วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ระเด่นลันได

                                                             

โดย พระมหามนตรี (ทรัพย์)






ประวัติ

                วรรณคดีเรื่องนี้น่าจะเป็นบทละคร เพราะมีคำนำ เมื่อนั้น บัดนั้น แต่ไม่มีหน้าพาทย์ หรือเพลง กำกับให้ครบตามแบบละครทั้งปวง 
                บทละครเรื่อง ระเด่นลันได” นี้ เป็นวรรณคดีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของแขกขอทานชื่อ ลันได อาศัยอยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ บริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ต่อมาแขกขอทานเกิดวิวาทกับแขกเลี้ยงวัวด้วยเรื่องแย่งหญิงสาว ผู้คนต่างเห็นเป็นเรื่องขบขัน พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่องจึงนำมาแต่งเป็นกลอนบทละคร โดยใช้ถ้อยคำสำนวนล้อเลียนบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากปรากฏคำว่า ระเด่น” “วงศ์อสัญแดหวา” “ตุนาหงัน” ตลอดจนการใช้คำราชาศัพท์อื่นๆ ทั้งที่ตัวละครในเรื่องเป็นเพียงสามัญชน นับเป็นเรื่องแปลกกว่าวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน และมีผู้นิยมอ่านแพร่หลายตลอดมา
                บทละครเรื่อง ละเด่นลันได นั้นมีลักษณะพิเศษตรงที่ การสร้างตัวละครและสำนวนโวหารต่างๆนั้นถูกแต่งขึ้นเพื่อล้อเลียนวรรณกรรมชั้นสูงอย่าง อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีบทละครเรื่องเอกของไทย
                ในอิเหนา นั้นตัวละครจะมาจากพวกราชวงศ์ ดังนั้นท่วงทำนองการแต่งและฉากต่างๆก็จะไพเราะหรูหราตามฐานะของตัวละคร ดังนั้นพระมหามนตรี จึงได้ล้อเลียนอิเหนาโดยกำหนดตัวละครและฉากต่างๆให้ตรงกันข้าม เป็นเนื้อเรื่องง่ายๆเกี่ยวกับแขกขอทานที่ไปเป็นชู้กับภรรยาของแขกอีกคนที่เป็นคนเลี้ยงวัว

ผู้แต่ง คือ พระมหามนตรี(ทรัพย์)

ลักษณะการแต่ง     เป็นกลอนบทละครบทละครเรื่อง
                ละเด่นลันได นั้นมีลักษณะพิเศษตรงที่ การสร้างตัวละครและสำนวนโวหารต่างๆนั้นถูกแต่งขึ้นเพื่อล้อเลียนวรรณกรรมชั้นสูงอย่าง อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีบทละครเรื่องเอกของไทย

ตัวละคร

                -ระเด่นลันได ขอทานยากจน มีอาชีพสีซอ เจ้าชู้  มีคำพูดวาจาที่อ่อนหวานพูดดีให้ตัวเอง
คล้ายเป็นคนช่างน่าสงสาร ทำให้ผู้อื่นคล้อยตามหลงชอบและหลงรักในตัว
                -นางประแดะ  เป็นคนใจอ่อน และ ขี้สงสาร ภรรยาของเท้าประดู่
                -ท้าวประดู่  มีนิสัยขี้หึง และ รักศักดิ์ศรี  สามีของนางประแดะ

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

                1. ต้องการอวดฝีมือที่สร้างงานชิ้นใหญ่นอกเหนือไปจากกลอนกลบท กบเต้นสามตอน และโคลงฤๅษีดัดตน

                2. เพื่อล้อเรื่องอิเหนา


เรื่องย่อ


                ระเด่นลันไดเที่ยวสีซอขอข้าวกินตามตลาดเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ มีทหารหมาคอยเห่าหอนเฝ้ายามให้ พอโพล้เพล้ใกล้ค่ำก็สุมควันไล่ยุงแล้วนอนสูบกัญชาบนเสื่อลำแพนจนเมาพับ พอตะวันโด่งก็ตื่นขึ้นมาอาบน้ำล้างหน้าทาดินสอพอง สวมกางเกงขาดๆ สวมประคำดีควายสะพายยาม ถือกระบองกันหมาแล้วเที่ยวสีซอไปตามทางเหมือนอย่างเคยจนมาถึงเมืองหนึ่งซึ่งใหญ่กว้าง มีเล้าหมูอยู่ใต้ถุน มีคอกโคอยู่ข้างกำแพงวัง พอระเด่นลันไดเดินเข้าไป หมาก็พากันล้อมเห่ากันเสียงดัง
                ฝ่ายนางประแดะซึ่งพอตอนเช้าท้าวประดูผู้สามีออกไปเลี้ยงวัว นางอยู่ในห้อง คอยหั่นกัญชาไว้รอท่า ก็ได้ยินเสียงหมาเห่า นึกว่าวัวหลุดเข้าไปในสวนกล้วย เลยโผล่ออกมาดูตรงหน้าต่างและตวาดหมา พอเห็นระเด่นลันไดก็ชอบใจ ตอนนั้นเองระเด่นลันไดพอหันมาพบสบตานางประแดะ เห็นรูปร่างของนางก็นึกพอใจเช่นกัน แล้วก็สีซอขึ้น และทำท่าทางให้นางประแดะหัวเราะ เพื่อเกี้ยวนาง หลังจากที่นางประแดะได้ฟังลีลาการสีซอของระเด่น ก็รู้สึกจับใจความไพเราะ ก็เกิดความรักอันร้อนแรงลืมแม้กระทั่งผัวของตัวเอง นึกอยากจะได้ระเด่นลันไดมาเป็นคู่ชู้สักวัน จึงรีบจัดแจงตักข้าวกล้อง ปลาสลิดมาหวังให้ทานแก่ระเด่นลันได
                ฝ่ายระเด่นลันไดก็พูดจาลดเลี้ยวเกี่ยวพานต่างๆ แต่นางประแดะก็ทำเป็นเล่นตัวบ่ายเบี่ยงแต่ก็ยังบอกชื่อตัวเองและชื่อผัวให้ระเด่นรู้ ระเด่นก็บอกว่าคืนนี้พี่จะลอดช่องแมวขึ้นไปหาให้เปิดประตูไว้รอรับ แล้วก็จากไปทั้งที่สมอารมณ์หมายและอาลัยอาวร
                ด้านท้าวประดู่ที่เลี้ยงวัวอยู่ วันที่จะเกิดเหตุก็มีลางให้กระตุกนัยน์ตาทั้งสองข้าง ตุ๊กแกลงตงมาตรงหน้าคลานไปมาแล้วก็ตาย เห็นแม่โคผลัดขึ้นสัดโคผู้ ก็หวั่นใจว่าจะมีเหตุอะไรสักอย่างแน่ จึงรีบไล่โคกลับมาเมือง (บ้าน)
                มาถึงบ้าน ก็เห็นข้าวพร่องไป ปลาสลิดก็หายหมด พอเข้าในห้องจึงเรียกนางประแดะมาว่า มีใครไปมาบ้านเราบ้างหรือเปล่า นางประแดะก็ตอบกระอึกกระอักว่าไม่มีใครหรอก น้องก็นอนอยู่ในบ้าน ไม่เห็นมีใครเลย ท้าวประดู่ยังแคลงใจอยู่จึงบอกว่า ข้าวปลาอาหารหายไปหมดแล้วจะไม่มีใครมาได้อย่างไร บอกมาอย่าโกหก สุดท้ายนางประแดะกลัวสามีจึงบอกว่า วันนี้มีหน่อเนื้อกษัตรามาสีซอขอข้าวสาร น้องจึงให้ทานพอพ้นๆ ไป พอท้าวประดู่ได้ฟังก็พอเดาได้ว่าคงเป็นไอ้ระเด่นลันไดคิดอ่านมาตัดเสบียงเป็นแน่ จึงชี้หน้าตานางประแดะแล้วฉวยดาบออกมาด้วยความโกรธ นางประแดะรีบกอดเอวสามีไว้เพราะหวาดกลัว บอกให้พี่ฟังน้องก่อน พี่เข้าใจผิดแล้ว ท้าวประดู่ตอนนี้อารมณ์เดือดมากไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ชักดาบออกมาแกว่งและบอกว่า นึกว่ากูไม่รู้หรืออย่างไร ด่าสารพัดและถีบถูกสะโพกนางประแดะกระเด็น นางประแดะเจ็บมากวิ่งกระเผลก เข้าครัวแล้วก็พูดจาประชดชีวิต พอท้าวประดู่ได้ฟังก็โกรธหนัก ดุด่าพลางผลักประตูจะตามนางเข้าไปในห้องครัว แต่นางลั่นกลอนไว้แล้ว ยักเย่ยักยันกันอยู่จนสุดท้ายท้าวประดูก็เข้าไปได้ เอาไม้กวาดไล่ตีนางประแดะ วิ่งกันไปมาอยู่ในครัว สุดท้ายก็ไล่นางประแดะออกจากบ้าน
นางประแดะข่มกลั้นน้ำตาเก็บข้าวของออกจากบ้าน เวลานั้นเป็นคืนเดือนมืดฝนตกพรำๆ นางก็หยุดยืนร้องไห้อยู่ร้านค้า
                ฝ่ายระเด่นลันได พอตกดึกก็ย่องเข้าหานางประแดะ เพราะคิดว่าท้าวประดู่นอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง ท้าวประดู่ที่นอนอยู่ในห้องได้ยินเสียงกึกกักก็นึกว่านางประแดะกลับมาหาเลยทำเป็นไม่สนใจแล้วหลับไป ฝ่ายระเด่นลันไดพอเข้ามาในห้องได้เข้าใจว่าคนที่นอนอยู่เป็นนางประแดะก็ขึ้นทับแล้วกอดจูบลูบคลำทันที
ท้าวประดู่ก็ตกใจลุกขึ้นปลุกปล้ำนึกว่าอีอำต่างคลำกันวุ่นวายเมื่อเห็นว่าอีกคนหนึ่งไม่ใช่นางประแดะ นึกว่าผีอำ พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ร้องโวยวายขึ้น ฝ่ายระเด่นลันไดก็กระโดดหนีไปอย่างทุลักทุเล ระหว่างที่วิ่งหนีมาก็ได้ยินเสียงครางอยู่ในร้านข้างทาง พอเข้าไปดูก็เห็นว่าเป็นนางประแดะนั่งคลุมหัวร้องไห้อยู่ พอพบหน้ากันแล้วต่างก็ดีใจ ระเด่นจึงพานางเข้าบ้าน พอถึงบ้านระเด่นก็ชวนนางประแดะเข้ามุ้ง สุดท้ายทั้งสองก็ได้เสียกัน
                กล่าวถึงนางกระแอแม่ค้าหาบเร่ขายขนมอยู่แถวนั้น ซึ่งเป็นชู้เดิมเที่ยวไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด วันหนึ่งนางก็คิดถึงระเด่นลันไดพอตลาดวายก็แวะมาที่บ้านระเด่นลันได พอมาถึงนอกชานเห็นประตูปิดอยู่ก็แอบมองลอดช่องเข้าไป เห็นนางประแดะกับระเด่นคลีผ้าหาเล็นกันง่วนอยู่ก็ให้รู้สึกทั้งโมโหทั้งเสียใจ แต่ไม่รู้จะอาละวาดอย่างไรจึงแกล้งเรียกทวงหนี้ข้าวเหนียวที่ค้างไว้ พอระเด่นบอกว่าจ่ายไปแล้วไม่มีติดค้าง นางก็ทำโมโหหาว่าเบี้ยว ฝ่ายระเด่นลันไดขี้เกียจเถียงกับนางกระแอ จึงพูดจาออดอ้อนแล้วเรียกให้เข้ามาคุยกันดีๆ บนเรือน ฯ

บทละคร เรื่อง ระเด่นลันได

 ช้าปี่
  มาจะกล่าวบทไปถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภาตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วนกำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยามคอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย
ฯ ๔ คำ ฯ
  เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่องเป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชายต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณีภูมีซบเซาเมากัญชา
ฯ ๔ คำ ฯ
 ร่าย
  ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่งโก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลาลงสระสรงคงคาในท้องคลอง
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
 ชมตลาด
  กระโดดดำสามทีสีเหื่อไคลแล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง
ทรงสุคนธ์ปนละลายดินสอพองชโลมสองแก้มคางอย่างแมวคราว
นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
เจียระบาดเสมียนละว้ามาแต่ลาวดูราวกับหนังแขกเมื่อแรกมี
สวมประคำดีควายตะพายย่ามหมดจดงดงามกว่าปันหยี
กุมตระบองกันหมาจะราวีถือซอจรลีมาตามทาง
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
 ร่าย
  มาเอยมาถึงเมืองหนึ่งสร้างใหม่ดูใหญ่กว้าง
ปราสาทเสาเล้าหมูอยู่กลางมีคอกโคอยู่ข้างกำแพงวัง
พระเยื้องย่างเข้าทางทวาราหมู่หมาแห่ห้อมล้อมหน้าหลัง
แกว่งตระบองป้องปัดอยู่เก้กังพระทรงศักดิ์หยักรั้งคอยราญรอน
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
  เมื่อนั้นนางประแดะหูกลวงดวงสมร
ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธรเสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว
โฉมเฉลาเนาในที่ไสยาบรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว
แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งตัวหวีหัวหาเหาเกล้าผมมวย
ได้ยินแว่วสำเนียงเสียงหมาเห่าคิดว่าวัวเข้าในสวนกล้วย
จึงออกมาเผยแกลอยู่แร่รวยตวาดด้วยสุรเสียงสำเนียงนาง
พอเหลือบเห็นระเด่นลันไดอรไทผินผันหันข้าง
ชม้อยชม้ายชายเนตรดูพลางชะน้อยฤๅรูปร่างราวกับกลึง
งามกว่าภัสดาสามีทั้งเมืองตานีไม่มีถึง
เกิดกำหนัดกลัดกลุ้มรุมรึงนางตะลึงแลดูพระภูมี
ฯ ๑๐ คำ ฯ
  เมื่อนั้นพระสุวรรณลันไดเรืองศรี
เหลียวพบสบเนตรนางตานีภูมีพิศพักตร์ลักขณา
ฯ ๒ คำ ฯ
 ชมโฉม
  สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูดงามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวจรดเท้าขาวแต่ตาทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้ายจมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียวโคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อมมันน่าเชยน่าชมนางเทวี
ฯ ๖ คำ ฯ
 ร่าย
  นี่จะเป็นลูกสาวท้าวพระยาฤๅว่าเป็นพระมเหสี
อกใจทึกทักรักเต็มทีก็ทรงสีซอสุวรรณขึ้นทันใด
ฯ ๒ คำ ฯ
 พัดชา
  ยักย้ายร่ายร้องเป็นลำนำมีอยู่สองสามคำจำไว้ได้
สุวรรณหงษ์ถูกหอกอย่าบอกใครถูกแล้วกลับไปได้เท่านั้น
ฯ ๒ คำ ฯ
 ร่าย
  แล้วซ้ำสีอิกกระดิกนิ้วทำยักคิ้วแลบลิ้นเล่นขบขัน
เห็นโฉมยงหัวร่ออยู่งองันพระทรงธรรม์ทำหนักชักเฉื่อยไป
ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี
  เมื่อนั้นนางประแดะตานีศรีใส
สดับเสียงสีซอพอฤทัยให้วาบวับจับใจผูกพัน
ยิ่งคิดพิศวงพระทรงศักดิ์ลืมรักท้าวประดู่ผู้ผัวขวัญ
ทำไฉนจะได้พระทรงธรรม์มาเคียงพักตร์สักวันด้วยรักแรง
คิดพลางทางเข้าไปในห้องแล้วตักเอาข้าวกล้องมาสองแล่ง
ค่อยประจงลงใส่กระบะแดงกับปลาสลิดแห้งห้าหกตัว
แล้วลงจากบันไดมิได้ช้าเข้ามานอบนบจบเหนือหัว
เอาปลาใส่ย่ามด้วยความกลัวแล้วยอบตัวลงบังคมก้มพักตรา
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นลันไดให้แสนเสนหา
อะรามรักยักคิ้วหลิ่วตาพูดจาลดเลี้ยวเกี้ยวพาน
ฯ ๒ คำ ฯ
 โอ้โลม
  งามเอยงามปลอดชีวิตพี่นี้รอดด้วยข้าวสาร
เป็นกุศลดลใจเจ้าให้ทานเยาวมาลย์แม่มีพระคุณนัก
พี่ขอถามนามท้าวเจ้ากรุงไกรชื่อเรียงเสียงไรไม่รู้จัก
เจ้าเป็นพระมเหสีที่รักฤๅนงลักษณ์เป็นราชธิดา
รูปร่างอย่างว่ากะลาสีพี่ให้มีใจรักเจ้าหนักหนา
ว่าพลางเข้าใกล้กัลยาพระราชาฉวยฉุดยุดมือไว้
ฯ ๖ คำ ฯ
 ร่าย
  ทรงเอยทรงกระสอบทำเล่นเห็นชอบฤๅไฉน
ไม่รู้จักมักจี่นี่อะไรมาเลี้ยวไล่ฉวยฉุดยุดข้อมือ
ยิ่งว่าก็ไม่วางทำอย่างนี้พระจะมีเงินช่วยข้าด้วยฤๅ
อวดว่ากล้าแข็งเข้าแย่งยื้อลวนลามถามชื่อน้องทำไม
น้องมิใช่ตัวเปล่าเล่าเปลือยหยาบเหมือนขี้เลื่อยเมื่อหัวไหล่
ลูกเขาเมียเขาไม่เข้าใจบาปกรรมอย่างไรก็ไม่รู้
ฯ ๖ คำ ฯ
 ชาตรี
  ดวงเอยดวงไต้สบถได้เจ็ดวัดทัดสองหู
ความจริงพี่มิเล่นเป็นเช่นชู้จะร่วมเรียงเคียงคู่กันโดยดี
ถึงมิใช่ตัวเปล่าเจ้ามีผัวพี่ไม่กลัวบาปดอกนะโฉมศรี
อันนรกตกใจไปใยมียมพระบาลกับพี่เป็นเกลอกัน
เพียงจับมือถือแขนอย่าแค้นเคืองจะให้น้องสองเฟื้องอย่าหุนหัน
แล้วแก้เงินในไถ้ออกให้พลันนี่แลขันหมากหมั้นกัลยา
พอดึกดึกสักหน่อยนะน้องแก้วพี่จะลอดล่องแมวขึ้นไปหา
โฉมเฉลาเจ้าจงได้เมตตาเปิดประตูไว้ท่าอย่าหลับนอน
ฯ ๘ คำ ฯ
 ร่าย
  ทรงเอยทรงกระโถนอย่ามาพักปลอบโยนให้โอนอ่อน
ไม่อยากได้เงินทองของภูธรนางเคืองค้อนคืนให้ไม่อินัง
ช่างอวดอ้างว่านรกไม่ตกใจคนอะไรอย่างนี้ก็มีมั่ง
เชิญเสด็จรีบออกไปนอกวังอย่ามานั่งวิงวอนทำค่อนแคะ
เพียงแต่รู้จักกันกระนั้นพลางพอเป็นทางไมตรีกระนี้แหละ
เมื่อพระอดข้าวปลาจึงมาแวะน้องฤๅชื่อประแดะดวงใจ
ท่านท้าวประดู่ผู้เป็นผัวยังไปเลี้ยงวัวหากลับไม่
แม้นชักช้าชีวันจะบรรลัยเร่งไปเสียเถิดพระราชา
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นลันไดยิ้มเยาะหัวเราะร่า
เราไม่เกรงกลัวอิทธิ์ฤทธาท้าวประดู่จะมาทำไมใคร
พี่ก็ทรงศักดากล้าหาญแต่ข้าวสารเต็มกระบุงยังแบกไหว
ปลาแห้งพี่เอาเข้าเผาไฟประเดี๋ยวใจเคี้ยวเล่นออกเป็นจุณ
ฯ ๔ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะเห็นความจะวามวุ่น
จึงนบนอบยอบตัวทำกลัวบุญไม่รู้เลยพ่อคุณนี้มีฤทธิ์
กระนั้นสิเมื่อพระเสด็จมาหมูหมาย่นย่อไม่รอติด
ขอพระองค์จงฟังยั้งหยุดคิดอย่าให้มีความผิดติดตัวน้อง
ท้าวประดู่ภูธรเธอขี้หึงถ้ารู้ถึงท้าวเธอจะทุบถอง
จงไปเสียก่อนเถิดพ่อรูปทองอย่าให้น้องชั่วช้าเป็นราคี
ว่าพลางทางสลัดปัดกรควักค้อนยักหน้าตาหยิบหยี
นาดกรอ่อนคอจรลีเดินหนีมิให้มาใกล้กราย
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นลันไดไม่สมอารมณ์หมาย
เห็นนางหน่ายหนีลี้กายโฉมฉายสลัดพลัดมือไป
มันให้ขัดสนยืนบ่นออดเจ้ามาทอดทิ้งพี่หนีไปได้
ตัวกูจะอยู่ไปทำไมก็ยกย่ามขึ้นไหล่ไปทั้งรัก
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
 ช้า
  เมื่อนั้นท้าวประดู่สุริวงศ์ทรงกระฏัก
เที่ยวเลี้ยงวัวล้าเลื่อยเหนื่อยนักเข้าหยุดยั้งนั่งพักในศาลา
วันเมื่อมเหสีจะมีเหตุให้กระตุกนัยเนตรทั้งซ้ายขวา
ตุ๊กแกตกลงตรงพักตราคลานไปคลานมาก็สิ้นใจ
แม่โคขึ้นสัดผลัดโคตัวผู้พิเคราะห์ดูหลากจิตคิดสงสัย
จะมีเหตุแม่นมั่นพรั่นพระทัยก็เลี้ยวไล่โคกลับเขาพารา
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
 ร่าย
  ครั้นถึงขอบรั้วริมหัวป้อมพระวิ่งอ้อมเลี้ยวลัดสกัดหน้า
ไล่เข้าคอกพลันมิทันช้าเอาขี้หญ้าสุมควันกันริ้นยุง
ยืนลูบเนื้อตัวที่หัวบันไดแล้วเข้าในปรางค์รัตน์ผลัดผ้านุ่ง
ยุรยาตรเยื้องย่างมาข้างมุ้งเห็นกระบุงข้าวกล้องนั้นพร่องไป
ปลาสลิดในกระบายก็หายหมดพระทรงยศแสนเสียดายน้ำลายไหล
กำลังหิวข้าวเศร้าเสียใจก็เอนองค์ลงในที่ไสยา
กวักพระหัตถ์ตรัสเรียกมเหสีเข้ามานี่พุ่มพวงดวงยี่หวา
วันนี้มีใครไปมายังพาราเราบ้างฤๅอย่างไร
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะฟังความที่ถามไถ่
กราบทูลเยื้องยักกระอักกระไอร้อนตัวกลัวภัยพระภูมี
ตั้งแต่พระเสด็จไปเลี้ยงวัวน้องก็นอนซ่อนตัวอยู่ในที่
ไม่เห็นใครไปมายังธานีจงทราบใต้เกษีพระราชา
ฯ ๔ คำ ฯ
  เมื่อนั้นท้าวประดูได้ฟังให้กังขา
จึงซักไซ้ไล่เลียงกัลยาว่าไม่มีใครมาน่าแคลงใจ
ทั้งข้าวทั้งปลาของข้าหายเอายักย้ายขายซื้อฤๅไฉน
ฤๅลอบลักตักให้แก่ผู้ใดจงบอกไปนะนางอย่าพรางกัน
ฯ ๔ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะตกใจอยู่ไหวหวั่น
ด้วยแรกเริ่มเดิมทูลพระทรงธรรม์ว่าใครนั้นมิได้จะไปมา
ครั้นจะไม่ทูลความไปตามจริงก็เกรงกริ่งด้วยพิรุธมุสา
สารภาพกราบลงกับบาทาวอนว่าอย่าโกรธจงโปรดปราน
วันนี้มีหน่อกระษัตราเที่ยวมาสีซอขอข้าวสาร
น้องเสียมิได้ก็ให้ทานสิ้นคำให้การแล้วผ่านฟ้า
ฯ ๖ คำ ฯ
  เมื่อนั้นท้าวประดู่ได้ฟังนึกกังขา
ใครหนอหน่อเนื้อกระษัตราเที่ยวมาสีซอขอทาน
เห็นจะเป็นอ้ายระเด่นลันไดที่ครอบครองกรุงใกล้เทวฐาน
มันเสแสร้งแกล้งทำมาขอทานจะคิดอ่านตัดเสบียงเอาเวียงชัย
จึงชี้หน้าว่าเหม่มเหสีมึงนี้เหมือนหนอนที่บ่อนไส้
ขนเอาปลาข้าวให้เขาไปวันนี้จะได้อะไรกิน
ถ้ามั่งมีศรีสุขก็ไม่ว่านี่สำเภาเลากาก็แตกสิ้น
แล้วมิหนำซ้ำตัวเป็นมลทินจะอยู่กินต่อไปให้คลางแคลง
เจ้าศรัทธาอาศัยอย่างไรกันฤๅกระนี้กระนั้นก็ไม่แจ้ง
จะเลี้ยงไว้ไยเล่าเมื่อข้าวแพงฉวยชักพระแสงออกแกว่งไกว
ฯ ๑๐ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะเลี้ยวลอดกอดเอวได้
เหมือนเล่นงูกินหางไม่ห่างไกลนึกประหวั่นพรั่นใจอยู่รัวรัว
โปรดก่อนผ่อนถามเอาความจริงเมื่อชั่วแล้วแทงทิ้งเถิดทูลหัว
อันพระสามีเป็นที่กลัวจะทำนอกใจผัวอย่าพึงคิด
พระหึงหวงมิได้ล่วงพระอาญาที่ให้ข้าวให้ปลานั้นข้าผิด
น้องนี้ทำชั่วเพราะมัวมิดทำไมกับชีวิตไม่เอื้อเฟื้อ
น้องมิได้ศรัทธาอาศัยจะลุยน้ำดำไฟเสียให้เชื่อ
ไม่มีอาลัยแก่เลือดเนื้อแต่เงื้อเงื้อไว้เถิดอย่าเพ่อแทง
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นท้าวประดูเดือดนักชักพระแสง
ถ้าบอกจริงให้กูอีหูแหว่งจะงดไว้ไม่แทงอย่าแย่งยุด
กูก็เคยเกี้ยวชู้รู้มารยามิใช่มึงโสดามหาอุด
มันเป็นถึงเพียงนี้ก็พิรุธถึงดำน้ำร้อยผุดไม่เชื่อใจ
ยังจะท้าพิสูจน์รูดลองพ่อจะถองให้ยับจนตับไหล
เห็นว่ากูหลงรักแล้วหนักไปเอออะไรนี่หวาน้ำหน้ามึง
หาเอาใหม่ให้ดีกว่านี้อีกผิดก็เสียเงินปลีกสองสลึง
กำลังกริ้วโกรธาหน้าตึงถีบผึงถูกตะโพกโขยกไป
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
 โอ้
  เมื่อนั้นนางประแดะเจ็บจุกลุกไม่ไหว
ค่อยยืนยันกะเผลกเขยกไปเข้ายังครัวไฟร้องไห้โฮ
ร้อนดิ้นเร่าเร่าพ่อเจ้าเอ๋ยลูกไม่เคยโกหกพกโมโห
เสียแรงได้เป็นข้ามาแต่โซกลับพาลโกรธาด่าตี
น้องก็ไร้ญาติวงศ์พงศาหมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มีอยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา
ตะโพกโดกโดยเมียแทบคลาดถีบด้วยพระบาทดังชาติข้า
จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้ายาตายโหงตายห่าก็ตายไป
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
 ร่าย
  เมื่อนั้นท้าวประดูได้ฟังดังเพลิงไหม้
ดูดู๋อีประแดะค่อนแคะได้กลับมาด่าได้อีใจเพชร
เอาแต่คารมเข้าข่มกลบกูจะจิกหัวตบเสียให้เข็ด
ชะช่างโศกาน้ำตาเล็ดกูรู้เช่นเห็นเท็จทุกสิ่งอัน
ฯ ๔ คำ ฯ
  ว่าพลางทางคว้าได้พร้าโต้ดุด่าตาโตเท่ากำปั้น
ผลักประตูครัวไฟเข้าไปพลันนางประแดะยืนยันลันกลอนไว้
ผลักมาผลักไปอยู่เป็นครู่จะเข้าไปในประตูให้จงได้
กระทืบฟากโครมครามความแค้นใจอึกกระทึกทั่วไปในพารา
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
  บัดนั้นพวกหัวไม้กระดูกผีขี้ข้า
บ่อนเลิกกินเหล้าเมากลับมาได้ยินเสียงเถียงด่ากันอื้ออึง
จึงหยุดนั่งข้างนอกริมคอกวัวว่าเมียผัวคู่นี้มันขี้หึง
พอพลบค่ำราตรีตีตะบึงอึงคงนักหนาน่าขัดใจ
แล้วคว้าก้อนอิฐปาเข้าฝาโผงตกถูกโอ่งปาล้อแลหม้อไห
พลางตบมือร้องเย้ยเผยไยไยแล้ววิ่งไปทางตะพานบ้านตะนาว
ฯ ๖ คำ ฯ รัว
  เมื่อนั้นท้าวประดู่ตาพองร้องบอกกล่าว
หยิบงอบครอบหัวตัวสั่นท้าวอ้ายพ่อจ้าวชาวบ้านวานช่วยกัน
วัวน้ำวัวหลวงกูได้เลี้ยงอิฐมาเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่น
สาเหตุมีมาแต่กลางวันคงได้เล่นเห็นกันอ้ายลันได
ทั้งนี้เพราะอีมะเหเสือจะกินเลือดกินเนื้อกูให้ได้
ขว้างวังครั้งนี้ไม่มีใครชู้มึงฤๅมิใช่อีมารยา
พระฉวยได้ไม้ยุงปัดกวัดแกว่งสำคัญว่าพระแสงขึ้นเงื้อง่า
เลี้ยวไล่ฟาดฟันกัลยาวิ่งมาวิ่งไปอยู่ในครัว
ฯ ๘ คำ ฯ
 สับไทย
  เหม่เหม่ดูดู๋อีประแดะที่นี้แหละเห็นประจักษ์ว่ารักผัว
หากกูรู้ตัวหัวไม่แตกแตน
ขว้างแล้วหนีไปมิได้ตอบแทน
ยิ่งคิดยิ่งแค้นเลี้ยวแล่นไล่ตี
ฯ ๔ คำ ฯ
 รื้อ
  ทรงเอยทรงกระบอกน้องไม่เห็นด้วยดอกพระโฉมศรี
ปาวังครั้งนี้มิใช่ชู้น้อง
สืบสมดังว่าสัญญาให้ถอง
วิ่งพลางทางร้องตีน้องทำไม
ฯ ๔ คำ ฯ
  เหลือเอยเหลือเถนขัดเขมนขบฟันมันไส้
ปรานีมึงไยใครใช้มีชู้
ไม่เลี้ยงเป็นเมียไปเสียอย่าอยู่
รั้ววังของกูปิดประตูตีแมว
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
  เมื่อนั้นนางประแดะเหนื่อยอ่อนลงนอนแส้ว
ยกมือท่วมหัวลูกกลัวแล้วกอดก้นผัวแก้วเข้าคร่ำครวญ
ฯ ๒ คำฯ
 โอ้
  โอ้พระยอดตองของน้อยเอ๋ยกระไรเลยช่างสลัดตัดเด็ดด้วน
แม้นชั่วช้าจริงจังก็บังควรพ่อมาด่วนมุทะลุดุดันไป
จงตีแต่พอหลาบปราบพอจำจะเฝ้าเวียนเฆี่ยนซ้ำไปถึงไหน
งดโทษโปรดเถิดพระภูวไนยน้องยังไม่เคยไกลพระบาทา
ถึงไม่เลี้ยงเป็นพระมเหสีจะขอพึ่งบารมีเป็นขี้ข้า
ไม่ถือว่าเป็นผัวเพราะชั่วช้าจะก้มหน้าเป็นทาสกวาดขี้วัว
สิบคนเข้าไม่เท่าคนหนึ่งออกอยู่กับคอกช่วยใช้พ่อทูลหัว
ร่ำพลางทางทุ่มทอดตัวตีอกชกหัวแล้วโศกา
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
 ร่าย
  เมื่อนั้นท้าวประดู่ได้ฟังนางร่ำว่า
ให้นึกสมเพชเวทนาน้ำตาไหลนองสักสองครุ
หวนรำลึกนึกถึงอ้ายลันไดกลับเจ็บใจไม่เหือดเดือดดุ
โมโหมืดหน้าบ้ามุทะลุกระดูกผุเมื่อไรก็ไม่ลืม
กูไม่อยากเอาไว้ใช้สอยนึกว่าปล่อยสิงห์สัตว์วัดสามปลื้ม
แต่ชั้นทอผ้ายังคาฟืมดีแต่ยืมเขากินอีสิ้นอาย
แม่เรือนเช่นนี้มิเป็นผลมันจะลวงล้วงก้นจนฉิบหาย
ไปเสียมึงไปไม่เสียดายกูจะเป็นพ่อหม้ายสบายใจ
สาวสาวชาววังก็ยังถมไม่ปรารมภ์ปรารี้จะมีใหม่
เก็บเงินค่านมผสมไว้หาไหนหาได้ไม่ทุกข์ร้อน
ฯ ๑๐ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะหูกลวงดวงสมร
สุดที่จะพรากจากจรบังอรข้อนทรวงเข้าร่ำไร
ฯ ๒ คำ ฯ
 โอ้
  โอ้พ่อใจบุญของเมียเอ๋ยแปดค่ำพ่อเคยเชือดคอไก่
ต้มปลาร้าตั้งหม้อกับหน่อไม้เมียยังอาลัยได้อยู่กิน
พราะเคยรีดนมวัวให้เมียขายแม้สายที่ยังไม่หมดสิ้น
เหลือติดก้นกระบอกเอาจอกรินให้เมียกินวันละนิดคิดทุกวัน
แต่พอพลบรบเมียเข้ากระท่อมพ่อนั่งกล่อมจนหลับแล้วรับขวัญ
ในมุ้งยุงชุมพ่อสุมควันสารพันทรงศักดิ์จะรักเมีย
จะกินอยู่พูวายสบายใจพ่อมอบไว้ให้วันละสิบเบี้ย
อกน้องดังไฟไหม้ลามเลียจะทิ้งเมียเสียได้ไม่ไยดี
เที่ยงนางกลางคืนพ่อทูลหัวจะให้ออกนอกรั้วลูกกลัวผี
ก้นไต้ก้นไฟก็ไม่มีผลัดรุ่งพรุ่งนี้เถิดพ่อคุณ
ถึงจะไม่ได้อยู่บนตำหนักขอพึ่งพักอาศัยเพียงใต้ถุน
ยกโทษโปรดเถิดพ่อใจบุญเสียแรงได้เลี้ยงขุนมีคุณมา
ฯ ๑๒ คำ ฯ
 ร่าย
  เมื่อนั้นท้าวประดู่ได้ฟังชังน้ำหน้า
น้อยฤๅอีขี้เค้าเจ้าน้ำตายังจะร่ำไรว่ากวนใจกู
เมินเสียเถิดหวาอีหน้ารุ้งอย่าพูดอยู่ข้างมุ้งรำคาญหู
ไสหัวมึงออกนอกประตูขืนอยู่ช้าไปได้เล่นกัน
ว่าพลางปิดบานทวารโผงเข้าในห้องท้องพระโรงขมีขมัน
ยกหม้อตุ้งก่าออกมาพลันพระทรงศักดิ์ชักควันโขมงไป
ฯ ๖ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะทุกข์ร้อนถอนใจใหญ่
แล้วข่มขืนกลืนกลั้นชลนัยน์จะอยู่ไปไยเล่าไม่เข้าการ
แต่ทุบตีมิหนำแล้วซ้ำขับให้อายอับเพื่อนรั้วหัวบ้าน
เช้าค่ำร่ำว่าด่าประจานใครจะทานทนได้ในฝีมือ
กูจะหาผัวใหม่ให้ได้ดีเอาโยคีกินไฟไม่ได้ฤๅ
ไหนไหนชาวเมืองก็เลื่องฦๅอึงอื้ออับอายขายพักตรา
คว้าถุงเบี้ยได้ใส่กระจาดฉวยผ้าแพรขาดขึ้นพาดบ่า
ลงจากบันไดไคลคลาน้ำตาคลอคลอจรลี
ฯ ๘ คำ ฯ ทยอย
 โอ้ร่าย
  ครั้นมาพ้นคอกวัวรั้วตรางเหลียวหลังดูปรางค์ปราสาทศรี
เคยได้ค้างกายมาหลายปีครั้งนี้ตกยากจะจากไป
หยุดยืนสะอื้นอยู่อืดอืดเดือนก็มืดเต็มทีไม่มีไต้
ฝนตกพรำพรำทำอย่างไรก็หยุดยืนร้องไห้อยู่ที่ร้าน
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
 ช้า
  เมื่อนั้นโฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชานยกเชิงกรานสุมไฟใส่ฟืนตอง
แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูดนอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้องครางกระหึมครึ้มก้องบนกบทู
แว่วแว่วเค้าแมวในกลีบเมฆดูวิเวกลงหลังคาเที่ยวหาหนู
พระเผยบัญชรแลชะแง้ดูดาวเดือนรุบรู่ไม่เห็นตัว
พระพายชายพัดอุตพิดพระทรงฤทธิ์เต็มกลั้นจนสั่นหัว
หอมชื่นดอกอัญชันที่คันรั้วฟุ้งตระหลบอบทั่วทั้งวังใน
ฯ ๘ คำ ฯ
 ร่าย
  หวนรำลึกนึกถึงนางประแดะที่นัดแนะแต่เย็นเป็นไฉน
ดึกแล้วแก้วตาเห็นช้าไปจะร้องไห้รำพึงถึงพี่ชาย
จำจะไปให้ทันดังสัญญาได้ย่องเบาเข้าหานางโฉมฉาย
จึงอาบน้ำทาแป้งแต่งกายสวมประคำดีควายสำหรับตัว
แหงนดูฤกษ์บนฝนพยับเดือนดับลับเมฆขมุกขมัว
ลงบันไดเดินออกมานอกรั้วโพกหัวกลัวอิฐคิดระอา
หลายครั้งตั้งแต่มันทิ้งกูพระโฉมตรูเหลือบซ้ายแลขวา
แล้วผาดแผลงสำแดงเดชาเดินมาตามตรอกซอกกำแพง
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
  ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถึงคอกโคขังจะเข้าได้ดอกกระมังยังไม่แจ้ง
เห็นกองไฟใส่สุมอยู่แดงแดงแอบแฝงฟังอยู่ดูท่าทาง
เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัวจะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิฤมลอยู่บนปรางค์กูจะขึ้นหานางทางล่องแมว
จึงกลิ้งครกที่ใต้ถุนเข้าหนุนตีนพระโฉมฉายป่ายปีนอยู่แด่วแด่ว
อกใจไม้ครูดขูดเป็นแนวจะเห็นรักบ้างแล้วฤๅแก้วตา
พระประหวั่นพรั่นตัวกลัวจะตกทำหนูกกเจาะเจาะเกาะข้างฝา
ไฉนไม่คอยกันดังสัญญาอนิจจานอนได้ไม่คอยรับ
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นท้าวประดู่สุริวงศ์โก้งโค้งหลับ
พอปราสาทสะเทือนไหวตกใจวับลุกขยับนิ่งฟังนั่งหลับตา
คิดว่ามเหสีที่ถูกถองแสบท้องหายโกรธเข้ามาหา
ให้นึกสมเพชเวทนาสู้ทนทานด้านหน้ามาง้องอน
จะขับหนีตีไล่ไม่ไปจากอีร่วมเรือนเพื่อนยากมาแต่ก่อน
แล้วคลี่ผ้าคลุมหัวล้มตัวนอนพระภูธรทำเฉยเลยหลับไป
ฯ ๖ คำ ฯ
  เมื่อนั้นลันไดล้วงสลักชักกลอนได้
เปิดประตูเยื้องย่องเข้าห้องในเข้านั่งใกล้ในจิตคิดว่านาง
สมพาสยักษ์ลักหลับขึ้นทับบนท้าวประดู่เต็มทนอยู่ข้างล่าง
พระสร้วมสอดกอดไว้มิได้วางช้อนคางพลางจูบแล้วลูบคลำ
ฯ ๔ คำ ฯ
  เมื่อนั้นท้าวประดู่ผุดลุกขึ้นปลุกปล้ำ
ตกใจเต็มทีว่าผีอำต่างคนต่างคลำกันวุ่นไป
เอ๊ะจริตผิดแล้วมิใช่ผีจะว่าพระมเหสีก็มิใช่
ขนอกรกหนักทักว่าใครตกใจฉวยตระบองร้องว่าคน
ลันไดโดดโผนโดนประตูท้าวประดู่ร้องโวยขโมยปล้น
ตะโกนเรียกเสนาสามนต์มันไม่มีสักคนก็จนใจ
ระเด่นโดดโลดออกมานอกรั้วผิดตัวแล้วกูอยู่ไม่ได้
ก็ผาดแผลงสำแดงฤทธิไกรวิ่งไปตามกำลังไม่รั้งรอ
ฯ ๘ คำ ฯ
  หมาหมูกรูไล่ไม่มีขวัญปล่อยชันสามขาเหมือนม้าห้อ
เต็มประดาหน้ามืดหืดขึ้นคอต้องหยุดยั้งรั้งรอมาตามทาง
ถึงโดยจะไล่ก็ไม่ทันผิดนักสู้มันแต่ห่างห่าง
พอแว่วสำเนียงเหมือนเสียงครางอยู่ในร้านริมข้างหนทางจร
เอ๊ะผีฤๅคนขนลุกซ่าพระหัตถ์คว้าฉวยอิฐได้สองก้อน
หยักรั้งตั้งท่าจะราญรอนนี่หลอกหลอนเล่นข้าฤๅว่าไร
ครั้นได้ยินเสียงชัดเป็นสัตรีจะลองฤทธิ์สักทีหาหนีไม่
กำหมัดเยื้องย่องมองเข้าไปแก่สาวคราวไหนจะใคร่รู้
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะนั่งซุ่มคลุมหัวอยู่
สาระวนโศกาน้ำตาพรูเห็นคนย่องมองดูก็ตกใจ
พอฟ้าแลบแปลบช่วงดวงพักตร์เห็นระเด่นรู้จักก็จำได้
ทั้งสองข้างถ้อยทีดีใจทรามวัยกราบก้มบังคมคัล
ฯ ๔ คำ ฯ
  เมื่อนั้นระเด่นเห็นนางพลางรับขวัญ
นั่งลงซักไซ้ไล่เลียงกันไฉนนั่นกัลยามาโศกี
พี่หลงขึ้นไปหานิจจาเอ๋ยไม่รู้เลยน้องแก้วแคล้วกับพี่
พี่ไปพบท้าวประดู่ผู้สามีเกิดอึงมี่ตึงตังทั้งพารา
มันจะกลับจับพี่เป็นผู้ร้ายจะฆ่าเสียให้ตายก็ขายหน้า
เขาจะค่อนติฉินนินทาอดสูเทวาสุราลัย
จะเอาเมียแล้วมิหนำซ้ำฆ่าผัวคิดกลัวบาปกรรมไม่ทำได้
พี่ขอถามสาวน้อยกลอยใจเป็นไฉนกัลยามาโศกี
ฯ ๘ คำ ฯ
  เมื่อนั้นนางประแดะดวงยี่หวามารศรี
สะอื้นพลางทางทูลไปทันทีทั้งนี้เพราะกรรมได้ทำไว้
ครั้งนี้มิชั่วก็เหมือนชั่วนางตีอกชกหัวแล้วร้องไห้
ยังจะกลับมาเยาะนี่เพราะใครดูแต่หลังไหล่เถิดพ่อคุณ
เขาขับหนีตีไล่ไสหัวส่งเพราะพระองค์ทำความจึงวามวุ่น
แต่รอดมาได้เห็นก็เป็นบุญอย่าอยู่เลยพ่อคุณเขาตีตาย
ฯ ๖ คำ ฯ
  เมื่อนั้นลันไดได้ฟังนางโฉมฉาย
เขม้นมองดูหลังยังไม่ลายพระจูบซ้ายจูบขวาห้าหกที
เอาพระหัตถ์ช้อนคางแล้วพลางปลอบอย่าพะอืดพะออบเลยโฉมศรี
จะละห้อยน้อยใจไปไยมีบุญพี่กับนางได้สร้างมา
อันระตูฤๅจะคู่กับนางอนงค์มิใช่วงศ์อสัญแดหวา
โฉมเฉลาเจ้าเหมือนบุษบาจรกาฤๅจะควรกับนวลน้อง
ถ้าเป็นระเด่นเหมือนเช่นพี่จึงควรที่ร่วมภิรมย์ประสมสอง
ตรัสพลางทางชวนนวลละอองเยื้องย่องนำหน้าพานางเดิน
ฯ ๘ คำ ฯ
  ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนักตงหักกลัวจะตกงกเงิ่น
ค่อยพยุงจูงนางย่างดำเนินชวนเชิญโฉมเฉลาเข้าที่นอน
ลดองค์ลงเหลือที่ไสยาสน์พระยี่ภู่ปูลาดขาดสองท่อน
แล้วจึงมีมธุรสสุนทรอ้อนวอนโฉมเฉลาให้เข้ามุ้ง
ฯ ๔ คำ ฯ
 โอ้โลม
  โฉมเอยโฉมเฉิดเอนหลังบ้างเถิดจวนจะรุ่ง
เสียแรงพี่รักเจ้าเท่ากระบุงจะไปนั่งทนยุงอยู่ทำไม
เชิญมาร่วมเรียงเคียงเขนยอย่าทุกข์เลยที่จะหามาเลี้ยงให้
เรามั่งมีศรีสุขทุกข์อะไรเงินทองถมไปที่ในคลัง
แต่ข้าวสารให้ทานพี่นี้ฤๅไม่พักซื้อได้ขายเสียหลายถัง
ทั้งปลาแห้งปลาทูปูลังเสบียงกรังมีมากไม่ยากจน
ขี้คร้านขายนมวัวเหมือนผัวเจ้าพี่ได้เปล่าสารพัดไม่ขัดสน
จงนั่งกินนอนกินสิ้นกังวลพี่จะขวนขวายหาเอามาเลี้ยง
ว่าพลางทางตระโบมโลมเล้าอะไรเล่าฮึดฮัดเฝ้าวัดเหวี่ยง
อุแม่เอ๋ยมิให้เข้าใกล้เคียงจะตกเตียงลงไปแล้วแก้วกลอยใจ
ฯ ๑๐ คำ ฯ
 ร่าย
  เมื่อนั้นนางประแดะคลุ้มคลั่งผินหลังให้
ถอยถดขยดหนีภูวไนยนี่อะไรน่าเกลียดเบียดคะยิก
ลูกผัวหัวท้ายเขาไม่ขาดทำประมาทเปล่าเปล่าเฝ้าหยุกหยิก
ปัดกรค้อนควักผลักพลิกอย่าจุกจิกกวนใจไม่สบาย
อย่าพักอวดสมบัติพัสถานไม่ต้องการดอกจะสู้อยู่เป็นหม้าย
หนีศึกปะเสือเบื่อจะตายเฝ้ากอดก่ายไปได้ไม่ละวาง
ฯ ๖ คำ ฯ
 ชาตรี
  สุดเอยสุดลิ่มเชิญผินหน้ามายิ้มกับพี่บ้าง
เฝ้าถือโทษโกรธเกรี้ยวไปเจียวนางไม่เห็นอกพี่บ้างที่อย่างนั้น
เหมือนน้ำอ้อยใกล้มดใครอดได้พี่ก็ไม่มีคู่ตุนาหงัน
ตั้งแต่นวดปวดท้องมาสองวันใครจะกลั้นอดทนพ้นกำลัง
ทำไมกับลูกผัวกลัวมันไยผิดก็เสียสินไหมให้ห้าชั่ง
จูบเชื่อเสียก็ได้แล้วไม่ฟังลูบหน้าลูบหลังนั่งแอบอิง
น้อยฤๅนมแต่ละข้างช่างครัดเคร่งปลั่งเปล่งใจหายคล้ายกล้วยปิ้ง
อุ้มขึ้นใส่ตักรักจริงจริงอย่าสะบิ้งสะบัดตัดไมตรี
ยิ่งดิ้นยิ่งกอดสอดสัมผัสอุยหน่าอ่ากัดพระหัตถ์พี่
ปัดป้องว่องไวอยู่ในทีจนล้มกลิ้งลงบนที่บรรทมใน
อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้องฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไปหลังคาพาไลแทบเปิดเปิง
ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิงอึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ
นกกระจอกออกจากวิมานมะพร้าวต้องฝนทนหนาวอยู่งอนหง่อ
ขนคางหางปีกเปียกจนมอซอฝนก็พอขาดเม็ดเสร็จบันดาล
ฯ ๑๖ คำ ฯ โลม
 ช้า
  เมื่อนั้นนางประแดะหูกลวงห่วงสงสาร
ได้ร่วมรักชักเชยก็ชื่นบานเยาวมาลย์หมอบเมียงเคียงกาย
แล้วเชิญหม้อตุ้งก่าออกมาตั้งนางนั่งเป่าชุดจุดถวาย
ทรงศักดิ์ชักพลางทางยิ้มพรายโฉมฉายขวั้นอ้อยคอยแก้คอ
ถูกเข้าสามจะหลิ่มยิ้มแหยะนางประแดะสรวลสันต์กลั้นหัวร่อ
พระโฉมยงทรงขับรับเพลงซอฉลองหอทรงธรรม์แล้วบรรทม
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
 ช้า
  มาจะกล่าวบทไปถึงนางกระแอทวายขายขนม
เจ้าเงินโปรดปรานพานอุดมนุ่งห่มผืนผ้าค่าบาทเฟื้อง
ผูกดอกออกจากฟากเรือนนายลดเลี้ยวเที่ยวขายข้าวเหนียวเหลือง
ตามตลาดเสาชิงช้ามาเนืองเนืองปลดเปลื้องเฟื้องไพได้ทุกวัน
กับโฉมยงองค์ระเด่นลันไดรักใคร่กันอยู่ก่อนเคยผ่อนผัน
เชื่อถือซื้อขายเป็นนิรันดร์เว้นวันสองวันหมั่นไปมา
ฯ ๖ คำ ฯ
 ร่าย
  วันเอยวันหนึ่งคิดถึงลันไดจะไปหา
นึ่งข้าวเหนียวใส่กระจาดยาตราตรงมาหาชู้คู่ชมเชย
เที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร้องแล้วท่องเที่ยวซื้อข้าวเหนียวหน้ากุ้งกินแม่เอ๋ย
ที่รู้จักทักถามกันตามเคยบ้างเยาะเย้ยหยอกยื้อซื้อหากัน
พอเวลาตลาดวายสายแสงกระเดียดตะแกรงกรีดกรายผายผัน
ทอดกรอ่อนคอจรจรัลมาปราสาทสุวรรณเจ้าลันได
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงช้า
  ครั้นถึงจึงขึ้นบนนอกชานเห็นทวารบานปิดคิดสงสัย
ทั้งเสียงคนพูดกันอยู่ชั้นในทรามวัยแหวกช่องมองดู
เห็นโฉมยงองค์ประแดะกับระเด่นคลี่ผ้าหาเล็นกันง่วนอยู่
โมโหมืดหน้าน้ำตาพรูดังหัวหูจะแยกแตกทำลาย
นี่เมียอ้ายประดู่อยู่หัวป้อมไยจึงมายินยอมกันง่ายง่าย
ทั้งสี่จักรยักหล่มถ่มร้ายมันจะให้ฉิบหายขายตน
ชิชะเจ้าระเด่นพึ่งเห็นฤทธิ์แต่ผ้านุ่งยังไม่มิดจะปิดก้น
จองหองสองเมียจะเสียคนคิดว่ายากจนเฝ้าปรนปรือ
จึงแกล้งเรียกพลันเจ้าลันไดค่าข้าวเหนียวสองไพไม่ให้ฤๅ
ผ่อนผัดนัดหมายมาหลายมื้อแม่จะยื้อให้อายขายหน้าเมีย
ฯ ๑๐ คำ ฯ
  เมื่อนั้นโฉมระเด่นลันไดแรกได้เสีย
กำลังนั่งเคล้าเฝ้าคลอเคลียชมโฉมโลมเมียอยู่ริมมุ้ง
ยกบาทพาดเพลาเกาสีข้างสัพยอกหยอกนางอย่างลิงถุง
แล้วยื่นมือมาจี้เข้าที่พุงนางสะดุ้งดุกดิกพลิกตะแคง
เขาจะนอนดีดีเฝ้าจี้ไชช่างกระไรหน้าเป็นเอ็นแข็ง
จะนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวทำเรี่ยวแรงมาแหย่แย่งกวนใจไปทีเดียว
พอระเด่นได้ยินเสียงเรียกหาก็รู้ว่าชู้เก่าเจ้าข้าวเหนียว
จึงร้องว่าใครนั่นขันจริงเจียวจะมาเที่ยวจัณฑาลพาลเอาความ
ค่าข้าวเหนียวสองไพข้าให้แล้วมาทำเสียงแจ้วแจ้วไม่เกรงขาม
ไม่ได้ติดค้างมาอย่าวู่วามลุกลามสิ้นทีมีแต่อึง
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
  เมื่อนั้นนางทวายยิ่งพิโรธโกรธขึ้ง
ยืนกระทืบนอกชานอยู่ตึงตึงหวงหึงด่าว่าท้ายทาย
นี่แน่อ้ายสำเร็จเจ็ดตะคุกมาลืมคุณข้าวสุกเสียง่ายง่าย
กูเชื่อหน้าคิดว่าลูกผู้ชายจึงสู้ขายติดค้างยังไม่รับ
ช่างโกหกพกลมประสมประสานจะประจานเสียให้สมที่สับปลับ
แต่เบี้ยติดสองไพยังไม่รับกูสิ้นนับถือแล้วอ้ายลันได
ฯ ๖ คำฯ
  เมื่อนั้นระเด่นตอบตามอัชฌาสัย
เขาขี้คร้านพูดจาอย่าหนักไปข้ารู้ใจเจ้าดอกกัลยา
เจ้าพิโรธโกรธขึ้งเพราะหึงหวงจึงจาบจ้วงล่วงเกินเป็นหนักหนา
ข้าผิดแล้วกลอยใจได้เมตตาเชิญเข้าเคหาปรึกษากัน
ฯ ๔ คำ ฯ

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน

 

ขุนช้างขุนแผน 
เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวสยามในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง จนนักภาษาศาสตร์ นามวิลเลี่ยม เก็ดนี่ย์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามักคิดบ่อยๆว่า หากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเกิดสูญหายไปหมด ทุกอย่างอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่ จากข้อเขียนที่อัศจรรย์นี้"
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นการแต่งขึ้นร้องแบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) เพื่อความบันเทิง ในลักษณะเดียวกับมหากาพย์ของยุโรป อย่างเช่นของโฮเมอร์ โดยคงจะเริ่มแต่งตั้งแต่ราวอยุธยาตอนกลาง (ราว พ.ศ. 2143) และมีการเพิ่มเติม หรือตัดทอนเรื่อยมา จนมีรายละเอียดและความยาวอย่างที่สืบทอดกันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงไว้เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นเห็นว่าเป็นกลอนชาวบ้าน ที่มีเนื้อหาบางตอนหยาบโลน และไม่มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ. 2310 จึงไม่มีต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนเหลืออยู่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูงในหมู่ชาวไทย จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก
สำหรับเนื้อหาของขุนช้างขุนแผนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย
หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบด้วย....(ตัดตอนส่วนหนึ่งจากคำนำของกรมศิลปากรที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่าย ในการพิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2513).....
วรรณกรรมไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2553 โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์ 

เรื่องย่อ

ล่าวถึงกำเนิดของตัวละครสำคัญสามตัว คือ ขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย 

พลายแก้วเป็นลูกของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี เมื่อบิดาถูกสมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ประหารชีวิต เพราะความผิดที่ได้ฆ่ากระบือเป็นจำนวนมากหน้าพระที่นั่ง เนื่องจากกระบือแตกตื่นขวิดผู้คน เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเพื่อล่ากระบือ มารดาจึงพาไปอยู่กับญาติที่เมืองกาญจนบุรี 

ขุนช้างเป็นลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง บิดาถูกโจรฆ่าตาย 

นางพิมเป็นลูกของพันศรโยธากับนางศรีประจัน บิดาเป็นไข้ป่าถึงแก่ความตาย

ทั้งพลายแก้ว ขุนช้าง และนางพิมเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก 

พลายแก้วได้บวชเป็นสามเณรและ เล่าเรียนวิชาที่กาญจนบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ 

ส่วนขุนช้างแต่งงานกับนางแก่นแก้วได้ปีกว่าภรรยาก็ตาย 

นางพิมพบกับเณรแก้วที่วัดเมื่อคราวไปทำบุญกับมารดา ต่างก็จำกันได้จึงมีจิตผูกรักต่อกัน 

ต่อมาได้นางสายทองพี่เลี้ยงของนางพิมเป็นสื่อนัดแนะ จนเณรแก้วได้เสียกับนางพิม และได้นาง สายทองด้วยเมื่อถูกสมภารให้ออกจากวัดป่าเลไลยก์ ก็ไปอยู่กับสมภารคงวัดแค และได้เล่าเรียนวิชาทางไสยศาสตร์หลายอย่าง ต่อมาเมื่อทราบว่าขุนช้างได้มาสู่ขอนางพิม เณรแก้วจึงลาอาจารย์สึกแล้วให้มารดาสู่ขอนางพิมและแต่งงานกันตามประเพณีเมื่อเกิดศึกเชียงใหม่ยกมาตีเมืองเชียงทอง อันเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาทรงทราบถึงความสามารถของพลายแก้ว ก็รับสั่งให้เข้าเฝ้า และแต่งตั้งให้แม่ทัพไปรบที่เชียงทอง จนตีเมือง เชียงทองได้ชัยชนะ แล้วยกทัพตามทัพเชียงใหม่ไปถึงลำพูน ตั้งค่ายที่บ้านจอมทอง 

แสนคำแมนได้ยกนาง ลาวทองให้เป็นภริยา หลังจากพลายแก้วไปแล้วไม่นาน นางพิมได้ล้มป่วย เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นวันทองจึงหายป่วย 

ขุนช้างซึ่งยังต้องการนางเป็นภริยาได้ใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าพลายแก้วตายแล้ว และอ้างว่าเมื่อสามีไปทัพตายภรรยาจะถูกริบเป็นม่ายหลวง ประกอบทั้งถูกมารดาบังคับเฆี่ยนตี นางวันทองจึงเข้าพิธีแต่งงานกับขุนช้าง แต่ยังรออยู่ไม่ยอมร่วมหอ

              ฝ่ายพลายแก้ว เมื่อมีชัยชนะกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน คุมไพร่พลห้าร้อยมีหน้าที่รักษาเขตแดนทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อเดินทางมาสุพรรณบุรีทราบเรื่องจากนางวันทอง ก็มีความโกรธจะฆ่าขุนช้าง แต่นางลาวทองซึ่งมากับขุนแผนด้วยได้ห้ามไว้ นางวันทองกับนางลาวทองเกิดทะเลาะกันด้วยความหึงหวง เป็นเหตุให้นางวันทองกล่าวถ้อยคำก้าวร้าวขุนแผน ขุนแผนโกรธถึงกับจะฆ่านางวันทองพร้อมทั้งแสดงอาการไม่ไยดี พานางลาวทองไปอยู่กาญจนบุรี 

นางวันทองคิดว่าขุนแผนสิ้นรักนางแล้วจึงยอมเป็นภริยาขุนช้าง

 ต่อมาขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง ใช้มนต์สะกดผู้คนในเรือนแล้วเข้าห้อง เห็นขุนช้างนอนอยู่กับนางวันทองก็โกรธ จึงมัดขุนช้างกับนางวันทองติดกัน แล้วให้ตามผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้รับรู้ พร้อมแจ้งให้กำนันทราบแล้วก็กลับไป ต่อมามีรับสั่งให้ขุนแผนเข้าไปฝึกหัดราชการที่กรุศรีอยุธยา พอถึงเวรขุนแผน บังเอิญนางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนฝากเวรไว้กับขุนช้างซึ่งได้รับราชการอยู่ด้วยกัน แล้วออกไปเผ้าไข้ นางลาวทอง เมื่อสมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการไม่เห็นขุนแผนก็รับสั่งถามถึง ขุนช้างคิดกำจัดขุนแผน จึงทูลว่าขุนแผนละทิ้งหน้าที่ไปหาภริยาจึงทรงกริ้ว สั่งลงโทษขุนแผนให้ออกตระเวนอยู่ตามชายแดน ห้ามเข้ามาในกรุงและกักขังนางลาวทองไว้ในพระราชวัง ขุนแผนเมื่อทราบความจริง จึงผูกพยาบาทขุนช้าง ขณะเดียวกันก็แสวงหาของวิเศษที่ทำให้มีฤทธิ์มาก คือกุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอก โดยได้ฝากตัวอยู่กับหมื่นหาญซึ่งเป็นนายซ่องโจรได้นาง บัวคลี่ ลูกสาวหมื่นหาญเป็นภริยา ต่อมาหมื่นหาญไม่พอใจที่ขุนแผนไม่ยอมออกปล้น จึงคิดกำจัดเสีย โดยให้นางบัวคลี่วางยาพิษ แต่พรายได้กระซิบให้ขุนแผนรู้ ขุนแผนจึงฆ่าบัวคลี่ ควักเอาลูกในท้องไปทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง เมื่อกลับมากาญจนบุรีก็ทำพิธีตีดาบตามตำรามหาศาสตราคม ให้ชื่อว่าดาบฟ้าฟื้น แล้วเดินทางไปแสวงหาม้าสีหมอกตามตำราที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อได้แล้วก็เดินทางกลับกาญจนบุรี

                ต่อมาขุนแผนคิดถึงนางวันทองจึงเดินทางไปสุพรรณบุรี ขึ้นเรือนขุนช้างในเวลากลางคืน สะกดผู้คนให้หลับแล้วเดินหาห้องนางวันทอง พบนางแก้วกิริยาบุตรีพระยาสุโขทัยซึ่งบิดานำมาขายให้ขุนช้าง ได้เป็นภริยาแล้วมอบเงินให้ไว้ไถ่ตัว ขุนแผนได้พานางวันทองหนีไปจากบ้านขุนช้าง ชุนช้างพาพวกพ้องติดตามไปทันในป่าแต่สู้ขุนแผนไม่ได้ จึงเข้ากราบทูลกล่าวโทษขุนแผนต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงมีหมายรับสั่งให้จับขุนแผนกับนางวันทองส่งมากรุงศรีอยุธยา ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังมีครรภ์ เข้ามอบตัวต่อเจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรทำใบบอกส่งตัวขุนแผนกับนางวันทองเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา นางแก้วกิริยาซึ่งได้ไถ่ตัวเป็นอิสระแล้ว ได้พบขุนแผนกับนางวันทองซึ่งถูกจองจำโซ่ตรวนระหว่างถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ชำระคดีระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง คณะตุลาการตัดสินให้ขุนแผนชนะคดีและได้นางวันทองคืนไป
            เมื่อขุนแผนชนะความแล้วไม่นานก็คิดถึงนางลาวทอง ซึ่งถูกกักขังอยู่ จึงขอให้จมื่นศรีเสาวรักษ์ ผู้ที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วยทูลขออภัยโทษให้นางลาวทอง พอกราบทูล พระพันวษาทรงกริ้วมากสั่งให้เอาขุนแผนไปจองจำไว้ นางแก้วกิริยาได้เข้าไปปรนนิบัติขุนแผนอยู่ในคุก ส่วนนางวันทองถูกขุนช้างกับบ่าวไพร่มาฉุดคร่าไปสุพรรณบุรี นางจึงอยู่กับขุนช้างจนคลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายงามขุนช้างคิดกำจัดพลายงามอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้ว่าเป็นลูกขุนแผน เมื่อพลายงามอายุ 10 ขวบ ขุนช้างได้ลวงพลายงามไปป่าเพื่อฆ่าให้ตาย แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ นางวันทองให้พลายงามเดินทางไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี นางทองประศรีได้เลี้ยงดูพลายงาม และพาไปเยี่ยมขุนแผนในคุก นางได้สั่งสอนคาถาอาคมต่าง ๆ ตามตำราของขุนแผนให้จนแก่กล้าเหมือนขุนแผน พออายุได้ 13 ปี พลายงามก็มาอยู่กับ จมื่นศรีฯ เพื่อให้พาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

ต่อมาเกิดศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระเจ้าล้านช้างได้ส่งนางสร้อยทองราชธิดามาถวายสมเด็จพระพันวษา และพระเจ้าเชียงใหม่ได้มาชิงนางสร้อยทองไปในระหว่างทาง สมเด็จพระพันวษาโปรดโปรดให้หาผู้อาสายกทัพไปรบ จมื่นศรีฯได้นำพลายงามเข้าอาสา ทรงโปรดให้พลายงามยกทัพไปพร้อมกับพระราชทานอภัยโทษให้ขุนแผนและนางลาวทอง โปรดให้ขุนแผนไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ด้วย ก่อนไปขุนแผนให้รับนางทองประศรีมาอยู่กับนางลาวทองและนางแก้วกิริยาในกรุงศรีอยุธยา ตอนขุนแผนกรีธาทัพไปตีเชียงใหม่นางแก้วกิริยาก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายชุมพล

            ระหว่างเดินทัพไปตีเชียงใหม่ ขุนแผนได้แวะเยี่ยมเจ้าเมืองพิจิตร และรับม้าสีหมอก ซึ่งฝากไว้เมื่อคราวเข้ามอบตัวด้วย พลายงามได้สู้รบกับทัพเมืองเชียงใหม่จนได้ชัยชนะ ได้นางสร้อยทองคืน ในการยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ขุนแผนได้นำพระเจ้าเชียงใหม่ มเหสี และนางสร้อยฟ้าผู้เป็นธิดาลงมาด้วย สมเด็จพระพันวษาทรงแต่งตั้งให้ขุนแผนเป็นพระสุรินทรฦาไชย ครองเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลายงามให้เป็นจมื่นไวยวรนาถ ให้พระเจ้าเชียงใหม่กลับไปครองเมืองเช่นเดิม ทรงแต่งตั้งนางสร้อยทองให้เป็นพระสนม และพระราชทานสร้อยฟ้าแก่จมื่นไวย ฯ ซึ่งได้แต่งงานกับนางสร้อยฟ้าและศรีมาลาพร้อมกัน

             ในวันแต่งงาน ขุนช้างซึ่งมาในงานด้วยได้ดื่มเหล้าจนเมาแล้วเกิดทะเลาะกัน จมื่นไวย ฯ บันดาลโทสะทำร้ายขุนช้าง ต่อมาขุนช้างเข้าเฝ้ากราบทูลกล่าวโทษจมื่นไวย ฯ เมื่อมีการสืบเรื่องที่ขุนช้างทำร้ายจมื่นไวย ฯ สมัยเมื่อเป็นเด็กขึ้น ขุนช้างปฏิเสธ จึงมีการพิสูจน์โดยการดำน้ำก็ปรากฏว่าขุนช้างแพ้ รับสั่งให้ประหารชีวิตขุนช้าง แต่จมื่นไวย ฯ ได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ต่อมาจมื่นไวย ฯ คิดแค้นที่แม่ไปอยู่กับขุนช้าง จึงลอบขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึก อ้อนวอนและบังคับนางวันทองไปกับตน นางไม่อาจขัดขืนได้ก็ยอมไป ขุนช้างแค้นเคืองมากที่จมื่นไวยฯ ลักนางวันทองไป จึงทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกากล่าวโทษจมื่นไวยฯ เมื่อโปรดให้ไต่สวนคดีตามฎีกาของขุนช้าง ให้นางวันทองซึ่งเป็นคนกลางตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับขุนช้าง ขุนแผน หรือจมื่นไวย ฯ นางทูลตอบว่ารักทั้ง 3 คนเท่า ๆ กัน สมเด็จพระพันวษาทรงกริ้วหาว่าเป็นคนสองใจ จึงรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิต แม้ว่าจมื่นไวยฯ ได้กลับไปเข้าเฝ้าทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และทรงโปรดพระราชทานก็ตาม แต่เพชฌฆาตได้ลงดาบก่อนที่จะยับยั้งไว้ทัน นางวันทองจึงถูกประหารชีวิต

ฝ่ายนางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลา ภริยาของจมื่นไวย ฯ มีเรื่องทะเลาะ
วิวาทกันด้วยความหึงหวงอยู่เสมอ เนื่องจากหมื่นไวย ฯ รักนางศรีมาลา

มากกว่า นางสร้อยฟ้าจึงให้เถรขวาดทำเสน่ห์เพื่อจมื่นไวย ฯ จะได้หลงรัก จมื่นไวย ฯ หลงเสน่ห์จนถึงกับทุบตีนางศรีมาลา และพลายชุมพลได้เข้าขัดขวาง พลายชุมพลจึงหนีไปพบพ่อและแม่ที่กาญจนบุรี เล่าเรื่องจมื่นไวย ฯ ให้พ่อแม่ฟัง แล้วไปอยู่กับตายายที่สุโขทัย ฝ่ายขุนแผนก็มากรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้เสน่ห์ ส่วนนางศรีมาลาก็แจ้งข่าวไปเมืองพิจิตรว่าตนป่วย ให้พ่อกับแม่รีบลงมา เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ซ้ำขุนแผนกลับทะเลาะกับจมื่นไวย ฯ ถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก จนต้องเดินทางกลับกาญจนบุรีด้วยความแค้น
             พลายชุมพลเมื่อไปอยู่กับตายายที่สุโขทัยก็บวชเป็นเณร ได้เล่าเรียนหนังสือและวิชาคาถาอาคมจนเชี่ยวชาญ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตนหนีมาก็แค้นใจมาก จึงได้นัดหมายกับขุนแผนจะไปล้างแค้นจมื่นไวย ฯ จึงสึกจากเณรแล้วปลอมตัวเป็นมอญใหม่ คุมทัพหุ่นยกมาทำทีจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ขุนแผนยกไปต่อสู้ ขุนแผนทำเป็นแพ้ให้พลายชุมพลจับตัวไป จมื่นไวย ฯ อาสาออกรบเดินทัพมาพบเปรตนางวันทองห้ามทัพไว้แต่ไม่สำเร็จ เมื่อจมื่นไวย ฯ กับพลายชุมพลรบติดพันกันอยู่ ขุนแผนเข้ามาจะฟันจมื่นไวย ฯ จมื่นไวย ฯ จึงหนีเข้ามากราบทูลให้สมเด็จพระวษาทรงทราบ จึงโปรดให้นางศรีมาลาไปรับขุนแผนและพลายชุมพลเข้ามา ขุนแผนกราบทูลเรื่องจมื่นไวย ฯ ถูกเสน่ห์ พลายชุมพลกับจมื่นไวยฯ อาสาไปจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวนำของมึนเมาไปมอมเถรขวาด จนรู้รายละเอียดแล้วจึงจับเถรขวาดขังไว้ แต่เถรขวาดก็สะเดาะโซ่ตรวน แปลงตัวเป็นจระเข้หนีไปได้
               เมื่อโปรดให้มีการไต่สวนคดีทำเสน่ห์ โดยให้นางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นางสร้อยฟ้าเป็นฝ่ายแพ้ จึงโปรดให้ประหารชีวิตนางสร้อยฟ้า แต่นางศรีมาลาทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ เพราะนางสร้อยฟ้ากำลังมีครรภ์ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยา นางสร้อยฟ้าจึงเดินทางไปเชียงใหม่ พบเถรขวาดระหว่างทาง จึงเดินทางไปด้วยกัน ต่อมานางคลอดบุตรให้ชื่อว่าพลายยงพงศ์นพรัตน์ ฝ่ายนางศรีมาลาก็คลอดลูกเป็นชายเช่นกัน ขุนแผนตั้งชื่อให้ว่า พลายเพชร ฝ่ายเถรขวาดซึ่งได้เป็นสังฆราชเชียงใหม่คิดจะแก้แค้นพลายชุมพล จึงแปลงตัวเป็นจระเข้อาละวาดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ถูกพลายชุมพลจับได้ และถูกลงโทษประหารชีวิต แล้วพลายชุมพลได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงนายฤทธิ์มหาดเล็กรักษาพระองค์


วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ตำนานรัก วังบัวบาน

ตำนานรักวังบัวบานแห่งน้ำตกห้วยแก้ว

เพลง วังบัวบาน


ร้อนลมหน้าแล้ง 
ใบไม้แห้งร่วงลอย
หล่นทยอยเกลื่อนตา 
ไหลตามกระแสน้ำพา 
ลอยมาทั้งกลีบดอกไม้ 
จากหุบผาไหลมาสู่ในวังน้ำ 
สุสานเทวีผู้มีความช้ำ เหนือใคร 
ดอกไม้ใบไม้ไหลมา
คล้ายพวงหรีดร้อยมาลา 
ไหลมาบูชาบัวบาน
น้ำวังนี้หนอ 
เป็นที่ก่อเหตุการณ์ 
ที่บัวบานฝังกาย 
ยึดเอาเป็นหอเรือนตาย 
รองกายไว้ด้วยแผ่นน้ำ 
จากหุบเขาแนวไพรสู่ในเวียงฟ้า 
ฝากไว้เพียงชื่อเลื่องลือเนิ่นช้า 
ฝังจำฝากคำสัตย์นำนึกตรอง
หลงทางสุดหวังคืนครอง 
หลงตัวจำต้องลาระทม
เอาวังน้ำไหลเย็น 
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม 
เป็นเสียงประโลมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย
 
***

"บัวบาน" มีตำนานเล่าขานถึง 4-5 เรื่อง 
จึงไม่แน่ใจว่าเป็น"บัวบาน"ไหนที่ถูกต้อง แต่ทั้งหมดก็คือที่มาของ “วังบัวบาน” วังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้ว อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า "วังคูลวา" หรือ "วังกุลา" ตามเรื่องเล่าถึง"คูลวา-กุลา" ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ ซึ่งคำว่า "คูลวา-กุลา" ในภาษาล้านนาหมายถึงแขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติซึ่งถือว่าไม่เป็นที่พึงต้อนรับ
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดี บันทึกไว้ว่า วังน้ำแห่งนี้ เปลี่ยนชื่อ เป็น"วังบัวบาน" เมื่อ พ.ศ.2497 เมื่อมีเหตุหญิงสาวชื่อ "บัวบาน" ตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ อุดม รุ่งเรืองศรี ได้เขียนถึง"บัวบาน"ไว้ในเวบ lannaworld ถึงการเสียชีวิตว่ามีทั้งเชื่อว่าอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และถูกฆาตรกรรม แต่ทุกตำนาน มีเรื่องที่เหมือนกัน นั่นคือ"บูชารัก" โดยกล่าวถึงที่มาของทั้งหมดจาก 4-5 ที่มา ศิริพงษ์ ศรีโกศัย นักจัดรายการวิทยุที่ใช้นามแฝงว่า"ย่าบุญ" เล่าเรื่อง"บัวบาน"เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ว่าที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการหลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่

บัวบาน เป็นครูสอนในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยวและโรงเรียนฮั่วเอง มีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์ ต่อมา ครูบัวบานถูกทหารคนดังกล่าวสลัดรัก ทำให้เจ้าตัวเสียใจมากและได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น
ขณะที่ เจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ตุลาคม 2541 โดยยืนยันว่า บ้านของครูบัวบานที่ศิริพงษ์กล่าวมานั้นถูกต้อง แต่ข้อมูลที่แตกต่างกันก็คือ ครูบัวบานเป็นคนสวยที่ถูกกล่าวขานทั้งล้านนา ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2482-2488)
เจ้าบุญศรีเล่าวว่า ครูบัวบาน สอนที่โรงเรียนวัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง เชียงใหม่ และในช่วงสงครามนั้น ก็มีทหารหน่วยราบจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งฐานทัพที่วัดฟ้าฮ่าม นายทหารหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อครูบัวบานคนสวย ก็สนิทสนมและคยหาเป็นคู่รักกัน ต่อมา นายร้อยตรีผู้นั้น ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ แต่ได้สัญญากับครูบัวบานว่าจะขึ้นมาแต่งงานกัน แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะนายทหารหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ระหว่างที่รอ ครูบัวบานที่เริ่มตั้งท้องก่อนนายทหารหนุ่มกลับกรุงเทพฯก็เริ่มครรภ์โตมากขึ้น และเมื่อรู้ความจริงว่าเธอถูกหลอก ครูสาวคนสวยจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตาย

อย่างไรก็ตาม ในบทความชื่อ "วังบัวบาน" ของสมาน ไชยวัณณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "คนเมือง ฉบับดำหัว" ฉบับต้อนรับสงกรานต์ 2511 กลับชี้ว่า ครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ โดยบทความดังกล่าว ได้อ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรักของครูบัวบาน ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี โดยครูบัวบาน เกิดมาในครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงดี ฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในตัวเมืองเชียงใหม่ และมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง บังเอิญครูประชาบาลหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว สมานเขียนในบทความนี้ว่า วันหนึ่ง ครูประชาบาลคนรักเก่าของครูบัวบานป่วยหนักอยู่ในบ้านกลางเมืองเชียงใหม่ เจ้าตัวก็ได้สารภาพกับภรรยา บุตรและญาติสนิทว่า ตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้งๆที่ตนก็มีภรรยาอยู่แล้ว จากนั้น เมื่อครูบัวบานตั้งครรภ์ ก็ได้นัดครูประชาบาลคนรักไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว ครูบัวบานรู้เรื่องครอบครัวของแฟนหนุ่ม แต่ได้ขอให้เขาจัดวานแต่งกับตนเพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้าน และเพื่อลูก หลังเจรจาพูดคุยกันอยู่พักหนึ่ง ครูหนุ่มก็บอกว่าตนไม่อาจด่วนทำอะไรลงไปได้ เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้ จึงผละจากแล้ววิ่งหนีไปโดยระมัดระวัง จนเกิดอุบัติเหตุตกจากหน้าผาลงสู่ "วังคูลวา-กุลา" สมานเขียนด้วยว่า ผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานเสียชีวิต ทำให้ครูหนุ่มคนนั้นต้องกลายเป็นอัมพาต เพราะเกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้นจนหลังหักและกลายเป็นอัมพาต เจ้าตัวจึงยอมเปิดปากสารภาพกับสมาน และย้ำว่าครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ

แต่ในวิทยานพินธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณ-กรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2531 ของสุธาทิพย์ สว่างผล กลับเป็นอีกเรื่อง โดยสุธาทิพย์อ้างอิงจากนิทานพื้นบ้านไทย ของ วสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ.2522 ที่กล่าวถึงครูบัวบาน ว่ามีปลัดอำเภอหนุ่ม รักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน และได้หมั้นหมายกันไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดข้อง แต่อุปสรรครักก็มี เพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนันทุกชนิด จนติดหนี้ติดสินไปทั่วเมือง และทำผิดด้วยการยักยอกเงินของทางราชการไปใช้หนี้และเล่นการพนัน ต่อมา ปลัดหนุ่มคนนั้น ได้ขอเงินจากบัวบานว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด เมื่อหมดตัว ลัดอำเภอหนุ่มก็ได้นัดบัวบานไปสารภาพผิดที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กลับทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทำให้บัวบานทนไม่ได้ จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานผู้หนึ่ง คือนางอรุณ หมู่ละสุคนธ์ เลขที่ 130 ถนนแก้วนวรัฐ อ.เมือง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 นางอรุณเล่าว่า บัวบานและหนุ่มชาวภาคกลาง รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และเมื่อเกิดเรื่อง บัวบานเสียชีวิตชายหนุ่มก็หายหน้าไป ทำให้ญาติของบัวบานคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายมากกว่า
ทั้งหลายทั้งหมดคือความอาภัพรักของ"บัวบาน" สิ่งที่เหมือนกันในทุกเรื่องก็คือ บัวบานเป็นสาวสวยและผิดหวังในความรัก ก่อนจะเสียชีวิตที่"วังบัวบาน" จากเรื่องราวดังกล่าว มีเรื่องเล่าต่อว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นคำกลอนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดยใช้นามปากกา"เลิศ ลานนา" (มีคนกล่าวว่าเป็นนามปากกาของบุญเลิศ พิงค์พราวดี) บ้างก็ว่าภิกษุที่แต่งกลอนนั้น เป็นพระอยู่ที่วัดดอยสุเทพ ต่อมา "สนิท ส." (สนิท สิริวิสูตร) นักแต่งเพลงชาวเชียงใหม่ ก็ได้นำบทกลอนดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นเพลง คือเพลง"วังบัวบาน" โดยให้ อรุณ หงสวีณ แต่งทำนอง และ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง อัดแผ่นเสียง  

เนื้อเพลง