วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย เป็นอดีตองคมนตรีและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานองคมนตรี  

ประวัติ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 เป็นบุตรของนายแหและผะอบ กรัยวิเชียร สมรสกับคุณหญิงคาเรน กรัยวิเชียร เป็นชาวเดนมาร์ก(สกุลเดิม แอนเดอเซ่น) มีบุตร 5 คน ได้แก่

  • รูบีนา สุวรรณพงษ์
  • มหินทร์ กรัยวิเชียร
  • เขมทัต กรัยวิเชียร
  • นิติกร กรัยวิเชียร
  • ทันตแพทย์หญิงรีเบ้กก้า พิทซ์

การศึกษา

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 ได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และ พ.ศ. 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจาก สำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรย์สอินน์ ประเทศอังกฤษ


การทำงานก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี

  • ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
  • ศาสตราจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา
  • ศาสตราจารย์(พิเศษ)ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516

บทบาททางการเมือง

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สาเหตุที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก ขณะที่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงพระราชทานคำแนะนำแก่พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ให้ปรึกษาธานินทร์ กรัยวิเชียร  ผู้พิพากษาศาลฎีกา ณ ขณะนั้น

ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบายโดดเด่นคือ การต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น นโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) อีกทั้งนโยบายด้านการปราบปรามคอรัปชั่น รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร นับว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการพลเรือนที่ใช้อำนาจจัดการประชาชนในข้อหาคอมมิวนิสต์ จนมีประชาชนส่วนหนึ่งหนีข้อหานี้เข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน สั่งปิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง ซึ่งผู้สั่งปิดได้แก่ นาย สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 เป็นยุคมืดของวงการสื่อสารมวลชนและนักหนังสือพิมพ์ จนอาจกล่าวได้ว่าเผด็จการพลเรือนนั้นบางทีมีการจำกัดสิทธิมากกว่าเผด็จการทหารเสียอีก

นายธานินทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริตที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล 

การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520  เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

  เนื่องจากในเหตุการณ์ รัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลา พ.ศ.2519 ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้

โดยมีประกาศในการรัฐประหารไว้ดังนี้ การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จังหวัดยะลา

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 1 ปี 12 วัน

8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
ปัจจุบันอายุ 94 ปี

ดำรงตำแหน่งองคมนตรี 38 ปี 356 วัน

15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559  

การทำงานหลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

  • องคมนตรี (ตั้งแต่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
  • กรรมการตุลาการ (พ.ศ. 2521–2528)
  • กรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • ประธานกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  • รองประธานกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์
  • รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  • รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
  • กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล
  • กรรมการบริหารสภากาชาดไทย
  • กรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะปฏิบัติหน้าที่องคมนตรีในคราวเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงได้มีมติเลือกธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี

รางวัลและเกียรติยศ

ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่แห่งกองอาสารักษาดินแดนเป็น ศาสตราจารย์ นายกองใหญ่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ พ.ศ. 2520



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง