วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2566

สงคราม ๙ ทัพ ตอนเตรียมการ

 สงคราม ๙ ทัพ เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างราชวงศ์โก้นบองของพม่ากับอาณาจักรรัตนโกสินทร์แห่งราชวงศ์จักรี เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าปดุง ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า เป็นพระโอรสลำดับที่ 5 ใน 6 ของพระเจ้าอลองพญา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2325 ปีเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าปดุงได้ทรงทำสงครามชนะยะไข่ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกซึ่งพม่าไม่เคยเอาชนะมาก่อนเลย

ความขัดแย้งเรื่องอิทธิพลในหัวเมืองมอญ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี และแนวคติความเป็นพระจักรพรรดิราชนำไปสู่การรุกรานอาณาจักรสยามของพม่า หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขับอิทธิพลของพม่าออกไปและฟื้นฟูอาณาจักรสยามขึ้นอีกครั้ง ในสงครามอะแซหวุ่นกี้ การรบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหัวเมืองเหนือ ได้แก่สวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก ทำให้หัวเมืองเหนือได้รับความเสียหายและหลงเหลือประชากรอยู่น้อย เนื่องจากสูญเสียกำลังพลไปในการรบ

ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามและทรงปราบดาภิเษกสถาปนาพระราชวงศ์จักรี ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าปดุง  ทรงปลดพระเจ้าหม่องหม่องออกราชราชสมบัติและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพม่า ในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง อาณาจักรพม่าภายใต้ราชวงศ์โก้นบองเรืองอำนาจขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าปดุงทรงส่งพระโอรสอินแซะ มหาอุปราชยกทัพไปโจมตีเมืองธัญญวดีหรือเมืองมเยาะอู้ ซึงเป็นราชธานีของอาณาจักรยะไข่ จนสามารถผนวกอาณาจักรยะไข่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าได้สำเร็จใน พ.ศ. 2328 หลังจากที่ทรงปราบกบฏของตะแคงแปงตะเลพระอนุชาได้สำเร็จในปีเดียวกัน ด้วยคติความเป็นพระจักรพรรดิราช พระเจ้าปดุงจึงดำริที่จะกรีฑาทัพเข้ารุกรานอาณาจักรสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หลังจากที่สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีได้เพียงสามปี เพื่อสร้างอาณาจักรพม่าให้มีอำนาจเกรียงไกรดังเช่นที่เคยเป็นในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้ามังระ

พระเจ้าปดุงต้องการแสดงให้เห็นถึงพระบารมีของพระองค์ว่า ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือกผู้พิชิตเอเชียอาคเนย์ได้อีกพระองค์หนึ่ง หลังจากพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู และพระเจ้ามังระ พระเชษฐาของพระองค์ สามารถทำได้

การจัดเตรียมทัพฝ่ายพม่า

ในพ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้เกณฑ์กำลังไพร่พลจำนวนมหึมารวมทั้งกำลังพลจากประเทศราชต่างๆเพื่อยกทัพเข้าโจมตีสยามจากหลายทิศทาง เอกสารฝ่ายไทยระบุว่าเป็นจำนวนเก้าทัพ จำนวนทั้งสิ้น 144,000 คน ในขณะที่พงศาวดารพม่าระบุว่าทัพที่ยกมาในครั้งนี้มีห้าเส้นทาง จำนวนทั้งสิ้น 134,000 คน โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็นดังนี้;

  • ทัพที่ 1; นำโดยแมงยีแมงข่องจอ (Mingyi Mingaung Kyaw)  ยกทัพจำนวน 10,000 คน  แบ่งเป็นทัพบกเข้าโจมตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา และทัพเรือเข้าโจมตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงเมืองถลาง พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้แมงยีแมงข่องจอยกทัพจำนวน 10,000 คน ลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328  มาตั้งที่เมืองมะริด เพื่อรวบรวมเตรียมเสบียงสำหรับทัพหลวงขนาดใหญ่ที่กำลังจะยกลงมา ในเวลาต่อมาเมื่อแมงยีแมงข่องจอไม่สามารถค้นหาเสบียงได้เพียงพอสำหรับทัพหลวง พระเจ้าปดุงพิโรธให้ประหารชีวิตแมงยีแมงข่องจอเสีย  แล้วตั้งให้แกงหวุ่นแมงยี (Kinwun Mingyi) มหาสีหสุระ (Maha Thiha Thura) อรรคเสนาบดีเป็น"โบชุก"หรือแม่ทัพใหญ่ของทัพนี้แทน
  • ทัพที่ 2; นำโดย อะนอกแฝกคิดวุ่น  (Anaukpet Taik Wun) หรือเนเมียวนรธา (Nemyo Nawratha) ยกทัพจำนวน 10,000 คน มาตั้งที่เมืองทวาย เพื่อยกเข้าผ่านทางด่านบ้องตี้ (อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี) เพื่อโจมตีเมืองราชบุรีและเมืองเพชรบุรี จากนั้นจึงไปสมทบกับทัพที่ 1 ที่ชุมพร โดยแบ่งให้เจ้าเมืองทวายนำทัพจำนวน 3,000 คน เป็นทัพหน้ายกมาก่อนทางด่านเจ้าขว้าว (อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี)
  • ทัพที่ 3 นำโดยเจ้าชายสะโดศิริมหาอุจนา (Thado Thiri Maha Uzana) เจ้าเมืองตองอู ยกทัพจำนวน 30,000 คน  เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือทางเมืองเชียงแสน ยกเข้าโจมตีเมืองลำปาง ตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ 9 ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์
  • ทัพหลวงทัพใหญ่ของพระเจ้าปดุง จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 88,000 คน ยกมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เพื่อยกทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าโจมตีเมืองกาญจนบุรี จากนั้นจึงรอสมทบกับทัพเหนือและใต้เพื่อเข้าโจมตีกรุงเทพฯ ประกอบด้วย;
    • ทัพที่ 4; เมียนวุ่น เป็นทัพหน้าที่หนึ่ง ยกทัพจำนวน 10,000 คน
    • ทัพที่ 5; เมียนเมวุ่น เป็นทัพหน้าที่สอง ยกทัพจำนวน 5,000 คน
    • ทัพที่ 6; เจ้าชายศิริธรรมราชา (Thiri Damayaza) หรือตะแคงกามะ พระโอรสองค์ที่สามของพระเจ้าปดุง ยกทัพจำนวน 12,000 คน เป็นทัพหน้าที่หนึ่งของทัพหลวง
    • ทัพที่ 7; เจ้าชายสะโดเมงสอ (Thado Minsaw) หรือตะแคงจักกุ พระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าปดุง ยกทัพจำนวน 11,000 คน เป็นทัพหน้าที่สองของทัพหลวง
    • ทัพที่ 8; ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงเป็นจอมพล มีกำลังพลมากที่สุดถึง 50,000 คน ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือ และใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพฯ
  • ทัพที่ 9; นำโดยนรธาจอข่อง (Nawratha Kyawgaung) ยกทัพจำนวน 5,000 คน เข้ามาทางด่านแม่ละเมา แม่สอด เมืองระแหง (เมืองตาก)

การจัดเตรียมทัพฝ่ายไทย

เดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2328 กองทหารมอญลาดตระเวนพบกองทัพพม่ามาตั้งอยู่ที่เมืองสมิ จึงจับชาวพม่าสามคนส่งเข้ามาให้แก่ทางกรุงเทพฯ เชลยพม่าสามคนนั้นให้การว่า พม่ากำลังเตรียมกองทัพขนาดใหญ่เพื่อยกเข้ารุกรานพระนครจากหลายทิศทาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวการศึกแล้วจึงดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาเสนาบดีทั้งหลาย ปรึกษาราชการสงคราม"เป็นหลายเวลา" ฝ่ายสยามรวบรวมกองกำลังทั้งหมดได้ประมาณ 70,000 คน จากนั้นทางกรุงเทพฯจึงออกหนังสือแจ้งเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองกำแพงเพชร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองตาก เมืองลำปาง แจ้งข้อราชการการศึกพม่าซึ่งยกมาหลายทาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้จัดกระบวนทัพเข้ารับศึกกับพม่าดังนี้

  • ทางกาญจนบุรี; สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าบุญมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินยกทัพหลวงไปตั้งรับพม่าที่กาญจนบุรี พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระยากลาโหมราชเสนา (พระชัยบูรณ์) และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) รวมทั้งเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) สมุหนายก คุมทัพฝ่ายพระราชวังหลวงและฝ่ายเหนือไปสบทบอีกทัพหนึ่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 30,000 คน
  • ทางราชบุรี; เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) และพระยายมราช (ทองอิน) ยกทัพจำนวน 5,000 คน ไปตั้งรับพม่าที่ราชบุรี
  • ทางเหนือ; สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ และเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าที่นครสวรรค์ รวมทั้งเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหกลาโหม พระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) จำนวนทั้งสิ้น 15,000 คน

ทางกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้คุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน จำนวน 20,000 คน เมื่อทัพไหนเพลี้ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน ส่วนทางแหลมมลายูทางใต้และหัวเมืองชายทะเลตะวันตกนั้น ยังไม่ได้มีการแต่งทัพออกไปสู้รบเนื่องจากศึกใกล้พระนครมีมาก รวมจำนวนกองทัพฝ่ายสยามทั้งสิ้นประมาณ 70,000 คน

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง