วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การรบที่กาญจนบุรี ในสงครามเก้าทัพ

 

การรบที่กาญจนบุรี

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพจำนวน 30,000 คน ออกจากพระนครในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2328 มีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรเป็นทัพหน้า เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เป็นเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตรทัพ เสด็จยกทัพไปถึงตำบลลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรีที่เชิงเขาบรรทัด ทรงให้จัดจั้งทัพที่ทุ่งลาดหญ้าตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน มีพระราชบัณฑูรให้พระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) คุมกองทัพมอญจำนวน 3,000 คน ไปตั้งขัตตาทัพพม่าที่ด่านกรามช้าง (บริเวณอุทยานแห่งชาติเอราวัณในปัจจุบัน)

ทัพหลวงขนาดใหญ่ของพระเจ้าปดุงยกทัพเข้ามาทางกาญจนบุรีผ่านด่านเจดีย์สามองค์ จากนั้นทัพที่ 4 ของเมียนวุ่นจึงยกเข้ามาก่อนผ่านเมืองไทรโยคข้ามมายังแม่น้ำแควใหญ่ที่ท่ากระดาน[6] จากนั้นเลียบแม่น้ำแควใหญ่มาจนถึงด่านกรามช้าง ทัพที่ 4 ของเมียนวุ่น ตีทัพของพระยามหาโยธา (เจ่ง) แตกพ่ายหนีเข้ามา ทัพที่ 4 ของเมียนวุ่น จำนวน 10,000 คน มาตั้งทัพที่ลาดหญ้า หลังจากนั้นทัพที่ 5 ของเมียนเมวุ่นจำนวน 5,000 คน จึงยกตามมาสมทบ รวมทั้งสิ้น 15,000 คนของฝ่ายพม่าที่ลาดหญ้า

ทัพที่ 6 ของเจ้าชายศิริธรรมราชาตะแคงกามะตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง ทัพที่ 7 ของเจ้าชายสะโดเมงสอตะแคงจักกุตั้งอยู่ที่สามสบ ทัพที่ 8 ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงตั้งอยู๋ที่ปลายลำน้ำลอนชี[6]หรือแม่น้ำรันตี[8] ซึ่งอยู่ห่างจากด่านเจดีย์สามองค์ไม่มากนัก ฝ่ายสยามส่งเชลยชาวพม่าซึ่งถูกจับมาตั้งแต่สงครามอะแซหวุ่นกี้ชื่องะกาน[8] หรือนาข่าน เป็นทูตไปเจรจากับพระเจ้าปดุงที่แม่น้ำรันตีแต่ไม่ประสบผล กองทัพฝ่ายพม่าประสบปัญหาเรื่องความขาดแคลนเสบียงและการลำเลียงสะเบียง ฝ่ายพม่าไม่สามารถค้นหาเสบียงที่เพียงพอสามารถเลี้ยงกองทัพขนาดใหญ่ได้ เสบียงที่ขนมาจากแดนไกลต้องลำเลียงไปให้แก่ทัพหน้า

การรบที่ทุ่งลาดหญ้า[แก้]


ที่ลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัดนั้น แม่ทัพพม่าทั้งสอง ได้แก่ เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่น มีคำสั่งให้ตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้ฝ่ายไทยแม่ทัพทั้งปวงยกทัพโจมตีทัพพม่า ฝ่ายพม่าสามารถต้านทานได้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าต่างสร้างหอรบขนปืนใหญ่ขึ้นยิงใส่กันและกัน ได้รับความเสียหายและล้มตายกันทั้งสองฝ่าย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้สร้างครกขนาดใหญ่ขึ้นสามอัน ดำรัสว่าหากผู้ใดถอยหนีจากข้าศึกพม่ามาจะให้ใส่ครกตำเสีย[7]

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททอดพระเนตรเห็นจุดอ่อนของฝ่ายพม่าในเรื่องเสบียง จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี ยกกองกำลังจำนวน 500 คน ไปซุ่มโจมตีเส้นทางลำเลียงเสบียงของฝ่ายพม่าที่ตำบลพุไคร้ ปรากฏว่าพระยาทั้งสามเกรงกลัวต่อข้าศึกไปหลบซ่อนอยู่ ขุนหมื่นในกองนั้นมาทูลฟ้องแก่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทว่าพระยาทั้งสามเกรงกลัวข้าศึก จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยามณเฑียรบาล (สด) ไปชำระความ หากเป็นความจริงให้ตัดศีรษะพระยาทั้งสามมาถวาย พระยามณเฑียรบาลเดินทางไปพบกันพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี พบว่าข้อกล่าวหาเป็นความจริง จึงประหารชีวิตพระยาทั้งสามตัดศีรษะใส่ชะลอมนำมาถวาย[7] จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้พระองค์เจ้าขุนเณร นำกองกำลังจำนวน 1,500 คน ไปซุ่มโจมตีเส้นทางลำเลียงเสบียงของพม่าแบบกองโจร ทำให้ฝ่ายพม่าประสบปัญหาไม่สามารถลำเลียงเสบียงไปยังลาดหญ้าได้

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้นำปืนใหญ่ลูกไม้ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงธนบุรี ขึ้นหอรบยิงใส่ค่ายของพม่า ค่ายของพม่าได้รับความเสียหายมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระวิตกว่าการรบที่ลาดหญ้าจะไม่ได้ชัยชนะในเวลารวดเร็ว จึงยกทัพเสด็จออกจากกรุงเทพฯในเดือนมกราคมพ.ศ. 2329 เสด็จนำทัพจำนวน 20,000 คน มายังทุ่งลาดหญ้าทางชลมารค กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จออกมารับ กราบทูลว่าฝ่ายพม่านั้นขาดเสบียงประสบกับความอดอยาก ใกล้จะได้ชัยชนะแล้วขออย่าทรงวิตก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงยกทัพเสด็จนิวัติพระนคร

ฝ่ายพม่าเมื่อเห็นทัพหลวงยกมาจากกรุงเทพฯจำนวนมากจึงทูลพระเจ้าปดุง พระเจ้าปดุงดำริว่าเสบียงขาดแคลนและถูกฝ่ายไทยโจมตีเส้นทางลำเลียง เห็นสมควรล่าถอยแต่ให้รอดูท่าทีก่อน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำริกลอุบาย ให้กองกำลังลอบยกไปยังเมืองกาญจนบุรีในเวลากลางคืน และแสร้งให้กองกำลังจากกาญจนบุรียกเข้ามายังค่ายทุ่งลาดหญ้าในเวลากลางวัน เสมือนว่าฝ่ายไทยมีกองกำลังคอยเสริมตลอดเวลา ฝ่ายพม่าอ่อนกำลังและขาดเสบียง พงศาวดารพม่าระบุว่า กองทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอย่างมาก จนต้องขุดหาเผือกมันและรากไม้กิน และฆ่าสัตว์พาหนะในกองทัพกิน[6] รวมทั้งเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพฝ่ายพม่า

ในวันศุกร์ เดือนสามแรมสี่ค่ำ[7] (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททอดพระเนตรว่าฝ่ายพม่าอ่อนกำลังลงมากแล้ว จึงมีพระราชบัณฑูรให้แม่ทัพทั้งปวงยกกำลังเข้าโจมตีค่ายพม่าอีกครั้งอย่างเต็มที่ ฝ่ายพม่าต้านทานได้อยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำจนเหลือกำลังที่ฝ่ายพม่าจะสามาถต้านได้จึงแตกถอยร่นหนีไป การรบที่ทุ่งลาดหญ้าฝ่ายไทยจึงได้รับชัยชนะในที่สุดหลังจากการรบที่กินเวลายาวนานประมาณสองเดือน พงศาวดารพม่าระบุว่าฝ่ายพม่าสูญเสียกำลังพลไปในศึกครั้งนี้ประมาณ 6,000 คน[6] กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้ยกทัพติดตามฝ่ายพม่าที่หนีจนถึงชายแดน ตามจับได้เชลยศึกและอาวุธต่างๆจำนวนมาก ฝ่ายพม่าที่หนีไปต้องเผชิญกับกองกำลังของพระองค์เจ้าขุนเณรที่คอยอยู่ ทัพที่ 6 เจ้าชายศิริธรรมราชาทรงทราบว่าทัพหน้าถูกฝ่ายไทยตีแตกพ่ายมาแล้วจึงแจ้งแก่ทัพที่ 7 เจ้าชายสะโดเมงสอจึงทูลต่อพระเจ้าปดุง พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้ถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังเมืองเมาะตะมะ ทัพฝ่ายไทยยกติดตามไปจนถึงทัพของเจ้าชายพม่าทั้งสองที่ท่าดินแดงและสามสบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง