วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย เป็นนายทหาร นักการเมือง ประธานองคมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยเป็นประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงระยะหนึ่ง ในปี 2559

ประวัติ

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ "เปรม" นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล "ติณสูลานนท์" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางออด วินิจทัณฑกรรม

พลเอกเปรมสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดบ่อยาง ศึกษาต่อมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในปี 2478 ต่อมาจบมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 แผนกวิทยาศาสตร์จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2479 เข้าศึกษาต่อนักเรียนนายร้อย ที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2481 เมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

จบหลักสูตรนายทหารฝึกราชการ โรงเรียนนายทหารม้า ระดับผู้บังคับบัญชาปี 2490 

ภายหลังสงคราม พลเอกเปรมรับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

หลังจากนั้นก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่สหรัฐ หลักสูตรผู้บังคับกองพัน โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ปี 2496, หลักสูตรพิเศษ วิทยาลัยการทัพบก ปี 2503 หลักสูตรวิทยาลัยอ้งกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 9 ปี 2509 และได้ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2498 

พ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

พ.ศ. 2511 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

พลเอก เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ เขามักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน 

พ.ศ. 2515 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

พลเอกเปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 

พลเอก เปรม ร่วมทำรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่

ครั้งที่ 1. วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น"แม่ทัพภาคที่ 2"

ครั้งที่ 2. วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น"ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก"

ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 

พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2520 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521

  ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2522

ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

พลเอกเปรมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 สมัยที่ 1 สืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523   ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอกเปรมในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด   สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526  สิ้นสุดสมัยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2526 ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งทั่วไป


สมัยที่ 2 มีหลังการเลือกตั้งแล้วสภาผู้แทนราษฏรมีมติให้ พลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2526  และสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 สิ้นสุดสมัยที่ 2 ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งทั่วไป


สมัยที่ 3 หลังการเลือกตั้งแล้วสภาผู้แทนราษฏรมีมติให้ พลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 และสิ้นสุดสมัยภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม 10 มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม 10 มกรา นี้ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา และมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531  

ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการทั่วไป

ภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ สิ้นสุดสมัยที่ 3 วันที่ สิงหาคม พ.ศ. 2531 

รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัย 8 ปี 154 วัน

ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17  


หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี


บทบาทในวิกฤตการณ์การเมือง

หลังรัฐประหารปี 2549  ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีนักวิชาการกล่าวหาพลเอกเปรมว่ามีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 ที่นำไปสู่รัฐประหาร ซึ่งในเวลาพลบค่ำวันที่ 19 กันยายน ช่วงเดียวกับที่กำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรีเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพมหานคร พลเอกเปรมเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พลเอกเปรมเป็นผู้สั่งการรัฐประหารโดยนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์ มีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว XFN-ASIA ระบุในเว็บไซต์นิตยสารฟอร์บ ว่า พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย พร้อมทั้งสนับสนุนให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายรัฐบาลทหารว่า พลเอกเปรมไม่เคยมีบทบาททางการเมือง

ในเวลาต่อมา มีการอ้างว่า พลเอกเปรมอาจมีบทบาทสำคัญในการเชิญพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตลูกน้อง มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย จนนักวิจารณ์บางคน กล่าวว่า สภาฯ ชุดนี้เต็มไปด้วย "ลูกป๋า"

วันที่ 22 กรกฎาคม 2550 นปก. ชุมนุมประท้วงหน้าบ้านของพลเอกเปรม เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เพราะเชื่อว่ามีบทบาททางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สพริกไทยแล้วล้อมรถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงของแกนนำ ผู้ชุมนุมขว้างปาขวดพลาสติกและขวดแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดการปะทะกันชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน ด้านแยกสี่เสาเทเวศร์ กลุ่ม นปก.ส่วนหนึ่งทุบทำลายซุ้มตำรวจจราจรและทุบรถส่องไฟและกระจายเสียงของตำรวจที่จอดไว้ รวมทั้งปล่อยลมยางรถยนต์ ในวันต่อมา พลเอกสนธิ พลเอกสุรยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีไปเยี่ยมพลเอกเปรมเพื่อขอโทษที่ยอมให้มีการประท้วง

บางกอกพันดิท (Bangkok Pundit) เขียนในเอเชียคอร์เรสปอนเดนท์ว่า พลเอกเปรมเป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองไทยในหลายทศวรรษหลัง เจมส์ อ็อกคีย์ (James Ockey) ว่า "ก่อนรัฐบาลไทยรักไทยกำเนิดในปี 2544 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกแทบทุกคนในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอดีตผู้ช่วยของเปรม" แต่ "แน่นอนว่ายิ่งเปรมเกษียณนานเท่าไร อิทธิพลของเขาในกองทัพก็ยิ่งอ่อนลงเท่านั้น" เขามีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดเมื่อรัฐประหารปี 2549 และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกองทัพและพระราชวัง ทว่า นับแต่ปี 2549 อำนาจของเขาและความสามารถมีอิทธิพลจางลงเมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและบูรพาพยัคฆ์มีเส้นสายของตัวและสามารถเลี่ยงพลเอกเปรมได้แล้ว Marwaan Macan-Markar เขียนว่า "ต่างกับสนธิ ประยุทธ์ยังไม่เป็นหนี้บุญคุณเครือข่ายอิทธิพลซึ่งเป็นผู้รักษาประตูสู่พระมหากษัตริย์แต่เดิม อันเป็นที่สถิตของอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร" และ "บูรพาพยัคฆ์คืนชีพโดยทำลายสายการบังคับบัญชาเดิมซึ่งเป็นหนี้บุญคุณต่อพลเอกเปรม เขามีสามัคคีจิตของเขาเอง"

ถึงแก่อสัญกรรม

พลเอก เปรม ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09:09 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 

สิริอายุ 98 ปี 273 วัน ..

โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานโกศกุดั่นน้อย ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เชิญพวงมาลาหลวง วางที่หน้าโกศศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในวาระครบ 7 วัน

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศล 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน ตามลำดับ และให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก เป็นเวลา 21 วัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562 เว้นวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ในวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการสำนักพระราชวัง รับพระบรมราชโองการให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี เข้าร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ และวางพวงมาลา 

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เปรม 


วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 

  อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าของฉายา “อินทรีบางเขน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2520 ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤติ เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สามารถประสานประโยชน์และสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เนื่องจากท่านมีนโยบายที่ประนีประนอมทุกฝ่าย ดังวลีที่ท่านได้กล่าวว่า “เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว” 

ประวัติ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นามเดิม สมจิตร ชมะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแจ่มกับนางเจือ ชมะนันทน์ สมรสกับคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ มีบุตรธิดารวม 2 คน

การศึกษา

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จากนั้นเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปทุมคงคาจนจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2483 ในระหว่างรับราชการทหารได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งสหรัฐอเมริกา วิทยาลัยกองทัพบกและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่น 5

การรับราชการ 

ในปี พ.ศ. 2484 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับราชการเป็นผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 26 ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันทหารราบที่ 26 ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงเวลาเดียวกันยังรับหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 1 กองพันทหารราบที่ 33 จนกระทั่งติดยศร้อยเอกในปี พ.ศ. 2486 จากนั้น ย้ายมาประจำที่ฝ่ายเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ก่อนจะได้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 ถึงปี พ.ศ. 2495 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบกรมผสมที่ 20 และไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีรุ่นแรก ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบ ผลัดที่ 3 สร้างเกียรติภูมิอย่างมาก จนหน่วยที่บังคับบัญชาได้ฉายาว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย”

เมื่อกลับมาย้ายไปสายวิชาการ เป็นหัวหน้าภาควิชายุทธการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกโดยติดยศพันเอกในปี พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าทำงานที่สำนักงานวางแผนทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ หรือ ส.ป.อ. จนได้เป็นหัวหน้ากองการทหารของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2506 ย้ายมาดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการกองอำนวยการกลาง สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา

ต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอกเมื่อปี พ.ศ. 2516 ในตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ต่อด้วยผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในที่สุดขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จนเกษียณอายุราชการ

ช่วงเวลาที่รับราชการ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2511 และสมาชิกสภานิติบัญญัติ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ช่วงรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้ การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผลงานสำคัญในช่วงที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งคือการปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวมทั้งพลเอก เกรียงศักดิ์ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

ระหว่างเล่นการเมืองอยู่นั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"

สมัยที่ 1 (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์นั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยคณะปฏิวัติภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว และได้จัดตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้น จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และยังได้รับการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่ม หรือกลุ่ม “ยังเติร์ก"  รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 ได้ประกาศนโยบายหลักในการปกครองประเทศที่สำคัญ คือ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2521 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างช้าที่สุดภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2522 นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาที่ถูกจำคุกเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ซึ่งรัฐสภาก็ได้ผ่านร่างดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 โดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อความปรองดองของประเทศ ซึ่งทำให้นักศึกษาที่ถูกจับทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2521 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้สลับไปควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปี รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยแรก ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะปฏิวัติประกาศว่า จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลได้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารจนกระทั่งได้ฉายาว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 12) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522

สมัยที่ 2 (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523)

ภายหลังการเลือกตั้ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดยมีพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง

การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งแต่สมัยที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงสมัยที่ 2 ต้องประสบปัญหามากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก การผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ต้องขึ้นราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลเป็นลูกโซ่ ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน รัฐบาลจึงถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพลังนอกสภากดดันรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2522 มุ่งประเด็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดด้วยเสียงที่มากกว่า รัฐบาลจึงได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไปได้

จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พยายามประคับประคองสถานะของรัฐบาลอย่างสุดความสามารถ โดยการปรับคณะรัฐมนตรีอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักคือเรื่องเศรษฐกิจได้ และเมื่อมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันในปี พ.ศ. 2523 นำมาซึ่งการประท้วงอย่างกว้างขวาง เพราะมีการมองว่ารัฐบาลผลักภาระของบริษัทน้ำมันมาให้ประชาชนแบกรับ มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ขณะที่ในสภาฯ ผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชหัวหน้าพรรคกิจสังคม พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ หัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ต่อพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา โดยมี ส.ส. ลงชื่อรับรองจำนวน 204 คน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา สมัยที่สอง พ.ศ. 2523 ในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้แถลงชี้แจงถึงปัญหาที่ผ่านมา ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลต้องประสบจนยากที่จะบริหารงานของประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ และได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงท้ายของการชี้แจงดังกล่าว ความว่า

“…การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทไม่สนใจว่าใครจะมาบริหารประเทศ ขอให้ท้องอิ่มก็แล้วกันแต่ความขัดแย้งก่อเกิดเพิ่มขึ้นทับทวี จนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”

หลังจากการแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เสร็จสิ้น สมาชิกรัฐสภาพร้อมใจกันปรบมือให้เกียรติดังลั่นไปทั้งห้องประชุมสภา การตัดสินใจของท่านนั้นได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอย่างสูงจากบุคคลต่าง ๆ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวว่า “พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้แสดงสปิริตออกมาเป็นที่น่ายกย่อง ไม่คาดมาก่อนว่าจะแก้ปัญหาด้วยการลาออก แต่ก็เหมาะสมดีแล้ว” หรือที่นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช สมาชิกพรรคเสรีธรรม กล่าวว่า “เป็นตัวอย่างที่ดี ในชีวิตนักการเมืองของผม ถือว่าเป็นการตัดสินใจของลูกผู้ชาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางด้านประชาธิปไตย ผมนะปรบมือให้ไม่หยุดเลย” นับว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง ไม่หวงอำนาจ แม้ว่าท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติ แต่ก็ลาออกตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักการเมืองที่ควรยึดถือปฏิบัติ หลังจากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก แต่อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กบฏวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกบฏดังกล่าว 

รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 2 สมัย เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน

โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ภาพที่ติดตาของพลเอกเกรียงศักดิ์ คือ การทำแกงเขียวหวานใส่บรั่นดีระหว่างออกเยี่ยมประชาชนตามที่ต่าง ๆ อันเป็นสูตรของพลเอกเกรียงศักดิ์เอง

 อสัญกรรม

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากนั้นก็รักษาตัวมาตลอดและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุ 86 ปี 6 วัน





 

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย เป็นอดีตองคมนตรีและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานองคมนตรี  

ประวัติ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 เป็นบุตรของนายแหและผะอบ กรัยวิเชียร สมรสกับคุณหญิงคาเรน กรัยวิเชียร เป็นชาวเดนมาร์ก(สกุลเดิม แอนเดอเซ่น) มีบุตร 5 คน ได้แก่

  • รูบีนา สุวรรณพงษ์
  • มหินทร์ กรัยวิเชียร
  • เขมทัต กรัยวิเชียร
  • นิติกร กรัยวิเชียร
  • ทันตแพทย์หญิงรีเบ้กก้า พิทซ์

การศึกษา

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 ได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และ พ.ศ. 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจาก สำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรย์สอินน์ ประเทศอังกฤษ


การทำงานก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี

  • ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
  • ศาสตราจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา
  • ศาสตราจารย์(พิเศษ)ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516

บทบาททางการเมือง

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สาเหตุที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก ขณะที่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงพระราชทานคำแนะนำแก่พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ให้ปรึกษาธานินทร์ กรัยวิเชียร  ผู้พิพากษาศาลฎีกา ณ ขณะนั้น

ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบายโดดเด่นคือ การต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น นโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) อีกทั้งนโยบายด้านการปราบปรามคอรัปชั่น รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร นับว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการพลเรือนที่ใช้อำนาจจัดการประชาชนในข้อหาคอมมิวนิสต์ จนมีประชาชนส่วนหนึ่งหนีข้อหานี้เข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน สั่งปิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง ซึ่งผู้สั่งปิดได้แก่ นาย สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 เป็นยุคมืดของวงการสื่อสารมวลชนและนักหนังสือพิมพ์ จนอาจกล่าวได้ว่าเผด็จการพลเรือนนั้นบางทีมีการจำกัดสิทธิมากกว่าเผด็จการทหารเสียอีก

นายธานินทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริตที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล 

การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520  เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

  เนื่องจากในเหตุการณ์ รัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลา พ.ศ.2519 ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้

โดยมีประกาศในการรัฐประหารไว้ดังนี้ การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จังหวัดยะลา

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 1 ปี 12 วัน

8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
ปัจจุบันอายุ 94 ปี

ดำรงตำแหน่งองคมนตรี 38 ปี 356 วัน

15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559  

การทำงานหลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

  • องคมนตรี (ตั้งแต่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
  • กรรมการตุลาการ (พ.ศ. 2521–2528)
  • กรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • ประธานกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  • รองประธานกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์
  • รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  • รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
  • กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล
  • กรรมการบริหารสภากาชาดไทย
  • กรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะปฏิบัติหน้าที่องคมนตรีในคราวเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงได้มีมติเลือกธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี

รางวัลและเกียรติยศ

ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น ศาสตราจารย์ นายกองใหญ่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ พ.ศ. 2520



รัฐประหารในประเทศไทย

 

รัฐประหารในประเทศไทย


ไปยังการนำทางไปยังการค้นหา

คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ มักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิรูป" หรือ "คณะปฏิวัติ" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" (revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงครั้งเดียว จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ความเห็นอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีการใช้กำลังทหาร ในการควบคุมบังคับ เพื่อระงับอำนาจของรัฐบาล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายกองทัพบก ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว ในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วหลังจากนั้น ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป

ในกรณีประเทศไทย เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จคณะรัฐประหารในไทยมักจะใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงนามประกาศใช้ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign the Royal Command) มีการออกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีการรับรองความสมบูรณ์สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหรือประกาศ และรวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกด้วย

รายชื่อรัฐประหารในประเทศไทย

มีดังนี้
  1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
  2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
  4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
  7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
  8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
  10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
  11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
  12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
  13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

 ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 

      

เป็นนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2528 เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกทั้งคู่ว่า “หม่อมพี่ หม่อมน้อง”

ประวัติ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เกิดวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คน ของ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) ชื่อ "คึกฤทธิ์" นั้นมาจากการที่ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การศึกษา

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้าน กับหม่อมราชวงศ์บุญรับ พี่สาวคนโต จนอ่านภาษาไทยได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2458 เขาจึงเข้าศึกษาภาคบังคับ ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนเทรนต์วิทยาลัย (Trent College) จากนั้นสอบเข้าวิทยาลัยควีนส์ (The Queen's College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) เพื่อศึกษาวิชาการปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ โดยสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และอีกสามปีต่อมา ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ครอบครัว

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ สมรสกับ หม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงวิสุมิตรา ปราโมช ต่อมาได้แยกกันอยู่กับหม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง ซึ่งแม้จะหย่าขาดจากกัน แต่ต่างก็ไม่สมรสใหม่ และไม่ได้โกรธเคืองกัน โดย ม.ร.ว.พักตร์พริ้งอยู่กับลูกชายคือ ม.ล.รองฤทธิ์ ที่บ้านในซอยสวนพลู ติดกับบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และยังไปมาดูแลทุกข์สุขกันเสมอ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "บ้านซอยสวนพลู"

การทำงาน

ชีวิตการทำงานในวัยต้น ท่านเริ่มทำงานที่กรมสรรพากร และถูกเกณฑ์ทหารตอนสงครามอินโดจีน ได้ยศสิบตรี

          จากนั้นไปทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลำปาง และกลับมาทำงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯ

          กระทั่ง เมื่อท่านเข้าสู่แวดวงการเมือง ท่านยังเป็นนักการเมืองแถวหน้า ที่เป็นผู้ก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” เมื่อปี 2488 ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา

          กล่าวคือ รอยต่อระหว่างนั้น "ควง อภัยวงศ์" ได้ชวนท่านไปก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งควงดำรงตำแห่งหัวหน้าพรรค ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค อยู่สู้ในสภา 2 ปี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ก็ได้เป็น รมช.กระทรวงการคลัง ในรัฐบาลชุดควง อภัยวงศ์

          ต่อมาเมื่อปี 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร แต่ยังไม่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง จึงไปชวนควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายยกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

          ครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย สั่งราชการกระทรวงการคลัง แต่อยู่ได้เพียง 5 เดือน จอมพลป.พิบูลสงคราม ก็ขึ้นบริหารประเทศแทน

          แต่แล้ววันที่ 16 ก.ย. 2491 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และหันหลัง ลาออกไปจากกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะท่านคัดค้านการขึ้นเงินเดิอน ส.ส.

          จากนั้น ท่านก็ได้ยุติบทบาททางการเมืองอยู่นาน และอย่างไรก็ดี ระหว่างนั้นเอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้หันไปหยิบจับงานสื่อสารมวลชน เกิดเป็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เป็นของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493

          จนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงจัดตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง “กิจสังคม”


หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกและบทบาทที่หลากหลาย มีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการประพันธ์ การแสดง และยังเป็นนักการเมือง เป็นผู้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ต่อมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2493 

และก่อตั้งพรรคกิจสังคม เมื่อ พ.ศ. 2517 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 ต่อจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ต่อจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 27 วันก็พ้นตำแหน่งเนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจในการแถลงนโยบาย

 เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวน ส.ส. ในมือเพียง 18 คน รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ในครั้งนั้นมี บุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย "เงินผัน" เป็นที่รู้จักเลื่องลือทั่วไปในสมัยนั้น

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น "เฒ่าสารพัดพิษ" "ซือแป๋ซอยสวนพลู" ภายหลังเมื่อมีอายุ จนสามารถแสดงความเห็นทางการเมือง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ จึงได้รับฉายาว่า "เสาหลักประชาธิปไตย" นอกจากนี้ อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในบางแห่งคือ "หม่อมป้า"

ในด้านวรรณศิลป์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดินไผ่แดงกาเหว่าที่บางเพลงหลายชีวิตซูสีไทเฮาสามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น "มอม" ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทยในปัจจุบัน บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดินหลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง


หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อปีพ.ศ. 2519 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดเนื่องจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาหลายประการทั้งการเมืองและการเรียกร้องต่าง ๆ ของประชาชนทั่วประเทศ โดยให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปีเดียวกัน

ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นพี่ชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดถึง 114 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่จะมีได้ คือ 279 คน นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากถึง 24 คน ถือว่าได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯไว้ได้ ขณะที่พรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ ส.ส.มาทั้งหมด 45 คน ถือเป็นอันดับสาม โดยที่พรรคชาติไทยได้เป็นอันดับสอง คือ 56 ที่นั่ง 

มีการวิเคราะห์กันว่า พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะการบริหารราชการที่ผ่านมาจากการยกเลิกความร่วมมือทางการทหารกับทางสหรัฐอเมริกา โดยไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แทน อีกทั้งตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองในครั้งนี้ก็ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองหนุ่ม ผู้เป็นเสมือนดาวรุ่งในขณะนั้นของพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่เขตดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของตนเองด้วย

การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นโดยเป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคธรรมสังคม และพรรคสังคมชาตินิยม รวมกันแล้วมีจำนวนเสียง ส.ส.ทั้งหมด 206 เสียง ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 ปี 37 วัน 

14 มีนาคม พ.ศ. 2518 - 20 เมษายน พ.ศ. 2519


หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ณ โรงพยาบาลสมิติเวช รวมอายุ 84 ปี 172 วัน


 ปลายปี พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมเสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก โดยมีทั้งเสียงสนับสนุน และคัดค้าน 

ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554  นับเป็นคนไทยลำดับที่ 20

 


เนื้อเพลง