“มัจฉาจมวารี ปักษีตกนภา จันทร์หลบโฉมสุดา มวลผกาละอายนาง”
4 ยอดหญิงงาม ในตำนานจีน : ไซซี-หวังเจาจิน-เตียวเสียน-หยางกุ้ยเฟย
เป็นคำเรียกสตรี 4 คนที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในประวัติศาสตร์จีนโบราณ โดยทั้ง 4 คนนี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองพลิกผันหรือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์
1. ไซซี เกิดประมาณ ค.ศ. 506 ก่อนคริสตกาลในสมัยชุนชิว ได้ฉายาว่า "มัจฉาจมวารี" หมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ” เนื่องจากเหล่าปลาในลำธาร เมื่อได้เห็นรูปโฉมของนางก็ถึงกับตะลึงในความงามของนางนั้น ทำให้ฝูงปลาถึงกับจมลงไปในน้ำโดยไม่รู้ตัว
ไซซีเป็นเครื่องบรรณาการที่รัฐเยว่ ส่งให้อู่อ๋องฟูซาแห่งรัฐอู่รับไว้ จนเกิดความลุ่มหลงไม่บริหารบ้านเมือง ต่อมา 13 ปีให้หลัง รัฐอู่ก็ล่มสลาย อู่อ๋องฟูซาต้องฆ่าตัวตาย และรัฐเยว่กลับสู่อิสรภาพในที่สุด
เมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2554 ได้มีเสวนาวิชาการ "เรื่องยอดหญิงงามไซซี เป็นบรรพชนของคนไท?" ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
ประเด็น "ไซซีเป็นคนไท.....หรือไม่?" อาจารย์ทองแถม นาถจำนงบอกว่า "ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยจะลากเข้าหาทำนองอะไรก็ไทย แต่นักวิชาการจีนค้นคว้าบอกมาเอง แล้วก็ตื่นเต้นกันเองในหมู่นักวิชาการจีน"
ประวัติศาสตร์จีนเฉียดสามพันปีที่แล้ว เรื่องของเย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนรบแพ้อู๋อ๋องจนถูกจับเป็นเฉลย เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับแคว้น เย่ว์อ๋องกับฟ่านหลีเสนาบดีคู่ใจก็วางแผนปลดปล่อยแคว้นเย่ว์ออกจากการเป็นเมืองขึ้นของแคว้นอู่ เย่ว์อ๋องตั้งปณิธาน"นอนหนุนขอน กินดีขม" เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำการสำเร็จ แผน "นารีพิฆาต" นี้ก็เป็นหนึ่งในการกอบกู้แคว้น ผู้รับหน้าที่นี้ก็คือโฉมงามนาม "ไซซี"
เราไปดูความเป็นมาของไซซีกันว่านางเป็นใครมาจากไหน?
"ไซซี" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ "ซีซือ" ตามสำเนียงจีนกลาง เกิดประมาณ 506 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคชุนชิว ที่มณฑลเจ้อเจียง ในแคว้นเย่ว์
ไซซีได้รับฉายานามว่า "มัจฉาจมวารี" หมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ" ไซซีนั้นมีโรคประจำตัวคือ "โรคหัวใจ" เวลาอาการกำเริบนางจะขมวดคิ้วด้วยความเจ็บปวด ถึงกระนั้นคนที่ได้เห็นยังยอมรับว่า "แม้นขมวดคิ้วนิ่วหน้าหรือแย้มยิ้มก็งามเพียงกันยิ่งเห็นยิ่งชวนลุ่มหลง รูปร่างนั้นจะทอนออกนิดก็ผอมไปจะเพิ่มอีกหน่อยก็อ้วนเกิน" นับได้ว่าความงามของนางนั้นเป็นสิ่งที่ "ธรรมชาติ" ได้สร้างมาอย่างพอดี
ในยุคเลียดก๊กที่แต่ละแคว้นรบกันนั้น แคว้นอู๋เป็นรัฐที่มีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งจึงสามารถรบชนะแคว้นเย่ว์และจับตัว "เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยน" และ "อัครเสนาบดีฟ่านหลี" ไปเป็นตัวประกันที่แคว้นอู๋ เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนต้องการที่จะกู้ชาติแต่จำต้องยอมจงรักภักดีเพื่อให้อู๋อ๋องไว้ใจ
ครั้งหนึ่งอู๋อ๋องเกิดมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายไม่สามารถให้การรักษาได้ เย่ว์อ๋อง
โกวเจี้ยนได้ชิมอุจจาระของอู๋อ๋องต่อหน้าเสนาธิการทั้งปวง และบอกว่าอู๋อ๋องเพียงแค่มีพระวรกายที่เย็นเกินไป หากได้ดื่มสุราและทำร่างกายให้อบอุ่นขึ้นก็จะมีอาการดีขึ้นเอง เมื่ออู๋อ๋องทำตามก็หายประชวร อู๋อ๋องเห็นว่าเย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดีจึงปล่อยตัวกลับคืนสู่แคว้นเย่ว์ เมื่อกลับสู่แคว้น เย่ว์อ๋องโกวเจี๋ยนก็วางแผนที่จะกู้ชาติทันที โดยมีเสนาบดีฟ่านหลี่คอยให้คำปรึกษา ฟ่านหลี่ได้เสนอแผนการสามอย่าง คือ ฝึกฝนกองกำลังทหาร พัฒนาด้านกสิกรรม และ ส่งสาวงามไปเป็นเครื่องบรรณาการพร้อมกับเป็นไส้ศึกคอยส่งข่าวภายในให้
ไซซีเป็นหญิงชาวบ้าน นางเป็นลูกสาวคนตัดฟืนที่เขาจู้หลัวซาน (ภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า กิวล่อซัว) ถูกพบครั้งแรกขณะซักผ้าริมลำธาร ไซซีมีหน้าตางดงามมาก
พร้อมกับเจิ้งตัน (แต้ตัน) ซึ่งมีความงามด้อยกว่าไซซีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฟ่านหลี่เสนาบดีของแคว้นเย่ว์เป็นผู้ดูแลอบรมทั้ง 2 นางให้มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง เป็นเวลานานถึง 3 ปี เพื่อที่จะไปเป็นบรรณาการให้กับอู๋อ๋อง เพื่อมอมเมาให้อู่อ๋องฟูซาเจ้าแคว้นอู่ ลุ่มหลงอยู่กับเสน่ห์ของนาง จนไม่บริหารบ้านเมืองให้เป็นปกติสุข เมื่ออู๋อ๋องฟูซาได้ตัวไซซีกับเจิ้งตันสองสาวงามจากแคว้นเย่ว์ ก็บังเกิดความหลงใหลในตัวไซซีมากกว่าเจิ้งตัน ทำให้เจิ้งตันน้อยใจจนผูกคอตาย ขณะที่มาอยู่แคว้นอู๋ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น(เจิ้งตันซึ่งมาอยู่ที่แคว้นอู่ได้ลืมอุดมการณ์และปณิธานเพื่อบ้านเมืองไปหมดสิ้นเมื่อเป็นสนมของอู๋อ๋อง นับว่าไซซียังโชคดีที่เจิ้งตันไม่ได้เปิดเผยความลับว่าพวกนางทั้งสองถูกส่งมาทำอะไร)
เมื่อเจิ้งตันตายไปภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับไซซีเพียงคนเดียว การใช้ชีวิตในฐานะสนมของอู่อ๋องนั้นไม่ง่ายเลยไหนจะต้องคอยระวังตัวจากบรรดาสนมและเจ้าจอมคนอื่นที่คอยจะกำจัดนางให้พ้นหูพ้นตา ไหนจะต้องคอยหาข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการทหารแล้วลอบส่งข่าวกลับไปยังแคว้นเย่ว์โดยที่ไม่ให้มีคนจับพิรุธหรือสงสัยในตัวนางได้ และยังต้องคอยเบี่ยงเบนความสนใจของอู่อ๋องจากการบริหารบ้านเมือง ผ่านไป 13 ปี เมื่อแคว้นอู่อ่อนแอลง แคว้นเย่ว์ก็สามารถเอาชนะได้สำเร็จในที่สุด
ภายหลังจากที่อู่อ๋องฟูซาฆ่าตัวตายไปแล้ว ไซวีกับเสนาบดีฟ่านหลี่ที่ว่ากันว่า ได้ผูกสัมพันธ์ทางใจไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว(ตั้งแต่ครั้งที่ฟ่านหลี่นำตัวไซซีและเจิ้งตันไปถวายเป็นบรรณาการแด่อู๋อ๋อง) ได้ถอนตัวออกจากการเมือง ฟ่านหลี่หันไปประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ด้วยนิสัยซื่อตรงและมีคุณธรรมทำให้กิจการของฟ่านหลี่ประสบความสำเร็จกลายเป็นคหบดีที่ร่ำรวยและมั่งคั่งที่สุดในแคว้นเย่ว์ บั้นปลายของชีวิตฟ่านหลี่กับไซซีได้หายตัวไป บ้างก็ว่าทั้งคู่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ และไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ทะเลสาบไซ้โอว (ทะเลสาบซีหู) เป็นต้น แต่ไม่มีใครสามารถระบุถึงที่ตั้งของสุสานของทั้งสองได้
อาจารย์ถาวร สิกขโกศล บอกว่า "นักวิชาการจีนพยายามถอดความภาษาพูดแคว้นเย่ว์ที่บันทึกไว้ด้วยตัวหนังสือจีน" ด้วยภาษาหลายภาษา ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายภาษาแคว้นเย่ว์ ถอดความได้ด้วยภาษา "ไทยสยาม"
เผ่าเย่ว์ เผ่าของไซซี เป็นไทหรือไม่?.....คำเรียก.....ไป่เย่ว์ แปลว่า "เย่ว์ร้อยเผ่า" คำนี้ชี้ให้เห็นว่า "เย่ว์ไม่ได้มีเผ่าเดียว" แต่มีภาษาของตัวเอง มีขนบธรรมเนียมเหมือนกัน ตัดผมสั้น สักร่างกาย อาศัยอยู่บนเรือนเสาสูง ชำนาญทางน้ำ เก่งการใช้เรือและรบทางเรือ เชี่ยวชาญการหล่อสำริด ฯลฯ
อาจารย์ทองแถมบอกว่า แม้ว - เย้าบางเผ่าเมื่อลงจากภูเขามาอยู่พื้นราบหรืออยู่ริมน้ำก็เก่งทางน้ำ และแม้ว - เย้าก็คือหนึ่งในเย่ว์ จึงสรุปไม่ได้ว่า เย่ว์เป็นไทชาติพันธุ์เดียว
ชื่อ "เย่ว์" เป็นชื่อที่ถูกเรียกขานในช่วงโบราณ สมัยเมื่อเกือบสามพันปีที่แล้ว เมื่อชื่อเย่ว์หายไป ชื่อจ้วง ต้ง และอีกหลายชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีวิธีชีวิตแบบเย่ว์ก็เกิดตามมา
กระบวนการพิสูจน์ชาติพันธุ์เผ่าเย่ว์ไม่ได้ทำเพียงแค่ค้นคว้าหลักฐานและบันทึกตามประวัติศาสตร์ เทียบเคียงภาษาพูด และตัวหนังสือเท่านั้น นักวิชาการจีนที่ค้นคว้าเรื่องนี้ เอาจริงเอาจังกันถึงขั้น "พิสูจน์ดีเอ็นเอ"
การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทำเอานักวิชาการจีนระดับศาสตราจารย์แปลกใจ.....ทำไมดีเอ็นเอชาวจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ไปตรงกับชาวลาวแถวหลวงพระบาง?
อาจารย์ทองแถม นาถจำนง สรุปว่า "ไซซีเป็นชาวเผ่าเย่ว์ และไทเป็นหนึ่งในเผ่าเย่ว์" แต่ไม่ยืนยัน "เผ่าไซซีเป็นไท"แต่ไซซีเป็นไทหรือไม่? เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จะเป็นวีรบุรุษของคนไทยได้ด้วยหรือเปล่า? คงเป็นเพียงแค่ประเด็นให้เราได้คิดกัน ว่าราก.....ลึก ดั้งเดิม.....แท้จริง เรามาจากไหน?
ความจริงทางวิชาการชี้ให้เห็นว่า "แม้จะต่างชาติต่างภาษา เดิมทีเราอาจจะเริ่มต้นมาจากรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ทำให้เราไม่เหมือนกัน"
เราจะทะเลาะกันไปทำไม? ให้ตัวเองเหนื่อย คนอื่นก็เหนื่อย ประเทศชาติก็เหนื่อย?
หวางเจาจวิน (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org)
2. หวังเจาจวิน
หวังเจาจวิน มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ได้ฉายาว่า "ปักษีตกนภา" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”
หวังเจาจวินเดิมเป็นนางกำนัลในวังหลวงที่ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่นส่งไปให้แก่ข่านของเผ่าซงหนูเพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรี แล้วในที่สุดหวังเจาจวินก็กลายเป็นภรรยาคนโปรดของ หู ฮันเซีย
แม้ว่าในอดีต "ผู้ชาย" จะเป็นผู้กุมอำนาจและบริหารบ้านเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่บทบาทสำคัญกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายหญิง เกิดเป็นเรื่องราวของ "วีรสตรี" ที่แสดงความกล้าหาญน่ายกย่อง และเรื่องราวของ "หญิงงามล่มเมือง" ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์มานักต่อนัก
ในบรรดา 4 หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน คงมี หวังเจาจวิน เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น "หญิงงามกู้เมือง" เธอได้รับการยกย่องเทิดทูนมากทางแถบตอนเหนือของจีน ความงดงาม ความกล้าหาญ และความเสียสละของเธอยังเป็นที่กล่าวขาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,000 ปี
แต่งงานเพราะการเมือง
ในรัชสมัยฮั่นซวนตี้ บรรดาชนชั้นหัวหน้า ของชนเผ่าซงหนูต่างแย่งชิงอำนาจกัน จนในชั้นสุดท้าย ข่านฮูหานเสีย รบแพ้ ข่านจื้อจือ ผู้ซึ่งเป็นพี่ชาย
ฮูหานเสีย ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ยังคงมีอำนาจในชนเผ่า จึงตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น และไปเข้าเฝ้าฮั่นซวนตี้ด้วยตนเอง
และเนื่องจาก "ฮูหานเสีย" เป็นข่านเผ่าซงหนูคนแรก ที่เดินทางมาเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนภาคกลาง (ตงง้วน) "ฮั่นซวนตี้" จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับที่ชานเมืองหลวง (ฉางอานหรือซีอาน) ด้วยพระองค์เอง และได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่
ฮูหานเสียพักอยู่ที่นครฉางอานกว่าหนึ่งเดือน หลังจากนั้นพอสบโอกาส จึงได้ร้องขอต่อฮ่องเต้ฮั่นซวนตี้ ช่วยเหลือตนให้ได้เดินทางกลับไปยังเผ่าของตัวเอง
ฮั่นซวนตี้ได้ช่วยเหลือ โดยส่งแม่ทัพสองนายนำทหารม้าหนึ่งหมื่น คุ้มกันไปส่งฮูหานเสีย ขณะนั้นชนเผ่าซงหนูกำลังขาดแคลนอาหาร ทางราชสำนักฮั่นจึงได้จัดส่งเสบียงอาหารจำนวนมากไปช่วยด้วย ฮูหานเสียรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง และตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น
หลังจากฮั่นซวนตี้สวรรคต พระโอรสก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าฮั่นหยวนตี้ ต่อมาข่านจื้อจือแห่งเผ่าซงหนู ได้มารุกรานแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกของราชสำนักฮั่น และยังได้สังหารทูตที่ราชวงศ์ฮั่นส่งไปอีก
ทางราชสำนักฮั่นจึงได้ส่งกองทัพออกไปปราบปราม และได้สังหารข่านจื้อจือเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ข่านจื้อจือตายแล้ว ฐานะของข่านฮูหานเสียก็มีความมั่นคงมากขึ้น
ปี พ.ศ. ๕๑๐ ข่านฮูหานเสียเดินทางมายังนครฉางอานอีกครั้ง และเจรจาขอให้มีการเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วยการสมรสระหว่างราชวงศ์ ซึ่งฮั่นหยวนตี้ก็ได้พระราชทานอนุญาต
การที่หัวหน้าเผ่าซงหนูจะสมรสกับราชวงศ์ฮั่นนั้น ต้องเลือกจากบรรดาองค์หญิงหรือธิดาของเชื้อพระวงศ์เท่านั้น
ในครั้งนั้น ฮั่นหยวนตี้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลือกนางสนมคนหนึ่งเพื่อพระราชทานให้กับฮูหานเสีย พระองค์ได้ส่งขุนนางไปยังพระราชวังหลังและให้ประกาศว่า “ผู้ใดยินดีที่จะไปยังเผ่าซงหนู ฮ่องเต้ก็จะแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง”
บรรดานางสนมในวังหลังนั้น ต่างก็ถูกเก็บคัดเลือกมาจากราษฎรสามัญชน เมื่อพวกนางถูกคัดเลือกเข้ามาในวังหลวงแล้วก็เหมือนกับนกที่ถูกกักขังอยู่ในกรง บางคนก็ไม่เคยมีโอกาสได้พบฮ่องเต้ ดังนั้นนางสนมส่วนมากต่างก็หวังว่า "สักวันหนึ่งที่พวกนางจะได้ออกจากวังไป"
แต่เมื่อได้ยินว่าจะต้องจากบ้านเกิดไปยังเผ่าซงหนู จึงไม่มีผู้ใดอาสาที่จะไป แต่กระนั้นก็ยังมีนางสนมคนหนึ่งนามว่าหวังเฉียง ฉายาเจาจวิน มีรูปโฉมที่งดงามและกอปรด้วยความรู้ ยินดีเสียสละเพื่อชาติที่จะไปแต่งงานยังเผ่าซงหนู
ฮ่องเต้ฮั่นหยวนตี้ จึงได้เลือกวันที่จะจัดงานสมรสพระราชทานให้ ฮูหานเสียและหวังเจาจวิน ที่นครฉางอาน
ในขณะที่ ฮูหานเสียและหวังเจาจวินกำลังแสดงความเคารพต่อฮั่นหยวนตี้อยู่นั้น พระองค์ก็ได้ทรงเห็นใบหน้าอันงดงามของหวังเจาจวิน รวมทั้งกิริยามารยาทก็สุภาพเรียบร้อย นับว่าเป็นสุดยอดสาวงามในราชสำนักฮั่นคนเลยทีเดียว
เมื่อฮั่นหยวนตี้เสด็จกลับวังแล้ว ทรงพระพิโรธเป็นอย่างยิ่ง มีบัญชาให้หัวหน้าขันทีไปนำเอารูปภาพของหวังเจาจวินมาให้ทอดพระเนตร ในรูปภาพนั้นแม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงอยู่บ้าง แต่ไม่มีความงดงามเหมือนหวังเจาจวินตัวจริงโดยสิ้นเชิง
ตามประเพณีของจีนแล้ว บรรดานางสนมที่ถูกคัดเลือกส่งเข้ามาในวัง โดยปรกติจะไม่ได้พบกับองค์ฮ่องเต้โดยตรง แต่ทางราชสำนักจะจัดให้นางสนมเหล่านั้นเป็นแบบให้จิตรกรวาดภาพ และส่งภาพเหล่านั้นไปให้ฮ่องเต้เลือก หากเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ก็จะได้มีโอกาสรับใช้องค์ฮ่องเต้
หนึ่งในจิตรกรที่วาดภาพเหล่านางสนมนั้น มีอยู่คนนามว่า "เหมาเหยียนโซ่ว " เวลาที่วาดภาพนางสนมทั้งหลายนั้น หากนางสนมคนใดให้สินบน ก็จะวาดให้สวยงาม
หวังเจาจวิน มิคิดที่จะติดสินบน ดังนั้นเหมาเหยียนโซ่ว จึงวาดภาพให้นาง "งดงามต่ำกว่าความเป็นจริง" เมื่อฮั่นหยวนตี้ทรงประจักษ์ในความจริงเช่นนี้ จึงทรงพิโรธอย่างมาก รับสั่งให้ประหารชีวิตเหมาเหยียนโซ่วทันที
หวังเจาจวินได้เดินทางออกจากนครฉางอาน ภายใต้การคุ้มกันของบรรดาทหารราชวงศ์ฮั่นและเผ่าซงหนู นางได้ขี่ม้าฝ่าลมหนาวอันทารุณ เดินทางนับพันลี้ไปยังเผ่าซงหนู เป็นมเหสีของข่านฮูหานเสีย ได้รับยศเป็น “หนิงหูเยียนจือ”ด้วยความหวังว่านางจะสามารถนำเอาความสงบสุขและสันติภาพมาสู่ชนเผ่าซงหนู
หวังเจาจวินต้องจากบ้านเกิดไปไกล อาศัยอยู่ในดินแดนของเผ่าซงหนูเป็นเวลานาน นางได้ "เกลี้ยกล่อม" ฮูหานเสียอย่าให้ทำสงคราม ทั้งยังเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวฮั่นให้แก่ชาวซงหนูอีกด้วย
นับจากนั้นเป็นต้นมา เผ่าซงหนูและราชวงศ์ฮั่นต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และไม่มีสงครามเป็นเวลายาวนานถึงหกสิบกว่าปี ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ข่านฮูหานเสียสิ้นชีวิตแล้ว นางก็ได้ “ทำตามประเพณีของชาวซงหนู” โดยได้แต่งงานใหม่กับบุตรชายคนโตที่เกิดกับภรรยาหลวงของข่านฮูหานเสีย ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฮั่น แต่นางก็คำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก และคิดที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวฮั่นและชาวซงหนู
หวังเจาจวิน ได้ให้กำเนิดบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คน ที่เผ่าซงหนู เวลาและสถานที่ ที่นางถึงแก่กรรมนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้
“ความงามที่ทำให้ฝูงนก ต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า” เป็นเรื่องราวตอนที่ หวังเจาจวิน เดินทางออกไปนอกด่าน (ในรัชสมัยฮั่นหยวนตี้ ทางเหนือและใต้ทำสงครามกันไม่หยุดหย่อน ชายแดนไม่มีความสงบสุข เพื่อที่จะทำให้เผ่าซงหนูทางชายแดนด้านเหนือสงบลง ฮั่นหยวนตี้จึงได้พระราชทางหวังเจาจวินให้สมรสกับข่านฮูหานเสีย เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองเมือง) ในวันที่ท้องฟ้าสดใส หวังเจาจวินได้จากบ้านเกิดเดินทางไปทางเหนือ ระหว่างทาง เสียงม้าและเสียงนกร้องทำให้นางเศร้าโศก ยากที่จะทำใจได้ นางจึงได้ดีดผีผา(พิณจีนชนิดหนึ่ง ว่ากันว่าหวังเจาจวินมีฝีมือการเล่ยผีผาที่ไพเราะจับใจผู้ฟังยิ่งนัก ยามที่นางเดินทางไปแคว้นซงหนูก็นำผีผาที่นางรักยิ่งติดตัวไปด้วย รูปวาดส่วนใหญ่ของนางจึงเป็นรูปวาดหญิงงามที่มีผีผาอยู่ในอ้อมแขน) ขึ้นเป็นทำนองที่แสดงความโศกเศร้าจากการพลัดพราก บรรดานกที่กำลังจะบินไปทางใต้ ได้ยินเสียงพิณอันไพเราะเช่นนี้ จึงมองลงไป เห็นหญิงงามอยู่บนหลังม้า ก็ตะลึงในความงาม ลืมที่จะขยับปีก จึงร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน นับแต่นั้นเป็นต้นมา หวังเจาจวินจึงได้รับขนานนามว่า “ปักษีตกนภา” หรือ “ความงามที่ทำให้ฝูงนก ต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า” นั่นเอง.
3. เตียวเสี้ยน
เตียวเสี้ยนมีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก ได้ฉายาว่า "จันทร์หลบโฉมสุดา" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบให้”
เตียวเสี้ยน ถือเป็นหญิงงามอันดับที่สามจากหญิงงามทั้งสี่คนในบันทึกแดนมังกร ที่คนทั่วไปต่างก็รู้จักเธอผ่าน วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง สามก๊ก แต่ความเป็นจริงนั้นเตียวเสี้ยนเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
เธอเป็นเพียงสตรีที่ถูกสร้างขึ้นจาก ปลายปากกาของ หลอก้วนจง นักเขียนอัจฉริยะ ผู้แต่งนิยายสามก๊ก "ซานกั๋วเหยี่ยนอี้" เท่านั้น เธอเป็นหญิงงามที่มีประวัติส่วนตัวน้อยที่สุด หากเทียบกับหญิงงามคนอื่นในประวัติศาสตร์
ในสามก๊ก บรรยายว่า เตียวเสี้ยน เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นปลายแถว เมื่อตอนเด็กมีฐานะยากจน ต้องช่วยแม่ทอเสื่อขายเลี้ยงชีพ จนได้มาเป็นนางรำในจวน อ้องอุ้น ขุนนางผู้ใหญ่ในพระเจ้าเ้ยนเต้ (ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) เนื่องด้วยมีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง มีความสามารถในการฟ้อนรำเป็นเลิศและมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว อ้องอุ้นจึงเมตตารักเหมือนลูกและรับเป็น บุตรบุญธรรม
อ๋องอุ้น เห็นว่า ทรราชตั๋งโต๊ะ กำเริบเสิบสานคิดล้มราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ อ้องอุ้นคิดจะกำจัด ตั๋งโต๊ะ ขุนนางกังฉินกินบ้านเมือง จึงได้วางแผนการอันแยบยล กลยุทธ์สาวงาม ยกเตียวเสี้ยนให้แก๋ ลิโป้ ก่อนอย่างลับๆ แล้วจึงค่อยยกนางให้แก่ ตั๋งโต๊ะ
คราครั้งนั้น นางเตียวเสี้ยนผู้กตัญญู ได้ยอมสละตัวเอง เพื่อทำให้ตั๋งโต๊ะแตกคอบาดหมางกับ ลิโป้
นับแต่นั้นมาเวลาที่ เตียวเสี้ยน อยู่กับ ตั๋งโต๊ะ เพียงลำพัง ก็จะใช้จริตมารยายั่วยวนจนตั๋งโต๊ะหลงใหล แต่หากว่ามี ลิโป้ อยู่ด้วย นางก็จะแอบส่งสายตาให้ และเมื่อบางครั้งที่ได้อยู่กับลิโป้เพียงลำพัง นางก็จะร้องว่า ตั๋งโต๊ะใช้กำลังเข้าข่มขู่นางไม่อาจปฏิเสธได้แต่เมื่อเวลาที่ตั๋งโต๊ะสงสัยว่านางกับลิโป้มีชู้กัน นางก็จะบอกว่าลิโป้หาทางจะลวนลามนาง และขู่ว่าจะฆ่าตัวตายหากว่าตั๋งโต๊ะไม่เชื่อ เมื่อตั๋งโต๊ะห้ามนางไว้ได้ นางก็โผเข้ากอดและร้องไห้ที่ตัวของตั๋งโต๊ะ
วันหนึ่ง ในขณะที่ตั๋งโต๊ะไปร่วมประชุมเหล่าขุนนาง ลิโป้ก็แอบเข้าไปพบกับเตียวเสี้ยน และนัดพบกันที่ ศาลาฟ่งอี๋ เมื่อเตียวเสี้ยนไปพบลิโป้ ก็ได้แสร้งร้องไห้บอกเล่าความทุกข์ที่ถูกตั๋งโต๊ะขืนใจ ลิโป้โกรธมาก ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ตั๋งโต๊ะกลับมาพบเข้า และด้วยความโกรธจึงได้แย่งเอาง้าวในมือของลิโป้และตรงเข้าแทง แต่ลิโป้หนีไปได้ นับจากนั้นทั้งสองต่างก็เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน จนท้ายที่สุด อ๋องอุ้น ก็สามารถเกลี้ยกล่อม ลิโป้ ให้กำจัดตั๋งโต๊ะได้ในที่สุด
หลังจาก ตั๋งโต๊ะ ตายแล้ว ลิโป้ เก็บนางเป็นเมียน้อย ต่อมา โจโฉ ประหาร ลิโป้ แล้วจึงพานางกลับ เมืองฮูโต๋
เรื่องเตียวเสี้ยน เป็นเพียงตัวละครที่ หลอก้วนจง สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มสีสันให้เรื่อง สามก๊ก ที่เต็มไปด้วยเรื่องฆ่าฟัน ให้คนดูงิ้วหรือคนอ่านได้เพลิดเพลินกับบทรักของลิโป้และเตียวเสี้ยนบ้าง จึงมีการเดินเรื่องหลายรูปแบบ
บ้างก็ว่า นางฆ่าตัวตาย หลังจากที่กำจัดตั๋งโต๊ะได้สำเร็จ
บ้างก็ว่า นางไปอยู่กับโจโฉ แล้วถูกกวนอูฆ่า
หรือกวนอูไม่ฆ่า แล้วไล่ไป
ซึ่งก็เป็นเรื่องตามนิยายหรือบทงิ้ว
กลยุทธ์สาวงาม กลอุบายโดยใช้ให้หญิงงามยั่วยุให้สองฝ่ายเข่นฆ่ากันเอง หรือไม่ก็ใช้หญิงงามทำให้เป้าหมายหลงคลั่งไคล้จนเสียผู้เสียคน ซึ่งก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ ก็เคยมีผู้ใช้แผนนี้สำเร็จนี้มามากแล้ว แต่ถึงกระนั้นแผนนี้ก็ยังคงใช้ได้ดีแม้จะในยุคนี้ก็ตาม นั่นเพราะสันดานของผู้ชาย และผู้มีอำนาจนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ก็ไม่เปลี่ยนไปเลย นั่นคือ ความบ้าผู้หญิงจนหน้ามืดตามัวจนเสียการงาน
4. หยางกุ้ยเฟย
หยางกุ้ยเฟย มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ถัง ได้ฉายาว่า "มวลผกาละอายนาง" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย”
หยางกุ้ยเฟยเป็นพระสนมเอกในจักรพรรดิถังเสวียนจงของราชวงศ์ถัง อิทธิพลของหยางกุ้ยเฟยทำให้ญาติของพระนางขึ้นมามีบทบาทในราชสำนัก ในภายหลังเกิดการกบฏขึ้นมา ฮ่องเต้ถังเสวียนจงได้มีพระบรมราชโองการให้พระนางสำเร็จโทษโดยแขวนพระศอ โดยที่หยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง 37 ปี อีกทั้งตระกูลหยางยังถูกตัดสินฆ่าล้างทั้งตระกูล
หยางกุ้ยเฟย นามเดิมคือ หยางอี้หวน เกิด 1 มิถุนายน ค.ศ. 719 เป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีนกล่าวกันว่า หยางกุ้ยเฟยทรงเป็นสตรีที่มีความงามเป็นเลิศ ใช้ชนม์ชีพในรัชสมัยราชวงศ์ถัง ได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง" ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)
นางมีชื่อเดิมว่า หยางอวี้หวน เป็นชาวเมืองหย่งเล่อ "อวี้หวน" แปลว่า "ตุ้มหูหยก" นางเป็นธิดาของ "หยางหยวนเหยียน"
ตอนที่นางจะเกิดนั้น มารดาของนางได้ฝันเห็นสายรุ้งพาดโค้งจากฟากฟ้าลงมาที่เตียงนอน พร้อมส่งแสงประกายระยิบระยับงดงาม แต่เพียงชั่วครู่เดียวก็หายวับไป กลายเป็นดาวตกพุ่งตกลงมาสู่พื้น มีเสียงดังสนั่นหวั่นไหว
อวี้หวน เมื่อเจริญวัยขึ้น มีรูปโฉมที่งดงามและเปล่งปลั่งชวนมองยิ่งนัก อีกทั้งยังมีผิวกายที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และตำบลที่นางอาศัยอยู่ นางมีความสามารถทางดนตรี ขับร้องและฟ้อนรำ
ในปีที่ ๒๕ ของรัชสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง พระองค์ทรงดำริที่จะหาพระชายาให้พระโอรสโซ่วอ๋อง โอรสองค์ที่ ๑๘ อาของอวี้หวนทราบข่าวจึงนำนางเข้าไปถวาย และก็ไม่ผิดหวัง
โซ่วอ๋อง เมื่อแรกได้เห็นนางนั้น ก็ถึงกับตะลึงพรึงเพริดในความงามของนาง ดังนั้นนางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระชายาของพระโอรสโซ่วอ๋อง ตั้งแต่นางมีอายุได้เพียง ๑๖ ปี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยสาวแรกรุ่น
ต่อมา อู่กุ้ยเฟย พระสนมที่จักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงโปรดปรานได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน พระองค์ยังทรงหาพระชายาใหม่ที่ถูกพระทัยไม่ได้ ขันทีเกาลี่ซื่อผู้ใกล้ชิดจึงทูลเสนอว่า หญิงงามที่สุดในแผ่นดินไม่มีใครงามเกินหยางอวี้หวน พระชายาของโซ่วอ๋อง
แล้วเกาลี่ซื่อได้ออกอุบายให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรนาง เพียงแรกประสบพบเท่านั้น พระองค์ก็ถึงกับลุ่มหลงในความงามของนางโดยทันที แต่เนื่องจากติดขัดที่นางเป็นชายาของโซ่วอ๋อง
เกาลี่ซื่อจึงบอกอุบายอันแยบยล ให้พระองค์แต่งตั้งนางเป็นนักพรตหญิงฉายาไท่เจิน แล้วหาพระชายาใหม่ให้โซ่วอ๋องแทน
สมัยเทียนเป่าปีที่สี่ (พ.ศ.๑๒๘๘) อวี้หวนได้เข้าวัง และเป็นที่โปรดปรานของถังเสวียนจง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกหรือกุ้ยเฟย (ขณะนั้นจักรพรรดิถังเสวียนจงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ส่วนหยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น)
พ่อ พี่น้องแลเครือญาติของนางทั้งหมดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง และฮูหยินทั้งหมด จนเป็นที่โจษจันกันไปทั่วว่า เพราะมีลูกสาวดี จึงได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า
ทุกครั้งที่นางจะนั่งรถม้า ต่างก็มีบรรดาขุนนางใหญ่บังคับรถม้าให้ด้วยตัวเอง นางมีช่างถักทอและปักผ้าถึงเจ็ดร้อยคน มีผู้คนมากมายแย่งกันมอบของกำนัลต่างๆ ให้ เนื่องจากขุนนางจางจิ่วจางและหวังอี้มอบของกำนัลให้นางจึงได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นบรรดาขุนนางทั้งหลายต่างก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกันหยางกุ้ยเฟยโปรดปรานลิ้นจี่จากแดนหลิ่งหนาน ก็มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะนำมาส่งมาถึงเมืองฉางอานให้เร็วที่สุด
ความที่จักรพรรดิ์ถังเสวียนจง ทรงลุ่มหลงอยู่แต่นาง และเล่นดนตรี จนละเลยการปกครองว่าราชการเมือง ทำให้หยางกั๋วจง พี่ชาย (ลูกพี่ลูกน้อง) ของนางได้รวบอำนาจการปกครองไว้ถึง ๔๐ ตำแหน่ง จนมีตำแหน่งเทียบเท่าสมุหนายก กินสินบนอย่างเปิดเผย ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการคัดเลือกคนเข้ารับราชการหรือเลื่อนตำแหน่ง ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว
เป็นเหตุให้ อานลู่ซาน ได้หยิบยกข้ออ้างนี้มาก่อการกบฏ โดยนำทหารจากชายแดนและทหารทิเบตเข้ามายึดนครฉางอานได้โดยง่ายดายในปี พ.ศ. ๑๒๙๙ ทำให้องค์จักรพรรดิถังเสวียนจง ต้องทรงลี้ภัยชั่วคราวไปในทางตอนใต้ของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)
อานลู่ซานยกกองทัพติดตามไป ไม่เพียงเพราะต้องการแผ่นดินราชวงศ์ถังเท่านั้น แต่ยังต้องการครอบครองสาวงามหยางกุ้ยเฟยอีกด้วย
ในระหว่างทางที่ทรงลี้ภัยไปนั่นเอง หยางกั๋วจงได้ถูกเหล่าทหารรุมจับสังหารเสีย จากนั้นเหล่าทหารได้ทูลพระองค์ว่า "การที่เกิดกบฏเข้ายึดบ้านครองเมือง ทำให้ราชวงศ์ต้องเสื่อมถอยก็เพราะหยางกั๋วจงเป็นต้นเหตุ เมื่อหยางกั๋วจงตายไปแล้ว แต่โดยรากยังคงอยู่นั่นคือ หยางกุ้ยเฟย ฉะนั้นนางก็ไม่สมควรอยู่ให้เป็นที่ครหาด้วย"
จักรพรรดิ์ถังเสวียนจงทรงโทมนัสในพระทัยอย่างสุดพรรณนา ในที่สุดจึงทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย โดยให้กาลี่ซื่อผู้นำนางมาถวายพระองค์ นำผ้าแพรขาวไปมอบให้นางเพื่อให้แขวนคอตายใต้ต้นหลีในสวน
หยางกุ้ยเฟยได้จบชีวิตลงอย่างน่าสงสารในปี พ.ศ.๑๒๙๙ ระหว่างทางลี้ภัยไปมณฑลซื่อชวน ขณะนั้นนางมีอายุเพียง ๓๘ ปีเท่านั้น
ภายหลัง กวีเอกไป๋จวีอี้ได้แต่งลำนำ “ฉางเฮิ่นเกอ” บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนี้ขึ้น
"...ยามเมื่อนางหันมาแย้มสรวล ก็นำมาซึ่งเสน่ห์ร้อยประการ
เป็นเหตุให้นางสนมทั้ง ๖ ตำหนัก ต้องด้อยรัศมีลง
ยามเมื่อนางอาบน้ำในสระ (หัวชิงฉือ)
เหล่านางสวรรค์กำนัลใน (๓,๐๐๐ นาง)
ต่างก็พรึงเพริดด้วยโฉมอันงามวิไลนัก..."
เล่ากันว่า ทั้ง ๒ ทรงโปรดปรานในการมาสรงน้ำที่หัวชิงฉือเป็นยิ่งนัก ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ร่วมกัน ได้มาสรงน้ำที่นี่ถึง ๔๙ ครั้ง จนมีสระหนึ่งของที่นี่ เรียกว่า สระหยางเฟย เป็นที่สรงน้ำของนางโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังมีคำร่ำลือกันว่า หยางกุ้ยเฟย เธอมีกลิ่นกายที่หอมกรุ่น เนื่องจากนางได้นำเอากลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนานาพรรณ มาบดให้ละเอียดเป็นแป้งแล้วใช้ชโลมกาย ในยามที่เธอมีเหงื่อไหลในช่วงฤดูร้อนนั้น ร่ำลือกันว่ายิ่งส่งกลิ่นหอมอบอวลให้เป็นที่ใหลหลงยิ่งนัก ซึ่งทำให้หญิงสาวจีนในยุคนั้นเอาตามอย่างนาง โดยนำกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นแป้งใช้ทาชโลมกาย จนถือเป็นต้นกำเนิดของแป้งฝุ่นจีนมาตราบจนทุกวันนี้
หยางกุ้ยเฟยได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง" ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะอยู่ในวัง นางไปเดินเล่นที่สวนดอกไม้ มองเห็นดอกโบตั๋นและกุหลาบจีนที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วคิดถึงชีวิตตนเองที่ถูกกักอยู่ในวังหลวง ผ่านวัยสาวไปอย่างไร้ความหมาย นางร้องไห้พลางลูบดอกไม้นั้น เมื่อนางแตะถูกกลีบดอกไม้กลีบนั้นก็หุบลง ใครจะคิดว่าต้นไม้ที่นางลูบนั้นคือต้นนางอาย
นางกำนัลคนหนึ่งพบเห็นเหตุการณ์นี้เข้า จึงนำไปเล่าลือว่าหากหยางอี้หวนเทียบความงามกับดอกไม้แล้ว ดอกไม้ยังต้องละอายก้มลงให้แก่นาง
ถึงแม้ 4 สาวงามของประวัติศาสตร์จีนจะงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ แต่ยังคงมีปมด้อยในความงามนั้น เพียงแต่รู้จักปกปิดไว้ นั่นคือ
ไซซี มีปมด้อยคือ เท้าใหญ่ ต้องห่มเสื้อผ้ากรอมเท้าเพื่อปกปิดส่วนนี้ของเธอเอาไว้ตลอดเวลา
เตียวเสี้ยน มีปมด้อยคือ ใบหูเล็ก จำต้องปล่อยผมหรือแต่งทรงผมให้ปิดใบหูของเธอไว้
หวังเจาจวิน มีปมด้อยคือ ไหล่ทั้งสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน จึงสวมใส่อาภรณ์ปกปิดตั้งแต่ศีรษะลงมาเพื่อปิดส่วนนี้ของเธอเอาไว้
หยางกุ้ยเฟย มีปมด้อยคือ มีกลิ่นตัว อ้วนมาก และสวยมาก ซึ่งต้องอาบน้ำบ่อยที่สุดเพื่อลดกลิ่นตัวของนาง และมักจะมีแมลงหลากชนิดตอมตัวเธอเป็นประจำ
แม้ 4 สาวงามของประวัติศาสตร์จีนจะถูกยกย่องเป็นที่เลื่องลือด้านความงาม แต่ก็ยังคงมีปมด้อยอยู่ดี
หมายเหตุ
มาตรฐานสาวงามตามแบบจีนดั้งเดิม(3)
ใบหน้า
ใบหน้ารูปไข่เป็นรูปหน้าที่ได้สัดส่วนที่สุด เมื่อแบ่งตามขวางแล้วจะได้ 3 ส่วน : จากไรผมถึงคิ้ว จากคิ้วถึงปลายจมูก จากปลายจมูกถึงคาง เมื่อมีรูปหน้าที่สวยงามแล้ว รายละเอียดบนใบหน้าก็ต้องเหมาะเจาะ ระยะห่างระหว่างตา 2 ข้างจะต้องเท่ากับความยาวของดวงตา ยิ่งถ้าใครมีลักยิ้มบนแก้มก็จะถูกมองว่ามีเสน่ห์
คิ้ว
คิ้วรูปแบบไหนจึงจะเรียกว่าสวยนั้นขึ้นอยู่กับยุคสมัย อย่างในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อน
คริสต์ศักราช) นิยมคิ้วดก ยาว และโค้ง ขณะที่สาวสมัยฮั่นนิยมคิ้วรูปสามเหลี่ยมคล้าย “八” เรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ถังหญิงสาวนิยมกันคิ้วให้เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือใบหลิว กระทั่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 คิ้วโก่งบางก็กลายเป็นรูปทรงยอดนิยม
ดวงตา
ดวงตาเรียวยาว หางตาตวัดโค้งขึ้น ลูกนัยน์ตาดำสนิท
ริมฝีปาก
ริมฝีปากเล็ก สีชมพู เป็นมันเงา มุมปากโค้งขึ้น หรือที่เรียกว่า “ปากเล็กเหมือนผลเชอร์รี่” เป็นปากที่ชาวจีนสมัยก่อนมองว่างามที่สุด
รูปร่าง
เอวที่คอดกิ่วเป็นความงามอย่างหนึ่งของผู้หญิงจีนในยุคโบราณ มองว่าหญิงสาวที่มีเอวและสะโพกเป็นรูปนาฬิกาทรายนับเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างงดงาม
เซ็กซี่อย่างจีน
คิ้วคือสิ่งที่เซ็กซี่ที่สุดของผู้หญิง ส่วนอวัยวะที่ถูกมองว่าเซ็กซี่รองลงมา ได้แก่ ไหปลาร้า และคอ
งามที่ใจ
แม้จะมีรูปร่างหน้าตาสะสวยเพียงไร แต่สิ่งที่สำคัญและได้รับการยกย่องเสียยิ่งกว่าความงามภายนอกก็คือ หญิงสาวผู้ทรงไว้ซึ่ง 3 เชื่อฟัง 4 คุณธรรม...3 เชื่อฟัง ได้แก่ ก่อนแต่งให้เชื่อฟังบิดา หลังแต่งให้เชื่อฟังสามี และเมื่อสามีตายจากก็ให้เชื่อฟังลูกชาย ถือเป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงในสมัยก่อน ทั้งชีวิตทำเพื่อคนอื่นและอยู่เพื่อคนอื่น
ส่วน 4 คุณธรรมนั้น ได้แก่ รูปร่างหน้าตาจะต้องสะอาดสะอ้าน อีกทั้งกิริยามารยาทเพียบพร้อม กล่าวมธุรสวาจา อีกทั้งการบ้านการเรือนไม่ขาดตกบกพร่องนั่นเอง
ความรู้ของหญิงสาว
ดนตรี - ดนตรีในที่นี้หมายถึงพิณ 7 สาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี
หมากล้อม - หญิงสมัยก่อนได้รวมตัวกันเล่นหมากล้อมเพื่อผ่อนคลาย
เขียนพู่กัน - พวกเธออ่านเพื่อพัฒนาตัวเอง เขียนบทกลอนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวชีวิตของตัวเอง และเขียนพู่กันจีนเพื่อความบันเทิง
วาดภาพ - หัวข้อที่พวกเธอชอบวาดส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับดอกไม้ สัตว์เลี้ยง และหญิงงาม
งานเย็บปัก - งานเย็บปักถักร้อยนั้นก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่ขยันขันแข็ง และสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์และความฉลาดของผู้หญิงด้วย ทั้งยังเป็นมาตรฐานของศรีภรรยาที่ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น