วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566

อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง

 ศึกกะหมังกุหนิง




          กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง  องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิงมีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ  องค์รองครองเมืองปาหยัง  องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด
          อยู่มาวันหนึ่งวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิง  เสด็จประพาสป่าแล้วพบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้หลงถึงกับสลบเช่นกัน  ท้าวกะหมันกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมาก  จึงให้คนไปสืบว่านางในภาพนั้นเป็นใครแล้วให้แต่งทูตไปขอ  แต่ท้าวดาหามอบนางบุษบาให้จรกาแล้วจึงปฏิเสธไป  เมื่อไม่สมหวังท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาชิงนางบุษบา  โดยแจ้งระตูปาหยังและระตูปะหมันน้องชายและหัวเมืองทั้งหลายยกทัพมาช่วยรบด้วย
          ท้าวกุเรปันจึงเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหาทำศึกกับท้าวกะหมังกุหนิง

         ครั้นแล้วท้าวกะหมังกุหนิงเสด็จนั่งที่ประทับที่ประดับด้วยมณีทั้งหลาย พระองค์มองเห็นถึงพระอนุชาทั้ง ๒ คน จึงเรียกให้มานั่งที่ประทับพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน และบอกถึงความประสงค์ของตนว่าที่เรียกอนุชาทั้ง 2 มาเพื่อจะให้ช่วยไปตีเมืองดาหาขอให้ทั้งสอง ช่วยตีเมืองให้ได้ชัยชนะเร็วไว 
เมื่ออนุชาทั้งสองได้ฟังถึงเรื่องราวทั้งหมดจึงได้คัดค้านไปว่าเมืองที่จะไปตีนั้น มีความเก่งกาจและชำนาญเรื่องการรบ อีกทั้งทางทหารในเมืองนั้นก็เก่งในเรื่องการรบ เลื่องลือในแคว้นชวาและต่างเกรงกลัวในฤทธิ์เดชเมืองเขาเป็นเมืองใหญ่เมือง เราเป็นเมืองน้อยเปรียบเหมือนหิ่งห้อยจะเปล่งแสงแข่งกับดวงอาทิตย์ ทั้งสองคิดว่าจะผิดจากเดิมมา ผู้หญิงงามไม่ได้มีคนเดียวในแผ่นดิน
เจ้าเมืองน้อยทั้งสองได้ขอให้ท้าวกะหมังกุหนิงได้คิดเสียใหม่ ไม่อย่างนั้นประชาชนจะเดือดร้อนได้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ยังยืนยันจะทำศึกเพราะตอนนี้ลูกสาวของท้าวดาหา จะถูกยกให้จรการูปชั่วตัวดำ พวกเราจะต้องยกทัพไปรบเพื่อชิงนาง
เจ้าเมืองน้อยทั้งสองก็ได้ตอบกลับไปว่า นางยังอยู่กับผู้เป็นพ่อที่เมืองดาหา หากเกิดสงครามชิงลูกสาว ท้าวดาหาคงไม่นิ่งดูดาย และอาจจะส่งทัพเข้ามาร่วมรบก็เป็นได้ และเราอาจจะถูกล้อม หากทางเราเสียท่าและแพ้ขึ้นมา จะอับอายจรกาได้
ท้าวกะหมังกุหนิงจึงได้แย้งขึ้นว่า เจ้าทั้งสองนี้ไม่เข้าใจอะไรเลย ทั้งเสนาต่างๆ ก็ขัดแย้งข้ากันไปหมด ไปอยู่เมืองหมันหยามาหลายปี หากที่ไหนจะยกทัพมาจะกลัวอะไรหนักหนา เราก็มีตั้ง ๓ เมืองก็ใหญ่เหมือนกัน เราไม่ต้องกลัว ถ้าเราตีพวกนั้นให้แตกเดี๋ยวพวกนั้นก็มันก็วิ่งเข้าป่า พวกเจ้าอย่ากลัวเลย สงสารวิหยาสะกำเถอะ ถ้าไม่ได้นางมาคงจะขาดใจตาย แม้นวิหยาสะกำสิ้นชีวิตตนคงได้ตายตามเป็นแน่ ไหนๆแล้วก็จะตายถึงช้าเร็วก็ไม่ต่างกัน แม้นว่าผิดก็จะลองทำสงครามดู หากเคราะห์ดีก็คงจะได้สมดังใจนึก เมื่อสองเจ้าเมืองได้ฟัง ก็ก้มหน้าไม่พูดจา
กล่าวถึงท้าวดาหา เสนาบดีตำแหน่งยาสาได้บังคมทูลเบิกทูตนำราชสารให้พระองค์ ในสารนั้นบอกถึงองค์ผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิงขอถวายบังคมถึงพระองค์ ขอพระองค์ทรงประนีประนอมไม่เขื้องโกรธกัน ด้วยว่าตนมีโอรสอยู่องหนึ่งได้ไปท่องป่าล่าสัตว์และได้พบเจอกับรูปของพระธิดาในกลางป่า เชื่อว่าคงเป็นบุพเพสันนิวาส  อาจเกิดจากเทวานำพาให้ พระโอรสตกอยู่ในเสน่หาและมีความอาลัย เฝ้าแต่หลงใหล ใฝ่ฝันหาพระธิดาน่ารันทดยิ่ง หวังเพียงรับใช้รองบาทพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์วงศ์เทวัญ ขอพระธิดาผู้สูงศักดิ์ให้กับโอรสของตนได้สมดังใจหวัง อันกรุงของเราทั้งสองจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกันในวันข้างหน้า และขออาศัยพึ่งพิงบารมีไปจนกว่าจะสิ้นชีวัน
เมื่อองค์ท้าวดาหาผู้เป็นใหญ่ได้รับฟังสารทราบถึงข้อความแล้ว จึงรับสั่งแต่เสนาทั้งสองของท้าวกะหมังกุหนิงที่มาเข้าเฝ้าว่าอันนางบุษบาพระธิดาของเรานั้น ในครั้งก่อนเราไปยกให้แก่จรกาที่มาหมายหมั้นไว้ไปก่อนแล้ว และได้ปลงใจจะให้แต่งงานกันแล้ว อันจะรับของสู่ของท้าวกะหมังกุหนิงนี้ ก็ดูจะผิดประเพณียิ่งนัก เหล่าประชาราชอาจนินทาได้ จึงขอให้นำสิ่งของเหล่านี้กลับคืนไป
เหล่าทูตเมื่อรับแจ้งแล้วก็ทูลบอกพระองค์ว่า ท้าวกะหมังกุหนิงรับสั่งให้ตนทูลพระองค์ว่าถ้าแม้นพระองค์ไม่ยินยอมยกพระราชธิดาให้ ก็ให้ระวังพระองค์ให้ดี ให้สร้างบ้านเมืองของพระองค์ให้มั่นคง ครั้นแล้วองค์ท้าวดาหาก็ประกาศิตอย่างองอาจว่า หากจะยังคงทำสงครามก็ตามใจ ฝ่ายทูตก็ได้ออกจากเมืองดาหาพากันกลับทันใด ฝ่ายองค์ดาหา มีบัญชาสั่งเสนาให้เร่งไปทูลเหตุการณ์แก่ผู้เป็นพี่ของพระองค์ และทูลกับผู้เป็นน้องอีกสองคนของพระองค์ ไปบอกระตูจรกาว่าอย่ามัวชักช้าเพราะจะมีข้าศึกยกทัพมาชิงตัวบุษบา
ฝ่ายท้าวกุเรปันได้รับแจ้งว่าจะมีข้าศึกมารุกราน จึงให้แต่งสารหนังสือลับแล้วสั่งให้สองเสนาถือไปยังเมืองหมันหยา ฉบับหนึ่งเร่งนำกองทัพกำชับให้อิเหนาเร่งยกมาช่วย อีกฉบับหนึ่งไปให้กับเจ้าเมืองผู้ครองเมืองหมันหยา แล้วสั่งให้รีบไปให้ถึงเมืองหมันหยาภายใน 15 คืน  หลังจากที่ขุนนางได้ทูลลาไปแล้วพระองค์ก็ตรึกตรองในคดีความด้วยพระปรีชา แล้วตรัสกับกะหรัดตะปาตี ว่าสงครามนี้เห็นว่าจะสาหัส หากกลัวอนุชาจะเปล่าเปลี่ยวเศร้าใจ ไม่มีที่ปรึกษา จึงรับสั่งให้ยกพลยกกองทัพ ไปสมทบกับทัพของอิเหนาให้ทันอย่างเร็วไว อย่าให้ข้าศึกทันยกทัพมาประชิดเมืองได้
ฝ่ายกะหรัดตะปาตีผู้เป็นโอรสทูลสนองรับสั่งแล้วบอกว่าจะถวายบังคมลาในวันพรุ่งนี้ ครั้นถึงรุ่งสางก็เสด็จขึ้นทรงม้าแล้วรับสั่งให้เคลื่อนพลออกไป รอนแรมอยู่ในป่าจนถึงทางร่วมเข้าสู้เมืองหมันหยาแล้วสั่งให้หยุดพลทัพไว้ คอยทัพของอิเหนาที่จะตามมา 
ฝ่ายขุนนางตำมะหงงกาหลังรวมทั้งดะหมังและมหาเสนาใน ก็เร่งเกณฑ์ทัพในทันใด ได้จัดทหารอาสาผู้มีพื้นฐานการรบที่แข็งขันจำนวนห้าหมื่นคน มีช้างม้าและอาวุธอย่างครบครัน มีพลธงที่สำคัญคอยนำกองทัพ สองจอมทัพขึ้นขี่ม้ากองทัพแน่นอัดเต็มถนนข้ารับใช้เดินเคียงคอยกางสัปทน แล้วเคลื่อนพลออกจากเมืองไป
เมื่อมาถึงทางร่วมริมป่าก็พบกับกองทัพของกะหรัดตะปาตี ทั้งสองกองทัพได้สมทบกันพากันเคลื่อนตามทางมาพร้อมกัน
ฝ่ายทูตทั้งสองของท้าวกะหมังกุหนิงซึ่งได้ถือสารไปเมืองดาหานั้นก็พากันกลับมายังเมืองของตน จนถึงตัวเมืองกะหมังกุหนิง ก็ตรงดิ่งมายังวังใหญ่ เมื่อถึงเวลาก็เข้าเฝ้ากะหมังกุหนิงเหนือหัวในท้องพระโรง แล้วจึงก้มกราบบังคมทูลเหนือหัว ว่าได้ไปถวายสารมาแล้ว องค์ท้าวดาหาได้ทราบเนื้อความทุกประการ ทรงตรัสอย่างเฉียบขาดว่าพระธิดาของพระองค์นั้น มีจรกามาสู่ขอและได้ยกให้ทั้งยังได้กำหนดนัดหมายงานวิวาห์ไปแล้ว ส่วนบรรดาของถวายนั้นท่านไม่รับ ให้ส่งกลับมาทั้งหมด ท่านไม่ได้คิดเกรงองค์พระ คอยแต่จะตัดรอนซะทุกเรื่อง และได้ทูลความตามได้รับสาร ถ้าท้าวดาหาไม่ให้พระธิดา ก็จงรีบเร่งทำการปรับแต่งพระนครให้มั่นคง รับทัพเหนือหัวที่จะยกมา จะชิงพระธิดาให้ได้หากใครที่ได้รับชัยชนะจะสมปรารถนา แต่องค์ท้าวดาหากลับตรัสว่าแล้วแต่ตามวิญญาณ์ ขอพระองค์จงทราบด้วย
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงได้สดับฟังทั้งสองทูตทูลความดังนั้นก็โกรธอย่างยิ่ง จึงมีบัญชาตรัสออกมาด้วยความขัดเคืองใจว่า ดูดู๋เจ้าเมืองดาหา เราอุตส่าห์อ่อนน้อมง้อขอไปในสาร จะรับไว้ก็ไม่มีเลย ถึงแม้จรกามาขอนางไว้ แล้วได้ยกนางให้เขาไปก่อนก็สมควรอยู่ที่จะปราศรัยมาให้ดี แล้วดูสิมาตัดไม่ตรีให้ขาดกัน เรานั้นก็มีศักดามีบารมีมาก อาณาจักรก็กว้างขวางอยู่พอที่ จำเป็นจะต้องมีความพยายามไม่ละวาง จะต้องชิงนางบุษบามาให้ได้ หากไม่ได้สมดั่งใจหมายก็จะไม่ขอกลับคืนพระนครแห่งนี้อีก จะทำสงครามตามรังควาญอยู่ทุกครา จนกว่าชีวิตจะหาไม่
สองทูตทูลความอีกครั้ง ข้าได้ยินได้ตระหนักในใจว่าท้าวดาหาตรัสให้เสนารีบไปแจ้งเหตุแก่เชษฐา กับเมืองสิงหัสส่าหรี อีกทั้งพระอนุชาแห่งกาหลัง ทั้งยังเมืองแห่งระตูจรกา เห็นว่ากษัตริย์ทั้งสี่เมืองนั้นจะมาช่วยป้องกันเมืองดาหา เมื่อตอนที่ข้าออกมาจากเมืองนั้น เสนาก็ไปพร้อมกันด้วย
ฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิงได้ฟังก็ยิ่งกริ้วโกรธยิ่งนัก จึงประภาษไป ถึงว่ากษัตริย์ทั้งสี่เมืองจะมาช่วยท้าวดาหารบเป็นศึกใหญ่ ตัวกูก็ไม่เกรงกลัวใคร จะหักล้างให้เป็นธุลีจงได้ พูดพร้อมสั่งอำมาตย์ดะหมังตำมะหงงให้เร่งเกณฑ์ไพร่พลที่มากความสามารถในสงคราม ให้เลือกสรรทหารทั้งสี่หมู่ที่เคยทำลายค่ายทำลายศัตรูมาแต่กองร้อยให้มารบในฉับพลับอย่าได้ครั่นคร้าม หาให้ได้ครบสามสิบหมื่นนายที่มีพื้นฐานการรบดี นำเอาวิหยาสะกำเป็นกองหน้า คอยตรวจตราเตรียมกระบวนทัพให้ถี่ถ้วน ส่วนกองหลังรั้งที่พลมนตรีของทั้งสองอนุชา กูจะเป็นจอมพลทัพ คอยหนุนทัพลูกให้เข้าโจมตี ไม่เกรงวงศ์เทวาแต่อย่างใด ให้ปรากฏถึงยศศักดิ์ในครั้งนี้ ครั้นแล้วเสด็จสั่งมหาเสนาถามขุนโหราทั้งสี่คนว่าการที่เราจะยกทัพไปต่อตีในวันพรุ่งนี้ จะดีร้ายประการใด
เมื่อโหราได้ฟังองกษัตริย์กล่าวดังนั้นจึงคลี่ตำราพลางคำนวณเหตุเทียบดวงชะตาของ พระองค์กับโอรสจึงเห็นว่าอาจถึงฆาต ทั้งโชคที่ไม่อาจชัดเจนอีกทั้งเคราะห์ในตอนนี้ที่เป็นตัวบดบังฤกษ์ทั้งหลาย จึงทูลไปว่าถ้าหากยกทัพในวันพรุ่งนี้ จะไม่อาจมีชัยเป็นแน่ ขอให้งดไปเจ็ดวัน ถ้าพ้นจากเจ็ดวันนี้ก็ยังพอทำเนาได้ ขอให้พระองค์ทรงสั่งให้งดศึกแล้วหาเวลาเพื่อให้ตัวโหราเองหาฤกษ์ใหม่ เพราะการศึกชิงชัยชนะนี้ต้องหนักหน่วงน้ำพระทัยให้มั่น
ฝ่ายเท้ากะหมังกุหนิงได้ฟังดังนั้นก็บอกกลับไปว่าเมื่อตนนั้นมีคำสั่งให้จัดทัพ ออกไปแล้วจะต้องสั่งยกเลิกไปให้อับอายเหล่าเสนาหรือประชาชนได้อย่างไร พวกเขาจะคิดเอาว่าตนนั้นเกรงกลัวต่ออำนาจของฝ่ายตรงข้าม จึงจำเป็นต้องออกทัพไปสู้ศึกเพราะถึงตัวตายก็ไม่อาจให้ใครดูหมิ่นได้ จะทิ้งเกียรติยศให้จารึกไว้ในแผ่นดินตราบจนวันที่โลกจะสูญสิ้นไป อีกทั้งถ้ายังยกทัพไปช้ากว่านี้เกรงว่าทางดาหาจะมีทัพใหญ่มาช่วย แล้วการศึกจะยากยิ่งกว่านี้ไปอีก จึงสุดแท้แต่บุญกับกรรมเท่านั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จออกไปยังที่พักโดยไม่ฟังคำกล่าวของโหราเลย
ฝ่ายวิหยาสะกำสั่งให้เตรียมทัพทุกหมู่ยกพลไปตีเมืองทุกเมืองที่เดินทางผ่านเป็นเวลาสิบวันที่เดินทางอยู่ในป่าก็พ้นออกมายังทุ่งของกรุงดาหา เห็นถึงกำแพงเมืองและมหาปราสาทเรียงรายจึงหยุดไว้ แล้วตั้งค่าย กองทัพนับแสนคนที่แน่นขนัดจึงหยุดพร้อมกันที่ชายป่า
ฝ่ายเท้ากะหมังกุหนิงก็รีบเกณฑ์ทัพพลมาใกล้ๆกับทุ่งเห็นลำธารน้ำที่ไหลเอื่อย อีกทั้งร่มไทรจึงสั่งให้ตั้งทัพ
ส่วนดะหมังได้ฟังคำสั่งจึงเกณฑ์คนให้ถางที่แล้วทำค่ายหน้าหลังบรรจบกัน
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นค่ายเสร็จมั่นคงแล้วก็ชวนบุตรและน้องชายทั้งสองให้เสด็จลงจากรถพร้อมด้วยเหล่ามหาดเล็กแล้วเดินทางไปยังที่พัก
ฝ่ายกองร้อยรักษาการณ์รอบข้างดาหาออกสอดแนมอยู่นอกเมือง ได้เห็นทัพที่ยกมาถึงชายป่า กระบวนทัพทั้งหน้าหลังล้อมตั้งหนาแน่น ผืนธงซ้อนทับกันมากมายจนมิอาจนับได้ ทั้งเสียงคนอื้ออึง เสียงตัดไม้ ราบไปทั้งป่า ต่างคนต่างก็รีบขึ้นหลังม้าแล้วกะสายตาดูกองทัพอย่างถี่ถ้วน จึงอ้อมออกมานอกทุ่งแล้วควบม้าคู่กายเข้าเมืองทันที
เมื่อเข้าสู่เมืองจึงรีบไปแจ้งข่าวแก่เสนาชั้นผู้ใหญ่ เล่าความถึงสิ่งที่ได้เห็นมาทุกๆสิ่งตั้งแต่ต้นจนจบ
ครั้นเสนาได้ยินข่าวดังนั้นก็ตกใจหวั่นไหว จึงให้เหล่าทหารจดเอาใจความคำสำคัญแล้วรีบพาเข้าไปยังท้องพระโรงทันที
เสนาก้มหัวบังคมทูลท้าวดาหาถึงข่าวว่ามีทัพตีเมืองยกมา ไพร่พลในกองทัพมากมาย ทั้งเสียงม้า เสียงรถ และเสียงช้าง ต่างอื้ออึงคั่นครื้นไม่ขาดสาย และในตอนนี้ทัพนั้นก็ได้เข้ามาตั้งอยู่ ณ เนินทรายที่เชื่อมต่อของชายทุ่งแล้ว
เมื่อท้าวดาหาได้ฟังดังนั้นแล้วในใจก็ทรงคิดไตร่ตรองถึงสาเหตุของศึกนี้ที่มีเพราะตัวพระองค์เองที่ไม่สามารถยกบุษบาให้แก่ฝ่ายนั้นได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดศัตรู ครั้นแล้วก็นึกน้อยใจไปถึงอิเหนาผู้เป็นหลานที่แกล้งให้เกิดเหตุการณ์ วุ่นวายเช่นนี้ ทั้งร้อนรนไปทั่วทุกเขต ทั้งเสื่อมเสียไปยังชื่อเสียงวงศ์เทวา อีกทั้งศึกก็มาถึงเมืองแล้ว คิดพลางก็สั่งให้เหล่าเสนาอำมาตย์ให้เร่งมือเกณฑ์คนเข้ารบ รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง พลางรับสั่งให้ดูท่าทีข้าศึกที่ยกมา เหตุหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะรอดูข่าวจากม้าเร็วที่สั่งให้ไปแจ้งเหตุกับผู้เป็นพี่และอีกสองผู้เป็นน้องว่าจะมาช่วยหรือไม่ แม้ว่าเมื่อทั้งสามนครไม่มาช่วยอาจจะมีขุ่นเคืองน้ำใจอยู่บ้าง แต่อย่างไรตนก็จะปราบศัตรูยุติสงครามแม้จะยากเย็นเท่าไรก็ตาม
กล่าวไปถึงฝ่ายสุหรานากงกับเหล่าเสนาเมืองกาหลังได้ยกพลกองทัพเร่งรีบเดินทางมา รอนแรมกินนอนในป่าเป็นเวลาทั้งสิ้นสิบห้าวันก็ถึงเขตเมืองดาหาได้ยินถึงข่าวศัตรูที่ยกทัพมาประชิดเมืองแล้วก็เร่งเดินทางเข้าไปในเมืองทันที
เมื่อเดินทางมาถึงกลางเมือง สุหรานากงก็หยุดพลกองทัพไว้และชวนตำมะหงงเดินทางไปเข้าเฝ้าท้าวดาหา
เมื่อท้าวดาหาได้ทอดพระเนตรเห็นถึงสุหรานากงผู้เป็นหลานกับเหล่าเสนาแห่งเมืองกาหลังก็ได้พูดคุยและขอบคุณน้องชายของพระองค์ทั้งสองที่ยกทัพมาช่วยตน แต่สงครามครั้งนี้นั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เพราะเหตุของมันคือลูกสาวของตนที่อัปลักษณ์จะมีคู่ทั้งทีฝ่ายชายก็ไม่รัก จึงหักหาญน้ำใจกันเช่นนี้ แล้วไตร่ถามถึงผู้เป็นพี่ว่าจะส่งให้ใครมาหรือไม่ สุหรานากงก็ตอบไปว่าท้าวกุเรปันได้ให้กะหรัดตะปาตียกทัพมาสมทบกับอิเหนา
ท้าวดาหาได้ฟังเช่นนั้นก็ประชดอิเหนาว่า กะหรัดตะปาตีมาช่วยก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ แต่อิเหนาเล่า เขาจะมาทำไม ท้าวกุเรปันเรียกให้กลับกี่ครั้งก็ไม่ยอมจากเมืองหมันหยาจนตัดขาดการแต่งงาน  มีศึกประชิดเมืองก็เพราะใคร เห็นทีคงจะรักเมียมากกว่าญาติ ถ้ามาก็เห็นว่าคงจะมาเพราะกลัวท้าวกุเรปันเสียมากกว่า แล้วท้าวดาหาบอกสุหรานากงว่าคงไม่ต้องคอยอิเหนาหรอก แล้วให้สุหรานากงไปพักผ่อน  สุหรานากงจึงขอถวายชีวิตให้เพื่อรับใช้ท้าวดาหา และอาสาไปออกรบกับทัพของท้าวกะหมังกุหนิง
กล่าวถึงดะหมังจากเมืองกุเรปัน เมื่อเดินทางมาถึงเมืองหมันหยาก็ตรงไปยังเรือนพักของอิเหนาเข้าเฝ้าถวายพระราชสารแก่อิเหนา 
อิเหนาคลี่สารของท้าวกุเรปันออกอ่าน ซึ่งในสารนั้นกล่าวว่าตอนนี้มีข้าศึกมาตั้งทัพประชิดเมืองดาหา ขอให้อิเหนารีบยกพลไปตีให้ทันท่วงที ถึงไม่เห็นแก่บุษบาก็ขอให้เห็นแก่ท้าวดาหาผู้เป็นอา ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นก็เพราะใครไปทำงามหน้าไว้ให้เสียคำพูดให้อายชาวเมืองดาหา ครั้งนี้จะเมินเฉยอีกทำให้เสียศักดิ์ศรีก็แล้วแต่ใจ ถ้าไม่มาช่วยก็ขาดกันอย่าได้เผาผีกันอีกเลย เมื่ออิเหนาได้อ่านดังนั้น ก็ถอนใจด้วยความสงสัยว่าบุษบาจะงามถึงเพียงไหนเชียวจึงถูกใจระตูทุกเมือง แค่เพียงเห็นรูปก็จะพากันมาตายเสียแล้ว หากงามเหมือนจินตะหราก็ว่าไปอย่าง จึงบอกแก่ดะหมังไปว่าจะยกทัพไปในอีก ๗ วัน แต่ดะหมังรีบทูลว่าต้องรีบไปในทันที เพราะตอนนี้ข้าศึกยกทัพมาติดพระนครแล้ว
อิเหนาเกรงกลัวท้าวกุเรปันพระบิดาสุดที่จะเลื่อนวันไป ทั้งรักทั้งกลัวห่วงหน้าพะวงหลังคิดแล้วก็ทอดถอนใจจึงสั่งตำมะหงงให้รีบจัดทัพใหญ่ทั้งทัพม้า ทัพรถ ทัพช้างเลือกทหารที่มีความสามารถทั้งทหารปืนและทหารดาบ อิเหนาจะตัดศึกใหญ่ด้วยกำลังที่เข้มแข็งแม้นข้าศึกหนีก็จะทำลาย ให้สิ้นไป ถือเอาฤกษ์พรุ่งนี้จะยกทัพไปช่วยเมืองดาหาเมื่อสั่งเสร็จอิเหนา ก็ไปเข้าเฝ้าท้าวหมันหยา เมื่อไปถึงเขตวังในก็ลงจากหลังม้าเข้าท้องพระโรงทันที ดะหมังเมืองกุเรปันก็เข้าเฝ้าท้าวหมันหยาเช่นกันแล้วถวายสารแก่ เจ้าเมืองหมันหยา
ท้าวหมันหยารับสารจากดะหมังคลี่ออกอ่านทันทีในสารมีใจความว่า ตัวท้าวหมันหยามีลูกสาวให้แต่งตัวยั่วชายจนอิเหนาต้องร้างคู่ไป หลงรักไปติดพันช่างไม่อายผู้คน ตอนนี้มีศึกประชิดเมืองดาหา จนเกิดเรื่องวุ่นวายเสียงานการวิวาห์ไปหมดต่างคนก็หมางใจกัน ในการสงครามครั้งนี้ถ้าไม่ไปช่วยก็จะตัดญาติขาดมิตรกันไป ก็แล้วแต่ใจเมื่ออ่านสารแล้วท้าวหมันหยากลัวท้าวกุเรปันขุ่นเคืองจึงยื่นสารให้แก่อิเหนาและกล่าวว่า เห็นหรือไม่อิเหนาหลานรักเจ้าไม่เชื่อฟังคำจึงทำให้มีความผิดไปด้วย แล้วเร่งให้อิเหนารีบยกทัพไปช่วยเมืองดาหาหากไม่ไปก็จะไม่ให้อยู่กับนางจินตะหรา พร้อมทั้งให้ระเด่นดาหยนคุมกองทัพของเมืองหมันหยาไปด้วย ได้ฤกษ์ยกทัพไปในตอนเช้าพรุ่งนี้
อิเหนารับคำสั่งแล้วลาไปยังปราสาทนางจินตะหรา เมื่อไปถึงก็เข้าแนบชิดนางทอดถอนใจแล้วแจ้งเรื่องราวแก่นางว่าดะหมังถือสารจากพระบิดาว่าเมืองดาหาเกิดศึกให้อิเหนารีบยกทัพไปช่วยในวันพรุ่งนี้ขอให้นางจงอยู่ดีอย่าโศกเศร้าเสียใจเสร็จศึกแล้วจะรีบกลับทันที
นางจินตะหรา ได้ฟังก็แค้นใจสะบัดหน้าหันหลังให้พร้อมกับตัดพ้อต่อว่าอิเหนาว่าจะไปปราบข้าศึกหรือจะกลับไปหวนคืนสู่คู่หมั้นเก่ากันแน่ ไหนบอกว่าจะไม่ไปไหนจนกว่าจะตายจากกัน นางก็หลงเชื่อ ไม่รู้ว่าภายหลังจะมาเป็นเช่นนี้ แล้วอีกนานเท่าไหร่เล่าอิเหนาจะกลับมา
อิเหนาชี้แจงว่าไม่เคยคลายความรักในตัวจินตะหราเลย แต่ตนมีเหตุจำเป็นต้องไป เพราะท้าวกุเรปันให้กลับสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้เกิดศึกสงคราม ไม่อาจจะขัดได้ แล้วจึงยื่นสารให้จินตะหราอ่าน นางจินตะหราก็รู้สึกคับแค้นใจไม่มองดูสารแล้วคร่ำครวญว่า อนิจจาความรักนั้นก็เหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยว ไฉนเล่าจะไหลกลับคืนมา คงไม่มีหญิงใดจะเจ็บช้ำไปกว่านาง เพราะหลงเชื่อ หลงรัก ถึงตอนนี้แล้วจะไปโทษใครได้ เสียแรงหวังที่จะฝากชีวิตไว้กับอิเหนาแต่ก็ไม่ปราณี  ที่จักรีบเสด็จไปนั้นก็เข้าใจเพราะนางบุษบานั้นคู่ควรกับอิเหนา ไม่ต่ำศักดิ์เหมือนนาง ต่อไปชาวเมืองดาหาก็จะนินทาได้ นางเอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญ อิเหนาปลอบโยนให้จินตะหราคลายความโศกเศร้า ว่าที่อิเหนาไปนั้น แม้บุษบาจะสวยก็จริง แต่อิเหนาตัดสัมพันธ์ไปแล้ว จรกาจึงมาทำการสู่ขอและเตรียมการวิวาห์พอท้าวกะหมังกุหนิงทราบก็มาสู่ขอนางอีกเมื่อไม่ได้นางจึงเกิดศึกในเมืองดาหาเพื่อช่วงชิงนางบุษบาไม่ใช่ว่านางไม่มีใคร อันข่าวลือที่ว่าบุษบางามนักนั้นแต่ก็งามสู้นางจินตะหราไม่ได้ ครั้งนี้จำเป็นจึงต้องจำจากไปเพราะเกรงกลัวท้าวกุเรปันบิดาต่างหาก หากเสียเมืองดาหาก็เหมือนเสียถึงวงศ์ตระกูลมีแต่จะถูกนินทา ขอให้นางคิดให้ดีเมื่อไปแล้วก็ไม่อยู่นานจะรีบกลับมาหานาง นางอย่าได้โศกเศร้าเสียใจ อิเหนาหอมแก้มนางและประคองขึ้นบนตัก นางจิตะหราเห็นสารแล้วค่อยบรรเทาความทุกข์ความแคลงใจ นางบอกอิเหนาว่าจะไปทำศึกก็ตามใจแต่เมื่อเสร็จศึกให้คิดถึงเมืองหมันหยาและรีบกลับมานางจะรอ อิเหนารับขวัญนางแล้วว่าคงเป็นเวรกรรมที่ต้องจากไปก็ขอฝากนางมาหยารัศมีและนางสการะวาตีให้จินตะหราดูแลเพราะนางทั้งสองห่างไกลบิดามารดาอย่าได้เคียดแค้นหึงหวงถ้าผิดก็ให้เมตตานางทั้งสอง อย่าถือโทษโกรธเคือง แล้วถอดสังวาลให้นางจินตะหราไว้ดูต่างหน้า
อิเหนาทูลลาท้าวหมันหยาและประไหมสุหรี  ต่างองค์ต่างอวยพรให้เดินทางปลอดภัยและให้ข้าศึกศัตรูพ่ายแพ้  แล้วอิเหนาก็ทูลลากลับมาที่ตำหนักของตน
พอรุ่งเช้า อิเหนาทรงช้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ โหราและชีพราหมณ์พอได้ฤกษ์ก็ลั่นฆ้องดังสนั่นกึกก้องไปทั้งสนาม ปุโรหิตทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามตำราพิชัยสงคราม ทั้งทัพหน้า ทัพหลัง ทัพหลวงพร้อมกัน ทหารโบกธงทองกระบี่ครุฑ พวกฝรั่งจุดปืนใหญ่ให้สัญญาณ ชีพราหมณ์ทำพิธีเบิกโขลนทวารอ่านคาถาอาคม เคลื่อนกองทัพ ออกจากเหมืองหมันหยา มุ่งตรงไปเมืองดาหา ระหว่างทางอิเหนาโศกเศร้าเสียใจอาลัยรักนางทั้งสามยิ่งนัก ว่าป่านนี้จะคร่ำครวญหา ใครจะปลอบนาง  คิดถึงความหลังแล้งยิ่งใจหายคิดไปก็อายพวกไพร่พลจึงชักม่านปิดทั้งสี่ทิศเหมือนจะบังแสงดวงอาทิตย์ ลมพัดกลิ่นดอกไม้เหมือนกลิ่นผ้านางที่เปลี่ยนมา ได้ยินเสียงนกยูงร้องก็คิดว่าเป็นเสียงของนาง จึงเผยม่านออกมาเห็นแต่ต้นไม้ใบไม้จึงเอนตัวลงพิงหมอนเอามือก่ายหน้าผากคิดถึงความรักก็ยิ่งเศร้าใจจนน้ำตาไหลออกมา ประสันตาพี่เลี้ยงเห็นเช่นนั้นก็ขี่ช้างมาข้างท้ายชี้ชวนให้ชมธรรมชาติของป่าไปตลอดทาง ว่าป่านี้แปลกตากว่าป่าไหนๆ ไว้เสร็จศึกแล้วน่าจะชวนนางทั้งสามมาเที่ยวพักผ่อนให้สบาย อิเหนานิ่งฟังอยู่นานก็คลายทุกข์แล้วลุกขึ้นถามว่าป่านี้หรือสนุกว่าพลางอิเหนาก็มองไปถามว่าไหนล่ะอย่าโกหกกัน
ประสันตาแกล้งทำตกใจทูลว่าอยู่ดงนี้เพราะช้างเดินเลยมาแล้วแต่ดงข้างหน้ายังมี อิเหนายิ้มแล้วตอบว่าโกหกซึ่ง ๆ หน้าช่างไม่อาย ยังมาเฉไฉไปอีกคนอะไรน่าจะผลักให้ตกจากช้างท่าจะดี
อิเหนาชมนกชมไม้ต่าง ๆ เห็นนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนกเบญจวรรณ นกนางนวล นกจากพราก นกแขกเต้าที่กำลังเกาะต้นเต่าร้าง นกแก้ว นกตระเวนไพร นกเค้าโมง นกคับแค ก็ให้นึกไปถึงนางทั้งสามตลอดทาง เดินทางมาหลายวันก็มาถึงทางร่วมเมืองกุเรปันพบกับกองทัพของกะหรัดตะปาตีอิเหนาก็ให้หยุดกองทัพ
กะหรัดตะปาตีพี่ชายอิเหนาเห็นทัพอิเหนายกมาก็ดีใจ บอกว่าท้าวกุเรปันบิดาให้คุมทัพมารอทัพอิเหนาเพื่อไปช่วยเมืองดาหามาคอยอยู่หลายวันแล้วข่าวว่าข้าศึกประชิดเมืองแล้วจะได้รีบไป อิเหนาจึงว่าการเดินทางทัพนั้นอ้อมกว่ากุเรปัน แล้วทั้งสองทัพก็จัดทัพเข้ากระบวนเดียวกันเร่งรีบยกทัพไปยังกรุงดาหาทันที เมื่อถึงชายแดนเมืองดาหา อิเหนาก็หยุดตั้งค่ายนามครุฑตามตำราพิชัยสงคราม แล้วให้ตำมะหงงรีบไปกราบทูลท้าวดาหา ให้กราบทูลอย่าให้ขุ่นเคืองใจ ตำมะหงงรับคำสั่งแล้วควบม้าไปทันทีเมื่อไปถึงก็แจ้งยาสาเสนาเมืองดาหาว่าบัดนี้อิเหนา และกะหรัดตะปาตีจากกุเรปันยกทัพมาช่วยพระธิดาดาหาแล้วจงพาเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องราวให้กระจ่าง
ยาสาดีใจมากพาตำมะหงงเข้าไปท้องพระโรงทันที ตำมะหงงกราบทูลว่าบัดนี้อิเหนากับกะหรัดตะปาตียกทัพมามากมายหลายแสนตั้งอยู่ปลายแดนเมืองดาหา ท้าวดาหารู้ว่าอิเหนายกทัพมาช่วยก็มีความดีใจเพราะอิเหนามีความ เก่งกล้าสมารถเห็นว่านางบุษบาจะไม่เป็นอันตราย แต่ไม่แสดงออกให้ใครเห็น ยิ้มแล้วกล่าวว่าอิเหนายกทัพมาช่วยก็ขอขอบใจ แล้วให้ตำมะหงงไปเชิญให้เข้ามาในเมืองจะได้พักผ่อนให้สบาย ตำมะหงงกราบทูลว่าอิเหนารู้ตัวดีว่ามีความผิดติดตัวอยู่ จึงขอทำศึกให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะเข้ามาถวายบังคม ท้าวดาหาจึงไม่ได้รับสั่งอะไร แต่ถามสุหรานากงว่าจะทำศึกในเมือง หรือจะไปช่วยพี่ ๆรบ
สุหรานากงทูลว่ามาอยู่ดาหานานแล้วจึงขออาสาออกไปช่วยอิเหนาและกะหรัดตะปาตีออกรบ เมื่อท้าวดาหาอนุญาต สุหรานากงก็กราบทูลลาออกมาเตรียมไพร่พลแล้วยกพลออกจากเมืองไปยังค่ายของอิเหนา เมื่อไปถึงก็เข้าเฝ้าอิเหนาสนทนากันด้วยความยินดีเล่าเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบว่า เมื่อวันที่สุหรานากงมาถึงเมืองดาหาได้ทูลว่าอิเหนาจะยกทัพมาช่วย  ดูท่าทางท้าวดาหาจะขัดเคืองว่าไหนเลยจะจากเมืองหมันหยามาเพราะรักเมียดังแก้วตาคงไม่มาแน่นอน เกิดศึกก็เพราะใครจนเดือดร้อนไปทั้งเมือง นับประสาอะไรกับท้าวดาหาแม้นตายก็คงไม่เผาผี อิเหนาได้ฟังก็ตอบว่าที่ท้าวดาหาขุ่นเคืองนั้นก็รู้กันอยู่อิเหนาไม่ถือโทษโกรธตอบคิดแต่จะทำศึกให้ได้ชัยชนะแล้วเข้าเฝ้าจะด่า ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ตำมะหงงทูลว่าท้าวดาหารับสั่งให้ทูลอิเหนาว่าท่านขอบใจมากเชิญเข้าในเมืองจะได้พักพล แต่ตำมะหงงทูลท้าวดาหาว่าอิเหนาจะขอทำศึกแก้ตัวก่อนเสร็จศึกแล้วจึงจะเข้าเฝ้าดูท่าทีจะคลายความโกรธเคืองลงแล้ว อิเหนาได้ฟังตำมะหงงทูลก็รู้สึกสบายใจเสด็จกลับเข้าข้างใน  สุหรานากงก็กลับไปยังที่พัก
อิเหนาได้ฟังพี่เลี้ยงเล่าเรื่องราวให้ฟังจึงสั่งตำมะหงงให้เร่งจัดทัพ ตำมะหงงรับคำสั่งแล้วรีบออกไปจัดทัพทันที 
ฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิง เห็นกองทัพใหญ่ตั้งมั่นขวางเมืองไว้จึงเรียกวิหยาสะกำโอรสและระตูปาหยัง กับระตูประหมันน้องชายรีบกระตุ้นม้าออกไปประจำที่กองทัพ แล้วประกาศให้เร่งตีทัพดาหาให้ได้ในวันนี้ ดะหมังรับคำสั่งก็รีบเข้าโจมตีทันที บ้างจุดปืนใหญ่ (ฉัตรชัย มณฑก นกสับ) นายกองแกว่งดาบควบม้าเข้าชิงชัยกัน ทหารเมืองกุเรปันใช้ปืนตับยิงสกัดไว้แล้วไล่ประจัญบานกัน ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือ ต่อสู้กันจนถึงอาวุธสั้น ดาบสองมือโถมเข้าทะลวงฟัน พวกใช้กริชต่อสู้ก็ต่อสู้กันพลวัน ทหารหอกก็ป้องปัดอาวุธไม่หลบหนี ทหารม้ารำทวนเข้าสู้กัน บ้างสกัดหอกที่ซัดมา บ้างพุ่งหอก บ้างยิงเกาทัณฑ์ เข้าตะลุมบอนกันกลางสนามรบ  ส่วนที่ตายทับกันเหมือนกองฟาง เลือดไหลนองไปทั่วท้องทุ่ง กองหลังก็หนุนขึ้นไปไม่ขาดสาย
สังคามาระคาเห็นข้าศึกโจมตีไม่หยุดก็โกรธมากแกว่งดาบขับม้าเข้าโจมตีข้าศึก ตามลำพัง อิเหนากับระเด่นทั้งสามหันไปดูเห็นสังคามาระตากล้าหาญไม่กลัวเกรงข้าศึกจึงขับม้าตามไป
ท้าวกะหมังกุหนิงมองเห็นอิเหนาและระเด่นทั้งสามจึงถามว่าใครคือจรกา อิเหนายิ้มแล้วตอบว่ายกทัพมาจากเมืองกุเรปันเพื่อสังหารข้าศึกที่มาติดเมืองดาหา มาถามหาจรกานั้นไม่อยู่ในกองทัพนี้ ท้าวกะหมังกุหนิงรู้ว่าเป็นอิเหนาก็รู้สึกกลัวอยู่ลึก ๆ แต่แข็งใจตอบว่า อิเหนาอายุยังน้อยและรูปร่างก็สวยงามพอได้เห็นก็น่าเสียดายที่ต้องมาตายเสียเปล่าไม่ควรต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิง เพราะท้าวกะหมังกุหนิงกับอิเหนาไม่มีข้อขัดข้องหมองใจกันให้จรกามารบเถิดจะได้ดูเล่นเป็นขวัญตา
อิเหนาจึงตอบว่าอันตัวจรกานั้นไม่ได้อยู่ที่เมืองดาหานี้เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงหลับหูหลับตามารบผิดเมือง ทำให้ไพร่พลล้มตายเสียเปล่า ถ้าจะรบกับจรกาก็ต้องไปเมืองของจรกา หากไม่รู้จักทาง อิเหนาจะช่วยชี้ทางให้ แต่ถ้ายังขืนตั้งทัพประชิดดาหาอยู่อีก ก็คงจะต้องรบกัน เพราะถึงระตูจรกาจะไม่ยกทัพมา ตัวอิเหนาเองในฐานะพี่ชาย ก็ต้องปกป้องบุษบาผู้เป็นน้องให้ปลอดภัย
ท้าวกะหมังกุหนิงจึงชี้แจงว่า ที่ยกกองทัพมาหมายจะชิงตัวนางบุษบา เพราะถึงท้าวดาหาจะรับของหมั้นจากจรกาไว้แล้ว แต่ก็ยังมิได้อภิเษกสมรสกัน จรกาไม่ได้มาด้วยก็ดี จะได้ไม่มีก้างขวางคอ การชิงนางเช่นนี้ย่อมไม่ผิดธรรมเนียมเพราะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ สุดแต่ว่าใครจะมีฝีมือมากกว่าก็ได้นางไป ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่ใช่ธุระกงการอะไรของพี่ชาย เพราะฉะนั้นจงยกทัพกลับไปเสียดีกว่า อิเหนาจึงท้ารบกับท้าวกะหมังกุหนิง แล้วบอกว่าหากรักตัวกลัวตาย ก็ให้รีบมาก้มกราบแล้วยกทัพกลับเมืองไปเสีย
วิหยาสะกำได้ยินแล้วเคียดแค้นแทนท้าวกะหมังกุหนิง จึงกล่าวกับอิเหนาว่าอย่าปากกล้าโอหังลบหลู่ผู้ใหญ่ อย่าทะนงตัวว่าเก่ง เมื่อรบกัน ไม่ใครก็ใครก็ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง นี่ยังไม่ทันรบเลยก็มาพูดจาข่มขู่ให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้เสียแล้ว สังคามาระตาฟังวิหยาสะกำพูดดังนั้นก็โกรธ ขออาสารบกับวิหยากะกำ อิเหนาก็อนุญาตแต่กำชับเตือนว่าอย่าลงจากหลังม้า เพราะไม่ชำนาญเพลงดาบ ให้รบด้วยทวนบนหลังม้าซึ่งชำนาญดีแล้วจะได้มีชัยชนะในการรบ สังคามาระตาจึงขับม้าไปหยุดที่หน้าวิหยาสะกำ ร้องท้าให้รบด้วยเพลงทวน และแกล้งเยาะเย้ยว่าหากมีฝีมือควรคู่กับวงศ์เทวัญก็จะยกนางบุษบาให้
วิหยาสะกำแค้นใจยิ่งนัก จึงถามออกไปว่าเจ้าผู้เก่งกล้ามีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร อยู่เมืองไหนเป็นเชื้อสายตระกูลใด หรือเป็นเชื้อสายในวงศ์เทวัญของสี่เมืองจึงมาท้ารบช่างไม่กลัวตาย และผู้ที่ทรงม้าอยู่ในร่มมีใครบ้าง แล้วค่อยมารบกัน สังคามาระตาได้ฟังก็โกรธมาก ก็ชี้แจงว่ามีอิเหนาเมืองกุเรปัน กะหรัดตะปาตีพี่ชายอิเหนา สุหรานากง แห่งเมืองสิงหัดส่าหรี ระเด่นดาหยนจากเมืองหมันหยา ตัวเราชื่อสังคามาระตาบุตรท้าวปักมาหงันเป็นน้องของอิเหนา วิหยาสะกำยิ้มเยาะแล้วว่ายังสงสัยว่าตัวสังคามาระตานั้นเป็นน้องอิเหนาได้อย่างไร หรือมีความรักใคร่กันขอให้บอกมาตามตรง
สังคามาระตาโกรธมากร้องว่าไอ้ข้าศึกวาจาหยาบคายมาถามเอาอะไรนักหนา จึงตอบว่า สุดแต่ว่าจิตพิศวาส  ก็นับเป็นวงศ์ญาติกันได้ หลังจากที่เจรจาได้สักพักก็ลงมือรบกัน ทั้งสองสู้ด้วยทวนบนหลังม้าอย่างกล้าหาญ สง่างามร่ายรำยักย้ายเปลี่ยนแปลกระบวนท่าเพลงทวนอย่างชำนิชำนาญ ในที่สุดสังคามาระตา ก็แกล้งลวงให้วิหยาสะกำแทงทวนแล้วทำทีพ่ายหนี วิหยาสะกำหลงกลชักม้าเลี้ยวตาม สังคามาระตาตลบหลังกลับมาทันที แล้วแทงทวนสอดลอดเกราะของวิหยาสะกำทำให้วิหยาสะกำตกจากหลังม้าตายทันที
เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นวิหยาสะกำถูกอาวุธตกจากหลังม้าก็โกรธ ยิ่งนัก ชักม้าแกว่งหอกเข้าใส่สังคามาระตาทันที อิเหนาจึงรีบควบม้าเข้ามาขวาง พุ่งหอกสกัดไว้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็รับไว้ได้ ทั้งสองรุกไล่กันไปมา ในที่สุดอิเหนาชักม้าออกรอ ไม่บุกเข้าไป คิดว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้นมีฝีมือในการใช้เพลงทวนบนหลังม้า ยากต่อการเอาชนะ จึงต้องออกอุบายให้รบด้วยเพลงดาบ จึงจะสามารถเอาชนะได้ อิเหนาจึงท้าให้ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู้กันด้วยดาบ
ท้าวกะหมังกุ หนิงก็รับคำ ชักดาบออกมาจ้วงฟันอย่างคล่องแคล่ว เมื่อผ่านไปได้พักใหญ่ อิเหนานึกในใจว่าท้าวกะหมังกุหนิงก็เก่งเพลงดาบ ยากที่ใครจะทัดเทียม จึงต้องสู้ด้วยกริชซึ่งองค์เทวัญประทานให้ จึงจะเอาชนะได้ อิเหนาก็ร้องท้าท้าวกะหมังกุหนิงให้มารำกริชสู้อีกเช่นกัน ท้าวกะหมังกุหนิงก็ชักกริชเข้าปะทะต่อสู้อย่างไม่ครั่นคร้าม จนเมื่ออิเหนาเห็นท้าวกะหมังกุหนิงก้าวเท้าผิด จึงแทงกริชทะลุอกไปถึงหลังทำให้ท้าวกะหมังกุหนิงสิ้นใจตายทันที
กะหรัดตะปาตี ระเด่นดาหยน สุหรานากง เห็นอิเหนาสังหารท้าวกะหมังกุหนิงสิ้นชีวิตลง  ทั้งสามจึงชักม้าเข้าสังหารข้าศึก จนระตูปาหยังกับระตูประหมันพ่ายหนีไป ไพร่พลต่างกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง บ้างปลอมปนกับพลทหาร บ้างบ่าวหามใส่บ่าพาวิ่งหนี เครื่องแป้งทิ้งตกกระจายเกลื่อน บ้างหนามเกี่ยวหัวหูก็ไม่รู้สึกตัว บ้างก็หนีไปตามลำพัง บ้างก็ทิ้งปืนหนีไปแอบหลังเพื่อน พวกถูกปืนก็เซซังคลานหนี ระตูทั้งสองเมื่อกลับถึงค่ายก็ปรึกษากันขอยอมแพ้แก่อิเหนา เพื่อเป็นการรักษาชีวิตและรี้พลไว้ แล้วระตูทั้งสองก็เข้าเฝ้าอิเหนา
ระตูปะหมันและระตูปาหยังต่างกลัวจนตัวสั่นแจ้งแก่อิเหนาว่าทั้ง สองมีความผิดหนักหนาแต่ขอประทานชีวิตไว้จะขอเป็นข้ารับใช้ต่ออิ เหนาจนกว่าจะตายและจะส่งบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาก็รับไว้เป็นเมืองขึ้น แล้วให้ทั้งสองนำศพของท้าวกะหมังกุหนิง และวิหยาสะกำไปทำพิธีตามราชประเพณี แล้วอิเหนาก็มาดูศพวิหยาสะกำ เห็นศพถูกทิ้งอยู่พิจารณาดูแล้วก็ใจหายเพราะยังเป็นหนุ่มอยู่รูปร่างก็สวยงามนับว่าสมชายชาตรี ฟันแดงดังแสงทับทิม หน้าตางดงามรับกับคิ้ว ผมปลายงอนงามรูปร่างสมส่วนอย่างนี้บิดาจึงรักนักหนาจนต้องมาตายเพราะลูก หากจรกางดงามอย่างวิหยาสะกำก็จะไม่ร้อนใจว่าจะมาปะปนศักดิ์กัน แล้วอิเหนาก็ขึ้นม้ากลับที่พักไป
ระตูปะหมันและระตูปาหยังกอดศพท้าวกะหมังกุหนิงพี่ชายร้องไห้รำพันออกมาด้วยความเศร้าว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้นมีชื่อเสียงเกียรติยศปรากฏไปทั่วทุกแผ่นดินทำสงครามทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นเพราะคิดประมาทรักลูกมากเกินไปจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง อนิจจาวิหยาสะกำคงเป็นเวรกรรมแต่ครั้งก่อน เสียแรงที่มีกำลังมีความกล้าหาญต้องมาตายตั้งแต่ยังอายุน้อย ต่อไปนี้คงไม่ได้เห็นหน้า กลับบ้านเมืองไปคงจะมีแต่ความเงียบเหงา ทั้งสองระตูต่างโศกเศร้าเสียใจ



 

อิเหนา


ความเป็นมา
อิเหนา  เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  มีที่มาจาก
นิทานปันหยี  ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง


มีเรื่องเล่ากันว่าพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงได้นางข้าหลวงมาจากปัตตานี นางข้าหลวงคนนี้ได้เล่านิทานปันหยีหรือเรืองอิเหนาของชวาถวาย เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงนำเค้าเรื่องมาแต่งเป็นบทละครเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงแต่งเรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก) ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาเป็นบทละครสำหรับใช้แสดงละครรำ ในตอนท้ายของบทพระราชนิพนธ์ได้อ้างถึงเรื่องอิเหนาในสมัยอยุธยาว่า

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง 

สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์
แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ

***********************

ดินแดนชวาโบราณมีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า  วงศ์อสัญแดหวาหรือวงศ์เทวา  เพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากเทวดา  คือ  องค์ปะตาระกาหลา  กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์  องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองครองเมืองดาหา  องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง  และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี  กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์  ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงจึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง  นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ 5 องค์  ตามลำดับตำแหน่ง  คือ  ประไหมสุหรี  มะเดหวี  มะโต  ลิกู  เหมาหราหงี  แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า  กล่าวคือ  เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์  องค์โตชื่อนิหลาอระตา  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองชื่อ  ดาหราวาตี  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา  ส่วนองค์สุดท้องชื่อ  จินดาส่าหรี  ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน  และได้ครองเมืองหมันหยา
          ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู  ชื่อว่า  กะหรัดตะปาตี  ต่อมามีโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก  ชื่อ  อิเหนา  หรือ  ระเด่นมนตรี  และมีราชธิดาชื่อวิยะดา  ส่วนท้าวดาหามีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อ  บุษบา  และมีโอรสชื่อ  สียะตรา  บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา  ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา  และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
          ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีราชธิดาชื่อระเด่นจินตะหรา  อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา  ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อระเด่นสุหรานากง  ราชธิดาชื่อระเด่นจินดาส่าหรี  ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ  ระเด่นสกาหนึ่งรัด  ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันของสุหรานากง
          เมื่อพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์  ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับกะหรัดตะปาตี  อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก  จนพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็ยังไม่ยอมกลับกุเรปัน  ท้าวกุเรปันจึงต้องอ้างว่าประไหมสุหรีจะมีพระประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลังใจให้พระราชมารดา  อิเหนาจำใจต้องกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติ  พระราชธิดาหน้าตาน่ารัก  นามว่า  ระเด่นวิยะดา
          อย่างไรก็ตามอิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก  โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่า  แล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ  มิสารปันหยี  ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา  น้องชายสุดท้องของระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน  ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ  นางดรสาซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระสวามี  ส่วนระตูจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา  คือ  นางสะการะวาตี  นางมาหยารัศมี  และสังคามาระตา  เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา  แล้วได้สองนางคือ  นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา  และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
          ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง  พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา  แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ  สั่งความตัดรอดนางบุษบา  ท้าวกุเรปันและท้าดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย  ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก้จะยกให้
          ฝ่ายจรกา  ระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง  และเป็นอนุชาของท้าวล่าส่ำ (ท้าล่าส่ำผู้นี้มีธิดา  คือ  ระเด่นกุสุมา  เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา)  จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ  แต่อยากได้ชายารูปงาม  จึงให้ช่วงวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของเมืองสิงหัดส่าหร  คือ  นางจินดาส่าหรี  ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดแอบวาดภาพนางบุษบาอีก  ช่างวาดแอบวาดภาพได้ 2 ภาพ  คือ  ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทบและภาพที่แต่งองค์เต็มที่  ขณะเดินทางกลับองค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป  จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหลถึงกับสลบลงทันที
          เมื่อจรกาได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน  จึงรีบให้ระตูล่าส่ำ  พี่ชายมาสู่ขอบุษบา  ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่ว  ต่ำศักดิ์  แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอก็จะยกให้  จึงจำใจยกนางบุษบาให้จรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน

 

วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566

พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก นับเป็นวีรชนของชาติอีกคนหนึ่งเป็นขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเนื่องจากเป็นทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นผู้มีส่วนกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีชื่อเสียงอย่างยิ่งจากความกตัญญูกตเวทีและความกล้าหาญ หนึ่ง ใน สี่ทหารเสือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่ หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท), หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก), พระยาเชียงเงิน (พระยาสุโขทัย), หลวงพรหมเสนา (เจ้าพระยานครสวรรค์



พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน บิดามารดาไม่ปรากฏนาม

เด็กชายจ้อยมีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะ ชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานเพราะเป็นคนขยันและเอาใจใส่ในตำราเรียนคอยรับใช้อาจารย์ และซ้อมมวย ไปด้วย ทั้งหมัด เข่า ศอก และสามารถเตะได้สูงถึง 4 ศอก ในขณะที่เป็นเด็กวัดนั้นเขามักจะถูกกลั่นแกล้งจากเด็กที่โตกว่าเสมอ แต่ในระยะหลังเขาก็สามารถปราบเด็กวัดได้ทุกคนด้วยชั้นเชิงมวย ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีมาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบ ครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป

เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้ว แสดงท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมด สามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบายจากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆ ซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวยมาก ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น ขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ 18 ปี ต่อมาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้ ถูกเตะสลบไปนาน ประมาณ 10 นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆ และได้ตลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง 4 ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ 2 ปี ก็ขอลาไปศึกษา การฟันดาบ ที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้น ก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ 1 คน ชื่อบุญเกิด ครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้ช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว

เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าว ซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตาก และมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอก และเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบไปเจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น รับใช้เป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างไกล้ชิด และเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อม กรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและทหารหาญ ได้เข้าปะทะต่อสู้จนชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร ได้เข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์

ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย

ในปี พ.ศ. 2313 - 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคูณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก "การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ วัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316) พระยาพิชัยต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งศึกโปสุพลายกทัพมาตีเมืองพิชัยจนดาบคู่กายของท่านหัก

เมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตนเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระองค์จึงได้ทรงรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน

พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป

วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566

ดาวลูกไก่ ตอน 2 : พร ภิรมย์

 

ดาวลูกไก่ ตอน 2 : พร ภิรมย์

เนื้อเพลง : ดาวลูกไก่ ตอน 2
ศิลปิน : พร ภิรมย์

พระธุดงค์ทรงกลด ตะวันก็หมดแสงส่อง
อาศัยโคมทองจันทรา

ที่ลอยขึ้นมายอดเขา ฝ่ายว่าสองยายตา
จึงเกิดศรัทธาสงสาร พระผู้ภิกขาจารย์
จะขาดอาหารมื้อเช้า
อยู่ดงกันดารป่านนี้ หรือก็ไม่มีบ้านอื่น
ข้าวจะกล้ำน้ำจะกลืน
จะมีใครยื่นให้เล่า
พวกฟักแฟงแตงกวา
ของเราก็มาตายหมด
นึกสงสารเพราะจะอด
ทั้งสองกำสรดโศกเศร้า
สักครู่หนึ่งตาจึงเอ่ย
นี่แน่ะยายเอ๋ยตอนแจ้ง
ต้องเชือดแม่ไก่แล้วแกง
ฝ่ายยายไม่แย้งตาเฒ่า ฝ่ายแม่ไก่ได้ยิน
น้ำตารินรี่ไหล ครั้นจะรีบหนีไป
ก็คงต้องตายเปล่าๆ อนิจจาแม่ไก่
ยังมีน้ำใจรู้คุณ ที่ยายตาการุณ
คิดแทนคุณเม็ดข้าว น้ำตาไหลเรียกลูก
เข้ามาซุกซอกอก น้ำตาแม่ไก่ไหลตก
ในหัวอกปวดร้าว อ้าปากออกบอกลูก
แม่ต้องถูกตาเชือด คอยดูเลือดแม่ไหล
พรุ่งนี้ต้องตายจากเจ้า
มาเถิดลูกมาซุกอก ให้แม่กกก่อนตาย
แม่ขอจะกกเป็นครั้งสุดท้าย
แม่ต้องตายตอนเช้า
อย่าทะเลาะเบาะแว้ง
อย่าขัดแย้งเหยียดหยัน
เจ้าจงรู้จักรักกัน อย่าผลุนผลันสะเพร่า
เจ้าตัวใหญ่สายสวาท
อย่าเกรี้ยวกราดน้องน้อง
จงปกครองดูแล ให้เหมือนแม่เลี้ยงเจ้า
น่าสงสารแม่ไก่ น้ำตาไหลสอนลูก
เช้าก็ถูกตาเชือด ต้องหลั่งเลือดนองเล้า
ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด เหมือนถูกเด็ดดวงใจ
จึงพากันโดดเข้ากองไฟ
ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว
ด้วยอานิสงฆ์อันประเสริฐ
ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว

ดาวลูกไก่ ตอน 1 : พร ภิรมย์

 

ดาวลูกไก่ ตอน 1 : พร ภิรมย์

เนื้อเพลง : ดาวลูกไก่ ตอน 1
ศิลปิน : พร ภิรมย์


โอ้ชีวิตคิดไฉน ใครหนอใครลิขิต
ปกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า
บ้างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก
บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า
แต่จอมนราพิสุทธ๋ ท่านสอนพุทธบริษัท
เป็นธรรมะปรมาศ อ้างถึงอำนาจกรรมเก่า
ว่ากุศลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข
อกุศลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า
บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมัววุ่น
สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนดำที่ฉาบด้วยขาว
ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตเสน่หา
ที่จะเป็นนาคเทศนา มาเจรจายั่วเย้า
จึงตั้งศรัทธาสาทก เรื่องยาจกยากจน
มีตากับยายสองคน ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา
แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว
เช้าก็ออกไปริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว
เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ ซิแม่ก็โอบปีกอุ้ม
กางสองปีกออกคลุม พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า
แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก เสียงกรุ๊กกรุ๊กปลุกขวัญ
ลูกตอบเจี๊ยบๆเสียงลั่น ทั้งๆที่ขวัญเขย่า
แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้
ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์ สิไม่มีสุขใดเท่า
ถึงคราวจะสิ้นชีวิต เมื่อใกล้อาทิตย์อัศดง
มีภิกษุหนึ่งองค์ เดินออกจากดงชายเขา
ธุดงค์เดียวด้นดั้น เห็นสายันห์สมัย
หยุดกางกลดพลันทันใด หลังบ้านตายายผู้เฒ่า
อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง เปิดหน้าสองฟังเอา

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2566

ตำนานนางสงกรานต์ทั้ง ๗

นางสงกรานต์นั้นไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงคติความเชื่อที่ปรากฎอยู่ในตำนานสงกรานต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงในแผ่นศิลา 7 แผ่น แปะประดับไว้ที่ศาลารอบมณฑบทิศเหนือในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ โดยมีตำนานเล่าขานว่านางสงกรานต์  เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม  หรือท้าวมหาสงกรานต์  และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช  (สวรรค์ชั้นที่  1  ในทั้งหมด  6  ชั้น)  ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง 

ตำนานนางสงกรานต์

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงขอบุตรต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์

โดยมีเกณฑ์ว่า วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้ "นางสงกรานต์" ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ซึ่งนางสงกรานต์มีชื่อดังนี้

 ดังนี้

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) อ่านว่า คัด ทะ ระ ภะ

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)


สำหรับ นางสงกรานต์ ปี 2566 คือ “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็นธงชัย, วันพุธ เป็นอธิบดี, วันศุกร์ เป็นอุบาทว์, วันศุกร์ เป็นโลกาวินาศ

ปีนี้วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี

ขอบคุณข้อมูลจาก หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 

ขอบคุณภาพจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และเฟซบุ๊ก Om โอมรัชเวทย์ Style


วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566

ท้าวปาจิต - อรพิม



 “ปาจิต-อรพิม” เป็นนิทานเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นอีสาน นำมาจากชาดกนอกนิบาตเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน “ปัญญาสชาดก” เนื้อเรื่องแบ่งเป็นการเล่าแบบสอนศาสนาและเล่าเป็นแบบนิทานชาวบ้านผนวกการอธิบายชื่อบ้านนามเมือง “ปาจิต-อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่นบริเวณอีสานใต้ ซึ่งใช้อธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองแถบปราสาทหินพิมายและสถานที่ในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน

 

ท้าวปาจิต  เป็นโอรสของพระเจ้าอุทุมราช  กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธม  เมื่อเจริญวัยหนุ่มพระบิดาให้เลือกคู่ครอง  โดยการให้ทหารไปประกาศเรียกสาวทั้งเมืองมาให้ท้าวปาจิตเลือก  ทั้งลูกสาวเสนาอำมาตย์  ข้าราชการ  พ่อค้า  ชาวนา  ชาวไร่   แต่ท้าวปาจิตไม่ได้คล้องพวงมาลัยให้สาวคนใด  พระเจ้าอุทุมราชจึงได้ให้โหรทำนายเนื้อคู่ให้แก่พระโอรส  เมื่อโหรหลวงตรวจดูดวงชะตาแล้วจึงกราบทูลว่าเนื้อคู่ของท้าวปาจิตยังไม่เกิด  ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่งในอำเภอพิมาย  ท้าวปาจิตยังไม่แน่ใจในคำทำนายจึงเดินทางไปหาหญิงผู้นั้น  ซึ่งสังเกตได้ง่ายว่ามีครรภ์และมีเงากลดกั้นอยู่


ท้าวปาจิตไม่รอช้าเร่งออกเดินทางตามคำทำนายของโหร  จนกระทั้งมาถึงเขตเมืองพิมาย  จึงกางแผนที่ออกดู  พื้นที่ตรงนั้นจึงเรียกว่าบ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็นบ้านจารตำรา  ท้าวปาจิตได้ข้ามถนนเข้าในเขตเมืองพิมาย  บริเวณนั้นเรียกว่าบ้านถนน  แล้วเดินทางมาตามทางจนถึงหมู่บ้านหนึ่งที่มีต้นสนุนมาก  บริเวณนั้นจึงเรียกว่าบ้านสะนุ่น  ปัจจุบันเรียกว่าบ้านท่าหลวง  แต่ปรากฏว่าเดินผิดเส้นทางจึงเดินทางไปอีกเส้นทางหนึ่งถึงบ้านสำริต  พบหญิงครรภ์แก่ชื่อยายบัวกำลังดำนาอยู่  เหนือหัวของนางบัวมีเงาเมฆคล้ายกลดกั้นอยู่ท้าวปาจิตก็แน่ใจว่าเป็นหญิงตามคำทำนาย  จึงเข้าไปแนะนำตนเองพร้อมแจ้งจุดประสงค์ที่เดินทางมา  และตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยยายบัวดำนาจนกว่าจะคลอดลูก  หากลูกคลอดเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย  แต่ถ้าหากเป็นหญิงจะมาสู่ขอเป็นมเหสี  ยายบัวก็ได้ตกลงตามที่แจ้ง

ท้าวปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวเรื่อยมาจนยายบัวครบกำหนดคลอด  จึงตามหมอตำแยมาทำคลอด  หมู่บ้านนั้นต่อมาจึงเรียกชื่อว่าบ้านตำแย  ทางด้านยายบัวได้คลอดลูกออกมาเป็นหญิงตรงตามคำทำนายจึงให้ชื่อว่าอรพิม  มีหน้าตางดงาม  ผิวพรรณผ่องใสเป็นที่พอใจของท้าวปาจิต  เมื่อเจริญวัยสาวก็ได้ผูกใจรักใคร่กับท้าวปาจิต  วันหนึ่งท้าวปาจิตจึงบอกให้นางอรพิมทราบว่าตนจะกลับบ้านกลับเมืองเพื่อยกขันหมากจากนครธมมาสู่ขอนางอรพิม  เพื่อไปอภิเษกสมรสที่นครธม  แล้วก็ลานางไปเมื่อมาถึงนครธมท้าวปาจิตได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราช  พระเจ้าอุทุมราชจึงได้จัดขบวนขันหมาก  มีรี้พลมากมาย  ในขณะเดียวกันด้านเมืองพิมายได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม โดยพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพิมายได้ทราบถึงความงามของนางอรพิมจึงได้ให้พระยารามไปนำตัวนางอรพิมมาขังไว้ในพระราชวัง    ด้านนางอรพิมขัดขืนไม่ได้จำต้องมาจึงได้ตั้งจิต อธิฐานว่าถ้าไม่ใช่ท้าวปาจิตแล้วผู้ใดแตะต้องกายนางของให้ร่างกายนางร้อนเหมือนไป  พระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องไม่ได้  นางจึงได้ทูลพระองค์ว่าจะรอให้พี่ชายนางมาก่อนจึงจะยินยอมเป็นมเหสี

ทางด้านขบวนขันหมากของท้าวปาจิต  เดินทางมาหลายคืนหลายวันจนถึงลำน้ำแห่งหนึ่งจึงได้หยุดพักเพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พัก  ชาวบ้านเห็นผู้คนในขบวนมากมายจึงเข้ามาไต่ถาม  
ทหารจึงได้ตอบว่าจะเดินทางไปบ้านสำริต  เพราะพระโอรสของกษัตริย์จากเมืองขอมจะมาสู่ขอสาวบ้านนี้  ชื่อนางอรพิม  ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่าพระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวนางอรพิมไปไว้ในปราสาท

พระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิตทราบเรื่องก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก  โดยเฉพาะท้าวปาจิตโกรธมากถึงกับโยนข้าวของเครื่องใช้ขันหมากทิ้งลงแม่น้ำหมด  (ที่ตรงนั้นเรียกว่าลำมาศ)  ไหลลงสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้  ส่วนรถทรง  ก็ตีล้อดุมรถ  และกงรถจนหักทำลายหมด  ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ในที่แห่งหนึ่ง (เรียกชื่อว่าบ้านกงรถ)  จากนั้นท้าวปาจิตจึงเดินทางไปตามลำพัง  พระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารจึงเดินทางกลับนครธม

ท้าวปาจิตเดินทางไปพบยายบัวปลอบโยนนางรับปากว่าจะช่วยนางอรพิมออกมาให้ได้  


ท้าวปาจิตปลอมเป็นชาย เมื่อนางอรพิมเห็นจึงเรียกว่า พี่มา กลายเป็นชื่อเมืองพิมายในปัจจุบัน หลังสังหารกษัตริย์พรหมทัต ทั้งสองต่างก็หลบหนีไปตามทาง ในระหว่างทางพบกับนายพรานคนหนึ่ง นายพรานลอบฆ่าท้าวปาจิตตาย นางอรพิมจึงฆ่านายพรานเสีย นางอรพิมได้รากไม้จากพระอินทร์มาจึงช่วยให้ท้าวปาจิตฟื้น เแล้วดินทางต่อจนมาพบสามเณรที่พานางอรพิมหลบหนีปาจิต นางจึงออกอุบายให้สามเณรขึ้นไปที่ต้นมะเดื่อแล้วเอาหนามสุมไฟ เณรตายไปกลายเป็นแมงหวี่ตอมผลมะเดื่อ


จากนั้นท้าวปาจิตจึงใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆจนคลี่คลายจนช่วยนางอรพิมได้ในที่สุด
(ที่มา  นายใส คำชำนิ ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้านกงรถ)

ต่อมาผู้คนได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นที่อยู่ทำมาหากินในบริเวณที่ได้พบ “กงล้อ กงเกวียน” หรือ “กงรถ” จึงพากันขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านกงรถ” และตั้งเป็นชื่อของตำบลเนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่คนอพยพมาอยู่เป็นหมู่บ้านแรก คนส่วนใหญ่ในตำบลได้อพยพมาจากมหาสารคาม อุบลราชธานี  นางรองและนครราชสีมา  เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่ทำกินในบริเวณแหล่งน้ำ ลำห้วยตะเคียนลำห้วยกงรถและลำน้ำมาศ

 ปัจจุบัน  “กงรถ” ดังกล่าว ทางราชการได้เก็บรักษาไว้  และบ้านกงรถยังเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดนครราชสีมา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 53 หน้า 1530   วันที่ 27 กันยายน  2479)

 

เนื้อเพลง