วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5

เรื่องราวน่าเศร้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน ครูชาวต่างชาติในราชสำนักรัชกาลที่ 5



ย้อนกลับไปเกือบ 150 ปีก่อน บนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในเอเชียอย่างยากที่จะยับยั้ง ความคิด”อย่างฝรั่ง” มีอิทธิพลมากถึงขนาดกลืนกลินวัฒนธรรมในบางประเทศไปจนหมดสิ้น ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดอ่าน และตั้งรับเรื่องนี้ด้วยการให้เหล่าราชวงศ์ทั้งผู้น้อง พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ทุกองค์ เล่าเรียนภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ซึ่งอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงถือเป็นกษัตริย์ในทวีปเอเชียคนหนึ่งเลยทีเดียว ที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามเมื่อพระองค์ทรงพบปะกับกษัตริย์ และพระราชินีของประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสามารถตรัสสนธนาได้อย่างเป็นกันเอง และสนิทสนมกับเหล่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ตะวันตกอย่างแน่นแฟ้น อันนำเอาประโยชน์ต่างๆ มาสู่สยามมากมาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และครูแป๊ตเตอร์สัน เป็นครูและลูกศิษย์ที่มีความผูกพันธ์กันตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงพระเยาว์ แต่ด้วยความที่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เมื่อคราวโตขึ้น แม้ทั้งคู่จะนัดแนะเจอกันสักขนาดไหน ก็มีเหตุให้การพบปะกันนั้นต้องเป็นการล้มเหลวไปทุกครั้งจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งต้องจบชีวิตไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้พบหน้ากันเลย สร้างความโศรกเศร้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้ทรงบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ “ความทรงจำ”พระนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จกลับจากการประพาสอินเดีย ได้ทรงริเริ่มความคิดขึ้นมาหนึ่งอย่าง คือในปี พ.ศ.2415 ทรงได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ อันเป็นความคิดที่ทรงดำริมานานแล้ว แต่ไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ แต่ในเวลานั้น ได้มีครูชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมน้าชายของเขาในสยาม เขาคนนั้นคือ นาย “ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน” เขาผู้นี้คือหลานชายของหลวงรัถยาพิบาลบัญชา (กัปตัน Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษผู้รับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาการกองโปลิศ(กรมตำรวจ)ของสยามเป็นคนแรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบ ก็ทรงโปรดให้ว่าจ้างไว้เป็นครูนั่นเอง
ในเหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ร่วมเรียนในเวลานั้นมีเชื้อพระวงศ์อยู่หลายพระองค์ รวมทั้งเหล่าบรรดามหาดเล็กด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าบรรดาเจ้านายผู้พี่ เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องช่วยราชการ รวมไปถึงพวกบรรดามหาดเล็กก็ติดงานหน้าที่ ทำให้เหลือจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด เหลือเพียงเจ้านายที่เป็นลูกศิษย์รัก (Favorite Pulpils) เพียง 4 พระองค์เท่านั้น อันได้แก่ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ, สมเด็จพระราชปิตุลาฯ,สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในช่วงแรกที่ทรงได้เปิดการเรียนการสอน ก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล เพราะศิษย์ก็ไม่เข้าใจภาษาของครู ครูก็ไม่เข้าใจภาษาของศิษย์ ต้องคอยเปิดหนังสือ “สัพพะพะวะจะนะ” อันเป็นพจนานุกรมที่สังฆราชปาลกัวทรงแต่งไว้ อย่างเป็นประจำ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าว่า มีครั้งหนึ่ง ท่านทรงได้แกล้งเพื่อนนักเรียน จนถูกครูแป๊ตเตอร์สันจับให้ยืนขึ้นบนเก้าอี้ที่มุมห้องเป็นเวลา 15 นาที ท่านเล่าว่าครั้งนั้นอาจถือเป็นครั้งแรกที่เด็กชาวไทยถูกทำโทษด้วยวิธีแบบฝรั่ง เมื่อเพื่อนนักเรียนต่างไม่เคยเห็น ก็พากันจ้องดูกันอย่างสนใจ พร้อมกับหัวเราะเยาะกันสนุกสนาน ด้วยความอับอายทำให้ท่านเหงื่อแตกโทรมไปหมดทั้งตัวหลังจากนั้นมาก็เข็ดหลาบ ไม่กล้าทำผิดอีกเลย
เมื่อเวลาล่วงเลยไป เจ้านายรุ่นพี่ทั้งสองพระองค์ก็เจริญพระชันษาขึ้น ต้องออกไปช่วยราชการบ้านเมือง ทำให้นักเรียนเหลือเพียง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรสรส และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนกระทั่งถึงปีระกา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงไปผนวชเป็นสามเณร ทำให้เหลือท่านเป็นลูกศิษย์รักของครูเพียงคนเดียวในท้ายที่สุด
เมื่อท่านเป็นลูกศิษย์ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวทำให้ทรงใกล้ชิดกับครูแป๊ตเตอร์สันเป็นอย่างมาก เมื่อร่ำเรียนเสร็จแล้ว ครูแป๊ตเตอร์สันจะไปทำธุระที่ไหน หรือไปพบเพื่อนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบางกอกก็จะชักชวนให้พระองค์ทรงขึ้นรถไปด้วย ทำให้พระองค์ทรงคุ้นชินกับชาวต่างชาติตั้งแต่ในเวลานั้นเป็นต้นมา

เมื่อครบตามสัญญาการว่าจ้างที่ทำไว้กับสยาม 3 ปี ครูแป๊ตเตอร์สันก็ได้ออกจากสยาม และถูกรัฐบาลอังกฤษส่งไปเป็นครูที่เกาะมอรีเซียส ในมหาสมุทรอินเดียต่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของครูแป๊ตเตอร์สันอีกเลย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ อยู่ดีๆวันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงได้รับจดหมายจ่าหน้าถึงท่านว่า“ถึง พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” อันเป็นชื่อในวัยเด็กของท่าน คนที่ไปรษณีย์บางคนมีความรู้เรื่อง
ประวัติอยู่บ้าง จึงได้ทำการส่งมาให้ท่านถูก เมื่อเปิดซองทอดพระเนตรดูท่านก็ทรงดีใจเป็นอันมากเมื่อพบว่าเป็นจดหมายของครูชาวต่างชาติที่ท่านรักในวัยเด็ก ในจดหมายบอกเล่าเรื่องราวของครูแป๊ตเตอร์สันที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันตัวเขาได้เกษียณราชการและกลับไปอยู่ที่เกาะอังกฤษเรียบร้อยแล้วโดยได้อาศัยอยู่กับหลานชายที่เป็นนักพรตตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต อยู่ดีๆ นึกคิดถึงศิษย์เก่าในสยาม จึงได้ทำการเขียนจดหมายมาถามถึงว่า ศิษย์รักของท่านทั้ง 4 พระองค์ยังเป็นอยู่สบายดีรึเปล่า แต่ในเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และสมเด็จพระมหาสมณฯ ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วเหลือแต่เพียงสมเด็จพระปิตุลาฯ และตัวท่าน ท่านจึงได้นำเอาจดหมายฉบับนั้นไปถวายสมเด็จพระปิตุลาฯ ทอดพระเนตร เมื่อสมเด็จพระปิตุลาฯทรงอ่านจดหมายก็ดีใจเป็นอันมาก ทรงได้เขียนจดหมายตอบ พร้อมพระรูป และเงินไปประทานเช่นเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง อีกทั้งท่านยังได้ทรงอธิบายไปถึงครูแป๊ตเตอร์สันในจดหมายว่า ปัจจุบันท่านใช้ชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนยศเมื่อทรงได้ช่วยราชการเมื่อเจริญพรรษาขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ไม่นานก็มีจดหมายตอบจากครูแป๊ตเตอร์สันมาอีกครั้งว่า เสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ เพราะในปี 2434 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อนานมาแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครูแป๊ตเตอร์สันกลับไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษพอดี มีข่าวครึกโครมว่ามีเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งนามว่า “ปริ๊นซ์ ดำรง” ทรงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนได้ข่าวก็มาถามครูแป๊ตเตอร์สันว่ารู้จัก ปริ๊นซ์ ดำรง หรือไม่ ท่านก็ได้ตอบกลับไปว่า ไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่อปริ๊นซ์ ดำรงเลย และแสดงความเสียใจว่า “ไม่รู้เลย ว่าคือศิษย์รักของตัวเอง ถ้ารู้จะรีบไปหา” หลังจากนั้นพระองค์กับครูแป๊ตเตอร์สันก็ทรงเขียนจดหมายติดต่อกันเรื่อยมา

จนกระทั่งในปี 2473 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปพบครูรักของท่านในวัยเด็กให้ได้ ซึ่งเวลานั้นครูแป๊ตเตอร์สันมีอายุถึง 85 ปีแล้ว และอาศัยอยู่ที่เมืองคลอยส์เตอร์ กะว่าเมื่อไปพบจะทรงชวนฉายพระรูปฉายาลักษณ์ร่วมกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเด็ก เพื่อเอามาให้ลูกหลานของพระองค์ดู เมื่อท่านทรงเดินทางไปถึงกรุงลอนดอน เหล่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ก็มารุมทำข่าว เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ ทุกคนถามท่านว่า “ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน” ท่านจึงได้ทรงตอบว่า เรียนในบ้านเมืองของตนเอง พวกนักหนังสือพิมพ์ก็พากันแปลกใจว่าใครไปสอนให้ ท่านจึงทรงตอบว่า
ชื่อมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แป๊ตเตอร์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันกลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะอังกฤษแล้ว และจะทรงพยายามไปพบครูที่เมืองคลอยส์เตอร์ให้ได้ จากนั้นหนังสือพิมพ์จึงพากันตีพิมพ์ขึ้นสรรเสริญครูแป๊ตเตอร์สันกันอย่างแพร่หลายโด่งดังไปทั่วอังกฤษ จนกระทั่งพระองค์ทรงเสร็จสิ้นธุระในลอนดอน จึงได้ทรงให้อุปทูตติดต่อไปยังหลานชายของครูแป๊ตเตอร์สันที่เป็นนักพรต ว่าพระองค์มีพระประสงค์จะไปพบมิสเตอร์แป๊ตเตอร์สัน จะสะดวกวันใดบ้าง แต่คำตอบที่ได้ก็สร้างความตกใจให้พระองค์เป็นอย่างมาก หลานชายผู้เป็นนักพรตได้ตอบว่าตอนนี้ครูแป๊ตเตอร์สันประสบกับโรคชรา มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย และตั้งแต่ที่ได้ยินข่าวจาก
วิทยุว่าพระองค์ทรงเดินทางมาที่อังกฤษ ก็คิดจะบอกให้ครูแป๊ตเตอร์สันทราบ เพราะท่านทรงรักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาก แต่ด้วยที่มีอาการแทรกซ้อนมากเหลือเกิน จึงได้เอาไปปรึกษากับหมอก่อน ซึ่งหมอได้สั่งห้ามบอกครูเด็ดขาดเพราะเกรงว่าอารมณ์ความยินดีที่จะจู่โจมขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงทรงทราบดังนั้นก็จนใจ เพราะทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล หลังจากพระองค์ทรงออกจากกรุงลอนดอนมาได้ไม่นาน ก็ได้รับจดหมายจากนักพรตว่า ครูแป๊ตเตอร์สัน ถึงแก่กรรมแล้ว สร้างความโศรกเศร้าเสียใจให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก และเสียดายที่ไม่ได้พบครูที่ท่านรักในวัยเด็กสมประสงค์ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเศร้าทีเดียว เรื่องของพระองค์ท่านได้สอนให้เรารู้อย่างหนึ่งว่าบางครั้งโอกาสกับโชคชะตามักเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในที บางครั้งโอกาสที่เราได้รับ อาจไม่ได้ถูกยอมรับจากโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมาเสมอไป 13 ปีต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2486

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ใน รัชกาลที่ 6

 

ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ใน รัชกาลที่ 6 

ที่ทรงขอแยกทาง บั้นปลายพระชนม์สุดสลด


พระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์) 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงครองพระองค์เป็นโสดมานาน ก็ทรงมีพระราชดําริที่จะอภิเษกสมรสเพื่อให้มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ แต่เมื่อทรงคบหาใกล้ชิดกับสตรีผู้สูงศักดิ์นางใดแล้วก็ยังไม่ทรงพอพระราชหฤทัย บางครั้งทรงหมั้นหมายประกาศให้ประชาชนรับรู้แล้วก็ทรงถอนหมั้นเสียโดยทรงให้เหตุผลว่า “ไม่สบพระอัธยาศัยบางประการ”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัย ในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และหม่อมหลวงตาด ประสูติเมื่อปีกุน วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 และถือว่าเป็นพระนัดดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายขัตติยราชโดยตรงทั้งสายพระบิดา และพระมารดา โดยเฉพาะท่านย่าคือ เจ้าจอมมารดาเขียนนั้นเป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์ที่มีชื่อท่านหนึ่ง

สาเหตุที่ทรงเกิดความสนพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล เพราะพระบิดาในหม่อมเจ้าหญิงเป็นเจ้าของละครคณะ “ปรีดาลัย” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านละครร้องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหม่อมเจ้าหญิงเองก็เป็นตัวละครของพระบิดา จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสชักชวนให้ไปแสดงละครในวังร่วมกับพระองค์ นับว่าเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด ละครสังคีตบทพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องกุศโลบาย วิวาหพระสมุทร ซึ่งต้องพระอุปนิสัยในรัชกาลที่ 6 อย่างยิ่ง เพราะโปรดการละครเหมือนกัน

นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์จากวรรณคดีไทย และงานนิพนธ์ ของพระบิดาอย่างแตกฉาน จนสามารถพระนิพนธ์โคลงกลอนได้เฉียบขาดเจริญรอยตามพระบิดา ตรงกับพระอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดงานกวีนิพนธ์เช่นเดียวกัน

นับว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุด ตรงกับคํากล่าวที่ว่า “คุยกันรู้เรื่อง”

ไม่เพียงเท่านั้น หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังมีรูปโฉมงดงามสมกับที่รับบทนางเอกละครในราชสํานัก เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ชมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมทั้งลายพระราชหัตถเลขาว่า “ให้แม่ติ๋วพร้อมด้วยดวงจิต และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย”


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ 

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลได้พระนิพนธ์บทกลอนทูลสนองตอบดังนี้

อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้

หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต

อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด

ขอถวายไม่คิดขัดจํานง

อะไรเป็นความสราญวานรับสั่ง

จะถวายได้ดังพระประสงค์

ขอเพียงแต่ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง

อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย

การถวายบทกลอนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นนี้ ทําให้ทรงเพิ่มความรักต่อหม่อมเจ้าหญิงเป็น อย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสตรีเจ้าบทเจ้ากลอนซึ่งหามิได้ง่ายนัก 

พระราชทานนามใหม่ และสถาปนาอิสริยยศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลให้ใหม่เป็น หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และครั้งสุดท้าย สถาปนาอิสริยยศเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนคู่คล้องพระกรในฐานะมเหสี พร้อมทั้งทรงจารึกใต้ภาพว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโตด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2463”

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศว่าขอมีชายาแต่เพียงผู้เดียวตามแบบอย่างวิถีชีวิตของชาวตะวันตก 

บทกลอนพระราชทานประทับใจ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนที่แสดงถึงความรักอันสุดซึ้งเป็นจํานวนมาก พระราชทานแด่มเหสีดังเช่น

นั่งคํานึงถึงน้องผู้ต้องจิต

แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี

ความรักรุกทุกทิวาและราตรี

บได้มีสร่างรักสักเวลา

ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง

เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา

ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา

ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์

อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์

ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น

ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน

ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย

ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม

ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย

ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป

ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย

พระนางเธอลักษมีลาวัณ (พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)

สิ้นสุดวันหวานอันแสนสั้น

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงครองรักกับพระนางเธอลักษมีลาวัณ ครบรอบปี แล้ว แต่พระนางเธอฯ ก็หาได้ทรงครรภ์ให้กําเนิดรัชทายาทไม่ ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศต่างเฝ้ารอชม พระโอรสองค์น้อยอย่างใจจดใจจ่อ

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสขอแยกทางดําเนินชีวิตกับพระนาง เธอฯ โดยจะทรงอภิเษกสมรสกับสตรีคนใหม่ เพื่อทรงหวังให้กําเนิดรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตําหนัก เครื่องเพชร เงินบํานาญ เพื่อให้พระนางเธอฯ ดํารงพระชนมชีพอย่างมิต้องเดือดร้อน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสตรีท่านต่อมา และจัดงานอภิเษกสมรสตามแบบอย่างของชาวตะวันตกอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 3 ครั้ง เพราะสตรีที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยหาได้มีประสูติ กาลองค์รัชทายาทไม่ นับตั้งแต่พระสุจริตสุดา สนมเอก มิได้ทรงครรภ์เลย ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายานั้นทรงครรภ์แต่ก็ตกเสีย คงมีเพียงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มเหสีองค์สุดท้ายทรงครรภ์ใกล้มีประสูติกาล แต่ก็เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกําลังประชวรหนัก และพระมเหสีได้มีประสูติกาลเป็นพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว

นับเป็นการสิ้นสุดรัชทายาทเชื้อสายในพระองค์แต่เพียงนั้น

หนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลําพังต่อมา โดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์นวนิยายไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องยั่วรัก ชีวิตหวาม เสื่อมเสียงสาป รักที่ถูกรังแก โชคเชื่อมชีวิต เรือนใจที่ไร้ค่า ภัยรักของฉันจลา โดยใช้นามปากกาว่า “ปัทมะ” ส่วนบทละครที่นิพนธ์ไว้เช่นเรื่อง เบอร์หก หาเหตุหึง ปรีดาลัย ออนพาเหรด ใช้นามปากกาว่า “วรรณพิมล”


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์) 

พระนางเธอฯ ทรงตระหนักแน่แท้แล้วว่าหนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ ดังคําโคลงที่ทรงนิพนธ์ว่า

เขียนกลอนพออ่านได้      ดับเข็ญ

อันปากกาย่อมเป็น         เพื่อนแท้

แทนฉายส่ายสอดเห็น     กระจ่าง

สุขทุกข์ปลุกปลอบแก้     กล่าวค้านเตือนกัน


ตั้งคณะละคร สืบสานศิลปะการแสดง

ด้วยพระทัยรักในศิลปะการแสดงมาก่อนเก่า จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยสืบสานจากพระบิดา โดยจัดเป็นละครร้องมีทํานองทั้งเพลงไทยและเพลงสากล มีระบําเบิกโรงก่อนแสดงละครเรื่อง วงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่บรรเลง เป็นเพลงแบบโอเปร่าตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงที่ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนคร โรงมหรสพนาครเขษม

นอกจากนั้นยังจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทรงยุบเลิกคณะละคร เพราะพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา 


ชีวิตที่เงียบเหงาไร้ญาติขาดมิตร

เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเป็นศิลปินทั้งงานนิพนธ์และการละคร ประกอบกับชีวิตที่ผกผันหลายด้านอาจเป็นสาเหตุให้ทรงเครียด พระอารมณ์หงุดหงิดง่าย เมื่อมาดํารงพระชนมชีพที่วังลักษมีวิลาศ ถนนพญาไท ในวัย 62 ชันษา จึงไม่มีพระประยูรญาติมาอยู่ด้วย เพราะเข้าใกล้พระองค์ไม่ค่อยติด ดังเช่นพระนัดดาชายท่านหนึ่งเคยพาภรรยามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อน แต่พระนางเธอฯ ก็ไม่โปรดหลานสะใภ้ จึงต้องย้ายกันออกไปทั้งสามีภรรยา ส่วนพระนัดดาคนอื่น ๆ จะมาเยี่ยมเยียนบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงทราบว่ามีคนตําหนิพระองค์เรื่องอารมณ์ร้าย จึงนิพนธ์คํากลอนบันทึกไว้ว่า

ฉันไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าฉัน

ก็คนนั้นนั่นแหละบ้าจึงว่าเขา

เราไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าเรา

มันก็เข้าคนที่ว่าเป็นบ้าเอง


นอกจากนั้นยังทรงบรรยายความขมขื่นในชีวิตดังนี้

เคยโด่งเด่นคนเห็นเป็นพลุดัง

สวยสะพรั่งแพรวพราวขาวเวหา

แล้วตกต่ำดิ่งดําคร่ำลงมา

อยู่กับพื้นคนพามองหน้าดู

เบื่อชีวิตไม่คิดจะอย่างนี้

เบื่อเต็มทีระทมขมขื่นหลาย

เบื่อลําบากยากไร้ไม่สบาย

เบื่ออยากตายทุกข์ทนอยู่คนเดียว

ยามชราหูตาต่างมัวมืด

จิตชาดหนังย่นรุ่นความสวย

ไม้ใกล้ฝั่งนั่งคอยเวลาม้วย

เพราะเหตุด้วยดูโลกโศกเศร้านาน

อนาถหนอโลกนี้ชีวิตมนุษย์

ยามสาวสุดสูงเด่นเป็นดวงแข

ยามชราเอือมระอาคนรังแก

ช่างไม่แน่เหมือนหวังดังคาดเดา

อนิจจาโอ้ว่าตัวเรา

ตรมเศร้าโศกสลดหมดสุข

ขมขื่นกลืนแต่ความทุกข์

ทรยุคยากไร้ไข้ครอง

ลําบากยากแค้นแสนสาหัส

อัตคัดผู้คนปรนสนอง

มีแต่ศัตรูจู่ปอง

ครอบครองย่ำยีบีฑา

เจ็บจนทนทุกข์ถึงที่

ไม่มีญาติมิตรมาหา

บ่นไปก็ไร้ราคา

นิ่งเสียดีกว่าบ้าไป


หาคนรับใช้ช่วยงานสวน

พระนางเธอฯ ทรงใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้แก้เหงา และโปรดพันธุ์ไม้ที่มีความหมาย เช่น ฟอร์เก็ตมีน็อต พุทธรักษา บานไม่รู้โรย ทรงทํางานในตําหนักด้วยพระองค์เองอย่างโดดเดี่ยวปราศจากคนรับใช้ พระประยูรญาติเคยเตือนพระสติว่าอยู่คนเดียวน่าจะไม่ปลอดภัย แต่พระนางเธอฯ ทรงรักชีวิตสันโดษ และทรงมั่นพระทัยว่าตําหนักอยู่ใกล้โรงพักพญาไท นอกจากนั้นยังทรงมีพระแสงปืนพกติดพระวรกายไว้ตลอดเวลา 

เมื่อต้นไม้ในบริเวณวังเจริญขึ้น จึงทรงหาคนรับใช้ซึ่งเป็นคนงานมาจากต่างจังหวัด โดยให้พักในเรือนไม้ใกล้ตําหนัก เพื่อช่วยทําความสะอาดและตกแต่งต้นไม้ คนรับใช้ส่วนมากจะมาอยู่กันทั้งสามีภรรยา แต่มัก จะอยู่ได้ไม่นาน ด้วยพระนางเธอฯ ทรงมีระเบียบเข้มงวดมาก และมักจะกริ้วอยู่เสมอเมื่อคนรับใช้ทํางานไม่สบพระทัย

พระนางเธอฯ ทรงบันทึกความเบื่อหน่ายเกี่ยวกับคนรับใช้ไว้ดังนี้

ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปลี่ยวเปล่า

ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว

ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย

ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรําคาญ

บ้างเข้ามาทําท่าเป็นบ้างั่ง

เรียกจะสั่งทําใดไม่ขอขาน

สั่งอย่างโง้นทําอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน

ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน

พอไล่ไปมาใหม่อยู่ไม่ช้า

แรกทําท่าดีเด่นเป็นขยัน

พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน

คนขยันโกงยับเห็นกับตา

เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้

เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา

มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา

เรารู้ว่าข่มเหงเพลงทารุณ

คนรับใช้ชุดสุดท้ายก่อนปิดฉากชีวิต

ครั้งสุดท้ายทรงรับคนสวนชื่อ นายวิรัช กาญจนภัย กับนายแสง หอมจันทร์ เข้ามาทํางาน โดยคนเหล่านี้รู้เพียงว่าพระนางเธอฯ เป็นเจ้าองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าพระองค์เคยดํารงตําแหน่งมเหสีในพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระราชอํานาจสูงสุด 

เนื่องจากพระนางเธอฯ มักจะกริ้วคนสวนเหล่านี้ที่ทํางานไม่ถูกพระทัย จึงทําให้มันไม่เคารพรักในพระองค์ ประกอบกับเห็นว่าพระนางเธอฯ ประทับเพียงลําพัง และคงจะมีทรัพย์สมบัติอยู่บนตําหนักมิใช่น้อย จึงวางแผนกันว่าเมื่อมีโอกาสจะต้องโจรกรรมของมีค่าให้ได้

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 พระนางเธอฯ เสด็จลงมาปลูกต้นไม้ และทรงบ่นคนสวนว่าไม่ดูแลถอนหญ้า ขณะที่พระองค์กําลังประทับนั่งพรวนดินอยู่นั้น นายวิรัชได้ถือชะแลงเหล็กย่องเข้ามาด้านหลังแล้วฟาดไปบนพระเศียรเต็มแรง จนพระวรกายฟุบลงกับพื้นดินสิ้นพระชนม์ทันที ส่วนนายแสงเพื่อนคู่หูก็รีบเข้ามาช่วยลากพระศพที่ชุ่มไปด้วยพระโลหิตเข้าไปซุกไว้ในโรงรถ แล้วรีบขึ้นไปบนตําหนักค้นหาของมีค่าได้เครื่องเพชรจํานวนมากก่อนที่จะพากันหลบหนีออกจากวังไป

แม้ภายหลังตํารวจจะติดตามจับตัวฆาตกรได้ แต่ศาลก็พิพากษาเพียงจําคุกตลอดชีวิต เพราะคําสารภาพของจําเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

ชีวิตที่สูงสุดและต่ำสุดยิ่งกว่าละคร

แม้พระนางเธอลักษมีลาวัณจะทรงจากโลกนี้ไปนานปีแล้ว แต่ชีวิตของพระองค์ควรค่าแก่การรําลึกถึง เพราะเป็นชีวิตที่เคยสูงส่งด้วยชาติตระกูลในขัตติยวงศ์ สูงด้วยทรงเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชอํานาจเหนือคนทั้งประเทศ สูงด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติของศิลปินด้านการละครและอักษรศาสตร์ที่ยากยิ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แต่บั้นปลายชีวิตของพระองค์กลับตกต่ำสุดด้วยการสิ้นพระชนม์จากน้ำมือของคนรับใช้ผู้ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ต่ำทั้งอาวุธชะแลงเหล็กเก่า ๆ ที่ใช้ประหาร ต่ำทั้งพื้นพสุธาที่ฟุบพระพักตร์ลงไปสิ้นพระทัย และต่ำสุดเมื่อพระศพถูกลากไปซุกอยู่ในโรงรถซึ่งคับแคบและมืดมิด

จากอดีตพระนางเธอลักษมีลาวัณเคยโปรดการนิพนธ์นวนิยายที่มีตัวละครหลากหลายชีวิต แต่พระนางเธอฯ หาทรงทราบไม่ว่าละครชีวิตของพระองค์นั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจยิ่งกว่านวนิยายหลายเท่านัก 

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

ที่สุดแห่งเจ้าจอม รัชกาลที่ ๕

ที่สุดแห่งเจ้าจอม ร.5

ร.5 มีเจ้าจอมมารดา 27 คน
เจ้าจอม 116 คน
รวม 143 คน

1.เจ้าจอมคนแรกสุด
(นับจากเวลาประสูติพระเจ้าลูกเธอ)
คือ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ แข พึ่งบุญ
เดิมเป็นพระพี่เลี้ยง ร.5
ขณะเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 14 ปี
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แข
ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของ ร.5
คือพระองค์เจ้าผ่องประไพ
2.เจ้าจอมที่เป็นรักแรกสุด
คือ เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค
ร.4 โปรดสู่ขอมาเป็นสะใภ้หลวง
ตามราชประเพณี
ร.5 โปรดแต่งตั้งเป็น
เจ้าคุณจอมมารดา
เหนือกว่าพระสนมทั้งปวง
เจ้าคุณจอมมารดาแพ
ประสูติพระราชธิดาล้วน 3 พระองค์
3.เจ้าจอมที่ประสูติพระราชบุตร
มากที่สุด มี 2 คน
คือเจ้าจอมมารดาแสง กัลยาณมิตร
ประสูติพระราชโอรส 2
พระราชธิดา 2 รวม 4 พระองค์
และเจ้าจอมมารดาพร้อม
ประสูติพระราชโอรส 1
พระราชธิดา 3 รวม 4 พระองค์
4. เจ้าจอมจากสกุลบุนนาค
มีมากที่สุดรวม 21 คน
(ไม่รวมพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
ซึ่งมีเชื้อสายบุนนาคเช่นกัน)
ล้วนเป็นหลานเหลนลื่อ
ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต)
ประกอบด้วย
1. เจ้าคุณจอมมารดาแพ
2. เจ้าจอมมารดาโหมด
3. เจ้าจอมมารดาอ่อน
4. เจ้าจอมเอี่ยม
5. เจ้าจอมเอิบ
6. เจ้าจอมอาบ
7. เจ้าจอมเอื้อน
8. เจ้าจอมแส
9. เจ้าจอมแก้ว
10. เจ้าจอมแถม
11. เจ้าจอมโหมด
12. เจ้าจอมพิศว์
13. เจ้าจอมอ้น
14. เจ้าจอมเหลียน
15. เจ้าจอมเลียม
16. เจ้าจอมอบ
17. เจ้าจอมเชย
18. เจ้าจอมปุก
19. เจ้าจอมจีน
20. เจ้าจอมเยื้อน
21. เจ้าจอมวอน
5. เจ้าจอมที่มีอายุยืนมากที่สุด
คือเจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค
เกิดปลาย ร.4 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2411
ถึงแก่อนิจกรรมใน ร.9 วันที่ 29 มกราคม 2512 (100 ปี)
เจ้าจอมมารดาอ่อน เป็นพี่คนโต
ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ประสูติพระราชธิดา 2 พระองค์
คือพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
กับพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
และตกพระโลหิตไม่เป็นพระองค์อีก 2 ครั้ง
เจ้าจอมมารดาอ่อนอายุยืนมาก
จนพระราชธิดา
ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน
ทั้ง 2 พระองค์
6. เจ้าจอมที่ถวายตัวเป็นคนท้ายสุด
คือเจ้าจอมแส บุนนาค
น้องสาวต่างแม่ของกลุ่มเจ้าจอม “ก๊กออ”
ถวายตัวในปี 2451 ขณะอายุ 16 ปี
ถวายตัวได้เพียง 2 ปี
ร.5 ก็สวรรคตในปี 2453
เจ้าจอมแส มีอายุยืนยาวถึงสมัย ร.9
ถึงแก่อนิจกรรม 7 ตุลาคม 2521 (86 ปี)
บางแห่งว่า
เจ้าจอมแถม บุนนาค
ถวายตัวเป็นคนสุดท้าย
ซึ่งอย่างไรก็ตาม
ทั้งสองท่านก็ถวายตัวในปีเดียวกัน
7. เจ้าจอมที่มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย
คือเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์
ถวายตัวปี 2449 ขณะอายุ 15 ปี
ถึงแก่อนิจกรรมสมัย ร.9
วันที่ 3 มิถุนายน 2526 (93 ปี)
8. เจ้าจอมที่เกือบได้เป็นเจ้าจอมมารดา
เนื่องจากตั้งครรภ์แต่แท้งเสียก่อน
คือเจ้าจอมเอี่ยม กลุ่มเจ้าจอมก๊กออ
แท้ง 2 ครั้ง
เจ้าจอมเจิม ธิดาพระยาวิเศษสัจธาดา
แท้ง 1 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้าจอม ร.5
ที่น่าสนใจ เช่น
เจ้าจอมที่ลาบวชชีตลอดชีวิต
เจ้าจอมที่โกหกว่าตั้งครรภ์
เจ้าจอมนับถือมุสลิม
เจ้าจอมนับถือศาสนาพราหมณ์
เจ้าจอมเชื้อสายจีน
เจ้าจอมที่ขอลาออกเพื่อสมรสใหม่
เจ้าจอมที่ได้บรรดาศักดิ์เป็น “คุณท้าวนาง”


























10 เรื่องน่ารู้ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 10 เรื่องน่ารู้ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “ ทองด้วง ” ประสูติที่พระนครศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ทรงเป็นพระราชโอรสในหลวงพินิจอักษร(ทองดี) และพระนางดาวเรือง(หยก) โดยมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมอุทรตามลำดับ คือ
1.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี (สา)
2.ขุนรามณรงค์
3.พระเจ้าพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
4.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และ 5.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระอนุชาซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชาหรือวังหน้าในรัชสมัยของพระองค์(รัชกาลที่ 1)

2.เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระชนมายุ 22พรรษาได้เข้ารับราชการตำแหน่งมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอุทุมพร / 25 พรรษา เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ /32 พรรษา รับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ /33พรรษา เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ /34 พรรษา เป็นพระยายมราช / 35 พรรษา เป็นเจ้าพระยาจักรี / 41 พรรษา เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก / ครั้นพระชนมายุ 46 พรรษา ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์

3. ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินี (นามเดิมว่า นาก) ซึ่งเป็นชาวอัมพวา มีพระโอรสธิดา 9 พระองค์ หนึ่งในเก้าพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นอกจากนี้ยังทรงมีพระโอรสธิดากับเจ้าจอมอื่นๆอีก เมื่อรวมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอในแผ่นดินของพระองค์จะมีทั้งสิ้น 42 พระองค์โดยประสูติก่อนปราบดาภิเษก 10 พระองค์ และหลังปราบดาภิเษก 32 พระองค์

4.รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏหลังปราบดาภิเษกว่า “ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพดิศัยเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ” ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน

5.พระนามที่เรียกขานกันสั้นๆ คือ “ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ” ต่อมาคนทั้งหลายมักเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “ แผ่นดินต้น ” และเรียกรัชกาลที่ 2ว่า “ แผ่นดินกลาง ” รัชกาลที่ 3 ทรงรังเกียจว่านามสมญาเช่นนี้จะเป็นอัปมงคลเพราะเมื่อมีต้น มีกลางก็ต้องมีปลาย ซึ่งดูเสมือนว่าพระองค์จะเป็นรัชกาลสุดท้าย จึงมีพระบรมราชโองการให้ถวายพระนามสมเด็จพระอดีตกษัตริย์สองรัชกาลก่อน ตามพระนามพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระบรมราชบิดาว่า “ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ” และ “ พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ” ตามลำดับ (ต่อมารัชกาลที่ 4ได้เปลี่ยนเป็น “ นภาลัย ” )

6.รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระนครขึ้นใหม่เยื้องกรุงธนบุรีราชธานีเดิม และได้พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ” (สมัยรัชกาลที่4 เปลี่ยนบวรรัตนโกสินทร์ เป็นอมรรัตนโกสินทร์) ได้มีผู้แปลนามกรุงเทพฯไว้ว่า หมายถึง “ พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่ที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่งคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ ”

7.กรุงเทพมหานครฯหรือพระนครแห่งใหม่นี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ วัดวาอาราม และพระที่นั่งต่างๆ ดังนี้ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูณยพิมาน และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (เดิมชื่อพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท) ฯลฯ

8.ส่วนกำแพงพระนครมีความยาว 188 เส้นเศษ สูง 1.6 เมตร หนาเกือบ 2 เมตร มีประตูใหญ่ 13 ประตูได้แก่ ประตู รัตนพิศาล พิมานเทเวศน์ วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิศา เทวาภิรมย์ และอุดมสุดารักษ์ และมี ป้อม 14 ป้อม ได้แก่ พระสุเมรุ /ยุคนธร /มหาปราบ /มหากาฬ /หมูทะลวง(หมูหลวง) /เสือทะยาน /มหาไชย /จักรเพชร /ผีเสื้อ /มหาฤกษ์ /มหายักษ์ /พระจันทร์ /พระอาทิตย์ และอิสินธร

9.วัดสำคัญในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังทำนองเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย / วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เดิมชื่อวัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเพทราชา รัชกาลที่ 1ให้บูรณะปฏิสังขรณ์อยู่นานถึง 12 ปีแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ” (รัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนจาก วาส เป็น ราม )ถือ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 /
วัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระราชทานนามให้ว่า “ วัดนิพพานาราม ” ครั้นเมื่อมีการสังคยานาพระไตรปิฎกปีพ.ศ. 2331 และได้สร้างมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ” เมื่อกรมพระราชวังบวรฯทิวงคต รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และพระราชทานนามให้ว่า “ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ” / วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2350 เพื่อให้เป็นวัดกลางเมืองเช่นเดียวกับวัดพนัญเชิงสมัยกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานที่นี่ และรัชกาลที่ 2 ได้ทรงแกะสลักบานประตูหน้าพระวิหารไว้ด้วย / วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีสรงสนาน (สระหัว)ตามประเพณี ครั้นเมื่อเสวย์ราชย์แล้วจึงได้พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ วัดสระเกศ ”

10.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา และเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 สิริรวมพระชนมายุ 74 พรรษา ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติ 27 ปี ทรงเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี ทรงปกป้องคุ้มครองรักษาผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราชาวไทยให้อยู่รอดปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองมาจวบจนทุกวันนี้ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาของพระองค์ว่า “ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ” ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2525
อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา จอมนางผู้ทรงเป็นปดิวรัดาในรัชกาลที่๕

 เรื่องเล่าจากในวัง จอมนางผู้ทรงเป็นปดิวรัดาในรัชกาลที่๕



พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าทรงอิสริยยศเป็นพระมเหสี ตำแหน่ง พระอรรคชายาเธอ มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน อีกทั้งทรงเป็นผู้ที่ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง อุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาเลี้ยงดู สอนให้เล่าเรียน และฝึกวิชาชีพทั้งหญิงและชาย ทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ในสมัยหนึ่งอีกด้วย
พระวิมาดาเธอฯ ประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยได้รับพระราชทานโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพและได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ในวันออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ (พระโกศทองใหญ่ เป็นพระโกศชั้นสูงสุดสำหรับทรงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี)พระอิสริยยศสุดท้ายนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามและเลื่อนกรม
ทั้งนี้ คำว่า "วิมาดา" แปลว่า แม่เลี้ยง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาไว้ในพระอิสริยศักดิ์นี้อย่างเป็นทางการ ส่วนสร้อยพระนาม "ปิยมหาราชปดิวรัดา" นั้น คำว่า "ปดิวรัดา" (อ่านว่า ปะดิวะรัดดา) แปลว่า ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี นั่นเอง
(ภาพพระฉายาลักษณ์ในช่วงปลายพระชนม์ พระวิมาดาเธอฯทรงฉายร่วมกับ พระโอรส พระธิดา พระสุนิสา และพระราชนัดดาจากหนังสือสมุดภาพพระราชโอรส พระราชธิดาในรัชกาลที่๕ จากแนวบน ; พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพรฯ //แถวนั่งกลาง ;สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา พระวิมาดาเธอฯ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล //แถวนั่งล่าง ; พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

 ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ วันประสูติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๗๐ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม



พระประวัติ
พระชนม์ชีพช่วงต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) นางสนองพระโอษฐ์คนแรกของสยาม ธิดาของพระยามงคลรัตนมนตรี (ช่วง) กับขรัวยายไข่ มีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ — ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒ู๖๑) หรือ เสด็จพระองค์เล็ก เมื่อพระชันษาได้ ๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ปีต่อมาเจ้าจอมมารดาชุ่มก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับที่พระตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต (ปัจจุบันคืออาคารอาทรทิพยนิวาสน์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๖๒ เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดอย่างหนัก พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี พระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวก็สิ้นพระชนม์ลง พระองค์จึงประทับอยู่ในพระตำหนักลำพัง และทรงรับข้าหลวงของพระองค์เจ้าสุจิตราภรณีมาไว้ในพระอุปถัมภ์ทุกคน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เสด็จออกไปประทับ ณ ตำหนักทิพย์ ถนนราชวิถี บนที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระชนม์เยี่ยงคนสามัญ ประทับอยู่ในตำหนักทิพย์ร่วมกันกับเจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงสนิทสนมกัน และพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ หลานชายที่พระองค์ทรงรับอุปการะ
พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการทิ้งระเบิดหลายลูกใกล้ตำหนักทิพย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาเสด็จไปประทับที่พระตำหนักเก่าของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระราชวังบางปะอิน โดยมีเจ้าจอมอาบตามเสด็จไปด้วย
สิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ ประดิษฐานพระศพ ณ ตำหนักทิพย์ ถนนราชวิถี และมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
ชีวิตส่วนพระองค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงสนพระทัยด้านดนตรีไทย พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการเล่นจะเข้ และโปรดให้มีการจัดมโหรีภายในพระตำหนักส่วนพระองค์อยู่เนือง ๆ ทำให้พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงสนิทสนมกับเจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ ๕ ที่ชอบเล่นจะเข้เช่นกัน ทรงตั้งวงเครื่องสายหญิงที่ขึ้นชื่อภายในสวนสุนันทา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงทรงยกเลิกวงเครื่องสายนี้ไป แล้วย้ายออกไปประทับที่ตำหนักทิพย์ ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงอุปการะพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นหลาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ขณะอายุได้สามเดือน พระองค์ไม่เคยเลี้ยงเด็กอ่อนมาก่อนจึงเป็นการลำบาก เจ้าจอมอาบจึงช่วยเลี้ยงและย้ายไปอยู่กับพระองค์ที่พระตำหนักมาตั้งแต่นั้น ทรงดำรงพระชนม์ชีพเยี่ยงคนสามัญทั่วไป และเลี้ยงหลานชายประดุจพระโอรส
เมื่อพระองค์เสด็จไปฟังธรรมเทศนา หรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในหรือต่างประเทศ ก็จะมีเจ้าจอมอาบโดยเสด็จด้วยเสมอ หลังพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เจ้าจอมอาบก็ยังคงอาศัยอยู่ในตำหนักทิพย์จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ปัจจุบันตำหนักทิพย์ถูกเรียกว่าบ้านซังฮี้ เป็นที่อยู่อาศัยของศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ และครอบครัว

เนื้อเพลง