มานี มานะ ปิติ ชูใจ
วัติศาสตร์ “จินดามณี” ถือเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องการใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ และกลบท
จินดามณีเล่มแรกแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพระโหราธิบดีในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการที่จินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อมามักใช้ชื่อ “จินดามณี” เช่นเดียวกัน ได้แก่ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอสมิท และจินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์
กระทั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้น จึงเลิกใช้หนังสือจินดามณีไป
สำหรับ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ถือเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยอีกยุคสมัย ช่วงปี 2521-2537 เขียนโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และรูปภาพประกอบ วาดโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน
ที่มาที่ไปเริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าแบบเรียนภาษาไทยชุดเดิมมีเนื้อหาไม่ทันยุคสมัย จึงปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 อ่านอย่างสนุกสนานและอยากเรียนภาษาไทย ซึ่งรัชนีใช้เวลาเขียนนานกว่า 4 ปี โดยจำลองจากชีวิตจริงและสถานที่จริงในอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี
ตัวละครของเรื่องมีบุคลิกและแง่มุมแตกต่างกัน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ชีวิตที่หลากหลายพร้อมๆ กับหลักสูตรภาษาไทย เช่น มานะ รักเผ่าไทย พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน มีผลการเรียนดี เป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียนที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาชั้น ป.6
มานี รักเผ่าไทย น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้น ป.6 เพื่อนๆ เลือกตั้งเธอเป็นรองประธานนักเรียน
ปิติ พิทักษ์ถิ่น เลี้ยงม้าชื่อ เจ้าแก่ ต่อมาตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสินเป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อว่า เจ้านิล
ชูใจ เลิศล้ำ เพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็กเพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต่อมาเดินทางกลับมารับลูกสาวไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกอยู่กับย่าต่อไป
วีระ ประสงค์สุข มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตระหว่างรบตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจและเสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมชื่อ เจ้าจ๋อ
เพชร เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แต่ภายหลังแม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า
จันทร เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง เธอได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนโรงเรียนร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” และอ่านทำนองเสนาะถวายเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทานรับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ
คุณครูไพลิน เป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ชั้น ป.1-3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอเป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด
ปี 2524 กระทรวงศึกษาธิการของไทยอนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ใช้แบบเรียนชุดนี้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน
ปี 2537 อัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก มีเพลงชื่อ มานี (Manee) เนื้อเพลงส่วนหนึ่งมาจากบทร้อยแก้วในแบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
อาจารย์รัชนี เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2473 ขณะเข้ารับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย ได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งก็คือ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” รวมทั้งมีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ทางช้างเผือก” และ “เรื่องชื่นใจ” ร่วมกับสำนักพิมพ์ในเครือนิตยสาร a day
อาจารย์รัชนีถึงแก่กรรมด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 วัย 84 ปี และแม้ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” กลายเป็นแบบเรียนเก่าๆ แต่ชื่อเด็กหญิง “มานี” กลับมามีชีวิตหลายครั้ง เป็นแบรนด์ร้านอาหารสไตล์วินเทจ ทั้งร้านชาบู “มานีมีหม้อ” และร้านเครื่องดื่ม-ขนมหวาน “มานีมีนม” ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักที่มาที่ไปของแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้เรื่อยมา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น