วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สันติ ดวงสว่าง

 

















คำขวัญวันแม่แห่งชาติ พ.ศ.2566

 

"สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" 
พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566
วันที่ 18 ก.ค.66 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ เผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2566 ความว่า
รักของแม่หนักแน่นกว่าหินผา   และอ่อนนุ่มเกินกว่าผืนผ้าไหม
อบอุ่นอ่อนโยนกว่าสิ่งใด   ลูกทำดีด้วยใจประกาศรัก





วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มลฤดี ยมาภัย

 มนฤดี ยมาภัย เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2505 มีชื่อแรกเกิดคือ "มนฤดี ยามภัย" ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "มนฤดี ยมาภัย" ในภายหลัง 

ชื่อเล่น "ตุ๋ย" มีพี่น้อง 4 คน หญิง 3 คน ชาย 1 คน เป็นหลานสาวแท้ๆ ของคุณผุสดี สังวริบุตร ภรรยาของคุณไพรัช สังวริบัตรผู้บริหารบริษัทดาราฟิล์ม (ชื่อของดาราวิดีโอในขณะนั้น) จบการศึกษาจากพาณิชยการพระนคร

คุณตุ๋ยเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่วัยเยาว์ โดยรับบทเป็นนางเอกหรือบทเด็กในละครจักรๆ วงศ์ๆ ของดาราฟิล์ม แต่มารดาของคุณตุ๋ยต้องการให้เธอเน้นเรื่องการเรียนมากกว่าจึงไม่ได้สนับสนุนคุณตุ๋ยในเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก กระนั้นในช่วงวัยเด็กคุณตุ๋ยยังคงมีผลงานการแสดงออกมาอยู่เรื่อยๆ

พ.ศ. 2516 เมื่อคุณตุ๋ยอายุ 11 ขวบ เธอมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกในผลงานเรื่อง "น้ำเซาะทราย" ผลงานสะท้อนถึงการพังทลายของสถานะชีวิตคู่และสถาบันครอบครัว กับบทลูกสาวของคุณจิ๋ม มยุรฉัตร และคุณนาท ภูวนัย นักแสดงนำของเรื่อง

หลังผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคุณตุ๋ยยังรับผลงานการแสดงในบทเด็กบ้างประปราย อาทิเช่น "ปอบผีฟ้า" พ.ศ. 2518, "ห้องหุ่น" พ.ศ. 2519 และละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง "พระทิณวงศ์" ในปี พ.ศ. 2520

กระทั่งเมื่อคุณตุ๋ยได้เริ่มเข้าสู่วัยสาว เค้าความงามในแบบผู้ใหญ่ของเธอเริ่มปรากฏ ทำให้ในปี พ.ศ. 2521 หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมยุคลได้ดึงเธอให้มาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งกับบทเด็กสาววัยรุ่นผู้มีปัญหาภายในใจ และต้องการใครสักคนที่เข้าใจตัวของเธอ กับภาพยนตร์เรื่อง "กาม"

ผลงานการแสดงครั้งนี้ของเธอเป็นซาวด์ออนฟิล์มซึ่งหายากในยุคนั้น อีกทั้งแม้จะเป็นผลงานการแสดงในวัยเพียงแค่ 16 ปี แต่คุณตุ๋ยกลับแสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมถึงแก่น ทำให้ในปีนั้นคุณตุ๋ยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในวัยที่เพิ่งผ่านการเริ่มใช้คำนำหน้านางสาวเพียงหนี่งปีเท่านั้น

หลังจากแสดงภาพยนตร์เรื่องกาม คุณตุ๋ยมีผลงานการแสดงภาพยนตร์เข้ามีอีกพอสมควร แต่ผลงานเหล่านั้นกลับไม่ได้โดดเด่นจนทำให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังโดดเด่นจนเป็นที่จับจ้องของประชาชนมากนัก

2 ปีให้หลังจากภาพยนตร์เรื่องกาม พุทธศักราชที่ 2523 ทางดาราฟิล์มได้มอบบทบาทนางเอกละครเรื่อง "ดาวพระศุกร์" คู่กับพระเอก "คุณพล พลาพร" 

เมื่อละครออกอากาศได้เกิดกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นระดับประวัติการณ์ ประชาชนนิยมดาวพระศุกร์ถึงขั้นที่ว่ามีหมู่บ้านในจังหวัดแห่งนึงเมื่อเกิดไฟดับ ชาวบ้านถึงกับนั่งรถข้ามไปอีกยังหมู่บ้านเพียงเพื่อดูดาวพระศุกร์ จากความสำเร็จอันประเมินค่าไม่ได้ของละคร ทำให้นักแสดงนำอย่างคุณตุ๋ยและคุณพลโด่งดังมีชื่อเสียงอย่างกู่ไม่กลับ ทั้งสองมีงานโชว์ตัวมากมายในยุคที่งานโชว์ตัวยังไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งเขาและเธอก็กลายเป็นพระนางคู่ขวัญที่มีผลงานร่วมกันต่อมาอีกหลายเรื่อง

พ.ศ. 2524 จากความสำเร็จของดาวพระศุกร์ทำให้ในปีต่อมาทางดาราวิดีโอได้นำมนฤดี ยมาภัย และพล พลาพร พระนางคู่ขวัญจากดาวพระศุกร์มาประกบคู่กันอีกครั้งในละครเรื่อง "ดอกโศก" ผลตอบรับของละครเรื่องนี้ยังไม่รุนแรง เป็นประวัติการณ์เท่าดาวพระศุกร์ ถึงกระนั้นดอกโศกก็ถือว่าเป็นละครที่ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งยังมีการยกกองถ่ายทำยังต่างประเทศจริงๆ ซึ่งแตกต่างจากละครไทยในยุคนั้นที่มักจัดฉากถ่ายในสตูดิโอ

อีกทั้งจากกระแสการตอบรับอันรุนแรงของดางพระศุกร์ทำให้มีคนนำบทประพันธ์เรื่องนี้ไปทำเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดยคุณสรพงษ์ ชาตรี และคุณอาภาพร กรทิพย์ แต่ในปี พ.ศ. 2524 ทางดาราวิดีโอได้นำดาวพระศุกร์มาทำในรูปแบบของภาพยนตร์ฟิล์ม 35 มม. โดยใช้นักแสดงชุดเดิม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี

ปีต่อมา พ.ศ. 2525 คุณตุ๋ยได้รับบทนางเอกจากเรื่องดอกโศกอีกครั้งในรูปแบบของ "ภาพยนตร์" ร่วมกับคุณพล พลาพรนักแสดงคู่บุญของเธอ ในปีนั้นทั้งสองได้ร่วมงานภาพยนตร์กันอีก 2 เรื่อง ได้แก่ "หลานสาวคุณหญิง" และ "มัจจุราชสีน้ำผึ้ง" ที่ในเรื่องนี้เธอและคุณพลพบกันในบทบาทของนางเอกและพระรอง อีกทั้งในปีนี้คุณตุ๋ยยังได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก ใน รางวัลตุ๊กตาทองทีวีมหาชนของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ครั้งที่ 2 สาขา ผู้แสดงยอดนิยมที่ 1 ฝ่ายหญิง ประเภทภาพยนตร์โทรทัศน์ดาวพระศุกร์

พ.ศ. 2526 คุณตุ๋ยมีงานแสดงละครเรื่อง "อุบัติเหตุ" ประกบคู่กับคุณพล พลาพร พระเอกคู่บุญของเธอ อีกทั้งในปีเดียวกันคุณตุ๋ยยังมีงานภาพยนตร์เข้ามามากมายหลายเรื่อง เช่น "หนูเป็นสาวแล้ว" คู่กับ คุณสรพงษ์ ชาตรี, "แม่จอมยุ่ง" คู่กับ คุณทูน หิรัญทรัพย์ และ "นิสิตใหม่" คู่กับ คุณไพโรจน์ สังวริบุตร ฯลฯ

แม้เธอจะเป็นนักแสดงที่มาจากจอแก้ว แต่คุณตุ๋ยยังคงสามารถรักษาบทนักแสดงนำไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู เพราะนักแสดงที่รับบทนำหรือเป็นนักแสดงทางจอแก้ว เมื่อมารับงานแสดงทางจอเงินส่วนมากมักได้รับในบทรองหรือบทสมทบ แต่คุณตุ๋ยยังคงสามารถรักษาสถานะของการเป็นนักแสดงบทนำไว้ได้

นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่การันตีถึงความยิ่งใหญ่อันยากคณานับของเธอได้ดีมากทีเดียว และหลังจากในปีนี้ที่เธอมีผลงานการแสดงภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนที่โดดเด่นหรือไปที่จดจำแก่ผู้คนมากนัก คุณตุ๋ยจึงหันมาเอาดีทางด้านละครดังเดิม จากนั้นจึงไม่มีผลงานการแสดงทางจอเงินออกมาให้ผู้ชมได้เห็นอีก

พ.ศ. 2527 คุณตุ๋ยแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง "นางแมวป่า" ซึ่งละครโทรทัศนเรื่องนี้มีความพิเศษกว่าละครเรื่องอื่นๆ ของเธอที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นผลงานที่ใช้เสียงจริงของเธอเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาตัวละครในละครโทรทัศน์ที่ถูกสวมบทบาทโดยเธอจะใช้เสียงของคุณรัชนี จันทรังษี พากย์ทับลงไปอยู่เสมอ

ปีถัดมา พ.ศ. 2528 ในปีนี้คุณตุ๋ยได้แสดงละครโทรทัศน์ถึง 2 เรื่อง ได้แก่ "พลับพลึงสีชมพู" คู่กับพระเอกคุณธงไชย แมคอินไตย์ และละครเรื่อง "มัสยา" คู่กับพระเอกชื่อดังคุณศรัณยู วงศ์กระจ่าง ละครโทรทัศน์ทั้ง 2 เรื่องนี้ได้กลับมาใช้การพากย์เสียงคุณรัชนี จันทรังษีทับลงไปในตัวละครที่คุณตุ๋ยแสดงอีกครั้ง และยังถือเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการพากย์เสียงคุณรัชนีทับลงไปในตัวละครที่คุณตุ๋ยเป็นผู้สวมบทบาท

พ.ศ. 2529 คุณตุ๋ยมีผลงานการแสดงละครเรื่อง "น้ำผึ้งขม" ร่วมกับพระเอกคุณนิรุตต์ ศิริจรรยา  ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ได้กลับมาใช้เสียงจริงของเธออีกครั้ง หลังจากผลงานละครเรื่องนี้ก็ไม่มีการกลับมาใช้เสียงพากย์ของคุณรัชนีในบทบาทที่คุณตุ๋ยแสดงอีกเลย

ต่อมา พ.ศ. 2530 คุณมนฤดีได้หวนกลับมาร่วมงานหับคุณศรัณยู วงศ์กระจ่างอีกครั้งในผลงานละครจากบทประพันธ์สุดคลาสสิค "บ้านทรายทอง" และ "พจมาน สว่างวงศ์" อันเป็นภาคต่อของบ้านทรายทองในปีเดียวกัน หลังละครเรื่องนี้แพร่ภาพออกไปได้เกิดกระแสตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างมาก จนทำให้ภาพของนักแสดงในเวอร์ชันนี้ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมในยุคสมัยนั้นมาจนถึงปัจจุบัน และในปีเดียวกันเธอยังได้มีโอกาสแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง "สกาวเดือน" ร่วมกับพระเอกคุณอภิชาติ หาลำเจียก

ในช่วงยุค 80 ที่วงการภาพยนตร์ไทยรุ่งเรือง ได้มีนางเอกสาวลูกครึ่งฝรั่งเศสที่โลดแล่นอยู่บนจอเงินจนได้รับฉายานางเอกคิวทองอย่างคุณเปิ้ล จารุณี  ขณะเดียวกันช่วงที่นางเอกสาวจารุณี สุขสวัสดิ์กำลังโด่งดัง ทางด้านวงการจอแก้วคุณตุ๋ยคือนางเอกสาวที่โด่งดังในเส้นทางของการเป็นนางเอกละครโทรทัศน์เป็นอย่างยิ่ง จนทำให้เธอเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีจอแก้วคนที่ 3 ต่อจากคุณอารีย์ นักดนตรี และคุณกนกวรรณ ด่านอุดม

แม้คุณตุ๋ยจะไม่ใช่นางเอกที่สวยเก๋ เปรี้ยวจัดจ้านหรือสวยหวานพิลิศพิไล แต่ในช่วงที่เธอยังเป็นนักแสดง คุณตุ๋ยกลับมีความสวยที่เป็นเอกลักษณ์ ที่หาในนักแสดงหญิงคนอื่นได้ยาก นั่นคือ "ความสวยแบบไทย" ที่แสดงออกในความงามของเธอมากกว่านักแสดงหญิงหลายๆ คน

เอกลักษณ์ของคุณตุ๋ยคือความสวยที่มีคล้ายคลึงกับหญิงสาวไทยยุคโบราณ ดวงตากลมโตที่แฝงไปด้วยแววโศก ผิวพรรณสีน้ำผึ้งคล้ำ

ด้วยรูปลักษณ์ความงามแบบไทยและดวงตาที่แฝงไปด้วยแววโศก ทำให้เธอโดดเด่นในบทนางเอกเรียบร้อย เศร้าโศกชวนน่าเห็นใจ การแสดงที่โดดเด่นที่สุดของคุณตุ๋ยคือการแสดงบทโศก ยามใดที่ดวงตากลมโตอันเต็มไปด้วยแววโศกต้องมีน้ำตา เมื่อความเศร้าที่ส่งออกมาจากนัยน์ตาของเธอผสานเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้สึกของผู้ชม เมื่อนั้นผู้ชมแทบทุกคนต้องเป็นอดเสียน้ำตามิได้ 

แม้เธอจะไม่ใช่นักแสดงที่สวยจัดและมีฝีมือการแสดงฉกาจจัดจ้าน แต่เธอก็เป็นนักแสดงที่มีเอกลักษณ์ พร้อมด้วยเสน่ห์ที่มัดใจมหาชนอันเป็นคุณสมบัติที่นักแสดงบทนำพึงมี

พ.ศ. 2531 คุณตุ๋ยได้ทิ้งทวนการแสดงกับทางดาราวิดีโอเรื่อง "สวรรค์เบี่ยง" แสดงคู่กับคุณยุรนันท์ ภมรมนตรี ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ก่อนที่ในปีต่อมาเธอได้เข้าเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงกับทางช่อง 3

หลังจากที่เธอเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงกับทางช่อง 3 พ.ศ. 2532 คุณตุ๋ยได้มีโอกาสร่วมงานแสดงกับ คุณพิศาล อัครเศรณี เป็นครั้งแรกในผลงานละครเรื่อง "มนต์รักอสูร" และละครโทรทัศน์ของค่ายเอทีวีร่วมกับพระเอก คุณทูน หิรัญทรัพย์ เรื่อง "มัจจุราชฮอลิเดย์" 

พ.ศ. 2533 คุณตุ๋ยมีผลงานการแสดงถึง 3 เรื่องด้วยกัน มีเรื่อง "แม่มดแจ๋วแหวว" (แก้ไขค่ะ เรื่องนี้ไม่ได้คู่กับคุณอรรถชัยนะคะ) พร้อมด้วย ละครเรื่อง  "ใครกำหนด"  พบกับ 3 นักแสดงนำ คุณตฤณ เศรษฐโชคคุณรอน บรรจงสร้าง และคุณพลรัตน์ รอดรักษา  อีกทั้งเธอยังได้มีโอกาสร้องเพลงประกอบละครร่วมกับคุณรอน บรรจงสร้างอีกด้วย และผลงานเรื่องสุดท้ายกับละครโทรทัศน์จากบทประพันธ์ของลักษณวดี อีกนามปากกาของทมยันตีนักเขียนนิยายมือฉมังในละครเรื่อง  "หนี้รัก"  ร่วมกับพระเอกคุณสถาพร นาควิลัย

ช่วงที่เธอเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงกับทางช่อง 3 ผลงานละครที่ออกมาส่วนใหญ่ไม่เป็นที่โดดเด่นหรือพูดถึงนัก กระทั่งเมื่อทางช่อง 3 ได้นำ  "สี่แผ่นดิน" บทประพันธ์อมตะคลาสสิคตลอดกาลของหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช มาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้ง โดยได้มีการวางตัวให้คุณตุ๋ยรับบทเป็นแม่พลอย แต่เกิดการเปลี่ยนตัวนักแสดง เป็นคุณจินตหรา สุขพัฒน์  ทำให้เธอจึงตัดสินใจกลับมารับงานแสดงทางช่อง 7 อีกครั้ง

พ.ศ. 2535 คุณตุ๋ยกลับมามีผลงานกับทางช่อง 7 อีกครั้งในละครเรื่อง  "นางทิพย์"  ประกบคู่กับพระเอกคุณบดินทร์ ดุ๊ก พร้อมด้วยละครหลังข่าวภาคค่ำเรื่อง "พรพรหมอลเวง"  คู่กับคุณธานินทร์ ทัพมงคล และผลงานละครสั้นจบในตอน  "เหตุเกิดที่สน."  ในตอนพิเศษวันสงกรานต์ ร่วมกับคุณจารุณี สุขสวัสดิ์

นอกจากจะเป็นการกลับมาเล่นละครทางช่อง 7 อีกครั้งแล้ว ในปีนี้เธอยังได้พลิกบทบาทมาเล่นบทร้ายครั้งแรกในละครแนววิญญาณ ลึกลับเรื่อง  "ภาพอาถรรพ์" พบกับ 2 นักแสดงนำคุณลิขิต เอกมงคล และคุณชฎาพร รัตนากร แม้จะเป็นผลงานการพลิกมาเล่นร้าย แต่บทร้ายที่เธอได้รับก็เป็นบทร้ายที่ถือว่าเป็นตัวนำของเรื่อง เป็นบทที่ไม่ร้ายอย่างโจ่งแจ้งประเจิดประเจ้อ แต่เป็นบทร้ายในทำนองร้ายลึก ซึ่งคุณตุ๋ยก็สามารถถ่ายทอดบทบาทการแสดงบทร้ายในเรื่องนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี

หลังจากกลับมามีผลงานการแสดงกับทางช่อง 7 อีกครั้ง บทที่คุณตุ๋ยได้รับเป็นบทที่ไม่ใช่บทนางเอก หรืออาจเป็นบทนางเอกที่ไม่ได้ฉายในช่วงหลังข่าวภาคค่ำ กระทั่งในปี พ.ศ. 2536 เธอได้รับบทบาทการแสดงเรื่อง  "นางทาส"  อันเป็นผลงานการแสดงชิ้นเอกที่สุดในชีวิตของเธอ บทบาทการแสดงเป็นทาสของคุณตุ๋ยในเรื่องนี้เข้ากับรูปลักษณ์และผิวพรรณของเธอที่ออกไปทางหญิงไทยยุคโบราณ ผนวกเข้ากับนัยน์ตาโศก และฝีมือการแสดงที่เฉียบขาดในบทโศกเศร้า น่าเห็นใจของเธอได้อย่างประจวบเหมาะ ทำให้บทบาทของ  "อีเย็น"  ในละครเรื่องนี้ทำผู้คนทั่วประเทศต้องเสียน้ำตาไปอย่างเสียมิได้

หลังนางทาสฉายก็เกิดกระแสตอบรับโด่งดังเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในระดับเทียบเคียงกับละครดาวพระศุกร์ที่เธอเคยแสดงเอาไว้จนเป็นปรากฏการณ์เมื่อ 13 ปีก่อน

จากการแสดงระดับตีบทแตกกระจุยของเธอทำให้ในปีนั้นคุณตุ๋ยสามารถคว้ารางวัลเมขลา ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมไปครองได้สำเร็จ บทบาทการแสดงอันยอดเยี่ยมในเรื่องนางทาสของเธอได้กลายเป็นสุดยอดภาพจำ และตัวเธอเองก็กลายเป็นสุดยอดภาพจำของละครเรื่องนางทาสเช่นกัน

หลังจากความสำเร็จของละครเรื่องนางทาส ปีถัดมา พ.ศ. 2537 คุณตุ๋ยได้มีผลงานร่วมกับคุณลิขิต เอกมงคลอีกครั้งในผลงานละครแนวสะท้อนอาชีพตำรวจเรื่อง "สารวัตรใหญ่" และผลงานละครแนววิญญาณ สยองขวัญที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ณ ยุคนั้นอย่างเรื่อง "กระสือ"  พร้อมด้วยผลงานละครสั้นปากกาทอง ร่วมกับคุณพลรัตน์ รอดรักษา ในเรื่อง "เจ้าสาวซาตาน"

พ.ศ. 2538 คุณตุ๋ยได้มีผลงานการแสดงอย่างจริงจังเป็นเรื่องสุดท้ายในผลงานละครเรื่อง "ปราสาทสีขาว" ร่วมกับ คุณอรรถชัย อนันตเมฆ ก่อนที่เธอจะห่างหายจากการแสดง โดยมีผลงานการแสดงในบทรับเชิญเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น อย่างเช่น "ภูติคนอลเวง" ละครในปี พ.ศ. 2540 และละครพิเศษเนื่องในวันพ่อ เรื่อง  "รักของฟ้า"  ในปี พ.ศ. 2544

เมื่อห่างหายการแสดงทางหน้าจอโทรทัศน์ คุณตุ๋ยได้ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์ในนามของ "บริษัท พีดี วิดีโอ จำกัด" โดยมีผลงานละครเรื่อง "อย่าลืมฉัน" นำแสดงโดยคุณพีท ทองเจือ และคุณสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ เป็นผลงานผู้จัดละครเรื่องแรกของเธอ ออกอากาศในช่วงปี พ.ศ. 2541

จากนั้นคุณตุ๋นจึงได้รังสรรค์ผลงานละครโทรทัศน์ตามมาอีกหลายเรื่อง ได้แก่  "คุณปู่ซู่ซ่า คุณย่าเซ็กซี่""พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ" ในปี พ.ศ. 2542 และละครเรื่อง  "มัสยา"  ในปี พ.ศ. 2543 ปีต่อมา พ.ศ. 2544 กับผลงานละครเรื่อง "กำนันหญิง"  และผลงานละครเรื่อง "แม่แตงร่มใบ"  "รักข้ามคลอง"  ในปี พ.ศ. 2545 และปี พ.ศ. 2547 ตามลำดับ

หลังเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์มาหลายเรื่อง แต่ผลงานละครส่วนใหญ่ของเธอกลับไม่ค่อยโดดเด่นเป็นที่จดจำนัก ซึ่งไม่ว่าด้วยสาเหตุอันใดก็ตาม คุณตุ๋ยได้ตัดสินใจออกจากวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังและไม่มีผลงานการแสดงหรือปรากฏตัวตามสื่ออีกเลย การปรากฏตัวตามสื่อของเธอมีเพียงแค่ครั้งเดียวในตอนที่เธอได้แถลงและให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวคดีความที่มีคนจ้องทำร้ายเท่านั้น

เมื่อออกจากวงการเธอได้หันมาใฝ่ทางธรรม คุณตุ๋ยมักไปที่สถานปฏิบัติธรรมเป็นประจำ จนมีช่วงนึงที่มีข่าวออกมาว่าเธอได้ปฏิบัติธรรทที่วัดป่าแห่งหนึ่ง เพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันคุณตุ๋ยได้ละทิ้งซึ่งชีวิตแห่งไฟมายาเย้ายวน และหันมาใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่ายในเส้นทางใต้ร่มของพระพุทธศาสนา


วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ทูล ทองใจ

 ทูล ทองใจ (1 มีนาคม พ.ศ. 2472 - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) มีชื่อจริงว่า น้อย ทองใจ เป็นนักร้องเพลงไทยสากลชายชาวไทย ผู้ที่ได้รับฉายาในวงการว่า "เจ้าชายแห่งรัตติกาล,เทพบุตรเสียงกังสดาล,นักร้องเสียงดุเหว่าแว่ว,สุภาพบุรุษลูกทุ่ง"

ทูล ทองใจ เดิมชื่อ น้อย ทองใจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472  ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ภายหลังครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่กลอง พ่อของเขาเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ใช้สกุล "แซ่กิม" ต่อมาพ่อของเขาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น "ทองใจ" ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่า "นิ่ม ทองใจ" ทูลเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาลูกทั้ง 4 คน

เวลาต่อมาพ่อของเขาได้เสียชีวิตตั้งแต่ทูลและพี่น้องของเขายังเล็ก ส่วนแม่ของเขาจึงได้สมรสใหม่และได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลมหาชัย และมีลูกด้วยกันอีก 1 คนเป็นผู้หญิง ทูลได้ช่วยเลี้ยงน้อง, ช่วยแม่ขายของ และหาบน้ำขาย

ทูลจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 เขาชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาเขาขึ้นเวทีร้องเพลงประกวดครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี เพลงที่ชื่นชอบเป็นพิเศษในช่วงนั้นคือ "ค่ำแล้วในฤดูหนาว" ของครูล้วน ควันธรรม และเพลง "หยาดฟ้ามาดิน" ของครูสมยศ ทัศนพันธ์ เขาไปประกวดที่เวทีไหน เขาจะนำ 2 เพลงนี้ขึ้นไปร้องประกวดเสมอและชนะเลิศทุกครั้ง

ในขณะที่อายุได้ 19 ปี เขาได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดร้อง นับเป็นกรรมการที่มีอายุน้อยที่สุด ทำให้เขาภูมิใจไม่เคยลืม หลังจากนั้นครูชาญชัย บังบังศร แนะนำให้ไปร้องเพลงอยู่ที่ห้องอาหารจังหวัดภูเก็ต ทนลำบากอยู่หลายปีเหมือนกัน จึงหวนกลับกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง

ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องอาชีพเริ่มเป็นจริง เมื่อได้เข้ารับราชการเป็นทหาร สังกัด ขส.ทบ. ความสามารถในการร้องเพลง ทำให้เขาได้เป็นนักร้องประจำวง “ลูกมาตุลี” ซึ่งเป็นวงดนตรีชื่อดังของกรมการขนส่งทหารบกในสมัยนั้น และได้รับยศทางทหารเป็นสิบตรี

เมื่อออกจากวง “ลูกมาตุลี” ของ ขส.ทบ. ขณะนั้นมียศสิบเอก ครูสิทธิ์ โมรกรานต์ นำไปพบกับครู “เบญจมินทร์” ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงแรกให้ร้องบันทึกเสียง เมื่อปี พ.ศ.2499 ในเพลง “ทุยหน้าทื่อ” ต่อมาในปี พ.ศ.2500 หลังจากครูเบญจมินทร์เดินทางกลับจากประเทศเกาหลี ก็นำเพลงมาให้ครูรูมงคล อมาตยกุล เรียบเรียงเสียงประสาน จำนวน 4 เพลง มีเพลง “รำเต้ย” “รักแท้จากหนุ่มไทย” ครูร้องเอง “เสียงครวญจากเกาหลี” สมศรี ม่วงศรเขียว ขับร้อง และเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ให้ ทูล ทองใจ ขับร้อง ปรากฏว่าเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ดังมาก ทำให้ชื่อของทูลเกิดขึ้นในวงการเพลง


ต่อมาครูเบญจมินทร์แต่งให้ร้องอีกหลายเพลง เช่น “ปรารถนา” และหลายต่อหลายเพลง เนื่องจากครูเบญจมินทร์มีงานล้นมือ ทั้งงานด้านดนตรีและงานภาพยนตร์ จึงฝากทูล ทองใจ ให้ครูมงคลอุปการะต่อ และได้ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงให้อีกแรงหนึ่ง ทำให้ชื่อเสียงของทูล ทองใจ โด่งดังเป็นดาวค้าฟ้ามาตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อออกจากวง “จุฬารัตน์” ก็ร่วมกับภรรยา “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2511 พอมาถึงปี

พ.ศ.2515 ทูล ทองใจ สุขภาพไม่ค่อยดี “นวลสวาท ชื่นชมบุญ” จึงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงเอง นำทีมงานนักร้องนักดนตรีประมาณ 60 ชีวิต รับใช้แฟนเพลงอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เลิกวง ทั้งทูลและนวลสวาทหันไปร้องเพลงประจำห้องอาหาร และร้องเรื่อยมาจนบั้นปลายของชีวิต ในช่วงหลังสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ลูก ๆ พยายามทัดทานให่หยุดร้องเพลง แต่เขาก็ไม่ยอม เนื่องจากได้ตั้งปณิธานเอาไว้แล้วว่า จะขับกล่อมเสียงเพลงให้ความสุขกับประชาชนจนลมหายใจสุดท้าย เพราะชีวิตเขาเกิดมาจากเพลง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2538 ก่อนเสียชีวิต 2 วัน ทูล ทองใจ ได้ไปที่ร้านเสริมสวยซึ่งอยู่ในซอยโรงเรียนช่างกลปัญจะ แถวสะพานควาย เพื่อหา “น้าออน” เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กับเขาในบั้นปลายของชีวิต เนื่องจากวันนั้นเธอไปเสริมสวย เมื่อทูลไปถึงก็ถือโอกาสเสริมความงามให้กับตัวเองเสียเลย ทั้งสระผม ดัดผมให้เป็นลอนหยักศก ตัดเล็บมือเล็บเท้า เรียกว่าวันนั้นหล่อเป็นพิเศษเลยทีเดียว และคืนนั้นทูลก็ไปค้างคืนที่บ้าน “น้าออน” รุ่งเช้าก็กลับบ้านแถววัดน้อย ตอนเย็นของคืนวันที่ 30 มกราคม ก็ไปนอนค้างคืนที่บ้านของ “น้าออน” เช่นเดิม หลังจากรับประทานอาหารค่ำซึ่งเป็นมือสุดท้าย มีผัดคะน้ากับหมู ปลาทูปลาสลิต แล้วก็เข้านอน

เวลาประมาณ 01.00 น. ย่างเข้าสู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ “น้าออน” ได้ยินเสียงเขาหายใจติดขัด เสียงดังคล่อก ๆ สักพักก็หลับไป

กระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. “น้าออน” ต้องตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงทูลอาเจียนโอ้กอ้าก กับทั้งขับอุจจาระปัสสาวะออกมาโดยไม่รู้ตัว “น้าออน” จึงหายาให้ดม และเช็ดเนื้อตัวที่เปื้อนจนสะอาด พบว่าทูลขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ร่างกายซีกซ้ายชา จึงตัดสินใจเรียกตำรวจ 5 – 6 นาย ช่วยนำส่งโรงพยาบาลวชิระ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดีใจหาย ใช้รถตำรวจเปิด “ไซเรน” รีบบึ่งนำร่างของทูล ทองใจ ส่งถึงโรงพยาลเพียงไม่กี่นาที แพทย์และพยาบาลนำร่างของทูลเข้าห้องฉุกเฉิน พยายามช่วยชีวิตเต็มที่

กระทั่งเวลา 20.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 คุณหมอไม่อาจยื้อชีวิตของเขาไว้ได้ ทูล ทองใจ ได้จากแฟนเพลงไปอย่างสงบ ด้วยโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตกจนเลือดคั่งในสมอง ในขณะที่มีอายุเพียง 67 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ของภรรยาและลูก ญาติมิตร ตลอดทั้งแฟนเพลงทั่วประเทศ ทิ้งไว้แต่เสียงเพลงที่เขาร้องหลายร้อยเพลง ซึ่งล้วนแต่เป็นอมตะ ให้เราได้ฟังกันอย่างมีความสุขจนถึงปัจจุบันนี้ เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) วงศ์สว่างซอย 7 ตั้งแต่คืนวันที่ 2 – 8 ก.พ.38 แล้วบรรจุศพเก็บไว้ 100 วัน

ทูล ทองใจ สมรสกับ นางนวลสวาท ชื่นชมบุญ มีบุตร 3 คน คนโตชื่อ พิณนภา ทองใจ (แหม่ม) คนที่ 2 ชื่อนวลน้อย ทองใจ (เจี๊ยบ) คนที่ 3 เป็นผู้ชาย ชื่อ อำนาจ ทองใจ (อยู่ต่างประเทศ)

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

1. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2509 ในเพลง “รักใครไม่เท่าน้อง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

2. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดชิงชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครั้งที่ 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2514 ในเพลง “นางรอง” ผลงานของครู พยงค์ มุกดา

3. แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากงานประกวดแผ่นเสียงทองคำ ปี พ.ศ.2522 ในเพลงความหลังฝังใจ” คำร้อง “อิงอร” ทำนอง- ดนตรี-เรียบเรียงเสียงประสานโดยครูมงคล อมาตยกุล



วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ยอดรัก สลักใจ

 ยอดรัก สลักใจ (ชื่อเล่น แอ๊ว) หรือชื่อจริง สิบตำรวจโท นิพนธ์ ไพรวัลย์ (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 — 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551) เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทยเป็นที่รู้จักในนาม "พระเอกลูกทุ่งไทยตลอดกาล" มีผลงานที่สร้างชื่อหลากหลายเพลง เพลงที่รู้จักกันดี ได่แก่ "30 ยังแจ๋ว"

แอ๊ว"ยอดรัก สลักใจ" มีชื่อจริงว่า "ส.ต.ต.นายนิพนธ์ ไพรวัลย์" เกิดเมื่อวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ต.งิ้วราย อ.ตะพานหิน จ. พิจิตร เป็นบุตรของนายบุญธรรม ไพรวัลย์กับนางบ่าย ไพรวัลย์มีพี่น้องรวม 8 คน ชาย 7 คน หญิง 1 คน"แอ๊ว"เป็นคนสุดท้องจบการศึกษาชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านหาดแตง ด.ช. นิพนธ์มีความใฝ่ฝันตอนเป็นเด็นว่าอยากเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่เพราะฐานะทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียนให้จึงจำเป็นต้องลาออก ต่อมาก็มีคณะรำวงคณะ"เกตุน้อยวัฒนา"มาเล่นที่จังหวัดพิจิตร แอ๊วจึงไปสมัครร้องเพลงและเชียร์รำวง หลังเลิกก็จะได้เงินครั้งละ 5-10บาท ต่อมาได้ผันตัวเองเข้ามาร้องเพลงในห้องอาหารย่าน ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยได้ใช้เพลง"ไพรวัลย์ ลูกเพชร,ชาย เมืองสิงห์,สุรพล สมบัติเจริญ,ไวพจน์ เพชรสุพรรณ แล้ววันหนึ่ง เด็ดดวง ดอกรัก นักจัดรายการดังสถานีวิทยุ ท.อ.04 ตาคลี ฟังเพลงที่ห้องอาหารและฟังเพลงใต้เงาโศกของไพรวัลย์ ลูกเพชรที่แอ๊วร้อง เกิดความประทับ เด็ดดวง ดอกรักจึงได้พูดคุยและชักชวนเข้าสู่วงการ ตั้งชื่อให้ว่า ยอดรักลูกพิจิตรและได้บันทึกแผ่นเสียง7 เพลงที่อาจารย์ชลธี ธารทองเป็นผู้แต่งประกอบด้วยสงกรานต์บ้านทุ่ง,น้ำสังข์ น้ำตา,เต่ามองดวงจันทร์,คนบ้านนอก,จากใต้ถึงอีสาน,รักสาวมอญ,รักสาวไกลบ้าน

แต่ก่อนจะบันทึกแผ่นเสียงเด็ดดวงดอกรักนำยอดรัก ลูกพิจิตรมาฝากกับอาจารย์ชลธี ธารทอง ยอดรักอยู่เลี้ยงลูกให้อาจารย์ชลธี ธารทองมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี อาจารย์ชลธีก็หาแนวทางว่ายอดรักจะไปแนวไหนดี เพราะช่วงนั้น สายัณห์ สัญญา ดังเป็นพลุแตกในเพลงลูกสาวผู้การ,รักเธอเท่าฟ้า จึงคิดแนวทางให้ยอดรักฉีกไปอีกแบบหนึ่งกระทั่งวันหนึ่งเกิดสงครามทางชายแดนขึ้น ในปีพ.ศ.2518 เหล่าทหารที่รอดตายจากสงครามก็ได้มาออกโทรทัศน์ว่า คนที่อยู่แนวหน้าลำบากมากเหลือเกิน อยากให้แนวหลังช่วยส่งกำลังใจไปช่วยบ้าง อาจารย์ชลธีธารทอง จึงแต่งเพลง จดหมายจากแนวหน้าให้ยอดรักได้ร้องในปลายปี2518 และตอนบันทึกแผ่นเสียงเพลงจดหมายจากแนวหน้า อาจารย์ชวนชัย ฉิมพะวงศ์เปลี่ยนนามสกุลจากยอดรัก ลูกพิจิตร มาเป็น"ยอดรัก สลักใจ" โดยอาจารย์ชวนชัยให้เหตุผลไว้ว่า ชื่อยอดรักนั้นเพราะอยู่แล้วมีความหมายที่ดีเป็นที่รักของทุก ๆ คน และเมื่อมียอดรักแล้ว เราก็ต้องสลักไว้ในใจแฟนเพลง จึงเป็นที่มาของชื่อ ยอดรัก สลักใจ

วงดนตรียอดรักสลักใจ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2519 มี เด็ดดวง ดอกรัก เป็นผู้จัดการวงดนตรี แสดงที่หนองบัว จ.นครสวรรค์ และวงดนตรียอดรัก สลักใจก็ยังเป็นวงดนตรี ที่ครองแชมป์รายได้ 3 ปีซ้อน ในสมัยที่มาทำวงกับพนม นพพรในยุคของเพลงชุด โกลเด้นท์ซอง"เอาแน่,อยู่กับยาย,ยิ้มให้คุณ "ยอดรัก"มีโอกาสเข้าโรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อจนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 ปริญญาครุศาตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะ การแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี สหวิทยาลัย ผลงาน ด้านละคร"ยอดรัก สลักใจ นักร้องผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถเคยผ่านเส้นทางบนแผ่นฟิล์มและจอแก้วมาแล้วมากมาย ละคร"ล่องเรือหารัก" เป็นละครเรื่องหนึ่งที่สร้างชื่อให้ ยอดรัก สลักใจ ในฐานะนักแสดงและร้องเพลงประกอบในชื่อเดียวกัน ยอดรักแสดงคู่กับ "กบ" ปภัสรา ชุตานุพงษ์ สร้างปี 2533-2534 และนำมาฉายอีกครั้งปี 2536-2537 โดย ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำกับคือ ประวิทย์ ชุมฤทธิ์ ฉายทางช่อง 3

ละครเรื่องนี้ทำให้เพลง"ล่องเรือหารัก" โด่งดัง เป็นเพลงอมตะและมีนักร้องเวทีประกวดร้องเพลงต่างๆ นำไปเป็นเพลงประกวดมากมายหลายเวที โดยผู้ประพันธ์เพลงคือศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง ซึ่งเป็นเพลงที่ สุริยัน ส่องแสง นักร้องลูกทุ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้ร้องเป็นต้นฉบับ แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากมายนัก เรื่องต่อมาที่ยอดรักร่วมแสดงคือ "มนต์รักลูกทุ่ง" ฉบับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กับ "น้ำผึ้ง" ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ นอกจากนี้ยังมี สวรรค์บ้านทุ่ง, สุรพล (คนจริง) สมบัติเจริญ, อะเมซิ่งโคกเจริญ และ มนต์รักแม่น้ำมูล ส่วนใหญ่จะเป็นละครที่มีเพลงลูกทุ่งประกอบทั้งสิ้น นอกจากละครทางจอแก้วแล้วยอดรัก สลักใจ ยังร่วมแสดงภาพยนตร์ไว้หลายเรื่องมาก เรื่องแรกที่แสดงนั้น เมื่อปี 2523 ก็ไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเพลงและเรือ นั่นคือเรื่อง "เรือเพลง" แสดงคู่กับ วาสนา สิทธิเวช เรื่องต่อมาคือ "สงครามเพลง" เข้าฉายปี 2526 แสดงคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นหนังที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร ทุ่มทุนสร้าง โดยระดมดารานักร้องมาร่วมแสดงมากมาย และอีก 7 ปีต่อมา เรื่องนี้นำมาสร้างอีกครั้งในภาค 2 ชื่อ สงครามเพลงแผน 2 ในปี 2533 โดย ยอดรัก แสดงคู่กับ สุนารี ราชสีมา

ปี2527 ถือเป็นปีทองของยอดรักในด้านการแสดงภาพยนตร์ เพราะมีออกมาด้วยกันหลายเรื่อง เริ่มจาก สาวนาสั่งแฟน กับ อีแต๋นไอเลิฟยู แสดงคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ สาลิกาลิ้นทอง แสดงคู่กับ อภิรดี ภวภูตานนท์ ไอ้หนุ่มรถอีแต๋น แสดงคู่กับ ปิยะมาศ โมนยะกุล ทหารเกณฑ์เจอผี มี โน้ต เชิญยิ้ม กับ ยอด นครนายก ร่วมแสดง เรื่องที่ออกฉายไล่เลี่ยกันคือ เสน่ห์นักร้อง แสดงร่วมกับ สายัณห์ สัญญา เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่แสดงร่วมกันระหว่างสองนักร้องคู่นี้ ปัจจุบันความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นเส้นขนานไปแล้ว ยอดรักได้แสดงภาพยนตร์ประกบดาราดังหลายคนอย่างจารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกยอดนิยมในยุคนั้น ก็เคยแสดงร่วมกับยอดรัก ในเรื่อง นักร้องพ่อลูกอ่อน เมื่อปี 2528 ปี2530 ยอดรัก มีภาพยนตร์ 2 เรื่องออกฉาย คือ เพลงรัก เพลงปืน เล่นคู่กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และเรื่อง อยู่กับยาย ที่มี ศิรินทรา นิยากร นักร้องลูกทุ่งสาวร่วมแสดงด้วย และอีก 2 ปีต่อมา ศิรินทรา ได้ประกบยอดรักอีกครั้งในเรื่อง อ้อนรักแฟนเพลง ทิ้งช่วงไปราว12 ปี ต้นปี 2545 ยอดรักได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ที่รวมคนลูกทุ่งมากที่สุด ในเรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม ที่สหมงคลฟิล์ม ร่วมกับสถานีวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็ม สร้าง กำกับโดย บัณฑิต ทองดี ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ยอดรัก แสดงนั้น แทบทั้งหมดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพลงทั้งสิ้น แต่มีเรื่องเดียวที่ ยอดรัก รับบทเป็นหมอ ในเรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ มี อำพล ลำพูน แสดงนำ ส่วนเรื่องล่าสุดที่แสดงก่อนจะป่วยคือ อีส้มสมหวัง ที่มีนางเอกสาว สุวนันท์ คงยิ่ง แสดงนำ เข้าฉายเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา โดย ยอดรัก สลักใจ รับบทเป็นนักร้องลูกทุ่งซึ่งเป็นบทที่แสดงเป็นตัวเขาเอง ในระหว่างนั้นอาการเจ็บป่วยในช่องท้องเริ่มก่อตัวจนกระทั่งโรคมะเร็งมาแผลงฤทธิ์จนต้องนอนโรงพยาบาลในวันนี้ ผลงานเพลงของยอดรักได้รับรางวัลเกียรติยศจำนวนมาก - เสาอากาศทองคำพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยมยอดนิยม เมื่อปี พ.ศ.2520 ในเพลง ทหารเรือมาแล้ว - ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ปี พ.ศ. 2522 นักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลง กำนันกำใน - ได้รับรางวัล ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลงทหารใหม่ไปกอง, จักรยานคนจน - ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยม ปีพ.ศ. 2539 จากเพลง มนต์รักลูกทุ่ง - ได้รับรางวัลทีวีมาชนของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง - ปี 2523 ได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชนะเลิศ จากการประกวดวันแม่แห่งชาติ คือ เพลง แม่พระประชาไทย,แด่พระบารมี - ได้ร้องเพลงถวายวันครบรอบ 90 พรรษา ของสมเด็จย่า ในเพลง สมเด็จย่า แต่งโดย จิ๋ว พิจิตร จัดทำโดย กองทัพบก - ปี 2535 ได้ร้องเพลงในชุดเฉลิมพระเกียรติ สดุดี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเพลง แม่สยาม - ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน นักร้องชายยอดเยี่ยม ปีพ.ศ. 2542 จากเพลง เทพธิดาพยาบาล - ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยม จากเพลง ไอ้หนุ่มตู้เพลง ปี พ.ศ. 2523 - ได้รับรางวัลนักร้องยอดนิยม จากเพลง รักแม่ม่าย ปี พ.ศ. 2524 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ได้ร่วมขับร้องเพลง ชุด ลูกทุ่งดอนเจดีย์ โดยขับร้องไว้ 2 บทเพลงคือ เพลง ลูกทุ่งดอนเจดีย์ (ร้องหมู่) และเพลงกะเหรี่ยงลาตาย ในงานมหกรรมดอนเจดีย์ ที่จังหวัด สุพรรณบุรี

พ.ศ. 2550 ยอดรักถูกตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตับระยะแรก และได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 01.05 น. ด้วยวัย 52 ปี พิธีศพของยอดรักได้จัดขึ้นไว้ ณ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดหาดแตงโม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

ในขณะที่ยอดรักเข้ารับการรักษาตัว สายัณห์ สัญญา นักร้องลูกทุ่งผู้ที่เป็นคู่แข่งกับเขานั้นได้กล่าวหาว่าเขามิได้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทำให้เสรี รุ่งสว่าง นักร้องผู้ซึ่งเป็นเพื่อนของยอดรักมาปกป้องจนมีกรณีขัดแย้งกันและหลังจากยอดรักได้ลาลับลง เสรี รุ่งสว่างจึงออกบวชอุทิศส่วนกุศลให้

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ทำไมญี่ปุ่นไม่มีทหาร



หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐเข้ามาควบคุมกำลังทหารของญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยมีข้อห้ามว่า ไม่อนุญาตให้ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศใดๆเลยเว้นแต่กระทำเพื่อป้องกันประเทศตนเองเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่มีศาลทหารและกระทรวงกลาโหม

บุคคลที่เข้ามาทำงานในกองกำลังป้องตนเองพวกเขาจะเรียกตนเองว่าเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นพลเรือนมิใช่ทหาร ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะจัดตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 แต่ว่าก็ยังคงชื่อไว้ว่า กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น

ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ครม.ญี่ปุ่นได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นใหม่ โดยญี่ปุ่นมีสิทธิส่งกำลังทหารไปร่วมรบเพื่อปกป้องชาติพันธมิตร

โครงสร้าง

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 自衛隊 じえいたい Jieitai, จิเอไต) หรือ JSDF บางครั้งเรียกว่า JSF หรือ SDF เป็นบุคลากรจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพื่อแทนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกยุบ และฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองญี่ปุ่น ในเวลาหลังสงคราม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นถูกใช้งานในเฉพาะภายในประเทศมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศอธิปไตยชาติเพียงอย่างเดียวและไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ยกเว้นในสถานการณ์ที่เป็นการป้องกันตนเองในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น แม้อาจมีภารกิจในต่างประเทศในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ แต่ล่าสุดในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ครม.ญี่ปุ่นได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นใหม่สรุปได้ว่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะสามารถส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจการป้องกันตนเองร่วมได้(Collectvie-Self Defence) ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อปกป้องชาติหนึ่งจากการถูกรุกราน โดยญี่ปุ่นจะสามารถไปช่วยเหลือชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่ถูกโจมตีได้ หากการโจมตีนั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของญี่ปุ่นและไม่มีวิธีอื่นในการปกป้องชีวิตชาวญี่ปุ่น

ในด้านการพัฒนาอาวุธ ในรธน.ญี่ปุ่นถูกกำหนดห้ามพัฒนาอาวุธในเชิงรุก ส่วนในด้านการห้ามส่งออกอาวุธนั้น แม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเมื่อปีพ.ศ. 2510 แต่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายกฎห้ามส่งออกอาวุธ โดยสามารถส่งออกอาวุธและมีส่วนร่วมในการผลิตอาวุธกับนานาชาติได้ แต่ญี่ปุ่นจะไม่ส่งออกอาวุธให้แก่ประเทศที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง หรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ นอกจากนี้ การจำหน่ายอาวุธก็จะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสันติภาพสากลคือต้องเป็นยุทโธปกรณ์ที่ไม่ใช่เพื่อสังหาร และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง

ส่วนในด้านการสนันสนุนกองกำลังต่างชาติ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแก้ไขกฎบัตรว่าด้วยการสนับสนุนต่างชาติ โดยสามารถมอบทุนสนับสนุนภารกิจของกองกำลังต่างชาติที่มิใช่การสู้รบ

มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังป้องกันตนเอง และในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 ก็ได้มีการจัดตั้งกระทรวงกลาโหมครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

งบประมาณกลาโหมญี่ปุ่น ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 7ของโลก 4.98 ล้านล้านเยน (ราว 1.39 ล้านล้านบาท)

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น JSDF มีจำนวนบุคลากรในปี ค.ศ. 2005 มีจำนวน 239,430 นาย แบ่งเบ็น

  • กองกำลังป้องกันตนเองทางบกจำนวน 147,737 นาย
  • กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลจำนวน 44,327 นาย
  • กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศจำนวน 45,517 นาย


เนื้อเพลง