วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์

 ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ 


 

นายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศไทย

เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการพลเรือน เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงยุติธรรมรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี

ประวัติและครอบครัว

สัญญา ธรรมศักดิ์เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 3 คน บิดาชื่อ มหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) มารดาชื่อ คุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี สมรสกับ ท่านผู้หญิงพงา ธรรมศักดิ์ (เพ็ญชาติ) มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์ และนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การศึกษา

เข้าศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนทวีธาภิเศก เมื่อ พ.ศ. 2456 จากนั้นจึงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2457 และสำเร็จชั้น 6 อังกฤษ (มัธยมบริบูรณ์) พ.ศ. 2468

เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเป็นเวลา 3 ปี และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2471

สอบแข่งขันได้คะแนนสูงสุด ได้รับทุนเล่าเรียน "รพีบุญนิธิ" พ.ศ. 2472 ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ ที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล (The Middle Temple) เป็นเวลา 3 ปี และสอบไล่ได้ตามหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister-at-Law) เมื่อ พ.ศ. 2475

 ชีวิตการทำงาน

หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งผู้พิพากษาฝึกหัด จากนั้นก็มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้าหลวงยุติธรรมภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และประธานศาลฎีกา ตามลำดับ

     บทบาทที่เด่นชัดอีกด้านหนึ่ง ก็คือด้านศาสนาโดยได้ร่วมก่อตั่ง พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย” ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างข้อบังคับของสมาคม จนได้จดทะเบียนตั้งเป็นพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2476

การดำรงตำแหน่งองคมนตรี

หลังการเกษียณอายุราชการแล้ว นายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และได้รับเชิญให้เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

พ.ศ. 2514 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

จนกระทั่งถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สัญญาได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. ในเหตุการณ์ 14 ตุลา หลังจากการลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรีอยู่ หลังจากได้มีประกาศแต่งตั้งไป กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้โห่ร้องด้วยความดีใจ แต่บางส่วนก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และการปะทะกันก็ยังต่อเนื่องอยู่

จากนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. สัญญาได้นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า "รัฐบาลท่านพระครู" เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ธรรมะธรรมโม และแม้ได้เข้ามาบริหารราชการแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ในประเทศยังคงระอุอยู่ เพราะเหตุความวุ่นวายต่าง ๆ และรัฐบาลเสนอกฎหมายผ่านสภาถึง 3 ฉบับ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้รับฉายาใหม่ว่า "รัฐบาลมะเขือเผา" จนในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 เขาได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่ง แต่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติ เห็นชอบให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีตามเดิมในวันที่ 28 พฤษภาคม จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจากการเลือกตั้ง เขาจึงได้พ้นวาระไป


ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2518 – 4 กันยายน พ.ศ. 2541
(22 ปี 273 วัน)


ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517
( 220 วัน)


ถึงแก่อสัญกรรม ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2545 สิริอายุได้ 94 ปี 276 วัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง