วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567

พระยางั่วนำถุม กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งอาณาจักรสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง

 พระยางั่วนำถุม  เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งอาณาจักรสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วง พระองค์ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1866 ถัดจากพระยาเลอไทย และทรงอยู่ในราชสมบัติไปจนสวรรคตใน พ.ศ. 1890 จากนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสืบราชสมบัติต่อ

พระนาม

พระนาม "งั่วนำถุม" (เขียนแบบเก่าว่า "งววนำถํ") ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (พ.ศ. 1935)

คำว่า "งั่ว" ในพระนาม แปลว่า "ห้า" และเป็นคำเรียกลูกคนที่ห้า จึงบ่งบอกว่า พระองค์เป็นพระโอรสพระองค์ที่ห้า

ส่วน "นำถุม" นั้นมาจากภาษาถิ่นย่อยในภาษล้านนาหรือมาจากภาษาไทใหญ่ ตรงกับคำว่า "น้ำท่วม" ในภาษาไทย

ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า พระนาม "นำถุม" แสดงว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็นเชื้อสายของพ่อขุนศรีนาวนำถุม อดีตพระมหากษัตริย์สุโขทัย เพราะมีประเพณีการตั้งชื่อบุตรหลานตามนามบรรพบุรุษ และข้อนี้ยังทำให้สันนิษฐานได้ว่า นางเสือง พระอัยยิกา (ย่า) ของพระยางั่วนำถุม เป็นพระธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ระบุว่า พระนาม "นำถุม" ทำให้เห็นได้ว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็น "หลานปู่" ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม

วีณา โรจนราธา เห็นว่า พระยางั่วนำถุมอาจทรงได้พระนาม "นำถุม" มาจากการประสูติในช่วงน้ำท่วม ดังมีตัวอย่างจากท้าวน้ำท่วม พระนัดดาของพญามังราย ที่ได้รับพระนามเช่นนั้นเพราะประสูติในช่วงน้ำท่วมเมือง หรือมิฉะนั้น พระยางั่วนำถุมก็อาจทรงได้พระนาม "นำถุม" มาจากการจมน้ำสวรรคต เพราะเอกสาร ชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่งว่า "อุทกโชตถตะ" แปลว่า "พระร่วงจมน้ำ" และ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า มีพระมหากษัตริย์สุโขทัยเสด็จไปสรงแม่น้ำยมที่แก่งหลวง (ปัจจุบันอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) แล้วถูกสายน้ำพัดพาไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก วีณาเห็นว่า เอกสารทั้งสองนี้อาจหมายถึงพระยางั่วนำถุมก็ได้ แต่วีณายังไม่ให้ข้อยุติในเรื่องนี้ เพราะยังมีข้อขัดกันเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์และการสืบเชื้อสาย

พระชนมชีพ



ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า พระยางั่วนำถุมเป็นพระโอรสพระองค์หนึ่งของพ่อขุนบานเมือง พระมหากษัตริย์สุโขทัย

จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด ซึ่งพรรณนาลำดับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงนั้น ระบุพระยางั่วนำถุมไว้หลังจากพระยาเลอไทย และก่อนพระมหาธรรมราชาที่ 1 นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า พระยางั่วนำถุมทรงสืบราชสมบัติถัดจากพระยาเลอไทย และเมื่อสื้นพระยางั่วนำถุมแล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสืบราชสมบัติต่อ

เพ็ญสุภา สุขคตะ มองว่า การที่พระยางั่วนำถุมขึ้นครองราชย์ระหว่างพระยาเลอไทยกับพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นการที่เชื้อสายฝ่ายพ่อขุนศรีนาวนำถุมแทรกตัวขึ้นในระหว่างเชื้อสายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และน่าจะเป็นการช่วงชิงราชสมบัติมาจากฝ่ายศรีอินทราทิตย์ โดยฝ่ายศรีนาวนำถุมน่าจะรอคอยโอกาสอยู่นานพอสมควรกว่าจะชิงราชสมบัติมาได้ นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยมยังมักลบพระนามพระยางั่วนำถุมออกจากลำดับพระมหากษัตริย์สุโขทัย เพราะมองว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็นทรราชจากการได้ราชสมบัติมาในลักษณะดังกล่าว

ตามการคำนวณของประเสริฐ ณ นคร ปีที่พระยางั่วนำถุมทรงขึ้นครองราชย์ได้แก่ พ.ศ. 1866 เมื่อพระยางั่วนำถุมทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระยางั่วนำถุมทรงแต่งตั้งพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระโอรสของพระยาเลอไทย พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย จารึกวัดป่ามะม่วง (พ.ศ. 1904) ระบุว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงครองเมืองศรีสัชนาลัยมาได้ 22 ปี จึงเสด็จออกผนวชใน พ.ศ. 1905 ปีที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชจึงได้แก่ พ.ศ. 1883

จารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอีกว่า ใน พ.ศ. 1890 พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงนำกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัยมายังเมืองสุโขทัย ระดมฟันประตูเข้าไปประหารศัตรูทั้งมวล จึงได้เสวยราชสมบัติในเมืองสุโขทัย ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า ข้อความนี้อาจมีความหมายว่า พระยางั่วนำถุมสวรรคตใน พ.ศ. 1890 และพระโอรสของพระยางั่วนำถุมจะขึ้นสืบราชสมบัติต่อ พระมหาธรรมราชาที่ 1 ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช จึงทรงนำกำลังมายึดราชสมบัติและขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป

พระยาเลอไทย กษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งอาณาจักรสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง

 


วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567

พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล)

 




พระปรีชากลการ มีชื่อตัวว่า สำอาง อมาตยกุล (15 สิงหาคม พ.ศ. 2384 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422) ขุนนางชาวไทย สมรสกับสตรีลูกครึ่งอังกฤษ คือ แฟนนี่ น็อกซ์ ท่านถูกกล่าวหาว่า "ฆ่าคนตายและทารุณกรรม แก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี" โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ผู้เป็นพ่อตา ซึ่งเป็นกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย จึงได้ข่มขู่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสมุหพระกลาโหม ว่าจะนำเรือรบอังกฤษมาข่มขู่ให้ปล่อยลูกเขยของตน แต่กลับไม่สำเร็จ และปิดท้ายด้วยการประหารพระปรีชากลการ

เรื่องราวของพระปรีชากลการถูกแต่งเป็นนิยายเรื่อง Fanny & Regent of Siam ("แฟนนี่และผู้สำเร็จราชการแห่งสยาม") ซึ่งรจนาโดยอาร์. เจ. มินนี ซึ่งผู้แต่งได้ออกตัวว่าหนังสือของเขามีความเป็นไปได้เพียงร้อยละ 75 แต่กระนั้นหนังสือเล่มดังกล่าวได้กลายเป็นหนังสืออิงประวัติศาสตร์ที่ขายดีในอังกฤษ ในไทยได้มีการแปลและตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวใช้ชื่อว่า "ตัวจึงตาย เพราะได้เมียฝรั่ง"

ประวัติ

เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2384 เป็นบุตรคนที่สองของพระยากระสาปน์กิจโกศลกับคุณหญิงพลอย บุตรีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) บิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2401-2404 ท่านจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเมื่ออายุเพียง 20 ปี จากสกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากระสาปน์กิจโกศลตั้งโรงกษาปณ์ผลิตเงินเหรียญขึ้นแทนเงินพดด้วง ซึ่งมาแต่เดิม และได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระปรีชากลการไปช่วยงานบิดาที่กรมกระษาปน์สิทธิการ

พระปรีชากลการเป็นผู้มีหัวคิดทันสมัย ชอบประดิษฐ์ ค้นคว้า ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศคล้ายบิดา จึงเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เป็นเจ้ากรมกระษาปณ์สิทธิการแทนบิดาตามคาดหมาย พระปรีชากลการมีผลงานอย่างเช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสุปรินเทนเด็นอินยีเนีย (Superintendent Engineer - หัวหน้าช่างเครื่อง) ควบคุมเรือพระที่นั่งบางกอก เสด็จประพาสต่างประเทศตั้งแต่ต้นรัชกาลนำเรือไป สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา มะละแหม่ง ย่างกุ้ง กัลกัตตา อัครา มันดาริด และบอมเบย์ในอินเดีย จนเป็นข้าราชบริพารที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ถึง พ.ศ. 2416 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้ทำบ่อทองที่เมืองกบินทร์บุรี จนได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2419

ชีวิตส่วนตัว

พระปรีชากลการเป็นบุตรของ พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) กับคุณหญิงพลอย ไกรฤกษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 8 คน  คือ 1. (ญ.) ไม่มีชื่อ ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ 2.พระปรีชากลการ (สำอาง) 3.นายสอาด ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ 4.พระยาเพชรพิชัย (เจิม) 5. โม๊ะ ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ 6. พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) 7.คุณหญิงทรามสงวน ภรรยาของ พระยาอภัยรณฤทธิ์ (จอมถวิล อมาตยกุล) 8.นายอาดูร ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้ มีพี่น้องต่างมารดา  คือ 1. นายหนู 2.นางสังวาลย์ 3.นายบาง 4.นายปริ่ม 5.ขุนประจักษ์ธนสาร (เผื่อน) 6.พระประกอบอัคนิกิจ (เหลอ) 7. นายหลา ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ 8. คุณหญิงปุย ภรรยาพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) 9.พระภิกษุชิด อุปสมบทจนมรณภาพ 10.นายแจก 11. นายวงษ์

ท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพุทธ โดยในปัจจุบันเป็นจุดที่สะพานประปกเกล้าซึ่งเป็นสะพานคู่กับสะพานพุทธตัดผ่าน โดยบ้านของท่านเป็นบ้านแบบตะวันตกที่หรูหราในยุคนั้น หลังจากท่านเสียชีวิตลง ทางการได้ใช้บ้านของท่านเป็นที่ทำการไปรษณีย์หรือที่เรียกว่าไปรสะนียาคาร จนถูกทุบทิ้งเมื่อปีพ.ศ. 2525 อย่างไรก็ตาม บ้านของท่านถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย 

บ้านของพระปรีชากลการตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ

พระปรีชากลการเป็นคนกว้างขวางในสังคม ท่านสมรสกับแฟนนี่ น็อกซ์ ลูกสาวโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษ เนื่องจากมีพื้นฐานทางสังคม ครอบครัว และการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ความรักของหนุ่มสาวทั้งคู่จึงเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ในวงสังคมชั้นสูง โดยเริ่มรู้จักกันเมื่อทั้งสองฝ่ายซึ่งนิยมกีฬาขี่ม้า ได้ขี่ม้าเล่นเพื่อออกกำลังกายในเวลาเช้า ฝายชายอยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารที่โปรดปรานขี่ม้าตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ส่วนฝ่ายหญิงก็ขี่ม้าเล่นกับนายน็อกซ์ผู้เป็นบิดา แม้ว่า ฝ่ายชายจะมีภรรยาและบุตรชายหญิงอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสรู้จักกัน ครั้งแรกจึงอยู่ในฐานะมิตรสหาย แต่ต่อมาเมื่อภรรยาพระปรีชาฯ ถึงแก่กรรม การรู้จักกันฉันเพื่อนทำให้มีโอกาสได้เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ และสานความสัมพันธ์ต่อจนกลายเป็นความรักในที่สุด การสมรสของทั้งสองคนเกิดขึ้นท่ามกลางการสบประมาทของขุนนางชั้นผู้ใหญ่หัวโบราณและเป็นชาตินิยมสุดโต่ง และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ จำรัส อมาตยกุล หรือ เฮนรี สเปนเซอร์ (อังกฤษ: Henry Spencer)

ก่อนหน้านี้ พระปรีชากลการมีภรรยาจำนวน 2 คน และมีบุตรรวม 3 คน หลังจากที่เขาได้สมรสกับแฟนนี่แล้ว ก็มีภรรยาอีก 4 คน และมีบุตรธิดารวมกันอีก 6 คน คือ 

  1. พลับ ธิดาพระครูมหิธร มีบุตรหนึ่งคน
    1. ประเสริฐ (ช.) ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
  2. ลม้าย ธิดาพระอินทราธิบาล (สุ่น) กับแจ่ม มีบุตรสองคน
    1. คุณหญิงตระกูล (ญ.) สมรสกับพระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล)
    2. อรุณ (ช.) รับราชการเป็น พระยาพิศาลสารเกษตร สมรสกับคุณหญิงเยาวเรศ อมาตยกุล ไม่มีบุตร
  3. แฟนนี่ น็อกซ์ มีบุตรหนึ่งคน
    1. จำรัส หรือ เฮนรี สเปนเซอร์ (ช.) ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 21 ปี
  4. เหลี่ยม มีบุตรสามคน
    1. มังกรหรือกอน (ช.) รับราชการเป็น พระยาวินิจวิทยาการ สมรสกับคุณหญิงจอน และม.ล.ผาด เสนีย์วงศ์
    2. สำเนียง (ช.) ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
    3. อบ (ญ.) หม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการ
  5. สิน มีบุตรหนึ่งคน
    1. ใย (ช.) สมรสกับแขและบุญมี
  6. จีน มีบุตรหนึ่งคน
    1. คุณหญิงประจักษ์ (ญ.) สมรสกับพระยาคินิสันทนานุการ (สนอม ทรรทรานนท์)
  7. หลี มีบุตรหนึ่งคน
    1. ส่าน (ช.) ถึงแก่กรรมก่อนมีภรรยา

ข้อหาและการประหาร

เรือรบ Foxhound

แต่ต่อมาพระปรีชากลการถูกกล่าวหาในข้อหาว่า "ฆ่าคนตายและทารุณกรรม แก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี" จึงถูกจับมาล่ามโซ่ตรวนไว้ที่กรมทิมดาบ มร. น็อกซ์ ผู้เป็นพ่อตา ซึ่งเป็นกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย จึงเข้ามาขู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสมุหพระกลาโหม ให้ปล่อยลูกเขยของตนเสีย มิฉะนั้นจะจับผู้สำเร็จราชการไปขังไว้ในเรือรบอังกฤษและให้ปืนเรืออังกฤษระดมยิงพระนคร ทั้งยังจะฟ้องรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้ด้วย" ด้วย มร. น็อกซ์ รู้ดีว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่เบื้องหลังคดีนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งถูกกดดันด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดคดีให้สิ้นสุดเร็วที่สุด ส่วน มร.น็อกซ์ ก็ทำตามคำขู่ที่กล่าวไว้คือ นำเรือรบที่ชื่อ Foxhound เข้ามาในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2422 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาหารือกับขุนนางผู้ใหญ่ ในที่สุดเห็นพ้องว่า จะจัดส่งทูตออกไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อรัฐบาลอังกฤษ ในระหว่างที่เหตุการณ์เริ่มบานปลาย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ได้ทูลแนะนำว่าให้เอาเรื่องการเมืองและการละเมิดอำนาจแผ่นดินเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องทุจริตเป็นประเด็นรอง และยังกราบบังคมทูลให้ทรงใช้มาตรการเด็ดขาดโดยเร็ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เร่งรัดให้มีการประหารชีวิต แม้ว่าการสอบสวนจะยังไม่เสร็จสิ้นลง  ทั้งคณะผู้ตัดสินไม่ยอมให้พระปรีชากลการประกันตัวออกมาสู้คดี รวมทั้งไม่ให้เบิกความพยานฝ่ายจำเลย ความขัดแย้งระหว่างตระกูลบุนนาคและอมาตยกุลที่มีมาแต่ก่อน จึงอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ครั้งนี้  สำหรับความขัดแย้งระหว่าง 2 ตระกูล มี 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. ความขัดแย้งในการทักท้วงการซ่อมแซมวัดพระเชตุพน เมื่อครั้งพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ผู้เป็นบิดา เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยความที่ท่านมีความสนใจในด้านวิชาช่าง ค่อนข้างเป็นคนหัวก้าวหน้า และมีนิสัยตรงไปตรงมา ท่านได้ทักท้วงการซ่อมแซมอุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งอยู่ในความดูแลของพระยาศรีพิพัฒน์โกษาธิบดี (ทัศ บุนนาค) ว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องและอาจพังถล่มลงมาได้ แต่พระยาศรีพิพัฒน์โกษาธิบดี (ทัศ บุนนาค) นั้นไม่เชื่อ การก่อสร้างจึงดำเนินต่อไป จนในที่สุดกำแพงได้ถล่มทับคนงานที่ก่อสร้างอยู่ในขณะนั้น รัชกาลที่ 3 ได้ยกย่องพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ว่า เป็นผู้มีความสามารถมากกว่าผู้ใหญ่บางคน จึงทำให้ตระกูลบุนนาคเสียหน้า และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างตระกูลบุนนาคและอมาตยกุล
  2. ประเด็นทางการเมือง ด้วยการเมืองในขณะนั้นแบ่งออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ฝ่าย 1 คือ วังหลวงหรือรัชกาลที่ 5 ฝ่าย 1 คือ วังหน้า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ และฝ่าย 1 คือ สมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยในขณะนั้นรัชกาลที่ 5 เพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติและยังทรงพระเยาว์ อำนาจทางการเมืองจึงอยู่ในมือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะผู้สำเร็จราชการ ในขณะนั้น วังหลวงมีเพียงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการรุ่นหนุ่ม ที่มีหัวคิดทันสมัย ซึ่งทรงโปรดใช้สอย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นมีพระปรีชากลการรวมอยู่ด้วย เมื่อแต่ละฝ่ายต่างก็พยายามชิงอำนาจซึ่งกันและกัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง มร. น็อกซ์ได้บันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า " เห็นว่าความเรื่องพระปรีชานี้ ได้ชำระโดยเร่งร้อน เห็นบางคนจะมีในเกาวเมนไทย นี่ยังไม่ทันเห็นความผิดของพระปรีชาแม้แต่น้อย .." 
  3. การพิจารณาคดีพระยาอาหารบริรักษ์(นุช) ซึ่งเป็นญาติสนิทของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยคดีนี้ พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) และพระยาเจริญราชไมตรี และหลวงพิจารณ์จักรกิจหรือในเวลาต่อมาคือพระยาเพชรพิชัย น้องชายของพระปรีชากลการ ทั้ง 3 ท่านซึ่งเป็นคนในตระกูลอมาตยกุลได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการชำระคดีความการทุจริต จนในที่สุดก็ได้ตัดสินโทษพระยาอาหารบริรักษ์(นุช) ซึ่งประกอบด้วย ประหารชีวิต เฆี่ยน และริบราชบาตร ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างตระกูลทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่มีสูงมากในเวลานั้น ทำให้โทษประหารของพระยาอาหารบริรักษ์(นุช) เหลือจำคุกตลอดชีวิต
  4. การสมรสกับแฟนนี่ นอกซ์ ด้วยความที่ แฟนนี่ นอกซ์ เป็นลูกสาวของมร. น็อกซ์ กงสุลอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลมาก เนื่องจากอินเดียและพม่า ได้เสียเอกราชแก่อังกฤษ จึงทำให้ผู้มีอำนาจของสยามต้องการได้นางไปเป็นภรรยา ซึ่งก็อยู่ในความคาดหวังของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่จะให้แต่งงานกับลูกชายคนหนึ่งของท่านด้วยเช่นกัน ความรักของแฟนนี่และพระปรีชากลการจึงดำเนินไป ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกของกลุ่มอำนาจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถเลขา ที่ทรงพระราชทานถึงสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเล่าถึงเรื่องความคิดอ่านของนายน็อกซ์และสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไว้ว่า

“..มีผู้ที่ควรจะเชื่อได้ ทราบความมาว่าเขากะสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแน่ว่าหม่อมฉันคงจะตายในเร็วๆ นี้เป็นแน่ ด้วยผอมนัก วังหน้าคงได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถ้าวังหน้าได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว เหมือนกับลูกเขาๆ สงสารจะต้องอุปถัมภ์ช่วยว่าการงานทุกอย่าง ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ พลอยเห็นจริงด้วย ได้บอกมอบฝากบ้านเมืองถ้าสิ้นท่านแล้ว วังหน้าจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เขาช่วยทะนุบำรุงบ้านเมือง และฝากบุตรหลานของท่านด้วยเถิด การเป็นดังนี้สมกับคำที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ พูดอยู่เสมอว่า หม่อมฉันคงตายในปีนี้ๆ หลายปีมาแล้วว่า วังหน้าคงมาเป็นเจ้า คำนี้ท่านพูดอยู่ดังๆ กับบุตรหลานนั้นก็ให้มา ฝากตัวอยู่ที่กงสุลอังกฤษจริง เป็นการสมกับที่คำพูด แต่คำที่ฝ่ายภรรยามิสเตอร์น็อกซ์กงสุลพูดนั้นว่า ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย…”

ก่อนที่จะเกิดการสมรสนั้น เมื่อครั้งมีงานพระราชพิธีฉลองพระราชวังบางปะอินพ.ศ. 2421 พระปรีชากลการได้พาแฟนนี่นั่งเรือส่วนตัวไปในงานฉลองและค้างแรมด้วยกันบนเรือ แม้จะมีบ่าวไพร่อยู่บนเรือด้วยกันหลายคนและทั้งคู่ก็มิได้อยู่ร่วมห้องกันก็ตาม การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายร้ายแรง เพราะฝ่ายหนึ่งคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกฝ่ายหนึ่งคือลูกสาวกงสุลใหญ่ ซึ่งถือเป็นการหยามเกียรติ นำความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศชาติ และยิ่งเมื่อพระปรีชากลการได้พาแฟนนี่กลับกรุงเทพฯ ในขณะที่งานฉลองพระราชวังบางปะอินยังไม่เสร็จสิ้นโดยมิได้กราบบังคมทูลลาหรือกราบทูลให้ทรงทราบ

ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เหตุการณ์ต่างๆได้บีบคั้นให้ทั้งสองต้องเข้าสู่พิธีสมรส โดยมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามขนบประเพณีแห่งราชสำนัก ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการหมิ่นเกียรติยศกงสุลในการที่พาธิดาสาวไปค้างแรมทำให้เกิดความเสียหายและข้อครหา ซึ่งเป็นการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหนุ่มสาวทั้งคู่ เพราะนอกจากจะผิดประเพณีอันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับกงสุลของประเทศที่มีอำนาจเช่นอังกฤษแล้ว ยังเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฐานที่เป็นข้าราชการในพระองค์ แต่ทำการต่างๆ ตามอำเภอใจ มิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานที่คู่สมรสเป็นลูกครึ่งต่างชาติ มีบิดาที่สามารถให้ผลได้ผลเสียแก่บ้านเมือง จึงถือเป็นการละเมิดอำนาจแผ่นดินอย่างร้ายแรงอย่างไม่เคยมีผู้ใดประพฤติ ปฏิบัติเยี่ยงนี้มาก่อนดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาทรงปรึกษา เรื่องนื้กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ความว่า

“..ด้วยฉันได้ทราบการจากเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาฯ เรื่องซึ่งจะแต่งงานกันเป็นการตกลงกันแล้วทุกอย่างนั้น การอย่างนี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ขอให้ท่านเสนาบดีตริตรองปรึกษาในการเรื่องนี้ให้เห็นการดีร้ายได้เสียต่อไปข้างหน้า อย่างไรจะรักษาเกียรติยศและอำนาจ แผ่นดินไว้อย่าให้เสื่อมทรามได้ ถ้าขอให้ปรึกษาให้เห็นพร้อมกันแล้วให้เรียนปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาฯ เมื่อเห็นพร้อมกันประการใด ขอให้บอกให้ฉันทราบด้วย…”

เมื่อทั้งสองแต่งงานกันแล้ว ก็ได้พากันไปอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพระปรีชากลการมีหน้าที่ควบคุมการขุดทองส่งเมืองหลวง ทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง ซึ่งแต่ละคนแต่ละฝ่ายจะได้รับผลกระทบของปัญหาแตกต่างกัน สำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยในการที่ ข้าราชการที่ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยไปแต่งงานกับสตรีซึ่งอยู่คนละกลุ่มอำนาจ มิหนำซ้ำยังเป็นกลุ่มอำนาจที่คิดปองร้ายต่อพระองค์ และแผ่นดินไทย ถึงขั้นมีแผนจะแบ่งแผ่นดินไทยออกเป็นสองส่วน เพื่อให้วังหลวงและวังหน้าปกครององค์ละส่วน ซึ่งโดยอำนาจและสิทธิหน้าที่ในฐานะประมุขของชาติ ทรงต้องพยายามแก้ปัญหานี้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน อีกทั้งพระองค์ยังถูกกดดันจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่จะให้เกิดการประหารขึ้นอีกด้วย

ในส่วนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ย่อมจะต้องไม่พอใจในการแต่งงานของหนุ่มสาวคู่นี้เช่นกัน เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามความประสงค์ ที่จะให้แฟนนี่แต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่าน เพื่อผูกพันสายสัมพันธ์ระหว่างสกุลบุนนาค วังหน้า และกงสุลอังกฤษให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะไม่เป็นไปดังประสงค์แล้ว แฟนนี่ยังไปแต่งงานกับพระปรีชากลการที่อยู่คนละกลุ่มอำนาจ

แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะคืนอำนาจการบริหารแผ่นดินให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว แต่วาสนาบารมีของท่านก็ยังเต็มเปี่ยมในฐานะผู้ใหญ่ของแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงกราบบังคมทูลแนะนำเรื่องการลงโทษพระปรีชากลการ โดยอ้างเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นสำคัญ ความว่า

“…ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะนิ่งเฉยเสียมิได้ จะเสียพระเกียรติยศ และอาญาแผ่นดินจะเสื่อมทรามไป ถ้าจะเอาความปลายขั้นว่า เป็นเหตุที่ทำบ่อทองของหลวงเบิกเงินไปใช้ก็มาก เดี๋ยวก็ไปเป็นเขยขุนนางต่างประเทศแล้วจะต้องชำระบาญชีเลิกถอนผลัดเปลี่ยนเสียดังนี้…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้เท่าทันการเมืองเกมนี้เป็นอย่างดี ดังที่ทรงมิพระราชหัตถเลขาตอบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ความว่า

“…ตัวฉันเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็คิดตั้งใจจะรักษาอำนาจแลเกียรติยศแผ่นดินให้ดำรงคงที่ยืนยาวสืบไป เพราะอำนาจแลเกียรติยศแผ่นดินเป็นเครื่องประคองรักษาความยุติธรรมทั้งปวงให้ยั่งยืนอยู่ได้ ผู้ใดทำลายล้างเกียรติยศและอำนาจอาญาแผ่นดิน ซึ่งฉันจะประคับประคองทำนุบำรุงก็เหมือนหนึ่งไม่รักแผ่นดิน การสิ่งใดซึ่งจะจัดไปเพื่อจะรักษาอำนาจและเกียรติยศแผ่นดินให้ยั่งยืนมั่นคงได้แล้ว ฉันมิได้คิดขัดขวางอยากให้การนั้นสำเร็จทุกอย่าง ขออย่าให้เจ้าคุณมีความระแวงสงสัยในตัวฉันประการใดประการหนึ่ง ด้วยฉันไม่ได้รักสิ่งไรมากกว่าแผ่นดิน…” แม้จะได้รับการยืนยันจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวดังนี้แล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังไม่วายที่จะตอกย้ำต่อไปว่า “..ธรรมดาเป็นผู้ครอบครอง ถ้าเห็นว่าการสิ่งใดจะเป็นเสี้ยนหนามขึ้นในอาณาก็ต้องรักษาอย่าให้กำเริบลุยลายได้..”

จากพระราชหัตถเลขาและหนังสือโต้ตอบระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอจะเห็นได้ถึงความยุ่งยากในพระทัยในการสั่งจับกุมดำเนินคดีกับพระปรีชากลการ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2421

ในระหว่างการดำเนินคดีนั้น พระปรีชากลการได้ถูกคุมขังจำตรวนอยู่ที่หลังทิมดาบ กระทรวงวัง และยังคิดแต่เพียงว่าโทษลงอาญาโบย 30 ที ที่ได้รับจากพระราชโองการนั้น เกิดจากความกริ้วของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อข้าราชสำนักที่ทรงโปรด และเข้าใจว่าโทษโบยนั้นสาสมกับความผิดของตน และคงจะทำให้ทรงคลายพระพิโรธลงได้ ดังจดหมายที่พระปรีชาฯ เขียนถึงแฟนนี่ผู้เป็นภรรยาว่า

“… ด้วยตัวฉันเป็นคนไทย ในหลวงกริ้วลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วก็จะค่อยคลายกริ้วลงทุกที อย่าให้แม่แฟนวุ่นวายไป ธรรมเนียมไทยกับธรรมเนียมฝรั่งไม่เหมือนกัน จะเอาเหมือนธรรมเนียมฝรั่งไม่ได้ จะพาฉันมีความผิด ฉันเห็นใจแล้วว่าแม่แฟนรักฉันมาก ถ้าอ้อนวอนในหลวงฤๅสมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นจะได้ออกเร็ว…”

แต่ทั้งพระปรีชาฯและแฟนนี่หารู้ไม่ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ได้ถูกกระพือโหมให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติไปแล้ว ทั้งนี้เพราะมร. น็อกซ์ ซึ่งมีความประสงค์จะช่วยเหลือพระปรีขากลการ ซึ่งมิได้ทำความผิด มร. น็อกซ์ได้พยายามเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขอเข้าเฝ้ากราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ไม่เป็นผล เพราะคดีนี้มิใช่ความผิดธรรมดาแต่กลายเป็นเรื่องการประลองกำลังระหว่างขั้วอำนาจทั้งสอง มร. น็อกซ์ซึ่งหมดหนทางที่จะช่วยจึงขู่จะนำเรือปืนอังกฤษเข้ามาปิดปากอ่าวไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ การขู่เช่นนี้แทนที่จะได้ผลดีกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องรีบแกัไขเหตุการณ์โดยด่วน ด้วยการส่งคณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้านำเรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ

เรื่องการพิจารณาคดีก็ยังคงดำเนินต่อไป ได้มีการขยายผลกว้างขวางอันเนื่องมาแต่ได้มีราษฎรร้องเรียนกล่าวโทษพระปรีชากลการเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ มีทั้งการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง การกดขี่ทารุณทำร้ายราษฎรและอื่นๆ อีกถึง 27 เรื่อง ข้อหาที่พระปรีชาฯ ได้รับคือ

1.เบิกเงินมาหลายหมื่นชั่ง แต่ได้ทองถวายเพียงไม่กี่ลิ่ม

2.ท่าการทารุณเลขหัวเมืองที่เกณฑ์ให้ตัดฟันตอในน้ำซึ่งกีดขวางทางเดินเรือบรรทุกทอง โดยใช้ง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดำลงไปตัดตอจนขาดใจตาย และทำการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้ายแรงหลายประการ

3.แล่นเรือตัดหน้าฉานขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน

4.แต่งงานกับคนต่างประเทศโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต ในส่วนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้สรุปความผิดของพระปรีชากลการ ไว้ว่า

“..การหลวงที่ไม่ได้อยู่ช่วย ทูลลาก็ไม่ทูล…ดูถูกในหลวงมาก พระปรีชามิได้คำนับผู้ใหญ่ในตระกูลฝ่ายหญิงและฝ่ายไทย มิได้กราบทูลในหลวง เป็นการหมิ่นประมาท…”

คดีพระปรีชากลการเป็นคดีที่ทุกคนจับตามองอย่างจดจ่อถึงผลการตัดสิน เพราะรู้อยู่ว่ามิใช่คดีความผิดธรรมดา เรื่องนี้มร. น็อกซ์ ได้รายงานไปยัง ลอร์ด ซอลส์เบอรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในขณะนั้นว่า

“… พระปรีชาฯ เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 มาก อาจจะโปรดมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงลงโทษพระปรีชากลการด้วยความฝืนพระทัย เนื่องจากทรงทราบว่าการกระทำของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นการทำลายข้าราชบริพารฝ่ายพระองค์…”

เมื่อพิจารณาถึงคดีความต่าง ๆ ที่พระปรีชากลการได้รับนั้น คำให้การของพยานฝ่ายโจทก์เองก็มีความขัดแย้งกัน จนไม่อาจสรุปได้ว่า พระปรีชากลการมีความผิด การเร่งเร้าให้ประหารชีวิตแม้ว่าการสอบสวนคดียังไม่สิ้นสุดนั้น จึงเชื่อได้ว่าสาเหตุของการประหารที่แท้จริงนั้น เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ตระกูลเป็นสำคัญ

จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ บันทึกเรื่องการประหารชีวิต พระปรีชากลการไว้ว่า

“…วันเสาร์ขึ้น 9 ค่ำ เดือนอ้าย จ.ศ.1241 วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 เพลา 11 ทุ่ม เอานายสำอางลงเรือไฟไปเมือง ประจิม วันจันทร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย (วันที่ 28 พฤศจิกายน) ถึง เมืองประจิม เพลาเช้า 4 โมง เพลาบ่าย 4 โมง สำเร็จโทษนายสำอาง…”

ในตอนท้ายสุดของชีวิตนั่นเองที่พระปรีชากลการได้แสดงถึง ความเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องถูกตัดสินประหารชีวิต ดังที่รองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรัฐนิกร ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ก่อนประหารชีวิตพระปรีชากลการ ความว่า

“…พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมา อย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย…”

จากคำพูดนี้ แสดงให้เห็นว่าพระปรีชากลการทราบสาเหตุของการประหารเป็นอย่างดีว่า เกิดจากการแต่งงานกับแฟนนี่น็อกซ์ การต้องรับโทษทัณฑ์ไม่ได้เกิดจากการแต่งงานกับชาวต่างประเทศโดยไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น แต่ตัวท่านทราบดีว่าได้ทำให้ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่อาจเกี่ยวดองกับอังกฤษผ่านการแต่งงานได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งมีอำนาจสูงมากไม่พอใจ ขณะที่รัชกาลที่ 5 ที่ยังทรงพระชมน์ไม่มากนัก ไม่อาจคัดค้านได้ พระปรีชากลการจึงถูกประหาร

ส่วนมร. น็อกซ์ถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ และได้พาครอบครัวเดินทางออกจากสยาม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่แฟนนี่ได้พาบุตรชายที่เกิดจากพระปรีชากลการ คือ สเปนเซอร์ หรือ จำรัส และบุตรชายหญิงของพระปรีชากลการ ซึ่งเกิดจากคุณลม้ายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วคือ ตระกูลและอรุณ เดินทางไปด้วย เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อตระกูลและอรุณ เติบโตขึ้นจึงได้เดินทางกลับสู่สยาม และเข้ารับราชการเป็นล่ามในพระราชสำนักฝ่ายใน ส่วนจำรัสเสียชีวิตในวัยหนุ่มอายุเพียง 21 ปี

หลังจากพระปรีชากลการเสียชีวิตลง ประชาชนชาวจังหวัดจังหวัดปราจีนบุรีได้พร้อมใจกันสร้างศาลเจ้าพ่อสำอางเพื่อแสดงความรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างของอุโบสถในวัดหลวงปรีชากูล โดยวัดนี้พระปรีชากลการได้ริเริ่มสร้างขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปศาลได้ชำรุดทรุดโทรมลง ชาวเมืองจึงได้สร้างศาลใหม่ขึ้นบริเวณด้านหน้าของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ จังหวัดปราจีนบุรียังได้จัดแสดงละครประกอบแสงสีเสียง ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 โดยได้รับเกียรติจากนายอำเภอ และคลังจังหวัด รับบทเป็นพระปรีชากลการ และภรรยา ตามลำดับ 

ไปรษณียาคาร


ไปรษณียาคาร เดิมสะกดว่า ไปรสนียาคาร เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับไปรษณีย์ไทยและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการไปรษณีย์ไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร อยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ เดิมที่ตั้งแห่งนี้เป็นของกรมไปรษณีย์โทรเลขและถือเป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย อาคารก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2414 ก่อนจะถูกทุบทิ้ง แล้วได้ทำการก่อสร้างคัดลอกแบบเดิมใหม่ โดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย) เมื่อปี พ.ศ. 2546 แล้วได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

ตึกไปรสนียาคาร เดิมเป็นบ้านของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี ซึ่งต้องคดีข้อหา ฆ่าคนตายและทารุณกรรม แก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี พระยาปรีชากลการถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 และถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกิจการไปรษณีย์ไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้สำเร็จราชการไปรษณีย์และโทรเลขพระองค์แรก ได้ใช้บ้านเดิมของพระปรีชากลการ เป็นที่ทำการ ใช้ชื่อเรียกว่า "ไปรสนียาคาร"

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อาคารไปรษณีย์ยาคารเป็นสถานที่แห่งแรกที่ทางคณะราษฎรจะต้องทำการบุกยึด เนื่องจากเป็นชุมทางการสื่อสาร คือ โทรเลขและโทรศัพท์ เพื่อตัดระบบการสื่อสาร โดยกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) และนายประยูร ภมรมนตรี เหตุเพราะรับราชการที่นี่ จึงรู้ถึงระบบการทำงานดี โดยที่มีคณะราษฎรสายทหารเรือคุ้มกันเพียงไม่กี่คน ซึ่งต้องทำการยึดและตัดการสื่อสารให้ได้ภายในเวลา 04.00 น. และต้องทำให้เสร็จก่อนเวลา 05.00 น. เพื่อมิให้ผู้คนสงสัย แม้คณะราษฎรสามารถกระทำการได้สำเร็จ แต่ทว่าก็มีเจ้าพนักงานคนหนึ่งหนีไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ทางตำรวจโดย พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจจึงทราบเรื่องจากเหตุนี้เอง จึงรุดเข้าวังบางขุนพรหมเพื่อถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการ

อาคารไปรษณียาคาร ถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ปัจจุบันอาคารถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย


 

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

มานี มานะ ปิติ ชูใจ

 

มานี มานะ ปิติ ชูใจ 



วัติศาสตร์ “จินดามณี” ถือเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องการใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ และกลบท

จินดามณีเล่มแรกแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพระโหราธิบดีในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการที่จินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อมามักใช้ชื่อ “จินดามณี” เช่นเดียวกัน ได้แก่ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอสมิท และจินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์

กระทั่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้น จึงเลิกใช้หนังสือจินดามณีไป

สำหรับ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ถือเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยอีกยุคสมัย ช่วงปี 2521-2537 เขียนโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และรูปภาพประกอบ วาดโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน

ที่มาที่ไปเริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าแบบเรียนภาษาไทยชุดเดิมมีเนื้อหาไม่ทันยุคสมัย จึงปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 อ่านอย่างสนุกสนานและอยากเรียนภาษาไทย ซึ่งรัชนีใช้เวลาเขียนนานกว่า 4 ปี โดยจำลองจากชีวิตจริงและสถานที่จริงในอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี

ตัวละครของเรื่องมีบุคลิกและแง่มุมแตกต่างกัน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ชีวิตที่หลากหลายพร้อมๆ กับหลักสูตรภาษาไทย เช่น มานะ รักเผ่าไทย พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน มีผลการเรียนดี เป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียนที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ เมื่อจบการศึกษาชั้น ป.6

มานี รักเผ่าไทย น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้น ป.6 เพื่อนๆ เลือกตั้งเธอเป็นรองประธานนักเรียน

ปิติ พิทักษ์ถิ่น เลี้ยงม้าชื่อ เจ้าแก่ ต่อมาตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสินเป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อว่า เจ้านิล

ชูใจ เลิศล้ำ เพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็กเพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต่อมาเดินทางกลับมารับลูกสาวไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกอยู่กับย่าต่อไป

วีระ ประสงค์สุข มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตระหว่างรบตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจและเสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมชื่อ เจ้าจ๋อ

เพชร เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แต่ภายหลังแม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า

จันทร เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง เธอได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนโรงเรียนร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” และอ่านทำนองเสนาะถวายเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทานรับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ

คุณครูไพลิน เป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ชั้น ป.1-3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอเป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด

ปี 2524 กระทรวงศึกษาธิการของไทยอนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ใช้แบบเรียนชุดนี้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน

ปี 2537 อัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก มีเพลงชื่อ มานี (Manee) เนื้อเพลงส่วนหนึ่งมาจากบทร้อยแก้วในแบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

อาจารย์รัชนี เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2473 ขณะเข้ารับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย ได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งก็คือ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” รวมทั้งมีผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ทางช้างเผือก” และ “เรื่องชื่นใจ” ร่วมกับสำนักพิมพ์ในเครือนิตยสาร a day

อาจารย์รัชนีถึงแก่กรรมด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 วัย 84 ปี และแม้ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” กลายเป็นแบบเรียนเก่าๆ แต่ชื่อเด็กหญิง “มานี” กลับมามีชีวิตหลายครั้ง เป็นแบรนด์ร้านอาหารสไตล์วินเทจ ทั้งร้านชาบู “มานีมีหม้อ” และร้านเครื่องดื่ม-ขนมหวาน “มานีมีนม” ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักที่มาที่ไปของแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้เรื่อยมา.

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ประวัติย่อ

 พระเจ้าวาริหู หรือ พระเจ้าฟ้ารั่ว 

เป็นปฐมกษัตริย์ในเมืองเมาะตะมะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศพม่า ทรงครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. 1287 ถึง 1307 พระองค์มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านการต่างประเทศและการทหาร ทรงปกครองอาณาจักรมอญในพม่าตอนล่างช่วงการล่มสลายของอาณาจักรพุกามประมาณปี ค.ศ. 1280 กระทั่งพระองค์ถูกปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1307 แต่สายราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากพระองค์ก็ปกครองราชอาณาจักรหงสาวดีจนกระทั่งล่มสลายในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

พระเจ้าฟ้ารั่วประสูติ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1253 โดยมีพระนามเดิมว่า มะกะโท (แมะกะตู) ต่อมาใน ค.ศ. 1272 ขณะพระชนมายุได้ 19 พรรษาก็ติดตามบิดาไปค้าขายที่อาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนบานเมือง กษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์พระร่วง พระองค์ได้เข้ารับราชการในราชสำนักสุโขทัยโดยเริ่มจากตำแหน่งควาญช้างกระทั่งทำความดีความชอบเรื่อยมาจนได้รับปูนบำเหน็จเป็นขุนวังในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง และมีใจผูกพันรักใคร่กับเจ้านางสร้อยดาว พระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและได้พาเจ้านางสร้อยดาวหนีไป

ใน ค.ศ. 1285 เมื่อพระองค์ออกจากสุโขทัยกลับมายังเมาะตะมะ ได้มีเรื่องกระทบกระทั่งกับอลิมามาง เจ้าเมืองเมาะตะมะที่ราชสำนักพุกามส่งมาปกครอง ในที่สุดพระองค์สามารถสังหารอลิมามางสำเร็จ พร้อมกับสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์ และประกาศอิสรภาพจากอาณาจักรพุกามเมื่อ ค.ศ. 1287 เมื่อสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์เมืองเมาะตะมะแล้ว พระองค์ได้ส่งพระราชสาส์นมาขอขมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้พระราชทานอภัยโทษ และได้พระราชทานพระนามกษัตริย์มะกะโท ตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว แต่ชาวมอญเรียกว่า พระเจ้าวาโรตะละไตเจิญภะตาน หรือ สมิงวาโร พระองค์ใช้เวลาเกือบสิบปีจัดการศัตรูทางการเมืองจนหมดสิ้น กระทั่งสามารถรวบรวมแผ่นดินมอญให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จใน ค.ศ. 1296 พระองค์ยังได้รับการยอมรับจากราชวงศ์หยวนของจีนในปี ค.ศ. 1298

พระเจ้าฟ้ารั่วเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1307 เนื่องจากถูกปลงพระชนม์โดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าตะยาพยาแห่งกรุงหงสาวดี อดีตพันธมิตรของพระเจ้าฟ้ารั่ว เพื่อแก้แค้นให้กับพระบิดาที่ถูกพระเจ้าฟ้ารั่วจับสำเร็จโทษ และเนื่องจากพระเจ้าฟ้ารั่วสวรรคตโดยไร้รัชทายาททำให้มะกะตาพระอนุชาได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมาเป็นพระเจ้ารามประเดิด

เนื้อเพลง