วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม

 

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน

โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม





พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี และเสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก จึงเป็นที่สงสัยกันว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นใครมาจากไหน จึงมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ ๖๗๔ ปีมาแล้ว ทั้งยังไม่มีการบันทึกไว้อย่างศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย เรื่องราวของพระเจ้าอู่ทองจึงมีข้อสันนิษฐานกันมากมาย ส่วนใหญ่ก็เหมือนนิยายที่ต่างคนต่างแต่ง นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจึงต้องค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์กันว่า แท้ที่จริงแล้วพระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหนกันแน่

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง (3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 1912 ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893 มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับภูมิหลังของพระเจ้าอู่ทอง รวมทั้งอาจเป็นเชื้อสายของพ่อขุนมังราย

จดหมายเหตุโหรระบุว่าพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีเสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 676 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1857) ได้ทรงสถาปนาเมืองหลวงขึ้นในบริเวณที่หนองโสนเมื่อ จ.ศ. 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 หรือ 12 มีนาคม พ.ศ. 1893 ตามปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อครองราชย์ได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถึงปีระกา พ.ศ. 1912 เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 19 ปี

แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระองค์พระราชสมภพที่ไหน และมาจากเมืองไหน เอกสารทางประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศขัดแย้งกัน โดยมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าอู่ทองดังนี้


ที่ว่าเป็นโอรสพระเจ้ากรุงจีนถูกเนรเทศมา ก็ดูเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ และหลายสิ่งก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผู้แปลบันทึกนี้ของกรมศิลปากรได้โน้ตท้ายหน้าไว้ว่า อย่างเมืองที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้าง เช่น พริบพลี ก็มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา ส่วน พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร มีอยู่ในศิลาจารึกตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมาแล้ว ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองไปประทับอยู่กัมพูชา ๙ ปี และสร้างนครวัดขึ้นก่อนกลับมาสวรรคตที่กรุงศรีอยุธยา พงศาวดารไทยต่างระบุว่าพระเจ้าอู่ทองทรงส่งพระราเมศวรไปตีเมืองพระนครแต่ไม่สำเร็จ จึงรับสั่งให้ขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐาพระมเหสีจากสุพรรณบุรีให้ไปช่วยหลาน

อีกแนวคิดหนึ่งว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นขอมในราชวงศ์วรมันที่ครองอาณาจักรกัมพูชามาถึง ๕๐๐ ปี แต่ในปี พ.ศ.๑๘๗๙ เป็นต้นมา ราชวงศ์วรมันก็สิ้นสุดลง กษัตริย์ราชวงศ์ใหม่มีชื่อว่า ตระซอกเปรแอม หรือ พระเจ้าแตงหวาน มาจากสามัญชน และกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนสิ้นซาก ทำให้กลุ่มราชวงศ์วรมันต้องหนีตายมาพึ่งพรรคพวกที่ลพบุรี อีกกลุ่มได้มาตั้งเมืองใหม่ขึ้นคือกรุงศรีอยุธยาในอีก ๑๔ ปีต่อมา ซึ่งกลุ่มนี้มีพระเจ้าอู่ทองเป็นหัวหน้า ทั้งฝ่ายกัมพูชาใหม่ยังเรียกกลุ่มวรมันที่ถูกกำจัดออกไปว่าเป็นพวกสยาม และเรียกชื่อเมืองพระนครใหม่ว่า เสียมเรียบ หมายถึงสยามถูกขจัดออกไปหมดนั่นเอง แนวคิดนี้ยังสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า ชาวกัมพูชาในปัจจุบันไม่ใช่เชื้อสายของขอม แต่เป็นพวกจามจากชายแดนที่ขอมเอามาเป็นทาส ตอนนั้นขอมรุ่งเรืองใช้ชีวิตหรูหรา แต่ละคนมีทาสกันมากมาย ในที่สุดทาสที่มีตาแตงหวานเป็นหัวหน้าก็ยึดอำนาจเจ้านายเสียเลย

แนวคิดอีกแนวหนึ่งอ้างว่า พระเจ้าอู่ทองก็คือลูกของท้าวแสนปมนั่นเอง เรื่องนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ใน พ.ศ.๑๘๖๓ ท้าวแสนปมได้ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อเมืองเทพนคร และขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริไชยเชียงแสน ต่อมามีพระราชโอรสองค์แรก จึงได้เอาทองคำมาทำพระอู่ให้บรรทม ปรากฏพระนามสืบต่อมาว่า เจ้าอู่ทอง เมื่อพระเจ้าสิริไชยเชียงแสนทิวงคตเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๗ เจ้าอู่ทองจึงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ต่อมาจึงมาสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ใน พ.ศ.๑๘๙๓ และทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเค้าโครงบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของพระเจ้าอู่ทองที่ได้รับความเชื่อถือกันมากที่สุดในยุคก่อนหน้านี้ เป็นแนวคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ไปทอดพระเนตรเมืองอู่ทอง ต่อมาทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“มีตำนานทางเมืองสุพรรณบุรีเชื่อถือกันมาจนทุกวันนี้ว่า เดิมพระเจ้าอู่ทองอยู่ทางเมืองสุพรรณบุรี เมืองของพระเจ้าอู่ทองก็ยังมีอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ในระหว่างเมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้กับเมืองกาญจนบุรี

ข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองอู่ทองเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๖๕ พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เห็นเมืองโบราณมีเชิงเทินกำแพงเมืองใหญ่โต

ความคิดเห็นเกิดแก่ข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า ที่เรียกในศิลาจารึกและหนังสือโบราณว่าเมืองสุพรรณภูมิหรือสุวรรณภูมินั้น จะหมายว่าเมืองอู่ทองนี้เอง มิใช่เมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้ที่ตั้งเมื่อภายหลัง

คำว่าสุวรรณภูมิเป็นภาษามคธ แปลว่าที่เกิดทองหรือที่มีทอง ในภาษาไทยก็ตรงกับคำว่าอู่ทอง เช่นที่พูดกันว่าอู่ข้าวอู่น้ำ เพราะฉะนั้นชื่อเมืองอู่ทองนี้เป็นชื่อภาษาไทยของเมืองสุวรรณภูมินั้นเอง

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็คิดเห็นตลอดไปว่าที่เรียกพระเจ้าอู่ทองนั้น เห็นจะไม่ใช่มาจากบรรทมเปลทองอย่างพงศาวดารว่าเป็นแน่แล้ว คงจะเป็นพระนามที่เรียกเจ้าผู้ปกครองเมืองอู่ทอง อย่างเราเรียกพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าน่าน เจ้าองค์ใดครองเมืองอู่ทองก็เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองทุกองค์

เพราะฉะนั้นพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยานี้ จะเป็นโอรสนัดดาสืบพระวงศ์มาแต่ผู้ใด และได้มีประวัติแต่เดิมมาอย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนจะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเจ้าครองเมืองอู่ทอง หรือที่เรียกในภาษามคธว่าเมืองสุวรรณภูมิอยู่ก่อนจริงดังตำนานเมืองสุพรรณ

ความคิดอย่างนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนลงในรายงานตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี พิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ.๒๔๔๘ ต่อมาสมาชิกในโบราณคดีสโมสรได้รับความคิดเห็นเช่นนี้ว่าเป็นถูกต้อง”

ความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองทรงครองราชย์อยู่ที่เมืองอู่ทองก่อนมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งใหม่นี้ ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวาง แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ กรมศิลปากรได้เชิญ ศาสตราจารย์ ช็อง บัว เซอริเยร์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส มาช่วยสำรวจโบราณสถานในประเทศไทย และได้สรุปผลสำรวจไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ว่า เมืองอู่ทองที่เชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เป็นเมืองร้างไปก่อนที่จะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยาราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอู่ทองจะอพยพมาจากเมืองอู่ทอง

เรื่องนี้ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งเคยสำรวจเมืองอู่ทอง ได้เขียนบทความในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๖ เปิดเผยผลสำรวจมาแล้วว่า เมืองอู่ทองร้างมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี

ต่อมารองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์มานิต เคยสำรวจเมืองอู่ทอง ละโว้ และอยุธยา ตลอดจนแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาแล้ว ได้เขียนบทความเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๙ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากไหนก่อนที่จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ครองกรุงอโยธยาซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวัดพนัญเชิงซึ่งสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมาสร้างราชธานีใหม่ที่ฝั่งตรงข้าม

ส่วนอาจารย์มานิตได้ค้นคว้าเอกสารโบราณหลายฉบับ และได้เขียนบทความชื่อ

“สมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา” ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้รวบรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว” เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓

บทความนี้ได้ลำดับเรื่องราวของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๖๒๕ มีกษัตริย์ปกครอง ๑๐ พระองค์ ซึ่งพระองค์ที่ ๑๐ ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๘๗ ก่อนจะย้ายราชธานีใน พ.ศ.๑๘๙๓

จึงสรุปในขณะนี้ได้ว่า พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากเมืองจีนหรือเขมร แต่เป็นกษัตริย์ที่ครองกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๘๙๓  

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระราเมศวร รัชทายาทให้ไปครองเมืองลพบุรี

การสงครามกับเขมร

ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่ง ขอม ซึ่งก็เป็นมาด้วยดีจนกระทั่งกษัตริย์ขอมสวรรคต เนื่องจากการปฏิวัติขอมของนายแตงหวาน ชนชั้นแรงงานได้ยึดอำนาจจากชนชั้นปกครอง  และครองเมืองแทนซึ่งรู้จักในนาม พระบาทตระซ็อกประแอม หรือ พระบาทสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1  ซึ่งพระราชนัดดานาม พระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระบรมลำพงศ์ก็แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ทรงยกทัพไปช่วย เพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับพระสหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง พระราชโอรสเป็นกษัตริย์ปกครองอังกอร์ .. จนกระทั่งเมื่อน้องชายของพระบรมลำพงศ์ซึ่งไปลี้ภัยในประเทศลาวได้ยึดเมืองกลับคืนมาและได้สวมมงกุฎที่นั่นในนามพระเจ้าศรีสุริโยวงษ์ที่ 1 

ตรากฎหมาย

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายถึง 10 ฉบับ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติลักษณะพยาน
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง
  • พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง
  • พระราชบัญญัติลักษณะลักพา
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์
  • พระราชบัญญัติลักษณ์โจร
  • พระราชบัญญัติเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
  • พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย
  • พระราชบัญญัติลักษณะโจรว่าด้วยโจร

ในประวัติศาสตร์บางแหล่งบอกว่ามีมากกว่านี้ แต่เท่าที่หาหลักฐานได้ มีเพียงเท่านี้เท่านั้น

การศาสนา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างวัดต่าง ๆ เช่น วัดพุทไธศวรรย์ (สร้างปี พ.ศ. 1876) วัดป่าแก้ว (สร้างปี พ.ศ. 1900) และวัดพระราม (สร้างปี พ.ศ. 1912)

การสงครามกับสุโขทัย

รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นคาบเกี่บวกับรัชสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สุโขทัยมิอาจต้านทานความแข็งแกร่งของอยุธยาได้ แม้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไท จะเสด็จไปประทับที่สองแคว (พิษณุโลก) เพื่อเตรียมรับศึกอยุธยาแล้วก็ตาม

แต่สุดท้ายพระมหาธรรมราชาลิไทก็ได้เจรจาประนีประนอมยอมให้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคู่กับสุโขทัย และทั้งสองนครนี้ก็เป็นไมตรีต่อกันมาจนตลอดรัชกาลของพระองค์

การค้าขาย และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

ในด้านไมตรีกับต่างประเทศในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งกับญี่ปุ่นยังไม่มีมาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน, แขก, จาม, ชวา, มลายู ตลอดจนอินเดีย, เปอร์เซีย และ ลังกานั้นไปถึงกันมานานแล้ว

สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ราชวงศ์อู่ทองของไทย ตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิงเมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสรภาพก็แต่งให้ หลุย จงจุ่น เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงแต่งให้ราชทูตออกไปเมืองจีนพร้อมกับราชทูตจีน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในคราวนั้นด้วย

พระโอรส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อเพลง