วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่

 

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่

(๑)

เมื่อฉันเป็นนายพล ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ จน พ.ศ. ๒๔๕๘ มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ได้ความรู้ในเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาในเมืองไทยแต่ก่อนๆ ในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยอยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือพระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยี่กอฮง” นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันมาได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอริง Mr. W.A. Pickering แปลจากภาษาจีนในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลเอเชียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูด้วย เป็นอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาแต่ก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้

(๒)

เหตุที่เกิดพวกอั้งยี่ในเมืองจีน

เมื่อพวกเม่งจูได้เมืองจีนไว้ในอำนาจ ตั้งราชวงศ์ไต้เชงครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ศ. ๒๒๐๗ พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วอยู่ทางทิศตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักษาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าศึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงให้ออกประกาศว่าถ้าใครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้จะประทานทองเป็นบำเหน็จ ๑๐,๐๐๐ ตำลึง และจะให้ปกครองผู้คน ๑๐,๐๐๐ ครัวเป็นบริวาร ครั้งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขากุ้ยเล้ง แขวงเมืองเกี้ยนเล้งในแดนจีนฮกเกี้ยน มีหลวงจีนอยู่ด้วยกัน ๑๒๘ องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้าอาสารบพวกฮวน พระเจ้ากรุงจีนทรงยินดี แต่วิตกว่าหลวงจีนมีแต่ ๑๒๘ องค์ด้วยกัน พวกข้าศึกมีมากนัก จึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อเต็งกุนตัดคุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีน ไปรบข้าศึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมีชัยชนะฆ่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวัลตามประกาศ พวกหลวงจีนไม่รับยศศักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำศีลภาวนาอยู่อย่างเดิม รับแต่ทอง ๑๐,๐๐๐ ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามใจ แต่ส่วนเต็งกุนตัดขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนรบนั้น ได้รับบำเหน็จเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เคยชอบพอกันสนิทสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชิญหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันต่อไปในวันหน้า ก็ในเวลานั้นมีขุนนางกังฉิน ๒ คน เคยเป็นอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่าเมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากกรุงปักกิ่ง ได้ลอบกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ ดูผิดสังเกต สงสัยว่าเต็งกุนตัดจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีฤทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้เป็นกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชารี้พลมาก ถ้าได้ช่องก็จะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนในเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวฤทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูลยุยงมาอย่างนั้น จนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกษากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน ๒ คนนั้นเป็นข้าหลวง คนหนึ่งให้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเป็นทีว่าคุมของบำเหน็จไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งให้ไปยังวัดบนภูเขากุ้ยเล้ง ทำเป็นทีว่าคุมเครื่องราชพลี มีสุราบานและเสบียงอาหารเป็นต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพณี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่าเต็งกุนตัดคิดกบฏต้องโทษถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดฆ่าเสีย ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังภูเขากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยดีมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิษเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากระบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ้มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้นรู้ว่าเป็นสุราเจือยาพิษ ก็เอากระบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขณะนั้นพวกของข้าหลวงที่ล้อมอยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โทรมหมด พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ตายไปในไฟบ้าง ถูกพวกข้าหลวงฆ่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ ๕ องค์ ชื่อฉอองค์หนึ่ง บุงองค์หนึ่ง มะองค์หนึ่ง โอองค์หนึ่ง ลิองค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในแขวงเมืองโอ๊วก๊วงที่เต็งกุนตัดเคยเป็นแม่ทัพอยู่แต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่งหลวงจีน ๕ องค์นั้นลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกระถางธูปรูปสามขามีหูสองข้างใบหนึ่ง ลอยมาในน้ำกำลังมีควันธูปขึ้นไปในอากาศ นึกหลากใจจึงลงไปยกขึ้นมาบนบก พิจารณาดู เห็นมีตัวอักษรอยู่ที่ก้นกระถางธูปนั้น ๔ ตัวว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่ากำจัดเชงเสียกลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่าเทวดาฟ้าและดินจะสั่งให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากฏว่าให้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง ๕ ประจักษ์แจ้งแก่ใจดังนั้น จึงเอาหญ้าปักต่างธูปที่ในกระถางจุดบูชา แล้วกระทำสัตย์กันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สัญญากันแต่ก่อน ว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เอาบ้านเมืองคืนให้แก่ราชวงศ์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปฏิญาณกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรณ์มีอยู่ในก้นกระถางธูปด้วยก็พากันยินดียิ่งนัก แต่ในขณะนั้นเอง พวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึง จะเข้าล้อมจับพวกหลวงจีนจึงอุ้มกระถางธูปวิ่งหนีไป เผอิญในวันนั้นนางกู้ส่วยเอง เมียเต็งกุดตัดที่ถูกฆ่าตายพาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น ณ ที่ฝังศพเต็งกุนตัด ในเวลากำลังเซ่นอยู่ได้ยินเหมือนเสียงคน แลไปดูเห็นกระบี่เล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารณาดูเห็นมีตัวอักษรจารึกที่กั่นกระบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่ามังกรสองตัวชิงดวงมุกดากัน และที่ตัวกระบี่ก็มีอักษรจารึกว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่าให้กำจัดราชวงศ์ไต้เชง คืนแผ่นดินให้ราชวงศ์ไต้เหม็ง ในเวลาที่กำลังพิจารณาตัวอักษรอยู่นั้น ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกระบี่ที่ได้ใหม่พาพวกพ้องออกไปดู เห็นพวกข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง ๕ องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากระบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พรรคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับหลวงจีนต่างไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนให้กันฟัง ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันมาแต่เดิมและได้ถูกเนรคุณอย่างเดียวกัน นางจึงให้พวกหลวงจีนอาศัยอยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบแล้วจึงให้หลวงจีนทั้ง ๕ กลับไปอยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง ๕ นี้ได้นามว่า โหงว โจ๊ว แปลว่าบุรุษทั้ง ๕ ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้หลวงจีนทั้ง ๕ แน่ใจว่าเทวดาฟ้าดิน ให้คิดอ่านกู้บ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงศ์ไต้เชง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ร่วมคิด ได้พรรคพวกมากขึ้น แต่กิตติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ให้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง ๕ จึงต้องหนีจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหารเสือ ๕ คน เมื่อพูดจาสนทนากัน พวกนายโจรเลื่อมใส รับจะพาโจรบริวารของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปสำนักอยู่ที่ภูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่ามังกรเสือ ในเวลานั้นมีหลวงจีนอีกองค์หนึ่งชื่อตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เป็นขุนนางทำราชการอยู่ในกรุงปักกิ่ง อยู่มาสังเกตว่าราชวงศ์ไต้เชงปกครองบ้านเมืองไม่เป็นยุติธรรม เกิดท้อใจจึงลาออกจากราชการไปบวชเป็นหลวงจีน จำศีลศึกษาวิชาอาคมของลัทธิศาสนาเต๋า อยู่ ณ ถ้ำแป๊ะเฮาะตั่ง แปลว่านกกระสาเผือก จนมีผู้คนนับถือมาก วันหนึ่งลูกศิษย์ ๔ คนไปบอกข่าวว่าหลวงจีน ๕ องค์ได้ของวิเศษ คิดอ่านจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดีพาศิษย์ ๔ คนตามไปยังที่สำนักของหลวงจีน ๕ องค์ ณ ภูเขามังกรเสือ ขอสมัครเข้าเป็นพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ในพวกที่ไปสมัครนั้นยังมีคนสำคัญอีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อจูฮุ่งชัก เป็นราชนัดดาของพระเจ้าเซ่งจงในราชวงศ์ไต้เหม็ง อีกคนหนึ่งเป็นหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างสูงใหญ่มีกำลังวังชากล้าหาญมาก เมื่อรวบรวมพรรคพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงศ์ไต้เชงจึงประชุมกันทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยกเจ้าจูฮุ่งชักขึ้นเป็นรัชทายาทราชวงศ์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากเป็นอาจารย์ (จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเป็น “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ชายใหญ่” และเป็นตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ให้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่างๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งอยู่ที่ภูเขาฮ่งฮวง แปลว่าภูเขาหงส์ (จะเป็นแขวงเมืองไหนไม่ปรากฏ) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทหารที่ประจำเมืองนั้น รบกันครั้งแรกพวกกบฏมีชัยชนะตีกองทหารหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นอย่างแปลกประหลาด ด้วยในเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮีย ขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าล้มลงตัวจอมพลตกม้าตาย พวกกบฏก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เป็นอาจารย์ เห็นว่าเกิดเหตุอันมิบังควรผิดสังเกต ตรวจตำราดูก็รู้ว่าเป็นเพราะชะตาราชวงศ์ไต้เชงยังรุ่งเรือง ในตำราว่าศัตรูไม่สามารถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบฏว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปในเวลานั้นก็ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเป็นอย่างอื่น และให้พวกที่ทำสัตย์สาบานกันแล้วแยกย้ายกระจายกันไปอยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่างๆ และทุกๆ คนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นในตำบลที่ตนไปอยู่ หาพวกพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันให้มีมากแพร่หลาย พอถึงเวลาชะตาราชวงศ์ไต้เชงตก ให้พร้อมมือกันเข้าตีบ้านเมือง จึงจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงได้ พวกกบฏเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับให้เรียกชื่อว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ซาฮะ” แปลว่า “องค์สาม” คือฟ้าดินมนุษย์ และตั้งแบบแผนสมาคมทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิก ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้นในเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่าเสีย ถึงอย่างนั้นพวกสมาคม “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ก็ยังมีอยู่ในเมืองจีนสืบมา รัฐบาลทำลายล้างไม่หมดได้

(๓)

อั้งยี่ในแหลมมลายู

ในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าพวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นชาวเมืองชายทะเลภาคใต้ และอยู่ในพวกที่เป็นคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์ หามีใครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวหากินตามต่างประเทศไม่ และว่าพวกจีนที่ไปหากินตามต่างประเทศนั้น จีนต่างภาษามักชอบไปประเทศต่างกัน พวกจีนแต้จิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์ (ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์) มีพวกจีนอยู่ในแหลมมลายูเป็นอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งก็มี ในสมัยนั้นจีนที่มาเที่ยวหากินทางเมืองไทย และเมืองชวามลายู มาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งมาได้หญิงชาวเมืองเป็นเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงศ์เช่นนั้น มลายูเรียกผู้ชายว่า “บาบ๋า” เรียกผู้หญิงว่า “ยอหยา” ทางเมืองชวามลายู จีนผู้เป็นพ่อไม่พอใจจะให้ลูกถือศาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมให้ลูกทั้งชายหญิงเป็นจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้นจีนในเมืองชวามลายู จึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ “จีนนอก” ที่มาจากเมืองจีนอย่างหนึ่ง “จีนบาบ๋า” ที่เกิดขึ้นในท้องที่อย่างหนึ่ง มีอยู่เสมอ ผิดกันกับเมืองไทยเพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธศาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ชาย คงเป็นจีนตามอย่างพ่ออยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเป็นไทย แต่ลูกผู้หญิงเป็นไทยไปตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ในเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เป็นเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเป็นจีนประจำอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกตั้งสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่คือสมาคมลับที่เรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ขึ้นในเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกฤษรู้อยู่ว่าวัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง อันเป็นการในเมืองจีน ไม่เห็นว่ามีมูลอันใดจะมาตั้งอั้งยี่ในเมืองต่างประเทศ สืบถามได้ความว่าพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในเมืองมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เป็นแต่เอาแบบแผนกระบวนสมาคม “เทียน ตี้ หวย” ในเมืองจีนมาตั้งขึ้น เพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่มาทำมาหากินทางเมืองมลายู มิให้ต้องตกยากหรือได้ความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดขี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่งปรากฏว่าพวกอั้งยี่มีแต่ในพวกจีนนอก แต่พวกจีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหล่งและพวกจีนบาบ๋าที่เกิดในแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกฤษเห็นว่าเป็นแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยให้มีอั้งยี่อยู่ไม่ห้ามปราม ครั้นจำเนียรกาลนานมา (ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเศรษฐกิจในแหลมมลายูเจริญขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและที่ทำเรือกสวน ต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนในเมืองจีน มาเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เป็นอั้งยี่ก็มีมากขึ้น และจัดแยกกันเป็นหลายเหล่า จนเหลือกำลังผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีใครสมัครเป็นตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเป็นหลายกงสีเรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ “ยี่เฮีย” (แปลว่าพี่ที่สอง) เป็นหัวหน้าเป็นอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัฐบาลรำคาญ แต่จะบังคับให้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบาก ด้วยอาจจะเป็นเหตุให้พวกจีนในเมืองจีนหวาดหวั่น ไม่มารับจ้างเป็นกรรมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และพวกจีนกรรมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืนก็ต้องใช้กำลังปราบปราม กลายเป็นการใหญ่โตเกินกว่าเหตุ อีกประการหนึ่งเห็นว่าพวกอั้งยี่เป็นแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัฐบาลอย่างไรไม่ อังกฤษจึงตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เป็นสายกลาง คือถ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหนต้องมาขออนุญาตต่อรัฐบาล บอกชื่อผู้เป็นหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานสมาคมนั้น แต่นั้นมาพวกอั้งยี่สมาคมต่างๆ ก็ตั้งกงสีของสมาคม ณ ที่ต่างๆ แพร่หลาย โดยวิธี “รัฐบาลเลี้ยงอั้งยี่” เป็นประเพณีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษมาเล่า เพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

(๔)

อั้งยี่แรกมีในเมืองไทย

ในหนังสือจดหมายเหตุของไทย ใช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัย แต่ความไม่ตรงกับที่จริงทั้งนั้น จึงจะแทรกคำอธิบายเรียกต่างๆ ลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งในเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “ซาฮะ” ตามภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “องค์สาม” เป็นนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเป็นหลายกงสีจึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่นว่า “งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่เหง งี่ฮก ตั้วกงสี ซิวลิกือ” เป็นต้น คำว่า “อั้งยี่” แปลว่า “หนังสือแดง” ก็เป็นแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น ยังมีชื่อสำหรับเรียกตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ในถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาษาฮกเกี้ยนว่า “ตั้วกอ” ตามภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ใหญ่” ผู้ที่เป็นหัวหน้ากงสีเรียกว่า “ยี่กอ” หรือ “ยี่เฮีย” แปลว่า “พี่ที่สอง” ตัวนายรองลงมาเรียกว่า “สามกอ” หรือ “ซาเฮีย” แปลว่า “พี่ที่สาม” ในจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกเข้าสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า “ตั้วเฮีย” มาจนรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำ “ตั้วเฮีย” เรียก “อั้งยี่” ในนิทานนี้ฉันเรียกว่า อั้งยี่ มาแต่ต้นเพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่าน

อั้งยี่แรกมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้น เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินในเมืองไทย ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเป็นปัจจัยให้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนถึงชั้นผู้ดีที่เป็นเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิให้ใครสูบฝิ่น หรือซื้อฝิ่นขายฝิ่น เมื่อปรากฏว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่นตามกฎหมายอย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นติดมีมากก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ เป็นเหตุให้คนลอบขายฝิ่น ขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่นด้วยตั้ง อั้งยี่ วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเลที่ไม่มีการตรวจตรา คอยรับฝิ่นจากเรือสำเภาที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับในหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเป็นรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพรรคพวกมากก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดอั้งยี่ที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมา ๒ ปีถึง พ.ศ. ๒๓๘๗ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นที่ในป่าแสมริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ ในระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ต่อสู้เจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับตัวหัวหน้าได้ อั้งยี่จึงสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีก ๓ ปีถึง พ.ศ. ๒๓๙๐ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่นออกไปจับเอง ถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ ๔๐๐ คน และจับตัวหัวหน้าได้ จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฏ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดเอาป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า ๓,๐๐๐ คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓

(๕)

อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด ถือเฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมือง มักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บอากร และถูกคนในพื้นเมืองรังแกได้ความเดือดร้อนไม่มีใครจะเกื้อหนุน จึงมักไปพึ่งอั้งยี่ ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยให้เลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรง มีคนนับถือมาก ตั้งเป็นเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยอุปการะและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบเงียบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีอั้งยี่เกิดขึ้นอีกด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องมาจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่นเมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสาร และรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียกว่า “จีนใหม่” ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า “Sing Keh” แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เองหรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้ได้ค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบปีหนึ่งแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้าอันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้น ด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีจีนในกรุงเทพฯ คิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมือง โดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้นและการนั้นได้กำไรงาม ก็เกิดแข่งกันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋จึงเลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก็เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่รัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆ หลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายอย่าง “เลี้ยงอั้งยี่” ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่ในแดนอังกฤษจึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ต ให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นสาขาของกงสี “งี่หิน” พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี “ปูนเถ้าก๋ง” พวกหนึ่งมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มานายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกัน ด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองล้างแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชา ก็ให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวพวกหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คน เข้ามาสารภาพรับผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อย่างที่อังกฤษจัดตามเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทย มิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากตั้งเป็น “หัวหน้าต้นแซ่” สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวพวกของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆ กับกรรมการจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่เฮงหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่ และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามมิให้อั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม

(๖)

อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระเยาว์วัย พระชันษาเพียง ๑๖ ปี จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ๕ ปี

เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้จะเล่าแต่เรื่องเนื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัชกาล มีอั้งยี่พวกหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อสู้เจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วนที่ริมฝั่งสัมพันธวงศ์ ถึงสู้รบกันขึ้นที่ในสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราษฎรที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และทำท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ระงับด้วยใช้อุบายหลายอย่าง พิเคราะห์ดูน่าพิศวง

อย่างที่หนึ่งใช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี เมื่อจับได้ให้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิต และเอาสมัครพรรคพวกทั้งหมดจำคุก ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

อีกอย่างหนึ่งใช้อุบายขู่ให้พวกอั้งยี่กลัว ด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัย ถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเป็นเด็กไว้ผมจุก เคยตามเสด็จไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้น บางวันก็ให้ทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก ยิงปืนติดดินดำ เสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ให้ทำเป็นโครงค่ายมีหุ่นรูปคนอยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้นมีช้างรบอยู่ในกรุงเทพฯ สักสามสี่เชือก ตัวหนึ่งชื่อ พลายแก้ว เจ้าพระยายมราช (แก้ว) หัดที่เมืองนครราชสีมา กล้าหาญนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่ายก็สวนควันเข้าไปรื้อค่าย แทงรูปหุ่นที่รักษาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบอย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติศัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ก็กลัว ไม่ก่อเหตุอันใดได้จริง

อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกอย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้นมีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกสเข้ามาหากินในกรุงเทพฯ มากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ จึงเรียกกันว่า “พวกร่มธง” หมายความว่า “อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สับเย็ก” subject หมายความว่า “เป็นคนในของชาตินั้นๆ” ไม่ต้องอยู่ในอำนาจโรงศาล หรือในบังคับรัฐบาลของบ้านเมือง แม้กงสุลต่างประเทศช่วยห้ามมิให้จีนในร่มธงเป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง เพราะฉะนั้นพอเปลี่ยนรัชกาลได้ ๓ สัปดาห์ ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาโชฎึกฯ พุก) คนหนึ่ง หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์ (ฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกฯ) คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี (มลิ) คนหนึ่ง (เป็นชั้นลูกจีนทั้ง ๓ คน) เป็นผู้พิพากษา สำหรับชำระตัดสินคดีที่คู่ความเป็นจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา แต่ห้ามมิให้รับคดีที่คู่ความเป็นจีนแต่ฝ่ายเดียว หรือคดีที่เป็นความอาญาว่ากล่าวในศาลนั้น นอกจากตั้งศาลให้แบ่งเขตท้องที่อันมีจีนอยู่มาก เช่นในสำเพ็งเป็นหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้นทุกอำเภอ ตามหัวเมืองก็ให้ปลัดจีนมีอำนาจว่ากล่าวคดีจีน อำเภอที่มีจีนอยู่มากก็ตั้งหัวหน้าให้เป็นตำแหน่ง “กงสุลจีนในบังคับสยาม” สำหรับเป็นผู้อุปการะจีนอยู่ในอำเภอนั้นๆ

ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูมาใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าเก๋ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตระเวน (โปลิส) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นมาเป็นคนรับใช้สอยของท่าน ให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเร็จประโยชน์ได้ดังประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อย เพราะใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” มาตลอดเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจในราชการแผ่นดิน

อั้งยี่กำเริบที่เมืองระนองและภูเก็ต

ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลที่ ๕ เกิดลำบากด้วยพวกจีนอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนอง และเมืองภูเก็ตกำเริบ คล้ายกับเป็นกบฏต้องปราบปรามเป็นการใหญ่โต แต่ว่าพวกอั้งยี่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เป็นสาขาของพวกอั้งยี่กงสี “งี่หิน” และ “กงสีปูนเถ้าก๋ง” ในแดนอังกฤษมาตั้งขึ้นในเมืองไทย ไม่ติดต่อกับพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ดังกล่าวมาในเรื่องปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้นแล้ว แต่ครั้งนั้นมาการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ตเจริญขึ้น มีพวกจีนกรรมกรเข้ามารับจ้างขุดขนดีบุกมากขึ้นเป็นลำดับมา จนที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกรรมกรกว่า ๓,๐๐๐ คน และที่เมืองภูเก็ตก็มีจำนวนจีนกรรมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราษฎรไทยที่อยู่ในตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกรรมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่อยู่ที่ไหน ทั้งพวกงี่หินและพวกปูนเถ้าก๋งต่างก็ไปตั้งกงสีอั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัฐบาลตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่อยู่ตามเหมืองแร่แทบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้นเผอิญดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอให้ค่าจ้างกรรมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน

ปรากฏว่าเมื่อเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำถึงตรุษจีน พวกกรรมกรที่เป็นอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งพวกหนึ่ง ไปทวงเงินต่อนายเหมือง ขอให้ชำระหนี้สินให้สิ้นเชิงตามประเพณีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะให้ขอผ่อนผัด พวกกรรมกรจะเอาเงินให้จงได้ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกรรมกรฆ่าพวกนายเหมืองตาย ชะรอยผู้ตายจะเป็นตัวนายคนหนึ่ง พวกกรรมกรจึงตกใจ เกรงว่าจะถูกจับเอาไปลงโทษ ก็พากันถือเครื่องศัตราอาวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่าจะเดินบกข้ามภูเขาบรรทัด ไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวน เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปรกติ สงสัยว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย จะเอาตัวเข้ามาให้ไต่สวนที่เมือง ก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ ๘ คน คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทาง พวกจีนกรรมกรเป็นอันมาก พากันมากลุ้มรุมแทงฟันพวกชาวด่าน ชิงเอาพวกจีนที่ถูกจับไปได้หมด แล้วพวกจีนกรรมกรก็เลยเป็นกบฏ รวบรวมกันประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน ออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ฆ่าคนและเผาบ้านเรือนในเมืองระนอง พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปราม ก็ได้แต่รักษาบริเวณศาลากลางอันเป็นสำนักรัฐบาลไว้ พวกจีนกบฏจะตีเอาเงินที่ในคลังไม่ได้ ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทะเลบรรดามีที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบรรทุกลงในเรือ แล้วก็พากันลงเรือแล่นหนีไปทางทะเลประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ ก็พากันไปทางบก หนีไปยังที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวนประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเป็นกบฏก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเป็นกบฏแต่พวกปูนเถ้าก๋งหนีไปหมดแล้ว พวกงี่หินที่ยังอยู่ก็หาได้เป็นกบฏไม่

แต่ที่เมืองภูเก็ตมีจีนกรรมกรหลายหมื่น จำนวนมากกว่าเมืองระนองหลายเท่า และพวกจีนก็มีเหตุเดือดร้อนด้วยดีบุกตกราคา เช่นเดียวกันกับเมืองระนอง ทั้งยังมีเหตุอื่นนอกจากนั้น ด้วยพวกอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งสงสัยว่าเจ้าเมืองลำเอียง เข้ากับพวกงี่หิน มีความแค้นเคืองอยู่บ้างแล้ว พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาทางเรือจากเมืองระนอง มาถึงเมืองภูเก็ต แยกย้ายกันไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามโรงกงสีอั้งยี่พวกของตน ตามตำบลต่างๆ ไปเล่าว่าเกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุทธภัณฑ์ไม่มีพอมือจึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่างๆ ชักชวนพวกอั้งยี่ในกงสีของตนให้รวมกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิให้หัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้ แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน เวลานั้นพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงอยู่ ณ เมืองภูเก็ต มีเรือรบ ๒ ลำกับโปลิสสำหรับรักษาสำนักรัฐบาลประมาณ ๑๐๐ คนเป็นกำลัง ส่วนการปกครองเมืองภูเก็ตนั้น พระยาวิชิตสงคราม (ทัด) ซึ่งเป็นพระยาภูเก็ตอยู่จนแก่ชราจึงเลื่อนขึ้นเป็นจางวาง แต่ก็ยังว่าราชการและผูกภาษีผลประโยชน์เมืองภูเก็ตอยู่อย่างแต่ก่อน เป็นผู้ที่พวกจีนกรรมกรเกลียดชังว่าเก็บภาษีให้เดือดร้อน แต่หามีใครคาดว่าพวกจีนกรรมกรจะกำเริบไม่

แต่แรกเกิดเหตุเมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เวลาบ่ายวันนั้นกะลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบก ไปเมาสุรา เกิดทะเลาะกับพวกจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต แต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกะลาสีพวกนั้นกลับลงไปเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำมีกะลาสีพวกอื่น ๒ คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็นก็กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิสไประงับวิวาท จับได้จีนที่ตีกะลาสี ๒ คนเอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ในไม่ช้าก็มีจีนพวกใหญ่ประมาณ ๓๐๐ คน ซึ่งรวบรวมกันอยู่ในตลาด ถือเครื่องศัสตราอาวุธพากันไปรื้อโรงโปลิส แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ในเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ฆ่าฟัน พวกไทยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าจีนก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ที ก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัฐบาล และบ้านพระยาวิชิตสงคราม เป็นการกบฏออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้ แต่พระยามนตรีฯ ไม่หนี ตั้งต่อสู้อยู่ในบริเวณสำนักรัฐบาล และรักษาบ้านพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งอยู่ติดต่อกันไว้ด้วย ให้เรียกไทยบรรดามีในบริเวณศาลารัฐบาล และถอดคนโทษที่ในเรือนจำออกมาสมทบกับโปลิสซึ่งมีอยู่ ๑๐๐ คน แล้วได้ทหารเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก ๑๐๐ คน รายกันรักษาทางที่พวกจีนจะเข้าได้และเอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง แล้วให้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งอยู่ในเมือง เข้ามาประชุมกันที่ศาลารัฐบาลในค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้ส่งกำลังมาช่วย และมีหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่เมืองปีนังบอกข่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ และมีจดหมายบอกอังกฤษเจ้าเมืองปีนังให้กักเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ อย่าให้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต ให้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือใบไปยังเมืองปีนัง และที่อื่นๆ ตามสามารถจะไปได้ ในค่ำวันนั้นจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ พากันเข้าไปยังศาลารัฐบาลตามคำสั่งโดยมาก และรับจะช่วยรัฐบาลตามแต่พระยามนตรีฯ จะสั่งให้ทำประการใด พระยามนตรีฯ จึงสั่งให้พวกหัวหน้าเขียน “ตั๋ว” ออกไปถึงพวกแซ่ของตนที่มากับพวกผู้ร้าย สั่งให้กลับไปที่อยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไรพวกหัวหน้าต้นแซ่จะช่วยแก้ไขให้โดยดี ก็มีพวกกรรมกรเชื่อฟัง พากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเป็นกบฏอยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีศาลารัฐบาล พระยามนตรีฯ จึงจัดให้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัว ตั้งเป็นกองตระเวนคอยห้ามปรามอยู่เป็นแห่งๆ ที่ในเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบฏที่มีหัวหน้าโจกชักนำ ไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่ เมื่อเห็นว่าจะตีศาลารัฐบาลไม่ได้ ก็คุมกันเป็นพวกๆ แยกกันไปเที่ยวปล้นทรัพย์เผาเรือนพวกชาวเมือง ต่อออกไปถึงตามบ้านนอก ราษฎรน้อยกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด ก็เกิดเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียว ชาวบ้านได้สมภารวัดฉลองเป็นหัวหน้า อาจต่อสู้ชนะพวกจีน (ดังได้เล่ามาในนิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง) แม้พระยามนตรีฯ ก็มีกำลังเพียงจะรักษาศาลารัฐบาล ยังไม่สามารถจะไปปราบพวกจีนกบฏตามบ้านนอกได้

เมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ ได้รับโทรเลขว่าได้เกิดกบฏที่เมืองภูเก็ต จึงโปรดให้พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาการปราบอั้งยี่ได้สิทธิขาด (เพราะพระยามนตรีฯ เป็นลูกเขยพระยาวิชิตสงคราม เกรงจะบังคับการไม่ได้เด็ดขาด ต่อภายหลังจึงทราบว่า เพราะพระยามนตรีฯ ต่อสู้ จึงไม่เสียเมืองภูเก็ต) คุมเรือรบกับทหารและเครื่องศัสตราอาวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมออกไป พระยาประภาฯ ไปถึงเมืองภูเก็ต ก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักษ์ใต้เข้าเป็นกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ใกล้เคียงไปประชุมปรึกษากัน ให้ประกาศว่าจะเอาโทษแต่พวกที่ฆ่าคนและปล้นสะดม พวกกรรมกรที่มิได้ประพฤติร้ายเช่นนั้น ถ้าลุแก่โทษต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดี จะไม่เอาโทษ พวกจีนที่เป็นแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้าลุแก่โทษโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ได้ประพฤติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองในแดนอังกฤษ การจลาจลที่เมืองภูเก็ตก็สงบ

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาประภากรวงศ์ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง ๒ คน พวกกรมการที่ได้ช่วยรักษาเมืองภูเก็ตนั้น ก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เลื่อนบรรดาศักดิ์บ้าง ตามควรแก่ความชอบ ที่เป็นแต่หัวหน้าต้นแซ่ซึ่งได้ช่วยราชการครั้งนั้น โปรดให้สร้างเหรียญติดอกเป็นเครื่องหมายความชอบ (ซึ่งมาเปลี่ยนเป็นเหรียญดุษฎีมาลาเมื่อภายหลัง) พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบทุกคน แต่นั้นพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตก็ราบคาบ

เรื่องอั้งยี่งี่หินหัวควาย

เมื่อระงับอั้งยี่ที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นกบฏขึ้นเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีก ๙ ปีถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เกิดอั้งยี่กำเริบขึ้นตามหัวเมืองในแหลมมลายูอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอย่างแปลกประหลาดผิดกับที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยพวกอั้งยี่ล้วนเป็นไทยเอาไปอย่างจีนมาตั้งอั้งยี่ขึ้น เรียกพวกตัวเองว่า “งี่หินหัวควาย” แต่ในทางราชการใช้ราชาศัพท์เรียกว่า “งี่หินศีรษะกระบือ” หัวหน้ามักเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นสมภารอยู่ตามวัด เอาวัดเป็นกงสีที่ประชุม จะมีขึ้นที่เมืองไหนก่อนไม่ทราบแน่ แล้วผู้ต้นคิดแต่งพรรคพวกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คน คือสมภารตามวัดโดยเฉพาะให้ตั้งอั้งยี่งี่หินหัวควายขึ้นตามเมืองต่างๆ ทางเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองปทิว เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา ลงไปจนถึงเมืองกาญจนดิษฐ์ ทางเมืองฝ่ายตะวันตกก็เกิดขึ้นที่เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองคิรีรัตนนิคม และเมืองถลาง ก็แต่ธรรมดาของการตั้งอั้งยี่ เหมาะแต่เฉพาะกับจีน เพราะเป็นชาวต่างประเทศมาหากินอยู่ต่างด้าว จึงรวมเป็นพวกเพื่อป้องกันตัวมิให้พวกชาวเมืองข่มเหงอย่างหนึ่ง เพราะพวกจีนมาหากินด้วยเป็นกรรมกร อาศัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยค่าจ้างที่ได้จากค่าแรงงาน จึงรวมกันเป็นพวกเพื่อจะมิให้แย่งงานกันทำ และมิให้ผู้จ้างเอาเปรียบลดค่าจ้างโดยอุบายต่างๆ ตลอดจนสงเคราะห์กันในเวลาต้องตกยาก พวกจีนชั้นเลวจึงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนที่จะเข้าเป็นอั้งยี่ แต่ไทยเป็นชาวเมืองนั้นเอง ต่างมีถิ่นฐานทำการงานเลี้ยงชีพได้โดยอิสระลำพังตน ไม่มีกรณีที่ต้องเกรงภัยเหมือนอย่างพวกจีนกรรมกร การที่ตั้งอั้งยี่เป็นแต่พวกคนพาล ที่เป็นหัวหน้าประสงค์ลวงเอาเงินค่าธรรมเนียม โดยอ้างว่าถ้าเข้าเป็นอั้งยี่ จะเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างนั้นๆ ครั้นรวมกันตั้งเป็นอั้งยี่ ไม่มีกรณีอันเป็นกิจการของสมาคมอย่างพวกจีน พวกหัวโจกก็ชักชวนให้พวกอั้งยี่แสวงหาผลประโยชน์ ด้วยทำเงินแดงบ้าง ด้วยคุมกันเที่ยวปล้นสะดมชาวบ้านเอาทรัพย์สินบ้าง พวกงี่หินหัวควายมีขึ้นที่ไหนพวกชาวเมืองก็ได้ความเดือดร้อนเช่นเดียวกับเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม แต่การปราบปรามก็ไม่ยาก เพราะมีแต่แห่งละเล็กละน้อย ชาวเมืองก็พากันเกลียดชังพวกงี่หินหัวควาย คอยช่วยรัฐบาลอยู่ทุกเมือง ครั้งนั้นโปรดให้พระยาสุริยภักดี (ตัวชื่ออะไร และภายหลังจะได้มียศศักดิ์เป็นอย่างไร สืบยังไม่ได้ความ) เป็นข้าหลวงลงไปชำระทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ให้ข้าหลวงประจำภูเก็ต ชำระทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ให้จับแต่ตัวหัวหน้านายโจกและที่ได้กระทำโจรกรรม ส่งเข้ามาลงพระราชอาญาในกรุงเทพฯ พวกที่เป็นแต่เข้าเป็นอั้งยี่ ให้เรียกประกันทานบนแล้วปล่อยไป ในไม่ช้าก็สงบเงียบเรียบร้อย ถ้าไม่เขียนเล่าไว้ในที่นี้ก็เห็นจะไม่มีใครรู้ว่าเคยมีอั้งยี่ “งี่หินหัวควาย”

อั้งยี่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนขบวน

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ท่านยังดูแลควบคุมพวกอั้งยี่ต่อมาจนตลอดอายุของท่าน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ การควบคุมพวกอั้งยี่ตกมาเป็นหน้าที่ของกระทรวงนครบาล ตั้งแต่กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นเสนาบดีสืบมา จนถึงกรมพระนเรศรวรฤทธิ์เป็นนายกกรรมการบัญชาการกระทรวงนครบาล ก็ยังคงใช้วิธีเลี้ยงอั้งยี่อยู่อย่างเดิม แต่ผิดกันกับแต่ก่อนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนยำเกรงทั่วไปทั้งแผ่นดิน แต่เสนาบดีกระทรวงนครบาลมีอำนาจเพียงในกรุงเทพฯ บางทีจะเป็นเพราะเหตุนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว พวกอั้งยี่จึงคิดวิธีหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งทั้งที่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง คือนายอั้งยี่บางคนเข้ารับประมูลเก็บภาษีอากร ถ้าประมูลสู้คนอื่นไม่ได้ ก็ให้พวกอั้งยี่ของตนที่มีอยู่ในแขวงที่ประมูลนั้นคอยรังแกพวกเจ้าภาษี มิให้เก็บอากรได้สะดวกจนต้องขาดทุน เมื่อถึงคราวประมูลหน้าจะได้ไม่กล้าแย่งประมูลแข่งตัวนายอั้งยี่ เมื่อเกิดอุบายขึ้นอย่างนั้นคนอื่นก็เอาอย่าง มักเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ต่างพวกก่อการวิวาทขึ้นตามหัวเมือง หรือใช้กำลังขัดขวางเจ้าภาษี บางทีถึงรัฐบาลต้องปราบปราม ยกตัวอย่างดังเช่นพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ไม่ห่างกับสถานีรถไฟสายใต้ที่บางตาลนัก แต่สมัยนั้นยังเป็นป่าเปลี่ยว ชายแดนจังหวัดราชบุรีต่อกับจังหวัดนครปฐม ขุดคูทำเชิงเทินเหมือนอย่างตั้งค่าย พวกเจ้าภาษีไปจับ ถูกพวกอั้งยี่ยิงต่อสู้จนต้องหนีกลับมา แต่เมื่อรัฐบาลให้ทหารเอาปืนใหญ่ออกไป พวกอั้งยี่ก็หนีหมดไม่ต่อสู้ แต่พวกจีนเจ้าภาษี เขาคิดอุบายแก้ไขโดยใช้วิธีอย่างจีน บางคนจะผูกภาษีที่ไหนที่มีอั้งยี่มาก เขาชวนหัวหน้าให้เข้าหุ้นโดยมิต้องลงทุน บางแห่งก็ให้สินบนแก่หัวหน้าอั้งยี่ในท้องถิ่น รักษาความสงบมาได้

(๗)

ปราบอั้งยี่เมื่อรัชกาลที่ ๕

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก่อเหตุใหญ่อย่างไม่เคยมีเหมือนมาแต่ก่อน ด้วยถึงสมัยนั้นมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ๆ ตั้งขึ้นหลายโรง เรือกำปั่นไฟก็มีมารับสินค้ามากขึ้น เป็นเหตุให้มีจีนใหม่เข้ามามากกว่าแต่ก่อน พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินในเมืองไทยสมัยนี้ มีทั้งจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา และจีนฮกเกี้ยนมาจากเมืองเอ้หมึง จีนสองพวกนี้พูดภาษาต่างกัน และถือว่าชาติภูมิต่างกัน แม้มีพวกเถ้าเก๋รับจีนใหม่อยู่อย่างแต่ก่อน พวกจีนใหม่ต่างถือกันว่าเป็นพวกเขาพวกเรา พวกแต้จิ๋วทำงานอยู่ที่ไหนมาก ก็คอยเกียดกันรังแกพวกฮกเกี้ยนมิให้เข้าไปแทรกแซงแย่งงาน พวกฮกเกี้ยนก็ทำเช่นนั้นบ้าง จึงเกิดเกลียดชังกัน ไปประชันหน้ากันที่ไหนก็มักเกิดชกตีวิวาทในระหว่างกรรมกรจีนแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนเนืองๆ เลยเป็นปัจจัยให้อั้งยี่รวมกันเป็นพวกใหญ่แต่ ๒ พวก เรียกว่า “ตั้วกงสี” ของจีนแต้จิ๋วพวกหนึ่ง เรียกว่า “ซิวลี่กือ” ของจีนฮกเกี้ยนพวกหนึ่ง ต่างประสงค์จะแย่งงานกันและกัน กระทรวงนครบาลยังใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อยู่อย่างแต่ก่อน ถ้าเกิดเหตุอั้งยี่ตีกันก็สั่งให้นายอั้งยี่ไปว่ากล่าว แต่แรกก็สงบไปเป็นพักๆ แต่เกิดมีตัวหัวโจกขึ้นในอั้งยี่ทั้งสองพวก เป็นผู้หญิงก็มี หาค่าจ้างในการช่วยอั้งยี่แย่งงาน และช่วยหากำลังให้ในเวลาเมื่อเกิดวิวาทกัน พวกอั้งยี่ก็ไม่เชื่อฟังนายเหมือนแต่ก่อน แม้พวกนายอั้งยี่ก็ไม่ยำเกรงกระทรวงนครบาลเหมือนเคยกลัวสมเด็จเจ้าพระยาฯ พวกอั้งยี่จึงตีรันฟันแทงกันบ่อยขึ้น จนถึงรบกันในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒

ในสมัยนั้น (ค.ศ. ๑๘๘๙) มีหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ Bangkok Times ออกเสมอทุกวันแล้ว เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันตรวจเรื่องปราบอั้งยี่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ประกอบกับความทรงจำของฉัน ได้ความว่าเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการที่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ กระทรวงนครบาลเรียกพวกตัวนายหัวหน้าอั้งยี่ไปสั่งให้ห้ามปราม แต่อั้งยี่มีหัวโจกหนุนหลังอยู่ก็ไม่ฟังพวกนายห้าม พอถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พวกอั้งยี่ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคา และเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราษฎรที่ริมถนนเจริญกรุง ตอนใต้วัดยานนาวา เอาไปทำค่ายบังตัวขวางถนนเจริญกรุงทั้ง ๒ ข้าง เอาท้องถนนตรงหลังโรงสีของห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่าโรงสีปล่องเหลี่ยมเป็นสนามรบ พวกเจ้าของโรงสีทั้งที่เป็นฝรั่งและจีน ห้ามพวกอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรของตนก็ไม่ฟัง พลตระเวนห้ามก็ไม่หยุด กองตระเวนเห็นจีนมากเหลือกำลังที่จะจับกุม ก็ต้องถอยออกไปรักษาอยู่เพียงภายนอกแนวที่วิวาท ท้องที่ถนนเจริญกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไป ก็ตกอยู่แก่อั้งยี่ทั้ง ๒ พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน โรงสีและตลาดยี่สานการค้าขายแต่บางรักลงไปต้องหยุดหมด และมีกิตติศัพท์ว่าพวกอั้งยี่จะเผาโรงสีที่พวกศัตรูอาศัย เจ้าของโรงสีก็พากันตกใจ ที่เป็นโรงสีของฝรั่งไล่จีนออกหมดแล้วปิดประตูบริเวณ ชวนพวกฝรั่งถืออาวุธไปช่วยกันล้อมวงรักษาโรงสี แต่โรงสีที่เจ้าของเป็นจีนไม่กล้าไล่พวกกุลี เป็นแต่ให้ปิดโรงสีไว้ พวกอั้งยี่ยังรบกันต่อมาในวันที่ ๒๐ ถึงตอนบ่ายวันนั้นกระทรวงนครบาลให้ข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวง คุมพลตระเวนลงไปกองหนึ่ง เพื่อจะห้ามวิวาท แต่พวกอั้งยี่มากกว่า ๑,๐๐๐ กำลังเลือดร้อนรบพุ่งกันไม่อ่อนน้อม ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ หนังสือพิมพ์ว่าพวกอั้งยี่รบกัน ๒ วัน ยิงกันตายสัก ๒๐ คน ถูกบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ เอาคนเจ็บไปฝากตามบ้านฝรั่งที่อยู่ในแถวนั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ทหารก็ลงไปปราบ

เพราะเหตุใด ทหารจึงลงไปปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น ควรจะเล่าถึงประวัติทางฝ่ายทหารที่ปราบอั้งยี่เป็นครั้งแรกไว้ด้วย แต่เดิมทหารบกแยกการบังคับบัญชาเป็นกรมๆ ต่างขึ้นตรงต่อพระองค์พระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันทั้งนั้น ทหารเรือก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ โปรดให้ตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น และรวมการบังคับบัญชาทหารบกทุกกรมกับทั้งทหารเรือ ให้ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ เมื่อได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อยังเป็นกรมพระ (จะเรียกต่อไปตามสะดวกอย่างเรียกในรัชกาลที่ ๗ ว่า สมเด็จพระราชปิตุลา) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ว่าถ้ากระทรวงนครบาลไม่สามารถจะระงับได้ จะต้องให้ทหารปราบ กรมยุทธนาธิการมีเวลาเตรียมตัว ๒ วัน คณะบัญชาการมีสมเด็จพระราชปิตุลาเป็นนายพลเอกผู้บัญชาการพระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อยังเป็นกรมขุน เป็นนายพลตรีจเรกรมยุทธนาธิการพระองค์หนึ่ง ตัวฉันเมื่อยังเป็นกรมหมื่น เป็นนายพลตรีผู้ช่วยบัญชาการทหารบกคนหนึ่ง นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน รักษาการแทนนายพลเรือตรี พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือซึ่งเสด็จไปยุโรปคนหนึ่ง ประชุมปรึกษาการที่จะปราบอั้งยี่ เห็นพร้อมกันว่าจะปราบได้ไม่ยากนัก เพราะพวกอั้งยี่ถึงมีมาก ก็ไม่มีศัสตราวุธซึ่งสามารถจะสู้ทหาร อีกประการหนึ่ง อั้งยี่ตั้งรบอยู่ในถนนเจริญกรุงเป็นที่แคบ ข้างตะวันตกติดแม่น้ำ ข้างตะวันออกก็เป็นท้องนา ถ้าให้ทหารยกลงไปทางบกตามถนนเจริญกรุงกองหนึ่ง ให้ลงเรือไปขึ้นบนข้างใต้ที่รบยกขึ้นมาถนนเจริญกรุงอีกกองหนึ่ง จู่เข้าข้างหลังที่รบพร้อมกันทั้งข้างเหนือและข้างใต้ ก็คงล้อมพวกอั้งยี่ได้โดยง่าย แต่การที่จะจับพวกอั้งยี่นั้นมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจะให้ทหารทำการเข้าขบวนรบ ถ้าไปทำแรงเกินไปหรืออ่อนเกินไป ก็จะเสียชื่อทหารทั้งสองสถาน จะต้องระวังในข้อนี้ มีคำสั่งให้ทหารเข้าใจทุกคนว่าต้องจับแต่โดยละม่อม ต่ออั้งยี่คนใดสู้หรือไม่ยอมให้จับ จึงให้ใช้อาวุธ อีกประการหนึ่งจะต้องเลือกตัวหัวหน้าที่จะคุมทหาร ให้วางใจว่าจะทำการสำเร็จได้ แล้วปรึกษาเลือกกรมทหารที่จะให้ลงไปปราบอั้งยี่ด้วย ในเวลานั้นทหารมหาดเล็กกับทหารเรือถือปืนอย่างดีกว่ากรมอื่น จึงกะให้ทหารมหาดเล็กเป็นกองหน้าสำหรับจับอั้งยี่ ให้ทหารรักษาพระองค์เป็นกองหนุน รวมกัน ๔ กองร้อย ให้เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) เมื่อยังเป็นนายพันตรี จมื่นวิชิตชัยศักดาวุธ รองผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก เป็นผู้บังคับการ ให้นายร้อยเอกหลวงศัลวิธานนิเทศ (เชา ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นพระยาวาสุเทพ อธิบดีกรมตำรวจภูธร) ครูฝึกหัดทหารมหาดเล็ก เป็นผู้ช่วย สำหรับยกลงไปทางข้างเหนือ ส่วนกองที่จะขึ้นมาทางใต้นั้น ให้ทหารเรือจัดพลจำนวนเท่ากันกับทหารบก และพระยาชลยุทธฯ รับไปบังคับการเอง เมื่อคณะบัญชาการกะโครงการแล้ว เรียกผู้บังคับการกรมทหารต่างๆ ไปประชุมที่ศาลายุทธนาธิการ สั่งให้เตรียมตัวทุกกรม นอกจากทหารมหาดเล็กกับทหารรักษาพระองค์และทหารเรือ ซึ่งมีหน้าที่ไปปราบอั้งยี่นั้น ให้ทหารกรมอื่นๆ จัดกองพลรบพร้อมสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธเตรียมไว้ที่โรงทหาร เรียกเมื่อใดให้ได้ทันทุกกรม เตรียมทหารพร้อมเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน รอฟังกระแสรับสั่งว่าจะให้ยกไปเมื่อใดก็ไปได้

ในกลางคืนวันที่ ๒๐ นั้น เวลา ๒ นาฬิกา ฉันกำลังนอนหลับอยู่ที่บ้านเก่าที่สะพานดำรงสถิต สมเด็จพระราชปิตุลากับสมเด็จกรมพระนริศฯ เสด็จไปปลุก เรียกขึ้นรถมายังศาลายุทธนาธิการ พระยาชลยุทธฯ ก็ถูกตามไปอยู่พร้อมกัน สมเด็จพระราชปิตุลาตรัสบอกว่าเมื่อประชุมเสนาบดีในค่ำวันนั้น ท่านได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเตรียมทหารพร้อมแล้ว จะโปรดให้ไปปราบอั้งยี่เมื่อใด ก็จะรับสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกระทรวงนครบาล กระทรวงนครบาลกราบทูลว่ายังหวังใจว่าจะห้ามให้เลิกกันได้ ไม่ถึงต้องใช้ทหาร พระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย ตรัสว่ากระทรวงนครบาลได้รับมาหลายครั้งแล้วก็ไม่เห็นห้ามให้หยุดได้ ดำรัสสั่งเป็นเด็ดขาดว่า กระทรวงนครบาลไม่ระงับอั้งยี่ได้ในวันที่ ๒๐ นั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ก็ให้ทหารลงไปปราบทีเดียว ไม่ต้องรั้งรอต่อไปอีก เมื่อเลิกประชุมเสนาบดีแล้ว สมเด็จพระราชปิตุลาทรงนัดพบกับกรมพระนเรศฯ ผู้บัญชาการกระทรวงนครบาล ให้ไปพร้อมกันที่ศาลายุทธนาธิการแต่เวลาก่อนสว่าง ถ้าเวลานั้นอั้งยี่สงบแล้วทหารจะได้งดอยู่ ถ้ายังไม่สงบพอรุ่งสว่างจะให้ทหารยกลงไปทีเดียว คณะบัญชาการจึงเรียกผู้บังคับการทหารกรมต่างๆ กับทั้งทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์ที่จะให้ไปปราบอั้งยี่ มายังศาลายุทธนาธิการในตอนดึกค่ำวันนั้น พระยาชลยุทธฯ ก็กลับไปจัดเรือบรรทุกทหารเรือเตรียมไว้ พอเวลาใกล้รุ่งกรมพระนเรศฯ เสด็จไปถึง ทูลสมเด็จพระราชปิตุลาว่าให้คนลงไปสืบอยู่แล้ว บัดเดี๋ยวหนึ่งนายอำเภอนครบาลมาถึง ทูลว่าพวกอั้งยี่กำลังเอาปืนใหญ่ขึ้นจากเรือทะเลมา จะตั้งยิงกัน กรมพระนเรศฯ ก็ตรัสว่าเหลือกำลังนครบาลแล้ว ให้ทหารปราบเถิด การที่ทหารปราบอั้งยี่ก็ลงมือแต่เวลานั้นไป

ก็ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ พอเวลาย่ำรุ่งต้องให้ทหารรักษาพระองค์ซึ่งเป็นกองหนุนเดินลงไปก่อน สั่งให้ไปพักอยู่ที่วัดยานนาวา และให้พนักงานไปตั้งสถานีโทรศัพท์สำหรับบอกรายงานถึงศาลายุทธนาธิการ ณ ที่นั้นด้วย แต่ทหารมหาดเล็กนั้นให้รออยู่ พอรถรางไฟฟ้าขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง ก็สั่งให้ยึดไว้หมดทุกหลัง แล้วให้ทหารมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันลงไป พวกรถรางรู้ว่าทหารจะไปปราบอั้งยี่ก็ออกสนุก เต็มใจช่วยทหารเพราะถูกอั้งยี่รังแกเบื่อเหลือทนอยู่แล้ว ส่วนทหารเรือก็ออกจากท่า กะเวลาแล่นลงไปให้ถึงพร้อมๆ กับทหารบก ถึงเวลา ๘ นาฬิกาก็สามารถเข้าล้อมพวกอั้งยี่ พร้อมกันทั้งทางข้างเหนือและข้างใต้ดังหมายไว้แต่แรก พวกอั้งยี่ไม่ได้นึกว่าทหารจะลงไปปราบ รู้เมื่อทหารถึงตัวแล้วก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร มีตัวหัวโจกต่อสู้ถูกทหารยิงตายสักสองสามคน พวกอั้งยี่ก็สิ้นคิด ที่อยู่ห่างทหารก็พากันหลบหนี ที่อยู่ใกล้กลัวทหารยิงก็ยอมให้ทหารจับโดยดี ในสมัยนั้นจีนยังไว้ผมเปีย ทหารจับได้ก็ให้เอาผมเปียผูกกันไว้เป็นพวงๆ ที่ทหารเรือจับได้ก็เอาลงเรือส่งขึ้นมา ที่ทหารบกจับได้ เจ้าพระยาราชศุภมิตรก็ให้ทหารรักษาพระองค์คุมเดินขึ้นมาทางถนนเจริญกรุงเป็นคราวๆ ราวหมู่ละ ๑๐๐ คน พวกชาวเมืองไม่เคยเห็น ตื่นกันมาดูแน่นทั้งสองฟากถนนตลอดทาง ทหารจับพวกอั้งยี่ที่ในสนามรบเสร็จแต่เวลาก่อนเที่ยง พวกหญิงชายชาวบ้านร้านตลาดพากันยินดี หาอาหารมาเลี้ยงกลางวัน พอกินแล้วก็เที่ยวค้นจับพวกอั้งยี่หลบหนีไปเที่ยวซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ต่อไป ตอนนี้มีพวกนายโรงสีและชาวบ้านพากันนำทหารไปเที่ยวค้นจับได้พวกอั้งยี่อีกมาก ตัวหัวโจกซึ่งรีบหลบหนีไปเสียก่อนก็จับได้ในตอนบ่ายนี้แทบทั้งนั้น รวมจำนวนอั้งยี่ที่ถูกทหารยิงตายไม่ถึง ๑๐ คน ถูกบาดเจ็บสัก ๒๐ คน จับได้โดยละม่อมราว ๘๐๐ คน ได้ตัวหัวโจก ๘ คน เมื่อเสร็จการจับแล้วถึงตอนเย็น กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้าลงไปอยู่ประจำรักษาความสงบในท้องที่ เรียกทหารมหาดเล็กกับทหารเรือกลับมา บริษัทรถรางขอจัดรถรับส่งทหารทั้งขาขึ้นและขาลง แล้วแต่ทหารจะต้องการ ก็ไปมาได้โดยสะดวก เมื่อขบวนรถรางรับทหารมหาดเล็กกลับขึ้นมาในวันจับอั้งยี่นั้น พวกชาวเมืองทางข้างใต้ทั้งไทยจีนแขกฝรั่ง พากันมายืนอวยชัยให้พรแสดงความขอบใจทหารมหาดเล็ก เจ้าพระยาราชศุภมิตรเล่าว่ายืนมาหน้ารถ ต้องจับกะบังหมวกรับคำนับมาแทบไม่มีเวลาว่างจนตลอดแขวงบางรัก ในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขียนตามเสียงฝรั่งในสมัยนั้น ก็สรรเสริญมาก ทั้งที่รัฐบาลให้ทหารไปปราบอั้งยี่ได้โดยเด็ดขาดรวดเร็ว และชมทหารไทยว่ากล้าหาญว่องไว ชมต่อไปถึงที่ทหารจับอั้งยี่โดยไม่ดุร้ายเกินกว่าเหตุ เมื่อจับอั้งยี่แล้ว กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้ารักษาท้องที่วิวาทอยู่ ๓ วัน เห็นสงบเรียบร้อยดีแล้วก็ให้ถอนทหาร มอบท้องที่ให้กรมตระเวนกลับรักษาอย่างเดิม ส่วนพวกอั้งยี่ที่จับตัวได้ครั้งนั้น พระเจ้าอยู่โปรดให้ตั้งศาลพิเศษชำระ พิพากษาให้จำคุกหัวหน้าตัวการหมดทุกคน แต่พวกสมพลดูเหมือนให้โบยคนละเล็กละน้อยให้เข็ดหลาบแล้วปล่อยตัวไป แต่นั้นพวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก็ราบคาบ ไม่กล้าทะนงศักดิ์ในสมัยต่อมา

(๘)

เปลี่ยนวิธีควบคุมอั้งยี่

เมื่อปราบอั้งยี่ครั้งนั้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้มีสมาคมอั้งยี่ในพระราชอาณาเขตอีกต่อไป รัฐบาลอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์รู้ว่าไทยสามารถปราบอั้งยี่ได้ ก็ประกาศสั่งให้เลิกสมาคมอั้งยี่ในเมืองขึ้นของอังกฤษตามอย่างเมืองไทย วิธีเลี้ยงอั้งยี่ก็เลิกหมดแต่นั้นมา

เมื่อปราบอั้งยี่เสร็จแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ นั้นเอง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นอธิบดีกระทรวงโยธาธิการ และให้ตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ มีศักดิ์เสมอเสนาบดี ก็ต้องออกจากตำแหน่งในกรมยุทธนาธิการด้วย แต่ยังคงมียศเป็นนายพลและเป็นราชองครักษ์อยู่อย่างเดิม เวลาตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการอยู่ ๒ ปี ไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับอั้งยี่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงกลับมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอั้งยี่อีก ด้วยต้องระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ ถึงสมัยนี้ไม่มีพวกอั้งยี่พวกใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ยังมีพวกจีนลักลอบตั้งอั้งยี่ตามหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ อยู่เนืองๆ มีขึ้นที่ไหนก็ปราบได้ไม่ยาก บางเรื่องก็ออกจะขบขัน ดังจะเล่าเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อแรกตั้งมณฑลราชบุรี เวลานั้นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาสุรินทรฤๅชัย เป็นสมุหเทศาภิบาล มีพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ทำสนามเพลาะสำหรับต่อสู้ขึ้นอีกเหมือนอย่างครั้งก่อนที่ได้เล่ามาแล้ว เวลานั้นยังไม่มีตำรวจภูธร ฉันถามเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ว่าจะต้องการทหารปืนใหญ่เหมือนอย่างปราบครั้งก่อนหรืออย่างไร เจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ตอบว่าจะปราบด้วยกำลังในพื้นเมืองดูก่อน ต่อมาสักหน่อยได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่ทิ้งค่ายที่ดอนกระเบื้องหนีไปหมดแล้ว ฉันพบเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ถามว่าท่านปราบอย่างไร ท่านบอกว่าใช้วิธีของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านเคยรู้มาแต่ก่อน ได้บอกหมายสั่งเกณฑ์กำลังและเครื่องอาวุธให้ปรากฏว่าจะไปปราบซ่องจีนที่ดอนกระเบื้อง แล้วให้เอาปืนใหญ่ทองเหลืองที่มีทิ้งอยู่ใต้ถุนเรือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ๒ กระบอก ออกมาขัดสีที่สนามในบริเวณจวนของท่าน ว่าจะเอาไปยิงค่ายจีนที่ดอนกระเบื้อง พอข่าวระบือไปพวกอั้งยี่ก็หนีหมดเพราะพวกเจ๊กกลัวปืนใหญ่ แต่เมื่อตั้งตำรวจภูธรแล้วก็ไม่ต้องใช้อุบายอย่างนั้นอีก แต่อั้งยี่ที่มีขึ้นตามหัวเมืองในชั้นฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยปราบปรามไม่ยากอันใด ถึงกระนั้นเมื่อคิดดูก็น่าพิศวง ว่าเพราะเหตุใดพวกจีนจึงยังตั้งอั้งยี่ พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่เคยเกิดอั้งยี่มาแต่ก่อน เป็นต้นว่าการห้ามสูบฝิ่นอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่มีแล้ว เหตุที่แย่งกันรับจีนใหม่ก็ไม่มีตามหัวเมือง เหตุที่แย่งกันผูกภาษีอากรก็ดี ที่ถูกเจ้าภาษีนายอากรเบียดเบียนก็ดี ก็ไม่มีแล้ว เพราะรัฐบาลเก็บภาษีอากรเอง การปกครองท้องที่ก็เรียบร้อย ไม่ต้องมีปลัดจีนหรือกงสุลจีนในบังคับสยามเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว ไฉนจึงยังมีอั้งยี่ตามหัวเมือง สังเกตดูนักโทษที่ต้องจับเพราะเป็นอั้งยี่ ดูก็มักจะเป็นชั้นคนทำมาหากินไม่น่าจะเป็นอั้งยี่ นึกสงสัยว่าชะรอยจะมีเหตุอะไรที่ยังไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลให้มีอั้งยี่ตามหัวเมือง ฉันจึงปรารภกับพระยาอรรถการยบดี (ชุ่ม อรรถจินดา) ซึ่งภายหลังได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เวลานั้นยังเป็นพระยาราชเสนา หัวหน้าพนักงานอัยการในกระทรวงมหาดไทยให้ลองสืบสวนราษฎรในท้องถิ่น โดยเฉพาะพวกนักโทษที่เคยเข้าอั้งยี่ ว่าเหตุใดจึงยังมีคนสมัครเป็นอั้งยี่ สืบอยู่ไม่ช้าก็ได้เค้าว่ามีจีนพวกหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ (จะเรียกต่อไปว่าพวกต้นคิด) หากินด้วยการตั้งอั้งยี่ตามหัวเมือง วิธีของจีนพวกต้นคิดนั้น ถ้าเห็นว่าอาจจะตั้งอั้งยี่ได้ในถิ่นใดอันเป็นที่มีจีนตั้งทำมาหากินอยู่มาก และมีการแข่งขันการค้าขาย ก็แต่งพรรคพวกให้ออกไปอยู่ที่ถิ่นนั้น อย่างว่าไปทำมาหากิน แต่แยกกันไปอยู่เป็น ๒ พวก เหมือนกับไม่รู้จักมักคุ้นกัน แล้วเสาะหาจีนที่เป็นคนเกกมะเหรกในที่นั้นคบหา ยุยงให้วิวาทกับคนอื่น บางทีก็หาพวกจีนที่เป็นหัวไม้ออกไปจากกรุงเทพฯ ให้ไปก่อวิวาทเกิดตีรันกันขึ้นเนืองๆ จนคนในถิ่นนั้นเกิดหวาดหวั่น เกรงพวกคนพาลจะทำร้ายก็เกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้าพวกช่วยกันป้องกันภัย ในไม่ช้าพวกจีนในถิ่นนั้นก็แตกกันเป็นพวกเขาพวกเรา แล้วเลยตั้งอั้งยี่เป็น ๒ พวก แต่นั้นพวกลูกสมุนก็วิวาทกันเองเนืองๆ ถ้ารัฐบาลจับกุมเมื่อใดก็กลับเป็นคุณแก่พวกต้นคิด ซึ่งหลบหนีเอาตัวรอดเสียก่อน แล้วกลับไปหาผลประโยชน์ด้วยเรี่ยไร “เต๊ย” เอาเงินจากอั้งยี่พวกของตน โดยอ้างว่าจะเอาไปช่วยพรรคพวกที่ถูกจับ เอากำไรในการนั้น ถึงโดยว่าไม่มีการจับกุม เมื่อถึงเทศกาลก็เต๊ยเงินทำงานปีไหว้เจ้าเอากำไรได้อีกเสมอทุกปี สืบได้ความดังว่ามานี้ ฉันจึงคิดอุบายแก้ไขได้ลองใช้อุบายนั้นครั้งแรกเมื่อพวกอั้งยี่ตีกันที่บางนกแขวก แขวงจังหวัดราชบุรี จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันให้พระยาอรรถการยบดีออกไประงับ สั่งไปให้พยายามสืบจับเอาตัวพวกต้นคิดด้วยเกลี้ยกล่อมพวกคนในท้องถิ่นที่เข้าอั้งยี่ ถ้าคนไหนให้การรับสารภาพบอกความตามจริง ให้เรียกทานบนปล่อยตัวไป อย่าให้จับเอาตัวมาฟ้องศาลเหมือนอย่างแต่ก่อน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ให้เอาตัวต้นคิดเป็นจำเลย เอาพรรคพวกเป็นพยาน พระยาอรรถการยฯ ออกไปทำตามอุบายนั้นได้ผลสำเร็จบริบูรณ์ พอสืบจับได้ตัวจีนต้นคิดที่ออกไปจากกรุงเทพฯ ๕ คนเท่านั้น อั้งยี่ที่บางนกแขวกก็สงบเงียบทันที การระงับอั้งยี่ตามหัวเมืองจึงใช้วิธีอย่างนั้นสืบมา สังเกตดูอั้งยี่ที่เกิดขึ้นในชั้นภายหลังทหารปราบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ดูเป็นแต่การหากินของจีนเสเพล ค้าความกลัวของผู้อื่น เอากำไรเลี้ยงตัวเท่านั้น.

นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองบ้านเมือง โปรดให้ตั้งกระทรวงเสนาบดี ซึ่งแต่ก่อนมีเพียง ๗ กระทรวง เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ กระทรวง และเปลี่ยนตัวเสนาบดีบางกระทรวง ตัวฉันก็โปรดให้ย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในคราวนั้น เสนาบดีต่างกระทรวงต่างจัดการในกระทรวงของตนให้เจริญทันสมัย การงานในกระทรวงต่างๆ มีมากขึ้น และทำละเอียดกว่าแต่ก่อน ทั้งมีการคิดจัดใหม่เพิ่มขึ้นเนืองๆ ต้องการคนรับราชการในกระทรวงต่างๆ มากขึ้น เสมียนตามกระทรวงซึ่งมีอยู่แต่ก่อนหย่อนความรู้ ไม่สามารถจะทำการงานตามระเบียบใหม่ได้ทันกับการที่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเจ้ากระทรวงจึงต้องแสวงหาคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ เช่นนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนต่างๆ มาเป็นเสมียน ต่อมาเมื่อเสมียนเหล่านั้นทำการงานดีมีความสามารถ เจ้ากระทรวงก็กราบบังคมทูลขอให้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกระทรวงตามคุณวุฒิ เป็นเช่นนั้นมาราวสัก ๕ ปี ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรารภแก่ฉัน ว่าขุนนางที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ในชั้นนี้ไม่ใคร่ทรงรู้จัก แต่ก่อนมาลูกผู้ดีที่จะทำราชการย่อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ในเวลาเป็นมหาดเล็ก ได้เข้าเฝ้าแหนรับราชการอยู่ในราชสำนัก ทรงรู้จักแทบทุกคน บางคนก็ได้เป็นนายรองและหุ้มแพรรับราชการในกรมมหาดเล็กก่อน แล้วจึงไปเป็นขุนนางต่างกระทรวง ขุนนางที่ไม่ได้เคยเป็นมหาดเล็ก เช่นพวกที่ขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงมีน้อย แต่เดี๋ยวนี้ขุนนางขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงเป็นพื้น ไม่เคยเป็นมหาดเล็กจึงไม่ทรงรู้จัก (บางทีกระทรวงมหาดไทยของฉันเอง จะเป็นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง ฉันต้องหาคนจำพวกนักเรียนส่งไปปีละมากๆ เมื่อคนเหล่านั้นคนไหนไปทำการงานดีมีความสามารถถึงขนาด ฉันก็กราบบังคมทูลขอให้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามธรรมเนียม จำนวนคนรับสัญญาบัตรขึ้นใหม่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมากกว่ากระทรวงอื่นๆ แต่ข้อนี้ฉันยังไม่ได้คิดเห็นในเวลานั้น) เมื่อได้ฟังพระราชปรารภแล้ว ฉันจึงมาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าประเพณีโบราณซึ่งให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเสียก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตากรุณาและไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการ เมื่อได้รู้จักและทราบพระราชอัธยาศัยพระเจ้าแผ่นดิน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความจงรักภักดี และยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะมหาดเล็กได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสไปศึกษาขนบธรรมเนียมและฝึกหัดกิริยามารยาทกับทั้งได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนได้คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็กซึ่งจะไปรับราชการด้วยกัน มีโอกาสที่จะผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันหน้า ว่าโดยย่อเห็นว่าประเพณีที่เป็นประโยชน์อันน่าจะรักษาไว้ หาควรปล่อยให้สูญเสียไม่ เมื่อคิดต่อไปว่าจะคิดแก้ไขด้วยประการใดดี เห็นว่าจะกลับใช้ประเพณีเหมือนอย่างเดิมไม่เหมาะกับราชการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้การงานในกระทรวงเป็นสำคัญ เป็นแต่เพียงมหาดเล็ก จะรับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามกระทรวง ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้ ทางที่จะแก้ไขควรจะให้มีโรงเรียนขึ้นในกรมมหาดเล็ก ให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสให้เข้าเฝ้าแหนให้ทรงรู้จัก ทั้งให้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักไปด้วยกันกับความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ แล้วให้ไปสำรองราชการอยู่ตามกระทรวงเสียชั้นหนึ่งก่อน จนทำการงานได้ดีถึงขนาด จึงให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนาง ต่อชั้นนั้นก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองอย่างประกอบกัน ฉันกราบบังคมทูลความคิดเห็นเช่นว่ามา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เดิมมีพระราชประสงค์จะให้ฉันจัดโรงเรียนนั้นเหมือนอย่างเคยจัด “โรงเรียนสวนกุหลาบ” มาในกระทรวงธรรมการ แต่ฉันกราบบังคมทูลขอตัว ด้วยเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กจะฝึกหัดข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง อธิบดีโรงเรียนอิสระต่างหากจากกระทรวงต่างๆ จะดีกว่า แต่จะต้องเป็นผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาความรู้ถึงผู้คนนับถือ จึงจะจัดการได้สะดวก เดิมพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดแล้ว เป็นอธิบดีจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่พระองค์เจ้าระพีฯ กราบบังคมทูลว่าได้ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นสำคัญ สมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการก็พอเหมาะอีกทางหนึ่ง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการแก้ไขระเบียบศาลยุติธรรมอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เวลานั้นกระทรวงยุติธรรมยังบัญชาการแต่ศาลในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถจะรับจัดการศาลยุติธรรมได้ทั่วพระราชอาณาเขต ศาลยุติธรรมตามหัวเมืองยังขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตามประเพณีเดิม ทรงพระราชดำริว่าจะรอการจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ไว้จนกระทรวงยุติธรรมสามารถรับจัดศาลหัวเมืองได้ก็จะช้านัก จึงดำรัสสั่งให้ลงมือจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมืองด้วยอีกอย่างหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ฉันกราบทูลขอให้ตั้งต้นจัดแต่ในมณฑลอยุธยาดูก่อน จึงทรงตั้งข้าหลวงพิเศษสังกัดขึ้นในกระทรวงมหาดไทยคณะหนึ่ง ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ เป็นนายก พระยาไกรศรี (เปล่ง) เนติบัณฑิตอังกฤษ กับมิสเตอร์ เกิก แปตริก เนติบัณฑิตเบลเยี่ยม (ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส) ทั้ง ๓ คนนี้ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ มีข้าหลวงพิเศษในท้องที่อีก ๒ คน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑล กับพระยาชัยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา รวมทั้งคณะ ๕ คน เริ่มจัดการศาลหัวเมืองในครั้งนั้น การที่ทรงตั้งข้าหลวงพิเศษจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมืองครั้งนั้น เป็นมูลของระเบียบการศาลยุติธรรม ซึ่งใช้ต่อไปถึงที่อื่นๆ ในภายหลังตลอดมา

แต่การที่จะตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องรอหาตัวผู้ที่จะเป็นอธิบดีอยู่ปีหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ เจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ในกรมทหารเล็กกลับจากยุโรป พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเหมาะแก่ตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก ด้วยเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเรียนวิชาความรู้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และได้ไปเป็นพระครูของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี ในระหว่างนั้นตัวเองก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้เคยรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย เข้าใจระเบียบราชการพลเรือนอยู่แล้ว และมีตำแหน่งในกรมมหาดเล็กด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก แต่โปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษา ตรัสว่าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ก็เคยเป็นเลขานุการของฉันมาแต่ก่อน คงจะทำการด้วยกันได้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์กับฉันปรึกษากันกะโครงการที่จะจัดโรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระเบียบการดังนี้ คือ

๑. จะรับนักเรียนอายุระหว่าง ๑๕ จนถึง ๒๐ ปี และเป็นผู้ดีโดยสกุลหรือโดยฐานะอันสมควรจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ ทั้งต้องให้มีความรู้เรียนมาแต่ที่อื่น ถึงชั้นมัธยมในสมัยนั้น

๒. จะมีนักเรียนจำกัดจำนวนเพียงเท่าที่กระทรวงต่างๆ ปรารถนาหาผู้มีความรู้เข้ารับราชการ ไม่รับนักเรียนมากเกินไปจนหางานทำไม่ได้ แต่จะกวดขันในการฝึกสอนให้มีความรู้ดีกว่านักเรียนที่กระทรวงต่างๆ จะหาได้ที่อื่นในสมัยนั้น

๓. หลักสูตรของโรงเรียนจะจัดเป็น ๓ ภาค กะเวลาเรียนราวภาคละปี ภาคที่หนึ่ง เมื่อก่อนนักเรียนจะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ให้เรียนวิชาเสมียน อันเป็นความรู้เบื้องต้นของข้าราชการเหมือนกันทุกกระทรวง เมื่อเรียนภาคที่หนึ่งสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สองจึงให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ฝึกสอนขนบธรรมเนียมในราชสำนักด้วยกันกับความรู้พิเศษซึ่งต่างกระทรวงต้องการต่างกัน เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สามให้ไปศึกษาราชการในกระทรวงซึ่งจะไปอยู่ แต่ยังคงเป็นมหาดเล็ก ไปจนมีความสามารถถึงขนาดที่กำหนดไว้ในกระทรวง ได้เป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตรในกระทรวงนั้นแล้ว จึงปลดขาดจากโรงเรียน นำโครงการนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วก็เปิดโรงเรียนมหาดเล็กที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรีทางฝ่ายตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก กำหนดจะรับนักเรียนเพียง ๕๐ คน พอเปิดโรงเรียนแล้วไม่ช้าก็มีคนสมัครเป็นนักเรียนพอต้องการ ส่วนการฝึกสอนในปีแรกสอนแต่ภาคที่หนึ่งคือวิชาเสมียน ให้ครูหัดเสมียนในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้สอน ขึ้นปีที่สองมีนักเรียนสอบความรู้สำเร็จ ๗ คน พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก คือ:-

๑. นายขวัญ ณ ป้อมเพชร

ภายหลังได้เป็น พระยาจงรักษ์นรสีห์

๒. นายเลื่อน ณ ป้อมเพชร

ภายหลังได้เป็น พระยาชวกิจบรรหาร

๓. นายสวัสดิ์ มหากายี

ภายหลังได้เป็น พระยานครพระราม

๔. นายทอง จันทรางสุ

ภายหลังได้เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์

๕. นายสว่าง จุลวิธูร

ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถศาสตรโสภณ

๖. นายสงวน สตรัต

ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถกวีสุนทร

๗. นายเป้า จารุเสถียร

ภายหลังได้เป็น พระยาพายัพพิริยกิจ

นักเรียนที่ถวายตัวแล้วแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก และเวลามีการงานในราชสำนักเข้าเฝ้าแหนกับมหาดเล็กเสมอ ส่วนการฝึกสอนความรู้สำหรับราชสำนักอันเป็นภาคสองนั้น ได้พระยาชัยนันท์นิพัฒน์พงศ์ (เชย ชัยนันท์) เมื่อยังเป็นจ่ารงมหาดเล็ก เป็นครูเริ่มสอนในปีที่สอง แต่การสอนความรู้พิเศษซึ่งต้องการต่างกันเฉพาะกระทรวง มีความขัดข้องด้วยยังไม่รู้ว่ากระทรวงต่างๆ จะอยากได้นักเรียนมหาดเล็กมีความรู้อย่างใดบ้าง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ วิตกว่าถ้าต่างกระทรวงกะความรู้พิเศษต่างๆ มาให้สอนพร้อมกันหมดทุกกระทรวง โรงเรียนก็จะไม่สามารถสอนให้ได้ ในปีที่สองของโรงเรียนนั้น อยากจะลองสอนความรู้พิเศษแต่สำหรับกระทรวงเดียวดูก่อน ฉันยอมให้ตั้งต้นด้วยกระทรวงมหาดไทย ให้ครูพร้อม วาจรัต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระภิรมย์ราชา เวลานั้นสอนนักเรียนอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นครูการปกครองในโรงเรียนมหาดเล็ก และคิดให้ว่าถ้านักเรียนภาคที่สอง คนไหนจะสมัครรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เรียนแบบแผนการปกครองที่ในโรงเรียนเป็นภาคต้น แล้วฉันจะส่งออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลใดมณฑลหนึ่ง เหมือนอย่างเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอยในกิจการต่างๆ เพื่อให้รู้เห็นการปกครองในหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร มีกำหนดให้ไปศึกษาอยู่ราว ๖ เดือน แล้วจึงให้เรียกกลับเข้ามาสอบความรู้ภาคที่สองในคราวเดียวด้วยกันทั้งความรู้สำหรับราชสำนักและความรู้พิเศษสำหรับกระทรวงมหาดไทย นักเรียนคนไหนสอบได้สำเร็จ การเรียนต่อไปในภาคที่สามซึ่งเรียนแต่เฉพาะราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะให้เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ ออกไปฝึกหัดทำการปกครองอยู่ในหัวเมืองมณฑลละ ๒ คน จนได้รับตำแหน่งประจำราชการ กราบบังคมทูลก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แก้ไขดังว่ามา

พอสิ้นปีที่สอง ได้นักเรียนออกไปเป็นผู้ตรวจการครั้งแรกดูเหมือน ๕ คน นักเรียนมหาดเล็กซึ่งออกไปเป็นผู้ตรวจการนั้นฉันให้เรียกตามแบบโบราณว่า “มหาดเล็กรายงาน” ยังสังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก และแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก เป็นแต่ออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง ไปอยู่มณฑลไหน เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังมณฑลนั้น ต้องเข้าไปสมทบกับมหาดเล็กที่ตามเสด็จรับราชการในพระองค์ เช่นเชิญเครื่องราชูปโภค ตั้งเครื่องเสวย และถวายอยู่งานพัดเป็นต้น สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ ส่วนการฝึกหัดมหาดเล็กรายงานนั้น ฉันสั่งให้สมุหเทศาภิบาลใช้ไปเที่ยวตรวจการงานต่างๆ ตามหัวเมืองในมณฑล เพื่อให้รู้จักภูมิลำเนาและผู้คนพลเมืองอย่างหนึ่ง ให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ ให้รู้วิธีปกครองติดต่อกับตัวราษฎรอย่างหนึ่ง มหาดเล็กรายงานได้เล่าเรียนและรับอบรมจากโรงเรียนมหาดเล็กมากแล้ว ไปเป็นตำแหน่งมหาดเล็กรายงานอยู่ไม่ช้ากว่าปี ก็ชำนาญกิจการถึงขนาดที่จะเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นรับสัญญาบัตร เช่นเป็นนายอำเภอเป็นต้นแทบทุกคน แต่เมื่อแรกเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร เป็นแต่ปลดจากโรงเรียนมหาดเล็กไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่สักปีหนึ่งหรือสองปี จนปรากฏว่าทำการงานได้ดีมีความสามารถสมกับตำแหน่ง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นชั้น “ขุน” เป็นต้นไป

เล่าถึงเรื่องตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก มีความข้อหนึ่งซึ่งฉันควรจะกล่าวไว้ให้เป็นธรรม ตัวฉันเองเป็นแต่ต้นคิดกับเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำบ้าง แต่ส่วนที่จัดโรงเรียนได้ดังพระราชประสงค์ ควรนับเป็นความชอบของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งพยายามจัดการมาแต่ต้นจนสำเร็จ น่าเสียดายแต่ที่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กอยู่เพียง ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นพระยาวุฒิการบดี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านชำนาญแต่การฝ่ายคณะสงฆ์ กราบบังคมทูลขอให้ผู้ชำนาญการศึกษาเป็นผู้ช่วย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ตั้งสำเร็จแล้ว พอจะหาผู้ทำการแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ต่อไปได้ แต่ทางกระทรวงธรรมการไม่ทรงเห็นตัวผู้อื่น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก อันเคยมีชื่อเสียงแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนและได้เคยไปศึกษาในยุโรป เป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ การโรงเรียนมหาดเล็กก็เจริญมาโดยลำดับ มีจำนวนนักเรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีผลไม่ตรงกับที่คาดไว้เดิมอย่างหนึ่ง ด้วยนักเรียนที่เรียนสำเร็จทุกภาคมักสมัครไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งนั้น ที่สมัครไปอยู่กระทรวงอื่นมีน้อย เป็นเช่นนั้นเพราะกระทรวงมหาดไทยมีตำแหน่ง “ผู้ตรวจการ” สำรองไว้ให้นักเรียนมหาดเล็กมณฑลละ ๒ คน รวมทุกมณฑลเป็น ๓๒ คน นักเรียนที่สมัครรับราชการกระทรวงมหาดไทย พอสำเร็จการเรียนก็ได้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งผู้ตรวจการทันที ไม่ต้องขวนขวายหาตำแหน่งแห่งที่ทำราชการ ยังมีเหตุอื่นอีกอย่างหนึ่งด้วยในสมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดการปกครองในหัวเมืองต่างๆ ต้องการคนมีความรู้ไปเป็นตำแหน่งกรมการตามหัวเมืองมาก นักเรียนมหาดเล็กที่ออกไปเป็นผู้ตรวจการ ได้ร่ำเรียนรับความอบรมดีกว่าบุคคลภายนอก ไปอยู่ไม่ช้าก็ได้เป็นกรมการชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งผู้ตรวจการว่างบ่อยๆ แม้นักเรียนมหาดเล็กที่เรียนสำเร็จมีมากขึ้น ก็ยังไม่พอกับที่กระทรวงมหาดไทยต้องการ แต่กระทรวงอื่นยังไม่ใคร่มาหาคนที่โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กก็เหมือนฝึกหัดข้าราชการให้แต่กระทรวงมหาดไทย หรือว่าอีกอย่างหนึ่งโรงเรียนมหาดเล็กทำให้เกิดประโยชน์แต่ในการปกครองหัวเมือง เป็นเช่นนั้นมาสัก ๖ ปี ก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ลองสืบถามถึงนักเรียนมหาดเล็กครั้งรัชกาลที่ ๕ ที่ออกไปรับราชการ ได้รายชื่อผู้ที่ได้ดีถึงเป็นพระยาในรัชกาลภายหลังถึง ๓๐ คน

ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภถึงเงินที่ชาวเมืองไทย ได้เรี่ยไรกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช เมื่องานรัชมงคล มีจำนวนเงินเหลือจากที่สร้างพระบรมรูปอยู่กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใคร่จะทรงสร้างส่ิงอนุสรณ์ซึ่งเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองตอบแทนชาวเมืองไทยด้วยเงินรายนั้น ทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์แก่การปกครองให้ชาวเมืองไทยอยู่เย็นเป็นสุข แต่ว่าประโยชน์ยังได้เพียงในการปกครองหัวเมือง ควรจะขยายประโยชน์ของโรงเรียนนั้นให้แพร่หลายไปถึงการอื่นๆ ในฝ่ายพลเรือนให้ทั่วกัน จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานเงินเหลือสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้ใช้เป็นทุน และพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ที่ตำบลปทุมวัน รวมทั้งตึกที่สร้างไว้เป็นวังซึ่งเรียกกันว่า “วังกลางทุ่ง” สำหรับใช้เป็นโรงเรียนด้วย พนักงานจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้น โปรดให้มีกรรมการคณะหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้ตัวฉันเป็นนายก และสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) พระยาศรีวรวงศ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล) รวม ๖ คนด้วยกันอำนวยการ ให้พระยาศรีวรวงศ์คงเป็นอธิบดีอยู่เหมือนอย่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ย้ายโรงเรียนจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ที่ “วังกลางทุ่ง” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา ต่อมาตัวฉันเกิดอาการป่วยเจ็บทุพพลภาพ ต้องกราบบังคมทูลขอเวนคืนตำแหน่งนายกกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็ป่วยถึงอสัญกรรมในหมู่นั้น เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกกรรมการแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นมหาวิทยาลัย มีนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยต่อมา เรื่องประวัติโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมีดังเล่ามานี้

เรื่องนี้ ฉันเขียนแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้พิมพ์ฝากไว้ในเรื่องประวัติพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) เห็นเป็นอย่างเดียวกับนิทานโบราณคดี จึงคัดเอามาพิมพ์ไว้ด้วยกัน 

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย

 

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ต่อมาโปรดให้โอนราชการพลเรือนตามหัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม กรมท่า มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดการปกครองท้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทรงพระราชปรารภว่ากระทรวงเสนาบดีอื่นๆ กำลังจัดระเบียบการกระทรวงที่ในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจะจัดการแผนกกระทรวงนั้นๆ ออกไปถึงหัวเมืองได้ แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ควรจะรอการทำนุบำรุงหัวเมืองไว้ จนกว่ากระทรวงการแผนกนั้นๆ จะสามารถออกไปจัดการได้เอง จึงดำรัสสั่งว่าการทำนุบำรุงอย่างใดซึ่งควรจะจัดตามหัวเมืองได้ ให้กระทรวงมหาดไทยลงมือจัดการนั้นไปทีเดียว อันนี้เป็นเหตุให้หน้าที่จัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมือง มาตกอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพราะกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล ยังไม่สามารถจะขยายออกไปถึงหัวเมืองได้

ตามประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ทุกปี จึงปรึกษาจัดการอนามัยตามหัวเมืองในที่ประชุมนั้น มีความเห็นว่าจะจัดการตามอย่างในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะหัวเมืองไม่มีทุนและไม่มีคนจะใช้มากเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ จะต้องคิดหาทางอย่างอื่น และทางที่จะจัดนั้น เห็นว่าควรเอาลักษณะการตามที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองแล้วตั้งเป็นหลัก คิดแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับไป ก็ลักษณะการอนามัยที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น ถ้าพิจารณาแยกกันก็มี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

อย่างที่หนึ่ง คือยาสำหรับรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแล้ว ความบกพร่องในเรื่องยาอยู่ที่ไม่รู้จักหรือไม่มียาดีกว่าที่จะใช้เป็นสำคัญ

อย่างที่สอง คือความรู้ที่จะใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ ก็รู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว ใครรู้มากก็เรียกว่า “หมอ” มีอยู่ทั่วไปในพื้นเมือง ความบกพร่องในเรื่องใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ อยู่ที่หมอมีความรู้น้อยเพราะไม่ได้เรียนตำรับตำรา อาศัยแต่ความคุ้นเคยเป็นสำคัญ ใครเคยรักษาไข้มากก็รู้มาก ใครเคยรักษาไข้น้อยก็มีความรู้น้อย ถึงกระนั้นก็ยังสามารถรักษาไข้ที่ไม่เหลือความรู้ให้หายได้

อย่างที่สาม คือธรรมดาคนเจ็บไข้ย่อมกลัวภัยแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อว่าใครจะช่วยชีวิตได้ก็ให้คนนั้นมารักษา ถึงผู้อื่นจะบอกว่าหมอคนไหนดี หรือยาขนานไหนดี ถ้าตัวคนไข้ หรือผู้ปกครองเช่นพ่อแม่ของคนไข้ไม่เชื่อถือ ก็ไม่ยอมกินยาของหมอคนนั้น จะบังคับขืนใจไม่ได้

เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังกล่าวมา จึงเห็นว่าการบำรุงอนามัยควรจะอนุโลมลักษณะที่เป็นอยู่จึงจะสำเร็จประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาล จึงจัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองโดยทางที่กล่าวมาเป็นการหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป

ตั้งหมอตำบล

เรื่องตั้งหมอตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เห็นว่าควรอาศัยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกำหนด ๑๐ บ้านเป็นหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรเลือกกันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ละคน รวม ๑๐ หมู่บ้านเป็นตำบล ๑ ให้พวกผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเป็นกำนันนายตำบลคน ๑ นั้น ประกอบกับความคิดในเรื่องบำรุงอนามัย คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกหมอในตำบลนั้นคน ๑ ซึ่งเห็นว่าดีกว่าเพื่อน แล้วรัฐบาลตั้งเป็นหมอประจำตำบล มีศักดิ์เท่ากับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเป็นพนักงานในการอนามัยมีอยู่ทุกตำบล รัฐบาลอยากรู้อะไรในเรื่องอนามัยตำบลนั้นจะได้ไถ่ถาม หรือจะชี้แจงอะไรในเรื่องอนามัยแก่ราษฎร ก็จะได้ให้หมอตำบลเป็นผู้ชี้แจงต่อลงไป ตัวหมอที่ได้รับความยกย่องเช่นนั้น ราษฎรในตำบลก็คงมีความเชื่อถือให้รักษาไข้ได้ผลประโยชน์ขวัญข้าวค่ายามากขึ้น คงมีผู้สมัครรับตำแหน่งหมอตำบลไม่รังเกียจ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย ให้จัดการดังว่ามาสำเร็จได้อย่างหนึ่ง จึงมีตำแหน่งหมอตำบลขึ้นแต่นั้นมา

ทำยาโอสถศาลา

ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาที่ในกรุงเทพฯ แล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญหาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่าจะควรทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับและแก้โรคบิดเป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง

ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่ แม้จนหมอที่รักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีขึ้นมากแล้ว ฉันคิดเห็นว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น

“แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชั่วโมง กว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้ที่กินยาทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา

ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือหัวยาเท่านั้น ไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจให้ยาทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ”

นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่าทำยาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆ บรรจุลงกลักหรือใส่ห่อส่งไปตามที่ต่างๆ ได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่งยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่งเช่นยาควินินแก้ไข้จับเป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง

แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่ง แม้เป็นยารักษาโรคอันเดียวกัน หมอต่างคนใช้วิธีผสมเครื่องยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมออังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้ เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยยินดี จึงเชิญพวกหมอฝรั่งทุกชาติ มาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกในที่ประชุมเอง บอกพวกหมอฝรั่งให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง และกระทรวงมหาดไทยอยากจะได้ตำรายาฝรั่งบางขนาน สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้นช่วยในการ ๒ อย่าง คือให้ปรึกษากันว่าควรทำยาแก้โรคอะไรบ้าง เป็นยาสักกี่ขนานอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรจะทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆ ให้ทุกขนานอย่างหนึ่ง เขาจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับจะช่วยทำให้ตามประสงค์ของรัฐบาล ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป เขาตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน (หรือ ๑๒ ขนาน จำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยา กับทั้งส่วนที่จะผสม Prescription ยานั้นๆ ทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคนแล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือกและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมือง ก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก

ความลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯ คนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี “ยาขาวฝรั่ง” (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า “ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ” ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่ง สำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า “ยาโอสถศาลา” แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ (ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่นว่า “ยาแก้ไข้จับ, ยาแก้ลงท้อง, ยาแก้บิด” เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่าขายแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลายจนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา

แพทย์ประจำเมือง

แต่ก่อนมา เจ้าเมืองกรมการมักเป็นชาวเมืองนั้นเอง เจ็บไข้ก็ใช้หมอในพื้นเมืองที่เคยรักษากันมาเป็นปรกติ ครั้นเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการในกรุงเทพฯ ออกไปรับราชการประจำอยู่ตามหัวเมืองมากขึ้นเป็นลำดับมา ต้องปรารภถึงความปลอดภัยของข้าราชการที่ไปอยู่แปลกถิ่นตามหัวเมือง จึงให้มีหมอหลวงประจำเมืองขึ้นจังหวัดละคนหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลเลือกหาหมอที่มีความรู้พอวางใจได้ ตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง มีหน้าที่สำหรับรักษาข้าราชการตลอดจนครอบครัว ในเวลาป่วยเจ็บอย่างหนึ่ง ตรวจอนามัยและรักษาไข้เจ็บให้นักโทษในเรือนจำอย่างหนึ่ง ทำกิจการพิเศษอันเกิดขึ้นเนื่องกับอนามัยอย่างหนึ่ง เป็นอย่างนั้นมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ฉันไปครั้งนั้นเลือกข้าราชการหนุ่มๆ ที่กำลังเป็นนักเรียนศึกษาการปกครองเอาไปใช้ ๔ คน เพื่อจะให้รู้เห็นการปกครองตามหัวเมือง เวลานั้นยังไม่มีทางรถไฟสายเหนือ จึงลงเรือพ่วงเรือไฟไปจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พวกนักเรียน ๔ คนนั้นไปในเรือลำเดียวกัน เมื่อพ้นเมืองพิษณุโลกขึ้นไปแผ่นดินดอนพอเดินบกได้ เขาจึงชวนกันหาคนนำทางขึ้นเดินบกแต่เวลาเช้า เที่ยวเล่นและยิงนกไปพลาง จนบ่ายจึงไปดักทางลงเรือ เพราะเรือไปทางลำน้ำอ้อมค้อมมาก เที่ยวเล่นเช่นนั้นมาหลายวัน วันจะถึงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อพวกนักเรียน ๔ คนกลับลงเรือแล้วต่างคนต่างล้างปืนตามเคย ปืนของนักเรียนคนหนึ่งยังมีปัสตันอยู่ในลำกล้องนัด ๑ เจ้าของสำคัญว่าได้เอาออกหมดแล้ว ทำปืนลั่นถูกขาเพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่งใกล้ๆ ลูกปรายเข้าไปจมเนื้ออยู่ในขาทั้งหมด พอเรือไปถึง ฉันรู้ก็ตกใจจะหาหมอรักษา พระประสิทธิวิทยา (สร เทศะแพทย์) หมอสำหรับตัวฉัน เป็นหมอมีชื่อเสียงก็รักษาได้แต่ทางยา ไม่ได้หัดรักษาบาดเจ็บ สืบถามหาหมออื่นก็ได้ความว่าทั้งเมืองอุตรดิตถ์ ไม่มีใครจะรักษาได้ เขาบอกว่าหมอรักษาบาดเจ็บได้ มีแต่หมอมิชชันนารีอเมริกันอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ฉันต้องให้จัดเรือลำหนึ่งมีคนแจว ๒ ผลัดรีบพาคนเจ็บล่องจากเมืองอุตรดิตถ์แจวลงมาตลอดคืนจึงถึงหมอ แต่เดชะบุญหมอรักษาหายได้ไม่เป็นอันตราย เหตุครั้งนั้นทำให้ฉันเห็นประจักษ์ใจ ว่าคนตามหัวเมืองที่ตายด้วยบาดเจ็บเพราะไม่มีหมอรู้จักรักษาเห็นจะมีมาก จำจะต้องให้มีหมอหลวงสำหรับรักษาบาดเจ็บขึ้นตามหัวเมือง ถึงคราวประชุมเทศาภิบาล ฉันจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า แพทย์ประจำเมืองต่อไปควรต้องให้รู้จักรักษาบาดเจ็บด้วยทั้งนั้น แต่จะให้เป็นเช่นนั้นโดยเร็วไม่ได้ เพราะหมอไทยที่รู้วิชาตัดผ่ารักษาบาดเจ็บยังมีน้อย และหมอยาที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองทำการดีอยู่ จะไล่ออกก็ไม่ควร จึงเห็นควรจะกำหนดแต่อย่างหนึ่งว่าผู้จะเป็นแพทย์ประจำเมืองต่อไปต้องรู้วิชาตัดผ่าด้วย เช่นแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ในกรมพยาบาลจึงจะเป็นได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยลงมติดังว่านั้น แต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยก็หาหมอประกาศนียบัตรที่เรียนตลอดหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์มาตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง เป็นเหตุให้พวกหมอประกาศนียบัตรที่ต้องไปหากินด้วยการอื่น กลับหาตำแหน่งในราชการได้โดยวิชาหมอ มีคนสมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น เลยเป็นปัจจัยให้โรงเรียนแพทย์กลับรุ่งเรืองดังกล่าวมาแล้ว

ทำหนองปลูกฝีดาษ

ได้เล่ามาแล้วว่าการปลูกฝีดาษในเมืองไทย เดิมใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่อเมริกาถึงเมืองไทยปีละครั้งหนึ่ง ต่อมาใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่ยุโรป ๒ เดือนมาถึงครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นพันธุ์หนองที่ได้มาแต่ยุโรปก็มักเสียกลางทาง ใช้ได้แต่คราวละสักครึ่งหนึ่ง จึงต้องเอาหนองคนที่ปลูกฝีขึ้นงามปลูกกันต่อไป ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ฝรั่งเศสมาตั้งสาขาปาสตุรสถาน ทำหนองปลูกฝีดาษและเซรุ่มรักษาโรคอื่นขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองไทยก็ซื้อพันธุ์หนองปลูกฝีมาแต่เมืองไซ่ง่อน เพราะอาจจะส่งมาได้ภายใน ๑๕ วันหนองก็ไม่เสียในกลางทาง แต่ได้พันธุ์หนองก็ยังไม่พอใช้ ที่โรงพยาบาลก็ยังเลิกวิธีปลูกต่อกันไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยอยากจะทำพันธุ์หนองปลูกฝีในเมืองไทยเอง หมออะดัมสัน (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) แพทย์ในมิชชันนารีอเมริกันรับจะทำ จึงให้ตั้งที่ทำหนองปลูกฝีขึ้น ณ สำนักงานของหมออะดัมสันที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ทำได้ แต่พันธุ์หนองยังไม่สู้ดีเหมือนอย่างที่ส่งมาจากต่างประเทศ และยังได้น้อยไม่พอใช้ เพราะที่ทำการคับแคบนัก ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้หมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำหนองฝีดาษเข้ามารับราชการ จึงให้ย้ายที่ทำพันธุ์หนองปลูกฝีออกไปตั้งที่เมืองนครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ให้หมอมาโนส์เป็นผู้จัดการ แต่นั้นก็ทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษในเมืองไทยได้พอต้องการ และดีเสมอหนองที่ทำในต่างประเทศ ไม่ต้องซื้อหามาจากที่อื่นและไม่ต้องปลูกฝีต่อกันดังแต่ก่อน การปลูกฝีก็แพร่หลายไปตามหัวเมือง ด้วยจ่ายพันธุ์หนองออกไปให้แพทย์ประจำเมืองเป็นพนักงานปลูกฝีด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เกิดโรคฝีดาษชุกชุม คล้ายกับเป็นโรคระบาด และในสมัยนั้นการบำรุงอนามัย ได้โอนจากกระทรวงธรรมการไปเป็นหน้าที่กระทรวงปกครองท้องที่ คือกระทรวงนครบาลบำรุงอนามัยในมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมณฑลอื่นๆ กรมพยาบาลคงเป็นแต่จัดการโรงเรียนแพทย์ กับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นที่ฝึกสอนนักเรียนแพทย์ เป็นเช่นนั้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดโรคฝีดาษชุกชุมขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับเสนาบดีกระทรวงนครบาล ปรึกษากันจัดการป้องกันโรคระบาดด้วยปลูกฝีชาวเมืองให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากจะต้องใช้เงินเกินกว่าที่มีอยู่ จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วย จนพอแก่การมิให้ติดขัด เมื่อปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการปลูกฝีตามรับสั่ง กระทรวงนครบาลเห็นว่าจะต้องตั้งข้อบังคับให้พลเมืองที่ยังไม่ออกฝีดาษปลูกฝีทุกคน แล้วประกาศเรียกพลเมืองมาปลูกฝีตามข้อบังคับนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการตั้งข้อบังคับพลเมืองนั้น จำต้องกำหนดโทษผู้ขัดขืน แม้อย่างต่ำเพียงปรับไหมก็เป็นความเดือดร้อน จะทำให้คนเกิดหวาดหวั่นเสียแต่แรก ก็การปลูกฝีนั้น ที่จริงเป็นการช่วยชีวิตของผู้ที่มาให้ปลูกนั้นเอง ซ้ำพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกไปปลูกฝีให้เป็นทาน ก็เป็นบุญของราษฎร มีแต่เป็นคุณแก่ราษฎรอย่างเดียว ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ราษฎรรู้ความจริง ก็จะพากันมาปลูกฝีด้วยความยินดี หาต้องบังคับปรับไหมให้เดือดร้อนไม่ กระทรวงนครบาลไม่เห็นชอบด้วย คงเห็นอยู่ว่าถ้าไม่ตั้งข้อบังคับ การปลูกฝีก็ไม่สำเร็จได้ ฉันตอบว่าโดยฉันจะเห็นพ้องกับกระทรวงนครบาล กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถจะจัดการได้ตามความคิดอย่างนั้น เพราะภูมิลำเนาของราษฎรตามหัวเมืองอยู่กระจัดกระจายกัน ราษฎรชาวหัวเมืองความรู้น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ถ้ามีประกาศคาดโทษคนก็เห็นจะพากันตื่น ตำรวจภูธรตามหัวเมืองก็ไม่มีมาก พอจะไปเที่ยวตรวจตราราษฎรตามบ้านช่องได้ทั่วถึง เหมือนพวกกองตระเวนของกระทรวงนครบาลในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างทำตามที่เห็นว่าจะทำได้ในท้องที่ของตนจะดีกว่า เอาแต่ให้สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นประมาณ ก็ตกลงกันอย่างนั้น กระทรวงนครบาลจะจัดการอย่างไร ฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน จะเล่าแต่กระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจัดครั้งนั้น คือ

๑. แต่งประกาศพิมพ์เป็นใบปลิว ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเกิดโรคฝีดาษขึ้นชุกชุม ทรงพระวิตกเกรงว่าราษฎรจะพากันล้มตาย ทรงพระราชดำริว่าโรคฝีดาษนั้นอาจจะป้องกันได้ด้วยปลูกฝี ถ้าใครปลูกแล้วก็หาออกฝีดาษไม่ แต่การปลูกฝียังไม่แพร่หลายออกไปถึงหัวเมือง คนจึงออกฝีดาษล้มตายกันมาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกมาปลูกฝีพระราชทานแก่ราษฎร มิให้ล้มตายด้วยโรคฝีดาษ หมอหลวงไปถึงที่ไหนก็ให้ราษฎรไปปลูกฝีเถิด จะได้ป้องกันอันตรายมิให้มีแก่ตน

๒. แล้วจัดพนักงานปลูกฝีเป็น ๔ พวก ให้แยกกันไปปลูกฝีตามหัวเมืองมณฑลที่เกิดโรคฝีดาษชุกชุมในเวลานั้น คือมณฑลนครชัยศรีพวกหนึ่ง มณฑลราชบุรีพวกหนึ่ง มณฑลปราจีนพวกหนึ่ง มณฑลนครราชสีมาพวกหนึ่ง มณฑลอื่นที่ฝีดาษไม่ชุกชุม แพทย์ประจำเมืองก็คงปลูกฝีอยู่อย่างปรกติ

๓. วิธีที่ไปปลูกฝีนั้น ให้ไปปลูกทีละอำเภอเป็นลำดับไป เมื่อพนักงานปลูกฝีไปถึงอำเภอไหน ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจงแล้วแจกประกาศใบปลิวให้เอาไปประกาศแก่ราษฎร และปิดไว้ตามวัดอันเป็นที่ประชุมชน และให้ปรึกษากันกะที่ที่จะไปปลูกฝีตามตำบลในอำเภอนั้นกี่แห่ง แล้วกำหนดวันว่าจะไปปลูกฝีที่ตำบลไหนวันไหน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปนัดราษฎร เมื่อถึงวันนัดพนักงานไปตั้งทำการที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านพาราษฎรมาให้ปลูกฝี เมื่อปลูกตำบลหนึ่งแล้วก็ย้ายไปปลูกตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปโดยทำนองเดียวกันทุกพวก เมื่อพวกปลูกฝีปลูกแล้วให้มีสารวัตรตามไปภายหลังราว ๗ วัน ไปตรวจการที่พวกปลูกฝีได้ทำไว้ ว่าปลูกฝีได้มากหรือขึ้นดีหรืออย่างไร และพวกชาวบ้านสรรเสริญหรือติเตียนอย่างไร ด้วยมีสัญญาแก่พวกพนักงานที่ไปปลูกฝี ว่าเมื่อทำการเสร็จแล้วจะให้รางวัลตามลำดับเป็นชั้นกัน โดยความดีที่ได้ทำ คือจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีอย่างหนึ่ง ส่วนที่ปลูกฝีขึ้นงามอย่างหนึ่ง ได้รับความชมเชยของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ผสมกันเป็นคะแนนตัดสิน

ปลูกฝีเป็นการพิเศษครั้งนั้น เป็นการสะดวกดีทั้ง ๔ ทาง มีปรากฏในรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่าจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีถึง ๗๘,๗๖๘ คน ทำได้โดยมิต้องตั้งข้อบังคับปรับไหมอย่างไร

ทำเซรุ่มแก้พิษหมาบ้า

เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นในครัวเรือนของตัวฉันเองเป็นมูลเหตุ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ณ พระปฐมเจดีย์ ฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จไปอยู่ที่เรือนบังกะโลที่พักของฉันตามเคย วันหนึ่งเวลาบ่าย พวกลูกเด็กๆ ลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร (เรียกกันว่า หญิงเภา) หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็สั่งให้เที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้าแต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไปได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยา ทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย ตัวเด็กก็สบาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเภาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกินมือสั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนถึงตัวสั่น ฉันก็แปลกใจ จึงให้รับหมอปัว (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช) มาดู พอหมอปัวเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกลัวน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอนยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ ฉันบอกผู้อื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากพิษหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสีย เพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาดึกค่ำวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บอยู่ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเขาเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อหญิงเภาถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์ เป็นเวลาไปตามเสด็จ คนรู้กันมาก ครั้นเธอสิ้นชีพจึงมีคนสงสาร จนเป็นเรื่องโจษกันกันแพร่หลาย มีมิตรของฉันคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวหมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำหนองปลูกฝีดาษ มาพูดแก่ฉันว่าที่จริงหญิงเภาไม่ควรตาย เพราะหมอปาสเตอร์พบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำได้แล้ว ถ้าหญิงเภาอยู่ในยุโรปหรือแม้เพียงอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน อันมีสถานปาสเตอร์ ก็จะรักษาหายได้โดยง่าย ที่ต้องตายเพราะไม่มียาในกรุงเทพฯ เท่านั้น เขาเห็นว่าถ้าหากฉันคิดตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ลูกตายครั้งนั้น คงจะสำเร็จได้เพราะคนสงสารมีมาก คนที่หวาดหวั่นเกรงจะเป็นเช่นเดียวกันในครอบครัวของเขาก็มี และการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ก็ไม่ยากหรือจะต้องสิ้นเปลืองเท่าใดนัก ถ้าฉันบอกบุญเรี่ยไรในเวลานั้น คงจะได้เงินพอแก่การ ฉันเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เคยไปดูสถานปาสเตอร์ที่เมืองปารีส ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่ช้านัก ตัวหมอปาสเตอร์เองเป็นผู้นำฉันเที่ยวดูทั่วทั้งสถาน และให้ดูวิธีทำเซรุ่มตั้งแต่เจาะหัวกระต่าย เอาพิษหมาบ้าฉีดลงในสมอง ให้พิษเกิดในตัวกระต่ายก่อน เมื่อกระต่ายตายด้วยพิษนั้นแล้ว เอาเอ็นในซากกระต่ายมาผสมยาทำเป็นเซรุ่ม และให้ฉีดยารักษาเด็กคนหนึ่งซึ่งถูกหมาบ้ากัดให้ฉันดู ฉันได้เคยเห็นแล้วดังว่ามา และตัวหมอมาโนส์เองก็ได้เคยไปศึกษาในปาสเตอร์สถานที่เมืองปารีส รู้วิธีทำเซรุ่มไม่ต้องหาใครมาใหม่ คิดดูการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ มีเพียงหาที่ตั้งอย่างหนึ่ง หาเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ส่วนคนที่เป็นลูกมือทำการ ก็อาจจะใช้พวกทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษได้ ด้วยรวมการทำเซรุ่มทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเพิ่มเติมผู้คนขึ้นเท่าใดนัก ฉันจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ศรัทธาช่วยกันมากทั้งไทยและพวกชาวต่างประเทศ ฉันได้อาศัยพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยะศิริ) กับหมอมาโนส์เป็นกำลังในครั้งนั้น ในไม่ช้าก็ได้เงินพอแก่การ จึงตั้งปาสเตอร์สถานขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยที่ริมโรงเลี้ยงเด็ก และย้ายสถานทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษ ณ พระปฐมเจดีย์เข้ารวมกัน เมื่อจัดการเตรียมพร้อมแล้ว ได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดสถานปาสเตอร์ (เวลานั้นเรียกว่า ปัสตุรสภา) เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหมอมาโนส์เกิดอาการป่วยเจ็บต้องลาออก แต่ก็ได้หมอโรแบต์ฝรั่งเศสมาแทน ทรงคุณวุฒิและมีใจรักงานเช่นเดียวกับหมอมาโนส์ ก็อาจรักษาโรคพิษหมาบ้าสำเร็จประโยชน์ได้ในเมืองไทยแต่นั้นมา และสถานปาสเตอร์นั้น ต่อมาภายหลังโอนไปขึ้นอยู่ในสภากาชาด หมอโรแบต์ก็ย้ายตามไปทำการเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยลำดับมาจนขยายใหญ่โต เป็นสถานเสาวภาอยู่บัดนี้

ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก

โอสถศาลา

เมื่อคราวประชุมเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษาตกลงกัน ว่าจะตั้งโอสถศาลา (เวลานั้นเรียก โอสถสถาน) ขึ้นตามหัวเมือง ความคิดที่จะตั้งโอสถศาลานั้น ในบริเวณเมืองหนึ่งจะให้มีโอสถศาลาแห่งหนึ่ง มีเรือนที่อยู่ของหมอ มีห้องรักษาคนไข้ และมีร้านขายยาต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน สร้างด้วยเงินบอกบุญเรี่ยไร ให้หมอหลวงประจำเมืองเป็นผู้จัดการโอสถศาลานั้น และให้ได้ส่วนกำไรเป็นประโยชน์ของตนด้วยในการบางอย่างที่รัฐบาลอนุญาต

การรักษาไข้ที่โอสถศาลานั้น ให้หมอหลวงใช้เวลานอกหน้าที่ คือที่ต้องไปตรวจเรือนจำและรักษาข้าราชการเป็นต้น รับรักษาไข้เจ็บให้ราษฎรที่ไปยังโอสถศาลาแต่เวลา ๓ โมงเช้า (๙ นาฬิกา) จนเที่ยงวันทุกวัน แล้วแต่ใครจะขอให้ตรวจและรักษาโรค หรือรักษาบาดเจ็บและให้ปลูกฝี ให้หมอทำให้เป็นทาน

ยารักษาโรคต่างๆ นั้นให้เป็นของตัวหมอขายเอง รัฐบาลขายเชื่อยาโอสถศาลาให้หมอเพียงเท่าทุน และหมอจะหายาอื่นไปขายด้วยก็ได้ ให้หมอบอกบุญเรี่ยไรค่ายาสำหรับรักษาคนอนาถาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตั้งโอสถศาลาสำเร็จช้า ด้วยต้องบอกบุญเรี่ยไรหาทุนให้พอก่อนจึงตั้งได้ จะจัดได้กี่แห่งในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฉันไม่ทราบแน่ จำได้แต่ที่พระปฐมเจดียแห่งหนึ่ง ก็สำเร็จประโยชน์ดี

การบำรุงอนามัยตามหัวเมืองที่ฉันได้เคยมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จำได้ตามที่เล่ามา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาได้ ๒๓ ปี ถอยกำลังลงทนงานไม่ไหว เกิดอาการป่วยเจ็บ ก็ต้องถวายเวนคืนตำแหน่ง เป็นสิ้นหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองหัวเมืองแต่เพียงนั้น.

นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล

 

นิทานที่ ๑๒ เรื่องตั้งโรงพยาบาล

มีเรื่องเกร็ดที่ฉันได้รู้เห็นในสมัยเมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และการป้องกันความไข้เจ็บมาแต่ก่อนหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในการที่ไม่ปรากฏจดหมายเหตุ ถ้าไม่มีใครเขียนลงไว้ เมื่อหมดตัวผู้รู้ก็จะเลยสูญเสีย จึงเอามาเขียนเล่าในนิทานนี้ แต่เป็นเรื่องยาวจึงแยกเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เล่าเรื่องในสมัยเมื่อก่อนฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า “เรื่องตั้งโรงพยาบาล” เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องในสมัยจัดการป้องกันความไข้เจ็บ เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เรียกว่า “เรื่องอนามัย” ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง

(๑)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้มีโรงพยาบาลขึ้นในบ้านเมือง สมกับเป็นประเทศที่รุ่งเรือง ทรงตั้งกรรมการคณะหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ให้เป็นพนักงานจัดการตั้งโรงพยาบาลตามพระราชประสงค์ ผู้ซึ่งเป็นกรรมการรวม ๙ คนด้วยกัน คือ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
(กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียร ต้นสกุล โชติกเสถียร)
เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี (บุส เพ็ญกุล)
ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์

กรรมการประชุมปรึกษากัน เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นของใหม่แรกจะมีขึ้น ควรตั้งแต่แห่งเดียวก่อน เมื่อจัดการรักษาพยาบาลให้คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลประจักษ์ใจแล้ว จึงคิดขยายการตั้งโรงพยาบาลให้แพร่หลายออกไป ในชั้นต้น จึงกราบทูลขอแบ่งที่วังหลังข้างตอนใต้ อันเป็นที่หลวงร้างอยู่ทางฟากธนบุรี สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่นั้น และซื้อที่ริมน้ำข้างเหนือโรงเรียน (แหม่มโคล) ของมิชชันนารีอเมริกันทำท่าขึ้นไปยังโรงพยาบาล เดิมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เป็นโรงพยาบาลหลวงแรกมีในเมืองไทย

(๒)

ในการตั้งโรงพยาบาลนั้น กรรมการสมมตให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (จะเรียกต่อไปโดยสะดวกแต่ว่า พระองค์ศรี) กับตัวฉันให้เป็นผู้ทำงาน เช่นเป็นอนุกรรมการด้วยกัน ๒ คน แบ่งหน้าที่กัน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง พระองค์ศรีเป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาล ความประสงค์ของกรรมการในชั้นนี้ จะให้มีโรงพยาบาลพร้อมด้วยพนักงานรักษาพยาบาล และคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลบ้างแล้ว จึงจะเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล พระองค์ศรีกับฉันจึงต้องพบปะปรึกษาหารือ รู้เห็นการที่ทำนั้นด้วยกันเสมอ

การแผนกที่ฉันทำมีจำกัดอยู่ที่เงินทุนที่จะใช้มีน้อย การก่อสร้างจึงต้องทำแต่พอให้ตั้งเป็นโรงพยาบาลได้ ว่าโดยย่อคือรื้ออิฐปูนกำแพงวังหลังก่อกำแพงและปูถนนในบริเวณโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง ซื้อที่ทำท่าโรงพยาบาลอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็ให้ไปรื้อเรือนไม้หลังใหญ่ของพระไชยบูรณ์ (อิ่ม) ซึ่งตกเป็นของหลวง พระราชทานให้เอามาปลูกเป็นที่ว่าการรวมกับที่ผสมยาหลังหนึ่ง และปลูกเรือนผู้ดูการโรงพยาบาล กับโรงครัวโรงแถวที่อยู่ของคนรับใช้ที่ริมน้ำหมู่หนึ่ง ปลูกโรงพยาบาลด้วยเครื่องไม้มุงจาก ๔ หลัง พอคนไข้อยู่ได้สัก ๕๐ คนอย่างหนึ่ง การก่อสร้างชั้นต้นว่าตามที่ยังจำได้ดูเหมือนจะเพียงเท่านั้น ไม่ยากลำบากอันใด แต่การในแผนกของพระองค์ศรีมีความลำบากมาแต่ต้นหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป ซึ่งคิดดูในเวลานี้บางอย่างก็น่าจะเห็นขัน

(๓)

ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกรรมการ หมายจะเลือกหมอที่ชำนาญการรักษาไข้เจ็บจนมีชื่อเสียงซึ่งมักจะเป็นหมอหลวงโดยมาก มาให้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งนายแพทย์และแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์ศรีไปเที่ยวตรัสชวนหมอหลวง ปรากฏแก่เธอว่าหมอถือตัวกันเป็นต่างพวก ใช้วิธีรักษาและยาที่รักษาโรคร่วมกันแต่ในพวกของตน ซึ่งมักเป็นลูกตัวหรือลูกเขยหรือเป็นศิษย์ของหมอที่เป็นตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียจกัน ตามคำที่พระองค์ศรีเธอตรัสว่า “ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เป็นหมอไปเสียทั้งนั้น”

ฉันเคยทูลถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงใช้เป็นหลักสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้หรือ”

เธอตรัสว่า “ได้ลองถามดูแล้ว ต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นใช้เป็นหลักไม่ได้จริง อ้างเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นตำรายา ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมหมอหลวงแต่งตำรายาที่จารึก ณ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างคนก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสียไม่ได้ไปลงในตำราหลวง คงมีตำราที่แต่งไว้แต่ยาอย่างบรมโบราณอันใครๆ ก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักษาและยาดีที่ใช้ในปัจจุบันหามีไม่”

เมื่อไม่สามารถจะให้หมอร่วมมือกันได้เช่นนั้น กรรมการก็ต้องให้พระองค์ศรีหาหมอที่มีชื่อเสียงแต่คนหนึ่งเป็นตำแหน่งนายแพทย์ ส่วนแพทย์รองนั้นให้นายแพทย์หามา จะเป็นลูกหลานหรือศิษย์ก็ตาม สุดแต่ให้โรงพยาบาลใช้วิธีรักษาไข้และใช้ยาอย่างเดียวกันเป็นสำคัญ พระองค์ศรีจึงเชิญพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หนู) เมื่อยังเป็นที่พระประสิทธิวิทยา เป็นหมอมีชื่อเสียงทรงคุ้นเคยยิ่งกว่าคนอื่น เป็นตำแหน่งแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาล ส่วนแพทย์รองนั้น พระยาประเสริฐฯ พาหมอหนุ่มๆ ซึ่งเคยเป็นศิษย์มาให้เป็นตำแหน่ง ๒ คน ชื่อว่าหมอคงคนหนึ่ง หมอนิ่มคนหนึ่ง หมอ ๒ คนนี้มาทำการประจำอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่ยังหนุ่ม ได้เห็นและรักษาโรคต่างๆ อยู่เนืองนิจ ผิดกับหมอเชลยศักดิ์ซึ่งได้เห็นไข้ต่อเมื่อเขาหาไปรักษา จึงได้ความชำนิชำนาญการรักษาไข้เชี่ยวชาญ นานมาหมอคงถึงได้เป็นพระยาพิษณุประสาทเวท และหมอนิ่มก็ได้เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง ขึ้นชื่อเสียงนับถือกันว่าเป็นหมอดีทั้ง ๒ คน

(๔)

นอกจากความลำบากเรื่องหาหมอ ยังมีความลำบากด้วยเรื่องหาคนไข้ต่อไป เมื่อมีโรงพยาบาลและมีพนักงานรักษาพยาบาลแล้ว กรรมการให้ประกาศว่าโรงพยาบาลหลวงจะรับรักษาไข้เจ็บให้เป็นทาน ทั้งจะให้คนไข้กินอยู่นุ่งห่มเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเงินขวัญข้าวค่ายาอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย แต่อย่างนั้นคนก็ยังไม่ไว้ใจ ไม่มีคนไข้ไปยังโรงพยาบาล คอยอยู่หลายวันเริ่มมีผู้ส่งคนไข้ไปให้รักษา แต่ก็ล้วนเป็นคนไข้อาการเพียบส่งไปเมื่อไม่มีใครรับรักษาแล้ว ไปถึงโรงพยาบาลไม่ช้าก็สิ้นใจ ไม่มีโอกาสจะรักษาให้หายได้ ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นเรือนตายของคนไข้ กรรมการพากันวิตก เกรงจะเสียชื่อโรงพยาบาล จึงปรึกษากันให้เที่ยวหาคนไข้ที่พอจะรักษาหายมาเข้าโรงพยาบาล มีผู้แนะนำว่าพวกคนเป็นโรคมะเร็งตามหน้าแข้ง นั่งขอทานอยู่ที่สะพานหันและแห่งอื่นๆ ในถนนสำเพ็งมีมาก หมอเคาแวนว่าจะรักษาให้หายได้ไม่ยาก จึงให้ไปรับพวกเป็นมะเร็งเหล่านั้น แต่กลับมีผลผิดคาด ด้วยพวกคนที่เป็นมะเร็งล้วนเป็นเจ๊กขอทาน ไม่มีใครยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บอกสัญญาว่าจะรักษาให้หายก็กลับโกรธ เถียงว่าถ้าแผลหายเสียแล้วจะขอทานเขากินอย่างไรได้ ลงปลายกรรมการต้องขอแรงกันเอง ให้ช่วยชักชวนพวกพ้องบ่าวไพร่ของตน ที่ป่วยเจ็บแม้เพียงเล็กน้อย ไปขอยาหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล พอเป็นตัวอย่างแก่มหาชน โดยกระบวนนี้พอปรากฏว่ามีคนไปรักษาตัวหายเจ็บกลับไปจากโรงพยาบาล ก็มีผู้อื่นตามอย่าง ความเชื่อถือโรงพยาบาลจึงค่อยมียิ่งขึ้นโดยลำดับมา

(๕)

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ ในเวลากำลังสร้างโรงพยาบาลที่วังหลังนั้น ประจวบงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ที่ท้องสนามหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ทรงพระราชดำริว่าในงานพระเมรุแต่ก่อนๆ ได้เคยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เกื้อกูลแก่สาธารณประโยชน์อย่างอื่นมามากแล้ว ในงานพระเมรุครั้งนั้นจะทรงเกื้อกูลแก่โรงพยาบาลที่จัดขึ้นใหม่ และทรงแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะช่วยงานพระเมรุ ให้ช่วยในการตั้งโรงพยาบาลด้วย การสร้างโรงพยาบาลก็สำเร็จด้วยได้รับความอุดหนุนในงานพระเมรุสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เพราะเหตุนั้น เมื่อสร้างสถานที่และวางระเบียบการสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “ศิริราชพยาบาล” คนทั้งหลายชอบเรียกกันตามสะดวกปากว่า “โรงพยาบาลศิริราช” แต่นั้นมา เมื่อเปิดโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ก็โปรดให้รวมการพยาบาลตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น เรียกว่า “กรมพยาบาล” ทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นตำแหน่งอธิบดี ส่วนกรรมการเมื่อได้จัดการสำเร็จตามรับสั่งแล้ว ก็เลิกในคราวนั้นด้วย

(๖)

เมื่อวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทำพิธีเปิดโรงศิริราชพยาบาล กรรมการเชิญผู้คนไปมาก พอเห็นว่าตั้งโรงพยาบาลได้สำเร็จก็พากันเลื่อมใส เพราะการบรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์ ย่อมถือว่าเป็นกุศลกรรมทุกศาสนา แต่นั้นมาคนทั้งหลายไม่เลือกว่าชาติใด หรือถือศาสนาใด ก็มีแก่ใจช่วยโรงพยาบาลด้วยประการต่างๆ ยกตัวอย่างดังเช่นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๗ (พ.ศ. ๒๔๓๐) มีการฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียครบ ๕๐ ปี พวกอังกฤษที่อยู่ในกรุงเทพๆ ประสงค์จะสร้างสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ เขาปรึกษากันเห็นว่าควรจะช่วยสร้างโรงพยาบาลที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่ จึงเรี่ยไรเข้าทุนกันส่งเงินมายังกรมพยาบาล ขอให้สร้างตึกรับคนไข้ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราชหลังหนึ่ง จึงได้สร้างตึก “วิกตอเรีย” เป็นตึกหลังแรกมีขึ้นในโรงพยาบาลนั้น ต่อมาในปีนั้นเอง เจ้าภาพงานพระศพพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ทรงศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยสร้างตึกรับคนไข้ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ขนานนามว่า “ตึกเสาวภาคนารีรัตน์” เรียกโดยย่อว่า “ตึกเสาวภาค” เริ่มมีตึกขึ้นเป็น ๒ หลัง และยังมีผู้บริจาคทรัพย์พอสร้างเรือนไม้สำหรับคนไข้ได้อีกหลายหลัง ผู้ที่เกื้อกูลในการอื่นก็ยังมีต่อมาเนืองนิจ เลยเกิดประเพณีถือกันว่าโรงพยาบาลเป็นที่ทำบุญแห่งหนึ่ง

เมื่อพระองค์ศรีฯ ทรงเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชจะเจริญต่อไปได้มั่นคงแล้ว ก็ทรงพระดำริขยายการกรมพยาบาลต่อออกไป การที่จัดต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ ปลูกฝีดาษให้เป็นทานแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นที่อื่นอย่างหนึ่ง ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์อย่างหนึ่ง ดังจะพรรณนาเป็นอย่างๆ ต่อไป

(๗)

การปลูกฝีดาษนั้น มีเรื่องตำนานปรากฏมาแต่ก่อนว่า ดอกเตอร์บรัดเล มิชชันนารีอเมริกัน เป็นผู้นำวิชาปลูกฝีเข้ามาสู่เมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓ เดิมสั่งพันธุ์หนองฝีที่ทำสำหรับปลูกมาแต่ประเทศอเมริกา ก็ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างประเทศยังใช้เรือใบไปมา กว่าจะถึงกันนานวันมาก เมื่อได้พันธุ์หนองมาไม่แน่ใจว่าจะยังใช้ได้หรือไม่ กล่าวกันว่าหมอบรัดเลลองปลูกฝีลูกของตนเองก่อน เมื่อฝีขึ้นได้ดังประสงค์จึงเอาหนองฝีจากแผลลูกปลูกที่คนอื่นต่อๆ กันไป แต่ปลูกเพียงในฤดูหนาวซึ่งอากาศเย็นเหมาะแก่การปลูกฝียิ่งกว่าฤดูอื่น แล้วต้องรอพันธุ์หนองฝีที่จะมาจากอเมริกาคราวหน้าต่อไป แต่การที่หมอบรัดเลปลูกฝีดาษมีคนเชื่อถือมาแต่แรก แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นประโยชน์ ถึงโปรดให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีต่อหมอบรัดเล แล้วพระราชทานบำเหน็จแก่หมอบรัดเลเป็นเงินตรา ๕ ชั่ง และโปรดให้พิมพ์หมายประกาศเป็นใบปลิว ๑๐,๐๐๐ ฉบับ แจกจ่ายชวนชาวพระนครให้ปลูกฝี หมอบรัดเลเขียนไว้ในจดหมายเหตุว่า รัฐบาลไทยใช้การพิมพ์หนังสือเป็นทีแรกในครั้งนั้น

กรมพยาบาล ปลูกฝีก็ยังต้องใช้วิธีเก่าเช่นพรรณนา คือสั่งพันธุ์หนองฝีสำหรับปลูกฝีมาแต่ยุโรป ส่งมาทางไปรษณีย์ถึงเมืองไทยได้ในราว ๒ เดือนเร็วกว่ามาจากอเมริกา ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสถานีรับปลูกฝี เมื่อปลูกฝีขึ้นแล้ว เลือกดูเด็กที่มีกำลังแข็งแรง จ้างแม่ให้เลี้ยงเด็กนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าแผลจะแห้งคราวละสองสามคน เอาหนองฝีที่แผลเด็กเป็นพันธุ์ปลูกให้คนอื่นต่อไปจนสิ้นฤดูปลูกฝี แต่ผู้ใดจะให้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝีที่บ้านเรือนของตนเอง ด้วยพันธุ์หนองต่างประเทศก็รับปลูก แต่เรียกค่าปลูกเหมือนเช่นหมอเชลยศักดิ์อื่นๆ ตั้งแต่กรมพยาบาลรับปลูกฝีก็มีคนนิยมมากมาแต่แรก เพราะราษฎรอาจจะไปปลูกได้โดยง่าย ผู้มีทรัพย์ก็ชอบให้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝี เพราะเห็นเป็นผู้ชำนาญและเชื่อว่าได้พันธุ์หนองฝีที่ดีไว้ใจได้

(๘)

เรื่องตั้งโรงพยาบาลที่อื่นต่อออกไปนั้น ก็อยู่ในวงความคิดของกรรมการมาแต่เดิม แต่เมื่อตั้งกรมพยาบาลแล้วมีเหตุอย่างหนึ่ง เตือนให้รีบจัดด้วยมีผู้ขอส่งคนเสียจริตให้โรงพยาบาลรักษาเนืองๆ จะรับรักษาในโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ได้ จะบอกเปิดไม่รับรักษาคนเสียจริตก็เห็นขัดกับหน้าที่กรมพยาบาล จึงคิดจะตั้งโรงพยาบาลต่อออกไปที่อื่นพร้อมกับตั้งโรงพยาบาลรักษาคนเสียจริต การที่ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติม ไม่ยากเหมือนเมื่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช เพราะได้ตั้งแบบแผนการในโรงพยาบาลแล้ว หมอและพนักงานก็มีอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชพอที่จะแบ่งไปประจำโรงพยาบาลอื่นได้ ความลำบากมีอยู่แต่เงินทุนไม่มีพอจะปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลขึ้นใหม่ จึงกราบทูลขอบ้านที่ตกเป็นของหลวง เช่นบ้านเจ้าภาษีนายอากรตีใช้หนี้หลวงเป็นต้น มาแก้ไขเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตั้งเพิ่มครั้งนั้น ๕ แห่ง คือ

ได้ตึกบ้านพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) ที่ปากคลองสาน ตั้งเป็นโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งหนึ่ง

ได้ตึกบ้านอากรตา ที่ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ ตั้งเป็นโรงพยาบาลสามัญ เรียกว่า “โรงพยาบาลบูรพา” แห่งหนึ่ง

ได้บ้านหลวงที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุง ซึ่งหมอเฮส์ได้รับอนุญาตใช้เป็นที่รักษาพยาบาลฝรั่งอย่าง Nursing Home โอนมาเป็นของกรมพยาบาลแห่งหนึ่ง

สร้างโรงพยาบาลใหม่ที่ปากถนนหลวง ตรงกับวัดเทพศิรินทราวาส ด้วยใช้เรือนไม้สองชั้นของพระราชทานครั้งพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์เป็นที่ว่าการ และปลูกเรือนไม้รับคนไข้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลศิริราชแห่งหนึ่ง เรียกว่า “โรงพยาบาลเทพศิรินทร์” แห่งหนึ่ง

ถึงตอนนี้ คนทั้งหลายเห็นคุณของโรงพยาบาลแล้ว พอเปิดโรงพยาบาลที่ไหน ก็มีคนไข้ไปให้รักษา ไม่ต้องขวนขวายหาคนไข้เหมือนแต่แรก

(๙)

การตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์นั้น เดิมมีความประสงค์สองอย่าง คือจะหาหมอสำหรับประจำโรงพยาบาลต่อไป มิให้ต้องลำบากเหมือนเมื่อแรกตั้งโรงพยาบาล ดังพรรณนามาแล้วอย่างหนึ่ง ด้วยเห็นว่าหมอไทยแต่ก่อนมาเรียนรักษาโรคแต่ด้วยวิธีใช้ยา ไม่ได้เรียนวิธีรักษาด้วยตัดผ่า Surgery จะเพิ่มวิชานั้นแก่หมอไทย จึงให้สร้างตึกตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ รับนักเรียนที่สมัครจะเรียนวิชาแพทย์ ให้เรียนวิชารักษาไข้และใช้ยาไทยที่ในโรงพยาบาลศิริราช ให้ดอกเตอร์ ยอช แมกฟาแลนด์ หมออเมริกัน (ภายหลังได้เป็นที่พระอาจวิทยาคม) ซึ่งสามารถสอนด้วยภาษาไทยได้เป็นครูสอนวิธีตัดผ่าและยาฝรั่ง แต่โรงเรียนนั้นยังไม่เห็นผลในสมัยของพระองค์ศรีฯ และสมัยเมื่อฉันรับการต่อมา จน พ.ศ. ๒๔๓๖ในสมัยเมื่อกรมพยาบาลขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ นักเรียนจึงมีความรู้จบหลักสูตร สอบวิชาได้ประกาศนียบัตร เรียกกันว่า “หมอประกาศนียบัตร” เป็นครั้งแรกมี ๙ คน บางคนกรมพยาบาลให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาล นอกจากนั้นไปเที่ยวรับรักษาไข้เจ็บ เป็นหมอเชลยศักดิ์โดยลำพังตน

แต่ผลของโรงเรียนวิชาแพทย์ในชั้นแรก ไม่เป็นประโยชน์ได้ดังหวัง เพราะคนทั้งหลายยังเชื่อถือแต่หมอที่เป็นลูกศิษย์ของหมอมีชื่อเสียงอยู่อย่างเดิม หมอประกาศนียบัตรเที่ยวรักษาไข้เจ็บหาผลประโยชน์ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องไปหาการอื่นทำช่วยเลี้ยงตัว บางคนถึงกับทิ้งวิชาแพทย์ ไปหาเลี้ยงชีพด้วยการอย่างอื่นก็มี เลยเป็นผลร้ายไปถึงโรงเรียน ด้วยมีคนสมัครเป็นนักเรียนแพทย์น้อยลงกว่าแต่ก่อน โรงเรียนแพทย์มาพ้นความลำบากได้ เมื่อกระทรวงมหาดไทยมีเหตุดังจะเล่าในนิทานเรื่องอนามัย เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตรตั้งเป็นแพทย์ประจำหัวเมือง และต่อมาเมื่อกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงจัดการทหารบก ก็เลือกเอาแต่หมอประกาศนียบัตรตั้งเป็นแพทย์ทหาร เพราะรู้วิชาตัดผ่ารักษาแผลอาวุธ แต่นั้นคนก็สมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น โรงเรียนแพทย์จึงกลับรุ่งเรืองเป็นลำดับมา จนกลายเป็นราชแพทยาลัย

(๑๐)

ได้กล่าวมาข้างต้น ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรรมการ ๙ คน ให้จัดการตั้งโรงพยาบาล และกรรมการได้สมมตให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์กับตัวฉัน เป็นผู้ทำการด้วยกัน ๒ คน ตัวฉันเป็นพนักงานก่อสร้าง อันเป็นงานชั่วคราวไม่ยากลำบากอันใด พอสร้างโรงพยาบาลสำเร็จก็เสร็จธุระของฉัน แต่พระองค์ศรีฯ เป็นพนักงานจัดการภายในโรงพยาบาล อันเป็นงานประจำ มีความลำบากมาแต่แรก ตั้งแต่หาหมอและหาคนไข้เป็นต้นดังพรรณนามาแล้ว เมื่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นแล้ว งานในหน้าที่ของพระองค์ศรีฯ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับมา พระองค์ศรีฯ ทรงสามารถจัดการภายในโรงพยาบาลให้เจริญมา จนตั้งโรงพยาบาลได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เธอเป็นอธิบดีกรมพยาบาลแต่แรกตั้งกรมนั้น

แต่พระองค์ศรีฯ มีหน้าที่ราชการอย่างอื่นอีก คือเป็นอธิบดีอำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาอย่างหนึ่ง และเป็นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง มาตั้งแต่เมื่อก่อนเป็นกรรมการตั้งโรงพยาบาล หน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์ ต้องเข้าไปเขียนร่างพระราชหัตถเลขา และพระราชนิพนธ์ตามตรัสบอกเสมอทุกคืน ครั้นมาเป็นอธิบดีกรมพยาบาล เวลาเช้าเธอต้องเสด็จไปทำการที่โรงพยาบาล ถึงกลางวันต้องเสด็จไปยังสำนักงานหนังสือราชกิจจานุเบกษา เวลาค่ำยังต้องเข้าไปเขียนร่างรับสั่งทุกคืน ส่วนพระองค์ของพระองค์ศรีฯ นั้น แม้เวลาเป็นปรกติก็แบบบางอยู่แล้ว เมื่อมาต้องทำงานหนักขึ้น และเวลาที่จะผ่อนพักบำรุงพระองค์น้อยลงกว่าแต่ก่อน ในไม่ช้าเท่าใดพระอนามัยก็ทรุดโทรมลง พอฉันสังเกตเห็นก็ได้เคยทูลตักเตือนแต่แรก ว่าเธอทำราชการเกินพระกำลังนัก ควรจะคิดแบ่งเบาถวายเวนคืนหน้าที่เขียนพระราชนิพนธ์ซึ่งผู้อื่นทำแทนได้ไม่ยาก เอาพระกำลังและเวลาไปทำการกรมพยาบาลถวายแต่อย่างเดียว เจ้าพี่เจ้าน้องพระองค์อื่น ก็ทรงตักเตือนอย่างนั้น แต่เธอไม่ฟัง ตรัสว่าถ้าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้อยู่ตราบใด เธอจะไม่ทิ้งพระเจ้าอยู่หัวด้วยเห็นแก่พระองค์เองเป็นอันขาด เธอฝืนพระกำลังทำราชการมาจนประชวรลง หมอตรวจก็ปรากฏว่าพระปัปผาสะพิการเป็นวัณโรคภายใน (น่าสงสัยว่าจะเริ่มเป็นมานานแล้ว มากำเริบขึ้นเมื่อต้องทำงานหนัก) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบก็ตกพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง” แต่ส่วนพระองค์ศรีฯ เอง เวลานั้นตำหนักที่วังของเธอยังไม่ได้สร้าง เธอยังประทับอยู่แพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้พระองค์ว่าประชวรเป็นวัณโรค ก็ย้ายไปประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ตึกเสาวภาคในโรงพยาบาลศิริราช ใครชวนให้ไปรักษาพระองค์ที่อื่นก็ไม่ยอม เธอเคยตรัสแก่ฉันว่าถ้ารักษาไม่หาย ก็อยากจะตายในโรงพยาบาล คิดดูก็ชอบกล ถ้าเป็นผู้อื่นก็เห็นจะไม่อยากไปอยู่ในที่คนเจ็บคนตาย เช่นโรงพยาบาล คงเป็นเพราะพระหฤทัยเธอรักโรงพยาบาล เปรียบเหมือนเช่นรักลูกที่เธอได้ให้เกิดและเลี้ยงมาเอง จึงไม่รังเกียจ และถึงปลงพระหฤทัยอยากจะสิ้นพระชนม์ในโรงพยาบาลเช่นนั้น ก็ไม่มีใครขืนพระทัย แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล พระญาติและมิตรก็พากันไปช่วยรักษาพยาบาลไม่ขาด มาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนมายุเพียง ๒๗ ปี ได้เป็นอธิบดีกรมพยาบาลอยู่ไม่ถึง ๒ ปี

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสงสารจอมมารดาเหม ซึ่งมีพระเจ้าลูกเธอแต่พระองค์ศรีฯ พระองค์เดียว กับทั้งหม่อมเจ้าโอรสธิดาของพระองค์ศรีฯ ซึ่งเป็นกำพร้าแต่ยังเล็กอยู่ทั้ง ๒ องค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าจอมมารดาเหม ให้เป็นที่ท้าวสมศักดิ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นบำนาญ และโปรดให้รับหม่อมเจ้าหญิงสุรางค์ศรี ไปทรงชุบเลี้ยงที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่หม่อมเจ้าชายปิยสรรพางค์นั้น กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ ทรงรับไปเลี้ยงตามที่ได้สัญญาไว้กับพระองค์ศรีฯ จนเจริญพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดส่งให้ไปศึกษาในยุโรป เมื่อพระองค์ศรีฯ สิ้นพระชนม์ แม้คนทั้งหลายอื่นภายนอกตลอดจนคนไข้ที่เคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล บรรดาได้เคยรู้พระคุณวุฒิมาแต่ก่อนก็พากันเสียดายทั่วไปไม่เลือกหน้า

มีเรื่องเนื่องกับพระประวัติของพระองค์ศรีฯ อยู่เรื่องหนึ่ง ในเวลานี้ดูเหมือนจะรู้อยู่แต่ตัวฉันคนเดียว ด้วยเป็นเรื่องเนื่องในเรื่องประวัติของฉันด้วย จะเขียนลงไว้มิให้สูญไปเสีย ประเพณีแต่ก่อนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดให้เป็นกรม อาลักษณ์เป็นพนักงานคิดนามกรม เมื่อครั้งตัวฉันจะรับกรม พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เห็นว่าฉันรับราชการทหาร จึงคิดนามกรมว่า กรมหมื่นจตุรงครังสฤษฏ์ นามหนึ่ง ว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นามหนึ่ง ถวายทรงเลือก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดนามหลัง แต่ทรงปรารภถึงคำ “ภาพ” ที่ลงท้าย ว่าเมื่อถึงนามกรมของพระองค์ศรีฯ ซึ่งเป็นเจ้าน้องต่อตัวฉัน จะหาคำรับสัมผัสให้คล้องกันได้ยาก พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับประกันว่าจะหาให้ได้ จึงทรงรับฉันเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับแล้วไม่นอนใจ คิดนามกรมสำหรับพระองค์ศรีฯ ขึ้นสำรองไว้ว่า “กรมหมื่นศุภกาพย์กวีการ” เพราะเธอทรงชำนิชำนาญการบทกลอนภาษาไทย แต่ลักษณะพิธีรับกรมในสมัยนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านาย คือต้องสร้างวังก่อนแล้วจึงรับกรม พระองค์ศรีฯ ด่วนสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังไม่ได้สร้างวัง จึงมิได้เป็นกรม นามกรมที่พระยาศรีสุนทรโวหารคิดไว้ก็เลยสูญ เมื่อโปรดให้พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เจ้าน้องถัดพระองค์ศรีฯ ไป รับกรม พระยาศรีสุนทรโวหารคิดพระนามใหม่ว่า “กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา” ก็สัมผัสคำ “ภาพ” ได้ไม่ขัดข้อง

(๑๑)

เมื่อพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาตั้งกระทรวงธรรมการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมกรมพยาบาล เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงธรรมการ ซึ่งตัวฉันเป็นอธิบดี ฉันจึงได้ว่ากรมพยาบาลต่อพระองค์ศรีฯ มา แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยฉันต้องบังคับบัญชาการกรมต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในกระทรวงธรรมการ ไม่มีเวลาจะไปดูแลกรมพยาบาลได้มากเหมือนพระองค์ศรีฯ จึงต้องกราบทูลขอให้พระยาไกรโกษา (เทศ) เป็นอธิบดีผู้รักษาการกรมพยาบาล ตัวฉันเป็นแต่ผู้คิดการต่างๆ ที่จะให้จัด และไปตรวจการงานเองเป็นครั้งคราว เช่นไปตามโรงพยาบาลทุกแห่งสัปดาห์ละครั้งหนึ่งเป็นต้น การกรมพยาบาลที่จัดในสมัยเมื่อขึ้นอยู่กับฉัน ก็ล้วนแต่จัดการต่างๆ ที่พระองค์ศรีฯ ได้ทรงเริ่มจัดไว้ให้สำเร็จไปทุกอย่าง มีการจัดขึ้นใหม่ในสมัยของฉัน แต่เรื่องวิธีพยาบาลคนคลอดลูก ดังจะพรรณนาต่อไป

(๑๒)

เมื่อจะเล่าถึงเรื่องแก้วิธีพยาบาลคนคลอดลูก จะต้องกล่าวถึงวิธีพยาบาลอย่างเดิมเสียก่อน ธรรมดาการคลอดลูกย่อมเสี่ยงภัยแก่ชีวิตทั้งแม่และลูกที่คลอดใหม่ จึงต้องพยาบาลด้วยระมัดระวังมาก มนุษย์ต่างชาติต่างมีวิธีพยาบาลการคลอดลูก ที่เชื่อว่าจะปลอดภัยได้ดีกว่าอย่างอื่น และใช้วิธีที่ตนเชื่อถือสืบกันมา ไม่พอใจเปลี่ยนแปลงเพราะเกรงคนกลางจะเป็นอันตราย ก็วิธีพยาบาลคนคลอดลูกที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณนั้น ให้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าขัดเตี่ยวนอนบนกระดานแผ่นหนึ่ง เรียกว่า “กระดานอยู่ไฟ” มีเตาสุมไฟไว้ข้างกระดานนั้น ให้ส่งความร้อนกว่าอากาศปรกติถึงผิวหนังคนคลอดลูกอยู่เสมอตลอดเวลาราว ๑๕ วัน และให้กินยาทายาไปด้วยกัน ต่อเมื่อสิ้นเขต “อยู่ไฟ” แล้วจึงลงจากกระดานไฟอยู่กับเรือนเหมือนแต่ก่อน ไทยเรา โดยเฉพาะพวกผู้หญิงแต่ก่อนมาเชื่อคุณของการอยู่ไฟมั่นคง ถึงชอบยกเป็นเหตุอ้างเมื่อเห็นผู้หญิงคนใด คลอดลูกแล้วร่างกายทรุดโทรมว่าเป็นเพราะ “อยู่ไฟไม่ได้” ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรณผ่องใส ก็ชมว่า “เพราะอยู่ไฟได้” เลยเป็นปัจจัยให้ตัวผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดลูก เชื่อว่าอยู่ไฟเป็นการป้องกันอันตราย และให้คุณแก่ตนเมื่อภายหลัง แม้ไม่สบายก็ไม่รังเกียจ แต่ที่จริงการอยู่ไฟ ถึงจะเป็นคุณหรือไม่ให้โทษ ก็แต่เฉพาะคนที่ไม่มีอาการจับไข้ ถ้ามีพิษไข้อยู่ในตัวไอไฟกลับให้โทษ ขืนอยู่ก็อาจจะเป็นอันตราย แต่วิธีพยาบาลอย่างเดิม ถ้าคนคลอดลูกเป็นไข้ก็เป็นแต่ลดไอไฟให้น้อยลงหากล้าเลิกอยู่ไฟไม่ จึงมีเหตุถึงตายด้วยอยู่ไฟบ่อยๆ

ทีนี้จะเล่าถึงมูลเหตุที่เปลี่ยนวิธีพยาบาลคนคลอดลูก กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เคยตรัสเล่าให้ฉันฟัง ว่าเมื่อท่านยังเป็นหม่อมเจ้า มีบุตรคนแรก (คือเจ้าพระยาพระเสด็จ) หม่อมเปี่ยมมารดาเป็นไข้ทุรนทุรายทนความร้อนไม่ได้ แต่พวกผู้ใหญ่ที่พยาบาลบังคับ ขืนให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย ท่านก็ทรงปฏิญาณแต่นั้นมาว่าถ้ามีลูกอีก จะไม่ให้หม่อมอยู่ไฟเป็นอันขาด ต่อมาเมื่อท่านจะมีลูกอีก ประจวบเวลาหมอเคาแวนเข้ามารับราชการเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าอยู่หัว จึงให้หมอเคาแวนเป็นผู้ผดุงครรภ์และพยาบาลตามแบบอย่างฝรั่ง ก็ปลอดภัยสบายดี แต่นั้นมาท่านจึงใช้แบบฝรั่งทั้งหม่อมและบุตรธิดาของท่าน ก็อยู่เย็นเป็นสุขไม่มีใครเป็นอันตราย ผู้อื่นนอกจากกรมหมื่นปราบฯ ที่เลื่อมใสวิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่ง ก็น่าจะมี แต่คงเป็นเพราะพวกผู้หญิงในครัวเรือนไม่ยอมเลิกอยู่ไฟ และไม่มีเหตุบังคับเหมือนกรมหมื่นปราบฯ กรมหมื่นปราบฯ จึงเป็นผู้เลิกการอยู่ไฟ ใช้วิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก่อนผู้อื่น กรมหมื่นปราบฯ เป็นผู้ภักดีอุปฐากสนองพระคุณสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีอยู่เสมอ ได้ยินว่าเมื่อครั้งประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีพระอาการเป็นไข้ กรมหมื่นปราบฯ กราบทูลชี้แจงแสดงคุณของวิธีพยาบาลอย่างฝรั่ง สมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใส ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง ให้หมอเคาแวนพยาบาลตามแบบฝรั่งก็ทรงสมบูรณ์พูนสุข ตระหนักพระราชหฤทัยว่าดีกว่าวิธีอยู่ไฟอย่างเดิม แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีอยู่ไฟที่ในพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ข้างนอกวังก็เอาอย่างตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชินี มีมากขึ้นเป็นลำดับมา ฉันจึงคิดจะใช้วิธีพยาบาลอย่างฝรั่งในโรงพยาบาล ขยายประโยชน์ต่อลงไปถึงราษฎร แต่ในเวลานั้นผู้หญิงไปคลอดลูกในโรงพยาบาลยังมีน้อย และร้องขอให้ใช้วิธีพยาบาลอย่างเดิม เช่นให้วงสายสิญจน์แขวนยันต์รอบห้องที่อยู่และให้อยู่ไฟเป็นต้น ชี้แจงชักชวนให้ใช้วิธีอย่างใหม่ก็ไม่มีใครยอม จึงเกิดขัดข้อง เพราะถ้าขืนใจก็คงไม่มีใครไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล เมื่อความขัดข้องนั้นทราบถึงสมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับช่วยด้วยโปรดประทานอนุญาตให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาล ว่าพระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาแต่ก่อน แล้วมาเปลี่ยนใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายกว่าอยู่ไฟอย่างแต่ก่อนมาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้ทำตามอย่างพระองค์ อย่าให้กลัวเลยหามีอันตรายไม่ ถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวนจะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท พอมีกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมราชินีอย่างนั้น ก็เริ่มมีคนสมัครให้พยาบาลคลอดลูกตามวิธีใหม่ ในชั้นแรกหมอเคาแวนไปดูแลคนไข้เอง แล้วฝึกหัดหมอกับคนพยาบาลมาจนชำนาญ แต่กระนั้นคนสมัครให้พยาบาลอย่างใหม่ก็ยังมีน้อย ในห้องเดียวกันมีทั้งคนคลอดลูกที่อยู่ไฟ และไม่อยู่ไฟปนกันมาอีกหลายเดือน ต่อเมื่อเห็นกันว่าคนที่ไม่อยู่ไฟไม่ล้มตายกลับสบายดีกว่าคนอยู่ไฟ ทั้งได้เงินทำขวัญลูกด้วย จำนวนคนที่ขออยู่ไฟก็น้อยลง จนเกือบไม่มี กรมพยาบาลจึงสามารถตั้งข้อบังคับรับให้คนคลอดลูกในโรงพยาบาลแต่คนที่สมัครไม่อยู่ไฟ เลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลแต่นั้นมา

ฉันได้ว่าการกรมพยาบาลอยู่ ๒ ปี พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันย้ายจากกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็สิ้นเกี่ยวข้องกับกรมพยาบาลเพียงนั้น

เนื้อเพลง