วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)

 

นิทานที่ ๘ เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)

เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแต่ยังเป็นกรมหมื่น แรกได้มิสเตอร์เฮนรี อาลบาสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นข้าราชการอังกฤษแล้วลาออกจากตำแหน่งมารับราชการอยู่กับไทย เป็นที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศมาหลายปี ครั้นมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ถึงแก่กรรม ทรงพระดำริว่าการที่มีฝรั่งผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศไว้เป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการต่างประเทศเป็นประโยชน์มาก มีพระประสงค์จะหาตัวแทนมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ เมื่อหมอเคาแวนซึ่งเป็นราชแพทย์ประจำพระองค์ทูลลาไปยุโรปชั่วคราว สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ จึงตรัสสั่งหมอเคาแวนให้ไปสืบหาผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศถวาย หมอเคาแวนไปหาได้เนติบัณฑิตอังกฤษคนหนึ่งชื่อมิสเตอร์มิตเชล เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกระทรวงการต่างประเทศ แต่มิสเตอร์มิตเชลเป็นผู้มีอัชฌาสัยก้าวร้าวมิใคร่มีใครชอบ แม้สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ก็ไม่โปรด เมื่อฉันออกไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๓๔ มิสเตอร์มิตเชลยังรับราชการอยู่ ฉันไปถึงกรุงลอนดอนพักอยู่ที่สถานทูตไทย ได้ข่าวว่ามิสเตอร์มิตเชลลาออกจากราชการ ก็ไม่ประหลาดใจอันใด แต่คิดถึงสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ว่าจะทรงลำบากด้วยต้องหาคนเป็นที่ปรึกษาใหม่ นึกขึ้นว่าเวลานั้นตัวฉันอยู่ในลอนดอน ได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสจะสืบหาที่ปรึกษาถวายได้ดีกว่าคนอื่น เช่นหมอเคาแวนเคยหาถวาย จึงปรารภกับมิสเตอร์เฟรเดอริควิลเลียมเวอนี ผู้เป็นที่ปรึกษาในสถานทูต มิสเตอร์เวอนีก็เห็นเช่นเดียวกัน บอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีศักดิ์เป็นลอร์ด ชื่อ เร เคยรับราชการในตำแหน่งสูงรู้จักผู้คนมาก จะคิดอ่านให้พบกับฉัน ถ้าฉันลองวานให้ลอร์ดเรช่วยสืบหา เห็นจะได้คนดีดังประสงค์ ต่อมามิสเตอร์เวอนีนัดเลี้ยงอาหารเย็นที่คลับ (สโมสร) แห่งหนึ่ง เชิญลอร์ดเรกับตัวฉันไปกินเลี้ยงด้วยกันที่นั่น เมื่อได้สนทนาปราศรัยมีไมตรีจิตต่อกันแล้ว ฉันเล่าถึงที่จะใคร่ได้ผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศมารับราชการเมืองไทยสักคนหนึ่ง ถามลอร์ดเรว่าจะช่วยสืบหาผู้ที่สมควรแก่ตำแหน่งให้ได้หรือไม่ ลอร์ดเรรับว่าจะช่วยหาดู ถ้าพบตัวคนเหมาะกับอย่างที่ฉันต้องการเมื่อใด จะบอกมาให้ทราบ ฉันได้พบลอร์ดเรเมื่อจวนจะออกจากประเทศอังกฤษอยู่แล้ว ยังไม่แน่ใจว่าลอร์ดเรจะหาคนให้ได้หรือไม่ จนฉันไปราชการตามประเทศต่างๆ ในยุโรปเสร็จแล้ว ขากลับแวะดูกิจการต่างๆ ที่ในประเทศอียิปต์ เมื่อพักอยู่ ณ เมืองไคโร ประจวบเวลาลอร์ดเรแปรสถานไปเที่ยวประเทศอียิปต์ และเผอิญไปพักอยู่ที่โฮเต็ลเดียวกัน พอลอร์ดเรรู้ว่าฉันไปถึงก็ตรงมาหา บอกว่าคนที่ฉันให้ช่วยหานั้น พบตัวแล้วเป็นชาวเบลเยียมชื่อ โรลังยัคมินส เป็นผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศจนขึ้นชื่อนับถือกันทั่วไปในยุโรป ถึงได้เคยไปรับเลือกเป็นนายกของสภากฎหมายนานาประเทศ และได้เคยเป็นเสนาบดีในประเทศเบลเยียมด้วย แต่เวลานั้นมองสิเออโรลังยัคมินสต้องตกยากโดยมิใช่ความผิดของตนเอง เพราะน้องชายคนหนึ่งทำการค้าขาย ขอให้มองสิเออโรลังยัคมินสค้ำประกันเงินที่กู้เขาไปทำการ เผอิญน้องชายคนนั้นล้มละลาย มองสิเออโรลังยัคมินสต้องเอาทรัพย์สมบัติของตนจำหน่ายใช้หนี้แทนน้องชายจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จะอยู่ในประเทศเบลเยียมต่อไปไม่มีกำลังจะรักษาศักดิ์ได้ รู้ข่าวว่าลอร์ดโครเมอกำลังแสวงหาชาวยุโรปที่มีวิชาความรู้เข้าเป็นตำแหน่งในรัฐบาลอียิปต์ มองสิเออโรลังยัคมินสจึงออกมายังเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอก็อยากได้ไว้ แต่ในเวลานั้น ตำแหน่งชั้นสูงอันสมกับศักดิ์และคุณวิเศษของมองสิเออโรลังยัคมินสยังไม่ว่าง ตัวมองสิเออโรลังยัคมินสยังอยู่ที่เมืองไคโร (ชะรอยลอร์ดเรจะได้ไปพูดทาบทามแล้ว) ถ้าฉันชวนไปรับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทย เห็นจะไป ฉันจึงขอให้ลอร์ดเรเชิญมองสิเออโรลังยัคมินสมากินอาหารเย็นด้วยกันกับฉันในค่ำวันนั้น สังเกตดูกิริยาเรียบร้อยอย่างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อายุเห็นจะเกือบ ๖๐ ปีแล้ว พอได้สนทนากัน ฉันก็ตระหนักใจว่าทรงคุณวิเศษชั้นสูงสมดังลอร์ดเรบอก ฉันจึงถามมองสิเออโรลังยัคมินส ว่าตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศในประเทศไทยว่างอยู่ ถ้ารัฐบาลให้ท่านเป็นตำแหน่งนั้นจะรับหรือไม่ มองสิเออโรลังยัคมินสนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวตอบว่า ถ้ารัฐบาลไทยปรารถนาก็จะยอมไป ฉันบอกว่าจะมีโทรเลขถามรัฐบาลไปในทันที แล้วจึงมีโทรเลขทูลสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ในค่ำวันนั้น ว่าฉันพบเนติบัณฑิตเบลเยียมอันมีชื่อเสียงในยุโรป และเคยเป็นเสนาบดีในประเทศของตนด้วยคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายได้ จะต้องพระประสงค์หรือไม่ ขอให้ทรงตอบโดยเร็ว พอรุ่งขึ้นก็ได้รับพระโทรเลขตอบว่าให้ฉันตกลงรับมองสิเออโรลังยัคมินสทีเดียว เมื่อตกลงกันแล้วมองสิเออโรลังยัคมินส ขอกลับไปจัดการบ้านเรือนและรับครอบครัวที่ประเทศเบลเยียมก่อน แล้วจะตามมาให้ถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๓ เดือน ส่วนตัวฉันก็ออกจากเมืองไคโรมาในวันที่ตกลงกันนั้น เลยไปอินเดียและเมืองพม่า กลับมาถึงกรุงเทพฯ ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ก่อนมองสิเออโรลังยัคมินสมาถึง ทราบว่าพระเจ้าอับบัส ผู้เป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ต่อพระเจ้าติวฟิก มีโทรเลขมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่ารัฐบาลอียิปต์ใคร่จะตั้งมองสิเออโรลังยัคมินสเป็นตำแหน่งสำคัญในกระทรวงยุติธรรมของประเทศอียิปต์ แต่มองสิเออโรลังยัคมินสไม่ยอมรับ อ้างว่าได้สัญญาจะเข้ามารับราชการในประเทศไทยเสียแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยไม่เพิกถอนสัญญา ก็จะรับตำแหน่งในอียิปต์ไม่ได้ เคดิฟจึงทูลขอให้โปรดทรงสงเคราะห์ด้วยเพิกถอนสัญญา ปล่อยให้มองสิเออโรลังยัคมินสรับราชการอยู่ในอียิปต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขตอบไปว่า ประเทศอียิปต์อยู่ใกล้ยุโรป จะหาคนรับราชการได้ง่ายกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างไกล ขอให้เคดิฟทรงเห็นแก่ประเทศไทยเถิด ทรงตอบเช่นนั้นแล้วก็สิ้นปัญหา เมื่อมองสิเออโรลังยัคมินสเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ พอสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ทรงรู้จัก ก็ตระหนักพระหฤทัยว่าได้คนทรงคุณวิเศษสูงกว่าชาวต่างประเทศที่เคยมารับราชการแต่ก่อน พาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาด้วยก็ประจักษ์พระราชหฤทัย ว่ามองสิเออโรลังยัคมินสชำนาญทั้งกฎหมายและลักษณะการปกครองในยุโรป ด้วยเคยได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในประเทศเบลเยียม อาจจะเป็นประโยชน์แก่เมืองไทยได้หลายอย่าง จึงทรงตั้งให้เป็นตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” มิใช่เป็นที่ปรึกษาราชการแต่ในกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว ต่อมาทรงพระราชดำริว่ามองสิเออโรลังยัคมินสทำราชการเป็นประโยชน์มาก ด้วยมีความภักดีต่อประเทศไทย และมีอัชฌาสัยเข้ากับไทยได้ดีทุกกระทรวง ทั้งเป็นผู้ใหญ่สูงอายุและเคยมีบรรดาศักดิ์สูง ถึงเป็นเสนาบดีในบ้านเมืองของตนมาแต่ก่อน จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นที่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับราชการสำคัญต่างๆ จนถึงอยู่ในคณะที่ปรึกษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน นับเป็นฝรั่งคนที่ ๒ ซึ่งได้เป็น เจ้าพระยา ต่อจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) รับราชการอยู่ได้สัก ๗ ปี เกิดป่วยเจ็บด้วยชราภาพ และจะทนอากาศร้อนอยู่ต่อไปไม่ไหว จึงจำใจต้องทูลลาออกจากราชการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสียดาย แต่ก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยทรงพระราชดำริว่ามีความจำเป็นเช่นนั้นจริง เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) กลับออกไปอยู่บ้านเดิมได้สักสองสามปีก็ถึงอสัญกรรม คุณหญิงอภัยราชาก็ถึงอนิจกรรมในเวลาใกล้ๆ กัน แต่มีบุตรรับราชการของเมืองไทยต่อมา ๒ คน บุตรคนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคล้ายบิดา มีชื่อเสียงจนพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมทรงตั้งให้มียศเป็นบารอน คนนี้ได้เป็นผู้พิพากษาของเมืองไทยที่ในศาลต่างประเทศ ณ กรุงเฮก บุตรคนที่ ๒ ได้เป็นกงสุลเยเนอราลไทยอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ชาวเบลเยียมยังนับถือตระกูลโรลังยัคมินสอยู่จนบัดนี้

เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชาถึงอสัญกรรมแล้วกว่า ๒๐ ปี ฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ไปถึงกรุงบรัสเซลส์ราชธานีของประเทศเบลเยียม พวกสมาชิกในสกุลโรลังยัคมินส บุตรเจ้าพระยาอภัยราชาทั้ง ๒ คนที่ได้กล่าวมาแล้ว และธิดาที่เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ๒ คน กับที่เป็นชั้นหลานด้วยรวมกันกว่า ๑๐ คน พร้อมกันมาแสดงความขอบใจและขอเลี้ยงเวลาค่ำให้แก่ฉันด้วย เมื่อเลี้ยงแล้วเขาอยากจะรู้เรื่องเดิมที่ฉันพาเจ้าพระยาอภัยราชาเข้ามารับราชการเมืองไทย ขอให้ฉันเล่าในเวลาประชุมกันวันนั้น ฉันได้เล่าเรื่องที่เขายังไม่รู้ให้เขาฟังตามความประสงค์แต่ยังมิได้เขียนลงไว้ จึงมาเขียนในนิทานเรื่องนี้ ด้วยเห็นเป็นคติควรนับเข้าในนิทานโบราณคดีได้เรื่องหนึ่ง. 

นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

 

นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์ได้ ๔ ปีเสด็จไปอินเดีย เมื่อถึงเมืองพาราณสีเสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธบูชา ณ พระบริโภคเจดียสถานในมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศตั้งพระพุทธศาสนา อันพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกนับถือว่าเป็นเจดียสถานที่สำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนา

เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันนึกขึ้นว่าจะมีไทยใครได้เคยไปถึงมฤคทายวัน ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงบ้างหรือไม่ คิดหาไม่เห็นใคร เลยคิดค้นต่อไปในเรื่องพงศาวดารก็เกิดพิศวง ด้วยปรากฏว่าเมืองไทยเราขาดคมนาคมกับอินเดียในเรื่องพระพุทธศาสนามาเสียตั้งแต่ก่อนพระร่วงครองกรุงสุโขทัย เพราะพระพุทธศาสนาในอินเดียถูกพวกมิจฉาทิฐิ ทั้งที่ถือศาสนาอิสลามและที่ถือศาสนาฮินดู พยายามล้างผลาญมาช้านาน จนหมดสิ้นสังฆมณฑล และประชาชนที่ถือพระพุทธศาสนาไม่มีในอินเดียมาเสียแต่ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ก่อนตั้งราชวงศ์พระร่วงถึง ๒๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ไทยจึงต้องเปลี่ยนไปนับถือประเทศลังกา รับพระไตรปิฎกกับทั้งสมณวงศ์และเจดีย์วัตถุต่างๆ มีพระบรมธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิเป็นต้น มาจากลังกาทวีป ดังปรากฏในเรื่องพงศาวดารและศิลาจารึกครั้งสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเช่นเดียวกัน ถึงแม้การไปมาในระหว่างเมืองไทยกับอินเดียยังมีอยู่ ก็เป็นในการซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องถึงศาสนา และไปค้าขายเพียงตามเมืองในอินเดียทางฝ่ายใต้ที่เป็นภาคมัทราส (Madras) บัดนี้หาปรากฏว่าได้มีไทยไปจนถึงอินเดียตอนมัชฌิมประเทศที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนาไม่ เพราะฉะนั้นการที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปถึงมฤคทายวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็นการสำคัญ ถ้าเรียกอย่างโบราณก็ว่า “เสด็จไปสืบพระศาสนา” ซึ่งเริดร้างมากว่า ๗๐๐ ปี และการที่เสด็จไปครั้งนั้นก็มีผลทำให้ความรู้ความเห็นของไทยในโบราณคดีเรื่องพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้นโดยลำดับมาจนบัดนี้ จะเล่าเรื่องที่ปรากฏในชั้นแรกก่อน

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากอินเดีย ได้รูปฉายพระ “ธรรมเมกข” เจดีย์ ที่เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ในมฤคทายวัน มาถวายกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์ในอินเดีย รูปพระธรรมเมกขเจดีย์นั้นเป็นพระเจดีย์กลมตอนล่างใหญ่ตอนบนรัดเล็กเข้าไปดูเป็น ๒ ลอน ผิดกับรูปทรงพระเจดีย์ที่สร้างกันในเมืองไทย กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ทรงพิจารณากับพระมหาเถระองค์อื่นๆ ลงมติพร้อมกันว่ารูปพระธรรมเมกขเจดีย์ ตรงกับในพระบาลีว่าพระสถูปสัณฐานเหมือนลอมฟาง (รูปลอมฟางในเมืองไทยมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเหมือนโอคว่ำ อีกอย่างหนึ่งเป็น ๒ ลอนเหมือนอย่างรูปพระธรรมเมกขเจดีย์) ครั้งนั้นมีผู้เชื่อว่ารูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมคงเป็น ๒ ลอนอย่างพระธรรมเมกขเจดีย์ ถึงเอาแบบไปสร้างขึ้นหลายแห่ง ว่าแต่ที่ฉันจำได้สร้างไว้ที่บริเวณกุฎีสมเด็จพระวันรัต (พุทฺธสิริ ทัพ) วัดโสมนัสวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดกันมาตุยารามแห่งหนึ่ง ดูเหมือนจะยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ ความนิยมที่จะไปอินเดียเพื่อศึกษาโบราณคดีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปครั้งนั้น ต่อมาจึงมีไทยทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และพระภิกษุพวกเที่ยวธุดงค์ไปถึงมัชฌิมประเทศในอินเดียเนืองๆ

ฉันไปอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปได้ ๑๙ ปี ในระหว่างนั้น ความนิยมที่จะศึกษาและหาความรู้โบราณคดีในอินเดียเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแล้ว แม้ตัวฉันเองเมื่อไปถึงอินเดียก็ออกสนุกในการที่จะพิจารณาขนบธรรมเนียมที่พ้องกับเมืองไทย ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องอื่น ในนิทานเรื่องนี้จะเล่าพระบริโภคเจดีย์ที่ฉันได้บูชา กับที่ฉันได้เสาะหาของต่างๆ ซึ่งเป็นพุทธเจดีย์เอามาเมืองไทยในครั้งนั้น

มฤคทายวัน

เมื่อฉันพักอยู่ ณ เมืองพาราณสี ก็ได้ไปกระทำพุทธบูชาที่พระบริโภคเจดีย์ในมฤคทายวัน แต่ชาวเมืองเรียกชื่อตำบลนั้นว่า “สารนาถ” (Sarnath) ว่ามาแต่คำ “สารังคนาถ” ภาษามคธแปลว่า “ผู้เป็นที่พึ่งของกวาง” มฤคทายวันอยู่นอกเมืองพาราณสีทางด้านตะวันออก ห่างแม่น้ำคงคาราวสัก ๑๖๐ เส้น ในสมัยเมื่อฉันไปยังร้างรกอยู่มาก กรมตรวจโบราณคดีในอินเดียเป็นแต่ได้ขุดค้นเป็นแห่งๆ เพื่อหาของโบราณส่งไปเข้าพิพิธภัณฑสถาน ยังไม่ได้ลงมือขุดเปิดให้เห็นแผนผัง และจัดการรักษาอย่างเดี๋ยวนี้ ไปมฤคทายวันในสมัยนั้น ยังแลเห็นแต่พระธรรมเมกขเจดีย์สูงตระหง่านเป็นสำคัญอยู่องค์เดียว กับมีเครื่องศิลาจำหลัก ซึ่งเพิ่งพบใหม่ยังไม่ทันส่งไปพิพิธภัณฑสถานรวมไว้แห่งหนึ่ง ฉันขอมาได้บ้าง ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า นอกจากนั้นยังแลเห็นแต่ดินเป็นโคกน้อยใหญ่ไปรอบข้าง พระธรรมเมกขเจดีย์นั้น ในหนังสือนำทางแต่งชั้นหลังบอกขนาดว่าสูงแต่รากขึ้นไปตลอดองค์ราว ๒๔ วา วัดผ่ากลางตอนใหญ่ ๑๕ วาครึ่ง และตอนใหญ่นั้นเป็นศิลาขึ้นไปราว ๖ วา เมื่อฉันพิจารณาดูพระธรรมเมกขเจดีย์ เกิดความเห็นขึ้นใหม่ผิดกับเข้าใจกันอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ว่าสร้างรูปทรงเป็น ๒ ลอนเหมือนลอมฟางดังกล่าวมาแล้ว เพราะไปสังเกตตอนใหญ่ที่อยู่เบื้องต่ำเห็นก่อหุ้มด้วยศิลา ตอนเบื้องบนที่คอดเข้าไปก่อด้วยอิฐ ฉันคิดเห็นว่าที่ดูรูปเป็น ๒ ลอน น่าจะเป็นเพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มิใช่แบบเดิมเจตนาจะให้เป็นเช่นนั้น คิดสันนิษฐานต่อไปเห็นว่าของเดิมคงก่อหุ้มด้วยศิลาตลอดทั้งองค์ ถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อเอาแท่งศิลาตอนข้างบนไปเสีย เหลือทิ้งไว้แต่แกนอิฐ หรือมิฉะนั้นพวกมิจฉาทิฐิเจตนาจะทำลายพระเจดีย์นั้นทั้งหมด แต่รื้อลงมาค้างอยู่ครึ่งองค์ ภายหลังมามีพวกสัมมาทิฐิไปปฏิสังขรณ์ ก่อแกนอิฐขึ้นไปตลอดองค์ แต่ไปค้างอยู่ไม่ได้ก่อศิลาหุ้มตอนบนจึงเหลือเป็นอิฐอยู่เช่นนั้น รูปพระเจดีย์เดิมเห็นจะเป็นอย่างทรงโอคว่ำ ก็เหมือนทรงลอมฟางอย่างที่ไม่คอดเช่นว่ามาแล้ว เมื่อไปบูชา ฉันคิดเห็นเพียงเท่านั้น ต่อมาอีกหลายสิบปีจึงได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมที่เมืองสารเขต อันเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองนครปฐม อยู่ใกล้เมืองแปรในประเทศพม่า รูปทรงคล้ายกับโอคว่ำหรือโคมหวดคว่ำ มีบัลลังก์ปักฉัตรเป็นยอดอยู่ข้างบน ชั้นประทักษิณทำแต่เหมือนอย่างบันไดขั้นเดียวติดกับฐานพระสถูป พระสถูปเจดีย์เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปที่สร้างชั้นเดิมก็เป็นรูปเช่นว่า และได้เห็นรูปภาพในหนังสืออังกฤษแต่งว่าด้วยพุทธเจดีย์ในคันธารราษฎร์ ก็ว่าพระสถูปชั้นเดิมรูปเป็นอย่างนั้น แล้วกล่าวอธิบายต่อไปว่า ชาวอินเดียแต่โบราณกลัวบาปไม่รื้อแย่งพระเจดีย์ ถ้าจะบูรณะปฏิสังขรณ์ก็มีแต่ก่อพอกเพิ่มพระเจดีย์เดิม เป็นเหตุให้รูปทรงพระเจดีย์เปลี่ยนไปดังปรากฏในชั้นหลัง แม้พระธรรมเมกขเจดีย์ที่มฤคทายวัน เขาก็ตรวจพบว่ามีองค์เดิมซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ข้างในไม่สู้ใหญ่นัก ก่อองค์ที่ยังแลเห็นอิฐครอบองค์เดิม แล้วยังมีผู้ศรัทธามาก่อศิลาครอบเข้าข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ทำไม่สำเร็จค้างอยู่ เขาสังเกตลวดลายที่จำหลักว่าเป็นแบบของช่างสมัยราชวงศ์สุงคะ ราว พ.ศ. ๔๕๐ พระธรรมเมกขเจดีย์จึงกลายเป็นรูป ๒ ลอนด้วยประการฉะนี้ ถ้าเป็นเช่นเขาว่า ที่ฉันสันนิษฐานว่าเป็นเพราะมิจฉาทิฐิทำร้ายก็ผิดไป ถึงไทยเราก็ถือเป็นคติมาแต่ดั้งเดิมเหมือนเช่นชาวอินเดีย ว่าไม่ควรรื้อแย่งพุทธเจดีย์ แม้เพื่อจะบูรณะปฏิสังขรณ์ มีตัวอย่างจะอ้างได้ง่ายๆ เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ ก็ทรงสร้างพระมหาสถูปครอบพระปฐมเจดีย์องค์ก่อน หาได้ทรงรื้อแย่งองค์เดิมอย่างใดไม่

มหาเจดียสถานในอินเดีย ที่เรียกว่า “บริโภคเจดีย์” มี ๔ แห่ง ล้วนมีเรื่องเนื่องด้วยพุทธประวัติ ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประชวรคราวจะเสด็จเข้าพระนิพพาน พระอานนท์ทูลปรารภความวิตกว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จล่วงลับไปแล้ว พวกพุทธบริษัทซึ่งได้เคยเฝ้าแหนเห็นพระองค์อยู่เนืองนิจ จะพากันเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระกรุณาโปรดประทานอนุญาตไว้ว่า ถ้าพวกพุทธบริษัทใครเกิดว้าเหว่ ก็ให้ไปปลงธรรมสังเวช ณ สถานที่อันเนื่องกับพระพุทธประวัติ ๔ แห่ง คือที่พระพุทธองค์ประสูติในสวนลุมพินี ณ เมืองกบิลพัสดุ์แห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณ ณ เมืองคยาแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาตั้งพระศาสนาในมฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าพระนิพพานในป่าสาลวัน ณ เมืองกุสินาราแห่งหนึ่ง จะไปยังแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ตามแต่จะสะดวก เพราะฉะนั้นจำเดิมแต่ล่วงพุทธกาล พวกพุทธบริษัทก็พากันไปกระทำพุทธบูชา ณ ที่ ๔ แห่งนั้นสืบมา เรียกว่า บริโภคเจดีย์ เพราะเกี่ยวกับพระองค์พระพุทธเจ้า ก็บริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ นั้น มีคนไปบูชาที่มฤคทายวันมากกว่าแห่งอื่น เพราะอยู่ในชานมหานคร แต่อีก ๓ แห่งอยู่ในเขตเมืองน้อย มหาเจดียสถานที่มฤคทายวันจึงใหญ่โตกว่าแห่งอื่น กรมตรวจโบราณคดีพบของโบราณมีแบบกระบวนช่าง สังเกตได้ว่าบูรณะปฏิสังขรณ์มาทุกสมัยเมื่อยังมีพุทธศาสนิกชนอยู่ในอินเดีย และถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อทำลายยิ่งกว่าที่ไหนๆ เพราะอยู่ใกล้มหานครกว่าแห่งอื่น

พุทธคยา

เมืองคยาเป็นเมืองน้อย เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดียยังไม่มีทางรถไฟไปถึง จึงไม่ได้เสด็จไป เมื่อฉันไปมีทางรถไฟแล้ว ถึงกระนั้นรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้กะจะให้ไป หากฉันอยากบูชาพระบริโภคเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เขาจึงจัดให้ไปตามประสงค์ พอไปถึงก็เห็นความลำบากของรัฐบาล เพราะไม่มีที่จะให้พัก ต้องแบ่งห้องในเรือนของเจ้าเมืองให้ฉันอยู่ และเอากระโจมเต็นท์ผ้าใบไปปักที่ลานบ้านเจ้าเมือง ให้คนอื่นที่ไปกับฉันอยู่อีกหลายหลัง แต่มีดีกว่าที่อื่นอย่างหนึ่งที่มีมิสเตอร์เครียสันเจ้าเมือง เป็นนักเรียนโบราณคดีทั้งเรื่องศาสนาและภาษาของชาวอินเดีย ภายหลังมาได้เป็น เซอร์ มีชื่อเสียงเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่ง พอรู้ว่าฉันจะไป ก็เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ปลูกใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ให้ ๓ ต้น สำหรับจะได้เอามาเมืองไทย แต่จะรอเรื่องต้นโพธินั้นไว้เล่าต่อไปข้างหน้า มิสเตอร์เครียสันบอกว่าที่ในแขวงเมืองคยานั้น ยังมีของโบราณเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจมอยู่ในแผ่นดินอีกมากมายหลายแห่ง เสียดายที่ฉันไปอยู่น้อยวันนัก ถ้ามีเวลาพอจะพาไปเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นเมืองร้างทางเกวียนไปสักวันหนึ่ง เตรียมจอบเสียมไปด้วย อาจจะขุดหาของโบราณได้สนุกดีทีเดียว

ที่เมืองคยานั้น มีเจดียสถานของโบราณที่คนนับถือมากสองแห่ง คือที่ตำบลคยาสิระ มีวัดวิษณุบาทเป็นที่นับถือของพวกฮินดูแห่งหนึ่ง กับวัดพุทธคยา เป็นที่นับถือของพวกถือพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง แม้ที่พุทธคยาพวกฮินดูก็ไปบูชา เพราะพวกฮินดูที่เมืองคยาถือคติฝ่ายวิษณุเวทโดยมาก ถือว่าพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ดังกล่าวในเรื่องนารายณ์สิบปาง จึงมีคนต่างด้าวทั้งพวกฮินดูและพวกถือพระพุทธศาสนา พากันบูชาที่เจดียสถานทั้งสองแห่งนั้นตั้งปีละ ๑๐๐,๐๐๐ คนเป็นนิจ

พระมหาเจดียสถานที่พุทธคยา อยู่ห่างเมืองคยาสักระยะทางราว ๗๕ เส้น มีถนนไปรถเทียมม้าคู่ได้ตลอดทาง ต้องผ่านวัดคยาสิระของพวกฮินดูไปก่อน วัดนั้นอยู่กลางหมู่บ้านของพวกชาวเมือง ฉันแวะเข้าไปดูพวกฮินดูก็พากันต้อนรับ พาเข้าไปในวัด และเลี้ยงดูโดยเอื้อเฟื้อ เรื่องตำนานของวัดนั้นว่า เดิมมียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าคยา เป็นสัตว์บาปหยาบช้าเที่ยวเบียดเบียนมนุษย์ จึงร้อนถึงพระวิษณุ คือพระนารายณ์ เสด็จลงมาปราบยักษ์ตนนั้น เอาพระบาทขวาเหยียบอกตัดหัวยักษ์โยนไป แล้วสาปให้หัวยักษ์กลายเป็นหินเช่นปรากฏอยู่ รอยพระบาทของพระวิษณุที่เหยียบอกก็ปรากฏอยู่ด้วย จึงเรียกเจดียสถานนั้นว่า “วิษณุบาท” พวกฮินดูเชื่อกันว่าถ้าใครไปบูชา อาจจะอธิษฐานช่วยญาติที่ตายไปแล้วให้พ้นอบายภูมิได้ จึงพากันไปบูชาหาบุญเพื่อเหตุนั้น ฉันเข้าไปเยี่ยมดูเพียงประตูวิหาร จะเข้าไปในนั้นเกรงว่าพวกฮินดูจะรังเกียจ เห็นมีศิลาสีดำเทือกหนึ่งซึ่งสมมตว่าเป็นตัวยักษ์คยา ยาวสัก ๘ ศอก ดูรูปคล้ายกับคนนอนอยู่บนฐานชุกชีกลางวิหาร ทำนองเดียวกันกับม้วนผ้าที่บนพระแท่นดงรังในเมืองไทย รอยวิษณุบาทฉันไม่ได้เห็น แต่เขาพรรณนาไว้ในหนังสือนำทางว่าทำรูปพระบาทด้วยแผ่นเงินขนาดกว้างยาวเท่าๆ กับตีนคน ติดไว้กับพื้นโพรงหินอันมีอยู่ตรงอกของรูปยักษ์ แต่พวกชาวบ้านจำลองรูปพระบาททำด้วยแผ่นทองแดง และทำของอื่นๆ ด้วยศิลาดำ เช่นเดียวกับที่เป็นตัวยักษ์จำหลักรูปวิษณุบาทติดไว้ขายพวกสัปบุรุษหลายอย่าง ตำบลคยาสิระนี้ดูชื่อพ้องกับนิทานวัจน นำอาทิตตปริยายสูตร ซึ่งว่า “คยายํ วิหรติ คยาสีเส” น่าจะหมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนั้น ณ ตำบลคยาสิระในแขวงเมืองคยา” คือในตำบลที่ฉันไปนั่นเอง นิทานเรื่องพระนารายณ์ปราบยักษ์คยา น่าจะเกิดขึ้นต่อภายหลังพุทธกาล ด้วยเอาคำ “คยาสีเส” หรือ “คยาสิระ” มาผูกขึ้นเป็นเรื่องยักษ์มารดังกล่าวมา

ฉันไปพุทธคยาครั้งนั้น นึกคาดไปว่าจะได้เกียรติเป็นไทยคนแรกที่ได้ไปสืบพระศาสนาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เหมือนเช่นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปสืบศาสนาถึงมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงวัดพุทธคยาพอเข้าประตูวิหาร เห็นผ้ากราบพระปักตรางานหลวงในเมืองไทยผูกห้อยอยู่ผืนหนึ่งก็สิ้นกระหยิ่มใจ ด้วยมีพระภิกษุไทยองค์ใดองค์หนึ่งได้ไปถึงเสียก่อนแล้ว พิจารณาดูหนังสือไทยที่เขียนไว้กับผ้ากราบ บอกชื่อว่า “พระสังกันตเนตรได้มาบูชา” ฉันก็รู้จักตัว คือพระสมุห์เนตร วัดเครือวัลย์ฯ ภายหลังมาได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ซึ่งเป็นพระชอบเที่ยวธุดงค์มาแต่ยังหนุ่มจนขึ้นชื่อลือนาม แต่ฉันไม่ได้คาดว่าจะสามารถไปได้ถึงพุทธคยาในอินเดียในสมัยนั้น ก็ประหลาดใจ ที่ตำบลพุทธคยามีแต่วัดพระศรีมหาโพธิ หรือถ้าเรียกอย่างไทยก็ว่า “วัดโพธิ์” กับบ้านพวกพราหมณ์มหันต์อยู่หมู่หนึ่ง ไม่มีบ้านเรือนราษฎรห้อมล้อมเหมือนเช่นที่วัดวิษณุบาท เพราะที่ดินตำบลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกพราหมณ์มหันต์ ดังจะบอกเหตุต่อไปข้างหน้า ที่วัดอยู่ห่างฝั่งลำน้ำเนรัญชรที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาดไม่ถึง ๑๐ เส้น แต่ลำน้ำเนรัญชรนั้น เวลาเมื่อฉันไปเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งขาด แลดูท้องน้ำเป็นแต่พื้นทรายเม็ดใหญ่ แต่เขาว่าขุดลงไปตรงไหนก็ได้น้ำที่ไหลอยู่ใต้ทรายเสมอ ตัววัดพระศรีมหาโพธิ เมื่อฉันไปมีสิ่งสำคัญแต่พระปรางค์ใหญ่อยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกองค์หนึ่ง หลังพระปรางค์เข้าไปมีพระแท่น “รัตนบัลลังก์” เป็นศิลาจำหลักแผ่นใหญ่ ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างประดิษฐานไว้ตรงที่พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อตรัสรู้ที่ใกล้โคนต้นพระศรีมหาโพธิแผ่นหนึ่ง ต่อพระแท่นไปก็ถึงต้นพระศรีมหาโพธิ มีฐานก่อล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิเมื่อฉันไปขนาดลำต้นราวสัก ๔ กำ เป็นทายาทสืบสันตติพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สักกี่ชั่วแล้วไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าสืบพืชพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมอยู่ในที่เดียวกันมาจนกาลบัดนี้ ลานวัดปราบเป็นที่ราบออกไปสัก ๒ เส้น ๔ เหลี่ยมมีกำแพงล้อม นอกกำแพงออกไปยังเป็นกองดินสูงบ้างต่ำบ้างเป็นพืดไป กรมตรวจโบราณคดียังไม่ได้ขุดค้น

เรื่องตำนานของวัดพระศรีมหาโพธิพุทธคยา เมื่อตอนก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แม้เป็นที่พุทธศาสนิกชนไปบูชามาแต่แรกพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพาน ก็ไม่ปรากฏสิ่งใดที่สร้างไว้ก่อน พ.ศ. ๒๐๐ ของเก่าที่พบมีแต่ของครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ว่าทรงสร้างพระแท่นรัตนบัลลังก์กับวิหารขนาดน้อยไว้ข้างหน้าต้นโพธิ เป็นที่คนไปบูชาหลังหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายในอินเดีย มีผู้ศรัทธาไปสร้างเจดีย์วัตถุและเครื่องประดับต่างๆ เพิ่มเติมต่อมาโดยลำดับ ผู้ตรวจเขาสังเกตแบบลวดลายตามสมัย ได้เค้าว่ามีชาวอินเดียปฏิสังขรณ์มาจนราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ก่อนพระพุทธศาสนาจะถูกกำจัดจากอินเดียไม่นานนัก แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญ คือพระปรางค์ที่เป็นหลักวัดอยู่เดี๋ยวนี้ เขาสันนิษฐานว่าถึงสมัยเมื่อเกิดนิยมทำพระพุทธรูปในราว พ.ศ. ๕๐๐ มีผู้สร้างแปลงวิหารของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเดิมเป็นแต่ที่สำหรับคนบูชาพระศรีมหาโพธิ ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเก่า เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปด้วย ต่อมาถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ เศษ มีมหาพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อมรเทวะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ณ เมืองมัลวา เข้ารีตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาสร้างแปลงวิหารนั้นเป็นพระปรางค์องค์ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ แบบอย่างรูปทรงผิดกับพระเจดีย์บรรดาที่มีในอินเดียทั้งหมด คงเป็นเพราะพราหมณ์อมรเทวะเคยถือไสยศาสตร์ ชอบแบบอย่างเทวาลัยอยู่ก่อน เอาเค้าเทวาลัยกับพระเจดีย์ทางพระพุทธศาสนาผสมกันทำตอนยอดเป็นพระสถูป ตอนกลางเป็นปรางค์ ตอนล่างเป็นวิหารที่ตั้งพระพุทธรูป เพราะฉะนั้นจึงแปลกกับที่อื่น สร้างด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยมสูงตลอดยอด ๓๐ วา ตอนล่างที่เป็นวิหารกว้าง ๘ วา สูง ๔ วาเศษ ทำคูหาตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักสัก ๓ ศอกเป็นประธาน ที่ฝาผนังวิหารมีช่องบันไดขึ้นไปบนหลังคา ซึ่งทำเป็นหลังคาตัด ลานทักษิณรอบพระปรางค์ใหญ่องค์กลาง และมีปรางค์น้อยตามมุมลานทักษิณ ๔ องค์ ปรางค์ใหญ่ก็เป็นรูป ๔ เหลี่ยมทรงสอบขึ้นไปทางยอด ทำซุ้มจรนำมีคูหาสำหรับตั้งพระพุทธรูป เรียงรอบพระปรางค์เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๙ ชั้น ถึงที่สุดปรางค์ทำพระสถูปเจดีย์กลมไว้เป็นยอด เมื่อใหม่ๆ ดูก็เห็นจะงามแปลกตา

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาถูกพวกมิจฉาทิฐิล้างผลาญที่ในอินเดีย มีพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาพากันหนีไปพึ่งพระเจ้าราชาธิราชพม่า ณ เมืองพุกาม อันเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเป็นอันมาก คงไปทูลพรรณนาถึงพุทธเจดียสถานในอินเดีย ให้พระเจ้าคันชิตราชาธิราชพระองค์ที่ ๓ ทรงทราบ จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยา เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๕๕ ครั้งหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าอลองคสิทธุราชาธิราชพระองค์ที่ ๔ ไปปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง และพระเจ้าติโลมินโลราชาราชาธิราชองค์ที่ ๙ ให้ไปถ่ายแบบพระปรางค์พุทธคยาไปสร้างไว้ที่เมืองพุกามเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๕๓ องค์หนึ่ง เลยมีเรื่องต่อมาถึงเมืองไทย ด้วยมีพระเจดีย์โบราณก่อด้วยศิลาแลงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “พระเจดีย์เจ็ดยอด” รูปสัณฐานทำอย่างพระปรางค์พุทธคยา ฉันได้เคยเห็นทั้งองค์ที่พุทธคยาและองค์ที่เมืองพุกาม จึงอ้างได้แน่ว่าองค์ที่เมืองเชียงใหม่คงถ่ายแบบมาจากองค์ที่เมืองพุกาม เป็นแต่ย่อขนาดให้ย่อมลงสักหน่อยและน่าจะสร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ ในสมัยเมื่อเมืองเชียงใหม่ยังเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกาม อาจจะมีเจ้านายราชวงศ์พุกามมาครอบครอง (บางทีจะเป็นองค์ที่อภิเษกกับนางจามเทวี) เอาอย่างพระปรางค์มาจากเมืองพุกามและสร้างอย่างประณีตถึงเพียงนั้น ความส่อต่อไปว่าที่ในหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่ ว่าพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น ที่จริงสร้างในท้องที่เมืองเก่าอันร้างอยู่ มิได้สร้างในที่ป่าเถื่อน เรื่องตำนานพระปรางค์ที่พุทธคยายังมีต่อมาว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดีย ๕ ปี พระเจ้ามินดงประเทศพม่าใคร่จะบำเพ็ญพระราชกุศล ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าราชาธิราชพม่าแต่ปางก่อน ให้ไปขออนุญาตต่อรัฐบาลอังกฤษปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยาอีกครั้งหนึ่ง แต่พม่าไปปฏิสังขรณ์ครั้งนี้นักโบราณคดีอังกฤษยังติเตียนกันอยู่จนทุกวันนี้ ว่าเหมือนไปทำลายยิ่งกว่าไปทำให้กลับคืนดี เพราะข้าหลวงพม่ามีความคิดเพิ่มจะก่อกำแพงล้อมรอบ กับจะปราบที่ในลานวัดทำให้ราบรื่น รื้อแย่งเครื่องศิลาของโบราณที่สร้างไว้ในบริเวณ ขนเอาออกไปทิ้งเสียโดยมาก ทั้งเที่ยวรื้อเอาอิฐตามโบราณสถานในที่มีอยู่ใกล้ๆ ไปก่อกำแพงวัดที่ทำนั้นทำให้ยิ่งยับเยินหนักไป แม้ที่องค์พระปรางค์ก็กะเทาะเอาลวดลายปั้นของเดิมที่ยังเหลืออยู่ออกเสีย เอาปูนยารอยที่ชำรุดแล้วทาปูนขาวฉาบทั่วทั้งองค์ เอาเป็นสำเร็จเพียงนั้น ต่อมาจะเป็นด้วยรัฐบาลอินเดียรู้สึกเอง ว่าที่ได้อนุญาตให้พม่าปฏิสังขรณ์โดยไม่ควบคุมผิดไป หรือจะเป็นด้วยถูกพวกนักโบราณคดีติเตียนมาก เจ้าเมืองบังกล่า (Bengal) จึงให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์อีกครั้งหนึ่ง ตกแต่งถือปูนเรียบร้อยทั้งองค์ เห็นจะสำเร็จก่อนฉันไปไม่ช้านัก และดูยังใหม่ และมีศิลาจารึกบอกไว้ แต่ฉันจำศักราชไม่ได้ว่าปฏิสังขรณ์เมื่อปีใด

เมื่อฉันไปถึงวัดพุทธคยา พวกพราหมณ์มหันต์ (Mahant) พากันมาต้อนรับ พอฉันบูชาพระและเที่ยวดูทั่วเขตวัดแล้ว เชิญไปพักที่เรือนมหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าพวกมหันต์ มีพิธีต้อนรับ เช่นสวมพวงมาลัยให้แล้วจัดของว่างมาเลี้ยงเป็นต้น ที่วัดพุทธคยามีเครื่องศิลาจำหลักของโบราณเหลืออยู่มากกว่าที่มฤคทายวัน พวกพราหมณ์มหันต์เก็บเอามาประดับประดาไว้ตามที่ต่างๆ ฉันอยากได้สิ่งไหนออกปากขอ ก็ยอมให้โดยเต็มใจไม่ขัดขวาง ฉันเลือกแต่ของที่แปลกตาขนาดเล็กๆ พอจะเอามาด้วยได้สักสี่ห้าสิ่ง บางสิ่งก็มาเป็นของสำคัญดังจะเล่าที่อื่นต่อไป เหตุที่พวกพราหมณ์มหันต์จะได้เป็นเจ้าของวัดพุทธคยานั้น ปรากฏว่ากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยบริษัทอังกฤษยังปกครองอินเดียขยายอาณาเขตออกไปถึงมัชฌิมประเทศ จัดวิธีการปกครองด้วยแบ่งที่ดินให้ชาวอินเดียที่ฝักฝ่ายอยู่ในอังกฤษ และเป็นคนมีกำลังพาหนะที่จะปกครองถือที่ดินเรียกว่า ซามินดาร์ (Zamindar) มีอาณาเขตเป็นส่วนๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ต้องบังคับบัญชาการตามกฎหมายอังกฤษ และส่งเงินส่วยแก่รัฐบาลอินเดียตามกำหนดที่ตกลงกัน ถ้าซามินดาร์กระทำตามสัญญาอยู่ตราบใด รัฐบาลยอมให้ผู้สืบสกุลมีสิทธิเช่นเดียวกันเสมอไป ก็ในสมัยเมื่อตั้งวิธีปกครองเช่นว่านั้น ที่ตำบลพุทธคยาเป็นป่าร้างมีแต่พวกพราหมณ์มหันต์ตั้งบ้านเรือนอยู่ มหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าได้รับตำแหน่งเป็นซามินดาร์ ปกครองตำบลพุทธคยา และมหาพราหมณ์ที่เป็นทายาทได้รับสิทธิปกครองสืบกันมา วัดพุทธคยาอยู่ในอาณาเขตที่ดินของพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์จึงถือว่าเป็นผู้ปกครองวัดพุทธคยา และดูแลรักษาเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวทในศาสนาของตนด้วย

เรื่องมหาโพธิสมาคม

ในครั้งนั้น เผอิญฉันต้องไปรับรู้เรื่องตั้งมหาโพธิสมาคมอันเนื่องกับเจดียสถานที่พุทธคยา จะเลยเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เมื่อฉันออกจากเมืองคยามาพักอยู่ที่เมืองกัลกัตตา มีชายหนุ่มเป็นชาวลังกาชื่อ “ธรรมปาละ” มาหาฉันด้วยกันกับพ่อค้าพม่าคนหนึ่ง นายธรรมปาละบอกว่าพวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนา ให้กลับนับถือกันในอินเดียดังแต่เดิม ความคิดที่พวกเขาจะทำการนั้น เขาจะเอาที่พระมหาเจดีย์พุทธคยาตั้งเป็นแหล่ง แล้วชวนพุทธศาสนิกชนทั่วทุกชาติทุกภาษา ให้ร่วมมือช่วยกันจัดการสอนพระพุทธศาสนาให้มีคนนับถือแพร่หลายในอินเดีย ต่อนั้นไปก็จะได้ทำนุบำรุงพระเจดียสถานต่างๆ ให้พระพุทธศาสนากลับเป็นส่วนใหญ่อันหนึ่ง ในศาสนาต่างๆ ที่ในอินเดีย และเอาเป็นที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก ในเวลานั้นมีชาวลังกาและพม่าเข้าร่วมมือกับเขาหลายคนแล้ว จึงตั้งเป็นสมาคมให้ชื่อว่า “มหาโพธิ” ตามนามมหาเจดีย์ ณ พุทธคยา ที่เขาจะเอาเป็นแหล่งฟื้นพระพุทธศาสนา แต่มีความขัดข้องเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยพวกพราหมณ์มหันต์อ้างว่าที่ดินตำบลพุทธคยากับทั้งมหาเจดียสถาน เป็นสมบัติของตน ไม่ยอมให้สมาคมมหาโพธิไปตั้งสถานี ณ ที่นั้น จะขอซื้อเฉพาะตรงที่วัดก็ไม่ขาย นายธรรมปาละมาหาฉันด้วยเห็นว่าเป็นเจ้านายประเทศไทย อันเป็นประเทศสำคัญที่นับถือพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่ง เพื่อจะขอให้ฉันช่วยพูดจากับอุปราช Viceroy อินเดีย ให้ใช้อำนาจรัฐบาลบังคับพวกพราหมณ์มหันต์ ให้มอบวัดพระมหาโพธิ อันเป็นวัดในพระพุทธศาสนาคืนให้เป็นวัดของพวกพุทธศาสนิกชนตามเดิม ฉันตอบว่าที่พวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ฉันก็ยินดีอนุโมทนาด้วย แต่ที่จะให้ไปพูดกับอุปราชในเรื่องวัดพระมหาโพธินั้น ฉันเห็นจะรับธุระไม่ได้ ด้วยการนั้นเป็นการภายในบ้านเมืองของอินเดีย ตัวฉันเป็นชาวต่างประเทศ ทั้งเป็นแขกของรัฐบาล ที่จะเอื้อมเข้าไปพูดจาร้องขอถึงกิจการภายในบ้านเมืองของเขา ไม่สมควรจะพึงทำ ฉันพูดต่อไปว่าธรรมะเป็นตัวพระศาสนา อิฐปูนไม่สำคัญอันใด สอนพระธรรมที่ไหนก็สอนได้ ทำไมจึงจะเริ่มฟื้นพระศาสนาด้วยตั้งวิวาทแย่งวัดกันดูไม่จำเป็นเลย นายธรรมปาละคงไม่พอใจในคำตอบ พูดกันเพียงเท่านั้น ต่อมานายธรรมปาละเข้ามากรุงเทพฯ ได้แสดงปาฐกถาชวนไทยให้ร่วมมือหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เงินไปจากเมืองไทยสักเท่าใดนัก เพราะมีคนฟังปาฐกถาภาษาอังกฤษเข้าใจไม่มากนัก แม้คนที่ฟังเข้าใจก็มิใคร่มีใครชอบปฏิภาณของนายธรรมปาละด้วยแกชอบใช้โวหารชวนให้แค้นพวกมิจฉาทิฐิที่ได้พยายามทำลายพระพุทธศาสนามากว่า ๗๐๐ ปี ทำให้เห็นความประสงค์ที่จะไปฟื้นพระพุทธศาสนา แปรไปคล้ายกับจะไปแก้แค้นพวกมิจฉาทิฐิยิ่งกว่าไปทำบุญ ก็มักมิใคร่มีใครเลื่อมใส เมื่อนายธรรมปาละพยายามไปเที่ยวขอความช่วยเหลือตามประเทศต่างๆ ที่ถือพุทธศาสนา ได้เงินพอเป็นทุนก็ใช้นามมหาโพธิสมาคม ฟ้องขับไล่พวกพราหมณ์มหันต์เป็นความกันในศาลที่เมืองกัลกัตตา ศาลตัดสินให้มหาโพธิสมาคมแพ้คดี ด้วยอ้างว่าพวกพราหมณ์มหันต์ได้มีกรรมสิทธิ์ปกครองที่ดินมาหลายร้อยปีแล้ว และวัดพุทธคยานั้น พวกพราหมณ์มหันต์ก็ได้ดูแลรักษานับถือว่าเป็นวัดในศาสนาของเขาเหมือนกัน นายธรรมปาละไม่ได้วัดพุทธคยาสมประสงค์ จึงเปลี่ยนที่ไปตั้งสถานีที่มฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสี ทำนองที่วัดในมฤคทายวันจะเป็นที่หลวง จึงได้รับความอุดหนุนของรัฐบาลอินเดีย มหาโพธิสมาคมก็สามารถตั้งสถานี ณ ที่นั้นสร้างวัดขึ้นใหม่ ขนานนามว่าวัด “มูลคันธกุฎีวิหาร” และต่อมาไปทำทางไมตรีดีกับพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์ก็ยอมให้มหาโพธิสมาคมสร้างที่พักของพวกพุทธศาสนิกชนขึ้น ใกล้กับบริเวณวัดพุทธคยานั้น จึงมีสถานีอันเป็นของพุทธศาสนิกชนเกิดขึ้นในอินเดีย ๒ แห่ง เป็นที่พักอาศัยของพุทธศาสนิกชนทุกชาติ แม้พระภิกษุไทยไปก็ได้อาศัยมาจนบัดนี้ เป็นอันสมประสงค์ของนายธรรมปาละ ที่จะฟื้นพระศาสนาเพียงเท่าที่สามารถจะเป็นได้ แต่น่าชมความศรัทธาและอุตสาหะของนายธรรมปาละ ว่าเป็นอย่างยอดเยี่ยม ด้วยได้พยายามมากว่า ๓๐ ปี ในระหว่างนั้นสู้สละทรัพย์สมบัติบ้านเรือนออกเป็นคนจรจัด เรียกตนเองว่า “อนาคาริกะ” ขวนขวายทำแต่การที่จะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียอย่างเดียว เที่ยวชักชวนหาคนช่วยไปตามประเทศน้อยใหญ่จนรอบโลก ครั้นการสำเร็จตั้งสถานีของพุทธศาสนิกชนได้ในอินเดียแล้ว นายธรรมปาละก็ออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่จนตราบเท่าถึงมรณภาพ ควรนับว่าเป็นวีรบุรุษได้ชนิดหนึ่ง

เสาะหาพระพุทธเจดีย์

นอกจากไปบูชามหาเจดียสถานทั้ง ๒ แห่งที่พรรณนามาแล้ว เมื่อไปอินเดีย ฉันได้เสาะหาของที่เนื่องกับพระพุทธศาสนา มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยหลายสิ่ง จะเล่าถึงเรื่องที่หาสิ่งของเหล่านั้นต่อไป

พระบรมธาตุ

แต่ก่อนฉันไปอินเดียหลายปี เห็นจะเป็นในราว พ.ศ. ๒๔๒๘ เมื่อครั้งกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เป็นตำแหน่งราชทูตไทยอยู่ ณ กรุงลอนดอน มีข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่ารัฐบาลอินเดียพบพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ในพระเจดีย์โบราณ แล้วส่งไปไว้พิพิธภัณฑสถาน British Museum ณ กรุงลอนดอน เมื่อกรมพระนเรศรฯ เสด็จกลับมากรุงเทพฯ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสถามว่าพระบรมธาตุที่อังกฤษพบในอินเดียนั้น ลักษณะเป็นอย่างไร กรมพระนเรศรฯ ทูลว่าไม่ได้ไปทอดพระเนตร กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ตรัสบ่นว่ากรมพระนเรศรฯ ไม่เอาพระทัยใส่ในพระพุทธศาสนา เมื่อฉันไปยุโรป ไปถึงลอนดอน ก่อนมาอินเดียนึกขึ้นถึงเรื่องนั้น วันฉันไปดูพิพิธภัณฑสถาน จึงขอให้เจ้าพนักงานเขาพาไปดูพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ได้ไปจากอินเดีย ไปเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยพระบรมธาตุที่ว่านั้นเป็นกระดูกคน มิใช่ธาตุที่คล้ายกับปูนเช่นเรานับถือกันในเมืองไทย ฉันเห็นพระธาตุที่เขาได้ไปมีมากประมาณสักฟายมือหนึ่ง นึกว่าถ้าฉันขอแบ่งเอามาเมืองไทยสักสองสามชิ้น รัฐบาลอังกฤษก็เห็นจะให้ จึงถามเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑสถาน ว่าที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้านั้นมีหลักฐานอย่างไร เขาบอกว่าที่ผ้าห่อพระธาตุมีหนังสือเขียนบอกไว้เป็นสำคัญ ว่าเป็นพระธาตุพระพุทธเจ้า ผู้บอกเขาเป็นนักเรียนโบราณคดี บอกต่อไปว่าหนังสือที่เขียนไว้นั้น เป็นแบบตัวอักษรซึ่งใช้ในอินเดียเมื่อราวศตวรรษที่ ๖ แห่งคริสตศก หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือแบบตัวหนังสือซึ่งใช้กันในอินเดียเมื่อราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ฉันได้ฟังก็ยั้งใจ ด้วยจำนวนศักราชส่อให้เห็นว่าพระบรมธาตุนั้นน่าจะเป็นของตกต่อกันมาหลายทอด แล้วเชื่อถือกันตามที่บอกเล่าต่อๆ มาว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึง ๑๐๐๐ ปีแล้ว จึงได้เอาเข้าบรรจุพระเจดีย์องค์ที่อังกฤษพบพระธาตุ อีกประการหนึ่ง ปริมาณพระธาตุก็ดูมากเกินขนาดที่พระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชาเป็นต้น จะแบ่งประทานผู้ใดผู้หนึ่ง หรือให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งถึงเท่านั้น ดูน่าจะเป็นของที่สัปบุรุษในชั้นหลังรวบรวมพระธาตุที่พบในพระเจดีย์หักพัง ณ ที่ต่างๆ บรรดาอ้างเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเอามาบรรจุไว้ด้วยกัน ปริมาณพระธาตุจึงได้มากถึงเพียงนั้น ฉันไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหมด คิดดูเห็นว่าที่ไทยเราบูชาพระธาตุอย่างคล้ายหินตามคติลังกา หากจะมิใช่พระบรมธาตุแท้จริงก็ผิดเพียงบูชาก้อนหิน แต่พระธาตุอินเดียเป็นกระดูกคน ถ้าองค์ที่ขอแบ่งเอามามิใช่พระธาตุพระพุทธเจ้า จะกลายเป็นมาชวนให้ไทยไหว้กระดูกใครก็ไม่รู้ จึงเลิกความคิดที่จะขอพระธาตุมาจากลอนดอน เมื่อฉันมาถึงอินเดียไปดูพิพิธภัณฑสถานแห่งใด ก็ตั้งใจจะพิจารณาดูพระธาตุที่พบในอินเดีย อันมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง มาได้ความรู้เป็นยุติว่าพระธาตุที่พบในอินเดียเป็นกระดูกคนทั้งนั้น มีหนังสือเขียนที่ห่อผ้าว่าพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าก็มี ว่าพระธาตุพระสารีบุตรก็มี พระโมคคัลลานะก็มี แต่เหตุที่เป็นข้อสงสัยก็ยังมีอยู่ ด้วยเครื่องประกอบเป็นหลักฐาน เช่นตัวอักษรก็ดี สิ่งของที่บรรจุไว้ด้วยกันกับพระธาตุเช่นเงินตราเป็นต้นก็ดี ล้วนเป็นของเมื่อล่วงพุทธกาลตั้ง ๑,๐๐๐ ปีแล้วทั้งนั้น และยังมีเหตุเพิ่มความรังเกียจขึ้น ด้วยคิดดูปริมาณพระธาตุที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง ถ้ารวมแต่ที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเข้าด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์เห็นจะใหญ่โตเกินขนาดมนุษย์มากทีเดียว ไม่พบพระบรมธาตุที่สิ้นสงสัย ฉันจึงไม่ได้พระบรมธาตุมาจากอินเดียในครั้งนั้น

พระศรีมหาโพธิ

ฉันได้เล่ามาแล้วว่าเมื่อไปถึงเมืองคยา มิสเตอร์เครียสัน เจ้าเมืองคยาได้เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิไว้ให้ฉัน ๓ ต้น เดิมฉันนึกว่าจะไม่รับเอามา เพราะเห็นว่าต้นยังอ่อนนักคงมาตายกลางทาง แต่นึกขึ้นว่าแต่ก่อนมา เมืองไทยยังไม่เคยได้ต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิมาจากต้นเดิมที่พุทธคยา น่าจะลองเอามาดูสักทีเผื่อจะรอดได้ ถ้าไปตายกลางทางก็แล้วไป ฉันจึงให้ต่อหีบหลังกระจกใส่กระบอกต้นโพธิ ๓ ต้นนั้นเอาติดตัวมาด้วย เมื่อมากลางทางเห็นต้นโพธิแตกใบอ่อนก็เกิดปีติ ด้วยจะได้เป็นผู้นำต้นโพธิพระศรีมหาโพธิตรงมาจากพุทธคยา เข้ามายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก

ต้นโพธิพระศรีมหาโพธิที่มีในเมืองไทยมาแต่โบราณ ล้วนได้พรรณมาจากต้นที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งไปปลูกไว้ที่เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปทั้งนั้น ครั้งที่สุดปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ พระอาจารย์เทพ ผู้เป็นนายกสมณทูตไทยกลับจากลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑ ได้ต้นโพธิจากเมืองอนุราธบุรี มาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๓ ต้น โปรดให้ปลูกไว้ในวัดมหาธาตุฯ ต้นหนึ่ง วัดสุทัศน์ฯ ต้นหนึ่ง และวัดสระเกศฯ ต้นหนึ่ง ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ แต่พรรณพระศรีมหาโพธิที่เมืองไทยได้ตรงมาจากพุทธคยา เพิ่งปรากฏว่าได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทราบเรื่องพุทธเจดีย์ในอินเดียก่อนผู้อื่น ทรงขวนขวายหาพันธุ์พระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ได้เมล็ดมายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ตอนว่าด้วยบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ (ฉบับพิมพ์หน้า ๔๔๑) ว่าต้นโพธิที่โปรดให้ปลูกไว้ ๔ มุมบริเวณนั้น “ได้ผลมาแต่เมืองพุทธคยาบุรี ว่าเป็นหน่อเดิมที่พระได้ตรัส พระมหาโพธินั้นมีพระระเบียงล้อมถึง ๗ ชั้น พวกพราหมณ์หวงแหนอยู่แน่นหนา เจ้าเมือง (คือไวสรอย) อังกฤษจึงไปขอเอาผลและใบถวายเข้ามา” แล้วเล่าต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเพาะเมล็ดพระศรีมหาโพธินั้นขึ้นเป็นต้น พระราชทานไปปลูกตามวัดหลวง จะเป็นวัดไหนบ้างไม่กล่าวไว้ แต่ฉันจำได้ในเวลานี้ ปรากฏอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ (ต้นอยู่ข้างหน้าพระวิหารโพธิลังกา) ต้นหนึ่ง ที่วัดบวรนิเวศฯ ต้นหนึ่ง ที่พระปฐมเจดีย์ ๔ ต้น และยังมีเรื่องต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแบ่งเมล็ดพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ได้มาครั้งนั้นพระราชทานสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับไปทรงเพาะด้วย ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปลูกพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ทรงเพาะนั้น ที่วัดเทพศิรินทร์ต้นหนึ่ง วัดนิเวศธรรมประวัติต้นหนึ่ง วัดอุภัยราชบำรุง คือวัดญวนที่ตลาดน้อยต้นหนึ่ง และพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (เฉย ต้นสกุล ยมาภัย) ไปปลูกที่วัดมณีชลขันธ์เมืองลพบุรีต้นหนึ่ง

เมื่อฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ นำต้นพระศรีมหาโพธิที่ได้มาจากพุทธคยา ไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เกาะสีชัง เวลานั้นกำลังทรงสร้างวัดอัษฎางคนิมิต โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดอัษฎางคนิมิตต้นหนึ่ง อีกสองต้นโปรดให้ชำไว้ในเขตพระราชฐานที่เกาะสีชัง ครั้นทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรต้นหนึ่ง ที่เหลืออยู่อีกต้นหนึ่งจะยังอยู่ที่เกาะสีชัง หรือเป็นอย่างไรฉันหาทราบไม่

รอยพระพุทธบาท

ฉันพบศิลาจำหลักเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ขนาดยาวสักศอกเศษอยู่ที่วัดพุทธคยาแผ่นหนึ่ง สังเกตดูเห็นเป็นของเก่ามาก น่าจะสร้างแต่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือแม้ภายหลังมาก็ไม่ช้านัก ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่เป็นสำคัญว่าเมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ ที่ในอินเดียห้ามมิให้ทำพระพุทธรูปเจดียสถานต่างๆ ที่ทำลวดลายจำหลักศิลาเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ตรงไหนที่จะต้องทำพระพุทธรูป ย่อมทำเป็นรูปของสิ่งอื่นแทน พระพุทธรูปตอนก่อนตรัสรู้มักทำเป็นรอยพระบาท ตรงเมื่อตรัสรู้มักทำเป็นรูปพุทธบัลลังก์ทำต้นโพธิ ตรงเมื่อทรงประกาศพระศาสนาทำเป็นรูปจักรกับกวาง ตรงเมื่อเสด็จเข้าพระนิพพานทำเป็นรูปพระสถูป จนล่วงพุทธกาลกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว พวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีกที่มาเข้ารีตถือพระพุทธศาสนา) ชาวคันธารราษฎร์ ทางปลายแดนอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือ คิดทำพระพุทธรูปขึ้น แล้วชาวอินเดียชนชาติอื่นเอาอย่างไปทำบ้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีพระพุทธรูปสืบมา รอยพระพุทธบาทนั้นคงเป็นของสร้างขึ้นบูชาแทนพระพุทธเจ้าแต่ในสมัยเมื่อยังไม่มีพระพุทธรูป ฉันออกปากขอ มหาพราหมณ์มหันต์ก็ให้โดยเต็มใจ จึงได้มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอีกสิ่งหนึ่ง รอยพระพุทธบาทนั้น โปรดให้ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาพระจุลจอมเกล้าฯ ที่เกาะสีชัง

พระพุทธรูป

เวลาฉันเสาะหาของโบราณที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถาน ฉันไปพบสิ่งใดอยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขาเลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาทที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึงโดยเฉพาะ ด้วยเมื่อฉันจะกลับจากพุทธคยา ได้ปรารภแก่เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดี ว่าฉันสังเกตดูพระพุทธรูปโบราณในอินเดียมีหลายแบบอย่าง ฉันอยากเห็นพระพุทธรูปที่นับว่าฝีมือทำงามที่สุดที่ได้พบในอินเดีย เขาจะช่วยหารูปฉายให้ฉันได้หรือไม่ เขารับว่าจะหาดู เมื่อได้จะส่งตามมาให้ ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักสองสามเดือน เขาก็ส่งพระพุทธรูปมาให้องค์หนึ่ง ว่าเป็นของรัฐบาลอินเดียให้ฉันเป็นที่ระลึก แต่มิใช่รูปฉายเช่นฉันขอ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสักศอกหนึ่ง ซึ่งเขาพิมพ์จำลองพระศิลาด้วยปูนปลาสเตอร์ แล้วปิดทองคำเปลวตั้งในซุ้มไม้ทำเป็นรูปเรือนแก้ว สำหรับยึดองค์พระไว้ให้แน่นใส่หีบส่งมา พระนั้นเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์กำลังกระทำทุกรกิริยา ช่างโยนกคิดประดิษฐ์ทำที่ในคันธารราษฎร์เมื่อราว พ.ศ. ๙๐๐ ทำเป็นพระนั่งสมาธิ แต่พระองค์กำลังซูบผอมถึงอย่างว่า “มีแต่หนังหุ้มกระดูก” แลเห็นโครงพระอัฐิและเส้นสายทำเหมือนจริง ผิดกับพระพุทธรูปสามัญ แลเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรหาโมกขธรรม ทำดีน่าพิศวง เขาบอกมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้แหละเป็นชั้นยอดเยี่ยมทั้งความคิดและฝีมือช่างโยนก พบแต่องค์เดียวเท่านั้น รัฐบาลให้รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่เมืองละฮอ แต่ฉันไม่ได้ขึ้นไปถึง จึงไม่ได้เห็น เมื่อวันพระองค์นั้นมาถึงกรุงเทพฯ เวลานั้นฉันยังอยู่ที่วังเก่าใกล้สะพานดำรงสถิต เผอิญพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีไปหา พอท่านเห็นก็เกิดเลื่อมใส ว่าเป็นพระอย่างแปลกประหลาดน่าชมนัก ไม่มีใครเคยเห็นมาแต่ก่อน ท่านขอให้ฉันตั้งไว้ที่วังให้คนบูชาสัก ๓ วันก่อน แล้วจึงค่อยถวาย ฉันก็ยอมทำตาม จัดที่บูชาตั้งพระไว้ในศาลาโรงเรียนที่ในวัง พอรุ่งขึ้นมีคนทางสำเพ็งที่ทราบข่าวจากพระพุฒาจารย์ พากันมาก่อน แล้วก็เกิดเล่าลือกันต่อไป เรียกกันว่า “พระผอม” ถึงวันที่สองที่สามคนยิ่งมามากขึ้นแน่นวังวันยังค่ำ ถึงมีพวกขายธูปเทียนและทองคำเปลวมานั่งขายเหมือนอย่างงานไหว้พระตามวัด แต่ฉันขอเสียอย่าให้ปิดทองเพราะของเดิมปิดทองมาแต่อินเดียแล้ว ถึงวันที่ ๔ ต้องให้ปิดประตูวังเพราะยังมีคนไปไม่ขาด

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้ประดิษฐานพระองค์นั้นไว้บนฐานชุกชีบุษบกด้านหนึ่งในพุทธปรางค์ปราสาท ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีผู้ศรัทธาไปขอจำลองหล่อ “พระผอม” ด้วยทองสัมฤทธิ์มีขึ้นแพร่หลายและทำหลายขนาด องค์ใหญ่กว่าเพื่อนขนาดหน้าตักสักสองศอก ผู้สร้างถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรและยังมีอยู่ตามวัดอีกนับไม่ถ้วน แต่องค์เดิมที่จำลองส่งมาจากอินเดียนั้น เป็นอันตรายเสียเมื่อไฟไหม้พุทธปรางค์ปราสาทแต่ในรัชกาลที่ ๕ หากมีผู้ศรัทธาหล่อจำลองไว้ แบบ “พระผอม” จึงยังมีอยู่ในเมืองไทยจนทุกวันนี้

อธิบายท่อนท้าย

ฉันเขียนความรู้เห็นในอินเดียเป็นนิทาน ๓ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเล่าถึงเหตุที่ไปอินเดีย และพรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองชัยปุระ เรื่องที่สอง พรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองพาราณสี เรื่องที่สามนี้ ว่าด้วยการสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังมีเรื่องตอนเมื่อก่อนกลับจากอินเดียอีกบ้าง ถ้าไม่กล่าวถึงความที่เล่าในเรื่องแรกจะเขินอยู่ จึงเขียนเรื่องตอนท้ายพ่วงไว้ในนิทานเรื่องนี้

ฉันออกจากเมืองคยามายังเมืองกัลกัตตา อันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ด แลนสดาวน์ เป็นอุปราช รับให้ไปอยู่ด้วยกันที่เกาเวอนเมนต์เฮาส์ น่าแปลว่า “วังอุปราช” ยิ่งกว่าเรือนรัฐบาลตามศัพท์ มีการเลี้ยงเวลาค่ำพร้อมด้วยพวกกรมการผู้ใหญ่ ให้เป็นเกียรติยศคืนหนึ่ง มีการราตรีสโมสรให้ฉันพบกับพวกมีเกียรติทั้งฝรั่งและชาวอินเดียวันหนึ่ง ลอร์ด โรเบิตส์ เวลานั้นยังเป็นเซอร์เฟรเดอริก โรเบิตส์ นายพลเอกผู้บัญชาการทหารทั่วทั้งอินเดีย เชิญไปเลี้ยงพร้อมกันกับพวกนายทหารที่ป้อมวิลเลียมคืนหนึ่ง อยู่เมืองกัลกัตตา ๔ วันแล้วไปยังเมืองดาร์จีลิ่งบนเขาหิมาลัย หรือถ้าใช้คำโบราณของไทยเราก็คือไปเที่ยวดูป่าหิมพานต์ ๔ วัน แล้วย้อนกลับมาเมืองกัลกัตตา ลงเรือออกจากอินเดียมาเมืองพม่า ซึ่งในสมัยนั้นยังนับเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของอินเดีย ขึ้นพักอยู่ที่จวนกับเซอร์ อเล็กซานเดอร์ แมกเกนซี เจ้าเมืองพม่า แต่ฉันมาถึงเมืองพม่าเมื่อต้นเดือนมีนาคม เข้าฤดูร้อนเสียแล้ว ทั้งตัวฉันก็ได้เที่ยวมาในยุโรปและอินเดียถึง ๙ เดือน ได้ดูอะไรต่ออะไรมากจนแทบจำไม่ได้ มาถูกอากาศร้อนก็ออกเบื่อการเดินทาง จึงพักอยู่เพียงเมืองย่างกุ้งเพียง ๔ วัน ได้ไปบูชาพระเกศธาตุและเที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ในเมืองนั้น แล้วลงเรือผ่านมาทางเมืองทวาย เห็นแต่ปากน้ำไม่ได้ขึ้นไปถึงเมือง เพราะเขาว่าอยู่ไกลเข้าไปมาก แต่ได้แวะขึ้นดูเมืองมริดแล้วมายังเมืองระนอง ขึ้นเดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงที่ออกไปรับ ณ เมืองชุมพรกลับกรุงเทพฯ สิ้นเรื่องไปอินเดียเพียงเท่านั้น.

นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี

 




นิทานที่ ๖ เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี

ครั้งฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อไปถึงเมืองพาราณสี (Benares) พระมหาราชาจัดวังนันเทศวร อันเป็นที่สำหรับรับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่พัก วังนันเทศวรอยู่ต่างฟากแม่น้ำคงคากับวังรามนครที่มหาราชาอยู่ เป็นตึกฝรั่งมีสวนและกำแพงล้อมรอบ รัฐบาลอังกฤษสร้างแต่เมื่อยังไม่ได้ปล่อยให้เมืองพาราณสีเป็นประเทศราช เดิมเป็นที่จวนของข้าหลวงอังกฤษที่บัญชาการเมือง ครั้นเมืองพาราณสีได้เป็นประเทศราช มหาราชาจึงรับซื้อไว้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ ให้ชื่อว่า วังนันเทศวร ประเพณีประเทศราชในอินเดียรับแขกเมืองผิดกันอย่างหนึ่ง เมืองไหนเจ้าเมืองถือศาสนาอิสลามเช่นมหาราชาในสัม-เมืองไฮเดอราบัด มีการเลี้ยงให้เป็นเกียรติยศเหมือนอย่างฝรั่ง แต่เมืองที่เจ้าเมืองถือศาสนาฮินดูไม่มีการเลี้ยง เพราะศาสนาฮินดูห้ามมิให้กินรวมกับคนถือศาสนาอื่น หรือแม้คนถือศาสนาฮินดูด้วยกัน ถ้าเกิดในสกุลต่างวรรณะ เช่นพราหมณ์กับกษัตริย์ก็กินร่วมกันไม่ได้ เมื่อฉันพักอยู่เมืองพาราณสีเขาเลี้ยงอย่างฝรั่ง แต่มหาราชาให้จัดอาหารอย่างฮินดูส่งมาเลี้ยงด้วย เป็นสำรับกับข้าวเช่นเดียวกับของไทย เปิดพิจารณาดูทำอย่างประณีตบรรจงอย่างของห้องเครื่อง เป็นต้นว่าข้าวที่ใส่มาในชาม ก็ปิดทองคำเปลวเหมือนอย่างข้าวทิพย์พิธีสารท นึกว่าจะลองกินกับข้าวฮินดู ให้รู้รสว่าผิดกับของไทยอย่างไร แต่เมื่อหยิบขึ้นถึงปากได้กลิ่นเนย “ฆี” หรือที่เรียกในบาลีว่า “สปฺปิ นวนีตํ” ซึ่งพวกฮินดูชอบปรุงกับอาหารแทบทุกอย่าง ฉุนทนไม่ไหวก็ได้แต่ชิมเล็กน้อยพอเป็นกิริยาบุญ ไม่พอที่จะพรรณนาได้ว่ารสอาหารผิดกับของไทยอย่างไร

รุ่งขึ้นถึงวันที่สองซึ่งฉันอยู่ในเมืองพาราณสี มหาราชาเชิญไปที่วังรามนคร จัดรับเต็มยศตามแบบโบราณ อังกฤษเรียกว่า Official Durbar เวลาเช้าสัก ๙ นาฬิกาออกจากวังนันเทศวรไปลงเรือที่ท่าแม่นํ้าคงคา มหาราชาให้เรือที่นั่งลำหนึ่งมาคอยรับ เรือนั้นเป็นเรือพายยาวสัก ๗ วา แต่ต่อรูปร่างแปลกตาไม่เคยเห็น ข้างหัวเรือเรียวท้ายเรือกว้าง ยกพื้นเป็นบัลลังก์ข้างท้ายเรือ มีมณฑปเสาหุ้มเงินหลังคาขึงผ้ากำมะหยี่ปักทอง ปูพรมตั้งเก้าอี้ให้พวกเรานั่งในมณฑป ต่อยกพื้นลงไปข้างหน้า พวกฝีพายแต่งเครื่องแบบนั่งบนกระทงสองแคม ตลอดไปจนหัวเรือ พอเรือออกจากท่า ผู้เป็นบ่อโทนนายฝีพายก็ขานมนตร์ภาษาสันสกฤต ได้ยินขึ้นต้นว่า “โอมรามะลักสมัน” ต่อไปว่ากระไรฉันไม่เข้าใจ แต่ว่ายาววรรคหนึ่งพวกฝีพายก็ขานรับพร้อมกันคำหนึ่ง ว่ากระไรก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน กระบวนคูคล้ายกับขานยาวเรือพระที่นั่งในเมืองไทย และขานเป็นระยะไปเสมอเช่นเดียวกัน ฉันถามผู้กำกับ เขาบอกอธิบายว่าในศาสนาฮินดู เชื่อว่าเมื่อพระรามจะไปจากมนุษยโลกเสด็จลงแม่น้ำคงคาหายไป เพราะฉะนั้นเวลาข้ามแม่น้ำคงคา จึงสวดบูชาพระรามให้เกิดสวัสดิมงคล ฉันก็ตีความว่าคำที่บ่อโทนว่าคงเป็นคำบูชา คำฝีพายว่าคำเดียวนั้นคงเป็นอย่างรับว่า “สาธุ” เมื่อเรือไปถึงท่ารามนคร มีขบวนแห่คอยรับอยู่บนบก เขาผูกช้างงาตัวหนึ่งสูงกว่า ๕ ศอกสำหรับรับฉัน ช้างตัวนั้นแต่งเครื่องมีกำมะหยี่ปักทองผืนใหญ่คลุมหลังลงมาจนเกือบจึงดิน ผูกสัปคับโถงหุ้มเงิน มีที่นั่งสองตอนบนนั้น หน้าช้างมีผ้ากำมะหยี่ปักทองปกกะพอง และใส่ปลอกงากาไหล่ทองเป็นปล้องๆ ทั้งสองข้าง มีคนแต่งเครื่องแบบขี่คอช้าง มือถือแส้จามร (คือแส้หางจามรี) คอยโบกปัดแมลงวันคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งนั่งบนสัปคับตอนหลังถือร่มระย้ากั้นฉัน (คือว่ากั้นฉัตร) นอกจากนั้นมีช้างพลายพังผูกสัปคับอย่างสามัญสำหรับรับพวกบริพารอีกหลายตัว มีขบวนคนแห่ล้วนแต่งเครื่องแบบขี่ม้านำคู่หนึ่ง ต่อมาเป็นคู่แห่ถือหอกเดินแซงสองข้าง ทางแต่ท่าเรือไปถึงวังรามนคร ประมาณราวแต่ท่าพระเข้าไปถึงในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เมื่อแห่ไปถึงวัง พระมหาราชาคอยรับอยู่ที่ประตูตำหนัก พาเดินขึ้นไปยังห้องรับแขก น่าเรียกว่าท้องพระโรงแต่อยู่ชั้นบน ในนั้นตั้งเก้าอี้แถวยาวเรียงเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกตรงกลางเป็นเก้าอี้หุ้มทองคำ ๒ ตัว ให้ฉันนั่งตัวข้างขวา มหาราชานั่งตัวข้างซ้าย ต่อออกไปเป็นเก้าอี้หุ้มเงินฝ่ายละสัก ๓ ตัว แล้วเป็นเก้าอี้ไม้ตลอดไป จัดให้พวกที่ไปกับฉันทั้งไทยและฝรั่งนั่งทางฝ่ายขวา พวกญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์ของมหาราชานั่งทางข้างฝ่ายซ้าย พอนั่งกันเรียบร้อยแล้วมีคนถือถาดใส่พวงมาลัยทำดัวยตาดและโหมด ออกมาส่งมหาราชา มหาราชาหยิบพวงมาลาตาดพวงหนึ่งมาคล้องคอให้ฉัน เจ้าน้องชายคล้องมาลาโหมดให้คนอื่นที่ไปด้วยต่อไป แล้วนั่งสนทนาปราศรัยกันเฉพาะมหาราชากับตัวฉัน คนอื่นเป็นแต่นั่งนิ่งอยู่ มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องไม่ต้องมีล่าม วันนั้นแต่งองค์ทรงเครื่องเยียรบับ โพกผ้ามีเพชรพลอยประดับเหน็บกริชฝักทองที่เอว บอกฉันว่าเคยเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสด็จไปเวลาเธอยังเป็นเด็ก ได้รับพระราชทานกริชเล่มนั้นไว้เป็นที่ระลึก สนทนากันไปสักครู่หนึ่ง พวกพิณพาทย์ก็ออกมานั่งตั้งวงที่ตรงหน้า เริ่มบรรเลงเพลงดนตรี แล้วมีหญิงสาวเป็นนางนัจจะ (Nautch Girl) คนหนึ่งออกมาฟ้อนรำเข้ากับจังหวะพิณพาทย์ ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ ดังจะพรรณนาที่อื่นต่อไปข้างหน้า มีการฟ้อนรำอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วนางนัจจะกับพวกพิณพาทย์ก็กลับไป เป็นหมดพิธีเพียงเท่านั้น กลับมายังที่พักโดยขบวนเหมือนอย่างเมื่อขาไป

ชื่อที่เรียกวังว่า รามนคร นั้น สังเกตในหนังสือเก่าดูยุติต้องกันกับคำของพวกพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งว่าบรรพบุรุษบอกเล่ากันสืบมา ว่าพราหมณ์พวกโหรดาจารย์ที่เมืองพัทลุง เดิมอยู่เมืองพาราณสี และพวกพราหมณ์พิธีที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเดิมอยู่เมืองรามนครดังนี้ จึงสันนิษฐานว่าเดิมจะเป็นชื่อบริเวณราชธานี อย่างเช่นเราเรียกว่า “พระนคร” ในกรุงเทพฯ คำพาราณสีเป็นชื่อเรียกจังหวัด อย่างเราเรียกว่า “จังหวัดกรุงเทพฯ” และยังมีคำอื่นสำหรับเรียกรวมทั้งอาณาเขตอีกคำหนึ่งว่า “กาสี” แม้ในพระบาลีก็มีมาแต่โบราณ พวกแขกยามในกรุงเทพฯ ยังบอกว่าพวกของตนเป็นชาวกาสี อันรวมอาณาเขตกับเมืองพาราณสี ดังนี้ ตัววังรามนครนั้นเห็นจะสร้างมาช้านานหลายร้อยปี เป็นแบบวังอย่างโบราณ มีพร้อมด้วยป้อมปราการอยู่ในตัว ล้วนก่อด้วยศิลาทำนองเดียวกับวังโบราณที่เมืองประเทศราชอื่น ซี่งสร้างแต่ครั้งบ้านเมืองยังเป็นอิสระมีอีกหลายแห่ง เมื่อกลับมาจากรามนครในบ่ายวันนั้น เขาพาฉันไปที่มฤคทายวัน อันเป็นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชาวเมืองเรียกว่าตำบลสารนาถ (Sarnath) อยู่ห่างแม่นํ้าคงคาราวสัก ๑๕๐ เส้น แต่เรื่องมฤคทายวันจะรอไว้พรรณนาในนิทานเรื่องหนึ่งต่างหาก รวมกับเรื่องไปไหว้พระ ณ ที่แห่งอื่นๆ ในอินเดีย

วันที่สามซี่งฉันอยู่ ณ เมืองพาราณสี เขาพาไปดูพวกฮินดูลอยบาปในแม่น้ำคงคา อันเป็นที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าไม่มีที่ไหนน่าดูเหมือนที่เมืองพาราณสี มหาราชาให้เรือที่นั่งมารับเหมือนเมื่อวันก่อน ต้องไปแต่พอรุ่งเช้ายังไม่ทันแดดแข็ง ลงเรือพายผ่านไปริมฝั่งทางข้างเหนือ วันนั้นฝีพายไม่ขานยาวเหมือนวันก่อน เห็นจะเป็นเพราะเพียงแต่ขึ้นล่องในแม่น้ำคงคาไม่ได้ข้ามฟาก ที่สำหรับพวกฮินดูลอยบาป อยู่ริมแม่นํ้าคงคาทางฝั่งตะวันตกตลอดคุ้งนํ้ายาวกว่า ๗๐ เส้น มีท่าทำเป็นขั้นบันไดหินสำหรับคนลงนํ้าเรียกว่า ฆัต (Ghat) ติดต่อกันไปราว ๓๐ ท่า แต่ละท่าที่ริมน้ำมีสะพานไม้สำหรับคนลงนํ้า ต่อขึ้นไปเป็นชานมีพราหมณ์นั่งในร่มอันใหญ่คันปักดิน คอยรับทักขิณาทานช่วยชําระบาปและอวยพรแก่พวกสัปบุรุษ รายกันไปแห่งละหลายคนทุกท่า ต่อท่าขึ้นไปถึงเขื่อนขั้นบันไดทางขึ้นไปบนตลิ่ง ที่บนตลิ่งมีถนนผ่านหน้าเทวสถาน สร้างติดๆ กันไป เห็นยอดปรางค์สลอน มีหอสูงวัดของพวกอิสลามคั่นบ้าง และมีสระนํ้าสำหรับทำพิธีพลีกรรมตามเทวสถานเป็นแห่งๆ แลดูตั้งแต่เขื่อนลงมาจนริมน้ำ เห็นพวกฮินดูล้วนนุ่งห่มผ้าขาวนับด้วยหมื่น ไปมาราวกับฝูงมด อยู่ในน้ำก็มีอยู่บนบกก็มี จะหาที่ว่างคนแทบไม่ได้ เห็นเข้าก็ติดตาน่าพิศวงด้วยไม่มีที่ไหนเหมือน จึงเป็นที่เลื่องลือ แต่ประหลาดอย่างยิ่งนั้นที่มีลานสำหรับเผาศพอยู่ติดๆ กับท่าอาบน้ำหลายแห่ง ตั้งแต่เช้าก็เผาศพควันขึ้นกรุ่นอยู่เสมอ บางแห่งเมื่อผ่านไปเห็นกำลังหามศพห่อผ้าขาวลงบันไดมาก็มี ที่กองฟืนเรียงไว้ในลานสำหรับวางศพเผาบนนั้นก็มี บางแห่งกำลังเผาศพอยู่ก็มี ดูพวกคนลอยบาปที่ลงอาบน้ำใกล้ๆ ไม่มีใครรังเกียจ ประเพณีของพวกฮินดูเอาศพไว้แต่ ๒ วันก็เผา เขาบอกว่าเมื่อเผาแล้วกวาดทั้งอัฐิธาตุและอังคารถ่านเถ้า ทิ้งลงแม่น้ำคงคงหมด แต่ศพเด็กทารกไม่เผา เอาห่อศพผูกกับคอหม้อถ่วงทิ้งให้จมไปในแม่น้ำคงคาทีเดียว พวกอังกฤษกระซิบบอกฉันตั้งแต่วันไปถึง ว่าฝรั่งที่อยู่ในเมืองพาราณสีไม่มีใครกินปลาสดที่เมืองนั้น ด้วยรังเกียจการเผาศพพวกฮินดู ว่าบางทีเป็นศพที่ไม่มีญาติควบคุม สับปะเหร่อเผาไม่ทันไหม้หมด ก็ทิ้งลงน้ำด้วยมักง่าย ฉันก็ไม่ได้กินปลาตลอดเวลาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสี

แต่นี้จะเล่าถึงที่ฉันได้ความรู้แปลกๆ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งน่าจะเนื่องกับประเพณีโบราณของไทยเราต่อไป

ย่ำยาม

เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกันและพวกข้าราชการอังกฤษยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องระฆังย่ำยามในเมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจจึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้น ว่าตีฆ้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นสัญญาณเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม” พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า “อ้อ” เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามในเมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖ นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน เวลาค่ำ (๑๘ นาฬิกา) และเวลากลางคืนยาม ๑(๒๑ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน เวลา ๓ ยาม(๓ นาฬิกา) ก็ตีย่ำ ทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี แม้คำที่ไทยเราพูดก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้าว่า “ย่ำรุ่ง” เรียกเวลาเที่ยงวันว่า “ย่ำเที่ยง” และเรียกเวลา ๑๘ นาฬิกาว่า “ย่ำค่ำ” คำที่พูดว่า “ย่ำ” คงมาจากย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่เคยคิดมาแต่ก่อนว่าเพราะเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันที ว่าย่ำเป็นสัญญาณเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นได้ว่าประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา แต่กลางคืนผลัดระยะ ๓ ชั่วนาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระฆังแล้วมีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตีมโหระทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลามีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนางผู้ใหญ่ บรรดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับย่ำฆ้องระฆังยาม ทั้งกลางวันกลางคืน อาการประกอบกันให้เห็นว่าการย่ำฆ้องระฆัง เป็นสัญญาณเรียกคนให้มาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาณบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่ได้เข้าประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคมพระศพในเมืองไทย เห็นว่าเป็นดังกล่าวมา และอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์

ทุ่มโมง

จะเลยเล่าแถมถึงประเพณีตีบอกเวลาในเมืองพม่า ซึ่งฉันได้ไปรู้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ในพระราชวังเมืองมัณฑเลย์มีหอนาฬิกาหลังหนึ่ง เป็นหอสูงข้างล่างมีห้องสำหรับไว้นาฬิกา ข้างบนเป็นหอโถงสำหรับแขวนกลองกับฆ้องที่ตีบอกเวลา เขาว่าเคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานีในเมืองพม่าแต่ก่อนมา ฉันถามเขาว่าฆ้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้น ตีต่างกันอย่างไร ไม่มีใครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพณีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ฉันนึกจับหลักได้ว่าฆ้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน หลักนั้นอยู่ในคำพูดของไทยเราเอง ที่เรียกเวลาตอนกลางวันว่า “โมง” เช่นว่า ๔ โมง ๕ โมง แต่ตอนเวลากลางคืนเรียกว่า “ทุ่ม” เช่นว่า ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม คำโมงกับทุ่มมาแต่เสียงฆ้องและกลองนั่นเอง ในเมืองไทยแต่โบราณก็เห็นจะใช้ทั้งฆ้องและกลองตีบอกเวลา อย่างเดียวกันกับในเมืองพม่า

ขานยาว

ได้เล่ามาแล้ว ว่าเมื่อฉันลงเรือที่นั่งของมหาราชาพาราณสี ข้ามแม่น้ำคงคา บ่อโทนฝีพายขานรับคำบูชาพระรามและพลฝีพายขานรับ ดูเป็นเค้าเดียวกับขานยาวพายเรือพระที่นั่งในเมืองไทย แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญที่ขานยาวของชาวอินเดียขานเป็นภาษาสันสกฤต และมีความเป็นคำบูชาพระราม แต่ขานยาวของไทยเรามีแต่บ่อโทนขานว่า “เหยอว” ฝีพายก็รับว่า “เย่อว” ไม่เป็นภาษาใด จะหมายความว่ากระไรก็แปลไม่ได้ จึงน่าสันนิษฐานว่า พราหมณ์เห็นจะเอาแบบขานยาวในอินเดียมาสอนไว้แต่โบราณ เดิมก็คงจะเป็นมนตร์ภาษาสันสกฤต มีความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไทยเราไม่รู้ภาษานั้น จำคำได้แต่โดยเสียง นานมาก็แปรไป เช่นเดียวกันกับครูอังกฤษมาสอนให้บอกทหารว่า “โชละเดออามส์” (Shoulder Arms) ทหารไทยบอกว่า “โสลด หับ” ฉันนั้น แล้วเลือนหนักลงคงเหลือแต่ว่า “เหยอว-เย่อว” คำขานยาวจึงไม่รู้ว่าภาษาใดและหมายความว่ากระไร แต่เห่เรือเป็นประเพณีของไทยมิใช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกัน ข้อนี้พึงเห็นได้ในบทช้าละวะเห่ เป็นภาษาไทยเก่ามาก คงมีเห่บทอื่นที่เก่าปานนั้นอีก แต่คนชั้นหลังมาชอบใช้บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระนิพนธ์เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นต้นว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” และบทที่ว่า “พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์” เป็นต้น บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ช้าละวะเห่ อันคงใช้เห่เพียงในเวลาเมื่อเรือพระที่นั่งจะถึงท่า การเห่เรือพระที่นั่งนั้น สังเกตตามประเพณีในชั้นหลัง เห่แต่เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา ซึ่งชวนให้เห็นว่าเห็นจะใช้เวลาไปทางไกล เช่นยกขบวนทัพ เพื่อให้พลพายรื่นเริง ถ้ามิใช่พยุหยาตรา เป็นแต่ขานยาว ทำนองเห่ก็เป็น ๓ อย่างต่างกัน ถ้าพายจังหวะช้า เห่ทำนองอย่างหนึ่งเรียกว่า มูลเห่ มีต้นบทว่านำวรรคหนึ่ง ฝีพายว่าตามวรรคหนึ่ง ถ้าพายจังหวะเร็วขึ้นเป็นอย่างกลาง เรียกว่า สวะเห่ ต้นบทว่าเนื้อความฝีพายเป็นแต่รับว่า “ฮ้าไฮ้” เมื่อสิ้นวรรคต้น และรับว่า “เหเฮฯ” เมื่อสิ้นวรรคปลาย ยังมีคำสำหรับเห่เมื่อพายจ้ำเช่นว่าแข่งเรือ ต้นบทว่า “อีเยอวเยอว” ฝีพายรับว่า “เย่อว” คำคล้ายกับที่ใช้ขานยาว ดูชอบกล

ลักษณะรับแขกเมือง

เมื่อฉันไปเห็นลักษณะที่มหาราชาพาราณสีรับฉัน ที่วังรามนครดังพรรณนามาแล้ว กลับมานึกถึงความในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อทศกัณฐ์รับเจ้าเมืองยักษ์ที่เป็นมิตรสหาย ไม่ปรากฏว่ามเหสีเทวีออกมาพบแขก เป็นแต่ทศกัณฐ์เชิญแขกนั่งร่วมราชอาสน์ สนทนาปราศรัยแล้วมีนางกำนัลเชิญเครื่องออกมาตั้งเสวยด้วยกัน และในเวลาเสวยนั้นมีนางรำออกฟ้อนรำให้ทอดพระเนตร ทศกัณฐ์รับพระยายักษ์แขกเมืองทีไรก็รับอย่างนั้นทุกคราว ประเพณีในอินเดีย แม้ในปัจจุบันนี้มเหสีเทวีก็ไม่ออกรับแขก ที่ตั้งเก้าอี้หุ้มทองคำให้ฉันนั่งเคียงกับพระมหาราชา ก็อนุโลมมาจากนั่งร่วมอาสน์ ที่มีนางนัจจะออกมาฟ้อนรำก็ตรงตามแบบโบราณ ขาดแต่ไม่มีการเลี้ยง เพราะเลี้ยงไม่ได้ด้วยต่างศาสนากัน ดูแบบรับแขกเมืองอย่างทศกัณฐ์ยังคงใช้อยู่ในอินเดีย ต่อมาภายหลังอีกหลายปี ฉันตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปประเทศชวา พวกชวาแต่โบราณได้แบบอย่างขนบธรรมเนียมจากชาวอินเดียเหมือนกับไทยเรา เมื่อสุลต่านเจ้าประเทศราชเมืองยกยารับเสด็จก็ดี สุสุหุนันเจ้าเมืองโซโลรับเสด็จก็ดี ก็ตั้งเก้าอี้รับเสด็จเป็นแถวและมีนางรำออกมาฟ้อนรำ ผิดกันกับในอินเดียแต่เจ้าผู้หญิงชวาออกรับแขก และเลี้ยงเครื่องว่างในเวลาทอดพระเนตรนางรำ เห็นได้ว่าพวกชวายังรับแขกเมืองตามแบบที่ได้ไปจากอินเดียแต่โบราณ มาพิจารณาดูประเพณีรับแขกเมืองในเมืองไทยแต่โบราณ จะเทียบกับที่ฉันได้เห็นในอินเดียและชวาไม่ได้ ด้วยไม่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเคยมีแขกเมืองที่มีศักดิ์จะนั่งร่วมอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ครั้งนั้นเป็นข้าศึกกัน นอกจากนั้นแขกเมืองเคยมีเพียงเจ้าประเทศราชกับราชทูต ก็รู้ไม่ได้ว่าประเพณีที่รับแขกเมืองนั่งร่วมอาสน์ เสวยด้วยกัน และให้นางรำบำเรอ จะเคยมีในเมืองไทยหรือไม่

ลอยบาป

ในหนังสือไทยมีกล่าวถึงพิธีลอยบาปของพวกพราหมณ์หลายเรื่อง ฉันเข้าใจมาแต่ก่อนว่าคงทำวัตถุเครื่องบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่ายมนตร์สมมตว่าปล่อยบาปลงในวัตถุนั้น แล้วเอาไปลอยน้ำเสีย เหมือนอย่างลอยกระทงกลางเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ต่อเมื่อไปเห็นที่เมืองพาราณสีจึงรู้ว่าการลอยบาปไม่เป็นเช่นเคยเข้าใจเลย ตามอธิบายในหนังสือนำทางว่า เพราะเมืองพาราณสีเคยเป็นราชธานีเดิมของมัชฌิมประเทศ ศาสนาใดๆ ที่เกิดขึ้นในอินเดีย แม้จนพระพุทธศาสนาก็เร่ิมตั้งที่เมืองพาราณสี จึงนับถือกันว่าเมืองพาราณสีเป็นอย่างอู่ของศาสนาฮินดูสืบมาจนบัดนี้ ถึงกล่าวกันว่าถ้าใครได้ไปทำบุญที่เมืองพาราณสีครั้งหนึ่ง ก็มีอานิสงส์เท่ากับได้ไปทำบุญที่อื่นทุกแห่งหมดในอินเดีย ดังนี้ พวกฮินดูชาวอินเดียถึงจะอยู่ในแว่นแคว้นแดนอันใด ย่อมนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสี อุตส่าห์พากันเดินทางไปทำพิธีพลีกรรมมีจำนวนนับตั้งล้านคนทุกปี โดยเชื่อเหมือนอย่างว่าเมืองพาราณสีอยู่ปากทางลัด ที่จะตัดตรงไปเทวโลกได้แน่นอน ลักษณะการพิธีที่ตรงกับเราเรียกว่า “ลอยบาป” นั้น ตั้งต้นผู้จะลอยบาปต้องเดินประทักษิณรอบเมืองพาราณสี และบูชาตามเทวสถานต่างๆ ในระยะทางราว ๑,๘๐๐ เส้น เป็นเวลาราว ๖ วัน แล้วลงไปยัง “ฆัต” คือท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ตลิ่งริมน้ำมีพราหมณ์นั่งคอยสอนมนตร์ให้บริกรรม เมื่อเรียนมนตร์แล้วจึงลงในแม่น้ำคงคา กินน้ำและดำหัวล้างบาปให้ลอยไปกับสายน้ำ แล้วจึงขึ้นไปรับพรต่อพราหมณ์เป็นเสร็จพิธี ที่พรรณนานี้ว่าตามฉันเข้าใจความในหนังสือ ไม่ได้มีโอกาสไถ่ถามพวกพราหมณ์ในที่นั้น อาจเข้าใจผิดบ้างก็เป็นได้.

ปลงศพ

นอกจากลอยบาป พวกฮินดูยังนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือว่าถ้าใครตายที่เมืองพาราณสี หรือแม้ปลงศพที่นั่น จะได้ไปสู่เทวโลกเป็นแน่แท้ ถึงมีเศรษฐีฮินดูบางคนไปซื้อหาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสีเมื่อแก่ชรา เพื่อจะไปตายที่นั่น ที่เผาศพที่ริมท่าน้ำก็ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน มีท่าหนึ่งชื่อ “มณีกรรณิกา” ว่าเป็นศักดิ์สิทธิ์กว่าเพื่อน ใครๆ ก็อยากให้เผาศพตนที่ท่านั้น คงเป็นเพราะเกิดลำบากด้วยชิงจองท่าและกำหนดเวลาเผาศพพ้องกัน รัฐบาลจึงตั้งข้อบังคับให้ผู้จะเผาศพขออนุญาต เพื่อจดลงทะเบียนท่าและเวลาที่จะเผาไว้ก่อน และให้มีนักการคอยดูแลให้เป็นไปตามทะเบียนนั้น ข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองพาราณสีเขาเล่าให้ฉันฟังว่า บางทีนายทะเบียนต้องถูกปลุกขึ้นรับโทรศัพท์ในเวลาดึก บอกเป็นคำของเศรษฐีคนใดคนหนึ่งว่า “ฉันจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว ขอให้ช่วยสงเคราะห์ให้ได้เผาที่ท่ามณีกรรณิกาเวลาพรุ่งนี้” เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าพวกฮินดูเชื่อถือศาสนามั่นคงเพียงใด พวกฮินดูเชื่อว่าพระอัคนีสามารถจะทำสิ่งทั้งปวงให้บริสุทธิ์สะอาด หรือว่าอีกนัยหนึ่ง บรรดาสิ่งโสโครกทั้งปวง ถ้าเผาไฟแล้วก็กลับเป็นของสะอาดหมด เช่นมูตรคูถของโค ถ้าเผาแล้วก็อาจจะบริโภคและใช้เป็นเครื่องจุนเจิมได้ เพราะฉะนั้นการเผาศพที่ท่าแล้วทิ้งอัฐิธาตุลงในแม่น้ำคงคา พวกที่ลอยบาปอาบน้ำกินน้ำอยู่ใกล้จึงไม่รังเกียจ เพราะถือว่าเป็นของสะอาดแล้ว

ประเพณีเผาศพชาวอินเดียที่ฉันได้รู้เห็น ณ เมืองพาราณสีมีเหมือนกับประเพณีไทยแต่ที่ทิ้งธาตุลงน้ำ กับที่ขนันศพทารกทิ้งลงน้ำ ตามประเพณีโบราณอินเดีย ศพย่อมเผาทั้งนั้น ต่างกันแต่พวกถือพระพุทธศาสนา เผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุฝังและก่อกองดิน หรือกองหินไว้ตรงที่ฝัง เรียกว่า “สถูป” แต่พวกถือศาสนาฮินดูทิ้งอัฐิธาตุลงน้ำ ไทยเราถือพระพุทธศาสนาเป็นพื้นเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นต่ำก็เป็นแต่ฝังอัฐิธาตุ หรือเอาไปกองทิ้งไว้ที่โคนต้นโพธิ แต่พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทรงถือประเพณีของพวกพราหมณ์ด้วย จึงรับคติการถ่วงธาตุมาใช้ในประเพณีพระบรมศพและพระศพเจ้านายทำทั้งสองทาง ส่วนพระอัฐิบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามทางพระพุทธศาสนา ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ เชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำ ตามทางศาสนาฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อรัชกาลที่ ๕ ประเพณีขนันศพทารกทิ้งน้ำนั้น ไทยเราเอาศพใส่ลงในหม้อ ไม่ผูกกับคอหม้อเหมือนในอินเดีย แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกแล้ว เปลี่ยนเป็นฝังให้สูญไปทีเดียว

ความรู้ที่ฉันได้จากเมืองพาราณสี มีพ้องกับเมืองไทยบางอย่างดังได้พรรณนามา ฉันพักอยู่เมืองพาราณสี ๓ วัน แล้วขึ้นรถไฟไปเมืองพุทธคยา ซึ่งจะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป.

นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย



 

นิทานที่ ๕ เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้แทนพระองค์ ไปเยี่ยมตอบแกรนด์ดุ๊กซาเรวิตช รัชทายาทประเทศรัสเซีย (ต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒) ซึ่งได้เข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นศกนั้น และโปรดให้ไปยังราชสำนักอื่นๆ ในยุโรป เพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระเจ้าแผ่นดินบ้าง เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีบ้าง อีกหลายประเทศคือ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี กรีซ และอิตาลี รวมเป็น ๘ แห่งด้วยกัน ในสมัยนั้นตัวฉันรับราชการเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะโปรดให้สถาปนาเป็นกระทรวงเสนาบดี เมื่อฉันไปยุโรปจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปว่า ขากลับจะอ้อมมาทางประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น หรือจะกลับผ่านมาทางประเทศอียิปต์และอินเดียเพื่อตรวจตราหาความรู้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองก็ได้ เมื่อฉันไปถึงลอนดอนจึงปรึกษาพวกที่เขาเคยชำนาญการเที่ยวเตร่ ว่าจะกลับทางไหนดี เขาว่าฉันยังจะต้องไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรปอีกหลายแห่ง กว่าจะเสร็จธุระจะตกถึงปลายเดือนธันวาคม ไปอเมริกาในเวลานั้นเป็นฤดูหนาว ที่ในอเมริกาหนาวจัดนัก เกรงฉันจะทนไม่ไหว กลับทางอียิปต์และอินเดียดีกว่า เพราะเป็นเวลาสบเหมาะกับฤดูสำหรับเที่ยวทางนั้น เขาบอกอย่างเดียวกันหลายคน ฉันก็ลงความเห็นเป็นยุติว่าจะกลับทางอียิปต์และอินเดีย แต่เมื่อไถ่ถามผู้ที่ชำนาญทางอินเดีย ได้ความแปลกออกไปอย่างหนึ่งว่า การเที่ยวอินเดียในสมัยนั้นผิดกับเที่ยวในยุโรปเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง เป็นต้นว่าเที่ยวในยุโรป ถ้ามีเงินพอใช้ไปถึงไหนก็หาพาหนะและที่กินอยู่ได้ง่าย แต่ในอินเดียมีโฮเต็ลแต่ในเมืองใหญ่ แม้โฮเต็ลเหล่านั้นก็ไม่สะอาดสะอ้าน และต้องอยู่ปะปนกับผู้คนชั้นต่ำสำส่อน ไม่สบายเหมือนโฮเต็ลในยุโรป พวกชั้นผู้ดีที่ไปอินเดีย ถ้าเป็นข้าราชการก็ไปอยู่กับพวกข้าราชการด้วยกัน ถ้ามิใช่ข้าราชการเขาก็มักไปพักอยู่กับญาติและมิตรที่มีบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง มิใคร่มีใครไปอยู่โฮเต็ล อีกประการหนึ่ง เวลาออกจากเมืองใหญ่ไปเที่ยวตามเมืองน้อย ถ้าไม่ได้รับความสงเคราะห์ของรัฐบาลก็ลำบาก เพราะไม่มีที่พัก นอกจากเป็นของรัฐบาล เมื่อทราบดังนี้ก็ออกวิตก ยังมิรู้ที่จะแก้ไขด้วยประการใดดี เผอิญสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย โปรดให้ฉันขึ้นไปเฝ้าที่พระราชวังแบลมอรัลในสก๊อตแลนด์ ทรงเลี้ยงกลางวันพระราชทานพร้อมกับพระราชโอรสธิดา เมื่อเสวยเสร็จ ควีนเสด็จขึ้นแล้ว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (เวลานั้นยังเป็นปรินซ์ออฟเวลส์รัชทายาท) ตรัสชวนให้ไปกินกาแฟและสูบบุหรี่ในห้องที่ประทับของพระองค์ท่าน เมื่อทรงสนทนาปราศรัยตรัสถามฉันว่าจะทรงทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ฉันได้บ้าง ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่จะไปอียิปต์และอินเดีย จึงทูลว่ามีการอย่างหนึ่งถ้าโปรดทรงสงเคราะห์ได้ จะเป็นประโยชน์แก่ฉันมาก ด้วยขากลับบ้านเมือง ฉันอยากจะแวะดูประเทศอียิปต์และอินเดีย แต่ไม่รู้จักกับใคร ถ้าโปรดตรัสแก่รัฐบาลให้ช่วยสงเคราะห์พออย่าให้มีความลำบาก เมื่อไปถึงประเทศนั้นๆ จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ท่านตรัสรับว่าจะจัดประทานตามประสงค์ ฉันขอบพระหฤทัยและทูลลามา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ทรงทำอย่างไรฉันไม่ทราบ แต่เมื่อใกล้เวลาที่ฉันจะออกจากยุโรป กระทรวงการต่างประเทศถามมายังสถานทูตไทยว่า กำหนดฉันจะไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรียท่าขึ้นประเทศอียิปต์วันใด ได้ทราบก็แน่ใจว่ารัฐบาลอังกฤษคงสงเคราะห์ตามกระแสรับสั่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗

เมื่อเสร็จราชการในยุโรปแล้ว ฉันลงเรือที่เมืองบรินดีสี ประเทศอิตาลี พอเรือไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรีย กงสุลเยเนราล อังกฤษที่เมืองนั้นลงมารับที่ในเรือ แล้วพาไปส่งสถานีรถไฟขึ้นรถไฟไปถึงเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอ (ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอียิปต์) เวลานั้นยังเป็นเซอร์เอเวลิน แบริง มาคอยรับอยู่ที่สถานีรถไฟ พาขึ้นรถไปส่งที่โฮเต็ลเชปเหิดส์ อันเป็นโฮเต็ลใหญ่ที่สำนักของพวกผู้ดีที่ไปเที่ยวอียิปต์ เมื่อถึงโฮเต็ลแล้วจึงได้ทราบความอย่างประหลาดใจ ว่าพระเจ้าติวฟิกซึ่งเป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ (คงได้ทราบจากลอร์ดโครเมอ) โปรดให้รับเป็นแขกเมือง มีราชองครักษ์คนหนึ่งมาอยู่ประจำกับฉัน เวลาจะไปไหนๆ ก็มียานของหลวงจัดมาให้ใช้ ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ ใช้รถเทียมม้าคู่มีคนถือแส้วิ่งนำหน้ากันคน ๒ ข้าง ถ้าไปเที่ยวทางทะเลทราย เช่นไปดูเจดีย์พีระมิด ก็จัดอูฐระหว่างในผูกเครื่องอานกาไหล่ทองและกำมะหยี่ปักไหมทองมาให้ขี่ ทั้งมีการเลี้ยงอย่างใหญ่ประทานที่ในวัง เสร็จเลี้ยงพาไปดูละครออปะราด้วยครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายอังกฤษ ลอร์ดโครเมอก็มีการเลี้ยง และผู้บัญชาการทหารก็พาไปดูทหารซ้อมรบ ทั้งได้ไปดูวัตถุสถานของโบราณที่สำคัญแทบทุกแห่ง ฉันพักอยู่ที่เมืองไคโร ๔ วัน (ได้พบเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส์ ดังเล่าเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า) ออกจากเมืองไคโร ขึ้นรถไฟไปลงเรือที่เมืองอิสไมเลีย แล่นต่อมาในคลองสุเอซจนออกทะเลแดงทางมาอินเดีย พอลงเรือเมล์ถึงบอมเบย์ ก็มีข้าราชการอังกฤษ ๒ คนคุมเรือของเจ้าเมืองออกมารับ คนหนึ่งเป็นนายพันตรี ชื่อเฮส์ แสดเลอ มาบอกว่า ลอร์ดแลนสดาวน์ ผู้เป็นอุปราช (ไวสรอย) ครองอินเดียให้มาเชิญฉันเป็นแขกของรัฐบาลตลอดเวลาที่อยู่ในอินเดีย และให้ตัวเขาเป็นผู้มาอยู่ประจำด้วย อีกคนหนึ่งจะเป็นตำแหน่งอะไรในสำนักเจ้าเมืองบอมเบย์ และชื่อไร ฉันลืมไปเสียแล้ว มาบอกว่าลอร์ดแฮริส เจ้าเมืองบอมเบย์ให้เอาเรือมารับ และขอเชิญไปพักอยู่ ณ จวนเจ้าเมือง ตลอดเวลาที่ฉันอยู่เมืองบอมเบย์ ได้ฟังก็ยิ่งประหลาดใจ ด้วยเดิมประสงค์แต่เพียงจะให้รัฐบาลอินเดียช่วยสงเคราะห์พอมิให้มีความลำบาก แต่จะเที่ยวในอินเดียด้วยทุนของตนเอง มากลายเป็นรับอย่างแขกเมืองซึ่งรัฐบาลเลี้ยงดูให้อยู่กิน และจัดพาหนะให้เที่ยวเตร่ทุกอย่างหมด ก็ต้องขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ กับทั้งรัฐบาลอังกฤษยิ่งขึ้น พอลงเรือหลวงมาถึงท่าขึ้นบก ปืนใหญ่ยิงสลุตรับ ๒๑ นัด แล้วขึ้นรถมีทหารม้าแซงทั้งสองข้างแห่ไปยังบ้านเจ้าเมือง อันอยู่ริมชายทะเลที่ปลายแหลม พบลอร์ดแฮริสกับภรรยาคอยรับอยู่ที่นั่น เมื่อถึงบ้านเจ้าเมืองแล้วทราบความต่อไปอีก ว่ารัฐบาลอินเดียได้คิดกะโปรแกรมที่ฉันจะเที่ยวในอินเดียไว้ให้ และได้บอกไปตามท้องที่ให้ทราบล่วงหน้าแล้ว พอฉันถึงเมืองบอมเบย์ก็ได้รับโทรเลขของเจ้าประเทศราชหลายองค์ คือมหาราชาไนสัม ผู้ครองนครไฮเดอราบัดองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครบาโรดาองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครชัยปุระ (เรียกว่าไชปัว) องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครเบนารีส (คือเมืองพาราณสี) องค์หนึ่ง ล้วนเชิญให้เป็นแขกเมืองเมื่อฉันไปประเทศนั้นๆ ต้องมีโทรเลขตอบรับและขอบพระทัยไปตั้งแต่ยังไม่รู้จักกันทุกพระองค์ ระยะทางที่รัฐบาลอินเดียกะให้ฉันเที่ยวครั้งนั้น ออกจากเมืองบอมเบย์ไปเมืองไฮเดอราบัด ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายใต้ก่อน กลับจากเมืองไฮเดอราบัดย้อนทางมาข้างเหนือ ผ่านเมืองบอมเบย์ขึ้นไปเมืองบาโรดา เมืองประยาคะแต่โบราณ เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอะมะดะบัด เมืองชัยปุระ ภูเขาอาบูที่มีวัดในศาสนาเชน (ชินะ) ทำงามมาก เมืองเดลี เมืองอัคระ เมืองพาราณสี เมืองคยา แต่แรกเขาไม่ได้กะจะให้ไปเมืองพุทธคยา เพราะไม่มีที่พัก แต่ฉันอยากจะไป ด้วยประสงค์จะไปบูชาเจดียสถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เขาจึงเพิ่มลงในโปรแกรม ออกจากเมืองคยาไปเมืองกัลกัตตาแล้วไปเมืองดาร์จีลิ่ง (อันตั้งอยู่บนภูเขาหิมาลัย) แล้วกลับมาลงเรือที่เมืองกัลกัตตา มายังเมืองย่างกุ้ง เป็นที่สุดเขตประเทศอินเดียเพียงนั้น ฉันเที่ยวอยู่ในอินเดียเดือนครึ่ง ตอนออกจากเมืองย่างกุ้งลงเรือ “เศรษฐี” ของห้างโกหงวน (สกุล ณ ระนอง) จัดไปรับกลับมาขึ้นที่เมืองระนอง เดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงซึ่งออกไปรับ ณ เมืองชุมพร กลับมากรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่รัฐบาลอินเดียต้อนรับอย่างเป็นแขกเมืองครั้งนั้น เป็นเหตุที่ฉันได้เห็นอะไรแปลกๆ ในอินเดีย ผิดกับคนท่องเที่ยวสามัญหลายอย่าง โดยเฉพาะตามเมืองที่เป็นประเทศราช ด้วยเจ้าผู้ครองมักให้มีการต่างๆ อันนับว่าเป็นของควรอวดในเมืองนั้นให้ฉันดู หรือว่าอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็ทำนองเดียวกับไทยเรารับเจ้าต่างประเทศนั้นเอง แต่จะเขียนเล่าทุกอย่างไปยืดยาวนัก จะพรรณนาว่าแต่ด้วยเห็นของแปลกซึ่งพ้องกับของที่มีในเมืองไทยเรา โดยได้แบบแผนมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ อันเป็นคติในทางโบราณคดี

ชนช้าง

ที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) มหาราชาให้มีการชนช้างให้ฉันดูที่ในวัง ราชวังของมหาราชาชัยปุระนั้นใหญ่โตมาก มีประตูทางเข้าหลายทาง มนเทียรที่ประทับ ที่ทำพิธี และที่ประพาส ตลอดจนโรงช้างต้นม้าต้น และสนามที่ฝึกหัดช้างม้า อยู่ในบริเวณราชวังทั้งนั้น วันแรกฉันไปเฝ้ามหาราชาเข้าทางประตูหนึ่งไปยังที่ท้องพระโรง มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษคล่องไม่ต้องมีล่าม แต่ต้อนรับตามประเพณีฝรั่ง วันรุ่งขึ้นก็ไปดูชนช้าง เข้าวังทางประตูอื่น ลงจากรถก็ถึงที่บันไดเชิงเทินก่อถมดิน เหมือนอย่างเชิงเทินที่เพนียดคล้องช้าง ณ พระนครศรีอยุธยา เดินไปตามทางบนเชิงเทินนั้น ดูข้างด้านในเป็นที่เลี้ยงช้างทั้งนั้น ช้างอยู่ในโรงยาวก็มี อยู่ในคอกเฉพาะตัวก็มี เห็นช้างตัวหนึ่งอยู่ในคอกมีโซ่ล่ามทั้ง ๔ เท้า แยกปลายโซ่ไปผูกไว้กับเสาหมอสายละต้น เขาบอกว่าเป็นช้างตกน้ำมัน และว่าเวลาช้างตัวใดตกน้ำมัน ก็เอาโซ่ล่ามไว้เช่นนั้นจนหายตกน้ำมันจึงเอาไปเลี้ยงอย่างปรกติตามเดิม เดินบนเชิงเทินต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง ถึงหัวเลี้ยวเป็นด้านสกัด มีสนามใหญ่อย่างเราเรียกว่า “สนามชัย” อยู่ข้างหน้าพลับพลาที่มหาราชาทอดพระเนตรอยู่บนเชิงเทินด้านสกัดนั้น ตรงหน้าเชิงเทินลงไปมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนแถวหนึ่ง สูงขนาดพอเสมอใต้ตาคนยืน และทำช่องให้คนลอดได้หลายทาง มีพวกกรมช้างอยู่ในกำแพงแก้วนั้นหลายคน พอพวกเรานั่งที่บนพลับพลาเรียบร้อยแล้ว สักประเดี๋ยวก็เห็นคนขี่ม้าแต่งตัวอย่างนายทหารอินเดียคนหนึ่ง ถือแพนเป็นไม้ลำยาวสักเท่าทวนมีพู่ผูกข้างปลาย ล่อช้างพลายตัวหนึ่งวิ่งเหย่าๆ ไล่ม้ามา เป็นช้างงาสูงราว ๕ ศอกเศษหลังเปล่าไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าสักหลาดสีแดงผืนใหญ่ผูกคลุมหลังผืนหนึ่งเท่านั้น ขณะนั้นมีนายทหารขี่ม้าถือแพนอีกคนหนึ่งล่อช้างพลายอีกตัวหนึ่งแต่งอย่างตัวก่อนเข้าสนามมาทางด้านข้างซ้าย แต่พอช้างสองตัวนั้นแลเห็นกัน ก็ผละจากม้าวิ่งตรงเข้าชนกัน ชนอยู่เพียงสัก ๒ นาทีเผอิญงาช้างตัวหนึ่งหักสะบั้น ผู้อำนวยการเห็น ก็ถามฉันทันทีว่าจะโปรดให้หยุดหรือยัง ฉันเข้าใจว่าเขาอยากให้หยุด ก็ตอบว่าหยุดเถิด แต่ยังนึกฉงนว่าเขาจะห้ามช้างอย่างไร เห็นเขาโบกมือให้สัญญาณ พวกกรมช้างที่แอบอยู่ในกำแพงแก้วก็จุดดอกไม้ไฟ อย่างไฟพะเนียงมีด้ามถือวิ่งตรงเข้าไปที่ช้าง ช้างกลัวไฟก็เลิกชน วิ่งหนีแยกกันไป พอช้างสองตัวไปห่างแล้ว คนก็ขี่ม้าเข้าไป เอาแพนล่อพาช้างกลับไปโรงทั้งสองตัว ได้ดูชนกันครู่เดียว ผู้อำนวยการเขาบอกให้ทราบเมื่อภายหลัง ว่าธรรมดาช้างชนนั้น ถ้าตัวไหนชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เห็นช้างตัวงาหักเสียทีกลัวจะเลยเสียช้าง จึงได้ขอให้รีบเลิกเสีย ฉันได้ดูชนช้างที่ชัยปุระแม้ดูเพียงครู่เดียวก็สนุกจับใจ ด้วยเป็นการอย่างหนึ่งในตำราคชศาสตร์แต่ดึกดำบรรพ์ซึ่งชาวอินเดียเขายังรักษามา เป็นแต่มาแปลงเป็นการกีฬาในสมัยเมื่อเลิกใช้ช้างรบพุ่งแล้ว ไทยเราก็มีวิชาคชศาสตร์คล้ายกับของชาวอินเดีย ดังจะพรรณนาในนิทานเรื่องอื่นต่อไปข้างหน้า

ฤๅษีดัดตน

วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อมๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่างๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่ก็เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่าเหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย เมื่อกลับมาจึงค้นหาตำราฤๅษีดัดตน พบอธิบายปรากฏในศิลาจารึกเรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ “ตั้งตำรายา และฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน” ตามศาลารายริมกำแพงวัดพระเชตุพนฯ รูปฤๅษีดัดตนสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปั้นและคงมีอักษรจารึกศิลาติดไว้ใกล้กับรูปฤๅษี บอกว่าดัดตัวท่านั้นแก้โรคอย่างนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนรูปฤๅษีเป็นหล่อด้วยดีบุก และโปรดให้พวกกวีแต่งโคลง ๔ ขนานชื่อฤๅษี และบอกท่าดัดตนแก้โรคอย่างใดๆ จารึกศิลาติดประจำไว้กับรูปภาพตัวละบทหนึ่ง เรียกรวมกันว่า “โคลงฤๅษีดัดตน” พบตำราว่าด้วยเรื่องฤๅษีหรือดาบสทำท่าต่างๆ มีอยู่ในเมืองไทยเพียงเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าท่าฤๅษีดัดตนต่างๆ จะเป็นท่าตบะของดาบสอย่างเขาว่าที่เมืองชัยปุระ หรือเป็นท่าดัดตัวแก้โรคเมื่อยขบอย่างเช่นไทยถือเป็นตำรา ฉันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไหนแน่มาช้านาน จนเมื่อออกมาอยู่เมืองปีนัง มีดาบสชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเคร่งครัดนัก มาบำเพ็ญตบะ ณ เมืองปีนัง พวกชาวอินเดียที่เลื่อมใสเรี่ยไรกันซื้อที่สร้างอาศรมให้ดาบสนั้นอยู่แห่งหนึ่ง ฉันไปดูเห็นที่ตรงกลางบริเวณก่อเป็นมณฑป ๘ เหลี่ยม หลังคาเป็นซุ้มมียอดอย่างแบบอินเดีย มีมุขเด็จข้างหน้าและเฉลียงโถงรอบมณฑป เห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิเหมือนอย่างพระประธานอยู่บนเตียงหน้ามุขเด็จ เผอิญผู้อุปฐากพูดภาษาอังกฤษได้ บอกอธิบายให้รู้ว่าดาบสนั้นสมาทานตบะสองอย่าง คือเว้นวจีกรรมไม่พูดกับใครๆ หมดอย่างหนึ่ง กับนั่งสมาธิอยู่ ณ อาสนะอันเดียวตั้งแต่เช้าจนค่ำทุกวันเป็นนิจอย่างหนึ่ง ฉันถามว่าในมณฑปเป็นที่สำหรับดาบสนอนหรือ เขาตอบว่ายังไม่มีใครเคยเห็นดาบสตนนั้นนอนเลย โดยปรกติพอค่ำ ดาบสก็ลุกจากอาสนะที่มุขเด็จเข้าไปในมณฑป แต่ไปทำพิธีอีกชนิดหนึ่งเพื่อแก้เมื่อยขบ เห็นทำท่าต่างๆ บางที (ปลุก) ตัวลอยขึ้นไปก็มี ฉันได้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย ได้ความรู้ว่าการดัดตนนั้น เป็นส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็ญตบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนที่เดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัยก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็ญตบะ แล้วตั้งเป็นตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ์ ที่พวกชาวเมืองชัยปุระเขาบอกว่าเป็นวิธีของพวกดาบสนั้นก็ถูก ที่ไทยว่าเป็นวิธีแก้เมื่อยขบก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมใสวิธีตบะของพวกถือศาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาใช้ จึงเกิดตำราฤๅษีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้

ถูกสาป

เมื่อฉันอยู่ที่เมืองชัยปุระนั้น จะไปไหนๆ เขาให้ไปรถใหญ่เทียมม้าคู่ มีทหารม้าแห่แซงทั้งข้างหน้าข้างหลังให้สมเกียรติยศของเจ้าต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาไปไหนจึงมักมีคนดูทั้งสองข้างถนน วันหนึ่งฉันเห็นดาบสคนหนึ่งเกล้าผมสูง นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดมีประคำคล้องคอ ยืนอยู่ริมถนนข้างหน้าแถวคนดู เมื่อรถฉันไปถึงตรงหน้าดาบสยิ้มยกมือเป็นทำนองอำนวยพร ออกอุทานเป็นภาษาสันสกฤตได้ยินเข้าหูคำหนึ่งว่า “หริราชา” นึกว่าแกอำนวยพรก็ยิ้มรับแล้วเลยผ่านไป เมื่อผ่านไปได้สักหน่อยหนึ่งยังไม่ห่างกันนัก ฉันเหลียวหน้ากลับไปดู เห็นดาบสตนนั้นทำหน้าตาถมึงทึง ยกไม้ยกมือกวัดแกว่ง ปากก็ว่าอะไรยืดยาว ฉันไม่ได้ยินถนัด แต่รู้ทีว่าเป็นกิริยาโกรธ จึงนึกว่าที่ดาบสตนนั้นยิ้มแย้มให้พรตอนแรกเห็นจะขอทาน ครั้นไม่ได้เงินก็โกรธขึ้ง ออกปากตอนหลังน่าจะเป็นคำสาปสรร (Curse) ฉันถามขุนนางอังกฤษที่เขาไปด้วยในรถว่าเป็นเช่นนั้นหรืออย่างไร เขาไม่ตอบตรงๆ เป็นแต่บอกว่า ประเพณีประเทศราชในอินเดีย เวลามหาราชาเสด็จไปไหนมีขบวนแห่ ย่อมโปรยเงินเป็นทานแก่ราษฎรที่มาอยู่ข้างราชวิถี พวกนั้นเคยได้เงินจึงอยากได้อีก ฉันได้ฟังอธิบายก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกสองอย่าง คือ

ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินโปรยเงินพระราชทานราษฎรสองข้างราชวิถี ก็มีในเมืองไทยในเวลาแห่เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เช่นเลียบพระนคร หรือแม้เสด็จไปทอดพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราก็ทรงโปรยเงิน ฉันได้เคยเห็นเมื่อเป็นราชองครักษ์แห่เสด็จหลายครั้ง ถ้าทรงพระยานมาศเสด็จไปทางบก มีกรวยปักไว้ข้างที่ประทับ ในกรวยมีขันทองลงยาใส่เงินสลึงเงินเฟื้อง ทรงหยิบโปรยพระราชทานราษฎรทั้งสองข้างทาง ถ้าเสด็จไปทางเรือทำเป็นลูกไม้กลมใส่เงินปลีกไว้ในนั้น เมื่อทรงโปรย ลูกไม้ก็ลอยน้ำอยู่ให้ราษฎรเก็บ เป็นประเพณีไทยเราได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์อย่างหนึ่ง

ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งนั้น คือการสาปสรรซึ่งผู้มีฤทธิ์เดชกระทำร้ายแก่ผู้อื่น อันมีกล่าวในหนังสือเก่าทั้งทางศาสนาไสยศาสตร์และพระพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย เพิ่งได้เห็นว่าวิธีสาปนั้นออกปากตะโกนแช่งเอาซึ่งๆ หน้า ไม่ลอบภาวนาสาปในที่ลับเหมือนอย่างที่เรียกว่า “ทำกฤตยาคม” หรือปั้นรูปเสกแช่งแล้วเอาไปฝังไว้ ส่อว่าวิธีสาปแช่งมีสองอย่างต่างครูกัน

ฉันได้เห็นของประหลาดเข้าเรื่องนิทานโบราณคดีที่เมืองชัยปุระ ๓ อย่างดังพรรณนามา ยังมีของประหลาดได้เห็นแห่งอื่นในอินเดีย จะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป 

นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

 




นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

มีคติโบราณถือกันมาแต่ก่อนว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี จะห้ามมาแต่เมื่อใด ห้ามเพราะเหตุใด ถ้าเจ้านายขืนเสด็จไป จะเป็นอย่างไร สืบสวนก็ไม่ได้ความเป็นหลักฐาน เป็นแต่อ้างกันต่างๆ ว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายบ้าง ว่ามีอะไรเป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณ เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริตบ้าง แต่เมื่อมีคติโบราณห้ามอยู่อย่างนั้น เจ้านายก็ไม่เสด็จไปเมืองสุพรรณ เพราะไม่อยากฝ่าฝืนคติโบราณหรือไม่กล้าทูลลา ด้วยเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่พระราชทานอนุญาตให้ไป อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ไหนได้เคยเสด็จไปเมืองสุพรรณ จนมาตกเป็นหน้าที่ของฉันที่จะเป็นผู้เพิกถอนคตินั้น ดูก็ประหลาดอยู่

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในปีนั้นฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วกลับลงมาทางเมืองกำแพงเพชร มาประจบทางขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์ แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง หยุดพักอยู่ ๒ วัน สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะ กับคนหาบหามสิ่งของ เพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี เวลานั้นพระยาอินทรวิชิต (เถียร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แกได้รับราชการในกรมมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยอุ้มฉันมาเมื่อยังเป็นเด็ก จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมือง แต่สังเกตดูแกไม่เต็มใจจะให้ฉันไปเมืองสุพรรณ บอกว่าหนทางไกลไม่มีที่จะพักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน ถ้าฉันไปเกรงจะลำบากนัก ฉันตอบว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเหนือได้เคยเดินบกทางไกลๆ มาหลายแห่งแล้ว เห็นพอจะทนได้ไม่เป็นไรดอก ทั้งได้สั่งให้เรือไปคอยรับอยู่ที่เมืองสุพรรณ พวกเมืองสุพรรณรู้กันอยู่หมดว่าฉันจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา แกได้ฟังตอบก็ไม่ว่ากระไรต่อไป แต่แกไม่นิ่ง ออกจากฉันแกไปหาพระยาวรพุทธิโภคัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในข้าราชการที่ไปกับฉัน ไปถามว่า “นี่ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่า เขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม” พระยาวรพุทธิฯ ก็เห็นจะออกตกใจมาบอกฉันตามคำที่พระยาอ่างทองว่า ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้กลับไปถามพระยาอ่างทอง ว่าห้ามเพราะเหตุใดแกรู้หรือไม่ พระยาอ่างทองบอกมาว่า “เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดภัยอันตราย” ฉันได้ฟังก็เข้าใจในขณะนั้นว่า เหตุที่พระยาอ่างทองไม่อยากให้ฉันไปเมืองสุพรรณ คงเป็นเพราะแกมีความภักดีต่อพระราชวงศ์ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายแก่ฉัน จึงห้ามปราม ถ้าเป็นเจ้านายพระองค์อื่นก็เห็นจะคิดอุบายบอกปัด ไม่จัดพาหนะถวาย แต่ตัวฉันเผอิญเป็นทั้งเจ้าและเป็นนายของแกในตำแหน่งราชการ ไม่กล้าบอกปัด จึงพยายามห้ามอย่างนั้น ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้ไปชี้แจงแก่พระยาอ่างทองว่า ฉันเคยได้ยินมาแล้วว่าไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ แต่ยังไม่รู้ว่าห้ามเพราะเหตุใด เมื่อได้ฟังคำอธิบายของพระยาอ่างทองว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ฉันคิดว่าเทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก ไม่เห็นว่าน่าวิตกอย่างไร พระยาอ่างทองจนถ้อยคำสำนวน ก็ไม่ขัดขวางต่อไป

ฉันออกจากเมืองอ่างทองแต่พอรุ่งเช้า ต้องลงเรือข้ามลำน้ำน้อยที่ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญแต่ก่อน แล้วขี่ม้าต่อไป ท้องที่ในระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณเป็นทุ่งตลอดทาง เวลานั้นเป็นต้นฤดูแล้ง บางแห่งแผ่นดินแห้งพอขี่ม้าควบได้ บางแห่งยังไม่แห้งสนิทได้แต่ขี่สะบัดย่าง บางแห่งก็เป็นน้ำเป็นโคลนต้องให้ม้าเดินลุยน้ำไป แต่เป็นที่นา มีหมู่บ้านราษฎรเป็นระยะออกไปจนใกล้จะต่อแดนเมืองสุพรรณจึงเป็นป่าพง ที่ว่างอยู่ตอนหนึ่งเรียกว่า “ย่านสาวร้องไห้” ชื่อนี้เคยได้ยินเรียกหลายแห่ง หมายความเหมือนกันหมด ว่าที่ตอนนั้นเมื่อถึงฤดูแล้งแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ ฉันขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนสาย ออกจะหิว เหลียวหาคนพวกหาบอาหารก็ตามไม่ทัน ถึงบ้านชาวนาแห่งหนึ่ง มีพวกชาวบ้านพากันออกมานั่งคอยรับ และมีแก่ใจหาสำรับกับข้าวตั้งเรียงไว้ที่หน้าบ้าน เตรียมเลี้ยงพวกฉันที่จะผ่านไป ฉันลงจากม้าไปปราศรัยแล้วเปิดฝาชีสำรับดู เห็นเขาหุงข้าวแดงแต่เป็นข้าวใหม่ในปีนั้นมาเลี้ยงกับปลาแห้งปีใหม่นั้นเหมือนกัน นอกจากนั้นมีกับข้าวอย่างอื่นอีกสักสองสามสิ่งซึ่งไม่น่ากิน แต่เห็นข้าวใหม่กับปลาแห้งก็อยากกินด้วยกำลังหิว เลยหยุดพักกินข้าวที่ชาวบ้านเลี้ยง อร่อยพิลึก ยังไม่ลืมจนบัดนี้ สังเกตดูชาวบ้านเห็นพวกเรากินเอร็ดอร่อย ก็พากันยินดี ข้าวปลาบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมจนกินอิ่มกันหมด คงรู้สึกว่าหามาไม่เสียแรงเปล่า เมื่อกินอิ่มแล้วฉันวางเงินปลีกให้เป็นบำเหน็จทุกสำรับ

ตรงนี้จะเล่าถึงเรื่องชาวบ้านเลี้ยงคนเดินทางเลยไปอีกสักหน่อย เคยสังเกตมาดูเหมือนชาวเมืองไทยไม่เลือกว่าอยู่หัวเมืองไหนๆ ถ้ามีแขกไปถึงบ้าน ชอบเลี้ยงอาหารด้วยความอารีมิได้ปรารถนาจะเรียกค่าตอบแทนอย่างไร จะว่าเป็นธรรมดาของชนชาติไทยก็เห็นจะได้ ฉันเคยได้ยินคนไปเที่ยวตามหัวเมืองแม้จนฝรั่ง มาเล่าและชมเช่นนั้นเป็นปากเดียวกันหมด ฉันได้เคยเห็นเป็นอย่างประหลาดครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ “ประพาสต้น” (คือมิให้ใครรู้จัก) เวลาเย็นวันหนึ่งทรงเรือพายไปในทุ่งทางคลองดำเนินสะดวก ไปถึงบ้านชาวไร่แห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นผู้หญิงกำลังตั้งสำรับไว้จะกินอาหารเย็นกับลูกหลาน พอแลเห็นพระองค์ แกสำคัญว่าเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จ เชิญให้เสวยอาหารที่แกตั้งไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นสนุกก็รับเชิญ แล้วตรัสชวนพวกที่ตามเสด็จเข้านั่งล้อมกินด้วยกัน แต่ในขณะเมื่อกำลังเสวยอยู่นั้น ลูกชายเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ มันนั่งแลๆ อยู่สักครู่หนึ่งออกปากว่า “เหมือนนัก” แล้วว่า “แน่แล้ว” ลุกขึ้นนั่งคุกเข่ากราบในทันที พวกเราถามว่าเหมือนอะไร มันบอกว่า “เหมือนรูปเจ้าชีวิตที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา” เลยฮากันทั้งวง เจ้าของบ้านได้พระราชทานเงินตอบแทนกว่าค่าอาหารหลายเท่า เวลาตัวฉันเองไปตรวจราชการตามหัวเมือง ไปพักร้อนหรือพักแรมใกล้หมู่บ้านที่ไหน พวกชาวบ้านก็มักหาสำรับกับข้าวมาให้โดยมิได้มีผู้ใดสั่งเสีย แม้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ทำเช่นนั้น โดยประสงค์จะเลี้ยงพวกบริพาร พระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานเงินปลีกวางไว้ในสำรับตอบแทนเสมอเป็นนิจ ฉันเองก็ทำเช่นนั้น เพื่อจะรักษาประเพณีที่ดีของไทยไว้มิให้เกิดท้อถอย เพราะเห็นว่าทำคุณไม่ได้รับความขอบใจ เปรียบเหมือนเลี้ยงพระไม่สวด ยถาสัพพี แต่คนเดินทางที่เป็นสาธุชน เขาก็ตอบแทนอย่างไรอย่างหนึ่งเหมือนกัน ยังมีอนุสนธิต่อจากการกินไปถึงที่พักนอนของคนเดินทาง ในเมืองไทยนี้ดีอีกอย่างหนึ่งที่มีวัดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง บรรดาคนเดินทางถ้าไปโดยสุภาพ ก็เป็นที่หวังใจได้ว่า จะอาศัยพักแรมที่วัดไหน พระสงฆ์ก็มีความอารีต้อนรับให้พักที่วัดนั้นเหมือนกันหมดทุกแห่ง การเดินทางในเมืองไทยจึงสะดวกด้วยประการฉะนี้

พ้นทุ่งนาในแขวงเมืองอ่างทอง ต้องฝ่าพงย่านสาวร้องไห้ไปสักชั่วนาฬิกาหนึ่ง ก็ออกท้องทุ่งนาในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อใกล้จะถึงชานเมืองแลเห็นต้นตาลเป็นป่าใหญ่ คล้ายกับที่เมืองเพชรบุรี นึกขึ้นถึงนิทานที่ได้เคยฟังเขาเล่าเมื่อตามเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแต่ฉันยังเป็นทหารมหาดเล็ก ซึ่งอ้างเป็นมูลของภาษิตว่า “เมืองสุพรรณมีต้นตาลน้อยกว่าเมืองเพชรบุรีต้นเดียว” ดูก็ขันอยู่ นิทานนั้นว่ามีชายชาวสุพรรณ ๒ คนไปยังเมืองเพชรบุรี วันหนึ่งเพื่อนฝูงชาวเมืองเพชรหลายคน ชวนให้ไปกินเหล้าที่โรงสุรา พอกินเหล้าเมาตึงตัวเข้าด้วยกัน ก็คุยอวดอ้างกันไปต่างๆ ตามประสาขี้เมา คนที่เป็นชาวเมืองเพชรคนหนึ่ง อวดขึ้นว่าที่เมืองไหนๆ ไม่มีต้นตาลมากเหมือนที่เมืองเพชรบุรี คนที่เป็นชาวสุพรรณขัดคอว่าที่เมืองสุพรรณมีต้นตาลมากกว่าเมืองเพชรเป็นไหนๆ คนชาวเมืองเพชรออกเคือง ว่าเมืองสุพรรณเล็กขี้ปะติ๋ว เมืองอื่นที่ใหญ่กว่าเมืองสุพรรณก็ไม่มีต้นตาลมากเท่าเมืองเพชรบุรี คนชาวเมืองสุพรรณขัดใจตอบว่าอะไรๆ ที่เมืองสุพรรณมีดีกว่าเมืองเพชรถมไป ทำไมต้นตาลจะมีมากกว่าไม่ได้ เลยเถียงกันจนเกิดโทสะทั้งสองฝ่ายเกือบจะชกกันขึ้น คนชาวสุพรรณเห็นพวกเมืองเพชรมากกว่าก็รู้สึกตัว ยอมรับว่า “เอาเถอะ ต้นตาลเมืองสุพรรณมีน้อยกว่าเมืองเพชรต้นหนึ่ง” พวกชาวเมืองเพชรชนะก็พอใจเลยดีกันอย่างเดิม เขาเล่ามาดังนี้

ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระยาอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ฉันรู้สึกเพลียถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่าเมื่อไรจะถึงหลายหน จนจวนพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี แต่พอถึงก็รู้เรื่องแปลกประหลาด ด้วยพวกกรมการเมืองสุพรรณที่คอยรับอยู่ มีแต่พระชัยราชรักษาปลัดเป็นหัวหน้า หาเห็นตัวพระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองไม่ ฉันถามพระปลัดว่าพระยาสุพรรณเจ็บหรือ เขาบอกว่าเข้าไปกรุงเทพฯ ฉันแปลกใจถามต่อไปว่าไปแต่เมื่อไร เขาบอกว่าไปเมื่อสักสองสามวันนี้เอง ก็ยิ่งประหลาดใจ ว่าตัวฉันเป็นเสนาบดีไปตรวจราชการครั้งแรก ชอบที่เจ้าเมืองจะคอยรับเหมือนอย่างเมืองอื่นๆ ที่ได้ไปแล้ว นี่อย่างไรพระยาสุพรรณจึงหลบหน้าไปเช่นนั้น ในส่วนตัวพระยาสุพรรณคนนั้นก็เคยรู้จักกับฉันมาแต่ก่อน และมิได้มีเหตุที่จะรังเกียจกันอย่างไร นึกว่าน่าจะมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้แกไม่อยู่สู้หน้าฉัน พอรุ่งขึ้นวันหลังก็รู้เหตุ ด้วยราษฎรพากันมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุพรรณหลายพวก ว่ากดขี่ให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ แต่รวมความก็อยู่ในว่าลงเอาเงินแก่ราษฎร ไม่ถึงเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เห็นเรื่องราวเหล่านั้นฉันก็เข้าใจว่าเหตุใดพระยาสุพรรณจึงไม่อยู่สู้หน้า คงเป็นเพราะแกรู้ว่าจะถูกราษฎรฟ้อง และรู้ตัวว่าคงจะต้องถูกเอาออกจากตำแหน่ง แต่เกรงว่าฉันจะชำระโทษที่เมืองสุพรรณให้ได้ความอัปยศอดสู จึงหลบเข้าไปกรุงเทพฯ เหมือนอย่างว่า “หนีไปตายเอาดาบหน้า” โดยจะชำระสะสางก็ให้เป็นในกรุงเทพฯ อย่าให้อับอายชาวเมืองสุพรรณเท่านั้นเอง แต่ฉันไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ตั้งใจแต่จะไปหาความรู้กับจะดูว่ามีคนดีๆ อยู่ที่ไหนบ้าง มิได้ปรารถนาจะไปเที่ยวค้นคว้าหาความผิดของเจ้าเมืองกรมการสมัยนั้น ไปตามเมืองอื่นก็ไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองกรมการ จนมาถึงเมืองสุพรรณอันเป็นที่สุดทางมามีเหตุเจ้าเมืองหลบหนี ก็มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างไรอย่างหนึ่งให้เด็ดขาด มิฉะนั้นก็จะถูกดูหมิ่น ฉันจึงสั่งให้ถือเป็นยุติว่าพระยาสุพรรณไม่ได้เป็นเจ้าเมืองต่อไปแล้ว ส่วนคดีที่ราษฎรยื่นเรื่องราวก็ให้เป็นแล้วกันไป ด้วยพระยาสุพรรณถูกเอาออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว ฉันรับกับราษฎรว่าจะหาเจ้าเมืองที่ดีส่งไป มิให้เบียดเบียนให้เดือดร้อน พวกที่ยื่นเรื่องราวก็พอใจ

เมื่อฉันพักอยู่ที่เมืองสุพรรณครั้งนั้น มีเวลาไปเพียงที่เจดีย์วัตถุที่สำคัญ เช่นวัดมหาธาตุและวัดพระป่าเลไลยก์ สระน้ำสรงราชาภิเษก และไปทำพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นศาลไม้เก่าคร่ำคร่า มีเทวรูปพระพิษณุแบบเก่ามากจำหลักศิลาตั้งอยู่ ๒ องค์ ฉันรับเป็นหัวหน้าชักชวนพวกชาวเมืองสุพรรณ ให้ช่วยกันสร้างศาลใหม่ ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูนและก่อเขื่อนถมดินเป็นชานรอบศาล พวกพ่อค้าจีนช่วยแข็งแรงทั้งในการบริจาคทรัพย์และจัดการรักษา ดูเหมือนจะเริ่มมีเฮียกงประจำศาลตั้งแต่นั้นมา

เมืองสุพรรณ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในทางโบราณคดี แต่จะรอเรื่องนั้นไว้พรรณนาในนิทานเรื่องอื่น จะพรรณนาว่าแต่ด้วยของบางอย่าง อันมีที่เมืองสุพรรณแปลกกับเมืองอื่นๆ บรรดาได้เคยเห็นมาแต่ก่อน คือ อย่างหนึ่งมีศาลเจ้ามากกว่าที่ไหนๆ หมด จะไปทางไหนๆ ในบริเวณเมือง เป็นแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสายตา เป็นศาลขนาดย่อมๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี ล้วนมีผ้าแดงหรือผ้าสีชมพูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย สังเกตเพียงตรงที่จวนเจ้าเมือง มีศาลเจ้ารายรอบถึง ๔ ศาล อาการส่อว่าชาวเมืองสุพรรณเห็นจะกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาช้านาน ที่เรียกว่าเจ้าผีนั้นต่างกับเทพารักษ์ บอกอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เทพารักษ์คือเทวดาที่บุญพามาอยู่ประจำพิทักษ์รักษาอาณาเขตแห่งใดแห่งหนึ่งให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่เจ้าผีนั้นคือมนุษย์ที่สิ้นชีพไปแล้ว ผลกรรมทำให้ต้องท่องเที่ยวเป็นผีอยู่ ยังไม่สามารถไปถือกำเนิดเกิดใหม่ได้ ถ้าผีไม่ชอบใจใครก็อาจจะทำร้ายให้เดือดร้อนรำคาญ เพราะฉะนั้นคนจึงกลัวผี ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็ต้องเอาใจผี เช่นปลูกศาลให้สำนักและเซ่นวักเรียกว่า “เจ้า” มิให้ผีเบียดเบียน บางทีที่กล่าวกันว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณดุร้าย จะเกิดแต่ชาวสุพรรณเอาคติเจ้าผี ไปปนกับเทพารักษ์ก็เป็นได้

เมืองสุพรรณทำให้จับใจผิดกับที่อื่นอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเมืองเนื่องกับนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผน อันคนชอบกันแพร่หลาย ด้วยได้ฟังขับเสภาและจำเรื่องได้ยิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ตามที่กล่าวในเรื่องนิทานว่าขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง พ่อแม่ขุนช้าง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสิบเบี้ยก็ดี ว่าบ้านพันศรโยธากับนางศรีประจัน พ่อแม่ของนางพิมพ์ อยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยงก็ดี ที่ว่าขุนช้างไปครองบ้านหมื่นแผ้วพ่อตาอยู่ที่ตำบลบ้านรั้วใหญ่ก็ดี ที่ว่าขุนช้าง พลายแก้ว กับนางพิมพ์ เมื่อยังเป็นเด็กเคยไปเล่นด้วยกันที่สวนข้างวัดเขาใหญ่ก็ดี ที่ว่าเณรแก้วอยู่วัดพระป่าเลไลยก์แล้วหนีไปอยู่วัดแคก็ดี ตำบลบ้านและวัดเหล่านั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง นอกจากนั้นในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ออกชื่อตำบลต่างๆ ในทางที่ไปว่า ออกทางประตูตาจอม ผ่านวัดตะลุ่มโปง โคกกำยาน นาแปลกแม่ ข้ามลำน้ำบ้านพลับถึงบ้านกล้วย ยุ้งทลาย ผ่านเขาถ้ำพระ ตำบลต่างๆ เหล่านี้ก็ยังมีอยู่ทั้งนั้น ใครเคยชอบอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผน ไปถึงเมืองสุพรรณก็ออกสนุกที่ได้ไปดูเมืองขุนช้างขุนแผนด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ตั้งแต่ฉันไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นแล้ว เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ แม้ตัวฉันเองต่อมาก็ชอบไปเมืองสุพรรณ ได้ไปอีกหลายครั้ง เมื่อรัชกาลที่ ๕ ฉันได้รับราชการเป็นตำแหน่งผู้จัดการเสด็จประพาสมาแต่ยังเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้บังคับบัญชาการตามหัวเมือง หน้าที่นั้นก็ยิ่งสำคัญขึ้น เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงใคร่จะทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ ต้องคิดหาที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ปีหนึ่งฉันกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ตรัสว่า “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ” ฉันกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ไปซิ”

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองสุพรรณครั้งแรก ครั้งนั้นฉันไปล่วงหน้าวันหนึ่ง เพื่อจะตรวจทางและที่ประทับไปคอยรับเสด็จอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง วันที่ฉันไปถึงนั้นเวลาค่ำ พอกินอาหารแล้วฉันนั่งพูดอยู่กับพวกกรมการ พอสักยามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงยิงปืนนัด ๑ ฉันจึงสั่งกรมการว่าพรุ่งนี้ให้ไปบอกพวกชาวบ้านเสีย ว่าเวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นี่อย่าให้ยิงปืน พูดยังไม่ทันขาดคำได้ยินเสียงปืนยิงซ้ำอีกสองสามนัด เห็นผิดสังเกต พวกกรมการดูก็พากันฉงน ฉันว่า “เกิดปล้นกันดอกกระมัง นี่อย่างไรดูราวกับจะปล้นรับเสด็จ” สั่งให้กรมการกับตำรวจภูธรรีบไปในขณะนั้น กำชับให้จับตัวผู้ร้ายให้ได้ พวกกรมการไปได้สักประเดี๋ยว คนหนึ่งกลับมาบอกว่า “มิใช่ผู้ร้ายปล้นหามิได้ เป็นแต่พวกชาวบ้านยิงปืนจันทร์อังคาด” ฉันแหงนแลดูดวงพระจันทร์ก็เห็นแหว่งจริงดังว่า มีเสียงปืนยิงอีกสักครู่หนึ่งก็เงียบไป คงเป็นเพราะพวกกรมการกับตำรวจภูธรไปห้าม

ไทยเราเข้าใจกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าที่เกิดจันทร์อังคาดเป็นเพราะพระราหูเข้าจับจะกินพระจันทร์ รู้กันเช่นนั้นจนกระทั่งลูกเด็กเล็กแดง พอเห็นจันทร์อังคาธก็พอใจส่งเสียงอะไรแปลกๆ ขึ้นไปบนฟ้า หวังจะให้พระราหูตกใจทิ้งพระจันทร์ ทำนองเดียวกับขับนกให้ทิ้งข้าวในท้องนา ที่จริงมิใช่กลัวว่าพระจันทร์จะล้มตาย เป็นแต่จะช่วยให้พ้นความรำคาญเท่านั้น ยังเชื่อกันต่อไปว่าพระราหูมีแต่ครึ่งตัว เพราะฉะนั้นถ้าเห็นดวงพระจันทร์ผ่านพ้นเงามืดเฉียงไป ก็เข้าใจพระราหูต้อง “คาย” พระจันทร์ ถ้าเห็นดวงพระจันทร์มุดเงามืดตรงไป ก็เข้าใจว่าพระจันทร์หลุดเลยออกไปทางท้องพระราหู จึงมักถามกันว่า “ขี้หรือคาย” และประสงค์จะให้พระราหูต้องคายพระจันทร์ เมื่อมีจันทร์อังคาดแล้ว ต่อไปถึงวันหลังพอพระจันทร์ขึ้นก็มักทำขวัญพระจันทร์ด้วย เมื่อตัวฉันยังเป็นเด็กอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลามีจันทร์อังคาดเคยเห็นเขาเอาเชี่ยนขันตีช่วยพระจันทร์ เคยช่วยเขาตีเป็นการสนุกอย่างหนึ่ง เขาบอกว่าถึงไม่มีอะไรจะตีเพียงดีดเล็บมือให้มีเสียงก็อาจช่วยพระจันทร์ได้ ดูพิลึก แต่เวลาฉันไปหัวเมืองเพิ่งจะไปพ้องกับจันทร์อังคาดเมื่อวันนั้น เพิ่งเห็นได้ว่าความเชื่อเช่นกล่าวมา คงจะมีมาเก่าแก่ทีเดียว ในอินเดียถือคติต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเวลามีจันทร์อังคาดถ้าใครลงน้ำดำหัว เป็นสวัสดิมงคลยิ่งนัก พวกพราหมณ์พาคตินั้นเข้ามาเมืองไทยแต่โบราณเหมือนกัน จึงมีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษก เมื่อเวลาจันทร์อังคาดเป็นนิจ เพิ่งเลิกเมื่อรัชกาลที่ ๕

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก เสด็จขึ้นไปทางลำน้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องก่อน แล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรสถานที่โบราณต่างๆ ทุกแห่ง เมื่อเสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง โปรดพระราชทานเงินให้สร้างกำแพงแก้วกับศาลาที่พักขยายบริเวณศาลนั้นให้กว้างขวางออกไปอีก ประพาสเมืองสุพรรณแล้วเสด็จกลับทางคลองจระเข้ใหญ่ มาออกบ้านผักไห่ตาลานในจังหวัดอยุธยา แล้วเลยมาขึ้นรถไฟที่บางปะอินกลับกรุงเทพฯ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งหลังแล้ว เสด็จไปประพาสเมืองสุพรรณบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองชัยนาท แล้วกลับล่องทางคลองมะขามเฒ่าเข้าปากน้ำเมืองสุพรรณข้างเหนือ ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวชลงมาจนเมืองสุพรรณ แล้วเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีงิ้วรายมากรุงเทพฯ

ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานรักษาโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเสีย. 

เนื้อเพลง