วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

4 ยอดหญิงงาม ในตำนานจีน : ไซซี-หวางเจาจิน-เตียวเสียน-หยางกุ้ยเฟย

 “มัจฉาจมวารี ปักษีตกนภา จันทร์หลบโฉมสุดา มวลผกาละอายนาง”

4 ยอดหญิงงาม ในตำนานจีน : ไซซี-หวังเจาจิน-เตียวเสียน-หยางกุ้ยเฟย

เป็นคำเรียกสตรี 4 คนที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในประวัติศาสตร์จีนโบราณ โดยทั้ง 4 คนนี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองพลิกผันหรือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์

เรียงตามลำดับความงามคือ 
ไซซีเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ  หวังเจาจวิน เตียวเสียน และ หยางกุ้ยเฟย ตามลำดับ
ไซซี (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org)

1. ไซซี เกิดประมาณ ค.ศ. 506 ก่อนคริสตกาลในสมัยชุนชิว ได้ฉายาว่า "มัจฉาจมวารี" หมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ” เนื่องจากเหล่าปลาในลำธาร เมื่อได้เห็นรูปโฉมของนางก็ถึงกับตะลึงในความงามของนางนั้น ทำให้ฝูงปลาถึงกับจมลงไปในน้ำโดยไม่รู้ตัว

ไซซีเป็นเครื่องบรรณาการที่รัฐเยว่ ส่งให้อู่อ๋องฟูซาแห่งรัฐอู่รับไว้ จนเกิดความลุ่มหลงไม่บริหารบ้านเมือง ต่อมา 13 ปีให้หลัง รัฐอู่ก็ล่มสลาย อู่อ๋องฟูซาต้องฆ่าตัวตาย และรัฐเยว่กลับสู่อิสรภาพในที่สุด

เมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2554 ได้มีเสวนาวิชาการ "เรื่องยอดหญิงงามไซซี เป็นบรรพชนของคนไท?" ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ

ประเด็น "ไซซีเป็นคนไท.....หรือไม่?" อาจารย์ทองแถม นาถจำนงบอกว่า "ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยจะลากเข้าหาทำนองอะไรก็ไทย แต่นักวิชาการจีนค้นคว้าบอกมาเอง แล้วก็ตื่นเต้นกันเองในหมู่นักวิชาการจีน"

ประวัติศาสตร์จีนเฉียดสามพันปีที่แล้ว เรื่องของเย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนรบแพ้อู๋อ๋องจนถูกจับเป็นเฉลย เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับแคว้น เย่ว์อ๋องกับฟ่านหลีเสนาบดีคู่ใจก็วางแผนปลดปล่อยแคว้นเย่ว์ออกจากการเป็นเมืองขึ้นของแคว้นอู่ เย่ว์อ๋องตั้งปณิธาน"นอนหนุนขอน กินดีขม" เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำการสำเร็จ แผน "นารีพิฆาต" นี้ก็เป็นหนึ่งในการกอบกู้แคว้น ผู้รับหน้าที่นี้ก็คือโฉมงามนาม "ไซซี"

เราไปดูความเป็นมาของไซซีกันว่านางเป็นใครมาจากไหน?

 "ไซซี" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ "ซีซือ" ตามสำเนียงจีนกลาง เกิดประมาณ 506 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคชุนชิว ที่มณฑลเจ้อเจียง ในแคว้นเย่ว์

ไซซีได้รับฉายานามว่า "มัจฉาจมวารี" หมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ" ไซซีนั้นมีโรคประจำตัวคือ "โรคหัวใจ" เวลาอาการกำเริบนางจะขมวดคิ้วด้วยความเจ็บปวด ถึงกระนั้นคนที่ได้เห็นยังยอมรับว่า "แม้นขมวดคิ้วนิ่วหน้าหรือแย้มยิ้มก็งามเพียงกันยิ่งเห็นยิ่งชวนลุ่มหลง รูปร่างนั้นจะทอนออกนิดก็ผอมไปจะเพิ่มอีกหน่อยก็อ้วนเกิน" นับได้ว่าความงามของนางนั้นเป็นสิ่งที่ "ธรรมชาติ" ได้สร้างมาอย่างพอดี

ในยุคเลียดก๊กที่แต่ละแคว้นรบกันนั้น แคว้นอู๋เป็นรัฐที่มีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งจึงสามารถรบชนะแคว้นเย่ว์และจับตัว "เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยน" และ "อัครเสนาบดีฟ่านหลี" ไปเป็นตัวประกันที่แคว้นอู๋ เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนต้องการที่จะกู้ชาติแต่จำต้องยอมจงรักภักดีเพื่อให้อู๋อ๋องไว้ใจ

ครั้งหนึ่งอู๋อ๋องเกิดมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายไม่สามารถให้การรักษาได้ เย่ว์อ๋อง

โกวเจี้ยนได้ชิมอุจจาระของอู๋อ๋องต่อหน้าเสนาธิการทั้งปวง และบอกว่าอู๋อ๋องเพียงแค่มีพระวรกายที่เย็นเกินไป หากได้ดื่มสุราและทำร่างกายให้อบอุ่นขึ้นก็จะมีอาการดีขึ้นเอง เมื่ออู๋อ๋องทำตามก็หายประชวร อู๋อ๋องเห็นว่าเย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดีจึงปล่อยตัวกลับคืนสู่แคว้นเย่ว์ เมื่อกลับสู่แคว้น เย่ว์อ๋องโกวเจี๋ยนก็วางแผนที่จะกู้ชาติทันที โดยมีเสนาบดีฟ่านหลี่คอยให้คำปรึกษา ฟ่านหลี่ได้เสนอแผนการสามอย่าง คือ ฝึกฝนกองกำลังทหาร พัฒนาด้านกสิกรรม และ ส่งสาวงามไปเป็นเครื่องบรรณาการพร้อมกับเป็นไส้ศึกคอยส่งข่าวภายในให้

 ไซซีเป็นหญิงชาวบ้าน นางเป็นลูกสาวคนตัดฟืนที่เขาจู้หลัวซาน (ภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า กิวล่อซัว) ถูกพบครั้งแรกขณะซักผ้าริมลำธาร ไซซีมีหน้าตางดงามมาก

พร้อมกับเจิ้งตัน (แต้ตัน) ซึ่งมีความงามด้อยกว่าไซซีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฟ่านหลี่เสนาบดีของแคว้นเย่ว์เป็นผู้ดูแลอบรมทั้ง 2 นางให้มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง เป็นเวลานานถึง 3 ปี เพื่อที่จะไปเป็นบรรณาการให้กับอู๋อ๋อง เพื่อมอมเมาให้อู่อ๋องฟูซาเจ้าแคว้นอู่ ลุ่มหลงอยู่กับเสน่ห์ของนาง จนไม่บริหารบ้านเมืองให้เป็นปกติสุข เมื่ออู๋อ๋องฟูซาได้ตัวไซซีกับเจิ้งตันสองสาวงามจากแคว้นเย่ว์ ก็บังเกิดความหลงใหลในตัวไซซีมากกว่าเจิ้งตัน ทำให้เจิ้งตันน้อยใจจนผูกคอตาย ขณะที่มาอยู่แคว้นอู๋ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น(เจิ้งตันซึ่งมาอยู่ที่แคว้นอู่ได้ลืมอุดมการณ์และปณิธานเพื่อบ้านเมืองไปหมดสิ้นเมื่อเป็นสนมของอู๋อ๋อง นับว่าไซซียังโชคดีที่เจิ้งตันไม่ได้เปิดเผยความลับว่าพวกนางทั้งสองถูกส่งมาทำอะไร)

 เมื่อเจิ้งตันตายไปภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับไซซีเพียงคนเดียว การใช้ชีวิตในฐานะสนมของอู่อ๋องนั้นไม่ง่ายเลยไหนจะต้องคอยระวังตัวจากบรรดาสนมและเจ้าจอมคนอื่นที่คอยจะกำจัดนางให้พ้นหูพ้นตา ไหนจะต้องคอยหาข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการทหารแล้วลอบส่งข่าวกลับไปยังแคว้นเย่ว์โดยที่ไม่ให้มีคนจับพิรุธหรือสงสัยในตัวนางได้ และยังต้องคอยเบี่ยงเบนความสนใจของอู่อ๋องจากการบริหารบ้านเมือง ผ่านไป 13 ปี เมื่อแคว้นอู่อ่อนแอลง แคว้นเย่ว์ก็สามารถเอาชนะได้สำเร็จในที่สุด

ภายหลังจากที่อู่อ๋องฟูซาฆ่าตัวตายไปแล้ว ไซวีกับเสนาบดีฟ่านหลี่ที่ว่ากันว่า ได้ผูกสัมพันธ์ทางใจไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว(ตั้งแต่ครั้งที่ฟ่านหลี่นำตัวไซซีและเจิ้งตันไปถวายเป็นบรรณาการแด่อู๋อ๋อง) ได้ถอนตัวออกจากการเมือง ฟ่านหลี่หันไปประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ด้วยนิสัยซื่อตรงและมีคุณธรรมทำให้กิจการของฟ่านหลี่ประสบความสำเร็จกลายเป็นคหบดีที่ร่ำรวยและมั่งคั่งที่สุดในแคว้นเย่ว์ บั้นปลายของชีวิตฟ่านหลี่กับไซซีได้หายตัวไป บ้างก็ว่าทั้งคู่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ และไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ทะเลสาบไซ้โอว (ทะเลสาบซีหู) เป็นต้น แต่ไม่มีใครสามารถระบุถึงที่ตั้งของสุสานของทั้งสองได้

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล บอกว่า "นักวิชาการจีนพยายามถอดความภาษาพูดแคว้นเย่ว์ที่บันทึกไว้ด้วยตัวหนังสือจีน" ด้วยภาษาหลายภาษา ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายภาษาแคว้นเย่ว์ ถอดความได้ด้วยภาษา "ไทยสยาม"

เผ่าเย่ว์ เผ่าของไซซี เป็นไทหรือไม่?.....คำเรียก.....ไป่เย่ว์ แปลว่า "เย่ว์ร้อยเผ่า" คำนี้ชี้ให้เห็นว่า "เย่ว์ไม่ได้มีเผ่าเดียว" แต่มีภาษาของตัวเอง มีขนบธรรมเนียมเหมือนกัน ตัดผมสั้น สักร่างกาย อาศัยอยู่บนเรือนเสาสูง ชำนาญทางน้ำ เก่งการใช้เรือและรบทางเรือ เชี่ยวชาญการหล่อสำริด ฯลฯ

อาจารย์ทองแถมบอกว่า แม้ว - เย้าบางเผ่าเมื่อลงจากภูเขามาอยู่พื้นราบหรืออยู่ริมน้ำก็เก่งทางน้ำ และแม้ว - เย้าก็คือหนึ่งในเย่ว์ จึงสรุปไม่ได้ว่า เย่ว์เป็นไทชาติพันธุ์เดียว

ชื่อ "เย่ว์" เป็นชื่อที่ถูกเรียกขานในช่วงโบราณ สมัยเมื่อเกือบสามพันปีที่แล้ว เมื่อชื่อเย่ว์หายไป ชื่อจ้วง ต้ง และอีกหลายชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีวิธีชีวิตแบบเย่ว์ก็เกิดตามมา

กระบวนการพิสูจน์ชาติพันธุ์เผ่าเย่ว์ไม่ได้ทำเพียงแค่ค้นคว้าหลักฐานและบันทึกตามประวัติศาสตร์ เทียบเคียงภาษาพูด และตัวหนังสือเท่านั้น นักวิชาการจีนที่ค้นคว้าเรื่องนี้ เอาจริงเอาจังกันถึงขั้น "พิสูจน์ดีเอ็นเอ"

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทำเอานักวิชาการจีนระดับศาสตราจารย์แปลกใจ.....ทำไมดีเอ็นเอชาวจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ไปตรงกับชาวลาวแถวหลวงพระบาง?

อาจารย์ทองแถม นาถจำนง สรุปว่า "ไซซีเป็นชาวเผ่าเย่ว์ และไทเป็นหนึ่งในเผ่าเย่ว์" แต่ไม่ยืนยัน "เผ่าไซซีเป็นไท"แต่ไซซีเป็นไทหรือไม่? เย่ว์อ๋องโกวเจี้ยนวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จะเป็นวีรบุรุษของคนไทยได้ด้วยหรือเปล่า? คงเป็นเพียงแค่ประเด็นให้เราได้คิดกัน ว่าราก.....ลึก ดั้งเดิม.....แท้จริง เรามาจากไหน?

ความจริงทางวิชาการชี้ให้เห็นว่า "แม้จะต่างชาติต่างภาษา เดิมทีเราอาจจะเริ่มต้นมาจากรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ทำให้เราไม่เหมือนกัน"

เราจะทะเลาะกันไปทำไม? ให้ตัวเองเหนื่อย คนอื่นก็เหนื่อย ประเทศชาติก็เหนื่อย?




หวางเจาจวิน (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org)

2. หวังเจาจวิน 

หวังเจาจวิน มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ได้ฉายาว่า "ปักษีตกนภา" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”

หวังเจาจวินเดิมเป็นนางกำนัลในวังหลวงที่ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่นส่งไปให้แก่ข่านของเผ่าซงหนูเพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรี แล้วในที่สุดหวังเจาจวินก็กลายเป็นภรรยาคนโปรดของ หู ฮันเซีย

แม้ว่าในอดีต "ผู้ชาย" จะเป็นผู้กุมอำนาจและบริหารบ้านเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่บทบาทสำคัญกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายหญิง เกิดเป็นเรื่องราวของ "วีรสตรี" ที่แสดงความกล้าหาญน่ายกย่อง และเรื่องราวของ "หญิงงามล่มเมือง" ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์มานักต่อนัก

ในบรรดา 4 หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน คงมี หวังเจาจวิน เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น "หญิงงามกู้เมือง" เธอได้รับการยกย่องเทิดทูนมากทางแถบตอนเหนือของจีน ความงดงาม ความกล้าหาญ และความเสียสละของเธอยังเป็นที่กล่าวขาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,000 ปี

แต่งงานเพราะการเมือง

 ในรัชสมัยฮั่นซวนตี้ บรรดาชนชั้นหัวหน้า ของชนเผ่าซงหนูต่างแย่งชิงอำนาจกัน จนในชั้นสุดท้าย ข่านฮูหานเสีย รบแพ้ ข่านจื้อจือ ผู้ซึ่งเป็นพี่ชาย

ฮูหานเสีย ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ยังคงมีอำนาจในชนเผ่า จึงตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น และไปเข้าเฝ้าฮั่นซวนตี้ด้วยตนเอง

และเนื่องจาก "ฮูหานเสีย" เป็นข่านเผ่าซงหนูคนแรก ที่เดินทางมาเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนภาคกลาง (ตงง้วน) "ฮั่นซวนตี้" จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับที่ชานเมืองหลวง (ฉางอานหรือซีอาน) ด้วยพระองค์เอง และได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

ฮูหานเสียพักอยู่ที่นครฉางอานกว่าหนึ่งเดือน หลังจากนั้นพอสบโอกาส จึงได้ร้องขอต่อฮ่องเต้ฮั่นซวนตี้ ช่วยเหลือตนให้ได้เดินทางกลับไปยังเผ่าของตัวเอง

ฮั่นซวนตี้ได้ช่วยเหลือ โดยส่งแม่ทัพสองนายนำทหารม้าหนึ่งหมื่น คุ้มกันไปส่งฮูหานเสีย ขณะนั้นชนเผ่าซงหนูกำลังขาดแคลนอาหาร ทางราชสำนักฮั่นจึงได้จัดส่งเสบียงอาหารจำนวนมากไปช่วยด้วย ฮูหานเสียรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง และตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น

หลังจากฮั่นซวนตี้สวรรคต พระโอรสก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าฮั่นหยวนตี้ ต่อมาข่านจื้อจือแห่งเผ่าซงหนู ได้มารุกรานแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกของราชสำนักฮั่น และยังได้สังหารทูตที่ราชวงศ์ฮั่นส่งไปอีก

ทางราชสำนักฮั่นจึงได้ส่งกองทัพออกไปปราบปราม และได้สังหารข่านจื้อจือเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ข่านจื้อจือตายแล้ว ฐานะของข่านฮูหานเสียก็มีความมั่นคงมากขึ้น

 ปี พ.ศ. ๕๑๐ ข่านฮูหานเสียเดินทางมายังนครฉางอานอีกครั้ง และเจรจาขอให้มีการเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วยการสมรสระหว่างราชวงศ์ ซึ่งฮั่นหยวนตี้ก็ได้พระราชทานอนุญาต

การที่หัวหน้าเผ่าซงหนูจะสมรสกับราชวงศ์ฮั่นนั้น ต้องเลือกจากบรรดาองค์หญิงหรือธิดาของเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

ในครั้งนั้น ฮั่นหยวนตี้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลือกนางสนมคนหนึ่งเพื่อพระราชทานให้กับฮูหานเสีย พระองค์ได้ส่งขุนนางไปยังพระราชวังหลังและให้ประกาศว่า “ผู้ใดยินดีที่จะไปยังเผ่าซงหนู ฮ่องเต้ก็จะแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง”

บรรดานางสนมในวังหลังนั้น ต่างก็ถูกเก็บคัดเลือกมาจากราษฎรสามัญชน เมื่อพวกนางถูกคัดเลือกเข้ามาในวังหลวงแล้วก็เหมือนกับนกที่ถูกกักขังอยู่ในกรง บางคนก็ไม่เคยมีโอกาสได้พบฮ่องเต้ ดังนั้นนางสนมส่วนมากต่างก็หวังว่า "สักวันหนึ่งที่พวกนางจะได้ออกจากวังไป"

 แต่เมื่อได้ยินว่าจะต้องจากบ้านเกิดไปยังเผ่าซงหนู จึงไม่มีผู้ใดอาสาที่จะไป แต่กระนั้นก็ยังมีนางสนมคนหนึ่งนามว่าหวังเฉียง ฉายาเจาจวิน มีรูปโฉมที่งดงามและกอปรด้วยความรู้ ยินดีเสียสละเพื่อชาติที่จะไปแต่งงานยังเผ่าซงหนู

ฮ่องเต้ฮั่นหยวนตี้ จึงได้เลือกวันที่จะจัดงานสมรสพระราชทานให้ ฮูหานเสียและหวังเจาจวิน ที่นครฉางอาน

ในขณะที่ ฮูหานเสียและหวังเจาจวินกำลังแสดงความเคารพต่อฮั่นหยวนตี้อยู่นั้น พระองค์ก็ได้ทรงเห็นใบหน้าอันงดงามของหวังเจาจวิน รวมทั้งกิริยามารยาทก็สุภาพเรียบร้อย นับว่าเป็นสุดยอดสาวงามในราชสำนักฮั่นคนเลยทีเดียว

เมื่อฮั่นหยวนตี้เสด็จกลับวังแล้ว ทรงพระพิโรธเป็นอย่างยิ่ง มีบัญชาให้หัวหน้าขันทีไปนำเอารูปภาพของหวังเจาจวินมาให้ทอดพระเนตร ในรูปภาพนั้นแม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงอยู่บ้าง แต่ไม่มีความงดงามเหมือนหวังเจาจวินตัวจริงโดยสิ้นเชิง

ตามประเพณีของจีนแล้ว บรรดานางสนมที่ถูกคัดเลือกส่งเข้ามาในวัง โดยปรกติจะไม่ได้พบกับองค์ฮ่องเต้โดยตรง แต่ทางราชสำนักจะจัดให้นางสนมเหล่านั้นเป็นแบบให้จิตรกรวาดภาพ และส่งภาพเหล่านั้นไปให้ฮ่องเต้เลือก หากเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ก็จะได้มีโอกาสรับใช้องค์ฮ่องเต้

หนึ่งในจิตรกรที่วาดภาพเหล่านางสนมนั้น มีอยู่คนนามว่า "เหมาเหยียนโซ่ว " เวลาที่วาดภาพนางสนมทั้งหลายนั้น หากนางสนมคนใดให้สินบน ก็จะวาดให้สวยงาม

 หวังเจาจวิน มิคิดที่จะติดสินบน ดังนั้นเหมาเหยียนโซ่ว จึงวาดภาพให้นาง "งดงามต่ำกว่าความเป็นจริง" เมื่อฮั่นหยวนตี้ทรงประจักษ์ในความจริงเช่นนี้ จึงทรงพิโรธอย่างมาก รับสั่งให้ประหารชีวิตเหมาเหยียนโซ่วทันที

หวังเจาจวินได้เดินทางออกจากนครฉางอาน ภายใต้การคุ้มกันของบรรดาทหารราชวงศ์ฮั่นและเผ่าซงหนู นางได้ขี่ม้าฝ่าลมหนาวอันทารุณ เดินทางนับพันลี้ไปยังเผ่าซงหนู เป็นมเหสีของข่านฮูหานเสีย ได้รับยศเป็น “หนิงหูเยียนจือ”ด้วยความหวังว่านางจะสามารถนำเอาความสงบสุขและสันติภาพมาสู่ชนเผ่าซงหนู

หวังเจาจวินต้องจากบ้านเกิดไปไกล อาศัยอยู่ในดินแดนของเผ่าซงหนูเป็นเวลานาน นางได้ "เกลี้ยกล่อม" ฮูหานเสียอย่าให้ทำสงคราม ทั้งยังเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวฮั่นให้แก่ชาวซงหนูอีกด้วย

 นับจากนั้นเป็นต้นมา เผ่าซงหนูและราชวงศ์ฮั่นต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และไม่มีสงครามเป็นเวลายาวนานถึงหกสิบกว่าปี ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ข่านฮูหานเสียสิ้นชีวิตแล้ว นางก็ได้ “ทำตามประเพณีของชาวซงหนู” โดยได้แต่งงานใหม่กับบุตรชายคนโตที่เกิดกับภรรยาหลวงของข่านฮูหานเสีย ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฮั่น แต่นางก็คำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก และคิดที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวฮั่นและชาวซงหนู

หวังเจาจวิน ได้ให้กำเนิดบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คน ที่เผ่าซงหนู เวลาและสถานที่ ที่นางถึงแก่กรรมนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้

 “ความงามที่ทำให้ฝูงนก ต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า” เป็นเรื่องราวตอนที่ หวังเจาจวิน เดินทางออกไปนอกด่าน (ในรัชสมัยฮั่นหยวนตี้ ทางเหนือและใต้ทำสงครามกันไม่หยุดหย่อน ชายแดนไม่มีความสงบสุข เพื่อที่จะทำให้เผ่าซงหนูทางชายแดนด้านเหนือสงบลง ฮั่นหยวนตี้จึงได้พระราชทางหวังเจาจวินให้สมรสกับข่านฮูหานเสีย เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองเมือง) ในวันที่ท้องฟ้าสดใส หวังเจาจวินได้จากบ้านเกิดเดินทางไปทางเหนือ ระหว่างทาง เสียงม้าและเสียงนกร้องทำให้นางเศร้าโศก ยากที่จะทำใจได้ นางจึงได้ดีดผีผา(พิณจีนชนิดหนึ่ง  ว่ากันว่าหวังเจาจวินมีฝีมือการเล่ยผีผาที่ไพเราะจับใจผู้ฟังยิ่งนัก  ยามที่นางเดินทางไปแคว้นซงหนูก็นำผีผาที่นางรักยิ่งติดตัวไปด้วย  รูปวาดส่วนใหญ่ของนางจึงเป็นรูปวาดหญิงงามที่มีผีผาอยู่ในอ้อมแขน)  ขึ้นเป็นทำนองที่แสดงความโศกเศร้าจากการพลัดพราก บรรดานกที่กำลังจะบินไปทางใต้ ได้ยินเสียงพิณอันไพเราะเช่นนี้ จึงมองลงไป เห็นหญิงงามอยู่บนหลังม้า ก็ตะลึงในความงาม ลืมที่จะขยับปีก จึงร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน นับแต่นั้นเป็นต้นมา หวังเจาจวินจึงได้รับขนานนามว่า “ปักษีตกนภา” หรือ “ความงามที่ทำให้ฝูงนก ต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า” นั่นเอง.




 3. เตียวเสี้ยน 

เตียวเสี้ยนมีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก ได้ฉายาว่า "จันทร์หลบโฉมสุดา" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบให้”

 เตียวเสี้ยน ถือเป็นหญิงงามอันดับที่สามจากหญิงงามทั้งสี่คนในบันทึกแดนมังกร ที่คนทั่วไปต่างก็รู้จักเธอผ่าน วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง สามก๊ก แต่ความเป็นจริงนั้นเตียวเสี้ยนเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

เธอเป็นเพียงสตรีที่ถูกสร้างขึ้นจาก ปลายปากกาของ หลอก้วนจง นักเขียนอัจฉริยะ ผู้แต่งนิยายสามก๊ก "ซานกั๋วเหยี่ยนอี้" เท่านั้น เธอเป็นหญิงงามที่มีประวัติส่วนตัวน้อยที่สุด หากเทียบกับหญิงงามคนอื่นในประวัติศาสตร์

ในสามก๊ก บรรยายว่า เตียวเสี้ยน เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นปลายแถว เมื่อตอนเด็กมีฐานะยากจน ต้องช่วยแม่ทอเสื่อขายเลี้ยงชีพ จนได้มาเป็นนางรำในจวน อ้องอุ้น ขุนนางผู้ใหญ่ในพระเจ้าเ้ยนเต้ (ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) เนื่องด้วยมีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง มีความสามารถในการฟ้อนรำเป็นเลิศและมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว อ้องอุ้นจึงเมตตารักเหมือนลูกและรับเป็น บุตรบุญธรรม

อ๋องอุ้น เห็นว่า ทรราชตั๋งโต๊ะ กำเริบเสิบสานคิดล้มราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ อ้องอุ้นคิดจะกำจัด ตั๋งโต๊ะ ขุนนางกังฉินกินบ้านเมือง จึงได้วางแผนการอันแยบยล กลยุทธ์สาวงาม ยกเตียวเสี้ยนให้แก๋ ลิโป้ ก่อนอย่างลับๆ แล้วจึงค่อยยกนางให้แก่ ตั๋งโต๊ะ

คราครั้งนั้น นางเตียวเสี้ยนผู้กตัญญู ได้ยอมสละตัวเอง เพื่อทำให้ตั๋งโต๊ะแตกคอบาดหมางกับ ลิโป้

นับแต่นั้นมาเวลาที่ เตียวเสี้ยน อยู่กับ ตั๋งโต๊ะ เพียงลำพัง ก็จะใช้จริตมารยายั่วยวนจนตั๋งโต๊ะหลงใหล แต่หากว่ามี ลิโป้ อยู่ด้วย นางก็จะแอบส่งสายตาให้ และเมื่อบางครั้งที่ได้อยู่กับลิโป้เพียงลำพัง นางก็จะร้องว่า ตั๋งโต๊ะใช้กำลังเข้าข่มขู่นางไม่อาจปฏิเสธได้แต่เมื่อเวลาที่ตั๋งโต๊ะสงสัยว่านางกับลิโป้มีชู้กัน นางก็จะบอกว่าลิโป้หาทางจะลวนลามนาง และขู่ว่าจะฆ่าตัวตายหากว่าตั๋งโต๊ะไม่เชื่อ เมื่อตั๋งโต๊ะห้ามนางไว้ได้ นางก็โผเข้ากอดและร้องไห้ที่ตัวของตั๋งโต๊ะ

วันหนึ่ง ในขณะที่ตั๋งโต๊ะไปร่วมประชุมเหล่าขุนนาง ลิโป้ก็แอบเข้าไปพบกับเตียวเสี้ยน และนัดพบกันที่ ศาลาฟ่งอี๋ เมื่อเตียวเสี้ยนไปพบลิโป้ ก็ได้แสร้งร้องไห้บอกเล่าความทุกข์ที่ถูกตั๋งโต๊ะขืนใจ ลิโป้โกรธมาก ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ตั๋งโต๊ะกลับมาพบเข้า และด้วยความโกรธจึงได้แย่งเอาง้าวในมือของลิโป้และตรงเข้าแทง แต่ลิโป้หนีไปได้ นับจากนั้นทั้งสองต่างก็เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน จนท้ายที่สุด อ๋องอุ้น ก็สามารถเกลี้ยกล่อม ลิโป้ ให้กำจัดตั๋งโต๊ะได้ในที่สุด

หลังจาก ตั๋งโต๊ะ ตายแล้ว ลิโป้ เก็บนางเป็นเมียน้อย ต่อมา โจโฉ ประหาร ลิโป้ แล้วจึงพานางกลับ เมืองฮูโต๋

เรื่องเตียวเสี้ยน เป็นเพียงตัวละครที่ หลอก้วนจง สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มสีสันให้เรื่อง สามก๊ก ที่เต็มไปด้วยเรื่องฆ่าฟัน ให้คนดูงิ้วหรือคนอ่านได้เพลิดเพลินกับบทรักของลิโป้และเตียวเสี้ยนบ้าง จึงมีการเดินเรื่องหลายรูปแบบ

บ้างก็ว่า นางฆ่าตัวตาย หลังจากที่กำจัดตั๋งโต๊ะได้สำเร็จ

บ้างก็ว่า นางไปอยู่กับโจโฉ แล้วถูกกวนอูฆ่า

หรือกวนอูไม่ฆ่า แล้วไล่ไป

ซึ่งก็เป็นเรื่องตามนิยายหรือบทงิ้ว

กลยุทธ์สาวงาม กลอุบายโดยใช้ให้หญิงงามยั่วยุให้สองฝ่ายเข่นฆ่ากันเอง หรือไม่ก็ใช้หญิงงามทำให้เป้าหมายหลงคลั่งไคล้จนเสียผู้เสียคน ซึ่งก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ ก็เคยมีผู้ใช้แผนนี้สำเร็จนี้มามากแล้ว แต่ถึงกระนั้นแผนนี้ก็ยังคงใช้ได้ดีแม้จะในยุคนี้ก็ตาม นั่นเพราะสันดานของผู้ชาย และผู้มีอำนาจนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ก็ไม่เปลี่ยนไปเลย นั่นคือ ความบ้าผู้หญิงจนหน้ามืดตามัวจนเสียการงาน

 

หยางกุ้ยเฟย (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org)


4. หยางกุ้ยเฟย 

หยางกุ้ยเฟย มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ถัง ได้ฉายาว่า "มวลผกาละอายนาง" ซึ่งหมายถึง “ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย”

หยางกุ้ยเฟยเป็นพระสนมเอกในจักรพรรดิถังเสวียนจงของราชวงศ์ถัง อิทธิพลของหยางกุ้ยเฟยทำให้ญาติของพระนางขึ้นมามีบทบาทในราชสำนัก ในภายหลังเกิดการกบฏขึ้นมา ฮ่องเต้ถังเสวียนจงได้มีพระบรมราชโองการให้พระนางสำเร็จโทษโดยแขวนพระศอ โดยที่หยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง 37 ปี อีกทั้งตระกูลหยางยังถูกตัดสินฆ่าล้างทั้งตระกูล

หยางกุ้ยเฟย นามเดิมคือ หยางอี้หวน เกิด 1 มิถุนายน ค.ศ. 719 เป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีนกล่าวกันว่า หยางกุ้ยเฟยทรงเป็นสตรีที่มีความงามเป็นเลิศ ใช้ชนม์ชีพในรัชสมัยราชวงศ์ถัง ได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง"  ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)

นางมีชื่อเดิมว่า หยางอวี้หวน เป็นชาวเมืองหย่งเล่อ "อวี้หวน" แปลว่า "ตุ้มหูหยก" นางเป็นธิดาของ "หยางหยวนเหยียน"

ตอนที่นางจะเกิดนั้น มารดาของนางได้ฝันเห็นสายรุ้งพาดโค้งจากฟากฟ้าลงมาที่เตียงนอน พร้อมส่งแสงประกายระยิบระยับงดงาม แต่เพียงชั่วครู่เดียวก็หายวับไป กลายเป็นดาวตกพุ่งตกลงมาสู่พื้น มีเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

อวี้หวน เมื่อเจริญวัยขึ้น มีรูปโฉมที่งดงามและเปล่งปลั่งชวนมองยิ่งนัก อีกทั้งยังมีผิวกายที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และตำบลที่นางอาศัยอยู่ นางมีความสามารถทางดนตรี ขับร้องและฟ้อนรำ

ในปีที่ ๒๕ ของรัชสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง พระองค์ทรงดำริที่จะหาพระชายาให้พระโอรสโซ่วอ๋อง โอรสองค์ที่ ๑๘ อาของอวี้หวนทราบข่าวจึงนำนางเข้าไปถวาย และก็ไม่ผิดหวัง

โซ่วอ๋อง เมื่อแรกได้เห็นนางนั้น ก็ถึงกับตะลึงพรึงเพริดในความงามของนาง ดังนั้นนางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระชายาของพระโอรสโซ่วอ๋อง ตั้งแต่นางมีอายุได้เพียง ๑๖ ปี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยสาวแรกรุ่น

ต่อมา อู่กุ้ยเฟย พระสนมที่จักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงโปรดปรานได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน พระองค์ยังทรงหาพระชายาใหม่ที่ถูกพระทัยไม่ได้ ขันทีเกาลี่ซื่อผู้ใกล้ชิดจึงทูลเสนอว่า หญิงงามที่สุดในแผ่นดินไม่มีใครงามเกินหยางอวี้หวน พระชายาของโซ่วอ๋อง

 แล้วเกาลี่ซื่อได้ออกอุบายให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรนาง เพียงแรกประสบพบเท่านั้น พระองค์ก็ถึงกับลุ่มหลงในความงามของนางโดยทันที แต่เนื่องจากติดขัดที่นางเป็นชายาของโซ่วอ๋อง

เกาลี่ซื่อจึงบอกอุบายอันแยบยล ให้พระองค์แต่งตั้งนางเป็นนักพรตหญิงฉายาไท่เจิน แล้วหาพระชายาใหม่ให้โซ่วอ๋องแทน

สมัยเทียนเป่าปีที่สี่ (พ.ศ.๑๒๘๘) อวี้หวนได้เข้าวัง และเป็นที่โปรดปรานของถังเสวียนจง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกหรือกุ้ยเฟย (ขณะนั้นจักรพรรดิถังเสวียนจงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ส่วนหยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น)

พ่อ พี่น้องแลเครือญาติของนางทั้งหมดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง และฮูหยินทั้งหมด จนเป็นที่โจษจันกันไปทั่วว่า เพราะมีลูกสาวดี จึงได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า

ทุกครั้งที่นางจะนั่งรถม้า ต่างก็มีบรรดาขุนนางใหญ่บังคับรถม้าให้ด้วยตัวเอง นางมีช่างถักทอและปักผ้าถึงเจ็ดร้อยคน มีผู้คนมากมายแย่งกันมอบของกำนัลต่างๆ ให้ เนื่องจากขุนนางจางจิ่วจางและหวังอี้มอบของกำนัลให้นางจึงได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นบรรดาขุนนางทั้งหลายต่างก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกันหยางกุ้ยเฟยโปรดปรานลิ้นจี่จากแดนหลิ่งหนาน ก็มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะนำมาส่งมาถึงเมืองฉางอานให้เร็วที่สุด

ความที่จักรพรรดิ์ถังเสวียนจง ทรงลุ่มหลงอยู่แต่นาง และเล่นดนตรี จนละเลยการปกครองว่าราชการเมือง ทำให้หยางกั๋วจง พี่ชาย (ลูกพี่ลูกน้อง) ของนางได้รวบอำนาจการปกครองไว้ถึง ๔๐ ตำแหน่ง จนมีตำแหน่งเทียบเท่าสมุหนายก กินสินบนอย่างเปิดเผย ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการคัดเลือกคนเข้ารับราชการหรือเลื่อนตำแหน่ง ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว

เป็นเหตุให้ อานลู่ซาน ได้หยิบยกข้ออ้างนี้มาก่อการกบฏ โดยนำทหารจากชายแดนและทหารทิเบตเข้ามายึดนครฉางอานได้โดยง่ายดายในปี พ.ศ. ๑๒๙๙ ทำให้องค์จักรพรรดิถังเสวียนจง ต้องทรงลี้ภัยชั่วคราวไปในทางตอนใต้ของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)

อานลู่ซานยกกองทัพติดตามไป ไม่เพียงเพราะต้องการแผ่นดินราชวงศ์ถังเท่านั้น แต่ยังต้องการครอบครองสาวงามหยางกุ้ยเฟยอีกด้วย

ในระหว่างทางที่ทรงลี้ภัยไปนั่นเอง หยางกั๋วจงได้ถูกเหล่าทหารรุมจับสังหารเสีย จากนั้นเหล่าทหารได้ทูลพระองค์ว่า "การที่เกิดกบฏเข้ายึดบ้านครองเมือง ทำให้ราชวงศ์ต้องเสื่อมถอยก็เพราะหยางกั๋วจงเป็นต้นเหตุ เมื่อหยางกั๋วจงตายไปแล้ว แต่โดยรากยังคงอยู่นั่นคือ หยางกุ้ยเฟย ฉะนั้นนางก็ไม่สมควรอยู่ให้เป็นที่ครหาด้วย"

จักรพรรดิ์ถังเสวียนจงทรงโทมนัสในพระทัยอย่างสุดพรรณนา ในที่สุดจึงทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย โดยให้กาลี่ซื่อผู้นำนางมาถวายพระองค์ นำผ้าแพรขาวไปมอบให้นางเพื่อให้แขวนคอตายใต้ต้นหลีในสวน

หยางกุ้ยเฟยได้จบชีวิตลงอย่างน่าสงสารในปี พ.ศ.๑๒๙๙ ระหว่างทางลี้ภัยไปมณฑลซื่อชวน ขณะนั้นนางมีอายุเพียง ๓๘ ปีเท่านั้น

ภายหลัง กวีเอกไป๋จวีอี้ได้แต่งลำนำ “ฉางเฮิ่นเกอ”  บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนี้ขึ้น

"...ยามเมื่อนางหันมาแย้มสรวล ก็นำมาซึ่งเสน่ห์ร้อยประการ

เป็นเหตุให้นางสนมทั้ง ๖ ตำหนัก ต้องด้อยรัศมีลง

ยามเมื่อนางอาบน้ำในสระ (หัวชิงฉือ)

เหล่านางสวรรค์กำนัลใน (๓,๐๐๐ นาง)

ต่างก็พรึงเพริดด้วยโฉมอันงามวิไลนัก..."

เล่ากันว่า ทั้ง ๒ ทรงโปรดปรานในการมาสรงน้ำที่หัวชิงฉือเป็นยิ่งนัก ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ร่วมกัน ได้มาสรงน้ำที่นี่ถึง ๔๙ ครั้ง จนมีสระหนึ่งของที่นี่ เรียกว่า สระหยางเฟย เป็นที่สรงน้ำของนางโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีคำร่ำลือกันว่า หยางกุ้ยเฟย เธอมีกลิ่นกายที่หอมกรุ่น เนื่องจากนางได้นำเอากลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนานาพรรณ มาบดให้ละเอียดเป็นแป้งแล้วใช้ชโลมกาย ในยามที่เธอมีเหงื่อไหลในช่วงฤดูร้อนนั้น ร่ำลือกันว่ายิ่งส่งกลิ่นหอมอบอวลให้เป็นที่ใหลหลงยิ่งนัก ซึ่งทำให้หญิงสาวจีนในยุคนั้นเอาตามอย่างนาง โดยนำกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นแป้งใช้ทาชโลมกาย จนถือเป็นต้นกำเนิดของแป้งฝุ่นจีนมาตราบจนทุกวันนี้

หยางกุ้ยเฟยได้รับฉายานามว่า "มวลผกาละอายนาง" ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย" (a face that would make all flowers feel shameful)

มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะอยู่ในวัง นางไปเดินเล่นที่สวนดอกไม้ มองเห็นดอกโบตั๋นและกุหลาบจีนที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วคิดถึงชีวิตตนเองที่ถูกกักอยู่ในวังหลวง ผ่านวัยสาวไปอย่างไร้ความหมาย นางร้องไห้พลางลูบดอกไม้นั้น เมื่อนางแตะถูกกลีบดอกไม้กลีบนั้นก็หุบลง ใครจะคิดว่าต้นไม้ที่นางลูบนั้นคือต้นนางอาย

นางกำนัลคนหนึ่งพบเห็นเหตุการณ์นี้เข้า จึงนำไปเล่าลือว่าหากหยางอี้หวนเทียบความงามกับดอกไม้แล้ว ดอกไม้ยังต้องละอายก้มลงให้แก่นาง

 

ถึงแม้ 4 สาวงามของประวัติศาสตร์จีนจะงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ แต่ยังคงมีปมด้อยในความงามนั้น เพียงแต่รู้จักปกปิดไว้ นั่นคือ

ไซซี มีปมด้อยคือ เท้าใหญ่ ต้องห่มเสื้อผ้ากรอมเท้าเพื่อปกปิดส่วนนี้ของเธอเอาไว้ตลอดเวลา

เตียวเสี้ยน มีปมด้อยคือ ใบหูเล็ก จำต้องปล่อยผมหรือแต่งทรงผมให้ปิดใบหูของเธอไว้

หวังเจาจวิน มีปมด้อยคือ ไหล่ทั้งสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน จึงสวมใส่อาภรณ์ปกปิดตั้งแต่ศีรษะลงมาเพื่อปิดส่วนนี้ของเธอเอาไว้

หยางกุ้ยเฟย มีปมด้อยคือ มีกลิ่นตัว อ้วนมาก และสวยมาก ซึ่งต้องอาบน้ำบ่อยที่สุดเพื่อลดกลิ่นตัวของนาง และมักจะมีแมลงหลากชนิดตอมตัวเธอเป็นประจำ

แม้ 4 สาวงามของประวัติศาสตร์จีนจะถูกยกย่องเป็นที่เลื่องลือด้านความงาม แต่ก็ยังคงมีปมด้อยอยู่ดี

หมายเหตุ

มาตรฐานสาวงามตามแบบจีนดั้งเดิม(3)

ใบหน้า

ใบหน้ารูปไข่เป็นรูปหน้าที่ได้สัดส่วนที่สุด เมื่อแบ่งตามขวางแล้วจะได้ 3 ส่วน : จากไรผมถึงคิ้ว จากคิ้วถึงปลายจมูก จากปลายจมูกถึงคาง เมื่อมีรูปหน้าที่สวยงามแล้ว รายละเอียดบนใบหน้าก็ต้องเหมาะเจาะ ระยะห่างระหว่างตา 2 ข้างจะต้องเท่ากับความยาวของดวงตา ยิ่งถ้าใครมีลักยิ้มบนแก้มก็จะถูกมองว่ามีเสน่ห์
คิ้ว
คิ้วรูปแบบไหนจึงจะเรียกว่าสวยนั้นขึ้นอยู่กับยุคสมัย อย่างในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อน

คริสต์ศักราช) นิยมคิ้วดก ยาว และโค้ง ขณะที่สาวสมัยฮั่นนิยมคิ้วรูปสามเหลี่ยมคล้าย “八” เรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ถังหญิงสาวนิยมกันคิ้วให้เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือใบหลิว กระทั่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 คิ้วโก่งบางก็กลายเป็นรูปทรงยอดนิยม
ดวงตา
ดวงตาเรียวยาว หางตาตวัดโค้งขึ้น ลูกนัยน์ตาดำสนิท

ริมฝีปาก
ริมฝีปากเล็ก สีชมพู เป็นมันเงา มุมปากโค้งขึ้น หรือที่เรียกว่า “ปากเล็กเหมือนผลเชอร์รี่” เป็นปากที่ชาวจีนสมัยก่อนมองว่างามที่สุด
รูปร่าง
เอวที่คอดกิ่วเป็นความงามอย่างหนึ่งของผู้หญิงจีนในยุคโบราณ มองว่าหญิงสาวที่มีเอวและสะโพกเป็นรูปนาฬิกาทรายนับเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างงดงาม
เซ็กซี่อย่างจีน
คิ้วคือสิ่งที่เซ็กซี่ที่สุดของผู้หญิง ส่วนอวัยวะที่ถูกมองว่าเซ็กซี่รองลงมา ได้แก่ ไหปลาร้า และคอ

งามที่ใจ
แม้จะมีรูปร่างหน้าตาสะสวยเพียงไร แต่สิ่งที่สำคัญและได้รับการยกย่องเสียยิ่งกว่าความงามภายนอกก็คือ หญิงสาวผู้ทรงไว้ซึ่ง 3 เชื่อฟัง 4 คุณธรรม...3 เชื่อฟัง ได้แก่ ก่อนแต่งให้เชื่อฟังบิดา หลังแต่งให้เชื่อฟังสามี และเมื่อสามีตายจากก็ให้เชื่อฟังลูกชาย ถือเป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงในสมัยก่อน ทั้งชีวิตทำเพื่อคนอื่นและอยู่เพื่อคนอื่น

ส่วน 4 คุณธรรมนั้น ได้แก่ รูปร่างหน้าตาจะต้องสะอาดสะอ้าน อีกทั้งกิริยามารยาทเพียบพร้อม กล่าวมธุรสวาจา อีกทั้งการบ้านการเรือนไม่ขาดตกบกพร่องนั่นเอง
ความรู้ของหญิงสาว

ดนตรี - ดนตรีในที่นี้หมายถึงพิณ 7 สาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี
หมากล้อม - หญิงสมัยก่อนได้รวมตัวกันเล่นหมากล้อมเพื่อผ่อนคลาย
เขียนพู่กัน - พวกเธออ่านเพื่อพัฒนาตัวเอง เขียนบทกลอนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวชีวิตของตัวเอง และเขียนพู่กันจีนเพื่อความบันเทิง
วาดภาพ - หัวข้อที่พวกเธอชอบวาดส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับดอกไม้ สัตว์เลี้ยง และหญิงงาม
งานเย็บปัก - งานเย็บปักถักร้อยนั้นก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่ขยันขันแข็ง และสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์และความฉลาดของผู้หญิงด้วย ทั้งยังเป็นมาตรฐานของศรีภรรยาที่ดี





วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม

 

พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน

โอรสพระเจ้ากรุงจีน กษัตริย์ขอมหนีตาย หรือลูกท้าวแสนปม





พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี และเสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก จึงเป็นที่สงสัยกันว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นใครมาจากไหน จึงมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ ๖๗๔ ปีมาแล้ว ทั้งยังไม่มีการบันทึกไว้อย่างศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย เรื่องราวของพระเจ้าอู่ทองจึงมีข้อสันนิษฐานกันมากมาย ส่วนใหญ่ก็เหมือนนิยายที่ต่างคนต่างแต่ง นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจึงต้องค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์กันว่า แท้ที่จริงแล้วพระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหนกันแน่

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง (3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 1912 ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893 มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับภูมิหลังของพระเจ้าอู่ทอง รวมทั้งอาจเป็นเชื้อสายของพ่อขุนมังราย

จดหมายเหตุโหรระบุว่าพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีเสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 676 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1857) ได้ทรงสถาปนาเมืองหลวงขึ้นในบริเวณที่หนองโสนเมื่อ จ.ศ. 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 หรือ 12 มีนาคม พ.ศ. 1893 ตามปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อครองราชย์ได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถึงปีระกา พ.ศ. 1912 เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 19 ปี

แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระองค์พระราชสมภพที่ไหน และมาจากเมืองไหน เอกสารทางประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศขัดแย้งกัน โดยมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าอู่ทองดังนี้


ที่ว่าเป็นโอรสพระเจ้ากรุงจีนถูกเนรเทศมา ก็ดูเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ และหลายสิ่งก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผู้แปลบันทึกนี้ของกรมศิลปากรได้โน้ตท้ายหน้าไว้ว่า อย่างเมืองที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้าง เช่น พริบพลี ก็มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา ส่วน พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร มีอยู่ในศิลาจารึกตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมาแล้ว ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองไปประทับอยู่กัมพูชา ๙ ปี และสร้างนครวัดขึ้นก่อนกลับมาสวรรคตที่กรุงศรีอยุธยา พงศาวดารไทยต่างระบุว่าพระเจ้าอู่ทองทรงส่งพระราเมศวรไปตีเมืองพระนครแต่ไม่สำเร็จ จึงรับสั่งให้ขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐาพระมเหสีจากสุพรรณบุรีให้ไปช่วยหลาน

อีกแนวคิดหนึ่งว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นขอมในราชวงศ์วรมันที่ครองอาณาจักรกัมพูชามาถึง ๕๐๐ ปี แต่ในปี พ.ศ.๑๘๗๙ เป็นต้นมา ราชวงศ์วรมันก็สิ้นสุดลง กษัตริย์ราชวงศ์ใหม่มีชื่อว่า ตระซอกเปรแอม หรือ พระเจ้าแตงหวาน มาจากสามัญชน และกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนสิ้นซาก ทำให้กลุ่มราชวงศ์วรมันต้องหนีตายมาพึ่งพรรคพวกที่ลพบุรี อีกกลุ่มได้มาตั้งเมืองใหม่ขึ้นคือกรุงศรีอยุธยาในอีก ๑๔ ปีต่อมา ซึ่งกลุ่มนี้มีพระเจ้าอู่ทองเป็นหัวหน้า ทั้งฝ่ายกัมพูชาใหม่ยังเรียกกลุ่มวรมันที่ถูกกำจัดออกไปว่าเป็นพวกสยาม และเรียกชื่อเมืองพระนครใหม่ว่า เสียมเรียบ หมายถึงสยามถูกขจัดออกไปหมดนั่นเอง แนวคิดนี้ยังสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า ชาวกัมพูชาในปัจจุบันไม่ใช่เชื้อสายของขอม แต่เป็นพวกจามจากชายแดนที่ขอมเอามาเป็นทาส ตอนนั้นขอมรุ่งเรืองใช้ชีวิตหรูหรา แต่ละคนมีทาสกันมากมาย ในที่สุดทาสที่มีตาแตงหวานเป็นหัวหน้าก็ยึดอำนาจเจ้านายเสียเลย

แนวคิดอีกแนวหนึ่งอ้างว่า พระเจ้าอู่ทองก็คือลูกของท้าวแสนปมนั่นเอง เรื่องนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ใน พ.ศ.๑๘๖๓ ท้าวแสนปมได้ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อเมืองเทพนคร และขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริไชยเชียงแสน ต่อมามีพระราชโอรสองค์แรก จึงได้เอาทองคำมาทำพระอู่ให้บรรทม ปรากฏพระนามสืบต่อมาว่า เจ้าอู่ทอง เมื่อพระเจ้าสิริไชยเชียงแสนทิวงคตเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๗ เจ้าอู่ทองจึงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ต่อมาจึงมาสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ใน พ.ศ.๑๘๙๓ และทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเค้าโครงบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของพระเจ้าอู่ทองที่ได้รับความเชื่อถือกันมากที่สุดในยุคก่อนหน้านี้ เป็นแนวคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ไปทอดพระเนตรเมืองอู่ทอง ต่อมาทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“มีตำนานทางเมืองสุพรรณบุรีเชื่อถือกันมาจนทุกวันนี้ว่า เดิมพระเจ้าอู่ทองอยู่ทางเมืองสุพรรณบุรี เมืองของพระเจ้าอู่ทองก็ยังมีอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ในระหว่างเมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้กับเมืองกาญจนบุรี

ข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองอู่ทองเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๖๕ พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เห็นเมืองโบราณมีเชิงเทินกำแพงเมืองใหญ่โต

ความคิดเห็นเกิดแก่ข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า ที่เรียกในศิลาจารึกและหนังสือโบราณว่าเมืองสุพรรณภูมิหรือสุวรรณภูมินั้น จะหมายว่าเมืองอู่ทองนี้เอง มิใช่เมืองสุพรรณบุรีทุกวันนี้ที่ตั้งเมื่อภายหลัง

คำว่าสุวรรณภูมิเป็นภาษามคธ แปลว่าที่เกิดทองหรือที่มีทอง ในภาษาไทยก็ตรงกับคำว่าอู่ทอง เช่นที่พูดกันว่าอู่ข้าวอู่น้ำ เพราะฉะนั้นชื่อเมืองอู่ทองนี้เป็นชื่อภาษาไทยของเมืองสุวรรณภูมินั้นเอง

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็คิดเห็นตลอดไปว่าที่เรียกพระเจ้าอู่ทองนั้น เห็นจะไม่ใช่มาจากบรรทมเปลทองอย่างพงศาวดารว่าเป็นแน่แล้ว คงจะเป็นพระนามที่เรียกเจ้าผู้ปกครองเมืองอู่ทอง อย่างเราเรียกพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าน่าน เจ้าองค์ใดครองเมืองอู่ทองก็เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองทุกองค์

เพราะฉะนั้นพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยานี้ จะเป็นโอรสนัดดาสืบพระวงศ์มาแต่ผู้ใด และได้มีประวัติแต่เดิมมาอย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนจะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเจ้าครองเมืองอู่ทอง หรือที่เรียกในภาษามคธว่าเมืองสุวรรณภูมิอยู่ก่อนจริงดังตำนานเมืองสุพรรณ

ความคิดอย่างนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนลงในรายงานตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี พิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ.๒๔๔๘ ต่อมาสมาชิกในโบราณคดีสโมสรได้รับความคิดเห็นเช่นนี้ว่าเป็นถูกต้อง”

ความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองทรงครองราชย์อยู่ที่เมืองอู่ทองก่อนมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งใหม่นี้ ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวาง แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ กรมศิลปากรได้เชิญ ศาสตราจารย์ ช็อง บัว เซอริเยร์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส มาช่วยสำรวจโบราณสถานในประเทศไทย และได้สรุปผลสำรวจไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ว่า เมืองอู่ทองที่เชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เป็นเมืองร้างไปก่อนที่จะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยาราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอู่ทองจะอพยพมาจากเมืองอู่ทอง

เรื่องนี้ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งเคยสำรวจเมืองอู่ทอง ได้เขียนบทความในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๖ เปิดเผยผลสำรวจมาแล้วว่า เมืองอู่ทองร้างมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี

ต่อมารองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์มานิต เคยสำรวจเมืองอู่ทอง ละโว้ และอยุธยา ตลอดจนแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาแล้ว ได้เขียนบทความเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๙ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากไหนก่อนที่จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ครองกรุงอโยธยาซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวัดพนัญเชิงซึ่งสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมาสร้างราชธานีใหม่ที่ฝั่งตรงข้าม

ส่วนอาจารย์มานิตได้ค้นคว้าเอกสารโบราณหลายฉบับ และได้เขียนบทความชื่อ

“สมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา” ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้รวบรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว” เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓

บทความนี้ได้ลำดับเรื่องราวของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๖๒๕ มีกษัตริย์ปกครอง ๑๐ พระองค์ ซึ่งพระองค์ที่ ๑๐ ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๘๗ ก่อนจะย้ายราชธานีใน พ.ศ.๑๘๙๓

จึงสรุปในขณะนี้ได้ว่า พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากเมืองจีนหรือเขมร แต่เป็นกษัตริย์ที่ครองกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๘๙๓  

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระราเมศวร รัชทายาทให้ไปครองเมืองลพบุรี

การสงครามกับเขมร

ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่ง ขอม ซึ่งก็เป็นมาด้วยดีจนกระทั่งกษัตริย์ขอมสวรรคต เนื่องจากการปฏิวัติขอมของนายแตงหวาน ชนชั้นแรงงานได้ยึดอำนาจจากชนชั้นปกครอง  และครองเมืองแทนซึ่งรู้จักในนาม พระบาทตระซ็อกประแอม หรือ พระบาทสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1  ซึ่งพระราชนัดดานาม พระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระบรมลำพงศ์ก็แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ทรงยกทัพไปช่วย เพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับพระสหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง พระราชโอรสเป็นกษัตริย์ปกครองอังกอร์ .. จนกระทั่งเมื่อน้องชายของพระบรมลำพงศ์ซึ่งไปลี้ภัยในประเทศลาวได้ยึดเมืองกลับคืนมาและได้สวมมงกุฎที่นั่นในนามพระเจ้าศรีสุริโยวงษ์ที่ 1 

ตรากฎหมาย

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายถึง 10 ฉบับ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติลักษณะพยาน
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง
  • พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง
  • พระราชบัญญัติลักษณะลักพา
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์
  • พระราชบัญญัติลักษณ์โจร
  • พระราชบัญญัติเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
  • พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย
  • พระราชบัญญัติลักษณะโจรว่าด้วยโจร

ในประวัติศาสตร์บางแหล่งบอกว่ามีมากกว่านี้ แต่เท่าที่หาหลักฐานได้ มีเพียงเท่านี้เท่านั้น

การศาสนา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างวัดต่าง ๆ เช่น วัดพุทไธศวรรย์ (สร้างปี พ.ศ. 1876) วัดป่าแก้ว (สร้างปี พ.ศ. 1900) และวัดพระราม (สร้างปี พ.ศ. 1912)

การสงครามกับสุโขทัย

รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นคาบเกี่บวกับรัชสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สุโขทัยมิอาจต้านทานความแข็งแกร่งของอยุธยาได้ แม้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไท จะเสด็จไปประทับที่สองแคว (พิษณุโลก) เพื่อเตรียมรับศึกอยุธยาแล้วก็ตาม

แต่สุดท้ายพระมหาธรรมราชาลิไทก็ได้เจรจาประนีประนอมยอมให้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคู่กับสุโขทัย และทั้งสองนครนี้ก็เป็นไมตรีต่อกันมาจนตลอดรัชกาลของพระองค์

การค้าขาย และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

ในด้านไมตรีกับต่างประเทศในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งกับญี่ปุ่นยังไม่มีมาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน, แขก, จาม, ชวา, มลายู ตลอดจนอินเดีย, เปอร์เซีย และ ลังกานั้นไปถึงกันมานานแล้ว

สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ราชวงศ์อู่ทองของไทย ตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิงเมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสรภาพก็แต่งให้ หลุย จงจุ่น เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงแต่งให้ราชทูตออกไปเมืองจีนพร้อมกับราชทูตจีน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในคราวนั้นด้วย

พระโอรส

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่สหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี พ.ศ. 2505 และนอกจากจะทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ยังทรงวางรากฐานความเจริญไว้ให้กับประเทศไทยอีกหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน โบราณคดี การศึกษา วรรณคดี อักษรศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์ เป็นต้น



แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเปรียบสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสมือนเพ็ชรประดับพระมงกุฎ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านทรงเป็นผู้มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในการปฏิรูประบบราชการของแผ่นดิน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 4 รัชกาล

  •  ประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิมคือพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระโอรสองค์ที่ 57 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 เวลา 4 นาฬิกา 17 นาที ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ จ.ศ. 1224

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์ เป็น 2 ฉบับ ฉบับ 1 เป็นอักษรภาษาไทย อีกฉบับ 1 เป็นอักษรอริยกะ เมื่อพระเจ้า ลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นองค์ชายจะได้พระราชทานพระขรรค์ 1 เล่มกับปืนพก 1 กระบอก ครั้นประสูติได้ 3 วัน จะจัดให้มีพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จลงเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน

พระนาม “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” ที่ได้รับพระราชทานมานั้น ในทางพระศาสนาถือว่าเป็นสิริมงคล เป็นทั้งพระนามพระพุทธเจ้าและพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนา และตามหนังสือ “ความทรงจำ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เอานามคุณตาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาพระราชทาน ซึ่งท่านชื่อ “ดิศ” เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความซื่อตรง และความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง


การศึกษาขั้นต้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับการศึกษาแบบราชกุมารครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงเริ่มเรียนอักษรตั้งแต่มีพระชนมายุก่อนครบ 3 พรรษา มีคุณแสง เสมียน เป็นครูสอน ไม่นานนักก็ย้ายไปเรียนกับคุณปาน เป็นธิดาสมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โดยมีสมุดหนังสือปฐม ก.กา ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใช้เป็นแบบเรียน ทรงเรียนจนอ่านหนังสือได้แตกฉาน จนอ่านหนังสือเป็นเล่ม เช่น สามก๊ก

การศึกษาภาคปฏิบัติในราชสำนักของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มเมื่อพระชนม์ได้ 4 พรรษา ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาเพื่อทรงใช้สอยเสมอ บางครั้งก็ตามเสด็จออกนอกวัง และครั้งหลังสุดได้ตามเสด็จไปดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากอินเดีย และโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในกรมมหาดเล็กคู่กับโรงเรียนสอนภาษาไทย มีมิสเตอร์ฟรานซิล จอร์ช แบตเตอร์สัน ชาวอังกฤษเป็นผู้สอน และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาในโรงเรียนนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2417 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระชนมายุครบ 13 พรรษา ทรงรับราชการประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาขั้นกลาง

พ.ศ. 2418 เดือน 8 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงผนวชเป็นสามเณร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับที่วัดบวรนิเวศกับสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีพระกิจวัตร คือ เวลา 19.00 น. ต้องทรงฟังคำสอนพระธรรมวินัยทุกวัน จนถึงเวลา 20.00 น. จึงทำวัตรค่ำ และซ้อมสวดมนต์ไปจนถึง 23.00 น. พระองค์ทรงท่อง “อนุญญาสิโข” ได้แม่นยำ และมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดมาก และให้เข้าเฝ้าเสมอฯ โดยทรงเล่าเรื่องโบราณต่าง ๆ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ฟัง เป็นเหตุให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสนพระทัยวิชาประวัติศาสตร์และการศาสนา และพระองค์ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองเป็นอย่างมาก ทำให้ได้สมญาว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์”

นอกจากนี้ ยังทรงเรียนคาถาอาคมและวิชาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันด้วยเวทย์มนต์และเครื่องรางต่าง ๆ ซึ่งทรงเชื่อถืออย่างมาก อาจารย์ที่สำคัญคือ นักองค์วัตถา น้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา และทรงสะสมเครื่องรางของขลังเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2418 ในช่วงออกพรรษาเมื่อกลับจากนำกฐินพระราชทานไปทอดที่วัดคงคารามเพชรบุรีแล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงลาสิกขาบทจากสามเณร

การศึกษาขั้นปลาย

เมื่อลาสิกขาบทจากสามเณร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็ก เมื่อพระชนม์ได้ 14 พรรษา ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารในสำนักของหลวงรัดรณยุทธ (เล็ก) ซึ่งประจำอยู่ในวังบริเวณวัดพระแก้ว ขณะเมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ศึกษาอยู่เป็นเวลาหนึ่งปีจึงสำเร็จหลักสูตรนักเรียนนายร้อย ได้รับพระราชทานยศทหารเป็นร้อยตรีทหารมหาดเล็กในปี พ.ศ. 2420 ตั้งแต่ชันษายังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์

พระกรณียกิจเมื่อแรกทรงรับราชการ

พระองค์ทรงได้รับราชการทหารในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2420 เป็นนายร้อยตรีทหารราบ ตำแหน่งผู้บังคับกองแตรวง

พ.ศ. 2422 เป็นว่าที่นายร้อยโท ตำแหน่งผู้บังคับการทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก

พ.ศ. 2422 เป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งราชองครักษ์ประจำพระองค์ และว่ากรมครัวเข้าต้น

พ.ศ. 2423 เป็นนายพันตรี ตำแหน่งผู้รับพระบรมราชโองการ และว่ากรมกองแก้วจินดา (ปืนใหญ่)

พ.ศ. 2428 เป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กและราชองครักษ์ประจำพระองค์

กรมทหารมหาดเล็กเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 และทรงสนับสนุนเจ้านายชั้นต่าง ๆ ให้มาสมัครเรียน จนกิจการเจริญก้าวหน้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ทหารมหาดเล็กภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนที่พระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ เรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ในปี 2425 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการฝึกสอนไปถึงผู้ที่จะเข้ารับราชการอย่างอื่นด้วย และยังทรงมีรับสั่งให้จัดตั้งโรงเรียนให้แพร่หลายออกไปฝึกสอนราษฎรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงมีหน้าที่จัดโรงเรียนอันเป็นการฝ่ายพลเรือน เพิ่มขึ้นแต่ในเวลาเมื่อยังเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ดังนั้นถือได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของประเทศไทย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นใหม่ และโปรดให้กรมนี้ขึ้นอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ มีหน้าที่จัดทำแผนที่ตามชายแดนของประเทศให้เรียบร้อย การที่พระองค์เจ้าดิศวรกุมารได้ทรงมีโอกาสบังคับบัญชากรมแผนที่ ทำให้พระองค์คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศของชาติ และทราบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรับหน้าที่จัดการปกครองในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมพยาบาล และกรมพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเคยเป็นกรมอิสระอยู่ก่อน เข้ากับกรมศึกษาธิการ ยกขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และทรงแต่งตั้งให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น) เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการคนแรก และเมื่องานราชการดำเนินไปได้ด้วยดี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพย้ายขาดจากตำแหน่งทางทหาร มารับราชการทางฝ่ายพลเรือนด้านเดียวในปี พ.ศ. 2433

พระประวัติเมื่อดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย

เมื่อมีการแก้ไขระเบียบการปกครองแผ่นดินวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่สำคัญสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งนี้สามารถปฏิรูปและวางรากฐานงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อยึดถือเป็นหลักในการขยายกิจการงานปกครอง ออกสู่หัวเมืองต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงวางรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

ในปีพ.ศ. 2442 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมหมื่นดำรงราชานุภาพขึ้นเป็นกรมหลวงฯ ดำรงตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ และพระองค์ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตลอดสมัยรัชกาลที่ 5

ในปีพ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ยังททรงวางพระราชหฤทัยให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อไปอีก จนกระทั่งได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2458 เนื่องมาจากเหตุผลด้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานที่เป็นภาระหนัก รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งเสนาบดียาวนานถึง 23 ปีเศษ

ในปีพ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ เลื่อนกรมหลวงดำรงราชานุภาพให้มีฐานันดรเป็นกรมพระยาอันเป็นหลักฐานในการประกาศถึงคุณความดีที่ได้ทรงดำเนินกิจการงานปกครองและทำนุบำรุงประชาราษฎร และบ้านเมืองได้ตามพระราชประสงค์อันมาจากการวางรากฐานมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ยังทรงรับราชการในตำแหน่งพิเศษอื่นอีกหลายตำแหน่ง ดังนี้

พ.ศ. 2437 เป็นรัฐมนตรี

พ.ศ. 2438 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 1

พ.ศ. 2439 เป็นสาราณียกรหอพระสมุดวชิรญาณ

พ.ศ. 2440 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 2

พ.ศ. 2443 เป็นกรรมการจัดตั้งหอพุทธสาสนสังคหะ

พ.ศ. 2444 เป็นผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นผู้บำรุงราชกรีฑาสโมสร

พ.ศ. 2446 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3

พ.ศ. 2447 เป็นบรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 4 ได้รับเลือกเป็นอนูปถัมภกสยามสมาคม

พ.ศ. 2448 เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญารเมื่อทรงตั้งเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร

พ.ศ. 2451 เป็นกรรมการตรวจกฎหมายลักษณะอาญา

พ.ศ. 2453 เป็นกรรมการสภานายกจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

พ.ศ. 2457 เป็นกรรมการตรวจโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

อนึ่ง พระองค์ทรงมีโอกาสตามเสร็จรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2439 และ 2444 และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2440 และพ.ศ. 2450

ภายหลังพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เมื่อทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ 7 วัน ก็ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2458 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา เทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และในปีเดียวกันนั้น ทรงได้รับพระราชทานยศทหารเป็นนายพลเอก ราชองครักษ์พิเศษอีกด้วย


เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรจึงเกิดความระแวงสงสัยไม่ไว้วางพระทัยเกรงจะก่ออันตรายให้เกิดแก่รัฐบาลประชาธิปไตย พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปประทับที่ปีนังพร้อมพระธิดา 3 พระองค์ เป็นการถาวร โดยทรงให้เหตุผลกับพระธิดาและคนใกล้ชิดว่า “พ่อยังมีลูกศิษย์และเพื่อนฝูงมากทั่วพระราชอาณาจักร เขาไม่มาหาก็ดูเป็นอกตัญญู ถ้ามาก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเจ้า เราให้สุขเขาไม่ได้ก็อย่าให้ทุกข์เขาเลย ไปเสียให้พ้นดีกว่าเราก็สบาย เขาก็สบาย "

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ที่ปีนังด้วยรายได้ไม่มากนัก คือเงินปีของพระบรมวงศานุวงศ์ปีละ 6,000 บาท เบี้ยบำนาญซึ่งเดิมได้รับเดือนละ 3,600 บาท แต่ถูกตัดทอนลงหลายครั้งจนเหลือเพียงเดือนละ 960 บาท เบี้ยหวัดเงินปีของพระธิดาองค์ละ 80 บาท เฉลี่ยแล้วทรงมีรายได้ตกเดือนละ 1,480 บาท หรือประมาณ 640 เหรียญ การจัดสรรเงินเพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัวเป็นภาระของพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ที่ตามเสด็จไปประทับอยู่ด้วย ทรงวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบประหยัดให้เพียงพอแก่การดำรงชีวิตทั้งรักษาพระเกียรติยศ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยทรงเล่าถึงการใช้จ่ายเงินที่นอกเหนือไปจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไว้ว่า “—วันหนึ่งเสด็จพ่อท่านเสด็จไปพบหนังสือขายที่ร้านขายหนังสือเล่มหนึ่งราคา 8 เหรียญ ท่านอยากทรงแต่เห็นว่าแพงเกินกำลังก็ยืนเปิด ๆ ทอดพระเนตร แขกผู้ขายเข้าใจ ทูลว่า ‘เอาไปก่อนเถอะ จะใช้เงินเมื่อไรก็ได้’ ท่านก็เอามา ตรัสบอกหญิงเหลือผู้เก็บเงินว่า ‘แขกมันเชื่อพ่อ เธอเอาไปใช้มันเสียทีนะ’ เวลานั้นกำลังจะสิ้นเดือนหญิงเหลือก็หัวเสียบ่นออกไปว่า ‘ดีไม่กินละข้าว กินหนังสือแทน’

ท่านทำเป็นไม่ได้ยิน แล้วเสด็จออกไปจากห้องสักครู่ใหญ่ ๆ เสด็จกลับเข้ามาตรัสว่า ‘จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยคนนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลยมีแต่หนังสือเท่านั้นที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า’ เรานิ่ง ท่านก็ออกไปเขียบนหนังสือต่อ หญิงเหลือเขาลุกขึ้นคว้าเงินในลิ้นชักได้อีก 12 เหรียญ เขาก็เอาออกไปส่งถวายว่ายังมีซื้อได้อีกเล่มหนึ่ง ท่านก็ทรงพระสรวลไม่ว่าอะไร ตามธรรมดาไม่ทรงเก็บเงินเอง ขอมีติดกระเป๋าเพียง 1 เหรียญ เผื่อรถเสียจะได้กลับบ้านเท่านั้น

ความยากลำบากในการดำรงชีพที่ปีนังไม่ได้ทำให้สมาชิกในราชสกุลดิศกุลทรงย่อท้อ ทุกพระองค์ทรงเข้มแข็งและรักษาพระเกียรติยศแห่งราชสกุลตลอดระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี ที่ประทับ ณ ที่นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้เวลาว่างและหาความสุขส่วนพระองค์ด้วยการอ่านเขียนและบันทึกความรู้ต่าง ๆ ทั้งศิลปะ วรรณคดี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรมไทย โบราณคดี ประวัติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และวัฒนธรรม ในรูปจดหมายโต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปัจจุบันได้รวบรวมตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในนามของหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ

ตลอดระยะเวลาที่ประทับ ณ ปีนัง ทรงต้องระวังพระองค์ในทุก ๆ ด้าน ด้านพระนิพนธ์หนังสือโต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ก็จะไม่ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวข้องไปถึงการเมืองไม่ว่าจะในแง่มุมใดทั้งสิ้น และจะไม่ทรงพบปะกับคนไทยที่เดินทางมาเที่ยวปีนัง แม้จะเป็นคนเคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน แต่จะทรงต้อนรับหากผู้นั้นเสด็จหรือมาหาพระองค์ที่ที่ประทับ ทั้งนี้เพราะทรงตระหนักพระทัยดีว่า รัฐบาลไทยยังคงระแวงและเกรงบารมีพระองค์อยู่ จึงไม่ทรงปรารถนาจะนำความเดือดร้อนไปให้ผู้ใด แม้จะเป็นการไปเพื่อพบปะพูดคุยกันด้วยความระลึกถึง แต่หากผู้ใดไปพบพระองค์ ณ บ้านซินนามอน ก็จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น 

วันหนึ่งตนกูมะหะหมัด เจ้าเมืองไทร เชิญเสด็จพระองค์ไปเสวยกลางวัน ขณะเสด็จลงเรือข้ามฟากทะเลไปเมืองไทรพบ นายมังกร สามเสน ในเรือข้ามฟาก นายมังกรได้กราบทูลพระองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าอยากเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะมีคนแนะนำสภาว่า ให้ตัดเงินเดือนเจ้านายที่ไปอยู่ต่างประเทศ เว้นแต่กรมพระนครสวรรค์ เพราะเขาให้ท่านไป ข้าพระพุทธเจ้ารู้ดีว่า ฝ่าบาทไม่ใช่เจ้านายที่มั่งมี จึงไม่อยากเห็นทรงลำบากในเวลาทรงพระชราแล้ว—” 

ไม่ว่าคำกราบทูลของนายมังกรจะมีความปรารถนาดีต่อพระองค์หรือไม่ก็ตาม แต่ความหมายที่แฝงอยู่ในคำกราบทูลนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยทรงบันทึกถึงผลที่เกิดไว้อย่างละเอียดว่า “—เวลานั้นพระชันษาเสด็จพ่อ 78 ปี ท่านพระพักตร์แดง ยืดพระองค์ตรง และตรัสว่า ‘ขอบใจคุณมาก แต่กรมดำรงซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ถ้าจะให้คุกเข่าลงเพื่อเงินแล้วไม่กลับ’ และยังทรงกล่าวต่อกับนายมังกรว่า ‘—ฉันมีมากก็ใช้มากมีน้อยก็ใช้น้อย อายุถึงปูนนี้แล้วเหตุใดจะเอาวันเหลือข้างหน้าอีก 2-3 วันมาลบวันข้างหลังที่ได้ทำมาแล้วเสียเล่า—”

พระดำรัสที่ตรัสนั้น บ่งบอกอย่างแจ่มชัดถึงพระอุปนิสัย ความรักศักดิ์ศรีเกียรติยศยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทอง แต่สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจไม่รู้จักคำว่าศักดิ์ศรีหรือเกียรติยศ ก็คงยากที่จะเข้าใจความหมายที่ตรัสได้อย่างถ่องแท้ 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จประทับที่ปีนัง 9 ปีเศษ จึงเสด็จกลับเพราะโรคพระหทัยพิการที่ทรงเป็นอยู่กำเริบ หม่อมเจ้าพิสิษฐ์ดิศพงษ์ พระโอรสพระองค์หนึ่งได้ติดต่อรัฐบาลไทย และกองทัพญี่ปุ่นขอรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จกลับมารักษาพระองค์ที่ประเทศไทย ได้เสด็จกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2485 พระอาการทรงและทรุดเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอาันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ รวมพระชันษา 81 ปี

 


สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

 

รวมสำนวน สุภาษิต-สำนวนไทยเกี่ยวกับสัตว์

กา

กาเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป หมายถึง สูญหายไปในทันที

กาหลงรัง หมายถึง ผู้ที่หลงติดอยู่บ้านใดบ้านหนึ่งแล้วไม่ยอมกลับบ้านตน, คนเร่ร่อน

กาหน้าดำเขาจำหน้าได้ หมายถึง คุ้นเคยกันจนจำได้ถนัดชัดเจน แม้จะห่างหายไปนาน

กาตาแววเห็นธนู หมายถึง ขี้ขลาด, กลัว

กาคาบพริก หมายถึง คนผิวดำแต่งตัวด้วยชุดสีแดง


กระต่าย

กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ชายหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวที่มีฐานะสูงกว่าตน

กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับผิด

กระต่ายแหย่เสือ หมายถึง การล้อเล่น ท้าทายผู้ที่มีอำนาจบารมีมากกว่า อาจทำให้เกิดอันตรายได้

กระต่ายตื่นตูม หมายถึง ตกใจเกินเหตุโดยไม่สำรวจให้ถ่องแท้ก่อน


กบ

กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังบัญชาไปเรื่อยๆ ไม่ถูกใจสักที

กบในกะลาครอบ หมายถึง คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์

กบเกิดใต้บัวบาน หมายถึง อยู่ใกล้สิ่งที่ดีงามแต่กลับไม่รู้ค่า

 

ไก่

ไก่ได้พลอย หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เปรียบกับไก่เวลาที่มันคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นเม็ดกรวดหินดินทราย หรือเพชรพลอยก็ไม่มีค่าสำหรับไก่

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง  หมายถึง คนเราจะสวย หล่อ ดูดีได้ ต้องรู้จักการแต่งเนื้อแต่งตัว เปรียบกับไก่ที่ไม่ได้สวยเพราะเนื้อหนัง แต่สวยด้วยขนของมัน

ไก่รองบ่อน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในฐานะตัวสำรอง จะเรียกมาใช้เมื่อไรก็ได้

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้เรื่องราวความลับของอีกฝ่าย

ไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง กล่าวถึงผู้หญิงที่ค่อนข้างมีอายุที่มีเล่ห์เหลี่ยม มีกริยาจัดจ้าน

ลูกไก่อยู่ในกำมือ หมายถึง ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจไม่มีทางหนีหรือต่อสู้ได้

 

กิ้งก่า

กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง อวดดีจนลืมฐานะตัวเอง ได้ดีแล้วลืมตัว

 

วัว

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี หมายถึง เมื่อลูกทำผิดควรอบรบสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน ทำโทษบ้างตามสมควร

วัวหายล้อมคอก หมายถึง คิดป้องกันเมื่อเสียหายไปแล้ว

วัวลืมตีน หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว

วัวแก่เคี้ยวหญ้าอ่อน หมายถึง ชายแก่ได้สาวรุ่นเป็นภรรยา

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หมายถึง ความเดือดร้อนที่เกิดซ้ำซ้อนขึ้นมา

ตีวัวกระทบคราด หมายถึง การกระทำสิ่งใดเพื่อให้กระเทือนอีกฝ่าย เนื่องจากโกรธแต่ทำอะไรเขาโดยตรงไม่ได้

โตเป็นวัวเป็นควาย หมายถึง โตแล้วไม่มีความคิด

 

ควาย

สีซอให้ควายฟัง หมายถึง สอนความดีให้คนโง่ฟัง แต่ก็ไม่มีประโยชน์

ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว หมายถึง ซื้อของเมื่อมีคนต้องการมาก ย่อมได้ของราคาแพง

เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน หมายถึง ยุยงสองฝ่ายให้มีเรื่องกัน

อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น หมายถึง พึ่งพาอาศัยใครก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

งู

ขว้างงูให้พ้นคอ หมายถึง ปัดเรื่องร้ายไม่พ้นตัว

จับงูข้างหาง หมายถึง ทำสิ่งที่อันตรายจะเกิดกับตัวเองได้

เฒ่าหัวงู หมายถึง คนแก่เจ้าเล่ห์

หมองูตายเพราะงู หมายถึง พลาดพลั้งในสิ่งที่ชำนาญ

ล้วงคองูเห่า หมายถึง บังอาจลักขโมยทรัพย์สินจากผู้น่าเกรงขามหรือมีอิทธิพล

ตีงูให้กากิน หมายถึง การลงทุนลงแรงทำสิ่งใดแล้ว แต่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ผลประโยชน์กลายเป็นของคนอื่น แล้วตัวเองกลับได้ผลร้ายหรืออันตราย

 

จระเข้

จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ทำอะไรขัดขวางผู้อื่น

จระเข้ฟาดหาง หมายถึง ใช้อำนาจหรือกำลังระรานโดยไม่เลือกหน้า

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง สอนผู้ที่รู้และมีความชำนาญในเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว

หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีไปพบอันตรายที่ร้ายพอกัน

น้ำตาจระเข้ หมายถึง ความทุกข์โศกของผู้มีอำนาจที่ไม่อาจแสดงออกมาให้ใครเห็น

 

ช้าง

ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ลงทุนทำการใหญ่โตเกินสมควร

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง การทำความชั่วหรือความผิดร้ายแรงแม้จะพยายามกลบเกลื่อนปกปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด ต้องมีคนรู้จนได้

เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง หมายถึง ทำตามอย่างเขาเรื่อยไป

อ้อยเข้าปากช้าง หมายถึง ของที่ผู้อื่นได้ไปแล้วเอาคืนได้ยาก

ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หมายถึง ดูคนให้ดูจากเชื้อสาย

ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง ทำไม่รู้เรื่อง ประหยัดที่ควรจ่าย จ่ายที่ควรประหยัด

 

นก

นกปีกหัก หมายถึง ตกอยู่ในสภาพพลาดพลั้งหรือลำบาก

นกสองหัว หมายถึง ทำตัวเข้าเป็นพวกทั้งสองฝ่าย

ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว หมายถึง ทำงานอย่างเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว หมายถึง ทำอะไรพอเหมาะกับฐานะหรือความสามารถของตน

ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ หมายถึง ว่าอะไรว่าตามกัน

นกมีหู หนูมีปีก หมายถึง คนกลับกลอกเข้าพวกได้ทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของตน

ลูกนกลูกกา หมายถึง คนที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

นกไร้ไม้โหด หมายถึง คนที่ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัยของใคร

 

ปลา

จับปลาสองมือ หมายถึง ทำสองฝักสองฝ่ายไม่แน่นอนข้างใด

น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา หมายถึง เป็นทีหรือเป็นโอกาสคนละครั้ง

(ปลา)กระดี่ได้น้ำ  หมายถึง อาการระริกระรี้ดีใจจนเกินงาม

ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง เป็นอันตรายเพราะคำพูดตัวเอง

ตีปลาหน้าไซ หมายถึง การพูดหรือการกระทำที่ทำลาย ขัดขวาง ผลประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้กิจการที่ผู้อื่นกำลังดำเนินไปด้วยดีต้องหยุดชะงัก

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หมายถึง ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้ที่ด้อยกว่า

 

แมว

แมวไม่อยู่หนูร่าเริง หมายถึง หัวหน้า ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้น้อยเลยร่าเริงกัน

ย้อมแมวขาย  หมายถึง เอาของเลวไปแปลงหลอกว่าเป็นของดี

 

ลิง

ยื่นแก้วให้วานร หมายถึง เอาของดีมีค่าไปยื่นกับผู้ที่ไม่รู้คุณค่า

ลิงหลอกเจ้า หมายถึง กิริยาล้อเลียนผู้ใหญ่เมื่อผู้ใหญ่เผลอ

ลิงได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ได้มาหรือที่มีอยู่

 

เสือ

เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ขู่ให้กลัว

จับเสือมือเปล่า หมายถึง ทำการโดยไม่ต้องลงทุน

ปากเสือปากจระเข้ หมายถึง ท่ามกลางอันตราย

รู้ว่าเสืออย่าเอาเรือเข้าไปจอด รู้ว่ามอดอย่าเอาไม้เข้าไปขวาง หมายถึง กระทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าอาจมีอันตรายมาถึงตัว ซึ่งการกระทำอาจเกิดจากความโง่เขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เสือไว้ลาย หมายถึง คนมีความสามารถ ทำอะไรย่อมแสดงฝีไม้ลายมือ

 

หมา

ชิงหมาเกิด หมายถึง ว่าคนที่เลวกว่าหมา

เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ทำตามคำผู้ใหญ่มักไม่ผิดพลาดหรืออันตราย

เล่นกับหมาหมาเลียปาก เล่นกับสากสากตีหัว หมายถึง เล่นกับเด็กๆ ย่อมลามปาม

หมาจนตรอก หมายถึง ไม่มีทางไป

หมาหมู่ หมายถึง ใช้พวกมากเข้ารุม

หมาหวงก้าง หมายถึง หวงผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ มาก

หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง ดีแต่พูดหรือแสดงท่าทางว่าตัวเองเก่ง แต่ไม่กล้าจริง

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ หมายถึง เรื่องย่อมมาจากมีสาเหตุขึ้นก่อน

หมากัดอย่ากัดตอบ หมายถึงอย่าโต้ตอบกับคนพาล

หมาลอบกัด หมายถึง ลอบทำร้าย

หมาเห่าไม่กัด หมายถึง ปากเก่ง ดีแต่พูด แต่ไม่ทำใคร

หุงข้าวประชดหมา หมายถึง ทำประชดให้เสียหายมากขึ้น

ขี้หมูราขี้หมาแห้ง หมายถึง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

 

หมู

ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม เกียจคร้านไม่ยอมทำสิ่งนั้นให้สำเร็จโดยเร็ว จนในที่สุดก็พอกพูนจนทำสำเร็จได้ยาก

ยื่นหมูยื่นแมว หมายถึง แลกเปลี่ยนโดยมีของให้รับพร้อมๆ กัน

 

เต่า

ข้าเก่าเต่าเลี้ยง หมายถึง คนที่เคยรับใช้หรือเลี้ยงดูมานาน

โง่เง่าเต่าตุ่น หมายถึง โง่เหลือขนาด ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เต่าใหญ่ไข่กลบ หมายถึง ทำผิดแล้วพยายามกลบเกลื่อนปิดบังความผิดไม่ให้คนอื่นรับรู้

 

คน

คนดีผีคุ้ม หมายถึง คนทำดีย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา คอยคุ้มครอง ไม่มีภัย

คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หมายถึง การทำอะไรที่มีความเสี่ยงไม่ควรทำตามลำพัง

คนตายขายคนเป็น หมายถึง จัดงานศพใหญ่โตอาจทำให้สิ้นเปลืองจนถึงขั้นยากจน เดือดร้อนเพราะคนที่ตายไปแล้ว

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า หมายถึง คนที่มีความคิดเห็นสวนทางกัน คนไม่เคยเห็นเคยเจอก็อยากเห็นอยากเจอ คนที่เคยเห็นเคยเจอแล้วก็ไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนรักมีน้อยกว่าคนที่เกลียดชัง

คนล้มอย่าข้าม หมายถึง อย่าดูถูกคนที่พลาดพลั้งหรือตกต่ำ

คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบหาสมาคมกับใครควรพินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน

อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา หมายถึง ให้อภัยคนที่ขาดสติ

คนจรหมอนหมิ่น หมายถึง คนพเนจรไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบคนชั่วก็ถูกชักพาไปทำชั่ว คบคนดีก็จะพากันทำดี

 

 

เนื้อเพลง