นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
ครั้งฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อไปถึงเมืองพาราณสี (Benares) พระมหาราชาจัดวังนันเทศวร อันเป็นที่สำหรับรับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่พัก วังนันเทศวรอยู่ต่างฟากแม่น้ำคงคากับวังรามนครที่มหาราชาอยู่ เป็นตึกฝรั่งมีสวนและกำแพงล้อมรอบ รัฐบาลอังกฤษสร้างแต่เมื่อยังไม่ได้ปล่อยให้เมืองพาราณสีเป็นประเทศราช เดิมเป็นที่จวนของข้าหลวงอังกฤษที่บัญชาการเมือง ครั้นเมืองพาราณสีได้เป็นประเทศราช มหาราชาจึงรับซื้อไว้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ ให้ชื่อว่า วังนันเทศวร ประเพณีประเทศราชในอินเดียรับแขกเมืองผิดกันอย่างหนึ่ง เมืองไหนเจ้าเมืองถือศาสนาอิสลามเช่นมหาราชาในสัม-เมืองไฮเดอราบัด มีการเลี้ยงให้เป็นเกียรติยศเหมือนอย่างฝรั่ง แต่เมืองที่เจ้าเมืองถือศาสนาฮินดูไม่มีการเลี้ยง เพราะศาสนาฮินดูห้ามมิให้กินรวมกับคนถือศาสนาอื่น หรือแม้คนถือศาสนาฮินดูด้วยกัน ถ้าเกิดในสกุลต่างวรรณะ เช่นพราหมณ์กับกษัตริย์ก็กินร่วมกันไม่ได้ เมื่อฉันพักอยู่เมืองพาราณสีเขาเลี้ยงอย่างฝรั่ง แต่มหาราชาให้จัดอาหารอย่างฮินดูส่งมาเลี้ยงด้วย เป็นสำรับกับข้าวเช่นเดียวกับของไทย เปิดพิจารณาดูทำอย่างประณีตบรรจงอย่างของห้องเครื่อง เป็นต้นว่าข้าวที่ใส่มาในชาม ก็ปิดทองคำเปลวเหมือนอย่างข้าวทิพย์พิธีสารท นึกว่าจะลองกินกับข้าวฮินดู ให้รู้รสว่าผิดกับของไทยอย่างไร แต่เมื่อหยิบขึ้นถึงปากได้กลิ่นเนย “ฆี” หรือที่เรียกในบาลีว่า “สปฺปิ นวนีตํ” ซึ่งพวกฮินดูชอบปรุงกับอาหารแทบทุกอย่าง ฉุนทนไม่ไหวก็ได้แต่ชิมเล็กน้อยพอเป็นกิริยาบุญ ไม่พอที่จะพรรณนาได้ว่ารสอาหารผิดกับของไทยอย่างไร
รุ่งขึ้นถึงวันที่สองซึ่งฉันอยู่ในเมืองพาราณสี มหาราชาเชิญไปที่วังรามนคร จัดรับเต็มยศตามแบบโบราณ อังกฤษเรียกว่า Official Durbar เวลาเช้าสัก ๙ นาฬิกาออกจากวังนันเทศวรไปลงเรือที่ท่าแม่นํ้าคงคา มหาราชาให้เรือที่นั่งลำหนึ่งมาคอยรับ เรือนั้นเป็นเรือพายยาวสัก ๗ วา แต่ต่อรูปร่างแปลกตาไม่เคยเห็น ข้างหัวเรือเรียวท้ายเรือกว้าง ยกพื้นเป็นบัลลังก์ข้างท้ายเรือ มีมณฑปเสาหุ้มเงินหลังคาขึงผ้ากำมะหยี่ปักทอง ปูพรมตั้งเก้าอี้ให้พวกเรานั่งในมณฑป ต่อยกพื้นลงไปข้างหน้า พวกฝีพายแต่งเครื่องแบบนั่งบนกระทงสองแคม ตลอดไปจนหัวเรือ พอเรือออกจากท่า ผู้เป็นบ่อโทนนายฝีพายก็ขานมนตร์ภาษาสันสกฤต ได้ยินขึ้นต้นว่า “โอมรามะลักสมัน” ต่อไปว่ากระไรฉันไม่เข้าใจ แต่ว่ายาววรรคหนึ่งพวกฝีพายก็ขานรับพร้อมกันคำหนึ่ง ว่ากระไรก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน กระบวนคูคล้ายกับขานยาวเรือพระที่นั่งในเมืองไทย และขานเป็นระยะไปเสมอเช่นเดียวกัน ฉันถามผู้กำกับ เขาบอกอธิบายว่าในศาสนาฮินดู เชื่อว่าเมื่อพระรามจะไปจากมนุษยโลกเสด็จลงแม่น้ำคงคาหายไป เพราะฉะนั้นเวลาข้ามแม่น้ำคงคา จึงสวดบูชาพระรามให้เกิดสวัสดิมงคล ฉันก็ตีความว่าคำที่บ่อโทนว่าคงเป็นคำบูชา คำฝีพายว่าคำเดียวนั้นคงเป็นอย่างรับว่า “สาธุ” เมื่อเรือไปถึงท่ารามนคร มีขบวนแห่คอยรับอยู่บนบก เขาผูกช้างงาตัวหนึ่งสูงกว่า ๕ ศอกสำหรับรับฉัน ช้างตัวนั้นแต่งเครื่องมีกำมะหยี่ปักทองผืนใหญ่คลุมหลังลงมาจนเกือบจึงดิน ผูกสัปคับโถงหุ้มเงิน มีที่นั่งสองตอนบนนั้น หน้าช้างมีผ้ากำมะหยี่ปักทองปกกะพอง และใส่ปลอกงากาไหล่ทองเป็นปล้องๆ ทั้งสองข้าง มีคนแต่งเครื่องแบบขี่คอช้าง มือถือแส้จามร (คือแส้หางจามรี) คอยโบกปัดแมลงวันคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งนั่งบนสัปคับตอนหลังถือร่มระย้ากั้นฉัน (คือว่ากั้นฉัตร) นอกจากนั้นมีช้างพลายพังผูกสัปคับอย่างสามัญสำหรับรับพวกบริพารอีกหลายตัว มีขบวนคนแห่ล้วนแต่งเครื่องแบบขี่ม้านำคู่หนึ่ง ต่อมาเป็นคู่แห่ถือหอกเดินแซงสองข้าง ทางแต่ท่าเรือไปถึงวังรามนคร ประมาณราวแต่ท่าพระเข้าไปถึงในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เมื่อแห่ไปถึงวัง พระมหาราชาคอยรับอยู่ที่ประตูตำหนัก พาเดินขึ้นไปยังห้องรับแขก น่าเรียกว่าท้องพระโรงแต่อยู่ชั้นบน ในนั้นตั้งเก้าอี้แถวยาวเรียงเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกตรงกลางเป็นเก้าอี้หุ้มทองคำ ๒ ตัว ให้ฉันนั่งตัวข้างขวา มหาราชานั่งตัวข้างซ้าย ต่อออกไปเป็นเก้าอี้หุ้มเงินฝ่ายละสัก ๓ ตัว แล้วเป็นเก้าอี้ไม้ตลอดไป จัดให้พวกที่ไปกับฉันทั้งไทยและฝรั่งนั่งทางฝ่ายขวา พวกญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์ของมหาราชานั่งทางข้างฝ่ายซ้าย พอนั่งกันเรียบร้อยแล้วมีคนถือถาดใส่พวงมาลัยทำดัวยตาดและโหมด ออกมาส่งมหาราชา มหาราชาหยิบพวงมาลาตาดพวงหนึ่งมาคล้องคอให้ฉัน เจ้าน้องชายคล้องมาลาโหมดให้คนอื่นที่ไปด้วยต่อไป แล้วนั่งสนทนาปราศรัยกันเฉพาะมหาราชากับตัวฉัน คนอื่นเป็นแต่นั่งนิ่งอยู่ มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องไม่ต้องมีล่าม วันนั้นแต่งองค์ทรงเครื่องเยียรบับ โพกผ้ามีเพชรพลอยประดับเหน็บกริชฝักทองที่เอว บอกฉันว่าเคยเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสด็จไปเวลาเธอยังเป็นเด็ก ได้รับพระราชทานกริชเล่มนั้นไว้เป็นที่ระลึก สนทนากันไปสักครู่หนึ่ง พวกพิณพาทย์ก็ออกมานั่งตั้งวงที่ตรงหน้า เริ่มบรรเลงเพลงดนตรี แล้วมีหญิงสาวเป็นนางนัจจะ (Nautch Girl) คนหนึ่งออกมาฟ้อนรำเข้ากับจังหวะพิณพาทย์ ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ ดังจะพรรณนาที่อื่นต่อไปข้างหน้า มีการฟ้อนรำอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วนางนัจจะกับพวกพิณพาทย์ก็กลับไป เป็นหมดพิธีเพียงเท่านั้น กลับมายังที่พักโดยขบวนเหมือนอย่างเมื่อขาไป
ชื่อที่เรียกวังว่า รามนคร นั้น สังเกตในหนังสือเก่าดูยุติต้องกันกับคำของพวกพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งว่าบรรพบุรุษบอกเล่ากันสืบมา ว่าพราหมณ์พวกโหรดาจารย์ที่เมืองพัทลุง เดิมอยู่เมืองพาราณสี และพวกพราหมณ์พิธีที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเดิมอยู่เมืองรามนครดังนี้ จึงสันนิษฐานว่าเดิมจะเป็นชื่อบริเวณราชธานี อย่างเช่นเราเรียกว่า “พระนคร” ในกรุงเทพฯ คำพาราณสีเป็นชื่อเรียกจังหวัด อย่างเราเรียกว่า “จังหวัดกรุงเทพฯ” และยังมีคำอื่นสำหรับเรียกรวมทั้งอาณาเขตอีกคำหนึ่งว่า “กาสี” แม้ในพระบาลีก็มีมาแต่โบราณ พวกแขกยามในกรุงเทพฯ ยังบอกว่าพวกของตนเป็นชาวกาสี อันรวมอาณาเขตกับเมืองพาราณสี ดังนี้ ตัววังรามนครนั้นเห็นจะสร้างมาช้านานหลายร้อยปี เป็นแบบวังอย่างโบราณ มีพร้อมด้วยป้อมปราการอยู่ในตัว ล้วนก่อด้วยศิลาทำนองเดียวกับวังโบราณที่เมืองประเทศราชอื่น ซี่งสร้างแต่ครั้งบ้านเมืองยังเป็นอิสระมีอีกหลายแห่ง เมื่อกลับมาจากรามนครในบ่ายวันนั้น เขาพาฉันไปที่มฤคทายวัน อันเป็นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชาวเมืองเรียกว่าตำบลสารนาถ (Sarnath) อยู่ห่างแม่นํ้าคงคาราวสัก ๑๕๐ เส้น แต่เรื่องมฤคทายวันจะรอไว้พรรณนาในนิทานเรื่องหนึ่งต่างหาก รวมกับเรื่องไปไหว้พระ ณ ที่แห่งอื่นๆ ในอินเดีย
วันที่สามซี่งฉันอยู่ ณ เมืองพาราณสี เขาพาไปดูพวกฮินดูลอยบาปในแม่น้ำคงคา อันเป็นที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าไม่มีที่ไหนน่าดูเหมือนที่เมืองพาราณสี มหาราชาให้เรือที่นั่งมารับเหมือนเมื่อวันก่อน ต้องไปแต่พอรุ่งเช้ายังไม่ทันแดดแข็ง ลงเรือพายผ่านไปริมฝั่งทางข้างเหนือ วันนั้นฝีพายไม่ขานยาวเหมือนวันก่อน เห็นจะเป็นเพราะเพียงแต่ขึ้นล่องในแม่น้ำคงคาไม่ได้ข้ามฟาก ที่สำหรับพวกฮินดูลอยบาป อยู่ริมแม่นํ้าคงคาทางฝั่งตะวันตกตลอดคุ้งนํ้ายาวกว่า ๗๐ เส้น มีท่าทำเป็นขั้นบันไดหินสำหรับคนลงนํ้าเรียกว่า ฆัต (Ghat) ติดต่อกันไปราว ๓๐ ท่า แต่ละท่าที่ริมน้ำมีสะพานไม้สำหรับคนลงนํ้า ต่อขึ้นไปเป็นชานมีพราหมณ์นั่งในร่มอันใหญ่คันปักดิน คอยรับทักขิณาทานช่วยชําระบาปและอวยพรแก่พวกสัปบุรุษ รายกันไปแห่งละหลายคนทุกท่า ต่อท่าขึ้นไปถึงเขื่อนขั้นบันไดทางขึ้นไปบนตลิ่ง ที่บนตลิ่งมีถนนผ่านหน้าเทวสถาน สร้างติดๆ กันไป เห็นยอดปรางค์สลอน มีหอสูงวัดของพวกอิสลามคั่นบ้าง และมีสระนํ้าสำหรับทำพิธีพลีกรรมตามเทวสถานเป็นแห่งๆ แลดูตั้งแต่เขื่อนลงมาจนริมน้ำ เห็นพวกฮินดูล้วนนุ่งห่มผ้าขาวนับด้วยหมื่น ไปมาราวกับฝูงมด อยู่ในน้ำก็มีอยู่บนบกก็มี จะหาที่ว่างคนแทบไม่ได้ เห็นเข้าก็ติดตาน่าพิศวงด้วยไม่มีที่ไหนเหมือน จึงเป็นที่เลื่องลือ แต่ประหลาดอย่างยิ่งนั้นที่มีลานสำหรับเผาศพอยู่ติดๆ กับท่าอาบน้ำหลายแห่ง ตั้งแต่เช้าก็เผาศพควันขึ้นกรุ่นอยู่เสมอ บางแห่งเมื่อผ่านไปเห็นกำลังหามศพห่อผ้าขาวลงบันไดมาก็มี ที่กองฟืนเรียงไว้ในลานสำหรับวางศพเผาบนนั้นก็มี บางแห่งกำลังเผาศพอยู่ก็มี ดูพวกคนลอยบาปที่ลงอาบน้ำใกล้ๆ ไม่มีใครรังเกียจ ประเพณีของพวกฮินดูเอาศพไว้แต่ ๒ วันก็เผา เขาบอกว่าเมื่อเผาแล้วกวาดทั้งอัฐิธาตุและอังคารถ่านเถ้า ทิ้งลงแม่น้ำคงคงหมด แต่ศพเด็กทารกไม่เผา เอาห่อศพผูกกับคอหม้อถ่วงทิ้งให้จมไปในแม่น้ำคงคาทีเดียว พวกอังกฤษกระซิบบอกฉันตั้งแต่วันไปถึง ว่าฝรั่งที่อยู่ในเมืองพาราณสีไม่มีใครกินปลาสดที่เมืองนั้น ด้วยรังเกียจการเผาศพพวกฮินดู ว่าบางทีเป็นศพที่ไม่มีญาติควบคุม สับปะเหร่อเผาไม่ทันไหม้หมด ก็ทิ้งลงน้ำด้วยมักง่าย ฉันก็ไม่ได้กินปลาตลอดเวลาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสี
แต่นี้จะเล่าถึงที่ฉันได้ความรู้แปลกๆ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งน่าจะเนื่องกับประเพณีโบราณของไทยเราต่อไป
ย่ำยาม
เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกันและพวกข้าราชการอังกฤษยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องระฆังย่ำยามในเมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจจึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้น ว่าตีฆ้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นสัญญาณเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม” พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า “อ้อ” เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามในเมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖ นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน เวลาค่ำ (๑๘ นาฬิกา) และเวลากลางคืนยาม ๑(๒๑ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน เวลา ๓ ยาม(๓ นาฬิกา) ก็ตีย่ำ ทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี แม้คำที่ไทยเราพูดก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้าว่า “ย่ำรุ่ง” เรียกเวลาเที่ยงวันว่า “ย่ำเที่ยง” และเรียกเวลา ๑๘ นาฬิกาว่า “ย่ำค่ำ” คำที่พูดว่า “ย่ำ” คงมาจากย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่เคยคิดมาแต่ก่อนว่าเพราะเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันที ว่าย่ำเป็นสัญญาณเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นได้ว่าประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา แต่กลางคืนผลัดระยะ ๓ ชั่วนาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระฆังแล้วมีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตีมโหระทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลามีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนางผู้ใหญ่ บรรดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับย่ำฆ้องระฆังยาม ทั้งกลางวันกลางคืน อาการประกอบกันให้เห็นว่าการย่ำฆ้องระฆัง เป็นสัญญาณเรียกคนให้มาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาณบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่ได้เข้าประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคมพระศพในเมืองไทย เห็นว่าเป็นดังกล่าวมา และอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์
ทุ่มโมง
จะเลยเล่าแถมถึงประเพณีตีบอกเวลาในเมืองพม่า ซึ่งฉันได้ไปรู้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ในพระราชวังเมืองมัณฑเลย์มีหอนาฬิกาหลังหนึ่ง เป็นหอสูงข้างล่างมีห้องสำหรับไว้นาฬิกา ข้างบนเป็นหอโถงสำหรับแขวนกลองกับฆ้องที่ตีบอกเวลา เขาว่าเคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานีในเมืองพม่าแต่ก่อนมา ฉันถามเขาว่าฆ้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้น ตีต่างกันอย่างไร ไม่มีใครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพณีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ฉันนึกจับหลักได้ว่าฆ้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน หลักนั้นอยู่ในคำพูดของไทยเราเอง ที่เรียกเวลาตอนกลางวันว่า “โมง” เช่นว่า ๔ โมง ๕ โมง แต่ตอนเวลากลางคืนเรียกว่า “ทุ่ม” เช่นว่า ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม คำโมงกับทุ่มมาแต่เสียงฆ้องและกลองนั่นเอง ในเมืองไทยแต่โบราณก็เห็นจะใช้ทั้งฆ้องและกลองตีบอกเวลา อย่างเดียวกันกับในเมืองพม่า
ขานยาว
ได้เล่ามาแล้ว ว่าเมื่อฉันลงเรือที่นั่งของมหาราชาพาราณสี ข้ามแม่น้ำคงคา บ่อโทนฝีพายขานรับคำบูชาพระรามและพลฝีพายขานรับ ดูเป็นเค้าเดียวกับขานยาวพายเรือพระที่นั่งในเมืองไทย แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญที่ขานยาวของชาวอินเดียขานเป็นภาษาสันสกฤต และมีความเป็นคำบูชาพระราม แต่ขานยาวของไทยเรามีแต่บ่อโทนขานว่า “เหยอว” ฝีพายก็รับว่า “เย่อว” ไม่เป็นภาษาใด จะหมายความว่ากระไรก็แปลไม่ได้ จึงน่าสันนิษฐานว่า พราหมณ์เห็นจะเอาแบบขานยาวในอินเดียมาสอนไว้แต่โบราณ เดิมก็คงจะเป็นมนตร์ภาษาสันสกฤต มีความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไทยเราไม่รู้ภาษานั้น จำคำได้แต่โดยเสียง นานมาก็แปรไป เช่นเดียวกันกับครูอังกฤษมาสอนให้บอกทหารว่า “โชละเดออามส์” (Shoulder Arms) ทหารไทยบอกว่า “โสลด หับ” ฉันนั้น แล้วเลือนหนักลงคงเหลือแต่ว่า “เหยอว-เย่อว” คำขานยาวจึงไม่รู้ว่าภาษาใดและหมายความว่ากระไร แต่เห่เรือเป็นประเพณีของไทยมิใช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกัน ข้อนี้พึงเห็นได้ในบทช้าละวะเห่ เป็นภาษาไทยเก่ามาก คงมีเห่บทอื่นที่เก่าปานนั้นอีก แต่คนชั้นหลังมาชอบใช้บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระนิพนธ์เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นต้นว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” และบทที่ว่า “พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์” เป็นต้น บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ช้าละวะเห่ อันคงใช้เห่เพียงในเวลาเมื่อเรือพระที่นั่งจะถึงท่า การเห่เรือพระที่นั่งนั้น สังเกตตามประเพณีในชั้นหลัง เห่แต่เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา ซึ่งชวนให้เห็นว่าเห็นจะใช้เวลาไปทางไกล เช่นยกขบวนทัพ เพื่อให้พลพายรื่นเริง ถ้ามิใช่พยุหยาตรา เป็นแต่ขานยาว ทำนองเห่ก็เป็น ๓ อย่างต่างกัน ถ้าพายจังหวะช้า เห่ทำนองอย่างหนึ่งเรียกว่า มูลเห่ มีต้นบทว่านำวรรคหนึ่ง ฝีพายว่าตามวรรคหนึ่ง ถ้าพายจังหวะเร็วขึ้นเป็นอย่างกลาง เรียกว่า สวะเห่ ต้นบทว่าเนื้อความฝีพายเป็นแต่รับว่า “ฮ้าไฮ้” เมื่อสิ้นวรรคต้น และรับว่า “เหเฮฯ” เมื่อสิ้นวรรคปลาย ยังมีคำสำหรับเห่เมื่อพายจ้ำเช่นว่าแข่งเรือ ต้นบทว่า “อีเยอวเยอว” ฝีพายรับว่า “เย่อว” คำคล้ายกับที่ใช้ขานยาว ดูชอบกล
ลักษณะรับแขกเมือง
เมื่อฉันไปเห็นลักษณะที่มหาราชาพาราณสีรับฉัน ที่วังรามนครดังพรรณนามาแล้ว กลับมานึกถึงความในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อทศกัณฐ์รับเจ้าเมืองยักษ์ที่เป็นมิตรสหาย ไม่ปรากฏว่ามเหสีเทวีออกมาพบแขก เป็นแต่ทศกัณฐ์เชิญแขกนั่งร่วมราชอาสน์ สนทนาปราศรัยแล้วมีนางกำนัลเชิญเครื่องออกมาตั้งเสวยด้วยกัน และในเวลาเสวยนั้นมีนางรำออกฟ้อนรำให้ทอดพระเนตร ทศกัณฐ์รับพระยายักษ์แขกเมืองทีไรก็รับอย่างนั้นทุกคราว ประเพณีในอินเดีย แม้ในปัจจุบันนี้มเหสีเทวีก็ไม่ออกรับแขก ที่ตั้งเก้าอี้หุ้มทองคำให้ฉันนั่งเคียงกับพระมหาราชา ก็อนุโลมมาจากนั่งร่วมอาสน์ ที่มีนางนัจจะออกมาฟ้อนรำก็ตรงตามแบบโบราณ ขาดแต่ไม่มีการเลี้ยง เพราะเลี้ยงไม่ได้ด้วยต่างศาสนากัน ดูแบบรับแขกเมืองอย่างทศกัณฐ์ยังคงใช้อยู่ในอินเดีย ต่อมาภายหลังอีกหลายปี ฉันตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปประเทศชวา พวกชวาแต่โบราณได้แบบอย่างขนบธรรมเนียมจากชาวอินเดียเหมือนกับไทยเรา เมื่อสุลต่านเจ้าประเทศราชเมืองยกยารับเสด็จก็ดี สุสุหุนันเจ้าเมืองโซโลรับเสด็จก็ดี ก็ตั้งเก้าอี้รับเสด็จเป็นแถวและมีนางรำออกมาฟ้อนรำ ผิดกันกับในอินเดียแต่เจ้าผู้หญิงชวาออกรับแขก และเลี้ยงเครื่องว่างในเวลาทอดพระเนตรนางรำ เห็นได้ว่าพวกชวายังรับแขกเมืองตามแบบที่ได้ไปจากอินเดียแต่โบราณ มาพิจารณาดูประเพณีรับแขกเมืองในเมืองไทยแต่โบราณ จะเทียบกับที่ฉันได้เห็นในอินเดียและชวาไม่ได้ ด้วยไม่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเคยมีแขกเมืองที่มีศักดิ์จะนั่งร่วมอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ครั้งนั้นเป็นข้าศึกกัน นอกจากนั้นแขกเมืองเคยมีเพียงเจ้าประเทศราชกับราชทูต ก็รู้ไม่ได้ว่าประเพณีที่รับแขกเมืองนั่งร่วมอาสน์ เสวยด้วยกัน และให้นางรำบำเรอ จะเคยมีในเมืองไทยหรือไม่
ลอยบาป
ในหนังสือไทยมีกล่าวถึงพิธีลอยบาปของพวกพราหมณ์หลายเรื่อง ฉันเข้าใจมาแต่ก่อนว่าคงทำวัตถุเครื่องบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่ายมนตร์สมมตว่าปล่อยบาปลงในวัตถุนั้น แล้วเอาไปลอยน้ำเสีย เหมือนอย่างลอยกระทงกลางเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ต่อเมื่อไปเห็นที่เมืองพาราณสีจึงรู้ว่าการลอยบาปไม่เป็นเช่นเคยเข้าใจเลย ตามอธิบายในหนังสือนำทางว่า เพราะเมืองพาราณสีเคยเป็นราชธานีเดิมของมัชฌิมประเทศ ศาสนาใดๆ ที่เกิดขึ้นในอินเดีย แม้จนพระพุทธศาสนาก็เร่ิมตั้งที่เมืองพาราณสี จึงนับถือกันว่าเมืองพาราณสีเป็นอย่างอู่ของศาสนาฮินดูสืบมาจนบัดนี้ ถึงกล่าวกันว่าถ้าใครได้ไปทำบุญที่เมืองพาราณสีครั้งหนึ่ง ก็มีอานิสงส์เท่ากับได้ไปทำบุญที่อื่นทุกแห่งหมดในอินเดีย ดังนี้ พวกฮินดูชาวอินเดียถึงจะอยู่ในแว่นแคว้นแดนอันใด ย่อมนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสี อุตส่าห์พากันเดินทางไปทำพิธีพลีกรรมมีจำนวนนับตั้งล้านคนทุกปี โดยเชื่อเหมือนอย่างว่าเมืองพาราณสีอยู่ปากทางลัด ที่จะตัดตรงไปเทวโลกได้แน่นอน ลักษณะการพิธีที่ตรงกับเราเรียกว่า “ลอยบาป” นั้น ตั้งต้นผู้จะลอยบาปต้องเดินประทักษิณรอบเมืองพาราณสี และบูชาตามเทวสถานต่างๆ ในระยะทางราว ๑,๘๐๐ เส้น เป็นเวลาราว ๖ วัน แล้วลงไปยัง “ฆัต” คือท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ตลิ่งริมน้ำมีพราหมณ์นั่งคอยสอนมนตร์ให้บริกรรม เมื่อเรียนมนตร์แล้วจึงลงในแม่น้ำคงคา กินน้ำและดำหัวล้างบาปให้ลอยไปกับสายน้ำ แล้วจึงขึ้นไปรับพรต่อพราหมณ์เป็นเสร็จพิธี ที่พรรณนานี้ว่าตามฉันเข้าใจความในหนังสือ ไม่ได้มีโอกาสไถ่ถามพวกพราหมณ์ในที่นั้น อาจเข้าใจผิดบ้างก็เป็นได้.
ปลงศพ
นอกจากลอยบาป พวกฮินดูยังนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือว่าถ้าใครตายที่เมืองพาราณสี หรือแม้ปลงศพที่นั่น จะได้ไปสู่เทวโลกเป็นแน่แท้ ถึงมีเศรษฐีฮินดูบางคนไปซื้อหาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสีเมื่อแก่ชรา เพื่อจะไปตายที่นั่น ที่เผาศพที่ริมท่าน้ำก็ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน มีท่าหนึ่งชื่อ “มณีกรรณิกา” ว่าเป็นศักดิ์สิทธิ์กว่าเพื่อน ใครๆ ก็อยากให้เผาศพตนที่ท่านั้น คงเป็นเพราะเกิดลำบากด้วยชิงจองท่าและกำหนดเวลาเผาศพพ้องกัน รัฐบาลจึงตั้งข้อบังคับให้ผู้จะเผาศพขออนุญาต เพื่อจดลงทะเบียนท่าและเวลาที่จะเผาไว้ก่อน และให้มีนักการคอยดูแลให้เป็นไปตามทะเบียนนั้น ข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองพาราณสีเขาเล่าให้ฉันฟังว่า บางทีนายทะเบียนต้องถูกปลุกขึ้นรับโทรศัพท์ในเวลาดึก บอกเป็นคำของเศรษฐีคนใดคนหนึ่งว่า “ฉันจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว ขอให้ช่วยสงเคราะห์ให้ได้เผาที่ท่ามณีกรรณิกาเวลาพรุ่งนี้” เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าพวกฮินดูเชื่อถือศาสนามั่นคงเพียงใด พวกฮินดูเชื่อว่าพระอัคนีสามารถจะทำสิ่งทั้งปวงให้บริสุทธิ์สะอาด หรือว่าอีกนัยหนึ่ง บรรดาสิ่งโสโครกทั้งปวง ถ้าเผาไฟแล้วก็กลับเป็นของสะอาดหมด เช่นมูตรคูถของโค ถ้าเผาแล้วก็อาจจะบริโภคและใช้เป็นเครื่องจุนเจิมได้ เพราะฉะนั้นการเผาศพที่ท่าแล้วทิ้งอัฐิธาตุลงในแม่น้ำคงคา พวกที่ลอยบาปอาบน้ำกินน้ำอยู่ใกล้จึงไม่รังเกียจ เพราะถือว่าเป็นของสะอาดแล้ว
ประเพณีเผาศพชาวอินเดียที่ฉันได้รู้เห็น ณ เมืองพาราณสีมีเหมือนกับประเพณีไทยแต่ที่ทิ้งธาตุลงน้ำ กับที่ขนันศพทารกทิ้งลงน้ำ ตามประเพณีโบราณอินเดีย ศพย่อมเผาทั้งนั้น ต่างกันแต่พวกถือพระพุทธศาสนา เผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุฝังและก่อกองดิน หรือกองหินไว้ตรงที่ฝัง เรียกว่า “สถูป” แต่พวกถือศาสนาฮินดูทิ้งอัฐิธาตุลงน้ำ ไทยเราถือพระพุทธศาสนาเป็นพื้นเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นต่ำก็เป็นแต่ฝังอัฐิธาตุ หรือเอาไปกองทิ้งไว้ที่โคนต้นโพธิ แต่พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทรงถือประเพณีของพวกพราหมณ์ด้วย จึงรับคติการถ่วงธาตุมาใช้ในประเพณีพระบรมศพและพระศพเจ้านายทำทั้งสองทาง ส่วนพระอัฐิบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามทางพระพุทธศาสนา ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ เชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำ ตามทางศาสนาฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อรัชกาลที่ ๕ ประเพณีขนันศพทารกทิ้งน้ำนั้น ไทยเราเอาศพใส่ลงในหม้อ ไม่ผูกกับคอหม้อเหมือนในอินเดีย แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกแล้ว เปลี่ยนเป็นฝังให้สูญไปทีเดียว
ความรู้ที่ฉันได้จากเมืองพาราณสี มีพ้องกับเมืองไทยบางอย่างดังได้พรรณนามา ฉันพักอยู่เมืองพาราณสี ๓ วัน แล้วขึ้นรถไฟไปเมืองพุทธคยา ซึ่งจะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น