วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพชรพระอุมา (เรื่องย่อ)

 เนื้อเรื่องเพชรพระอุมา เป็นเนื้อเรื่องทั้งหมดของนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาจำนวน 48 เล่ม แบ่งเนื้อเรื่องเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 6 ตอน 24 เล่ม และภาคสมบูรณ์ จำนวน 6 ตอน 24 เล่ม



เนื้อเรื่องภาคแรก

เพชรพระอุมา เป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัยเพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจันพรานเกิดและพรานเส่ยพรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายนานาชนิด ที่ทำให้คณะเดินทางต้องเสี่ยงภัยและเผชิญกับสัตว์ร้ายในป่าดงดิบ อาถรรพณ์ของป่า นางไม้ ภูตผีปีศาจหรือแม้แต่สัตว์ประหลาด ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลาในการเดินทาง พลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับของอาณาจักรนิทรานคร ต่อสู้กับจอมผีดิบร้ายมันตรัยที่มีพละกำลังกล้าแข็งและมีอำนาจอย่างแรงกล้า ผ่านห้วงเวลาเหลื่อมซ้อนกันจนหลุดผ่านเข้าไปในยุคของโลกดึกดำบรรพ์ และค้นพบปริศนาความจริงของกะเหรี่ยงลึกลับในฐานะคนรับใช้และองค์รักษ์ประจำตัวของดาริน ที่ติดสอยห้อยตามคณะเดินทางมายังเนินพระจันทร์และมรกตนคร ซึ่งฐานะที่แท้จริงของแงซายถูกเปิดเผยและคณะเดินทางของเชษฐาได้พบเจอกับบุคคลที่ออกติดตามค้นหารวมทั้งช่วยกันกอบกู้บัลลังก์คืนให้แก่แงซายจนสำเร็จ

  • ไพรมหากาฬ
  • ดงมรณะ
  • จอมผีดิบมันตรัย
  • อาถรรพณ์นิทรานคร
  • ป่าโลกล้านปี
  • แงซายจอมจักรา

เนื้อเรื่องภาคสมบูรณ์

ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางกลับจากเมืองมรกตนครของแงซาย รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้ถูกว่าจ้างให้ออกติดตามหาเครื่องบินที่สูญหายพร้อมด้วยระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง รพินทร์จำใจรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินที่สูญหายไปจากแผนที่ประเทศไทย โดยมีฝรั่งจำนวน 4 คน เป็นผู้ว่าจ้าง  แต่เมื่อพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ และ หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ ซึ่งเป็นอดีตนายจ้างของรพินทร์ ได้ทราบข่าวการรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางของรพินทร์ ก็เกรงว่าจะถูกฆ่าทิ้งเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เนื่องจากเป็นงานลับขององค์กร จึงออกติดตามคณะนายจ้างใหม่ของรพินทร์

การติดตามค้นหารพินทร์และคณะนายจ้างฝรั่ง คณะเดินทางของเชษฐาได้เผชิญหน้ากับมันตรัยที่ฟื้นคืนชีพที่อาณาจักรนิทรานคร และกับเล่าถึงอดีตชาติของดารินและรพินทร์ที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตในชาติปางก่อน รวมทั้งพยายามล่อลวงเอาตัวดารินไปยังอาณาจักรนิทรานคร เพื่อให้ได้ในตัวของจิตรางคนางค์หรือดารินในชาติปัจจุบัน แต่ก็ได้เชษฐาและไชยันต์มาช่วยเหลือไว้อย่างทันท่วงที และปราบมันตรัยด้วยบ่วงนาคบาศย์ได้สำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างฝรั่งบุกป่าเพื่อค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์จนพบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากแงซายในรูปของจิตใต้สำนึก จนภายหลังทั้ง 2 คณะได้เดินทางมาพบกันที่เมืองมรกตนคร แงซายรวบรัดให้ดารินและรพินทร์แต่งงานกันที่เมืองมรกตนคร ก่อนจะอำลากันเป็นครั้งสุดท้ายในการพบกันระหว่างบุคคลทั้งหมด 

  • จอมพราน
  • ไอ้งาดำ
  • จิตรางคนางค์
  • นาคเทวี
  • แต่ปางบรรพ์
  • มงกุฎไพร

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ครูสุรัฐ พุกกะเวส

    


ครูสุรัฐ พุกกะเวส มีชื่อเดิมว่า "สุรัสน์" เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2467 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนโต ของนายประสงค์ และ นางสาลี่ พุกกะเวส เป็นหลานปู่ของ พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ ( สังข์ พุกกะเวส )ผู้ขอพระราชทานนามสกุล "พุกกะเวส" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เป็นนักประพันธ์คำร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียง มีผลงานเพลงมากมาย เช่น เพลงบุพเพสันนิวาส, อุษาสวาท, ปทุมไฉไล, และที่เด่นคือ เพลงสดุดีมหาราชา

           ในวัยเยาว์ ครูสุรัฐ อยู่ในอุปการะของนายชิน พุกกะเวส ผู้เป็นญาติ เพื่อศึกษา โดยโยกย้ายไปหลายโรงเรียน เริ่มจาก โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ , โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม , หลังจากนั้นจึงมาเรียนต่อกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนมัธยมวัดสระเกศ , โรงเรียนพระนครวิทยาลัย , โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ แล้วกลับไปศึกษาที่โรงเรียนวัดทรงธรรม ที่จังหวัดสมุทรปราการ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ความเป็นคนขยันหมั่นเพียร จึงได้เข้ามาศึกษาต่อมัธยม 6 อีกครั้งที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด จนจบ เท่ากับ สุรัฐ จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงสองหน

            เมื่อจบมัธยม 6 แล้ว ครูสุรัฐ คิดอยากจะเป็นนักเรียนนายเรือ แต่การทดสอบเพื่อเข้าศึกษาในนั้น มีการทดสอบว่ายน้ำ โดยลอยคอ 6 นาที ซึ่งครูสุรัฐทำไม่ได้ จึงได้เปลี่ยนไปสมัครเป็นครูโรงเรียนประชาบาลบางบ่อ พักหนึ่ง เมื่อทางโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และ การเมือง ( ต.ม.ธ.ก. )ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษา ครูสุรัฐ จึงไปสมัคร และเรียนจนจบ นับเป็นรุ่นที่ 4 ของสถาบันนี้ จากนั้นได้ไปเข้าทำงาน เป็นเลขานุการ ของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และทำงานในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งเลขานุการโรงแรม ( รัตนโกสินทร์ ) และ ภาพยนตร์ ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

              สุรัฐ เป็นผู้ร่วมอยู่ในวงสุนทราภรณ์ร่วมกับเอื้อ สุนทรสนาน มาตั้งแต่ครั้งทำงานเป็นเลขานุการโรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2486 และมีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงให้กับสุนทราภรณ์หลายเพลง โดยเพลงแรกในชีวิตการประพันธ์ของสุรัฐ คือ เพลง "หาดแสนสุข" โดยสุรัฐ แต่งคำร้อง ครูเวส สุนทรจามร แต่งทำนอง มี สุปาณี พุกสมบุญ นักร้องของกรมโฆษณาการ ในขณะนั้น เป็นผู้ขับร้อง

หลังจากเพลงหาดแสนสุข ครูเอื้อ จึงเห็นความสามารถ และไว้ใจ ได้มอบทำนองเพลงมาให้สุรัฐ แต่งคำร้องอีก จนเกิดเป็นเพลงอีกมากมาย เช่น  ดอกไม้เมืองเหนือ,หญิงสาวกับความรัก, กลิ่นดอกโศก,ห่วงอาลัย ฯลฯ และคงประพันธ์คำร้องให้วงสุนทราภรณ์เรื่อยมา จนถึงเพลงสุดท้าย ที่ครูเอื้อ ให้ทำนองก่อนถึงแก่กรรมไม่นาน คือ เพลง "พระเจ้าทั้งห้า "

นอกจากประพันธ์เพลงให้ลงสุนทราภรณ์แล้ว สุรัฐ ยังได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น ร่วมกับ สมาน กาญจนผลิน และ ชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์เพลง " สดุดีมหาราชา" ขึ้น นับเป็นเพลงสำคัญคู่กับ "สรรเสริญพระบารมี" มาจนปัจจุบีน และประพันธ์ เพลง "หน่วยแพทย์อาสา" เพื่อบรรเลงในวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2497 ก่อตั้งโรงพิมพ์ "สุรัสน์การพิมพ์" เพื่อรับงานใบปลิวและโฆษณาภาพยนตร์ และตีพิมพ์นิตยสารรายปักษ์เกี่ยวกับภาพยนตร์บันเทิง ชื่อนิตยสาร "ดาราไทย" แต่ปัจจุบันไม่ได้ตีพิมพ์แล้ว และโรงพิมพ์สุรัตน์การพิมพ์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท สยามออฟเซ็ท จำกัด"

เมือ่ พ.ศ. 2501 สุรัฐ สร้างภาพยนตร์เรื่อง "สาวน้อย" จากนวนิยายของ "อาษา" กำกับการแสดงโดย ส. อาสนจินดา มีเพลงประกอบที่มีชื่อคือ เพลงสีชัง ประพันธ์โดย สง่า อารัมภีร ขับร้องโดยหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์

              นอกจากนี้ ยังเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการก่อตั้ง "สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย" โดยได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม ถึง 2 สมัย

           สุรัฐ พุกกะเวส เริ่มป่วยด้วยอาการต่อมลูกหมากโต ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2526 จึงทำการผ่าตัดในเดือนสิงหาคมปีนั้น ภายหลังตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค ได้ทำการรักษาเรื่อยมา แต่อาการไม่ดีขึ้น ท้ายที่สุดเกิดอาการไตวาย แพทย์ต้องทำการล้างไตตลอด จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมอายุได้ 69 ปี 2 เดือน 7 วัน

ได้บริจาคร่างให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ เป็นเวลา 2 ปี จึงได้นำศพมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ( เป็นกรณีพิเศษ ) ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539

ผลงานบางชิ้นของครูสุรัส  การะเกด กุหลาบเชียงใหม่ เกล็ดแก้ว คนองรัก คำรักคำขวัญ คูหาสวรรค์ งอนแต่งาม ดวงชีวัน ดอกไม้เมืองเหนือ ใต้ร่มไทร ทางชีวิต ธนูรัก นานแล้วไม่พบกัน นาวาทิพย์ น้ำตาลใกล้มด บุพเพสันนิวาส ปทุมไฉไล ปทุมมาลย์ ปางหลัง ผู้ชายนะเออ ฝากใจกับจันทร์ พระเจ้าทั้งห้า (เพลงสุดท้ายในชีวิตของ เอื้อ สุนทรสนาน พ.ศ. 2523) พรานรัก เพลงราตรี เพลินลีลาศ  ไฟสุมขอน มองยิ่งงาม มาลีรุ่งอรุณ ยอดยาใจ ยูงกระสันต์เมฆ รอยบุญรอยกรรม รักเธอด้วยใจ ราตรีสวรรค์ เรือมนุษย์  แรกพบสบรัก(นำมาเป็นแบรคกราว์วเสียงของบทความนี้) แว่วเสียงเธอ ศึกในอก สดุดีมหาราชา เสียงเพลงรัก หญิงสาวกับความรัก ห่วงรักห่วงอาลัย ห่วงอาลัย
 เหนือเกล้า อุษาสวาท ฯลฯ 

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567

แคว้นสุพรรณภูมิ

 


สุพรรณภูมิ  

ชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ปรากฏอยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกที่เล่าเรื่องราวของเมืองสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง ผู้เสวยราชสมบัติที่เมืองสุโขทัยเมื่อประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ประมาณ 50 ปี ในตอนที่กล่าวถึงเมืองสุพรรณภูมินั้นได้จารึกข้อความไว้ว่า

“พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยา…หาเป็นครูอาจารย์…หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้าง ช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง…เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว”

ความในศิลาจารึกตอนนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้นมีความสามารถหลายด้าน หาคนเสมอเหมือนได้ยาก ทางด้านการรบทัพจับศึกนั้นก็สามารถปราบปรามบ้านเมืองต่างๆ ออกไปได้ทั้งสี่ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศหัวนอนที่เป็นด้านทิศใต้นั้น ศิลาจารึกได้ระบุชื่อเมืองเรียงตามลำดับตั้งแต่เหนือลงใต้ ไปจนจรดฝั่งทะเลปลายแหลมทองเลยทีเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อระบุชื่อเมืองผ่านเลย เมืองพระบางซึ่งปัจจุบัน คือท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ไปแล้ว ก็เป็นชื่อเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองทั้งหลายเหล่านี้คือเมืองแพรก ปัจจุบันคือเมืองสรรค์ในเขตท้องที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

เมืองสุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน

จากลำดับการเรียกชื่อเมืองอย่างเป็นระเบียบจากเหนือลงใต้เช่นนี้ เมืองสุพรรณภูมิก็ควรที่จะหมายถึงเมืองสุพรรณบุรีที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ได้ หากแต่ว่าเดิมมิได้คิดว่าจะเป็นเมืองสุพรรณบุรี อาจเป็นเพราะหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับที่มีอยู่ รวมทั้งฉบับของวันวลิตที่เขียนขึ้นเก่าที่สุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2182 ไม่มีตอนใดในฉบับใดเลยที่เรียกชื่อเมืองสุพรรณบุรีว่าเมืองสุพรรณภูมิ รวมทั้งเรื่องราวที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ ก็เป็นเรื่องก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 จึงทำให้คิดกันว่า เมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้นยังมิได้เกิดขึ้น เมืองสุพรรณภูมิจึงเป็นเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้ ต้องเป็นเมืองอยู่ที่อื่น

อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่สุด คือจารึกหลักที่ 48 “จารึกลานทองวัดส่องคบ” พบในเจดีย์วัดส่องคบที่เป็นวัดร้าง ในเขตท้องที่อำเภอเมืองชัยนาท เป็นจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 1951 ในจารึกแผ่นนี้ได้มีการระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิสองครั้ง แสดงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนี้ เมืองสุพรรณภูมิยังคงอยู่สืบต่อมาจากสมัยที่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวล้านนา ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. 2060 หลังจากจารึกลานทองวัดส่องคบประมาณ 100 ปี ในตอนที่เล่าเรื่องพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึง “…วัตติเดชอำมาตย์ ซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิ…” อยู่ด้วยในตอนหนึ่ง วัตติเดชอำมาตย์นี้ตามเรื่องราว หมายถึง ขุนหลวงพระงั่วขณะที่ครองอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ก่อนที่จะเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ แสดงว่า เมืองสุพรรณภูมิในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้น คือเมืองเดียวกันกับเมืองสุพรรณบุรีนั่นเอง และเหตุที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับไม่มีการกล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิเลย แม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรียังคงใช้ชื่อว่าสุพรรณภูมิอยู่ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเหล่านี้ล้วนแต่เขียนขึ้นในสมัยหลัง สมัยที่มีการเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิเป็นชื่อเมืองสุพรรณบุรีแล้ว จึงใช้ชื่อที่รู้จักกันดีแล้วในสมัยที่เขียนพงศาวดารมาเขียนเรื่องราวทุกตอนด้วยชื่อเดียวกันหมด ดังนั้นจึงยังคงปรากฏชื่อเมืองเดิมอยู่ในเอกสารที่มีการผลิตร่วมสมัยกับที่ยังมิได้เปลี่ยนชื่ออยู่เท่านั้น คือในจารึกลานทองวัดส่องคบ กับหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์


หลักฐานทางโบราณคดีของเมืองสุพรรณภูมิ

เมืองสุพรรณบุรีจึงเป็นเมืองที่มีมาก่อนนานแล้ว ตั้งแต่สมัยเดียวกันกับที่พ่อขุนรามคำแหงครองเมืองสุโขทัยเมื่อครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 โดยมีชื่อเก่าว่าเมืองสุพรรณภูมิ หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงว่าเป็นเมืองที่มีอายุเก่าถึงสมัยนั้นได้ คือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พระป่าเลไลยก์ ที่วัดใหญ่หรือวัดป่าเลไลยก์ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นวัดที่อยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันตก

พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้อาจจะพิจารณายุคสมัยการก่อสร้างได้ลำบาก เนื่องจากได้มีการซ่อมแซมกันหลายครั้งหลายสมัย แต่อาคารแคบๆ ของเดิมอันเป็นที่ประดิษฐานพรุทธรูปองค์นี้นั้น สามารถแสดงได้อย่างชัดเจนถึงแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “พระคันธกุฎี” อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่นิยมทำกันในดินแดนต่างๆ ร่วมสมัยกับสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ เจดีย์เรือนธาตุแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่วัดสนามชัย วัดร้างนอกเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณฯ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ก็อาจเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอีกชิ้นหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรีที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยที่กล่าวถึงนี้

เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดสนามชัย สุพรรณบุรี (ภาพจาก หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี)

สิ่งสําคัญที่แสดงว่า ตัวเมืองสุพรรณภูมิกับเมืองสุพรรณบุรีตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันคือ ซากกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้ปรากฏร่องรอยให้เห็นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วยกำแพงเมืองป้อมปราการทำด้วยอิฐ มีคูเมืองล้อมรอบ โดยด้านตะวันออกใช้แม่น้ำท่าจีนเป็นคูเมือง แผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ไว้เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยมีตัวเมืองอันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดในปัจจุบัน ซ้อนทับลงบนบริเวณเดียวกัน

ลักษณะเด่นของเมืองนี้คือ การทำป้อมลอยเป็นเกาะอยู่ในคูเมือง ไม่มีส่วนเชื่อมต่อกับกำแพง ลักษณะป้อมอยู่กลางน้ำนี้น่าจะตรงกับที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “หอโทน” ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อรับศึกพม่า ลักษณะป้อมกลางน้ำนี้มีที่เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกและที่เมืองพิจิตรเก่า

ซึ่งเมืองเมืองเหล่านี้ล้วนมีประวัติการก่อสร้างอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ป้อมและกำแพงเมืองสุพรรณบุรีที่กล่าวถึงนี้ เมื่อพิจารณาร่วมกับแบบศิลปะของปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี อันเป็นศูนย์กลางของเมืองแล้ว สามารถประมาณได้ว่าคงสร้างขึ้นราวหลังพุทธศตวรรษที่ 20 กำแพงเมืองแห่งนี้น่าจะถูกรื้อไปในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้มีพระประสงค์จะรับศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธาเป็นหลัก จึงรื้อป้อมกำแพงของเมืองอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบกรุงศรีอยุธยา ป้องกันมิให้พม่ายึดไว้เป็นฐานสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานข้ามปี

จากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร สามารถเห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีแต่เดิมเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ปรากฏร่องรายของคูเมืองเดิม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคร่อมอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำท่าจีน เมืองๆ นี้จึงมีพื้นที่ภายในกำแพงเมืองอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำ คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกอันเป็นฝั่งเดียวกันกับที่ตั้งเมืองที่มีกำแพงก่อด้วยอิฐตามที่กล่าวมาแล้ว ร่องรอยที่เลือนมากของคูเมืองรุ่นเก่ากว่าทางด้านทิศตะวันตกนั้น จะเข้ามาชิดกับแม่น้ำท่าจีน มากกว่าด้านเดียวกันของกำแพงก่อด้วยอิฐของเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นั่นคือเมืองสุพรรณบุรีในภาพถ่ายทางอากาศทางฝั่งตะวันตก จะมีพื้นที่น้อยกว่าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ปัจจุบัน ถ้าพิจารณา ณ ภูมิประเทศที่ตั้งจะไม่เห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีที่มีแม่น้ำผ่านกลางนี้แล้ว นอกจากจะตรวจดูจากภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแล้วเท่านั้น แสดงถึงการเป็นเมืองรุ่นเก่าที่มีส่วนของเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำ ถูกเมืองที่มีกำแพงป้อมปราการก่อด้วยอิฐสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสร้างซ้อนทับอยู่ ร่องรอยของเมืองในภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแสดงถึงการเป็นเมืองที่มีอยู่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ดังนั้น เมืองนี้จึงควรเป็นเมืองที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุชื่อว่า สุพรรณภูมิ นั่นเอง


ความสัมพันธ์ระหว่างสุพรรณภูมิกับสุโขทัย

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงความสามารถของพ่อขุนรามคำแหง ที่ปราบบ้านเมืองใหญ่น้อยออกไปทั้ง 4 ทิศนั้น นักวิชาการส่วนมากเห็นว่าเป็นการกล่าวเกินจริง น่าจะเป็นถ้อยคำที่คิดขึ้นเพื่อยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมากกว่า อย่างไรก็ดี การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เมื่อกล่าวถึงบ้านเมืองที่ปราบได้ทางทิศใต้ มีลักษณะการเลือกกล่าวเฉพาะเมืองที่อยู่ทางฟากตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังได้ให้ข้อสังเกตไว้แต่ต้นแล้ว การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เลือกกล่าวเฉพาะกลุ่มเมืองดังกล่าวนี้ อย่างน้อยย่อมแสดงข้อเท็จจริงบางประการในลักษณะความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือเมืองสุพรรณบุรี ร่องรอยความสัมพันธ์กับดินแดนสุโขทัยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี คือลักษณะของการสร้างเมืองกับลักษณะทางพุทธศิลปะในสมัยต่อมาที่มีความคล้ายคลึงกัน ส่วนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา ล่วงผ่านไปหลังจากที่แสดงให้เห็นในศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว คือ ลักษณะการบอกเล่าเป็นตำนานในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ โดยในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยึดเมืองชัยนาทหรือสองแควได้ไปจากพระมหาธรรมราชาลิไทแล้ว พระองค์ก็ได้ให้ขุนหลวงพระงั่วแห่งเมืองสุพรรณภูมิมาครองเมืองนี้

การที่มีการเล่าเรื่องเช่นนี้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ น่าจะเป็นเพราะผู้แต่งหนังสือเล่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะความเกี่ยวข้องของบุคคลของเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองสุโขทัย หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้เมืองสองแควคืนโดยการทูลขอจากสมเด็จพระรามาธิบดี ขุนหลวงพ่อจั่วจึงเสด็จกลับเมืองสุพรรณภูมิอย่างเดิม

หนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ได้เล่าเรื่องเดียวกันนี้ต่อไปอีกในลักษณะตำนานว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตลง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้นำพระพุทธสิหิงค์ไปยังพระนครของพระองค์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเรื่องตำนานในตอนนี้กับเวลาทางประวัติศาสตร์จะตรงกับสมัยที่ขุนหลวงพ่องั่วจากเมืองสุพรรณบุรีมาเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้ว แต่ตำนานในหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ยังคงเรียกกษัตริย์ของอยุธยาในสมัยนี้ว่าพระเจ้ารามาธิบดีเหมือนเช่นเดิม แต่ก็มีในบางครั้งที่เรียกว่าเจ้าเดช ซึ่งตรงกันกับวัตติเดชในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ อันหมายถึงขุนหลวงพ่องั่วแห่งเมืองสุพรรณบุรี

เรื่องที่เล่าในนิทานพระพุทธสิหิงค์ในลักษณะตำนานตอนนี้นั้น ได้แสดงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์สุพรรณบุรีอย่างชัดเจน โดยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งเป็นเชื้อสายทางสุโขทัย อยากได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมา พระองค์จึงทำอุบายส่งพระมารดาของพระองค์ไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระนางได้ทำตนให้พระราชาลุ่มหลงเพื่อทูลขอพระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาให้พระโอรสของพระนางจนเป็นผลสำเร็จ

ความสัมพันธ์ในเรื่องการแต่งงานเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย ได้ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นบันทึกเรื่องราวอย่างชัดเจน ในจารึกหลักที่ 38 “ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร” ที่กล่าวถึงเชื้อพระวงศ์จากภาคกลางพระองค์หนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์น่าจะหมายถึงเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณบุรี ก่อนที่จะได้ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ตามศิลาจารึกหลักนี้พระองค์ได้เสด็จมาเสวยราชย์ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 1940 พระองค์มีพระมารดาและเครือญาติทางฝ่ายพระมารดาเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ในดินแดนสุโขทัยด้วย

ในที่สุด หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เป็นจารึกหลักที่ 49 “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์” ได้แสดงอย่างชัดเจนไม่มีข้อสงสัยว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา โอรสของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี พระองค์ก็มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงของสุโขทัย และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปก็มักจะปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณบุรี มักจะมีเชื้อสายทางมารดามาจากราชวงศ์สุโขทัย เป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1


สรุป

เมืองสุพรรณภูมิที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” นั้น คือเมืองเดียวกันกับที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุพรรณบุรี ข้อความที่กล่าวในศิลาจารึกหลักนี้ถึงความเก่งกล้าของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่ออกไปไกลทั้ง 4 ทิศ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการส่วนมากว่าจะเป็นข้อเท็จจริงตามความหมายที่เป็นตัวอักษร แต่ความหมายในเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งที่เมืองสุโขทัยมีกับเมืองเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือภายหลังคือเมืองสุพรรณบุรี ที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ใต้อำนาจ การปราบปรามของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สามารถแสดงเค้าเงื่อนความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองสุพรรณบุรีได้ในระยะแรกเริ่ม

เมื่อกาลเวลาล่วงไป หลักฐานที่ผลิตขึ้นตามช่วงเวลานั้น ๆ ที่มีลักษณะเป็นเรื่องตำนาน และในที่สุดก็เป็นลักษณะการบอกเรื่องราวในศิลาจารึก ก็ได้ให้ข้อเท็จจริงของลักษณะความสัมพันธ์การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง ซึ่งสามารถนำย้อนไปขยายภาพความสัมพันธ์ของราชวงศ์ทั้งสองที่เห็นเค้าเงื่อนอยู่บ้างในศิลาจารึกที่กล่าวถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ของสุพรรณบุรีกับของสุโขทัยนั้น น่าจะมีมานานแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง


วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567

หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล


หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล


  หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล (8 สิงหาคม พ.ศ. 2440 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2528) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา

พระประวัติ

หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงพิไลย เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา[1] เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2440 (สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)

หม่อมเจ้าพิไลยเลขาเติบโตมาในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ชันษา 4 ปี โดยมีหน้าที่เชิญหีบพระศรี พระกลด ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ สมเด็จทรงพระกรุณาเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด โปรดให้ศึกษาที่โรงเรียนราชินีจนจบ ได้เป็นครูสอนหนังสือ ทรงรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ และเป็นผู้อ่านหนังสือถวาย

กระทั่งปี พ.ศ. 2454 หม่อมเจ้าพิไลยเลขาชันษา 14 ปี ทรงใกล้ชิดสนิทสนมกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7)

 ซึ่งเสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ทวีปยุโรปช่วงฤดูร้อน สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงพอพระทัยในหม่อมเจ้าพิไลยเลขา จึงทรงกราบทูลขอหม่อมเจ้าพิไลยเลขาจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็ทรงหมั้นหมายหม่อมเจ้าพิไลยเลขาด้วยเครื่องเพชรและพระราชทานพระราชานุญาตให้ติดต่อกันทางจดหมาย เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ยุโรป[2]

ในปี พ.ศ. 2458 เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เสด็จกลับจากยุโรป และทรงรับราชการในกรมเสนาธิการทหารบก หม่อมเจ้าพิไลยเลขาซึ่งชันษา 18 ปี มิใช่เด็กหญิงที่สามารถคลุกคลีกับผู้ใดได้เหมือนแต่เดิม ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงมีโอกาสพบปะเล่นหัวพูดคุยกับหญิงอื่น และต้องชะตากับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ทำให้พระทัยหวั่นไหว อันเป็นเหตุจากความเหินห่างพระคู่หมั้น[3] และได้กราบทูลขอพระราชานุญาตเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงพระราชทานพระราชานุญาตให้หม่อมเจ้าพิไลยเลขาเสด็จกลับไปประทับกับพระบิดาที่วังวรดิศ




ต่อมาในปี 2460
หลังจากเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช
จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก ร.6
เสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี
โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ประกอบพิธีพระราชพิธีอภิเษกสมรส
ที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
การอภิเษกสมรสในครั้งนี้
ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก
หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์
รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง
กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย
สำหรับ “วังศุโขทัย” นั้นได้สร้างขึ้นก่อนที่ทั้ง 2 พระองค์
จะทรงเสกสมรสกัน โดยเป็นเรือนหอที่ ร.6
พระราชทานสร้างให้บริเวณคลองสามเสน
ในส่วนหม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล
ทรงดำรงองค์เป็นโสดจนสิ้นชีพิตักษัย สมัย ร.9
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 สิริชันษา 88 ปี
พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปีเดียวกัน
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เงินตราโบราณ ในอีสาน

 


เงินตราโบราณ ในอีสาน

เงินหมัน เงินเคิ่ง เงินจุก เงินบี้

เงินตราที่ได้เข้ามามีบทบาทในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง หรือดินแดนภาคอีสานในปัจจุบัน เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว นอกจากเงินตราของสยามที่เป็นเหรียญแบนซึ่งผลิตในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ยังมีเงินตราอีกหลายประเภทที่เข้ามามีบทบาทเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนของคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงหลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้คนลาวทั้งสองฟากฝั่งถูกแยกออกจากกัน โดยอาศัยเส้นแบ่งเขตแดนแบ่งกั้นคนทั้งสองฝั่งคือ ฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงขึ้นกับฝรั่งเศส ฝั่งขวาแม่น้ำโขงขึ้นกับสยาม ภายหลังถูกทําให้เชื่อว่าคนทั้งสองฝั่งมีเชื้อชาติที่ต่างกัน

ฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวศตวรรษที่ ๑๙ โดยยึดได้กัมพูชาบางส่วนในปี ค.ศ.๑๘๖๗ ยึดได้เวียดนามใน ค.ศ.๑๘๘๔ และยึดได้ลาวใน ค.ศ.๑๘๙๓ หรือ ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสเรียกดินแดนเหล่านี้ว่ารัฐในอารักขา (protectorate ; protected state)

จากนั้นได้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในดินแดนอารักขาที่ฝรั่งเศสเรียกว่า “อินโดไชน่า” โดยผลิตเป็นเงินเหรียญแบนที่ด้านหน้าเป็นรูปเทพีเสรีภาพด้านหลังเป็นช่อใบมะกอก บอกราคาหน้าเหรียญไว้ตรงกลางด้านข้างบอกน้ำหนักเป็นกรัม รวมทั้งบอกเปอร์เซ็นต์ของเงิน และระบุอีกว่า Indo-Chine Francaise”

เหรียญรุ่นนี้ฝรั่งเศสกำหนดให้มีหน่วยย่อยเป็น cent โดยที่ ๑๐๐ cent เป็น ๑ Piastre (เปี๊ยต) มีด้วยกัน ๔ ขนาดคือ

เหรียญ ๑ Piastre หนัก ๒๗ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๙๐

เหรียญ ๕๐ cent หนัก ๑๓.๕ กรัม มีโลหะเงินเหรียญ ๕๐ cent หนัก ๑๓.๕ กรัม มีโลหะเงิน

เหรียญ ๒๐ cent หนัก ๕.๔ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๖๘

เหรียญ ๑๐ cent หนัก ๒.๗ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๖๘

เริ่มผลิตใช้ตั้งแต่ค.ศ.๑๘๘๕ และใช้หมุนเวียนในประเทศเวียดนาม กัมพูชาและลาว

เงินตราเหล่านี้ยังได้มีอิทธิพลมาถึงฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้วย เนื่องจากเป็นเหรียญที่มีเปอร์เซ็นต์เงินสูงจึงได้รับความเชื่อถือจากประชาชนทั้งสองฝั่ง เพราะเงินตราของสยามเองก็มีมาใช้ไม่ทั่วถึงชาวบ้านเรียกขานเงินตราชนิดนี้กันว่า เงินหัวหนาม บ้าง ตามลักษณะของเทพีเสรีภาพที่อยู่บนหน้าเหรียญ ส่วนคําว่า เงินหมัน นั้นเรียกตามหน่วยเงินที่ชาวลาวทั้งสองฝั่งเรียกขานกันเป็นภาษาท้องถิ่น โดยราคา ๑ เปี๊ยต เรียกว่าเงินหมัน ราคา ๕๐ cent เรียกว่าเงินเคิ่ง (ครึ่ง) ราคา ๒๐ cent เรียกว่าเงินจุก หรืออีกชื่อหนึ่งว่าอีซาวราคา ๑๐ cent เรียกว่าเงินบี้หรืออีกชื่อหนึ่งว่าอีสิบ

เงินตราที่พบโดยส่วนมากเป็นราคาหนึ่งเปี๊ยตชาวบ้านจึงคุ้นเคยกับเงินตราราคานี้มากที่สุด และเรียกโดยทั่วไปว่าเงินหมัน เงินหมันนี้ทางฝั่งลาวนิยมเอาไปหลอมเป็นเงินฮางดังที่ได้กล่าวไปในฉบับที่แล้ว แต่เป็นเงินฮางที่ชาวลาวหลวงพระบางหลอมขึ้นใช้เอง โดยใช้เงินหมันนี้จํานวน ๑๔ เหรียญจะหลอมเงินฮางได้หนึ่งแท่งหรือสิบตําลึงจีนพอดี

ส่วนในภาคอีสานเงินหมันนี้ได้แพร่เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมของชาวบ้าน โดยอัตราแลกเปลี่ยนคือเงินเปี๊ยตหรือเงินหมันสามเหรียญเทียบเท่าเงินบาทสยามห้าเหรียญ เงินเคิ่งหรือครึ่งเปี๊ยตเทียบเท่าสามสลึงของสยาม จากนั้นราวสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการผลิตเหรียญ เงินจํานวนมากและขนส่งไปทางรถไฟ ทําให้เงินตราของสยามมีมาใช้แพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งเงินหมันของฝรั่งเศสหมดความสําคัญจนเลิกใช้ไปในที่สุด

เงินตราอีกชนิดหนึ่งของมหาอำนาจทางฟากฝั่งตะวันตกคือ เงินตราที่ผลิตขึ้นโดยอังกฤษในอินเดีย และนํามาใช้ในพม่าหลังจากอังกฤษยึดได้พม่าทั้งประเทศใน ค.ศ.๑๘๘๕ เงินตราชนิดนี้เรียกขานกันว่าเงินรูเปียบ้าง เงินรูปีบ้าง เงินแถบบ้าง ได้แพร่เข้ามาใช้ทางภาคเหนือหรือมณฑลพายัพของสยามในอดีตคืออาณาจักรล้านนา คําว่าเงินแถบนี้น่าจะมาจากชื่อที่คนล้านนามักเรียกขานเงินที่มี ขนาดใหญ่โตเป็นก้อนกลมว่า “เงินท๊อก” เรียกเงินเหรียญแบนขนาดใหญ่ว่า “เงินเถิบ หรือเติบ”เรียกเงินเหรียญแบนขนาดเล็กว่า “เงินแท๊บ หรือแต๊บ” จนเพี้ยนมาเป็นเงินแถบในที่สุด เงินเหรียญแบนจากพม่าที่แพร่เข้ามาใช้ในล้านนาคือเงินรูปีของอินเดียนี่เอง

เงินแถบหรือเงินรูปีอินเดียนี้ได้แพร่เข้ามาใช้ในภาคอีสาน โดยผ่านพ่อค้าชาวพม่าที่ชาวอีสานรู้จักในชื่อ “พ่อค้าชาวกุลา” เป็นที่มาของชื่อท้องทุ่งอันแห้งแล้งของอีสานว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ชาวกุลาเดินทางเข้ามาค้าขายผ่านท้องทุ่งแห่งนี้ด้วยความยากลําบากจนถึงกับต้องนั่งร้องไห้

กุลาคือ ชนชาติเงี้ยว หรือต่องสู้ ที่มีถิ่นฐานทางตอนเหนือของพม่าบริเวณรัฐฉาน คําว่ากุลามาจากภาษาพม่าว่า กาลา (kala) ซึ่งแปลว่าคนต่างถิ่น เดินทางเข้ามาเร่ขายข้าวของในภาคอีสาน ขายทั้งเสื้อผ้า กลอง เครื่องเงิน และเครื่องประดับอื่น ๆ เป็นต้น เป็นคาราวานกองสินค้าขนาดใหญ่ แล้วจะซื้อวัวควายจากภาคอีสานกลับไปขายยังพม่า มีเอกสารที่กล่าวถึงชาวกุลาในอีสานที่เก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่พ่อค้าชาวกุลามีปัญหากับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เรื่องการซื้อวัวจํานวนมากของพ่อค้าชาวกุลา

เรื่องราวความขัดแย้งของพ่อค้าชาวกุลากับข้าราชการสยามน้อยลงอย่างมาก หลังจากมีการเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๙ ผลประโยชน์ของคนในบังคับอังกฤษได้รับการปกป้องโดยสนธสิญญาฉบับนี้รวมถึงการพิพากษาคดีความด้วย ทําให้การค้าของชาวกุลา หรือต่องสู้ขยายตัวอย่างมากมายในภาคอีสาน

เงินตราที่ชาวกุลานำติดตัวมาค้าขายด้วยคือเงินรูปี หรือเงินแถบของอินเดีย ซึ่งได้เข้ามาใช้แพร่หลายในภาคอีสานในเวลาต่อมา เรื่องเงินแถบหรือรูปีนี้ เอเจียน แอมอนิเย นักสํารวจชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘” ได้อธิบายการเดินทางว่า เขาเดินทางมาถึงเมืองด้านซ้าย เมืองเลย เมืองแก่นท้าว (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) ภาคพื้นนี้ใช้เงินบาทสยามและเงินแถบพม่าของอังกฤษที่มีรูปีของพระราชินีวิคตอเรียมีค่าเท่ากับสามสลึง หนึ่งสลึงและหนึ่งเฟื้อง (เงินแถบนี้เป็นเงินพม่าของรัฐบาลอังกฤษ เหรียญชนิดนี้ผลิตใช้ในประเทศอินเดียมาก่อน)

เงินแถบขนาด one Rupee,1/4 Rupee และ Two Annas มีค่าสามสลึง สลึง และเฟื้อง
ตามบันทึกของเอเจียน แอมอนิเย

เงินแถบนี้ผลิตขึ้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษยึดอินเดียได้และมีใช้ตั้งแต่สมัยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ มีด้วยกัน ๔ ขนาด คือ

เหรียญ One Rupee หนัก ๑๑.๖ กรัม

เหรียญ Half Rupee หนัก ๕.๘ กรัม

เหรียญ ¼ Rupee หนัก ๒.๙ กรัม

เหรียญ Two Annas หนัก ๑.๔ กรัม

แต่ที่พบโดยมากจะเป็นขนาด ๑ Rupee ซึ่งมีรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียและพระเจ้าจอร์สที่๕ อยู่ด้านหน้า เหรียญเงินรุ่นนี้เป็นเงินตราที่มีเปอร์เซ็นต์ โลหะเงินค่อนข้างสูง แต่หลังจากสองสมัยนี้แล้วส่วนผสมของโลหะเงินในเหรียญดังกล่าวจะน้อยลง จึงเป็นที่นิยมจากประชาชนในภาคอีสานโดยเฉพาะเมืองที่อยู่ใกล้หัวเมืองเหนือของสยาม เช่น เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองชัยภูมิ เมืองหล่มสัก เมืองแก่นท้าว เป็นต้น

เงินหมันของฝรั่งเศส เงินแถบของอินเดีย เข้ามามีบทบาทในภาคอีสานและสองฝั่งแม่นํ้าโขงโดยผ่านทางการค้า ทําให้เงินตราเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป เพราะแม่เงินบาทของสยามจะผลิตจํานวนมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่การขนส่งยากลําบาก ทําให้เงินตราของสยามมีหมุนเวียนในตลาดน้อย ไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย เงินหมันและเงินแถบจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเป็นสื่อ แลกเปลี่ยน อีกทางหนึ่ง

จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมจนทําให้การลําเลียงเงินตราจากส่วนกลางไปถึงดินแดนห่างไกลได้มากขึ้น ทำให้เงินหมัน และเงินแถบหมดความสำคัญลงเงินตราสยามจึงได้เข้าไปเป็นเงินตราหลักในการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่บัดนั้น

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567

จักรราศี อ่านว่า จัก-กฺระ-รา-สี

   




จักรราศี

คำว่า จักรราศี (จัก-กฺระ-รา-สี) หมายถึง อาณาเขตที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวงในสุริยจักรวาลเป็นไปตามลำดับของธรรมชาติ ดาวเคราะห์เหล่านั้น ได้แก่ โลก (พิภพ) ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวราหู (เกตุ) ดาวเสาร์ ดาวมฤตยู ดาวเนปจูน และดาวพลูโต

ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีวิถีโคจรไปตามจักรราศีรอบดวงอาทิตย์ และในจักรราศีรอบดวงอาทิตย์นั้นแบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน เรียกว่า ๑๒ ราศี และใน ๑ ราศีแบ่งออกเป็น ๓๐ ส่วน หรือ ๓๐ องศา รวม ๑๒ ราศี จึงเป็น ๓๖๐ องศา โดยที่แต่ละราศีมีชื่อเรียกและสัญลักษณ์ตามลำดับดังนี้ ๑. ราศีเมษ สัญลักษณ์เป็นรูปแกะหรือแพะ ๒. ราศีพฤษภ สัญลักษณ์เป็นรูปโค ๓. ราศีเมถุน สัญลักษณ์เป็นรูปคนคู่ (ชายหญิง) ๔. ราศีกรกฎ สัญลักษณ์เป็นรูปปู ๕. ราศีสิงห์ สัญลักษณ์เป็นรูปสิงห์หรือสีหะ ๖. ราศีกันย์ สัญลักษณ์เป็นรูปหญิงสาวพรหมจารี ๗. ราศีตุล สัญลักษณ์เป็นรูปตราชูหรือคันชั่ง ๘. ราศีพฤศจิก สัญลักษณ์เป็นรูปแมงป่อง ๙. ราศีธนู สัญลักษณ์เป็นรูปคนโก่งธนู ๑๐. ราศีมกร สัญลักษณ์เป็นรูปมังกร ๑๑. ราศีกุมภ์ สัญลักษณ์เป็นรูปคนกับหม้อน้ำ ๑๒. ราศีมีน สัญลักษณ์เป็นรูปปลา ๒ ตัว

จักรราศีทั้ง ๑๒ เริ่มต้นที่ราศีเมษ การที่ราศีเมษเป็นราศีที่ ๑ เพราะถือกันว่า จุดราศีเมษเป็นจุดศูนย์กลางของสุริยจักรวาลและสิ้นสุดลงที่ราศีมีน ในสมัยโบราณ โหรไทยถือว่าระยะทางโคจรของดวงอาทิตย์เมื่อครบ ๓๖๐ องศา เท่ากับ ๑ ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ จักรราศีเป็นสิ่งที่มีส่วนในการใช้ทำนายดวงชะตา ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วย.

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เหรียญทรงผนวชวัดบวรนิเวศวิหาร รัชกาลที่ 9 จัดสร้าง ปี 2550

 เหรียญทรงผนวชวัดบวรนิเวศวิหาร รัชกาลที่ 9
จัดสร้าง ปี 2550




เนื้อทองแดง วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
รุ่นบูรณเจดีย์

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานบนเหรียญที่ระลึกหลายครั้ง เหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นที่แสวงหาของนักสะสมคือเหรียญที่ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2508 รู้จักกันในนาม เหรียญทรงผนวช ความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวช ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง ด้วยจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึงเก้าปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี พ.ศ. 2499 แต่ "เหรียญทรงผนวช" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล จาตุรงคมงคล

ประวัติความเป็นมาของการสร้างเหรียญทรงผนวชมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และในวโรกาสเดียวกันนี้ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญอีก 3 ประการต่อเนื่องกันไป เมื่อประมวลพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในคราวเดียวกันถึง 4 อย่าง
ระหว่างวันที่ 27 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเรียกมหามงคลสมัยนี้ว่า จาตุรงคมงคล

ในปี พ.ศ. 2550 วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดสร้าง "เหรียญทรงผนวช" อีกครั้ง เพื่อเป็นอนุสรณ์และสมนาคุณผู้บริจาคสมทบในการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550
เหรียญทรงผนวช ปี พ.ศ. 2550 นี้ มีรูปลักษณะคล้ายกับเหรียญทรงผนวชที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 ต่างกันตรงที่ เหรียญทรงผนวชปี พ.ศ. 2550 เป็นเหรียญกลมไม่มีห่วง (หายห่วง)
และจารึกข้อความบนขอบเหรียญด้านหลังว่า "บูรณะพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระขนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐"

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเหรียญทรงผนวช
1. เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดให้ วัดบวรนิเวศวิหารสร้างเหรียญทรงผนวชเป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ.2508 โดยมีข้อความด้านหลังเหรียญว่า “เสด็จ ฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ 29 สิงหาคม พ.ศ.2508 ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา”
2. เพี่อเป็นพระราชอนุสรณ์ที่ทรงดำรงมั่นพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และพระราชประเพณีในการออกทรงผนวชอันสืบเนื่องมาแต่บรรพกาล
3. เพื่อเป็นอนุสรณ์สิ่งมงคลสักการะของพสกนิกรพุทธศาสนิกชนในการที่พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้ทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
4. เพื่อเป็นอนุสรณ์และปฏิการะสมนาคุณผู้บริจาคสมทบในการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550
5. เพื่อเป็นสิ่งมงคลสักการะอนุสรณ์ ของพสกนิกรพุทธศาสนิกชนจะได้มีเหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวชเป็นที่ระลึก เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550


วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

49 เรื่องน่ารู้ ความเป็นที่สุดในประเทศไทย

 




1. จังหวัดในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งมีชื่อเต็มยาวที่สุด และเป็นชื่อเมืองซึ่งยาวที่สุดในโลก คือ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ภายหลังจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

2. จังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ 20,493.964 ตร.กม.

3. จังหวัดที่มีพื้นที่น้อยที่สุด คือ จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ 416.707 ตร.กม.

4. จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 32 อำเภอ

5. จังหวัดที่มีตำบลมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 287 ตำบล

6. จังหวัดที่มีเทศบาลมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 120 เทศบาล

7. จังหวัดที่มีอำเภอน้อยที่สุด คือ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 อำเภอ

8. จังหวัดที่จัดตั้งขึ้นล่าสุด คือ จังหวัดบึงกาฬ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

9. จังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 251 กิโลเมตร

10. อำเภอขนาดใหญ่ที่สุด คือ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 4,325 ตารางกิโลเมตร

11. อำเภอขนาดเล็กที่สุด คือ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ 17 ตารางกิโลเมตร และอำเภอนี้มีเพียงตำบลเดียว

12. อำเภอที่มีตำบลมากที่สุด คือ อำเภอเมืองนครราชสีมาและอำเภอเมืองนครปฐม มี 25 ตำบล

13. อำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ที่สุด คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

14. จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ จังหวัดระนอง มีประชากร 182,648 คน (ข้อมูล: พ.ศ. 2555)

15. จังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความหนาแน่น 19.27 คน ต่อตารางกิโลเมตร (ข้อมูล: พ.ศ. 2555)

16. อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด คือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 495,922 คน (ข้อมูล: พ.ศ. 2552)

17. อำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด จำนวน 2,213 คน (ข้อมูล: พ.ศ. 2552)

18. เกาะขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะภูเก็ต มีขนาด 543 ตารางกิโลเมตร

19. บริเวณที่มีแผ่นดินแคบที่สุด คือบริเวณ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีช่วงแผ่นดินเพียง 0.45 กิโลเมตร หรือ 450 เมตร

20. แหลมทะเลที่มีความยาวมากที่สุด คือ แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

21. ทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุด คือ ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และ จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประมาณ 1,040 ตารางกิโลเมตร

22. ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุด คือ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 132,737 ไร่

23. แม่น้ำที่ยาวที่สุด คือ แม่น้ำชี มีต้นธารจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จนไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี รวมความยาวทั้งสิ้น 765 กิโลเมตร

24. คลองที่ยาวที่สุด คือ คลองแสนแสบ มีความยาวทั้งสิ้น 65 กิโลเมตร

25. น้ำตกที่สูงที่สุด คือน้ำตกทีลอซู จังหวัดตาก

26. อุทยานแห่งชาติแห่งแรก และพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่ที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก และ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505

27. อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

28. อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก คือ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2509

29. ปราสาทขอมโบราณซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

30. ปราสาทขอมโบราณซึ่งมีความเก่าแก่ที่สุด คือ ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1

31. ปราสาทขอมโบราณซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกที่สุด คือ ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

32. ฝายหลวงแห่งแรก คือ ฝายซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

33. ตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ที่สุด (อดีตเคยเป็นที่สุดในโลก) คือ ตู้ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความสูง 3.20 เมตร เส้นรอบวงที่ฐาน 2.65 เมตร เส้นรอบวงตู้ 2.40 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467

34. เสาธงซึ่งมีความสูงมากที่สุด คือ เสาซึ่งตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เลขที่ 79 หมู่ที่ 1 หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170 เสากลาง มีความสูง 80 เมตร เสาประกบ มีความสูง 55 เมตร รวมทั้งหมด 3 เสา และมีความสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

35. สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก คือ สะพานพระราม 6 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

36. สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ข้ามทะเลสาบสงขลา จาก อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไปยัง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ระยะทางรวม 5.450 กิโลเมตร

37. สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 ช่วงระหว่างจังหวัดหนองคาย กับนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537

38. สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งแรก คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า ช่วงระหว่างจังหวัดตาก กับจังหวัดเมียวดีของประเทศพม่า

39. สะพานแขวนคนเดินที่ยาวที่สุด คือ สะพานข้ามแม่น้ำมูล ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โครงสร้างเป็นเหล็ก ยึดโยงด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยไม้กระดาน มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 295 เมตร

40. อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

41. อุโมงค์ที่ยาวที่สุด คือ อุโมงค์ขุนตาน ใช้เป็นทางลอดผ่านของรถไฟสายเหนือ ตั้งอยู่บริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีความยาวทั้งสิ้น 1,352 เมตร เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2461

42. ถนนเลียบชายทะเลที่ยาวที่สุด และ สวยที่สุด คือ ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต จังหวัดจันทบุรี

43. พระที่นั่งซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรก ในพระราชวังดุสิต สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เมื่อปี พ.ศ. 2444 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

44. เขื่อนดินที่ยาวที่สุด คือ เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความยาว 7,800 เมตร

45. เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สุด คือ เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท

46. เขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวที่สุดในโลก คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก มีความยาวทั้งสิ้น 2,720 เมตร

47. เขื่อนคอนกรีตอเนกประสงค์แห่งแรกของไทย คือ เขื่อนภูมิพล (ยันฮี) จังหวัดตาก

48. เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของไทย คือ เขื่อนสิริกิติ์ (ท่าปลา) จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความจุ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร

49. สายทางรถไฟซึ่งมีระยะทางยาวที่สุด คือ ทางรถไฟสายใต้ เริ่มจากสถานีรถไฟกรุงเทพ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ชุมทางหาดใหญ่ (สงขลา) ปัตตานี ยะลา จนถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,160 กิโลเมตร

เนื้อเพลง