วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

สมเด็จพระนางเรือล่ม อัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕

 “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี 



อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ถือเป็นกรณีสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างไปจากทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากพระโรคใดพระโรคหนึ่ง แต่สมเด็จพระนางเรือล่มสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำจากที่เรือพระประเทียบล่ม

พระประวัติ “พระนางเรือล่ม” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวัง

ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ ขณะเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน

เหตุเศร้าสลด “สมเด็จพระนางเรือล่ม” 

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ ต่อมาพระองค์ได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปีที่แน่นอน แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2421) และได้ประสูติพระราชธิดาองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421

ขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นที่โปรดปรานเสน่หาในพระราชสวามีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความชื่นชมโสมนัสของรัชกาลที่ 5 ได้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดคิดกับเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ อีก 2 ปีต่อมา

ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

“พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็ได้ตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์”

การเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานครไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 บรรณาธิการหนังสือ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ที่เขียนโดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า

“เส้นทางเสด็จจะเสด็จทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางปะอิน โดยการเสด็จครั้งนี้ได้มีการจัดขบวนเรือเสด็จ โดยจัดเรือเก๋งที่ประทับพระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระพี่เลี้ยงที่ตามเสด็จครอบครัวละหนึ่งลำ โดยใช้เรือกลไฟลากจูงนำหน้า ซึ่งขบวนเสด็จนั้นก็จะเสด็จไปพร้อม ๆ กัน แบบเรียงหน้ากระดาน เริ่มด้วยเรือกลไฟราชสีห์ ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เรือโสรวาลลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เรือปานมารุตลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เรือยอร์ชอยู่ติดชายฝั่ง ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และถัดมาเป็นเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตามลำดับ

ขบวนเรือพระประเทียบทั้งหมดออกจากท่าราชวรดิษฐ์มุ่งหน้าสู่พระราชวังบางปะอิน แต่ขณะนั้นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จตามไปในทันที เพราะยังติดพระราชกรณียกิจอยู่ในพระบรมหาราชวัง ก่อนจะลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดีตามเสด็จไป”

เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จวนจะเข้าเกร็ดพบเรือราชสีห์ จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด เนื่องจากเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ชนกับเรือโสรวาร พระองค์จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปที่บางพูด

เมื่อพระองค์เสด็จไปถึง พระยามหามนตรีทูลว่า เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้าใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวาลซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน  เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรงแล่นกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวาล 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ ก็เบนหัวออก ศีรษะเรือไปโดนเรือโสรวาล น้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

อนุสรณ์ถึงการพลักพราก 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญ เหตุการณ์ครั้งนั้นกลับไม่ได้ผ่านพ้นไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ตามมายังคงเป็นอนุสรณ์ถึงการพลัดพราก รวมทั้งยังถูกสร้างสีสันผสมผสานกับศรัทธาของราษฎรสมัยหลัง

ความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา นอกจากปรากฏผ่านการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศลอย่างการหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลายแห่งที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนสุนันทาลัย อนุสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน อนุสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

สถานที่เกิดเหตุนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในหมู่ราษฎร โดยเฉพาะ วัดกู้ นนทบุรี ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นสถานที่กู้เรือพระศพและเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางวัดได้จัดแสดงเรือโบราณลำหนึ่งในศาลเป็นหลักฐาน (ปัจจุบันศาลหลังนี้ได้ถูกรื้อและบูรณะเป็นศาลหลังใหม่เรียบร้อยแล้ว) ขณะเดียวกันผู้รู้ในท้องถิ่น คือ พิศาล บุญผูก ได้ให้ข้อมูลว่า

“แท้จริงแล้วสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่ทิศ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยงแก้ว”

คำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สืบต่อมา และบันทึกพระราชกิจรายวันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุว่า เรือพระที่นั่งล่มลงบริเวณหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง มีการอัญเชิญพระบรมศพและพลิกเรือให้หงายขึ้นในบริเวณนั้น รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์เป็นพระราชอนุเสาวรีย์ขึ้นยังตำแหน่งที่เกิดเหตุ มิได้กู้เรือขึ้นไว้บนฝั่งแต่อย่างใด เพราะทำเลวัดอยู่ห่างชายฝั่งมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

แต่จากเอกสาร ข้อเขียน และป้ายแสดงพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ปรากฏอยู่ในวัดกู้หลายแห่ง ทำให้มีแนวโน้มว่า มีการกู้ซากเรือขึ้นไว้บนบก รวมทั้งอัญเชิญพระศพขึ้นที่หน้าวัดกู้ แต่หากพิจารณาจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแล้วจะพบว่า เรือพระประเทียบแค่เกยทรายจมลง สามารถกู้และนำกลับพระนครที่แห่งนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้เรือพระประเทียบล่องไปทางวัดกู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

เรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจแก่ราษฎร โดยเฉพาะเรื่องความรักและการพลัดพราก ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังใหม่ของวัดกู้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระองค์ ผู้คนที่มาสักการะยังศาลแห่งนี้มักมาด้วยความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถดลบันดาลให้สมความปรารถนาตามแต่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ได้มีเรื่องน่าพิศวงจากอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย เช่น ผู้ที่มาศาลส่วนใหญ่มักเล่าว่าตนเองฝันเห็นสตรีสูงศักดิ์ หรือ เด็กทารก และเมื่อมาศาลแล้วก็จะมีอาการเศร้าโศกเสียใจ เรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจและความศรัทธามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการถวายของบูชาต่างๆ ณ อนุสาวรีย์ที่สวนสุนันทา โดยมักจะมีผู้นำดอกกุหลาบสีชมพูไปถวาย เพราะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก การบูชาลักษณะดังกล่าวแสดงถึงความใกล้ชิดที่ราษฎรมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากขึ้น

เรื่องราวของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ผู้ล่วงลับ มิได้ล่วงเลยตามกาลเวลา แต่ยังคงถูกบอกเล่าและปฏิบัติสักการะด้วยความเคารพบูชาตามแบบของแต่ละบุคคลจนถึงปัจจุบัน






“พระนางเรือล่ม” สิ้นพระชนม์เพราะไม่มีคนกล้าช่วย! กลัวจะหัวขาดด้วยกฎมณเฑียรบาล!!
โดย: โรม บุนนาค
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๒๓ ได้เกิดเหตุสลดใจครั้งใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อัครมเหสีองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสบอุบัติเหตุจากการเสด็จประพาสทางเรือ สิ้นพระชนม์ในขณะทรงครรภ์ได้ ๕ เดือน พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาองค์แรก ซึ่งยังความสุดเศร้าโศกแก่สมเด็จพระปิยะมหาราชอย่างใหญ่หลวง จนไม่อาจทนฟังเสียงปี่พาทย์ที่ประโคมพระศพได้
ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา ๒ โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน ๒ โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย
เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า
“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า ๕ โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก ๑๐ ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า ๑๐ ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น การหงายนั้นช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมงจึงได้เสียท่วงที เมื่อเชิญพระศพขึ้นมาที่เรือปานมารุตแล้วก็ช่วยแก้ไขกันมาก ครั้งนี้เผอิญให้หลวงราโชมาในเรือปานมารุตด้วย ได้ช่วยแก้เต็มกำลังก็ไม่ฟื้น ชาวบ้านที่แก้พวกข้าหลวงรอดหลายคนเอามาแก้ก็ไม่ฟื้นได้ เมื่อได้ความดังนี้แล้วจึงได้ทราบฝ่าละอองฯว่าพระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งมาประทับไล่เลียงอยู่นั้นสัก ๑๐ มินิตกว่าก็ไม่ทราบ ไม่มีใครกราบบังคมทูล และกรมสมเด็จพระสุดารัตน์กับเจ้านายก็มาประชุมพร้อมกันอยู่ในเรือปานมารุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเรือปานมารุตให้ช่วยกันแก้ไขด้วยพระองคยังร้อนๆอยู่ จนบ่าย ๒ โมงก็ไม่ฟื้นขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก...”
ในขณะเกิดเหตุนั้น มีข้าราชบริพารอยู่ในขบวนเรือเสด็จเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีชาวบ้านที่ดำทรายอยู่หลายคน กล่าวกันว่าหลายคนจะเข้าไปช่วย แต่พระยามหามนตรีได้สั่งห้าม เพราะมีกฎมณเฑียรบาลว่าการแตะต้ององค์พระมเหสีมีโทษถึงตาย และยังมีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรือพระประเทียบล่มไว้ด้วยว่า
“อนึ่ง หัวหมื่นหัวพันูดาษจ่าชาวเลือกชาววังบันดาลงเรือนั้น ยังมิทันถึงที่ประทับแลหยุดเรือประเทียบ โทษถึงตาย ถ้าประเทียบเข้าประทับแลเรือประเทียบเข้าติดแล้ว ให้ลงว่ายน้ำขึ้นบก ถ้าอยู่กับเรือโทษฟันคอ
อนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่ม ให้ชาวเรือว่ายน้ำหนี ถ้าอยู่กับเรือโทษถึงตาย
ถ้าเรือประเทียบล่มก็ดี ประเทียบตกน้ำก็ดี แลว่ายน้ำอยู่บันดาดาย ให้ดูดาษแลชาวเรือยื่นเสร้าแลซัดหมากพร้าวให้เกาะตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายึด ถ้ายึดขึ้นให้รอดโทษถึงตาย ถ้าซัดหมากพร้าวให้รอด รางวัลเงินสิบตำลึงขันทองหนึ่ง ถ้าเรือประเทียบล่มมีผู้อื่นเห็นซัดหมากพร้าวเอาขึ้นให้รอด โทษทวีคูณตายทั้งโคตร...”
ช่วยให้รอดชีวิต แต่คนช่วยกลับตายทั้งโคตร แล้วใครจะกล้าช่วย
กฎหมายนี้มีมาแต่โบราณกาล ก็เพื่อกันการก่อกบฏ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายสิ่งหลายอย่างก็คลี่คลายทันสมัยขึ้นแล้ว แต่คนไม่ลึกซึ้งกฎหมายใครจะกล้าเสี่ยง
ได้มีการประชุมชำระความเรื่องนี้ สอบถามคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ได้ความว่า เมื่อเรือล่ม ถ้ารีบช่วยกันหงายเรือขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าและพระราชธิดาก็จะไม่เป็นอันตราย แต่พระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลขบวนเรือ แทนที่จะให้คนรีบโดดน้ำลงไปหงายเรือ กลับมัวแต่เรียกเรือสำปั้นที่พายอยู่ มิหนำซ้ำเมื่อชาวบ้านจะมาช่วยก็ห้ามอีก ที่กราบทูลว่าตัวเองเป็นคนดำน้ำลงไปนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมา บางคนก็ว่าไม่ได้ลง การที่ทูลจะจริงหรือเท็จก็ไม่ได้ความแน่ชัด
ในที่สุดการตัดสินในวันที่ ๖ มิถุนายนต่อมา พระยามหามนตรีก็รับความผิดไปคนเดียว ถูกออกจากราชการและจำคุกไว้ ๓ ปี แต่เมื่อพ้นโทษแล้วก็ได้กลับมารับราชการอีก ได้เป็นพระยาพิชัยสงคราม ผู้บังคับการกรมทหารหน้า
นี่ก็เป็นบทเรียนครั้งสำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง