มะกะโท เป็นมอญหนุ่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในพงศาวดารไทยสมัยพระร่วง เข้ามารับราชการอยู่กรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงชุบเลี้ยงให้ได้ดิบได้ดีเป็นถึงกรมวัง พอโอกาสเหมาะ มักกะโทได้แอบพาพระราชธิดาหนีไปเมืองมอญ แต่แทนที่พ่อขุนรามคำแหงจะทรงกริ้ว กรีฑาทัพไปตาม พระร่วงเจ้ากลับทรงเห็นว่าเป็นบุพเพสันนิวาส ทั้งยังทรงอวยพรให้มอญหนุ่มและพระราชธิดาประสบแต่ความสุขสวัสดี
มะกะโทเป็นบุตรชาวบ้านธรรมดา อยู่ที่ตำบลตะเกาะวุ่น เมืองเมาะตะมะ ในรามัญประเทศ ได้ยกกองคาราวานเดินทางค้าขายกับเมืองสุโขทัย วันหนึ่งมะกะโทพร้อมกับลูกหาบ ๓๐ คนหาบสินค้ามาถึงเชิงเขานวรัตนคีรี ขณะนั้นก็ไม่ใช่ฤดูฝน แต่เกิดฝนตกฟ้าร้อง อสุนีบาตได้ผ่าลงมาที่ปลายไม้คานของมะกะโทจนแตกหัก ส่วนตัวเขากลับไม่ได้รับอันตราย เมื่อมะกะโทแหงนขึ้นมองดูท้องฟ้า ก็เห็นแสงฟ้าเป็นปราสาทราชมณเฑียรประดับด้วยราชวัตรฉัตรธง ทำให้มะกะโทประหลาดใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นนิมิตดีร้ายประการใด
ครั้นเดินทางไปถึงหมู่บ้าน มะกะโทจึงไปกราบกรานโหราจารย์ที่ชาวบ้านนับถือ ขอให้ช่วยทำนายนิมิต โหราจารย์เฒ่ารู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีบุญวาสนา จะได้เป็นใหญ่ในวันหน้า จึงบอกกับมะกะโทว่า นิมิตที่ได้เห็นนั้นเป็นสิริสวัสดิ์มงคลใหญ่หลวงยิ่งนัก ท่านจงนำเงินทองมากองให้สูงเสมอจอมปลวก เป็นการคำนับบูชาครูเราก่อนเราจะทำนายให้ มะกะโทก็คิดว่าสินค้าที่นำมาขายครั้งนี้ ถึงจะขายหมดก็ยังได้เงินไม่มากขนาดนั้น แต่ทำอย่างไรจึงจะได้เงินทองให้สูงเสมอจอมปลวก เมื่อใช้ปัญญาไตร่ตรองแล้ว มะกะโทก็ถอดแหวนที่นิ้วนำไปวางไว้เหนือจอมปลวก บอกโหราจารย์ว่า ได้บูชาคำนับครูของท่านด้วยทองเสมอจอมปลวกแล้ว ขอท่านได้เมตตาทำนายนิมิตให้ข้าพเจ้าเถิด
โหราจารย์เห็นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีปัญญาเฉียบแหลมยิ่งนัก จึงทำนายนิมิตว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ มะกะโทจะได้เป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองใหญ่โต มีอานุภาพมาก ฉะนั้นอย่าได้ค้าขายอยู่เลย จงอุตส่าห์หาช่องทางเข้าทำราชการเถิด จะได้เป็นใหญ่มียศศักดิ์รุ่งเรือง มะกะโทกับบริวารทั้งหลายได้ฟังก็ดีใจ ก้มลงกราบขอบพระคุณโหราจารย์
ครั้นขายของเที่ยวนั้นหมดแล้ว มะกะโทก็พาบริวารไปฝากไว้กับบ้านคนชอบพอกัน แล้วหาช่องเข้าทำราชการ จนได้ฝากตัวกับนายช้างพระที่นั่งโรงใน ซึ่งเป็นมงคลคเชนทร์ตัวโปรดของสมเด็จพระร่วงเจ้า ช่วยดูแลรักษาเก็บกวาดมูลช้างล้างโรงให้สะอาด นายช้างก็มีความเมตตารักใคร่มะกะโทเรียกใช้สอยอยู่ทุกวัน
สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไปที่โรงช้างนั้นเป็นประจำ ทรงแปลกพระทัยที่เห็นโรงช้างสะอาดเรียบร้อยผิดกว่าแต่ก่อน จึงรับสั่งถามนายช้าง ได้ความว่ามีมอญน้อยคนหนึ่งมาขออาศัยช่วยปัดกวาดทำความสะอาด พระร่วงจึงรับสั่งให้นายช้างเลี้ยงมอญน้อยผู้นี้ให้ดี
อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงเสด็จโรงช้าง ประทับบนพระที่นั่งใกล้ช่องพระแกล โผล่พระพักตร์ออกไปบ้วนพระโอษฐ์ เห็นเบี้ยอันหนึ่งตกอยู่ จึงตรัสเรียกมะกะโทว่า มอญน้อยจงมาเก็บเบี้ยนี้ไป มะกะโทคลานเข้าไปถวายบังคมแล้วเก็บเบี้ยนั้นไว้ มีความดีใจว่าได้รับพระราชทานเบี้ย จึงหมอบเฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่งจนเสด็จกลับ
มะกะโทคิดไตร่ตรองว่าจะนำเบี้ยพระราชทานนี้ไปทำประการใด ให้เกิดผลสมกับเป็นเบี้ยมงคล ในที่สุดก็เห็นว่าควรจะนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาปลูก แต่แม่ค้าบอกว่าเบี้ยเดียวไม่รู้ว่าจะขายให้ได้อย่างไร มะกะโทจึงว่าขอเพียงจิ้มนิ้วลงไป เมล็ดผักติดมาแค่ไหนก็แค่นั้น แม่ค้าก็ยอมตามที่ว่า มะกะโทจึงเอานิ้วจุ่มน้ำลายในปากก่อนที่จะจุ่มลงในกระบุงเมล็ดผักกาด จึงมีเมล็ดพันธุ์ติดนิ้วขึ้นมาไม่น้อย แม่ค้าเห็นดังนั้นก็ชมว่ามอญน้อยผู้นี้ฉลาดเฉียบแหลมยิ่งนัก
มะกะโทขุดดินยกแปลงขึ้นข้างโรงช้าง เอามูลช้างผสมลงเป็นปุ๋ย เอาเมล็ดพันธุ์ผักติดนิ้วโรยลงไป ไม่ช้าผักก็ขึ้นงอกงาม ครั้นพระร่วงเสด็จมาโรงช้าง มะกะโทจึงถอนผักกาดถวาย มีรับสั่งถามว่ามอญน้อยได้พันธุ์ผักมาอย่างไร มะกะโทก็ทูลไปตามความเป็นจริง พระร่วงเจ้าทรงเห็นว่ามอญน้อยผู้นี้ปัญญาเฉียบแหลมสมควรจะเลี้ยงไว้ จึงขอตัวมะกะโทจากนายช้าง ให้เข้าไปรับราชการเป็นพวกวิเสทเครื่องต้นในพระราชวัง
ต่อมามะกะโททำความดีความชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ในพงศาวดารรามัญกล่าวว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าโปรดเกล้าฯเลื่อนมะกะโทขึ้นเป็นขุนวัง มีตำแหน่งในกรมวัง
ครั้นอยู่มาเกิดกบฏขึ้นที่หัวเมืองชายแดน สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จกรีธาทัพออกไปปราบกบฏด้วยพระองค์เอง ตรัสสั่งให้มะกะโทกรมวังอยู่เฝ้าพระนคร ในช่วงเวลานี้ นางสุวรรณเทวี ราชธิดาของพระร่วงเจ้าได้เกิดจิตปฏิพัทธ์ผูกเสน่หากับมะกะโทขึ้น การลอบรักใคร่ของมะกะโทกับพระราชธิดานี้ข้าราชการทั้งปวงต่างก็รู้ แต่เห็นว่าพระร่วงทรงโปรดปรานมะกะโทมาก ทุกคนจึงพากันเกรงกลัว ไม่มีใครกล้าว่ากล่าวตำหนิ
ฝ่ายมะกะโทกับนางสุวรรณเทวี ก็สำนึกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความผิด ถ้าพระร่วงเจ้ากลับมาอาจจะต้องได้รับพระราชอาญา จึงปรึกษากันที่จะหนีไปเสียก่อน พระราชธิดาได้รวบรวมแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทาน ส่วนมะกะโทก็เกลี้ยกล่อมผู้คนข้าทาสได้ ๓๐๐ คนเศษ พาพระราชธิดาขึ้นช้างหนีออกจากกรุงสุโขทัยไปทางด่านกะมอกะลก รีบเดินทางกันทั้งกลางวันและกลางคืน พอบรรดาเสนามาตย์รู้ว่ามะกะโทพาพระราชธิดาหนีไปก็พากันออกติดตาม แต่มะกะโทก็พาพระราชธิดาหนีข้ามแดนไปได้ จึงต้องพากันกลับมารอฟังพระราชโองการดำรัสสั่งของพระร่วงเจ้าต่อไป
มะกะโทพาพระราชธิดาและผู้คนไปที่บ้านตะเกาะวุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน และยกย่องพระราชธิดาอย่างสูงส่ง กับจัดที่อยู่ที่ทำกินแก่บริวารทั้งกว่า ๓๐๐ คนนั้นให้มีสุขกันถ้วนหน้า
เมื่อพระร่วงเจ้าทรงปราบกบฏราบคาบ ยกทัพกลับพระนคร เสนาอำมาตย์ทั้งปวงจึงนำความเรื่องมะกะโทพาพระราชธิดาหนีไปกราบทูลให้ทรงทราบ แต่พระร่วงเจ้ากลับไม่พิโรธอย่างที่พากันคาดคิด ตรัสว่า เรารู้มาแต่เดิมแล้ว มอญน้อยผู้นี้มีลักษณะดี นานไปภายหน้าจะมีบุญได้เป็นใหญ่ เราจึงมีความรักใคร่เหมือนบุตร ถ้าเราจะสาปแช่งให้เป็นอันตราย หรือยกกองทัพติดตามไปจับมาลงทัณฑ์ก็ทำได้ทุกประการ แต่จะเป็นเวรกรรมแก่เรา แลเสียเกียรติยศของบ้านเมือง เป็นที่อัปยศแก่นานาประเทศ ซึ่งมอญน้อยพาธิดาเราไป หากตั้งตัวเป็นใหญ่ได้เมื่อใด ก็คงจะต้องแต่งตั้งให้ธิดาเราเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น จะเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย อนึ่ง บุพเพสันนิวาสแห่งธิดาเรากับมอญน้อยนั้น ก็ได้อบรมกันมาแต่ชาติปางก่อนแล้ว จึงให้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกันดังนี้ เพราะเหตุนี้ เราจึงจะอวยพรแก่มอญน้อยแลธิดาเรา อย่าให้มีภัยอันตรายใดๆ ให้เกิดความสิริสุขสวัสดีด้วยกันเถิด คำอำนวยอวยพรของพระร่วงเจ้าผู้มีวาจาสิทธิ์นี้ จึงได้ส่งผลแก่มะกะโทต่อไปตั้งแต่พาพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย มาอยู่บ้านตะเกาะวุ่นแล้ว มะกะโทก็มีสง่าราศีเกิดสิริมงคลยิ่งขึ้น ด้วยนางนั้นเป็นราชธิดาของกษัตริย์ผู้มีราชอิสริยยศยิ่งใหญ่ พวกชาวบ้านชาวเมืองต่างพากันเกรงกลัวรักใคร่ในมะกะโทและพระราชธิดา พากันมาสวามิภักดิ์ฝากตัวเป็นให้ใช้สอยมากขึ้นทุกที นับเป็นจำนวนได้หลายพันหลายหมื่น มะกะโทนั้นเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด จึงช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้ชนทั้งหลาย จนบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติมีความสุขกันถ้วนหน้า จึงเป็นที่นับถือแก่ชนทั่วไป
ครั้นมะกะโทเห็นว่ามีผู้ให้ความนับถือรักใคร่ตนมากแล้ว จึงประกาศเกลี้ยกล่อมทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในรามัญประเทศ ให้ร่วมสามัคคีรวมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อรวบรวมผู้คนเข้ามาอยู่ในอำนาจตนได้มากแล้ว มะกะโทก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติ ณ เมืองเมาะตะมะ
แม้ชนทั่วไปจะยินดีถวายพระพรชัยแก่กษัตริย์องค์ใหม่ แต่พระเจ้ามะกะโทก็หาได้ทำพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระนามไม่ ด้วยระลึกถึงพระเดชพระคุณของสมเด็จพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย จึงได้แต่งพระราชสาสน์ลงในสุพรรณบัตร แลจัดเครื่องมงคลราชบรรณาการให้อำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นราชทูต นำพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ณ กรุงสุโขทัย
พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้อำมาตย์นำราชทูตจากเมืองเมาะตะมะเข้าเฝ้า มีรับสั่งให้อ่านพระราชสาสน์มีข้อความว่า
“ข้าพระบาทผู้ชื่อว่ามะกะโท เป็นข้าสวามิภักดิ์ใต้พระบาทมุลิกากรของพระองค์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ผ่านพิภพกรุงสุโขทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาของพระองค์ ขอโอนอุตมงคเศียรเกล้ากราบถวายบังคมมาแทบพระยุคลบาทบงกชมาศของพระองค์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงข้าพระบาททั้งสองให้มีความร่มเย็นเป็นสุข พระเดชพระคุณปกป้องอยู่เหนือเกล้าข้าพระองค์ทั้งสองหาที่เปรียบให้สิ้นสุดมิได้ ด้วยเผอิญบุพเพสันนิวาสแห่งข้าพระบาททั้งสองมาดลบันดาลให้มีปฏิพัทธ์จิตต่อกัน ข้าพระองค์ได้ละเมิดล่วงพระราชอาญาพาพระราชธิดาของพระองค์มา โทษานุโทษมีแก่ข้าพระองค์เป็นล้นเกล้าฯ แต่บัดนี้ด้วยเดชะพระบารมีบรมเดชานุภาพของพระองค์ปกแผ่อยู่เหนือเกล้าฯข้าพระองค์ทั้งสอง ชนทั้งปวงจึงยินดีพร้อมกันอัญเชิญข้าพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติในเมืองเมาะตะมะ เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั่วไป เพราะฉะนี้ข้าพระองค์ขอพระราชทานโทษานุโทษซึ่งมีผิดมาแต่หลัง ขอพระบารมีของพระองค์เป็นที่พึ่งสืบไป ขอได้ทรงประสาทพระราชทานนามกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ประการแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ครองราชย์ใหม่ เพื่อเป็นสวัสดิชัยมงคลแก่ข้าพระองค์ทั้งสองสืบไป เมืองเมาะตะมะนี้จะได้เป็นสุพรรณปฐพีแผ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย อยู่ใต้พระเดชานุภาพของพระองค์สืบต่อไปจนตลอดกัลป์ปาวสาน”
สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงทราบความในพระราชสาสน์แล้วก็มีพระทัยยินดี ตรัสสรรเสริญว่า มะกะโทมอญน้อยผู้นี้ เราได้ทำนายไว้แล้วว่าสืบไปจะมีบุญญาธิการ บัดนี้ได้เป็นกษัตริย์ครองรามัญประเทศแล้ว ต่อไปภายหน้านอกจากเราผู้เดียวแล้ว จะหากษัตริย์อื่นมีบุญยิ่งกว่ามะกะโทนี้มิได้ พระองค์จึงทรงพระราชทานพระนามให้มะกะโทว่า “พระเจ้าวาริหู” หรือ “ฟ้ารั่ว” หมายถึงหล่นมาจากฟ้า กับพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับกษัตริย์ ๕ ประการคือพระขรรค์ ๑ ฉัตร ๑ พระมหามงกุฎ ๑ ฉลองพระบาท ๑ พัดวาลวิชนี ๑ และโปรดพระราชทานพระราโชวาทแก่ราชทูตไปว่า ให้แผ่นดินเมาะตะมะอยู่ในทศพิธราชธรรม บำรุงปกครองแผ่นดินโดยยุติธรรม ให้ตั้งใจรักใคร่ราษฎรพลเมืองดุจบุตรในอุทร และทรงประสาทพระพรว่า ให้เจ้าแผ่นดินเมาะตะมะปราศจากภัยอันตรายทั้งภายนอกภายใน ให้ครองราชย์สมบัติเป็นสุขเจริญสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ
เมื่อราชทูตนำความกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมาะตะมะได้ทรงทราบ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการแล้ว พระเจ้ามะกะโทก็ทรงโสมนัสยินดี ผินพระพักตร์ไปทางทิศเมืองสุโขทัย กราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า ระลึกพระคุณของพระองค์อันยิ่งใหญ่เหลือล้นไม่มีที่สิ้นสุด ได้พระนามว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” ตั้งแต่บัดนั้น
ในประวัติศาสตร์พม่าซึ่งเรียกมะกะโทว่า “มะกะทู” กล่าวว่า มะกะทูมีบิดาเป็นไทย มารดาเป็นมอญ เกิดที่เมืองสะเทิม เป็นนักผจญภัย เมื่อพม่าปราบกบฏพวกมอญ มะกะทูได้หนีมาอยู่กรุงสุโขทัย เข้ารับราชการกับพ่อขุนรามคำแหง และได้เป็นนายกองช้าง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๑๘๒๓ มะกะทูได้พาพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงหนีไปเมาะตะมะ มะกะทูได้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองเมาะตะมะให้เป็นกบฏ ในขณะที่พม่ากำลังรบติดพันกับพวกมองโกล แต่เจ้าเมืองเป็นคนนิยมพม่าจึงไม่ยอม มะกะทูได้ฆ่าเจ้าเมืองแล้วประกาศตัวเป็นกษัตริย์แห่งเมาะตะมะ ทรงพระนามว่า “วาเรรุ” ซึ่งแปลว่า “กษัตริย์ที่หล่นมาจากฟ้า”
ในปี พ.ศ.๑๘๓๐ พม่าอ่อนอำนาจลง เจ้าเมืองหงสาวดี (พะโค) ซึ่งเป็นมอญได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์อีกองค์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าตละพญา ผูกสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกับพระเจ้าวาเรรุ กษัตริย์มอญทั้ง ๒ องค์ได้ร่วมกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่ เข้ารบกับพม่าและเป็นฝ่ายมีชัย ได้ครอบครองดินแดนพม่าตอนใต้ไว้ได้ทั้งหมด
ต่อมาพระเจ้าวาเรรุกับพระเจ้าตละพญาก็แตกคอจนรบพุ่งกันเอง พระเจ้าตละพญาเป็นฝ่ายแพ้ถูกประหาร พระเจ้าวาเรรุเลยสถาปนาราชอาณาจักรมอญขึ้นในพม่าตอนใต้ โดยมีเมาะตะเป็นเมืองหลวง จากนั้นก็ส่งทูตไปขอพระราชทานอภัยโทษพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการแด่พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทางสุโขทัยก็รับเครื่องราชบรรณาการและพระราชทานช้างเผือก ๑ เชือกเป็นของขวัญ
พระเจ้าวาเรรุได้ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตเพื่อชำระกฎหมายของมอญขึ้นแทนการใช้กฎหมายพม่าอย่างแต่ก่อน ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่นี้มีชื่อเรียกกันต่อมาว่า “ประมวลกฎหมายวาเรรุ”
แต่อย่างไรก็ตาม วัฏจักรของการชิงอำนาจก็เวียนมา พระเจ้าวาเรรุได้ถูกพระราชนัดดาองค์หนึ่งของพระเจ้าตละพญาปลงพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๘๓๙บ้างก็ว่า มะกะโทผู้มีบุญบารมีราวกับฟ้ารั่วหล่นลงมา เสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๙ ครองราชย์อยู่ ๒๓ ปี สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๑๘๕๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น