วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ดอกดาหลา ตำนานความรัก ความพลัดพราก การรอคอย

จากบุพเพสันนิวาส 2 
เห็นพระเอกส่งดอกดาหลาให้นางเอก
ก็นึกถึงดาหลาที่บ้านค่ะ
ก่อนอื่นเราไปดูตำนานเกี่ยวกับดอกดาหลากันก่อนนะคะ


ดอกดาหลา

ตำนานความรัก ..
ความพลัดพราก การรอคอย ของหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติ ศาสนา

มีเรื่องเล่าว่า
มีหนุ่มไทยคนหนึ่ง
ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย
ซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย
และที่นั่น
เขาได้พบกับหญิงสาวชาวมาเลเซียคนหนึ่ง
จนเกิดเป็นความรักขึ้นมา

แต่ด้วยความที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติ ศาสนา
พ่อ แม่จึงไม่ให้คบหากัน
แต่ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคมาขวางกั้น
ความรักของหญิงสาวที่มีต่อชายหนุ่ม
ก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างได
กลับทำให้หญิงสาวรักชายหนุ่มมากยิ่งขึ้น

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง
ชายหนุ่มมีเหตุจำเป็นที่จะต้องกลับเมืองไทย
ก่อนที่จะจากกัน
ชายหนุ่มได้ให้สัญญากับนางว่า
เขาจะกลับมาหานางอย่างแน่นอน

ทั้งสองจากกันที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
หญิงสาวได้มอบดอกดาหลา
ให้แกชายคนรักด้วยน้ำตาที่อาบแก้ม
ชายหนุ่มรับดอกดาหลาไว้ เขายิ้มทั้งน้ำตา 
แล้วจากไป
หญิงสาวมองดูชายคนรักที่ค่อยๆ ห่างออกไป
จนสุดสายตา

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
หญิงสาวก็จะมารอชายคนรักที่ชายแดนทุกวัน
วันแล้ววันเล่า
จากวันเป็นเดือน
จากเดือนเป็นปี
ที่นางเฝ้ารอชายคนรักจะกลับมา

ชาวบ้านต่างนินทา ว่าร้ายนางต่างๆ นาๆ
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ชาวบ้านพูดว่า
ชายหนุ่มไม่มีทางจะกลับมาหานางอีกแล้ว

ถึงแม้จะมีเสียงนินทาว่าร้ายอย่างไร
หญิงสาวก็ยังมารอชายคนรักที่เดิมทุกวัน
จากที่เคยมีความหวัง
จนกระทั่งร่างกายและจิตใจนางเริ่มอ่อนล้า

สุดท้ายหญิงสาวก็ตรอมใจ
ก่อนที่หญิงสาวจะหมดลมหายใจ
นางได้อธิฐานว่า 

“หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง 
ในชาติหน้าภพหน้า
ขอให้ลูกเกิดมาเป็นดอกดาหลา
ที่ขึ้นอยู่ตามชายแดนมาเลเซียนี้ด้วยเถิด
เพื่อรอคนรักของลูกกลับมา”



ดาหลา สัญลักษณ์แห่งการรอคอยคนรัก

 ดาหลา ดอกไม้ขนาดใหญ่รูปทรงแปลกตา สีสดใส มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น  จะออกดอกตลอดปี และจะให้ดอกมากในฤดูร้อน  ดาหลาเป็นไม้ล้มลุก มีหน่อเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นเหมือนพืชจำพวกขิง ข่า ใบเป็นรูปหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อ แทงก้านดอกจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับซ้อนกันหลายชั้น มีสีชมพู สีบานเย็น สีขาว สีแดง  สีแดงเข้ม และมีดอกใหญ่ กลีบที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้น

นอกจากดาหลาดอกใหญ่ๆ ที่เคยเห็นแล้ว ยังมีดอกดาหลาป่าด้วยนะคะ ซึ่งลักษณะก็คล้ายๆ กัน แต่ดอกดาหลาป่าจะดอกเล็กกว่า

ดาหลา นอกจากจะสวยแล้วยังมาทำเป็นอาหารได้อีกด้วยนะคะ


สายพันธุ์

  • ดอกสีแดง ได้แก่ พันธุ์บัวแดงใหญ่ พันธุ์แดงอินโด พันธุ์ตรัง 3
  • ดอกสีแดงเข้ม ได้แก่ พันธุ์ตรัง 5
  • ดอกสีชมพู ได้แก่ พันธุ์บานเย็น พันธุ์ตรัง 4
  • ดอกสีขาว ได้แก่ พันธุ์ตรัง 1
  • ดอกสีบานเย็น ได้แก่ พันธุ์ตรัง 2



ส่วนนี่เป็นดาหลาที่บ้านค่ะ เพื่อนส่งมาให้ตั้งแต่ สิงหาคม 2564
ผ่านมา 1 ปีแล้วต้นขึ้นสูงเกือบเท่าคนปลูกเลย
แต่ยังไม่ออกดอกเลยค่ะ
เพราะว่าปลูกในกระถาง ที่อยู่ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์
ก็เลยไม่มีพื้นที่ให้ปลูก
ดาหลาถ้าจะให้ดีต้องปลูกลงดินนะคะ
จะต้นใหญ่ โตไว แล้วก็แข็งแรงค่ะ
ตอนนี้ก็ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะออกดอกให้ชมสักทีนะคะ 









 
 


 

 

 
 
 
 

 
 
 

 
 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง