กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok Metropolitan) โดยทั่วไปเรียกกันว่า กรุงเทพฯ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามราชธานีที่ทรงตั้งขึ้นใหม่
ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อย บวรรัตนโกสินทร์ เป็นอมรรัตนโกสินทร์ นอกนั้นให้คงไว้ตามเดิม
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
ชื่อเต็มกรุงเทพฯ อ่านว่า
“กฺรุงเทบมะหานะคอน อะมอนรัดตะนะโกสิน มะหินทะรายุดทะยา มะหาดิหฺลกพบ นบพะรัดราดชะทานีบูรีรม อุดมราดชะนิเวดมะหาสะถาน อะมอนพิมานอะวะตานสะถิด สักกะทัดติยะวิดสะนุกำปฺระสิด”
มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ดังนี้
City of Angels Great City of Immortals
Magnificient City of the Nine Gems Seat of the King
City of Royal Palaces Home of Gods Incarnate
Erected by Visvakarman at Indra’s Behest.
ทำไมวันที่ ๒๑ เมษายน จึงเป็นวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์?
หลังจากวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก ได้มีพระราชโองการให้ตั้งกรุงเทพมหานครยังฝั่งบุรพทิศจาก ได้ตั้งพิธียก “เสาหลักเมือง” ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ นั่นเอง
กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น