วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๖ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระเป็นเจ้าแม่กุ (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พงศาวดารโยนก) พญาเมกุ หรือเจ้าขนานแม่กุ ส่วนพม่าเรียกว่า ยูนบะหยิ่น  พระสังพระสังข์ หรือ พระสาร เป็นอดีตเจ้านายเมืองนาย และเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ผู้สืบเชื้อสายมาจากพญามังราย ภายหลังอาณาจักรล้านนาได้พ่ายแพ้แก่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง พระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงถูกนำไปเป็นองค์ประกันในพม่าก่อนพิราลัยที่นั่นด้วยโรคบิด

การพิราลัยด้วยพระโรคบิดของพระองค์นั้น ทางคติพม่าถือว่าเป็นการตายร้าย น่าสังเวชเวทนา จึงกลายเป็นนัตตระกูลสูงหนึ่งจากทั้งหมดสามสิบเจ็ดตน พระสาทิสลักษณ์ของพระองค์ในรูปลักษณ์ของนัตมีลักษณะคือ ประทับนั่งชันพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาถือพระแสงดาบพาดพระอังสาเบื้องขวา และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุซ้าย

 

พระชนม์ชีพตอนต้น

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ มีพระนามเดิมว่าท้าวแม่กุ พระราชประวัติในช่วงต้นแทบไม่ปรากฏเลย ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมเป็นเจ้านายจากเมืองนายในหัวเมืองเงี้ยวซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏพระนามพระราชชนก ทราบแต่เพียงว่าพระราชชนกนั้นสืบเชื้อสายมาจากขุนเครือ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพญามังรายที่ไปครองเมืองนาย อันเป็นดินแดนที่มีชาวไทใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังขุนเครือทรงพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพญาไชยสงครามพระเชษฐาแต่ไม่สำเร็จ และถูกเจ้าน้ำท่วมสังหารในเวลาต่อมา บางแห่งก็ว่ายึดสำเร็จ แต่ภายหลังถูกจับได้ จึงถูกขังไว้จนถึงแก่กรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมืองนายจะมีเจ้านายเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านนา ทว่าเมืองนายคุกคามเมืองเชียงใหม่ในบางโอกาส บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของล้านนาในช่วงเวลาที่ล้านนารุ่งเรือง

ส่วนพระราชชนนีของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็ไม่ปรากฏพระนามเช่นกัน แต่พระราชชนนีนี้ยังมีพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ครองล้านนา ปรากฏพระนามในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า "พระอัครราชมาดา พระมหาเทวีเจ้า" ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระราชชนนีของพระองค์คือพระนางวิสุทธิเทวี ที่ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์หลังถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า

ใน พระราชพงศาวดารพม่า ระบุว่า พระเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือพระสารเป็นพระราชโอรสของพญาขยัน และเป็นพระราชนัดดาสอนะยัต (พญายอดเชียงราย) ซึ่งพญาขยันเสวยราชย์ก่อนพระอนุชาเมืองอี (พระเมืองแก้ว) ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ว่าพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้วกับพระนางวิสุทธิเทวี และกล่าวว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่จากเมืองนาย

เสวยราชย์

ก่อนหน้านี้อาณาจักรล้านนามีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านช้างและกลายเป็นรัฐเครือญาติกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างนางยอดคำพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้า กับพระยาโพธิสารราชพระเจ้าล้านช้าง มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือเจ้าเชษฐวงษ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอุปโยวราช เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จสวรรคต ล้านนาเกิดกลียุคมีสงครามยาวนาน พระนางจิรประภาเทวีจึงเสวยราชย์ ช่วงนั้นได้เกิดกบฏชาวไทใหญ่และการรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทั้งขุนนางแห่งล้านนาเองก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์เสียด้วย ล้านช้างที่ขณะนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจึงเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือล้านนาจนฝ่ายอยุธยาพ่ายแพ้ไป พระยาโพธิสาลราชในฐานะผู้ปกป้องล้านนาจึงมีความชอบยิ่งนัก ได้นำพระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวงษ์ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพญามังรายทางฝ่ายมารดาขึ้นครองล้านนา มหาเทวีจิรประภาสละราชสมบัติให้พระอุปโยวราชครองราชย์ในปี พ.ศ. 2089 ทรงพระนาม พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะ

ครั้นในปี พ.ศ. 2090 พระยาโพธิสาลราชสวรรคตกะทันหัน พระเป็นเจ้าอุปปโยวราชะเสด็จกลับไปครองราชย์ล้านช้างในปีนั้น ทรงพระนามว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และได้นำมหาเทวีจิรประภาและพระแก้วมรกตไปล้านช้างด้วย อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์และเกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างขุนนางกลุ่มต่าง ๆ ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง สุดท้ายขุนนางล้านนามีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทน ซึ่งจากจารึกวัดเชียงสา จะพบว่าเนื้อหาเขียนว่าพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนล้านช้างเสียด้วย

หลังพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสวยราชย์ได้ไม่ช้านานนัก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ขณะนั้นได้เสวยราชย์ครองล้านช้างแล้วไม่พอพระราชหฤทัย ที่ขุนนางล้านนาอัญเชิญพระเมกุฏิสุทธิวงศ์มาเสวยราชย์โดยที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิทรงเห็นชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา

ใต้การปกครองของพม่า

ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด การเมืองภายในของล้านนาเกิดความแตกแยก หัวเมืองล้านนาพยายามปลีกตัวเป็นอิสระ และโดดเดี่ยวเมืองเชียงใหม่ ไม่มีหัวเมืองใดส่งกำลังพลมาช่วยรบกับพม่า พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ ความว่า

"ครั้นจุลศักราช ๙๒๐ [พ.ศ. 2101] พระองค์ [พระเจ้าบุเรงนอง] ก็มีไชยชนะประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น คือ ประเทศเงี้ยว [รัฐชาน] ประเทศลาวญวน [ยวนหรือโยนกคือล้านนา] เชียงใหม่แต่เมืองเชียงใหม่นั้นมิได้รบพุ่ง เจ้าเมืองเชียงใหม่ [พระเมกุฏิสุทธิวงศ์] เข้ายอมสวามิภักดิ์ เมื่อพระองค์สมพระราชประสงค์แล้ว ให้เจ้าเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม..."

ส่วนใน พงศาวดารโยนก ก็ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงตั้งพิธีราชาภิเษกแก่พระเมกุฏิเช่นเดียวกัน หากแต่ยังคงกองกำลังไว้รั้งเมืองเชียงใหม่ ความว่า

"...สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี ให้ตั้งพิธีราชาภิเษกสรงพระเมกุฏิให้เป็นพระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามเดิม ให้พระยาสุรโยธานายทัพ ๑ พระยาจักรวุฒิ ขุนเมืองซังเหยียบเป็นปลัดทัพ ๑ ขุนเมืองมรวดีเป็นยกกระบัตรทัพ ๑ ถือพลหมื่นอยู่รั้งเมืองเชียงใหม่กับพระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่..."

ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์ และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ

ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป

ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสน กับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ ดังปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า

"...สกได้ ๙๒๖ ตัว เจ้าท้าวแม่กุฟื้น [กบฏ] เจ้าเปิงภวะมังทราฟ้าหงสา [พระเจ้าบุเรงนอง] ฟ้ามังทรายกริพลมาคุมเอาเชียงใหม่ได้ ลวดเอาเจ้าท้าวแม่กุเมือไว้เสียเมืองหงสา ไว้นางวิสุทธเทวีกินเมืองแทนหั้นแล..."

หลังจากนั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์จึงได้รับพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับอยู่ภายในราชธานีหงสาวดี ดังปรากฏใน มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงนามพระวิสุทธิเทวี ขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ประทับอยู่ในพระตำหนักขาวในหงสาวดี จนกระทั่งพิราลัยด้วยพระโรคบิด

พระราชกรณียกิจ

เศรษฐกิจ

อาณาจักรล้านนามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางอันยาวนาน ทั้งมีปัจจัยภายนอกที่มาจากการรุนรานของรัฐที่เข้มแข็งกว่า สภาพเศรษฐกิจในรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ปรากฏในพับสาเรื่องประวัติศาสตร์ กฎหมายโบราณ ต้นฉบับของวัดป่าลาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยอธิบายไว้ว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล)

...ท้าวพระญาเสนาอามาตย์บ่ควรดีลิดม้างสีมาบ้านเมืองอันใหญ่หนักแท้มี ๓ ประการ

คือม้างหลักพัน ๑ ม้างไสเมือง ๒ ทีอันหนึ่ง ลัดเบี้ยลง หื้อย้อนเสียร้อยนับว่าหื้อพอร้อย

เหตุ ๓ ประการนี้ ขึดแพ้ตัวแพ้บ้านแพ้เมืองแล [ทำร้ายตัวเองและบ้านเมือง] เปนดั่ง

พระเมืองแก้ว แต่งเบี้ย ๙๘ หื้อเปน ๑๐๐ ท้าวอ้ายเกล้า [พระเมืองเกษเกล้า] แต่งเบี้ย ๘๐ เปน ๑๐๐

ท้าวชาย แต่งเบี้ย ๗๐ เปน ๑๐๐ ท้าวอุปโย [พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช] แต่งเบี้ย ๖๐ เปน ๑๐๐

พระแม่กุ แต่งเบี้ย ๕๘ เปน ๑๐๐ เหตุ ๓ ประการนี้ แพ้เจ้าเมืองแพ้บ้านเมืองแล อันใดก็ดี บ่พอหมื่นว่าหมื่น

บ่พอ ๑๐๐๐ ว่า ๑๐๐๐ บ่พอ ๑๐๐ ว่า ๑๐๐ ย่อมหื้อวินาสฉิบหายแล...

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของล้านนาค่อย ๆ เสื่อมทรามและทรุดลงตามลำดับ เนื่องจากปัญหาค่าเงินตกต่ำหรือที่เรียกว่าการ "ลัดเบี้ยลง" คือการลดค่าเงิน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งย่ำแย่มาตั้งแต่รัชกาลพระเมืองแก้ว เรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ถือว่าเศรษฐกิจล้านนาอยู่ในระดับหายนะขั้นสุด

และหลังพระเมกุฏิถูกถอดจากราชบัลลังก์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกส่งไปเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักหงสาวดี บรรดาเจ้าเมืองในล้านนาที่เคยครอบครองไพร่และส่วยอากรจึงถูกดึงรายได้ และแรงงานท้องถิ่นก็ถูกใช้ในกิจการของพม่า

การศาสนา

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ และในจารึกจุลคิรีระบุว่าพระองค์เป็น "ธรรมิกราชาธิราช"

ใน ตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึงปี พ.ศ. 2099 ว่าพระองค์และพระราชชนนีได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏความว่า

...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก [เพชร] และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...

จากตำนานดังกล่าวก็สอดรับกับจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองที่บันทึกว่าในปี พ.ศ. 2099 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระราชชนนีอัญเชิญพระมหาธาตุเจ้าจอมทองไปประดิษฐาน ณ หอบาตรในพระราชวัง และมีพระราชบัญชาให้รวบรวมข้าพระจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปดูแลพระมหาธาตุจอมทอง

นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ถวายที่ดินและข้าพระแก่วัดเชียงสา ทำนุบำรุงพระธาตุบนดอยน้อยที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ และอุทิศข้าพระแก่อารามป่าญางเถียงแซง เป็นต้น

การต่างประเทศ

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงแต่งตั้งพระยากัมพล (พระยารัตนกัมพล) ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนแทนพระยาคำหมู่ ขุนนางล้านช้างที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงแต่งตั้งไว้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2097 ทำให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยและยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน

นอกจากนี้ทรงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายจากเมืองนาย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย ดังในปี พ.ศ. 2098 ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างทรงยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนของล้านนา เจ้าฟ้าเมืองนายก็ทรงช่วยรบที่เมืองเชียงแสน และในปี พ.ศ. 2100 เจ้าฟ้าเมืองนายถูกทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้าล้อม พระเมกุฏิก็ทรงช่วยด้วยการส่งอาวุธและกองกำลังไปช่วย


สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๑๕ แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระอุปภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช หรือที่รู้จักกันดีในพระนาม สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชาติลาว ทรงเป็นผู้นำแห่งอาณาจักรล้านช้าง ผู้สถาปนากรุงเวียงจันทน์ให้เป็นศูนย์กลางอารยธรรม และเป็นศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างเข้าไว้ด้วยกัน ประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระญาติหรือพระนัดดาในพระนางจิรประภาเทวีพระมหากษัตรีย์แห่งอาณาจักรล้านนา

ในรัชสมัยพระยาโพธิสารราช (พ.ศ. 2063-2090) พระองค์เป็นผู้เคร่งครัดทางศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา เลิกการทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ให้รื้อศาลหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลกเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากประเพณีการนับถือผีนั้นมีมาช้านาน และได้ฝังเข้าไปในจิตใจของประชาชนทั่วไป จึงยากที่จะเลิกอย่างเด็ดขาดได้

ครั้นต่อมาทางอาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญเจ้าไชยเชษโฐหรือเชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาร หรือเจ้าชายแห่งเมืองหลวงพระบาง(เสด็จพระราชสมภพและเติบโตอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง) ไปครองนครล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2089 ทรงครองราชเป็นกษัตย์เป็นพระองค์ที่ 15 สาเหตุที่ท่านทรงมีอำนาจในแคว้นล้านนาหรือนครเชียงใหม่ เนื่องด้วยอำนาจของบิดาที่เคยเข้าไปแทรกแซงในล้านนาเป็นสำคัญ เมื่อพระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคต พ.ศ. 2090 ด้วยถูกช้างล้มทับขณะประพาสป่า ทรงกลับนครได้เพียง 3 สัปดาห์ก็สวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระโอรสทั้งหลายต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 ฝ่ายคืออาณาจักรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ได้แก่ เจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร (เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา) และเจ้ากิจธนวราธิราช (เจ้าท่าเรือ) ผู้เป็นพระราชโอรสองค์รองต่างพยายามจะขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ในที่สุดเจ้าท่าเรือสามารถยึดครองเมืองหลวงพระบางไว้ได้ ขุนนางล้านช้างและเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารจึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับมานครหลวงพระบางเพื่อรับเถลิงถวัลยราชสมบัติระงับเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่ รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วขาวไปด้วย เมื่อเสด็จถึงล้านช้าง ทรงยึดราชสมบัติจากเจ้าท่าเรือไว้ได้ โดยการสนับสนุนของเจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร(ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษาในรัชสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช และได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์แรกในยุคล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าซึ่งได้รับการสนับสนุนและแต่งตั้งจากบุเรงนอง)เป็นสำคัญซึ่งทั้งช่วยเป็นทัพร่วมตีขนาบยึดเมืองหลวงพระบางจากเจ้าท่าเรือและเสนอชื่อให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ภายหลังได้รับแต่งตั้ง เมืองหลวงพระบางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงศรีสัตนาคนหุต" พระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นมหาราชองค์ที่ 2 ของลาว ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช"

พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับว่ามีความเจริญถึงขั้นขีดสุด ทรงได้สร้างวัดสำคัญมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โตมโหฬารสมกับที่เป็นปูชนียสถานคู่แผ่นดินพระราชอาณาจักร และได้สร้างวัดในกำแพงเมืองอยู่ประมาณ 120 วัด และยังได้สร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ที่นำมาจากเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการแต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สังสินชัย การเกต พระลักพระราม เป็นต้น และทรงเป็นผู้ตราจารีต12ครรลอง14ขึ้นให้ประชาชนและบรรดาเจ้าแลพระยาทั้งหลายภายในอาณาจักรได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา หรือที่เรียกว่า "ฮีต12คอง14"นั่นเอง

สมัยนี้อาณาจักรอยุธยาได้มีความสัมพันธ์ลาวอย่างแน่นแฟ้น ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับพม่า ได้สร้างเจดีย์ "พระธาตุศรีสองรัก" ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน ของสองอาณาจักร

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงทองมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระแซกคำ (พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์) ไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้างส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ บางครั้งก็เรียกชื่อว่าล้านช้างหลวงพระบาง และได้สร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพิเศษ พระองค์ได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวเมื่อ พ.ศ. 2109 ซึ่งต่อมาได้ถูกพวกปล้นจากยูนนานทำลายเสียหายไปมาก

นอกจากพระองค์จะได้ทรงสร้างพระธาตุ อื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างวัดพระธาตุ ที่จังหวัดหนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า พระไชยเชษฐา พระศรีโคตรบูร ที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิงรัง ที่แขวงสุวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรล้านช้างผ่านพ้นภัยการเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าในขณะนั้นอาณาจักรล้านนา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2101) และอาณาจักรอยุธยา (เสียแก่พม่า พ.ศ. 2107) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว แต่หลังจากพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2114 เนื่องจากท่านต้องไปปราบกบฎที่เมืองโองการหรือเมืองอัตปือแต่ท่านกลับเสียท่าให้กับหัวหน้ากบฎชาวกูยที่แข็งเมืองซ้อนกลจนทัพของมหาราชแห่งล้านช้างต้องแตกพ่ายและท่านถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา พอมาถึง พ.ศ. 2117-2118 พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ และทรงนำโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งประสูติในปีที่สวรรคต ไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนั้นมาหลายปีแผ่นดินลาวก็วุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติ

จน พ.ศ. 2134 พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปเชิญพระหน่อแก้วกุมาร ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ประเทศพม่ากลับมาครองราชย์ และในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตลง พม่าเริ่มอ่อนแอลง และพระหน่อแก้วกุมารขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. 2135 และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าต่อไป

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

พระนางจิรประภาเทวี กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๔ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระนางจิรประภาเทวี   (ครองราชย์ พ.ศ. 2088–2089) หรือ มหาเทวีจิรประภา   เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี ซึ่งในรัชกาลของพระนางหัวเมืองฝ่ายเหนือเกิดการระส่ำระสายเนื่องจากบ้านเมืองเกิดการแย่งอำนาจระหว่างขุนนางกับเจ้านาย บ้านเมืองอ่อนแอมีศึกสงครามขนาบทั้งทิศเหนือและใต้ ทั้งกองทัพพม่า และอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพมาถึงเชียงใหม่

พระนางปกครองบ้านเมืองเพียงแค่เพียงปีเศษก็ได้สละราชบัลลังก์แก่ สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชนัดดา (หลานยาย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และภายหลังพระองค์และพระราชนัดดาได้เสด็จไปประทับในนครหลวงพระบางและมิได้นิวัติกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลยตลอดปลายพระชนม์ชีพ

พระราชประวัติ

พระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2068-2081 ครองราชครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) ทรงให้ประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ ได้แก่

  1. ท้าวซายคำ กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 2081-2086) หลังจากขุนนางปลดพระเมืองเกษเกล้า พระราชบิดาออกจากราชบัลลังก์และอัญเชิญพระองค์ครองราชสมบัติ แต่ภายหลังพระองค์ก็ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์พร้อมครอบครัว
  2. เจ้าจอมเมือง พระราชโอรสองค์ที่สอง แต่ไม่สามารถครองราชย์ได้เนื่องจากทรงอ่อนแอจนไม่สามารถขึ้นครองราชสมบัติได้ บางท่านได้อธิบายว่า พระองค์อาจทรงปัญญาอ่อน
  3. พระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาที่ต่อมาภายหลังได้เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และมีพระราชโอรสคือ พระไชยเชษฐาธิราช

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับการประสูติกาลในปีใด แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้คำนวณจากการที่ท้าวซายคำประสูติเมื่อพระเมืองเกษเกล้ามีพระชนมายุ 18 พรรษา พระนางจิรประภาเทวีอาจมีพระประสูติกาลพระโอรสเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระนางจึงน่าจะประสูติในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2042-2043 และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังเดิมของพระเมืองเกษเกล้าที่เคยประทับในเมืองน้อย (ปัจจุบันคืออำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งถือเป็นเขตไทใหญ่ พระนางจิรประภาอาจทรงมีเชื้อสายไทใหญ่ด้วย แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เน้นว่าเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น

ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระนางจิรประภาว่าอาจเป็นเครือญาติกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อครั้งที่ครองเมืองพิษณุโลก และสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะเป็นเจ้านายเมืองเหนือที่สมรสกับเจ้านายแห่งเมืองเชียงใหม่ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นพระเมืองเกษเกล้าในกาลต่อมา

ขณะนี้เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้ค้นคว้าต่อยอดจากข้อสันนิษฐานของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พระนางจะทรงมีความสัมพันธ์เป็นพี่-น้องกันกับสมเด็จพระไชยราชา ทั้งนี้ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าการที่พงศาวดารไม่ปรากฏที่มาของสมเด็จพระไชยราชาไว้อย่างชัดเจนนั้นเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้อยู่เครือข่ายของผู้ที่ควรจะได้รับพระราชบัลลังก์อย่างชอบธรรม และจาการที่มีหลักฐานกล่าวว่าทางหลวงพระบางได้ยกทัพมาช่วยสมเด็จพระไชยราชาในการชิงราชสมบัติอยุธยาซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระนางจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าได้ยกพระนางยอดคำทิพย์ให้ไปอภิเษกกับพระโพธิสารราชไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างพระนางจิรประภากับสมเด็จพระไชยราชาคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นเหนียว[5]

มูลเหตุของการครองราชย์

พระเมืองเกษเกล้า พระราชสวามี ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..." แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วย

  • กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
  • กลุ่มหมื่นหัวเคียน เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
  • กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

ครองราชย์

มหาเทวีจิรประภาครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089 เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก

ระหว่างที่พระนางจิรประภาขึ้นครองราชย์นั้น ได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้นำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2088 เนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ทำให้เชียงใหม่เกิดความอ่อนแอ เกิดความแตกแยกวุ่นวายหนัก การเดินทัพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้รีบเร่งมาก ใช้เวลาเพียง 16 วันก็มาถึง ขณะนั้นมหาเทวีจิรประภาเพิ่งขึ้นเสวยราชย์ขณะที่พระสวามีเพิ่งสวรรคตได้ไม่นาน สภาพเมืองเชียงใหม่ก็ไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้เมืองเชียงใหม่บอบช้ำหนัก มหาเทวีจิรประภาจึงได้ส่งเสนาอำมาตย์ไปถวายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัยด้วยการเป็นไมตรีกัน และก็ได้พระราชทานรางวัลแก่เสนาอำมาตย์ โดยฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็มิได้เข้าทำร้ายเมืองเชียงใหม่

พระนางทรงใช้วิธีการกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพแทนการเข้าเวียงโดยผ่านประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬีที่เปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า แต่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ประทับสำราญพระอิริยาบถที่เวียงเจ็ดริน พักพลที่สบกวงใต้เมืองลำพูน แล้วเสด็จกลับ

โดยในเรื่องดังกล่าว พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้สันนิษฐานว่าพระนางจิรประภา อาจจะเป็นเครือญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เนื่องด้วยพระไชยราชาธิราชไม่เข้าทำลายเมืองเชียงใหม่ด้วยความผูกพันระหว่างเครือญาติ และทั้งสองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันแต่อย่างใดเนื่องจากในเอกสารหลักฐานก็ไม่ได้ให้วี่แววในเรื่องราวดังกล่าวเลย

สงครามไทใหญ่

ในปีเดียวกันหลังจากกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับไป กองทัพเมืองนายและเมืองยองห้วยจากรัฐฉานยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ซ้ำร้ายได้เกิดแผ่นดินไหว เจดีย์หลวงรวมทั้งเจดีย์วัดพระสิงห์และวัดอื่น ๆ หักพังลงมาด้วยซึ่งสร้างความยุ่งยากภายในเมืองมากขึ้น แต่สงครามครั้งนี้ข้าศึกได้ล่าถอยไป 

สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

เนื่องจากในปีนั้นมีข้าศึกมาติดพันอยู่ตลอดมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโพธิสารราช พระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนางเอง ซึ่งอาณาจักรล้านช้างกำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการรวมกันของล้านช้างและล้านนา ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเฉพาะการแทรกแซงล้านนา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ขึ้นมาปราบเชียงใหม่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2089 โดยเฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต นักเดินทางชาวโปรตุเกสได้บันทึกไว้ว่า มีกำลังพล 400,000 คน เรือ 300 ลำ ช้าง 4,000 เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ 200 เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย 120 คน ในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถตีเมืองลำพูนแตก แต่เชียงใหม่ก็ป้องกันตัวเองสำเร็จผลของสงครามคือกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงต้องกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทหารฝ่ายล้านนาและล้านช้างได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้าง ม้า และเชลยศึกจำนวนมาก

ทรงสละราชบัลลังก์

หลังจากสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าโพธิสารราชได้รับความดีความชอบสูง และได้นำพระราชโอรส คือ พระไชยเชษฐาขึ้นมาครองอาณาจักรล้านนา มหาเทวีจิรประภาจึงทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดา ในช่วงที่สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 แต่พระโพธิสารราชเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับล้านช้างในปี พ.ศ. 2090 โดยเสด็จไปพร้อมกับพระแก้วมรกต และพระนางจิรประภาเทวี แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์ เกิดสงครามกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยขุนนางต่างสู้รบกัน ดังนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2091-2094 จึงถือเป็นกลียุคของล้านนา ในที่สุดขุนนางเมืองเชียงใหม่เห็นว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงได้อัญเชิญท้าวแม่กุเสวยราชย์ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระไชยเชษฐาทรงเห็นว่าท้าวแม่กุครองราชย์โดยพระองค์มิชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098

ชีวิตบั้นปลายพระชนม์

มหาเทวีจิรประภาได้ตามเสด็จพระไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระนาง โดยขณะที่พระนางประทับอยู่ในล้านช้าง มหาเทวีจิรประภาได้โปรดฯ ให้สร้าง ธาตุน้อย พระธาตุที่มีขนาดย่อมกว่าพระธาตุหลวงของวัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยมีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาที่มีลักษณะรูปทรงเดียวกันกับ พระเจดีย์วัดโลกโมฬี ที่พระภัสดาของพระองค์โปรดฯ ให้สร้างนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ โดยจารึกวัดธาตุหลวงพระบาง ซึ่งกรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นผู้อ่านแล้วแปล มีข้อความระบุว่า

จุลศักราช ๙๑๐ ปีเบิกสัน เดิน ๗ ออก ๑๑ ค่ำ วันศุกร์ มื้อระวายยี่ ยามพาดลั่น ฤกษ์หัสตะ พระราชไอยกามหาเทวเจ้า ตั้งพระมหาธาตุ ก็โอกาส หยาดน้ำ ข้อยข้ากับอารามแลไพร่

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพเชื่อว่าพระนางจิรประภาเทวีได้ประทับอยู่ในหลวงพระบางจนกระทั่งเสด็จสวรรคตโดยมิได้เสด็จนิวัติกลับไปยังเชียงใหม่อีกเลย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเสด็จสวรรคตในปีใด

ท้าวซายคำ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


ท้าวซายคำ 

ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 13 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 - 2086 รวมระยะเวลา 5 ปี พระองค์ทรงยึดอำนาจจากพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์ เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 5 ปี ก็ถูกลอบปลงพระชนม์โดยกลุ่มขุนนาง ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์ขาดความชอบธรรมในราชบัลลังก์ หลังจากนั้นกลุ่มขุนนางจึงอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ากลับมาครองราชบัลลังก์เป็นคราวที่สอง ในสมัยของท้าวซายคำนี้ มีเหตุความวุ่นวายมากมาย เกิดการจลาจล และขุนนางต่าง ๆ แยกออกเป็นกลุ่ม ๆ ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน

ครองราชย์

พระราชบิดาของท้าวซายคำ คือ พระเมืองเกษเกล้าได้เกิดข้อขัดแย้งกับเหล่าบรรดาขุนนางในปี พ.ศ. 2078 ขุนนางลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..." แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา

ถูกลอบปลงพระชนม์

แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..." แต่อย่างไรก็ตามหลักฐานเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ก็มีน้อยมากกว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้

เหตุการณ์ภายหลังการลอบปลงพระชนม์

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง ก่อนที่ยกพระนางจิรประภามหาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนา

พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๒ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา




           

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช 
ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 - 2081 (13 ปี) และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 - พ.ศ. 2088 (2 ปี) ในการครองราชย์ครั้งแรกพระองค์ปกครองได้ 13 ปี พระองค์ก็ถูกยึดอำนาจจากพระโอรสของพระองค์คือ ท้าวซายคำ แต่ท้าวซายคำราชย์ได้แค่ 5 ปี ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ ต่อมาพญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริต พระองค์จึงถูกปลงพระชนม์เสีย
พระราชประวัติ

การครองราชย์ครั้งแรก

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือ พญาแก้ว พระราชสมภพที่เมืองน้อย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครองราชย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2068-2081 สถานภาพของพระองค์เมื่อครั้งแรกครองสิริราชสมบัตินั้น พระองค์ยังสามารถใช้ฐานอำนาจเดิมของพระราชบิดา ไม่มีความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ เช่นการสนับสนุนของเหล่าคณะสงฆ์และมหาเทวีตนย่าซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามแนวทางเดิมของพระราชบิดา โดยส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์สำนักสีหลหรือฝ่ายป่าแดง เนื่องจากพระองค์เคยบวชในสำนักสีหลที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) จึงให้พระครูของพระองค์มาประจำที่วัดโพธารามมหาวิหารและแต่งตั้งพระภิกษุฝ่ายสีหลให้รับสมณศักดิ์เป็นสังฆราชและมหาสามี และโปรดให้พระภิกษุอุปสมบทในนิกายสีหล ดังนั้นตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เขียนโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งวัดโพธารามมหาวิหาร ขณะที่พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ 1-2 ปี ได้สรรเสริญพระเมืองเกษเกล้าว่า "...เป็นพระเจ้าธรรมิกราชโดยแท้

การถอดออกจากราชสมบัติ

พระเมืองเกษเกล้า ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล... แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย
การครองราชย์ครั้งที่สองและการสวรรคต

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..." แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วยกลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
กลุ่มหมื่นหัวเคียน เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภามหาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

มหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีของพระองค์ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089 เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี

พระราชกรณียกิจการศาสนา

ในช่วงแรกของการครองราชย์ ขณะที่พระองค์ยังมีสถานะที่มั่นคง พระองค์ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดไปครองเมืองเชียงแสน ซึ่งถือเป็นศูนย์อำนาจทางตอนบนของอาณาจักรล้านนา และเมืองเชียงแสนนี่เองที่เป็นฐานอำนาจของพระเมืองเกษเกล้าสืบมาถึงรัชสมัยของพระนางจิรประภามหาเทวี และสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ทางด้านการปกครองมีลักษณะปรึกษาร่วมกันกับสิงเมืองและบรรดาขุนนาง เนื่องจากมีหลักฐานที่กล่าวถึง เมื่อพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ไม่ไม่นาน ราชเทวี (ไม่ปรากฏพระนาม) ก็ประสูติราชบุตรองค์หนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงได้สร้างพระพุทธรูป "พุทธพิมพาเจ้าราชบุตร" แล้วหารือกับสิงเมืองและเสนาอามาตย์ว่าจะนำพระพุทธรูปไว้ที่ใด เจ้าเมืองเชียงแสนจึงได้เสนอให้ไปไว้ในถ้ำปุ่ม เมืองเชียงแสน

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยพระองค์ได้ให้การทำนุบำรุงพระศาสนาในเมืองต่างของล้านนา เช่น เมืองลำพูน เชียงใหม่ และเชียงแสน โดยเฉพาะการสร้างวัดโลกโมฬี ทำนองวัดประจำรัชกาลเลยทีเดียว
การต่างประเทศ

สถานะทางการเมืองในช่วงต้นของพระเมืองเกษเกล้าเป็นที่ยอมรับทางการเมืองระหว่างรัฐ โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้าง ดังพบว่า พระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ทูลขอ นางยอดคำ หรือ พระนางยอดคำทิพย์ (เจ้านางหลวงคำผาย) ธิดาของพระเมืองเกศเกล้าเป็นพระอัครมเหสี เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร และผนึกกำลังตอบโต้การขยายตัวของอาณาจักรอยุธยา แต่อย่างไรก็ตามหลังจาก พ.ศ. 2077 ระบอบกษัตริย์และขุนนางของอาณาจักรล้านนาก็เสียสมดุล และเกิดเหตุการณ์การถอดพระองค์ออกจากราชสมบัติ การยกพระราชโอรสของพระองค์ครองราชย์ต่อและถูกลอบปลงพระชนม์ ต่อมาเมื่อพระองค์ครองราชย์อีกครั้งก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์ในท้ายที่สุด






พญาแก้ว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๑ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา



พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือพญาแก้ว (พระเมืองแก้ว) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๑ ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

ทรงครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๐๓๘ -๒๐๖๘

พญาแก้ว มีพระนามที่เรียกกันต่างๆ คือ พระเมืองแก้ว หรือพ่อท้าวแก้ว หรือเจ้ารัตนราชกุมาร หรือพญาแก้วภูตาธิปติราช หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงเป็นพระปนัดดาของพระเจ้าติโลกราช และเป็นราชบุตรของพญายอดเชียงรายกับพระนางสิริยสวดี (เทวีปงน้อย) ประสูติในปีขาล ได้รับราชาภิเษกเมื่อชนมายุ ๑๓ ปี ในวันเพ็ญเดือน ๙ พ.ศ. ๒๐๓๙

ด้านการสงคราม ทรงรบกับอยุธยาที่ชายแดน พ.ศ.๒๐๕๐ ทรงส่งกองทัพไปตีสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งอยุธยาขึ้นมาตีลำปางแตก แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับไป
ด้านทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงให้ก่อกำแพงเมืองลำพูนด้วยอิฐ ปี พ.ศ. ๒๐๖๐ เพื่อป้องกันข้าศึก จากนั้นจึงก่อกำแพงเมืองเชียงใหม่ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการยิงด้วยปืนใหญ่ และ พ.ศ.๒๐๖๑ ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำปิงที่ท่าสถานหลวง
ด้านการทำนุบำรุงศาสนา พญาแก้ว ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและบำเพ็ญทานเป็นเอนก ทรงสร้างปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น สร้างวัดปุพพาราม ในปีมะโรง พ.ศ.๒๐๔๐ ต่อมาปีมะเมียทรงสร้างปราสาทในวัดนั้น ปีระกาทรงฉลองพระไตรปิฏกฉบับลงทอง และหอพระมณเฑียรธรรมที่โปรดให้สร้างไว้ ณ วัดปุพพาราม
นับตั้งแต่พระองค์ได้รับราชาภิเษกมา 1 ปี คือปีมะโรง เดือน 5 แรม 7 ค่ำ วันอังคาร จุลศักราช 855 พ.ศ.2036 พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช พระองค์ได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระอารามๆ หนึ่งไว้ ณ ที่พระราชอุทยาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระอัยกา(เจ้าปู่)และเป็นที่ประทับของพระราชบิดา พระองค์จึงขนานนามของวัดว่า “วัดบุพพาราม” ทั้งนี้เพราะถือเอานิมิตว่าได้ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งนับพิสิราชธานี (นครพิงค์เชียงใหม่) ต่อมาเมื่อพระองค์สร้างวัดบุพพารามแล้ว ได้ 3 ปี คือ ปีมะเมีย พระองค์ทรงสร้างปราสาทไว้ ณ ท่ามกลางมหาวิหารอีก 1 หลัง เพื่อประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองแดงล้วน มีสนธิ 8 แห่ง น้ำหนัก 1 โกฏิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังใหญ่) ต่อมาอีก 4 ปี ในปีระกา พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราชได้รับสั่งให้สร้างหอมณเฑียรธรรมอีก 1 หลัง สำหรับประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับลงทองของล้านนาไทย ศิลปหัตถกรรมล้านนาประดับตกแต่งอย่างปราณีตสวยงามเหมือนเวชยันตปราสาท ในปี พ.ศ.2439 จ.ศ.1358 จำเดิมแต่การสร้างวัดมา มีอายุได้ 502 ปีหมายเหตุ ส่วนอาณาเขตของวัด ประวัติ (ตำนาน) ไม่ได้กล่าวไว้ในสมัยนั้น ว่ามีเนื้อที่กว้างยาวเท่าไหร่ ได้ความจากผู้เฒ่าผู้แก่เพียงว่า วัดอุปาหรือวัดอุปาราม (บุพพาราม) มีเนื้อที่กว้างยาวมาก ทิศตะวันออกจรดถึงคลองแม่ข่า ทิศตะวันตกจรดถึงวัดมหาวัน ความจริงจะกว้างยาวเท่าไหร่นั้น ก็ไม่ทราบได้ แต่น่าจะพิสูจน์จากคำสันนิษฐานผู้สูงอายุตรงที่บ้านของพ่อหนานมังคละ แม่หมูปวรธิสรรค์ ถนนท่าแพ ขณะนี้ยังมีมูลอิฐปรากฏเป็นหลักฐาน บางคนก็อ้างว่าเป็นฐานของอุโบสถวัดอุปาราม คือเป็นอารามที่มีอาณาเขต กว้าง ยาว มากนั่นเอง ปัจจุบันมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา คือทิศเหนือติดกับถนนท่าแพ มี 2 เส้น 13 วา ทิศใต้ติดกับบ้าน มี 2 เสิน 4 วา ติดตะวันตกติดกับถนนท่าแพซอย 2 ร่มโพธิ์ มี 2 เส้น 19 วา ตามที่ได้สำรวจแล้ว ก็มีในบริเวณกำแพงล้อมรอบวัดเท่านั้น ถือเอาตามความเป็นจริงในปัจจุบันเพียงเท่านี้

วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พญายอดเชียงราย กษัตริย์ราชวงค์มังราย พระองค์ที่ ๑๐



พระญายอดเชียงราย มีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระเมืองยอด(ท้าวยอดเมือง) ทรงเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นโอรสของท้าวบุญเรือง เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าติโลกราช

ท้าวยอดเมืองประสูติที่เชียงราย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และในฐานะที่เป็นหลานของพระเจ้าติโลกราชจึงได้ครองเมืองแช่สัก ท้าวยอดเมืองเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามของพระเจ้าติโลกราช ครั้นถึงปลายรัชสมัยของพระอัยกา ท้าวบุญเรืองพระบิดาต้องอาญาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อยและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา เพราะเหตุถูกท้าวหอมุก พระสนมเอกของพระเจ้าติโลกราชทูลยุยงใส่ร้ายท้าวบุญเรือง ท้าวยอดเมืองในฐานะโอรสของท้าวบุญเรืองจึงได้รับสิทธิในการสืบราชสมบัติแทนพระบิดา ครั้นพระเจ้าติโลกราชสิ้นพระชนม์ ท้าวยอดเมืองจึงได้ขึ้นครองราชย์ในล้านนาต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๐ พระญายอดเชียงรายขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๘ปี (คัมภีร์ชินกาลมาลีเรียกพระนามว่า ชังรายัคคราชา) ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นพระอัยกา ณ วัดมหาโพธาราม แล้วก่อสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและอังคารธาตุไว้ในวัดนั้น ใน พ.ศ. ๒๐๓๕ทรงสร้างวัดตโปทาราม และโปรดให้ชำระขัณฑสีมาที่เกาะดอนแท่น

ในรัชกาลนี้ปรากฏเหตุพระแก้วขาว พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หอพระแก้วหายไป จึงทรงให้สืบได้ความว่าพระภิกษุชาวอยุธยาทำอุบายลอบนำไปยังอยุธยา หลังจากส่งสาส์นและเครื่องบรรณาการไปยังพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า พระญายอดเชียงรายจึงยกทัพหลวงไปกรุงศรีอยุธยา ตั้งทัพเพื่อทวงเอาพระแก้วขาว เวลาล่วงไป ๑ เดือนจึงได้พระแก้วขาวคืนมา ในช่วงดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยหลักฐานของจีนทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระญายอดเชียงรายทรงตอบสนองความต้องการของจีนหรือกรมการเมืองของยูนนานมาก จนไม่สนใจความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงพระญายอดเชียงรายไม่รักเจ้าแก้ว(รัตนราชกุมาร) ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดจากพระเทวีชื่อ ปงน้อย (ปร่งน้อย หรือโป่งน้อย) แต่กลับเอาใจใส่ลูกฮ่อ ซึ่งเลี้ยงเป็นลูกและให้ไปครองเมืองพร้าว ทั้งยังมีการกล่าวถึงเจ้าแก้วที่ถูกบังคับให้ไหว้ลูกฮ่ออีกด้วย เนื่องจากการที่พระองค์สนิทสนมกับฮ่อมากเกินไป จึงสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางเนื่องจากพระองค์ไม่ทรงรับฟังขุนนาง ซึ่งขุนนางเหล่านั้นต่างเชื่อถือโชคลางและเห็นว่าวิปริตต่างๆ เกิดจากการปฏิบัติที่มิได้เป็นไปตามขัติยประเพณีจารีต ท้าวคลองพญา หมู่อำมาตย์ราชวงศานุวงศ์สมณพราหมณาจารย์และราษฏรพากันเดือดร้อน ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ แล้วถูกเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย(อยู่ในเขตเมืองปายแม่ฮ่องสอน) ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๓๘ จากนั้นก็ยกเจ้ารัตนราชกุมาร ชนมายุ ๑๔ พรรษา ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดกับนางโป่งน้อยขึ้นครองราชย์แทนต่อมาขณะที่มีการยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์ ก็พบว่านางโป่งน้อย มีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า "พระเป็นเจ้าสองพระองค์" และ “พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสอง”ขณะเดียวกันบทบาทของขุนนางได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ส่วนกษัตริย์กลับถูกลิดรอนอำนาจ ส่วนพระญายอดเชียงราย เมื่อถูกปลดและเนรเทศไปอยู่เมืองชวาดเมืองน้อย อยู่ต่อมาอีก ๑๑ ปี ชนมายุได้ ๕๑ พรรษาจึงสิ้นพระชนม์ในปีขาล พ.ศ.๒๐๔๙

วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๙ แห่งอาณาจักรล้านนา



พระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 ครองราชย์ พ.ศ. 1985–2030 พระนามเดิมคือ "เจ้าลก" เนื่องจากเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน (ลก ในภาษาไทเดิม มีความหมายว่า ลำดับที่ 6) ร่วมรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา

พระราชประวัติ

เจ้าลก เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1952 เป็นพระโอรสลำดับที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน เมื่อทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เสด็จไปครองเมืองพร้าววังหิน (อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้นแล้ว ทัพของเจ้าลก ยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกน จึงทรงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้ (อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน)

ต่อมามีอำมาตย์ของพระเจ้าสามฝั่งแกนคนหนึ่งชื่อ "เจ้าแสนขาน" คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงได้ซ่องสุมกำลังลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาซ่อนตัวไว้ที่นครเชียงใหม่ ในขณะที่พระเจ้าสามฝั่งแกนประทับแปรพระราชฐานอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน การเริ่มชิงราชสมบัติทำโดยการเผาเวียงเชียงใหม่ แล้วบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชสมบัติ แล้วก็อัญทูลเชิญ เจ้าลกขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985 มีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อมีพระชนมายุ 32 พรรษา ส่วนพระราชบิดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาด (อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) แต่อยู่มาได้เพียง 1 เดือน 15 วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฏอีก พระเจ้าติโลกราชจึงให้ "หมื่นโลกนคร" พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น "หมื่นขาน" และให้ไปครองเมืองเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน) แทน

พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนาในช่วง 45 ปี (พ.ศ. 1985–2030) อาณาจักรล้านนาจึงมีความเข้มแข็ง สามารถยึดได้เมืองน่าน เมืองแพร่ จากนั้นจึงขยายอำนาจลงสู่ทางใต้ ทรงทำสงครามกับอยุธยาในสมัยพระเจ้าสามพระยาและสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถติดต่อกัน ในช่วงเวลา 24 ปี เริ่ม พ.ศ. 1994 พระยายุทธิษเฐียรเจ้าเมืองพิษณุโลกเข้าสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้าติโลกราชและร่วมกันตีได้เมืองปากยม (พิจิตรตอนใต้) จากนั้นใน พ.ศ. 2003 พระยาเชลียงก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ในปีต่อมาพระยาเชลียงนำพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกและเมืองกำแพงเพชร แต่ไม่สำเร็จ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2006 ในการทำสงครามกับล้านนา นอกจากใช้กำลังทหารโดยตรงแล้วทางอยุธยายังใช้พิธีสงฆ์และไสยศาสตร์ด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงออกผนวชใน พ.ศ. 2008 ก็ได้ทรงขอเครื่องสมณบริขารจากพระเจ้าติโลกราช และระหว่างที่ผนวชก็ทรงขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนการใช้ไสยศาสตร์ก็ได้ส่งพระเถระชาวพม่ามาทำลายต้นนิโครธ (ต้นไทร) ซึ่งเป็นไม้ศรีเมืองณ แจ่งศรีภูมิ ด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยึดเมืองเชลียงกลับคืนได้ และ พ.ศ. 2018 อยุธยาและล้านนาก็ทำไมตรีต่อกัน

อำนาจของพระเจ้าติโลกราชด้านตะวันออกตีได้เมืองน่านเป็นเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกจรดกับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระเจ้าติโลกราชได้ร่วมมือกับกองทัพจากเมืองหลวงพระบางเพื่อต่อต้านและขับไล่กองทัพไดเวียด ซึ่งทำสงครามขยายอิทธิพลรุกรานหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2023 ซึ่งก่อนหน้านั้นหลวงพระบางถูกกองทัพไดเวียดโจมตีและรุกราน กองทัพล้านนาไปร่วมรบตอบโต้จนแม่ทัพล้านช้างสามารถขับไล่แม่ทัพฝ่ายไดเวียดพ่ายกลับไปซึ่งแม่ทัพไดเวียดหนีไปได้แต่ต่อมาไม่นานกลับถูกฟ้าผ่าจนถึงแก่อนิจกรรมในแดนแกว ทำให้ยุคนี้ล้านนากับล้านช้างเริ่มสานสัมพันธ์เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้ยุคหลังเมื่อล้านนาถูกไทใหญ่และพม่ารุกรานยึดเมืองหลวงอย่างเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงล้านช้างก็จะไปช่วยล้านนาต่อต้านขับไล่ออกไปจนสำเร็จ ส่วนอำนาจอาณาเขตด้านตะวันตกขยายออกไปถึงรัฐฉาน ได้เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย เป็นต้น พระเจ้าติโลกราชได้กวาดต้อนครัวเงี้ยวเข้ามาใว้ในล้านนาถึงหมื่นคนเศษ ด้านเหนือตีได้เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง และได้กวาดชาวลื้อ บ้านปุ๋ง เมืองยองมาไว้ที่ลำพูน

พระราชกรณียกิจ

พระเจ้าติโลกราช เป็นพระมหากษัตริย์นักรบที่ทรงพระปรีชาสามารถได้แผ่ขยายอำนาจของกรุงราชธานีเชียงใหม่ไปทั่ว 57 หัวเมืองขึ้น ครอบคลุมทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมืองเชียงตุง เมืองยอง (รัฐฉาน ประเทศพม่า) เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเจียงตอง เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองสุ เมืองจีด เมืองกิง เมืองลอกจอก เมืองสีป้อ เมืองจาง รวมกว่า 11 เมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน (รัฐฉาน พม่า) ทิศตะวันออกตีได้เมืองน่านจรดกับล้านช้าง ทิศใต้จรดขอบแดนอยุธยา แนว ตาก เถิน ศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) ลับแล แพร่ น่าน อาณาจักรล้านนาในรัชกาลของพระองค์เป็นยุคทอง รุ่งเรืองสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการรับรองจากคนกลาง "โอรสแห่งสวรรค์"จักรพรรดิ์จีนแห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งบันทึกไว้ใน"หมิงสื่อลู่"เป็นเอกสารโบราณประจำรัชกาลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งราชสำนักจักรพรรดิจีน และ ดร.วินัย พงศรีเพียร นักประวัติศาสตร์ผู้เรืองนาม ได้แปลไว้ในเอกสารชื่อ "ปาไป่สีฟู่ ปาไป่ต้าเตี้ยน" (คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ในโอกาสเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี ใน พ.ศ. 2539) บันทึกว่า จักรพรรดิ์จีนยกย่องให้พระเจ้าติโลกราชเป็น "ตาวหล่านนา"หรือท้าวล้านนาและพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศมากมายนอกจากนี้ยังสถาปนาพระเกียรติยศเป็นลำดับ"สอง" รองจากองค์จักรพรรดิ์จีน ซึ่งตรงกับเอกสารของพม่าที่บันทึกสมัยอยุธยาก่อนกรุงแตกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2305 ชื่อว่า "Zinme Yazawin (Chronicle of Chiang Mai หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพม่า) ดังความว่า ที่ใดก็ตามที่ปรากฏศัตรูขึ้นในแปดทิศของจักรพรรดิ์อุทิปวาผู้ปกครองทุกสิ่งภายใต้สวรรค์ ให้ท้าวล้านนาเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงใหม่มีอำนาจที่จะปราบปรามและลงโทษศัตรูนั้นได้... (Wherever enemies appeae in the eight directions of the Empire of the Utipwa,who Rules All under Heaven ,Thao Lan Na , Chaofa of Chiang Mai with his forecs shall subdue and punish them.) และทรงให้ราชสมญานามพระเจ้าติโลกราชว่า "ราชาผู้พิชิต", "ราชาแห่งทิศตะวันตก" (Victorious Monarch, King of the West) โดยให้เสนาบดีผู้ใหญ่ควบคุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราพระราชลัญจกร พระสุพรรณบัตร เครื่องประกอบเกียรติยศมากมาย ทองคำแท่ง 100 ตำลึง เดินทางมาถึงเชียงใหม่ ทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ อลังการ นอกนั้นพระราชกรณียกิจที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทำให้รัชกาลของพระองค์พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด พระสงฆ์แตกฉานภาษาบาลี มีการตรวจชำระพระไตรปิฎก หรือสังคายนา เป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณวัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2020 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวชกุลบุตรเป็นพระภิกษุจำนวน 500 รูปในอุทกสีมาหรืออุปสมบทกลางแม่นำปิงตามอย่างลัทธิลังกาวงค์ ในปี พ.ศ. 1990 เมื่อพระราชบิดา พระเจ้าสามฝั่งแกนสวรรคต จึงจัดการพระราชทานเพลิงพระศพแล้วสถาปนาพระสถูปบรรจุพระอัฐิไว้ ณ ป่าแดงหลวง ( อยู่เชิงดอยสุเทพ ในบริเวณ ม.เชียงใหม่) โดยบุทองแดงแล้วปิดทองทั้งองค์ เมื่อเสร็จงานในปีเดียวกันก็ออกผนวชโดยให้พระมารดาว่าราขการแทนพระองค์ ทั้งนี้เพื่อศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ต่อมาเมื่อพระมารดาสิ้นพระชนม์ก็ถวายพระเพลิง ณ สถานที่เดียวกันกับพระบิดา แล้วสถาปนาที่นั้นเป็นพระอารามในปี พ.ศ. 1994 โดยทรงขนานนามว่าวัดอโสการามวิหาร ลุถึงปี พ.ศ. 1998 โปรดให้สร้างวัดโพธารามวิหาร หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอด

ตลอด 46 ปีของรัชกาลพระเจ้าติโลกราช มีการทำสงครามขยายพระเดชานุภาพนับได้ หลายครั้ง ดังนี้

  1. ปราบหัวเมืองฝางที่แข็งเมืองเจ้าเมืองหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเทิง (อ.เทิง จ.เชียงราย) แต่ถูกประหารชีวิตต่อหน้าเจ้าเมืองเทิง เป็นการกระทำที่ไม่ไว้หน้าเจ้าเมืองเทิง จึงส่งสารลับแจ้งให้อยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่ นับว่าเป็นปฐมเหตุแห่งศึกสิงห์เหนือ เสือใต้ (เชียงใหม่ -อยุธยา) ยืดเยื้อยาวนาน ถึง 18 ปีจนสิ้นรัชกาลทั้งพระเจ้าติโลกราชกับพระเจ้าสามพระยาและพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ
  2. อยุธยามาตีเมืองเชียงใหม่ ตามที่เจ้าเมืองเทิงแปรพักตร์แจ้งให้ยกทัพมาชิงเมือง ผล อยุธยาถูกกลศึกตอบโต้โดนโจมตีแตกพ่าย ส่วนเจ้าเมืองเทิงถูกประหารชีวิต ตัดคอใส่แพหยวกกล้วยล่องนำปิง โดยมีนัยว่าเพื่อให้ไปถึงพระเจ้าอยุธยา (พระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา)
  3. ปราบเมืองน่านที่แข็งเมือง พระญาเมืองน่านหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเชลียงของอยุธยา
  4. ขับไล่เมืองหลวงพระบางที่ยกทัพลอบโจมตีเมืองน่านส่งผลให้หลวงพระบางไม่มาบุกรุกเมืองน่านอีกต่อไป
  5. ปราบเมืองยอง ไทลื้อ (รัฐฉาน พม่า)
  6. ปราบเมืองเจียงตอง(รัฐฉาน) เมืองขรองหลวง เมืองขรองน้อย
  7. ปราบเมืองเชียงรุ่ง หรือ เชอหลี่ใหญ่ หรือจิ่งหง- Jinghong (12 ปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่
  8. ปราบเมืองเชียงรุ่งที่แข็งเมืองอีกครั้ง และเข้าตีเมืองอิง
  9. ปราบเมืองนาย ไลค่า ล๊อกจ๊อก เจียงตอง เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง จำคา เมืองพุย สีป้อ กวาดต้อนผู้คนจำนวน 12,328 คนมาใส่เมืองเชียงใหม่
  10. ยกทัพไปตีเมืองไทใหญ่ ครั้นถึงเมืองหาง ทราบข่าวเวียดนามยกทัพ 400,000 นาย มาตีหลวงพระบาง และมาโจมตีเมืองน่านจึงยกทัพกลับมาช่วยเมืองน่าน เจ้าเมืองน่านต่อสู้อย่างทรหด รบชนะกองทัพมหาศาลของจักรพรรดิเลทันตองแห่งเวียดนาม ตัดศีรษะแม่ทัพ มาถวายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าติโลกราชจึงมีพระบรมราชโองการให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ควบคุมเชลยศึกเวียดนาม พร้อมศีรษะแม่ทัพ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อถวายแด่จอมจักรพรรดิ์ ในตอนแรกจอมจักรพรรดิจีนไม่เชื่อว่ากองทัพล้านนาจะต่อตีกองทัพจักรพรรดิ๋เลทันตองแห่งเวียดนามได้ เพราะกองทัพจีนเพิ่งรบแพ้แก่กองทัพเวียดนามมาหยก ๆ จอมจักรพรรดิ์จีนจึงมีพระบัญชาสั่งสอบสวนเชลยศึกเวียดนาม ทีเดียวพร้อม ๆ กันโดยแยกสอบสวนคนละห้อง เพื่อป้องกันมิให้เชลยศึกเวียดนาม บอกข้อมูลให้แก่กัน ผลการสอบสวน ตรงกันหมดว่ากองทัพที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ์เลทันตองแห่งเวียดนาม พ่ายแพ้หมดรูปแก่กองทัพพระเจ้าติโลกราช ณ สมรภูมิที่ เมืองน่าน จักรพรรดิ์จีนถึงกับยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ตรัสด้วยพระสุรเสียงดังทั่วท้องพระโรงต่อหน้าเสนา อำมาตย์ ที่ชุมนุม ณ ที่นั้นว่า "เหวย ๆ ข้าคิดว่าในใต้หล้ามีเพียงข้าผู้เดียวที่มีเดชานุภาพมาก แต่บัดเดี๋ยวนี้มี ท้าวล้านนาพระเจ้าติโลกราช มีเดชานุภาพทัดเทียมข้า ข้าจึงแต่งตั้งให้ท้าวล้านนาเป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก"ให้เป็นใหญ่รองจากข้า มีอำนาจที่จะปราบปรามกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ก่อการแข็งเมืองต่อข้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป" พร้อมกับทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องประกอบเกียรติยศ กองทหารพร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่ เดินทางมาประกอบพิธีที่เชียงใหม่อย่างยิ่งใหญ่ อลังการโดยทรงยกย่องให้เป็น "รอง" จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิง เป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก" (King of the West) ส่วนจักรพรรดิจีนเป็นจักรพรรดิแห่งทิศตะวันออกZinme Yazawin หรือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับภาษาพม่า (พม่าเรียกเชียงใหม่ ว่า "Zinme ") นี้เป็นเอกสารสำคัญที่พม่าขณะเข้าปกครองเชียงใหม่ กว่า ๒๐๐ ปี ตั้งแต่บุเรงนอง ยาตราทัพเข้ายึดครองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ และในรัชกาลต่อๆมาได้นำเอาเอกสารในราชสำนักราชวงค์มังรายไปคัดลอกเป็นภาษาพม่า และนำกลับพม่า ต่อมาด้วยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อว่า Zinme yazawin เมื่อ คศ. ๒๐๐๔ เอกสารฉบับนี้ทราบกันในหมู่นักวิชาการแคบๆเพียงไม่กี่คน ทราบว่ามีอยู่เพียง ๒๐ เล่มในขณะนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์
  11. ตีกำแพงเพชร (ชากังราว) แตก ส่งทัพหน้ามากวาดครัวถึงเมืองชัยนาท เข้าตีสุโขทัยมิได้ จึงถอยทัพกลับ
  12. เจ้าเมืองเชลียงแห่งสุโขทัย มาสวามิภักดิ์
  13. เจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองเหนือของอยุธยา มาสวามิภักดิ์ พร้อมนำไพร่พลเมือง ทหารกว่า 1 หมื่นคน มาอยู่ในเชียงใหม่แม่แบบ:Zinme Yazawin
  14. ยกทัพไปล้อมเมืองพิษณุโลก พระบรมไตรโลกนาถ ใช้กลศึกหลบหนีออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืนและเดือนมืดสนิท ทางลำน้ำน่านกลับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชทรงพระพิโรธ รับสั่ง ให้"ควักลูกตา "ทหารทุกนายที่ซุ่มล้อม ณ พื้นที่ลำน้ำน่าน "หมื่นด้งนคร"แม่ทัพใหญ่รุดเข้าเฝ้า กราบบังคลทูลถวายรายงานว่า พระบรมไตรโลกนาถ ใช้ "กลศึก" ตีสัญญาณ ฆ้อง กลองล่องเรือหนีมาตามลำน้ำน่านโดยให้จังหวะเคาะสัญญาณ เลียนแบบสัญญาณ ของ "มหาราชเชียงใหม่" ทุกประการ ประกอบกับเดือนมืด มองเห็นไม่ถนัด ทหารที่ซุ่มเฝ้าระวัง จึงไม่เฉลียวใจ ต่างคิดว่า เป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าติโลกราช เสด็จ จึงไม่ยับยั้ง และข้าในฐานะแม่ทัพ ขอรับโทษแทนทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมด หากจะควักลูกตาทหารผู้น้อย ก็ขอให้ควักลูกตาของข้าแต่เพียงผู้เดียว พระเจ้าติโลกราช ได้ฟังทหารเอกผู้ภักดี ยอมสละแม้กระทั่งลูกนัยตาของตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง รับแทนทหารลูกน้อง อีกทั้ง ความจงรักภักดีของหมื่นด้งนคร ที่มีต่อ มหาราชเชียงใหม่ รุกรบไปทั่วดินแดนใกล้ ไกล เคียงบ่า เคียงไหล่ ร่วมเป็น ร่วมตาย มาด้วยกัน นับครั้งไม่ถ้วน ทรงตรึกตรอง แล้วนิ่งเสีย ไม่ตรัสถึงอีกต่อไป ต่อมากองทหารม้าทัพหน้าไล่ตาม เรือพระที่นั่งของพระบรมไตรโลกนาถ ขณะยั้งพักที่ปากยม และกองทัพม้าได้รายล้อมทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้แล้ว จึงได้ส่งม้าเร็วรีบแจ้งขอรับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราช พระองค์ตรัสว่า "มันก็พญา (กษัตริย์) กู ก็ พญา กูแป้ (ชนะ) มัน มันก็ละอายแก่ใจแล้ว หมื่นด้ง มึงอย่าทำเลย" ต่อมากองทัพหน้าไปตีเมืองปากยม (พิจิตร)
  15. แต่งให้หมื่นด้งนครไปตีเมืองเชลียง
  16. อยุธยาถูกกลศึกผ่านสายลับที่ถูกจับได้ ให้เห็นกองทัพเชียงใหม่จะยกทัพไปทำศึกทางเหนือ จึงแจ้งให้อยุธยายกทัพมาชิงเอาเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่รอซุ่มโจมตีที่ดอยขุนตาล (รอยต่อ ลำพูนกับลำปาง) ตีกองทัพอยุธยาแตกพ่าย ถูกไล่ติดตามตลอดทั้งคืนผ่านห้างฉัตร ลำปาง เด่นชัย จนถึงเขาพลึง (เขตต่อแดน แพร่กับอุตรดิตถ์) ครั้งนั้นพระอินทราชา พระราชโอรสในพระบรมไตรโลกนาถต้องปืนที่พระพักตร์
  17. อยุธยา สบโอกาส กองทัพเชียงใหม่ยกขึ้นขึ้นเหนือไปตี เมืองพง ไทลื้อ (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) จึงยกทัพเข้าตีเมืองแพร่ ฝ่ายหมื่นด้งนคร ผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ป้องกันเมือง ครั้นกองทัพพระเจ้าติโลกราชแผด็จศึกเมืองพงไทลื้อ เสร็จแล้วจึงกลับยังไม่ทันถึงเชียงใหม่ ทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปช่วยเมืองแพร่ พระบรมไตรโลกนาถ ทรงเห็นกองทัพเชียงใหม่ใหญ่เกินกำลังจะต้านทานได้จึง ถอยทัพกลับ โดยทัพหลวงมหาราชเชียงใหม่ไล่ติดตามไปแต่ไม่ทัน จึงไม่ได้รบกัน ทัพหลวงผ่านเมืองเชลียงกลัวหายนะภัยจึงขอเป็นข้าราชบริพาร จากนั้นทัพมหาราชเชียงใหม่เข้าตีเมืองพิษณุโลกสองแคว แต่ไม่สำเร็จ จึงถอยทัพไปตีเมืองปางพล แล้วกลับผ่านเมืองเชลียง ลำปาง เชียงใหม่
  18. ต่อมาเจ้าเมืองเชลียงเป็นกบฏจึงให้หมื่นด้งนครยกทัพไปจับกุมตัวเจ้าเมืองเชลียงมายังเชียงใหม่ และเนรเทศไปอยู่เมืองหาง พร้อมกับแต่งตั้งให้หมื่นด้งนคร ครองเมืองเชลียง (สวรรคโลก) เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง
  19. ต่อมาเชียงใหม่ถูกพระเถระพุกามที่รับจ้างจากอยุธยา มาเชียงใหม่ หลอกให้ตัดต้นไม้นิโครธ ไม้แห่ง "เดชเมือง" ซึ่งชาวเชียงใหม่สักการบูชาที่แจ่งศรีภูมิ จนบ้านเมืองปั่นป่วน ต่อมามีเหตุการณ์ไม่คาดคิด คือ พระเจ้าติโลกราช สั่งประหารท้าวบุญเรือง พระราชโอรสองค์เดียวที่ถูกท้าวหอมุก (นางสนม) ใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังก์ ภายหลังทราบว่าพระโอรสบริสุทธิ์ ก็ทรงเสียพระทัย อีกทั้งทรงกริ้วและหวาดระแวงว่าหมื่นด้งนคร ทหารเอกคู่บัลลังก์ ที่ส่งให้ไปต้านทานกองทัพอยุธยาที่ชายแดนเมืองเชลียง เชียงชื่น (สวรรคโลก จ.สุโขทัย) จะแปรพักตร์ไปเข้าอยุธยา จึงเรียกตัวไปเชียงใหม่และถูกประหารชีวิต เมื่อทหารเอกคู่บัลลังก์หมื่นด้งนครถึงแก่อนิจกรรมแล้ว พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นแคว่นผู้ครองเมืองแจ้ห่ม (อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) ไปครองเมืองเชียงชื่น (สวรรคโลก) แต่ถูกพระยาสุโขทัยยกทัพเข้าตี จนหมื่นแคว่นตายในที่รบ เมืองสุโขทัยจึงได้เมืองเชียงชื่นกลับคืน หลังจากอยู่ใต้ธงมหาราชเชียงใหม่ มายาวนาน 23 ปี อันเป็นต้นเรื่องและเป็นประเด็นหลักใน ลิลิตยวนพ่ายที่เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ตีเมืองเชลียง เมืองเชียงชื่นหรือเมืองสวรรคโลก (อดีตเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) กลับคืนมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2017
  20. ศักราช 837 มะแมศก (พ.ศ. 2018) มหาราช (เชียงใหม่) ขอมาเป็นไมตรี...พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  21. นับจากนี้เป็นเวลา 12 ปีที่อาณาจักรทั้งสองเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน และมหาราชทั้งสองพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยชรา มหาราชเชียงใหม่สวรรคตในปี 2030 ขณะพระชนมายุได้ 78 พรรษาครองราชย์ 46 ปีและตามติดกันในปีต่อมา มหาราชอยุธยา สวรรคตในปี 2031 ขณะพระชนมายุได้ 57 พรรษา ครองราชย์ 40 ปี....

การทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา

อาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้ทำสงครามครั้งแรกกับอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ต่อมาจึงทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถหลายครั้งด้วยกัน ในปี พ.ศ. 1985 เจ้าเมืองเทิง แห่งอาณาจักรล้านนา (ปัจจุบันคือ อ.เทิง จังหวัดเชียงราย) ไม่พอใจที่ หมื่นโลกนคร แม่ทัพของพระเจ้าติโลกราช ติดตามไปฆ่าท้าวซ้อย เจ้าเมืองฝางที่แข็งเมืองและหลบหนีไปพึ่งบารมี จึงได้ขอสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบรมราชาธิราช ที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จึงทรงถือเป็นโอกาสเสด็จยกทัพไปตีนครเชียงใหม่ ในขณะเดียวกัน พระเจ้าติโลกราชได้จับเจ้าเมืองเทิงประหารชีวิต กองทัพอยุธยาได้ถูกกลศึกของฝ่ายเชียงใหม่ปลอมตัวเป็นตะพุ่นช้าง (คนหาอาหารให้ช้าง) ปะปนเข้าไปในกองทัพเจ้าสามพระยาเมื่อได้จังหวะยามวิกาลจึงตัดปลอกช้าง ฟันหางช้างจนช้างแตกตื่นแล้วฟันนายช้างตาย กองทัพเชียงใหม่ได้ยินเสียงอึกทึกก็ได้ทียกเข้าตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไป เจ้าสามพระยาได้พยายามอีกครั้งหนึ่งโดยยกทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองเชียงใหม่แต่ประชวรสิ้นพระชนม์กลางทาง รวมการทำสงครามระหว่าง 2 อาณาจักร ยืดเยื้อยาวนานถึง 33 ปี (นับแต่ พ.ศ. 1985 สมัยพระเจ้าสามพระยา ถึง พ.ศ. 2018 สมัยพระบรมไตรโลกนาถ)

พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอาณาจักรอยุธยา

ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – พ.ศ. 2031) พระองค์ขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมายุได้ 17 พรรษา และก่อนขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อขึ้นครองราชย์ได้เสด็จลงมาประทับที่กรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้เจ้าเมืองต่าง ๆ ชิงอำนาจกันเอง และเจ้าเมืองพิษณุโลกสองแคว แปรพักตร์ไปสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา จึงนำกองทัพมาตีเมืองต่าง ๆ ของอยุธยา คือ เมืองพิษณุโลกสองแคว เมืองปากยม (พิจิตร) เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) เมืองสุโขทัย เมืองเชลียง (ศรีสัชชนาลัย) เมืองเชียงชื่น (สวรรคโลก) โดยได้เข้าตีเมืองสุโขทัยในปี พ.ศ. 1994 แต่เมื่อทรงทราบข่าวว่าพระเจ้ากรุงล้านช้างยกทัพมาประชิดแดนล้านนาเพื่อบุกตีเมืองน่านจึงโปรดให้ยกทัพกลับ แต่กองทัพกรุงศรีอยุธยาตามไปตีกองหลังของกองทัพพระเจ้าติโลกราชแตกที่ "เมืองเถิน"แตกพ่ายไป

ครั้นถึง พ.ศ. 2004 พระเจ้าติโลกราชยกทัพลงมาตีหัวเมืองตอนเหนือของอยุธยาอีก แต่บังเอิญพวกฮ่อ (จีน ยูนนาน) ยกกำลังมาตีชายแดนเชียงใหม่ก็จำต้องยกทัพกลับไปรักษาเมืองขึ้นกับเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยาอยู่เนือง ๆ เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนนโยบายเสด็จขึ้นไปประทับครองราชสมบัติเสีย ณ เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2006โดยยกฐานะเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง เพื่อสะดวกในการจัดกำลังต่อตีทัพมหาราชฝ่ายเหนือ อีกทั้งยังทำหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งมักแก่งแยกอำนาจกันและแตกออกจากฝ่ายกรุงศรีอยุธยามีความสามัคคีด้วยความยำเกรงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้ประทับครองราชย์อยูที่เมืองพิษณุโลกจนสิ้นรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2031 แต่กระน้นก็ยังต้องคอยสู้รบกับการรุกรานของพระเจ้าติโลกราชอยู่เรื่อยมารวม 27 ปี

การสงบศึกและเป็นพันธมิตร

ใน พ.ศ. 2008 ขณะพระชนมายุได้ 34 พรรษา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก พระองค์ส่งราชทูตมายังเชียงใหม่เพื่อขอเครื่องอัฐบริขารพร้อมกับพระเถรานุเถระไปทำพิธีผนวชจากพระเจ้าติโลกราช (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 56 พรรษา) จึงโปรดให้หมื่นล่ามแขกเป็นราชทูตพร้อมด้วยพระเทพคุณเถระและพระอับดับ 12 รูปลงมาเมืองพิษณุโลกเพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องอัฐบริขารแด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตามหลักฐานศิลาจารึกวัดจุฬามณี ที่บันทึกว่า " ศักราช 826 ปีวอกนักษัตร (พ.ศ. 2007) อันดับนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเปนเจ้า ให้สร้างอาศรมจุฬามณีที่จะเสด็จออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะนั้น เอกราชทั้งสามเมืองคือ พระญาล้านช้าง แลมหาราชพระญาเชียงใหม่ แลพระญาหงสาวดี ชมพระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัฐบริขารให้มาถวาย" ในขณะผนวช 8 เดือน 15 วัน พระองค์ได้ทรงถือโอกาสส่งสมณะทูตชื่อโพธิสัมภาระมาขอเอาเมืองเชลียง -สวรรคโลกคืน เพื่อ"ให้เป็นข้าวบิณฑบาตร"จากพระเจ้าติโลกราชแต่พระเจ้าติโลกราชเห็นว่าเป็น"กิจของสงฆ์"จึงทรงนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีทุกรูปมาประชุมเพื่อถวายข้อปรึกษา ครั้งนั้นมีพระเถระเชียงใหม่ชื่อสัทธัมมรัตตนะได้กล่าวกับโพธิสัมภาระสมณะทูตของอยุธยา ว่า" ตามธรรมเนียมท้าวพระญา (พระมหากษัตริย์) เมื่อผนวชแล้วก็ย่อมไม่ข้องเกี่ยวในเรื่องบ้านเมืองอีก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผนวชแล้วยังมาขอเอาบ้านเอาเมืองนี้ ย่อมไม่สมควร"พระบรมไตรโลกนารถได้ยินคำเหล่านั้น ก็นิ่งเก็บไว้ในใจ เมือทรงลาผนวชแล้วจึงได้ออกอุบายจ้างให้พระเถระพุกามรูปหนึ่งที่ทรงไสยคุณไปเป็นไส้ศึกในเชียงใหม่ ทำไสยศาสตร์ ยุแยงให้พระเจ้าติโลกราช ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธ์ของเมือง อาทิ ตัดโค่นไม้นิโครธประจำเมือง จนเกิดอาเพศ มีความระแวงสงสัยบรรดาข้าราชบริพาร จนถึงกับสำเร็จโทษท้าวบุญเรืองราชโอรสตามที่เจ้าจอมหอมุกใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังก์ ครั้นทราบความจริงภายหลังทรงเสียพระทัยที่หลงเชื่อจนประหารราชโอรสพระองค์เดียว รวมทั้งการลงโทษหมื่นด้งนครผู้เป็นแม่ทัพเอกคู่บารมีผู้พิชิตเมืองเชลียง เชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ซึ่งเคยเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) ที่ถูกใส่ความอีกด้วย ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่งราชทูตนำเครื่องราชสักการะมาเยือนเชียงใหม่ นัยว่ามาสืบราชการลับที่ จ้างพระเถระพุกามทำคุณไสย์แก่เชียงใหม่ ต่อมาพระเถระพุกามถูกจับและเปิดเผยความจริง จึงถูกลงราชทัณฑ์นำตัวใส่ขื่อคาไปทิ้งลงแม่นำปิงที่"แก่งพอก" เพื่อให้คุณไสย์ชั่วร้ายสนองคืนกลับแก่ผู้ที่สั่งมา

พระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถต่อเนื่องมาเป็นเวลา 27 ปี ต่างพลัดกันรุกผลัดกันรับ ครั้งนั้นพระองค์ขยายอำนาจขึ้นไปทางทิศเหนือตีได้เมืองเชียงรุ้ง (เชอหลี่ใหญ่หรือจิ่งหง) สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ภาคใต้ของประเทศจีน ตีได้เมืองเชียงตุง (เชอหลี่น้อยหรือเขมรัฐ) ทิศตะวันตก ได้รัฐฉาน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ติดพรมแดนมู่ปางหรือแสนหวี คือเมืองสีป้อ เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเจียงตอง รวมกว่า 11 เมือง โดยเจ้าฟ้าเมืองต่าง ๆ นำไพร่พลเมืองมาพึ่งพระโพธิสมภารที่เชียงใหม่ 12,328 คน ทางทิศตะวันออกจรดล้านช้าง ประเทศลาว ทิศใต้จรด ตาก เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น (สวรรคโลก) ซึ่งอยู่ห่างจากสุโขทัยเพียง 60 กม.ต่อมา ในปี พ.ศ. 2018 พระเจ้าติโลกราชจึงทรงติดต่อกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยาขอเป็นไมตรีกัน ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งบอบช้ำมากพอกันจึงรับข้อเสนอของพระเจ้าติโลกราช ในปลายสมัยของรัชกาลของทั้งสองพระองค์อาณาจักรล้านนากัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีความสงบเป็นไมตรีต่อกันจนสิ้นรัชกาลโดยพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 และให้หลังอีก 1 ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็สวรรคต ในปี พ.ศ. 2031 เป็นการปิดฉาก ศึก 2 มหาราชแห่ง 3 โลก ("ติโลก""ไตรโลก"แปลว่า 3 โลกคือเมืองสวรรค์ เมืองมนุษย์ และเมืองนรก)

ศาสนา

ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงเลื่อมใสและทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์สำนักวัดป่าแดง (ลังกาวงศ์นิกายสิงหลใหม่) ทรงนิมนต์พระมหาเมธังกรญาณแกนนำกลุ่มลังกาวงศ์ใหม่จากลำพูน มาจำพรรษาที่วัดราชมณเฑียร และทรงสถาปนาให้พระมหาเมธังกรญาณขึ้นเป็นพระมหาสวามี และส่วนของพระองค์เองก็ผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร การสนับสนุนสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์สิงหล ทำให้ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่รุ่งเรืองมาก กุลบุตรมาบวชเป็นจำนวนมาก พระภิกษุในนิกายสิงหลเพิ่มขึ้นมาก นิกายสิงหลใหม่นี้เน้นการศึกษาภาษาบาลีและการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเจริญก้าวหน้าอย่างสูง และความขัดแย้งระหว่างลังกาวงศ์ใหม่สายสิงหล (วัดป่าแดง) และลังกาวงศ์เก่าสายรามัญ (วัดสวนดอก) ที่มีอยู่ในยุคนั้นก็ทำให้พระสงฆ์สายรามัญตื่นตัวพยายามศึกษาพระปริยัติเช่นกัน พระเจ้าติโลกราชทรงส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทรงยกย่องพระภิกษุที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก พระในสมัยนั้นจึงมีความรู้สูงที่ปรากฏมีชื่อเสียงมาก เช่น พระโพริรังสี พระธรรมทินนเถระ และพระญาณกิตติเถระ เป็นต้น

ความเชี่ยวชาญในการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและรอบรู้พระไตรปิฎกของพระเถระชาวล้านนาในยุคนั้น ได้ก่อให้เกิดการทำสังคายนาสอบชำระพระไตรปิฎกใน พ.ศ. 2020 ที่วัดมหาโพธาราม (เจ็ดยอด) ซึ่งใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ของโลกและพระไตรปิฎกฉบับที่สอบชำระในสมัยพระเจ้าติโลกราชจึงถือเป็นคัมภีร์หลักฐาน สำคัญชิ้นหนึ่งของพุทธศาสนาในล้านนาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

พระเจ้าติโลกราชทรงบำรุงพระสงฆ์ ถวายสมณศักดิ์แก่พระมหาเมธังกรญาณอาจารย์ของพระองค์เป็นที่ "พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี" ทรงปรารถนาเป็นทายาทในศาสนาและสนองคุณพระชนนีจึงทรงมอบราชสมบัติแด่พระชนนี แล้วผนวชโดยมีพระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณมงคลเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชอยู่ไม่นานก็ทรงลาผนวชออกมาครองราชย์ต่อ

การสร้างและบูรณะวัดสำคัญ ๆ ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช มีดังนี้ ในปี พ.ศ. 1999 โปรดให้สร้างวัดเป็นที่อยู่ของพระอุตตมปัญญาเถระ ที่ริมน้ำแม่ขาน (โรหิณี) โปรดให้ปลูกต้นโพธิในอารามนั้นแล้วตั้งชื่อว่า วัดมหาโพธาราม จากนั้นสร้างสัตตมหาสถาน ในปีวอก พ.ศ. 2020 โปรดให้สร้างมหาวิหารในอารามนั้นและสร้างวัดราชมณเฑียร วัดป่าตาล วัดป่าแดงหลวงมหาวิหาร เป็นต้น ทรงบูรณะต่อเดิมเจดีย์หลวง ให้ใหญ่และสูงกว่าเดิม กว้างด้านละ 35 วา สูง 45 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์นั้น

ทรงสร้างโรงอุโบสถในวัดป่าแดงหลวง ซึ่งเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จในวันมหาปวารณา จึงทรงร่วมพิธีผูกพัทธสีมาที่วัดป่าแดงนั้นด้วย ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต จากวัดพระธาตุลำปางหลวง นครเขลางค์ มาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจระนำด้านตะวันออกแห่งเจดีย์หลวง

ทรงมอบภาระให้สีหโคตเสนาบดีและอาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ ดำเนินการหล่อพระพุทธรูปแบบลวปุระขนาดใหญ่ ด้วยทองสัมฤทธิ์หนักสามสิบสามแสน (=3,960 กิโลกรัม) ณ วัดป่าตาลมหาวิหารทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีพระธรรมทินนมหาเถระเป็นเจ้าอาวาส และในยุคนั้นได้มีการสถาปนาความเชื่อเรื่องพระธาตุในที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอาณาจักรโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางศาสนาของคนในถิ่นต่าง ๆ โดยการสร้างตำนานเมืองและตำนานพระธาตุ ขึ้นอย่างแพร่หลาย

การสังคายนาชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฏก

ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอดนี้เองที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ชุมนุมพระเถรานุเถระ โดยมีพระธรรมทินมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน กระทำสังคายนาชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่วัดโพธารามนี้ได้รับการยอมรับต่อเนื่องต่อเนื่องว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ในประวัติพระพุทธศาสนต่อจากที่ทำมาแล้ว 7 ครั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา โดยเรียกการสังคายนาครั้งที่ 8 ที่เชียงใหม่นี้ว่า “อัฏฐสังคายนา” ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้ จนเป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศไปทั่วประเทศข้างเคียง ทำให้พระเจ้าติโลกราชได้รับากรเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่”

การก่อสร้างและปฏิสังขรพระพุทธสถาน

เมื่อปี พ.ศ. 2022 พระเจ้าติโลกราชโปรดให้หมื่นด้ามพร้าคตเดินทางไปประเทศลังกาจำลองแบบโลหปราสาทและมาก่อสร้างเป็นเจดีย์ 7 ยอด ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) และจำลองรัตนมาลีเจดีย์เพื่อนำแบบมาปฏิสังขรพระเจดีย์ใหญ่ที่วัดเจดีย์หลวงที่พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายโปรดฯ ให้สร้างขึ้น พระเจดีย์ใหญ่องค์นี้จึงได้รับการขยายเสริมฐานให้กว้างเป็น 70 เมตร สูง 88 เมตร โปรดให้บรรจุพระบรมธาตูที่ได้มาจากลังกาไว้ในองค์พระเจดีย์นี้ พร้อมทั้งโปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วตามอย่างโลหปราสาทที่ลังกา(ปัจจุบันซากกำแพงสองชั้นของหอพระแก้วร้างอยู่ใต้หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่) แล้วอาราธนาพระแก้วมรกตในซุ้มจระนำทิศตะวันออก พระสิงห์ในซุ้มจระนำทิศเหนือและพระแก้วขาวมาไว้ในเจดีย์วัดเจดีย์หลวง

ในปี พ.ศ. 2025 โปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก่นจันทน์แดงจากวิหารวัดป่าแดงเหนือเมืองพะเยามาไว้ที่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่เมืองลำพูน ตลอดเวลาในช่วงปลายรัชกาล พระเจ้าติโลกราชได้สนพระทัยทะนุบำรุงพระศาสนาเป็นอันมาก ได้โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งและโปรดฯ ให้บรรจุพระบรมธาตู 500 องค์ ขนานนามว่า พระป่าตาลน้อย ประดิษฐานไว้ ณ วัดป่าตาลวัน ที่ซึ่งพระธรรมทินเถระผู้เป็นประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 เป็นเจ้าอาวาส

พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2030 พระชนมายุ 78 พรรษา (ก่อนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพียงปีเดียวขณะพระชนมายุ 57 พรรษา) หลังครองราชย์มาเป็นเวลานานถึง 46 ปี พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่อาณาจักรล้านนาและนครเชียงใหม่มากที่สุดพระองค์หนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ ทางราชการจึงได้ตั้งชื่อหอประชุมใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า “หอประชุมติโลกราช” (ปัจจุบัน อยู่ติดกับศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ในวัดอินทขิลสะดือเมือง หรือบริเวณอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์) ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ในช่วงรัชสมัยของพระองค์อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองและยังมีผลสืบเนื่องต่อมาถึงรัชสมัยของพญายอดเชียงราย และรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พระเจ้าภูตาธิปติราช หรือพระเจ้าติลกปนัดดาธิราช) ผู้เป็นเหลนของพระองค์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2038-2068 อีกด้วย


เนื้อเพลง