พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะยังทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือพระราชโอรสพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 5 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่เป็นพระองค์ที่ 3 ที่ได้ประสูติเป็นพระองค์ เสด็จพระราชสมภพในรัชกาลที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ เนื่องมาจากในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[5] โดยมีคุณหญิงนก (ไม่ทราบสกุล) เป็นพระพี่เลี้ยง[6] พระองค์มีพระโสทรเชษฐารวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าราชกุมาร (สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ) เจ้าฟ้ามงกุฏ (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระองค์เป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อย (เนื่องจากไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม)
ภายหลังพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนบรมราชาภิเษกได้ 10 วัน เจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จตามสมเด็จพระราชบิดามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา 6 เดือน มีการพระราชพิธีโสกันต์อย่างธรรมเนียมสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า[7] หลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อศึกษาศีลธรรมและพระศาสนา เมื่อพระองค์ลาผนวชทรงได้ศึกษาวิชาตามแบบแผนราชสกุลที่จัดให้เจ้านายเรียน โดยพระองค์ทรงศึกษาอักษรสยามในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ร่วมพระอาจารย์เดียวกับสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์
เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม[7] พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หลังจากลาผนวชพระองค์จึงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงรับราชการ
พระองค์ทรงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคต เป็นเหตุให้ข้าไทในเจ้านายต่าง ๆ คาดว่าเจ้านายของตนจะได้รับการสถาปนาที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)) จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังฯ แล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุน เพื่อให้ข้าไทเห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนยศเพียงนั้น จะได้หายตื่น ทรงพระราชดำริเห็นด้วย จึงโปรดให้เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านายรวม 8 พระองค์ด้วยกัน โดยทรงตั้งเจ้าฟ้าพระองค์น้อยเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์[8][9] ได้รับสุพรรณบัฏในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2375[10] ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 24 พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบแขก อาสาจาม
พระเจ้าแผ่นดินที่ 2
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง[11] เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหล่าขุนนางมาประชุมพร้อมกันแล้วกราบทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ[12] เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ทรงพระปรีชารอบรู้กิจการต่าง ๆ มีผู้ใหญ่ผู้น้อยนิยมนับถือมาก สมควรที่จะพระราชทานยศใหญ่กว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน ๆ[13] แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ ยังไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏตั้งพระนาม ทำให้ไม่มีพระนามเดิม ดูเป็นการต่ำทรามไป จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏตั้งพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ชั้นหนึ่งก่อน[14] แล้วจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏในการพระราชพิธีบวรราชาภิเษกในวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า
"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ มหันตวรเดโช ไชยมโหฬารคุณอดุลยเดช สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนารถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทรสูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทรบวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตน ไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัตปดลเศวตฉัตร สิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชอัชฌาสัยและพระปรีชาสามารถ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยต่างจากพระเชษฐามาก เพราะฝ่ายแรกชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ส่วนฝ่ายหลังค่อนข้างเงียบขรึม ฉะนั้นจึงมักโปรดในสิ่งที่ไม่ค่อยจะตรงกันนัก แต่ถ้าเป็นความสนิทสนมส่วนพระองค์แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทำอะไรก็มักนึกถึงพระราชอนุชาอยู่เสมอ เช่น คราวหนึ่งเสด็จขึ้นไปปิดทองพระพุทธรูปใหญ่วัดพนัญเชิง ก็ทรงปิดเฉพาะพระพักตร์ เว้นพระศอไว้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงปิดต่อ นอกจากนี้ทั้ง 2 พระองค์ ก็ทรงล้อเลียนกันอย่างไม่ถือพระองค์ และส่วนมากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเป็นฝ่ายเย้าแหย่มากกว่า
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษกับเซอร์จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้ากรุงสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนามปรากฏอยู่ในประกาศในอารัมภบทให้ดำเนินการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล ในด้านการ ต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงทราบพระราชหฤทัยดีว่า ถ้าหากทรง ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวแล้วไซร้ ไทยเราจะเสียประโยชน์ ส่วนบรรดาฝรั่งที่รู้จักมักคุ้นกับวังหน้ามักจะยกย่องชมเชยว่า ทรงเป็นสุภาพบุรุษเพราะพระองค์มีพระนิสัยสุภาพ โดยเฉพาะกับพระราชชนนี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ด้วยแล้ว ทรงแสดงความเคารพเกรงกลัวเป็นอันมาก
นอกจากนี้โปรดการท่องเที่ยวไปตามหัวบ้านหัวเมือง ทั้งเหนือและใต้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง อยู่เนือง ๆ กล่าวกันว่า มักเสด็จไปประทับตามถิ่น ที่มีบ้านลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวงนครไชยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่เสด็จไปประทับที่ตำหนัก บ้านสีทา จังหวัดสระบุรีเสียโดยมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว พระองค์ได้เคยเสด็จไปเที่ยวประพาสตามหัวเมือง ต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิสเรศรังสรรค์แล้ว เพราะทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า การเสด็จประพาสหัวเมืองเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยสามารถทรงทราบทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนได้เป็น อย่างดีซึ่งดีกว่ารายงานในกระดาษมากนัก
พระราชกรณียกิจด้านการทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระราชหฤทัยในวิชาการด้านจักรกลมาก และเพราะเหตุที่พระองค์โปรดการทหาร จึงทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นพิเศษ เท่าที่ค้นพบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์นั้น ก็มักจะทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร และเป็นเครื่องแบบทหารเรือด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีการบันทึกพระราชประวัติในส่วนที่ทรงสร้างหรือวางแผนงานเกี่ยวกับกิจการทหารใด ๆ ไว้บ้างเลย แม้ในพระราชพงศาวดาร หรือในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็ไม่มีการบันทึกผลงานพระราชประวัติในส่วนนี้ไว้เลย และแม้พระองค์เองก็ไม่โปรดการบันทึก ไม่มีพระราชหัตถเลขา หรือมีแต่ไม่มีใครเอาใจใส่ทอดทิ้ง หรือทำลายก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีงานเด่นที่มีหลักฐานทั้งของฝรั่งและไทยกล่าวไว้ แม้จะน้อยนิดแต่ก็แสดงให้เห็นถึงการริเริ่มที่ล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ผลงานนั้นคือการทหารเรือของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)) ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้น เป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น
ต่อมาได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือวังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้ง 2 ฝ่าย นี้ ไม่ขึ้นแก่กันแต่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และ ยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไร สู่แผ่นดินด้วยมิใช่สร้าง แต่เรือรบเพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงนำเอาวิทยาการ สมัยใหม่ของยุโรป มาใช้ฝึกทหารให้มีสมรรถภาพเป็นอย่างดี ทรงให้ร้อยเอก โทมัส น็อกส์ (Thomas George Knox) เป็นครูฝึกทหารวังหน้า ทำให้ทหารไทยได้รับวิทยาการอันทันสมัยตามแบบ ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป
การฝึกหัดใช้คำบอกทหารเป็น ภาษาอังกฤษทั้งหมดเริ่มมีเรือรบกลไฟเป็นครั้งแรก ชื่อเรืออาสาวดีรส3 และเรือยงยศอโยชฌิยา4 (หรือยงยศอโยธยา) ซึ่งเมื่อครั้งเรือยงยศอโยชฌิยา ได้เดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ก็ได้รับคำชมเชยจากต่างประเทศเป็นอันมาก ว่าพระองค์มี พระปรีชาสามารถทรงต่อเรือได้ และการเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงไทยในต่างประเทศ ธงไทยได้ถูกชัก ขึ้นคู่กับธงอังกฤษ ที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย และแม้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ก็โปรด ฯ ให้เป็นทหารเรือเช่นกัน ประวัติของเรือที่พระองค์ทรงมีใช้ในสมัยนั้น ตามที่พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือ ประวัติทหารเรือไทย มีดังนี้
- เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Barque) ขนาด 200 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ 10 กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
- เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน
- เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 300 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. 2387 ได้นำสมณทูตไปลังกา
- เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2386 เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 200 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด 400 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์
เกียรติประวัติของการทหารเรือไทยสมควรจะต้องยกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เป็น ผู้ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีเรือรบต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ประเทศไทยคราวใดพระองค์ก็มักหาโอกาสเสด็จไปเยี่ยมเยียนเรือรบเหล่านั้นเสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเรือรบต่าง ประเทศเขาตกแต่งและจัดระเบียบเรือกันอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้กับเรือรบของไทยในเวลาต่อมา
จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำในเรื่องเรือสมัยใหม่ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเหล็กจะลอยน้ำได้แต่พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏ ทรงต่อเรือรบ กลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจนสามารถติดต่อ กับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีพระสหาย และพระอาจารย์ เป็นชาว อเมริกันเสียเป็นส่วนมากทรงหมกมุ่นกับกิจการทหารเรือมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็น ผู้บัญชาการ ทหารเรือ พระองค์แรก และควรถวายพระนามว่า ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า สมควรได้รับการถวายพระเกียรติยศขั้นสูงสุด จากชาวกองทัพเรือ ตั้งแต่นี้และตลอดไป
สวรรคต
หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2409) สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2409[16] โดยมีการจัดการแห่พระเมรุมาศพระบรมศพเช่นเดียวกับพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นหลายประการตามพระยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2[17]
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเสนอพระองค์เจ้ายอดยิ่งเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นเพียงแค่ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เท่านั้น ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น