แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิทานเวตาล แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิทานเวตาล แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๕ เรื่องของพระเจ้าติรวิกรมเสน กับเวตาล

นิทานเรื่องที่
๒๕

พระราชาตริวิกรมเสน ทอดพระเนตรเห็นโยคีศานติศีล ก็เดินตรงเข้าไปหา ทรงพาดศพไว้บนอังสา ทรงเหลือบดูโดยรอบก็พบว่าโยคีผู้นั้นนั่งอยู่โคนต้นไม้แต่ลำพังในสุสาน ซึ่งดูอึมครึมในค่ำคืนอันมืดสนิทเพราะเป็นกาฬปักษ์ ท่าทางโยคีผู้นั้นดูกระวนกระวาย แสดงว่ากำลังคอยการมาถึงของพระองค์อยู่ ที่นั่งของฤษีชั่วผู้นี้อยู่ในวงมณฑลสีเหลือง ซึ่งป่นเป็นผงจากกระดูกที่ป่นแล้วบนพื้นดิน ละเลงด้วยเลือดสีแดงสด และมีเลือดในโถอีกสี่ใบซึ่งตั้นงอยู่ประจำทิศทั้งสี่ มีตะเกียงที่ใช้มันสมองมนุษย์เป็นน้ำมันหล่องเลี้ยงสะบัดแสงวับแวม และใกล้ ๆ กันนั้นมีกองกูณฑ์สำหรับเผาเครื่องสังเวย ซึ่งมีอยู่เต็มที่ถูกต้องตามลักษณะยัชญพิธีสำหรับฤษีใช้พลีแก่เทพผู้เป็นที่โปรดปรานของตน

พระราชาเสด็จตรงเข้าไปที่โยคีศานติศีล เมื่อโยคีเห็นพระราชานำศพมาให้ตามต้องการก็ลุกขึ้นยืนต้อนรับด้วยความยินดี และกล่าวสัมโมทนียกถาขึ้นว่า “สาธุ มหาราชะ พระองค์สู้อุตส่าห์นำของที่ข้าต้องการมาให้ด้วยความยากลำบาก เป็นความจริงโดยแท้ที่ใคร ๆ เขาพากันสรรเสริญพระองค์ว่าเป็นพระราชาอันประเสริฐ เป็นผู้กล้าหาญซึ่งไม่มีใครสามารถหักได้ พระองค์เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัวเอง แลเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง นักปราชญ์กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษอยู่ที่ว่า เขาไม่เคยย่อท้อต่องานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ เขามุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่ตกอยู่ในอันตราย”

โยคีกล่าวคำพูดอย่างนี้ เพราะมีความอิ่มอกอิ่มใจว่า ตนกำลังจะบรรลุผลสุดท้ายในสิ่งอันปรารถนาสูงสุดแล้ว จึงนำศพลงจากอังสาของพระราชา เอาศพไปอาบน้ำ แล้วเอาน้ำมันจันทน์และของหอมต่าง ๆ มาชโลมร่างจนทั่ว เอาพวงมาลาคล้องคอศพนั้น แล้วเอาศพไปวางไว้ในเขตวงกลมบนพื้นดิน จากนั้นโยคีก็แต่งตัวตนเอง เอาขี้เถ้ากระดูกผีมาทาตามร่าง แล้วสวมสายยัชโญปวีตที่ทอจากเส้นผมมนุษย์ จากนั้นก็นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย สำรวมจิตตั้งสมาธิ ร่ายมนตร์เรียกเวตาลให้เข้ามาสิงในซากศพ และทำการบูชาด้วยการมอบบาตรอันมีค่ามาก (อรรฆบาตร) ให้ ในบาตรนั้นใส่ฟันผี ซึ่งติดมากับหัวกะโหลก และบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องหอมต่าง ๆ จากนั้นก็มอบดวงตามนุษย์ให้ และสังเวยเวตาลด้วยเนื้อสด ๆ ของมนุษย์ เมื่อเสร็จพิธีสังเวยแล้วโยคีทุศีลก็กล่าวแก่ท้าววิกรมาทิตย์ซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า “เจ้าจงนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น แสดงการเคารพด้วยอัษฎางคประดิษฐ์ต่อจอมราชันแห่งมหาเวทผู้มาสถิตอยู่ ณ ที่นี้ และเพื่อท่านจะได้เมตตาประทานพรแก่เจ้า ให้มีความสมปรารถนาตามใจที่เจ้าคิดทุกประการ”

เมื่อราชาได้ยินดังนี้ ทรงรำลึกถึงถ้อยคำของเวตาลที่สั่งเอาไว้ จึงกล่าวแก่โยคีว่า “ข้าแต่ท่านสาธุคุณ ข้าไม่รู้จักการทำอัษฎางคประดิษฐ์ ขอท่านจงทำให้ข้าดูก่อน เพื่อข้าจะได้ทำอย่างถูกต้อง” โยคีได้ฟังก็ทอดตัวลงนอนคว่ำด้วยลักษณะอัษฎางคประดิษฐ์ แสดงลักษณะอวัยวะแปดส่วนแนบพื้นดินให้ดู พระราชาเห็นได้ทีก็ถอดพระแสงดาบจากฝัก ฟันคอโยคีขาดกระเด็นไปในชั่วพริบตา จากนั้นพระราชาทรงผ่าอกโยคี ล้วงเอาหัวใจอันเป็นดอกบัวจากอกออกมา และมอบศีรษะกับหัวใจของโยคีร้ายให้เป็นรางวัลแก่เวตาล

ทันใดนั้นก็มีเสียงโห่ร้องกึกก้องของปีศาจทั้งปวงจากทุกทิศทุกทาง แสดงความยินดีแก่พระราชาผู้กำจัดนักพรตชั่วร้ายให้สิ้นชีวิตไป นำอิสรภาพมาสู่ภูตผีปีศาจอีกครั้งหนึ่ง เวตาลผู้สิงอยู่ในร่างศพก็กล่าวแก่พระราชาว่า “มหาราชัน เจ้าโยคีทุศีลมันทำทุกวิถีทางเพื่อหวังเป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธร แต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนพระองค์สิจะได้ตำแหน่งนั้นโดยความดีของพระองค์เอง ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัยแล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด”

พระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังคำพูดของเวตาล ก็แย้มพระสรวล ตรัสว่า “เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้” เมื่อเวตาลประสิทธิ์ประสาทวัจนะดังกล่าวนี้แล้วก็ออกจากศพและหายวับไปด้วยมายาเวท ไปสู่ที่อันพึงปรารถนา

พระศิวะเป็นเจ้าเมื่อทรงฟังนิทานกถาของเวตาลจบลง ทรงพอพระทัยมาก จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฎ แวดล้อมด้วยเหล่าเทพทั้งปวง เพื่อให้พระราชาได้เห็นประจักษ์แก่ตา และตรัสแก่พระราชาผู้น้อมคารวะอยู่เบื้อหน้าว่า “ดีจริง ลูกของข้า สำหรับความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของลูกที่สามารถสังหารอ้ายโยคีทุศีลลงได้ มันใฝ่ฝันนักหนาที่จะได้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย นานมาแล้ว ข้าได้สร้างเจ้าขึ้นมาจากอนุภาคของตัวข้าเองให้เจ้าเป็นวิกรมาทิตย์ (ผู้กล้าหาญดังดวงอาทิตย์) เพื่อให้เจ้าได้ปราบปรามพวกอสูรร้ายซึ่งพากันมาเกิดในรูปของคนเถื่อน (มเลจฺฉ) และในวันนี้เจ้าก็ปรากฎให้ข้าเห็นในรูปของนักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยแท้ในนามของตริวิกรมเสน เพื่อปราบปรามอาณาจักรต่าง ๆ และทวีปน้อยใหญ่ให้ราลคาบ และเป็นอธิราชผู้ครองโลกแต่ผู้เดียว หลังจากนั้นจักได้เป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธรทั้งหลายในสวรรค์ และหลังจากที่เจ้าได้ครองสวรรค์มาช้านานจนเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว เจ้าก็จะสละแดนสวรรค์ไปด้วยใจอันแน่วแน่ และในที่สุดเจ้าก็จะได้บรรลุโมกษะ (ความหลุดพ้น) ข้าผู้เป็นพระเจ้า บัดนี้ข้าจะให้ดาบวิชัยยุทธ์แก่เจ้าเพื่อใช้ปราบศัตรูทั้งมวล จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่ข้าว่าไว้”

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสข้อความนี้แก่พระราชาวิกรมาทิตย์แล้ว ก็ยื่นพระแสงดาบอันเรืองเดชให้แก่พระราชาเป็นของขวัญ แล้วอันตรธานไปจากที่นั่น ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสน ทรงเห็นพระราชภารกิจที่ได้รับมากระทำบรรลุผลโดยสมบูรณ์แล้ว หมดเรื่องที่จะต้องทำต่อไปอีก ก็เสด็จกลับคืนนครประดิษฐาน (อุชชยินี) ณ ที่นั่น พระองค์ได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จ และในกาลต่อมามินาน ชนทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังมหานิทานเรื่องที่พระองค์ได้ฟังมาตลอดราตรีที่สุสานอันน่ากลัวนอกพระนครนั้น ตลอดเวลากลางวันต่อมา พระองค์ทรงชำระสระสนานอินทรีย์ด้วยน้ำอันเอามาจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นทรงแจกมหาทานแก่คนทั้งหลายเพื่อบูชาพระศิวะ มีการเต้นรำทำเพลงนานาชนิดอย่างเอิกเกริกทั่วทั้งพระนคร ต่อจากนั้นมินานพระราชาผู้ทรงเทพอาวุธอันเรืองเดช ก็เสด็จออกไปกำราบปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่จนได้แผ่นดินโลก ตลอดจนทวีปใหญ่น้อยทั้งปวงเรื่อยลงไปทางทิศทักษิณ จนจรดมหาสาครที่แหลมกุมารี เมื่อทรงครองแผ่นดินโลกและมหาสาครทั้งเจ็ดแล้ว ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิเจ้าโลก และโดยความโปรดปรานของพระศิวะเป็นเจ้า พระองค์ได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธร เสวยสมบัติโลกและสวรรค์มาช้านาน ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย สละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบำเพ็ญเพียรอย่างสูงสุด ได้บรรลุโมกษธรรม เข้าถึงองค์พระศิวะเป็นที่พึ่ง ก็ได้รวมเข้าสู่องค์พระเป็นเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ชั่วนิรันดร


จบบริบูรณ์

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๔ เรื่องของนางจันทรวดี กับธิดาชื่อ ลาวัณยวดี กับเรื่องขนาดเท้าของนาง



นิทานเรื่องที่
๒๔

พระเจ้าตริวิกรมเสนผู้วีระ หามีความย่อย่นต่อการเดินทางในค่ำคืนที่น่าสะพรึงกลัวไม่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่พำนักของเวตาลนั้นอยู่ในสุสานของรากษสในความมืด ซึ่งมีแสงวอมแวมด้วยเปลวไฟจากเชิงตะกอนที่เผาศพ พระองค์เสด็จฝ่าเข้าไปจนถึงต้นอโศก ลากเวตาลเอาตัวมาพาดบ่าและเสด็จกลับทางเดิม

ระหว่างทางที่เดิน เวตาลซึ่งนั่งบนพาหาของพระราชา ก็ทำลายความเงียบ กล่าวขึ้นว่า “โอ ราชะ ข้าเหนื่อยเต็มทีแล้วที่ต้องกลับไปกลับมาหลายสิบเที่ยวตามพระองค์ จนข้าเบื่อเต็มที เอาเถอะ ข้าจะเล่านิทานถวายอีกสักเรื่องหนึ่งพร้อมกับมีปัญหายาก ๆ มาถาม จงฟังเถิด”

ในเขตที่ราบสูงเดกข่าน มีพระราชาองค์หนึ่งชื่อธรรมะ ครองแคว้นเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เป็นผู้ทรงคุณธรรมเป็นเลิศ แต่พระองค์มีพระญาติหลายพระองค์ซึ่งไม่น่าไว้ใจ มเหสีของพระราชามีนามว่าจันทรวดี ซึ่งเสด็จมาจากถิ่นเดิมของพระนางคือ แคว้นมาลวะ พระนางเป็นผู้มีตระกูลสูง และมีคุณธรรมสูงเช่นเดียวกัน พระราชากับพระราชินีมีพระธิดาด้วยกันองค์หนึ่ง นามว่าเจ้าหญิงลาวัณยวดี เมื่อพระธิดามีอายุสมควรแก่การอภิเษกสมรส แต่ยังไม่ทันทำพิธีนั้น พระญาติวงศ์ก็ก่อการกบฏยึดราชอาณาจักรของพระราชาไปแบ่งปันกัน พระราชาพร้อมด้วยมเหสีและราชธิดา เสด็จหนีออกจากเมือง พร้อมกับเอาแก้วแหวนเงินทองของมีค่าติดพระองค์ไปด้วย พระราชาทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปสู่แคว้นมาลวะ อันเป็นที่อยู่ของพระบิดาของพระมเหสี พระราชาพร้อมด้วยครอบครัวเดินทางไปตลอดคืนก็บรรลุถึงป่าเชิงเขาวินธัย พอดีเป็นเวลารุ่งสาง พระสูรยาทิตย์ก็ขึ้นสู่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ฉายรัศมีเป็นแฉก ประหนึ่งหัตถ์ทิพย์กำลังห้ามไว้ แต่พระราชาและครอบครัวเสด็จถึงป่าใหญ่แล้วมิได้แลเห็นภยันตรายใด ๆ ก็พากันเดินผ่าป่านั้นไป หนทางอันรกเรื้อทำให้ทั้งสามองค์เจ็บเท้าระบมไปหมด เพราะถูกหญ้ากุศะอันแหลมคมบาดเอา หลังจากนั้นมินานทั้งสามพระองค์ก็มาถึงหมู่บ้านของพวกภิลละ เป็นชุมนุมชนใหญ่ เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งเป็นพวกโจรลักเล็กขโมยน้อยในบ้านใกล้เรือนเคียง มันเอาทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นประหนึ่งด่านแรกของมฤตยูนคร

ฝ่ายพวกเหล่าร้ายแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาแต่ไกล ทรงพัสตราภรณ์และประดับพระองค์ด้วยมณีรัตนะหลากสีงดงาม พวกศวระซึ่งถืออาวุธนานาชนิดก็กรูกันจะเข้ามาปล้น เมือ่พระเจ้าธรรมะทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ตรัสแก่พระราชธิดาและพระมเหสีว่า “พวกเจ้าป่าเถื่อนพวกนี้จะต้องจับพวกเจ้าก่อนแน่ ๆ เจ้ารีบหนีไปก่อนเถอะ” เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ พระมเหสีจันทรวดี และพระราชธิดาลาวัณยวดีตกพระทัยมาก รีบพากันหลบเข้าป่าไปทันที เหลือแต่พระราชาผู้กล้าหาญแต่พระองค์เดียวที่กวัดแกว่งอาวุธเข้าฟันแทงศัตรูอย่างไม่คิดแก่ชีวิต และฆ่าพวกศวระตายลงหลายคน พวกโจรก็ดาหน้าเข้ามาอีกและยิงธนูเข้ามาดังห่าฝน หัวหน้าพวกศวระเห็นพระราชาต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์ดังนั้นก็ตะโกนเร่งพรรคพวกในหมู่บ้านให้มาช่วยสมทบอีก พวกโจรช่วยกันกลุ้มรุมเข้ารายล้อม ฟันโล่ของพระราชาหักกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และประหารพระราชาเสีย พวกโจรกรูเกรียวกันเข้าแย่งชิงเครื่องเพชรนิลจินดาเอาไปหมด แล้วพากันกลับคืนสู่หมู่บ้าน ขณะนั้นพระนางจันทรวดีซ่อนตัวอยู่ในป่า พร้อมทั้งธิดาแลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดว่าพวกโจรช่วยกันรุมฆ่าพระสวามีเสียแล้ว ก็ตกพระทัยแทบสิ้นสติ รีบคว้าแขนพระธิดาวิ่งเตลิดเข้าไปในป่าลึกซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่เดิมเป็นอันมาก มีความเหน็ดเหนื่อยสิ้นแรง จึงหลบเข้าแอบต้นไม้ใหญ่อันมีกิ่งก้านสาขาแผ่ครึ้มร่มเย็น และหญิงทั้งสองคนก็กอดคอกันนั่งร้องไห้ สถานที่คนทั้งสองมานั่งพักอยู่นี้คือโคนต้นอโศกริมบึงบัวอันกว้างใหญ่

ปรากฎว่ามีชายคนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงกันนั้น ขี่ม้าออกมาโดยมีบุตรชายนั่งบนหลังม้าตัวเดียวกัน เพื่อไปล่าสัตว์เอามาทำอาหารเช่นที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ พรานผู้นี้มีชื่อว่าจัณฑสิงห์ เมื่อเขาแลเห็รอยเท้าของหญิงทั้งสองในบริเวณนั้น จึงกล่าวแก่สิงหปรากรมผู้เป็นลูกว่า “เราจะติดตามรอยเท้าอันสวยงามเหล่านี้ไป และถ้าเราได้พบหญิงทั้งสองผู้เป็นเจ้าของรอยเท้าจริง ๆ พ่อจะให้เจ้าเลือกนางในสองคนนั้นตามใจเจ้า” เมื่อจัณฑสิงห์กล่าวดังนี้ สิงหปรากรมผู้เป็นลูกก็ตอบว่า “ข้าจะเลือกผู้หญิงเจ้าของรอยเท้าเล็กมาเป็นเมีย เพราะข้ารู้ว่าในจำนวนรอยเท้าทั้งใหญ่และเล็กที่เราเห็นนี้ รอยเท้าเล็กต้องเป็นเด็กสาวแน่ ๆ ข้าจะเอาคนนี้ ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นรอยเท้าใหญ่ คงจะมีอายุมากกว่า ข้าคิดว่าเหมาะสมแก่พ่อแล้ว” เมื่อจัณฑสิงห์ได้ยินลูกชายกล่าวดังนั้นก็ตะคอกว่า “เจ้าพูดว่าอะไรนะ แม่ของเจ้าเพิ่งตายไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และข้าต้องเสียนางไปด้วยความรักและเสียดาย ข้าจะมีกะใจต่อหญิงอื่นได้หรือ” ฝ่ายบุตรชายได้ฟังก็ห้ามว่า “พ่อจ๊ะ อย่าพูดอย่างนี้สิ บ้านเรือจะขาดแม่เหย้าแม่เรือนเป็นผู้ดูแลไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นพ่อไม่เคยฟังบทกวีของท่านมูลเทพหรืออย่างไร เขาเขียนไว้ว่า ใครก็ตามถ้าไม่เป็นอ้ายโง่ ก็คงไม่เข้าไปสู่เรือนอันว่างเปล่าที่เขารู้ว่าไม่มีนางอันเป็นที่รัก เฝ้าคอยการกลับบ้านของเขาอยู่ เพราะบ้านอย่างนั้นถึงจะเรียกกันว่าบ้าน แต่ความจริงมันก็คือกรงขังที่ไม่มีโซ่ตรวนนั่นเอง ดังนั้น พ่อจ๋า พ่อจะต้องเสียใจเพราะความตายของข้าจะไปคอยอยู่ที่ประตูบ้านนั้นเทียว ถ้าหากพ่อไม่ยอมแต่งงานกับหญิงคนที่เป็นสหายกับแม่ยอดรักของข้า”

เมื่อจันฑสิงห์ได้ฟังคำของลูกชายก็ตกลงใจยินยอม และพาลูกชายติดตามรอยเท้าของหญิงทั้งสองต่อไป ในที่สุดก็มาถึงริมบึงบัว ทั้งสองแลเห็นราชินีจันทรวดีผิวดำ มีเครื่องประดับกายคือสร้อยมุกดาเส้นยาวที่พระศอ นั่งอยู่ในร่มเงาของต้นไม้ต้นหนึ่ง นางดูราวกับราตรีตอนเที่ยงคืนที่ทอดอยู่บนฟากฟ้าในเวลากลางวันแสก ๆ และธิดาของนางคือลาวัณยวดีนั้นเล่าก็เหมือนกับแสงจันทร์อันผ่องใสบริสุทธิ์ ที่ฉายอาบเรือนร่างของนาง นายพรานกับลูกชายประจักษ์ภาพอันโสภาดังนั้น ก็เดินตรงเข้าไปหา ส่วนพระเทวีแลเห็นดังนั้นก็ลุกขึ้นยืน ร่างกายสั่นเทิ้มด้วยความหวาดกลัว และคิดว่าเขาเป็นโจร แต่นางผู้เป็นธิดาของพระเทวีหาได้คิดเช่นนั้นไม่ นางกล่าวแก่มารดาว่า “แม่จ๋า อย่ากลัวไปเลย ชายนี้มิใช่โจรหรอก บุกรุษทั้งสองนี้ล้วนแต่หน้าตาดี แต่งตัวดี ท่าทางจะเป็นผู้ดีบางคนที่มาล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกมากกว่า” อย่างไรก็ดี พระเทวีก็ยังไม่ปลงใจเชื่อ และแสดงอาการละล้าละลังอยู่ จัณฑสิงห์แลเห็นก็ลงจากหลังม้าและกล่าวแก่หญิงทั้งสองว่า “อย่าตกใจไปเลยแม่คุณ เรามาที่นี่ก็เพราะความรักชักนำมาหรอก เพราะฉะนันจงวางใจเถิด เรื่องราวความเป็นมาของเจ้าเป็นอย่าง อย่ากลัวเราเลย พูดมาให้หมด เรารู้เสึกเหมือนเจ้าทั้งสองเหมือนดังเทวีรตีกับรีติ (นางรตี กับปรีติ นางรตีเป็นชายาชองกามเทพ ส่วนปรีติมีความหายเหมือนรตี คือแปลว่า ความรื่นรมย์ ความยินดี เข้าใจว่าทั้งสองชื่อนี้น่าจะเป็นคน ๆ เดียวกัน) หนีมาสู่ป่านี้เพราะความเศร้าโศกที่พระกามเทพถูกเผาผลาญด้วยไฟกรดจากพระเนตรของพระศิวหรือ และเจ้าทั้งสองเข้ามาสู่ป่าลึกที่ไร้ผู้คนอย่างที่นี่ได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะรูปลักษณ์ของเจ้าน่าจะอยู่แต่ในรัตนนิเวศน์เท่านั้น หัวใจของเราต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความคิดอันเจ็บปวดที่ว่า ฝ่าเท้าอันแบบบางอ่อนละมุนของเจ้า ควรจะอยู่บนพรมอันอ่อนนุ่ม กลับมาต้องบุกดงพงหนางอันทำให้เจ็บปวดมิใช่น้อย ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นมาจากการก้าวย่างนั้นเล่า ก็มาเกาะติดตามหน้าตาและผิวพรรณ ทำให้หม่นหมองเสียเปล่า ๆ ทั้งแสงอาทิตย์อันแผดจ้าก็ทำให้ร่างอันงาม สลวยแบบางปานกลีบดอกไม้ของเจ้า ต้องระทดระทวย อ่อนแรงลง เพียงแต่คิดแค่นี้หัวใจข้าก็พลอยเจ็บปวดไปหมด พูดมาเถิด เจ้าเข้ามาอยู่ในป่านี้ อันมีแต่สัตว์ร้ายได้อย่างไร”

เมื่อได้ฟังจัณฑสิงห์ถามดังนี้ พระเทวีก็ถอนพระทัย มีความละอายและความโศกเศร้ายิ่งนัก ค่อยรวบรวมความกล้า และเล่าเรื่องให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ฝ่ายจัณฑสิงห์แลเห็นพระนางไร้ที่พึ่ง และไร้ผู้ปกป้องคุ้มครองเป็นที่น่าสงสาร จึงปลอบโยนเอาใจทั้งพระราชินีและธิดาให้คลายทุกข์ และขอร้องให้ผู้เคราะห์ร้ายทั้งสองมาอยู่กับครอบครัวของตน ครั้นแล้วจัณฑสิงห์กับบุตรชายก็พาสอง แม่ลูกขี่ม้าเดินทางไปยังเมืองวิตตปบุรี อันเป็นที่อยู่ของตน พระเทวีนั้นเป็นผู้ที่ไร้ที่พึ่ง เมื่อได้รับความอนุเคราะห์ให้พ้นจากความลำบาก ก็ดีพระทัยราวกับตายแล้วได้เกิดใหม่ ก็หญิงที่ไร้ที่พึ่งและถูกทิ้งให้อ้างว้างเดียวดายเช่นนางและธิดาจะทำอะไรยิ่งไปกว่านี้ได้เล่า สิงหปรากรมบุตรชายของจัณฑสิงห์ ก็ตั้งนางจันทรวดีเทวีเป็นภรรยาของตนเพราะนางมีเท้าเล็ก ส่วนจันฑสิงห์ก็แต่งงานกับนางลาวัณยวดี ผู้เป็นธิดาของพระเทวี เพราะนางมีเท้าใหญ่ ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่แรกว่า ผู้เป็นพ่อจะแต่งงานกับหญิงเจ้าของรอยเท้าใหญ่ ส่วนผู้เป็นลูกจะแต่งงานกับนางผู้เป็นเจ้าของรอยเท้าเล็กคือพระราชินี ตกลงชายทั้งสองคาดการณ์ผิด เพราะรอยเท้าเล็กกลับเป็นแม่ ส่วนรอยเท้าใหญ่กลับเป็นลูก เรื่องนี้ได้เปลี่ยนฐานะของหญิงทั้งสองไปโดยปริยาย กล่าวคือลูกสาวกลับกลายเป็นแม่ยายของแม่ ส่วนหญิงมารดาคือพระเทวกลับกาลยเป็นสะใภ้ของลูกสาวตัวเอง ในกาลต่อมาหญิงทั้งสองนั้นมีลูกกับผัวหลายคน เป็นชายบ้างเป็นหญิงบ้าง แล้วในเวลาล่วงไป ลูกของคนเหล่านั้นก็แต่งงานไป มีลูกเต้าของตนเองอีกเป็นอันมาก

เมื่อเวตาลเล่านิทานตองตนจบลง ก็สะกิดพระราชาตริวิกรมเสน แล้วตั้งคำถามว่า “เอาละ ราชะ พระองค์อย่าเพิ่งงงเสียก่อน ข้าอยากรู้ว่าบรรดาลูก ๆ ที่เกิดจากหญิงทั้งสองลงมาจนแยกเป็นสองสายนั้น นับเนื่องเป็นอะไรกัน จะเรียกขานกันว่ากระไร โปรดบอกมาสิว่าปัญหานี้มีคำตอบอย่างไร แต่โปรดอย่าทรงลืมว่า ถ้าพระองค์รู้แล้วแต่ไม่ตอบ คำสาปที่จะตกลงบนพระองค์นั้นคืออะไร”

เมื่อพระราชาได้ฟังคำถามของเวตาลเช่นนั้น ทรงไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองเล่า รู้สึกวนเวียนพระเศียร นึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรดี จึงเสด็จต่อไปในความเงียบ ไม่ตรัสอะไร ในที่สุดเวตาลผู้สิงอยู่ในศพที่พระองค์ทรงแบกไว้บนอังสาก็หัวเราะหึหึ และรำพึงว่า “ฮา ฮา พระราชาไม่รู้คำตอบจริง ๆ จึงเสด็จไปตามทางเงียบ ๆ ด้วยพระบาที่ชาไปหมดเช่นนี้ น่าสงสารนัก บัดนี้ข้าจะหลอกลวงพระองค์ผู้เปรียบดังขุมทรัพย์อันประเสริฐ และเป็นผู้วีระเห็นปานนี้ได้อย่างไร ข้าจะไม่ถามพระองค์อีกแล้ว แต่ถึงข้าจะหยุดแล้วก็ตาม เจ้าโยคีทุศีล (โยคีศานติศีล) เจ้าอุบายนั่นคงจะไม่เลิกราง่าย ๆ ฉะนั้นข้าจะหลอกลวงมัน และทำให้ผลแห่งตบะกรรมของมันกลับมาตกอยู่กับพระราชา ผู้ซึ่งความรุ่งโรจน์เรืองรองกำลังคอยท่าอยู่ในอนาคตของพระองค์”

เมื่อได้ไตร่ตรองดังนี้แล้ว เวตาลก็กล่าวแก่พระราชาว่า “โอ นฤบดี ถึงแม้พระงอค์จะต้องกังวลพระทัย และเหน็ดเหนื่อยเพราะการเดินทางกลับไปกลับมาในสุสานอันน่ากลัวนี้มากมายหลายครั้งในราตรีอันดำมืดทุกทิศานุทิศ พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อ ดูจะมีความสุขด้วยซ้ำ ข้ามีความพอใจในความกล้าหาญเยี่ยงนี้ยิ่งนัก บัดนี้ขอให้ทรงแบกศพนี้ต่อไป เพราะข้ากำลังจะออกจากร่างของมันเดี๋ยวนี้แล้ว จงฟังคำแนะนำของข้าให้ดี มันจะเป็นประโยชน์แก่พระองค์ไม่น้อย จงทำตัวเป็นปกติอย่ามีพิรุธ เจ้าโยคีชาติชั่วนั่นจะเรียกข้าเข้าไปในศพนั้น และจะยกย่องให้เกียรติข้าในฐานะเครื่องบูชายัณอันเป็นที่ปรารถนาอย่างสูงสุด และเพื่อจะเอาพระองค์เป็นเครื่องสังเวยในฐานะมนุษย์เมธ (การบูชายัณด้วยมนุษย์) มันจะกล่าวแก่พระองค์ว่า “โอ ราชัน จงทอดพระองค์ลงนอนบนพื้นดินแบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือมีส่วนต่าง ๆ แปดอย่างแตะพื้นปฤถิวี” พอมันพูดอย่างนี้ พระองค์จะต้องกล่าวแก่มันว่า “ท่านลองแสดงให้ข้าดูก่อนว่าเขาทำท่านั้นอย่างไร แล้วข้าจะทำตามแบบนั้นทุกประการ” จากนั้นอ้ายโยคีทุศีลจะนอนคว่ำหน้าลงกับดิน และแสดงให้เห็นว่าท่าอัษฎางคประดิษฐ์เขาทำกันอย่างไร ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ พระองค์จะต้องรีบฟังมันให้คอขาดกระเด็นไปด้วยพระแสงดาบ แล้วพระองค์ก็จะได้รับรางวัลยอดปรารถนาที่มันอยากได้เป็นนักหนา นั่นคือตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร ขอพระองค์จงพอพระทัยในการที่เอามันเป็นเครื่องสังเวยสมปรารถนา ถ้าไม่ทำอย่างที่ข้าแนะ อ้ายโยคีศานติศีลจะเอาท่านเป็นเครื่องสังเวยของมัน และเพื่อป้องกันชีวิตของพระองค์อังที่กล่าวมานี้ ข้าจึงเป็นต้องถ่วงเวลาพระองค์โดยให้เสด็จกลับไปกลับมาตามทางก่อน ที่พระองค์จะผลีผลามไปเป็นเหยื่อมันโดยไม่ได้คิดและป้องกันตัวเสียก่อน บัดนี้ได้เวลาแล้ว เสด็จไปเถิด ขอจงทรงพระเจริญ”

เมื่อเวตาลกล่าวจบลง ก็ออกจากศพที่พาดบนอังสาพระราชา ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสน เมื่อเวตาลจากไปแล้ว ก็ออกเดินทางไปสู่สำนักของโยคีศานติศีลผู้เป็นศัตรู เข้าไปนั่งใต้ต้นไทร มีศพพาดบ่า คอยท่าโยคีอยู่

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๓ เรื่องของฤๅษีเฒ่า วามศิวะ ผู้อยากเป็นหนุ่ม



นิทานเรื่องที่
๒๓

ครั้นแล้ว พระราชาตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปทางเดิม ถึงต้นอโศกก็ดึงตัวเวตาลกลับลงมา แม้มันจะแปลงตัวร้อยอย่างพันอย่างเพื่อตบตาพระองค์ แต่ในที่สุดก็ยอมแพ้ พระราชาจับมันพาดพระอังสาแล้วเสด็จไปตามทาง ทรงนิ่งเงียบไม่ตรัสอะไรเลย ในที่สุดเวตาลก็เป็นฝ่ายพูดขึ้นเองว่า “โอ ราชะ ถ้าจะว่าไปธุรกิจส่วนพระองค์ที่จะต้องทำก็ยังมาไม่ถึง แม้จะต้องทรงพากเพียรอีกมาก อย่ากระนั้นเลย ข้าจะเล่านิทานดี ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่งจะได้หายเหนื่อย”

ในแคว้นกลิงคะ มีเมืองหนึ่งชื่อโศภาวดี สวยงามราวกับนครอมราวดีของท้าวศักระ อันเป็นที่อาศัยของผู้ชอบธรรมทั้งหลาย เมืองนี้มีกษัตริย์ชื่อประทยุมน์ปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้กล้าหาญและเป็นชายชาตรีเหมือนดังเทพประทยุมน์ (ประทยุมน์ – โอรสคนสำคัญของพระกฤษณะ (นารายณ์อวตารปางที่ ๘) กับนางรุกมิณี ถือกันว่ามีรูปโฉมงดงามยิ่งกว่าชายทั้งหลายในโลก เพราะพระกามเทพกลับชาติมาเกิดเป็นมนุษย์ หลังจากที่ถูกพระศิวะเผาไหม้เป็นจุณจนไม่มีรูปร่างมาช้านาน แต่ในที่สุดพระศิวะมีความสงสารนางรตี ชายาของกามเทพที่พลัดพรากสามีและมีความเศร้าโศกน่าสงสาร พระมหาเทพจึงอนุญาตให้กามเทพไปเกิดเป็นโอรสของพระกฤษณะ ส่วนนางรตีลงมาเกิดเป็นนางมายาวตี ได้เป็นชายาของพระประทยุมน์ ต่อมาพระประทยุมน์ได้ชายาใหม่ชื่อนางกกุทมตี และโอรสด้วยกันชื่ออนิรุทธิ์) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งพระนามของพระองค์ ถ้าจะค้นหาสิ่งซึ่งเรียก ว่าความชั่วแล้วไซร้ก็เห็นจะเป็นไปได้เพียงชื่อของยุคสมัย (กลียุค) เท่านั้นเอง

ส่วนหนึ่งของพระนครโศภาวดีนี้เป็นเขตที่พระราชทานให้เป็นหมู่บ้านพราหมณ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ยัชญสถล ฉะนั้นที่ชุมนุมพราหมณ์แห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้รู้ทั้งหลาย ที่หมู่บ้านยัชญสถลนี้เอง มีพราหมณ์มหาศาลผู้ชำนาญพระเวททั้งสี่ มีนามว่า ยัชญโสม เขาเป็นผู้ที่ทำพิธีสังเวยไฟเป็นประจำเพื่อสวัสดิมงคลของผู้มาเยือนและเพื่อสังเวยทวยเทพทั้งปวง ยัชญโสมผู้นี้มีชีวิตล่วงวัยหนุ่มมาช้านาน จนมีอายุมากจึงได้บุตรชายคนหนึ่งสมใจจากนางผู้เป็นภริยาที่ดีพร้อม เขาจึงถือว่าบุตรของเขากับนางได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ เด็กชายผู้นั้นจำเริญวัยขึ้นในบ้านของบิดา เป็นที่รักดังดวงใจของพ่อแม่ ท่านบิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า เทวโสม จำเนียรกาลต่อมาเด็กหนุ่มอายุได้สิบหกปี มีความรู้ในพระเวทและศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้ได้รับความยกย่องจากคนทั้งหลายเป็นอันมาก แต่แล้วจู่ ๆ เด็กที่น่ารักคนนี้ก็สิ้นชีวิตโดยกะทันหันด้วยไข้ชนิดหนึ่ง ทำให้พ่อแม่เสียใจดังจะตายตามไปด้วย เฝ้าแต่กอดร่างบุตรชายอันหาชีวิตไม่แล้ว ร่ำไห้เพียงใจจะขาดรอน ทั้งสองคนเก็บศพลูกชายไว้ช้านานโดยไม่ยอมให้ใครเอาไปเผา

ดังนั้นพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านนั้นก็มาประชุมกัน และกล่าวให้สติแก่พราหมณ์สามีภรรยาคู่นั้นว่า “แน่ะพราหมณ์ ท่านควรจะมีสติพิจารณาว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ หรอกที่จะช่วยให้เขามีชีวิตกลับคืนมาอีก ปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับฟองบนผิวน้ำ แลดูเหมือนจะมีแก่นสาร แต่มันก็แตกง่าย แล้วก็ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากอากาศธาตุ จงดูเยี่ยงกษัตริย์มหาศาลผู้ทรงเดชานุภาพ มีกองทหารเต็มโลก ใคร ๆ ก็สยบด้วยความกลัวเกรง กษัตริย์โง่เขลาเหล่านั้นเสวยความสุขอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลก แล้วยังหลงว่าตนเองจะได้กลายเป็นอมตะอีกเล่า สุขสำราญอยู่ในวังอันวิจิตร นั่งนอนบนเตียงประดับไปด้วยแก้วมณี มีแต่เสียงดนตรีประโคมกล่อมอย่างไพเราะเสนาะหู แต่พอตายลง มีอะไร เขาก็เอาร่างของจอมราชันนั้นอาบน้ำ เอาประทิ่นของหอมเช่นผงจันทน์ชะโลมลูบไล้ นอนสงบนิ่งอยู่บนบรรจถรณ์ มีนางร้องไห้ขับเสียงแสดงโศกาดูรเพียงจิตใจจะแตกสลาย แล้วหลังจากนั้นก็ถูกเขายกร่งไปตั้งบนจิตกาธาน จุดไฟเผามอดไหม้ไปเหลือแต่กระดูกและอังคาร คนทั้งหลายก็มีสภาพอย่างเดียวกันนี้แหละ ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ จะช่วยใครให้ฟื้นคืนชีพได้หรอก ไม่มีใครหนีความตายได้ แล้วตัวท่านจะเอาแต่กอดศพคร่ำครวญอยู่ไย” คนอื่น ๆ อีกหลายคนก็กล่าวเตือนสติสองผัวเมียด้วยคำพูดคล้าย ๆ กันนี้

บรรดาญาติพี่น้องเห็นว่าสองผัวเมียค่อยได้สติแล้วก็ค่อยดึงร่างพราหมณ์ทั้งสองออกจากการกอดรัดลูกชาย จัดการแต่งศพให้เรียบร้อย นำขึ้นแคร่ตรงไปยังสุสาน ตั้งศพบนจิตกาธานเพื่อจุดไฟเผา ในเวลาดังกล่าวนั้นเอง ปรากฎว่ามีนักบวชประเภทปาศุบตผู้หนึ่ง ตั้งอาศรมอยู่ในบริเวณสุสานนั้น นักพรตผู้นี้เป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์คนหนึ่ง มีชื่อว่า วามศิวะ ร่างกายเหี่ยวย่นด้วยเส้นเอ็นปูดระเกะระกะ อันเกิดจากชราภาพและบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายมาช้านาน ร่างกายถูกชะโลมด้วยขี้เถ้าจากที่เผาศพจนดูขาวโพลนไปหมด มีมวยผมขมวดมุ่นบนศีรษะ ภาพลักษณ์ทั้งหมดดังกล่าวนี้ทำให้วามศิวะดูเหมือนพระศิวะจริง ๆ ฤษีนั่งเล่นอยู่ในอาศรม พอได้ยินเสียงผู้คนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ไกล ๆ ในป่าช้า จึงกล่าวแก่ศิษย์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันว่า “เฮ้ย ลุกขึ้น ลองออกไปดูซิว่าเสียงนั่นมาจากไหน รีบไปเร็ว ๆ แล้วกลับมารายงานข้า การณ์ปรากฎว่าศิษย์ที่อาจารย์เรียกไปใช้นั้นเป็นคนที่ถือมั่นในปฏิญญาว่าจะเสพอาหารก็แต่เฉพาะบิณฑบาต มาได้เท่านั้น ตัวศิษย์คนนี้เป็นคนโง่และเป็นคนชั่ว เย่อหยิ่งหลงตัวเองจองหองว่าตนมีฌาน รู้เวทมนตร์มายาศาสตร์และอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน ขณะที่อาจารย์เรียกตัวมาใช้ เขากำลังอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดพาลรีพาลขวางเพราะอาจารย์ชอบหาเรื่องด่าเขาบ่อย ๆ ดังนั้นเมื่ออาจารย์ใช้เขาคราวนี้อีก เขาจึงตอบไปว่า “ข้าไม่ไป ท่านไปเองสิ เพราะเวลาบิณฑบาตของข้าเหลือน้อยเต็มที ข้าจะต้องรีบไป” เมื่ออาจารย์ได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวว่า “เจ้านี่มันน่าด่าเสียจริง ๆ โง่เง่าและเห็นแก่กินเป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ก็เพิ่งผ่านไปครึ่งยามเท่านั้น จะว่าถึงเวลาบิณฑบาตแล้วอย่างไร” เมื่อศิษย์ชั่วไดยินดังนั้นก็โกรธมากกล่าวว่า “คนอย่างเจ้ามันก็น่าด่าเหมือนกัน อ้ายแก่สกปรก ข้าไม่ใช่ลูกศิษย์ของเจ้าอีกแล้ว และเจ้าก็ไม่ใช่ครูของข้าอีกต่อไป ข้าจะไปอยู่ที่อื่น เจ้าจงถือบาตรของเจ้าไปภิกขาจารเองเถอะ” เมื่อกล่าวดังนี้แล้วก็ลุกไปหยิบไม้เท้าและบาตรมาวางตรงหน้าอาจารย์แล้วก็เดินจากไป

ฝ่ายฤษีเมื่อลูกศิษย์หนีไปแล้ว ก็เดินไปหัวเราะไป และเดินทางมาถึงสถานที่เผาศพบริเวณสุสาน ก็เห็นศพพราหมณ์หนุ่มนอนอยู่บนกองฟืนเตรียมจะจุดไฟเผา ฤษีเฒ่าผู้มีมนตร์วิเศษก็เกิดความคิดว่าตนจะเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มเพื่อละร่างชราน่าเกลียดของตนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง คิดฉะนี้แล้วก็หลบออกไปด้านหนึ่งแล้วเปล่งเสียงร้องไห้ดัง ๆ หลังจากนั้นก็กระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข ต่อจากนั้นฤษีเฒ่าผู้ต้องการจะเป็นหนุ่มอีก ก็ละร่างของตนและร่ายมนตร์วิเศษเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มในบัดดล ทันใดนั้นร่างของเด็กหนุ่มซึ่งนอนอยู่บนกองฟืนในจิตกาธาน ก็ขยับร่างและลุกขึ้นนั่งพร้อมกับอ้าปากหาวนอน เมื่อบรรดาญาติและคนทั้งหลายที่รายล้อมอยู่ ณ ที่นั้นแลเห็นก็พากันส่งเสียงตะโกนกึกก้องว่า “ไชโย เขาฟื้นแล้ว เขาฟื้นแล้ว”

ฝ่ายนักบวชเจ้าเล่ห์ ผู้เป็นหมอผีอาคมฉมัง ได้เข้าสิงพราหมณ์หนุ่มเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องการที่จะละศีลของตน (เพราะตนเป็นนักพรตอยู่) จึงประกาศแก่คนทั้งหลายว่า “เมื่อข้าเพิ่งตายลง ข้าละโลกนี้ไปสู่ปรโลก องค์พระศิวะได้มาช่วยให้ข้ากลับคืนชีวิตอีกครั้ง และพระองค์ตรัสแก่ข้าว่า พระองค์มีพระประสงค์ให้ข้าถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างพวกนักบวชปาศุบต บัดนี้ข้าจะต้องไปสู่ที่อันวิเวก เพื่อบำเพ็ญพรตดังกล่าว หาไม่แล้วชีวิตข้าจะอยู่สืบไปมิได้ ดังนั้นข้าจะต้องจากพวกเจ้าไปแล้ว” กล่าวแก่บรรดาผู้มาชุมนุม ณ ที่นั้นแล้ว นักพรตผู้ตัดสินใจเด็ดขาด ก็ละคนทั้งหลายให้กลับไปบ้านของตน ตัวเองบังเกิดความยินดีและความเศร้า แต่ในที่สุดก็หักใจได้ ละทิ้งร่างเดิมเสีย กลายเป็นร่างชายหนุ่ม เดินทางออกจากที่นั้นท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง

เวตาล เมื่อเล่านิทานจบลง ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า “โอ ราชะ ช่วยอธิบายให้ข้าทราบหน่อยเถอะว่า เหตุใดนักมายาเวทผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น เมื่อสิงร่างของคนอื่นจึงร้องไห้ในครั้งแรก และกระโดดโลดเต้นในครั้งหลัง ข้าอยากฟังเหตุผลอย่างมากเลย”

เมื่อพระราชาผู้ทรงรอบรู้กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้สดับปัญหาของเวตาลที่ทูลถามเช่นนั้น จะไม่พูดก็กลัวคำสาป จึงกล่าวทำลายความเงียบขึ้นด้วยคำตอบดังนี้ “เมื่อพิจารณาความรู้สึกของนักพรตผู้นี้แล้วจะเห็นได้ว่า ที่นักพรตร้องไห้ก็เพราะเขากำลังจะละทิ้งร่างเดิมเพื่อเข้าร่างใหม่ ก็ร่างเดิมนั้นเป็นของเขามาแต่กำเนิด และเขาอยู่กับสังขารนั้นมาช้านานหลายสิบปีจนแก่เฒ่า ก็ร่างนี้แหละที่พ่อแม่อุ้มชูเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่ยังแบเบาะ เมื่อจะจากสังขารนี้ไปจะไม่ให้อาลัยอาวรณ์กระไรได้ ก็ความรักตัวเองนั้นเป็นอุปนิสัยสันดานของทุก ๆ คนมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจะต้องสูญเสียของที่รักไป เขาจึงเศร้าใจและร้องไห้ แต่การที่เขาเต้นรำทำเพลงเช่นนั้นก็เพราะว่า เขามีความสุขที่จะได้เข้าไปสู่ร่างกายใหม่ และจากการที่เขาจะกลายเป็นหนุ่มนั้น จะทำให้เขามีเวลาในการใช้ชีวิตได้อีกยาวนานหลายสิบปี เป็นกำไรชีวิตที่หาได้ยากอย่างหนึ่ง และจะทำให้เขามีเวลาอีกมากมายที่จะฝึกมายาเวทได้อย่างสบาย ๆ และจะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเป็นไหน ๆ และถ้าจะว่าไป ใครเล่าที่ไม่ยินดีต่อความเป็นหนุ่ม?”

เมื่อเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพได้ฟังคำตอบของพระราชาก็ยิ้มอย่างสมใจ กระโดดจากพระพาหาของพระราชา หายวับไปในความมืด กลับคืนไปยังต้นอโศกตามเดิม พระเจ้าตริวิกรมเสนผู้มีน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยวและหนักแน่น เหมือนภูผาที่ไม่แคลนคลอนแม้ถึงคราวจะสิ้นกัปกัลป์ก็ตาม ทรงหันหลังกลับและวิ่งกวดผีเจ้าเล่ห์ไปอย่างเร็วเพื่อเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๒ เรื่องของบุตรพราหมณ์ทั้ง 4 ผู้ขมังเวทย์

 นิทานเรื่องที่
๒๒

            พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไป ทรงดึงร่างเวตาลลงมาจากยอดอโศกวางไว้บนอังสาของพระองค์ แล้วทรงนิ่งเงียบ เวตาลจึงแหย่ว่า “นฤบดี ข้ามีนิทานสนุกตื่นเต้นกว่าเรื่องก่อน ๆ เสียอีก รับรองว่าจะต้องทรงชอบแน่ ๆ เรื่องมีดังนี้”

            ในสมัยบรรพกาล มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า ธรณีวราหะ ทรงปกครองนครปาฏลิบุตร ซึ่งมีพราหมณ์อาศัยอยู่มาก พระราชาทรงอนุเคราะห์แก่พราหมณ์ทั้งหลายเป็นพิเศษ เรียกว่า พรหมสถล และในนครนั้นเองมีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งชื่อ วิษณุสวามิน พราหมณ์ผู้นี้มีภรรยาผู้หนึ่งซึ่งเหมาะสมกับเขาเป็นพิเศษ ราวกับเครื่องสังเวยเหมาะกับไฟฉะนั้น จำเนียรกาลผ่านไป สองสามีภรรยามีบุตรชายด้วยกันสี่คน ต่อมาบุตรทั้งสี่เติบใหญ่เป็นหนุ่ม และศีกษาพระเวททั้งสี่เจนจบ อยู่มามินานบิดาก็ไปสวรรค์ และมารดาก็ตามไปในเวลาถัดมา

            ส่วนพราหมณ์หนุ่มทั้งสี่เมื่อสิ้นบิดามารดาแล้วก็อ้างว้างว้าเหว่ด้วยไร้ที่พึ่ง มีญาติใกล้ชิดก็ถูกเขาโกงเอาทรัพย์สมบัติไปหมด ทั้งสี่คนจึงปรึกษาหารือกันว่า “บัดนี้เราก็ยากจนสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างน้ จะทนอยู่ต่อไปได้ไฉน พวกเราควรจะไปพึ่งญาติฝ่ายแม่ของเราที่หมู่บ้านยัชญสถลดีกว่า” ตกลงพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็เดินทางไปพบผู้เป็นตาที่หมู่บ้านนั้น แต่ปรากฎว่าตาตายไปแล้ว เหลือแต่ลุง ๆ ทั้งหลายผู้เป็นบุตร ซึ่งพวกเขาก็ช่วยเหลือตามมีตามเกิด ให้ที่พักและอาหารกินตามสมควร พราหมณ์ทั้งสี่มาอยู่บ้านผู้เป็นลุงแล้ว วัน ๆ ก็มิได้ช่วยทำอะไร นอกจากอ่านพระเวทเพียงอย่างเดียว ต่อมามินาน ลุงก็เริ่มรังเกียจเพราะเห็นพวกเขาเป็นคนอนาถาไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเลี้ยงดูต่อไปให้เปลืองข้าวเปลืองน้ำ จึงพากันละเลยไม่เอื้อเฟื้อข้าวปลาอาหารเครื่องนุ่งห่มและปัจจัยอื่น ๆ อีก พราหมณ์ทั้งสี่เมื่อประสบกับความไม่อาลัยไยดีก็ช้ำใจว่าญาติกาไม่ดูแล จึงประชุมกันลับ ๆ เพื่อหาทางอยู่รอด ขณะนั้นพี่ชายคนโตก็ออกความเห็นของตนว่า “เราจะนิ่งงอมืองอเท้าต่อไปไม่ได้แล้ว ใครมีความเห็นจะให้ทำอะไรก็จงเสนอมาเถิด แต่ถ้ายังคิดมิออก ข้าก็จะเล่าอะไรที่ข้าไปพบเห็นมา เผื่อพวกเจ้าจะได้อาศัยเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป ข้ารู้ดีแล้วว่าชะตากรรมเป็นเพียงสิ่งที่ใคร ๆ จักหลีกเลี่ยงมิได้ มันกำหนดทุกสิ่งในโลกนี้ทั้งเวลาและสถานที่ตามครรลองของมัน ข้าจะเล่าให้ฟังว่า วันนี้ข้าออกไปเดินเล่นนอกบ้านเพราะรู้สึกกลุ้มใจเต็มที เมื่อข้าเดินผ่านป่าช้าในป่านอกเมือง ก็เห็นชายคนหนึ่งนอนตายอยู่พื้นดิน มีแขนขาทอดออกไปคนละทิศละทาง เมื่อตอนที่ข้าแลเห็นเขา ข้าก็เกิดความอิจฉาเขา และข้าพูดแก่ตัวเองว่า ชายคนนี้ช่างโชคดีนี่กระไร ได้นอนพักผ่อนอย่างสบาย เพราะเขาหมดสิ้นภาระอันแสนเข็ญในโลกนี้แล้ว เมื่อข้ารำพึงอย่างนี้ก็เกิดความคิดแวบขึ้นมาในสมองว่า ข้าควรจะตายอย่างเขาบ้าง เมื่อคิดดังนี้ข้าก็เตรียมจะผูกคอตาย จึงหาเชือกมาเส้นหนึ่งทำบ่วงคล้องคอผูกติดกับต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วปล่อยตัวลงมาห้อยโตงเตงอยู่กลางอากาศ ข้าถูกเชือกรัดคอแน่นจนทำให้ใกล้ะจหมดสติ และกำลังตาเหลือกตาปลิ้นอยู่นั้น ข้าก็รู้สึกว่าชีวิตยังไม่ยอมออกจากร่าง ข้าก็ดิ้นสุดฤทธิ์จนเชือกขาด ทำให้ข้าหล่นตุ้บลงบนพื้นดิน ต่อมามิช้าข้าก็เริ่มฟื้นคืนสติ ลืมตาขึ้นเห็นชายใจดีผู้หนึ่ง กำลังพัดวีข้าอยู่ด้วยเสื้อของเขา เขากล่าวแก่ข้าว่า “สหายเอ๋ย ท่านก็เป็นคนฉลาดคนหนึ่ง เหตุไฉนจึงยอมจำนนต่อชะตาเอาง่าย ๆ อย่างนี้เล่า ท่านควรจะรู้ว่าความสุขนั้นเกิดจากการกระทำความดี และความทุกข์เกิดจากการทำชั่ว นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์และสุขโดยแท้ ถ้าหากความกลุ้มใจของบท่านเกิดจากความทุกข์ ทางแก้ก็คือจงเร่งกระทำความดีเสียแต่บัดนี้ ข้านึกไม่ถึงเลยว่าทำไม ท่านถึงโง่เขลาจนถึงกับฆ่าตัวตายอย่างนี้”

            ด้วยคำพูดปลอบใจของชายผู้นั้นทำให้ข้าตาสว่างขึ้น ส่วนชายที่ข้าไม่รู้จักชื่อผู้นั้นเห็นว่าหมดธุระกับข้าแล้วก็เดินทางจากไป ส่วนข้าก็ตัดสินใจเด็ดขาดไม่คิดจะทำอัตวินิบาตกรรมอีกต่อไป เพราะฉะนั้นพวกเจ้าก็คงจะเห็นแล้วสิ ว่าถ้ายังไม่สิ้นกรรม การที่คิดจะยุติผลของกรรมโดยฆ่าตัวตาย ก็ไม่มีทางสำเร็จ บัดนี้ข้าติดสินใจแล้วว่า ข้าจะจาริกแสวงบุณย์ไปนมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แล้วจากนั้นข้าก็จะบำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวด เพื่อข้าจะได้บรรลุมรคผลอันสูงสุด ไม่กลับมาสู่ชีวิตอันทรมานเช่นนี้อีกต่อไป”

            เมื่อพี่ชายใหญ่กล่าวเช่นี้ น้องชายคนรองก็กล่าวขึ้นว่า “ท่านพี่ที่เคารพ ท่านก็เป็นคนฉลาดหลักแหลม ไฉนจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนนักหนา เพียงสาเหตุนิดเดียวคือความจนเท่านั้น พี่ไม่รู้หรือว่า ความมั่งมีนั้นก็เฉกเช่นเมฆที่ลอยผ่านไปในฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) ใครบ้างเล่าที่จะรักษาทรัพย์ไว้ได้ตลอดกาล หรือสามารถทำให้หญิงเจ้าเลห์หยุดมายาสาไถยได้ ดังนั้นคนฉลาดพึงพิจารณาความมั่นคงจริงใจในทุก ๆ สิ่ง และเราควรแสวงหาสิ่งนี้เท่านั้น” พี่ชายหใญ่เมื่อได้ฟังถ้อยคำของน้องก็นิ่งอยู่ ในที่สุดทั้งสี่คนก็แยกทางไปแสวงหาคำตอบ และนัดพบกันในภายหน้าที่จุด ๆ หนึ่ง เมื่อแยกทางกันไปนั้นคนหนึ่งไปทิศตะวันออก ตะวัน ตก เหนือและใต้

            เวลาผ่านไป ในที่สุดชายทั้งสี่กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้งที่สถานที่นัดพบซึ่งตกลงกันไว้ และถามซึ่งกันและกันว่าใครไปเรียนรู้อะไรมาบ้าง ชายคนหนึ่งตอบว่า “ข้าได้เรียนรู้มายาศาสตร์อันเร้นลับ คือถ้าข้าได้พบกระดูกแม้น้อยชิ้นของสัตว์ใดก็ตาม ข้าก็จะสามารถทำให้เกิดเป็นเนื้อของสัตว์ชนิดนั้นขึ้นมาได้ทันที” ชายอีกคนหนึ่งเมื่อได้ฟังถ้อยคำของชายคนแรกก็กล่าวว่า “เมื่อใดที่ข้าเห็นเนื้อสัตว์เกิดขึ้นมาติดกระดูก ข้าก็จะสามารถทำให้เกิดหนังและขนของสัตว์นั้นได้ทันทีเหมือนกัน” ชายคนที่สามได้ยินก็กล่าวว่า “ถ้าข้าได้เห็นหนังและขนของสัตว์นั้น ข้าก็จะสร้างแขนขาของมันขึ้นมาได้ชั่วพริบตาเดียว” ชายคนที่สี่เมื่อได้ฟังคำพูดของสามคนโอ้อวดวิชาดังนั้นก็พูดว่า “เมื่อกระดูก เนื้อ หนัง ขน และแขนขาของสัตว์ที่ตายแล้วตัวนั้นบังเกิดขึ้นครบถ้วน ข้าก็สามารถทำให้สัตว์นั้นมีชีวิตขึ้นมาได้”

            เมื่อต่างก็กล่าวโอ้อวดความสามารถของตนดังนั้นแล้ว ทั้งสี่คนก็แยกย้ายกันเข้าป่า เพื่อเสาะหากระดูกสัตว์มาทดลองดังที่พูดกันไว้ ปรากฎว่าคนเหล่านั้นได้พบกระดูกชิ้นส่วนของสิงโตเข้าชิ้นหนึ่ง ก็หยิบเอาไปโดยหารู้ไม่ว่าเป็นกระดูกของสัตว์ชนิดใด เมื่อเอาไปแล้วชายคนแรกก็เสกมนตร์ทำให้เกิดเนื้อขึ้นมาหุ้มกระดูกอย่างถูกต้อง ชายคนที่สองก็ร่ายมนตร์ประจุหนังและขนลงไปตามตำแหน่งของมัน ชายคนที่สามทำให้เกิดอวัยวะแขนขาขึ้น และคนที่สี่ก็ร่ายมนตร์ทำให้มันมีชีวิตขึ้น สิงโตก็ลุกขึ้นผงาดและคำรามด้วยเสียงอันดัง แสดงพลังของไกรสรสีหราชผู้เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย ปากของมันอ้ากว้างให้เห็นฟันและเขี้ยวอันแหลมคม และเหยียดเท้าออกแสดงให้เห็นกรงเล็บอันแหลมคมในอุ้งเท้าทั้งสี่ ในชั่วพริบตานั้นเองมันก็กระโจนเข้าใส่สี่ชายพี่น้องและฆ่าตายหมดทุกคน แล้วก็เดินเลียลิ้นหายเข้าป่าไป นี่แหละจะเห็นได้ว่า ถึงพราหมณ์ทั้งสี่จะมีวิทยาการอันเลิศถึงกับชุบชีวิตสัตว์ขึ้นจากกองกระดูกได้ แต่ความโง่เง่าในสันดานทำให้เขาไปชุบชีวิตสิงโต แลเจ้าป่านั้นก็ไม่รู้จักว่าความกตัญญูคืออะไร มันจึงขย้ำเขาเสียอย่างดุร้าย เหมือนมัจจุราชมาคร่าชีวิตอย่างไร้ความเมตตาฉะนั้น

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโชคชะตานันกำหนดชีวิตและความเป็นไปให้แก่มนุษย์ บางครั้งแม้มนุษย์จะประสบผลสำเร็จในกิจการที่ต้องลงทุนด้วยความพากเพียรบากบั่นแทบล้มประดาตาย แต่ชะตากรรมกลับอนวยผลให้แก่เขาด้วยความเจ็บปวด แม้กระทั่งนำความตายมาให้ในที่สุด

            เมื่อเวตาลซึ่งนั่งสบายอยู่บนพระอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่าเรื่องจบลงระหว่างเดินมาตามทางในราตรีนั้น ก็พูดขึ้นว่า “ราชะ ในบรรดาชายสี่คนที่เล่ามานัน ใครเป็นผู้ผิดที่สร้างสิงโตตัวนั้นขึ้นมา ทำให้ผู้อื่นรวมทั้งตัวเองต้องถูกฆ่าตายหมด โปรดบอกข้ามาเร็ว ๆ และอย่าลืมกติกาว่าถ้ารู้แล้วไม่ตอบอะไรจะเกิดขึ้น” เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลกล่าวดังนั้นทรงรำพึงว่า “อ้ายผีตัวนี้ อยากจะให้ข้าพูดเพื่อทำลายความเงียบ และถือโอกาสหนีไปตามเคย แต่ช่างเถอะข้ายินดีจะไปลากตัวมันกลับมาเอง” หลังจากที่ทรงตัดสินพระทัยแล้ว ก็ตรัสแก่เวตาลว่า “ชายคนหนึ่งในหมู่ชายทั้งสี่นั้น ผู้ซึ่งร่ายมนตร์ให้สิงโตมีชีวิตขึ้นมานั่นแหละที่เป็นคนผิด เพราะคนอื่นอีกสามคนนั้นเพียงแต่ร่ายมนตร์ขึ้นเพื่อให้เกิดเนื้อ หนัง ขน และแขนขา โดยไม่รู้ว่าตนกำลังสร้างสัตว์ชนิดใดขึ้นมา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ใช่ผู้ผิด เพราะเขาเพียงแต่โง่เขลาตามสันดานเท่านั้น แต่ชายคนนี้ (คือคนที่สี่) เขารู้และเห็นอจู่แล้วว่ามันเป็นสัตว์อะไร กลับไปให้ชีวิตมัน โดยจะอวดวิชาของตนเท่านั้น เขาจึงผิดเต็มประตู เพราะเป็นต้นเหตุแห่งความตายของทุกคน”

            เวตาลเมื่อได้ฟังคำตอบจากพระราชาดังนั้น ก็หายวับไปจากพระอังสาของพระองค์ด้วยมายาเวทที่ตนชำนิชำนาญ และกลับไปอยู่บนต้นอโศก ทำให้พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องเสด็จกลับไปเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๑ เรื่องของนางอนงคมัญชรี



นิทานเวตาลเรื่องที่
๒๑

ครั้นแล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปยังต้นอโศก ดึงร่างเวตาลลงมาจากกิ่งอโศก แล้วเอามันพาดบ่า ดำเนินมาตามเส้นทางเดิม ขณะที่มาตามทาง เวตาลก็กล่าวว่า “ราชะ โปรดฟังเถิด ข้ากำลังจะเล่าเรื่องถวายสักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสัมพันธ์สวาทที่ดีเด่นมาก เรื่องมีดังนี้”

แต่โบราณสมัย มีเมืองหนึ่งชื่อ นครวิศาลา กล่าวกันว่ามีความงดงามราวกับเป็นเทพธานีแห่งที่สองของพระอินทร์ ซึ่งพระธาดาพรหมทรงสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนดีมีคุณธรรมที่ตกลงมาจากสวรรค์ ในนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินผู้มั่งคั่งองค์หนึ่งปกครองอยู่ ทรงนามว่าพระเจ้าปัทมนาภ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำความสุขมาสู่เหล่าชนนิกรโดยทั่วหน้า ราวกับเป็นพญาอสูรพลี (พญาอสูรพลี ราชาแห่งอสูร มีเรื่องราวโดยละเอียดอยู่ในนารายณ์อวตารปาลที่ ๖ (วามนาวตาร) พระนารายณ์อวตารมาปราบอสูรพลี โดยกำเนิดเป็นพราหมณ์เตี้ โอรสของพระกัศยปเทพบิดรกับนางอทิติ พราหมณ์เตี้ยขอที่ดิน ๓ ก้าวจาลพลีแล้วย่างเท้าไป ๓ ก้าว คือในสวรรค์ก้าวหนึ่ง ในโลกก้าวหนึ่ง และบาดาลก้าวหนึ่ง เมื่อพลีสิ้นพยศกลับใจได้ พระนารายณ์ก็ให้พลีไปครองบาดาล เป็นราชาใต้พิภพ โดยสัญญาว่าถ้าพลีประพฤติดีวันหนึ่งจะให้กลับไปครองสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง) นั่นเทียว ในรัชสมัยของพระราชาผู้ทรงความดีเลิศในการปกครองนี้ มีเศรษฐีมหาศาลผู้หนึ่งชื่ออรรถทัตต์ มีความร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งกว่าเทพแห่งทรัพย์ (เทพแห่งทรัพย์ หมายถึง ท้าวกุเวรโลกบาลแห่งทิศเหนือ เป็นยักษ์ ๓ ขา ผู้ครองนครอลกาบนภูเขาหิมาลัย เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายในโลก เรียกกันว่า วสุบดี มีอีกชื่อหนึ่งว่าไพศรพณ์(ไวศฺรวณ) ไทยเรียกเพี้ยเป็นเจ้าแม่โพสพ) เสียอีก เศรษฐีผู้นี้มีธิดาเลอโฉมคนหนึ่งชื่อ อนงคมัญชรี (อนงคมัญชรี(เกสรดอกไม้ของกามเทพ) เป็นหญิงรูปงามมีเรื่องเล่าโดยละเอียดในภารตนิยาย) มีความงามสุดพรรณนา ราวกับพระพรหมจำลองลักษณ์รูปของนางให้เป็นแบบของเทพอัปสรฉะนั้น ในกาลต่อมาบิดาของนางจัดการให้นางแต่งงานกับพ่อค้าคนหนึ่งชื่อ มณิวรรมัน แห่งเมืองตามรลิปติ ตัวท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาของนางนั้น เป็นผู้ที่รักและหวงแหนธิดาของตนอย่างยิ่ง เพราะมีลูกสาวอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงไม่ยอมให้นางเดินทางไปไหน นอกจากให้นางและสามีอยู่แต่ในบ้านของเขาเท่านั้น อนงคมัญชรีกับสามีก็อยู่ด้วยกันเป็นปกติ ทั้งที่ใจนางมิได้ยินดียินร้ายต่อเขาเหมือนคนไข้ที่จำต้องยินยอมกินยาขมที่หมอสั่ง อันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อยิ่งนัก แต่สามีก็ยอมอดทนต่ออารมณ์ของนางทุกอย่าง ทั้งนี้เป็นเพราะเขารักนางดังดวงใจนั่นเอง

ครั้งหนึ่งมณิวรรมันมีความจำเป็นต้องเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาของเขา ในเมืองตามรลิปติอันไกลโพ้น หลังจากเวลาผ่านไปได้สองสามวัน พระอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าลงบนแผ่นดิน ทำให้กระบวนเดินทางค่อนข้างจะล่าช้าลง ทั้งนี้เพราะวสันตฤดูเพิ่งจากไปอากาศจึงร้อนและแห้งแล้งยามราตรีก็ผ่อนความร้อนลง มีลมแล้งพัดแผ่วและดวงจันทร์ก็มีสีซีดสลดดูวังเวงไร้ชีวิตชีวา

ในฤดูครีษมะ(ฤดูร้อน) อันแห้งแล้งเช่นนี้ว่า วันหนึ่ง นางอนงคมัญชรีธิดาพ่อค้าใหญ่ พร้อมด้วยพี่เลี้ยงสาว ๆ หลายนางกำลังนั่งรับลมอยู่บนดาดฟ้าของคฤหาสน์ นางชะโลมกายด้วยผงจันทน์อันหอมกรุ่นและสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ ผ้าแพรอันบางเบา ขณะนั้นนางแลลงมาดูผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนก็แลเห็นพราหมณ์หนุ่มชื่อ กมลากร บุตรของสมุหราชมนเทียรเดินอยู่บนถนนสายนั้น เขางามสง่าไปเสียทุกอิริยาบถ ราวกับพระกามเทพที่ปรากฎพระองค์ออกจากเถ้าถ่านอันเกิดจากการเผาไหม้ของสรีระ(การเผาไหม้ของสรีระ มีเรื่องเล่าในมหากาพย์และปุราณะว่า กามเทพแผลงศรดอกไม้ห้าชนิด ไปปักพระอุระของพระศิวะขณะทรงเข้าฌานอยู่ เป็นการกระทำอย่างอุกอาจโดยมีความปรารถนาจะให้พระศิวะเกิดความรักพระอุมา พระศิวะทรงกริ้วที่ถูกลบหลู่ จึงลืมพระเนตรที่สามขึ้นเป็นไฟกรด เผาร่างกามเทพมอดไหม้ไป ตั้งแต่นั้นกามเทพจึงไม่มีร่างกายอีก เรียกกันว่าพระอนงค์(ผู้ไม่มีร่างกาย)) เพื่อติดตามหานางรตีผู้เป็นชายาฉะนั้น ขณะเดียวกันกมลากรก็เงยหน้าขึ้นไป ได้พบนางผู้งามสง่าผุดผ่องราวกับจันทรมณฑล ชายหนุ่มก็มีหัวใจอันเบ่งบานด้วยความพิศวาสราวกับบัวกุมุท ซึ่งเผยกลีบออกรับแสงจันทร์ในราตรี สายตาของทั้งสองฝ่ายที่จ้องประสานกัน ก็กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่กะพริบ ราวกับถูกสาปด้วยบัญชาอันทรงมหิทธานุภาพของกามเทพ ฝ่ายสหายของกมลากรแลเห็นทั้งสองฝ่ายกำลังตกอยู่ในความจังงังเช่นนั้น ก็รีบดึงแขนกมลากรให้ห่างจากที่นั่นและลากถูลู่ถูถังไปส่งจนถึงบ้าน

ฝ่ายอนงคมัญชรีพยายามสืบถามจากบริวารจนทราบชื่อของกมลากร แล้วก็นึกถึงเขาไม่วาย ทอดสายตาแลตามจนสุดสายตาแล้วจึงกลับลงมาจากดาดฟ้า เข้าสู่ห้องของนางด้วยความเหม่อลอยเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ ในอกมีแต่ความเสน่หาอาลัยอันท่วมท้น นางกลิ้งเกลือกกระสับกระส่ายอยู่บนเตียงด้วยพิษรักที่แผดเผาอยู่ในใจ คิดถึงชายหนุ่มอย่างบ้าคลั่ง หลังจากนั้นสองสามวัน อนคมัญชรีค่อยฟื้อคืนสติ มีความละอายหวาดหวั่นไม่สามารถทนพิษรักอันปวดร้าวเพราะการจากกันได้ ร่างของนางเริ่มผ่ายผอมลงและซีดเซียวลงตามลำดับ เพราะความครุ่นคิดถึงเขาอยู่ไม่วาย เมือ่แลเห็นว่าความรักของนางจะไม่ถึงผลสำเร็จแน่แล้ว นางก็คิดจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นในคืนหนึ่ง เมื่อเห็นว่าบริวารนอนหลับแล้วก็ออกมาจากห้อง เดินตามแสงจันทร์อันสุกสกาวออกจากบ้านมุ่งไปตามทางเดินเลียบริมสระ มิช้ามินานก็มาถึงเทวาลัยแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในสวนขวัญ แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่อันแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ภายในเทวาลัยเป็นที่ประดิษฐานปฏิมากรทองคำเจ้าแม่จัณฑี (เจ้าแม่จัณฑี พระอุมาปางดุร้าย เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้าแม่กาลี มีภักษาหารคือ โลหิตสด ๆ) ซึ่งวงศ์ตระกูลของนางสร้างขึ้นไว้ สำหรับการกราบไหว้บูชา ประกอบด้วยเครื่องตกแต่งภายในงดงามเป็นที่น่าเจริญใจ อนงคมัญชรีก้าวเข้าไปในเทวาลัย และถวายนมัสการอย่างนอบน้อมต่อหน้าองค์เทวรูป และกล่าวว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้ารักกมลากร ถ้าข้ามิได้เขาเป็นสามีในชาตินี้ก็ขอให้ได้กันในชาติหน้าเถิด” เมื่อนางได้กล่าวอธิษฐานจบลง ก็ฉีกผ้าคลุมร่างตอนบนออกทำเป็นบ่วงเพื่อแขวนคอตนเอง และเดินออกมาถึงต้นอโศก ตวัดเชือกขึ้นไปคล้องกิ่งอโศกไว้ เตรียมจะผูกคอตาย

ขณะนั้นเอง ปรากฎว่าหญิงบริวารคนหนึ่งของนาง ซึ่งนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ตื่นขึ้นในตอนดึก ไม่แลเห็นนางก็ตกใจ ออกติดตามไปจนถึงต้นอโศก ขณะที่อนงคมัญชรีกำลังจะแขวนคอตนเองอยู่ก็ตกใจ ร้องตะโกนว่า “หยุด หยุด” แล้วรีบปีนขึ้นไปบนกิ่งอโศก และตัดบ่วงให้ขาดลง อนงคมัญชรได้สติเห็นนางพี่เลี้ยงกำลังพยาบาลอยู่ก็ถอนใจ เมื่อพี่เลี้ยงเซ้าซี้ถามว่านางเสียใจเรื่องอะไร อนงคมัญชรีจึงเล่าความคับแค้นใจของนางให้ฟัง และสรุปว่า “มาลติกาเอ๋ย เจ้าก็เห็นแล้วมิใช่หรือว่า ข้ามีพ่อแม่ที่ควบคุมข้าอย่างเข้มงวดทั้งที่ข้ามีสามีแล้ว ข้าเหมือนนักโทษติดคุกทำอะไรก็มิได้ แล้วอย่างนี้ข้าจะติดต่อกับยอดรักของข้าได้อย่างไรเล่า ในความคิดของข้าเห็นว่าความตายเท่านั้นที่เป็นความสุขของข้าได้ แล้วเจ้ามาช่วยข้าไว้ทำไม” ขณะที่อนงคมัญชรีคร่ำครวญอยู่นี้ นางกำลังทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพราะพิษรักจากบุษปศรของพระกามเทพ และได้รับความผิดหวังเพราะความรักอย่างเหลือที่จะทนทานต่อไปได้ นางก็หมดสติเป็นลมล้มฟุบสิ้นสติไปอีกครั้งหนึ่ง

นางมาลติกาพี่เลี้ยงเห็นดังนั้นก็ตกใจยิ่งนัก ตะโกนว่า “โอ้ พระมันมถะนี่หนอ (มันมถะ “ผู้กวนใจ” เป็นฉายาหนึ่งของพระกามเทพ เพระากามเทพนั้นเป็นผู้ก่อกวนใจบุคคลทั้งหลายให้ปั่นป่วนวุ่นวายด้วยความรัก) เหตุใดจึงรุนแรงต่อนางถึงเพียงนี้ พระองค์ทรงมีอานุภาพล้นเหลือจนใคร ๆ ต้านทานมิได้ นางเป็นหญิงที่แสนจะแบบบาง นางจะทนทานท่านต่อไปได้อย่างไร” นางคร่ำครวญฉะนี้แล้ว ก็ตะลีตะลานวิ่งไปที่สระน้ำ เอาน้ำมาชโลมใบหน้าและลูบตามเนื้อตามตัวสหายของนาง และพัดวีอยู่ไปมา นางเอาใบบัวมารองนอนให้อนงคมัญชรีรู้สึกอ่อนนุ่มเย็นสบาย และวางสร้อยมุกดาอันเย็นยะเยือกปานหิมะลงบนอกของนาง ทันใดนั้นอนงคมัญชรีก็ลืมตาขึ้น ใบหน้าของนางนองชุ่มไปด้วยน้ำตาและกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย สร้อยมุกดา และอื่น ๆ มันก็เย็นดีดอก แต่ก็เย็นนอกอกหาได้เข้าไปถึงภายในไม่ แต่ข้าก็เห็นว่าเจ้ารักข้าจริง เลยเกิดความคิดว่า เจ้าอาจจะช่วยความทุกข์ของข้าได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเจ้าเป็นคนเฉลียวฉลาดและไว้ใจได้ คงจะเป็นสื่อช่วยให้ยอดรักของข้ามาหาข้าได้ ถ้าเจ้าประสงค์จะช่วยชีวิตของข้าจริง ๆ” เมื่อนางกล่าวดังนี้ มาลติกกาก็ตอบสนองด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มว่า “เพื่อนเอ๋ย เวลานี้ก็ใกล้จะสิ้นคืนแล้ว เอาเป็นพรุ่งนี้เถอะ ข้าจะไปที่บ้านหนุ่มน้อยนั่น เจรจากับเขาให้เข้าใจ แล้วจะนำยอดชายของเจ้ามาพบกับเจ้าที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ข้าจะพาเจ้ากลับบ้านไปพักผ่อนก่อน เตรียมใจไว้ให้ดี พรุ่งนี้เจ้าจะได้สมความปรารถนา”

และตอนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นนั้นเอง มาลติกาก็กระวีกระวาดออกจากบ้านไปอย่างเร้นลับโดยไม่มีใครเห็น ตรงไปบ้านของกมลากรทันที ได้ทราบว่าตัวของเขาเองหาได้อยู่ในบ้านไม่ แต่ลงไปที่สวนแต่เช้า นางก็ติดตามไปถึงสวนหลังบ้าน แลเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ใต้ต้นไม้กำลังกลิ้งเกลือกไปมาบนเตียงซึ่งปูลาดด้วยใบบัวอันเย็นชื้น มีอาการกระสับกระส่ายถอนใจด้วยความกลัดกลุ้มอันเป็นผลของความรักอันเร่าร้อนและทรมานสุดขีด มีสหายคนหนึ่งคอยปรนนิบัติเขาอยู่ด้วยความเป็นห่วง โดยพัดวีด้วยใบตองที่ตัดมาสด ๆ นางก็กล่าวแก่ตัวเองว่า “อาการของหนุ่มน้อยแสดงว่าเป็นไข้ใจเพราะไม่ได้พบเห็นนางผู้เป็นที่รักของเขากระมังหนอ” คิดได้ดังนี้นางก็ตัดสินใจจะแอบดูเหตุการณ์ต่อไป

ระหว่างนั้นเอง สหายของกมลากรก็กล่าแก่ชายหนุ่มว่า “เพื่อนเอ๋ย ลองมองดูรอบ ๆ ตัวของเจ้าสิ ธรรมชาติในสวนนี้น่าเพลินตาเพลินใจนัก ดูแล้วจะช่วยให้เจ้าสบายใจขึ้นบ้าง อย่าทำตัวเป็นคนหมดอาลัยตายอยากอย่างนี้เลย” เมื่อพราหมณ์หนุ่มได้ฟังดังนั้นก็กล่าวตอบผู้เป็นสหายว่า “เพื่อนเอ๋ย หัวใจของข้าถูกอนงคมัญชรีธิดาวาณิชเด็ดเอาไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้อกของข้าก็ว่างโหวงเหวงไปหมด ข้าจะเอาจิตใจที่ไหนมารื่นเริงได้เล่า ยิ่งกว่านี้พระอนงค์ยังเอาข้าไปทำแล่งธนูของพระองค์อีกเล่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าเพื่อนจะช่วยเพื่อนละก็ ทำให้ข้าได้พบนางผู้เป็นยอดหทัยของข้าทีเถอะ”

เมื่อได้ยินพราหมณ์หนุ่มพูดดังนี้ นางมาลติกาผู้ซ่อนตัวแอบฟังอยู่ก็หายสงสัย มีความยินดียิ่งนัก จึงเผยตัวให้ปรากฎ และเดินไปหาชายหนุ่มและกล่าวว่า “จงเป็นสุขเถิด บัดนี้อนงคมัญชรีส่งข้ามาพบท่าน ให้ช่วยสื่อสารให้ท่านทราบว่า ยอดชายที่นางใฝ่ฝันนั้นคิดถึงนางบ้างหรือเปล่า เพราะเขาจู่โจมเข้ามาเด็ดดวงหัยของนางไว้ในกำมือ แล้วหนีนางไปดื้อ ๆ ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นอีก ก็แปลกดีนะ นางเป็นฝ่ายที่ถูกท่านปล้นเอาหัวใจไป นางกลับขอจำนนต่อท่านทุกอย่างทั้งร่างกายและชีวิตของนาง ทั้งวันทั้งคืน นางทนทุกข์เฝ้าแต่ถอนใจใหญ่และกระสับกระส่ายกลิ้งเกลือกตัวไปมา นางต้อทนทรมานเพราะพิษแห่งศรรักที่ปักอก แต่นางก็เหมือนทรายหลงศร ยอมตายอย่างเต็มใจเพราะศรรักนั้น น้ำตานางไหลรินไม่ขาดสาย พาเอาสีอัญชันที่ทาเปลือกตาพลอยละลายเลอะแก้มของนางน่าเวทนานัก ฉะนั้นถ้าท่านต้องการให้ช่วย ข้าจะช่วยให้ท่านและนางได้พบกันและสมประสงค์กันทั้งสองฝ่าย”

เมื่อนางมาลติกากล่าวอย่างนี้ กมลากรก็มีใจยินดียิ่งนัก ตอบนางว่า “โอ้ แม่นางผู้ใจบาม ถ้อยคำของท่านแม้จะปลอบข้าให้ชื่นใจ เพราะรู้ว่ายอดรักของข้ารักและคิดถึงข้าเช่นเดียวกัน แต่ข้าก็ยังเป็นห่วงางยิ่งนัก เพราะรู้ว่าข้าเองทำให้นางต้องเดือดร้อน และตรอมใจไร้ความสุขไปด้วย ในภาวะเช่นนี้ข้าก็เห็นแต่แม่นางเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเรา เพราะฉะนั้นท่านเห็นว่าควรจะทำอย่างไร ก็ทำตามที่ท่านเห็นสมควรเถิด” ได้ยินดังนั้นมาลติกาก็ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นคืนนี้ ข้าจะพาอนงคมัญชรีลงไปที่สวนขวัญอย่างลับ ๆ เพื่อไปดักพบท่านที่นั่น ข้าจะคอยอยู่ข้างนอกและช่วยเปิดประตูให้ท่าน และด้วยวิธีนี้นางกับท่านก็จะได้พบกันสมความปรารถนา” เมื่อมาลติกาแนะแผนดังกล่าวอันทำให้พราหมณ์หนุ่มหน้ามนเกิดความหวังดังนั้นแล้ว นางก็อำลากลับไปแจ้งให้อนงคมัญชรีทราบ ทำให้นางมีความปลื้มใจยิ่งนัก

ครั้นเมื่อดวงสูรยะคล้อยต่ำลง และค่อยหายไปพร้อมกับสนธยากาล ทำให้ท้องฟ้าเข้าสู่ความืดแลเห็นดาวสะพรั่งพรายเต็มท้องฟ้าระยิบระยับลำดับนั้น ดวงศศีก็เยี่ยมพ้นขอบฟ้าขึ้นมาส่องแสงขาวนวลสกาวแผ่ซ่านไปในวิศวากาศ ดอกบัวกุมุทก็ขยายกลีบเรียวแฉล้มฉลาต้อนรับแสงจันทร์ด้วยความยินดีประดุจจะกล่าวว่า “ความงามที่จากไปของเหล่าบัวในเวลากลางวัน ได้กลับมาหาข้าผู้เป็นบุปผาราตรีอีกครั้งหนึ่งแล้ว” ลำดับนั้นกมลากรคนรักของอนงคมัญชรีก็จัดกายแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันงดงาม เดินไปสู่ที่นัดหมายด้วยหัวใจที่ร้อนรนจนแทบจะคอยต่อไปไม่ไหว เมื่อไปถึงประตูสวนของอนงคมัญชรีก็หยุดคอยอยู่นอกประตู สักครู่หนึ่งมาลติกาก็ย่องมาเปิดประตูสวน พาพราหมณ์หนุ่มเข้าไปสู่แท่นหินใต้ต้นอโศกอันแผ่ร่มเงาสาขาเป็นที่ร่มรื่น กมลากรก้าวเข้าไปเผชิญหน้ากับนาง พอพ้นเงาไม้ แสงจันทร์อันสว่างก็ส่องลงมาอาบร่างดูประดุจรูปสลักงาช้าง งามสง่าหาที่ติมิได้ ราวกับพระกามเทพมาปรากฎพระองค์เฉพาะหน้า

อนงคมัญชรีผุดลุกขึ้นทันที หัวใจผวาต่อภาพที่เห็นประหนึ่งว่าภาพนั้นเป็นภาพมายาที่มาปรากฎให้หลงใหลชื่นใจชั่วขณะ และกำลังจะสลายหายวัดไป นางปราดเข้ากอดคอเขาไว้ ละล่ำละลักว่า “เจ้าหนีข้าไปไหน เจ้าหนีข้าไม่พ้นหรอกกมลากรเอ่ญ เจ้าจริง ๆ หรือนี่ กมลากร ข้าไม่ได้ฝันไปดอกหรือ” นางสะอื้นด้วยความรู้สึกที่เต็มตื้นสุดระงับ “ไม่นึกเลยว่าข้าจะได้พบเจ้าอีก ไหนขอดูหน้าให้เต็มตาสักนิดซิ” นางกอดเขาไว้แน่นด้วยความสุดเสน่หา เงยหน้าขึ้นสบตาอันเรียวยาวดั่งคันศรพระอนงค์แวบหนึ่ง พลางซบหน้าลงกับอกที่ผายผึ่งและแข็งแกร่งอย่างสิ้นแรง กมลากรรีบประคองไว้ทันที นางกระซิบว่า “ใช่แล้ว เจ้าเอง กมลากรของข้า ในที่สุดเจ้าก็มาหาข้าจนได้” ร่างงามดังอัปสรสวรรค์ของนางทรุดฮวบลง ดวงใจที่อัดแน่นด้วยความเสน่หาอันลึกซึ้งและร้อนแรงปานไฟเผา มิอาจะทนทานต่อไปได้ถึงกาลแตกสลาย นางสิ้นใจในวงแขนของเขาทันที กมลากรตกใจแทบสิ้นสติ ประคองร่างนางอันหาชีวิตไม่แล้ววางลงบนพื้น น้ำตานองหน้าด้วยความเสียใจสุดซึ้ง กล่าวด้วยความตกใจว่า “อนงคมัญชรี เจ้าหนีข้าไปแล้วหรือโธ่เอ๋ย ทำไมเป็นอย่างนี้”

กมลากรก้มลงมองดูใบหน้าของนางอันงามผ่องปานพระพักตร์ของพระปัทมาวดี (ปัทมาวดี หรือปัทมา พระลักษมีชายาของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ เป็นเทวีแห่งโชคลาภและความงาม) พลางจุมพิตและอุ้มนางขึ้นมากอดไว้ ร่ำไห้ด้วยความรักและความเสียดายอย่างสุดระงับ ความร้อนแรงปะทุขึ้นในอกราวภูผาอัคนีระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ชายหนุ่มทรุดฮวบลงเคียงข้างนางและขาดใจตาย

เมื่อนางมาลติกาเข้ามาดูก็เห็นคนทั้งสองกลายเป็นศพไปแล้ว นางตกใจและร่ำไห้ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพราะนึกไม่ถึงว่าอวสานจะมาถึงคู่รักทั้งสองอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ราตรีอันยาวนานก็ถึงความสิ้นสุดลงในเวลาใกล้รุ่ง ตอนเช้านั้นเอง ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายก็มากันพร้อมหน้า เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากปากคนทำสวน ก็เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน มีทั้งความประหลาดใจ พิศวง เศร้าโศกเสียใจ และเสียดายอย่างสุดซึ้ง ต่างก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรกับศพคนทั้งสอง

ขณะที่ตะลึงกันอยู่อย่างนั้นเอง มณิวรรมันสามีของอนงคมัญชรีก็เดินทางมาถึง หลังจากที่ไปเยี่ยมพ่อที่เมืองตามรลิปติชั่วคราว พอกลับมาถึงบ้านพ่อตาก็่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น มีความตกใจเป็นล้นพ้น รีบวิ่งมาสู่สวนขวัญทันที มีใบหน้าอันนองด้วยน้ำตา พอมาถึงก็เห็นเมีของเขานอนกอดกับชายอื่นและสิ้นใจตายเสียแล้ว ก็บังเกิดความเสียใจและเสียดายนางอย่างสุดซึ้ง หัวใจเขาก็แตกสลายวิ้นลมปราณในบัดดล ต่อมาไม่นาน ผู้คนทั้งหลายจากทุกทิศานุทิศได้ทราบข่าวก็รีบมายังที่เกิดเหตุ และเบียดเสียดยัดเยียดกันมุงดูด้วยความประหลาดใจ

ขณะนั้นเอง พระแม่เจ้าจัณฑีอันสถิตเป็นประธานในเาลัยของเศรษฐี ที่สร้างไว้เป็นทีสักการะส่วนตัวก็ก้าวลงจากแท่น และปรากฎพระองค์ให้ประจักษ์แก่สายตาของทุกคนในที่นั้น พร้อมด้วยคณะเทพบริวาร ญาติผู้ใหญ่ผู้หนึ่งของตระกูล จึงก้มลงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระเทวีผู้ทรงศักดิ์ เศรษฐีวาณิชผู้เป็นบิดาของนางอนงคมัญชรีชื่อ อรรถทัตต์ ได้สร้างเทวาลัยในสวนนี้เพื่อถวายแก่พระแม่เจ้า และเขามีความศรัทธาต่อพระแม่เจ้าด้วยใจภักดีไม่มีเสื่อมคลาย ขอพระองค์ทรงช่วยให้เขาพ้นวิกฤตกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” เมื่อพระเทวีผู้เป็นศิวชายา และเป็นนาถะของคนทั้งหลาย ได้ยินคำของร้องและเสียงสวดอ้อนวอนของเหล่าคณะเทพก็มีพระทัยเมตตายิ่งนัก ทรงประพรมน้ำทิพย์บนร่างของคนทั้งสาม ทำให้ฟื้นคืนสู่ความมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ต่างก็มีอาการเหมือนคนตื่นจากความฝัน เหลียวมองหน้ากันอย่างไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น พระเทวีจึงตรัสว่า “จงได้สติดเถิด เจ้าผู้เป็นมรรตัยชนทั้งสาม เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการกระทำของพระกามเทพผู้ทรงศรอันมีพิษร้ายกาจ ใครเล่าจะอาจต้านทานบุษปศรของพระมันมถะได้ บัดนี้เราได้ให้สติสัมปชัญญะคืนแก่เจ้าแล้ว พิษรักเป็นอันสิ้นสูญ เจ้าจงรู้จักฐานะอันแท้จริงของเจ้าเถิด กมลากรจงกลับไปบ้านของเจ้า จงลืมเสียให้หมดว่าเจ้าได้กระทำอะไรลงไป อนงคมัญชรีก็เช่นเดียวกัน จงลืมเหตุการณ์ครั้งนี้เสีย แล้วจงรักภักดีต่อสามีของเจ้า เพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขารักเจ้ายิ่งกว่าชีวิตของเขาเสียอีก ข้าขอให้พรแก่เจ้าทั้งสองจงมีความสุข ในความรักของเจ้าตลอดไปเถิด” สิ้นเทวดำรัสร่างของพระจัณฑีก็หายวับกลับไปสู่เทวาลัยตามเดิม

เมื่อเวตาลเล่านิทานของตนจบลงในระหว่างการเดินทางแล้ว ก็ตั้งปัญหาถามพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า “โอ ราชะ ทรงตอบข้าสิว่า ในจำนวนคนที่ตายเพราะความรักทั้งสามคนนั้น คนไหนเล่าที่มีความรักอันแท้จริงยิ่งกว่าคนอื่น ๆ อย่าลืมนะพระเจ้าข้า แม้รู้แล้วไม่ตอบ พระเศียรจะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ แน่ ๆ” เมื่อพระราชาได้ฟังปัญหาของเวตาลเช่นนี้ก็ตรัสตอบว่า “ข้าเห็นว่า มณิวรรมันน่าจะเป็นคนที่มีความรักแท้จริงมากที่สุด เพราะความรักของอนงคมัญชรีกับกมลากรเป็นความรักแบบคนตาบอด ไม่มีเหตุผล และไม่มีความละอาย จะเรียกว่าเป็นความรักที่เห็นแก่ตัวของคนสองคนนั้นก็ได้ ส่วนมณิวรรมันนั้นมีความรักอนงคมัญชรีอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเขาเห็นนางผู้เป็นภรรยาของเขานอนตายในอ้อมกอดของชายอื่น เขาก็มิได้ตำหนินางหรือโกรธนาง เพราะเขามิได้เห็นว่าคนทั้งสองกำลังหลู่เกียรติของเขาเลยแม้แต่น้อย เขาทนได้เพราะรักนางอย่างแท้จริง เขามิได้เห็นว่าใครจะมีค่าสำหรับเขายิ่งไปกว่านาง และด้วยความรักความเสียดายนางเป็นล้นพ้นทำให้เข้าต้องตายลงด้วยความรัก ดังนั้นมณิวรรมันจึงควรนับได้ว่าเป็นผู้มีความรักอย่างแท้จริงในกรณีนี้”

เมื่อพระราชาตรัสเฉลยดังนี้ เวตาลเจ้าเล่ห์ก็ได้โอกาสหายวับกลับไปสู่ถิ่นพำนักของตนด้วยความสะใจ ทำให้พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องเสด็จกลับไปตามทางเดิมเพื่อเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๒๐ เรื่องของพระเจ้าจันทราวโลก กับรากษส

 นิทานเรื่องที่
๒๐

          แล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็จำพระทัยเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง นำตัวเวตาลขึ้นวางไว้บนพระอังสา แล้วพากลับไป ทรงรักษาความเงียบไว้อย่างดี ไม่ตรัสอะไรเลย เวตาลก็ไม่ยอมแพ้ กล่าวกระตุ้นขึ้นว่า “ราชะ ไฉนจึงนิ่งเฉย ฉะนี้ ราตรียังอยู่อีกยาวนาน จะรีบร้อนแบกข้าไปให้เจ้าโยคีทุศีลนั่นทำไมกัน เอาเถอะถ้ายังทรงดึงดันอยู่อีกก็ตามใจสิ แต่ลองฟังนิทานสนุก ๆ ของข้าสักเรื่องมิดีกว่าหรือ”

           แต่โบราณมีนครแห่งหนึ่งชื่อ จิตรกูฏ เป็นชื่อที่ไพเราะเหมาะสมชื่อหนึ่ง นครนี้ไม่มีการแบ่งแยกถือผิวถือวรรณะอะไรทั้งสิ้น มีพระราชาองค์หนึ่งปกครองแว่นแคว้นอยู่ ทรงพระนามว่า จันทราวโลก ผู้เป็นประดุจยอดมงกฎแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงหลั่งสายธารแห่งอมฤต คือความเมตตาปรานีแก่ทวยนาครของพระองค์โดยทั่วหน้า นักปราชญ์ทั้งหลายพากันถวายคำสรรเสริญสดุดีพระองค์ว่า ทรงหนักแน่นมั่นคงในความกล้าหาญเหมือนสาตะลุงที่ผูกช้าง เป็นผู้มีพระทัยกว้างขวางที่สุด และเป็นพลับพลาแห่งความรื่นรมย์และเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามบนพื้นพิภพ อย่างไรก็ดี พระราชาก็ยังมีความระทมทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ในพระทัย นั่นก็คือ ถึงแม้จะทรงมั่งคั่งในธนสารสมบัติอันมโหฬาร และมีอานุภาพอันเต็มเปี่ยมอย่างนี้ก็จริง พระองค์ก็ยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือชายาอันเหมาะสมจะเคียงคู่พระองค์ในราไชศวรรย์นี้

           วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดิน ทรงม้าพระที่นั่งแวดล้อมข้าราชบริพารออกไปประพาสป่าใหญ่เพื่อทรงล่าสัตว์ เพื่อให้หายกลุ้มพระทัย พระองค์ทรงเป็นผู้สามารถในการายิงธนูเป็นสายติดต่อกันจากแล่ง ถูกเป้าหมายคือฝูงหมาป่าอย่างแม่นยำเหนือกว่าพระอรชุน (พระอรชุน กษัตริย์ปาณฑพองค์ที่ ๓ ในเรื่องมหาภารตะ เป็นโอรสของพระอินทร์กับนางกุนตี มเหสีของพระเจ้าปาณฑแห่งจันทรวงศ์ เจ้าชายอรชุนเป็นยอดนักรบซึ่งมีฝีมือเป็นเยี่ยม หาใครเสมอมิได้) ผู้ทรงพลัง และทรงสามารถพิชิตราชสีห์ผู้แกล้วกล้าด้วยฝีพระหัตถ์ในการยิงธนู ทำให้มันล้มลมบนเตียงแห่งลูกธนู (เตียงแห่งลูกธนู หมายถึง เจ้าชายภีษมะผู้เฒ่าในเรื่องมหาภารตะ ถูกพระอรชุนผู้เป็นหลานยิงด้วยลูกธนูในสงครามมหาภารตะนั้น ลูกธนูได้เสียบร่างของภีษมะเต็มไปหมด หาช่องว่างมิได้ เจ้าชายก็ล้มลงกลางสมรภูมิบนลูกศรทั้งหลายที่เสียบร่างจนกลายเป็นเตียงในสนามรบ และเจ้าชายภีษมะนอนนิ่งอยู่บนเตียงลูกศรนั้นจนสิ้นมหาสงคราม) อันเสียบโดยรอบจนแทบจะหาที่ว่างมิได้ ทรงมีกำลังกายอันทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ (ทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ พระอินทร์ตามเรื่องในสมัยพระเวท มีลักษณะต่างกับพระอินทร์ในยุคหลัง เพราะสมัยพระเวทนั้นพระอินทร์เป็นจอมทัพของเหล่าเทวดา มีรูปร่างอ้วนใหญ่ทรงพลังไม่มีใครเสมอเหมือน มิใช่เป็นบุรุษแน่งน้อยงดงามอย่างที่ปรากฎในสมัยหลัง ๆ นี้) ในการตัดปีกภูเขาทั้งหลาย มีภูเขาศรภะเป็นต้น (ตัดปีกภูเขาทั้งหลาย ในวรรณคดีสันสกฤตยุคพระเวท ภูเขาทั้งหลายยังมีปีกสามารถบินไปไหนมาไหนได้ พระอินทร์จึงเอาวัชระตัดปีของภูเขาเสีย ทำให้ภูเขาหมดฤทธิ์ที่จะเคลื่อนไหวได้อีก) ให้ขาดกระเด็นด้วยโตมรอันคมแข็งดังวัชรายุธ ระหว่างที่ทรงขับม้าเลียบไปตามชายป่านั้น พระราชาเกิดความปรารถนาอย่างเร้นลับในพระทัย อยากจะแยกทางจากบริวารเข้าไปให้ถึงใจกลางแห่งมหาพนป่าใหญ่นั้น ซึ่งเป็นที่อันไกลสุดกู่และไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในฉับพลันพระราชาก็ทรงกระตุ้นสีข้างม้าอย่างแรงพร้อมกับหวดควับด้วยแซ่ ทำให้มันแผ่นโผนโจนทะยานพุ่งไปอย่างสุดฤทธิ์ พาพระราชาเตลิดเข้าไปในป่าทึบ แยกจากเหล่าข้าราชบริพารซึ่งขับตามมาไม่ทัน ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วดังลมพัด ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวก็มาไกลถึงสิบโยชน์

           เมื่อมาถึงที่นั้นม้าก็หยุดลง พระราชาทรงเหน็ดเหนื่อยอิดโรยเต็มที ทรงลงจากหลังม้าพระที่นั่ง แล้วดำเนินดูโดยรอบบริเวณก็แลเห็นทะเลสาบใหญ่อยู่ไม่ไกลจากที่นั้น มีกอบัวไกลลิบ ๆ อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งเมื่อลมพัดผิวน้ำเป็นคลื่นน้อย ๆ ทยอยเข้าสู่ฝั่งก็ดูกระเพื่อมเหมือนดั่งจะชวนเชิญให้พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ พระราชาจูงม้ามาริมน้ำ ปลดบังเหียนและอานม้าที่ผูกมันออก ปล่อยมันลงไปอาบน้ำ เสร็จแล้วทรงจูงมันไปผูกไว้กับต้นไม้ที่ให้ที่ให้ร่มเงาต้นหนึ่ง หลังจากนั้นพระราชาทรงสรงสนานด้วยความเบิกบานพระทัย และเสวยน้ำจนสิ้นความกระหาย ทำให้คลายจากความอิดโรยเป็นอันมาก ทรงนั่งพักอยู่สักครู่และทอดพระเนตรดูภูมิทัศน์โดยรอบทะเลสาบ และแลเห็นว่าริมทะเลสาบด้านหนึ่งมีต้นอโศกขึ้นอยู่ต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาไปโดยรอบ ที่โคนต้นอโศกนั้นมีหญิงสาวกลุ่มหนึ่งชุมนุมกันอยู่ นางที่ดูเป็นหัวหน้านั้นมีรูปลักษณ์งามบาดใจยิ่งนัก นางสวมมาลาดอกไม้เป็นเครื่องประดับศีรษะ และนุ่งห่มด้วยผ้าเปลือกไม้ ซึ่งบอกให้รู้วานางเป็นลูกสาวคนหนึ่งของฤษี นางดูอ่อนวัย และมีเสน่ห์ตลอดเรือนร่าง ผมดำขลับของนางถูกเกล้าเป็นมวย (เมาลี) ตามแบบของดาบสินี (นางดาบส) โดยทั่วไป

           ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นนางเพียงครั้งแรกก็ถูกศรรักระดมยิงหฤทัยราวห่าฝน มีความหลงใหลเพ้อพกถึงกับตรัสแก่พระองค์เองด้วยความรัญจวนว่า “นางเป็นใครกันหนอ หรือว่านางคือพระเทวีสาวิตรี (เทวีสาวิตรี เทวีแห่งอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์ เป็นชายาของพระพรหม เรียกกันว่าสาวิตรี หรือพรหมี ทรงถือพิณและมีนกยูงเป็นพาหนะ) เสด็จลงมาประทับสระสนานที่ทะเลสาบแห่งนี้ ถ้ามิใช่ นางคือพระเคารีเทวีพลัดจากอ้อมพระกรของพระศิวะลงมาบนแดนดิน และกลับคืนเป็นหญิงชาวเขา (ปารวตี) เพื่อบำเพ็ญพรตตามเดิม (หญิงชาวเขา (ปารวตี หรือบรรพตี) หมายถึงพระอุมาผู้เป็นชายาของพระศิวะ (อิศวร) นางได้ชื่อว่าหญิงชาวเขาเพราะนางเป็นธิดาของพระหิมวัต (ภูเขาหิมาลัย) และเป็นน้องสาวของพระคงคาด้วย นางปารวตีหลังจากที่พระศิวะเริ่มรักนางอันเป็นผลของศรกามเทพแล้วเสด็จหนีไป นางได้ไปบำเพ็ญพรตอย่างอุตกฤษเป็นเวลาช้านาน พระศิวะจึงได้กลับมาและให้นางเป็นชายาของพระองค์ในที่สุด) หรือว่านางคือนางงามอันเกิดจารัศมีพระจันทร์ (นางอันเกิดจากรัศมีพระจันทร์ คือนางมาริษาเทวี ซึ่งเกิดจากนางอัปสรชื่อ ปรัมโลจา โดยนางอัปสรวิ่งหนีจากอาศรมของฤษีกัณฑุด้วยความเกรงกลัว ขณะที่นางเหาะไปนางสะบัดเหงื่อของนางกระเด็นไปติดบนกิ่งไม้ในป่า ตอนกลางคืนพระจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้า แสงพระจันทร์ส่องไปกระทบหยาดเหงื่อบนใบไม้ทำให้กลายเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างสวยงาม นางได้รับนามว่ามาริษาเทวี) และกำลังบำเพ็ญตบะอยู่ เพราะฉะนั้นข้าควรจะทำความรู้จักนางอย่างเงียบ ๆ และค้นหาความจริงให้รู้ให้ได้ ตรึกได้ดังนั้นแล้ว พระราชาก็เสด็จเข้าไปใกล้นาง

           แต่เมื่อนางเห็นพระองค์เดินเข้ามาหา นัยน์ตานางก็เบิกกว้างด้วยความประหลาดใจที่ได้เห็นความงามของพระราชา มือที่กำลังร้อยมาลาก็ตกลงโดยไม่รู้สึกตัว รำพึงว่า “เขาคือใครหนอที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงนี่ได้ เขาคือสิทธะ หรือเป็นวิทยาธรกันแน่ จะว่าไป เขาก็เป็นคนรูปงามนักหนา สมควรที่จะอวดคนได้ทั่วโลก” เมื่อนางคิดดังนี้ก็ค่อยลุกขึ้น เหลือบตาดูชายหนุ่มด้วยความสะเทิ้นอายแล้วเดินจากไป หัวใจของนางร้อนรุ่มไปหมด และขาก็พาลจะหมดเรี่ยวแรงที่จะก้าวต่อไปอีกด้วย

           พระราชาหนุ่มผู้สุภาพอ่อนโยนและมีความอุตสาหะ จึงเสด็จเข้าไปใกล้นาง และตรัสว่า “แม่รูปงาม ข้าจะไม่ถามเจ้าละว่าเจ้าเป็นใคร จึงไม่รู้จักมาต้อนรับข้าผู้มาจากแดนไกลแะละเพิ่งพบเจ้าเป็นครั้งแรก ข้ามีไมตรีอันดีต่อเจ้า ข้าไม่ได้หวังผลอะไรจากเจ้าหรอก เพียงแต่อยากเห็นเจ้าให้เต็มตาเท่านั้นแหละ เจ้าจะหนีข้าไปไยเล่า หรือว่าเพราะเจ้าเป็นนางดาบส เจ้าจึงจำต้องประพฤติอย่างเคร่งครัดไม่ยอมพบผู้ชายง่าย ๆ” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ นางก็จำต้องนั่งลงท่ามกลางบริวารของนางด้วยอาการประหม่าขวยเขิน และกล่าวต้อนรับพระราชาด้วยเสียงอันเบาแผ่ว

           ดังนั้นพระราชาก็กล่าวแก่เธอด้วยความพิศวาส และอ่อนโยนว่า “ดูก่อนภัฏฏินี (ภัฏฏินี นางผู้เจริญ, หญิงผู้ดี) เจ้าเป็นศรีแห่งสกุลใดอันเป็นที่ยกย่องนับถือของสหายของเจ้า และทำไมเจ้าจึงต้องมาทนระกำลำบากอยู่ในวนาลัยนี้ เพื่อรับใช้เหล่ามุนีทั้งปวง และเจ้ามีนามว่าอะไรเล่า” เมื่อนางพี่เลี้ยงของนางได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นก็อธิบายว่า “สาวงามผู้นี้เป็นธิดาของพระมหาฤษีกัณวะ แม่นางชื่อเมนกา เป็นนางอัปสร ผู้มีนามอันเบื่องลือตลอดสามโลก ส่วนลูกสาวของนางได้รับการเลี้ยงดูและอบรมมาในหมู่ฤษีเหล่านั้น และได้รับนามว่า อินทีวรประภา (อินทีวรประภา ชื่อของหญิงงามผู้หนึ่งรู้จักกันในนามของนางศกุนตลา ลูกบุญธรรมของฤษีกัณวะ ต่อมาได้เป็นมเหสีของท้าวทุษยันต์ (จันทราวโลก) มีโอรสด้วยกันองค์หนึ่ง ชื่อพระภรต ได้เป็นจักรพรรดิเจ้าโลก และเป็นต้นกำเนิดของชาวอินเดียทั้งมวลซึ่งเรียกตนเองว่า “ภารตะ” แปลว่า “ลูกหลานของพระภรต”) นางมาอาบน้ำในสระวันนี้ โดยได้รับอนุญาตจากบิดาของนาง และอาศรมของพระมุนีก็อยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก”

           เมื่อนางพี่เลี้ยงกราบทูลดังนี้ พระราชาก็ดีพระทัย เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งวิ่งตรงไปยังอาศรมของพระกัณวมุนี ด้วยความประสงค์จะถามเรื่องบุตรสาวของท่านให้รู้โดยแจ้งชัด เมื่อมาถึง พระราชาลงจากม้า ปล่อยไว้ในที่ใกล้แล้วเข้าไปสู่อาศรมพระดาบสด้วยความนอบน้อม พระกัณวะนั่งอยู่บน่อาสนะตรงกลางแวดล้อมด้วยเหล่าฤษีบริวารเป็นอันมาก เรือนร่างของพระมหามุนีเปล่งแสงสุกสว่างเหมือนดวงเดือนอันแจ่มกระจ่างท่ามกลางดาวฤกษ์ทั้งหลาย ดังนั้นพระราชาจึงตรงเข้าไปนมัสการและกอดเท้าพระมหาชฏิลไว้ด้วยความเคารพ พระมุนีผู้ฉลาดก็ให้การต้อนรับพระราชาเป็นอย่างดี ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยของพระราชาหายไป และโดยไม่ยอมให้เสียเวลา พระมุนีก็กล่าวแก่พระราชาว่า “จันทราวโลกลูกเอ๋ย จงตั้งใจฟังคำแนะนำที่ข้าจะสั่งแก่เจ้าให้ดี ๆ นะ เจ้าก็รู้มิใช่หรือ ขึ้นชื่อว่า สัตว์โลกย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เหตุใดเจ้าจึงฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เช่นฆ่ากวางที่น่าสงสารโดยไม่มีสาเหตุ พระเป็นเจ้าทรงกำหนดให้อาวุธของนักรบให้มีไว้เพื่อป้องกันผู้อ่อนแอมิใช่หรือ ดังนั้นจกปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม กำจัดศัตรูทังปวงที่มาย่ำยีแว่นแคว้น จงรักษาทรัพย์สินของราษฎรอย่าให้เป็นอันตรายด้วยกำลังทหารช้าง ทหารม้า และอื่น ๆ จงมีความยินดีในการปกครอง ให้ทานและประกาศเกียรติคุณให้ตลอดทั่วโลก แต่เจ้าควรเลิกการล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมเสีย จะมีประโยชน์อะไรกับการไล่ล่าประหัตประหารสัตว์ป่า ทั้งที่สัตว์ป่าก็ดี ผู้ที่ล่ามันก็ดี หรือแม้แต่สัตว์พาหนะ สัตว์ใช้งานทั้งหลายก็ดี ทั้งหมดนี้มีชีวิตเป็นที่รักของตนเองทั้งสิ้น บรรดาสัตว์ทังหลายที่เกิดมาในโลกล้วนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันทั้งสิ้น เจ้าไม่เคยได้รู้ได้ยิน เรื่องราวของพระเจ้าปาณฑุ (ผู้มีผิวขาวซีด เป็นชื่อของกษัตริย์จันทรวงศ์องค์หนึ่ง) เลยหรือ”

           พระราชาผู้มีปัญญาเลิศ (พระเจ้าจันทราวโลก) ได้ฟังก็มีพระทัยยินดี ทรงรับอนุศาสน์จากรพะฤษีกัณวะด้วยพระทัยแช่มชื่น และกล่าวด้วยความเคารพว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ข้าได้รับการสั่งสอนจากพระคุณท่าน ข้ารู้สึกซาบซึ้งยิ่งนัก จะปฏิบัติตามโอวาทของท่านทุกอย่าง ข้าขอประกาศไว้ ณ ที่นี้ ว่า ข้าจะเลิกล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมนี้เสียตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้สัตว์มีชีวิตด้วยความผาสุก ไม่ต้องหวาด หวั่นต่ออันตรายอีกต่อไป” เมื่อพระมุนีได้ฟังก็ยินดีเป็นอันมาก กล่าวอนุโมทนา “ข้ายินดีด้วยกับเจ้าที่เจ้าให้อภัยต่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่ก่อเวรต่อไป ดังนั้นข้าจะให้พรแก่เจ้า เจ้าประสงค์สิ่งใดก็จงขอมาเถิด” เมื่อพระมุนีกล่าวดังนี้ พระราชาก็พอพระทัยมาก รีบสนองตอบทันทีว่า “ถ้าพระคุณเจ้าจะเมตตาต่อข้าจริง ๆ แล้ว ข้าขอนางอนทีวรประภาธิดาของท่านเพียงอย่างเดียว” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ พระมหาฤษีก็ยกนางให้ตามปรารถนา ในขณะที่นางโสรสรงเสร็จมาใหม่ ๆ และทำพิธีแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์แก่บุคคลทั้งสอง ในขณะที่นางชายาทั้งหลายของพระมุนี ต่างก็แสดงความยินดีและอวยชัยให้พรแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วพระราชาจันทราวโลกก็อุ้มนางอัปสรธิดาขึ้นนั่งบนหลังม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระอาศรม มีเหล่าฤษีดาบสตามมาส่งจนลับตา เมื่พระราชาเสด็จไปตามทางนั้น ดวงสูรยะเพิ่งคล้อยต่ำลงสู่ยอดเขาและลับดวงไปในมิช้า เวลาย่ำค่ำเริ่มต้นด้วยนางอัปสรราตรีผู้มีนัยน์ตาดังมฤคเนตร เริ่มปรากฎตัวด้วยเรือนร่างอันงาม มีพัสตราภรณ์สีม่วงเป็นเครื่องนุ่งห่มเหมือนสีแห่งราตรี

           ในขณะนั้น พระราชาอุ้มนางเสด็จไปตามทาง ทรงแลเห็นต้นอัศวัตถะ (บาลีเรียก อัสสัตถะ หมายถึง ต้นโพ) ขึ้นอยู่ริมทะเลสาบ อันมีน้ำใส่บริสุทธิ์เฉกเช่นน้ำใจของสัตบุรุษ และทรงเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่ร่มรื่นไม้ใบบังเป็นที่ร่มเย็น มีเนินหญ้านุ่มนิ่มน่านั่งนอน จึงตกลงพระทัยว่าจะหยุดพักแรมที่นั่น ดังนั้นจึงเสด็จลงจากม้า ให้มันกินหญ้ากินน้ำ เสร็จแล้วพระราชาก็เอนองค์ลงบรรทมบนผืนทรายอันละเอียดอ่อน หลังจากที่เสวยน้ำแล้ว และนอนผึ่งลมอันเย็นและลูบไล้พระกายด้วยความอ่อนโยน ยามรำเพยพลิ้วแผ่วมาเป็นระยะตลอดราตรี พระราชาบรรทมด้วยนางผู้เป็นที่รักอย่างแสนสุข ขณะนั้นดวงศศีก็ค่อยปรากฎบนท้องฟ้า ฉายแสงสีขาวนวลละไมแผ่ไปในฟากฟ้า ขับไล่ความมืดของราตรีให้เจือจางลง

           เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ พระราชาบรรทมตื่นขึ้นพอดีแสงสุวรรณารุณฉายจับขอบฟ้า ทรงสวดบูชาสูรยะตามประเพณี แล้วลงสรงสนานในทะเลสาบ จากนั้นก็เตรียมเดินทางต่อ ขณะนั้นเองก็แลเห็นพราหมณาสูรตนหนึ่ง ดำราวกับถ่านผมเหลืองเหมือนสายฟ้า รวมกันเข้าแล้วก็เหมือนกับสายฟ้าในเมฆมืด อสูรตนนี้สวมศิรมาลา มีสายยัชโญปวีตเฉวียงบ่า (ยัชโญปวีต เส้นดายดิบถักเป็นเส้นสังวาลใช้สวมเฉวียงบ่า เป็นสัญลักษณ์ของพวกพราหมณ์บางทีเรียก สายธุรำมงคล) มันกำลังแทะเศีรษะคนที่ตกอยู่ในมือมัน โดยกัดกระชากเนื้อบนศีรษะ และดื่มโลหิตจากกะโหลกนั้น พรหมณ์ปีศาจผู้มีเขี้ยวเง้งแสยะน่าสยดสยอง มันอ้าปากกว้างและหัวเราะด้วยเสียงอันชวนให้ขนหัวลุก และพ่นเปลวไฟพิโรธออกจากปากของมัน แล้วคำรามคุกคามพระราชาว่า “อ้ายคนสาระเลว จงรู้เอาไว้ว่า กูนี่แหละเป็นพรหมณ์อสูรชื่อ ชวาลามุข และต้นอัศวัตถะต้นนี้ก็เป็นที่อาศัยของกู ไม่เคยมีใครบุกรุกเข้ามาที่นี่ไม่ว่ามันจะเป็นหน้าอินทร์หน้าพรหมคนไหน แต่มึงอวดดีบุกเข้ามานอนที่นี่พร้อมกับเมียของมึง กูท่องเที่ยวไปตามความพอใจของกูตลอดคืน พอกลับมาก็เห็นมึงนอนอยู่ที่นี่แล้ว เพราะฉะนั้นจงเตรียมตัวรับโทษเถอะ แน่ะ อ้ายคนชั่ว ฟังให้ดี กูจะฉีกเนื้อของมึงเป็นชิ้น ๆ แล้วจะกินหัวใจของมึงให้สาสมกับความทะลึ่งทะเล่อทะล่าเข้ามาในที่ของกู จากนั้นกูจะดื่มเลือดสด ๆ ของมึงเสีย”

           เมื่อพระราชาได้ทรงฟังวาจาคุกคามของอสูรเช่นนั้น ประกอบกับได้เห็นนางผู้เป็นชายาตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ และทรงรู้ดีว่าไม่มีทางสู้มันได้ จึงพูดกับมันด้วยความสะทกสะท้านว่า “ข้าขออภัยอย่างยิ่งในการที่โง่เชลาไม่รู้จักกาลอันควรและไม่ควร แต่ข้าเข้ามาที่นี้ก็เพราะว่าต้องการขอความกรุณาขออาศัยแรมคืนเพียงชั่วคืนเดียว รุ่งเช้าข้าก็จะไป ไม่มีเจตนาจะบุกรุกที่ของท่านหามิได้ และเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน ข้าจะให้สิ่งอันท่านปรารถนา โดยจะส่งมนุษย์ผู้มีเนื้ออันหอมหวานมาให้แก่ท่าน ท่านจะได้กินอย่างเอร็ดอร่อย และหายโกรธข้ากับเมียลงบ้าง” เมื่ออสูรพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็คลายความโกรธลง และพูดกับตัวเองว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ใช้ได้” หลังจากนั้นก็กล่าวแก่พระราชาว่า “ข้าจะอดโทษที่เจ้าดูหมิ่นข้าไว้สักครั้ง แต่เจ้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้าคือ เจ้าจะต้องหาเด็กพราหมณ์มาให้แก่ข้าคนหนึ่ง ถึงแม้จะอายุถึงเจ็ดขวบก็ยังใช้ได้ แต่ขอให้เป็นเด็กฉลาด มีตระกูลผู้ดี และพร้อมที่จะสละตนเพื่อเห็นแก่เจ้า ให้พ่อและแม่ของเด็กวางลูกลงบนพื้นดิน จับแขนขับขาไว้ให้แน่นระหว่างที่กำลังทำพิธีสังเวยอยู่ และจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหาเหยื่อตามที่ว่านั้นได้ เจ้าจะต้องเป็นผู้สังหารเด็กนั้นด้วยการฟันเพียงฉับเดียว แล้วนำร่างเด็กคนนั้นมาให้ข้าในวันที่ ๗ หลังจากนั้น แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ โอ ราชะ ข้าจะฆ่าเจ้าเสียและทำลายราชสำนักของเจ้าให้สิ้นสูญภายในชั่วพริบตาเดียว” เมื่อพระราชาได้ฟังก็ตกพระทัยอย่างยิ่ง รีบตอบตกลงตามข้อเสนอทุกประการ ทันใดนั้นอสูรพราหมณ์ก็หายวับไปทันที

           ฝ่ายพระราชาจันทราวโลก เมื่ออสูรหายไปแล้วก็เสด็จขึ้นหลังม้าพร้อมด้วยพระชายาอินทีวรประภา เที่ยวติดตามหาทหารผู้เป็นบริวารซึ่งพลัดพรากกันในวันประพาสล่าสัตว์ ด้วยพระหฤทัยอันเศร้าหมองและเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อขับม้ามาตามทางทรงรำพึงว่า “อนิจจาเอ๋ย เพราะการล่าสัตว์กับความรักทำให้ข้าหลงไป จึงต้องมาประสบความฉิบหายเหมือนอย่างกษัตริย์ปาณฑพ (เจ้าชายปาณฑพ เจ้าชาย ๕ องค์ โอรสของพระเจ้าปาณฑุกับนางกุนตี (สามองค์แรก) และองค์ที่ ๔, ๕ เป็นโอรสฝาแฝดเกิดจากนางมาทวีผู้เป็นมเหสีองค์ที่ ๒ เจ้าชายปาณฑพเล่นการพนันจนหมดตัว ถูกขับไล่ไปเดินป่า ๑๒ ปี) แท้เทียว ช่างโง่เขลานี่กระไร ข้าจะมีปัญญาไปหาเหยื่อมาให้รากษสได้ที่ไหน และต้องทำตามอย่างที่มันบรรยายเอาไว้ด้วย ฉะนั้นในระหว่างนี้ข้าควรจะกลับบ้านเมืองก่อนดีกว่า จะคอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น” ขณะที่ทรงรำพึงอยู่ก็พอดีกองทหารที่ติดตามหาพระองค์ติดตามมาทัน ดังนั้นทั้งหมดจึงเดินทางกลับพระนครจิตรกูฏ ทำให้ราษฎรทั้งหลายมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าพระราชาของตนได้พระชายาแล้ว แต่พระราชานั้นหาได้มีความสุขในพระทัยไม่ ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องที่จะบังเกิดต่อไปด้วยความหดหู่พระทัยอยู่มิวาย

           วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงเรียกเหล่ามนตรีเข้ามาปรึกษาหารือเป็นความลับ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ในป่า มนตรีที่ไว้ในได้ผู้หนึ่งจึงกราบทูล่า “ข้าแต่มหาราช ขออย่าได้ทรงกังวลพระทัยเลย ข้าขอรับอาสาเป็นผู้สืบหาเด็กดังกล่าวมาถวายแด่พระองค์เอง เรื่องแปลก ๆ ในโลกอย่างนี้คงจะหาไม่ยากนัก”

           เมื่อมนตรีได้ปลอบโยนพระราชาของตนแล้ว ก็เร่งรีบกระทำการตามแผนของตนอย่างรวดเร็วที่สุดคือ ให้นายช่างหล่อรูปเด็กเจ็ดขวบด้วยทองคำ แล้วประดับหูทั้งสองด้วยกุณฑลเพชร ต่อจากนั้นเอารูปปฏิมาลงวางในเกวียน แล้วขับลากไปในเมืองต่าง ๆ ตามหมู่บ้านทั้งหลาย และที่ชุมชนของคนเลี้ยงสัตว์ ในระหว่างทางที่เกวียนของรูปปฏิมาแล่นไปนั้น มนตรีก็ป่าวประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกข้างหน้ารูปปฏิมา พร้อมกับตีกลองไปข้างหน้าว่า “เจ้าข้าเอ๊ย บ้านนี้และช่องนี้ ใครมีเด็กพราหมณ์อายุ ๗ ขวบ และเต็มใจจะเสนอตัวเองให้เป็นพลีแก่พรหมณ์อสูร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนก็ให้บอกมาด้วย และถ้าพ่อแม่ของเด็กจะมอบเด็กให้เป็นพลี โดยยึดเท้ายึดมือให้แน่นในระหว่างการฆ่าเด็กแล้วไซร้ พระราชาจะให้ค่าตอบแทนสำหรับเด็กนั้น ผู้ซึ่งเห็นแก่ความอนุเคราะห์พ่อแม่ด้วยความกตัญญู โดยยกรูปหล่อทองคำประดับเพชรพลอยรูปนี้ให้เป็นรางวัล พร้อมกับส่วยอีกหนึ่งร้อยหมู่บ้าน

           ปรากฎว่าในละแวกนั้น มีเด็กพราหมณ์คนหนึ่งอายุ ๗ ขวบ ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินอุปการะทีพระราชาทรงเลี้ยงดูแก่พราหมณ์ เด็กผู้นี้เป็นผู้กล้าหาญอย่างยอดยิ่ง และมีกิริยามารยาทอันน่าชม เมื่อได้ยินการตีฆ้องร้องป่าวดังนั้น เด็กผู้นี้ถึงจะเป็นผู้มีอายุน้อย แต่ก็เฉลียวฉลาด มีคุณธรรมดีงาม อันได้สะสมมาแต่ชาติก่อน และเป็นผู้ที่จะยังพระราชาให้สำเร็จประโยชน์ในชาตินี้ เขาจึงก้าวออกมาพูดกับผู้ป่าวประกาศว่า “ข้ายินดีสละตัวข้าเองเป็นพลีแก่พระราชาด้วยความเต็มใจ ข้าจะกลับไปแจ้งเรื่องแก่พ่อแม่ของข้า แล้วจะกลับมาหาเจ้า” เมื่อเด็กน้อยกล่าวดังนี้ ผู้ประกาศก็ดีใจมาก และให้เด็กกลับไปบ้าน เด็กน้อยกลับไปบ้านก็กระทำความเคารพอย่างนอบน้อมต่อบิดามารดาของตน และกล่าวว่า “ลูกจะพลีตัวเองเพื่อประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลายด้วยร่างกาย อันจะมีแต่ความผุพังเปื่อยเน่าร่างนี้ โปรดอนุญาตลูกเถิด ขอให้ลูกได้ยุติความยากจนของพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไปพลีชีวิตต่อพระราชา พระองค์จะพระราชาทานรูปหล่อทองคำให้แก่ลูก และยังแถมด้วยส่วยอีกร้อยหมู่บ้าน เมื่อลูกได้รับพระราชทานมาแล้ว ลูกจะยกให้พ่อแม่ทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้ ลูกจักได้ชื่อว่าทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกมา ความยากจนของเราก็จะได้สิ้นสุดลงเสียที และพ่อแม่ก็ยังจะมีลูกอีกหลายคนมาแทนลูกคนนี้”

           พอได้ฟังลูกชายกล่าวดังนั้น พ่อและแม่ก็พูดว่า “เจ้าพูดอะไรอย่างนั้นเล่าลูก เจ้าปั่นป่วนเพราะลมพัดจนหัวหมุนหรือไร หรือว่าเจ้าถูกดาววิ่งมาชนกระนั้นหรือ ถ้าเจ้าไม่ได้เป็นสองประการนี้ เจ้าจะพูดบ้า ๆ อย่างนี้ได้อย่างไร มีมนุษย์ที่ไหนเขายอมแลกชีวิตลูกชายกับทรัพย์สมบัติบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสมบัติมหาศาลปานใด มีตัวอย่างที่ไหนที่ลูกมาขอให้เขาเอาตัวไปเป็นพลี” เมื่อบุตรชายได้ฟังบิดามารดาดังนั้นก็อธิบายว่า “ลูกไม่ได้พูดเพราะสติเลอะเลือนแต่อย่างใดหรอก ฟังลูกพูดสักนิด ก็ร่างกายของคนเรานี้ล้วนเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ มีความน่าเกลียดจนเหลือที่จะบรรยายได้หมดสิ้น น่าเกลียดน่าชังมาตั้งแต่เกิด เป็นรังแห่งความทุกข์ อยู่ไม่นานก็จะพินาศฉิบหาย ดังนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวว่า “สาระที่แกร่งและสถาวรที่สุดในสังสารภพนี้ก็คือบุณย์ ซึ่งร่างอันหาค่ามิได้นี้เป็นผู้สร้างขึ้น และบุณย์ใดเล่าจะประเสริฐเลิศล้ำยิ่งไปกว่าการทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์โดยทั่วหน้า ดังนั้นถ้าข้าไม่แสดงความเสียสละดังกล่าวนี้แก่พ่อแม่ ผลบุญอื่นใดเล่าที่ข้าจะได้รับจากร่างกายนี้” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้และอื่น ๆ อันแสดงความชักจูงนานาประการ กุมารน้อยผู้มึวามตั้งใจเด็ดเดี่ยวเต็มที่ก็สามารถโน้มใจพ่อแม่ให้เห็นชอบด้วยในที่สุด เสร็จแล้วเขาก็กลับไปพบกับเหล่าราชบริพารที่กำลังตีฆ้องร้องประกาศอยู่และขอรับปฏิมาทองคำ พร้อมกับส่วยร้อยหมู่บ้าน จากนั้นก็ออกเดินทางพร้อมด้วยพ่อแม่ตรงไปยังนครจิตรกูฎอันเป็นสำนักของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพระราชาจันทราวโลกเมื่อได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดก็มีความพอพระทัยอย่างยิ่ง เพราะภารกิจสำคัญของพระองค์จะได้สัมฤทธิผลในโอกาสนี้ บรรดาเหล่าผู้เป็นอำมาตย์ราชมนตรีทั้งมวลก็แสดงความชื่นชมยินดีด้วย ขณะเมื่อกุมานำพ่อแม่เข้าไปเฝ้า พระราชาแลเห็นก็ปลาบปลื้มยิ่งนัก สั่งให้เอากุมารไปอาบน้ำ เสร็จแล้วชโลมร่างด้วยสุคนธรสอันหอมรื่น ให้ประดับศีรษะด้วยมาลาลังการ แล้วอุ้มกุมารขึ้นนั่งบนหลังช้างพระที่นั่ง และให้พ่อแม่ของกุมารขึ้นช้างตามไปพบพราหมณาสูรด้วยกัน เมื่อขบวนมาถึงที่สถิตของอสูร บริเวณอัศวัตถมณฑล พระราชาก็สั่งให้หยุด ทำเครื่องหมายวงกลมโดยรอบต้นไม้นั้น แล้วให้พราหมณ์ปุโรหิตกระทำการบูชาไฟ และถวายเครื่องพลีกรรมแก่พราหมณ์รากษสตามสัญญา ทันใดปีศาจพราหมณ์ก็ปรากฏกายขึ้น ส่งเสียงหัวเราะกึกก้องพร้อมกับร่ายพระเวทเป็นการตอบรับ ภาพปีศาจนั้นกลัวสยดสยองยิ่งนัก มันกำลังมึนเมาด้วยการดื่มโลหิตของมนุษย์ ต่อมาก็แสดงการหาวและทุบหน้าอกของตนหลายครั้ง นัยน์ตาของมันเป็นเปลวไฟเจิดจ้า และเงาของมันปรากฏจากร่างที่สูงทะมึนราวกับภูผาใหญ่สุดขอบฟ้า ค่อยย่างก้าวเข้ามา พระราชาจันทราวโลกแลเห็นดังนั้นก็เสด็จเข้าไปใกล้ น้อมพระองค์ลงแสดงความเคารพ และตรัสว่า “ภควาน ข้าพามนุษย์มาสังเวยแก่ท่านตามสัญญาภายในเจ็ดวัน บัดนี้ก็ได้เวลาตามสัญญานั้นแล้ว ขอท่านจงพึงพอใจในพลีนี้เถิด” เมื่อพระราชาตรัสวิงวอนดังนี้ พราหมณ์รากษสก็มองลงไปที่กุมารด้วยความยินดี และแลบลิ้นเลียริมฝีปากด้วยความกระหาย

           ในขณะนั้น กุมารน้อยผู้ใจสูงก็กล่าวแก่ตัวเองด้วยความปีติว่า “ขออย่าให้กุศลผลบุณย์ซึ่งเกิดจากการสังเวยชีวิตของข้า จะทำให้ข้าไปสู่สวรรค์หรือความหลุดพ้นทุกข์ ถ้าหากผลบุณย์นี้จะไปไปถึงสัตว์โลกทั้งมวล ข้าเสียสละตนเองเช่นนี้ ข้าทำเพื่อผู้อื่นเท่านั้น และข้าก็จะกระทำอย่างนี้เสียสละอย่างนี้ตลอดชาตินี้ ชาติหน้า เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุด” ในขณะที่กุมารน้อยประกาศสัจจะต่อโลกนี้ สวรรค์ก็เปิดออกในฉับพลัน มีรถแก้วแววฟ้านับจำนวนมิถ้วน ทุกคันเต็มแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา ถือพานโปรยปรายบุปผามาลีลงมาสดุดีราวกับฝอยฝน

           ครั้นแล้วเด็กน้อยก็ถูกพาไปยังแท่นสังเวยต่อหน้าพราหมณ์ปีศาจ โดยผู้เป็นบิดาหิ้วเท้าและมารดาหิ้วแขนพาไปวางลง ขณะนั้นพระราชาก็ถอดพระแสงออกจากฝักเพื่อจะสังหารเด็ก แต่ในช่วงขณะแห่งความเป็นความตายนั้นเอง เด็กก็ระเบิดเสียงหัวเราะดังสนั่นหวั่นไหว เสียงหัวเราะนี้ทำให้ทุกคน ณ ที่นั้น รวมทั้งพราหมณ์ปีศาจด้วยต่างก็พากันผงะหงายด้วยความตกใจ และเมื่อได้สติทุกคนในที่นั้นก็รีบพนมมือและน้อมศีรษะแสดงความเคารพยังที่เท้าทั้งคู่ของกุมารสถิตอยู่ และจ้องมองหน้าของกุมารนั้นด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น

           เวตาลตัวดีเมื่อเล่าเรื่องนิทานดังกล่าวแล้วก็ตัดบทเพียงแค่นั้น เพราะเห็นว่าพอเหมาะแก่การจะตั้งปัญหาให้พระเจ้าตริวิกรมเสนทรงตอบ โดยการตั้งคำถามว่า “โอ นฤบดี บอกข้าหน่อยสิว่า เพราะอะไรกุมารน้อยจึงหัวเราะเสียงน่ากลัวกึกก้องก่อนที่เขาจะถูกสังเวยชีวิตตามเงื่อนไขของปีศาจเช่นนี้ เรื่องนี้ประหลาดมากและข้ามองหาเหตุผลต้นปลายไม่เจอะเลย ถ้าพระองค์ทราบปริศนานี้ก็ขอได้บอกแก่ข้าด้วยเถิด แต่เออ ขอสะกิดไว้หน่อยว่า ทรงรู้แล้วมิใช่หรือว่า ถ้าพระองค์รู้คำตอบแต่แกล้งไม่ตอบละก็พระเศียรจะต้องแตกเป็นร้อยชิ้น”

           เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลกล่าวดังนั้น ทรงตอบว่า “เจ้าจงเอาหูฟังให้ดี แล้วจะรู้ว่าเด็กหัวเราะเพราะอะไร ว่าโดยธรรมดาสามัญแล้ว สัตว์โลกที่อ่อนแอทั้งหลาย เมื่ออันตรายมาถึงตัวย่อมร้องเรียกให้พ่อหรือแม่ช่วยชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าพ่อและแม่ตายไปก่อน เขาก็เรียกให้พระเจ้าแผ่นดินช่วย เพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่พึ่งของราษฎรโดยหน้าที่ของพระองค์อยู่แล้ว แต่ถ้าพึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เขาก็จำเป็นต้องไปพึ่งเทพยดาทั้งหลายที่จะให้ความคุ้มครองแก่เขาได้ตามกรณี บัดนี้เมื่อพิจารณากรณีของเด็กน้อยแล้วจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน เพราะกรณีเด็กผู้นี้ พ่อแม่ก็ยังอยู่ พระราชาก็ยังอยู่ เทพทั้งหลายก็ยังอยู่ ทุกคนอยู่ที่นั้นพร้อมกันหมด และแต่ละคนก็แสดงอาการ่ตรงกันข้ามกับที่ใคร ๆ คาดหวังว่าจะเป็น คือพ่อและแม่ของเด็กกลับช่วยกันหิ้วแขนหิ้วขาของเด็กเอาไปสู่ตะแลงแกงเสียเอง เพราะหวังแต่สิ่งตอบแทนที่จะพึงได้จากพระราชา ข้างพระเจ้าแผ่นดินก็ดูกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฆ่าเด็กนั้นเสียเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง และพราหมณ์รากษสเล่าก็ไม่มีจิตใจที่จะทำอะไร นอกจากจะขม้ำท่าเดียว บุคคลทั้งหลายในที่นั้น เด็กน้อยกล่าวรำพึงแก่ตัวเองว่า พวกเหล่านี้ล้วนแต่ชักนำความคิดของตัวเองให้ผิดลู่ผิดทาง ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่กระทำอะไรก็เพื่อสังขารอันเปื่อยเน่า น่าเกลียด น่าขยะแขยง และเป็นทุกข์เป็นรังโรคด้วยกันทั้งสิ้น เหตุใดเขาจึงไมแลเห็นความจริงเหล่านี้ เขาทำเพื่ออะไรกัน กฎแห่งอนิจจังนั้นมีอยู่ ไม่มีใครหลีกพ้นได้ แม้พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระศิวะ และเทพอื่น ๆ ก็อยู่ในกฎแห่งอนิจจังน้เหมือนกันหมดไม่มียกเว้น”

           ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้แล ทำให้กุมารน้อยระเบิดเสียงหัวเราะสนั่นหวั่นไหวด้วยความยินดี และด้วยความประหลาดใจ เสียงของเขาบอกถึงความปลื้มเปรมเพราะวัตถุประสงค์ของเขาบรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว แต่ก็ประหลาดใจในขณะเดียวกัน เพราะความพินาศจะต้องมาถึงบุคคเหล่านั้นแน่ ๆ ในอนาคต โดยมิต้องสงสัย ด้วยสัจธรรมย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ”

           พระเจ้าตริวเกรมเสนตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ และเวตาลก็ละจากพระอังสาของพระองค์ หายวับไปสู่ที่พำนักของตนด้วยอำนาจอันลึกลับ พระราชาไม่หยุดเสียเวลาเปล่า รีบติดตามเวตาลไปทันทีด้วยพระทัยอันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นมหาสมุทรที่มีความั่นคงไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ตลอดกาลนั้นแล

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๙ เรื่องของภรรยาเศรษฐี กับธิดาชื่อ ธนวดี

นิทานเรื่องที่
๑๙



พระเจ้าตริวิกรมเสนจำใจเสด็จย้อนกลับไปที่ป่าช้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดึงตัวเวตาลลงมาจากกิ่งอโศก เอาพาดกับพระอังสาแล้วดำเนินกลับมาทางเดิม ระหว่างที่เสด็จมาตามทางนั้น เวตาลก็ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า “ราชะ ขอได้โปรดฟังนิทานสนุก ๆ สักเรื่องเถิด ข้าจะเล่าถวาย โปรดทรงฟัง”

มีนครแห่งหนึ่งในโลกนี้ชื่อ วโกรลกะ มีความงามอลังการเสมอด้วยนครอมราวดีของทวยเทพนั่นเทียว นครนี้มีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าสูรยประภะ ซึ่งทรงความยิ่งใหญ่เสมอด้วยพระอินทร์ พระราชาองค์นี้เปรียบเสมือนองค์พระวิษณุผู้ทรงถนอมโลกไว้ให้พ้นภัย โดยทรงรองรับโลกไว้ด้วยพระกรของพระองค์ (ทรงโอบอ้อมโลกไว้ในวงพระกร เหมือนบิดาโอบอุ้มลูกของตนไว้ในอ้อมแขน) ด้วยประการฉะนี้พระองค์จึงมีความยินดีในการรองรับภาระของราษฎรมิรู้เบื่อหน่ายในราชอาณาจักรของพระองค์ ถ้าจะเห็นน้ำตาของใครก็ย่อมมีแต่น้ำตาที่เกิดจากควันเข้าตาเท่านั้น จะพูดถึงความตายก็เฉพาะกรณีของคู่รักคู่เสน่หาที่โหยหากันเหมือนตายทั้งเป็นอย่างน่าสงสาร จะพูดถึงของสวยงามก็ให้ดูที่ไม้เท้าทองคำของอารักษ์ที่คุ้มครองพิทักษ์ พระราชานั้นเองเป็นตัวอย่างของผู้ครองพระราชทรัพย์อันมากมายล้นฟ้า อย่างไรก็ดี แม้พระองค์จะมีชายามากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็หาได้มีพระราชโอรสไม่

ทีนี้จะเริ่มตอนสำคัญของเรื่องนี้ให้ฟัง ในมหานครแห่งหนึ่งชื่อ เมืองตามรลิปติ มีพ่อค้าที่ร่ำรวยมหาศาลชื่อ ธนบาล เป็นผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมดที่เป็นเศรษฐีในเมืองนั้น เขามีธิดาเพียงคนเดียวชื่อ ธนวดี ผู้มีความงามจับจิตราวกับเป็นวิทยาธรี (นางวิทยาธร) ที่หล่นลงมาจากสวรรค์เพราะถูกสาป เมื่อนางเจริญวัยขึ้นเป็นสาว พ่อค้าก็ตายลง พวกญาติก็กลุ้มรุมกันเข้ายึดทรัพย์สมบัติไปหมด ทั้งนี้เพราะพระราชาหาได้ช่วยเหลือคุ้มกันอะไรไม่ ดังนั้นผู้เป็นภรรยาของพ่อค้าคือ นางหิรัณยวดี ก็รีบฉวยสมบัติส่วนตัวของนางคือ เพชร พลอย และเครื่องประดับต่าง ๆ เอาไปซ่อนไว้ในที่เร้นลับไม่มีใครรู้ แล้วแอบหนีออกจากบ้านอย่างลับ ๆ ในยามต้นของราตรีพร้อมด้วยธิดาของนาง คือ ธนวดี หลบหน้าญาติพี่น้องเอาตัวรอดไป นางเล็ดรอดออกจากบ้านไปด้วยความลำบากยากยิ่ง นางจูงแขนลูกหนีกระเซอะกระเซิงอย่างมืดแปดด้าน และใจของนางยิ่งมืดมืดยิ่งกว่าความมืดของราตรี เพราะความเศร้าโศกมืดมิดในจิตใจและมืดมนจนปัญญากเพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ในที่สุดหลังจากที่มะงุมมะงาหรามาในความมืด นางก็รู้สึกตัวว่าวิ่งไปชนโจรผู้หนึ่งซึ่งถูกทางบ้านมืองเสียบประจานด้วยหลาว แต่มันยังไม่ตาย และการที่ถูกผู้หญิงวิ่งมาชนโดยแรง ทำให้แผลของมันฟกช้ำเจ็บปวดยิ่งขึ้น จึงร้องขึ้นว่า “โอ๊ย ใครเอาเกลือมาขยี้แผลของข้า แสบเหลือเกิน” ภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็ตกใจ ถามว่า “ท่านคือใคร” โจรตอบว่า “ข้าเป็นโจร ทางบ้านเมืองติดตามตัวข้ามานาน ในที่สุดจับข้าได้ ตัดสินให้เสียบทวารข้าด้วยหลาวเหล็ก เอาขึ้นตั้งประจานไว้ริมทางนี้รอวันตาย แต่ถึงจะเสียบข้าเจ็บปวดสาหัสถึงเพียงนั้น แต่ข้าก็ยังไม่ตาย ว่าที่จริงจะพูดไป ข้ามันก็แค่ชายชั่วธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่วิเศษวิโสอะไร ส่วนท่านเล่าเป็นใคร จึงได้วิ่งมากลางค่ำกลางคืนดึกดื่นป่านนี้” เมื่อภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็เล่าเรื่องของตนให้โจรฟังโดยตลอด ขณะนั้นพระจันทร์ผ่านพ้นหมู่เมฆส่องแสงสว่างนวลใย แสงเดือนที่อ่อนละมุนจับต้องใบหน้าของธิดาพ่อค้า (ธนวดี) ทำให้เห็นความงามของนางอย่างเด่นชัด นายโจรจึงกล่าวกะแม่ของนางว่า “ข้าอยากจะขอร้อง อะไรท่านสักอย่าง ฟังให้ดีนะ ข้าจะให้ทองคำแก่ท่านพันตำลึง ท่านจงรับไว้และส่งนางมาเป็นเมียข้าเถิด” นางได้ฟังก็หัวเราะอย่างขบขัน และกล่าวว่า “เจ้าจะทำอะไรต่อนาง” โจรได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเวลานี้จะเป็นจะตายก็เท่ากัน ข้าไม่มีลูกชายเลยแม้แต่คนเดียว ท่านก็ทราบดีแล้วว่า ผู้ชายที่ไร้ลูกชายนั้น หาอาจที่จะได้รับผลบุญอันนำไปสู่ภพทั้งหลายอันมีแต่ความบันเทิงสุขไม่ แต่ถ้าท่านยอมตกลงตามข้อเสนอของข้า หญิงที่เป็นเมียข้าคนนี้จะคลอดลูกเป็นชาย โดยข้าอาจจะให้ชายอื่นมาเป็นพ่อของเด็กได้ และข้าจะยอมรับด้วยความเต็มใจว่าเขาเป็นลูกจริง ๆ ของข้า นี่คือเหตุผลของข้าว่าทำไมจึงขอร้องให้ท่านยกนางให้เป็นเมียข้า ท่านจะช่วยให้ข้าได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่ปรารถนาได้หรือไม่” เมื่อหญิงหม้ายเมียพ่อค้าได้ฟังคำของร้องเช่นนั้น ประกอบกับความโลภที่มีอยู่ในนิสัยอยู่แล้ว นางจึงไปหาน้ำมาจากที่ใดที่หนึ่ง มารดมือนายโจร และกล่าวว่า “ข้ายกหญิงผู้เป็นลูกสาวของข้าคนนี้ให้แก่เจ้าในการสมรสครั้งนี้” นายโจรได้แต่งงานกับธิดาวานิชแล้วก็สั่งกำชับให้นางยึดมั่นในสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ และให้นางแม่หม้ายให้ไปเอาทองตามสัญญาว่า “จงไปขุดเอาทองที่ฝังไว้ใต้ต้นนยโครธ (ต้นไทร) ต้นนั้นเถิด แล้วเก็บไว้ให้ดี เมื่อไรที่ข้าสิ้นลม จงเผาศพข้าอย่างธรรมดาเหมือนคนธรรมดาทั่วไปเถิด อย่าให้มีพิธีรีตรองอะไรเลย หลังจากเผาศพข้าแล้วจงเอากระดูกของข้าไปโยนลงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใดก็ได้ เสร็จเรื่องของข้าแล้ว เจ้าสองคนแม่ลูกจงเดินทางไปนครวโกรลกะ ที่เมืองนั้น ผู้คนมีความสบายกันทั่วหน้า เพราะมีผู้ปกครองที่ดี มีพระราชาสูรยประภะเป็นประธานสูงสุด คนที่อยู่เมืองนั้นล้วนอบอุ่นใจไร้ความกังวลใด ๆ และพวกท่านก็จะไม่ถูกใครข่มเหงรังแกอีกด้วย”

เมื่อนายโจรกล่าวมาถึงตอนนี้ บังเกิดความกระหายน้ำอย่างรุนแรง ก็ดื่มน้ำที่นางหญิงม่ายเอามาให้ แล้วถึงแก่ความตาย เพราะต้องถูกหลาวเสียบประจานมาหลายวัน ความบาดเจ็บแสนสาหัสทำให้ไม่อาจจะทนทานต่อไปได้อีก ฝ่ายนางหญิงหม้ายก็รีบไปขุดเอาทองมาไว้เป็นสมบัติของตน แล้วพาลูกสาวเดินทางไปอย่างเร้นลับ สู่บ้านเพื่อนคนหนึ่งของสามีนาง ระหว่างที่นางอาศัยพักพิงอยู่ที่นั่น นางก็ให้คนไปเอาศพนายโจรไปเผาเสีย และเอากระดูกไปโยนทิ้งที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่ง และทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ตามประเพณี วันรุ่งขึ้น นางเอาทรัพย์ที่ซ่อนไว้ และออกเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนในที่สุดมาถึงนครวโกรลกะ ณ ที่นั้น นางได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งจากพ่อค้าชื่อสุทัตต์ และอาศัยอยู่ด้วยความผาสุกกับลูกสาวของนางคือ ธนวดี

ในเวลานั้นมีครูผู้หนึ่งชื่อ วิษณุสวามิน อาศัยอยู่ในเมือง เขามีลูกศิษย์เป็นพราหมณ์หนุ่มรูปงามคนหนึ่งชื่อ มนสวามิน ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะมีชาติกำเนิดสูง มีการศึกษาดี แต่ตกเป็นทาสรักของหญิงคณิกาคนหนึ่งชื่อ หงสาวลี แต่นางเรียกค่าบริการสูงถึงครั้งละห้าร้อยเหรียญทองทีนาร์ ซึ่งชายหนุ่มหาได้มีเงินถึงขนาดนั้นไม่ เป็นสาเหตุให้เขากลัดกลุ้มใจเป็นกำลังเพราะความรักที่ไม่สมหวัง วันหนึ่งธนวดีธิดาพ่อค้าขึ้นไปพักผ่อนอยู่บนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอาศัยอยู่ พร้อมด้วยบริวารแวดล้อมตามปกติ นางมองลงไปเบื้องล่าง แลเห็นพราหมณ์หนุ่มมนสวามินโดยบังเอิญ หัวใจนางก็ผวาต่อภาพของเขา และตกเป็นทาสความงามล้ำเลิศของเขาโดยทันที นางระลึกถึงคำสั่งของนายโจรสามีนางขึ้นมาได้จึงเข้าไปหามารดา และกล่าวฉอเลาะต่อนางว่า “แม่จ๋า เมื่อลูกได้เห็นความงามของหนุ่มฉกรรจ์คือพราหมณ์ผู้นี้แล้ว ลูกรู้สึกชื่นชมนี่กระไร เหมือนสายอมฤตธาราไหลพรูลงสู่หัวใจของข้าผู้ที่ได้พบเห็นเขา แม่เข้าใจไหมจ๊ะ” หญิงหม้ายผู้มารดาได้ฟังวาจาซึ่งกล่าวเป็นนัยดังนั้นก็เข้าใจในความหมายของลูกสาวทันที นางแลเห็นว่าลูกสาวของนางได้ตกหลุมรักพราหมณ์หนุ่มเข้าแล้ว ทำให้นางระลึกถึงสัญญาที่นางกระทำไว้ต่อนายโจรขึ้นมาได้ จึงรำพึงในใจว่า “ลูกสาวของเรามีสัญญาผูกพันกับนายโจรผู้เป็นสามีที่อนุญาตให้ลูกสาวของนางแสวงหาสามีได้ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามีลูกชายด้วยกัน จะต้องให้ลูกชายยอมรับว่าตนเป็นพ่อ ซึ่งเงื่อนไขนี้ลูกสาวของนางจะต้องปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนมิได้ เมื่อมีเงื่อนไขอนุญาตอยู่อย่างนี้ ไฉนเล่านางจะเชิญชวนหนุ่มผู้นี้มาคุยด้วยไม่ได้” เมือใคร่ครวญดังนี้แล้ว นางก็ส่งสาวใช้ไปอย่างลับ ๆ ให้ไปพบพราหมณ์หนุ่ม เพื่อดำเนินงานตามแผนของนางทันที

นางสาวใช้เดินทางออกจากบ้านไปหามนสวามิน และเจรจามตามแผนที่ได้รับมอบหมาย พราหมณ์หนุ่มได้ฟังคำขอร้องของหญิงคนใช้ก็ตอบว่า “ข้าจะตกลงด้วยก็ได้ ถ้าพวกเจ้าจะจ่ายแก่ข้าเป็นเหรียญทองห้าร้อยทีนาร์ ข้าจะได้เอาไปให้แก่นางหงสาวลียอดรักของข้า และข้าก็จะได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่ง” เมื่อพราหมณ์หนุ่มตอบดังนี้ นางสาวก็กลับไปรายงานนายของตน หญิงหม้ายไวศยก็ยอมตกลงจ่ายเงินให้โดยไม่ชักช้า เมื่อมนสวามินได้เงินแล้ว ก็เดินตามสาวใช้ไปยังเรือนของนางธนวดี ผู้ซึ่งจะต้องเป็นภริยาของตนตามสัญญา เขาได้พบนางผู้งามด้วยรูปโฉมก็มีใจยินดีเหมือนนกเขาไฟที่เพลิดเพลินกับแสงนวลใยของพระจันทร์ฉะนั้น และหลังจากที่เขาได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่งเขาก็เล็ดรอดหนีนางไปอย่างลับ ๆ ในเวลาเช้าตรู่

ฝ่ายนางธนวดีลูกสาวพ่อค้าหลังจากได้ร่วมอภิรมย์กับพราหมณ์ในคืนนั้นแล้วนางก็ตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็คลอดบุตรเป็นชาย มีลักษณะประกอบด้วยมงคลลักษณ์อันสูงส่ง นางและแม่ต่างก็พากันยินดีอย่างยิ่งที่ได้ลูกชายสมใจหวัง องค์พระศิวะมหาเทพก็เสด็จมาเข้าฝันนางทั้งสองในคืนวันหนึ่ง และตรัสแก่หญิงทั้งสองว่า “จงรับเด็กนี้ไว้ ในเวลาที่เขายังนอนอยู่ในเปล จงพาไปวางไว้ที่หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ พร้อมด้วยเหรียญทองพันเหรียญในตอนเช้ามืด โดยวิธีนี้ ทุกอย่างจะเป็นผลดีอย่างน่าอัศจรรย์แก่เจ้า” ฝ่ายหญิงหม้ายไวศยะและลูกสาว เมื่อได้รับโองการจากพระศิวะดังนั้นแล้ว ก็รู้สึกตัวตื่นขึ้น ต่างคนต่างก็เล่าความฝันของตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และเพราะมีความศรัทธาในองค์พระศิวะอย่างไม่แคลนคลอน คนทั้งสองก็อุ้มทารกน้อยพร้อมด้วยเหรียญทองในถุงรวมหนึ่งพันเหรียญไปวางไว้หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ

ในระยะเวลาดังกล่าวนั้น พระศิวะเป็นเจ้าก็เสด็จมาเข้าฝันพระราชาสูรยะประภะ ผู้ทรงทรมานมานานช้าโดยการไร้โอรสผู้จะสืบราชบัลลังก์ และตรัสว่า “ราชะ ลุกขึ้นเถิด มีคนเอาเด็กผู้ชายหน้าตางดงามคนหนึ่งและถุงทองมาวางไว้หน้าประตูวังของเจ้า ไปรับเอามาสิในเวลาที่เขายังนอนแบเบาะอยู่” เมื่อพระศิวะตรัสแก่พระราชาในความฝันเช่นนั้น พระองค์ก็รีบลุกขึ้นจากบรรจถรณ์ในเวลาเช้าตรู่ พอดีกับยามเฝ้าประตูงเข้ามาเฝ้ากราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหมือนดำรัสของพระศิวะเจ้าทุกประการ พระองค์ก็รีบเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงประตูวังก็เห็นเด็กทารกคนหนึ่งนอนอยู่ ข้าง ๆ กายมีถุงทองวางอยู่ด้วย และเมื่อทรงอุ้มเด็กขึ้นเชยชมก็ทอดพระเนตรเห็นว่ากุมารน้อยมีลักษณะอันเป็นมงคล เช่น มือและเท้ามีเส้นเป็นลายรูปต่าง เช่น รูปฉัตร รูปธง และรูปอื่น ๆ จึงตรัสว่า “พระศิวะทรงประทานลูกชายที่น่ารักแก่ข้า” แล้วทรงโอบกอดกุมารน้อยแนบพระอุระ เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศ โปรดให้ทำพิธีฉลองสมโภชพระโอรสและให้ทานแก่บุคคลที่ยากจนให้มีทรัพย์สินสำหรับเลี้ยงชีวิตเป็นสุขสบายโดยทั่วหน้า และพระราชาสูรยประภะก็โปรดให้มีมหรสพดนตรีและการละเล่นเป็นเวลาถึงสิบสองวัน เสร็จแล้วทรงประทานนามแก่พระโอรสว่า จันทรประภะ

แล้วเวลาก็ผ่านไป เจ้าชายจันทรประภะเจริญวัยขึ้นตามลำดับ มีรูปร่างงดงามและมีอุปนิสัยดียิ่ง เป็นที่ชื่นชมของข้าราชบริพารและผู้พบเห็นซึ่งพากันยกย่องสรรเสริญโดยทั่วหน้า ในที่สุดเจ้าชายก็เติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีพละกำลังแข็งขันราวกับจะแบกธรณีนี้ไว้ได้ (มหิธร) มีความกล้าหาญ มีความใจกว้าง มีความรู้ในศิลปวิทยาต่าง ๆ ยังความสำเร็จให้เกิดแก่กิจการทั้งปวง ฝ่ายพระบิดา คือพระเจ้าสูรยประภะ เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเจ้าชายหนุ่มมีคุณสมบัติอันเลอเลิศเช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งให้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป พระราชาสูรยประภะนั้นทรงชราแล้ว ได้ทรงสร้างความเจริญแก่แผ่นดินมาแล้วเป็นปึกแผ่นมั่นคง และเห็นว่าไม่มีอะไรจะต้องกังวลในชีวิตอีก จึงสละราชสมบัติให้แก่องค์รัชทายาทแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี และในเวลาดังกล่าว เจ้าชายรัชทายาทก็ปกครองแผ่นดินได้อย่างเรียบร้อย และยังแว่นเคว้นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยความเฉลียวฉลาดของพระองค์ หามีราชอาณาจักรใดบนพิภพจะเปรียบปานได้ไม่ ส่วนราชาสูรยประภะเมื่อสละราชสมบัติแล้วก็ผนวชเป็นฤษีบำเพ็ญตบะอันแรงกล้า และละชีวิตไปสู่สวรรค์ของพระเป็นเจ้า เจ้าชายจันทรประภะได้ทราบข่าวการทิวงคตของพระาชบิดาก็ทรงเศร้าเสียพระทัยนัก และสั่งให้ทำพิธีถวายกุศลแก่พระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ และมีพระดำรสัแก่เสวกมาตย์ว่า “ข้าจะทำอย่างไร จึงจะตอบแทนพระบิดาของข้าให้สมกับที่พระองค์มีพระกรุณาธิคุณแก่ข้าเป็นเหลือล้นได้ ข้าจะชดใช้พระคุณนั้นด้วยมือของข้าเอง ข้าจะรวบรวมอัฐิอังคารของพระองค์ไปโปรยปรายลงที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นข้าจะเดินทางจารึกแสวงบุณย์ไปยังวิหารแห่งคยาเพื่อนมัสการพระเป็นเจ้าที่นั่น และกระทำพิธีเปตพลีอุทิศผลบุณย์ให้แก่บรรพบุรุษของข้าด้วย จากนั้นข้าจะธุดงค์ไปยังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไปให้ไกลจนถึงฝั่งมหาสาคนตะวันออกนั่นเทียว”

เมื่อพระราชาดำรัสดังนี้ บรรดาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระจักรพรรดิ ขึ้นชื่อพระราชาทั้งหลาย ย่อมไม่ควรที่จะกระทำอย่างนี้ เพราะการเป็นราชันนั้นมีข้อเสียหลายข้อที่จะต้องระมัดระวัง เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วจะแก้ไขได้ยากนัก เพราะฉะนั้นพระองค์ควรที่จะตอบแทนพระคุณของพระบิดาด้วยวิธีอื่น มีประโยชน์อันใดเล่าที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องตะลอน ๆ ไป นมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ลำบากพระกาย แทนที่จะกระทำพระบัญชา สั่งออกไปให้ผู้สนองพระโองการทำโน่นทำนี่ โดยมอบอำนาจหน้าที่ให้เขาไปทำเลยขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีทหารรักษาพระองค์อยู่แล้ว โดยปกติย่อมประทับอยู่แต่ในวัง จะออกไปเที่ยวจาริกธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นการเปิดเผยพระองค์ ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากศัตรูทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นมิใช่หรือ” เมื่อพระราชาจันทรประภะได้ฟังถ้อยคำของอำมาตย์ราชมนตรีเช่นนั้นก็ตอบว่า “พอกันทีกับการตั้งข้อสงสัยเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ทำให้ต้องยับยั้งเสียเวลาต่อไปอีก ถึงอย่างไร ๆ ข้าก็ต้องไปเพื่อเห็นแก่พ่อของข้า ข้าจะต้องเดินทางไปนมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้จงได้ในขณะที่ข้ายังหนุ่มแน่นเข็งแรงอยู่ ใครเล่าจะรู้ว่าอะไรจะเกิดจากนี้เป็นต้นไป ถ้าร่างกายต้องสูญสลายในฉับพลัน จะอย่างไรก็ดี เจ้ามีหน้าที่ดูแลแว่นแคว้นของข้าไว้ จนกว่าข้าจะกลับมา” บรรดาราชมนตรีทั้งหลายได้ฟังกระแสรับสั่งเด็ดขาดดังนี้ ต่างก็พากันเงียบอยู่ พระราชาก็เตรียมตัวออกเดินทาง และรอวันฤกษ์ดีซึ่งจวนจะมาถึงในไม่ช้า เมื่อวันฤกษ์ดีมาถึง พระราชาก็เสด็จเข้าสรงสนาน ทำพิธีสังเวยพระอัคนี (ไฟ) และประทานลาภสการแก่เหล่าพราหมณ์ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นรถทรง ซึ่งมีม้าเทียมอยู่พร้อมสรรพ พระองค์ทรงพัสตราภรณ์โยคีเวศอันต่ำต้อย และเริ่มการเดินทางธุดงคจาริก ทรงฝ่าฝูงชนเป็นอันมากออกไปอย่างลำบาก ตั้งแต่พวกหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ พวกราชปุต ชาวนคร และคนบ้านนอก ซึ่งติดตามมาส่งเป็นระยะทางไกลถึงชายราชอาณาเขต จนพระองค์ต้องขอร้องให้กลับไป ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เต็มใจจะจากพระองค์เลย พระองค์ทรงปลดภาระราชกิจอันหนักยิ่งไว้ให้แก่เหล่าเสนาบดีทั้งปวงแล้วก็มีพระทัยแช่มชื่นปราศจากกังวลใด ๆ เสด็จโดยรถแล่นไปตามทาง มีข้าราชบริพารคือกรมวัง แวดล้อมด้วยหมู่พราหมณ์ทั้งหลายตามเสด็จไปในรถอีกหลายคัน พระองค์ได้ทรงพบเห็นดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ผู้คนต่างชาติต่างภาษา และในที่สุดก็เสด็จมาถึงแม่น้ำคงคา พระองค์หยุดยืนทอดพระเนตรภาพแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฎเฉพาะพระพักตร์ แลเห็นเกลียวคลื่นทอดเป็นสายยาววิ่งเข้าสู่ฝั่ง ดูราวกับสะพานที่ทอดรับมรรตัยชนจากโลกนี้ไปสู่สวรรค์ พระคงคานี้อาจจะชวนให้นึกถึงพระอัมพิกา(พระอุมา) ผู้เป็นน้อง เพราะมีกำเนิดมาจากภูเขาหิมวัต(หิมาลัย) เช่นเดียวกัน ก็พระคงคาสายนี้แลที่ไหลวนเวียนอยู่ในพระเมาลีของพระศิวะเป็นเวลานานนับพันปีแล้วตกลงสู่โลก เป็นที่เคารพบูชาในหมูเพทฤษีและคณะ (คณะ หมายถึง เทพกลุ่มหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ซึ่งคอยบำเรอรับใช้พระศิวะโดยเฉพาะ) ท้าวจันทรประภะมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมในพระหฤทัยก็เสด็จลงจากรถ และสรงสนานพระวรกายในมหานทีแห่งนั้น แล้วทรงโปรยอัฐิอังคารของพระเจ้าสูรยประภะลงสู่แม่น้ำคงคาตามประเพณี

และหลังจากที่พระราชาทรงให้ทานและทำพิธีศารทธพรต (ศราทธ์ หรือศราทธพรต เป็นพิธีที่ลูกชายบำเพ็ญเพื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของตน) เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถพระที่นั่งแล่นไปจากสถานที่นั้น ในที่สุดมาถึงประยาค ซึ่งเป็นที่อันฤษีทั้งหลายพากันเคารพอย่างสูง เพราะเป็นที่แม่น้ำคงคากับแม่น้ำมยุนาไหลมาบรรจบกัน และเป็นสถานที่เหล่าฤษีพากันทำพิธีบูชากูณฑ์ (กูณฑ์ คือ กุณฑะ ซึ่งหมายถึงหลุมที่ขุดขึ้นเพื่อก่อไฟ โดยพราหมณ์จะตักเนยใสหยอดลงไป ทำให้ไฟลุกอยู่เพราะเชื้อคือเนยใส การบูชาไฟคือ การถวายเครื่องสังเวยแก่พระอัคนีโดยเฉพาะ) เรียงรายไปตามริมฝั่งน้ำเป็นเปลวไฟลุกวับ ๆ แวม ๆ ไปตลอดทางและมีควันไฟพวยพุ่งขึ้นมาไม่ขาดสายพระราชาจันทรประภะ ทรงถือศีลจานทรายณะ (จานทรายณะ หมายถึง พิธีถือศีลอดโดยกำหนดเวลาตามพระจันทร์หรือถือพระจันทร์เป็นหลักในการคำนวณ) และทรงประกอบศาสนกิจที่สำคัญคือ การสระสนานในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การให้ทานพระราชทรัพย์และอื่น ๆ เสร็จขบวนการพิธีศราทธ์โดยครบถ้วนแล้ว พระราชาก็เสด็จไปสู่นครพาราณสี ซึ่งเป็นที่รวมแห่งโบสถ์วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ มีธงเทียวปลิวสะบัดพลิ้วบนยอดหลังคาเหมือนจะกวักมือเชิญชวนผู้จารึกแสวงบุณย์มาแต่ไกลว่า "มาเถิดและสู่โมกษะ (ความหลุดพ้นทุกข์) ณ ที่นี้"

ในนครนี้ พระราชาจันทรประภเทรงถือศีลอดสามวัน และทรงบูชาพระศิวะด้วยมังสาหารชนิดต่าง ๆ หลังจากนั้นทรงออกเดินทางไปยังตำบลคยา ขณะที่เสด็จผ่านไปตามไพรสณฑ์อันประกอบด้วยไม้นานาพรรณ ซึ่งมีกิ่งค้อมลง เพราะน้ำหนักแห่งผลอันดกสะพรั่งทุกกิ่งก้าน มีนกร้องเพลงอย่างไพเราะอ่อนหวานเป็นที่จำเริญโสติยิ่งนัก ดูคล้ายกับว่าต้นไม้ที่ค้อมกิ่ง และนกที่ส่งเสียงแจ้วจำเรียงนั้นเป็นผู้ที่ก้มกายอัญชลี และถวายเสียงสดุดีสรรเสริญพระองค์ ฉะนั้น ขณะที่สายลมอ่อนรำเพยพัดลู่กิ่งดอกไม้ป่าไปมาก็เหมือนกำลังถวายพวงบุปผามาลัยแก่พระองค์ขณะเสด็จย่างผ่านไป ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จล่วงพ้นแนวป่า และบรรลุยังภูเขาคยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ภูเขาคยาศีรษะ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของอินเดียว แปลตามรูปศัพท์ว่า "ศีรษะแห่งคยา" กล่าวคืออสูรชื่อคยาได้บำเพ็ญตบะอันแรงกล้าที่ภูเขาโกลาหล พระพรหมและเทวดาทังหลายพากันมาเยี่ยม พระพรหมถามคยาสูรว่า ทำความเพียรเพื่ออะไร อสูรจึงขอพรพระพรหมว่าขอให้ร่างกายของตนเมื่อหาชีวิตไม่แล้ว จงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ซึ่งใครก็ตามได้แตะต้องร่างของตนแล้วจะบรรลุความหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงคือ บรรลุโมกษะนั่นเอง) ณ ที่นั้นพระราชาทรงบำเพ็ญศราทธพรตอีก และประทานทรัพย์ให้แก่พราหมณ์ จากนั้นเสด็จเข้าสู่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่พระองค์กำลังทำพิธีถวายข้าวบิณฑ์แก่พระราชบิดาในบ่อน้ำแห่งคยานั้น ก็มีมือสามมือยื่นขึ้นมาจากบ่อน้ำเพื่อจะรับข้าวทิพย์พร้อม ๆ กัน เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิศวงงุนงงยิ่งนัก จึงตรัสถามคณะพราหมณ์ของพระองค์ว่า "นี่หมายความว่ากระไร ข้าจะส่งข้าวบิณฑ์ให้มือไหนล่ะ" คณะพราหมณ์ก็ทูลว่า "ราชะ มือนี้ที่ยื่นมามีรอยศูล (หลาว) แทงมาก่อน แสดงว่าเขาเป็นโจร มือที่สองที่ถือปูมโหรแสดงว่าเป็นพราหมณ์ ส่วนมือที่สามซึ่งนิ้วสวมแหวนและมีเส้นวาสนานี้เป็นมือของพระราชา ดังนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่ทราบว่ามือไหนสมควรแก่การรับข้าวบิณฑ์ และเหตุการณ์ทั้งหมดหมายความว่ากระไร" เมื่อคณะพราหมณ์กล่าวดังนี้ พระราชาจันทรประภะก็ทรงลังเลพระทัยไม่อาจจะตัดสินลงไปได้

เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนบ่าของพระราชาได้จบนิทานอันแสนมหัศจรรย์ลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "เอาละ พระองค์จะตัดสินได้หรือยังว่า มือของใครควรจะได้รับข้าวบิณฑ์พระราชทานนั้น ขอให้ใต้ฝ่าพระบาทตอบข้าด้วย แต่อย่าลืมคำสัญญานพระเจ้าข้าว่าทรงตกลงอะไรไว้แก่ข้า"

ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนผู้ทรงเชี่ยวชาญในพระธรรมศาสตร์ ได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ทรงลืมพระองค์ ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า

"ก้อนข้าวบิณฑ์พึงให้แก่มือโจร เพราะเจ้าจันทรนประภะผู้ทำพิธีศราทธพรตนี้เป็นลูกของเขา มีชีวิตเติบโตขึ้นมาได้ก็เพราะคำสัญญาที่นางผู้เป็นมารดาของเด็กตกลงแก่เขาไว้ เพราะฉะนั้นชายอีกสองคน จึงหาใช่บิดาของเขาไม่ เพราะถึงแม้ว่าพราหมณ์หนุ่มคือ มนสวามิน จะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่จันทรประภะก็ตาม เขาก็ไม่อาจนับว่าเป็นพ่อที่แท้จริงไม่ เพราะมนสวามินเป็นเพียงผู้ชายขายตัวเพียงคืนหนึ่ง เพื่อเอาเงินไปบำเรอหญิงคณิกาชื่อนางหงสาวลีเท่านั้น อย่างไรก็ดีจันทรประภะอาจพิจารณาว่าเป็นโอรสของพระเจ้าสูรยประภะก็ได้ เพราะว่ากษัตริย์พระองค์นั้นทรงรับพระองค์ไว้เป็นโอรส โดยทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต้อนรับตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า พิธีชาตกรรม เมื่อทรงรับเป็นลูกแล้วก็ทรงเลี้ยงดูกุมารน้อยอย่างดีที่สุดจนเติบใหญ่ แต่มีข้อควรคิดว่าพระเจ้าสูรยประภะรับมาเลี้ยง โดยที่กุมารมีทรพัย์สินเป็นทองพันตำลึงเป็นค่าจ้างเลี้ยงดูตั้งแต่นอนอยู่ในเปล ถ้าพระเจ้าสูรยประภะไม่รับทรัพย์สินดังกล่าวนี้พระองค์ก็คงได้ชื่อว่าเป็นพ่อของเด็กโดยบริสุทธิ์กายและใจ อย่างไรก็ดีความจริงมีอยู่ว่าพระเจ้าจันทรประภะเป็นผู้ทีชายคนหนึ่งทำให้เกิดมาโดยเจตนาและกติกาที่นายโจรวางไว้ว่า บุตรชายนั้นจะเกิดจากใครก็ตามก็ต้องเป็นลูกของตนเท่านั้น เงื่อนไขนี้ใคร ๆ จักปฏิเสธมิได้ เพราะแม่ของเด็กได้ทำพิธีสมรสกับโจร โดยหลั่งน้ำทักษฺโณทกบนมือถูกต้องตามประเพณีทุกอย่าง เมื่อนายโดจรเป็นพ่อของเด็กคือพระเจ้าจันทรประภะ ตามเหตุผลดังกล่าวนี้ เขาจึงสมควรและมีสิทธิ์จะได้รับข้าวบิณฑ์ของลูกของเขาในพิธีศราทธ์ทุกอย่าง และนี่คือความเห็นของข้า"

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็กระโดดจากพระอังสาของพระองค์อย่างรวดเร็ว หายวับกลับไปยังที่อยู่ของตนทันที และพระเจ้าตริวิกรมเสนก็ต้องเสด็จติดตามเพื่อเอาตัวเวตาลกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานเวตาล นิทานที่ ๑๘ เรื่องของพราหมณ์จันทรสวามิน กับฤๅษีปาศุบต



นิทานเรื่องที่
๑๘



ในป่าช้าผีดิบที่เวตาลพำนักอยู่บนกิ่งอโศกนั้น เต็มไปด้วยเปลวไฟที่แลบเลียอยู่บนจิตกาธานที่ใช้เผาศพ เปลวอัคคีอันแรงร้อนวูบวาบดูราวกับลิ้นของพวกรากษสที่ตวัดไปมาในการเสพเนื้อมนุษย์สด ๆ แต่ภาพอันน่าสะพรึงกลัวดังกล่าวหาได้ทำให้พระราชาทรงหวาดหวั่นไม่ ขณะที่ทรงดำเนินฝ่าไปจนถึงต้นอโศก

และ ณ ที่สุดสานผีดิบนั่นเอง โดยไม่คาดฝัน พระราชาประสบภาพสิ่งอันน่าเกลียดต่าง ๆ คือ มีศพของบุคคลต่าง ๆ หน้าตากประหลาดคล้ายคลึงกันแขวนอยู่บนกิ่งไม้เหมือนกับตัวเวตาลนับร้อยนับพันห้อยอยู่ พระเจ้าตริวิกรมเสนทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงรำพึงในพระทัยว่า “อา นี่มันอะไรกัน หรือว่านี่เป็นภาพมายาที่เวตาลเนรมิตขึ้น เพื่อจะถ่วงเวลาเราเล่น และเราจะต้องเสียเวลาสักเท่าไร จึงจะหาได้ถูกต้องว่าศพไหนคือเวตาลตัวจริง ถ้าเราจะต้องเสียเวลาทั้งคืน เราก็คงจะทำภาพรกิจให้เสร็จไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราจะเข้ากองไฟเสียดดีกว่า แทนที่จะทนรับความอัปยศเพราะเรื่องอย่างนี้” ฝ่ายเวตาลเมื่อทราบวาระน้ำจิตของพระราชาเช่นนั้น ก็มีความพอใจในความกล้าหาญมานะเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง จึงคลายมายาเวททั้งปวง ทำให้พระราชาแลเห็นตคัวจริงของตน คือ เวตาลที่เป็นซากศพแขวนอยู่บนกิ่งไม้แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่รูปมายาทั้งหลายอันตรธานหายไป พระราชาทรงปลดเวตาลลงจากกิ่งโศก เอาพาดพระอังสาแล้วเสด็จกลับไปตามหนทางเดิม ขณะที่มาตามทางเวตาลก็กล่าวกะพระราชาว่า “ราชะ ความแข็งแรงของพระองค์เป็นที่น่าสรรเสริญอยู่ ถ้ากระไรลองฟังนิทานของข้าอีกสักหนึ่งเรื่องเป็นอย่างไร”

เรื่องมีว่า มีนครอันงดงามแห่งหนึ่งบนโลกนี้ชื่อนรครอุชชยินี เมืองนี้จะงามเป็นรองก็แต่นครโภควดี (ของวาสุกินาคราช) และนครอมราวดี(ของพระอนิทร์) เท่านั้น ซึ่งพระศิวะผู้ทรงเล่นพนันกับพระเคารีเทวีได้ทรงเลือกเป็นที่ทรงพระสำราญร่วมกันในโลก เพราะนครอุชชยินีนั้นงามยิ่งกว่างาม เลิศยิ่งกว่าเลิศ ในพระนครนี้มีสิ่งบันเทิงใจนานาประการ ซึ่งผู้มาเยือนที่มีเกียรติยศเด่นหรือฐานร่ำรวยเท่านั้นที่จะถูกต้อนรับเป็นอย่างดี ณ ที่นี้สิ่งที่ตึงเต่งก็คือ ถันนารี สิ่งที่โค้งสลวยก็คือคิ้วเรียวงามเหมือนจันทรกลา (เสี้ยวพระจันทร์) สิ่งที่กลอกกลับไปมาเนืองนิจก็คือเนตรดำขลับอันเหลือบชม้ายของผองพธู สิ่งที่ดูมืดก็คือราตรี สิ่งที่คดงอไปมาได้ก็คือ บทกวีนิพนธ์อันมีหลายแง่ของกวี สิ่งที่เห็นบ้าคลั่งคือคชสารเมามัน สิ่งที่เป็นความเย็นเยือกก็คือ มุกดามณี น้ำจัณฑ์ และดวงศศี

ในเมืองนั้น มีพราหมณ์ชำนาญเวทอยู่คนหนึ่งชื่อ เทวสวามิน ผู้กระทำยัชญพิธีสังเวยเทพมามากมายหลายครั้ง และพราหมณ์ผู้นี้ก็คือ พราหมณ์มหาศาลร่ำรวยด้วยสินทรัพย์นับไม่ถ้วน เป็นที่เคารพยกยอ่งของพระราชาแห่งแว่นแคว้น ผู้มีพระนามว่า จันทรประภะ ในกาลต่อมา พราหมณ์เทวสวามินมีบุตรชายชื่อจันทรสวามิน ผู้ซึ่งได้เล่าเรียนศลิปวิทยาเป็นอันมากเมื่อจำเริญวัยเป็นหนุ่มฉกรรจ์ แต่เขาก็หาได้นำวิชาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับหลงใหลมัวเมาในการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ คราวหนึ่งพราหมณ์หนุ่มจันทรสวามินเข้าไปในบ่อนการพนันเพื่อจะเล่นการพนัน ทำให้เกิดปั่นป่วนโกลาหลในบ่อนขึ้น เพราะนักการพนันในที่นั้นแลเห็นขาใหญ่มือระดับมหาเศรษฐีเข้ามาเล่น ก็เฮกันเข้ามาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น จันทรสวามินหนุ่มผู้มีเงินเต็มกระเป๋า พอย่างเข้ามาก็คุยโอ่ว่า “ไหน – ไหน ใครในห้องนี้จะถูกข้าต้อนเหมือนแพะบ้าง ถ้าอยากเป็นก็เข้ามาเลย ข้านี่แหละจำทำให้หมดตัว ต่อให้มีทรัพย์ล้นโลกอย่างท้าวกุเวรเจ้านครอลกา (ชื่อเมืองสวยงาม ตั้งอยู่บนไหล่เขาหิมาลัย เป็นที่ประทับของพระกุเวร พญายักษ์สามขาโลกบาลประจำทิศเหนือ และเป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งปวงในโลก) ข้าก็ยังตุ๋นแทนบจะหมดตัวมาแล้ว” พราหมณ์หนุ่มลงมือเล่นพนันสกาอย่างสนุกสนานด้วยความเหิมเกริม มิช้าก็ถูกกินเรียบด้วยฝีมือของนักพนันยอดโกงในที่นั้น ชายหนุ่มเสียหมดทุกอย่างแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่นุ่งห่มอยู่ และเมื่อกู้ยืมเงินเจ้าของบ่อนมาเล่นแก้ตัวก็เสียหมดอีก ด้วยเหตุนี้พอถูกเจ้าของบ่อนทวงหนี้ ชายหนุ่มจึงไม่มีอะไรจะให้ ทำให้เจ้าของบ่อนโกรธมาก สั่งให้ลูกน้องจับจันทรสวามินนอนลงแล้วโบยตีด้วยหวาย จนเป็นริ้วรอยไปทั้งตัว นอนสลบไม่ไหวติงเหมือนก้อนหิน ร่างที่นอนไม่กระดุกกระดิกของชายหนุ่มดูเหมือนคนตาย จนเวลาผ่านไปสองสามวันก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีก แต่ยังไม่กระดุกกระดิกตามเคย เจ้าของบ่อนแลเห็นก็โกรธมาก และกล่าวแก่พวกบริวารในโรงบ่อนและนักการพนันที่มาเล่นพนันเป็นขาประจำของบ่อนว่า “เจ้าคนนี้พยายามใช้เล่ห์หลบเลี่ยงหนี้ บิดตะกูดฉ้อโกงไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จงจับอ้ายคนโสโครกนี้ไปโยนทิ้งที่บ่อแห้ง ซึ่งเป็นบ่อน้ำเก่าข้างนอกนั่น ข้าจะให้เงินแก่ผู้ที่ทำตามคำสั่งของข้าเป็นรางวัล”

เมื่อหัวหน้าบ่อนประกาศแก่นักพนันดังนี้ คนเหล่านั้นก็ช่วยกันแบกร่างจันทรสวามินเข้าไปในป่า มองหาบ่อน้ำเก่าอย่างที่ว่าก็ไม่พบ นักพนันแก่ผู้หนึ่งจึงพูดกับพรรคพวกว่า “เจ้าหนุ่มนี่มันตายแล้ว จะต้องลำบากไปหาบ่อน้ำที่ไหนให้มันวุ่นวายเปล่า ๆ เราปล่อยมันไว้ตรงนี้แหละ แล้วไปบอกนายบ่อนว่าเราโยนมันลงบ่อไปแล้ว” ทุกคนได้ฟังก็เห็นด้วยและตกลงทำตามคำสั่ง

ด้วยประการฉะนี้ พวกนักพนันก็ทิ้งร่างของจันทรสวามินไว้ในป่า แล้วแยกย้ายกันกลับไป จันทรสวามินเห็นว่าปลอดอันตรายแล้วก็ลุกขึ้น แลเข้าไปสู่เทวาลัยของพระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ นั้น ชายหนุ่มค่อยพักฟื้นมีเรี่ยวแรงขึ้นบ้าง ก็รำพึงแก่ตัวเองด้วยความเศร้าใจว่า “อนิจจา เพราะข้าไปหลงกลของอ้ายพวกขี้โกงพวกนั้นแท้ ๆ ข้าถูกมันหลอกต้มเสียป่นปี้ จนไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย ข้าจะออกไปเดินที่ไหนได้เล่าในสภาพเช่นนี้ ร่างเปลือยเปล่ามิพอ ยังรอยที่ถูกเฆี่ยนเต็มไปทั้งตัว และเปื้อนฝุ่นมอมแมมสกปรกอย่างน้ นี่ถ้าพ่อแลเห็นข้าในสภาพเช่นนี้ หรือญาติของข้าตลอดจนเพื่อน ๆ ของข้าก็ตาม เมื่อแลเห็นข้าเข้าเขาจะนึกอย่างไร เพราะฉะนั้นข้าจะหลบอยู่ในเทวาลัยตลอดวัน ถึงเวลากลางคืนค่อยออกไปหาอาหารมายาไส้พอประทังหิว ขณะที่เขากำลังตรีกตรองเรื่องความหิวและร่างกายที่เปลือยเปล่าอยู่นี้ พระอาทิตย์ก็ค่อนผ่อนคลายความแรงร้อนลง และกำลังสลัดอาภรณ์ที่นุ่งห่มคือนภากาศ ให้เคลื่อนคล้อยลงสู่อัสดง ณ หลังเขาอันไกลสุดขอบฟ้า จนลับดวงไปในที่สุด

ขณะนั้นฤษีประเภทปาศุบต (ปาศุปต) (ชื่อฤษีพวกนหนึ่งซึ่งเป็นสาวกของพระปศุบดี หรือพระศิวะ ผู้เป็นใหญ่ในสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย) ผู้หนึ่งก็เข้ามาในเทวาลัย มีร่างกายอันชะโลมด้วยเถ้าถ่านกระดูก (จากจิตกาธาน) มีมวยผมมุ่นไว้บนศรีษะ มือถือสามง่ามด้ามยาว (ตรีศูล) ดูราวกับพระศิวะองค์ที่สอง เมื่อแลเห็นจันทรสวามินก็ถามว่า “เจ้าคือใคร” จันทรสวามินก็เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด และก้มศรีษะแสดงความเคารพอย่างนอบน้อม ฤษีเมื่อได้ฟังดังนั้นก็กล่าวด้วยความเมตตาว่า “เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้ากระเซอะกระเซิงมาถึงที่นี่ ซึ่งเป็นอาศรมของข้าโดยไม่นึกไม่ฝัน จงเป็นแขกของข้าเถิด ลุกขึ้น ไปอาบน้ำเสียก่อนแล้วค่อยมากินอาหาร ซึ่งข้าภิกษาจารมาเมื่อเช้านี้” เมื่อฤษีกล่าวดังนี้ จันทรสวามินก็กล่าวด้วยความเคารพว่า “ท่าสาธุที่เคารพ ตัวข้าเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด ข้าจะกินอาหารที่ท่านภิกษาจารมาได้อย่างไรเล่าขอรับ”

เมื่อฤษีผู้ใจดี ผู้ชำนาญพระเวทมนตรา ได้ฟังดังนั้นก็เดินเข้าไปในบรรณาศรม นั่งลงเข้าฌานสมาธิสักครู่หนึ่งก็เรียกรูปวิทยาให้ปรากก รูปวิทยานี้สามารถเนรมิตทุกสิ่งตามคำสั่งของผู้เป็นนายได้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฎต่อหน้าฤษีแล้วก็กล่าวว่า “ท่านจะใช้ให้ข้าพเจ้าทำอะไร จงบอกมาเถิด” ฤษีจึงบัญชาว่า “จงเตรียมของให้พร้อมสรรพเพื่อต้อนรับอาคันตุกะของข้า” รูปวิทยาก็ตอบว่า “ข้าจะทำทุกอย่างตามที่ท่านสั่ง” ทันใดนั้นจันทรสวามินก็แลเห็นกนกนคร (เมืองทอง) ปรากฎขึ้นต่อหน้า ประกอบด้วยอุทยานอันงามวิจิตร มีหญิงบาทบริจาริกาอยู่ในนั้นเป็นอันมาก นางเหล่านั้นเข้ามาใกล้จันทรสวามิน ผู้แลดูด้วยความอัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น นางกล่าวว่า “โปรดลุกขึ้นเถิด ตามข้ามา จงบริโภคอาหารอร่อยให้เต็มที่ แล้วลืมความเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเสียให้หมด” นางเหล่านั้นพาชายหนุ่มเข้าไปในเมืองทอง อาบน้ำให้ และลูบไล้ด้วยผงจันทน์หอม หลังจากนั้นก็ตกแต่งร่างกายของพราหมณ์หนุ่มด้วยภูษาภรณ์อันงามระยับ เสร็จแล้วก็นำจันทนสวามินไปยังอีกห้องหนึ่ง ณ ที่นั้นชายหนุ่มแลเห็นหญิงสาวผู้หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าของบริจาริกาพวกนั้น นางมีความสวยงามทุกสัดส่วนจนหาที่ติมิได้ จนดูราวกับว่า พระธาดาพรหมเป็นผู้สร้างนางขึ้นมาเป็นสมบัติของโลกโดยแท้ และพระองค์ทรงลืมไปแล้วว่าพระองค์ทรงสร้างนางขึ้นด้วยสาระวิเศษสิ่งใดบ้าง

นางลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวเพื่อต้อนรับชายหนุ่ม และลงไปเชิญเขาให้ขึ้นมานั่งบนบัลลังก์ทองคู่กับนาง และชายหนุ่มก็ได้รับประทานอาหารซึ่งมีรสทิพย์ร่วมกับนาง และกินหมากซึ่งมีรสชาติเหมือนผลไม้ห้าชนิด

ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น จันทรสวามินตื่นขึ้นก็พบตัวเองนอนอยู่ในเทวาลัยพระศิวะ ไม่มีทั้งนครทอง เทพธิดาและแม้นางบาทบริจาริกาก็มิได้ปรากฎให้เห็นอีก ทันใดฤษีก็ออกมาจากอาศรมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และถามว่าชายหนุ่มได้ผ่านราตรีนั้นมาด้วยความสุขวิเศษหรือไม่ จันทรสวามินซึ่งยังมีอาการงงงวยจับต้นชนปลายไม่ติด ตอบว่า “ข้าแต่สาธุผู้ประเสริฐ ด้วยความอนุเคราะห์ของท่าน ข้าพเจ้าหลับอย่างสุขสบายตลอดทั้งคืน แต่ในบัดนี้สิเมื่อตื่นขึ้นมา นางฟ้าของข้าพเจ้าก็หายไปแล้ว ข้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าปราศจากนาง” เมื่อฤษีได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะด้วยอารมณ์ดี กล่าวปลอบใจว่า “จงอยู่ที่นี่ต่อไปเถอะ แล้วเจ้าจะได้พบเห็นสิ่งที่เจ้าปรารถนาทุกอย่างในคืนนี้” เมื่อได้ยินดังนั้นจันทรสวามินก็ตกลงว่าจะอยู่ต่อไปอีก และด้วยความช่วยเหลือของฤษี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นและเป็นไปเหมือนคืนก่อน ทำให้ชายหนุ่มมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับภาพมายาทุกคืน

แต่ในที่สุด ชายหนุ่มก็รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เขาได้พบได้เห็นนั้นล้วนเกิดจากมายาทั้งสิ้น ดังนั้นในวันหนึ่ง ด้วยชะตากรรมบันดาล ชายหนุ่มเข้าไปหาฤษีและทำการประจบประแจงให้ฤษีพอใจ แล้วกล่าวว่า “ท่านสาธุขอรับ ถ้าท่านจะมีเมตตาสงสารข้าพเจ้าผู้เคราะห์ร้าย หนีมาพึ่งพาท่านเพราะไร้ที่พึ่งอื่นอีกแล้ว ขอท่านจงช่วยอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า ช่วยสั่งสอนวิทยาคมอันยิ่งใหญ่นี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

เมื่อถูกรบเร้าหนักเข้า ฤษีก็กล่าวว่า “คนอย่างเจ้าเข้าไม่ถึงวิชานี้หรอก เพราะมันจะต้องลงไปฝึกถึงใต้น้ำ และระหว่างที่ผู้ฝึกกำลังท่องมนตร์อยู่ใต้ท้องน้ำ รูปวิทยานี้ก็จะสร้างภาพหลอนให้ปรากฎแก่เขา เช่นทำให้เขารู้สึกเหมือนเกิดใหม่เป็นทารก แล้วเจริญวัยเป็นเด็ก จากนั้นก็เป็นหนุ่มแล้วก็แต่งงานตัวของผู้ทำพิธีจะเกิดจิตหลอนว่าตัวเองมีลูกชาย และลูกขายของเขาก็จะถูกหลอกให้เกิดความหลงผิดว่า เขามีเพื่อนที่เป็นคนดีคนหนึ่ง และเป็นศัตรูอีกคนหนึ่ง ตัวเขาจะหลงลืมแม้กระทั่งชาติกำเนิดที่บอกให้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ตัวแม้แต่ว่าตนกำลังร่ายมนตร์ภาวนาเพื่อเข้าถึงวิชาอะไร แต่ใครก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าเขาได้พากเพียรมาจนถึงยี่สิบสี่ปีแล้ว ก็จะกลับคืนสติตามเดิมด้วยมนตร์ของอาจารย์ และจะมีกำลังจิตที่มั่นคง สามารถจดจำชีวิตของตนเองได้ และรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เกิดจากมายา และถึงแม้ว่าเขาจะตกอยู่ในอิทธิพลของมายา เขาก็รู้จักมันดีที่สุด เขาได้เข้าถึงกองไฟซึ่งเผาไหม้ภาพมายาเหล่านั้น และสำเร็จวิทยาที่ต้องการในที่สุด หลังจากนี้เขาจะขึ้นมาจากน้ำ ได้แลเห็นความจริงในที่สุด แต่ถ้าศิษย์ผู้แสวงหาวิชานั้นยังไม่สามารถจะบรรลุถึงวิทยาอันสูงสุดได้ทั้ง ๆ ที่ข้าได้ทุ่มเทให้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ข้าก็ต้องพลอยสิ้นสูญไปด้วย บัดนี้ข้าว่าเจ้าก็ได้วิทยาที่ข้ามีจนหมดสิ้นแล้ว จะรีรออยู่ทำไมเล่า จงรู้ไว้เถอะวาวิทยาของข้าไม่มีวันตายหรอก เจ้าตระหนักดังนี้แล้วก็จงมีความยินดีเถิดว่า ความสุขสมปรารถนาของเจ้านั้นก็จะไม่สิ้นสูญเช่นเดียวกัน”

เมื่อฤษีกล่าวดังนี้แล้ว จันทรสวามินก็ยืนยันว่า “ข้ารับรองว่าข้าสามารถทำทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนาแล้ว ท่านอย่ากังวลไปเลย”

อย่างไรก็ดี รูปวิทยานั้นเป็นสิ่งที่ได้ยาก ได้รับแล้วก็ปกครองยาก บังคับยาก เมื่อพลังจิตของผู้ฝึกยังไม่เข้มแข็งถึงที่สุดรูปวิทยาก็หนีไป ต้องฝึกกันต่อไปอีก ในกรณีของจันทรสวามินก็เช่นเดียวกัน ฤษีผู้เป็นอาจารย์รู้วาระน้ำจิตของลูกศิษย์ดีว่ายังไม่แกร่งเพียงพอที่จะผจญมายาได้ถึงที่สุด จะถูกล่อหลอกต่อไปอีกอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ปาศุบตนักพรตคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินไปยังฝั่งแม่น้ำ และกล่าแก่พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ว่า “ลูกเอ๋ย ขณะที่ร่ายมหามนตรานี้แล้ว เจ้าก็จะได้พบกับมาาอันเป็นภาพลวงตาลวงใจ ทำให้เกิดความสงสัยและเข้าใจไปต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้นข้าจะคอยส่งกระแสจิตตรวจดูเจ้าตลอดเวลา เมื่อเกิดติดขัดอันใด ข้าจะช่วยแก้ไขให้เจ้าอยู่บนฝั่วแม่น้ำนี้ตลอดเวลา” เมื่อจอมนักพรตกล่าวดังี้แล้วก็นั่งลงสำรวมจิตตั้งสมาธิยังจิตใจให้บริสุทธิ์คอยท่าอยู่ เพื่อติดตามจันทรสวามินต่อไป ซึ่งฝ่ายจันทรสวามินก็ชำระล้างหน้าให้บริสุทธิ์ และอมน้ำบ้วนปากหลายครั้งจนสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพรหมณ์หนุ่มก็เข้ามากระทำนมัสการต่อผู้เป็นอาจารย์ด้วยความเคารพ แล้วก็โผลงสู่แม่น้ำดำดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำทันที

เมื่อเขาร่ายมหามนตราอยู่ใต้แม่น้ำนั้น เขาก็เห็นภาพมายาปรากฎขึ้น ทำให้เขาลืมชาติกำเนิดของตนเองสิ้น เขาเห็นภาพตนเองในชาติกำเนิดใหม่ว่า เขาเป็นคนที่เกิดอยู่ในเมืองอื่นเมืองหนึ่งที่ไม่รู้จัก เป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง และตัวเขาเองค่อย ๆ เจริญวัยขึ้นทีละน้อย ๆ ในที่สุดเขาก็ได้สวมยัชโญปวีตสายธุรํามงคลอันแสดงถึงการเป็นพราหมณ์เต็มตัว และเขาได้ศึกษาคัมภีร์ พระเวทตามประเพณีพราหมณ์ด้วย จากนั้นก็แต่งงานมีภรรยา มีชีวิตเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างตามฐานะของคนที่แต่งงานแล้ว ในกาลต่อมาเขาก็มีบุตรชายคนหนึ่งและเขายังอาศัยอยู่ในเมืองนั้น วุ่นวายด้วยธุรกิจทำมาหากิน เลี้ยงดูลูกชายที่แสนรักและภรรยาที่แสนดี แวดล้อมด้วยพ่อแม่ญาติและบริวารทั้งปวง

ในขณะที่เขาดำรงชีวิตอยู่ตามภาพมายานั้น เขาก็เหินห่างจากความจริงคือชีวิตแท้ ๆ ซึ่งเขาเคยมีอยู่ นักพรตผู้เป็นครูซึ่งส่งกระแสจิตตามไปควบคุมโดยใกล้ชิ มิให้เขาหลงอยู่ในวงมายาที่ทำให้ห่างเหินไปจากความเป็นจริงไปทุกที ทันใดนั้นจันทรสวามินก็ตื่นจากภวังค์ในทันที เพราะกระแสจิตของผู้เป็นครูเข้าคุมอยู่โดยเข้มงวด ทำให้เขาได้สติกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และรู้ว่าแท้จริงสิ่งที่เขาพบผ่านมาเมื่อครู่ยามนั้นหาได้มีความจริงอยู่เลยแม้แต่น้อย เขาเห็นและรู้สึกไปเองโดยห้วงมายาโดยแท้ การหลุดจากมายาทำให้เขาคิดว่าตัวเองสำเร็จแล้ว หลุดพ้นแล้ว บังเกิดความกระหายที่เข้าสู่กองไฟเพื่อหวังวิทยาอันสุดยอดในทันที แต่เขาก็ถูกห้อมล้อมมะรุมมะตุ้มด้วยเพื่อนอาวุโส และเจ้านาย และวงศาคณาญาติ ผู้พยายามจะกีดขวางความสำเร็จของเขา แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะใช้วิธีการหลอกล่อเขาสักเพียงไรก็ไม่สำเร็จ ผลสุดท้ายหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมให้เคลิ้มกับการไปสู่สวรรค์เพื่อความบันเทิงสุขนิรันดร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มก็ยินยอมพาคนเหล่านั้นไปสู่ฝั่งแม่น้ำ และตระเตรียมกองไฟใหญ่ที่นั้น จันทรสวามินแลไป เห็นบิดามารดาผู้ชราของตนและภรรยา พร้อมที่จะเข้าสู่กองไฟด้วยความเศร้าโศก และบรรดาลูก ๆ ก็ร้องกระจองอแงไปหมด ในความสับสนของเหตุการณ์อันเกิดจากมายานั้น ชายหนุ่มกล่าวแก่ตนเองว่า “อนิจจาเอ๋ย บัดนี้ญาติพี่น้องของเราทั้งหมดกำลังจะตายถ้าเราเข้าสู่กองไฟ และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คำมั่นสัญญาของอาจารย์จะจริงหรือไม่จริง จะให้เราเข้ากองไฟอย่างนั้นหรือ หรือเราจะไม่เข้าดีกว่า แต่คิดไปคิดมา คำมั่นสัญญาจะผิดได้หรือ เพราะเท่าที่ท่านสั่งไว้เป็นขั้นตอนมันก็ถูกอย่างที่ท่านว่า เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นสมจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจเข้ากองไฟละ” เมื่อพราหมณ์จันทรสวามินไตร่ตรองโดยตลอดแล้วก็เดินเข้าไปในกองไฟ

ทันใดที่เขาเข้าไปในกองไฟ ชายหนุ่มก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไฟนันแทนที่จะร้อนแรงผลาญร่างกายดังที่คิด กลับเย็นยะเยือกดังหิมะ เขาก็ผลุดจากแม่น้ำทันที และมายาทั้งปวงถึงจุดอวสาน ชายหนุ่มรีบเดินไปตามฝั่งแม่น้ำเพื่อหาอาจารย์ ในที่สุดก็แลเห็นฤษีปาศุบตนั่งอยู่ริมแม่น้ำ ก็เดินเข้าไปลดตัวลงกราบแทบเท้าอาจารย์ และเมื่อผู้เป็นอาจารย์ซักถาม เขาก็บรรยาให้ทราบเรื่องที่เกิดจากมายาทุกสิ่งทุกอย่าง และจบลงด้วยเรื่องไฟเย็น เมื่อได้ฟังดังนี้ ผู้เป็นอาจารย์ก็กล่าวกะเขาว่า “ลูกเอ๋ย ข้าเกรงว่าเจ้าจะทำอะไรผิดตอนร่ายมหาเวทเสียละกระมัง หาไม่แล้วไฟจะเย็นสำหรับเจ้าได้อย่างไร ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ปรากฎแก่เจ้าในการแสวงหารูปวิทยานั้น ต้องผิดพลาดแน่ ๆ” เมือ่จันทรสวามินได้ยินการวิพากษ์ของอาจารย์ ดังนั้นก็ตอบว่า “ท่านสาธุขอรับ ข้าพเจ้าแน่ใจยว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”

ปาศุบตผู้เป็นอาจารย์เห็นว่าเรื่องนี้มีอะไรที่ผิดความคาดหมายอยู่ จึงตั้งใจจะสืบสวนเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง จึงตั้งสมาธิเพ่งรูปวิทยาให้ปรากฎในฌาน แต่รูปวิทยาไม่ปรากฎให้ทั้งอาจารย์และศิษย์ ดังนั้นทั้องสองคนก็ได้ประจักษ์ว่ารูปวิทยานั้นหนีไปแล้ว ทั้งสองก็เดินคอตกกลับไปอย่างสิ้นหวัง

เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลงก็ตั้งคำถามต่อพระเจ้าตริวิกรมเสน หลังจากที่ทูลเตือนพระราชาให้ตระหนักถึงเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อกันมาก่อนว่า “โอ ราชะ ขอได้โปรดแก้ปัญหาให้ข้าหน่อย ทรงเฉลยมาสิว่า ทำไมรูปวิทยาจึงสูญหายไปจากคนทั้งสอง ในเมื่อเขาร่ายมหาเวทอย่างถูกต้องตามที่บรรยายไว้ทุกประการ” เมื่อพระวีรกษัตริย์ได้ฟังคำถามของเวตาลเช่นนั้น ก็ตอบว่า “ข้ารู้ เจ้าจอมขมังเวทเจ้ากำลังหลอกล่อให้ข้าเสียเวลาเปล่า แต่เอาเถอะ ข้าจะตอบเจ้า คนเราจะเข้าถึงความสำเร็จเพราะการปะกอบพิธีรีตองที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวก็หามิได้ ทั้งนี้เว้นไว้เสียแต่ว่า จิตของเขาจะมั่นคงเด็ดขาด ตั้งอยู่ในความกล้าหาญอันไร้มลทินโทษโดยสิ้นเชิง ไม่หยุดยั้งรีรอในการติดสินใจให้แน่วแน่ ปราศจากความกวัดแกว่งไม่แน่นอน ถึงแม้ครูของเขาจะส่งพลังจิตไปช่วยแล้วก็ตาม ดังนั้น มหาเวทที่เขาร่ายอยู่จึงไม่ทำให้เขาได้บรรลุความสำเร็จ ส่วนครูของเขาเองก็สูญเสียอำนาจในการควบคุมมายาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเขาให้สิ่งที่ดีต่อคนที่ไม่สมควรจะได้รับ”

เมื่อพระราชาทรงอธิบายดังนี้ เวตาลผู้ยิ่งใหญ่ก็ละจากพระอังสาของพระราชาทันที ด้วยมนตร์เวทที่กำบังสายตามิให้ใครเห็น กลับคืนไปสู่สำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปจับตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง

เนื้อเพลง