รื่นรื่นชื่นกลิ่นผกามาศ | บุปผชาติลมชายไม่หายโหย |
พระหอมกลิ่นสุกรมเมื่อลมโชย | ยิ่งดิ้นโดยกรมจิตคิดรำจวน |
เห็นนางนกกกลูกประคองกอด | สะท้อนทอดหฤทัยอาลัยหวน |
เหมือนแม่เจ้าคราวกอดถนอมนวล | เลี้ยงสงวนลูกไว้ไม่ไกลกาย |
ลักษณ์วงศ์ เป็นนิทานหนึ่งในห้าเรื่อง ที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ได้แก่ โคบุตร
พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไตรภพ
เรื่องลักษณวงศ์นี้ สุนทรภู่ได้แต่งไว้ตั้งแต่ต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แล้วมาแต่งต่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีความยาวถึง 9 เล่มสมุดไทย (เป็นสำนวนที่ผู้อื่นแต่งต่ออีก 30 เล่ม) นับว่าเป็นเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง รองจากพระอภัยมณี และสิงหไตรภพ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อเมื่อคราวตกยาก หลังจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ และสุนทรภู่สึกจากพระครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นมีผู้อื่นแต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อไปอีก เป็นกลอนสุภาพอีก 7 เล่มสมุดไทย แล้วต่อด้วยบทละครอีก 23 เล่มสมุดไทย รวมเป็น 39 เล่มสมุดไทย แต่สำนวนกลอนในตอนหลังเทียบกับสุนทรภู่ไม่ได้เลย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่
เรื่องย่อ
กษัตริย์ผู้ครองเมืองพาราณสีพระนามว่าท้าวพรหมทัต มีมเหสีทรงพระสิริโฉมงดงามพระนามว่าสุวรรณอำภา และพระโอรสพระนามว่าลักษณวงศ์ พระชันษาได้ ๘ ปี วันหนึ่งทั้งสามพระองค์เสด็จประพาสป่า นางยักขิณีคิดกำจัดมเหสีและพระโอรส จึงแปลงเป็นกวางทองมาล่อให้ท้าวพรหมทัตไล่ติดตามจนพลัดกับเหล่าเสนา แล้วกลับร่างเป็นยักษ์ แกล้งบอกว่าพระมเหสีวางอุบายให้ลวงมาฆ่า แล้วนางยักขิณีแปลงเป็นนางงาม อ้างว่าได้รับพรจากเทพยดา พวกยักษ์และผีป่าจึงเกรงกลัว พร้อมทั้งอาสาไปส่งจนถึงเมือง
ท้าวพรหมทัตโกรธแค้นนางสุวรรณอำภาเป็นอันมากจึงตรัสสั่งให้นำไปประหาร ลักษณวงศ์อ้อนวอนขออภัยโทษให้แก่พระมารดาแต่ไม่โปรด จึงเศร้าโศกเสียพระทัยและติดตามพระมารดาไปถึงสถานที่ประหาร ทรงกอดนางไว้ไม่ห่างทำให้เพชฌฆาตไม่อาจประหารได้ ด้วยความสงสารจึงพากันไปกราบทูลท้าวพรหมทัต แต่พระองค์กลับสั่งให้ประหารลักษณวงศ์ไปเสียด้วยกัน ครั้นพระอินทร์ทรงทราบก็เสด็จลงมาช่วย บันดาลให้เพชฌฆาตเงื้อดาบค้างไม่อาจฟันลงได้ เพชฌฆาตจึงปล่อยทั้งสองพระองค์ให้หนีไปในป่า แล้วกลับมากราบทูลท้าวพรหมทัตว่าได้ประหารเสร็จแล้ว ท้าวพรหมทัตจึงเสด็จกลับเมืองพร้อมด้วยนางยักษ์แปลง ได้นางเป็นมเหสี มีพระธิดาพระนามว่าทัศโกสุม
ฝ่ายนางสุวรรณอำภากับพระลักษณวงศ์เดินทางระหกระเหินจนอ่อนกำลัง ขณะบรรทมหลับ ท้าววิรุญมาศขุนยักษ์มาพบและบังคับนางสุวรรณอำภาไปเมืองมยุราเพื่อเป็นมเหสีของตน โดยขู่ว่าหากไม่ยอมไป จะสังหารลักษณวงศ์ซึ่งต้องมนตร์สะกดหลับสนิทอยู่ นางจึงจำใจเดินทางไปกับขุนยักษ์ เมื่อตั้งสัตย์อธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไม่ขอมีพระสวามีอื่นอีก ทำให้ประเวณีในร่างกายของนางหายไป แต่นางลวงท้าววิรุญมาศให้หลงเชื่อว่า เมื่อนางคลายความห่วงอาลัยในพระโอรสลงแล้วก็คงจะได้สมความปรารถนา ท้าววิรุญมาศดีพระทัย จึงสั่งให้เหล่านางกำนัลเฝ้าดูแลปรนนิบัตินางสุวรรณอำภาเป็นอย่างดี
ส่วนลักษณวงศ์ตื่นขึ้นไม่เห็นพระมารดา ก็เที่ยวร้องเรียกหาและออกติดตามจนพบนางทิพเกสรที่อาศรมพระฤๅษีมหาเมฆ พระฤๅษีเล็งญาณรู้ว่าลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรเป็นคู่สร้างกัน แล้วบอกลักษณวงศ์ให้ทราบเหตุที่เกิดกับพระบิดาและพระมารดา พร้อมทั้งชวนให้อยู่เรียนวิชาและเวทมนตร์ต่าง ๆ เมื่อลักษณวงศ์เล่าเรียนและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงขอลาไปช่วยพระมารดา โดยสัญญาว่าเสร็จธุระแล้วจะกลับมารับนางทิพเกสร พระฤๅษีจึงให้พระขรรค์และศรเป็นอาวุธประจำกาย พร้อมทั้งเสกขึ้ผึ้งเป็นม้าทรงสำหรับเหาะเหินเดินทางได้รวดเร็ว ลักษณวงศ์ไปช่วยพระมารดาได้สำเร็จ สามารถสังหารท้าววิรุญมาศและได้ครองเมืองมยุรา แต่ยังมารับนางทิพเกสรไม่ได้ เพราะพระมารดาขอร้องให้ไปปราบนางยักษ์ที่เมืองพาราณสีก่อน
ลักษณวงศ์พร้อมด้วยพระมารดากรีธาทัพยักษ์ไปล้อมเมืองพาราณสี นางยักษ์แปลงอาสาออกรบ เมื่อเหล่าเสนาไล่จับจึงกลับร่างเป็นยักษ์และถูกจับได้ ท้าวพรหมทัตดีพระทัยที่ได้พบนางสุวรรณอำภาและพระลักษณวงศ์ ตรัสสั่งให้นำนางยักษ์ไปถ่วงทะเล แล้วให้จัดการสมโภชทั้งสองพระองค์ และปกครองเมืองพาราณสีอย่างสงบสุขสืบมา
ฝ่ายนางทิพเกสรเฝ้ารอลักษณวงศ์มารับจนกระทั่งพระฤๅษีวายชนม์ นางเศร้าโศกเพราะขาดที่พึ่งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย กินรีห้านางผ่านมาจึงช่วยไว้แล้วพาไปอยู่ด้วยกันที่ถํ้า เมื่อลักษณวงศ์เดินทางมารับที่พระอาศรมจึงไม่พบใคร แต่นางกินรีน้องสุดท้องช่วยพาไปพบนางทิพเกสรและได้นางเป็นพระชายา รวมทั้งได้ร่วมภิรมย์กับนางกินรีทั้งห้าด้วย หลังจากนั้นลักษณวงศ์พานางทิพเกสรเดินทางกลับเมืองพาราณสี เมื่อพักบรรทมระหว่างทาง มหิงสาวิชาธรมาลักพานางไป แล้วจันทาวิชาธรต่อสู้ช่วงชิงจนต้องอาวุธสิ้นชีพทั้งคู่ นางทิพเกสรต้องเดินทางในป่าเพียงลำพัง เทพยดาสงสารเกรงว่าจะได้รับอันตรายเพราะเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว จึงแปลงเป็นพราหมณ์นำแหวนมาให้สวมใส่ ทำให้ร่างกายของนางเปลี่ยนเป็นพราหมณ์น้อย หากถอดแหวนก็จะกลับร่างเป็นสตรีตามเดิม พร้อมทั้งบอกทิศให้นางเดินทางไปตามหาลักษณวงศ์
ด้านลักษณวงศ์เมื่อมนตร์สะกดคลายก็ตื่นขึ้น ครั้นไม่พบนางทิพเกสรก็เฝ้าแต่เศร้าโศก เที่ยวตามหาไปจนถึงเมืองยุบลของท้าวกรดสุริกาล ได้พระธิดายี่สุ่นเป็นมเหสีและครองเมืองยุบล ฝ่ายนางทิพเกสรทรงครรภ์ แต่รูปเนรมิตของพราหมณ์พรางไว้จึงมองไม่เห็น นางเดินทางตามหาลักษณวงศ์จนเข้าเขตเมืองยุบล ได้พบพรานป่าคนหนึ่ง บอกให้รู้ข่าวลักษณวงศ์เป็นกษัตริย์เมืองยุบลและได้มเหสีองค์ใหม่ นางทิพเกสรเสียพระทัยมากและขอให้นายพรานพาเข้าถวายตัว เมื่อลักษณวงศ์เห็นพราหมณ์เกสรมีรูปร่างหน้าตาและนํ้าเสียง อีกทั้งชื่อคล้ายกับนางทิพเกสรก็สงสัย ส่วนพราหมณ์เกสรนั้นเฝ้ารับใช้ใกล้ชิด จนเป็นที่โปรดปรานมาก ทำให้ลักษณวงศ์ห่างเหินจากนางยี่สุ่นและเหล่าสนมกำนัลทั้งหลาย นางยี่สุ่นอิจฉาพราหมณ์เกสรจึงคิดอุบายใส่ความว่าพราหมณ์ทำกิริยาเชิงชู้สาวกับตน ลักษณวงศ์หลงเชื่อโดยไม่ไต่สวนความให้ถ้วนถี่ ตรัสสั่งให้นำพราหมณ์เกสรไปโบยและจองจำแล้วประหารชีวิต เมื่อเพชฌฆาตลงดาบประหาร ร่างพราหมณ์เกสรกลับเป็นนางงามและคลอดพระโอรส ลักษณวงศ์ทราบเรื่องจึงรีบเสด็จไปที่ลานประหาร ครั้นเห็นว่าเป็นนางทิพเกสรก็เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดประมาณจนสลบไป ครั้นสร่างโศกแล้วจึงสั่งให้เคลื่อนพระศพเข้าเมือง และจัดพิธีถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น