออกสนุก ยิ่งฟังไปก็ยังตระหนักใจว่าโจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรม สมกับที่เป็นนายโจร ฉันถามถึงกระบวนโจรกรรมอย่างใดๆ โจรจันทร์พรรณนาได้ทั้งหมดว่าทำอย่างนั้นๆ ดังจะเขียนให้เห็นพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้นเขาว่ามักมีคนที่อยู่ใกล้กับเจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ

ตอบว่า การที่ปล้นนั้นจำต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้

ถามว่า เพราะเหตุใดไม่มีสายจึงปล้นไม่ได้

ตอบว่า พวกโจรต้องอาศัยผู้เป็นสายหลายอย่าง เป็นต้นแต่ผู้เป็นสายไปบอก พวกโจรจึงรู้ว่าบ้านไหนมีทรัพย์ถึงสมควรจะปล้น และการที่จะปล้นนั้น พวกโจรต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย พวกโจรก็รักชีวิตเหมือนกัน ต้องสืบสวนและไล่เลียงผู้เป็นสายให้รู้แน่นอนก่อน ว่าเจ้าทรัพย์มีกำลังจะต่อสู้สักเพียงไร เพื่อนบ้านเรือนเคียงอาจจะช่วยเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร และต้องสืบหาโอกาสเวลาเจ้าทรัพย์เผลอหรือเวลาไม่อยู่เป็นต้น จนแน่ใจว่ามีกำลังกว่าเจ้าทรัพย์ตั้งเท่าหนึ่ง พวกโจรจึงจะปล้น การที่ปล้นนั้น ผู้เป็นสายมักเป็นต้นคิดไปชักชวนพวกโจรมาปล้น พวกโจรหาต้องหาคนเป็นสายไม่

ถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจรปล้นบ้าน

ตอบว่า มักอยู่ในคน ๓ ชนิด คือ คนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงินชนิดหนึ่ง เพื่อนบ้านที่เป็นอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ชนิดหนึ่ง ญาติที่โกรธเจ้าทรัพย์เพราะขอเงินไม่ให้ชนิดหนึ่ง

ถามว่า โจรที่ขึ้นปล้นเรือนนั้น ไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน

ตอบว่า ประเพณีของโจรปล้น เมื่อขึ้นเรือนได้แล้วหมายจับตัวเจ้าทรัพย์หรือคนในเรือนเป็นสำคัญ เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่หรือทำทรกรรมบังคับให้คนในเรือนนำชี้ จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับตัวคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นหาเอง มักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบให้แล้วโดยเร็ว มิให้ทันพวกชาวบ้านมาช่วย

ถามว่า การที่จับตัวเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้น ไม่กลัวเขาจำหน้าได้หรือ

ตอบว่า แต่ก่อนมา โจรที่ขึ้นเรือนใช้มอมหน้ามิให้เจ้าทรัพย์รู้จัก แต่เมื่อการปกครองมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เวลาเกิดปล้น ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านตรวจ จะล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรที่อยู่ถิ่นฐานห่างไกลเจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก เป็นพนักงานขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน ให้โจรที่อยู่ใกล้เปลี่ยนไปเป็นพนักงานซุ่มระวังทางอยู่ในที่มืด

ถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า “อ้ายเสือ”

ตอบว่า คำว่า “อ้ายเสือ” นั้น มิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่คำสัญญาณที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือเอาวา” พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือถอย” ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือล่า” ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้

พึงเห็นได้ตามคำอธิบายที่เขียนเป็นตัวอย่างไว้ว่า โจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรมมาก ถ้าหากโจรกรรมเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ความรู้ของโจรจันทร์ก็ถึงภูมิศาสตราจารย์ เพราะฉะนั้น พอพูดกันได้วันหนึ่ง ฉันก็ติดใจ นึกอยากจะรู้กระบวนของโจรต่อไปให้สิ้นเชิง แต่นั้นถึงเวลาเย็นฉันลงไปนั่งเล่นที่สนามหญ้า ก็ให้เบิกตัวโจรจันทร์มาถามต่อมาอีกหลายวันจึงคุ้นกัน ฉันเลยถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดแกจึงรับเป็นสัจ โจรจันทร์ตอบว่าเดิมก็ตั้งใจจะไม่รับ ถ้าชำระที่เมืองปทุมธานีก็เห็นจะไม่ได้ความจากตัวแก แต่ใจมาอ่อนเสียที่ถูกเอามาชำระต่างเมือง ตั้งแต่ลงจากรถไฟแลหาพวกพ้อง แม้แต่ใครที่เคยรู้จักหน้าสักคนหนึ่งก็ไม่มี เหลือแต่ตัวคนเดียวก็เปลี่ยวใจ เมื่ออยู่ในเรือนจำพบปะนักโทษถามถึงพรรคพวกที่ถูกจับมา เขาบอกว่ารับเป็นสัจหมดแล้ว ก็ยิ่งครั่นคร้าม แต่อย่างอื่นไม่ทำให้ท้อใจเหมือนวิธีชำระของเจ้าคุณเทศา ถามว่าท่านชำระอย่างไร โจรจันทร์เล่าว่า เวลาราวยามหนึ่งท่านเอาตัวไปที่ศาลอำเภอ ตัวท่านนั่งเก้าอี้อยู่ที่โต๊ะกับข้าราชการอีกสักสองสามคน ท่านเรียกตัวเข้าไปนั่งที่ข้างเก้าอี้ของท่าน แล้วถามถึงเรื่องที่ไปปล้น แกปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วย ท่านก็หัวเราะแล้วว่า “คิดดูเสียให้ดีเถิด พวกพ้องเขาก็รับหมดแล้ว” ท่านว่าแต่เท่านั้น แล้วก็หันไปพูดกับพวกข้าราชการถึงการงานอย่างอื่นๆ และสูบบุหรี่กินน้ำร้อนไปพลาง ให้แกนั่งคอยอยู่นานจึงหันกลับไปถามอีกว่า “จะว่าอย่างไร” แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะว่า “คิดดูเสียให้ดี” แล้วหันไปพูดกับข้าราชการ ให้แกนั่งคอยอยู่อีก นานๆ หันมาถามอย่างนั้นอีก แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะ แล้วบอกให้คิดให้ดีอีก เวียนถามอยู่แต่อย่างนั้นหลายพัก จนเวลาสัก ๕ ทุ่มจึงเลิกชำระ ถึงวันที่ ๒ พอยามหนึ่งท่านก็เอาตัวไปชำระอีก พอได้ยินท่านถามเหมือนอย่างวันก่อนก็รำคาญใจ ยิ่งถูกถามซ้ำซากก็ยิ่งรำคาญหนักขึ้น แต่ยังแข็งใจปฏิเสธอยู่ได้อีกคืนหนึ่ง พอถึงคืนที่ ๓ ระอาใจเสียแต่เมื่อเขาไปเอาตัวมาจากเรือนจำ พอเจ้าคุณเทศาตั้งคำถามอย่างเก่าอีกก็เกิดเบื่อเหลือทน เห็นว่าถ้าปฏิเสธ ท่านก็คงถามเช่นนั้นไปไม่มีที่สุด นึกว่าไหนๆ ก็คงไม่พ้นโทษ เพราะพวกเพื่อนรับเป็นสัจหมดแล้ว รับเสียให้รู้แล้วไปดีกว่า จะได้หลับนอนสิ้นรำคาญ แกจึงรับเป็นสัจในคืนที่ ๓ เพราะ “สู้ปัญญาเจ้าคุณเทศาท่านไม่ได้”

ในการชำระโจรผู้ร้าย เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มีวิธีผิดกับคนอื่นหลายอย่าง ท่านเคยบอกฉันอย่างหนึ่งว่าถ้าชำระในถิ่นที่ตัวผู้ร้ายอยู่ ไม่ใคร่รับเป็นสัจ ด้วยมันอายพวกพ้องของมัน ถ้าเอาไปชำระให้ห่างถิ่นฐาน ได้ความสัจง่ายขึ้น พระยามหินทรเดชานุวัติ (ใหญ่ สยามานนท์) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เวลานั้นยังเป็นที่พระยาศรีวิเศษ ยกกระบัตรมณฑลหัวหน้าพนักงานอัยการ เป็นมือขวาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ในการชำระโจรผู้ร้าย เคยเล่าให้ฉันฟังว่าเมื่อพวกโจรจันทร์ปล้นบ้านชีปะขาวครั้งนั้น พอรู้ข่าวถึงนครปฐม เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ก็ให้พระยามหินทรฯ รีบลงเรือไฟขึ้นไปเมืองสุพรรณ สั่งว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอน ที่ตำบลบางซอมาซักถามเถิดคงจะได้ความ พระยามหินทรฯ ตรงไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาซักไซ้ ก็ให้การรับเป็นสัจว่าอยู่ในพวกโจรที่ปล้นนั้น ให้การบอกชื่อพวกโจร จึงจับตัวได้โดยมาก พระยามหินทรฯ ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ จึงสามารถชี้เจาะตัวได้ ว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาชำระ มีผู้อื่นว่าวิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น เวลาท่านไปเที่ยวที่ไหนๆ ท่านสืบถามชื่อนักเลงในถิ่นนั้น จดไว้ในสมุดพกเสมอ ถ้าสามารถจะพบได้ก็คิดอ่านรู้จักตัวด้วย แล้วสืบถามเรื่องประวัติของพวกนักเลงจากคนร่วมถิ่นที่เป็นนักโทษติดอยู่ในเรือนจำ จึงรู้แหล่งของพวกโจรในตำบลต่างๆ ท่านยังมีผู้ช่วยอย่างเป็นมือซ้ายของท่านอีกคนหนึ่ง คือพระพุทธเกษตรานุรักษ์ (โพธิ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงชัยอาญา พะทำมะรงเรือนจำเมืองนครปฐม เป็นผู้มีคุณวุฒิอย่างแปลกประหลาดในกระบวนบังคับบัญชา ไม่ดุร้าย แต่สามารถให้นักโทษรักด้วยกลัวด้วย เรียกหลวงชัยอาญาว่า “คุณพ่อ” ทั้งเรือนจำ จนคนภายนอกพิศวงถึงกล่าวกันว่าหลวงชัยอาญาอาจจะจ่ายนักโทษไปทำงานได้ด้วยไม่ต้องมีผู้คุม เพราะแกรู้จักผูกใจนักโทษมิให้หนี ฉันเคยถามตัวแกเองว่าทำอย่างไร นักโทษที่แกจ่ายจึงไม่หนี แกบอกว่านักโทษมี ๒ ชนิด ชนิดที่จะหนีถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันคงหนี ชนิดนั้นจ่ายออกนอกตะรางไม่ได้ แต่นักโทษอีกชนิดหนึ่งใจยังรักดี คือพวกที่จะต้องติดไม่นานนัก หรือพวกที่ใกล้จะถึงเวลาพ้นโทษ ชนิดนี้สั่งสอนได้ ถึงในพวกนี้แกก็เลือกจ่ายไปโดยลำพังแต่คนที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่หนี แกไม่มีวิชาอย่างไรที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยของมันได้ ฉันได้ฟังอธิบายของแกก็เข้าใจว่าความสามารถของแกอยู่ที่รู้จักคาดใจนักโทษเป็นสำคัญ ที่แกเป็นกำลังของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น อยู่ในการสืบเรื่องโจรผู้ร้ายจากความรู้ของพวกนักโทษอย่างหนึ่ง กับปลอบผู้ร้ายให้รับเป็นสัจอย่างหนึ่ง ดูเหมือนแกจะมีนักโทษที่ฝึกหัดไว้สำหรับให้อยู่ปะปนกับโจรผู้ร้ายที่แรกจับได้ ค่อยพูดจาเกลี้ยกล่อมให้รับเป็นสัจ ดังเห็นได้ในคำที่โจรจันทร์เล่า หลวงชัยอาญา (โพธิ์) เป็นทั้งพะทำมะรงเป็นครูของพะทำมะรงในเรือนจำอื่น ซึ่งฉันสั่งให้ส่งไปศึกษาจากมณฑลต่างๆ อยู่ในตำแหน่งจนแก่ชราขอลาออก จึงได้เลื่อนเป็นที่พระพุทธเกษตรานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระปฐมเจดีย์มาจนถึงแก่กรรม

ฉันได้ฟังอธิบายของโจรจันทร์ ถึงกระบวนโจรกรรมต่างๆ คิดเห็นว่าโจรกรรมเป็นของมีจริงคล้ายกับเป็นวิชาอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นแต่คำสำหรับเรียกกันโดยโวหาร หากเป็นวิชาสำหรับทำความชั่ว สาธุชนไม่เอาใจใส่ที่จะรู้ จึงรู้กันแต่ในพวกโจรผู้ร้าย ว่าที่จริง ถ้าสาธุชนรู้ไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ เช่น พนักงานปราบปรามโจรผู้ร้าย ก็จะได้รู้เท่าทันโจร หรือเป็นคฤหบดี ก็จะได้รู้จักป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ตัวฉันมีโอกาสที่ได้พบปะกับศาสตราจารย์โจรกรรม น่าจะลองเขียนให้ความรู้เรื่องโจรกรรม เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองตลอดจนพวกเจ้าทรัพย์ คิดเห็นเช่นนั้นจึงเรียกโจรจันทร์มาถามอีกครั้งหนึ่ง ถามครั้งนี้ฉันเอากระดาษดินสอจดคำอธิบาย และบอกโจรจันทร์ให้รู้ว่าฉันจะแต่งหนังสือเรื่องโจรกรรม ถ้าบอกให้ถ้วนถี่ดีจริง ฉันจะกราบบังคมทูลขอให้พ้นโทษเป็นบำเหน็จ โจรจันทร์ก็ยินดีรับชี้แจงให้ตามประสงค์ และให้สัญญาว่า ถ้าพ้นโทษ จะทิ้งความชั่ว ไม่เป็นโจรผู้ร้ายต่อไปจนตลอดชีวิต ฉันจึงเขียนเรื่องโจรกรรมอย่างพิสดารจนสำเร็จแล้วให้พิมพ์เป็นเล่มสมุดเรียกชื่อเรื่องว่า “สนทนากับผู้ร้ายปล้น” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น แต่พอหนังสือนั้นปรากฏ คนก็ชอบอ่านกันแพร่หลาย ถึงต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เพราะยังไม่มีใครเคยรู้เรื่องโจรกรรมชัดเจน เหมือนอย่างพรรณนาในหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นมาแต่ก่อน

ส่วนตัวโจรจันทร์นั้น ฉันก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษด้วยยกความชอบที่ได้ชี้แจงกระบวนโจรกรรม ให้เป็นประโยชน์แก่การปราบปรามโจรผู้ร้าย เมื่อได้รับพระราชทานโทษแล้ว โจรจันทร์ไม่ประสงค์จะกลับไปอยู่เมืองปทุมธานี ขออยู่รับใช้สอยที่เมืองนครปฐมต่อไป เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่าพวกโจรปล้นเช่นนายจันทร์ยังถือสัจ ถ้ารับกลับใจแล้วพอไว้ใจได้ ไม่เหมือนพวกขโมยที่ล้วงลักตัดช่องย่องเบา ท่านเห็นฉันคุ้นเคยจนชอบนายจันทร์ จะให้เป็นพนักงานเฝ้าเรือน “บังกะโล” ที่ฉันพัก ฉันก็ไม่รังเกียจ นายจันทร์ได้ตำแหน่งทำงาน ก็ให้ครอบครัวตามไปอยู่เมืองนครปฐม เมียไปตั้งร้านขายของ มีลูกชายคนหนึ่งเพิ่งรุ่นหนุ่ม เอาไปให้เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ฝึกหัดใช้ราชการ แต่นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมาทั้งครัวเรือน

ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเสด็จประพาสเมืองนครปฐมเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวังใหม่ เสด็จไปประทับที่เรือนบังกะโลของฉันเป็นนิจ ทรงทราบว่านายจันทร์คนรักษาเรือนเคยเป็นนายโจร ตรัสเรียกไปทรงไถ่ถาม ให้เล่าเรื่องโจรกรรมถวายจนทรงคุ้นเคย ถึงสมัยเมื่อทรงเสวยราชย์แล้ว เวลาเสด็จออกไปเมืองนครปฐม พบนายจันทร์ก็ตรัสทักด้วยทรงพระกรุณา แม้พวกข้าราชการในราชสำนัก หรือที่ไปรับราชการ ณ เมืองนครปฐม ก็รู้จักนายจันทร์ทุกคนไม่มีใครเกลียดชัง ถ้าจะว่าก็เพราะเหตุที่เคยเป็นนายโจรแล้วกลับใจได้ แม้เป็นพลเมืองสามัญไปรับจ้างเฝ้าเรือนบังกะโล ก็เห็นจะไม่มีใครนำพานัก นายจันทร์เป็นผู้เฝ้าเรือนบังกะโลมากว่า ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวจึงออกจากหน้าที่ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ได้ยินว่า “โจรจันทร์” ยังอยู่ที่เมืองนครปฐม อายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว.

นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์

 


นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์

(๑)

หัวเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่ามีความไข้ Malaria ร้ายกาจ แต่ก่อนมามีหลายเมือง เช่นเมืองกำแพงเพชร และเมืองกำเนิดนพคุณ คือบางตะพานเป็นต้น แต่ที่ไหนๆ คนไม่ครั่นคร้ามเท่าความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ดูเป็นเข้าใจกันทั่วไป ว่าถ้าใครไปเมืองเพชรบูรณ์ เหมือนกับไปแส่หาความตาย จึงไม่มีชาวกรุงเทพฯ หรือชาวเมืองอื่นๆ พอใจจะไปเมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน แม้ในการปกครอง รัฐบาลก็ต้องเลือกหาคนในท้องถิ่นตั้งเป็นเจ้าเมืองกรมการ เพราะเหตุที่คนกลัวความไข้ เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องปล่อยให้เมืองเพชรบูรณ์กับเมืองอื่นในลุ่มแม่น้ำสักทางฝ่ายเหนือ คือเมืองหล่มสัก และเมืองวิเชียร เป็นอยู่อย่างเดิมมาหลายปี เพราะจะรวมเมืองเหล่านั้นเข้ากับมณฑลพิษณุโลกหรือมณฑลนครราชสีมา ที่เขตต่อกันก็มีเทือกเขากั้น สมุหเทศาภิบาลจะไปตรวจตราลำบากทั้ง ๒ ทาง อีกประการหนึ่ง เมื่อแรกฉันจัดการปกครองหัวเมือง มณฑลต่างๆ ขอคนออกไปรับราชการ ฉันยังหาส่งไปให้ไม่ทัน เมืองทางลำน้ำสักมีเมืองเพชรบูรณ์เป็นต้น ไม่มีใครสมัครไป ด้วยกลัวความไข้ดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องรอมา

มามีความจำเป็นเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่างลง ฉันหาคนในกรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าเมืองไม่ได้ เลือกดูกรมการในเมืองเพชรบูรณ์เอง ที่จะสมควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มี นึกว่ามณฑลพิษณุโลกมีท้องที่ความไข้ร้ายหลายแห่ง บางทีจะหาข้าราชการในมณฑลนั้นที่คุ้นกับความไข้ไปเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ฉันเคยเห็นท่านถนัดเลือกคนใช้ จึงถามท่านว่าจะหาข้าราชการในมณฑลพิษณุโลก ที่มีความสามารถพอจะเป็นเจ้าเมือง และไม่กลัวความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ให้ฉันสักคนจะได้หรือไม่ ท่านขอไปตริตรองแล้วมาบอกว่า มีอยู่คนหนึ่งเป็นที่พระสงครามภักดี (ชื่อเฟื่อง) นายอำเภอเมืองน้ำปาด ดูลาดเลามีสติปัญญา และเคยไปรับราชการตามหัวเมืองที่มีความไข้ เช่นเมืองหลวงพระบาง และแห่งอื่นๆ หลายแห่ง เวลานั้นเป็นนายอำเภอที่เมืองน้ำปาดก็อยู่ในแดนความไข้ เห็นจะพอเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันเรียกพระสงครามภักดีลงมากรุงเทพฯ พอแลเห็นก็ประจักษ์ใจว่าแกเคยคุ้นกับความไข้ เพราะผิวเหลืองผิดกับคนสามัญ ดูราวกับว่าโลหิตเต็มไปด้วยตัวไข้มาลาเรีย จึงอยู่คงกับความไข้ ฉันไถ่ถามได้ความว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ แต่ขึ้นไปทำมาหากินอยู่เมืองเหนือตั้งแต่ยังหนุ่ม เคยอาสาไปทัพฮ่อทางเมืองหลวงพระบางและที่อื่นๆ มีความชอบ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ จึงชวนเข้ารับราชการมาจนได้เป็นที่พระสงครามภักดี ฉันซักไซ้ต่อไปถึงความคิดการงาน ดูก็มีสติปัญญาสมดังเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ บอก จึงให้พระสงครามภักดีขึ้นไปเป็นผู้รั้งราชการเมืองเพชรบูรณ์ แกไปถึงพอเรียนรู้ความเป็นไปในท้องที่แล้ว ก็ลงมือจัดการปกครองตามแบบมณฑลพิษณุโลก บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น พระสงครามภักดีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาเพชรรัตนสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เต็มตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

การที่พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) สามารถจัดระเบียบแบบแผนปกครองเมืองเพชรบูรณ์สำเร็จนั้น เป็นมูลให้ต้องปรารภต่อไปถึงเมืองหล่มสักและเมืองวิเชียรบุรี ที่อยู่ลุ่มลำน้ำสักด้วยกัน เห็นว่าถึงเวลาควรจะจัดการปกครองให้เข้าแบบแผนด้วย แต่จะเอาหัวเมืองทางลำน้ำสักไปเข้าในมณฑลใด ก็ขัดข้องด้วยทางคมนาคมดังกล่าวมาแล้ว จะปกครองได้สะดวกอย่างเดียวแต่รวมหัวเมืองในลุ่มน้ำสัก ๓ เมือง แยกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก จึงตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น (ดูเหมือน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ผู้ที่จะเป็นสมุหเทศาภิบาลเพชรบูรณ์ก็ไม่มีผู้อื่นอยากเป็น หรือจะเหมาะเหมือนพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เพราะอยู่คงความไข้ และได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏแล้วว่าสามารถจะปกครองได้ พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ก็ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล แต่แรกคนทั้งหลายอยู่ข้างจะประหลาดใจ ด้วยสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่น ล้วนเป็นเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันปรากฏเกียรติคุณแพร่หลาย แต่มิใคร่รู้จักพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เพราะแกเคยรับราชการอยู่แต่ในท้องที่ลับลี้ห่างไกล คนเห็นสมุหเทศาภิบาลแปลกหน้าขึ้นใหม่ก็พากันพิศวง แต่เมื่อแกได้เข้าสมาคมในกรุงเทพฯ ไม่ช้าเท่าใดก็ปรากฏเกียรติคุณ เช่นนั่งในที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล เพื่อนสมุหเทศาภิบาลด้วยกันก็เห็นว่าเป็นคนมีสติปัญญาสมควรแก่ตำแหน่ง แม้ผู้อื่นที่ในสมาคมข้าราชการ พอได้คุ้นเคยเห็นมารยาทและกิริยาอัชฌาสัย ก็รู้ตระหนักว่าเป็นผู้ดีมิใช่ไพร่ได้ดี ก็ไม่มีใครรังเกียจ แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อดำรัสถามถึงราชการต่างๆ ในมณฑลเพชรบูรณ์ แกกราบทูลชี้แจงก็โปรด และยังทรงพระเมตตาเพราะเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระบรมราชสมภพด้วยอีกสถานหนึ่ง แต่สง่าราศีของพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) ดูเหมือนจะอยู่ที่ผิวแกเหลืองผิดกับผู้อื่นนั้นเป็นสำคัญ ใครเห็นก็รู้ว่าแกได้ดีเพราะได้ลำบากตรากตรำทำราชการเอาชีวิตสู้ความไข้มาแต่หนหลัง อันนี้เป็นเครื่องป้องกันความบกพร่องยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่พระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์อยู่ได้เพียง ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ เมื่องานฉลองพระชนมายุครบ ๕๐ ปี ก็มาเป็นอหิวาตกโรคถึงอนิจกรรม สิ้นบุญเพียงอายุ ๕๐ ปีเท่านั้น ใครรู้ก็อนาถใจ ด้วยเห็นว่าแกเพียรต่อสู้ความไข้ ชนะโรคมาลาเรียแล้วมาแพ้ไข้อหิวาตกโรคง่ายๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้มาแต่หนหลัง มีคนพากันเสียดาย

(๒)

เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์ เคยปรารภกับฉันเนืองๆ ว่า การปกครองมณฑลเพชรบูรณ์ไม่สู้ยากนัก เพราะราษฎรเป็นคนเกิดในมณฑลนั้นเองแทบทั้งนั้น ชอบแต่ทำมาหากิน มิใคร่เป็นโจรผู้ร้าย บังคับบัญชาก็ว่าง่าย ราชการในมณฑลนั้นมีความลำบากเป็นข้อสำคัญแต่หาคนใช้ไม่ได้พอการ เพราะคนในพื้นเมืองยังอ่อนแก่การศึกษา คนมณฑลอื่นก็มิใคร่มีใครยอมไปด้วยกลัวความไข้ จะจัดทำอะไรจึงมักติดขัดด้วยไม่มีคนจะทำ ที่จริงความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ก็มีแต่เป็นฤดู มิได้มีอยู่เสมอ สังเกตดูอาการไข้ก็ไม่ร้ายแรงถึงอย่างยิ่งยวด ความไข้ทางเมืองหลวงพระบาง หรือแม้ในมณฑลพิษณุโลกทางข้างเหนือร้ายกว่าเป็นไหนๆ แต่มิรู้ที่จะ ทำอย่างไรให้คนหายกลัวไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันพูดว่าตัวฉันเองก็ลำบากในเรื่องหาคนไปรับราชการมณฑลเพชรบูรณ์เหมือนกัน ได้เคยคิดทำอุบายที่จะระงับความไข้เมืองเพชรบูรณ์เหมือนกัน เห็นว่าตัวฉันจะต้องขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์เอง ให้ปรากฏเสียสักครั้งหนึ่ง คนอื่นจึงจะหายกลัว ด้วยเห็นว่าความไข้คงไม่ร้ายแรงถึงอย่างเช่นกลัวกัน ฉันจึงกล้าไป ถึงจะยังมีคนกลัว ชักชวนก็ง่ายขึ้น ด้วยอาจอ้างตัวอย่างว่าแม้ตัวฉันก็ได้ไปแล้ว พระยาเพชรรัตนฯ ชอบใจว่าถ้าฉันไปคนก็เห็นจะหายกลัวได้จริง ถามพระยาเพชรรัตนฯ ถึงทางที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ แกบอกว่าไปได้หลายทาง ที่ไปได้สะดวกนั้นมี ๓ ทาง คือไปเรือในแม่น้ำสักทางหนึ่ง ไปจากกรุงเทพฯ ราว ๓๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ อีกทางหนึ่งจะเดินบกจากเมืองสระบุรีหรือเมืองลพบุรีก็ได้ เดินทางราว ๑๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ แต่ว่าหนทางอยู่ข้างลำบากและไม่มีอะไรน่าดู ทางที่ ๓ นั้นไปเรือ มีเรือไฟจูงจากกรุงเทพฯ ราว ๗ วัน ไปขึ้นเดินบกที่อำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร เดินบกอีก ๔ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ และว่าทางนี้สะดวกกว่าทางอื่น แต่การที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ต้องกะเวลาให้เหมาะด้วย คือควรไปในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งพ้นเขตความไข้แล้ว แต่ต้องเป็นแต่ต้นฤดูแล้งเมื่อน้ำยังไม่ลดมากนัก ทางเรือจึงจะสะดวก ไปในเดือนมกราคมเป็นเหมาะกว่าเดือนอื่น แต่ฝ่ายตัวฉันยังมีข้ออื่นที่จะต้องคิดอีก คือจะต้องหาโอกาสว่างราชการในเดือนมกราคมให้ไปอยู่หัวเมืองได้สักเดือนหนึ่ง เมื่อปรึกษากับพระยาเพชรรัตนสงครามแล้ว ฉันยังหาโอกาสไม่ได้ต้องเลื่อนกำหนดมาถึง ๒ ปี ในระหว่างนั้น พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ถึงอนิจกรรม ก็ไม่ได้ไปด้วยดังนัดกันไว้ ฉันมาได้โอกาสไปเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ กะว่าจะไปทางเรือจนถึงบางมูลนาค แล้วขึ้นเดินบกไปเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำแม่น้ำสักมายังเมืองวิเชียรบุรีแล้วเลยลงมาจนถึงเมืองสระบุรี ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ

พอข่าวปรากฏว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ ก็มีพวกพ้องพากันมาให้พร คล้ายกับจะส่งไปทัพบ้าง มาห้ามปรามโดยเมตตาปรานี ด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะไปเสี่ยงภัยบ้าง ผิดกับเคยไปไหนๆ มาแต่ก่อน ฉันบอกว่าเป็นราชการจำที่จะต้องไปและได้ทูลลาเสร็จแล้ว ที่ห้ามปรามก็เงียบไป แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ฉันกราบทูลความคิดที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ ตรัสว่า “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว” ในเวลานั้นตัวฉันเองตั้งแต่เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตามหัวเมืองต่างๆ เคยผ่านป่าดง แม้ที่ว่าไข้ร้ายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้สึกครั่นคร้ามอย่างไร แต่ประหลาดอยู่ที่พอรู้กันว่าฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์เป็นแน่ ก็มีผู้มาขอไปเที่ยวด้วยหลายคน แม้พวกที่ฉันเลือกเอาไปช่วยธุระหรือใช้สอยก็สมัครไปด้วยยินดี ไม่เห็นมีใครครั่นคร้าม คงเป็นด้วยอุ่นใจ คล้ายกับจะเข้าไปยังที่ซึ่งเขาว่าผีดุ ไม่มีใครกล้าไปคนเดียว แต่พอมีเพื่อนไปด้วยหลายคน ก็หายกลัวผีไปเอง

(๓)

ฉันออกเรือจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ช้าไปสัก ๑๕ วัน น้ำในแม่น้ำตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ลดงวดลงเสียมาก แม้เรือไฟที่จูงเรือพ่วง เป็นอย่างกินน้ำตื้นก็ลำบาก ต้องเดินเรือถึง ๘ วัน จึงถึงอำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร ที่จะขึ้นเดินทางบก เทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก จัดพาหนะและคนหาบของเตรียมไว้แล้ว พอฉันขึ้นไปถึง ก็มีพวกที่ถูกเกณฑ์จ้างหาบของเข้ามาวิงวอนขอให้ใช้ไปทางอื่น อย่าให้ต้องไปเมืองเพชรบูรณ์ เพราะกลัวความไข้ ฉันประหลาดใจที่คนเหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ กับเมืองเพชรบูรณ์ ไฉนจึงกลัวไข้ถึงปานนั้น สืบถามได้ความว่าพวกชาวจังหวัดพิจิตรที่อยู่ตอนริมน้ำ เคยเดินป่าไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันตก จนถึงเมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย น้อยคนที่จะได้เคยไปทางฝ่ายตะวันออก ห่างลำแม่น้ำไปกว่าวันเดียว เพราะเคยได้ยินเลื่องลือถึงความไข้เมืองเพชรบูรณ์ กลัวกันมาเสียช้านาน ฉันก็ได้แต่ชี้แจงแก่พวกที่มาขอตัว ว่าขอให้คิดดูเถิด ตัวฉันเองถึงเป็นเจ้าก็เป็นมนุษย์ อาจจะเจ็บอาจจะตายได้เหมือนกับพวกเขา ที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ก็เพื่อจะไปทำราชการของพระเจ้าอยู่หัว มิใช่จะไปหาความสุขสนุกสบายสำหรับตัวเอง พวกเขาก็เป็นข้าแผ่นดินเหมือนกับตัวฉัน มาช่วยกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวสักคราวเป็นไร อีกประการหนึ่งฉันไม่ได้คิดจะเอาพวกเขาไปจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ จะให้ไปส่งเพียงปลายแดนจังหวัดพิจิตร ทางเพียง ๓ วันเท่านั้นก็จะได้กลับมาบ้าน ฉันจะดูแลป้องกันมิให้ไปเจ็บไข้ในกลางทาง อย่าวิตกเลย พวกนั้นได้ฟังก็ไม่กล้าขอตัวต่อไป แต่สังเกตดูเมื่อเดินทางไปไม่เห็นมีใครหน้าตาเบิกบาน คงเป็นเพราะยังกลัวอยู่ไม่หาย แต่เมื่อเดินทางไป ๒ วัน พอถึงบ้านตำปางที่ในป่าก็ไปเกิดประหลาดใจด้วยไปพบราษฎรที่มีความนิยมตรงกันข้าม หมู่บ้านเหล่านั้นก็อยู่ในแดนจังหวัดพิจิตร แต่ชาวบ้านชอบไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันออกจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มสักและเมืองวิเชียร แต่ไม่ชอบลงไปทางริมแม่น้ำเช่นที่บางมูลนาคเป็นต้น ด้วยเกรงความไข้ในที่ลุ่ม คนที่ได้ไปแล้วคนหนึ่งบอกฉันว่าเคยไปขี่เรือครั้งหนึ่ง พอเรือออกเวียนหัวทนไม่ไหว แต่นั้นก็ไม่กล้าลงเรืออีก ดูประหลาดนักหนา คนอยู่ห่างกันเพียงทางเดิน ๒ วัน ภูเขาเลากาอะไรก็ไม่มีคั่น ความนิยมกลับตรงกันข้ามถึงอย่างนั้น

ระยะทางบกแต่บางมูลนาคไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ราว ๓,๐๐๐ เส้น เดินทางในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งแล้วไม่ลำบากอย่างไร ออกจากบางมูลนาคเป็นที่ลุ่มราบ ซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไปสัก ๓๐๐ เส้นถึงเมืองภูมิเก่า ว่าเป็นเมืองโบราณ ทำนาได้ผลดี ยังมีบ้านช่องแน่นหนา ออกจากเมืองภูมิไป ยังเป็นที่ลุ่มเป็นพรุและเป็นป่าไผ่อีกสัก ๕๐๐ เส้นจึงขึ้นที่ดอน เป็นโคกป่าไม้เต็งรัง ชายโคกเป็นห้วยเป็นดงสลับกันไปสัก ๑,๐๐๐ เส้น ถึงเชิงเทือกเขาบรรทัด ที่เป็นเขตแดนจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อกันบนสันเขานั้น ทางตอนข้ามเขาบรรทัดเป็นดงดิบเช่นเดียวกับดงพญาไฟ แต่เดินขึ้นเขาได้สะดวกเพราะทางลาดขึ้นไปไม่สู้ชันนัก เมื่อฉันไปถึงที่พักแรมตำบลซับมาแสนบนสันเขาบรรทัด พวกชาวเมืองเพชรบูรณ์มารับ ผลัดหาบหามจากพวกเมืองพิจิตร คืนวันนั้นได้เห็นความรื่นเริงของพวกที่ไปจากเมืองพิจิตรเป็นครั้งแรก พากันร้องเพลงเล่นหัวเฮฮาอยู่จนเวลาจะนอน ถึงต้องให้ไปห้ามปากเสียง ครั้นรุ่งเช้าเมื่อก่อนจะออกเดินทาง ฉันเรียกพวกเมืองพิจิตรมาขอบใจและแสดงความยินดีที่ไม่มีใครเจ็บไข้ พวกเหล่านั้นบอกว่าได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็สิ้นกลัว บางคนถึงพูดว่า “ถ้าใต้เท้ามาอีก ผมจะมารับอาสาไม่ให้ต้องเกณฑ์ทีเดียว” ออกเดินจากตำบลซับมาแสน เป็นทางลงจากเขามาสัก ๒๐๐ เส้น ก็พ้นดงเข้าเขตบ้านล่องคล้า เดินแต่บ้านล่องคล้าขึ้นไปทางเหนือสัก ๕๐๐ เส้นถึงบ้านนายม ไปจากบ้านนายมอีกสัก ๔๐๐ เส้นก็ถึงเมืองเพชรบูรณ์

(๔)

ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ท้องที่มณฑลเพชรบูรณ์ บอกแผนที่ได้ไม่ยาก คือลำแม่น้ำสักเป็นแนวแต่เหนือลงมาใต้ มีภูเขาสูงเป็นเทือกลงมาตามแนวลำน้ำทั้ง ๒ ฟาก เทือกข้างตะวันออกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลพิษณุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ใกล้ลำแม่น้ำสัก เมืองหล่มสักอยู่ที่สุดลำน้ำสักทางข้างเหนือ ต่อลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เทือกเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำ ดูเหมือนจะไม่ถึง ๓๐๐ เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรณ์ตอนริมลำแม่น้ำเป็นที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเป็นที่ราบทำนาได้ผลดี เพราะอาจจะขุดเหมืองชักน้ำจากลำห้วยมาเข้านาได้เหมือนเช่นที่เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเป็นโคกสลับกับแอ่งเป็นหย่อมๆ ไปจนถึงเชิงเขาบรรทัด บนโคกเป็นป่าไม้เต็งรัง เพาะปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งนั้นเป็นที่น้ำซับ เพาะปลูกพรรณไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรณ์จึงสมบูรณ์ด้วยกสิกรรม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งเว้นปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน ราคาข้าวเปลือกซื้อขายกันเพียงเกวียนละ ๑๖ บาทเท่านั้น แต่จะส่งข้าวเป็นสินค้าไปขายเมืองอื่นไม่ได้ด้วยทางกันดาร เมื่อข้าวไปถึงเมืองอื่น คิดค่าขนข้าวด้วยราคาแพงกว่าข้าวที่ขายกันในเมืองนั้นๆ ชาวเพชรบูรณ์จึงทำนาแต่พอกินในพื้นเมือง สิ่งซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ก็คือยาสูบ เพราะรสดีกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบขายเป็นพื้น ลักษณะปลูกยาสูบที่เมืองเพชรบูรณ์นั้น ปลูกตามแอ่งที่น้ำขังในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งพอน้ำในแอ่งแห้ง ราษฎรก็ไปพรวนดินปลูกต้นยาสูบ เมื่อต้นยาสูบงอกงามได้ขนาด ก็เก็บใบยามาผึ่งแล้วหั่นเอาเข้าห่อไว้ พวกพ่อค้าไปรับซื้อตามบ้านราษฎรแล้วบรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสีมาบ้าง มณฑลอุดรบ้าง แต่มณฑลพิษณุโลกปลูกยาสูบเหมือนกัน จึงไม่ซื้อยาเมืองเพชรบูรณ์ แต่ตลาดใหญ่ของยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงฤดูน้ำพวกพ่อค้าเอายาสูบบรรทุกเรือลงมาขายมากกว่าแห่งอื่นเสมอทุกปี ประหลาดอยู่ที่รสยาสูบซึ่งเรียกกันว่า “ยาเพชรบูรณ์” นั้น ดีเป็นยอดเยี่ยมแต่ที่ปลูก ณ เมืองเพชรบูรณ์ ถ้าปลูกที่เมืองหล่มสัก หรือปลูกข้างใต้ห่างเมืองเพชรบูรณ์ลงมา เพียงทางวันเดียวรสยาก็คลายไป เพราะโอชะดินสู้ที่เมืองเพชรบูรณ์ไม่ได้ ถึงที่เมืองเพชรบูรณ์เอง ก็ปลูกยาซ้ำที่อยู่ได้เพียงราว ๖ ปี แล้วต้องย้ายไปปลูกที่อื่น ปล่อยให้ดินพักเพิ่มโอชะเสีย ๕ ปี ๖ ปี จึงกลับไปปลูกที่เก่าอีก

ในเรื่องที่เลื่องลือว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายแรงนั้น เมื่อไปเห็นเมืองเพชรบูรณ์ก็พอได้เค้าเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คงเป็นเพราะเหตุที่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่ลุ่มริมลำน้ำ มีเทือกเขาสูงกระหนาบอยู่ใกล้ๆ ทั้งสองข้าง เทือกเขานั้นเป็นหินปูน ถึงฤดูแล้งต้นไม้แห้งไม่มีใบ หินถูกแดดร้อนจัดไอขึ้น ลมพัดมาแต่ทิศใดก็พัดพาเอาไอหินเข้ามาร้อนอบอยู่ในเมือง พอเริ่มฤดูฝนคนถูกไอร้อนของหินกับไอฝนประสมกัน ก็อาจจะเป็นไข้ได้สถานหนึ่ง ในฤดูฝนฝนตกชะใบไม้ที่หล่นร่วงเน่าเปื่อยอยู่บนเขา พาเอาพิษไข้ลงมากับน้ำ คนก็อาจเป็นไข้ด้วยกินน้ำมีพิษสถานหนึ่ง เมื่อสิ้นฤดูฝนน้ำท่วมแผ่นดินลด กำลังแผ่นดินชื้น ลมหนาวพัดมาระคนกับความชื้นก็อาจเกิดไข้ได้อีกสถานหนึ่ง แต่สังเกตคนในพื้นเมืองหรือแม้คนต่างถิ่นที่ไปอยู่จนคุ้นที่แล้ว ดูอนามัยก็เป็นปรกติไม่แปลกกับที่อื่น ฉันไถ่ถามพวกกรมการในพื้นเมืองถึงลักษณะความไข้ เขาบอกว่าไข้มีชุกแต่เวลาเปลี่ยนฤดู คือเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนคราวหนึ่ง กับเมื่อฤดูฝนต่อฤดูแล้งคราวหนึ่ง ไข้คราวต้นปีเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนไม่ร้ายแรงเหมือนกับไข้คราวปลายปี ที่เราเรียกว่า “ไข้หัวลม” นอกจาก ๒ ฤดูนั้น ความไข้เจ็บก็มิใคร่มี โดยจะมีก็เป็นอย่างธรรมดาไม่ผิดกับที่อื่น ความเห็นของพวกที่ไปจากต่างถิ่น เขาว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายกว่ามณฑลอื่นบางมณฑล เช่นมณฑลอยุธยาเป็นต้น จริงอยู่แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนเหมือนเช่นเลื่องลือ ถ้ารู้จักระวังรักษาตัวก็ไม่สู้กระไรนัก แต่สำคัญอยู่ที่ใจด้วย ถ้าขี้ขลาดก็อาจจะเป็นได้มากๆ เขาเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างว่า เมื่อปีที่ล่วงมาแล้ว มีเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์คนหนึ่ง ซึ่งเจ้ากระทรวงส่งขึ้นไปอยู่ประจำการ ณ เมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นไปทางเรือในฤดูฝนพอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็จับไข้ อาการไม่หนักหนาเท่าใดนัก แต่เจ้าตัวกลัวตายเป็นกำลัง พวกที่เมืองเพชรบูรณ์บอกว่าจะรักษาให้หายได้ ก็ไม่เชื่อ ขอแต่ให้ส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างเดียว เขาก็ต้องให้กลับตามใจ เมื่อลงไปถึงเมืองวิเชียร อาการไข้กำเริบถึงจับไม่สร่าง แต่ต่อไปจะเป็นหรือตายหาทราบไม่

ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเมืองมีป้อมปราการสร้างมาแต่โบราณ เห็นได้ว่าตั้งเป็นเมืองด่าน โดยเลือกที่ชัยภูมิตรงแนวภูเขาเข้ามาใกล้กับลำแม่น้ำสัก มีทางเดินทัพแคบกว่าแห่งอื่น ตั้งเมืองสกัดทางทำปราการทั้งสองฟาก เอาลำน้ำสักไว้กลางเมืองเหมือนเช่นเมืองพิษณุโลก สังเกตตามรอยที่ยังปรากฏ เห็นได้ว่าสร้างเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย แนวปราการขนาดราวด้านละ ๒๐ เส้น เดิมเป็นแต่ถมดินปักเสาระเนียดข้างบน มาสร้างใหม่ในที่อันเดียวกันเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ร่นแนวย่อมเข้ามาแต่ทำปราการก่อด้วยหินและมีป้อมรายรอบ สำหรับสู้ข้าศึกซึ่งจะยกมาแต่ลานช้าง ข้างในเมืองมีวัดมหาธาตุกับพระปรางค์เป็นสิ่งสำคัญอยู่กลางเมือง ฉันได้ไปทำพิธีพุทธบูชาและถวายสังเวยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วัดมหาธาตุนั้น ที่ในเมืองแต่ก่อนเห็นจะรกเรี้ยว เพิ่งมาถากถางทำถนนหนทางและปลูกเรือนสำหรับราชการต่างๆ เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ขึ้นไปอยู่ ไปเห็นเข้าก็คิดถึง

(๕)

ฉันเดินบก จากเมืองเพชรบูรณ์ไปเมืองหล่มสัก ระยะทางที่ไปราว ๑,๒๐๐ เส้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ทำเลที่เมืองหล่มสัก เป็นแอ่งกับเนินสลับกัน เหมือนดังพรรณนามาแล้ว แต่มีบ้านเรือนราษฎรในระยะทางถี่ ไม่เปลี่ยวเหมือนทางที่มาจากบางมูลนาคจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ ผ่านไปในป่าลานแห่งหนึ่งดูงามนักหนา ต้นลานสูงใหญ่แลสล้างไป ใบยาวตั้งราว ๖ ศอกผิดกับต้นลานที่เคยเห็นปลูกไว้ตามวัด ดูน่าพิศวง ในจังหวัดหล่มสักมีต้นลานมากกว่าที่อื่น ถึงใบลานเป็นสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งขายไปที่อื่น จังหวัดหล่มสักมีเมือง ๒ แห่ง เรียกว่าเมืองหล่มเก่าแห่งหนึ่ง เมืองหล่มสักแห่งหนึ่ง ฉันไปถึงเมืองหล่มสักอันเป็นที่บัญชาการจังหวัดก่อน ตัวเมืองหล่มสักตั้งอยู่ริมลำแม่น้ำสักทางฟากตะวันตก ไม่มีปราการเป็นด่านทางอย่างใด แต่ตั้งเมืองบนที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง และเขาบรรทัดตรงนั้นก็ห่างออกไป ความไข้เจ็บจึงไม่ร้ายแรงเหมือนเมืองเพชรบูรณ์ ราษฎรจังหวัดหล่มสักเป็นไทยลานช้างที่เรียกกันแต่ก่อนว่า “ลาวพุงขาว” เหมือนอย่างชาวมณฑลอุดร ไม่เหมือนไทยชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับชาวมณฑลพิษณุโลก จำนวนผู้คนพลเมืองมากกว่าเมืองเพชรบูรณ์ เพราะการทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์ดีกว่าเมืองเพชรบูรณ์ สินค้าที่ขายไปต่างเมืองมียาสูบและใบลานเป็นต้น แต่โคกระบือเป็นสินค้าใหญ่กว่าอื่น พาเดินลงไปขายทางมณฑลนครสวรรค์ และเมืองลพบุรีปีละมากๆ เสมอทุกปี ฉันได้เลยไปดูถึงเมืองหล่มเก่า ซึ่งอยู่ห่างเมืองหล่มสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางราว ๓๖๐ เส้น เมืองหล่มเก่าตั้งอยู่ในที่แอ่งใหญ่ ภูเขาล้อมรอบ มีลำห้วยผ่านกลางเมืองมาตกลำน้ำสักข้างใต้เมืองหล่มสัก ทางที่เดินไปจากเมืองหล่มสักเป็นที่สูง เมื่อใกล้จะถึงเมืองหล่มเก่าเหมือนกับอยู่บนขอบกระทะ แลลงไปเห็นเมืองหล่มเก่าเหมือนอยู่ในก้นกระทะ แต่เป็นเรือกสวนไร่นามีบ้านช่องเต็มไปในแอ่งนั้น น่าพิศวง แต่สังเกตดูไม่มีของโบราณอย่างใด แสดงว่าเป็นเมืองรัฐบาลตั้งมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าเหตุที่จะเกิดเมืองหล่มเก่า เห็นจะเป็นด้วยพวกราษฎรที่หลบหนีภัยอันตรายในประเทศลานช้าง มาตั้งซ่องมั่วสุมกันอยู่ก่อน แต่เป็นที่ดินดีมีน้ำบริบูรณ์ เหมาะแก่การทำเรือกสวนไร่นาและเลี้ยงโคกระบือ จึงมีผู้คนตามมาอยู่มากขึ้นโดยลำดับจนเป็นเมือง แต่เป็นเมืองมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เมืองลุ่ม” ชั้นหลังมาจึงเรียกว่า “เมืองหล่ม” ก็หมายความอย่างเดียวกัน แต่เมืองหล่มสักเป็นเมืองตั้งใหม่ในชั้นหลัง เข้าใจว่าเพิ่งตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพื่อจะให้สะดวกแก่การคมนาคม จึงมาตั้งเมืองที่ริมลำน้ำสัก และเอาชื่อลำน้ำเพิ่มเข้าเรียกว่า “เมืองหล่มสัก” ให้ผิดกับเมืองหล่มเดิม แต่เหตุใดลำน้ำจึงชื่อว่า “ลำน้ำสัก” หรือ “ลำน้ำป่าสัก” ข้อนี้ฉันสืบสวนไม่ได้ความ สิ่งสำคัญอันใดที่มีคำว่า “สัก” เป็นชื่อหรือป่าไม้สักทางนั้นก็ไม่มี ต้องยอมจน

เดิมฉันคิดว่าขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำน้ำสักลงมาจนถึงเมืองสระบุรี แต่น้ำลดเสียมากแล้ว จะลงเรือมาแต่เมืองหล่มสักไม่ได้ จึงต้องเดินบกย้อนกลับมาลงเรือที่เมืองเพชรบูรณ์ ฉันสั่งให้ส่งเรือมาดเก๋ง ๖ แจว ขนาดย่อม ขึ้นไปรับสำหรับตัวฉันจะมาเองลำหนึ่ง เรือสำหรับผู้อื่นจะมา ฉันให้หาซื้อเรือพายม้า ๒ แจวที่ใช้กันในเมืองเพชรบูรณ์ ทำประทุนเป็นที่อาศัยให้มาลำละคนหนึ่งบ้าง สองคนบ้างจนครบตัวกัน

(๖)

ฉันลงเรือล่องจากเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ลำน้ำที่เมืองเพชรบูรณ์แคบกว่าตอนใต้ในแขวงสระบุรีมาก ที่บางแห่งเมื่อเรือล่องลงมาถึงปลายกิ่ง ต้นตะไคร้น้ำที่ขึ้นอยู่กับหาดประเก๋งเรือทั้งสองข้าง น้ำก็ตื้น ฤดูแล้งใช้เรือได้แต่ขนาดเรือพายม้า พอพ้นที่ตั้งเมืองลงมาทั้งสองฝั่งเป็นป่าต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง และต้นสะตือ ขึ้นทึบบังแสงแดดร่มทั้งเวลาเช้าและบ่าย มีบ้านคนตั้งประปรายมาเพียงบ้านนายม ต่อนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวลงมาทางหลายวัน ในระยะที่เปลี่ยวนั้นล่องเรือลำบาก ด้วยตามปรกติเมื่อถึงฤดูฝนน้ำหลาก สายน้ำแรงมักกัดตลิ่งพัง เป็นเหตุให้ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงในลำน้ำกีดขวางทางเรือ บางต้นล้มข้ามลำน้ำเหมือนอย่างสะพาน เรือลอดมาได้ก็มี บางต้นล้มทอดอยู่ในท้องน้ำ ต้องเข็นเรือข้ามมาก็มี บางต้นจะลอดหรือจะเข็นเรือข้ามไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน ต้องขุดดินหรือชายตลิ่งพอเป็นช่องให้เรือหลีกมาทางโคนต้นไม้ก็มี โดยปรกติไม่มีใครไปจับต้อง ทิ้งไว้จนสายน้ำหลากปีหลังพัดพาขอนไม้ให้ลอยไป หรือทิ้งอยู่จนผุไปเอง เมื่อฉันไป พวกเมืองเพชรบูรณ์เขาล่วงหน้าลงมาถากถางทางบ้างแล้ว แต่กระนั้นต้นไม้ที่โค่นกีดขวางบางต้นใหญ่โต เหลือกำลังที่พวกทำทางจะตัดทอนชักลากเอาไปทิ้งที่อื่นได้ จึงต้องเข็นหรือข้ามหรือหลีกขอนไม้มา ไม่รู้ว่าวันละสักกี่ครั้ง เป็นความลำบาก และชวนให้ท้อใจในการล่องลำน้ำสักยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่ต้องนึกชมความคิดของคนโบราณที่เขาคิดทำเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า ใช้ในที่เช่นนั้น เพราะท้องเรือมาดเป็นไม้หนา ถึงจะเข็นลากลู่ถูกังอย่างไรก็ทนได้ ที่ขึ้นกระดานต่อขึ้นมา ๒ ข้างก็ทำให้เรือเบา บรรทุกได้จุกว่าเรือมาดทั้งลำ เป็นของคิดถูกตามวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรือต่อเช่นเรือบดหรือเรือสำปั้น ก็เห็นจะแตกป่นล่องลำน้ำสักลงมาไม่ได้ตลอด เมื่อก่อนไปมณฑลเพชรบูรณ์ฉันเคยเห็นเรือมอขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าเมืองเพชรบูรณ์ลงมาขายถึงกรุงเทพฯ เสมอทุกปี เมื่อต้องไปเข็นเรือข้ามขอนดังกล่าวมาแล้ว คิดไม่เห็นว่าเรือใหญ่ที่บรรทุกสินค้าจะล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ถามพวกชาวเมืองเพชรบูรณ์ เขาบอกว่าเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นล่องทางลำแม่น้ำสักตลอด ประเพณีของพวกพ่อค้าเมื่อใกล้จะถึงเวลาน้ำหลาก เขาบรรทุกสินค้าลงเรือเตรียมไว้ พอน้ำท่วมฝั่งก็ล่องเรือหลีกลำน้ำสักตอนมีไม้ล้มกีดขวาง ไปตามที่ลุ่มที่น้ำท่วมบนตลิ่ง จนถึงที่กว้างพ้นเครื่องกีดขวาง จึงล่องทางลำน้ำสัก เมื่อส่งสินค้าแล้วก็รีบซื้อของในกรุงเทพฯ บรรทุกกลับขึ้นไปให้ทันในฤดูน้ำ พอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็เอาเรือขึ้นคาน เรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องแต่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากต้นไม้ล้มกีดขวางทางเดินเรือดังกล่าวมา ยังมีแก่งต้องชะลอเรือหลีกหินมาเนืองๆ แม่น้ำสักตอนข้างเหนือยังผิดกับล้ำน้ำอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ทางเปลี่ยวเป็นอย่างยิ่ง บางวันฉันถามคนทำทางว่า “นี่เรามาถึงไหนแล้ว” แกตอบว่า “ที่ตรงนี้ยังไม่เคยมีชื่อ” วันหนึ่งแกบอกว่า “พรุ่งนี้จะถึงท่าแดง” ฉันก็เข้าใจว่าคงจะได้เห็นบ้านเรือน แต่เมื่อไปถึงท่าแดงเห็นแต่ไร่อยู่ที่ชายตลิ่งแห่งหนึ่ง แต่ตัวเจ้าของไร่ขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ ถามได้ความว่าบ้านอยู่ห่างลำน้ำไปสักวันหนึ่ง มาตั้งทำไร่ชั่วคราว ไม่กล้าปลูกทับกระท่อมอยู่กับแผ่นดิน ด้วยกลัวเสือจึงขัดห้างอยู่บนกอไผ่ สัตว์ป่าก็ชุมจริงอย่างว่า จอดเรือเข้าแห่งใด ตามชายตลิ่งก็เห็นรอยสัตว์ป่าเกลื่อนกล่น มีทั้งรอยช้างเถื่อน รอยเสือ รอยกวางและหมูป่า เพราะตอนนี้เทือกภูเขาห่างทั้งสองฝ่าย ถึงฤดูแล้งที่แผ่นดินแห้งผากไม่มีน้ำ สัตว์ป่าต้องลงมากินน้ำในลำน้ำสัก ลำน้ำสักตอนนี้ก็เป็นที่เปลี่ยว ไม่มีคนไปมาเบียดเบียน สัตว์ป่าจึงชอบมาอาศัยในฤดูแล้ง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ลำแม่น้ำสักข้างตอนใต้ในแขวงเมืองสระบุรี ไม่ปรากฏว่ามีจระเข้ แต่ในตอนเปลี่ยวมีจระเข้ชุม เห็นรอยตามตลิ่งเกลื่อนไป

การล่องลำแม่น้ำสักตอนเหนือถึงลำบากก็สนุก สนุกตั้งแต่ลงเรือเล็กๆ แยกกันลำละคนสองคน แล่นเรียงเคียงคลอล้อเล่นกันเรื่อยมา แต่หลายวันเข้าก็เกิดไม่สบาย ด้วยอยู่ในเรือได้แต่นอนกับนั่งราบมา ๒ ท่าตลอดวันยังค่ำ จนเมื่อยขบและปวดหัวเข่า บางคนบ่นว่าเหมือนกับมาในโลง ต่างคนก็คิดอุบายแก้เมื่อยขบด้วยประการต่างๆ บางคนเห็นตรงไหนพอจะเดินได้ ก็ขึ้นเดินบก บางคนก็ออกไปรับผลัดแจวเรือ บางคนก็เจาะหลังคาประทุนเรือเป็นช่องมีฝาจับโพล่ปิด ถึงเวลาแดดร่มเปิดฝาจับโพล่ยืนโผล่ขึ้นไปดูอะไรต่ออะไรเล่น และดัดขาแก้ปวดหัวเข่าก็มี ส่วนตัวฉันเองมาในเรือเก๋ง มีที่กว้างและมีช่องหน้าต่างพอเยี่ยมมองดูอะไรๆ ได้ ไม่ปิดทึบเป็นโลงเหมือนเรือประทุน ถึงกระนั้นพอถึงวันที่ ๓ ก็รู้สึกเมื่อย ให้เอาเก้าอี้ผ้าใบมาตั้งนอนเอนหลังและห้อยขาแก้เมื่อยได้บ้าง แต่เวลาเผลอตัวผลกหัวขึ้น ก็โดนเพดานเก๋งเจ็บหลายหน ล่องเรือมาทางลำแม่น้ำสักยังมีแปลกอีกอย่างหนึ่ง ด้วยกำหนดที่พักแรมล่วงหน้าไม่ได้เหมือนเช่นไปทางลำน้ำอื่นๆ เพราะต้องเสียเวลาเข็นเรือข้ามขอนวันละหลายๆ ครั้ง ไม่รู้ว่าวันไหนจะไปได้จนถึงไหน ทางก็เปลี่ยว บ้านช่องผู้คนก็ไม่มีจะเป็นที่อาศัยพักแรม จึงต้องเอาแสงตะวันเป็นหลักล่องลงมาพอถึงเวลาราวบ่าย ๔ โมง ก็มองหาชายตลิ่งที่เป็นหาดพอจะจอดเรือพักแรมได้ จอดแล้วพอพลบค่ำก็ต้องกองไฟรายล้อม ให้บรรดาคนที่ไปด้วยกันอยู่แต่ในวงกองไฟ เพราะไม่รู้ว่าสัตว์ป่ามันจะอยู่ที่ไหน ครั้งนั้นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิส) เมื่อยังเป็นพระยาสระบุรี คุมเรือขึ้นไปรับฉันที่เมืองเพชรบูรณ์ แกไปเล่าว่าไปกลางทางเวลากลางคืน มีสัตว์อะไรอย่างหนึ่งได้ยินแต่เสียงร้อง “ป๊อกเจี๋ยกๆ” มันมาเที่ยวเลาะอยู่รอบกองไฟ จนพวกคนแจวเรือพากันกลัวอ้ายตัวป๊อกเจี๋ยก เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอะไร แต่เมื่อฉันลงมาหาได้ยินเสียงสัตว์อย่างใดไม่ พวกที่มาด้วยกันเฝ้าเตือนถึงตัวป๊อกเจี๋ยก จนพระยาวจีฯ ออกเคือง แต่ก็ยืนยันว่ามีตัวป๊อกเจี๋ยกอยู่เสมอ จนเลยเป็นเรื่องขบขัน แต่ลำแม่น้ำสักตอนที่เปลี่ยวนี้ ถ้าว่าในทางชมดงก็น่าชมนัก เพราะสง่างามตามธรรมชาติ จะหาที่อื่นเปรียบได้โดยยาก เวลามาในเรือจะแลดูไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้ป่าต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยสลับสลอนซ้อนซับกันไปรอบข้าง บนยอดไม้ก็มีนกพวกอยู่ป่าสูงเช่นนกยูงเป็นต้น จับอยู่ให้เห็นแทบทุกวัน และยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นตัวบ่าง รูปร่างคล้ายกระรอกแต่ขนาดสักเท่าแมว มันยืดหนังระหว่างขาออกไปได้เป็นผืน เวลาโผนจากต้นไม้มันกางขายืดหนังแผ่ออกไปเช่นปะระชุดเครื่องบิน ร่อนไปได้ไกลๆ ฉันเพิ่งได้เห็นบ่างร่อนเป็นครั้งแรก ได้ชมนกชมไม้ก็ออกเพลิดเพลินเจริญใจ นับว่าสนุกได้อีกอย่างหนึ่ง

ล่องเรือมาจากเพชรบูรณ์ ๖ วันถึงเมืองวิเชียร ตอนใกล้จะถึงเมืองวิเชียรพ้นที่เปลี่ยว ลำแม่น้ำสักค่อยกว้างออก แก่งก็ค่อยห่าง ยังมีแต่ขอนไม้กีดขวางทางเรือเป็นแห่งๆ แต่น้ำตื้นแจวเรือไม่ถนัดต้องใช้ถ่อจนถึงเมืองวิเชียร เมืองวิเชียรนั้นตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เดิมเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีเรื่องตำนานจะเล่าต่อไปข้างหน้า เขตแดนกว้างขวางกว่าเมืองเพชรบูรณ์แต่เป็นเมืองกันดาร เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างที่แผ่นดินดอน ไม่มีลำห้วยพอจะชักน้ำมาทำการเพาะปลูกได้เหมือนเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ได้แต่ทำนาน้ำฝนหรือทำในที่ลุ่มใกล้ลำน้ำสัก อาหารการกินอัตคัด บ้านเมืองจึงไม่เจริญ ตัวเมืองวิเชียรตั้งอยู่ห่างลำน้ำสัก ๒๐ เส้น ด้วยตอนริมน้ำเป็นที่ต่ำน้ำท่วมในฤดูฝน แลดูเหมือนกับหมู่บ้านไม่เป็นเมืองมีสง่าราศี เพราะเป็นเมืองกันดารดังกล่าวมาแล้ว เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์จึงลดเมืองวิเชียรลงเป็นแต่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ออกจากเมืองวิเชียร ล่องเรือมา ๓ วันถึงเมืองบัวชุม แต่เมืองบัวชุมมาวันหนึ่งถึงเมืองชัยบาดาล ลำน้ำสักตอนนี้กว้างแจวเรือได้ถนัด ขอนไม้ที่กีดขวางทางเรือก็มีน้อยกว่าข้างเหนือ แต่ต้องหลีกแก่งกรวดแก่งหินถี่ขึ้น เมืองบัวชุมและเมืองชัยบาดาลเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหากเรียกว่าอำเภอชัยบาดาล ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้คนมีมากกว่าอำเภอวิเชียร ตั้งบ้านเรือนตามริมน้ำเป็นระยะมาตลอด ไม่เปลี่ยวเหมือนข้างเหนือ เพราะตอนนี้เทือกภูเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำสักทั้งสองฝ่าย ท้องที่มีน้ำห้วยทำไร่นาดี และเป็นปากดงพญากลาง ทางคนไปมาค้าขายกับเมืองนครราชสีมา มีสินค้าหาได้ในท้องที่เช่นเสาและไม้แดง ใบลาน สีเสียด หาผลประโยชน์ได้มาก และอาจส่งสินค้าลงมาทางเรือถึงเมืองสระบุรีได้สะดวกกว่าเมืองอื่นทางข้างเหนือด้วย ออกจากเมืองชัยบาดาลล่องมา ๔ วันก็ถึงปากเพรียวที่ตั้งเมืองสระบุรี นับจำนวนวันที่ล่องลำน้ำสักแต่เมืองเพชรบูรณ์ จนถึงที่ขึ้นรถไฟ ณ เมืองสระบุรีรวม ๑๔ วัน

ฉันเคยตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสทางลำแม่น้ำสัก ขึ้นไปจนถึงตำบลหินซ้อนปลายแดนจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ตรวจทางเสด็จประพาสครั้งนั้น ท่านว่าลำน้ำสักเที่ยวสนุกเพียงตำบลหินซ้อนเท่านั้น เหนือหินซ้อนขึ้นไปไม่มีอะไรน่าดู ฉันสงสัยไม่เชื่อจนมาเห็นด้วยตาตนเองในครั้งนี้ ต้องยอมรับรองว่าจริงดังว่า เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายลำน้ำสักวงเข้ามาประจบกันถึงลำน้ำที่ตำบลหินซ้อน ข้างฝ่ายตะวันออกเรียกกันว่าเทือกเขาดงพญาไฟ ข้างฝ่ายตะวันตกเรียกกันว่าเทือกเขาพระบาท ลำแม่น้ำสักผ่านมากลางภูเขา ตั้งแต่หินซ้อนจนถึงแก่งคอย ทั้งสองฝั่งจึงมีเขาตกน้ำถ้ำธาร ที่ขึ้นเที่ยวเล่นสนุกตลอดทางเรือขึ้นไป ๓ วัน เหนือนั้นขึ้นไปก็ไม่มีอะไรน่าชม

(๗)

ฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น มีกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะไปสืบเมืองโบราณด้วย ด้วยเมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง มีชื่อเมืองศรีเทพเมืองหนึ่ง แต่ตัวเมืองหามีไม่ ฉันถามข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่าง กะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ ๒ ตามหัวเมืองเป็นทางๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ก็ได้เค้าว่าเมืองศรีเทพเห็นจะอยู่ทางลำแม่น้ำสัก แต่อยู่ตรงไหนยังไม่รู้ เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ให้หาผู้ชำนาญท้องที่มาถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ทางลำแม่น้ำสักที่ไหนบ้าง ได้ความว่าข้างเหนือเมืองเพชรบูรณ์ทางฝั่งตะวันออกมีเมืองโบราณเมืองหนึ่งเรียกกันว่า “เมืองนครเดิด” แต่อยู่ในดงทึบ ยังมีแต่เทือกเนินดินเป็นแนวกำแพงและมีสระอยู่ในเมืองสระหนึ่งเรียกว่า “สระคงคา” บางคนได้เคยไปพบหัวยักษ์ทำด้วยหิน พอเชื่อได้ว่าเป็นเมืองพวกขอมสร้างไว้แต่ฉันไม่ได้ไปดู เขาบอกว่ามีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งใหญ่โตมาก ชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี” อยู่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรีและอยู่ในป่าแดงไปถึงได้ไม่ยาก เมืองนั้นยังมีปรางค์ปราสาทเหลืออยู่ ฉันอยากดูจึงสั่งให้เอาม้าลงมาคอยรับที่เมืองวิเชียร เมื่อฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทราบว่าพระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแก่ชราลาออกจากราชการนานมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุพพลภาพไม่สามารถจะมาหาได้ ฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามถึงเรื่องเมืองศรีเทพ ได้ความว่าเมืองวิเชียรนั้นเอง แต่โบราณเรียกชื่อเป็น ๒ อย่าง เมืองท่าโรงก็เรียก เมืองศรีเทพก็เรียก ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่พระศรีถมอรัตน (ตามชื่อเขาแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในจังหวัดนั้น) มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตนมีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี (คงเอาชื่อเขาแก้วเป็นนิมิต) และเปลี่ยนนามผู้ว่าราชการจังหวัดจากพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา ถามแกต่อไปถึงเรื่องเมืองอภัยสาลี แกบอกว่ามีเมืองโบราณใหญ่โตจริง แต่ชื่อที่เรียกว่าเมืองอภัยสาลีนั้นเป็นแต่คำพระธุดงค์บอก จะเอาเป็นแน่ไม่ได้ เป็นอันได้ความตามที่อยากรู้เรื่องตำนานเมืองศรีเทพ ถ้าหากพระยาประเสริฐสงครามไม่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องก็น่าจะเลยสูญ

ฉันล่องเรือจากเมืองวิเชียรมาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส และสิ่งซึ่งน่าดูในเมืองนั้น แต่คนเหล่านั้นต่างคนพากันปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จนออกประหลาดใจ ฉันคิดใคร่ครวญดูเห็นว่าคนพวกนั้นไม่เคยพบเจ้านาย และไม่เคยได้ยินใครซักไซ้ไถ่ถามเช่นนั้นมาแต่ก่อน น่าจะเข้าใจตามประสาของเขา ว่าฉันคงได้ลายแทงปริศนามาขุดทรัพย์แผ่นดิน ถ้าพาไปไม่ได้ทรัพย์ก็จะถูกลงโทษ จึงบอกปัดเสียให้พ้นภัย ต้องพูดจาชี้แจงอยู่นานจนคนเหล่านั้นวางใจ จึงบอกออกความตามรู้เห็นและรับจะพาไปตามประสงค์ ฉันพักแรมอยู่คืนหนึ่งพอรุ่งเช้าก็ไปดูเมืองโบราณ ระยะทางห่างลำน้ำราว ๑๕๐ เส้น เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง ๒ ชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลกๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน พวกชาวบ้านนำไปให้ฉันเห็นสิ่งใดชอบใจ ฉันก็ให้เงินเป็นรางวัลแก่ผู้นำ ถ้าเป็นของขนาดย่อม พอจะส่งลงมากรุงเทพฯ ได้ ก็ให้นายอำเภอเอามารวมไว้แล้วส่งตามลงมาเมื่อภายหลัง วิธีให้เงินรางวัลแก่ผู้นำมีผลดีมาก พวกชาวบ้านบอกให้เองไม่ต้องถาม แม้จนเมื่อฉันกลับมาลงเรือแล้ว ก็ยังมีคนตามมาบอกว่ายังมีรูปศิลาจำหลักอยู่ที่นั่นๆ ข้างนอกเมือง ที่ฉันไม่ได้ไปถึงอีกหลายอย่าง ได้เครื่องศิลามาหลายสิ่ง เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน มีส่ิงหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึง ด้วยเป็นของสำคัญทางโบราณคดีไม่เคยพบที่อื่น คือ “หลักเมือง” ทำด้วยศิลาเป็นรูปตะปูหัวเห็ด ทำรอยฝังปลายตะปูลงในแผ่นดิน เอาแต่หัวเห็ดไว้ข้างบน จารึกอักษรเป็นภาษาสันสกฤตไว้ที่หัวเห็ด เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลักเมืองตามแบบโบราณ เขาทำอย่างไร

เมื่อดูเมืองโบราณนั้นแล้ว อาจจะลงความเห็นเป็นยุติได้สองอย่าง อย่างที่หนึ่ง เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า “เมืองศรีเทพ” เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้ อย่างที่สอง ในสมัยเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทย เมืองศรีเทพคงเป็นมหานครอันหนึ่ง ชั้นเดียวกันกับเมืองที่ดงศรีมหาโพธิ (ในแขวงจังหวัดปราจีน) และเมืองสุโขทัย และในสมัยนั้นท้องที่คงจะทำไร่นาได้ผลอุดมดีมีไพร่บ้านพลเมืองมาก จึงสามารถสร้างเป็นเมืองใหญ่โตถึงปานนั้น ทำเลที่เมืองวิเชียร เพิ่งมาเกิดแห้งแล้งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อภายหลัง จึงเป็นเมืองเล็กลงเพราะอัตคัด ถึงกระนั้นปรากฏในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองศรีเทพ (ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองศรีถมอรัตน) กับเมืองชัยบาดาล (เอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองชัยบุรี) เป็นคู่กัน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๐ ในเวลากรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังด้วยแพ้ศึกหงสาวดีใหม่ๆ พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชาให้ทศโยธายกกองทัพมาทางเมืองนครราชสีมาจะมาตีหัวเมืองชั้นในทางตะวันออก เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระปิตุราชอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา โปรดให้พระศรีถมอรัตนกับพระชัยบุรี (เจ้าเมืองชัยบาดาล) คุมพลไปซุ่ม (อยู่ในดงพญากลาง) และสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาลยกกองทัพตี ตีกองทัพเขมรแตกฉานพ่ายหนีไปหมด ต่อนั้นมาก็ปรากฏตามคำของพระยาประเสริฐสงคราม ว่าเมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนนามเมืองศรีเทพเป็นเมืองวิเชียรบุรี ยกศักดิ์ขึ้นเป็นเมืองตรี คือรวมเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุมเข้าเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เป็นเช่นนั้นมาจนเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาล ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อฉันลงมาถึงเมืองชัยบาดาล ไปเห็นศิลาจำหลักเป็นตัวเครื่องบนปรางค์ขอม ทิ้งอยู่ที่วัดสองสามชิ้น ถามเขาว่าได้มาจากที่ไหน เขาบอกว่าเอามาจากปรางค์หินที่ตำบลซับจำปาในดงพญากลาง ก็เป็นอันได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่ามีเมืองหรือวัดขอม อยู่ในดงพญากลางอีกแห่งหนึ่ง แต่ฉันหาไปดูไม่ สิ้นเรื่องตรวจของโบราณในมณฑลเพชรบูรณ์เพียงเท่านี้

ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รวมเวลาที่ไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น ๓๖ วัน พอรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปเฝ้าฯ วันนั้นมีการพระราชพิธีเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการเฝ้าอยู่พร้อมกัน เมื่อเสร็จการพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงพระราชดำเนินมายังที่ฉันยืนเฝ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระหัตถ์มาจับมือฉัน ดำรัสว่า ทรงยินดีที่ฉันได้ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ แล้วตรัสถามว่ามีใครไปเจ็บไข้บ้างหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ หามีใครเจ็บไข้ไม่ แล้วจึงเสด็จขึ้น ฉันรู้สึกว่าได้พระราชทานบำเหน็จพิเศษ ชื่นใจคุ้มค่าเหนื่อย ว่าถึงประโยชน์ของการที่ไปครั้งนั้นก็ได้สมประสงค์ เพราะแต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง

 


นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง

(๑)

หอหลวง เป็นที่เก็บรักษาหนังสือซึ่งเป็นแบบฉบับ ตำรับตำราและจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง (ที่เรียกว่า “หอหลวง” เห็นจะเป็นคำย่อมาแต่ “หอหนังสือหลวง”) มีในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มีหอหลวงอยู่ที่ในพระราชวังเช่นเดียวกัน ฉันเคยเห็นเป็นตึกชั้นเดียวหลังหนึ่ง อยู่ริมถนนตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยังมีรูปภาพตึกนั้นเขียนไว้ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐฯ (ห้องที่เขียนการพิธีทำขนมเบื้องเลี้ยงพระ) อาลักษณ์เป็นพนักงานรักษาหนังสือหอหลวง จึงทำการของกรมอาลักษณ์ที่ตึกนั้นด้วย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกตึกนั้นว่า “ห้องอาลักษณ์” ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๕ (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดให้รื้อตึกหอหลวงกับตึกสำหรับราชการกรมอื่นๆ ที่รายเรียงอยู่แถวเดียวกันลง เพื่อจะสร้างใหม่ให้งามสมกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ในเวลารื้อตึกสร้างใหม่นั้น จำต้องย้ายของต่างๆ อันเคยอยู่ในตึกแถวนั้นไปไว้ที่อื่น สมัยนั้นกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ หาที่อื่นเก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้ จึงให้ขนเอาไปรักษาไว้ที่วังของท่านอันอยู่ต่อเขตวัดพระเชตุพนฯ ไปข้างใต้ หนังสือหอหลวงก็ไปอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่นั้นมาหลายปี

(๒)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ เรียกกันในสมัยนั้นตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊กซหิบิเชน” สร้างโรงชั่วคราวเป็นบริเวณใหญ่ในท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดความรู้และความคิด กับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้อง และเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น เรื่องประวัติของนายกุหลาบคนนี้กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า “เสมียนกุหลาบ” ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่นหมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆ ที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดแต่ในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น ก็การแสดงพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนดูอยู่นาน นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวัน เพราะห้องอยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจ จึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวง ก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือ เตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่ไปรับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ

นายเมธนั้นมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เมธะ” และมีสร้อยชื่อต่อไปยาว เป็นบุตรของจ่าอัศวราช จ่าอัศวราชตั้งชื่อลูกเป็นบทกลอนอย่างแปลกประหลาด ฉันยังจำได้ จึงจดฝากไว้ให้ผู้อื่นรู้ด้วยในที่นี้

๑. อาทิก่อน แม่ “กลีบ” เรนู

๒. เมธะ แปลว่ารู้ นาย “เมธ” ปะสิมา

๓. “กวี” ปรีชา ปิยบุตรที่สาม

๔. “ฉวี” ผิวงาม บุตรแม่พริ้มแรกเกิด

๕. “วรา” ประเสริฐ ที่สองงามสม

๖. “กำดัด” ทรามชม กัลยาลำยอง

๗. “สาโรช” บัวทอง พิศพักตร์ประไพ

 

๘. “สุมน” สุมาลัย เยาวลักษณ์นารี

๙. “บรม” แปลว่ามี ปรมังลาภา

๑๐. “ลิขิต” เลขา บุตร บุตรพัลลภ

๑๑. “สุพรรณ” วรนพ พคุณสริรา

ที่เรียกกันแต่ตามคำที่หมาย “… ……” ไว้ ลูกผู้ชายรู้หนังสือไทยดีทุกคน

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกทหารมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัด ก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกแต่ที่รีบคัดให้หมดเล่มในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน ตัวฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ในสมัยนั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้วเกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับขึ้นใหม่ จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

(๓)

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทย ที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวง ลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดี และมีตำรับตำรามาก แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่นายกุหลาบให้พิมพ์นั้น มีผู้ชำนาญวรรณคดีสังเกตเห็นว่ามีสำนวนแทรกใหม่ปนอยู่ในนั้น แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงทรงปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตอนพิธีถือน้ำ ว่า “แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด(ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน จนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจ เหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเอง ก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงๆ จะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของซึ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด” ดังนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวน เพราะไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหน และต้นฉบับเดิมถ้อยคำสำนวนเป็นอย่างไร จนมาถึงรัชกาลที่ ๖ ในเวลาฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นสมุดไทยมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อีกฉบับหนึ่ง เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ” และมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย ก็เป็นอันได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ เมื่อนายกุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ประจวบกับเวลาตั้งกรมโปลิสท้องน้ำ ซึ่งโปรดให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำและมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตา จึงเอามาตั้งเป็น “แอดชุแตนต์” (ยศเสมอนายร้อยเอก) ในกรมโปลิสท้องน้ำ นายกุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา

(๔)

สมัยนั้นหอพระสมุดวชิรญาณเพิ่งแรกตั้ง (ชั้นเมื่อยังเป็นหอพระสมุดของพระโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมกันเป็นเจ้าของ) นายกุหลาบขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่านายกุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ตามประสงค์ ตั้งแต่นายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีแก่ใจให้หนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้ลักคัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลงเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันเป็นกรรมการหอพระสมุดฯ ก็ไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ เป็นแต่พิจารณาดูหนังสือที่นายกุหลาบให้หอพระสมุดฯ เห็นแปลกที่เป็นสำนวนเก่าแกมใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่อง ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ (ฟัก) และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น อันจะสืบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเอง จึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนที่เป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯ จึงตรัสเรียกหนังสือพวกนั้นว่า “หนังสือกุ” เพราะจะว่าแท้จริงหรือว่าเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน กรมพระสมมตฯ ใคร่จะทอดพระเนตรหนังสือพวกนั้นให้หมด จึงทรงผูกพันทางไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนอย่างไม่รู้เท่า นายกุหลาบเข้าใจว่ากรมพระสมมตอมรพันธ์ทรงนับถือ ก็เอาหนังสือฉบับที่ทำขึ้นมาถวายทอดพระเนตร จนถึงพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนรัชกาลที่ ๓) ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ก็หนังสือเรื่องนั้นเป็นหนังสือแต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๕ สำเนาฉบับเดิมมีอยู่ในหอพระสมุดฯ เมื่อได้ฉบับของนายกุหลาบมา เอาสอบกับฉบับเดิม ก็จับได้ว่านายกุหลาบแทรกลงตรงไหนๆ บ้าง กรมพระสมมตฯ กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้ทรงทราบ ดำรัสเรียกเอาไปทอดพระเนตร ทรงจับได้ต่อไปว่าความที่แทรกนั้นนายกุหลาบคัดเอามาจากหนังสือเรื่องไหนๆ ก็เป็นอันรู้ได้แน่ชัด ว่าที่หนังสือฉบับนายกุหลาบผิดกับฉบับเดิม เป็นเพราะนายกุหลาบแก้ไขแทรกลงทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรง “มันไส้” ถึงเขียนลายพระราชหัตถเลขาลงในต้นฉบับของนายกุหลาบ ทรงชี้ให้เห็นตรงที่แทรกบ้าง บางแห่งก็ทรงเขียนเป็นคำล้อเลียน หรือคำบริภาษแทรกลงบ้าง แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ กรมพระสมมตฯ ต้องให้อาลักษณ์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นใหม่ส่งคืนไปให้เจ้าของ เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัตถเลขารักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณจนบัดนี้.

(๕)

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนต์) โปลิสท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสาร เรียกชื่อว่า “สยามประเภท” เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ “วชิรญาณ” ทำเป็นเล่มสมุดออกขายเป็นรายเดือน เอาเรื่องต่างๆ ที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้น พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท และเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯ นั้น มิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือนายกุหลาบ ถึงเรียกกันว่า “อาจารย์กุหลาบ” ก็มี ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อนายกุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง ก็ต้องแต่งเรื่องต่างๆ แต่โดยเดาขึ้นในหนังสือสยามประเภท แต่อ้างว่าเป็นเรื่องพงศาวดารแท้จริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใดๆ จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย ตอนเมื่อจะเสียแก่กรุงศรีอยุธยาพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกส” สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกส” เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริง ก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า ไปแปลงเป็นพระปิ่นเกสและพระจุลปิ่นเกส เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย ถึง ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็แต่งอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยาในหนังสือสยามประเภท เป็นที่ว่างานพระเมรุที่ทำครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผน และอ้างว่าตัวมีตำราเดิมอยู่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ข้าหลวงเรียกนายกุหลาบมาถาม ก็รับสารภาพว่าเป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น หามีตำรับตำราอย่างอ้างไม่ ครั้งนี้เป็นแต่โปรดให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมปีนั้น หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใดไม่ นายกุหลาบก็ไม่เข็ด พอถึงงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ร.ศ. ๑๑๙ นั่นเอง นายกุหลาบแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง อ้างว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับแจก คราวนี้อวดหลักฐานเรื่องต่างๆ ที่ตนกล่าวอ้าง ว่าล้วนได้มาจากนักปราชญ์ซึ่งทรงเกียรติคุณ คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ โดยเฉพาะ เพราะตนได้เคยเป็นสัทธิงวิหาริก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำริว่าถ้าเฉยอยู่ นายกุหลาบจะพาให้คนหลงเชื่อเรื่องพงศาวดารเท็จที่นายกุหลาบแต่งมากไป จึงโปรดให้มีกรรมการ ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น) เป็นประธานสอบสวน ก็ได้ความตามคำสารภาพของนายกุหลาบเอง กับทั้งคำพยาน ว่าหนังสือพงศาวดารที่นายกุหลาบแต่ง และคำอ้างอวดของนายกุหลาบ ที่ว่าเคยเป็นศิษย์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นความเท็จ ครั้งนี้ก็เป็นแต่โปรดให้ประกาศรายงานกรรมการ มิให้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด สำนวนการไต่สวนครั้งนั้น หอพระสมุดฯ พิมพ์เป็นเล่มสมุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังปรากฏอยู่

ต่อมาเมื่อนายกุหลาบหมดทุนที่จะออกหนังสือสยามประเภทต่อไปแล้ว ไปเช่าตึกแถวอยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงวัดราชบพิธฯ เป็นแต่ยังรับเป็นที่ปรึกษาของคนหาความรู้ เช่นผู้ที่อยากรู้ว่าสกุลของตนจะสืบชั้นบรรพบุรุษถอยหลังขึ้นไปถึงไหน ไปไถ่ถาม นายกุหลาบก็รับค้นคิดสมมตขึ้นไปให้เกี่ยวดองกับผู้มีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีคนนับหน้าถือตา ว่ามีความรู้มากอยู่ไม่ขาด ถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) นายกุหลาบยัง “พ่นพิษ” อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยเมื่อมีหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว จะเอามาเล่าเสียด้วยให้เสร็จไปในตอนนี้ เพราะเกี่ยวกับประวัติหนังสือหอหลวงด้วย วันหนึ่งฉันไปหอพระสมุดฯ เห็นใบปลิวซึ่งนายกุหลาบพิมพ์โฆษณาส่งมาให้หอพระสมุดฯ ฉบับหนึ่ง อวดว่าได้ต้นหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยามาเล่มหนึ่ง และหนังสือนั้นเขียนเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ มีตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ประทับเป็นสำคัญ ถ้าใครไม่เชื่อจะไปพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตาตนเองก็ได้

ความประสงค์ของนายกุหลาบที่โฆษณา ดูเหมือนจะใคร่ขายหนังสือนั้น แต่ตามคำโฆษณามีพิรุธเป็นข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยตามปฏิทินจุลศักราช ๑๐๖๖ เป็นปีวอก มิใช่ปีชวดดังนายกุหลาบอ้าง เวลานั้นฉันเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร คิดสงสัย จึงกระซิบสั่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ให้ไปขอดูเหมือนอย่างตัวอยากรู้เห็นเอง พระยาปริยัติฯ กลับมาบอกว่าหนังสือกฎหมายที่นายกุหลาบได้ไว้นั้นเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก ดูเป็นของเก่ามีตราประทับ ๓ ดวง และมีกาลกำหนดว่าปีชวดจุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงตามนายกุหลาบอ้าง แต่พระยาปริยัติฯ สังเกตดูตัวเลขที่เขียนศักราช ตรงตัว ๐ ดูเหมือนมีรอยขูดแก้ ฉันได้ฟังก็แน่ใจว่านายกุหลาบได้สมุดกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ไปจากที่ไหนแห่งหนึ่ง ซึ่งในบานแผนกมีกาลกำหนดว่า “ปีชวด ศักราช ๑๑๖๖” นายกุหลาบขูดแก้เลข ๑ ที่เรือนร้อยเขียนแปลงเป็น ๐ ปลอมศักราชถอยหลังขึ้นไป ๑๐๐ ปี ด้วยไม่รู้ว่าจุลศักราช ๑๐๖๖ นั้นเป็นปีวอก มิใช่ปีชวด ปล่อยคำ “ปีชวด” ไว้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่ต้นฉบับกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังอ้างในคำโฆษณา ฉันกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งเคยเป็นหมอความนายกุหลาบมาแต่ก่อน ให้ไปเรียกสมุดกฎหมายเล่มนั้นถวายทอดพระเนตร เจ้าพระยาอภัยราชาได้ไปถวายในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเปิดออกทอดพระเนตรตรัสว่า “ไหนว่าศักราช ๑๐๖๖ อย่างไรจึงเป็น ๑๑๖๖” เจ้าพระยาอภัยราชาก็ตกใจ กราบทูลเล่าถวายว่าเมื่อตอนเช้าวันนั้นจะไปศาลากระทรวงนครบาล เมื่อผ่านหน้าห้องแถวที่นายกุหลาบอยู่ ได้แวะเข้าไปเรียกสมุดกฎหมายนั้นออกมาเปิดดู สังเกตเห็นในบานแผนกลงปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงดังนายกุหลาบอ้าง เจ้าพระยาอภัยราชาบอกนายกุหลาบว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะทอดพระเนตร” นายกุหลาบก็แสดงความยินดี เลยว่าถ้าต้องพระราชประสงค์ก็จะทูลเกล้าฯ ถวาย เจ้าพระยาอภัยราชาจะไปทำงานที่กระทรวงเสียก่อน จึงบอกนายกุหลาบว่าเวลาบ่ายวันนั้นเมื่อจะไปเฝ้าที่สวนดุสิตจะไปรับหนังสือ เวลาไปรับ นายกุหลาบก็เอาหนังสือมามอบให้โดยเรียบร้อย เจ้าพระยาอภัยราชากราบทูลสารภาพรับผิด ที่ประมาทมิได้เอาสมุดมาเสียด้วยตั้งแต่แรก นายกุหลาบจึงมีโอกาสขูดแก้ศักราชในเวลาเมื่อคอยส่งหนังสือให้เจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฟัง ก็ทรงพระสรวล ดำรัสว่า “พระยารองเมือง ไปเสียรู้นายกุหลาบเสียแล้ว” แล้วพระราชทานสมุดกฎหมายเล่มนั้นมาไว้ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รอยที่นายกุหลาบขูดแก้ยังปรากฏอยู่

(๖)

ประวัติหนังสือหอหลวงมีเรื่องหลายตอน ที่เล่ามาแล้วเป็นตอนที่คนทั้งหลายจะรู้เรื่องต่างๆ อันลี้ลับอยู่ในหอหลวง เพราะเหตุที่นายกุหลาบลักคัดเอาสำเนาไปแก้ไขออกโฆษณา จึงต้องเล่าเรื่องประวัติของนายกุหลาบด้วยยืดยาว ยังมีเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงเมื่ออยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ต่อไปอีก ด้วยการที่จะสร้างหอหลวงใหม่เริดร้างอยู่ช้านาน จนถึงสมัยเมื่อจัดกระทรวงต่างๆ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดให้รวมกรมอาลักษณ์เข้าในกระทรวงมุรธาธร กรมพระสมมตอมรพันธ์เมื่อยังเป็นกรมหมื่น ได้ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ จึงให้ไปรับหนังสือหอหลวงจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เพื่อจะเอากลับเข้าไปรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิม เวลาเมื่อจะส่งหนังสือหอหลวงคืนมานั้น มีคนในสำนักกรมหลวงบดินทร์ฯ จะเป็นผู้ใดไม่ปรากฏชื่อ แต่ต้องเป็นมูลนายมีพรรคพวก ลอบแบ่งเอาหนังสือหอหลวงยักยอกไว้ไม่ส่งคืนมาทั้งหมด มาปรากฏเมื่อภายหลังว่ายักยอกเอาหนังสือซึ่งเขียนฝีมือดี และเป็นเรื่องสำคัญๆ ไว้มาก เพราะในเวลานั้นไม่มีบัญชีหนังสือหอหลวงอยู่ที่อื่น นอกจากที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ อันผู้ยักยอกอาจเก็บซ่อน หรือทำลายเสียได้โดยง่าย แต่การที่ยักยอกหนังสือหลวงนั้น กรมหลวงบดินทร์ฯ คงไม่ทรงทราบ พวกอาลักษณ์ที่ไปรับหนังสือก็คงไม่รู้ ได้หนังสือเท่าใดก็ขนมาแต่เท่านั้น หนังสือหอหลวงจึงแตกเป็น ๒ ภาค กลับคืนเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังภาคหนึ่ง พวกที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกเอาไปซ่อนไว้ที่อื่นภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ชะรอยคนที่ได้หนังสือหอหลวงไว้จะยากจนลง จึงเริ่มเอาหนังสือที่มีรูปภาพและฝีมือเขียนงามๆ ออกขาย โดยอุบายแต่งให้คนชั้นบ่าวไพร่ไปเที่ยวบอกขายทีละเล่มสองเล่ม มีฝรั่งซื้อส่งเข้าหอสมุดในยุโรปบ้าง ไทยที่ชอบสะสมของเก่ารับซื้อไว้บ้าง ฉันเริ่มทราบว่าหนังสือฉบับหอหลวงแตกกระจายไป เมื่อไปเห็นที่ตำหนักหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เธอมีอยู่ในตู้หลายเล่ม ถามเธอว่าอย่างไรจึงได้หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นไว้ เธอบอกว่ามีผู้เอาไปขาย เธอเห็นเป็นหนังสือของเก่าก็ซื้อไว้ ด้วยเกรงฝรั่งจะซื้อเอาไปเสียจากเมืองไทย แต่ใครเอาไปขายให้เธอ หรือหนังสือเหล่านั้นไปจากที่ไหน เธอหาบอกไม่ บางทีเธอจะไม่รู้เองก็เป็นได้ เกิดลือกันขึ้นครั้งหนึ่งว่ามีผู้เอาหนังสือไตรภูมิฉบับหลวง เขียนประสานสีเมื่อครั้งกรุงธนบุรีไปขายให้เยอรมันคนหนึ่งซื้อส่งไปยังหอสมุดหลวงที่กรุงเบอร์ลินเป็นราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทแล้วก็เงียบไป กรณีจึงรู้กันเพียงว่ามีผู้เอาหนังสือฉบับหลวงออกขาย เพราะหนังสือฉบับหลวงย่อมมีชื่ออาลักษณ์ผู้เขียนและผู้ทานอยู่แต่ข้างต้นและมีคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” นำหน้าชื่อทุกเล่ม ใครซื้อไว้ก็มักปกปิดด้วยกลัวถูกจับ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าหนังสือฉบับหลวงเหล่านั้น แตกไปจากที่ไหนอยู่ช้านาน

(๗)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีเป็นอภิลักขิตกาล จึงโปรดให้รวมหนังสือในหอมนเทียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธศาสนสังคหะ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขนานนามตามพระสมณามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” และให้มีกรรมการจัดหอพระสมุดฯ นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสภานายก กรมพระสมมตอมรพันธ์และตัวฉัน กับทั้งพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นกรรมสัมปาทิก รวมกัน ๕ คนเป็นคณะพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมาแรกตั้ง เมื่อรวมหนังสือทั้ง ๓ แห่งเข้าเป็นหอสมุดอันเดียวกันแล้ว ถึงชั้นที่จะหาหนังสือจากที่อื่นมาเพิ่มเติม กรรมการปรึกษากันเห็นว่าควรจะหาหนังสือภาษาฝรั่งต่างชาติ แต่เฉพาะซึ่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยตั้งแต่โบราณมารวบรวมก่อน หนังสือพวกนี้จะสั่งไปให้หาซื้อในยุโรปและอเมริกา ส่วนหนังสือภาษาไทย จะรวบรวมหนังสือซึ่งยังเป็นฉบับเขียน อันมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เอามารวบรวมไว้ในหอสมุดก่อนหนังสือพวกอื่น เพราะหนังสือไทยที่เป็นจดหมายเหตุและตำรับตำราวิชาการกับทั้งวรรณคดี ยังมีแต่เป็นฉบับเขียนอยู่โดยมาก ถ้าทิ้งไว้ไม่รีบรวบรวมเอามารักษาในหอพระสมุดฯ วิชาความรู้อันเป็นสมบัติของชาติก็จะเสื่อมสูญไปเสีย วิธีที่จะหาหนังสือฉบับเขียนในเมืองไทยนั้น ตกลงกันให้กรมพระสมมตฯ ทรงตรวจดูหนังสือในหอหลวง ซึ่งมิได้โปรดให้โอนเอามารวมในหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่กรมพระสมมตฯ ทรงรักษาอยู่เอง ถ้าเรื่องใดควรจะมีในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็ให้ทรงคัดสำเนาส่งมา กรมพระสมมตฯ ทรงหาได้หนังสือดีๆ และเรียบเรียงประทานให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ปรากฏอยู่เป็นหลายเรื่อง ส่วนหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่ที่อื่นนอกจากหอหลวงนั้น ให้ตัวฉันเป็นผู้หา ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เกิดวิธีฉันหาหนังสือด้วยประการต่างๆ จึงรู้เรื่องประวัติหนังสือหอหลวงสิ้นกระแสความ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้า

หนังสือไทยฉบับเขียนของเก่านั้น ลักษณะต่างกันเป็น ๓ ประเภท ถ้าเป็นหนังสือสำหรับอ่านกันเป็นสามัญ เขียนในสมุดไทยสีขาวด้วยเส้นหมึกบ้าง เขียนในสมุดไทยสีดำด้วยเส้นดินสอขาวบ้าง หรือเส้นฝุ่นและเส้นหรดาล หรือวิเศษถึงเขียนด้วยเส้นทองก็มี เขียนตัวอักษรบรรจงทั้งนั้น ต่อเป็นร่างหรือสำเนาจึงเขียนอักษรหวัดด้วยเส้นดินสอแต่ว่าล้วนเขียนในสมุดไทยประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือตำรับตำรา เช่นตำราเลขยันต์หรือคาถาอาคมเป็นต้น อันเจ้าของประสงค์จะซ่อนเร้นไว้แก่ตัว มักจารลงในใบลานขนาดสั้นสักครึ่งคัมภีร์พระธรรมร้อยเชือกเก็บไว้ แต่ล้วนเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลานประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นจดหมายมีไปมาถึงกัน แม้ท้องตราและใบบอกในราชการ ก็เขียนลงกระดาษข่อยด้วยเส้นดินสอดำม้วนใส่กระบอกไม้ไผ่ส่งไป เมื่อเสร็จกิจแล้วก็เอาเชือกผูกเก็บไว้เป็นมัดๆ มักมีแต่ตามสำนักราชการประเภทหนึ่ง หนังสือฉบับเขียนทั้ง ๓ ประเภทที่ว่ามา ประเภทที่เขียนในสมุดไทยมีมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่นับว่าเป็นฉบับดีๆ เพราะตัวอักษรเขียนงามและสอบทานถูกต้องประกอบกัน นอกจากหนังสือหอหลวง มักเป็นหนังสือซึ่งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนๆ สร้างไว้ แล้วแบ่งกันเป็นมรดกตกอยู่ในเชื้อวงศ์เป็นแห่งๆ ก็มี ที่ผู้รับมรดกรักษาไว้ไม่ได้ แตกกระจัดกระจายไปตกอยู่ที่อื่นแห่งละเล็กละน้อยก็มี หนังสือพวกที่จารในใบลานมีน้อย ถ้าอยู่กับผู้รู้วิชานั้นมักหวงแหน แต่ก็ได้มาบ้าง มักเป็นเรื่องแปลกๆ เช่นลายแทงคิดปริศนาและตำราพิธีอันมิใคร่มีใครรู้ แต่มักไม่น่าเชื่อคุณวิเศษที่อวดอ้างในหนังสือนั้น แต่หนังสือซึ่งเขียนกระดาษเพลา มักมีแต่ของหลวงอยู่ตามสำนักราชการ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย ให้ส่งหนังสือพวกนี้ที่มีอยู่ในกระทรวงและที่ได้พบตามหัวเมือง ไปยังหอพระสมุดฯ ทั้งหมด แต่ในสมัยเมื่อฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ นั้น พวกฝรั่งและพวกเล่นสะสมของเก่า เช่นหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถเป็นต้น ก็กำลังหาซื้อหนังสือไทยฉบับเขียนแข่งอยู่อีกทางหนึ่ง ผิดกันแต่พวกนั้นต้องหาโดยปกปิด ฉันหาได้อย่างเปิดเผย และเลือกโดยความประสงค์ผิดกัน พวกนั้นหาหนังสือ “งาม” คือที่มีรูปภาพหรือที่มีฝีมือเขียนอักษรงาม แต่จะเป็นหนังสือเรื่องอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ ฝ่ายข้างตัวฉันหาหนังสือ “ดี” คือถือเอาเรื่องหนังสือเป็นสำคัญ ถ้าเป็นหนังสือเรื่องที่มีดื่น ถึงฉบับจะเขียนงามก็ไม่ถือว่าดี ถ้าเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นฉบับเขียนถูกต้องดี ถึงจะเขียนไม่งามหรือที่สุดเป็นแต่หนังสือเขียนตัวหวัดก็ซื้อ และให้ราคาแพงกว่าหนังสือซึ่งมีดื่น

วิธีที่ฉันหาหนังสือนั้น เมื่อรู้ว่าแหล่งหนังสือมีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไปเองหรือให้ผู้อื่นไปบอกเจ้าของหนังสือให้ทราบพระราชประสงค์ ซึ่งทรงตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร และขอดูหนังสือที่เขามีอยู่ ถ้าพบหนังสือเรื่องใดซึ่งยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ก็ขอหนังสือนั้น เจ้าของจะถวายก็ได้ จะขายก็ได้ หรือเพียงอนุญาตให้คัดสำเนาหนังสือเรื่องนั้นมาก็ได้ตามใจ เจ้าของหนังสือไม่มีใครขัดขวาง อย่างหวงแหนก็เพียงขอต้นฉบับไว้ยอมให้คัดสำเนามา แต่ที่เต็มใจถวายต้นฉบับทีเดียวมีมากกว่าอย่างอื่น บางแห่งก็ถึง “ยกรัง” หนังสือซึ่งได้เก็บรักษาไว้ถวายเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนครทั้งหมด เพราะมีการซึ่งหอพระสมุดฯ ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยให้คนนิยม คือแต่เดิมมาในงานศพเจ้าภาพมักพิมพ์เทศนาหรือคำแปลภาษาบาลี เป็นสมุดเล่มเล็กๆ แจกผู้ไปช่วยงาน ครั้งงานพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริ ว่าหนังสือแจกซึ่งเป็นธรรมปริยายลึกซึ้งคนมิใคร่ชอบอ่าน จึงโปรดให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น พิมพ์พระราชทานเป็นของแจก และทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องประวัติของคัมภีร์ชาดก กับทั้งทรงแนะนำไว้ในคำนำข้างต้น ว่าหนังสือแจกควรจะพิมพ์เรื่องต่างๆ ให้คนชอบอ่าน แต่นั้นเจ้าภาพงานศพก็มักมาขอเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกต่อกรรมการหอพระสมุดฯ กรรมการคิดเห็นว่าถ้าช่วยอุดหนุนการพิมพ์หนังสือแจก จะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เป็นต้นแต่สามารถจะรักษาเรื่องหนังสือเก่าไว้มิให้สูญ และให้มหาชนเจริญความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงรับธุระหาเรื่องหนังสือให้เจ้าภาพพิมพ์แจกทุกรายที่มาขอ และเลือกหนังสือซึ่งเป็นเรื่องน่าอ่าน เอามาชำระสอบทานให้ถูกต้อง ทั้งแต่งอธิบายว่าด้วยหนังสือเรื่องนั้นไว้ในคำนำข้างต้น แล้วจึงให้ไปพิมพ์แจก จึงเกิด “หนังสือฉบับหอพระสมุด” ขึ้น ใครได้รับไปก็ชอบอ่าน เพราะได้ความรู้ดีกว่าฉบับอื่น เจ้าของหนังสือฉบับเขียนเห็นว่าหอพระสมุดฯ ได้หนังสือไปทำให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าอยู่กับตน ก็เต็มใจถวายหนังสือดังกล่าวมา การหาเรื่องหนังสือให้ผู้อื่นพิมพ์แจก จึงเลยเป็นธุระส่วนใหญ่อันหนึ่งของหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครสืบมา และเป็นเหตุให้มีหนังสือไทยเรื่องต่างๆ พิมพ์ขึ้นปีละมากๆ จนบัดนี้

การหาหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่เป็นแหล่ง ไม่ยากเหมือนหาหนังสือซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เพราะรู้ไม่ได้ว่าหนังสือจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง พบเข้าก็มีแต่แห่งละเล็กละน้อย ทั้งเจ้าของก็มักเป็นชั้นที่ไม่รู้จักคุณค่าของหนังสือ ฉันจึงคิดวิธีอย่างหนึ่ง ด้วยขอแรงพวกพนักงานในหอพระสมุดฯ ให้ช่วยกันเที่ยวหาในเวลาว่างราชการ ไปพบหนังสือเรื่องดีมีที่ไหนก็ให้ขอซื้อเอามา หรือถ้าไม่แน่ใจก็ชวนให้เจ้าของเอามาให้ฉันดูก่อน บอกแต่ว่าถ้าเป็นหนังสือดีฉันจะซื้อด้วยราคาตามสมควร หาโดยกระบวนนี้บางทีได้หนังสือดีอย่างแปลกประหลาด จะเล่าเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูก่อน แกก็ส่งมาให้ทั้งกระชุ พบหนังสือพงศาวดารเมืองไทย แต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ เล่มหนึ่ง อยู่ในพวกสมุดที่จะเผานั้น ออกปากว่าอยากได้ ยายแก่ก็ให้ไม่หวงแหน พระยาปริยัติธรรมธาดาเอาสมุดเล่มนั้นมาให้ฉัน เมื่อพิจารณาดูเห็นเป็นหนังสือพงศาวดารความเก่าแต่งก่อนเพื่อน เรื่องและศักราชก็แม่นยำ ผิดกับฉบับอื่นทั้งหมด ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ให้เป็นเกียรติยศแก่พระยาปริยัติฯ และได้ใช้เป็นฉบับสำหรับสอบสืบมาจนบัดนี้ แต่เจ้าของบางคนก็เห็นค่าหนังสือของตนอย่างวิปริต ดังแห่งหนึ่งอวดว่ามีหนังสือเขียนตัวทองอยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งราคาขายแพงมาก ผู้ไปพบจะขออ่านก็ไม่ให้ดู ฉันให้กลับไปถามเพียงชื่อเรื่องหนังสือนั้น บอกว่า “เรื่องพระลอ” ซึ่งมีฉบับเขียนอยู่ในหอพระสมุดฯ แล้วหลายฉบับ ทั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์แล้วด้วย ก็เป็นเลิกกันเพียงนั้น แต่เมื่อคนรู้กันแพร่หลายว่าหอพระสมุดฯ หาซื้อหนังสือฉบับเขียน ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายที่หอพระสมุดฯ ชั้นแรกดูเหมือนจะเป็นแต่พวกราษฎร ต่อมาเจ้าของที่เป็นผู้ดีแต่งให้คนมาขายก็มี ที่สุดถึงมีพวก “นายหน้า” เที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ เนืองนิจ จนจำหน้าได้ พวกนายหน้านี้เป็นคนจำพวกเดียวกับที่เที่ยวหาหนังสือฉบับหลวง และของประหลาดขายฝรั่ง เขาว่าของที่ขายมักได้มาโดยทุจริต แต่จะไถ่ถามถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาขายหนังสือเสียก่อน ก็คงเกิดหวาดหวั่น ไม่มีใครกล้าเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ ฉันนึกขึ้นว่าหนังสือผิดกับทรัพย์สินอย่างอื่น ด้วยอาจจะคัดสำเนาเอาเรื่องไว้ได้ โดยจะเป็นของโจรลักเอามา เมื่อเจ้าของมาพบ คืนต้นฉบับให้เขา ขอคัดแต่สำเนาไว้ก็เป็นประโยชน์สมประสงค์ ไม่เสียเงินเปล่า ฉันจึงสั่งพนักงานรับหนังสือว่าถ้าใครเอาหนังสือมาขาย อย่าให้ไถ่ถามอย่างไร นอกจากราคาที่จะขาย แล้วเขียนราคาลงในเศษกระดาษ เหน็บกับหนังสือส่งมาให้ฉันดูทีเดียว ฉันเลือกซื้อด้วยเอาเรื่องหนังสือเป็นใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว บางทีเป็นหนังสือเขียนงามแต่ฉันไม่ซื้อ หรือไม่ยอมให้ราคาเท่าที่จะขาย เพราะเป็นเรื่องดื่นก็มี บางทีเป็นแต่สมุดเก่าๆ เขียนด้วยเส้นดินสอ ผู้ขายตีราคาเพียงเล่มละบาทหนึ่งสองบาท แต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบหรือหายาก ยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ฉันเห็นว่าเจ้าของตีราคาต่ำ เพราะไม่รู้คุณค่าของหนังสือ จะซื้อตามราคาที่บอกขาย ดูเป็นเอาเปรียบคนรู้น้อย หาควรไม่ ฉันจึงเพิ่มราคาให้เป็นเล่มละ ๔ บาทหรือ ๕ บาทบ้าง ให้บอกเจ้าของว่าราคาที่ตั้งมายังไม่ถึงค่าของหนังสือ พวกคนขายหนังสือได้เงินเพิ่มเนืองๆ ก็เชื่อถือความยุติธรรมของหอพระสมุดฯ จนไม่มีใครตั้งราคาขาย บอกแต่ว่า “แล้วแต่จะประทาน” การซื้อหนังสือในพื้นเมืองก็สะดวก จึงซื้อมาด้วยอย่างนั้นเป็นนิจ

(๘)

แต่ความที่กล่าวไว้ข้างต้นนิทานนี้ ที่ว่านายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ดี ที่ว่าคนในวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ และต่อมาเอาออกขายแก่ฝรั่งและผู้เล่นสะสมของเก่าก็ดี ไม่มีใครรู้มากว่า ๒๐ ปี เค้าเงื่อนเพิ่งมาปรากฏขึ้นเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดฯ ดังพรรณนามา ด้วยวันหนึ่งมีคนเอาหนังสือพระราชพงศาวดาร เป็นฉบับเขียนเส้นดินสอมาขาย ๒ เล่มสมุดไทย ฉันเห็นมีลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเส้นดินสอเหลือง ทรงเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเป็นแห่งๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๑๐ บาท แต่ไม่บอกว่าเพราะมีพระราชหัตถเลขาอยู่ในนั้น ผู้ขายก็พิศวง บอกพนักงานรับหนังสือว่าหนังสือเรื่องนั้นยังมีจะเอามาขายอีก แล้วเอามาขายทีละ ๓ เล่ม ๔ เล่ม ฉันก็ให้ราคาเล่มละ ๑๐ บาทเสมอทุกครั้ง ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึง ๒๒ เล่ม จนผู้ขายบอกว่าหมดฉบับที่มีเพียงเท่านั้น

ฝ่ายตัวฉัน ตั้งแต่ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามา ๒ เล่มก็เกิดพิศวง ด้วยเห็นชัดว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของหลวงอันอาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวง เหตุไฉนจึงตกมาเป็นของคนชั้นราษฎร เอาออกเที่ยวขายได้ตามชอบใจ ฉันจึงเรียกหัวหน้าพนักงานรับหนังสือมากระซิบสั่งให้สืบดู ว่าผู้ที่เอามาขายเป็นคนทำการงานอย่างไร และมีสำนักหลักแหล่งอยู่ที่ไหน เขาสืบได้ความจากผู้รู้จัก ว่าคน ๒ คนที่เอาหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาขายนั้น เดิมเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่เมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว เห็นเที่ยวร่อนเร่อยู่ จะสำนักอยู่ที่ไหนหาทราบไม่ พอฉันได้ยินว่าคนที่เอาหนังสือมาขาย เคยเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็รู้สึกเหมือนอย่างว่าใครเปิดแสงไฟฟ้าให้แลเห็นเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงในทันที ยิ่งคิดไปถึงกรณีต่างๆ ที่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนก็ยิ่งเห็นตระหนักแน่ชัด ด้วยเป็นเรื่องติดต่อสอดคล้องกันมาตั้งแต่กรมหลวงบดินทร์ฯ เอาหนังสือหอหลวงไปรักษาไว้ที่วัง แล้วเอาออกอวดให้คนดูเมื่องาน ๑๐๐ ปี นายกุหลาบได้เห็นจึงพยายามขอยืมจากกรมหลวงบดินทร์ฯ ไปลอบจ้างทหารมหาดเล็กให้คัดสำเนา เอาไปดัดแปลงสำนวนออกพิมพ์ ครั้นถึงเวลาเมื่อขนหนังสือหอหลวงกลับคืนเข้าไปไว้ในวังตามเดิม มีคนที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ แล้วผ่อนขายไปแก่พวกฝรั่งและผู้สะสมของเก่า จึงปรากฏว่ามีหนังสือฉบับหลวงออกเที่ยวขาย จนที่สุดถึงเอามาขายแก่ตัวฉันเอง จึงรู้ว่าล้วนแต่ออกมาจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ทั้งนั้น แต่ผู้ขายหนังสือไม่รู้ว่าฉันให้สืบ เมื่อขายหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้หมดแล้ว ยังเอาหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งประทับตรา ๓ ดวงมาขายที่หอพระสมุดฯ อีก ๒ เล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๒๐ บาท เลยได้ความรู้อยู่ข้างจะขบขัน ด้วยผู้ขายดีใจจนออกปากแก่พนักงานรับหนังสือ ว่าเสียดายไม่รู้ว่าหอพระสมุดฯ จะให้ราคาถึงเท่านั้น เคยเอาไปบอกขายนายกุหลาบเล่มหนึ่ง นายกุหลาบว่าจะให้ ๒๐ บาท ครั้นเอาหนังสือไปให้ได้เงินแต่ ๒ บาท นอกจากนั้นทวงเท่าใดก็ไม่ได้ ที่ว่านี้คือกฎหมายเล่มที่นายกุหลาบเอาไปแก้ศักราชนั่นเอง ก็ได้ไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เหมือนกัน เมื่อขายกฎหมายแล้วผู้ขายบอกว่าหนังสือซึ่งมีขาย หมดเพียงเท่านั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง เพราะคนขายได้เงินมาก และหอพระสมุดฯ ก็มิได้ทำให้หวาดหวั่นอย่างใด ถ้ายังมีหนังสือคงเอามาขายอีก จึงเห็นพอจะอ้างได้ว่าเก็บหนังสือหอหลวงซึ่งยังตกค้างอยู่ในแหล่งกรมหลวงบดินทร์ฯ กลับมาได้สิ้นเชิง เมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่ตัวฉันยังมีกิจเกี่ยวข้องกับหนังสือหลวง ซึ่งพลัดพรายไปอยู่ที่อื่นต่อมาอีกด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ฉันไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ฉันนึกขึ้นว่าเป็นโอกาสที่จะตรวจดูให้รู้ว่าอังกฤษได้หนังสือฉบับเขียนไปจากเมืองไทยสักเท่าใด ฉันจึงให้ไปบอกที่หอสมุดของรัฐบาล (British Museum Library) ว่าฉันอยากจะเห็นหนังสือไทยฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอสมุดนั้น ถ้าหากเขายังไม่ได้ทำบัญชี จะให้ฉันช่วยบอกเรื่องให้ลงบัญชีด้วยก็ได้ ฉันหมายว่าถ้าพบเรื่องที่ไม่มีฉบับอยู่ในเมืองไทย ก็จะขอคัดสำเนาด้วยรูปฉายเอากลับมา ฝ่ายอังกฤษเขาเคยได้ยินชื่อว่าฉันเป็นนายกหอพระสมุดฯ ก็ยินดีที่ฉันจะบอกให้อย่างนั้น ครั้นถึงวันนัด เขาขนสมุดหนังสือไทยบรรดามีมารวมไว้ในห้องหนึ่ง และให้พนักงานทำบัญชีมาคอยรับ ฉันไปนั่งตรวจ และบอกเรื่องแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาลงบัญชีทุกเล่ม ต้องไปนั่งอยู่ ๒ วันจึงตรวจหมด ด้วยในหอสมุดนั้นมีหนังสือไทยมากกว่าที่อื่น แต่เห็นล้วนเป็นเรื่องที่มีในหอพระสมุดฯ ทั้งนั้น ก็ไม่ต้องขอคัดสำเนามา เมื่อฉันไปถึงกรุงเบอร์ลิน ให้ไปบอกอย่างเช่นที่กรุงลอนดอน รัฐบาลเยอรมันก็ให้ฉันตรวจหนังสือไทยด้วยความยินดีอย่างเดียวกัน หนังสือไทยที่ในหอสมุดกรุงเบอร์ลินมีน้อยกว่าในหอสมุดกรุงลอนดอน แต่เป็นหนังสือฉบับหลวงซึ่งได้ไปจากหอหลวงในกรุงเทพฯ โดยมาก เขาเชิดชูหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งซื้อราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทนั้นเหมือนอย่างว่าเป็นนายโรง แต่ประหลาดอยู่ที่หนังสือไตรภูมินั้นมี ๒ ฉบับ สร้างก็ครั้งกรุงธนบุรีด้วยกัน และเหมือนกันทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ขนาดสมุดก็เท่ากัน ฉบับหนึ่งคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ ๔) ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ แต่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะ แล้วโอนมาเป็นของหอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงใส่ตู้กระจกไว้ให้คนชมอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉะนั้นถึงเยอรมันเอาไปเสียฉบับหนึ่ง ก็หาสูญสิ้นจากเมืองไทยไม่ แม้เรื่องอื่นๆ ที่เยอรมันได้ไป เรื่องก็ยังมีอยู่ในเมืองไทยทั้งนั้น จึงไม่ต้องขอคัดสำเนามา นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวจในหอสมุดของฝรั่งเศสในครั้งนั้นด้วย เพราะเมื่อไปถึงกรุงปารีส ฉันยังไม่ได้คิดขึ้นถึงเรื่องตรวจหนังสือไทย จึงผ่านไปเสียแต่แรก แล้วก็ไม่มีโอกาสอีก

(๙)

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา พ้นจากราชการทั้งปวงแล้ว ออกไปสำราญอิริยาบถตามประสาคนแก่ชราอยู่ที่เมืองปีนัง ทราบว่าทางกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบการราชบัณฑิตยสภาหลายอย่าง เป็นต้นว่าตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็นคณะผู้รู้ แยกออกจากกรมการต่างๆ ซึ่งเคยอยู่ในราชบัณฑิตยสภามาแต่ก่อน ส่วนกรมการต่างๆ นั้น แผนกหอพระสมุดสำหรับพระนครคงเป็นแผนกอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “หอสมุดแห่งชาติ” แผนกพิพิธภัณฑสถานก็คงอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” แผนกศิลปากรก็คงอยู่อย่างเดิม เอากรมมหรสพเพิ่มเข้าอีกแผนกหนึ่ง เรียกทั้ง ๔ แผนกรวมกันว่า “กรมศิลปากร” มีอธิบดีเป็นผู้บังคับการทั่วไป จะว่าแต่เฉพาะที่เนื่องด้วยหนังสือหอหลวง ทราบว่าหอสมุดแห่งชาติซื้อมรดกหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ได้หนังสือหอหลวงซึ่งไปตกอยู่ที่หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาเข้าหอสมุดแห่งชาติหมด และต่อมารัฐบาลให้โอนหนังสือหอหลวงบรรดาที่อยู่ในกรมราชเลขาธิการ (คือที่กรมอาลักษณ์รักษาแต่เดิม) ส่งไปไว้ในหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด เป็นสมุดฉบับเขียนหลายพันเล่ม เดี๋ยวนี้อาจจะอ้างได้ว่าหนังสือหอหลวงซึ่งกระจัดพลัดพรายแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่างๆ มากว่า ๕๐ ปี กลับคืนมาอยู่ในที่อันเดียวกันแล้ว ถึงต้นฉบับจะสูญไปเสียบ้าง เช่นถูกฝรั่งซื้อเอาไปไว้เสียต่างประเทศ ฉันได้ไปตรวจก็ปรากฏว่าเรื่องของหนังสืออันเป็นตัววิทยสมบัติของบ้านเมืองมิได้สูญไปด้วย ที่จะหายสูญทั้งต้นฉบับและตัวเรื่องเห็นจะน้อย เพราะฉะนั้น ถึงตัวฉันพ้นกิจธุระมาอยู่ภายนอกแล้ว ก็มีความยินดีด้วยเป็นอันมาก.

เนื้อเพลง