พระเป็นเจ้าแม่กุ (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พงศาวดารโยนก) พญาเมกุ หรือเจ้าขนานแม่กุ ส่วนพม่าเรียกว่า ยูนบะหยิ่น พระสัง, พระสังข์ หรือ พระสาร เป็นอดีตเจ้านายเมืองนาย และเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ผู้สืบเชื้อสายมาจากพญามังราย ภายหลังอาณาจักรล้านนาได้พ่ายแพ้แก่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง พระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงถูกนำไปเป็นองค์ประกันในพม่าก่อนพิราลัยที่นั่นด้วยโรคบิด
การพิราลัยด้วยพระโรคบิดของพระองค์นั้น ทางคติพม่าถือว่าเป็นการตายร้าย น่าสังเวชเวทนา จึงกลายเป็นนัตตระกูลสูงหนึ่งจากทั้งหมดสามสิบเจ็ดตน พระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในรูปลักษณ์ของนัตมีลักษณะคือ ประทับนั่งชันพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาถือพระแสงดาบพาดพระอังสาเบื้องขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุซ้าย
พระชนม์ชีพตอนต้น
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ มีพระนามเดิมว่าท้าวแม่กุ พระราชประวัติในช่วงต้นแทบไม่ปรากฏเลย ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมเป็นเจ้านายจากเมืองนายในหัวเมืองเงี้ยวซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏพระนามพระราชชนก ทราบแต่เพียงว่าพระราชชนกนั้นสืบเชื้อสายมาจากขุนเครือ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพญามังรายที่ไปครองเมืองนาย อันเป็นดินแดนที่มีชาวไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังขุนเครือทรงพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพญาไชยสงครามพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ และถูกเจ้าน้ำท่วมสังหารในเวลาต่อมา บางแห่งก็ว่ายึดสำเร็จ แต่ภายหลังถูกจับได้ จึงถูกขังไว้จนถึงแก่กรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองนายจะมีเจ้านายเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านนา ทว่าเมืองนายคุกคามเมืองเชียงใหม่ในบางโอกาส บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของล้านนาในช่วงเวลาที่ล้านนารุ่งเรือง
ส่วนพระราชชนนีของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็ไม่ปรากฏพระนามเช่นกัน แต่พระราชชนนีนี้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ครองล้านนา ปรากฏพระนามในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า "พระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า" ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระราชชนนีของพระองค์คือพระนางวิสุทธิเทวี ที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์หลังถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า
ใน พระราชพงศาวดารพม่า ระบุว่า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือพระสารเป็นพระราชโอรสของพญาขยัน และเป็นพระราชนัดดาสอนะยัต (พญายอดเชียงราย) ซึ่งพญาขยันเสวยราชย์ก่อนพระอนุชาเมืองอี (พระเมืองแก้ว) ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ว่าพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้วกับพระนางวิสุทธิเทวี และกล่าวว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองนาย
เสวยราชย์
ก่อนหน้านี้อาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านช้างและกลายเป็นรัฐเครือญาติกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างนางยอดคำพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้า กับพระยาโพธิสารราชพระเจ้าล้านช้าง มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือเจ้าเชษฐวงษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอุปโยวราช เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จสวรรคต ล้านนาเกิดกลียุคมีสงครามยาวนาน พระนางจิรประภาเทวีจึงเสวยราชย์ ช่วงนั้นได้เกิดกบฏชาวไทใหญ่และการรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทั้งขุนนางแห่งล้านนาเองก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์เสียด้วย ล้านช้างที่ขณะนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจึงเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือล้านนาจนฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ไป พระยาโพธิสาลราชในฐานะผู้ปกป้องล้านนาจึงมีความชอบยิ่งนัก ได้นำพระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวงษ์ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพญามังรายทางฝ่ายมารดาขึ้นครองล้านนา มหาเทวีจิรประภาสละราชสมบัติให้พระอุปโยวราชครองราชย์ในปี พ.ศ. 2089 ทรงพระนาม พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะ
ครั้นในปี พ.ศ. 2090 พระยาโพธิสาลราชสวรรคตกะทันหัน พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะเสด็จกลับไปครองราชย์ล้านช้างในปีนั้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และได้นำมหาเทวีจิรประภาและพระแก้วมรกตไปล้านช้างด้วย อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์และเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางกลุ่มต่าง ๆ ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง สุดท้ายขุนนางล้านนามีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทน ซึ่งจากจารึกวัดเชียงสา จะพบว่าเนื้อหาเขียนว่าพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนล้านช้างเสียด้วย
หลังพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ได้ไม่ช้านานนัก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ขณะนั้นได้เสวยราชย์ครองล้านช้างแล้วไม่พอพระราชหฤทัย ที่ขุนนางล้านนาอัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์มาเสวยราชย์โดยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิทรงเห็นชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา
ใต้การปกครองของพม่า
ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด การเมืองภายในของล้านนาเกิดความแตกแยก หัวเมืองล้านนาพยายามปลีกตัวเป็นอิสระ และโดดเดี่ยวเมืองเชียงใหม่ ไม่มีหัวเมืองใดส่งกำลังพลมาช่วยรบกับพม่า พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ ความว่า
"ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ [พ.ศ. 2101] พระองค์ [พระเจ้าบุเรงนอง] ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น คือ ประเทศเงี้ยว [รัฐชาน] ประเทศลาวญวน [ยวนหรือโยนกคือล้านนา] เชียงใหม่แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ [พระเมกุฏิสุทธิวงศ์] เข้ายอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม..."
ส่วนใน พงศาวดารโยนก ก็ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงตั้งพิธีราชาภิเษกแก่พระเมกุฏิเช่นเดียวกัน หากแต่ยังคงกองกำลังไว้รั้งเมืองเชียงใหม่ ความว่า
"...สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ตั้งพิธีราชาภิเษกสรงพระเมกุฏิให้เป็นพระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามเดิม ให้พระยาสุรโยธานายทัพ ๑ พระยาจักรวุฒิ ขุนเมืองซังเหยียบเป็นปลัดทัพ ๑ ขุนเมืองมรวดีเป็นยกกระบัตรทัพ ๑ ถือพลหมื่นอยู่รั้งเมืองเชียงใหม่กับพระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่..."
ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์ และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ
ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป
ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสน กับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ ดังปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า
"...สกได้ ๙๒๖ ตัว เจ้าท้าวแม่กุฟื้น [กบฏ] เจ้าเปิงภวะมังทราฟ้าหงสา [พระเจ้าบุเรงนอง] ฟ้ามังทรายกริพลมาคุมเอาเชียงใหม่ได้ ลวดเอาเจ้าท้าวแม่กุเมือไว้เสียเมืองหงสา ไว้นางวิสุทธเทวีกินเมืองแทนหั้นแล..."
หลังจากนั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงได้รับพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับอยู่ภายในราชธานีหงสาวดี ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)
"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."
หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า
"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงนามพระวิสุทธิเทวี ขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ประทับอยู่ในพระตำหนักขาวในหงสาวดี จนกระทั่งพิราลัยด้วยพระโรคบิด
พระราชกรณียกิจ
เศรษฐกิจ
อาณาจักรล้านนามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางอันยาวนาน ทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มาจากการรุนรานของรัฐที่เข้มแข็งกว่า สภาพเศรษฐกิจในรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ปรากฏในพับสาเรื่องประวัติศาสตร์ กฎหมายโบราณ ต้นฉบับของวัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยอธิบายไว้ว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล)
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของล้านนาค่อย ๆ เสื่อมทรามและทรุดลงตามลำดับ เนื่องจากปัญหาค่าเงินตกต่ำหรือที่เรียกว่าการ "ลัดเบี้ยลง" คือการลดค่าเงิน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งย่ำแย่มาตั้งแต่รัชกาลพระเมืองแก้ว เรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถือว่าเศรษฐกิจล้านนาอยู่ในระดับหายนะขั้นสุด
และหลังพระเมกุฏิถูกถอดจากราชบัลลังก์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกส่งไปเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักหงสาวดี บรรดาเจ้าเมืองในล้านนาที่เคยครอบครองไพร่และส่วยอากรจึงถูกดึงรายได้ และแรงงานท้องถิ่นก็ถูกใช้ในกิจการของพม่า
การศาสนา
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ และในจารึกจุลคิรีระบุว่าพระองค์เป็น "ธรรมิกราชาธิราช"
ใน ตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึงปี พ.ศ. 2099 ว่าพระองค์และพระราชชนนีได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏความว่า
จากตำนานดังกล่าวก็สอดรับกับจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. 2099 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระราชชนนีอัญเชิญพระมหาธาตุเจ้าจอมทองไปประดิษฐาน ณ หอบาตรในพระราชวัง และมีพระราชบัญชาให้รวบรวมข้าพระจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปดูแลพระมหาธาตุจอมทอง
นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ถวายที่ดินและข้าพระแก่วัดเชียงสา ทำนุบำรุงพระธาตุบนดอยน้อยที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ และอุทิศข้าพระแก่อารามป่าญางเถียงแซง เป็นต้น
การต่างประเทศ
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงแต่งตั้งพระยากัมพล (พระยารัตนกัมพล) ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนแทนพระยาคำหมู่ ขุนนางล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงแต่งตั้งไว้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2097 ทำให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยและยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน
นอกจากนี้ทรงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายจากเมืองนาย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย ดังในปี พ.ศ. 2098 ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างทรงยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนของล้านนา เจ้าฟ้าเมืองนายก็ทรงช่วยรบที่เมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ. 2100 เจ้าฟ้าเมืองนายถูกทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้าล้อม พระเมกุฏิก็ทรงช่วยด้วยการส่งอาวุธและกองกำลังไปช่วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น