พระญาพญ
พญาสามฝั่งแกน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนาพระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๓ ของพระญาแสนเมืองมากับพระนางรายา พระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากสิบสองพันนาโดยมีพระเชษฐาต่างพระมารดาพระนามว่าท้าวยี่กุมกาม ในกรณีของลำดับองค์ราชบุตรพระญาสามฝั่งแกนนั้น สงวน โชติสุขรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ‘‘เข้าใจว่าคงจะเป็นโอรสองค์ที่ ๓ เพราะตามธรรมเนียมไทโบราณ มีวิธีนับและเรียกลูกคนโตว่า “พี่อ้าย” คนต่อมาก็จะเรียกว่า ยี่-สาม-สี่-งั่ว-ลก-ตามลำดับ แต่ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกนั้น อาจจะสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่มีพระนามปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์’’
ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนทรงมีโอรสต่างมารดาทั้งหมด ๑๐ องค์ดังนี้ ๑.ท้าวอ้าย ๒.ท้าวยี่ ๓.ท้าวสาม ๔.ท้าวไส ๕.ท้าวงั่ว ๖.ท้าวลก ๗.ท้าวเจ็ด ๘.ท้าวแปด ๙.ท้าวเก้า ๑๐.ท้าวสิบหรือท้าวซ้อย
ท้าวอ้าย พระบิดาคิดยกราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ตั้งวังอยู่ที่ใกล้เวียงเจ็ดลินได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา
ท้าวงั่ว หรือเจ้าเชียงล้าน พระบิดาให้ครองพันนาเชียงเรือ
ท้าวลก พระบิดาให้ครองเมืองพร้าว แบ่งสรรที่ดินชาวพร้าวังหินให้ ๕๐๐ พันนา
ท้าวเจ็ด พระบิดาให้ครองเมืองเชียงราย
ท้าวซ้อย พระบิดาให้ครองเมืองฝาง
ส่วนพระโอรสที่เหลืออีก ๕ องค์นั้น คือ ท้าวยี่ ท้าวใส ท้าวแปด และท้าวเก้า พระบิดาปล่อยให้ไปตามทางเดินชีวิตของตนเอง
ในตำนานเก่าแก่แต่โบราณมีการเรียกนามของพระญาสามฝั่งแกนต่างกันไปนาๆ เช่น ดิษฐกุมาร(เจ้าดิสกุมาร) หรือ “เจ้าดิส” ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ “พระเจ้าสามปรายงค์แม่ใน” ในตำนานไม่ปรากฏพระนามและ พญาสามประหญาฝั่งแกนหรือ สามแม่ใน ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล เป็นต้น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ กล่าวถึงที่มาของพระนามพระญาสามฝั่งแกนว่า ทรงได้รับการตั้งพระนามตามสถานที่ประสูติ ช่วงนั้นพระราชมารดาของพระองค์ทรงครรภ์ได้ ๘ เดือน เจ้าแสนเมืองมาพาเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ ถึงสิบสองปันนาลื้อ พอล่วง ๗ เดือนผ่านไป จึงเสด็จกลับมาที่พันนาสามฝั่งแกน และประสูติราชบุตรที่นั่น ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่ที่ ตำบลอินทขิล อำเภอ แม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ โดยบริเวณเมืองเก่านี้มีแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ๑. แม่น้ำแกน ๒. แม่น้ำปิง และ๓. แม่น้ำสงัด หรืองัด
ในงานวิจัย รายงานการสำรวจพื้นฐาน ทุ่งพันแอกพันเฝือเมืองแกน ของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้สันนิษฐานว่าพระนามของพระองค์อาจมาจากทั้งชื่อเมืองพันนาฝั่งแกน หรือชื่อแม่น้ำสามฝั่งแกน ในกรณีของชื่อแม่น้ำแกน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า อาจมาจากคำว่า “กั่งแก๊น” ซึ่งตำนานเมืองแกนกล่าวว่า เป็นอาการคับแค้นใจของประชาชนในเมืองแกนที่ถูกศัตรูรุกราน แล้วกวาดต้อนผู้คนไปทำให้พลัดพรากกัน หรืออาจมาจากคำว่า “แก๊น” แปลว่ากลาง
ภายหลังจากพระญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ในปีพ.ศ. ๑๙๔๕ ราชบุตรเจ้าสามฝั่งแกน ก็ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา การครองราชย์ของพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากพระราชบิดาและเจ้าอา ซึ่งต่อมาพระองค์จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าอาไปเป็นเจ้าสี่หมื่น ครองเมืองพะเยาส่วนพระราชมารดา พระองค์ได้สถาปนาไว้ในที่สมเด็จพระชนนีพันปีหลวง พระมหาเทวีโลกะจุกราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่
ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ได้ตำหนิพระญาสามฝั่งแกนไว้ในตอน สีหฬสาสนาคมนกาล ว่า เจ้าดิสกุมารมีศรัทธาในศาสนาน้อย ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ บวงสรวงแต่ภูติผีปีศาจ สวน ต้นไม้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาและป่า ทรงเซ่นไหว้บวงสรวงด้วยโคและกระบือ เป็นต้น
ทรงสร้างมหาวิหารที่ตำบลฝั่งแกน อันเป็นที่ประสูติของพระองค์ ปรากฏชื่อว่า วัดมุงเมือง ทรงแบ่งนาไร่ถวายแก่มหาวิหารนั้นเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงวัด และทรงแบ่งเอาไร่นาที่เขาถวายเป็นพุทธบูชาในที่ต่างๆ ทั่วแคว้นล้านนาโอนมาถวายแก่มหาวิหารด้วย
ในรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นและเกิดศึกกับอาณาจักรสุโขทัย เริ่มแต่ตอนต้นรัชกาล โดยขณะนั้นท้าวยี่กุมกามพระเชษฐาทรงครองเมืองเชียงรายอยู่ ครั้นพระองค์ได้ทราบข่าวว่าข้าราชการเสนาอำมาตย์ได้เชิญพระอนุชาขึ้นครองเมืองเชียงใหม่เป็นพระญาสามฝั่งแกน หลังจากที่พระราชบิดาทิวงคตแล้ว พระองค์ทรงกริ้วมากที่พระองค์ไม่ได้ครองราชย์ จึงได้ยกรี้พลจากเชียงรายเข้าล้อมหมายจะรบชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ทางฝั่งเมืองเชียงใหม่เองก็ทราบดีว่าไม่ช้านานจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงได้มีการเตรียมกองทัพไว้ล่วงหน้าแต่เมื่อแรกยกราชสมบัติให้เจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเจ้าท้าวยี่กุมกามยกทัพมา ฝ่ายเชียงใหม่ก็ยกทัพออกรบสู้ป้องกันเมืองจนกองทัพเชียงรายไม่สามารถเข้าหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ จำต้องล่าถอยหนีไป กระนั้นก็ตาม ฝ่ายกองทัพเชียงใหม่ยังได้ตั้งกองทัพสกัดทางเท้ายี่กุมกามที่จะเข้าเมืองเชียงราย จนพ่ายแพ้ยับเยินเสียรี้พลเป็นอันมาก เมื่อท้าวยี่กุมกามรู้แน่แล้วว่าตนเองไม่สามารถกินเมืองเชียงใหม่ได้ จึงหนีไปเพิ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระญาไสลือไท) ณ กรุงสุโขทัย
ฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เองก็ทรงเห็นชอบ สั่งให้จัดกองทัพหลวงขึ้นมารบ โดยยกไพร่พลไปตามลำน้ำยมเพื่อเข้าไปตีเมืองพะเยาซึ่งอยู่ฝ่ายเหนือก่อน เมื่อเข้าประชิดเมืองพะเยานั้น ให้ปลูกหอเรือกสูง ๑๒ วา ที่ตำบลหนองเต่า เพื่อจะเอาปืนยิงขึ้นกวาดในเมือง ฝ่ายข้างชาวเมืองพะเยาก็ไปรื้อเอาทองเหลืองกระเบื้องมุงหลังคาวัดมหาพนมาหล่อปืนใหญ่เล่มหนึ่ง ใหญ่ ๔ กำ หนักสามล้านทอง เสร็จแล้วเซ่นสรวงพลีด้วยกระบือเผือก ๑ กระบือ แล้วก็บรรจุลูกกระสุนดินดำ ยิงไปทำลายหอเรือกนั้นพังลง พระมหาธรรมราชาที่ ๓เห็นร้าย จึงให้ท้าวยี่กุมกามนำทัพลาดขึ้นไปทางบ้านแจ้พรานไปเมืองเชียงราย พักบำรุงไพร่พลพอหายอิดโรยแล้ว ก็ยกลงมาทางเมืองฝาง
ตกวันเสาร์ก็เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งกองทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวง ใช้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่เป็นใจความว่า ท้าวยี่กุมกามเป็นพี่ควรจะได้สืบราชสมบัติแทนบิดา ถ้าไม่ให้ท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็จะให้พลโยธาเข้าหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ท้าวขุนเสนาในนครพิงค์เชียงใหม่มีหนังสือตอบไปว่า ท้าวยี่กุมกามไม่สมควรจะได้เป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ถึงแม้เป็นพี่ก็หาสติปัญญาและบุญญาภิสมภารมิได้ เพราะเหตุฉะนั้น การที่จะรบกันด้วยกำลังพลโยธา ไพร่พลก็คงจะล้มตายลงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าจะให้รู้ว่าเจ้าท้าวยี่กุมกามกับเจ้าท้าวสามฝั่งแกน ใครจะมีบุญญาภิสมภารยิ่งกว่ากัน ขอให้จัดสรรทหารที่มีฝีมือเพลงอาวุธอย่างดีฝ่ายละคนให้ต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าคนทั้งสองที่สู้กันนั้น ฝ่ายใดแพ้และชนะ กองทัพฝ่ายนั้นก็เป็นแพ้ด้วยชนะด้วย เป็นการเสี่ยงบุญวาสนาแห่งเจ้าทั้งสองนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ได้ฟังตอบเช่นนั้นก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้เลือกสรรได้คนไทยผู้หนึ่ง เป็นผู้ชำนาญเพลงดาบสองมือหาผู้ใดเสมอมิได้ ฝ่ายข้างชาวเชียงใหม่เลือกได้หาญยอดใจเพชรชำนาญดาบเขน ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันตั้งสนามที่ตำบลเชียงขวาง ครั้นคนทั้งสองเข้าสู้รบกัน ถ้อยทีมีฝีมือปัดป้องว่องไวด้วยกันทั้งสองข้าง แต่ต่อสู้กันอยู่ช้านาน ประหารกันและกันมิได้ ในที่สุดหาญยอดใจเพชรได้ท่วงที ก็ฟันถูกนิ้วแม่เท้าทหารไทยผู้นั้นเพิกไปนิดหนึ่ง ฝ่ายไทยก็เป็นแพ้แก่ชาวเชียงใหม่
ขณะที่กองทัพไทยมาตั้งอยู่นั้น มีชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งชื่อเพ็ดยศ รวบรวมคนหนุ่มฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไปถึง ๓๐ ปี ได้ประมาณ ๒๐๐ คน ขึ้นไปตั้งซุ่มอยู่บนดอยอุสุจบรรต คอยดูชาวทัพไทยออกลาดหาหญ้าช้าง ครั้นได้ทีก็ออกทะลวงฟัน ได้ศีรษะมาถวายพระญาสามฝั่งแกนทุกวัน พระญาสามฝั่งแกนตรัสชมว่าเขาเหล่านี้เป็นเด็กชายน้อยยังมีใจสวามิภักดิ์กล้าหาญถึงปานนี้ จึงตั้งให้ เพ็ดยศที่เป็นหัวศึกสี่หมู่ มีตำแหน่งว่า พญาเด็กชายสืบแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ (ตำแหน่งหัวศึกขุนพล) สี่หมู่นั้นคือ พญาแสนหลวง ๑ พญาสามล้าน ๑ พญาจ่าบ้าน ๑ พญาเด็กชาย ๑
ครั้นอยู่มาได้ ๗ วันพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลิน แล้วก็ขึ้นไปสรงน้ำดำเศียรยังดอยผาลาดหลวง แล้วก็เลิกทัพกลับไปข้ามน้ำแม่ระมิงค์ที่ท่าสบกาง (ปากน้ำกาง) ไปทางตะวันออกแต่งกองทัพซุ่มไว้รั้งท้ายเป็นสามกอง ณ ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง ฝ่ายพระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ จึงแต่งให้หมื่นมะขาม ๑ หมื่นสามหมาก ๑ หมื่นเข็ม ๑ หมื่นเขือ ๑ ถือพลยกไปตามตีตัดท้ายพลพระมหาธรรมราชาที่ ๓ หมื่นทั้งสี่คนยกกองทัพไปจวบกองทัพไทยที่ซุ่มไว้ จึงได้ตกเข้าอยู่ในที่ล้อม กองทัพไทยล้อมไว้ ได้สู้รบกันถึงตะลุมบอนฟันแทงกันเป็นบั้นเป็นบ่อนตายกลาดอยู่ที่ใกล้หนองแสนท่อนนั้น
ในช่วงที่ เชียงใหม่กับสุโขทัยได้ทำการประลองยุทธ์สู้รบด้วยการส่งทหารที่มีฝีมือเพลงดาบ ผลปรากฏว่าสุโขทัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถอยกำลังออกไปตั้งค่ายพักกำลังพลอยู่ที่ดอยเจ็ดลินตลอดเวลาที่อยู่ ณ ที่นั่น พระองค์ทรงสุบินเห็นแต่ช้างไล่ราชสีห์ติดต่อกัน ๗ คืน ยิ่งมาทราบข่าวว่า ทางเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน ๒๒๐ เล่มเกวียนตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ก็ทำให้ทรงมีความกลัวเกรงยิ่งนัก เกิดมีใจครั่นคร้ามจนเลิกทัพกลับไป
ด้วยเหตุนี้ พระญาสามฝั่งแกนจึงได้ถือเอานิมิตของพระมหาธรรมราชาที่ ๓นั้นมาสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้น วัตถุประสงค์ในการสร้างเวียงเจ็ดลิน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พระองค์สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ทางด้านตะวันตก รวมทั้งใช้เป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. ๑๙๕๔) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๙)
กรณีของการสถาปนาเวียงเจ็ดลินนี้อาจหมายความถึงการกระจายความเจริญเข้ามาสู่เขตพื้นที่เชิงดอยสุเทพ โดยการให้ขุนนางหรือบุคคลในราชวงศ์มาปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เป็นเขตชุมชนที่อาศัยของกลุ่มคนพื้นเมืองตั้งแต่ระยะก่อนสมัยล้านนา
ครั้นศึกพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เลิกกลับไปแล้ว อยู่มามินานก็เกิดศึกกับฮ่อขึ้น พระญาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสนหลวง (ฮุน- หนำ) ใช้ให้คนมาทวงบรรณาการเป็นส่วยสองหมื่นคาน (สองหมื่นหาบ) พระญาสามฝั่งแกนตอบว่าส่วนข้าวซึ่งแต่ก่อนเคยส่งเก้าพันคานนั้น หากได้เลิกละเสียแล้วตั้งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าพระญากือนาเป็นต้นมา(เหตุที่ฮ่อยกทัพมาประชิดก็เพราะล้านนาไม่ส่งส่วยให้ นับตั้งแต่สมัยของพระญากือนาแล้ว จึงในปี พ.ศ. (๑๙๔๗-๑๙๔๘) เสนาฮ่อกลับไปทูลพระญาฮ่อเจ้าลุ่มฟ้า พระญาฮ่อจึงให้ฝ่ายฟ้าเมืองแสยกพลศึกเป็นอันมากเข้ามาติดเมืองเชียงแสน พระญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่จึงมอบให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นที่เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกพลชาวเชียงใหม่แปดหมื่นขึ้นไปรักษาเมืองเชียงแสน ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนก็ประมวลรี้พลชาวเชียงแสนและชาวเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองพะเยา รวมพลสองแสนสองหมื่น แต่งรักษาเมืองเชียงแสนทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง แล้วแต่งสนามรบเหนือเมืองเชียงแสนแห่งหนึ่งยาว ๕๐๐๐ วา กว้าง ๑๗๐๐ วา ในเวลากลางคืนแต่งกันไปขุดหลุมไว้หลายแห่ง สานเรือกปิดปากหลุม กรุใบไม้เกลี่ยดินกลบปากหลุมให้เสมอเหมือนพื้นดินธรรมดาไว้ระยะห่างกัน ๑ วาต่อหลุมนั้นๆ กว้าง ๑ วา ลึก ๑ วา ทุกหลุมทำทางไว้ด้านเหนือและด้านตะวันตก ตะวันออกกว้าง ๑๐๐ วา จึงให้ทัพเมืองเชียงรายเมืองฝางเป็นปีกขวา ทัพเมืองเชียงของเมืองเทิงเป็นปีกซ้าย ทัพเมืองเชียงใหม่เมืองพะเยาเป็นองค์ แล้วจัดกองทัพม้า ๕๐๐ ออกยั่วทัพฮ่อ วันนั้นเป็นยามแตรใกล้เที่ยง ฮ่อก็ยกพลศึกเข้ามา ฝ่ายกองทัพชาวล้านนาไทยก็แยกปีกกายอพลศึกเข้าต่อรบตามทางโดยแผนที่ๆ แต่งไว้นั้น และตีฆ้องกลองโห่ร้องเป็นโกลาหล เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งติดพันกันแล้ว ฝ่ายทัพชาวล้านนาก็แสร้งล่าถอยลงมาตามทางที่ทำหลุมไว้นั้น ฮ่อก็ยกพลไพร่รบตะลุยลงมาถึงหลุมที่แต่งไว้ ก็ตกหลุมลงไปเป็นอันมาก กองทัพชาวล้านนากลับรุกล้อม เข้ามารบราฆ่าฟันฮ่อตายในหลุมเป็นอันมาก อยู่มาอีกสามวัน กองทัพฮ่อยกหนุนมาอีก เข้าปล้นเวียงเชียงแสน ชาวล้านนานำกองทหารอาสาออกทะลวงฟันต่อยุทธ์กันถึงตะลุมบอน ฝ่ายพลฮ่อมีเกราะเหล็กเกราะหนัง ฟันแทงไม่เป็นอันตราย ชาวเมืองจึงเอากรวดทรายมาคั่วไฟให้ร้อน และโปรยสาดให้เข้าไปในเกราะนั้นร้อนไหม้ ฮ่อจึงพ่ายแพ้เลิกถอยไป
ถัดนั้นมาได้ ๓ ปี ถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราชได้ ๗๒๗ กองทัพฮ่อยกมาติดเมืองเชียงแสนอีกหลายทัพหลายกอง มีรี้พลมากนัก ครั้งนั้นมหาเถรศิริวังโสบวชอยู่วัดดอนแท่นเมืองเชียงแสนเป็นผู้รอบรู้ศิลปะศาสตร์และวิทยาอาคม มีสติปัญญาสามารถ พระญาสามฝั่งแกนอาราธนาให้ไปครองอารามกู่หลวง รับอาสาแต่งการพิธีพลีกรรมกระทำวิทยา ให้บังเกิดลมพายุและฝนใหญ่อัสนีบาตตกในกองทัพฮ่อ ต้องนายทัพและรี้พลฮ่อเป็นอันตรายหลายคน ทัพฮ่อก็เลิกถอยไปตั้งอยู่เมืองยอง พระญาสามฝั่งแกนจึงปูนบำเหน็จสถาปนาพระมหาศิริวังโสขึ้นเป็นราชครู ยกแคว้นดอนแท่นให้เป็นกัลปนาแล้ว จึงให้หมื่นเมืองพร้าวอยู่ครองเมืองเชียงแสน
ฝ่ายกองทัพฮ่อไปตั้งอยู่เมืองยองสิบสองพันนาลื้ออาฬวิเชียงรุ้ง เมืองแรมนานได้ ๓ ปี ไพร่พลเมืองแตกฉานออกอยู่ป่าอยู่เถื่อน ไม่เป็นบ้านเป็นเมือง พระญาสามฝั่งแกนจึงมอบหมายให้เจ้าขุนแสนลูกพระยาวังพร้าวเป็นแม่ทัพ ยกพลขึ้นไปรบฮ่อยังเมืองยอง ฮ่อทั้งหลายก็พ่ายหนีไป เจ้าขุนแสนตามตีฮ่อไปถึงที่สุดดินแดนสิบสองพันนาแล้ว ก็กลับมาตั้งทัพอยู่เมืองยอง ให้ตั้งเวียง ณ ตำบลดอนดาบสทิศตะวันออกเมืองยองเรียกว่า เวียงเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระญาแสนฟ้าเมืองอาฬวิเชียงรุ้งและเมืองแรมเมืองเขมรัฐ ก็มากระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นไมตรีกับเจ้าขุนแสน แล้วจึงปักปันเขตแดนแว่นแคว้นเชียงรุ้งกับเชียงแสนต่อกัน ตั้งแต่น้ำโอน้ำดำลงมาภายใต้เป็นแดนเมืองยอง และเมืองยองเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่แต่นั้นมา เจ้าขุนแสนจึงตั้งเจ้าเมืองยองเป็นที่พญาอนุรุธ เป็นประธานแก่เมืองทั้งหลาย อยู่อุปัฏฐากมหาธาตุเจ้าจอมยองตามโบราณประเพณีแต่ครั้งพญาอโสกราชตั้งไว้ และเมืองนี้เป็นเมืองอุปัฏฐากมหาธาตุเจ้ามาแต่โบราณกาล พลเมืองทั้งหลายหากเป็นข้าพระธาตุทั้งสิ้น เหตุฉะนั้น จึงไม่ต้องส่งส่วย นอกจากบรรณาการปีละครั้ง
เจ้าขุนแสนจัดการเมืองยองสำเร็จแล้ว ก็พาเอาเชลยฮ่อและช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบลงมาถวายพระญาสามฝั่งแกนยังเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพระโสมนัสยินดียิ่งนักจึงสถาปนาเจ้าขุนแสน ให้เป็นเจ้าพญาศรีสุวรรณคำล้านนาไชยสงครามครองเมืองชัยบุรีเชียงแสน เป็นใหญ่แก่ล้านนาเชียงแสนทั้งมวล มีอาณาเขตฝ่ายใต้ตั้งแต่น้ำตกแม่ของ ฝ่ายตะวันตกถึงริมน้ำแม่คง ฝ่ายเหนือถึงน้ำโอน้ำดำ ฝ่ายตะวันออกถึงดอยหลวงเชียงชีเป็นอาณาเขตมลฑลเชียงแสนส่วนหนึ่ง
ตอนต้นรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกนจึงมีการรบทั้ง ๒ ด้าน คือจากด้านใต้และด้านเหนือ ครั้นยุติสงครามกับฮ่อแล้ว ความสงบสุขก็คืนมาตลอดปลายรัชสมัย พระญาสามฝั่งแกนทรงมีพระปรีชาสามารถในการรักษาบ้านเมืองในยามศึกสงคราม ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นยังทรงพยายามปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผน โดยการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ไว้ในตำแหน่งอุปราช อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ที่เชียงใหม่
เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์สายรามัญแพร่หลายในล้านนา สมัยพญากือนา พระภิกษุชาวล้านนา ก็ได้ให้ความสนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ครั้นผ่านรัชสมัยของพระญาแสนเมืองมา เข้าสู่รัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน ก็ปรากฏมีพระสงฆ์กลุ่มลังกาวงศ์ใหม่ หรือลังกาวงศ์รุ่น ๒ เข้ามาสู่ล้านนาสาเหตุของการสถาปนานิกายสงฆ์ใหม่นั้นก็คือสืบเนื่องมาจากความไม่พอใจของบรรดาพระสงฆ์ที่มีต่อพระญาสามฝั่งแกนที่ยกเลิกเอากัลปนาค่าส่วยสำหรับพระสงฆ์ในที่ต่างๆ ไปขึ้นกับวัดวัดบุรณฉันท์ หรือวัดศรีมุงเมือง ผลคือพระมหาเถรทั้งหลายที่เป็นพหูสูต ผู้รู้ปริยัติ พากันออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ไปศึกษาพระธรรมที่เมืองลังกา
เมื่ออยู่ที่เมืองลังกาก็เกิดฝนแล้งข้าวแพง บรรดาพระเถรานุเถระเหล่านี้เห็นว่าจะอยู่ต่อไปไม่สุข จึงชักชวนกันกลับจากลังกาทวีป ได้ชวนเอาพระภิกษุชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ มีพรรษาได้ ๑๕ พรรษารูปหนึ่ง ชื่อพระอุดมปัญญา มีพรรษาได้ ๑๐ พรรษาอีกรูปหนึ่ง พอถึงปีพ.ศ. ๑๙๗๓ (จุลศักราช ๗๙๒ ปีระกา โทศก) พระเหล่านี้ได้พากันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ สำนักอยู่ ณ รัตนมหาวิหาร คือวัดป่าแดงหลวง ในปีพ.ศ. ๑๙๗๕ (จุลศักราช ๗๙๔ ปีชวด จัตวาศก) ได้เดินทางไปเมือง เขลางค์นคร กระทำสังฆกรรม ณ อุทกสีมา ในแม่น้ำวัง บวชพระจันทรเถร เป็นต้น และกุลบุตรอื่นเป็นอันมาก ล่วงในปีพ.ศ. ๑๙๗๗ (ลุจุลศักราช ๗๙๖ ปีเถาะ ฉศก) ได้ขึ้นไปเมืองเชียงแสน บวชกุลบุตรในเกาะชื่อว่าปักลังกทิปะกะในแม่น้ำของ มีพระมหาธรรมเสนาบดีกุลวงษ์เป็นต้น
จากการสถาปนานิกายนี้ส่งผลทำให้พระสงฆ์ล้านนามีความรู้ความสามารถทางพุทธศาสนาสูงมาก ส่งผลให้มีการทำสังคายนาสอบชำระพระไตรปิฏกขึ้นที่วัดเจ็ดยอดเชียงใหม่ในสมัยต่อมา ใน พ.ศ.๒๐๒๐ และปรากฏผลงานวรรณคดีบาลีของพระภิกษุชาวล้านนาที่โดดเด่น ต่อมาในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘ เหตุเกิดพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ (รุ่น ๒) หรือนิกายสิงหล มีดังนี้
ใน จ.ศ. ๙๘๕ (พ.ศ.๑๙๖๖) ซึ่งอยู่ช่วงรัชสมัยของพระญาสามฝั่งแกน มีพระสงฆ์ล้านนากลุ่มหนึ่งจำนวน ๒๕ รูป นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ พระมหาเมธังกร พระมหาญาณมงคล พระมหาศีลวงศ์ พระมหาสาริบุตร พระมหารัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นต้น ได้เดินทางไปสู่สำนักพระมหาสวามีวนรัต ที่ลังกาทวีปเพื่อเรียนอักขระบาลี การอ่านออกเสียง การสวดตามอักขระบาลีในลังกาทวีป และขออุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปา ในแม่น้ำกัลยาณี พ.ศ. ๑๙๖๘ (จ.ศ.๗๘๖) จากนั้นก็จาริกไปนมัสการพระทันตธาตุ รอยพระบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ และมหาสถานอีก ๑๖ แห่ง หลังจากอยู่ในลังกาได้ ๔ เดือนท่านเหล่านั้นประสบทุพภิกขภัย จึงกลับมาโดยได้นำพระเถระชาวลังกา ๒ รูป คือพระมหาวิกกมพาหุและพระมหาอุตตมปัญญา มาด้วยเพื่อทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์
ใน พ.ศ. ๑๙๗๔ (จ.ศ. ๗๙๒) พระเถระเหล่านั้นได้มาถึงเชียงใหม่ และเข้าจำพรรษาอยู่ในวัดป่าแดงมหาวิหาร (รัตตวนมหาวิหาร) เชิงดอยสุเทพ ท่านเหล่านั้นได้เดินทางไปเผยแผ่นิกายสิงหลโดยทำอุปสมบทกรรม บนแพขนานกลางแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำวัง นครเขลางค์ แม่น้ำปิง เมืองหริภุญชัย ท่าน้ำกาดกุมกาม เกาะดอนแท่นเมืองเชียงแสน และสร้างวิหารป่าแดงหลวงขึ้นที่เชิงดอยจอมกิตติ สุวัณณปาสาณกะเมืองเชียงราย ฯลฯ
ในปีพ.ศ. ๑๙๗๙ ณ เมืองเชียงราย เกิดอัสนีบาตฟาดใส่พระสถูปใหญ่ที่วัดพระแก้วจนพังครืนลงมา ต่อมาได้มีผู้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่ง จึงได้มีการเชิญเข้าไปไว้ในวัดนั้น กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองที่ลงไว้เกิดหลุดลอกออกมาจนเห็นเป็นสีเขียวมรกต เมื่อเจ้าอาวาสมาพบเข้าจึงได้นำมาชำระขัดสี แล้วพบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วมรกตทั้งองค์ ท่านจึงดีใจเป็นล้นพ้นเลยนำมาจัดการให้สระสรงตามประเพณีนิยม จากนั้นปรากฏว่ามีผู้คนมาเคารพสักการะเป็นอันมาก
ต่อมาเรื่องราวทราบไปถึงพระกรรณของพระญาสามฝั่งแกน จึงมีรับสั่งให้เชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงรายจึงเชิญพระแก้วขึ้นสถิตบนหลังช้าง แล้วเดินออกไปเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกจะไปทางเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และไปยังเมืองลำปางทางหนึ่งช้างก็ตื่นหนีไปทางเมืองลำปางทุกครั้ง หมื่นด้งนครพระญาติของพระญาสามฝั่งแกน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางก็ทูลขอพระแก้วไว้ที่เมืองลำปาง พระองค์ก็ทรงอนุญาต
สำหรับด้านการปกครองสมัยของพระองค์นั้นกษัตริย์จะใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นหลักในการปกครอง กล่าวคือ ส่งเชื้อพระวงศ์ที่ทรงวางพระทัยไปปกครองเมืองต่างๆ ในลักษณะการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ดังเห็นได้จาก พระญาสามฝั่งแกนส่งโอรสหลายองค์ไปครองเมืองตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวลกครองเมืองพร้าว ท้าวเจ็ดครองเมืองเชียงราย ท้าวสิบครองเมืองฝาง เป็นต้นนอกจากนั้นยังใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการอภิเษกสมรสกับธิดาของกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พระญาแสนเมืองมาอภิเษกสมรสกับธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนา แล้วกำเนิดพระญาสามฝั่งแกน เป็นต้น
ในสมัยเริ่มแรกของพระองค์พบว่าการปกครองยังหละหลวมอยู่ อีกทั้งที่ตั้งเมืองก็อยู่แยกกันทำให้หัวเมืองมีอำนาจทางการเมืองสูง พร้อมที่จะแข็งข้อได้ง่าย ด้านการเมืองการปกครองนั้น กษัตริย์มีอำนาจปกครองจำกัดอยู่เพียงเมืองราชธานี ส่วนเมืองอื่นที่ขึ้นต่อนั้นจะปล่อยให้เจ้าเมืองมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการตามลำพัง ลักษณะนี้พบเห็นได้จากการไม่มีสายบังคับบัญชาเชื่อมโยงไปสู่หัวเมือง ในแง่ของระบบพันนา รวมถึงไพร่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ กล่าวคือ หน่วยพันนาของที่ดินจะเป็นตัวกำหนดไพร่ในสังกัด ยิ่งทั้งสองส่วนนี้มีมากเท่าใดก็จะเป็นต่อสูง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเสบียงจากที่ดิน (พันนา) และกำลังคน (ไพร่ที่สังกัดในพันนา) ลักษณะดังกล่าวทำให้หัวเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากย้อนมาดูเหตุการณ์ที่ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงรายที่คิดการชิงราชสมบัติของพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นอนุชานั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีไพร่จำนวนมาก พันนาในสังกัดมากถึง ๓๒ พันนา สามารถปลูกข้าวได้มาก อีกทั้งที่ตั้งยังเป็นฐานเศรษฐกิจใช้ส่งผ่านสินค้า
ภายหลังพระญาสามฝั่งแกนพยายามจัดการปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น มีการควบคุมหัวเมืองที่ไม่ให้เป็นภัยต่อราชธานี เท่าที่พบคือ การแต่งตั้งและย้ายตำแหน่ง พระองค์จะใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งให้บุคคลที่ไว้วางใจไปครองเมืองต่างๆ กล่าวคือส่งท้าวลก ซึ่งเดิมกินเมือง พร้าว ไปกินเมืองยวมใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นมีการแต่งตั้งโอรสองค์ใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ใกล้ชิดพระองค์ที่เมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เมืองเชียงรายลดความสำคัญลงกลายเป็นเมืองอุปราช
ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๕๒ ท้าวลกราชบุตรของพระญาสามฝั่งแกนทรงครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใด ก็ทำความผิดอาชญาจนพระบิดาทรงพิโรธ ให้นำตัวไปไว้ยังเมืองยวมใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏท้าวลกชิงราชสมบัติ ทำให้รัชสมัยพญาสามฝั่งแกนถึงคราวสิ้นสุด
ช่วงเวลานั้นพระญาสามฝั่งแกนผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ทรงประทับสำราญอยู่ ณ เวียงเจ็ดลิน ก็ได้มีอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย คิดไม่ซื่อจึงแปรพักตร์เข้ารับใช้ท้าวลก คิดการไกลถึงกับจะเอาราชสมบัติให้พระองค์ หลังจากนั้นสามเด็กย้อยจึงรวบรวมซ่องสุมกำลังจนพร้อม แล้วจึงลอบไปรับเจ้าท้าวลกจากเมืองยวมใต้ มาซุ่มซ่อนไว้ในเวียงเชียงใหม่ เมื่อเจ้าท้าวลกกับขุนสามเด็กย้อยเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ตกเวลาเที่ยงคืนก็ให้คนลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินไหม้ขึ้น พระญาสามฝั่งแกนจึงทรงม้าหนีออกมาเข้าในเวียง พระองค์นั้นหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นท้าวลกนั้นยึดครองราชย์มนเทียรอยู่ พอเข้ามาถึงคุ้ม ท้าวลกก็ให้กุมเอาตัวพระญาสามฝั่งแกนพระบิดาไว้บังคับให้มอบราชสมบัติแก่ตน
ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พระญาสามฝั่งแกนได้นิมนต์ชาวเจ้าสังฆะเข้าประชุมในพระราชมณเฑียร แล้วจึงประกาศมอบราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่ราชบุตรในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ให้ท้าวลกเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ตามความประสงค์ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งการ ปราบดาภิเษกเจ้าท้าวลกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ใ นปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ ๘๐๔ เดือนแปด (คือเดือนหก) เพ็ญวันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อได้เถลิงราชสมบัติพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษาจึงปูนบำเหน็จหมื่นสามเด็กย้อยผู้ต้นคิดเอาราชสมบัติให้นั้น ตั้งให้เป็นเจ้าครองพันนาขาน ชื่อเจ้าแสนขาน ส่วนพระญาสามฝั่งแกนนั้นพระเจ้าติโลกราชเนรเทศไปไว้เมืองสาด
ฝ่ายเจ้าท้าวช้อย พระอนุชาท้าวลกผู้ครองเมืองฝาง รู้ข่าวว่าเจ้าท้าวลกเป็นขบถ แย่งราชสมบัติบิดา แล้วเนรเทศพระบิดาไปไว้เมืองสาดก็มีความแค้นเจ้าท้าวลกพระเชษฐายิ่งนัก จึงให้ไปรับเสด็จพระบิดาจากเมืองสาดมาไว้ในเวียงเมืองฝาง เตรียมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ทราบข่าวดังนั้น จึงให้หมื่นหาญแต่งตั้งผู้ครองเมืองเขลางค์ยกพลหนึ่งหมื่นไปตีเมืองฝาง ชาวฝางรู้ข่าวก็ยกกองทัพออกโจมตีหมื่นหาญแต่ท้องแต่กลางทาง หมื่นหาญแต่ท้องเสียที แตกฝ่ายหนีมา พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นโลกสามล้าน (คือหมื่นด้งนคร) ยกพลสี่หมื่นเศษพันไปตีเมืองฝางให้จงได้ ครั้งหลังนี้ชาวฝางต้านทางกำลังไม่ได้ ทัพเชียงใหม่จึงเข้าปล้นเอาเมืองฝางได้ จับได้ตัวพระญาสามฝั่งแกนส่งมาเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ แต่เจ้าท้าวช้อยนั้นหนีไปเมืองเทิง เจ้าท้าวช้อยสู้รบเป็นสามารถ จนสิ้นพระชนม์ในที่รบ
ล่วงถึงปี พ.ศ. ๑๙๙๐ พระญาสามฝั่งแกนก็ถึงแก่สวรรคต พระเจ้าติโลกราชจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น