พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ประวัติ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (ชื่อเล่น: ตึ๋ง) เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของร้อยเอก ชั้น ยงใจยุทธ และนางสุรีย์ศรี (นามเดิม: ละมุน) ยงใจยุทธ มีพี่สาวต่างบิดาชื่อ สุมน สมสาร และน้องชายต่างมารดาชื่อธรรมนูญ ยงใจยุทธ
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้น จึงไปสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2496 และ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2507
ชวลิตสมรสครั้งแรกกับวิภา ครั้งที่สองกับพิมพ์นิภา มนตรีอาภรณ์ (นามเดิม: ประเสริฐศรี จันทน์อาภรณ์) และสมรสครั้งที่สามกับคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ (ลิมปภมร) ชวลิตมีบุตร 3 คนกับภรรยาคนแรก คือ นายคฤกพล ยงใจยุทธ นางอรพิณ นพวงศ์ (ถึงแก่กรรม) และพันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ โสมกุล
ชวลิตเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชทางพระมารดา โดยหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา มีศักดิ์เป็นป้าแท้ ๆ ของเขา
การทำงาน
ราชการทหารช่วงสงครามเย็น
ภายหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในพ.ศ. 2518 ด้วยชัยชนะของฝ่ายเวียดนามเหนือ และกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังออกจากภูมิภาคอินโดจีน ทำให้กองทัพเวียดนามเริ่มรุกรานประเทศกัมพูชา จนเกิดเป็นสงครามกัมพูชา–เวียดนามขึ้นและทำให้รัฐบาลเขมรแดงซึ่งมีจีนคอมมิวนิสต์หนุนหลังอยู่หมดอำนาจลง แต่กองกำลังของเขมรแดงนี้ได้ถอยร่นมาอยู่บริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา นอกจากนี้กองทัพเวียดนามยังมีการประกาศว่ามีศักยภาพที่จะยึดกรุงเทพได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทำให้ไทยต้องตรึงกำลังทหารตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามส่งทหารเข้าโจมตีกองกำลังเขมรแดงจนลึกเข้ามาถึงในอาณาเขตของไทย ทำให้เกิดการปะทะกับทหารไทยเป็นระยะ ๆ ประกอบกับกองทัพสหรัฐได้ถอนกำลังจากประเทศไทยไปแล้ว ทำให้รัฐบาลไทยมีความวิตกกังวลในเรื่องการรับมือเวียดนามเป็นอันมาก
ในระหว่างนั้นรัฐบาลไทยได้ส่งคณะนายทหารจำนวนสามนายปฏิบัติราชการลับ ซึ่งประกอบด้วย พลโทผิน เกสร, พันเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ พันเอกพัฒน์ อัคนิบุตร เดินทางไปเจรจาความกับเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ประเทศจีน โดยจีนได้ตกลงที่จะเลิกให้ที่พักพิงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และยังได้สนันสนุนยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้แก่กองทัพไทยและตัดสินใจก่อสงครามกับเวียดนาม โดยพันเอกชวลิต ยงใจยุทธได้รับเกียรติจากกองทัพจีนให้ยิงปืนใหญ่นัดแรกจากกว่างซีเข้าสู่ดินแดนเวียดนาม ทำให้เวียดนามต้องถอนกำลังจากกัมพูชาเพื่อไปต้านการรุกรานจากจีน
งานการเมือง
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วเข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในผู้ที่ปราศรัยขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวง เป็นคนแรกด้วย การเมืองหลังจากนั้น พรรคความหวังใหม่กลายเป็นพรรคที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในภาคอีสาน
ต่อมาเมื่อพรรคความหวังใหม่ชนะในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 พล.อ.ชวลิต ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคจึงขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
งานการศาสนา
สนับสนุนให้มีการผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นการเฉพาะ การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. 2540 สุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ของคณะสงฆ์ไทย (ฝ่ายธรรมยุตินิกาย) และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ของคณะสงฆ์ไทย (ฝ่ายมหานิกาย) ส่งผลให้มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยทั้งสองแห่ง มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและศาสตร์แขนงอื่น ๆ
วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540
รัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐบาลที่มีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ที่ทำให้ประเทศไทยล้มละลาย และลุกลามไปทั่วโลกและส่งผลต่อสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เนื่องจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลดลงถึง 554.26 จุด ไปปิดที่ 7161.15. จุด คิดเป็นร้อยละ 7.18 ด้วยการทำเงินคงคลังทั้งหมดของประเทศเข้าไปอุ้มค่าเงินบาท ซึ่งถูกปล่อยขายในขณะนั้น ธุรกิจของเหล่าแกนหลักของรัฐบาลชุดนี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้รับผลกระทบต่อวิกฤตการณ์แต่อย่างใด ในขณะที่ธุรกิจของบุคคลโดยทั่วไปที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง กับคนในรัฐบาลนั้น ได้รับผลกระทบถึงขั้นล้มละลายเป็นจำนวนมาก จนมีการประท้วงโดยประชาชนส่งผลทำให้พลเอกชวลิตต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540
รวมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 349 วัน
หลังจากนั้นได้ย้ายพรรคมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และ พลเอก ดร.ชวลิต ก็รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยแรกด้วย
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 พล.อ.ชวลิต พยายามจะเป็นผู้เสนอตัวไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้ที่ขับไล่ทักษิณ และกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทักษิณ ให้ "สมานฉันท์" กัน โดยเรียกบทบาทตัวเองว่า "โซ่ข้อกลาง" รวมทั้งมีการข่าวว่าอาจจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่แล้วตำแหน่งนี้ในที่สุดก็ตกเป็นของสมัคร สุนทรเวช
ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิตได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เจรจากับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยเฉพาะ แต่หลังจากรับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่หน้าอาคารรัฐสภา พล.อ.ชวลิตก็ขอลาออกทันที
ในกลางปี พ.ศ. 2552 หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แล้วนั้น พลเอกชวลิตก็ได้สมัครเข้าสู่พรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่าต้องการเข้ามาเพื่อสมานฉันท์ โดยไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร และหลังจากนั้นทางพรรคเพื่อไทยก็ได้มีมติให้เขาดำรงตำแหน่งประธานพรรค
ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 พลเอกชวลิต ขึ้นเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยประกาศตอนหนึ่งว่า ว่า นายวีระ นายแน่มาก และไม่เคยเห็นมหาชนที่ประกอบภารกิจที่ศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน และทำสำเร็จแล้ววันนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำอะไรอย่าไปสนใจ
ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553 พลเอกชวลิต และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ออกแถลงการณ์ขอร้องให้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหยุดวิกฤตการเมือง
ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554 ท่ามกลางข่าวลือที่มีมาช่วงระยะหนึ่ง พล.อ.ชวลิตก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ คนใกล้ชิดของ พล.อ.ชวลิตอ้างว่า พล.อ.ชวลิตไม่พอใจที่มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนที่เข้าทำกิจกรรมร่วมกับทางแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง และมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้านั้นไม่นาน
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เขากล่าวให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระวังเกิดปฏิวัติซ้ำ ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เขากล่าวตอนนึงว่า การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ทำให้เศรษฐกิจดีหรือไม่นั้นต้องไปถามประชาชนว่ากินอิ่ม นอนหลับหรือไม่ ถ้าหากประชาชนยังไม่มีกินก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งนับเป็นปัญหาของทุกรัฐบาล
ปัจจุบันพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อายุ 89 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น