นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง
เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลอุดรกับมณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ และได้เขียนเล่าเรื่องที่ไปครั้งนั้นให้หอพระสมุดฯ พิมพ์แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว ในนิทานนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยลัทธิธรรมเนียมกับของแปลกประหลาด ที่ฉันได้พบเห็นเมื่อไปครั้งนั้น เป็นเรื่องยาวอยู่สักหน่อย จึงแบ่งเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เรียกว่า “เรื่องลานช้าง” เรื่องหนึ่ง “เรื่องแม่น้ำโขง” เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องราวที่ไปจะบอกเพียงให้รู้ว่าไปทางไหนบ้าง
ทางที่ไป
ฉันออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ไปด้วยรถไฟพิเศษจนถึงเมืองนครราชสีมา ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ขี่ม้าไป ๑๔ วันถึงเมืองหนองคาย ครั้งนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสมีแก่ใจจัดเรือไฟชื่อ ลาแครนเดีย อันเป็นพาหนะสำหรับข้าหลวงลำหนึ่ง กับเรือไฟสำหรับบรรทุกของลำหนึ่งส่งมาให้ฉันใช้ทางลำแม่น้ำโขง จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคาย ระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป ๓ วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง ๒ วันถึงเมืองมุกดาหาร ขึ้นเดินบกแต่เมืองมุกดาหารเข้ามณฑลอีสานทาง ๕ วันถึงเมืองยโสธร เวลานั้นข้าหลวงปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสกำลังประชุมกันอยู่ที่เมืองอุบล ฉันจึงไม่ไปเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นแต่ได้สนทนากันด้วยโทรศัพท์ ออกจากเมืองยโสธรเดินบกไปเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด แล้วผ่านเมืองมหาสารคามมาในเขตมณฑลอีสานทาง ๗ วัน ถึงเมืองผไทสง ปลายเขตมณฑลนครราชสีมา แต่นั้นมาทาง ๓ วันถึงเมืองพิมาย ได้รับสารตรากระทรวงมหาดไทย ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสห้ามมิให้เข้าไปพักที่เมืองนครราชสีมา ด้วยเป็นเวลามีกาฬโรค ออกจากเมืองพิมาย เดินทาง ๒ วันมาถึงบ้านท่าช้างห่างเมืองนครราชสีมา ๔๕๐ เส้น จึงพักแรมอยู่ที่นั่น แล้วออกเดินแต่ดึก มาถึงสถานีรถไฟ พอได้เวลาขึ้นรถไฟพิเศษกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ นั้น รวมเวลาที่ไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ๓ เดือนหย่อน ๔ วัน ซึ่งสามารถไปได้นานวันถึงเพียงนั้น เพราะทางที่ไปเลียบสายโทรเลขไปโดยมาก เป็นบุญคุณของอธิบดีกรมโทรเลขที่ให้พนักงานไปกับฉันด้วยพวกหนึ่ง ถึงที่พักแรมเขาเอาเครื่องต่อเข้ากับสายโทรเลข อาจจะพูดกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ที่ออกห่างทางโทรเลขจะพูดกับกรุงเทพฯ ไม่ได้มีไม่กี่วัน การคมนาคมกับกรุงเทพฯ เมื่อไปครั้งนั้นจึงสะดวกเสียยิ่งกว่ามณฑลที่ใกล้ๆ บางแห่งเช่นมณฑลเพชรบูรณ์เป็นต้น ตอนไปในมณฑลอุดรสบฤดูหนาวเย็นสบายดี บางทีถึงเย็นเกินต้องการ เช่นเมื่อวันพักแรมที่ตำบลน้ำซวย แขวงจังหวัดหนองคาย ปรอทลงถึง ๓๘ ดีกรีฟาเรนไฮต์ ยังอีก ๖ ดีกรีก็จะถึงน้ำแข็ง ฉันไม่เคยพบหนาวที่ไหนในเมืองไทยเหมือนวันนั้น แต่มาสบฤดูร้อนเมื่อขากลับใกล้จะถึงมณฑลนครราชสีมา ก็ร้อนจัดเหลือทนจนต้องเปลี่ยนเวลาเดินทาง ออกเดินแต่ดึก ๔ นาฬิกา มีคนถือคบแซงสองข้างทางไปจนรุ่งสว่าง แล้วรับไปให้ถึงที่พักแรมแต่ก่อน ๙ นาฬิกา กินอาหารแล้วก็เที่ยวหาร่มเงา ซุกตัวซ่อนแสงแดดไปจนเวลาเย็น จึงเดินเที่ยวเตร่ตรวจราชการต่างๆ แต่เดินทางด้วยไม่ประมาท ก็หามีใครที่ไปด้วยกันเจ็บไข้อย่างใดไม่ พรรณนาการเดินทางแล้ว แต่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างต่อไป
วินิจฉัยชื่อเมืองนครราชสีมา
เมืองนครราชสีมา มีชื่อเป็น ๒ ชื่อ แต่ก่อนมาคนทั้งหลายเรียกว่า “เมืองโคราช” ทั่วไป เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่ในทางราชการ ถึงเดี๋ยวนี้ราษฎรก็ยังเรียกกันว่า เมืองโคราช เป็นพื้น เหตุไฉนจึงมี ๒ ชื่อเช่นนั้น ฉันเคยค้นเค้าเงื่อนแต่เมื่อขึ้นไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก เวลานั้นไปรถไฟได้เพียงตำบลทับกวางในดงพญาไฟแล้วต้องขี่ม้าต่อไป เมื่อฉันไปพักแรมที่บ้านสูงเนิน เขาบอกว่าในอำเภอนั้นมีเมืองโบราณอยู่ ๒ เมือง ฉันจึงให้เขาพาไปดูเห็นเป็นเมืองย่อมๆ ไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่ก่อปราการด้วยศิลาและมีของโบราณอย่างอื่น แสดงฝีมือว่าเป็นเมืองสร้างครั้งสมัยขอมทั้ง ๒ เมือง เมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายลำตะคอง อันเป็นลำธารมาแต่เขาใหญ่น้ำไหลไปตกลำน้ำมูล อีกเมืองหนึ่งอยู่ทางฝั่งขวาลำตะคอง ไม่ห่างไกลกันนัก เมืองทางฝั่งซ้ายเรียกชื่อว่า “เมืองเสมาร้าง” เมืองทางฝั่งขวาเรียกชื่อว่า “เมืองเก่า” สังเกตดูเครื่องหมายศาสนา ดูเหมือนผู้สร้างเมืองเสมาร้างจะถือศาสนาพราหมณ์ ผู้สร้างเมืองเก่าจะถือพระพุทธศาสนา ฉันยังจำได้ว่ามีพระนอนศิลาขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองเก่าองค์หนึ่ง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา เห็นลักษณะเป็นเมืองฝีมือไทยสร้างเมื่อภายหลัง ๒ เมืองที่กล่าวมาก่อน รู้ได้ด้วยป้อมปราการล้วนก่อด้วยอิฐ และรื้อเอาแท่งศิลาจำหลักจากปราสาทหินครั้งขอมมาก่อแซมกับอิฐก็มีหลายแห่ง เมื่อได้เห็นทั้ง ๓ เมืองดังว่ามา ฉันคิดวินิจว่า “เสมาร้าง” น่าจะมีก่อนเพื่อน เดิมเห็นจะเรียกว่า “เมืองเสมา” เมื่อตั้ง “เมืองเก่า” เพราะเหตุอันใดอันหนึ่ง ทิ้งเมืองเสมาเป็นเมืองร้าง คำว่า “ร้าง” จึงติดอยู่กับชื่อเมืองเสมา เหตุใดจึงเรียกชื่ออีกเมืองหนึ่งว่า “เมืองเก่า” นั้นก็พอคิดเห็นได้ เพราะคำว่า “เก่า” เป็นคู่กับ “ใหม่” ต้องมีเมืองใหม่จึงมีเมืองเก่า แสดงความว่าเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ขึ้น ย้ายมาอยู่เมืองใหม่แล้วจึงเรียกเมืองเดิมว่า “เมืองเก่า” แต่เมื่อเมืองยังตั้งอยู่ที่เมืองเก่า ต้องมีชื่อเรียกเมืองนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะเรียกว่า “เมืองเก่า” เมื่อยังไม่มี “เมืองใหม่” ไม่ได้ ข้อนี้ที่ฉันคิดเห็นว่าเมื่อสร้าง “เมืองเก่า” ในสมัยขอม พวกพราหมณ์คงเอาชื่อ “เมืองโคราฆะบุระ” ในมัชฌิมประเทศ อันอยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเมืองกบิลพัสดุ์ ที่พระพุทธองค์เสด็จประทับเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์มาขนาน อย่างเดียวกันกับเอาชื่อเมืองอื่นๆ ในอินเดียมาขนานในประเทศนี้มีอีกหลายเมือง เช่นเมืองอยุธยาและเมืองลพบุรีเป็นต้น เมืองเก่านั้นเดิมคงเรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” อันเป็นมูลของชื่อที่เรียกเพี้ยนมาว่า “เมืองโคราช” ยังคิดเห็นต่อไปอีกว่า ชื่อที่เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนครราชสีมา” น่าจะเอาชื่อ “เมืองโคราฆะ” กับ “เมืองเสมา” มาผสมกันประดิษฐ์เป็นชื่อ “นครราชสีมา” ด้วย
ส่วนตัวเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ ฉันพิจารณาดูลักษณะที่สร้างกับทั้งขนาดและแผนผังทั้งรูปป้อมปราการ ละม้ายเหมือนกับเมืองนครศรีธรรมราชมาก เห็นว่าจะสร้างในสมัยเดียวกันทั้ง ๒ เมือง แต่จะสร้างในรัชกาลไหนในกรุงศรีอยุธยา ฉันนึกว่าได้เคยเห็นในหนังสือฝรั่งแต่งแต่โบราณเรื่องหนึ่ง ว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อเขียนนิทานนี้นึกชื่อหนังสือไม่ออกจึงไม่กล้ายืนยัน กล่าวได้โดยมีหลักฐานแต่ว่าสร้างก่อน พ.ศ. ๒๒๒๕ เพราะในเรื่องพงศาวดารมีว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาชิงได้ราชสมบัติ เมืองนครราชสีมากับเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแข็งเมือง กองทัพในกรุงออกไปตีได้ด้วยยาก เพราะมีป้อมปราการทั้ง ๒ เมือง
ลานนกกะเรียน
ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตามทางไปมณฑลอุดรมีทุ่งใหญ่ๆ หลายแห่งที่ทำไร่นาไม่ได้เพราะเป็นที่ลุ่ม เวลาฤดูแล้งดินแห้งแข็งกระด้างถากไถไม่ลง ถึงฤดูฝนตกดินอ่อนถ้าถากไถทำไร่นา พอปลูกพรรณไม้ขยายกอเกิดลำต้นยังไม่ทันออกพืชผล ก็ถึงเวลาน้ำป่าไหลหลากลงมาขังในท้องทุ่งนั้น ท่วมพรรณไม้ตายหมด เป็นอย่างนั้นทุกปี จึงไม่มีใครไปทำไร่นา มีแต่กอหญ้าที่ขึ้นเอง แล้วถูกน้ำท่วมเหลือแต่ซากอยู่ในท้องทุ่ง เขาบอกว่าถึงฤดูแล้งมีนกกะเรียน มาทำรังไข่กับแผ่นดินในทุ่งว่างนั้นตั้งหมื่นตั้งแสน พอจวนฤดูฝน ลูกบินได้ก็พากันหายไปหมด ถึงฤดูแล้งหน้าก็กลับมาทำรังอีกเสมอทุกปี นกกะเรียนที่มีเลี้ยงกันตามบ้านในกรุงเทพฯ ล้วนดักเอาลูกนกไปจากทุ่งนั้นทั้งนั้น เมื่อฉันเดินทางจากเมืองนครราชสีมาไป ๒ วัน ถึงทุ่งมะค่า ก็เห็นฝูงนกกะเรียนทำรังอยู่มากมายอย่างเขาว่า พอมันเห็นคนหมู่ใหญ่ก็ตื่นพากันทิ้งรังบินหนีขึ้นไปร่อนอยู่เต็มท้องฟ้า ดูจำนวนนกนับด้วยหมื่น ไม่เคยเห็นมีที่ไหนเหมือน ในเมืองไทยนี้นกกะเรียนก็ไม่มีชุม เคยเห็นชินตาแต่ที่เขาจับเอามาเลี้ยงไว้ แต่นกกะเรียนเถื่อนมิใคร่จะได้เห็น จึงน่าพิศวงว่าไฉนนกกะเรียนนับหมื่นจึงพร้อมใจกันมาทำรังในทุ่งมะค่าและมาเสมอทุกปี พิเคราะห์ดูไปเข้าเค้าที่พวกนักปราชญ์ในยุโรปเขาสอบสวน ได้ความว่ามีนกบางชนิดย้ายที่อยู่ไปต่างทวีปตามฤดูกาลเสมอทุกปี ยกตัวอย่างดังเช่นนก “สตอก” Stork รูปร่างคล้ายกับนกฝักบัวของไทย เวลาฤดูร้อนชอบไปเที่ยวอาศัยทำรังออกลูกบนหลังคาเรือนคนในยุโรปข้างฝ่ายเหนือ พอจะเข้าฤดูหนาวมันก็พากันบินหนีออกจากยุโรปไปอยู่ในทวีปอาฟริกา จนถึงฤดูร้อนจึงกลับไปทำรังไข่ในยุโรปอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นเสมอทุกปี ชะรอยนกกะเรียนที่มาทำรังในทุ่งมะค่าก็จะทำนองเดียวกัน อาจจะเป็นนกกะเรียนที่แยกย้ายกันอยู่ตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซียนี้ มันรู้กันด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าที่ทุ่งมะค่าในเมืองไทยเหมาะแก่การทำรังออกลูกยิ่งกว่าที่อื่นๆ ถึงฤดูทำรังก็มารวมกันทำรังไข่ที่ทุ่งมะค่า จำนวนนกกะเรียนจึงมากนับหมื่นเพราะมาแต่หลายประเทศด้วยกัน หาใช่แต่นกกะเรียนในเมืองไทยเท่านั้นไม่ นกพันธุ์อื่นที่มาอยู่ในเมืองไทยแต่บางฤดูก็ยังมีอีก เช่นนก “ปากง่าม” Snipe ก็มีแต่ในฤดูทำนา เขาตรวจได้ความว่ามันทำรังออกลูกอยู่ในภาคไซบีเรียของประเทศรัสเซีย ถึงฤดูจึงไปเที่ยวหากินตามประเทศอื่นๆ ในเวลาเมื่อประเทศนั้นๆ มีอาหารบริบูรณ์ ถึงนกอีแอ่นที่ทำรังให้คนกินอยู่ตามเกาะในทะเล พอลูกบินได้มันก็หายไปหมด ไม่รู้ว่าไปไหน จนถึงฤดูทำรังปีหน้าจึงกลับมาใหม่เสมอทุกปี นิสัยสัตว์มันก็รู้จักโลกได้ดีตามประสาของมัน เป็นแต่มนุษย์ไม่รู้ว่ามันบอกเล่านัดหมายกันอย่างไรเท่านั้น
ไทยลานช้าง
ฉันเดินบกไปจากเมืองนครราชสีมา ๕ วัน เข้าเขตมณฑลอุดรที่เมืองชนบท พอถึงเมืองชนบทก็เห็นชาวเมืองผิดกับเมืองนครราชสีมา ทั้งเครื่องแต่งตัวและฟังสำเนียงพูดภาษาไทยแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวกรุงเทพฯ สำคัญกันมาแต่ก่อนว่าเป็นลาว แต่เดี๋ยวนี้รู้กันมากแล้วว่าเป็นไทยมิใช่ลาว ถึงในราชการแต่ก่อนก็อ้างว่าหัวเมืองในมณฑลพายัพกับมณฑลอุดรและอีสานเป็นเมืองลาว เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ลาวพุงดำ” เพราะผู้ชายชอบสักมอมตั้งแต่พุงลงไปจนถึงเข่า เรียกชาวมณฑลอุดรและอีสานว่า “ลาวพุงขาว” เพราะไม่ได้สักมอมอย่างนั้น เมื่อจัดหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตเป็นมณฑลในรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ. ๒๔๓๓ แรกก็ขนานนามหัวเมืองลาวพุงดำว่า “มณฑลลาวเฉียง” ขนานนามหัวเมืองลาวพุงขาวว่า “มณฑลลาวพวน” มณฑลหนึ่ง “มณฑลลาวกาว” มณฑลหนึ่ง เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงการลักษณะการปกครองพระราชอาณาเขตตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา ด้วยทรงพระราชปรารภว่าลักษณะการปกครองแบบเดิม นิยมให้เป็นอย่างประเทศราชาธิราช Empire อันมีเมืองคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขต ๓ มณฑลนั้นเป็น “เมืองลาว” และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชน “ชาติไทย” ว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันสมควรเสียแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริให้แก้ลักษณะการปกครอง เปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต Kingdom ประเทศไทยรวมกัน เลิกประเพณีที่มีเมืองประเทศราชถวายต้นไม้ทองเงิน และให้เปลี่ยนนามมณฑลลาวเฉียงเป็น “มณฑลพายัพ” เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวนเป็น “มณฑลอุดร” และเปลี่ยนนามมณฑลลาวกาวเป็น “มณฑลอีสาน” ตามทิศของพระราชอาณาเขต ทั้งให้เลิกเรียกไทยชาวมณฑลทั้ง ๓ นั้นว่าลาวด้วย แต่นั้นก็เรียกรวมกันว่า “ไทยเหนือ” แทนเรียกว่าลาว ถ้าเรียกแยกกันก็เรียกตามชื่อมณฑลที่อยู่ว่า ชาวมณฑลพายัพ ชาวมณฑลอุดร และชาวมณฑลอีสาน อย่างเช่นเรียกชาวมณฑลปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกว่า “ชาวนคร” (นครศรีธรรมราช) ครั้นมาถึงสมัยเมื่อเลิกมณฑลเสียแล้ว มีผู้รู้โบราณคดีคนหนึ่งแต่งหนังสือเอาชื่อของแว่นแคว้นมณฑลพายัพแต่โบราณ มาใช้เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ชาวลานนา” ฉันเห็นชอบด้วย จึงเอาอย่างมาเรียกชาวมณฑลอุดรและอีสานในนิทานนี้ว่า “ชาวลานช้าง” ตามชื่อแว่นแคว้นอันเป็นคู่กันกับ “ลานนา” มาแต่ก่อน
ไทยชาวลานช้าง มีลัทธิธรรมเนียมที่ถือกันสืบมาแต่ดั้งเดิมหลายอย่าง ท่านผู้รู้ มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) เป็นต้น ได้เขียนอธิบายลงพิมพ์ไว้แล้วหลายเรื่อง ในนิทานนี้ฉันจะเล่าถึงลัทธิธรรมเนียมแต่บางอย่าง ที่ฉันได้เห็นเมื่อขึ้นไปครั้งนั้น
พิธีบายศรี
ตั้งแต่เมืองชนบทไป ฉันพักที่เมืองไหนพวกชาวเมืองก็มาทำพิธีบายศรีทำขวัญทุกเมือง คือเอาของกินตั้งเรียงในพานซ้อนกันสองชั้นสามชั้น ประดับประดาด้วยดอกไม้สดอย่างประณีตบรรจง ขนาดของบายศรีใหญ่หรือเล็กตามฐานะของเมือง พวกชาวเมืองเข้าขบวนกันแห่บายศรีมาทำขวัญ เมืองใหญ่ก็มีขบวนแห่และเครื่องประโคมมาก่อน ถ้าเป็นเมืองน้อยคนเชิญบายศรีก็นำหน้า มีผู้เฒ่าสองสามคนนำราษฎรชายหญิงเดินตามบายศรีมาตั้งร้อย ฉันนั่งรับที่มุขหน้าพลับพลา เขาเอาบายศรีมาตั้งที่ตรงหน้า คนที่มาทำขวัญนั่งหลังบายศรีต่อออกไป ถ้าที่บนพลับพลาไม่พอก็นั่งหลามลงไปถึงในสนามหน้าพลับพลา เริ่มพิธีด้วยผู้เฒ่าที่เป็นหัวหน้าจุดธูปเทียนเครื่องสักการะ แล้วว่าคำเชิญขวัญเป็นทำนอง บางคนเสียงดีทำนองก็ไพเราะน่าฟัง ความขึ้นต้นขอคุณพระรัตนตรัยและขอพรเทวดา แล้วประสิทธิพรให้แก่ฉันเป็นอเนกปริยาย เมื่อจบแล้วผู้เฒ่าเอาด้ายคาดข้อมือฉัน ที่บางแห่งเวลาคาดด้ายนั้นคนที่มาด้วยแตะต้องตัวกันต่อๆ ไปจนหมด เป็นนัยว่าช่วยกันคาดด้ายทุกๆ คน ที่บางแห่งเมื่อทำขวัญแล้วยังมีการฟ้อนรำเป็นเครื่องมหรสพให้ดูด้วย อันประเพณีบายศรีทำขวัญนี้ ดูเป็นประเพณีโบราณของชนชาติไทย มีด้วยกันทุกจำพวก ชาวลานนาก็ทำเหมือนกับชาวลานช้าง ไทยในราชธานีก็ยังมีพิธีทำขวัญเป็นแต่ไม่แห่บายศรี ดังเช่นทำขวัญเด็กก็ทำบายศรีมีของกินใส่ชามตกแต่งด้วยดอกไม้สด เรียกว่า “บายศรีปากชาม” มีผู้เฒ่าว่าคำเชิญขวัญแล้วผูกด้ายคาดข้อมือให้เด็ก เมื่อเด็กจะโกนจุกหรือจะบวช ก็ทำขวัญด้วยมีบายศรีตองทำหลายชั้นคล้ายฉัตร และมีคนว่าคำเชิญขวัญ เป็นแต่เอาพิธีเวียนเทียนของพราหมณ์เพิ่มเข้า พิธีหลวงสมโภชเจ้านาย ก็เอาพานแก้ว ทอง เงิน ซ้อนกันเป็นบายศรีมีเครื่องกระยา เป็นแต่เปลี่ยนไปให้พราหมณ์เวียนเทียนผูกด้ายคาดข้อพระหัตถ์ แต่หามีสวดเชิญขวัญไม่ ถึงกระนั้นก็เห็นเป็นเค้าได้ว่าพิธีบายศรีเป็นพิธีดั้งเดิมของชนชาติไทย และไทยยังทำอยู่ทุกจำพวกจนบัดนี้
สมาคมไทยอย่างโบราณ
เวลาฉันไปเที่ยวตามบ้านเรือนราษฎร ไถ่ถามถึงการทำมาหากินและประเพณีที่ปกครองบ้านเรือน ได้ฟังคำพวกชาวบ้านในมณฑลอุดรอธิบาย ยิ่งรู้ก็ยิ่งคิดพิศวง ด้วยเห็นว่าชนชาติไทยได้เคยถึงวัฒนธรรม Civilization มาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จะพรรณนาถึงหมู่บ้านในตำบลซึ่งฉันได้ไปแห่งหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่เรียกชื่อว่าบ้านอะไรลืมไปเสียแล้ว อยู่ในระหว่างเมืองชนบทกับเมืองขอนแก่น เป็นตำบลมีบ้านกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนด้วยกัน ราษฎรในตำบลนั้น ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่งหนึ่ง เรือนโรงในบ้านล้วนทำด้วยไม้มุงแฝก มีรั้วล้อมรอบบริเวณบ้าน ลานบ้านตอนในรั้วทำสวนปลูกผักฟักแฟงที่กินเป็นอาหาร กับคอกเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ลานบ้านนอกรั้วออกไปทำไร่ฝ้ายและสวนกล้วยสวนพลู สวนปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม กับคอกเลี้ยงวัวควาย ต่อหมู่บ้านออกไปถึงทุ่งนา พวกชาวบ้านต่างมีนาทำทุกครัวเรือน และถือกันเป็นธรรมเนียมว่าใครทำงานได้ต้องทำงานทุกคน ผู้ชายทำงานหนักเช่นทำนาและเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งทำการปลูกสร้างและแบกขนต่างๆ ผู้หญิงทำงานเบาอยู่กับบ้าน เช่นทำสวนทำไร่ เลี้ยงไหมและไก่หมู ตลอดจนปั่นฝ้ายชักไหมและทอผ้า ทุกครัวเรือนสามารถหาอาหารและสิ่งซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการเลี้ยงชีพได้โดยกำลังลำพังตนเพียงพอไม่อัตคัด ฉันถามว่าสิ่งของที่ทำไม่ได้เอง เช่นมีดพร้าและขีดไฟเป็นต้น หาได้ด้วยอย่างใด เขาบอกว่าสัตว์ที่เขาเลี้ยงเช่นวัวควายไก่หมู ย่อมออกลูกมีเหลือใช้เสมอ ถึงปีก็มีคนพวกค้าขายสัตว์ เช่นพวกที่ส่งหมูลงมาขายกรุงเทพฯ เป็นต้น ไปเที่ยวหาซื้อ เขาขายสัตว์ที่เหลือใช้ได้เงินพอซื้อของที่ต้องการทุกอย่าง ส่วนการปกครองนั้น ใครเป็นพ่อบ้านก็ปกครองผู้คนในบ้านของตน หมู่บ้านอันหนึ่ง มีผู้ใหญ่ที่คนนับถือเป็น “จ่าบ้าน” ดูแลว่ากล่าวผู้คนในหมู่บ้านนั้น และที่สุดมี “ตาแสง” เป็นนายตำบล ซึ่งเจ้าเมืองเลือกคนในตำบลนั้นที่ผู้คนนับถือมากตั้งเป็นหัวหน้าคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงปรับเข้ากับวิธีปกครองอย่างโบราณที่เป็นอยู่แล้วได้โดยง่าย ว่าต่อไปถึงคดีธรรม ก็มีวัดซึ่งราษฎรช่วยกันสร้าง แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปอยู่สั่งสอนศีลธรรม และวิชาความรู้แก่ชาวบ้าน ให้สมบูรณ์ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมทุกตำบล ลักษณะสมาคมของไทยแต่โบราณ ถ้าว่าโดยย่อก็คือคนในตำบลนั้นมีที่อยู่ และมีที่ทำมาหากินพอกันไม่มีใครอดอยาก แต่ใครทำงานได้ต้องทำงานทุกคนทั้งชายหญิง ไม่มีคนสำรวยอยู่เปล่าหรือเที่ยวขอทานใครกิน ทั้งตำบลไม่มีเศรษฐีและไม่มีคนจนเข็ญใจ จึงมิใคร่มีใครเป็นโจรผู้ร้าย เพราะอยู่เย็นเป็นสุขสบายด้วยกันหมด จึงเห็นควรนับว่าถึงวัฒนธรรมอย่างสูงตามสมควรแก่ท้องถิ่นด้วยประการฉะนี้
เมื่อคิดดูถึงความประสงค์ของฝรั่งพวกโซเซียลิสม์ ซึ่งเห็นว่าต้องเฉลี่ยทรัพย์และสิทธิต่างๆ ให้มนุษย์มีเสมอภาคกัน จึงจะเป็นสุขนั้น หากสำเร็จดังว่าก็จะเป็นอย่างเช่นชาวมณฑลอุดรนี่เอง ถ้าจะอวดว่าสมาคมโซเซียลิสม์มีมาในเมืองไทยหลายร้อยปีแล้ว ก็จะได้กระมัง
บ้านขี้ทูด
ยังมีวัฒนธรรมที่ไทยเคยมีมาแล้วแต่โบราณอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งฉันได้ไปพบในมณฑลอุดร คือที่ตำบลหนองหญ้าปล้องในแขวงเมืองชนบท มีบ้าน “คนขี้ทูด” คือคนเป็น “โรคกุฏฐัง” ตำบลหนึ่ง เขาว่าจำนวนคนกว่า ๑,๐๐๐ คน เห็นจะนับรวมทั้งคนไข้และคนดีที่เป็นครอบครัวด้วย บ้านขี้ทูดนั้นจะตั้งมาแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่พวกชาวเมืองว่าเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณทั่วทั้งมณฑลอุดรและน่าจะตลอดไปถึงมณฑลอีสานด้วย ถือกันว่าถ้าใครเป็นโรคกุฏฐัง ต้องย้ายไปอยู่บ้านขี้ทูดที่ตำบลหนองหญ้าปล้องนั้น แต่ไปสร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ และทำไร่นาหากินเหมือนอย่างคนสามัญ ไม่มีใครควบคุมกักขังอย่างไร เป็นแต่คนนอกครัวเรือนไม่เข้าไปอยู่ด้วย และไม่มีใครยอมรับคนเป็นโรคกุฏฐังไว้ในบ้าน ถือกันเหมือนเป็นกฎหมายมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าถ้าใครเป็นโรคกุฏฐัง ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านขี้ทูด และย้ายไปเองไม่ต้องมีใครขับไล่ จึงมีจำนวนคนมากตั้ง ๑,๐๐๐ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ปกครองก็ล้วนอยู่ในพวกกุฏฐัง เมื่อฉันผ่านไปเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่งแต่งงานได้ไม่ช้าปรากฏว่าเป็นโรคกุฏฐัง เจ้าตัวกลัวโรคจะติดเมียเตรียมจะทิ้งมาแต่ตัว แต่เมียรักผัวสิ้นกลัวโรคกุฏฐังตามมาอยู่ด้วย ได้ฟังก็นึกสงสาร แต่หมอฝรั่งผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคกุฏฐัง เขาว่าโรคนั้นไม่ติดคนที่พ้องพานไปทุกคน แม้ลูกของคนกุฏฐังก็มีเชื้อโรคติดตัวมาแต่บางคน ที่เป็นปรกติไปจนตลอดชีวิตก็มี
คนคิดผิด
เมื่อฉันผ่านไปในแขวงเมืองกุมภวาปี ถึงตำบลบ้านสองเปลือย ผู้นำทางเขาบอกว่าในตำบลนั้นมีพวก “ลาว” (ไทยลานช้าง) ชาวเมืองนครนายกที่อพยพกลับมาจากเวียงจันทน์ แต่หมดกำลังไม่สามารถจะลงไปให้ถึงเมืองนครนายกได้ ยังต้องตั้งทำมาหากินอยู่ที่บ้านสองเปลือยหลายครัว ฉันได้ยินแทบจะออกปากว่า “สมน้ำหน้า” แต่หากละอายใจด้วยความสงสาร เพราะฉันเคยรู้เรื่องของคนพวกนั้นมาแต่ต้น ด้วยในหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) มีความข้อหนึ่ง ว่า “ถ้าลาวเชื้อสายของชาวเวียงจันทน์ที่ไทยกวาดเป็นเชลยมา (เมื่อรัชกาลที่ ๓) อยากจะกลับไปบ้านเมืองเดิม รัฐบาลไทยจะยอมให้ไปไม่ขัดขวาง” ดังนี้ แต่แรกไม่มีใครอยากไป ต่อมาฝรั่งเศสแต่งให้กรมการชาวเมืองเวียงจันทน์คนหนึ่ง เป็นพระยา แต่ชื่อไรฉันลืมไปเสียแล้ว จะสมมตเรียกในนิทานนี้ว่า “พระยาเมือง” กับพรรคพวกลงมาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ มีพวกที่อยู่เมืองนครนายกสมัครจะไปเมืองเวียงจันทน์ราวสัก ๒๐๐ คน เพราะพระยาเมืองมาสัญญาว่าเมื่อขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ รัฐบาลฝรั่งเศสจะให้ที่ไร่นา กับทั้งบ้านเรือนวัวควายไถคราด และเงินทุน ให้พอทำมาหากินเป็นสุขทุกคน ฉันให้เจ้าเมืองกรมการชี้แจงว่าไม่จริงได้ดังว่าดอกก็ไม่เชื่อ พากันขายเหย้าเรือนไร่นาแล้วอพยพไป ต่อมาฉันได้ยินว่ามีพวกเวียงจันทน์ลงมาเกลี้ยกล่อมคนอีก ฉันนึกขึ้นถึงคำที่เขาพรรณนาว่านิสัยแมวนั้น ถ้าใครดึงหนังท้องมันก็โก่งหลังถ้าใครดึงหลังมันก็แอ่นท้อง จึงเปลี่ยนอุบายใหม่ คราวนี้สั่งอย่าให้ห้ามปราม ถ้าใครอยากไปให้เจ้าเมืองกรมการสงเคราะห์ ช่วยหาคนซื้อไร่นาวัวควายเร่งให้มันไปตามใจสมัคร ก็กลายเป็นอย่างแมวได้จริงๆ ไม่มีใครไป ฝ่ายพวกที่อพยพไปคราวแรกนั้น ไปถึงเมืองเวียงจันทน์ก็ไม่ได้ลาภผลตามสัญญา ทั้งไปได้ความรู้ว่านาทางลานช้างทำไม่ได้ผลมากเหมือนนาทางข้างใต้ ก็พากันอพยพกลับมา ที่ยังมีทุนกลับมาได้ถึงเมืองนครนายกก็มี ที่หมดทุนก็ต้องตกค้างอยู่ที่บ้านสองเปลือย แต่เรื่องนี้ยังมีข้อขำต่อไปอีก เมื่อวันฉันไปถึงเมืองอุดรธานี เขากระซิบบอกให้ดูชายคนหนึ่งซึ่งยืนรับอยู่ที่ซุ้มคร่อมถนนที่ทำรับฉัน สังเกตดูเป็นคนกลางคนอายุราวสัก ๕๐ ปี เขาบอกว่าคนนั้นแหละคือพระยาเมือง ที่ได้ลงไปเกลี้ยกล่อมคนที่เมืองนครนายก เมื่อกลับไปอยู่เมืองเวียงจันทน์ไปเกิดผิดใจกับฝรั่งเศสขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงอพยพครอบครัวของตนข้ามมาขอพึ่งไทย พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติรับไว้ให้อยู่ในเมืองอุดรธานี แล้วเลยให้เป็นนายงานทำซุ้มรับฉัน จึงยืนรับอยู่ที่ซุ้มนั้น
พระยาโพธิ
เมืองอุดรธานี แต่เดิมเรียกว่า “บ้านเดื่อหมากแข้ง” เพิ่งตั้งเป็น “เมือง” เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ยังไม่มีอะไรที่น่าพรรณนาในนิทานนี้ นอกจากตัวพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ซึ่งจะเรียกต่อไปตามสะดวกว่า “พระยาโพธิ” ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรในเวลาเมื่อฉันไปครั้งนั้น ด้วยเป็นคนเคยทำความชอบอย่างแปลก และมีความสามารถก็เป็นอย่างแปลก แต่ตัวถึงอนิจกรรมเสียนานแล้ว ฉันรู้เรื่องประวัติอยู่บ้างจะเล่าฝากไว้ในนิทานนี้ เพื่อให้ความชอบความดีของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ปรากฏอยู่อย่าให้สูญเสีย พระยาโพธิดูเหมือนจะเป็นชาวเมืองจันทบุรี เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่กับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์แต่เพิ่งรุ่นหนุ่ม จะได้ศึกษามาแต่ก่อนอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ แต่มาได้รับความอบรมด้วยตามเสด็จติดพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เข้าวัง และไปไหนๆ อยู่เนืองนิจ จนรู้จักเจ้านายขุนนาง และรู้ขนบธรรมเนียมในราชสำนัก แม้ตัวฉันก็รู้จักพระยาโพธิตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็กกรมหลวงสรรพสิทธิฯ แต่จะเป็นเพราะเหตุใดหาทราบไม่ เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสด็จออกไปรับราชการ ณ เมืองนครราชสีมาและเมืองอุบล พระยาโพธิไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย จึงขึ้นไปคิดค้าขายทางเมืองเหนือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เมื่อยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก พบตัว เห็นเป็นคนมีแววดีจึงชวนเข้ารับราชการ ได้เป็นตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ชั้นผู้น้อย เลื่อนที่ขึ้นไปโดยลำดับด้วยความสามารถ จนได้เป็นพระสีหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดเหตุพวกผู้ร้ายเงี้ยวปล้นได้เมืองแพร่ เวลานั้นเผอิญเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ลงมารั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยแทนพระยามหาอำมาตย์เมื่อไปรับราชการยุโรป และตัวฉันก็ได้เคยไปเมืองเหนือ และเคยเดินบกแต่เมืองอุตรดิตถ์ไปเมืองแพร่ รู้เบาะแสภูมิลำเนาอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ คน พอได้รับโทรเลขบอกข่าวเกิดผู้ร้ายเงี้ยวฉบับแรก เมื่อพวกผู้ร้ายตีเมืองแพร่ได้แล้ว ปรึกษากันในขณะนั้นเห็นว่าพวกเงี้ยวคงกำเริบเลยลงมาตีเมืองอุตรดิตถ์ เพราะเป็นเมืองที่มีทรัพย์สินมากและไม่มีใครรู้ตัว จึงรีบมีโทรเลขไปยังเมืองอุตรดิตถ์ฉบับหนึ่ง สั่งพระยาโพธิให้รวบรวมกำลังกับเครื่องศัสตราวุธ รีบยกไปกักทางที่ช่องเขาพรึงอันเป็นที่คับขันในทางเดินมายังเมืองอุตรดิตถ์ โทรเลขอีกฉบับหนึ่งมีถึงพระยาสัชนาลัยบดี (จำไม่ได้ว่าตัวชื่อไร และเวลานั้นยังเป็นพระมีนามว่าอย่างไร) ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก สั่งให้รีบรวมกำลังและเครื่องศัสตราวุธ ยกจากเมืองสวรรคโลกขึ้นไปตีเมืองแพร่ทางเมืองลองอีกกองหนึ่ง พระยาโพธิยกไปถึงเขาพรึงก็พบเงี้ยวยกลงมาดังคาดไว้ ได้รบกับเงี้ยวที่ปางต้นผึ้ง ๒ วันกักพวกเงี้ยวไว้ได้ พอพวกเงี้ยวรู้ว่ามีกำลังเมืองสวรรคโลกยกขึ้นไปเมืองแพร่ทางข้างหลังอีกกองหนึ่ง ก็พากันถอยหนีจากเขาพรึงกลับไปเมืองแพร่ พระยาโพธิรบเงี้ยวป้องกันเมืองอุตรดิตถ์ไว้ได้ครั้งนั้น เป็นแรกที่จะปรากฏเกียรติคุณ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์จากที่พระสีหสงครามขึ้นเป็น พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นบำเหน็จความชอบ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพแล้ว พระยาโพธิได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แต่ไม่ช้าก็ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ด้วยเป็นที่สำคัญกว่ามณฑลพิณุโลก เพราะอยู่ต่อแดนต่างประเทศและอาณาเขตกว้างใหญ่ ผู้คนพลเมืองมากกว่ามณฑลพิษณุโลก นอกจากนั้น ฉันเห็นว่าเหมาะแก่คุณวิเศษเฉพาะตัวพระยาโพธิด้วย เพราะสังเกตมาตั้งแต่ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์ อันเป็นที่ประชุมชนต่างชาติต่างภาษาไปมาค้าขายเป็นอันมากอยู่เนืองนิจ เห็นว่าพระยาโพธิมีอัธยาศัยถนัดเข้ากับคนต่างชาติต่างภาษา สามารถวางตนให้คนต่างจำพวกเคารพนับถือ เมื่อไปอยู่มณฑลอุดรก็ปรากฏคุณวิเศษเช่นว่ามา พึงเห็นเช่นพระยาเมืองชาวเวียงจันทน์มาขอพึ่งดังเล่ามาแล้ว และยังมีเรื่องสำคัญกว่านั้น จะเล่าให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อภายหลังฉันไปมณฑลอุดรได้สักปีหนึ่ง วันหนึ่งราชทูตฝรั่งเศสให้มาบอก ว่ากิจการทางชายแดนฝรั่งเศสกับไทยก็เรียบร้อยมานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร รับญวนหัวหน้าพวกกบฏที่หนีจากเมืองญวนเลี้ยงไว้คนหนึ่ง เหตุใดจึงทำเช่นนั้น ฉันได้ฟังออกประหลาดใจ ตอบไปว่าฉันไม่ทราบเลยทีเดียว แต่เทศาฯ คนนั้นฉันไว้ใจว่าคงไม่ทำอะไรให้ผิดความประสงค์ของรัฐบาล ถ้ารับญวนหัวหน้ากบฏเลี้ยงไว้ ก็เห็นจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าเป็นคนเช่นนั้น ฉันจะถามดูก่อน เมื่อมีตราถามไป พระยาโพธิตอบมาว่าเดิมญวนคนนั้นไปหาที่เมืองอุดรธานี ว่าจะขอรับจ้างทำการงานเลี้ยงชีพแล้วแต่จะใช้ พระยาโพธิสืบได้ความว่าเคยเป็นหัวหน้าพวกกบฏหนีมาจากเมืองญวน คิดว่าที่ในมณฑลอุดรธานีมีพวกญวนเข้ามาตั้งค้าขายอยู่หลายแห่ง ถ้าปล่อยญวนคนนั้นไปเที่ยวหากินตามชอบใจ อาจจะไปชักชวนพวกญวนที่อยู่ในมณฑลอุดรให้ร่วมคิดกับพวกกบฏ ก็จะเกิดลำบากขึ้นในระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ครั้นจะจับกุมกักขังญวนคนนั้น ก็ไม่ได้ทำความผิดอย่างใดในเมืองไทย เห็นว่าหางานให้ทำอยู่ใกล้ๆ จะดีกว่าอย่างอื่น มันทำอย่างไรจะได้รู้ จึงได้จ้างญวนนั้นไว้เป็นคนเลี้ยงม้า ฉันอ่านคำตอบชอบใจ ส่งไปให้ทูตฝรั่งเศสดู ก็ชมมาว่าเทศาฯ ทำถูกแล้ว
พระยาโพธิเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร มาจนถึงอนิจกรรม ในเวลานั้นฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รู้สึกเสียดายอย่างยิ่ง
ชาวลานช้างไหว้เจ้า
เมื่อฉันขึ้นไปมณฑลอุดร กรมหลวงประจักษ์ฯ เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ เสียกว่า ๑๐ ปีแล้ว เห็นจะเป็นเพราะราษฎรไม่ได้เห็นเจ้านายมาช้านาน พอได้ยินข่าวว่าจะมีเจ้านายเสด็จขึ้นไปอีกก็พากันปีติยินดี ตั้งแต่ฉันเข้าเขตมณฑลอุดร เดินทางผ่านตำบลไหน ก็เห็นราษฎรชาวบ้านในตำบลนั้นทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ พากันมานั่งคอยเคารพอยู่ที่ริมทางเป็นหมู่ๆ และมากๆ เวลาไปหยุดพักที่ไหน พวกราษฎรก็พากันมานั่งห้อมล้อมรอบข้าง บางคนก็มาไหว้ด้วยมือเปล่า บางคนมีเครื่องสักการะมาด้วย บางคนก็ถึงเอาน้ำใส่ขันมาขอให้ทำน้ำมนต์ และอยากเข้าให้ใกล้ชิดทุกคน พวกหนึ่งเข้ามากราบไหว้แล้วถอยออกไป พวกใหม่ก็เข้ามาแทน มีกิจที่ต้องรับและปราศรัยให้พรราษฎรเพิ่มขึ้นตลอดทางที่ไปทุกแห่ง แต่ที่ไหนไม่เหมือนที่เมืองหนองคาย เวลาฉันพักอยู่ที่นั่นแต่พอเช้าก็มีพวกราษฎรมาหาทุกวัน พวกไหนมาถึงก็เข้ามานั่งอยู่ที่หน้าพลับพลา คอยอยู่จนฉันออกไปปราศรัยแล้วจึงกลับไป พวกหนึ่งไปแล้วพวกอื่นก็มาอีก ถ้าไม่ได้พบฉันก็ไม่กลับ ต้อง “เสด็จออก” ร่ำไปไม่รู้ว่าวันละกี่ครั้ง จนฉันออกปากว่าอ่อนใจ พวกกรมการเมืองหนองคายเขาจึงบอกให้รู้ ว่าพวกราษฎรที่มาหานั้น มิใช่แต่ชาวเมืองหนองคายเมืองเดียว พวกราษฎรทางฝั่งซ้ายในแดนฝรั่งเศสก็มามาก ฉันได้ฟังก็เกิดลำบากใจ ด้วยเดิมคิดไว้ว่าจะหาโอกาสไปดูเมืองเวียงจันทน์ แต่นึกขึ้นว่าถ้าเวลาเมื่อฉันไป มีพวกราษฎรในเมืองเวียงจันทน์พากันมาห้อมล้อมไหว้เจ้าตามประสาของเขาเหมือนอย่างทางฝั่งข้างนี้ ก็อาจจะกระเทือนไปถึงการเมือง จึงงดความประสงค์ เลยไม่ได้ไปเห็นเมืองเวียงจันทน์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นลำบากได้ทีเดียว ด้วยเมื่อลงเรือไฟลาแครนเดียของฝรั่งเศสล่องลำแม่น้ำโขงลงไปจากเมืองหนองคาย ถึงเวลาบ่ายในวันแรกล่องนั้น นายเรือขอจอดรับฟืนที่สถานีของฝรั่งเศสแห่งหนึ่งทางฝั่งซ้าย เวลาขนฟืนลงเรือ ฉันนั่งอยู่บนดาดฟ้าด้วยกันกับนายพันตรีโนลังฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลให้เป็นผู้ไปกับฉัน มียายแก่คนหนึ่งถือพานเครื่องสักการะเดินไต่ตลิ่งลงมาจากสถานี ฉันเห็นก็นึกว่าคิดถูกที่ไม่ไปเมืองเวียงจันทน์ แต่ที่นี่มีเพียงยายแก่คนเดียว จะประสานการเมืองได้ไม่ยากนัก พอแกลงมาในเรือเดินตรงเข้ามาหาฉัน ฉันชี้มือให้แกไปที่นายพันตรีโนลัง แต่เขาก็คิดทันท่วงที ลุกขึ้นเดินไปรับพานเครื่องสักการะจากมือยายแก่เอามาส่งให้ฉัน ก็เป็นการเรียบร้อยด้วยอัชฌาสัยทั้งสองฝ่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น