พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340
พระเจ้าปดุงแห่งพม่ายังคงทรงมีขัตติยมานะในการกอบกู้หัวเมืองล้านนาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคงให้กลับไปคืนแก่พม่า พระเจ้าปดุงทรงแต่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2340 แม่ทัพพม่าคืออินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพพม่าผู้ซึ่งได้เอาชนะทัพฝ่ายไทยในการรบที่เมืองทวายเมื่อพ.ศ. 2337 เนเมียวจอดินสีหสุระยกทัพจำนวน 55,000 คน มาทางเมืองนายและแบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองปั่น และอีกส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองหางหรือเมืองแหง ลงมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ และส่งทัพบางส่วนไปตั้งมั่นที่เมืองลำพูนและเมืองลี้ พระยากาวิละนำญาติพี่น้องจัดทัพออกรบต่อการกับพม่า แต่ฝ่ายพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่หลายครั้งอย่างต่อเนื่อง จึงให้คนถือศุภอักษรลงไปกรุงเทพฯ ขอพระราชทานทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ รายละเอียดการรบระหว่างสยามและพม่าในครั้งนี้ ปรากฏในเพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่จำนวน 20,000 คน ดังนี้;
- ฝ่ายพระราชวังบวรฯ : กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ และพระยากลาโหมราชเสนา (พระไชยบูรณ์)
- ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)
นอกจากนี้ เจ้าอุปราชอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ อนุชาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ยกทัพลาวเวียงจันทน์จำนวน 20,000 คน เพื่อมาช่วยเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน จากนั้นมีพระราชบัณฑูรให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพล่วงหน้าไปตั้งที่เมืองลำปางก่อน ให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเสด็จยกทัพไปสู้กับพม่าที่เมืองลี้ จากนั้นทัพฝ่ายวังหน้าและวังหลวงจากเมืองลำปางจึงแข่งขันกันเข้ายึดเมืองลำพูนจากพม่า กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพวังหลวงไปตั้งที่ทางใต้ของเมืองลำพูน ส่วนกรมขุนสุนทรภูเบศร์และพระยากลาโหมราชเสนายกทัพวังหน้าไปตั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือของลำปางทางเมืองป่าซาง ทั้งทัพวังหน้าและวังหลวงเข้าโจมตีเมืองลำพูน นำไปสู่การรบที่ลำพูน ฝ่ายทัพพม่าที่เมืองลี้ยกมาโจมตีทัพไทยที่ลำพูน ทัพฝ่ายไทยสามารถเข้ายึดเมืองลำพูนได้สำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ฝ่ายพม่าที่ลำพูนแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่
ทัพของทั้งวังหน้าและวังหลวงยกจากลำพูนขึ้นไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ นำไปสู่การรบที่เชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ในเวลานั้น ทัพลาวเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์จำนวน 20,000 คนมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทัพหลวงของกรมพระราชวังหลังฯ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นจักรเจษฎา จำนวนอีก 20,000 คน ได้ยกมาสมทบที่เชียงใหม่เช่นกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเข้าตีทัพพม่าทางตะวันตกของเชียงใหม่ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ยกเข้าตีทางแม่น้ำปิงทางตะวันออก เจ้าอนุวงศ์ยกเข้าตีทางห้วยแม่ข่า กรมพระราชวังหลังและกรมหลวงจักรเจษฎาทรงยกเข้าตีทางวังตาล พระยากาวิละยกทัพออกมาตีจากในเมืองเชียงใหม่ ทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินถอยร่นกลับไป แม่ทัพพม่าคนหนึ่งชื่อว่าเนเมียวจอดินสีหสุระ ถูกสังหารในที่รบ แม่ทัพพม่าชื่อว่าอุบากอง (Upagaung) ถูกจับเป็นเชลย เมื่อมีชัยชนะเหนือพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพเสด็จคืนพระนคร
เชียงใหม่ตีเมืองสาดและเชียงตุง
อาณาจักรล้านนาเปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านรัฐกันชนระหว่างสยามและพม่า หัวเมืองล้านนาต่าง ๆมีข้อเสียเปรียบพม่าประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนเนื่องจากสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่และเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ ต่างดำเนินนโยบาย”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ยกทัพออกไปโจมตีเมืองต่าง ๆเพื่อกวาดต้อนกำลังพลเข้ามาในเมืองล้านนา ในพ.ศ. 2345 พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งให้นายจอมหง ซึ่งเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน ให้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าเมืองสาด (Mong Hsat) และพระเจ้าปดุงทรงประกาศยกย่องราชาจอมหงแห่งเมืองสาดให้เป็นเจ้าเหนือหัวเมืองล้านนาทั้งปวงทั้งห้าสิบเจ็ดหัวเมือง พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้อุปราชน้อยธรรม ยกทัพเชียงใหม่ขึ้นไปโจมตีเมืองสาดในเดือนเมษายนพ.ศ. 2345 อุปราชน้อยธรรมสามารถเข้ายึดเมืองสาดได้อุปราชน้อยธรรมจับกุมตัวราชาจอมหง รวมทั้งจับกุมทูตพม่าซึ่งได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ายาล็องแห่งเวียดนาม จากนั้นอุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพเลยไปโจมตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย ประชากรเมืองเชียงตุงเป็นชาวไทเขิน อุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้อีกเช่นกัน เจ้าฟ้าศิริไชยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป อุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเมืองเชียงตุงจำนวน 6,000 คน และจากเมืองสาดอีก 5,000 คน มาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุงถูกทำลายและว่างร้างลง
พระเจ้าปดุงทรงพิโรธพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ที่ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดและจับทูตพม่าไป จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง
สงคราม
พระเจ้าปดุงทรงจัดทัพพม่าเข้ารุกรานเชียงใหม่อีกครั้งในพ.ศ. 2345 โดยมีอินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพคนเดิมซึ่งได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่ครั้งก่อนเมื่อพ.ศ. 2340 มาเป็นโบชุกหรือแม่ทัพใหญ่อีกครั้ง ทัพพม่าประกอบด้วยทัพย่อยนำโดย;
- ชิดชิงโป
- ปไลโว
- มะเดมะโยงโกงดอรัด
- นามิแลง
- ตองแพกะเมียวุ่น
- มะยอแพกะเมียวุ่น
เนเมียวจอดินสีหสุระนำทัพพม่าเข้ายึดเมืองลำพูนแล้วล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้านจำนวนเจ็ดค่าย ทำค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นหนาวางแผนที่จะล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลานาน
ในระหว่างก่อนหน้านี้ พระยากลาโหมราชเสนาคนเก่า และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ได้ถึงแก่กรรมลง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ขึ้นว่าที่กลาโหมราชเสนา และแต่งตั้งพระยามหาวินิจฉัยขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่อีกครั้งดังนี้;
- ฝ่ายพระราชวังบวร: กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา
- ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)
เจ้าอนุวงศ์อุปราชแห่งเวียงจันทน์ยกทัพลาวมาเข้าร่วมการต่อสู้กับทัพพม่าในครั้งนี้อีกเช่นกัน
การยกทัพไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ใช้เส้นทางเดินทัพคล้ายคลึงกับเมื่อพ.ศ. 2340 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว พระอาการมากมีพิษร้อนต้องแช่อยู่ในสาคร เสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่มิได้ จึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าบำเรอภูธรกรมขุนสุนธรภูเบศร์ พร้อมทั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ยกทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯ ไปที่เมืองลี้ก่อน ในครั้งนี้ฝ่ายหลักของไทยยกทัพไปทางเมืองลี้ (เส้นทางตะวันตก) แทนที่ยกไปทางเมืองลำปาง (เส้นทางตะวันออก) เหมือนครั้งก่อน ทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชนั้นด้วยเหตุบางประการรั้งรอล่าช้ายกทัพฝ่ายวังหลวงติดตามหลังทัพฝ่ายวังหน้าไป เมื่อไปถึงเมืองลี้แล้วได้ข่าวว่าทัพพม่าจะยกทัพมาจากทางเมืองป่าซาง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชเห็นว่าทัพไม่พร้อมเพรียงจึงถอยทัพลงไปอยู่หลังทัพของวังหน้า
ฝ่ายพระยากาวิละอยู่รักษาป้องกันเมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรฯ ประชวรอยู่ที่เมืองเถิน จึงให้ท้าวมหายักษ์ผู้มีร่างกายแข็งแรงนำความข้อราชการไปกราบทูลที่เมืองเถิน ท้าวมหายักษ์เดินทางผ่านวงล้อมของพม่าออกไปโดยปราศจากการต่อต้าน ไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีตราให้ท้าวมหายักษ์ไปมอบให้แก่พระยากาวิละว่า ฝ่ายกรุงเทพได้ยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองเชียงใหม่แล้ว
กองทัพวังหน้าและวังหลวงยกทัพผ่านเมืองลี้ขึ้นไปถึงเมืองลำพูน พระยาเสน่หาภูธรมีใบบอกลงมากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถินว่า พระยามหาวินิจฉัยว่าที่จ่าแสนยากรนั้นอ่อนแอ ของพระราชทานตั้งพระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากรแทน กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงแต่งตั้งให้พระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตียึดเมืองลำพูนได้สำเร็จ
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรอยู่ที่เมืองเถิน เสด็จนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้ จึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังหลังฯ ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่แทน กรมพระราชวังหลังฯ เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ พระราชทานพระแสงดาบให้แก่กรมพระราชวังหลังฯ เป็นอาญาสิทธิ์ให้กรมพระราชวังหลังฯ ทรงมีพระอำนาจบัญชาทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้
ทัพฝ่ายยกจากลำพูเข้าโจมตีทัพพม่าที่เชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เชิญท้องตรารับสั่งให้แก่แม่ทัพนายกอง และมีพระบัญชาให้แม่ทัพนายกองเข้าหักตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้น ไปกินข้าวในเมืองเชียงใหม่ มิฉะนั้นจะมีโทษ ทัพทั้งฝ่ายวังหน้าวังหลวงยกเข้าตีเชียงใหม่ กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพฝ่ายวังหลวงเข้าตีเชียงใหม่ตั้งแต่สามยาม ฝ่ายพม่ายิงปืนใส่อย่างหนัก ฝ่ายไทยหลบอยู่ตามคันนา พระยาพิชัย (โต) ร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก” พระยาพิชัย (โต) นำทัพไทยฝ่ากระสุนของพม่าเข้าไป ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้แตกหนี ทัพวังหน้าวังหลวงฝ่ายไทยเข้าระดมโจมตีเมืองเชียงใหม่จากทุกทิศทาง จนสามารถตีทัพพม่าแตกถอยไปได้ เนเมียวจอดินสีหสุระจึงพ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง พระยากาวิละให้กองกำลังเมืองเชียงใหม่ออกติดตามสังหารฝ่ายพม่าที่กำลังหลบหนีได้จำนวนมาก
เมื่อขับไล่ทัพพม่าไปจากเขียงใหม่ได้แล้ว เจ้านายทุกพระองค์แม่ทัพนายกองจึงมาเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองเถิน ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยกทัพลาวเวียงจันทน์มาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ทัน มาถึงเมืองเชียงใหม่หลังจากที่พม่าแพ้ไปแล้วเจ็ดวัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพิโรธกองทัพฝ่ายวังหลวง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ที่ถอยทัพไปอยู่หลังทัพของวังหน้าที่เมืองลี้ และทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ที่ยกทัพมาไม่ทันการรบ จึงทรงมีพระราชบัณฑูรปรับโทษให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนจากพม่าให้ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและกรมพระราชวังหลังฯ จึงเสด็จกลับพระนคร
การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในพ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย ทางฝ่ายกรุงเทพสามารถจัดทัพขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่ ขับไล่ทัพฝ่ายพม่ากลับไปได้เฉกเช่นทุกครั้ง หลังจากที่ได้ชัยชนะเหนือพม่าที่เชียงใหม่ในพ.ศ. 2345 นี้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ประทับอยู่ที่เมืองล้านนาเพื่อจัดเตรียมทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน นำไปสู่สงครามเชียงแสนในพ.ศ. 2347
พระยากาวิละนำตัวราชาจอมหงเมืองสาดลงไปกรุงเทพไปเข้าเฝ้าฯ ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2345 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้สถาปนาพระยากาวิละ ผู้ซึ่งมีความชอบป้องกันเมืองเชียงใหม่และล้านนาจากการรุกรานของพม่าไว้ได้หลายครั้ง ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระราชทานพระนามว่า พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์องค์อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นเจ้าประเทศราชเป็นอธิบดีในหัวเมืองล้านนาทั้งห้าสิบเจ็ดเมือง
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จกลับพระนครแล้ว อาการพระประชวรทุเลาลง ทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2346 อาการพระประชวรกำเริบขึ้นมาอีก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2346 ต่อมาอีกสามเดือน เกิดความว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงร่วมมือกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) วางแผนการกบฏ จึงมีพระราชโองการลงพระราชอาญาสำเร็จโทษพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตด้วยท่อนจันทน์ และให้ประหารชีวิตพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)
ในพ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) ทัพฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ทัพฝ่ายลาวเจียงจันทน์ พร้อมทั้งเจ้าอุปราชน้อยธรรมเมืองเชียงใหม่ เจ้าคำโสมเมืองลำปาง ฝ่ายล้านนา และเจ้าอัตวรปัญโญเมืองน่าน ยกทัพโดยพร้อมกันเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน จนสามารถยึดเมืองเชียงแสนจากพม่าได้ หัวเมืองล้านนาทางเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม อำนาจของพม่าในหัวเมืองล้านนาจึงหมดสิ้นไปอย่างถาวร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น