นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
นิทานนี้ ก็จะเล่าถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งฉันได้รู้เห็นเมื่อครั้งไปตรวจราชการมณฑลอุดรและอีสานใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ต่อนิทานเรื่องลานช้างอีกเรื่องหนึ่ง เริ่มด้วยพรรณนาถึงแม่น้ำโขงซึ่งฉันได้ล่องลงมาทางเรือ ๖ วัน ตั้งแต่เมืองหนองคายจนเมืองมุกดาหาร แต่จะต้องบอกออกตัวไว้ก่อนสักหน่อย ว่าฉันได้ไปเห็นมากว่า ๓๐ ปีแล้ว จะพรรณนาคลาดเคลื่อนเพราะหลงลืมไปบ้างก็เป็นได้ แม่น้ำโขงที่ฉันได้เห็นครั้งนั้น ในแผนที่ฝรั่งเศสเขากำหนดว่าเป็นตอนที่ใช้เรือไฟขึ้นล่องได้ตลอดปี ยังมีตอนอื่น เช่นในระหว่างเมืองหลวงพระบางกับเมืองเวียงจันทน์ เขาว่าใช้เรือไฟได้แต่ฤดูแล้งแต่บางตอน ยังมีบางตอนเช่นที่แก่งลีผี ใกล้แผ่นดินต่ำแดนเมืองเขมรเป็นต้นใช้เรือไฟไม่ได้ก็มี แม้ในตอนที่ว่าใช้เรือไฟได้ตลอดปี แม่น้ำโขงก็แปลกกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยหลายสถาน ดังจะพรรณนาให้เห็นว่าแปลกกันอย่างไรบ้าง
ลักษณะแม่น้ำโขง
ฉันไปเห็นแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกที่เมืองหนองคาย พอแลเห็นก็ตระหนักใจว่าใหญ่โตกว่าแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทยทั้งสิ้น ยืนบนตลิ่งแลดูไปทางฟากข้างโน้น เห็นวัวควายที่อยู่ตามหาดตัวเล็กจิ๋ว ถึงถามกันว่า “นั่นวัวหรือควาย” คนที่อยู่ทางฝั่งโน้นก็เห็นถนัดต่อเมื่อเดิน ถ้านิ่งอยู่กับที่ก็มิใคร่สังเกตได้ แต่นอกจากเห็นว่าใหญ่โตแล้ว ดูแม่น้ำโขงที่เมืองหนองคายยังไม่เห็นอย่างอื่นผิดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางเมืองเหนือเท่าใดนัก ต่อเมื่อลงเรือล่องจากเมืองหนองคายจึงรู้ว่าแม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยอย่างไรบ้าง เริ่มต้นแต่วันแรกจะลงเรือ ฉันแต่งตัวแล้วต้องนั่งคอยแสงสว่างอยู่จนเกือบ ๘ นาฬิกาจึงลงเรือได้ เพราะฤดูที่ฉันไปพอถึงเวลาพลบ พระอาทิตย์ตก หมอกก็ลงในแม่น้ำโขงมืดไปตลอดคืน จนรุ่งเช้าแสงแดดแข็งหมอกจึงจาง เพราะฉะนั้นเรือจะขึ้นล่องในแม่น้ำโขงเวลากลางคืนไม่ได้ เรือไฟของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ฉันมา พอถึงที่พักแรมเวลาเย็นเขาจอดส่งฉันขึ้นบกทางฝั่งขวาแล้วก็ข้ามไปจอดนอนทางฝั่งซ้าย รุ่งเช้าพอหมอกจางเขาจึงข้ามมารับลงเรือต่อไป แต่เมื่อวันไปถึงเมืองท่าอุเทน เผอิญถึงต่อเวลาพลบนายเรือขอจอดที่เมืองฟองวินทางฝั่งซ้ายใกล้ๆ กับเมืองท่าอุเทน ด้วยว่าหมอกลงแล้วแลไม่เห็นท้องน้ำถนัด เขาเกรงเรือจะติด ฉันต้องลงเรือพายของเมืองท่าอุเทนข้ามมายังที่พักแรม ต่อรุ่งเช้าหมอกจาง เรือไฟจึงข้ามมารับตามเคย
แม่น้ำโขง ผิดกับแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่มีเกาะมากกว่ามาก พวกชาวเมืองเรียก “เกาะ” ว่า “ดอน” ก็ถูกโดยนัยหนึ่ง เพราะเกาะในแม่น้ำโขงโดยมากเป็นแต่แผ่นดินดอนอยู่ใต้น้ำ ถึงฤดูแล้งน้ำลดจึงโผล่ขึ้นมาเป็นเกาะ เกาะที่สูงพ้นน้ำอยู่ตลอดปีเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยได้ เหมือนเช่นเกาะใหญ่หรือเกาะบางปะอินในแขวงกรุงศรีอยุธยามีน้อย แต่ดอนทั้งปวงนั้น เวลาน้ำท่วมพัดพาเอาธาตุต่างๆ มาตกเป็นปุ๋ยเสมอทุกปี เมื่อโผล่ขึ้นเป็นเกาะเนื้อดินดีปลูกต้นไม้งอกงาม จึงเป็นที่ชาวเมืองชอบไปตั้งทำไร่ในฤดูแล้ง ปลูกพรรณไม้ล้มลุกต่างๆ เช่นยาสูบและข้าวโพดฟักแฟงแตงถั่ว เป็นสินค้าหาเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์มาก สังเกตดูตามฝั่งทั้งสองฟากแม่น้ำโขงก็เห็นผิดกับแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทย ด้วยตามแม่น้ำอื่นมักมีวัดและบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำระยะไม่ห่างไกลกันนัก ถึงตรงที่ว่างบ้านเรือน ก็เป็นที่มีเจ้าของทำเรือกสวนไร่นาตามฤดู หาใคร่มีที่รกร้างว่างเปล่าไม่ แต่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดทางที่ฉันไป นอกจากตรงที่ตั้งเมืองหรือหมู่บ้านใหญ่ มักเป็นป่าเปลี่ยว บางแห่งถึงสัตว์ป่าสูงเช่นนกยูงลงอาศัยทำรังก็มี เรือล่องไปนานๆ จะเห็นมีเรือนอยู่ริมน้ำ ฉันลองขึ้นไปดูบนบกที่ตรงป่าเปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบต้นไม้ที่แลเห็นเป็นป่าอยู่บนตลิ่งก็ไม่มีต้นไม้อย่างใหญ่ เช่นต้นตะเคียนหรือยางยูง สังเกตดูคันตลิ่งเป็นแผ่นดินดอนเข้าไปข้างในสักสี่ห้าเส้น แล้วก็ลาดลุ่มลงไปเป็นลำลาบ มีรอยน้ำขังยืดยาวไปตามแนวตลิ่งทั้งข้างเหนือและข้างใต้ ผู้นำทางเขาบอกว่าฝั่งแม่น้ำโขงมักเป็นลำลาบอยู่ข้างในอย่างนั้นทั้งสองฟาก บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มเข้าไปไกลๆ ในฤดูฝนน้ำไหลหลากมาขังอยู่ในลำลาบเหล่านั้น น้ำลึกทำนาไม่ได้ ราษฎรจึงมิใคร่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำโขง นอกจากตรงที่มีเกาะทำไร่ขายสินค้าหากินได้ แห่งใดแผ่นดินดอนลงมาจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ก็ตั้งเมืองหรือหมู่บ้านใหญ่ในที่เช่นนั้น เพราะทำไร่นาหากินได้สะดวก เมื่อได้ฟังเขาชี้แจงก็เข้าใจว่าเพราะเหตุใดแม่น้ำโขงจึงเป็นป่าเปลี่ยวโดยมาก
สังเกตดูเรือที่ใช้กันในแม่น้ำโขงก็ผิดกับแม่น้ำอื่น ด้วยชาวเมืองใช้กันแต่เรือพายอย่างขุดมาดไม้ต้นเดียว มีทุกขนาดตั้งเเต่เรือยาวสำหรับเจ้าบ้านภารเมืองลงมาจนเรือคอนขนาดเล็กที่ชาวบ้านใช้ ล้วนเป็นเรือขุดมาดไม้ต้นเดียวทั้งนั้น ไม่เห็นใช้เรือต่อเช่นเรือสำปั้นหรือเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า เรือแจวและเรือแล่นใบก็ไม่เห็นมีในแม่น้ำโขง ถ้าชาวเมืองจะทำเรือต่อหรือเรือมาดขึ้นกระดานใช้ ดูก็จะไม่ยากอันใด ที่ไม่ทำเห็นจะเป็นเพราะเรืออย่างอื่นใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้นไม่ได้สะดวก จึงใช้แต่เรือขุดมาด การขนสินค้าทางแม่น้ำโขง เห็นเอาเรือขุดมาด ๒ ลำผูกขนานกันทำแคร่และประทุนครอบเป็นที่บรรทุกสินค้าอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งทำแพไม้ไผ่ผูกเป็นรูปหัวแหลมท้ายแหลมมีประทุนตลอดแพ เว้นแต่ตอนหัวกับตอนท้าย กับมีทางเดินได้รอบประทุนสำหรับคนถ่อค้ำคัดแพให้ตรงทาง และมีเสากระโดงผูกกังหันสำหรับสังเกตทางลมด้วยทุกแพ น่าจะใช้ได้แต่ขาล่องทั้งเรือมาดและแพ ขาขึ้นเขาจะขนสินค้าไปทางน้ำอย่างไรฉันไม่ได้เห็น
ฝรั่งเศสเอาเรือไฟขึ้นไปใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้น นอกจากเรือไฟของรัฐบาลที่มาส่งฉัน ฉันได้เห็นเรือไฟบริษัทฝรั่งเศสรับจ้างส่งคนโดยสารและสินค้ามี ๒ ลำ เป็นเรือดาดฟ้าสองชั้นยาวราวสัก ๑๕ วา ขึ้นล่องในระหว่างเมืองสุวรรณเขตกับเมืองเวียงจันทน์สัปดาห์ละครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องช่วยมาก เป็นต้นแต่ตั้งสถานีให้มีฟืนสำหรับเรือไฟเป็นระยะไปตลอดทาง และให้มีพนักงานตรวจร่องน้ำก่อกรุยหมายทางแล่นเรือตามแก่งและที่น้ำตื้น บางแห่งก็มีคนสำหรับนำร่อง นอกจากนั้นว่ายังต้องให้เงินหนุนทุนบริษัทที่เดินเรือไฟในแม่น้ำโขง ทั้งตอนนี้และตอนอื่นถึงปีละ ๔๐๐,๐๐๐ แฟรงก์ มิฉะนั้นบริษัทก็ขาดทุนไม่สามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้
แม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ภัยอันตรายในการขึ้นล่องมีมากกว่า และแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ เป็นต้นแต่สัตว์ร้ายที่ในน้ำเช่นจระเข้ก็มี และยังมีเงือกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เขาว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีแรงไฟฟ้าอยู่ในตัว ถ้าใครไปพ้องพานให้ตกใจ มันก็ปล่อยพิษไฟฟ้าให้ถูกตัวสลบเลยจมน้ำตาย ปลาอย่างนี้ไม่เคยได้ยินว่ามีในเมืองไทยที่แม่น้ำอื่น นอกจากสัตว์ร้าย ยังมีหินนอนวันอยู่ในท้องน้ำ คนล่องเรือแลไม่เห็นด้วยน้ำขุ่น แม้เรือไฟฝรั่งเศสลำที่ฉันมา ก็มาโดนหินนอนวันใกล้ๆ กับเมืองหนองคาย แต่โดนเบาเพียงทำให้เรือเอียงหน่อยหนึ่งแล้วหลุดได้ นอกจากนั้นยังมีหาดทรายลอยอีกอย่างหนึ่ง คือทรายซึ่งลอยมากับสายน้ำตก พูนกันขึ้นเป็นหาดอยู่ใต้น้ำชั่วคราว แล้วสายน้ำพัดเปลี่ยนที่ไปตกพูนที่อื่นอีกไม่รู้ว่าที่ไหนแน่ เรือไฟที่ฉันมาก็เคยติดทั้งสองลำ ติดอยู่หลายชั่วโมงทำอย่างไรก็ไม่หลุด จนเรือเมืองหนองคายพายตามลงมาทันมาช่วยลำเลียงของให้เรือไฟลอยจึงหลุดมาได้
แก่งในแม่น้ำโขงก็ผิดกับแก่งในแม่น้ำอื่นในเมืองไทย เช่นแม่น้ำไทรโยคก็มีแก่งแต่ตรงที่ภูเขาอยู่ใกล้ชิดลำน้ำ แม่น้ำปิงก็มีแก่งเชียงใหม่แต่ตรงลำน้ำผ่านภูเขาเขื่อนแผ่นดินสูงเทือกเดียว ๔๙ แก่ง พ้นที่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีแก่ง แต่แม่น้ำโขง ตลอดทางที่ฉันไปไม่เห็นมีภูเขาอยู่ริมน้ำ หรือลำน้ำผ่านไปในเทือกภูเขา แต่มีแก่งเป็นระยะไปตลอดทาง วันแรกออกจากเมืองหนองคายต้องลงแก่งถึง ๗ แห่ง วันหลังๆ ก็ต้องลงแก่งทุกวัน ล้วนเป็นแก่งใหญ่โตตามส่วนแม่น้ำ เรือขึ้นล่องยากกว่าแม่น้ำอื่น จะเปรียบกับแก่งในแม่น้ำไทรโยคหรือแก่งในแม่น้ำสักไม่ได้ พอเปรียบได้แต่กับแก่งเชียงใหม่ เพราะแก่งไทรโยคกับแก่งแม่น้ำสักใครๆ ก็เอาเรือขึ้นล่องได้ แต่เเก่งเชียงใหม่กับแก่งแม่น้ำโขง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญสำหรับเอาเรือแพผ่านแก่งจึงไปได้
จะเลยเล่าถึงแก่งเชียงใหม่ให้พิสดารสักหน่อย เพราะเดี๋ยวนี้คนไปมาและการส่งสินค้ากับเมืองเชียงใหม่ ใช้รถไฟกันเสียเป็นพื้น ที่ใช้ทางเรือมิใคร่มี เรือที่เคยใช้ทางแม่น้ำปิงเช่นเรือแม่ปะก็สูญเกือบหมดแล้ว การขึ้นล่องทางแก่งเชียงใหม่ดูใกล้จะเป็นโบราณคดีเข้าทุกที ฉันเคยล่องเรือทางแก่งเชียงใหม่ ๒ ครั้ง จึงจะเล่าเรื่องแก่งเชียงใหม่ฝากไว้ในนิทานนี้ด้วย ได้กล่าวมาแล้วว่าการผ่านแก่งเชียงใหม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจึงจะเอาเรือขึ้นล่องได้ แต่ก่อนมาทางแขวงเมืองเชียงใหม่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่บ้านมืดกาข้างเหนือแก่งแห่งหนึ่ง ทางแขวงเมืองตากก็มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่บ้านนาข้างใต้แก่งแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทั้งสองตำบลนั้น โดยมากหากินด้วยรับจ้างเอาเรือผ่านแก่งเชียงใหม่ เรือใครถ่อขึ้นไปถึงบ้านนาก็จ้างพวกเชี่ยวชาญชุดหนึ่ง ๕ คน หรือ ๓ คน ตามขนาดเรือย่อมและเรือใหญ่ให้พาเรือขึ้นแก่ง เมื่อขึ้นไปพ้นแก่งหมดแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญก็ขึ้นบกเดินข้ามภูเขากลับมาบ้าน ขาล่องเมื่อเรือลงมาถึงบ้านมืดกา ก็จ้างพวกชาวบ้านเอาเรือลงมาส่งถึงใต้แก่งเช่นเดียวกัน วิธีเอาเรือผ่านแก่งเชียงใหม่นั้น ขาขึ้นมักต้องขึ้นคราวเดียวกันหลายลำจึงสะดวก พอเรือถึงท้ายแก่งก็เอาเชือกพวนผูกหัวเรือโยงขึ้นไปบนบก ระดมคนขึ้นช่วยกันลาก พวกผู้ชำนาญประจำอยู่ในเรือเอาถ่อกรานช่วยแรงคนลาก และคอยค้ำหัวและคัดท้ายให้เรือตรงช่องจนพ้นแก่งแล้วก็ถ่อต่อไปจนถึงแก่งหน้า ขึ้น ๗ วันหรือ ๑๐ วัน จึงหมดแก่ง ขาล่องแก่งเชียงใหม่หน้าแล้งล่อง ๔ วัน เขาว่าหน้าน้ำๆ ท่วมแก่ง เป็นแต่ต้องหลีกน้ำวน ล่องวันเดียวก็ตลอดหมด วิธีล่องแก่งมี ๒ อย่าง เรียกว่า “ผาย” อย่างหนึ่ง เรียกว่า “ล่องคลองฮีบ” อย่างหนึ่ง วิธีผายนั้นพอเรือใกล้จะถึงหัวแก่งก็ตีกรรเชียงเร่งเรือให้เข้าสายน้ำที่ไหลลงช่องแก่ง ปล่อยให้เรือลอยลงมากับเกลียวน้ำที่ตกแก่ง คนข้างหัวคอยเอาถ่อค้ำ คนข้างท้ายคัดตะกูดให้เรือหลีกเลี่ยงก้อนหิน เรือพุ่งลงมาสักนาทีเดียวก็พ้นเทือกหินถึงวังน้ำนิ่งข้างใต้แก่ง แล้วตีกรรเชียงต่อไป ที่เรียกคลองฮีบนั้น พวกชาวเรือเขาเอาก้อนหินเล็กๆ วางเรียงกันทดน้ำให้ไหลเป็นรายลงมาข้างช่องแก่ง ลึกพอครือๆ ท้องเรือ ต่อเวลาน้ำน้อยช่องแก่งแคบนัก หรือถ้าเรือขนาดใหญ่ผายลงทางช่องแก่งไม่ได้ จึงเอาลงทางคลองฮีบ เรือที่ใช้ในแม่น้ำปิงก็มีแต่ ๒ อย่าง ขนาดย่อมเรียกว่า “เรือกราบแป้น” ตี ๒ กรรเชียงอย่างหนึ่ง ขนาดใหญ่เรียกว่า “เรือแม่ปะ” ตี ๔ กรรเชียงอย่างหนึ่ง เรือกราบแป้นมักผายได้แทบทุกแก่ง แต่เรือแม่ปะลงบางแก่งต้องลงทางคลองฮีบ วิธีลงคลองฮีบนั้น พอเรือถึงเหนือแก่งเอาเชือกผูกท้ายโยงไปรั้งไว้บนตลิ่ง แล้วให้คนลงยืนรายในน้ำประคองสองข้าง ค่อยๆ หย่อนเชือกให้เรือลง ราวสัก ๒๐ นาทีจึงพ้นแก่ง
เมื่อฉันไปเชียงใหม่ครั้งแรกเดินบกไปจากอุตรดิตถ์ ขากลับลงมาทางเรือจากเมืองเชียงใหม่ เขาจัดเรือแม่ปะลำทรงของพระเจ้าเชียงใหม่ให้ฉันมา และให้ผู้เชี่ยวชาญสำหรับเรือลำนั้นแต่ครั้งพระเจ้าเชียงใหม่พามา แต่ฉันมาเกิดไม่พอใจ ด้วยพวกเชี่ยวชาญแกระวังภัยเกินขนาด ปล่อยให้เรือลำฉันมาผายผ่านแต่ที่แก่งที่ลงง่ายอย่างประดาเสีย ถ้าเป็นแก่งลงยากสักนิดก็เอาเรือหย่อนลงทางคลองฮีบช้าเสียเวลา ฉันเห็นเรือแม่ปะลำอื่นๆเขาผายตามกันลงไปได้คล่องๆ ก็ออกรำคาญ ถามนายฮ้อยผู้คุมเรือว่าเราผายอย่างเขาบ้างไม่ได้หรือ แกว่าผายก็ได้แต่เป็นเรือ “เสด็จเจ้า” มา ถ้าโดนอะไรก็จะมีความผิด จึงเอาลงทางคลองฮีบ ฉันถามว่าเมื่อครั้งพระเจ้าเชียงใหม่เคยโดนบ้างหรือ แกว่าเรือลำทรงนั้นเคยโดนล่มในแก่งครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ฉันได้ฟังก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะมูลนายเขากำชับกำชามาให้ระวังอย่าให้มีเหตุ แกก็เลยไม่กล้าผาย ฉันจึงบอกแกว่าผายเหมือนอย่างเรืออื่นเถิด ฉันอยากจะดู โดยเรือจะโดนแก่งล่มฉันก็จะไม่เอาโทษ สังเกตดูพวกที่เชี่ยวชาญเหล่านั้น ก็เห็นจะอยากผายอวดฝีมืออยู่แล้ว พอได้อภัยก็พากันยินดีไม่ต้องเตือนต่อไป ฉันนั่งดูมาในเรือก็เห็นตระหนัก ว่าผายเรือล่องแก่งเป็นการยาก และมีเสี่ยงภัยจริงๆ เพราะในแก่งมีหินเป็นแง่ระกะไปทั้งนั้น ช่องเรือลงไม่ตรงเหมือนกับลำคลอง เรือลอยลงมากับเกลียวน้ำเร็วเท่าๆ รถไฟแล่น จะยับยั้งไม่ได้ ถ้าค้ำพลาด หัวเรือแปรออกนอกร่องก็ต้องโดนหินล่มทุกลำ ได้เห็นความชำนิชำนาญของพวกผู้เชี่ยวชาญอย่างน่าพิศวง เมื่อใกล้จะถึงแก่ง นายฮ้อยถือท้ายเรือร้องสั่งว่า “เอา” เป็นสัญญาเร่งกรรเชียงคำเดียว แล้วก็ไม่ออกปากพูดจาอะไรกันอีก คนอยู่ตอนหัวเรือถือถ่อขึ้นไปยืนบนโขนเรือคนหนึ่ง อีก ๓ คนยืนถือถ่อประจำสองแคม คอยค้ำให้เรือเลี้ยวหลีกเลี่ยงก้อนหิน นายฮ้อยก็คัดท้ายช่วยคนถ่อ ดูเหมือนกับนัดแนะเข้าใจกันว่า คนไหนควรจะค้ำหินก้อนไหน และนายฮ้อยควรจะเบี่ยงบ่ายท้ายเรือเพียงไหนให้เบาแรงคนค้ำทางหัวเรือ ไม่มีที่จะก้าวก่ายหรือต้องตักเตือนกันอย่างไร ถ้าเป็นแก่งลงยาก พอเรือล่องตลอดแก่งถึงวังน้ำนิ่ง พวกทางหัวเรือก็วางถ่อฟ้อนรำกันสนุกสนาน พวกเรานั่งมาในเรือ ดูเมื่อเวลาเรือพุ่งลงแก่งก็ออกหวาดหวั่น ด้วยเห็นเรือลอยหลีกก้อนหินหวิดๆ ลงไปตลอดแก่ง เห็นเขาฟ้อนรำเมื่อพ้นภัยก็พลอยสนุกกับเขาด้วย ใครได้ไปเที่ยวทางแก่งเชียงใหม่ ดูเหมือนจะติดใจทุกคน เพราะทางหว่างแก่งนั้น ดูเขาไม้ก็งามน่าชม เวลาล่องแก่งก็สนุก และมีที่ขึ้นเที่ยวได้ตลอดทาง เมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว พาลูกขึ้นไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๖ อีกครั้งหนึ่ง ขึ้นไปรถไฟ ขากลับก็กลับทางเรือซ้ำอีก เพราะติดใจแก่งเชียงใหม่ยังไม่หาย จึงได้เคยล่องทางนั้นถึง ๒ ครั้ง
จะว่าถึงแก่งแม่น้ำโขงต่อไป เพราะแม่น้ำโขงใหญ่โต แก่งก็ใหญ่โต ช่องแก่งก็กว้าง ผายได้ทั้งเรือแพ แม้จนเรือไฟดาดฟ้าสองชั้น ก็ผ่านแก่งขึ้นล่องได้ตลอดปี ไม่ต้องใช้คลองฮีบ ขาขึ้นแก่งแม่น้ำโขงเขาจะขึ้นกันอย่างไร ฉันไม่เคยเห็น แต่เมื่อคิดเทียบกับแก่งเชียงใหม่ เห็นว่าเรือไฟคงแล่นขึ้นได้ ถ้าเป็นเรือพาย ก็คงต้องใช้เชือกโยงลากเรือขึ้นอย่างเดียวกันกับแก่งเชียงใหม่ แต่แพขึ้นไม่ได้อยู่เอง แก่งแม่น้ำโขงมีภัยผิดกับแก่งเชียงใหม่ เป็นข้อสำคัญอยู่ที่น้ำวนร้าย พวกชาวเมืองเรียกว่า “เวิน” กลัวกันเสียยิ่งกว่าหินที่ในแก่ง เพราะธรรมดาแก่งย่อมมีวังน้ำลึกอยู่ข้างใต้แก่ง วังทางแก่งเชียงใหม่ในฤดูแล้งเป็นที่น้ำนิ่งดังกล่าวมาแล้ว ต่อฤดูน้ำจึงเป็นน้ำวนก็ไม่ใหญ่โตเพียงใดนัก แต่แก่งแม่น้ำโขง เพราะสายน้ำแรงทำให้น้ำที่ในวังไหลวนเป็นวงใหญ่เวียนลึกลงไปอย่างก้นหอย มีสะดืออยู่ที่กลางวงเป็นนิจ ผิดกันแต่ในฤดูแล้งน้ำวนอ่อนกว่าฤดูน้ำ เรือแพผายลงแก่ง จำต้องผ่านไปในวงน้ำวน ถ้าหลีกสะดือวนไม่พ้น น้ำก็อาจจะดูดเอาเรือจมหายลงไปในวนได้ทั้งลำ ดังเช่นเคยเกิดเหตุแก่เรือไฟลาแครนเดีย ลำที่ฉันลงมานั้นเองเมื่อปีหลัง เขาว่ารับนายพลฝรั่งเศสขึ้นไปตรวจทหารที่เมืองหลวงพระบาง ขาล่องกลับลงมาถึงแก่งจัน อันเป็นแก่งร้ายอยู่ในแดนเมืองหลวงพระบาง ถือท้ายเรือหลีกไม่พ้นสะดือน้ำวนได้ น้ำดูดเอาเรือลาแครนเดียจมหมดทั้งลำ นายพลฝรั่งก็เลยจมน้ำตายด้วย ตามแก่งสำคัญๆ ในตอนที่ฉันผ่านมา มีเครื่องหมายทำไว้แต่โบราณทั้งข้างเหนือและข้างใต้แก่ง เมื่อเรือแพชาวเมืองจะผ่านแก่ง ต้องแวะดูคราบระดับน้ำที่เครื่องหมาย ถ้าเห็นระดับน้ำถึงขนาดมีภัย ก็ต้องจอดคอยอยู่นอกแก่ง จนเห็นระดับน้ำได้ขนาดปลอดภัย จึงขึ้นล่อง นอกจากแก่งหินในแม่น้ำโขงยังมี “เรี่ยว” อีกอย่างหนึ่ง เรี่ยวนั้นเป็นแต่ชายหาดทราย ๒ ฟากยื่นออกมาใกล้กัน ทำให้ร่องน้ำแคบคดเคี้ยว น้ำไหลเชี่ยวเหมือนเช่นแก่งไปยืดยาว ถ้าเรือล่องหลีกไม่พ้นชายหาดก็ล่ม เรี่ยวบางแห่งร้ายถึงต้องมีคนนำร่อง สำหรับพาเรือไฟผ่านเรี่ยว
แต่ทางแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญในการเอาเรือผ่านแก่ง ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่เป็นตำบลเหมือนทางแม่น้ำปิง ด้วยแม่น้ำโขงมีแก่งรายไปตลอดทาง แก่งไม่อยู่แต่เป็นเทือกเดียวเหมือนกับแก่งเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้เรือแพในแม่น้ำโขง ต้องเชี่ยวชาญอยู่ในตัวเอง ถ้าไปยังถิ่นที่ตนไม่ชำนาญ ก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในถิ่นนั้นๆ คงจะเป็นเพราะใช้เรือขึ้นล่องลำบากดังว่ามา การค้าขายทางลำแม่น้ำโขงจึงมีน้อย มักขนสินค้ากันทางบกโดยมาก ประหลาดอยู่ที่พวกล่องแพทางลำแม่น้ำโขง สามารถล่องแพผ่านแก่งได้ทุกชนิด เขาว่าเป็นแพของพวกชาวเมืองหลวงพระบาง บรรทุกสินค้าลงมาขายในมณฑลอุดรเสมอทุกปี สมกับคำเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เล่า ว่าท่านเคยมาแพอย่างนั้นตั้งแต่เมืองหลวงพระบางจนถึงเมืองเชียงคาน ฉันถามว่าเมื่อลงแก่งทำอย่างไร ท่านบอกว่าน่ากลัวมาก แต่ท่านไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็ต้องทอดธุระแล้วแต่พวกเชี่ยวชาญเขาจะทำอย่างไรกัน ตัวท่านได้แต่นิ่งนึกเสี่ยงกรรม ว่าถ้ายังไม่ถึงที่ตายก็คงรอดไปได้ พวกล่องแพทางแม่น้ำโขง เห็นจะเคยหากินในการล่องแพมาค้าขายในมณฑลอุดรเป็นอาชีพสำหรับตระกูลสืบต่อพ่อลูกหลานมาช้านาน เคยล่องแพจนเจนทางและสายน้ำ ทั้งชำนาญการบังคับแพให้ล่องหลีกเลี่ยงอันตรายได้ดังใจ จึงสามารถล่องแพปลอดภัยลงมาได้ไกลถึงเพียงนั้น ที่ทำแพเป็นรูปร่างอย่างเช่นที่พรรณนามาแล้ว ก็คงเป็นเพราะได้ทดลองกันมาจนตระหนักแน่ว่าแพรูปร่างอย่างนั้นและขนาดเท่านั้นล่องได้สะดวกกว่าอย่างอื่น จึงทำแพแต่อย่างเดียวเหมือนกันหมด ดูน่าพิศวง
ตอนล่องแม่น้ำโขง แต่เมืองหนองคายจนเมืองนครพนม ฉันมาในเรือไฟลาแครนเดีย นั่งอยู่บนดาดฟ้าชั้นบน มิใคร่จะได้เห็นสายน้ำที่ในแก่ง จนมาลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมลงมาเมืองมุกดาหาร ฉันลงเรือพายของเจ้าเมืองมา จึงได้เห็นน้ำวนในแม่น้ำโขงถนัดที่แก่งคันกะเบา เป็นแก่งใหญ่แห่งหนึ่งในแขวงเมืองมุกดาหาร แม้ในฤดูแล้งน้ำก็ยังไหลวนเป็นวงใหญ่ ที่กลางวงลึกดูน่ากลัว ถ้าเรือพลัดเข้าไปถึงสะดือวนก็คงดูดจมเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย เรือยาวที่ฉันไปเป็นเรือขุดมาดอยู่ข้างจะเปลี้ยน้ำ น่ากลัวอยู่บ้าง แต่อุ่นใจที่ฝีพายล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญสัก ๑๕ คนด้วยกัน เมื่อใกล้จะถึงแก่ง ได้ยินนายเรือสั่งให้ฝีพายเตรียมตัว พอเรือเข้าวงวนก็ตั้งข้อพายเต็มเหนี่ยวพรักพร้อม รู้ท่วงทีกันทั้งคนคัดหัวถือท้ายและฝีพายตลอดลำ ราวกับได้ซักซ้อมกันไว้ สังเกตดูวิธีที่เขาเอาเรือผ่านน้ำวน ดูเหมือนจะต้องเข้าตามน้ำให้ค่อนข้างขอบวงวนซึ่งสายน้ำอ่อน แล้วเร่งพายเต็มเหนี่ยวให้สายน้ำกับแรงพายพาเรือแล่น ให้หัวพุ่งออกจากขอบวงทางข้างโน้น มิทันให้น้ำพัดหัวเรือแปรไปตามวงของสายน้ำ เรืออยู่ในวงวนราวสักนาทีเดียวก็พ้นไปได้ พอเรือออกนอกวงวน พวกฝีพายก็พากันรื่นเริงตลอดลำ เช่นเดียวกับพวกผายเรือลงแก่งเชียงใหม่ เราก็ออกสนุกด้วยเหมือนกัน
ลักษณะแม่น้ำโขงตามที่พรรณนามา ถ้าจะชมโฉมตามความเห็นของฉัน เห็นว่าน่ากลัวยิ่งกว่าน่าชม ถ้ามีใครถามว่าน่าไปเที่ยวหรือไม่ ฉันจะตอบว่า ถ้าใครยังไม่เคยเห็นก็น่าไปดู ด้วยแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ แต่เห็นจะไม่รู้สึกสนุกสนาน เหมือนอย่างไปเที่ยวทางแม่น้ำปิงหรือแม่น้ำสักและแม่น้ำไทรโยค ฉันไปหนหนึ่งแล้วยังไม่นึกอยากไปล่องแม่น้ำโขงอีก จนเดี๋ยวนี้
เดินดง
เมื่อฉันเดินบกจากเมืองมุกดาหาร กลับเข้ามายังเมืองยโสธรในมณฑลอีสาน ต้องข้ามเทือกภูเขาขึ้นแผ่นดินสูงผ่านดงอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ดงบังอี่” ดงนี้พระยานครราชเสนี (กาด สิงหเสนี) จางวางเมืองนครราชสีมา เคยบอกฉันว่าเป็นดงใหญ่กว่าดงอื่นๆ หมดใน ๓ มณฑลนั้น และว่าเป็นดงที่ช้างเถื่อนชุม พวกโพนช้างชอบเสาะช้างดงบังอี่ ด้วยถือกันว่าเป็นช้างดีมีกำลังมาก ฉันได้ฟังเล่ามาหลายปีจึงได้ไปถึงดงบังอี่ พอเห็นก็ตระหนักใจว่าเป็นดงทึบมากผิดกับดงไหนๆ ที่ฉันได้เคยเห็นมาแล้ว
ที่เรียกว่า “ป่า” และ “ดง” เป็นท้องที่มีต้นไม้มากอันล้วนขึ้นเองโดยธรรมดาเหมือนกัน ที่ป่ากับดงผิดกันนั้น ป่าเป็นพื้นดินแห้งในฤดูแล้งต้นไม้ได้น้ำไม่พอบริโภค ก็หยุดงอกงามใบเหี่ยวแห้งหล่นไปชั่วคราว เมื่อถึงฤดูได้น้ำพอบริโภค ก็กลับฟื้นตัวงอกงามไปอีก เพราะฉะนั้นในป่าถึงฤดูแล้งไม่รก บางแห่งไฟไหม้ใบหญ้าเวลาแห้งจนพื้นป่าเตียนก็มี แม้ในฤดูฝนป่าก็ไม่รกทึบทีเดียว เพราะต้นไม้ใบหญ้าต้องเหี่ยวแห้งเสมอทุกปีไม่ทันขึ้นสูงใหญ่ แต่ในดง แผ่นดินเป็นที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่ตลอดปี ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีเวลาแห้งเหี่ยวก็งอกงามอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในดงจึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกชัฏ ดูสดชื่นเขียวชอุ่มอยู่เป็นนิจ ต่างกันแต่เป็นดงทึบมากและน้อย เหมือนเช่นดงพญาไฟไม่สู้จะทึบนัก เวลาไปในดงยังถูกแดด เป็นแต่รู้สึกว่าอากาศเย็นกว่าข้างนอกดง หนทางเดินในดงพญาไฟก็กว้าง สองข้างทางมิใคร่จะรกเรี้ยว เพราะมีผู้คนและวัวต่างเดินไปมามากอยู่เป็นนิจ ที่ในดงบางแห่งก็มีกะปางเป็นที่ว่าง บางแห่งใต้ต้นไม้แลดูโปร่งไปไกลๆ เมื่อฉันไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) ยังเป็นพระยาประสิทธิศัลการ สมุหเทศาภิบาล ลงมารับฉันที่ปลายทางรถไฟ เวลานั้นทำถึงตำบลทับกวาง ขี่ม้าไปในดงพญาไฟด้วยกัน แกเคยไปมาในดงนั้นจนชำนาญทาง ไปถึงที่บางแห่งชวนฉันให้ลงเดินเล่นที่ในดงพญาไฟออกปากว่า “ตรงนี้งามเหมือนกับในบัวเดอบุลอย” ที่เมืองปารีส แต่ดงบังอี่ไม่เช่นนั้น พอถึงปากดงก็แลเห็นแต่ต้นยางยูงสูงใหญ่สะพรั่งไปทุกด้าน ริมต้นไม้ใหญ่ก็มีต้นไม้เล็กและกอหนามขึ้นรกชัฏ มีหนทางเป็นช่องกว้างสัก ๘ ศอก ที่จะเดินไปในดง พอเข้าไปก็รู้สึกเยือกเย็น เห็นแสงสว่างในทางเดินเพียงสักเท่าเดือนหงาย เพราะร่มไม้ใหญ่บังแสงแดดส่องลงมาไม่ถึงพื้น เดินไปในดงได้เห็นดวงอาทิตย์แต่เมื่อเวลาเที่ยงสักครู่หนึ่ง มีที่แจ้งเห็นแสงแดดก็แต่เมื่อถึงห้วยเป็นแห่งๆ หนทางที่เดินไปในดงบังอี่ ก็เหมือนแต่ร่องน้ำฝนไหลกัดมานมนานจนลึกลงไปเป็นลำราง พื้นเป็นกรวดปนดินขรุขระ บางแห่งก็มีรากไม้กีดทางระกะไป จะลงเดินเล่นหรือหาที่แวะเที่ยวอย่างดงพญาไฟก็ไม่มี เพราะรกทึบทั้งสองข้าง มีที่เตียนพอนั่งพักก็แต่ตามลำห้วย มีห้วยใหญ่ในดงแห่งหนึ่งเรียกว่า “ห้วยบังอี่” เห็นจะเป็นต้นชื่อของดงนั้น ที่ว่าดงบังอี่มีช้างเถื่อนชุมก็คงเป็นความจริง ถึงสัตว์ป่าอย่างอื่นก็คงชุม เพราะดงทึบไม่ถูกคนรบกวน สัตว์จึงชอบอาศัย แต่ฉันไปเป็นขบวนคนมาก ก็ไม่มีสัตว์ป่ามาให้เห็นอยู่เอง ได้ยินแต่เสียงชะนีกับเสียงนกยูงร้องที่ในดงเนืองๆ แต่ก็ไม่อัศจรรย์ เพราะเสียงสัตว์สองอย่างนั้น เคยได้ยินชินหูแล้ว ไปเกิดพิศวงแต่เมื่อได้ยินเสียงนกระวังไพร ซึ่งฉันไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน ได้ฟังแต่เขาเล่าว่าเสียงมันร้องเหมือนคำคน “โสกกะโดก” สองคำแล้วลงท้ายว่า “เสือขบ” พอฉันได้ยินมันร้องที่ในดงก็รู้ทันทีว่านกระวังไพร ไม่ต้องถามว่านกอะไร เพราะมันร้องเป็น ๔ พยางค์ทุกครั้ง เสียงสูงต่ำก็คล้ายกับที่เขาเปรียบ แต่ถ้าฉันไม่ได้เคยฟังคำเปรียบ ก็เห็นจะไม่ตีความโลนอย่างนั้น แต่รูปร่างนกระวังไพรมันเป็นอย่างไรฉันไม่ได้เห็น แต่เสียงมันดัง ตัวเห็นจะไม่ย่อมกว่าดุเหว่า ในดงมีประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่มักมีตัวผีเสื้อชุม มีหลายอย่าง รูปร่างสีสันแปลกๆ กัน บินเป็นหมู่ๆ ได้ดูเล่นเวลาเดินดงทุกแห่ง ดงบังอี่แปลกกับดงอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมีที่ราบเหมือนอย่างเกาะอยู่กลางดง มีคนพวกผู้ไทยไปตั้งบ้านทำไร่นาหากินอยู่สัก ๘๐ หลังคาเรือน เรียกว่า “บ้านนาเกาะ” ห่างจากเมืองมุกดาหารทาง ๗๐๐ เส้นเศษ ได้ระยะพอเหมาะพักแรมที่บ้านนั้น วันที่ ๒ เดินในดงต่อไปอีกสัก ๓๐๐ เส้น ก็พ้นดงบังอี่ที่บ้านนาคำ เเขวงเมืองยโสธร ทางในดงบังอี่สั้นกว่าดงพญาไฟวันหนึ่ง
เรื่องผีบุญ
ฉันเดินบกจากเมืองยโสธร ไปพักแรมที่เมืองเสลภูมิเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม เมืองนี้เป็นที่มีเทือกหินแลงมากจึงได้ชื่อว่า “เมืองเสลภูมิ” เคยเป็นปัจจัยในเรื่องผีบุญซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลอีสาน เป็นการใหญ่โตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ จะเลยเล่าถึงเรื่องผีบุญไว้ในนิทานนี้ด้วย
เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ มีลายแทง (คือใบลานจารหนังสือ) เกิดขึ้นทางเมืองริมแม่น้ำโขง จะเริ่มมีในแดนฝรั่งเศสหรือแดนไทย และใครจะเป็นผู้คิดทำขึ้น สืบก็ไม่ได้ความ หนังสือในลายแทงนั้นเป็นคำพยากรณ์ว่า ถึงกลางเดือน ๖ ปีฉลู (พ.ศ. ๒๔๔๔) จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง เงินทองทั้งปวงจะกลายเป็นกรวดทรายไปหมด ก้อนกรวดในหินแลงจะกลับเป็นเงินทอง หมูก็จะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน แล้วท้าวธรรมิกราชผีบุญ (คือผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากจะพ้นภัยก็ให้คัดลอกหรือบอกความตามลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป ใครอยากจะมั่งมีก็ให้เก็บกรวดหินแลง รวบรวมไว้ให้ท้าวธรรมิกราชชุบเป็นเงินเป็นทอง ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าหมูเสียก่อนกลางเดือน ๖ อย่าให้ทันมันกลายเป็นยักษ์ พวกราษฎรชาวลานช้างพากันหวั่นหวาด ก็บอกเล่าเลืองลือกันแพร่หลายไปในมณฑลอีสาน ตลอดจนถึงมณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา แต่พนักงานปกครองเห็นว่าเป็นคำของคนโง่ เล่าลือกันไปพักหนึ่งแล้วคงจะเงียบหายไปเอง ก็ไม่ทำอย่างไร ฉันได้ยินข่าวก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกันจึงเฉยเสีย แต่คำพยากรณ์ไม่เงียบไปดังเช่นคาด ตกถึงตอนปลายปีชวด ก็ปรากฏว่ามีพวกราษฎรตามเมืองต่างๆ ในมณฑลอีสาน พากันไปเก็บกรวดที่ตามเนินหินแลงในเมืองเสลภูมิมากมายเกลื่อนกลุ้ม และได้ข่าวว่าราษฎรเหล่านั้นพูดกันว่าพอถึงเดือน ๖ จะฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้เสียให้หมด พนักงานปกครองก็เกิดลำบาก จะจับตัวผู้กระทำผิดก็ไม่มีใครเป็นผู้ยุยงส่งเสริม ราษฎรเป็นแต่กลัวกันไปเอง ก็ได้แต่สั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ชี้แจงห้ามปรามราษฎรว่าอย่าให้เชื่อถือคำทำนายนั้น มีผลเพียงทำให้คนหยุดเก็บกรวดที่เมืองเสลภูมิ แต่ไม่สามารถจะให้คนหายหวาดหวั่นได้ ในไม่ช้าก็มีคนตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นในมณฑลอีสาน ตามคำของคนที่ได้เคยพบตัว ว่าเป็นคนในพื้นเมืองนั้นเอง เดิมจะชื่อไรและเป็นชาวเมืองไหนสืบไม่ได้ความจนแล้ว แต่เห็นจะเป็นคนเคยบวช จึงถนัดใช้คาถาอาคมเสกเป่าให้คนนับถือ ในชั้นแรกก็ทำตัวเป็นแต่คนจำศีลภาวนานุ่งขาวห่มขาว ไปถึงไหนก็บอกราษฎรว่าจะมีเหตุร้ายแรง ดังคำในลายแทง ให้ระวังตัว ฝ่ายราษฎรหวาดหวั่นกันอยู่แล้ว ครั้นเห็นคนจำศีลแปลกหน้ามา ก็สำคัญว่าคงทรงคุณวิเศษ พากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัย ผู้วิเศษนั้นก็เสกคาถาอาคม รดน้ำมนตร์ให้ตามประสงค์ ข่าวที่มีผู้วิเศษรับจะช่วยป้องกันภัย รู้ไปถึงไหน ก็มีราษฎรที่นั่นพากันไปหา โดยประสงค์เพียงจะขอให้เสกเป่ารดน้ำมนตร์ให้ก็มี ที่นึกว่าเป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญมาบำรุงโลก เลยสมัครเข้าเป็นพรรคพวก ติดตามผู้วิเศษนั้นก็มี ผู้วิเศษไปทางไหนหรือพักอยู่ที่ไหน พวกชาวบ้านก็รับรองเลี้ยงดู เลยเป็นเหตุให้มีคนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อผู้วิเศษนั้น เห็นว่ามีคนนับถือกลัวเกรงมาก ก็เลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่า เป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญที่จะมาดับยุคเข็ญตามคำพยากรณ์
เวลานั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงเป็นตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานอยู่ ณ เมืองอุบล มีทหารชาวกรุงเทพฯ อยู่ด้วยสัก ๒๐๐ คน นอกจากนั้นเป็นทหารชาวเมืองฝึกหัดขึ้น รวมทหารทั้งหมดไม่ถึง ๕๐๐ คน เมื่อแรกทรงทราบว่ามีผู้ตั้งตัวเป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญ คาดว่าจะเป็นแต่คนคิดหากินด้วยหลอกลวงราษฎร จึงตรัสสั่งให้นายร้อยเอก หม่อมราชวงศ์ร้าย คุมทหารชาวเมืองหมวดหนึ่ง ไปเอาตัวผีบุญเข้ามายังเมืองอุบล หม่อมราชวงศ์ร้ายไปพบผีบุญอยู่กับพรรคพวกที่บ้านแห่งหนึ่ง จะเป็นที่แขวงเมืองไหนในมณฑลอีสานฉันลืมไปเสียแล้ว ห่างเมืองอุบลทางสักสองสามวัน หม่อมราชวงศ์ร้ายเข้าไปในบ้านเห็นผีบุญนั่งอยู่บนเรือนก็กวักมือเรียกให้ลงมาหา แต่ผีบุญกลับถลึงตาชี้หน้าหม่อมราชวงศ์ร้าย หม่อมราชวงศ์ร้ายเหลียวหลังกลับมาสั่งพวกทหารให้เข้าไปจับ แต่พวกทหารชาวเมืองกลัวผีบุญ วิ่งหนีไปเสียหมดแล้ว หม่อมราชวงศ์ร้ายเหลือแต่ตัวคนเดียวก็ต้องหนีเอาชีวิตรอดกลับมา ผีบุญก็เลยกำเริบสั่งให้พรรคพวกรวบรวมผู้คน หาเครื่องศัสตราวุธเข้ากันเป็นกองใหญ่ ว่าจะยกมาเอาเมืองอุบลเป็นที่ตั้งตัว ใครไม่ยอมมาด้วยก็ให้ฆ่าเสีย พวกผีบุญก็กลายเป็นกบฏขึ้นแต่นี้ไป เวลานั้นกรมหลวงสรรพสิทธิฯ ก็ยังทรงพระดำริว่าถ้าให้มีทหารชาวกรุงเทพฯ กำกับพวกทหารชาวเมืองคงจะรบพุ่งพอปราบพวกผีบุญได้ จึงโปรดให้ทหารกรุงเทพฯ หมวดหนึ่ง นำทหารหัวเมืองกองร้อยหนึ่ง (ใครเป็นผู้บังคับการฉันลืมเสียแล้ว) ยกออกไป ไปพบพวกผีบุญห่างเมืองอุบลทางสัก ๒ วัน แต่คราวนี้พวกผีบุญเตรียมตัวจะมารบ เขาเล่าว่าตัวผีบุญนุ่งขาวห่มขาวเดินประนมมือเสกเป่ามากลางไพร่พล พอปะทะกับทหาร พวกผีบุญก็เข้ารบก่อน รบกันได้หน่อยหนึ่งพวกทหารชาวเมืองก็แตกหนีผีบุญอีก ทหารกรุงเทพฯ เหลืออยู่น้อยตัวก็ต้องล่ามา พวกผีบุญชนะทหารครั้งนี้เลยได้คนเข้าสมัครพรรคพวกมากขึ้น รวมกันราวกว่า ๑,๐๐๐ คน ยกตรงมายังเมืองอุบล ว่าจะปลงพระชนม์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสียก่อนแล้วจึงจะขึ้นนั่งเมือง แต่กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านพระทัยเย็น ไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามอย่างไร คราวนี้ตรัสสั่งให้ใช้แต่ทหารกรุงเทพฯ ราวสัก ๑๐๐ เศษ มีปืนใหญ่อย่างสำหรับใช้บนเขาด้วย ๒ กระบอก ให้นายร้อยเอก หลวงชิตสรการ (จิตร) ซึ่งเคยเป็นนายทหารปืนใหญ่อยู่แต่ก่อน เป็นผู้บังคับการคุมไปรบพวกผีบุญ หลวงชิตสรการไปเลือกได้ที่ชัยภูมิที่ตำบลบ้านสาพือ ห่างเมืองอุบลไปทางวันหนึ่ง ที่ตรงนั้นทางเดินเข้ามาเมืองอุบลเป็นย่านตรง สองข้างเป็นป่าไม้ทึบเหมือนต้องเดินมาในตรอก หลวงชิตสรการให้ทหารตั้งซุ่มอยู่ในป่าที่ตรงหัวเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่บรรจุกระสุนปรายซ่อนไว้ในซุ้มต้นไม้หมายยิงตรงไปในตรอกนั้น ถึงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔ พวกผีบุญยกมาถึงบ้านสาพือ หลวงชิตสรการให้ทหารปืนเล็กหมวดหนึ่งออกขยายแถวยิงเหมือนอย่างว่าจะต้านทาน แล้วให้ทำล่าถอย ล่อพวกผีบุญให้ตามมาทางในตรอก พอเข้าทางปืน หลวงชิตสรการก็ให้ยิงปืนใหญ่ พวกทหารที่ได้ไปด้วยเขามาเล่า ว่ายิงนัดแรกตั้งศูนย์สูงนักลูกปืนข้ามหัวไป พวกผีบุญก็ยิ่งกำเริบพากันเต้นแรงเต้นกา อวดเก่งต่างๆ แต่ยิงนัดที่ ๒ ถูกพวกที่มาข้างหน้าหัวเด็ดตีนขาดล้มตายลงเป็นระเนน พวกที่มาข้างหลังก็หยุดชะงัก ยิงซ้ำนัดที่ ๓ ที่ ๔ ถูกพวกนั้นตายเป็นจุณวิจุณไป พวกผีบุญที่เหลืออยู่ก็แตกหนีเอาชีวิตรอดไม่มีใครต่อสู้ ทหารไล่จับเอาตามชอบใจ แต่นั้นชาวมณฑลอีสานก็สิ้นกลัว ช่วยจับกุมพวกผีบุญในไม่ช้าก็ราบคาบ คำพยากรณ์ก็เงียบหายไปด้วยกัน แต่ตัวท้าวธรรมิกราชผีบุญนั้น มีผู้เห็นเพียงเมื่อเดินเสกเป่ามากลางพล จะถูกปืนตายเมื่อรบกับทหารหรือจะหนีรอดไปได้ หรือกรมหลวงสรรพสิทธิฯ จะตามจับตัวได้เมื่อภายหลัง ฉันไม่รู้แน่ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านส่งแต่มงกุฎของผีบุญเข้ามากรุงเทพฯ เป็นหมวกหนีบสักหลาดสีแดงขอบสีขาบมีไหมทองปักเป็นลาย พิจารณาดู เหมือนจะเคยเป็นหมวกของคนอื่นเขาใช้แล้ว ท้าวธรรมิกราชจึงได้มาทำเป็นเครื่องยศ ฉันส่งไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานยังปรากฏอยู่ เป็นสิ้นเรื่องผีบุญเท่านี้
คนต่างจำพวก
พวกพลเมืองในมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน ที่ฉันไปพบมีไทยลานช้างเป็นพื้น แต่ยังมีคนจำพวกอื่นที่ผิดกับไทยลานช้าง และมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นๆ ต่างหากอีกหลายจำพวก ฉันได้ลองไถ่ถามดูได้ความว่ามี ๘ จำพวกต่างกัน คือ
๑. พวกผู้ไทย ว่าถิ่นเดิมอยู่ทางเมืองพวนข้างฝ่ายเหนือ พูดภาษาไทย ใช้ถ้อยคำผิดกับไทยลานช้างบ้างและเสียงแปร่งไปอย่างหนึ่ง ฉันพบตามเมืองต่างๆ ในสองมณฑลนั้นหลายแห่ง แต่ที่เมืองเรณูนครขึ้นเมืองสกลนครดูเหมือนจะมีมากกว่าที่อื่น สังเกตดูผิวพรรณผ่องกว่าจำพวกอื่น ผู้หญิงหน้าตาอยู่ข้างหมดจด เคยมีการฟ้อนรำให้ฉันดูเป็นคู่ๆ คล้ายกับจับระบำตามภาษาของเขา
๒. พวกกะเลิง พบในแขวงจังหวัดสกลนครมีมาก ว่าถิ่นเดิมอยู่เมืองกะตาก แต่ไม่รู้ว่าเมืองกะตากอยู่ที่ไหน เพราะอพยพมาอยู่ในแดนลานช้างหลายชั่วคนแล้ว พูดภาษาหนึ่งต่างหาก ผู้ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า และมักสักเป็นรูปนกที่แก้ม
๓. พวกย้อ พบที่เมืองท่าอุเทน พูดภาษาไทยแต่สำเนียงแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ถามถึงถิ่นเดิมบอกได้แต่ว่าเดิมอยู่ที่เมืองชัยบุรี ใกล้ๆ กับเมืองท่าอุเทนนั่นเอง หนีกองทัพกรุงเทพฯ ข้ามไปอยู่ที่เมืองหลวงโปงเลงทางฝั่งซ้ายใกล้กับแดนญวนเสียคราวหนึ่ง แล้วจึงพากันกลับมาอยู่ที่เมืองท่าอุเทนเมื่อรัชกาลที่ ๓ ในหนังสือ “เรื่องแหลมอินโดจีน” ของนาย ย.ส. อนุมานราชธนว่า แต่โบราณชาวเมืองตังเกี๋ยและเมืองอันนัมมีนามเรียกกันว่า “เหยอะ” จะเป็นมูลของคำ “ย้อ” ได้ดอกกระมัง
๔. พวกแสก อยู่ที่เมืองอาจสามารถขึ้นเมืองนครพนม ว่าถิ่นเดิมอยู่เมืองแสกทางฝั่งซ้ายใกล้เชิงเขาบรรทัดต่อแดนญวน แต่ฉันสงสัยว่าที่จริงจะมิได้มาจากทางแดนญวน เพราะพวกแสกพูดภาษาไทย ผิวพรรณก็เป็นไทย เขาพาพวกผู้หญิงแสกมามีการเล่นให้ฉันดูอย่างหนึ่งเรียกว่า “เต้นสาก” มีผู้หญิง ๑๐ คู่นั่งหันหน้าหากันเรียงเป็นแถว แต่ละคนถือปลายไม้พลองมือละอันทั้งสองข้าง วางไม้พลองบนไม้ขอนที่ทอดไว้ตรงหน้า ๒ ท่อนมีทางอยู่กลาง เวลาเล่นหญิง ๑๐ คู่นั้นขับร้อง แล้วเอาไม้พลองที่ถือลงกระทบไม้ขอนพร้อมๆ กันเป็นจังหวะ จังหวะ ๑ กับจังหวะ ๒ ถือไม้พลองให้ห่างกัน ถึงจังหวะ ๓ รวบไม้พลองเข้าชิดกัน มีหญิงสาว ๔ คน ผลัดกันเต้นทีละคู่ เต้นตามจังหวะไปในระหว่างช่องไม้พลองที่คนถือทั้ง ๑๐ คู่ ต้องระวังเมื่อถึงจังหวะ ๓ อย่าให้ถูกไม้พลองหนีบข้อตีน กระบวนเล่นมีเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่การเล่น “เต้นสาก” นี้ มีพวกกะเหรี่ยงทางชายแดนเมืองราชบุรีเล่นอีกพวกหนึ่ง พวกกะเหรี่ยงกับพวกแสกอยู่ห่างกันอย่างสุดหล้าฟ้าเขียว ไฉนจึงรู้จักการเล่นเช่นเดียวกัน ข้อนี้น่าพิศวง
๕. พวกโย้ย อยู่ที่เมืองอากาศอำนวยขึ้นเมืองสกลนคร ถามไม่ได้ความว่าถิ่นเดิมอยู่ที่ไหน
๖. พวกกะตาก พบที่เมืองสกลนคร ว่ามีแต่แห่งละเล็กละน้อย สืบก็ไม่ได้ความว่าถิ่นเดิมอยู่ที่ไหน
๗. พวกกะโซ้ เป็นข่าผิวคล้ำกว่าชาวเมืองจำพวกอื่นและพูดภาษาของตนต่างหาก มีในมณฑลอุดรหลายแห่ง แต่รวมกันอยู่มากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลขึ้นจังหวัดสกลนคร เจ้าเมืองกรมการและราษฎรล้วนเป็นข่ากะโซ้ทั้งนั้น บอกว่าถิ่นเดิมอยู่ ณ เมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้าย อันที่จริงพวกกะโซ้เป็นแต่ข่าจำพวกหนึ่ง ยังมีชนชาติข่าจำพวกอื่นอีกหลายจำพวก มีอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งแต่ในแขวงเมืองหลวงพระบางตลอดลงไปจนต่อแดนเขมร ภาษาของพวกข่าเป็นภาษาคล้ายมอญเจือเขมร แต่พวกกะโซ้ที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลพูดภาษาไทยได้โดยมาก ขนบธรรมเนียมเช่นเครื่องแต่งตัวเป็นต้น ก็มาใช้ตามอย่างไทยเสียโดยมาก ถึงกระนั้นก็ยังรักษาประเพณีเดิมของข่าไว้บางอย่าง ฉันได้เห็นการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑลเอามามีให้ดู เรียกว่า “สะลา” คนเล่นล้วนเป็นผู้ชายเปลือยตัวเปล่า นุ่งผ้าขัดเตี่ยวมีชายห้อยข้างหน้ากับข้างหลังอย่างเดียวกับพวกเงาะนุ่ง “เลาะเตี๊ยะ” ลักษณะที่เล่นนั้น มีหม้ออุตั้งอยู่กลางหม้อหนึ่ง คนเล่นเดินเป็นวงรอบหม้ออุ มีต้นบทนำขับร้องคนหนึ่ง สะพายหน้าไม้คนหนึ่ง ตีฆ้องเรียกว่า “พเนาะ” คนหนึ่ง ถือไม้ไผ่ ๓ ปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะ ๒ คน คนรำ ๓ คน ถือชามติดเทียน ๒ มือคนหนึ่ง ถือตะแกรงคนหนึ่ง ถือมีดกับสิ่วเคาะกันเป็นจังหวะคนหนึ่ง รวม ๘ คนด้วยกัน กระบวนเล่นก็ไม่มีอะไรนอกจากเดินร้องรำเวียนเป็นวง เล่นพักหนึ่งแล้วก็นั่งลงกินอุ แล้วก็ร้องรำไปอีกอย่างนั้น เห็นได้ว่าเป็นการเล่นของพวกข่าตั้งแต่ยังเป็นคนป่า เมื่อมาเล่นให้ดู ดูคนเล่นก็ยังสนุกกันดี พวกกะโซ้ยังผิดกับคนจำพวกอื่นอีกอย่างหนึ่ง ที่กินอาหารไม่เลือก กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเคยตรัสเล่า ว่าเมื่อเสด็จประทับอยู่มณฑลอุดร พระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล (คนที่มารับฉันนั่นเอง) ไปเฝ้า ตรัสถามว่า “เขาว่าพวกแกกินหมาจริงหรือ” พระอรัญฯ ทูลรับว่า “พวกกะโซ้ชอบแจ๊ะจอ” จะทรงพิสูจน์ จึงให้หาสำรับเลี้ยงพระอรัญฯ มีจอย่างด้วยตัวหนึ่ง พระอรัญฯ ก็แจ๊ะจอถวายให้ทอดพระเนตรอย่างเอร็ดอร่อยไม่รังเกียจ คนอื่นเขาเล่ากันต่อไปว่าวันนั้น คนในตำหนักพากันออกไปดูพระอรัญฯ แจ๊ะจอ แต่ทนอยู่ไม่ได้ต้องหนีกลับเข้าตำหนักหมด
๘. ฉันอยากรู้ว่าคนที่เรียกชื่อต่างๆ กันดังพรรณนามา จะเป็นเชื้อสายมนุษยชาติต่างกันสักกี่ชาติ ได้ลองพิสูจน์ดูอย่างหยาบๆ เมื่อพบจำพวกไหนให้ถามคำปริมาณตั้งแต่ ๑ จน ๑๐ ตามภาษาของคนจำพวกนั้น จดไว้แล้วเอาเทียบกันดู ได้ความว่ามีแต่เป็นเชื้อชาติไทยกับเชื้อชาติข่า ๒ ชาติเท่านั้น เมื่อฉันไปมณฑลอีสานครั้งหลัง ไปพบ “เขมรป่าดง” อีกจำพวกหนึ่ง สอบสวนได้ความว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังคะ เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และอำเภอประโคนชัย (เดิมชื่อว่าเมืองตะลุง) ในจังหวัดนครราชสีมา บรรดาอยู่ทางฝ่ายใต้ต่อแดนกัมพูชา ชาวเมืองเป็น “เขมรป่าดง” ทั้งนั้น พูดภาษาเขมร และมีการเล่นอย่างโบราณหลายอย่าง เช่นเอาใบไม้มาเป่าเป็นเพลงเข้ากับขับร้อง ที่เรียกกันว่า “เขมรเป่าใบไม้” เป็นต้น ฉันเคยได้ยินแต่เรียกชื่อมาแต่ก่อน เพิ่งไปเห็นเล่นกันจริงครั้งนั้น
รวมความว่าด้วยคนต่างจำพวก ที่เป็นชาวมณฑลอุดรและอีสาน มีไทยมากกว่าจำพวกอื่นหมด รองลงมาก็ข่ากับเขมร เมื่อได้ความอย่างนั้นก็เกิดสงสัยว่า “ลาว” มีอยู่ที่ไหน จึงเรียกมณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอีสาน ว่า “เมืองลาว” มาแต่ก่อน แต่เป็นปัญหาใหญ่เกินขนาดนิทานนี้ จะกล่าวแต่โดยย่อว่ามีเค้าเงื่อน ดูเหมือนพวกที่เรียกกันว่า “ละว้า” หรือ “ลวะ” จะเป็นลาวเจ้าของท้องถิ่นเดิมทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพวกข่าน่าจะเป็นลาวเจ้าของของถิ่นเดิมทางลุ่มแม่น้ำโขง พวกนักปราชญ์โบราณคดีกำลังค้นหาหลักฐานอยู่
ของโบราณ
บนแผ่นดินสูง ที่ตั้งมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มีพุทธาวาสและเทวสถาน ซึ่งมักเรียกปนกันว่า “ปราสาทหิน” สร้างไว้แต่โบราณมากมายหลายแห่งแทบนับไม่ถ้วน แม้ไม่มีขนาดใหญ่โตเหมือนเช่นที่นครวัดเมืองเขมร แต่ก็มีที่แปลกและที่สร้างด้วยฝีมืออย่างประณีตน่าชมหลายแห่ง จะพรรณนาว่าแต่ที่สำคัญกว่าเพื่อน ๔ แห่ง อันเป็นบุญตาของฉันที่ได้ไปเห็นทั้งนั้น
๑. ปราสาทหินเมืองพิมาย อยู่ริมแม่น้ำมูล ในแขวงจังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองโบราณ มีประตูและปราการก่อด้วยหิน ตรงกลางเมืองมีปราสาทหิน เดิมสร้างเป็นพุทธาวาสตามคติมหายาน แล้วพวกถือศาสนาพราหมณ์ตามลัทธิวิษณุเวท มาสร้างพระระเบียงกับวิหารทิศเพิ่มขึ้น เพราะตามคตินารายณ์สิบปาง อ้างว่าพระวิษณุแบ่งภาคลงมาเป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่ง จึงกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปด้วยเหมือนกัน การถือคติอย่างว่านี้ ยังเห็นได้ แม้ในกรุงเทพฯ ก็มักมีชาวอินเดียที่ถือลัทธิวิษณุเวท เข้าไปกราบไหว้บูชาพระแก้วมรกต ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเนืองๆ ปราสาทหินที่เมืองพิมาย องค์ปรางค์ใหญ่ที่เป็นประธานจำหลักรูปภาพเป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนาอย่างคติมหายาน เห็นได้ว่าเป็นของสร้างก่อน แต่ที่พระระเบียงและวิหารทิศจำหลักรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ส่อให้เห็นว่าสร้างเมื่อภายหลัง และเป็นที่บูชาทั้งสองศาสนาระคนกันดังกล่าวมา บรรดาปราสาทหินที่บนแผ่นดินสูง ล้วนเอาแบบปราสาทหินในเมืองเขมรมาสร้างทั้งนั้น มีแปลกเป็นอย่างอื่น แต่พระวิหารกับพระธาตุพนม ๒ แห่ง ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า แต่ที่เมืองพิมายมีของแปลก ซึ่งไม่ได้ยินว่ามีในเมืองเขมรอยู่สิ่งหนึ่ง ทำเป็นรูปมหาพราหมณ์ จำหลักศิลาขนาดใหญ่กว่าตัวคนสักเท่าหนึ่ง ฝีมือทำเกลี้ยงเกลาดี เมื่อฉันไปครั้งแรกเห็นรูปนั้นยังบริบูรณ์ดี ตั้งอยู่ในปรางค์เล็กองค์หนึ่ง แต่เมื่อฉันไปครั้งที่ ๒ เห็นหัวหักหายไป นึกเสียดายอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชสิ้นพระชนม์ วันหนึ่งฉันไปช่วยงานหน้าพระศพที่วัง เห็นหัวนั้นตั้งอยู่ในห้องเสวย ฉันจำได้ ถามได้ความว่ามีผู้ถวายกรมหลวงนครชัยศรีฯ นานมาแล้ว ครั้นเมื่อจัดพิพิธภัณฑสถาน ฉันจึงไปขอมา แล้วสั่งให้ส่งตัวรูปนั้นลงมาจากเมืองพิมาย เอาต่อกันตั้งไว้ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ จนบัดนี้ เป็นอันได้ของดีกลับคืนมาเป็นสมบัติของบ้านเมืองต่อไป
ที่ปราสาทหินเมืองพิมายยังมีของประหลาดอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งฉันสังเกตเห็นตั้งแต่ไปครั้งแรก คือมีวัดสร้างไว้ที่ตรงมุมในบริเวณปราสาทหินวัดหนึ่ง โบสถ์และใบเสมาทำเป็นแบบวัดหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา ผิดกับวัดอื่นๆ ดูแปลกตา พิจารณาดูในเรื่องพงศาวดารมีอยู่ ว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชบุตรของพระเจ้าบรมโกศ ไปตั้งเป็นอิสระอยู่ ณ เมืองพิมาย เรียกกันว่า “เจ้าพิมาย” จึงเห็นว่าวัดนั้นเจ้าพิมายคงสร้างขึ้นเฉลิมพระยศ เช่นเป็นที่ทำพิธีถือน้ำเป็นต้น มีช่างชาวพระนครศรีอยุธยาไปอยู่ด้วย จึงสามารถสร้างตามแบบวัดหลวงที่ในกรุงฯ แต่ทำเพียงด้วยเครื่องไม้ตามประสายาก โบสถ์นั้นจะคงอยู่อย่างเดิมจนเดี๋ยวนี้ หรือจะมีใครแก้ไขเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้วหาทราบไม่
๒. “ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง” ฉันเห็นเมื่อไปมณฑลอีสานครั้งหลัง อยู่ที่อำเภอชัยภูมิแขวงจังหวัดนครราชสีมา สร้างไว้บนยอดเขาพนมรุ้งใกล้เมือง ซึ่งเรียกกันว่า “เมืองต่ำ” อันอยู่ที่เชิงเขา ทำเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวท ไม่มีพระพุทธศาสนาเจือปน แต่องค์ปรางค์ใหญ่ที่เป็นประธาน พังทลายลงเสียแล้ว ไม่เห็นรูปทรงของเดิมได้เหมือนอย่างที่เมืองพิมาย แต่พิจารณาดูเห็นว่าจะเป็นของสร้างภายหลังปราสาทหินที่เมืองพิมาย
๓. “พระวิหาร” อยู่ในเขตเมืองขุขันธ์ สร้างเป็นเทวสถานตามลัทธิศิวเวท ปราสาทหินพระวิหารแปลกกับปราสาทหินแห่งอื่นๆ หมด ทั้งในแดนเขมรและในแดนไทยไม่มีที่ไหนเหมือน ที่แปลกนั้นเป็น ๒ สถาน คือสถานหนึ่งทำรูปทรงเหมือนอย่างเป็นพลับพลาต่อติดกันไปหลายหลัง หลังคามีช่อฟ้าใบระกาตามมุขคล้ายกับปั้นลมเรือนฝากระดานไม่มีปรางค์ ไม่มีพระระเบียง แลดูเหมือนเป็นราชมนเทียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกว่าเป็นเทวสถาน ที่บูชาก็มีแต่รอยที่ตั้งศิวลึงค์เป็นพระประธานอยู่ในห้องกลางแห่งเดียว จึงแปลกกับปราสาทหินแห่งอื่นๆ ด้วยแบบที่สร้างสถานหนึ่ง
แปลกอีกสถานหนึ่งนั้น ด้วยไปเลือกที่สร้างตรงปลายจะงอยหน้าผาแห่งหนึ่งบนยอดเขาพนมดงรัก อันเป็นเทือกเขาเขื่อนแผ่นดินสูงที่ตั้งมณฑลอีสาน ต่อกับแผ่นดินต่ำที่ตั้งประเทศกัมพูชา ที่ตรงนั้นกันดารน้ำ คงเป็นที่เปลี่ยวไม่มีบ้านผู้เมืองคน เหตุที่สร้างพระวิหาร ดูมีเหมาะอย่างเดียวแต่ที่อยู่ตรงนั้นแลดูไปทางข้างใต้เห็นแผ่นดินอยู่ต่ำไปจนตลอดสายตา เหลียวกลับมาดูทางข้างเหนือ ก็เห็นยอดไม้อยู่บนแผ่นดินสูง เป็นดงไปตลอดสายตา ภาคภูมิน่าพิศวงไม่มีที่ไหนเหมือน ตรงหลังบริเวณพระวิหารออกไปเป็นหินดาด อาจจะออกไปชะโงกดูแผ่นดินต่ำที่เชิงเขา ถ้ายืนดูถึงใจหวิว ต้องลงนั่งดู บางคนอยากออกไปดูถึงปลายจะงอย ลงนอนพังพาบโพล่แต่หัวออกไปดูก็มี เพราะอยู่สูงแลเห็นแผ่นดินต่ำลึกลงไปจนต้นตาลเตี้ยนิดเดียว เลยทำให้นึกถึงคำซึ่งเคยได้ยินเขาพูดกันมาแต่ก่อน ว่าแผ่นดินที่เมืองนครราชสีมาสูงกว่าแผ่นดินในกรุงเทพฯ ๗ ลำตาล เขาจะรู้ได้ด้วยประการใดก็ตาม แต่ก็จริงเช่นนั้น ตรงที่สร้างพระวิหารจะสูงกว่า ๗ ลำตาลเสียอีก ไปดูพระวิหารต้องไปทางเปลี่ยวไกลอยู่สักหน่อย แต่เป็นที่ราบ ฉันลงจากรถไฟที่เมืองศรีสะเกษ ขึ้นรถยนต์อย่างรถกระบะไปราว ๖ ชั่วโมง ทางที่ไปเป็นป่าไม้เต็งรังป่าต้นสน สลับกับไม้เบญจพรรณงามน่าชม ไปเข้าดงเมื่อใกล้จะถึงเชิงเขาพนมดงรัก เป็นแต่ทางเดินขึ้นไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งจึงถึงลาน พักแรมที่เชิงยอดเขาพระวิหาร ตอนขึ้นเขานี้ไม่มีน้ำ คนขึ้นต้องหอบหิ้วเอาน้ำขึ้นไปเองแต่เชิงเขา นึกดูน่าพิศวงว่าเมื่อสร้างพระวิหารจะทำอย่างไรกัน
๔. พระเจดีย์ธาตุพนม อยู่ริมแม่น้ำโขงในแขวงจังหวัดนครพนม สร้างเป็นพระสถูปทางพระพุทธศาสนา จะสร้างตามคติมหายานหรือหินยานไม่มีที่สังเกตเหมือนอย่างที่เมืองพิมาย แต่ไม่มีเค้าศาสนาพราหมณ์เจือปน บรรดาเจดียสถานในพระพุทธศาสนาซึ่งสร้างในสมัยขอม ทั้งสร้างในเมืองเขมรและเมืองไทย ที่สร้างพระสถูปเป็นประธานมีแต่พระธาตุพนมแห่งเดียว หามีที่อื่นไม่ ทั้งรูปสัณฐานและลวดลายก็เป็นอย่างหนึ่งต่างหาก นอกจากแบบช่างขอม ชวนให้เห็นว่าจะสร้างก่อนสมัยขอม คือสร้างแต่ในสมัยเมื่อมีประเทศอันหนึ่งซึ่งเรียกในจดหมายเหตุจีนว่า “ฟูนัน” คล้ายกับ “พนม” เป็นใหญ่อยู่ต่างหาก รูปทรงพระเจดีย์ธาตุพนมเป็น ๔ เหลี่ยมเหมือนมณฑป มีซุ้มตันด้านละซุ้มซ้อนกัน ๓ ชั้นเล็กเป็นหลั่นขึ้นไป แล้วถึงองค์พระสถูปอยู่เบื้องบนมณฑป ๓ ชั้นนั้น ยอดพระสถูปหุ้มแผ่นทองคำ เช่นเดียวกับพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ขนาดพระสถูปดูก็จะเท่าๆ กัน
ลักษณะที่ก่อสร้างเจดียสถานในสมัยขอมมี ๔ อย่างต่างกัน จะชี้ตัวอย่างที่พึงเห็นได้ในเมืองไทยนี้ คือก่อด้วยหินทรายล้วน เช่นปรางค์ที่เมืองพิมายอย่างหนึ่ง ก่อด้วยหินแลงประกอบกับหินทราย เช่นปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรีอย่างหนึ่ง ก่อด้วยอิฐประกอบหินทราย เช่นปรางค์ระแงงอยู่ริมทางรถไฟที่เมืองขุขันธ์อย่างหนึ่ง ก่อด้วยอิฐล้วน เช่นพระธาตุพนมอย่างหนึ่ง ทำต่างกันเป็น ๔ อย่างดังว่ามาทั้งในเมืองเขมรและเมืองไทย ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่การก่ออิฐในสมัยนั้น ไม่ใช้ก่อด้วยปูน เขาใช้ยางอะไรอย่างหนึ่งเชื่อมหน้าอิฐให้ชิดสนิทกัน จนเห็นแต่เป็นรอยต่อ ที่พระธาตุพนมยังมีแปลกต่อไปอีก ที่รูปภาพและลวดลายประดับเจดีย์ล้วนจำหลักตัวอิฐที่ก่อนั้นเอง มิได้ปั้นประกอบเข้าต่างหาก จนถึงอ้างในตำนานซึ่งแต่งขึ้นในถิ่นนั้นภายหลังมา ว่าพระธาตุพนมนั้น แรกก่อด้วยอิฐดินดิบ เมื่อก่อและจำหลักเสร็จแล้ว จึงกองไฟขึ้นท่วมองค์พระเจดีย์ เผาอิฐให้สุกอย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ แต่เทวสถานก่อด้วยอิฐมีในเมืองเขมร บางแห่งปรากฏรอยจำหลักรูปภาพยังค้างอยู่ เห็นได้ว่าเขาก่อด้วยอิฐเผาแล้ว และยังมีประหลาดต่อไปที่วิชาก่อและจำหลักอิฐ เช่นที่พระธาตุพนม เดี๋ยวนี้พวกช่างชาวเกาะบาหลีในเมืองชวา ยังทำกันอยู่ ฉันได้เคยไปเห็นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น