วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย



 

นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้แทนพระองค์ ไปเยี่ยมตอบแกรนด์ดุ๊กซาเรวิตช รัชทายาทประเทศรัสเซีย (ต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒) ซึ่งได้เข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นศกนั้น และโปรดให้ไปยังราชสำนักอื่นๆ ในยุโรป เพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระเจ้าแผ่นดินบ้าง เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีบ้าง อีกหลายประเทศคือ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี กรีซ และอิตาลี รวมเป็น ๘ แห่งด้วยกัน ในสมัยนั้นตัวฉันรับราชการเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะโปรดให้สถาปนาเป็นกระทรวงเสนาบดี เมื่อฉันไปยุโรปจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปว่า ขากลับจะอ้อมมาทางประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น หรือจะกลับผ่านมาทางประเทศอียิปต์และอินเดียเพื่อตรวจตราหาความรู้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองก็ได้ เมื่อฉันไปถึงลอนดอนจึงปรึกษาพวกที่เขาเคยชำนาญการเที่ยวเตร่ ว่าจะกลับทางไหนดี เขาว่าฉันยังจะต้องไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรปอีกหลายแห่ง กว่าจะเสร็จธุระจะตกถึงปลายเดือนธันวาคม ไปอเมริกาในเวลานั้นเป็นฤดูหนาว ที่ในอเมริกาหนาวจัดนัก เกรงฉันจะทนไม่ไหว กลับทางอียิปต์และอินเดียดีกว่า เพราะเป็นเวลาสบเหมาะกับฤดูสำหรับเที่ยวทางนั้น เขาบอกอย่างเดียวกันหลายคน ฉันก็ลงความเห็นเป็นยุติว่าจะกลับทางอียิปต์และอินเดีย แต่เมื่อไถ่ถามผู้ที่ชำนาญทางอินเดีย ได้ความแปลกออกไปอย่างหนึ่งว่า การเที่ยวอินเดียในสมัยนั้นผิดกับเที่ยวในยุโรปเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง เป็นต้นว่าเที่ยวในยุโรป ถ้ามีเงินพอใช้ไปถึงไหนก็หาพาหนะและที่กินอยู่ได้ง่าย แต่ในอินเดียมีโฮเต็ลแต่ในเมืองใหญ่ แม้โฮเต็ลเหล่านั้นก็ไม่สะอาดสะอ้าน และต้องอยู่ปะปนกับผู้คนชั้นต่ำสำส่อน ไม่สบายเหมือนโฮเต็ลในยุโรป พวกชั้นผู้ดีที่ไปอินเดีย ถ้าเป็นข้าราชการก็ไปอยู่กับพวกข้าราชการด้วยกัน ถ้ามิใช่ข้าราชการเขาก็มักไปพักอยู่กับญาติและมิตรที่มีบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง มิใคร่มีใครไปอยู่โฮเต็ล อีกประการหนึ่ง เวลาออกจากเมืองใหญ่ไปเที่ยวตามเมืองน้อย ถ้าไม่ได้รับความสงเคราะห์ของรัฐบาลก็ลำบาก เพราะไม่มีที่พัก นอกจากเป็นของรัฐบาล เมื่อทราบดังนี้ก็ออกวิตก ยังมิรู้ที่จะแก้ไขด้วยประการใดดี เผอิญสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย โปรดให้ฉันขึ้นไปเฝ้าที่พระราชวังแบลมอรัลในสก๊อตแลนด์ ทรงเลี้ยงกลางวันพระราชทานพร้อมกับพระราชโอรสธิดา เมื่อเสวยเสร็จ ควีนเสด็จขึ้นแล้ว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (เวลานั้นยังเป็นปรินซ์ออฟเวลส์รัชทายาท) ตรัสชวนให้ไปกินกาแฟและสูบบุหรี่ในห้องที่ประทับของพระองค์ท่าน เมื่อทรงสนทนาปราศรัยตรัสถามฉันว่าจะทรงทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ฉันได้บ้าง ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่จะไปอียิปต์และอินเดีย จึงทูลว่ามีการอย่างหนึ่งถ้าโปรดทรงสงเคราะห์ได้ จะเป็นประโยชน์แก่ฉันมาก ด้วยขากลับบ้านเมือง ฉันอยากจะแวะดูประเทศอียิปต์และอินเดีย แต่ไม่รู้จักกับใคร ถ้าโปรดตรัสแก่รัฐบาลให้ช่วยสงเคราะห์พออย่าให้มีความลำบาก เมื่อไปถึงประเทศนั้นๆ จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ท่านตรัสรับว่าจะจัดประทานตามประสงค์ ฉันขอบพระหฤทัยและทูลลามา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ทรงทำอย่างไรฉันไม่ทราบ แต่เมื่อใกล้เวลาที่ฉันจะออกจากยุโรป กระทรวงการต่างประเทศถามมายังสถานทูตไทยว่า กำหนดฉันจะไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรียท่าขึ้นประเทศอียิปต์วันใด ได้ทราบก็แน่ใจว่ารัฐบาลอังกฤษคงสงเคราะห์ตามกระแสรับสั่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗

เมื่อเสร็จราชการในยุโรปแล้ว ฉันลงเรือที่เมืองบรินดีสี ประเทศอิตาลี พอเรือไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรีย กงสุลเยเนราล อังกฤษที่เมืองนั้นลงมารับที่ในเรือ แล้วพาไปส่งสถานีรถไฟขึ้นรถไฟไปถึงเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอ (ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอียิปต์) เวลานั้นยังเป็นเซอร์เอเวลิน แบริง มาคอยรับอยู่ที่สถานีรถไฟ พาขึ้นรถไปส่งที่โฮเต็ลเชปเหิดส์ อันเป็นโฮเต็ลใหญ่ที่สำนักของพวกผู้ดีที่ไปเที่ยวอียิปต์ เมื่อถึงโฮเต็ลแล้วจึงได้ทราบความอย่างประหลาดใจ ว่าพระเจ้าติวฟิกซึ่งเป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ (คงได้ทราบจากลอร์ดโครเมอ) โปรดให้รับเป็นแขกเมือง มีราชองครักษ์คนหนึ่งมาอยู่ประจำกับฉัน เวลาจะไปไหนๆ ก็มียานของหลวงจัดมาให้ใช้ ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ ใช้รถเทียมม้าคู่มีคนถือแส้วิ่งนำหน้ากันคน ๒ ข้าง ถ้าไปเที่ยวทางทะเลทราย เช่นไปดูเจดีย์พีระมิด ก็จัดอูฐระหว่างในผูกเครื่องอานกาไหล่ทองและกำมะหยี่ปักไหมทองมาให้ขี่ ทั้งมีการเลี้ยงอย่างใหญ่ประทานที่ในวัง เสร็จเลี้ยงพาไปดูละครออปะราด้วยครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายอังกฤษ ลอร์ดโครเมอก็มีการเลี้ยง และผู้บัญชาการทหารก็พาไปดูทหารซ้อมรบ ทั้งได้ไปดูวัตถุสถานของโบราณที่สำคัญแทบทุกแห่ง ฉันพักอยู่ที่เมืองไคโร ๔ วัน (ได้พบเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส์ ดังเล่าเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า) ออกจากเมืองไคโร ขึ้นรถไฟไปลงเรือที่เมืองอิสไมเลีย แล่นต่อมาในคลองสุเอซจนออกทะเลแดงทางมาอินเดีย พอลงเรือเมล์ถึงบอมเบย์ ก็มีข้าราชการอังกฤษ ๒ คนคุมเรือของเจ้าเมืองออกมารับ คนหนึ่งเป็นนายพันตรี ชื่อเฮส์ แสดเลอ มาบอกว่า ลอร์ดแลนสดาวน์ ผู้เป็นอุปราช (ไวสรอย) ครองอินเดียให้มาเชิญฉันเป็นแขกของรัฐบาลตลอดเวลาที่อยู่ในอินเดีย และให้ตัวเขาเป็นผู้มาอยู่ประจำด้วย อีกคนหนึ่งจะเป็นตำแหน่งอะไรในสำนักเจ้าเมืองบอมเบย์ และชื่อไร ฉันลืมไปเสียแล้ว มาบอกว่าลอร์ดแฮริส เจ้าเมืองบอมเบย์ให้เอาเรือมารับ และขอเชิญไปพักอยู่ ณ จวนเจ้าเมือง ตลอดเวลาที่ฉันอยู่เมืองบอมเบย์ ได้ฟังก็ยิ่งประหลาดใจ ด้วยเดิมประสงค์แต่เพียงจะให้รัฐบาลอินเดียช่วยสงเคราะห์พอมิให้มีความลำบาก แต่จะเที่ยวในอินเดียด้วยทุนของตนเอง มากลายเป็นรับอย่างแขกเมืองซึ่งรัฐบาลเลี้ยงดูให้อยู่กิน และจัดพาหนะให้เที่ยวเตร่ทุกอย่างหมด ก็ต้องขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ กับทั้งรัฐบาลอังกฤษยิ่งขึ้น พอลงเรือหลวงมาถึงท่าขึ้นบก ปืนใหญ่ยิงสลุตรับ ๒๑ นัด แล้วขึ้นรถมีทหารม้าแซงทั้งสองข้างแห่ไปยังบ้านเจ้าเมือง อันอยู่ริมชายทะเลที่ปลายแหลม พบลอร์ดแฮริสกับภรรยาคอยรับอยู่ที่นั่น เมื่อถึงบ้านเจ้าเมืองแล้วทราบความต่อไปอีก ว่ารัฐบาลอินเดียได้คิดกะโปรแกรมที่ฉันจะเที่ยวในอินเดียไว้ให้ และได้บอกไปตามท้องที่ให้ทราบล่วงหน้าแล้ว พอฉันถึงเมืองบอมเบย์ก็ได้รับโทรเลขของเจ้าประเทศราชหลายองค์ คือมหาราชาไนสัม ผู้ครองนครไฮเดอราบัดองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครบาโรดาองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครชัยปุระ (เรียกว่าไชปัว) องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครเบนารีส (คือเมืองพาราณสี) องค์หนึ่ง ล้วนเชิญให้เป็นแขกเมืองเมื่อฉันไปประเทศนั้นๆ ต้องมีโทรเลขตอบรับและขอบพระทัยไปตั้งแต่ยังไม่รู้จักกันทุกพระองค์ ระยะทางที่รัฐบาลอินเดียกะให้ฉันเที่ยวครั้งนั้น ออกจากเมืองบอมเบย์ไปเมืองไฮเดอราบัด ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายใต้ก่อน กลับจากเมืองไฮเดอราบัดย้อนทางมาข้างเหนือ ผ่านเมืองบอมเบย์ขึ้นไปเมืองบาโรดา เมืองประยาคะแต่โบราณ เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอะมะดะบัด เมืองชัยปุระ ภูเขาอาบูที่มีวัดในศาสนาเชน (ชินะ) ทำงามมาก เมืองเดลี เมืองอัคระ เมืองพาราณสี เมืองคยา แต่แรกเขาไม่ได้กะจะให้ไปเมืองพุทธคยา เพราะไม่มีที่พัก แต่ฉันอยากจะไป ด้วยประสงค์จะไปบูชาเจดียสถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เขาจึงเพิ่มลงในโปรแกรม ออกจากเมืองคยาไปเมืองกัลกัตตาแล้วไปเมืองดาร์จีลิ่ง (อันตั้งอยู่บนภูเขาหิมาลัย) แล้วกลับมาลงเรือที่เมืองกัลกัตตา มายังเมืองย่างกุ้ง เป็นที่สุดเขตประเทศอินเดียเพียงนั้น ฉันเที่ยวอยู่ในอินเดียเดือนครึ่ง ตอนออกจากเมืองย่างกุ้งลงเรือ “เศรษฐี” ของห้างโกหงวน (สกุล ณ ระนอง) จัดไปรับกลับมาขึ้นที่เมืองระนอง เดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงซึ่งออกไปรับ ณ เมืองชุมพร กลับมากรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่รัฐบาลอินเดียต้อนรับอย่างเป็นแขกเมืองครั้งนั้น เป็นเหตุที่ฉันได้เห็นอะไรแปลกๆ ในอินเดีย ผิดกับคนท่องเที่ยวสามัญหลายอย่าง โดยเฉพาะตามเมืองที่เป็นประเทศราช ด้วยเจ้าผู้ครองมักให้มีการต่างๆ อันนับว่าเป็นของควรอวดในเมืองนั้นให้ฉันดู หรือว่าอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็ทำนองเดียวกับไทยเรารับเจ้าต่างประเทศนั้นเอง แต่จะเขียนเล่าทุกอย่างไปยืดยาวนัก จะพรรณนาว่าแต่ด้วยเห็นของแปลกซึ่งพ้องกับของที่มีในเมืองไทยเรา โดยได้แบบแผนมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ อันเป็นคติในทางโบราณคดี

ชนช้าง

ที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) มหาราชาให้มีการชนช้างให้ฉันดูที่ในวัง ราชวังของมหาราชาชัยปุระนั้นใหญ่โตมาก มีประตูทางเข้าหลายทาง มนเทียรที่ประทับ ที่ทำพิธี และที่ประพาส ตลอดจนโรงช้างต้นม้าต้น และสนามที่ฝึกหัดช้างม้า อยู่ในบริเวณราชวังทั้งนั้น วันแรกฉันไปเฝ้ามหาราชาเข้าทางประตูหนึ่งไปยังที่ท้องพระโรง มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษคล่องไม่ต้องมีล่าม แต่ต้อนรับตามประเพณีฝรั่ง วันรุ่งขึ้นก็ไปดูชนช้าง เข้าวังทางประตูอื่น ลงจากรถก็ถึงที่บันไดเชิงเทินก่อถมดิน เหมือนอย่างเชิงเทินที่เพนียดคล้องช้าง ณ พระนครศรีอยุธยา เดินไปตามทางบนเชิงเทินนั้น ดูข้างด้านในเป็นที่เลี้ยงช้างทั้งนั้น ช้างอยู่ในโรงยาวก็มี อยู่ในคอกเฉพาะตัวก็มี เห็นช้างตัวหนึ่งอยู่ในคอกมีโซ่ล่ามทั้ง ๔ เท้า แยกปลายโซ่ไปผูกไว้กับเสาหมอสายละต้น เขาบอกว่าเป็นช้างตกน้ำมัน และว่าเวลาช้างตัวใดตกน้ำมัน ก็เอาโซ่ล่ามไว้เช่นนั้นจนหายตกน้ำมันจึงเอาไปเลี้ยงอย่างปรกติตามเดิม เดินบนเชิงเทินต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง ถึงหัวเลี้ยวเป็นด้านสกัด มีสนามใหญ่อย่างเราเรียกว่า “สนามชัย” อยู่ข้างหน้าพลับพลาที่มหาราชาทอดพระเนตรอยู่บนเชิงเทินด้านสกัดนั้น ตรงหน้าเชิงเทินลงไปมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนแถวหนึ่ง สูงขนาดพอเสมอใต้ตาคนยืน และทำช่องให้คนลอดได้หลายทาง มีพวกกรมช้างอยู่ในกำแพงแก้วนั้นหลายคน พอพวกเรานั่งที่บนพลับพลาเรียบร้อยแล้ว สักประเดี๋ยวก็เห็นคนขี่ม้าแต่งตัวอย่างนายทหารอินเดียคนหนึ่ง ถือแพนเป็นไม้ลำยาวสักเท่าทวนมีพู่ผูกข้างปลาย ล่อช้างพลายตัวหนึ่งวิ่งเหย่าๆ ไล่ม้ามา เป็นช้างงาสูงราว ๕ ศอกเศษหลังเปล่าไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าสักหลาดสีแดงผืนใหญ่ผูกคลุมหลังผืนหนึ่งเท่านั้น ขณะนั้นมีนายทหารขี่ม้าถือแพนอีกคนหนึ่งล่อช้างพลายอีกตัวหนึ่งแต่งอย่างตัวก่อนเข้าสนามมาทางด้านข้างซ้าย แต่พอช้างสองตัวนั้นแลเห็นกัน ก็ผละจากม้าวิ่งตรงเข้าชนกัน ชนอยู่เพียงสัก ๒ นาทีเผอิญงาช้างตัวหนึ่งหักสะบั้น ผู้อำนวยการเห็น ก็ถามฉันทันทีว่าจะโปรดให้หยุดหรือยัง ฉันเข้าใจว่าเขาอยากให้หยุด ก็ตอบว่าหยุดเถิด แต่ยังนึกฉงนว่าเขาจะห้ามช้างอย่างไร เห็นเขาโบกมือให้สัญญาณ พวกกรมช้างที่แอบอยู่ในกำแพงแก้วก็จุดดอกไม้ไฟ อย่างไฟพะเนียงมีด้ามถือวิ่งตรงเข้าไปที่ช้าง ช้างกลัวไฟก็เลิกชน วิ่งหนีแยกกันไป พอช้างสองตัวไปห่างแล้ว คนก็ขี่ม้าเข้าไป เอาแพนล่อพาช้างกลับไปโรงทั้งสองตัว ได้ดูชนกันครู่เดียว ผู้อำนวยการเขาบอกให้ทราบเมื่อภายหลัง ว่าธรรมดาช้างชนนั้น ถ้าตัวไหนชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เห็นช้างตัวงาหักเสียทีกลัวจะเลยเสียช้าง จึงได้ขอให้รีบเลิกเสีย ฉันได้ดูชนช้างที่ชัยปุระแม้ดูเพียงครู่เดียวก็สนุกจับใจ ด้วยเป็นการอย่างหนึ่งในตำราคชศาสตร์แต่ดึกดำบรรพ์ซึ่งชาวอินเดียเขายังรักษามา เป็นแต่มาแปลงเป็นการกีฬาในสมัยเมื่อเลิกใช้ช้างรบพุ่งแล้ว ไทยเราก็มีวิชาคชศาสตร์คล้ายกับของชาวอินเดีย ดังจะพรรณนาในนิทานเรื่องอื่นต่อไปข้างหน้า

ฤๅษีดัดตน

วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อมๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่างๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่ก็เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่าเหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย เมื่อกลับมาจึงค้นหาตำราฤๅษีดัดตน พบอธิบายปรากฏในศิลาจารึกเรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ “ตั้งตำรายา และฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน” ตามศาลารายริมกำแพงวัดพระเชตุพนฯ รูปฤๅษีดัดตนสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปั้นและคงมีอักษรจารึกศิลาติดไว้ใกล้กับรูปฤๅษี บอกว่าดัดตัวท่านั้นแก้โรคอย่างนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนรูปฤๅษีเป็นหล่อด้วยดีบุก และโปรดให้พวกกวีแต่งโคลง ๔ ขนานชื่อฤๅษี และบอกท่าดัดตนแก้โรคอย่างใดๆ จารึกศิลาติดประจำไว้กับรูปภาพตัวละบทหนึ่ง เรียกรวมกันว่า “โคลงฤๅษีดัดตน” พบตำราว่าด้วยเรื่องฤๅษีหรือดาบสทำท่าต่างๆ มีอยู่ในเมืองไทยเพียงเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าท่าฤๅษีดัดตนต่างๆ จะเป็นท่าตบะของดาบสอย่างเขาว่าที่เมืองชัยปุระ หรือเป็นท่าดัดตัวแก้โรคเมื่อยขบอย่างเช่นไทยถือเป็นตำรา ฉันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไหนแน่มาช้านาน จนเมื่อออกมาอยู่เมืองปีนัง มีดาบสชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเคร่งครัดนัก มาบำเพ็ญตบะ ณ เมืองปีนัง พวกชาวอินเดียที่เลื่อมใสเรี่ยไรกันซื้อที่สร้างอาศรมให้ดาบสนั้นอยู่แห่งหนึ่ง ฉันไปดูเห็นที่ตรงกลางบริเวณก่อเป็นมณฑป ๘ เหลี่ยม หลังคาเป็นซุ้มมียอดอย่างแบบอินเดีย มีมุขเด็จข้างหน้าและเฉลียงโถงรอบมณฑป เห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิเหมือนอย่างพระประธานอยู่บนเตียงหน้ามุขเด็จ เผอิญผู้อุปฐากพูดภาษาอังกฤษได้ บอกอธิบายให้รู้ว่าดาบสนั้นสมาทานตบะสองอย่าง คือเว้นวจีกรรมไม่พูดกับใครๆ หมดอย่างหนึ่ง กับนั่งสมาธิอยู่ ณ อาสนะอันเดียวตั้งแต่เช้าจนค่ำทุกวันเป็นนิจอย่างหนึ่ง ฉันถามว่าในมณฑปเป็นที่สำหรับดาบสนอนหรือ เขาตอบว่ายังไม่มีใครเคยเห็นดาบสตนนั้นนอนเลย โดยปรกติพอค่ำ ดาบสก็ลุกจากอาสนะที่มุขเด็จเข้าไปในมณฑป แต่ไปทำพิธีอีกชนิดหนึ่งเพื่อแก้เมื่อยขบ เห็นทำท่าต่างๆ บางที (ปลุก) ตัวลอยขึ้นไปก็มี ฉันได้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย ได้ความรู้ว่าการดัดตนนั้น เป็นส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็ญตบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนที่เดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัยก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็ญตบะ แล้วตั้งเป็นตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ์ ที่พวกชาวเมืองชัยปุระเขาบอกว่าเป็นวิธีของพวกดาบสนั้นก็ถูก ที่ไทยว่าเป็นวิธีแก้เมื่อยขบก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมใสวิธีตบะของพวกถือศาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาใช้ จึงเกิดตำราฤๅษีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้

ถูกสาป

เมื่อฉันอยู่ที่เมืองชัยปุระนั้น จะไปไหนๆ เขาให้ไปรถใหญ่เทียมม้าคู่ มีทหารม้าแห่แซงทั้งข้างหน้าข้างหลังให้สมเกียรติยศของเจ้าต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาไปไหนจึงมักมีคนดูทั้งสองข้างถนน วันหนึ่งฉันเห็นดาบสคนหนึ่งเกล้าผมสูง นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดมีประคำคล้องคอ ยืนอยู่ริมถนนข้างหน้าแถวคนดู เมื่อรถฉันไปถึงตรงหน้าดาบสยิ้มยกมือเป็นทำนองอำนวยพร ออกอุทานเป็นภาษาสันสกฤตได้ยินเข้าหูคำหนึ่งว่า “หริราชา” นึกว่าแกอำนวยพรก็ยิ้มรับแล้วเลยผ่านไป เมื่อผ่านไปได้สักหน่อยหนึ่งยังไม่ห่างกันนัก ฉันเหลียวหน้ากลับไปดู เห็นดาบสตนนั้นทำหน้าตาถมึงทึง ยกไม้ยกมือกวัดแกว่ง ปากก็ว่าอะไรยืดยาว ฉันไม่ได้ยินถนัด แต่รู้ทีว่าเป็นกิริยาโกรธ จึงนึกว่าที่ดาบสตนนั้นยิ้มแย้มให้พรตอนแรกเห็นจะขอทาน ครั้นไม่ได้เงินก็โกรธขึ้ง ออกปากตอนหลังน่าจะเป็นคำสาปสรร (Curse) ฉันถามขุนนางอังกฤษที่เขาไปด้วยในรถว่าเป็นเช่นนั้นหรืออย่างไร เขาไม่ตอบตรงๆ เป็นแต่บอกว่า ประเพณีประเทศราชในอินเดีย เวลามหาราชาเสด็จไปไหนมีขบวนแห่ ย่อมโปรยเงินเป็นทานแก่ราษฎรที่มาอยู่ข้างราชวิถี พวกนั้นเคยได้เงินจึงอยากได้อีก ฉันได้ฟังอธิบายก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกสองอย่าง คือ

ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินโปรยเงินพระราชทานราษฎรสองข้างราชวิถี ก็มีในเมืองไทยในเวลาแห่เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เช่นเลียบพระนคร หรือแม้เสด็จไปทอดพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราก็ทรงโปรยเงิน ฉันได้เคยเห็นเมื่อเป็นราชองครักษ์แห่เสด็จหลายครั้ง ถ้าทรงพระยานมาศเสด็จไปทางบก มีกรวยปักไว้ข้างที่ประทับ ในกรวยมีขันทองลงยาใส่เงินสลึงเงินเฟื้อง ทรงหยิบโปรยพระราชทานราษฎรทั้งสองข้างทาง ถ้าเสด็จไปทางเรือทำเป็นลูกไม้กลมใส่เงินปลีกไว้ในนั้น เมื่อทรงโปรย ลูกไม้ก็ลอยน้ำอยู่ให้ราษฎรเก็บ เป็นประเพณีไทยเราได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์อย่างหนึ่ง

ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งนั้น คือการสาปสรรซึ่งผู้มีฤทธิ์เดชกระทำร้ายแก่ผู้อื่น อันมีกล่าวในหนังสือเก่าทั้งทางศาสนาไสยศาสตร์และพระพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย เพิ่งได้เห็นว่าวิธีสาปนั้นออกปากตะโกนแช่งเอาซึ่งๆ หน้า ไม่ลอบภาวนาสาปในที่ลับเหมือนอย่างที่เรียกว่า “ทำกฤตยาคม” หรือปั้นรูปเสกแช่งแล้วเอาไปฝังไว้ ส่อว่าวิธีสาปแช่งมีสองอย่างต่างครูกัน

ฉันได้เห็นของประหลาดเข้าเรื่องนิทานโบราณคดีที่เมืองชัยปุระ ๓ อย่างดังพรรณนามา ยังมีของประหลาดได้เห็นแห่งอื่นในอินเดีย จะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง