วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)

 

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)

วิธีจับช้าง

(๑)

อธิบายเบื้องต้น

นิทานภาคปลายของเรื่องจับช้างนี้ ผู้อ่านเห็นจะแปลกใจ ด้วยเห็นกระบวนความต่างไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่แต่งติดต่อเป็นรูปเรื่องเดียวกับนิทานภาคต้น จะเลยนึกว่าเมื่อฉันแต่งมาถึงภาคนี้เกิดหลงด้วยแก่ชรา จึงเลยไถลไปไม่รู้ตัว อันที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้นดอก จึงขอบอกเหตุไว้ให้รู้ การแต่งหนังสือ ถ้าจะเรียกเป็นนามศัพท์ของวรรณคดีก็ได้หลายอย่าง เรียกว่า “สำนวนเทศนา” (Indicative) อย่างหนึ่ง “สำนวนบรรยาย” (Narrative) อย่างหนึ่ง และ “สำนวนพรรณนา” (Descriptive) อีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่จะเลือกแต่งด้วยสำนวนอย่างไหนให้เหมาะแก่เรื่อง ฉันแต่งนิทานภาคท้ายนี้แต่เมื่อยังอยู่ที่เมืองปีนัง โดยประสงค์จะเล่าถึงการจับช้างที่ฉันได้เคยเห็นด้วยตาตนเอง ให้ลูกฟัง เมื่อเล่าต่อไปถึงวิธีจับที่ฉันไม่เคยเห็นเอง ก็ขออนุญาตเพื่อนฝูงเก็บความที่เขาได้แต่งพิมพ์พรรณนาวิธีนั้นไว้ มาเป็นโครงประกอบกับความรู้ของฉัน แต่งให้เป็นเรื่องขึ้น ถ้าว่าโดยย่อก็คือ “แต่งเล่นตามชอบใจ” เมื่อแต่งภาคท้ายใกล้จะหมดอยู่แล้ว ฉันกลับมากรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ จะแต่งนิทานเรื่องจับช้างต่อไป จึงนึกขึ้นว่าการจับช้าง เป็นวิชาสำคัญของไทยเราอย่างหนึ่ง ซึ่งชนชาติอื่นๆ เคยนับถือว่าไทยชำนิชำนาญ และวิธีจับช้างของไทยเป็นกิจน่าชมยิ่งอย่างหนึ่งในโลก แต่ตัวฉันเองกับทั้งไทยที่เป็นผู้รู้ๆ อยู่ว่าเป็นวิชาที่จะสูญเสียในไม่ช้านักแล้ว ฉันคิดเสียดายขึ้นมา จึงเห็นควรจะเล่าเรื่องจับช้างให้พิสดารกว่าที่ได้แต่งไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลามาอยู่กรุงเทพฯ ใกล้แหล่งหนังสือเก่า เช่นหอพระสมุดฯ เป็นต้น อาจจะหาหนังสือสอบความทรงจำง่ายกว่าเมื่ออยู่เมืองปีนัง แต่ต้องรับสารภาพว่าเพราะเกียจคร้าน ไม่อยากรื้อนิทานภาคที่ได้แต่งแล้วออกแต่งใหม่ จึงแต่งเพิ่มขึ้นอีกภาคหนึ่ง ว่าด้วยตำนานการจับช้างในเมืองไทยเพิ่มลงข้างหน้า เป็นนิทานเรื่องเดียวกัน ๒ ภาคเช่นพิมพ์ไว้นี้

(๒)

ช้างเถื่อนในเมืองไทย

ในเมืองไทยนี้มีช้างเถื่อน (คือช้างป่า) อยู่มากมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถึงเดี๋ยวนี้ที่ไหนช้างเถื่อนยังอยู่ได้ ก็ยังมีช้างเถื่อนแทบทุกมณฑล ในมณฑลกรุงเทพฯ นี้ แต่ก่อนก็ยังมีช้างเถื่อนอยู่ในทุ่งหลวงทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แขวงจังหวัดนครนายก ตลอดลงมาจนทุ่งบางกะปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อฉันบวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๖ ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในเวลาเย็นๆ เคยขึ้นไปดูบนพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ยังแลเห็นโขลงช้างเถื่อนเข้ามาหากินอยู่ตามปลายนา ราวที่สร้างวัดวิเวกวายุพัดเมื่อภายหลัง แต่ต่อมามีคนถางป่าพงที่ช้างอาศัยทำนารุกเข้าไป ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีไปอยู่ห่างแม่น้ำออกไปโดยลำดับ ยิ่งเมื่อถึงสมัยขุดคลองรังสิตและคลองนาสายอื่นๆ ในทุ่งหลวง ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีห่างออกไป จนมักพากันขึ้นไปอยู่ในทุ่งหลวง ตอนแขวงจังหวัดนครนายกโดยมาก ตอนข้างใต้ใกล้กรุงเทพฯ มีน้อยลง เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปเมืองนครนายกครั้งหนึ่ง จอดเรือพักแรมอยู่ที่อำเภอบางอ้อ เวลาจวนค่ำ เห็นช้างเถื่อนอยู่ที่ปลายนา ทางฟากตะวันออกโขลงใหญ่ แต่พอพลบ พวกชาวบ้านเขาก็กองไฟรายตามแนวปลายนา เขาบอกว่าถึงฤดูทำนาตั้งแต่ข้าวตั้งกอใกล้จะออกรวง ช้างเถื่อนเข้ามากวนเสมอ ต้องกองไฟอย่างนั้นทุกคืน เพราะช้างกลัวไฟไม่กล้าผ่านกองไฟใกล้ๆ แต่มันฉลาด กลางวันหลบหายไปหมด ไม่รู้ว่าพากันไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน แต่พอพลบค่ำจึงย่องเข้ามา ถ้าคนเผลอ มันถอนกอข้าวในนากินเสียคืนละหลายๆ ไร่ พอรุ่งสว่างก็หายไปอีก ถึงฤดูข้าวตั้งกอ จึงต้องกองไฟเช่นนั้นทุกปี ต่อมาอีกปีหนึ่งฉันไปเมืองปราจีนบุรีทางคลองรังสิต เมื่อเรือไฟจูงเรือฉันไปถึงลำน้ำองครักษ์ เวลากลางวันผ่านที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบโขลงช้างเถื่อนสักสี่ห้าตัวกำลังว่ายข้ามลำน้ำผ่านหน้าเรือไปใกล้ๆ จนคนถือท้ายเรือไฟต้องรอเรือเปิดแตรไล่ตะเพิ่น มันก็รีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งวิ่งหนีไปแลเห็นตัวใกล้ๆ แต่ฉันเพิ่งรู้แต่เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี ว่าธรรมดาของช้าง ขึ้นบกได้แล้วจึงเตรียมตัวจะต่อสู้ ถ้าลงว่ายอยู่ในน้ำตีนหยั่งไม่ถึงดินแล้วสิ้นฤทธิ์เดช ทำอะไรใครไม่ได้ทีเดียว ฉันได้เคยเห็นแก่ตาเมื่อจับช้างที่เพนียดครั้งหนึ่ง มีช้างพังเถื่อนตัวหนึ่งขนาดสูงสัก ๓ ศอกเศษ แตกโขลงลอยน้ำลงมาถึงบางปะอินเวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นั่น ช้างตัวนั้นเดิมเห็นจะตั้งใจว่ายข้ามแม่น้ำกลับไปถิ่นในทุ่งหลวง แต่พวกชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำพากันลงเรือไปดู มีเรือลอยแซงมาทั้งสองข้าง ช้างไม่กล้าเข้าใกล้ใกล้เรือ ก็เป็นแต่เอาปลายงวงโผล่ขึ้นหายใจบนหลังน้ำ ปล่อยตัวให้ลอยลงมากับสายน้ำ พอรู้ถึงพวกคนตามเสด็จก็พากันไปดู ฉันก็ลงเรือลำหนึ่งไปดูกับเขาด้วย ใครไปถึงต่างก็ลอยเรือล้อมดูอยู่ห่างๆ ขวางทางช้างว่ายขึ้นตลิ่งไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร ช้างกับเรือลอยเป็นแพลงมาจนถึงบ้านแป้ง มีนายตำรวจภูธรคนหนึ่งคิดจะจับ ให้พายเรือเข้าไปใกล้ๆ ตัวช้าง เห็นมันนิ่งเฉยก็เอาเรือเข้าไปเทียบถึงข้างตัวมันก็นิ่งเฉย พลตำรวจคนหนึ่งใจกล้าโดดขึ้นขี่หลัง เห็นช้างนิ่งอยู่ไม่อาละวาดสะบัดสะบิ้งอย่างไร ได้ใจก็ค่อยเขยื้อนตัวขึ้นไปจนถึงขี่คอ ช้างก็ยังนิ่งอยู่ ยกแต่ปลายงวงโผล่พ้นน้ำขึ้นหายใจอย่างเดียวเท่านั้น จึงรู้ว่าเพราะตีนมันหยั่งไม่ถึงดิน จึงทำอะไรไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะเหตุนั้นเอง ช้างจึงชอบลงน้ำแต่เพียงที่หยั่งถึง และมักมีช้าง แม้ที่ฝึกหัดเชื่องแล้วไม่ยอมว่ายน้ำ ถึงกับมีตำราสำหรับลวงช้างให้ว่ายข้ามน้ำอยู่ในคัมภีร์คชศาสตร์เป็นหลายอย่าง

แต่ช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ผิดกับช้างเถื่อนในที่อื่น ด้วยเป็นช้างโขลงของหลวง สำหรับแต่จับใช้ราชการ และเคยอยู่ในทุ่งหลวงสืบพงศ์พันธุ์กันมาหลายร้อยปี มีกำหนดต้อนเข้ามาเลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งเป็นคราว ดังจะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ช้างที่ไม่จับ ก็ปล่อยกลับออกไปอยู่ในทุ่งหลวงอย่างเดิม เป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ช้างเถื่อนในทุ่งหลวงจึงเหมือนกับเลี้ยงไว้สำหรับจับที่เพนียด และต้องมีไว้ให้มากพอแก่การ หาไม่ก็มีการจับช้างที่เพนียดไม่ได้ อนึ่งการจับช้างที่เพนียดนั้น เป็นแบบตำราหลวง ผิดกับวิธีจับช้างอย่างสามัญ ด้วยเป็นการเลือกหาช้างมีลักษณะสำหรับใช้ในการรบพุ่ง และฝึกซ้อมพวกผู้เชี่ยวชาญในการขี่ช้าง ตลอดจนฝึกซ้อมช้างต่อซึ่งได้ฝึกหัดขึ้นไว้นั้นด้วย เห็นจะถือว่าเป็นการสำคัญมาช้านาน ตามเมืองโบราณที่เคยเป็นราชธานี จึงมีเพนียดอยู่ใกล้ๆ พระนคร ในเวลามีการจับช้างที่เพนียด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทรงบัญชาการเอง บางพระองค์ถึงโปรดทรงคล้องเอง พวกเจ้าหน้าที่ก็ทำการอย่างแข็งขันกันเต็มฝีมือ จึงเป็นการที่คนนิยมอยากดู มีการจับช้างเมื่อใดใครไปได้ก็ไปดูทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ที่ว่านี้ตามฉันได้เคยเห็น แต่คงเป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ แต่เมื่อย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ห่างเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรจับช้างที่เพนียดไม่สะดวก จึงโปรดให้แต่เจ้านายต่างกรม ผู้บัญชากรมพระคชบาลไปทรงบัญชาการจับช้าง ได้ยินว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๔ แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ มีเรือไฟใช้เป็นราชพาหนะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรเสมอ ดูเหมือนมีกำหนดจับ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรอย่างเดียวกัน แต่เมื่อมีเจ้านายฝรั่งต่างประเทศเป็นแขกเมืองเข้ามาเฝ้าเนืองๆ โปรดให้มีการจับช้างให้แขกเมืองดู พวกแขกเมืองก็พากันชอบ สรรเสริญว่าการจับช้างของไทยเป็น “กีฬา” (Sport) ถึงชั้นวิเศษสุดอย่างหนึ่งในโลก หามีเหมือนในประเทศอื่นไม่ จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปตามนานาประเทศ การจับช้างจึงเปลี่ยนมาเป็นสำหรับมีรับแขกเมืองที่สูงศักดิ์ แม้เช่นนั้นการจับช้างก็เสื่อมทรามลงโดยลำดับ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองในอย่างอื่น เป็นต้นแต่การบำรุงกสิกรรม ด้วยช้างโขลงอยู่ในทุ่งหลวงกีดขวางแก่การทำนา แต่ยังพอผ่อนผันกันมาได้หลายปี จนถึงสมัยเมื่อสร้างทางรถไฟผ่านไปในทุ่งหลวง ก็เกิดลำบากแก่การที่จะต้อนช้างโขลงผ่านทางรถไฟมายังเพนียดเพิ่มขึ้น และมามีเหตุร้ายเพิ่มขึ้นเป็นที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง คืนวันหนึ่งมีช้างเถื่อนในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง เห็นจะเป็นเวลาตกน้ำมัน ขึ้นไปยืนอยู่บนทางรถไฟที่ย่านเชียงราก พอรถไฟบรรทุกสินค้าแล่นขึ้นไป ก็ตรงเข้าชนรถไฟ ช้างก็ตายรถไฟก็ตกรางทั้งสาย พอฉันรู้ก็ขึ้นไปดู แต่ช้าไปไม่ทันเห็นตัวช้าง เพราะมีคนแล่เนื้อเถือหนังไป และฝังโครงกระดูกเสียหมดแล้ว เห็นแต่รถไฟนอนกลิ้งอยู่ในท้องนา เนื่องจากเหตุครั้งนั้นจึงต้องกวาดต้อนช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ให้ไปอยู่เสียในป่าทางเชิงเขาใหญ่ในแขวงจังหวัดนครนายกหมด การจับช้างที่เพนียดก็เลิกขาด และช้างเถื่อนก็ไม่มีในมณฑลกรุงเทพฯ แต่นั้นมา แต่ในมณฑลอื่นยังมีช้างเถื่อนอยู่ทุกมณฑลจนทุกวันนี้

ลักษณะจับช้างเถื่อน

ปรกติของช้างเถื่อนชอบอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากบ้างน้อยบ้าง ในระหว่างตั้งแต่ ๑๐ ตัวขึ้นไปถึง ๒๐-๓๐ ตัว คล้ายกับมนุษย์ที่ชอบอยู่ด้วยกันในครัวเรือนหรือในวงศ์ญาติ มีตัวหัวหน้าทุกโขลง มักเป็นช้างพังใหญ่เรียกกันว่า “แม่หนัก” หรือ “แม่แปรก” ก็เรียกสำหรับนำโขลงเที่ยวหากิน และพาหลีกหนีภัยอันตราย แม่โขลงชักนำอย่างไร ลูกโขลงก็ทำตาม อยู่ที่ไหนอยู่ด้วยกัน ไม่เที่ยวเตร็จเตร่แยกย้ายกันไปตามอำเภอใจ เว้นแต่ช้างพลายตัวใหญ่ถึงขนาดตกน้ำมันได้นั้น ต้องอยู่รายรอบนอกมิให้เข้าไปปะปนอยู่ในโขลง ช้างอยู่ด้วยมีประเพณีเช่นว่านี้ วิสัยช้างจึงชอบไปไหนด้วยกันเป็นหมู่ อีกประการหนึ่ง ช้างเป็นสัตว์ขนบางดังกล่าวมาแล้ว กลัวร้อนแสงแดด ต้องมีเวลาลงแช่น้ำหรือหมกโคลนเหมือนกับควาย เพราะฉะนั้นช้างโขลงจึงมักอยู่แต่ในที่อันมีอาหาร กับทั้งห้วยน้ำลำธารหรือปลักแปลงและมีหมู่ไม้ให้ร่มเงา บางโขลงจึงชอบอยู่ในดงภูเขาก็มี บางโขลงก็ชอบหากินชายดงใกล้ที่ราบอันเป็นที่มีป่าหญ้า ออกมาเที่ยวหาหญ้ากินในเวลากลางคืนก็มี วิธีหากิน ทำให้ช้างโขลงเป็นช้างชอบอยู่ในดงบนภูเขาชนิดหนึ่ง เป็นช้างอยู่ชายดงใกล้ที่ราบชนิดหนึ่ง แต่มนุษย์มีปัญญาสามารถสังเกตนิสัยของช้าง จึงคิดวิธีจับช้างให้เหมาะกับภูมิลำเนาที่ช้างเถื่อนอยู่ได้ทั้งสองชนิด

วิธีจับช้างในเมืองไทยมี ๓ อย่าง เรียกว่า “วังช้าง” อย่างหนึ่ง “โพนช้าง” อย่างหนึ่ง “จับเพนียด” แต่ฉันจะเรียกต่อไปให้ตรงความว่า “จับตำราหลวง” อย่างหนึ่ง พิจารณาดูเค้าเงื่อนที่ยังพอสังเกตได้ เห็นว่าวิธีจับช้างอย่าง “วังช้าง” คือตั้งคอกจับช้างหมดทั้งโขลงในคราวเดียวกันก็ดี วิธีจับอย่าง “โพนช้าง” คือขี่ช้างต่อออกไล่ช้างเถื่อนแต่ทีละตัวก็ดี เห็นจะใช้ในเมืองไทยมาแต่พวกลาว (คือละว้า) ยังปกครองบ้านเมือง แต่วิธีจับช้างอย่าง “ตำราหลวง” เช่นที่จับเพนียดในชั้นหลัง ฉันเห็นว่าเป็นวิธีประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังกล่าวมาในภาคต้น

การจับช้างไม่ว่าอย่างไหนๆ ย่อมเป็นการเสี่ยงภัยแก่ผู้จับ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ถ้าพลาดพลั้งผู้จับก็ถึงสิ้นชีวิต ทั้งเป็นการยาก และต้องใช้คนมาก แบ่งหน้าที่กันทำการต่างๆ พนักงานจับช้างหลวงจึงตั้งเป็น “กรมพระคชบาล” หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” ส่วนพวกพลเมืองที่หาเลี้ยงชีพด้วยการจับช้างก็ต้องมี “หมอเฒ่า” หรือ “ครูบา” ผู้เชี่ยวชาญในการจับช้างเป็นผู้บัญชาการสิทธิ์ขาด รองลงมาต้องมี “หมอช้าง” ซึ่งหมอเฒ่าได้ฝึกสอนให้รู้จักสังเกตกิริยาอาการช้าง และคล่องแคล่วชำนิชำนาญการคล้องช้าง รองลงมาจากนั้นอีกถึงชั้นพวกบริวารที่เป็นแต่แรงงาน ก็ต้องรักษาวินัยทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เหนือตนอย่างสิทธิ์ขาด หาไม่ก็อาจเป็นอันตรายเหมือนกัน การจับช้างจึงเป็นวิชาอย่างหนึ่งซึ่งรักษาสืบกันมาในเมืองไทยช้านาน ตัวฉันเคยเห็นแต่การจับช้างอย่างตำราหลวง พอจะเล่าให้ฟังได้ว่าเป็นอย่างไร แต่จับอย่างวังช้างและโพนช้าง ฉันไม่เคยเห็น จะต้องอาศัยอธิบาย ซึ่งพระยาอินทรมนตรี (ไยลส์) ได้อุตส่าห์สืบสวนมาพรรณนาพิมพ์ไว้เป็นภาษาอังกฤษที่ในหนังสือวารสาร ของสมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย ฉันจึงขออนุญาตเก็บเนื้อความมาแปลลงในนิทานนี้ ส่วนอธิบายการโพนช้าง นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) ก็ได้อุตส่าห์พรรณนาตามที่เคยไปเห็น พิมพ์ไว้เป็นภาษาไทยในหนังสือ “รื่นระลึก” ฉันขออนุญาตเก็บความมาเหมือนกัน

วิธีวังช้าง

การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “วังช้าง” ต่างประเทศยังชอบใช้กันในปัจจุบันนี้ ซึ่งในอินเดียอันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “เด็กเลี้ยงช้าง” (Elephants Boy) ก็ใช้วิธีวังช้าง ในเกาะลังกาและเมืองมลายูก็จับแต่อย่างวังช้าง แต่ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีวังช้างแต่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เช่นที่จังหวัดชุมพร กับตามหัวเมืองทางลานนา เช่นเมืองน่านเป็นต้น อันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “ช้าง” ซึ่งเคยเลื่องลือทั่วโลกครั้งหนึ่ง แต่หัวเมืองทางอื่นในเมืองไทยนี้ เช่นในมณฑลนครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ปราจีน ใช้วิธีโพนช้างทั้งนั้น คงเป็นเพราะลักษณะถิ่นที่ช้างเถื่อนอยู่ผิดกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงใช้วิธีจับต่างกันมาแต่โบราณ คนจับช้างในท้องถิ่นเคยจับด้วยวิธีอย่างใด ก็เลยรู้แต่วิธีอย่างเดียวที่ใช้จับอยู่ในถิ่นของตนจนทุกวันนี้ เรื่องวังช้างทางเมืองชุมพร ตามที่ฉันรู้มาแต่เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น เมืองชุมพรเขตแดนต่อกับเมืองมะริดของอังกฤษที่สันเขาบรรทัดแหลมมลายู ช้างโขลงเถื่อนรู้จักทางข้ามเขาไปมาอยู่เนืองนิจ ถ้าทางเมืองมะริดมีการจับช้างบ่อยเข้า ช้างโขลงก็หนีข้ามเขามาอยู่ในแขวงเมืองชุมพร ถ้ามาถูกคนที่เมืองชุมพรจับบ่อยเข้า ก็หนีกลับไปอยู่ทางแดนเมืองมะริด ไม่มีช้างโขลงอยู่ประจำที่ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องคอยสอดแนมอยู่เสมอ ถ้าได้ข่าวว่าช้างโขลงเข้าแดนเมื่อใดก็เตรียมการจับ แต่จับคราวหนึ่ง ก็ได้ช้างได้เงินพอใช้ไปนาน จึงยังมีผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตั้งแต่หมอเฒ่าเจ้าตำรา ที่เป็นผู้อำนวยการ และหมอช้างครูช้างที่เป็นตัวรองอยู่ที่เมืองชุมพรสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ แต่การวังช้างต้องลงทุนมาก ตั้งแต่ค่าทำค่ายพรางและค่ากำนนผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนค่าจ้างพวกกรรมกร จึงต้องอาศัยพวกมีทรัพย์ เป็นผู้เริ่มริและไปหาหมอเฒ่าอำนวยการ และทำการต่างๆ ดังพระยาอินทรมนตรีพรรณนาเป็นลำดับไป

เมื่อมีผู้ไปขอให้วังช้าง หมอเฒ่าก็เข้าพิธีบูชาครู นั่งสำรวมใจร่ายมนตร์ขอสุบินนิมิตต่อครูปัทยาย ให้มาเข้าฝันว่าจะจับช้างได้สมประสงค์หรือไม่ เมื่อในสุบินนิมิตดีแล้ว หมอเฒ่าจึงเลือกตัวหมอช้างกับทั้งพวกที่จะทำการอย่างอื่นๆ มาจัดเป็นพนักงานทำหน้าที่ต่างๆ จนครบครัน ในการที่ออกไปจับช้างนั้น บรรดาผู้ไปต้องจัดการทางบ้านเรือนของตน ตามข้อบังคับในตำราคชศาสตร์ คือห้ามมิให้ผู้หญิงเช่นลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เอาน้ำมันใส่ผม หรือทาตัว หรือแม้แต่ทอดของกิน เพราะถือว่าจะทำให้ผู้ชายที่ไปจับช้างขึ้นต้นไม้ลื่น และห้ามมิให้เมียแต่งเครื่องประดับหรือแต่งตัวให้สวยงามอย่างใด เพราะถ้าเมียทำนอกใจทางบ้านผัวอาจจะเป็นอันตรายที่ในป่า และห้ามมิให้ผู้หญิงวิวาทบาดทะเลาะกันหรือแม้จนตีลูกเด็ก เพราะผีป่าจะดูหมิ่นชายคนนั้นว่ามีครอบครัวลามก เลยไม่คุ้มครอง และห้ามมิให้ใครๆ ที่อยู่ทางบ้านนั่งหรือยืนคาประตูเรือน เพราะจะพาให้ช้างไม่เข้าคอก แต่ข้อบังคับเหล่านี้มีข้อไขว่าถ้าเมียไม่ยอมทำตามข้อบังคับ ก็ให้ผัวหย่าเสียชั่วคราว จนเสร็จกิจกลับมาถึงบ้าน จึงถือว่าเป็นผัวเมียกันต่อไปอย่างเดิม เมื่อจัดคนสำเร็จแล้วหมอเฒ่าหาฤกษ์ทำการพลีกรรม ไหว้ครูพร้อมกันวันหนึ่งก่อน แล้วจึงพากันออกไปป่า ไปเที่ยวเลือกหาที่ซึ่งจะตั้งคอกดักช้างตามทางที่ช้างโขลงมักเดินไปมาที่ในดง เมื่อหมอเฒ่าเห็นว่าที่ตรงไหนเหมาะ ยังต้องทำพิธีพลีกรรมร่ายมนตร์ขอนิมิตต่อครูปัทยายอีกครั้งหนึ่งว่าตั้งคอกตรงนั้นจะสำเร็จประโยชน์หรือไม่ ต่อได้นิมิตดีจึงสั่งให้ตัดไม้ทำเสาคอก และตัดเถาวัลย์และหวายสำหรับผูกมัดรัดคอกให้มั่นคง เมื่อได้สรรพสัมภาระพร้อมแล้ว หมอเฒ่าทำพิธีร่ายมนตร์เชิญครูปัทยายมาช่วย และรดน้ำมนตร์ตามแนวที่จะตั้งคอก กับทั้งร่ายมนตร์ขับผีร้ายที่จะขัดขวางให้ไปเสียจากที่นั่นก่อน แล้วปลูกศาลเพียงตาทั้ง ๔ ทิศ เชิญเทพารักษ์มาช่วย และทำหนังสือบนวางไว้ทุกศาล ว่าถ้าจับช้างได้มากกว่าเท่านั้นตัว จะถวายสินบนอย่างนั้นๆ แล้วจึงให้ลงมือตั้งคอก

ลักษณะคอกจับช้างนั้นมีแบบเป็น ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” หรือ “คอกน้ำเต้า” อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกพาลี” อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกแม่วี” สำหรับจับช้างจำนวนมากและน้อยโดยลำดับกัน ล้วนปักเสาไม้แก่นสูงท่วมหลังช้างรายไว้เป็นระยะ มีช่องระหว่างเสาพอตัวคนลอดเข้าออกได้สะดวก ข้างนอกมีคร่าวและขาทรายค้ำ ปลายเสาผูกสายเถาวัลย์รัดต่อติดกันมั่นคงมิให้ช้างทำลายได้ ทำเป็นคอกทึบ ๓ ด้าน ด้านหน้าทางช้างเข้ามีประตูยนต์แขวนบานไว้กับขื่อ พอช้างเข้าในคอกแล้วอาจตัดเชือกให้บานเลื่อนลงมาปิดประตูไว้ ต่อคอกออกไปข้างหน้าปักเสาไม้แก่น ผายเป็นชังนางต่อออกไปทั้งสองข้างตอนหนึ่ง แล้วปักเสาต้ายไฟทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ตั้งแต่ปากชังนางรายต่อออกไป เป็นชังนางอีกข้างละหลายเส้น ก็ถึงที่สุดมีเสาต้ายเช่นนั้นปักขวางอีกแนวหนึ่ง จนปากชังนางทั้งสองข้างต่อกัน มีห้างขัดบนต้นไม้ข้างนอกแนวเสาต้ายเป็นระยะ สำหรับคนขึ้นไปคอยดูเมื่อเวลาช้างมาเข้าคอก บอกสัญญาณให้คนภายในรู้และคอยจุดชะนวนที่ล่ามไปจุดไฟตามเสาต้าย ให้ลุกล้อมโขลงช้าง และมีห้างต่างหากสำหรับหมอเฒ่า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ให้สัญญาณตัดเชือกปิดประตูคอกด้วย คอกทำอย่างเดียวกันทั้งนั้น ที่เรียกชื่อต่างกันเพราะแผนผังผิดกันเท่านั้น คอกอย่างเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” เป็นคอกสองห้องสำหรับจับช้างมาก อีกสองอย่างเป็นแต่คอกห้องเดียว คอกอย่าง “แม่วี” เป็นขนาดเล็กกว่าเพื่อน แม้ประตูยนต์คอกแม่วีก็ทำบานปิดอย่างประตูสามัญ ไม่ทำบานตกเหมือนสองอย่างที่ว่ามาก่อน

เมื่อทำคอกเสร็จแล้ว ยังมีพิธีฉลอง ซึ่งหมอเฒ่าทำที่ในคอกอีกหลายอย่าง เป็นต้นแต่พลีกรรมขอบคุณเทวดา และครูปัทยาย ที่ได้คุ้มครองให้ทำคอกนั้นสำเร็จ แล้วทำพิธีเบิกไพรร่ายมนตร์ขออนุญาตเจ้าป่าเพื่อจะเข้าไปต้อนช้าง และร่ายมนตร์เพื่อไล่ “อ้ายราน” (เห็นจะตรงกับ “รังควาน”) ที่อยู่กับตัวช้าง ทำพิธีเหล่านี้แล้วจึงลงมือจัดการต้อนช้าง ในการต้อนช้างนั้น โดยปรกติตัวหมอเฒ่าอยู่ที่คอก ไม่ต้องออกไปต้อนด้วย คงเป็นเพราะหมอเฒ่ามักเป็นคนสูงอายุ แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ก็ต้องออกไปแก้ไข

การต้อนช้างเข้าคอกนั้น เริ่มด้วยให้คนออกไปสอดแนมดูให้รู้ก่อน ว่าในเวลานั้นช้างโขลงหากินอยู่ที่ตำบลไหน เมื่อรู้แล้วหมอเฒ่าจึงแบ่งคนต้อนช้างจัดเป็นหมวดๆ แต่ละหมวดมีหมอช้างเป็นหัวหน้าคนหนึ่งกับบริวารสี่ห้าคน เลือกสรรหมอช้างคนที่ชำนาญท้องที่ถิ่นที่ช้างอยู่นั้นเป็นผู้นำขบวน เรียกว่า “หมอไล่” เมื่อไปถึงถิ่นที่ช้างอยู่ หมอไล่ต้องเล็ดลอดเข้าไปทางใต้ลมมิให้ช้างได้กลิ่น จนแลเห็นตัวช้าง พิจารณาดูว่าจำนวนช้างโขลงนั้นมีสักเท่าใด มีช้างพลายกี่ตัวช้างพังกี่ตัวๆ ไหนเป็นนายโขลง และพิจารณาดูหนทางที่ช้างโขลงนั้นชอบไปมาหากิน เมื่อเห็นประจักษ์หมดแล้วถอยออกมา ประชุมปรึกษากันว่าจะต้อนโขลงไปทางไหนให้ถึงคอก และกะที่ซึ่งจะต้องวางคนสำหรับดักทางคอยช่วยต้อนสักกี่แห่ง เพื่อมิให้ช้างโขลงแตกแยกไปเสียทางอื่น แล้วปันหน้าที่ให้หมอช้างคุมบริวารหมวดของตน แยกกันไปดักทางอยู่ตามถิ่นที่กะทุกแห่ง และมีพวกสำหรับต้อนไล่ทางข้างหลังช้างโขลงอีกพวกหนึ่ง พวกนี้ตัวหมอไล่เป็นผู้คุม ในพวกต้อนช้างมีวิธีที่จะส่งอาณัติสัญญาณต่างๆ ให้รู้ถึงกัน และเข้าใจกันได้ทุกพวก เครื่องมือสำหรับต้อนช้างโขลงนั้น โดยปรกติ “ตะขาบ” คือไม้ไผ่ลำยาวสองปล้อง ปล้องหนึ่งเป็นแต่ผ่ากลางให้แยกออกไป เอากลับเข้ากระทบกันให้เกิดเป็นเสียงได้ อีกปล้องหนึ่งต่อลงมา ผ่าเพียงถึงข้อแล้วเจียนไม้ให้เป็นด้ามมือถือทั้งสองซีก สำหรับจับปล้องที่ผ่ากระทบกันให้เกิดเสียง แต่ปล้องล่างทิ้งไว้ให้ยึดตะขาบทั้งหมดไม่ผ่า การต้อนช้างโขลง ใช้แต่เสียงตะขาบเป็นพื้น ต่อมีการฉุกเฉิน เช่นช้างจะแหกออกนอกทางทั้งโขลง จึงใช้จุดคบไฟรายขวางทาง

วิธีต้อนช้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญการจับช้างแต่โบราณ เขาสังเกตรู้นิสัยช้างเถื่อน ซึ่งย่อมมีช้างตัวนายโขลงเป็นผู้คอยระวังภัยทุกโขลง ถ้าช้างนายโขลงเห็นสิ่งใดหรือได้ยินเสียงอันใดแปลกประหลาด ระแวงว่าจะ “เกิดภัย” ก็ทิ้งงวงดัง “ป๋อง” เป็นเสียงสัญญาณบอกแก่ลูกโขลง เขาว่าพอช้างลูกโขลงได้ยินเสียงสัญญาณของนายโขลงครั้งแรก ก็หยุดยืนนิ่งเตรียมตัวหมด ถ้าได้ยินเสียงร้อง “แปร๋” เป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ก็พากันมารวมอยู่กับตัวนายโขลง มีสัญญาณครั้งที่ ๓ ด้วยตัวนายโขลงออกเดินนำ ช้างลูกโขลงก็พากันตามติดไป พวกต้อนช้างเขารู้อย่างนั้น พอจัดหน้าที่วางคนระวังทางแล้ว พวกกองหมอไล่ก็ไปรายกันทางด้านหลัง เริ่มการต้อนด้วยหมอไล่ให้สัญญาณ สั่งให้ตีตะขาบให้ดังขึ้นที่ในดงเป็นนัดแรก ตัวหมอไล่เองต้องพยายามอยู่ให้ใกล้พอเห็นตัวช้างนายโขลง สังเกตว่าจะทำอย่างไร และให้อาณัติสัญญาณแก่พวกตีตะขาบให้ตีเมื่อไร ให้เหมาะแก่กิริยาอาการของช้าง ก็วิสัยช้างนายโขลงนั้น ได้ยินเสียงตะขาบเกิดขึ้นทางไหนก็พาโขลงหนีออกไปเสียจากทางนั้น คนจึงสามารถใช้เสียงตะขาบซึ่งรายกันอยู่ ต้อนช้างโขลงให้ไปทางไหนๆ ได้ตามปรารถนา แต่ค่อยๆ ต้อนโขลงมาช้าๆ และมีเวลาหยุดพักให้ช้างรู้สึกว่าปลอดภัยไม่ตื่นเต้น เพราะถ้าช้างตื่นทั้งโขลงแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็เอาไว้ไม่อยู่ เวลาต้อนโขลงช้างนั้นต้องระวังอยู่เสมอ มิให้ช้างเห็นตัวหรือได้ยินเสียงคน ถ้าโขลงช้างเดินตรงมาตามทางที่ประสงค์ คนก็เป็นแต่ตามมาห่างๆ ถ้าช้างหยุดยั้งอยู่นานเกินไปก็ส่งเสียงตะขาบทางข้างหลังเตือน ถ้าโขลงช้างจะเชือนไปเสียทางอื่น คนพวกที่รายทางดักกันอยู่ด้านนั้นก็ส่งเสียงตะขาบหนัก ช้างได้ยินก็หันกลับมาเดินทางเดิม ด้วยสำคัญว่าปลอดภัย ถ้าจะต้อนโขลงช้างผ่านทุ่งหรือข้ามลำน้ำ ต้องต้อนในเวลากลางคืน เพราะคนอาจเข้าไปใกล้กว่าต้อนกลางวัน ต้อนแต่ด้วยเสียงตะขาบอย่างนั้นมาได้จนถึงคอก แต่ต้องกะให้ถึงเวลามืดค่ำ อย่าให้ช้างเห็นแนวเสาปีกกาที่ปักต้าย จนโขลงช้างผ่านพ้นแนวเสาปีกกาถึงปากคอก จึงจุดต้ายไฟที่รายไว้ปิดทางข้างหลัง และโห่ร้องรุกไล่ให้ช้างตื่นวิ่งหนีเข้าคอก แล้วปิดประตูขังไว้ในคอกหมดทั้งโขลง

การจับช้างเถื่อน ใช้เอาเชือกหนังทำเป็นบ่วงคล้องตีนหลังของช้างอย่างเดียวกันทุกวิธี เชือกหนังที่คล้องนั้นคำหลวงเรียกว่า “เชือกบาศ” แต่พวกหมอคล้องช้างเชลยศักดิ์ทั้งทางแหลมมลายูและทางข้างเหนือเรียกว่า “เชือกปะกรรม” (ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่าเดิมเป็นศิษย์ละว้าด้วยกัน) ถ้าช้างขนาดย่อมคล้องเส้นเดียวก็อยู่ ถ้าขนาดเขื่องต้องคล้องสองตีนข้างละเส้น ถ้าเป็นช้างขนาดใหญ่ ต้องคล้องทั้งสองตีน ข้างละสองเส้น แต่การที่คล้องนั้นผิดกัน เพราะจับอย่างโพนช้าง หรือจับอย่างตำราหลวงที่เพนียด คนคล้องขี่คอช้างต่อไล่คล้อง แต่จับอย่างวังช้าง คล้องเมื่อช้างเถื่อนอยู่ในคอกแล้ว คนคล้องอยู่กับแผ่นดินข้างนอกคอก เอาบ่วงบาศติดปลายไม้คันจามเหมือนกับถ่อ สอดเข้าไปคล้องทางช่องเสาคอก เลือกคล้องช้างพลายที่ดุร้ายก่อน แล้วคล้องช้างพลายขนาดย่อมต่อลงมา จนหมดช้างพลายแล้วจึงคล้องช้างพัง เมื่อคล้องได้หมดแล้วค่อยขันเชือกบาศกับโคนเสาคอก ฉุดตัวช้างมาจนอยู่ติดกับเสาคอก แล้วโยนเชือก “ทาม” ผูกคอช้างเถื่อนที่ติดเชือกบาศนั้น ตอน “โยนทาม” นี้ที่ลำบากมาก ด้วยช้างเถื่อนกำลังเป็นบ้าอาละวาด ไม่ยอมให้ผูกทามได้ง่ายๆ ต้องมีคนพวกหนึ่งยืนอยู่กับแผ่นดิน อีกพวกหนึ่งอยู่บนสะพานยาวที่ทำไว้ข้างคอก คอยช่วยกัน ถ้าเป็นช้างดุร้ายต้องมีคนล่อให้ช้างนั้นมุ่งไปเสียทางอื่น คนลอบเข้าผูกทามอีกทางหนึ่ง แต่โดยปรกติมักเอาใบไม้ผูกเป็นแผงบังตาช้างเถื่อน มิให้เห็นคนผูกทาม พยายามจนผูกได้หมดทุกตัว การวังช้างผิดกับจับด้วยวิธีอื่นเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช้ช้างต่อต้อนหรือคล้องช้างเถื่อน จนคนจับช้างเถื่อนผูกทามไว้ในคอกหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อเข้าไปผูกเชือกล่ามจากทามที่คอช้างเถื่อน มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ จูงช้างเถื่อนให้ลากเชือกบาศออกจากคอก เอาไปผูกไว้ ณ ที่หัดช้างทีละตัวจนหมดคอก วิธีหัดช้างเป็นอย่างไร จะพรรณนาเป็นตอนหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า

การจับช้างอย่างวิธี “วังช้าง” ที่พรรณนามา พิเคราะห์ดูแต่โบราณ เห็นจะใช้แต่สำหรับจับช้างใช้ราชการบางครั้งบางคราว หาอนุญาตให้ใครๆ ตั้งคอกวังช้าง เพื่อประโยชน์ของตนเองตามชอบใจไม่ มีในเรื่องพงศาวดารว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จไปเที่ยววังช้างทางมณฑลนครสวรรค์และที่อื่นๆ ได้ช้างคราวละสี่สิบห้าสิบตัวเป็นหลายครั้ง จับครั้งหนึ่งช้างเถื่อนก็หมดไปโขลงหนึ่ง และทำให้ช้างโขลงอื่นที่ยังเหลืออยู่ทิ้งภูมิลำเนา ไม่เหมือนกับจับด้วยวิธีโพนช้าง ซึ่งเลือกจับเอาแต่ทีละตัวสองตัว ช้างนอกจากนั้นยังเหลืออยู่ทั้งโขลง และช้างพอเกิดทันให้จับใช้ ถ้าหากท้องที่ที่ช้างอยู่จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้ ก็คงอนุญาตด้วยมีจำกัด ถึงเดี๋ยวนี้ถ้าใครจะตั้งคอกจับช้างที่ไหน ก็ต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลก่อน จับช้างได้กี่ตัว รัฐบาลตีราคาช้างแล้วชักภาคหลวง (ฉันเข้าใจว่าร้อยละ ๑๐ ในราคาช้าง แต่หาจำกัดจำนวนช้างที่จับไม่) การวังช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ได้ยินว่ามีแต่ที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน นอกจากนั้น จะมีที่จังหวัดไหนอีกบ้าง ฉันหาทราบไม่

วิธีโพนช้าง

การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “โพน” นั้น ดูเหมือนแต่โบราณจะใช้กันทั่วไปเป็นสามัญ สำหรับหาช้างใช้สอยกันเป็นส่วนตัว เพราะจับช้างแต่ทีละตัวสองตัว รัฐบาลไม่รังเกียจกลัวช้างจะหมดเหมือนกับจับอย่างวังช้าง ถึงกระนั้นก็มิใช่ใครๆ จะไปเที่ยวโพนจับเอาได้เองตามปรารถนา เพราะการจับช้างเถื่อนเป็นการยาก กอปรด้วยภัยอันตรายแก่ผู้จับมาก ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีช้างต่อที่ฝึกหัดไว้คล่องแคล่ว จึงสามารถโพนช้างได้ จึงมีพวกเชี่ยวชาญเรียกกันว่า “หมอโพนช้าง” หาเลี้ยงชีพด้วยโพนช้างขาย ตั้งอยู่ตามถิ่นที่มีช้างโขลงเป็นแห่งๆ และฝึกหัดลูกหลานของตนให้หากินด้วยการโพนช้างสืบต่อกันมา ในบัดนี้ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ หลายมณฑล เป็นต้นแต่มณฑลพิษณุโลก นครสวรรค์ ลงมาจนเมืองชัยบาดาล ในมณฑลอยุธยาและมณฑลปราจีน แต่ในมณฑลราชบุรีจะมีหรือไม่ฉันไม่ทราบแน่ ฝ่ายตะวันออกในมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดรและอีสาน ก็จับช้างด้วยวิธีโพน ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ทั้งนั้น ว่าโดยย่อ การจับช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีโพนเป็นพื้น นานๆ จะได้ยินว่ามีการวังช้างสักครั้งหนึ่ง และมีแต่ในหัวเมืองทางแหลมมลายูและมณฑลพายัพเท่านั้น

ตามแหล่งที่พวกหมออยู่แต่ละแหล่ง มีหมอช้างหลายคน ต่างคนต่างมีช้างต่อและคนลูกมือของตน แยกกันโพนหรือรวมกันโพนได้ทั้งสองอย่าง ในแหล่งหนึ่งๆ พวกหมอช้างสมมตหมอช้างด้วยกันเอง ซึ่งมีอายุเป็นอาวุโส และกำหนดว่าต้องเคยคล้องช้างเถื่อนได้แต่ ๕ ตัวขึ้นไปเป็น “หมอเฒ่า” คนหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถืออย่างครูบาอาจารย์ ด้วยพวกโพนช้างถือกันเป็นคติว่าผู้จะคล้องช้างต้องได้เข้าพิธีให้หมอเฒ่าครอบก่อน แล้วจึงจะเป็น “หมอ” คล้องช้างได้ ก็เป็นทำนองต้องสอบวิชาก่อนรับปริญญานั่นเอง พึงเข้าใจได้ว่าโดยปรกติ พวกหมอช้างคงใช้ลูกหลานเป็นผู้ช่วยทำการอย่างอื่นในการโพนช้างไปก่อน จนรู้และคุ้นกับกระบวนการจนถึงขนาดอาจคล้องช้างได้ จึงขอให้หมอเฒ่า “ครอบ” แล้วก็เรียกว่าเป็น “หมอช้าง” ต่อไป หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พวกโพนช้างก็เป็นเหมือน “สมาคม” อันหนึ่ง ซึ่งหวงอาชีพมิให้คนภายนอกเข้าไปแย่ง จึงสามารถรักษาวิชาอาชีพของพวกตนไว้ได้ตลอดมา แต่พวกโพนช้างที่อยู่ในมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลปราจีน และมณฑลอยุธยา นับเป็นข้าราชการสังกัดขึ้นอยู่ในกรมพระคชบาลทั้งนั้น ถ้ามีการจับช้างของหลวงเมื่อใด พวกหมอเฒ่ากับหมอช้างทุกแหล่งต้องเอาช้างต่อมาสมทบกับกรมพระคชบาลของหลวงเสมอเป็นนิจ

ลักษณะการโพนช้างที่จะกล่าวต่อไปนี้ ฉันเก็บเนื้อความที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) พรรณนามาเขียน เป็นแต่ถือวิสาสะแก้ไขบ้างเล็กน้อย วิธีที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เรียง กระบวนความแยกเป็น ๒ ตอนเข้าใจง่ายดี ฉันจึงคงไว้อย่างรูปเดิม

ตอนเตรียมการ

๑. ถ้าจะโพนช้าง ต้องปรนปรือช้างต่ออันล้วนเป็นช้างพลายให้อ้วนพีมีกำลังก่อน เพราะธรรมดาช้างเถื่อนย่อมมีกำลังกว่าช้างบ้าน ซึ่งเจ้าของใช้การงานอยู่เสมอ ต้องหยุดงานทอดช้างต่อให้กินนอนอิ่มหนำอยู่สักเดือนหนึ่ง ในระหว่างนั้นเจ้าของก็ตระเตรียมเชือกบาศและเครื่องใช้ กับทั้งเสบียงอาหารไปด้วยกัน

๒. เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ต้องทำพิธี “ยกครู” (มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “พิธีไหว้ครู”) ถ้าหมอเฒ่าเป็นผู้อำนวยการ และมีหมอช้างที่เป็นชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยอีก ๒ คน ลักษณะพิธียกครูนั้น ปลูกโรงพิธีด้วยเครื่องไม้ (ที่ในลานบ้านหมอเฒ่า) กลางโรงพิธีมีที่บูชาตั้งเทวรูปกับเครื่องทำพิธีมีหม้อน้ำมนตร์เป็นต้น ข้างหน้าพระ ตั้งเครื่องสักการะและเครื่องสังเวยเทวดา ต่อออกมาข้างหน้าที่บูชา วางเชือกบาศไว้ขดหนึ่งและกองไฟรายกันไว้ ๓ กอง หมอเฒ่าเป็นผู้หาวันฤกษ์ดี แล้วนัดบรรดาผู้ที่จะไปโพนช้างมาประชุมกันที่โรงพิธี หมอเฒ่านั่งกลางโรงตรงหน้าที่บูชา หมอผู้ช่วยอีก ๒ คนนั่งสองข้าง คนอื่นนั่งเรียงกันเป็นวงล้อมรอบ เริ่มการพิธีด้วยจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและครูปัทยายรายตัวหมดทุกคน เมื่อบูชาแล้วหมอเฒ่าทำพิธีครอบผู้ที่จะขึ้นครูเป็นหมอช้าง คนเหล่านั้นแต่ละคนต้องมีขันล้างหน้าใบหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่ง กับเงิน ๖ สลึง (บาทหนึ่งกับ ๕๐ สตางค์) เป็นของกำนนให้หมอเฒ่าผู้เป็น “ครูบา” (อุปัชฌายาจารย์) ครูบาว่า “คำยกหมอ” ให้พวกคนเข้าใหม่ว่าตามพร้อมๆ กันทีละวรรค เป็นคำบูชาครูปัทยาย ขอให้มาครอบงำอยู่ให้ชำนาญการคล้องช้าง ให้ปราศจากอันตรายและเสนียดจัญไรทั้งปวง ลงท้ายหมอเฒ่าให้คนเหล่านั้นปฏิญาณว่าจะโพนช้างเป็นอาชีพต่อไป จะไม่ฆ่าช้างยิงช้าง และจะปฏิบัติตามโอวาทของครูบาเป็นนิจ เมื่อปฏิญาณแล้วครูบาพรมน้ำมนตร์ให้ทุกคน แล้วให้คนเหล่านั้นอมน้ำอันเจือมูลช้าง พ่นลงที่เชือกบาศ ทุกคนเหมือนกัน เป็นเสร็จการ “ครอบ” แล้ว (หมอช้าง ๒ คนที่เป็นผู้ช่วย) ขึ้นขี่ช้างจับเดินรอบโรงพิธี ตัวเองทำท่าทางคล้องช้างและกล่าวคำเป็นโชคชัยให้พรต่างๆ แล้วหุงข้าวที่กองไฟในโรงพิธีทั้ง ๓ กองนั้น หุงข้าวแล้วเป็นเสร็จการพิธียกครู

๓. พวกโพนช้าง ก็เชื่อเสนียดจัญไรทำนองเดียวกันกับพวกวังช้าง เป็นต้นแต่ถือกันว่าเวลาออกไปเที่ยวโพนช้าง จะแต่งตัวให้โอ่โถงไม่ได้ ต้องใช้เครื่องนุ่งห่มแต่ที่เก่าคร่ำคร่า ใครไม่มีก็ทำเครื่องแต่งตัวที่ใช้อยู่ให้ชำรุดขาดวิ่นเสียบ้างแล้วจึงไป ในเวลาไปอยู่ในป่าห้ามมิให้ตัดผม แม่ลูกเมียอยู่ทางบ้านก็ห้ามมิให้ใส่น้ำมันหรือตัดผมแต่งตัวให้สวยงามอย่างไร ถือว่าถ้าทำเช่นนั้น เป็นเสนียดจัญไรพาให้เกิดภัยอันตรายแก่ผู้ไปโพนช้าง

ตอนเข้าป่า

๔. เมื่อถึงวันฤกษ์ตามนัด พวกโพนช้างออกเดินเป็นขบวนไปด้วยกัน ช้างต่อทุกตัวมีหมอขี่คอควาญขี่ท้าย กลางหลังช้างปูหนังวัวหลายผืนพับซ้อนกัน เชือกบาศม้วนแยกเป็น ๒ วงวางบนหนังนั้น มีไม้รวกเหมือนกับถ่อเรียกว่า “คันจาม” สำหรับสอดกับบ่วงบาศถือคล้องช้าง ผูกไปข้างช้างที่ริมเชือกบาศ และมีไม้ “งก” รูปเหมือนกับ “ไม้ค้อน” แต่ที่ตรงหัวเหลาเป็นปุ่มแหลม สำหรับควาญใช้ตีท้ายช้างเวลาต้องการจะให้วิ่ง ผูกติดไปกับเชือกบาศอันหนึ่ง เสบียงอาหารก็ใส่กระเช้าผูกห้อยไปบนหลังช้าง เป็นอันมีคนและเครื่องใช้ครบครันประจำทุกตัวช้างต่อ

๕. เมื่อยกไปถึงชางดงที่จะโพนช้าง หมอเฒ่าสั่งให้หยุดพักทำ “พิธีเบิกไพร” คือบวงสรวงเจ้าป่าและเส้นเชือกบาศก่อน การพิธีนั้นเอาเชือกบาศทั้งหมดวางรวมกันไว้กลางวง พวกหมอช้างจุดธูปเทียนบูชาและถวายเครื่องกระยาหารบวงสรวง อธิษฐานขอให้ทำการสำเร็จดังปรารถนา แล้วเสี่ยงทายด้วยถอดกระดูกคางไก่เครื่องเส้นตัวหนึ่งมาดู ถ้าได้กระดูกยาวเรียวอย่างงาช้างและมีข้อถี่ ถือกันว่าโชคดี ถ้าได้กระดูกหักหรือข้อห่าง ถือกันว่าเป็นอัปมงคล

๖. ทำพิธีเบิกไพรแล้ว จึงเลือกหาที่ตั้งชมรมสำหรับพวกโพนช้างพัก ให้เป็นที่ใกล้หนองน้ำและมีหญ้าหรือใบไม้พอเลี้ยงช้างต่อ และให้ห่างทำเลที่ช้างเถื่อนอยู่ พอไปและกลับมาถึงได้ในวันเดียว ตัวชมรมนั้นทำเครื่องหมายขอบเขตเป็นบริเวณอันหนึ่ง ห้ามมิให้คนอื่นนอกจากพวกโพนช้างด้วยกันเข้าไป “เข้ากรรม” แล้วปลูกพะเพิงเป็นที่อาศัยของพวกโพนช้างอยู่ในบริเวณนั้น เพิงหลังกลางเป็นที่ตัวนายอยู่ มีกำหนดว่าให้หมอเฒ่าที่เป็นครูบานอนข้างขวา หมอช้างนอนข้างซ้าย ควาญนอนทางปลายตีน และต้องให้ครูบานอนก่อนแล้ว ผู้อื่นจึงนอนได้ อนึ่งในเวลาที่ไปอยู่ในชมรมนั้น พวกโพนช้างต้องพูดกันด้วย “ภาษาโพน” (นายแม้น) สังเกตว่าคล้ายภาษามอญหรือเขมร ได้ถามจดมาไว้เป็นตัวอย่างบางคำ เช่น

เชือกบาศเรียกว่าปะกรรม
ขอช้างเรียกว่าบังคลอง
ข้าวเรียกว่ากรวด
น้ำเรียกว่าอวน

ดั่งนี้เป็นต้น

น่าจะแทรกวินิจฉัยลงตรงนี้สักหน่อยหนึ่ง เพราะว่า เหตุใดเมื่อพวกโพนช้างเข้ากรรม จึงพูดกันด้วย “ภาษาโพน” อันมิใช่ภาษาไทยของตนเอง และที่ว่าภาษาโพนคล้ายกับภาษามอญและเขมรนั้น ฉันเห็นเป็นเค้าสำคัญในทางโบราณคดี ส่อว่าพวกชาวอินเดียได้พาวิชาจับช้างเข้ามาถึงเมืองไทยนี้แต่ในสมัยเมื่อละว้ายังเป็นเจ้าของเมือง พวกละว้าเป็นศิษย์เดิมของชาวอินเดีย ครั้นไทยลงมาเป็นเจ้าของเมือง มาเรียนวิชาจับช้างจากพวกละว้าอีกต่อหนึ่ง ภาษาที่พูดกันในเวลาไปโพนช้างจึงเป็น ๒ ภาษาขึ้น คงมีละว้าบางพวกที่ไม่อยากทำการปะปนกับไทย เลือกเอาแต่พวกละว้าที่รู้ภาษาเดิมไปโพนช้างด้วยกัน แต่นานมาละว้ากับไทยร่วมพงศ์วงศ์วารกันยิ่งขึ้นโดยลำดับ การที่ใช้ภาษาละว้าเมื่อไปโพนช้างเป็นแต่ทำตามเคย ก็เลยเป็นแต่อย่างพิธีสืบมา ที่ว่านี้มีหลักอย่างอื่นที่จะอ้างประกอบอีก ด้วยในพวกกรมช้างเองก็ถือตัวว่าต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูมอญ บางคนก็เรียกว่าครูลาว (คือพวกละว้า) ครอบ พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูไทยครอบ ชวนให้เห็นว่าคติอย่างครูละว้าเป็นแบบเก่า คติอย่างครูไทยเป็นแบบใหม่ ฉันใคร่จะสันนิษฐานว่า พราหมณ์พฤฒิบาศพาเข้ามา เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมาเป็นต้นตำราหลวง

ตอนตามช้าง

๗. พอตั้งชมรมแล้ว รุ่งเช้าครูบาก็ให้หมอควาญขี่ช้างไปเที่ยวสอดแนมช้างเถื่อน ธรรมดาช้างเถื่อนเวลากลางวันย่อมหากินอยู่แต่ในดง ต่อกลางคืนจึงออกเที่ยวหากินตามที่แจ้ง การที่สอดแนมนั้นไปเที่ยวตรวจดูตามชายดง ตรงที่มีหนองน้ำหรือป่าหญ้า ดูรอยตีนช้างออกหากินใหม่ๆ มีที่ตรงไหน ก็จะได้ดักโพนที่ตรงนั้น

๘. เมื่อสอดแนมรู้ตำแหน่งที่ช้างเถื่อนออกมาหากินแล้ว พอเวลาพลบค่ำหมอควาญก็พากันผูกช้างต่อ ปลดสิ่งซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ในการคล้องช้างออกหมด เพิ่มแต่เชือกสายทามอันผูกติดไว้กับต้นเชือกบาศ สำหรับผูกช้างเถื่อนที่คล้องได้จูงกลับมา ผูกสวมกับคอช้างต่อทุกตัวแล้วพากันไป

๙. ช้างเถื่อนที่อยู่ด้วยกันเป็นโขลง มีจำนวนช้างมากบ้างน้อยบ้าง มีช้างพังตัวใหญ่เรียกว่า “แม่แปรก” เป็นนายโขลง แต่ช้างพลายตัวใหญ่ทั้งที่เป็นช้างงาและเป็นสีดอไม่มีงา อยู่ในโขลงถูกช้างเด็กเล็กรบกวนรำคาญ จึงมักออกเที่ยวหากินโดยลำพังอยู่นอกโขลง เวลาหมอควาญขี่ช้างต่อไปตามช้างโขลง ต้องคอยหลบเลี่ยงช้างใหญ่ เพราะมันมีกำลังมากกว่าช้างต่อ แต่บางทีก็หลบไม่พ้น เพราะช้างใหญ่มันเข้ามาไล่ตามลำพังใจของมันเอง ถ้าช้างต่อหนีก็อาจจะเป็นอันตราย ต้องเรียงตัวกันหันหน้าสู้ ช้างใหญ่บางตัวเห็นช้างต่อมากกว่าก็หนีไป แต่บางตัวเป็นช้างดุก็เข้าชน หมอควาญก็ต้องขับช้างต่อเข้ารุมกันชน และคนบนหลังช่วยกันเอาหอกแทงจนมันหนีไปจึงพ้นภัย

๑๐. พวกตามช้างต้องพยายามเข้าทางใต้ลมที่ช้างโขลงอยู่ เพราะวิสัยช้างได้กลิ่นไกลและช้างโขลงชำนาญวิธีหนีภัย ถ้าเข้าทางเหนือลม พอช้างแม่แปรกได้กลิ่นแปลก ก็ทิ้งงวงดังป๋องเป็นสัญญาณ บรรดาช้างลูกโขลงได้ยินก็ระวังตัว ถ้าแม่แปรกคาดว่าจะมีภัยก็ร้องแปร๋ขึ้นเป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ช้างลูกโขลงต่างก็พากันมารวมกันอยู่กับแม่แปรก พอแม่แปรกรู้แน่ว่าจะมีภัย ให้สัญญาณร้องแปร๋อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็นำโขลงหนีเข้าดงไปให้พ้นภัย เป็นธรรมดาของช้างโขลงดังนี้ทุกแห่ง ถ้าพวกตามช้างเข้าทางใต้ลม พอช้างต่อได้กลิ่นช้างโขลงก็ยกงวงขึ้นชี้ไปทางที่โขลงอยู่ เป็นเครื่องสังเกตของหมอควาญให้ขับช้างเข้าไปทางนั้น บางทีเข้าไปได้จนใกล้ๆ โขลง ด้วยเป็นเวลากลางคืน

ตอนคล้องช้าง

๑๑. ถ้าไปพบช้างโขลงกำลังหากินอยู่นอกดงในที่แจ้ง พอพวกตามเข้าไปถึงโขลงก็ขับช้างต่อไล่ การไล่นี้จำจะต้องให้ช้างต่อวิ่งเร็วทันช้างเถื่อน ต้องอาศัยไม้ “งก” รูปเหมือนค้อนที่ควาญถือ ตีตะโพกช้างต่อให้เจ็บ ช้างต่อทุกตัวเคยถูกตีรู้รสไม้งก จนเห็นเข้าก็กลัว ควาญจึงอาจขับให้วิ่งทันช้างเถื่อนได้ ในเวลาที่ไล่นั้นหมอช้างตรวจดูช้างที่จะคล้องไปด้วย มักชอบคล้องช้างพลายขนาดสูงราวสัก ๓ ศอกและมีงางอกพ้นพรายปาก หมอช้างคนไหนหมายจะคล้องช้างตัวไหน ก็ขับช้างต่อมุ่งตามช้างตัวนั้นไป การที่ตามนี้บางทีก็ลำบาก ด้วยแม่ช้างมักให้ช้างเล็กวิ่งไปข้างหน้า ตัวเองวิ่งป้องกันไปข้างหลัง เวลาช้างต่อไปทันแม่ช้างก็มักขวางเสียมิให้เข้าถึงตัวที่ปรารถนาจะคล้อง หมอช้างต้องให้ช้างต่องัดแม่ช้าง หรือทำอย่างไรให้เจ็บจนต้องหลีกหนีไป ใช่แต่เท่านั้น เวลาไล่โขลงช้างๆ เถื่อนวิ่งไปทางไหน ช้างต่อต้องวิ่งตามติดไป บางแห่งช้างวิ่งลอดต้นไม้ หมอควาญต้องคอยระวังตัวหลบหลีกกิ่งไม้ไปกับช้าง ถ้าหลบหลีกไม่ทันก็ตกช้างทั้งหมอทั้งควาญ

๑๒. เมื่อไล่ทันช้างตัวที่หมายจะคล้อง หมอช้างถือไม้คันจามอันติดบ่วงบาศอยู่ที่ปลายไม้ สอดปลายไม้ลงไปใต้ท้องช้างเถื่อน กะวางบ่วงบาศกับแผ่นดินให้พอเหมาะเวลาช้างเถื่อนก้าวขาหลังตีนเหยียบลงตรงในบ่วงบาศ แล้วกระชากเชือกบาศให้บ่วงติดตีนช้าง เป็นการยากอย่างยิ่ง ด้วยต้องคล้องในเวลาช้างกำลังวิ่งทั้ง ๒ ตัว และต้องวางบ่วงบาศให้ถูกที่และทันเวลา จึงคล้องติด ตอนนี้สำคัญอยู่ที่ควาญต้องขับช้างต่อให้วิ่งเคียงอยู่กับช้างเถื่อน ได้ระยะที่เหมาะแก่การคล้อง เขาว่าหมอกับควาญต้องเป็นคนเคยกัน จึงจะคล้องได้สะดวก พอคล้องเชือกบาศติดตีนช้างแล้ว หมอยังต้องกระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดติดตีนช้างให้แน่น แล้วไสช้างให้เบนไปข้างซ้ายจนขวางตัว จึงผลักขดเชือกบาศให้ตกลงดินแล้วเบนหน้าช้างขับออกไปจากช้างเถื่อน เพื่อดึงเชือกบาศให้คลี่จนตึงถึงปลายเชือกที่ผูกไว้กับทามที่คอช้างต่อ ถ้าคล้องช้างขนาดใหญ่ขึ้นไปเกรงเชือกบาศเส้นเดียวจะขาด ต้องให้ช้างต่อตัวอื่นเข้าคล้องอีกตีนหนึ่งให้เป็น ๒ เส้น จึงจะเอาไว้อยู่ เมื่อคล้องช้างติดเชือกบาศแล้วยังมีความลำบากอยู่อีก ด้วยช้างแม่แปรกหรือแม่ช้างที่ลูกถูกคล้อง มักกลับมาช่วยรังควานช้างต่อด้วยประการต่างๆ หรือมาวิ่งเวียนอยู่รอบๆ ไม่ทิ้งไป ต้องเอาช้างต่อตัวเปล่าไสเข้าไล่แม่ช้างจนหนีไปหมดแล้วจึงปลดปลายเชือกบาศจากคอช้างต่อให้คนเอาไปผูกไว้กับต้นไม้

๑๓. เมื่อคล้องช้างผูกเชือกบาศไว้แล้ว ต้องให้ช้างต่อและคนเฝ้าอยู่ ณ ที่คล้อง คอยไล่แม่ช้างที่จะมาช่วยอีกคืนหนึ่ง จนช้างโขลงหายไปหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อ ๒ ตัวเข้าเทียบข้างช้างเถื่อนที่คล้องได้ เอาเชือกสายทามคล้องคอช้างเถื่อนผูกล่ามกับสายทามที่คอช้างต่อ จูงมายังที่ชมรมหมอเฒ่ารดน้ำมนตร์ปัดรังควานแล้ว เอาผูกไว้กับต้นไม้เริ่มฝึกหัดต่อไป

นายแม้น วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เคยเห็นโพนช้างเมื่อยังเป็นที่พระเฑียรคราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ได้เป็นข้าหลวงคุมโพนช้างกองหนึ่ง ออกไปค้นหาช้างเผือกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ไปอยู่ในป่ากับพวกโพนช้างกว่า ๒ เดือน จนพบช้างเผือก “พระเศวตวชิรพาหะ” คล้องได้ที่ตำบลเนินโพธิ์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน จึงได้ความรู้มาเขียนอธิบายดังพรรณนามา

วิธีจับช้างอย่างราชกีฬา

วิธีจับช้างตำราหลวง ใช้สำหรับจับช้างพลายขนาดใหญ่ สูงกว่า ๔ ศอกขึ้นไปจนถึง ๕ ศอก ซึ่งจะใช้ฝึกหัดใช้เป็นช้างรบศึก ช้างขนาดนั้นมีกำลังไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้จึงต้องใช้วิธีจับอย่างนี้ ว่าโดยย่อคือต้อนโขลงช้างโขลงจากป่ามาเข้าเพนียดที่ราชธานี เลือกคล้องช้างขนาดที่ต้องการได้หมดแล้ว ปล่อยช้างโขลงกลับไปอยู่ป่าตามเดิม ผิดกับวิธีจับช้างอย่างอื่น ซึ่งพรรณนามาแล้ว เรียกกันเป็นสามัญว่าวิธี “จับเพนียด” แต่ฉันเห็นควรเรียกว่า “วิธีตำราหลวง” เพราะไม่มีผู้อื่นทำได้ นอกจากเป็นการหลวงกรมพระคชบาล หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” เป็นเจ้าหน้าที่จัดการทั้งปวง กรมช้างมีแหล่งแยกกันอยู่เป็น ๓ แห่ง พวกพนักงานช้างรบและทำพิธีคชกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง พวกพนักงานคล้องช้างอยู่ที่เพนียด ณ พระนครศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง พวกพนักงานรักษาช้างเถื่อนเรียกว่า “กรมโขลง” อยู่ที่บ้านนาแขวงจังหวัดนครนายกแห่งหนึ่ง ขึ้นอยู่ในเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่ เช่นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงบัญชาการกรมพระคชบาลทั้ง ๓ พวก ถ้าจะมีการจับช้างเมื่อใด ต้องตระเตรียมกว่าเดือน ด้วยต้องปรนปรือช้างต่อและเรียกระดมคนกรมช้าง มาซ่อมแซมเพนียดและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเกณฑ์ช้างต่อหมอควาญพวกโพนช้างที่ได้กล่าวมาก่อน มาสมทบกับช้างต่อของหลวงที่บ้านนา พร้อมกันแล้วจึงเริ่มปกโขลงช้างเถื่อน

ลักษณะปกโขลง

ธรรมดาของช้างเถื่อน ย่อมอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากตัวบ้างน้อยตัวบ้าง แต่ละโขลงมีช้างพังใหญ่เป็นแม่แปรกนายโขลงตัวหนึ่ง และมักมีช้างพลายใหญ่เป็นช้างงาบ้าง ช้างสีดอไม่มีงาบ้าง ติดตามอยู่นอกโขลงตัวหนึ่งหรือหลายตัวแทบทุกโขลง ช้างเถื่อนที่เอามาคล้อง ณ เพนียด ล้วนเป็นช้างโขลงหลวงอยู่ในทุ่งหลวง แยกย้ายกันหากินอยู่ตามที่ต่างๆ แต่พวกกรมโขลงเขาคอยสอดแนมอยู่เสมอ รู้ว่าโขลงไหนอยู่ที่ไหน มีทะเบียนเรียกชื่อโขลงตามชื่อซึ่งเขาเรียกช้างตัวแม่แปรกหมดทุกโขลง เช่นเรียกว่า “โขลงพังหมู” และ “โขลงพังนกยูง” เป็นต้น แต่ช้างโขลงในทุ่งหลวงมีวิสัยต่างกันเป็น ๒ พวก พวกที่หากินอยู่ใกล้ถิ่นที่คนอยู่ เช่นอยู่ตามที่ชายทุ่งชายนาดังกล่าวมาแล้ว ได้เคยพบปะคนเนืองๆ จนไม่ตื่นคน และมิใคร่มุ่งร้ายต่อคน เรียกกันว่า “โขลงเชื่อง” พวกหนึ่ง แต่โขลงที่หากินอยู่ที่เปลี่ยว มิใคร่จะได้พบปะผู้คนมักดุร้าย หมายทำอันตรายคน และมิใคร่เกรงกลัวช้างต่อ ดูเหมือนเรียกกันว่า “โขลงเถื่อน” อีกพวกหนึ่ง

การปกโขลง ต้องมีผู้ใหญ่ในกรมช้างชั้นเจ้ากรมหรือปลัดกรมออกไปถึงบ้านนา สืบถามที่อยู่ของช้างโขลง รู้แล้วก็คุมพวกช้างต่อไปเที่ยวตรวจเห็นโขลงช้างใดมีช้างได้ขนาดที่ปรารถนาจะจับมาก ก็ล้อมไล่โขลงนั้นมาเข้าคอกที่บ้านนา ซึ่งเป็นคอกเสาไม้ซุง สร้างไว้สำหรับรวมช้างโขลงก่อนต้อนมาเข้าเพนียด ถ้าพลช้างใหญ่มีอยู่ที่โขลงใด สังเกตดูขนาดเห็นว่าช้างต่อพอจะสู้ได้ก็ต้อนให้ติดโขลงมา ถ้าเป็นช้างใหญ่กำลังตกน้ำมัน หรือเป็นช้างใหญ่ถึงขนาดที่ตำราห้ามว่า “มิให้คล้องช้างเถื่อนเท่าช้างต่อ” ก็เอาปืนยิงไล่ให้แตกไปเสียจากโขลง ไม่เอาเข้ามา ถ้าโขลงใดไม่มีช้างได้ขนาดที่จะคล้อง ก็ไม่เอาเข้ามาเหมือนกัน แต่พวกช้างโขลงเชื่องนั้นจำเป็นต้องเอาเข้ามาด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นพวกเคยรู้หนทางและเคยคุ้นกับการเข้าเพนียด เอามาชักนำช้างโขลงอื่นให้ติดตามต้อนง่ายขึ้น จำนวนช้างเถื่อนที่ต้อนมาเข้าเพนียดแต่ละครั้ง อยู่ในระหว่างตั้งแต่ ๒๐๐ จน ๓๐๐ ตัว คุมช้างเถื่อนไว้มากเช่นนั้นเป็นการลำบาก จะจับช้างตำราหลวงจึงต้องมีกำหนดวันรู้ล่วงหน้าเป็นแน่นอน พอรวมช้างโขลงพร้อมแล้วในวันหนึ่งหรือสองวัน ก็ต้อนโขลงออกจากบ้านนา การที่ต้อนโขลงมานั้นก็มีช้างต่อนำหน้าโขลงตัวหนึ่ง มักใช้ช้างสีดอให้ช้างเถื่อนสำคัญว่าช้างพัง ให้ช้างต่อที่เป็นช้างงาขนาดย่อม คือช้างต่อของพวกโพนช้างเดินแซงห่างๆ ทั้งสองข้างโขลงเรียกว่า “ช้างค่าย” ให้ช้างโขลงกลัวงาไม่แตกออกไปนอกทาง และให้ช้างต่อขนาดใหญ่อันเรียกว่า “ช้างค้ำ” ตามต้อนมาข้างหลัง ก็วิสัยของช้างเวลาเหน็ดเหนื่อยหรือร้อนแดด ถ้าถึงลำน้ำชอบลงแช่ตัว หรือถ้าถึงทำเลหญ้าบริบูรณ์ ก็ชอบหยุดกินหญ้าให้หายหิว เพราะฉะนั้นการต้อนโขลงช้างมาเพนียด แม้จำนวนช้างถึงหลายร้อยก็ต้อนมาได้ไม่ยากนัก ด้วยค่อยต้อนมาช้าๆ ให้มีเวลาพักกินน้ำกินหญ้ามาตลอดทาง เวลากลางคืนใช้กองไฟรายล้อมห่างๆ ช้างโขลงก็ไม่กล้าแหกหักออกไป

เพนียด

ตรงนี้จะพรรณนาว่าถึงเพนียดที่คล้องช้างก่อน ที่จริงตัวเพนียดก็ยังอยู่ไม่น่าจะต้องพรรณนา แต่เดี๋ยวนี้เพนียดชำรุดทรุดโทรมเสียมาก เพราะไม่ได้มีการจับช้างที่เพนียดมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ผู้อ่านนิทานนี้ที่ไม่เคยเห็นเพนียดเมื่อยังดีคงมีมาก จึงจะพรรณนาถึงเพนียดไว้ด้วยตามที่ฉันจำได้

เพนียด อยู่ปลายทุ่งทะเลหญ้าทางข้างใต้ ที่ตั้งเพนียดมีลำน้ำอยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ลำน้ำทางด้านตะวันออกเรียกว่า “คลองเพนียด” เป็นท่าคนขึ้นและเป็นทางช้างโขลงข้ามมาเข้าเพนียด ลำน้ำทางด้านตะวันตกเรียกว่า “ลำน้ำโพธิ์สามต้น” สำหรับช้างโขลงลงอาบน้ำเมื่อระบายออกจากเพนียด ตัวเพนียดนั้นเป็นคอกใหญ่ ๒ ชั้น ชั้นนอกก่ออิฐถือปูนเป็นเชิงเทินสูง......ศอก วงเป็นฐาน ๔ เหลี่ยมยาวด้านละ......วา บนหลังเชิงเทินนั้นถมดินเป็นพื้นและมีพนักทั้งข้างนอกข้างใน หลังเชิงเทินทางด้านตะวันตกกว้างกว่าด้านอื่น มีพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรคล้องช้างอยู่เชิงเทิน ทั้งด้านข้างในและด้านข้างนอกเพนียด พลับพลาด้านข้างในสำหรับทอดพระเนตรจับช้างในเพนียด เป็นพลับพลาหลังเดียวยาวตลอดทั้งด้าน ตรงกลางเป็นที่เสด็จประทับ มุขเหนือสำหรับนางใน มุขใต้สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า ทางด้านข้างนอกมีพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรคล้องช้างกลางแปลงสองหลัง หลังข้างใต้เป็นที่เสด็จประทับ หลังข้างเหนือสำหรับนางใน ตรงกลางระหว่างพลับพลาเป็นทางเสด็จขึ้นเพนียด ทางเสด็จขึ้นบนเชิงเทินเพนียดนั้นทำเป็นทางลาด เหมือนเช่นเชิงสะพานช้างมีกำแพงสองข้าง ทรงช้างขึ้นก็ได้ หรือถ้าทรงพระราชยานและวอพระประเทียบขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา ทางขึ้นเชิงเทินข้างด้านเหนือและด้านใต้มีแต่บันไดทำแนบกำแพงเพนียดสำหรับคนเดินขึ้นลงด้านละ ๒ บันได และมีทางถมดินสำหรับช้างราชพาหนะขึ้นลงทางด้านเหนือได้อีกแห่งหนึ่ง แต่ทางด้านตะวันออก อันเป็นด้านช้างโขลงเข้าเพนียด หามีทางขึ้นเชิงเทินไม่ คอกเพนียดนั้นมีประตูทางช้างโขลงเข้าอยู่ตรงกลางทางด้านตะวันออกประตูหนึ่ง ประตูทางช้างโขลงออกอยู่ตรงมุมเชิงเทินข้างใต้ทางด้านตะวันตกประตูหนึ่ง และมีประตูช่องกุด เจาะทะลุเชิงเทินสำหรับพวกกรมช้างเข้าไปถึงเพนียดชั้นใน อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ด้านละ ๒ หรือ ๓ ช่อง ประตูทางช้างโขลงเข้าออกนั้นเรียกว่า “ซอง” เป็นช่องยาวกว่าตัวช้าง ปักเสาซุงเรียงทั้งสองข้างมีแม่แคร่ยึดปลายเสาข้างบน แต่ซุงเสาประตูคู่ที่ปากซองทั้งสองข้าง แขวนปลายเสาไว้เป็นโตงเตง โคนเสานั้นผูกเชือกไปติดกับกว้าน ขันให้เปิดออกเป็นทางเดินได้ หรือหย่อนเชือกให้โคนเสาเข้ามาติดกัน แล้วหย่อนปลอกถักหวายสวมเสาทั้งสองข้างลงมาจากข้างบนยึดเสาไว้ให้ชิดกัน แปลงประตูให้เป็นคอกพอจุตัวช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ขังไว้ในซองนั้นได้

ข้างในวงเชิงเทิน มีคอกปักเสาไม้ซุงสูงสัก ๖ ศอก รายห่างกันพอคนลอดได้ ล้อมเป็นคอกอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “วงภาค” ห่างเชิงเทินเข้าไปขนาดพอคนเดินไปมาได้ในระหว่างเสาวงภาคกับเชิงเทิน ไม่ต้องกลัวช้างเถื่อน ที่กลางวงภาคมีศาลเทพารักษ์ เครื่องไม้หลังคาเป็นยอดมณฑปหลังหนึ่ง ยกพื้นสูงเสมอปลายเสาคอก รอบศาลนั้นปักเสาล้อมเช่นเดียวกับเสาวงภาค และมีเสาปักเรียงกันตรงออกไปสัก ๔ ศอกเป็น ๔ แฉก คอกเล็กนี้เป็นที่อาศัยของพวกพนักงานวัดปลายเชือกบาศ อยู่กลางช้างโขลง

นอกเพนียดทางด้านตะวันตกทางที่ช้างโขลงเข้าเพนียดปักเสาสองข้าง ตั้งแต่ประตูซองเรียงเป็นปีกกา ขยายกว้างออกไปโดยลำดับจนใกล้ฝั่งลำน้ำคลองเพนียด ปีกกานั้นดูเหมือนเป็นสองตอนๆ ต่อเพนียดมีแนวเสาสกัด อาจจะกั้นเป็นคอกนอกเพนียดได้อีกคอกหนึ่ง สำหรับเวลายังมีช้างโขลงที่ไม่ยอมเข้าเพนียดก็ปิดขังไว้ในคอกนั้น จนกว่าจะไล่เข้าเพนียดได้หมด ทางด้านตะวันตกของเพนียด ตรงประตูซองออกไปมีโรงโถงหลังหนึ่ง ปักเสาตะลุงมีแป้นหมุนได้บนปลายเสาไว้ตรงกลาง เรียกว่า “โรงคู่แขก” สำหรับผูกช้างใหญ่เกินขนาดที่จะพาไปยังโรงหัดได้ในวันแรกจับ ต่อออกไปเป็นสนาม สำหรับคล้องช้างกลางแปลงตลอดทั้งด้าน ถมดินเป็นคันไว้ทางริมสนามด้านนอก บังตามิให้ช้างโขลงเมื่ออยู่ในสนามแลเห็นลำน้ำทางด้านนั้น บนคันนั้นมีศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนเป็นกุฎีอยู่หลังหนึ่ง และยังมีศาลเจ้าอยู่ริมเพนียดทางด้านเหนืออีกศาลหนึ่ง สร้างอุทิศต่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์ เรียกกันว่า “กรมหลวงเฒ่า” พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๓ ด้วยได้ทรงบูรณะเพนียดให้คืนดีขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางข้างใต้เพนียด พ้นทางเดินออกไปมีโรงช้างต่อ และโรงสำหรับหัดช้างที่จับได้อีกหมู่หนึ่ง ลักษณะเพนียดตามที่ฉันจำได้เป็นดังพรรณนามานี้

วิธีคล้องช้างที่เพนียด

การจับช้างที่เพนียดเป็นงาน ๓ วัน วันที่หนึ่งต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด วันที่สองคล้องช้างใหญ่ในเพนียด วันที่สามคล้องช้างย่อมที่กลางแปลง ถึงวันที่สี่ก็ต้อนช้างกลับไปปล่อยป่า เป็นเช่นนี้มาเป็นนิจ พอรู้กำหนดวันจับช้าง คนทั้งหลายทั้งชาวกรุงเทพฯ และชาวหัวเมือง ดูเหมือนว่าถ้าใครพอสามารถจะไปได้ ก็พากันไปดูจับช้าง ผู้คนมากมายเหมือนอย่างว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” เป็นนิจ เพราะสนุกจริงๆ ดูครั้งหนึ่งแล้วก็ยังอยากดูอีกไม่รู้จักเบื่อ ในสมัยเมื่อยังไม่มีรถไฟ พวกผู้ดีชาวกรุงเทพฯ มักไปเรือแหวดเก๋ง ๖ แจว ๘ แจว นอนค้างได้ในเรือนั้น ไปหาที่จอดนอนในคลองเพนียดทั้งสองฟาก พวกที่ไม่มีพาหนะก็ไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัดตามบ้านใกล้ๆ เพนียด แม้ชาวกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ไกลจะเดินไปมาไม่ทันดู ก็มาเที่ยวอาศัยเขาค้างอยู่เช่นนั้น ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเรือไฟขึ้นไปประทับแรมที่วังจันทร์เกษม แล้วใช้เรือพระที่นั่งพายไปมากับเพนียด ถึงรัชกาลที่ ๕ ชั้นแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปอย่างเดียวกัน แต่เมื่อสร้างพระราชวังที่เกาะบางปะอินแล้ว ประทับแรมที่บางปะอิน ทรงเรือไฟเล็กขึ้นไปจนถึงวังจันทร์ แล้วจึงทรงเรือพายต่อไป เพราะคลองเพนียดน้ำตื้น แต่ท่าเพนียดทรงพระราชยาน นางในขึ้นวอไปยังพลับพลาเชิงเทินเพนียดที่พรรณนามาแล้ว กั้นม่านปันเขตข้างในอยู่ทางเหนือ ข้างหน้าอยู่ทางใต้ เจ้านายอยู่บนพลับพลา ขุนนางดูหน้าพลับพลา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ชอบดูจับช้าง ไปเสมอทุกคราวไม่ขาด ท่านนั่งหน้าพลับพลาตรงที่ประทับลงไปเพ็ดทูลได้ตลอดเวลาที่จับช้าง แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลไม่เสด็จขึ้นบนพลับพลา โปรดประทับที่ท้ายพลับพลา ต่อกับประตูซองเวลาคล้องช้างในเพนียด ถึงวันคล้องกลางแปลงเสด็จไปประทับที่บันไดเชิงเทิน ริมโรงคู่แขก อย่างนี้เป็นนิจ คงเป็นเพราะทรงบัญชาการได้สะดวก ฉันเคยได้ยินพวกทหารมหาดเล็กเขามาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเมื่อท่านเสด็จประทับอยู่ที่บันไดนั้น ทหารมหาดเล็กตั้งแถวยืนพักอยู่ข้างหลัง ทหารคนหนึ่งยืนอยู่แถวหลัง ทหารคนแถวหน้าบังไม่แลเห็นกรมสมเด็จฯ แลข้ามไปเห็นขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) ขี่คอช้างต่อเข้ามาเฝ้า ออกปากพูดกับเพื่อนทหารว่า “แหม อ้ายตาหมอช้างคนนั้น หัวช่างล้านนี่กระไร” กรมสมเด็จฯ ทรงได้ยิน หันมาตรัสว่า “เออ กรมช้างละหัวล้านทั้งนั้นแหละ” ทหารคนที่พูดตกใจจนแทบสลบ เพื่อนทหารที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กันก็เต็มกลั้นหัวเราะ ด้วยเกรงพระบารมี เรื่องที่เล่านี้เห็นจะจริง ด้วยกรมสมเด็จฯ ไม่ทรงละอายในส่วนพระองค์ และโปรดตรัสล้อคนหัวล้าน ได้เคยเห็นกันอยู่เนืองๆ บนเชิงเทินต่อพลับพลาเลี้ยวไปทางด้านใต้ เป็นที่ข้าราชการและชาวต่างประเทศดู ทางด้านเหนือเป็นที่พวกสตรีมีบรรดาศักดิ์ดู กรมช้างปลูกปะรำตั้งเก้าอี้หรือยกพื้นให้นั่งทั้งสองด้าน ที่ว่างต่อปะรำออกไปแล้วแต่กรมช้างจะยอมให้ผู้ใดขึ้นไปยืนดู แต่อยู่ในชั้นผู้ดีทั้งนั้น พวกชั้นราษฎรได้ดูแต่เวลาช้างเข้าเพนียด กับเมื่อจับกลางแปลง วันจับในเพนียดได้เห็นแต่ระบายช้างโขลง และโยงช้างเถื่อนที่จับได้ออกมานอกเพนียด พวกที่เป็นคนคะนอง เข้าเล่นผัดช้างเถื่อนได้บ้าง

ถึงวันที่ ๑ พอบ่ายพวกกรมช้างต้อนโขลงมาพักไว้ห่างเพนียดระยะทางเดินราวสักครึ่งชั่วนาฬิกา แต่แลไปไม่เห็นได้จากเพนียด พอได้สัญญาณว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ก็ต้อนโขลงเดินมายังเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาบ่ายราว ๑๖ นาฬิกา เสด็จไปประทับที่บนเชิงเทินด้านตะวันออกตรงทางที่ช้างจะเข้าเพนียด ผู้ที่ตามเสด็จก็พากันไปดูทางด้านนั้น แต่กรมช้างเขาขอว่าอย่าให้ใครเข้าไปดูถึงใกล้ประตูซอง และอย่าให้พูดจากันอึกทึก เพราะเกรงช้างเถื่อนจะตื่น เลยไม่เข้าเพนียด แต่ข้างนอกเพนียดนั้นเขาไล่คนหมด ไม่ให้ใครเข้าไปดูใกล้เสาปีกกา หรือใกล้ทางที่โขลงช้างจะเดินมาเลยทีเดียว ถึงกระนั้นแลดูไปจากเพนียดก็เห็นคนเต็มไปตามทุ่งท่า ตลอดจนบนต้นไม้นอกเขตที่ห้ามแทบทุกแห่ง เสด็จไปถึงแล้วไม่ช้าก็แลเห็นโขลงช้างเดินมาในท้องทุ่ง ทางฟากคลองข้างโน้นแต่ไกลๆ ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนก็ต้องตื่นตา เมื่อแลเห็นช้างเถื่อนทั้งใหญ่น้อยทุกขนาดมากมายหลายร้อย เดินมาด้วยกันเป็นโขลงใหญ่ มีช้างต่อนำมาข้างหน้าตัวหนึ่ง และมีช้างต่อซึ่งเรียกว่า “ช้างค่าย” ล้วนเป็นช้างงาแซงมาทั้งสองข้างตั้ง ๕๐ ตัว ข้างท้ายโขลงมีช้างงาขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า “ช้างค้ำ” สัก ๑๐ ตัว เดินเรียงกันเป็นหน้ากระดานต้อนมาข้างหลัง ดูเป็นขบวนช้างอย่างแปลกตา ไม่มีที่ไหนเหมือนก็ต้องพิศวงทุกคน เมื่อช้างโขลงลงข้ามลำน้ำคลองเพนียด เขารอให้ช้างกินน้ำจนอิ่มหนำแล้วจึงต้อนมาขึ้นที่ปากปีกกา นำโขลงเข้ามายังเพนียด ตอนนี้พวกช้างค่ายหยุดอยู่ข้างนอกปีกกา มีแต่ช้างต่อตัวที่นำมาข้างหน้า กับพวกช้างค้ำต้อนมาข้างหลัง ช้างสีดอตัวนำโขลงนั้นเป็นช้างฉลาดถึงเลื่องลือ เดิมคงมีชื่ออื่นแต่เรียกกันว่า “สีดอขโมย” เพราะครั้งหนึ่งไปปกโขลง มันไปลอบลักหม้อข้าวของคนอื่นหิ้วมาให้คนเลี้ยงมันกิน จึงขึ้นชื่อว่าสีดอขโมย ตัวไม่ใหญ่โตเท่าใดนักแต่ใช้เป็นนำโขลงเป็นนิจ เพราะช้างนำโขลงต้องเดินนำใกล้ๆ ให้ช้างโขลงตาม ถ้าเผลออาจจะถูกแม่แปรกวิ่งเข้าชนเอาข้างหลัง สังเกตดูกิริยาช้างสีดอขโมยมันรู้สึกที่เสี่ยงภัย เวลาเดินมันระวังตัวเหลียวหน้าชำเลืองดูช้างโขลงทุกฝีก้าว ควาญขี่ท้ายก็ต้องระวังตัวอยู่เสมอเหมือนกัน ด้วยกลัวจะถูกแม่แปรกเอางวงกวาดลงจากหลังช้าง ฉันได้เคยเห็นครั้งหนึ่ง พอแม่แปรกวิ่งออกจากโขลงจะมาชน ช้างสีดอขโมยมันกลับตัวหันหน้าสู้ทันที ก็ไม่ทำอะไรได้ เห็นจะเคยถูกปองร้ายเช่นนั้นมาหลายครั้ง หมอที่ขี่คอช้างนำโขลงก็ต้องเป็นคนสำคัญ คนที่ขี่ช้างสีดอขโมยชื่อ “หมอค้อง” ดูเหมือนจะเป็นหมอเฒ่า เห็นขี่ช้างนำโขลงเป็นนิจ มือถือหอกข้างหนึ่ง ถือกิ่งไม้ชูมาข้างหนึ่ง ดูเหมือนสำรวมใจร่ายมนตร์บริกรรม ให้ช้างโขลงแลเห็นกิ่งไม้ที่แกถือเป็นป่าดงตามมาไม่เกรงภัย แต่สติแกดี พอเห็นทีจะมีภัยแก่ช้างนำแกแก้ทันทุกที พอช้างโขลงถึงประตูซองสังเกตดูก็รู้ได้ว่า ช้างเถื่อนพวกไหนเป็นช้างเชื่อง เพราะแม่แปรกพาช้างโขลงของตนเดินตามช้างนำเข้าประตูไปง่ายๆ เหมือนกับไม่เห็นเป็นที่แปลกประหลาดอันใด แต่พวกโขลงเถื่อนพอแลเห็นก็ชะงัก มักไม่ใคร่เข้าประตู แต่เมื่อช้างโขลงเข้าถึงคอกปีกกาชั้นในแล้ว กรมช้างเขาให้คนช่วยต้อนโขลง เสียงร้อง “จั๋วะๆ” แซ่ไป จะเป็นคำภาษาไหน หมายความว่ากระไรก็ไม่รู้ เคยเห็นแต่ใช้ในการต้อนช้างโขลงอย่างเดียว ต้อนอยู่สัก ๒ ชั่วนาฬิกา ช้างจึงเข้าเพนียดหมด ได้ยินว่าบางครั้ง ถ้ามีช้างโขลงเถื่อนมากก็ต้องต้อนอยู่จนกลางคืน แต่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับเวลาพอใกล้พลบค่ำ

วันที่ ๒ ซึ่งเป็นวันจับช้างใหญ่ในเพนียดนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกา ประทับที่พลับพลาข้างด้านใน มีโต๊ะใส่กล้วยอ้อยตั้งไว้ที่ในพลับพลา สำหรับทรงทิ้งพระราชทานช้างเถื่อน เป็นของชอบของพวกลูกช้างเล็กๆ แต่ช้างใหญ่ไม่ใคร่กล้าเข้ามาใกล้พลับพลา สักครู่หนึ่งก็เปิดประตูซองทางด้านตะวันตก ให้ช้างต่อเข้าไปในเพนียดสัก ๔ ตัว ช้างต่อและหมอควาญที่เข้าไปคล้องช้างใหญ่ในเพนียด เลือกล้วนแต่ที่ชำนิชำนาญ เพราะคล้องช้างในเพนียดเป็นที่จำกัด และช้างที่จะคล้องล้วนเป็นช้างใหญ่ ต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าคล้องนอกเพนียด ช้างต่อที่เข้าไปในเพนียดนั้นเป็น ๒ อย่างต่างกัน เรียกว่า “ช้างค้ำ” สำหรับสู้ช้างเถื่อนป้องกันช้างต่อที่เข้าคล้องอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ช้างเชือก” สำหรับคล้องช้างเถื่อนอย่างหนึ่ง ช้างค้ำเข้าไปก่อนแล้วช้างเชือกตามติดเข้าไป และเข้าไปถึงคนขี่ช้างค้ำพิจารณาว่าช้างพลายที่อาจจะสู้ช้างต่ออยู่ตรงไหนบ้าง ช่วยกันไล่ช้างชนิดนั้นให้เข้าคละอยู่เสียกับช้างอื่นที่ในโขลง สังเกตดูช้างพลายเถื่อน เมื่อแรกเห็นช้างต่อตัวที่เข้าไปก่อน กิริยาก็ทำทีจะสู้ แต่เมื่อเห็นเป็นช้างงาหลายตัวด้วยกันก็ขยั้นไม่กล้าออกมาห่างโขลง พวกหมอช้างเขารู้ว่าถ้าช้างงาอยู่ในโขลงไม่สามารถจะชนได้ เพราะกีดช้างอื่นมะรุมมะตุ้มอยู่รอบตัว พอเห็นช้างงาหลบเข้าโขลง เขาก็ขับช้างค้ำเข้าต้อนโขลง ให้เดินวนเวียนเบียดเสียดกันไปในวงภาค จนช้างตัวที่ต้องการเดินล้าลงมาอยู่ข้างท้ายโขลง หรือออกมาอยู่ข้างริมโขลง ช้างเชือกก็เข้าคล้องตีนหลังด้วยเชือกบาศ ๒ เส้นบ้าง ๔ เส้นบ้าง ตามขนาดช้างเถื่อน คล้องติดแล้วพวกกรมช้างที่แอบเสาคอกอยู่กับแผ่นดิน ก็ช่วยกันวัดปลายเชือกบาศผูกไว้กับโคนเสาวงภาค หรือเสาคอกที่กลางเพนียด สุดแต่ให้ช้างเถื่อนติดอยู่ใกล้ๆ เสา ไม่สามารถจะแล่นไปทำร้ายช้างต่อได้ เมื่อคล้องช้างที่ต้องการได้หมดแล้ว ก็เปิดประตูซองทางช้างออกข้างด้านตะวันตก ให้ช้างนำเข้าไปนำช้างโขลงออกจากเพนียดแล้วพวกช้างค่ายก็รายล้อมต้อนช้างโขลงไปลงน้ำในลำน้ำโพธิ์สามต้น ให้ช้างโขลงได้กินน้ำแช่น้ำตามสบาย การต้อนโขลงช้างออกจากเพนียดดูน่าจะยาก ด้วยช้างต้องออกประตูซองเรียงตัวเหมือนเมื่อเข้าเพนียด แต่ที่จริงกลับง่ายไม่ต้องขับไล่ลำบากอย่างไร เพราะพวกช้างโขลงเชื่อง เคยเดินทางนั้นมาแต่ก่อน มันจำได้จนเห็นขัน แต่พอในเพนียดหยุดต้อนโขลง มันก็พากันไปยืนจ้องอยู่ที่หลังประตู ช้างนำออกมันก็ตามไปทันที ช้างโขลงอื่นกำลังระอาที่ถูกต้อนในเพนียด ก็ตามกันออกไปโดยสะดวก ไม่ช้าเท่าใดช้างโขลงก็ออกจากเพนียดไปหมด ยังเหลือแต่ช้างที่ติดเชือกบาศ ช้างต่อก็ออกจากเพนียดไปผูกทามที่คอ สำหรับจะจูงช้างเถื่อนไปยังโรงฝึกหัด ตอนนี้การจับอยู่ข้างลำบาก ด้วยช้างเถื่อนพอถูกคล้องก็คลั่ง มีกิริยาอาละวาดไปต่างๆ พอเห็นช้างต่อกลับเข้าไปก็ตั้งท่าจะสู้ เหมือนอย่างว่า “ด้วยจนตรอก” แต่ไม่สามารถจะชนได้ ด้วยตีนหลังติดเชือกบาศ พอช้างต่อเข้าไปเคียงสองข้างจะโยนทามผูกคอ ก็ได้แต่เอางาแว้งขวิดฟาดเอาช้างต่อโดยความโกรธ ตอนนี้น่าชมช้างต่อ ดูเหมือนไม่รู้จักโกรธเสียเลย ถึงช้างเถื่อนจะทำอย่างไรก็เฉย หรือเป็นแต่ปัดป้อง ถ้าไม่หยุดก็เอางารับพอให้รู้สึกเจ็บ เมื่อโยนทามผูกคอช้างเถื่อนได้แล้ว เอาสายเชือกล่ามมาผูกผนึกไว้กับทามช้างต่อข้างหนึ่ง พวกกรมช้างที่อยู่กับแผ่นดินก็แก้ปลายเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสา เอามาควบกันเป็นเส้นเดียว เอาตอกรัดเป็นปล้องๆ ช้างต่อสองตัวที่เคียงข้างก็พาช้างเถื่อนออกเดินมา มีช้างต่ออีกตัวหนึ่งตามหลัง ถ้าช้างเถื่อนไม่เดิน หรือบางทีลงนั่งเสีย ก็เอางารุนและงัดให้ต้องลุกขึ้นเดินมา พวกพนักงานเชือกบาศก็ถือเส้นเชือกบาศตามมา ครั้นถึงประตูซองซึ่งจะออกได้แต่เรียงตัว เอาปลายเชือกบาศผูกกับเสาวงภาค กะระยะให้เชือกบาศที่ติดตีนช้างเถื่อน ยาวพอประมาณให้ออกไปได้เพียงนอกประตู หมอช้างต่อแก้เชือกที่ล่าม แล้วรุนช้างเถื่อนให้ออกประตูไปแต่ตัวก่อน แล้วจึงตามออกไปเคียงข้างผูกเชือกล่าม พาช้างเถื่อนไปยังโรงหัด ทำเหมือนอย่างว่ามานี้ทีละตัวจนหมด แต่ถ้าช้างเถื่อนเป็นช้างใหญ่มากถึงไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะเอาช้างต่อเข้าเคียงข้างในเพนียดไม่ได้ ก็ใช้วิธีอื่นอีกอย่างหนึ่ง ให้คนเข้าไปล่อให้ช้างเถื่อนไล่เข้าประตูซอง พอช้างเข้าประตูมิดตัว ก็ปล่อยเสาโตงเตงปิดซองทั้งข้างหน้าข้างหลังเข้ามาชิดกัน แล้วลั่นกลอนผูกไว้ให้ช้างติดอยู่ในซองพอครือตัว ทำอะไรใครไม่ได้ แล้วให้คนเข้าผูกทามและผูกเชือกสำหรับล่ามเสร็จ ถ้าช้างเถื่อนงายาว ทำปลอกเป็นปล้องๆ ร้อยเชือกถึงกันตลอด สวมงาด้วยอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยปลายเชือกให้ช้างต่อดึงข้างหน้า กะเชือกบาศที่ติดตีนให้ยาวพอช้างออกประตูไปได้เพียงเสาตะลุงในโรงคู่แขกที่อยู่ข้างเพนียด แล้วเปิดประตูซองข้างหน้าให้ช้างเถื่อนออกไป เมื่อไปยืนอยู่ข้างเสาตะลุง ช้างต่อสองตัวจึงเข้าเทียบ เอาเชือกโยงทามผูกกับแป้นที่ปลายเสาให้ช้างเดินวนเวียนได้ แต่จะลงนอนไม่ได้ เอาไว้เช่นนั้นจนหย่อนกำลังลง เห็นว่าไม่กล้าสู้ช้างต่อแล้ว จึงปลดเอาไปเลี้ยงยังโรงฝึกหัด

ช้างที่จับในเพนียดนั้นเพียงครั้งละสี่ห้าตัว ถึงกระนั้นก็เปลืองเวลาช้ามาก เพราะต้องโยนทามและเอาออกไปจากเพนียดทีละตัว จนเวลาเย็นจึงเอาช้างออกหมด พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ในเวลาเมื่อกำลังโยนทามผูกเชือกที่ในเพนียดนั้น ให้ช้างโขลงลงน้ำพอให้สบายแล้วก็ต้อนไปให้กินหญ้าที่ในทุ่งทะเลหญ้าอยู่จนเวลาเย็น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับแล้ว จึงต้อนช้างโขลงกลับเข้าเพนียดอีกครั้งหนึ่ง ตอนช้างเข้าเพนียดวันที่ ๒ มักมีช้างแตกโขลงหนีไปได้บ้าง บางทีมีลูกช้างซึ่งเพิ่งหย่านมพลัดแม่ไปได้หน่อยหนึ่ง มันรู้ว่าแม่ยังอยู่ในเพนียดก็หวนกลับมา มาถึงคลองเพนียดเวลาค่ำ เมื่อพวกผู้ดีที่ไปดูจับช้างถอยเรือขึ้นไปจอดนอนเรียงกันอยู่ริมตลิ่งทั้งสองฟาก พอคนในเรือลำหนึ่งเห็นช้างเถื่อนลงข้ามน้ำใกล้ๆ เรือ ก็ตกใจร้องขึ้นว่า “ช้างมา” คนในเรือลำอื่นไม่เห็นตัวช้างว่าอยู่ที่ไหน สำคัญว่าช้างเถื่อนตัวใหญ่ก็ตกใจร้องว่า “ช้าง” ขึ้นตามกัน ต่างจุดไต้ไฟโห่ร้องไล่ช้างเพรียกไปตลอดคุ้งทั้ง ๒ ฟาก จนช้างตื่นหนีหายไปเป็นนานแล้วจึงสงบ ก็เลยเป็นสนุกกันไปอย่างหนึ่ง

วันที่ ๓ เป็นวันสนุกของพวกคนดู เพราะจับช้างกลางแปลงคนดูได้ทั่วหน้า ไม่จำกัดเหมือนกับคล้องในเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกาเหมือนวันก่อน แต่วันนี้เสด็จพลับพลาทางด้านตะวันตกริมสนามที่คล้องช้าง พอเสด็จขึ้นพลับพลาแล้ว ช้างต่อพวกช้างค้ำและช้างเชือก ก็มายืนรวมอยู่ที่ทางข้างท้ายพลับพลา พวก “ช้างค่าย” ก็มายืนรายกันรอบสนามหน้าเพนียดทั้ง ๓ ด้าน และห้ามคนมิให้เข้าไปในวงช้างค่าย ถึงกระนั้นแลไปจากบนเชิงเทินเพนียด เห็นคนล้นหลามยืนมุงเข้ามาจนติดหลังช้างค่าย แม้บนต้นไม้ก็มีคนขึ้นนั่งเกาะอยู่ตามค่าคบแทบทุกต้น พอตั้งกระบวนช้างต่อแล้ว ก็เปิดประตูซอง ให้พลายสีดอขโมยเข้าไปนำช้างโขลงออกมายังสนาม วิธีคล้องช้างกลางแปลง ก็อย่างเดียวกันกับที่คล้องในเพนียด แต่ง่ายขึ้นด้วยคล้องช้างพลายขนาดย่อมสูงเพียง ๔ ศอกลงมากับช้างพัง ไม่ใคร่มีช้างต่อสู้ช้างต่อ แต่คล้องช้างมากกว่าในเพนียด จึงใช้ช้างเชือกเพิ่มขึ้นหลายตัว เป็นเหตุให้ได้เห็นฝีมือคนคล้องช้างว่ายิ่งหย่อนผิดกันอย่างไรในวันที่คล้องกลางแปลงนี้ ฉันได้เคยเห็นฝีมือคนคล้องช้างแม่นจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ๒ คน คือหลวงคชศักดิ์ ซึ่งภายหลังได้เลื่อนเป็นที่พระศรีภวังค์ (เป็นลูกพระยาเพทราชา ที่อยู่เพนียด) คนหนึ่ง อายุกว่า ๕๐ ปี รูปร่างผอมกริงกิวหลังก็คด ดูไม่น่าจะขี่ช้างไหว แต่คล้องรวดเร็วฝีมือแม่นไม่เคยเห็นพลาดเลยสักที เขาว่าแกมีควาญร่วมใจคนหนึ่ง ถ้าไม่ได้ควาญคนนั้นก็ไม่คล้อง คนคล้องแม่นอีกคนหนึ่งเป็นที่ขุนพิชัยกุญชร ชื่อแจ้ง อยู่มาจนได้คล้องช้างคราวรับซาร์วิช (ซึ่งต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ เอมเปอเรอรัสเซีย) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ซาร์วิชโปรดฝีมือถึงประทานแหวนเพชรวงหนึ่งเป็นบำเหน็จ ฝีมือคล้องช้างดีและเลว ผิดกันอย่างไรเห็นได้ในวันคล้องกลางแปลง คนที่มีฝีมือไม่สู้ดีบางทีก็คล้องติด แต่บางทีวางบ่วงบาศรับตีนช้างไม่ตรง ช้างเหยียบเชือกบาศหลุดจากคันจาม ต้องลากแต่เชือกบาศเปล่ากลับออกมา อย่างนี้อยู่ข้างจะขายหน้า บางคนคล้องบ่วงบาศสวมตีนช้างได้แล้ว แต่ไม่กระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดตีนช้างให้แน่นเชือกบาศหลุดจากตีนช้างก็มี บางคนต้องตามช้างเถื่อนอยู่นานกว่าจะคล้องได้ ที่คนคล้องแม่นหาพลาดพลั้งอย่างนั้นไม่ นอกจากดูฝีมือคนคล้องช้าง ยังมีสนุกอย่างอื่นอีก ด้วยคล้องกลางแปลงไม่มีเสาวงภาค มีแต่ช้างค่ายยืนรายล้อมโขลงอยู่ห่างๆ กัน พอเปิดระบายโขลงออกมาจากเพนียด ก็มักมีช้างเถื่อนแตกโขลงออกไปทางคนดูสักสี่ห้าตัว พวกคนดูวิ่งกระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ บางทีหวิดๆ น่ากลัวจะล้มตาย แต่ก็ไม่ยักมีใครเป็นอันตราย พอช้างต่อออกไปต้อนเอาช้างเถื่อนกลับมาเข้าโขลงแล้วคนก็กลับมาดูอย่างเดิม กลับเห็นกันเป็นสนุก ที่เป็นพวกคนคะนองถึงเข้าล่อช้างเถื่อนจะให้ไล่แตกโขลงไปอีก หมอควาญช้างค่ายต้องคอยห้ามอยู่เสมอๆ วันคล้องกลางแปลงคล้องเป็น ๒ พัก ตอนเช้าคล้องได้สักครึ่งจำนวนช้างที่ต้องการแล้ว ระบายช้างโขลงไปลงน้ำเสียทีหนึ่ง เพื่อจะโยนทามผูกช้างที่คล้องได้พาเอาไปโรงหัด ตอนนี้ก็มีสนุกหลายอย่าง ด้วยทางที่ต้อนไปลงน้ำนั้น ให้ช้างโขลงเดินเลียบชายเนินขอบสนามทางด้านตะวันตก ไปจนพ้นชายเนินแล้วจึงให้เลี้ยงลงลำน้ำโพธิ์สามต้น บนเนินขอบสนามจึงเป็นที่คนดูชอบไปอยู่ เพราะดูคล้องช้างได้ใกล้ๆ ที่ยืนดูอยู่กับแผ่นดินก็มาก ที่ปีนขึ้นไปนั่งดูอยู่บนต้นไม้ก็มี ถึงวันที่ ๒ ช้างโขลงบางเหล่ามันรู้ว่าเดินอ้อมเนินไปลงน้ำไกลเปล่าๆ มันพากันขึ้นบนเนินหมายจะลัดทางไปลงน้ำ พวกคนดูอยู่กับแผ่นดินต้องวิ่งหนีตกน้ำตกท่าเอาชีวิตรอด พวกที่อยู่บนต้นไม้ใครลงทันก็วิ่งหนีตามเขาไป ที่ลงไม่ทันก็เกาะนิ่งไม่ติงตัวอยู่บนต้นไม้ ภาวนาขออย่าให้ช้างเห็นเพราะอยู่ห่างหลังช้างเถื่อนเพียงสัก ๒ ศอกเท่านั้น ถ้ามันเห็นก็อาจจะเอางวงคว้าลงมาได้ง่ายๆ เล่นเอาคนอื่นที่แลเห็นเป็นห่วงใจหายใจคว่ำไปด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครเป็นอันตราย ยังน่าดูอีกอย่างหนึ่ง ด้วยช้างเถื่อนที่คล้องกลางแปลงเป็นช้างขนาดย่อม มักมีแม่และพี่น้องมาด้วย เวลาต้อนโขลงไป ช้างลูกติดเชือกบาศดิ้นรนร้องเรียกแม่ๆ มักวิ่งฝ่าช้างต่อกลับมาหา บางทีก็มีช้างพี่น้องมาด้วยมาช่วยกันแก้ช้างลูก ช้างต่อไล่ก็ไม่ทิ้งไปง่ายๆ บางทีไปแล้วกลับหวนมาหาลูกอีกเล่า ดูน่าสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี ถึงตอนบ่ายต้อนโขลงช้างกลับมาสนามคล้องอีกครั้งหนึ่ง แล้วต้อนโขลงลงน้ำ เลยพาไปกินหญ้าที่ทะเลหญ้าเหมือนวันก่อน แต่วันนี้ล้อมโขลงไว้ที่ทะเลหญ้าตลอดคืน ไม่ต้อนกลับมาเข้าเพนียดอีก พอโยนทามจับช้างที่คล้องตอนบ่าย เอาไปโรงหมดแล้ว ถึงเวลาเย็นพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ผู้อื่นที่ขึ้นไปดูจับช้างก็พากันกลับบ้านในวันนี้

ถึงวันที่ ๔ พอรุ่งเช้ากรมช้างก็ต้อนโขลงกลับไปปล่อยป่า เขาว่าต้อนโขลงกลับนั้นง่าย เพราะช้างเถื่อนรู้ทิศทางที่จะไปป่าและรนอยากกลับอยู่ด้วยกันทุกตัว ช้างต่อเป็นแต่คอยระวังอย่าให้ช้างโขลงไปเที่ยวเข้าบ้านผู้คน พอพ้นถิ่นบ้านช่องแล้วช้างต่อก็กลับ ปล่อยให้ช้างโขลงเถื่อนแยกย้ายกันไปตามใจ เป็นเสร็จการจับช้างที่เพนียดเท่านั้น

ฉันเคยดูจับช้างที่เพนียดมาแต่ยังเป็นเด็ก นับครั้งไม่ถ้วน ได้เคยเห็นการจับช้างที่เป็นอย่างแปลกประหลาด ๔ ครั้งจะเล่าไว้ด้วย

ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสวยราชย์ได้ ๘ ปี ตัวฉันอายุได้ ๑๕ ปี ยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นปีถึงกำหนดที่จะจับช้าง หลวงคชศักดิ์ออกไปปกโขลง ทราบจากพวกกรมโขลงว่า มีช้างเผือกพลายเป็นลูกช้างโขลงในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง หลวงคชศักดิ์ตามไปตรวจพบที่ทุ่งไม้รังนก เห็นจริงดังว่าได้บอกเข้ามากราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ต้อนเข้ามาคล้องหน้าพระที่นั่งที่เพนียด ใครๆ ได้ยินข่าวว่าจะคล้องช้างเผือกที่เพนียดก็อยากเห็น มีคนขึ้นไปดูกันมาก พากันตั้งตาคอยดูช้างเผือกตั้งแต่ต้อนโขลงเข้ามาเพนียดก็ไม่เห็น เพราะวิสัยช้างโขลงพอขึ้นจากน้ำก็เอาฝุ่นพ่นตัวทั่วตัว แลเห็นเป็นสีเดียวกันไปหมด ทั้งช้างเผือกตัวนั้นก็ยังเล็กสูงเพียงสัก ๓ ศอกเศษ เดินแซงช้างใหญ่อยู่ในโขลงกับลูกช้างขนาดเดียวกันอีกหลายตัว ก็มีแต่เสียงถามกันแพร่ว่า “ตัวไหนช้างเผือก” ก็ไม่มีใครชี้ให้ดูได้ พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้งดจับช้างในเพนียด ด้วยเกรงช้างเผือกจะถูกเบียดบอบช้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็ระบายโขลงออกกลางแปลง เพื่อจะคล้องแต่ช้างเผือกตัวเดียวในตอนเช้า เมื่อโขลงอยู่กลางแปลง คนดูก็ไม่มีใครสังเกตได้ ว่าตัวไหนเป็นช้างเผือก แต่พวกกรมช้างเขาสังเกตรูปร่างแต่เมื่อต้อนโขลงมา เขาจำได้ ถึงกระนั้นเมื่อก่อนหลวงคชศักดิ์จะเข้าคล้อง แกก็ยังเรียกพวกกรมช้างให้ช่วยพิจารณาอีก ๒ คน จนแน่ใจหลวงคชศักดิ์จึงเข้าคล้อง ก็คล้องได้ในเวลาไม่ถึง ๕ นาที แล้วต้อนโขลงไปลงน้ำ เหลือแต่ช้างเผือกติดเชือกบาศอยู่ตัวเดียว ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นช้างเผือก จนเอาช้างต่อเข้าเทียบโยนทามล่ามกับช้างต่อแล้ว เขาเอาน้ำรดจากหลังช้างต่อ ล้างฝุ่นหมด จึงแลเห็นสีผ่องเป็นช้างเผือก ดูเหมือนบรรดาผู้ที่ไปดู พอแลเห็นเป็นช้างเผือกก็ปลื้มใจกันหมด เมื่อพาช้างเผือกไปเข้าโรงหัดซึ่งปลูกขึ้นใหม่โดยเฉพาะแล้ว ก็ต้อนโขลงกลับมาคล้องช้างสามัญในตอนบ่าย คราวนั้นจับแต่กลางแปลง ๒ วัน แล้วก็ตอนโขลงไปปล่อยป่า โปรดให้ปลูกโรงสมโภชช้างเผือกซึ่งคล้องได้ใหม่ที่เพนียดนั้น พร้อมกันกับช้างเผือกพลายอีกตัวหนึ่งซึ่งได้มาจากเมืองยโสธร พระราชทานนามตัวคล้องได้ที่เพนียดว่า “พระเศวตวรสรรพางค์” ตัวที่มาจากเมืองยโสธรพระราชทานนามว่า “พระเศวตวิสุทธิเทพามหาพิคเณศร” เพราะเป็นช้างงาเดียว แล้วเอาลงแพมากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ ตัว การคล้องได้ช้างเผือกหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือคล้องช้างเผือกได้ที่เพนียดก็ดี ไม่เคยมีในพงศาวดารมาแต่ก่อนทั้งสองอย่าง จึงเป็นการจับช้างอย่างแปลกประหลาด

ครั้งที่ ๒ ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ มีการจับช้างให้แขกเมืองดู เมื่อเจ้าเยอรมัน ดุ๊กโยฮันอันเบรต เมืองเมกเลนเบิกชวรินมาเฝ้า ครั้งนั้นจะเป็นใครในกรมช้างไปปกโขลงไม่ปรากฏ แต่ชะรอยจะไปเห็นช้างพลายได้ขนาดที่จะจับ มีอยู่ในเหล่าโขลงช้างเชื่องมากพอแก่การแล้ว ก็ต้อนแต่ช้างโขลงเชื่องเข้ามา ไม่มีช้างโขลงเถื่อนปน ตั้งแต่วันต้อนโขลงเข้าเพนียด ใครเคยดูจับช้างมาแต่ก่อนแล้วก็เห็นแปลกตา ด้วยช้างโขลงเรียบร้อยราวกับได้ฝึกหัด เดินเป็นหมู่มุ่งหน้าตรงมาเข้าเพนียด ไม่มีตัวใดดื้อดึงหรืออาละวาดอย่างใด ถึงเพนียดก็เดินตามกันเข้าประตูซองโดยดี ไม่ต้องขับต้อนลำบากเหมือนคราวก่อนๆ เพราะช้างโขลงเชื่องรู้ทางเข้าออกด้วยเคยมาทุกคราว สักครู่เดียวช้างเถื่อนก็เข้าเพนียดหมดทั้งโขลง ถึงวันจับช้าง ทั้งจับในเพนียดและจับกลางแปลง ช้างต่อจะทำอย่างไรก็ทำได้ ด้วยช้างโขลงไม่ต่อสู้หรืออาละวาดอย่างใด แขกเมืองไม่เคยเห็นจับช้าง ได้เห็นแต่เพียงนั้นก็ชอบ แต่คนที่เคยดูจับช้าง บ่นกันทั่วหน้าว่าจับช้างครั้งนั้นไม่สนุกน่าดูเลย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงกับโกรธกรมช้าง กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าถ้าปล่อยให้กรมช้างทำเล่นได้ตามชอบใจอย่างนี้เสียพระเกียรติยศ เมื่อแขกเมืองไปแล้วขอเชิญเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอินสัก ๑๕ วัน ให้พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นพระยาราชวังเมือง ออกไปปกโขลงเอง เอาช้างโขลงอื่นเข้ามาจับอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเอาแต่ช้างเชื่องเข้ามาเหมือนครั้งนี้ ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกรมสมเด็จฯ ๆ เกรงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็รับจะให้พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงเข้ามาใหม่ใน ๑๕ วัน

ครั้งที่ ๓ เป็นเรื่องเนื่องมาจากครั้งที่ ๒ พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงด้วยหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญา ก็เลือกต้อนแต่เหล่าโขลงเถื่อนเข้ามา และเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาด้วยอีก ๒ ตัว มีช้างโขลงเชื่องมาเพียงพอนำทางช้างโขลงเถื่อนบ้างเล็กน้อย จับช้างครั้งนี้เรียกไว้ว่า “สนุกสะใจ” ตั้งแต่วันช้างโขลงมาถึงเพนียด แลดูไปจากเชิงเทินเมื่อโขลงช้างเดินมาแต่ไกล เห็นสันหลังช้างสีดอใหญ่สูงเทิ่งพ้นหลังช้างอื่น ขนาดช้างสีดอตัวใหญ่เห็นจะสูงกว่า ๖ ศอก ช้างสีดอที่รองลงมาอีกตัวหนึ่งสูงสัก ๕ ศอกเศษ สูงกว่าช้างต่อหมดทั้ง ๒ ตัว เวลาเดินมากับโขลง พอมันเดินชายออกไปนอกโขลงทางไหน ช้างต่อที่เป็นช้างค่ายทางนั้นก็ต้องถอยหนีให้ห่างออกไป ไม่กล้าขับไล่ให้มันกลับเข้าโขลงเหมือนช้างอื่น พวกช้างพังแม่แปรกที่นำโขลงมาครั้งนี้ก็มักดุร้าย ถ้าเป็นทีเมื่อไร ก็จะชนท้ายช้างนำและช้างต่อ แม้ช้างในโขลงเวลาเดินมา มันก็เพียรจะแตกโขลงอยู่เสมอ ต้อนมาลำบากกว่าคราวก่อนๆ มาถึงเพนียดจะต้อนเข้าปากช่อง “ปีกกา” ก็แสนยาก ต้อนทางนี้มันแตกไปเสียทางโน้น บางเหล่าก็ย้อนลงน้ำจะกลับไป พวกคนดูต้องแตกตื่นวิ่งหนีกันไม่หยุด ช้างค้ำต้องเที่ยวไล่ต้อนนับครั้งไม่ถ้วนจึงเอาโขลงเข้าปีกกาได้ ถึงกระนั้นก็ต้อนเข้าเพนียดไม่ได้หมดจนกลางคืน พระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จกลับก่อน ถึงวันคล้องในเพนียดคราวนี้ พวกคนดูกลับหวาดหวั่นกัน ว่าช้างสีดอตัวใหญ่จะชนช้างต่อเมื่อเข้าไปในเพนียด แต่หมอควาญช้างต่อเขาก็ระวังตัวมาก แต่ไม่เป็นดังคาด เพราะช้างสีดอเห็นช้างต่อเป็นช้างงาหลายตัว คอยช่วยกัน ก็ไม่กล้าออกมาชน คอยแต่หลบบังตัวอยู่ในกลางโขลง กรมช้างเขาคงเคยรู้นิสัยช้างเถื่อนว่าตัวเดียวไม่สู้ช้างหลายตัว จึงกล้าเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาอย่างนั้น วันคล้องกลางแปลงก็สนุก ด้วยช้างโขลงอาละวาดแตกโขลงร่ำไป พวกคนดูต้องวิ่งหนีมิใคร่หยุดอยู่ได้นาน และมีเหตุอย่างแปลกเกิดขึ้นด้วยช้างพลายตัวหนึ่ง สูงสัก ๔ ศอกติดเชือกบาศ ๒ เส้น เขาผูกปลายเชือกบาศไว้กับเสาปองที่ในสนาม มันดิ้นรนมาจนตรงปากทางเสด็จขึ้นเพนียด ก็ทางนั้นทำลาดเป็นอย่างเชิงสะพานช้างดังกล่าวมาแล้ว สองข้างทางมีผนังเป็นฉนวน ที่ปากทางปักเสาคู่ทอดเสาวางขวาง ๒ ชั้นกันมิให้ช้างเถื่อนเข้าไปได้ และมีคนกรมช้างรักษาอยู่ข้างใน แต่ดูเหมือนจะมีพวกคนตามเสด็จแอบลงไปผสมดูอยู่ที่นั่นด้วยเป็นกลุ่ม พอช้างที่ติดเชือกบาศมันเหลือบเห็นคนอยู่ในฉนวน มันก็วิ่งเข้าชนเสาเขื่อนหมายจะเข้าไปแทงคนจนเสาเขื่อนท่อนบนหัก เชือกบาศก็ขาดไปเส้นหนึ่ง ช้างข้ามเขื่อนอันล่างเข้าไปคาอยู่ครึ่งตัว เชือกบาศยังติดตีนอยู่แต่เส้นเดียว ถ้าเชือกบาศขาดก็คงขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา เวลานั้นคนตกใจกันอลหม่านทั้งข้างหน้าข้างใน ถึงให้ทหารมหาดเล็กหมวดหนึ่งบรรจุปืนยืนคอยอยู่ตรงทางขึ้น ถ้าเชือกบาศขาด ช้างพ้นเขื่อนเข้าไป ก็ให้ยิงเสียให้ตาย ซ้ำมีเหตุในเวลากำลังคุมช้างเถื่อนอยู่นั้น ได้ยินเสียงถ้วยชามตกโฉ่งฉ่าง ผู้หญิงตื่นร้องเพรียกขึ้นทางข้างในอีก ไม่รู้ว่าจะเกิดภัยอย่างไรก็ตกใจกันอีก จนเห็นเขาปลดม่านให้ช้างต่อซึ่งขึ้นทางด้านเหนือเพนียดมาไล่ช้างเถื่อนที่อาละวาด จึงรู้ว่าพวกผู้หญิงตื่นช้างต่อตัวนั้นเมื่อแรกเห็นแต่งาโผล่ขึ้นมาลงปลายก็เลยสนุกกันไปทั้งเรื่อง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอใจ พระยาราชวังเมืองเลยรอดตัว แต่พวกกรมช้างเขากระซิบบ่นกันว่าในการจับช้างเถื่อน พวกเขาเป็นผู้ต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย ยิ่งจะให้สนุก พวกเขาก็ยิ่งใกล้ตายหนักขึ้น

ครั้งที่ ๔ จับช้างคราวรับซาร์วิช รัชทายาทประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึงสมัยนี้กรมสมเด็จฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ หลวงคชศักดิ์ ล่วงลับไปหมดแล้ว กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ทรงบัญชาการกรมพระคชบาล พระยาเพทราชา (เอี่ยม) ซึ่งเป็นพระยาราชวังเมืองอยู่ก่อนเป็นผู้อำนวยการ คนสำคัญในการคล้องช้างยังเหลือแต่ขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) อายุเห็นจะกว่า ๖๐ ปีแล้วแต่ยังแข็งแรง ฝีมือคล้องก็ยังแม่นไม่มีตัวสู้ คล้องช้างคราวรับซาร์วิชนี้น่าดูกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งฉันได้เคยเห็นมาทั้งหมด เพราะมีเวลาเตรียมนาน และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกำชับกรมช้าง ให้จัดอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ เพนียดก็ให้ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด และขุดล่องคลองเพนียดให้เรือไฟเล็กขึ้นไปได้จนถึงท่า แล้วมีรถเทียมม้ารับคนขึ้นไปถึงเพนียด ดูเหมือนพระยาเพทราชา (เอี่ยม) จะออกไปปกโขลงเอง ทั้งเป็นผู้ซักซ้อมช้างต่อหมอควาญด้วย ช้างเถื่อนที่ต้อนเข้ามาคราวนี้ ช้างโขลงเชื่องกับช้างโขลงเถื่อนพอได้ส่วนกัน มีทั้งช้างพลายและแม่แปรกที่ดุร้าย เข้ามาอาละวาดให้เห็นฤทธิ์ และมีช้างเชื่องพอนำโขลงมิให้แตกกระแชงเหมือนเช่นพรรณนามาในครั้งที่ ๓ ว่าโดยย่อประสงค์จะให้สนุกด้วย เรียบร้อยด้วย รวมกันทั้ง ๒ อย่าง เอาช้างงาตัวใหญ่แทบเท่าช้างต่อเข้ามาตัวหนึ่ง สำหรับจะจับในเพนียด ช้างตัวนั้นแต่แรกเข้าเพนียดมันก็หลบเลี่ยงช้างต่ออยู่กลางโขลง เหมือนอย่างช้างใหญ่ตัวอื่นๆ แต่เมื่อถูกคล้องตีนหลังติดเชือกบาศข้างละ ๒ เส้น พอมันรู้ว่าภัยถึงตัวก็อาละวาดขนานใหญ่ วิ่งเลาะวงภาคหมายจะปีนข้ามคอกออกไป ครั้นปีนไม่ได้ก็ตั้งหน้าจะหักเสาแหกคอกออกไปไม่หยุด แต่พอระบายช้างโขลงออกจากเพนียดไปหมด เหลือแต่ตัวมันก็คลั่งจะชนช้างต่อ แต่ตีนหลังติดเชือกบาศรั้งไว้ทั้ง ๒ ข้าง และหมอควาญช้างต่อเขาก็รั้งช้างต่อไว้เสียให้ห่าง มันชนไม่ถึงก็ได้แต่ฟาดเนื้อฟาดตัว เห็นผู้คนวี่แววข้างไหนก็ไล่ ช้างต่อจะเข้าไปเทียบสองข้างโยนทามผูกคอเหมือนเช่นช้างตัวอื่นไม่ได้ ก็ต้องรออยู่จนเห็นมันเหนื่อยอ่อนกำลังแล้วจึงให้คนล่อให้ไล่เข้าประตูซอง เลยติดอยู่ในนั้น ให้คนผูกทามตามแบบจับช้างใหญ่เกินขนาด กว่าจะเอาไปผูกเสาตะลุงที่โรงคู่แขกได้ ก็พอสิ้นเวลา วันแรกคล้องแต่ช้างงาตัวใหญ่ตัวเดียวเท่านั้น ช้างพลายตัวนั้นเลยได้ชื่อเรียกกันว่า “พลายซาร์วิช” ถึงวันคล้องกลางแปลงก็มีสนุกต่างๆ อย่างเช่นเคยมีมาในหนหลัง เป็นแต่ไม่เกินขนาด แต่มีแปลกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน เมื่อคล้องช้างได้สักสองสามตัวแล้ว พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามซาร์วิช ว่าจะประทานลูกช้างเล็กๆ ไปเล่นในเรือรบสักตัวหนึ่ง จะโปรดหรือไม่ ซาร์วิชทรงยินดีที่จะได้ จึงโปรดให้ขุนพิชัยกุญชรเลือกคล้องลูกช้างที่รูปร่างงามดี คล้องได้ตัวหนึ่งขนาดเพิ่งหย่านม สูงสัก ๒ ศอกเศษ ดูเหมือนพวกกรมช้างเขาคิดจะให้คนเข้าช่วยกันผูกทาม จูงเอามาถวายในเวลานั้น แต่เกิดขัดข้องด้วยช้างตัวที่เป็นแม่ไม่ยอมทิ้งลูก แม้จะขับไล่อย่างไรๆ จนที่สุดเอาช้างต่อเข้ารุมมันก็ไม่ยอมพรากไปจากลูก จนคนดูพากันสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี พากันนั่งจ้องคอยดูอยู่ทั้งนั้นว่ากรมช้างจะทำอย่างไร ดูเหมือนเขาคิดจะคล้องช้างแม่แล้วโยนทามผูกลากพรากเอาไปเสีย แต่แม่ช้างตัวนั้นมันคิดได้ก่อน พอมีความคิดมันก็รุนลูกให้ถอยหลังเข้าไปทางต้นเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสาปอง พอเชือกบาศหย่อน มันฉวยเอาเข้าใส่ในปากของมันแล้วเอางวงตีให้ลูกวิ่ง ตัวมันคาบเชือกบาศตามติดมา พอเชือกบาศตึงมันก็กัดเชือกบาศขาด แล้วเลยคาบปลายเชือกพาลูกไปหาโขลง แต่พอออกห่างจากช้างต่อไปได้แล้ว มันเหลียวหลังกลับมาแลดู ดูเหมือนกับเยาะเย้ยช้างต่อ คนดูฮากันก้องไปทั้งสนาม แม้ซาร์วิชก็ทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าขอให้พระราชทานคืนลูกช้างตัวนั้น เป็นบำเหน็จแก่ช้างแม่เถิด ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยไป พอใจบรรดาคนดูด้วยกันหมด

ลักษณะคล้องช้างแต่โบราณมี ๒ อย่าง คือใช้ “ทิ้ง” บ่วงเชือกบาศไปให้คล้องตีนช้าง ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า “แลสสู” (Lasso) อย่างหนึ่ง เอาบ่วงเชือกบาศติดปลายไม้คันจาม “ทอด” ดักให้ช้างเหยียบก้าวลงไปในบ่วงอย่างหนึ่ง คล้องด้วยทิ้งเชือกบาศเห็นจะยากมาก วิธีนั้นจึงสูญไป ยังใช้กันแต่คล้องด้วยคันจามอย่างเดียว แต่สังเกตดูในหนังสือเก่า หรือแม้ในรูปภาพที่เขียนกันมาแต่ก่อน บุคคลชั้นสูงเช่นท้าวพระยา คือผู้ที่เชี่ยวชาญการคล้องช้าง ชอบคล้องด้วย “ทิ้งเชือกบาศ” ดังกล่าวมาในภาคต้นว่ามีกฎมนเทียรบาลบทหนึ่ง ว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงคล้องช้างเถื่อนที่เติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง “มิให้คนกลางช้างถวายเชือกบาศ” ดังนี้ ส่อให้เห็นว่าคงทรงคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จึงมีคนกลางช้างและไม่กล่าวถึงไม้คันจาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัสไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ตอนพิธีทอดเชือกดามเชือก ว่าเคยทรงได้ยินว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พระเจ้าลูกเธอต้องหัดทรงช้างทรงม้า ยังหัดให้ทิ้งเชือกบาศอยู่จนสมัยนั้น แต่ก็เห็นจะเป็นแต่หัดเท่านั้น ที่ใช้จริงน่าจะสูญเสียแต่ก่อนรัชกาลที่ ๑ แล้ว

หัดช้าง

ช้างเป็นสัตว์ฉลาด รู้ง่ายจำง่าย ถึงจับเมื่อเป็นช้างใหญ่แล้วก็อาจจะฝึกหัดให้เชื่อง ใช้การงานได้ไม่ยากนัก เพราะฉะนั้นวิธีวังช้างจึงจับช้างที่เข้าคอกทั้งหมด ไม่เลือกว่าจะเป็นช้างใหญ่หรือช้างเล็ก แต่ช้างเป็นสัตว์โตใหญ่เหลือกำลังที่คนจะเข้าฉุดคร่าผูกรัดได้เองโดยลำพังตน เหมือนอย่างวัวควาย การฝึกหัดช้างชั้นต้นจึงต้องอาศัยใช้ช้างด้วยกัน คือช้างต่อควบคุมและเป็นตัวอย่างชักนำให้ช้างที่หัดใหม่ทำตามใจคน แต่ก็เหมาะแก่ธรรมดาของช้างอันชอบอยู่กับเพื่อนและทำอะไรตามกัน พอคุ้นกับช้างต่อแล้วเห็นช้างต่อชอบกับคน ก็ยอมให้คนเข้าใกล้ชิดสนิทขึ้นโดยลำดับ จนถึงคนอาจจะฝึกหัดได้เอง ในที่สุดเมื่อฝึกหัดเชื่องราบแล้วถึงรักและเชื่อคำคน ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างอื่นหมด เว้นแต่หมาอย่างเดียว

วิธีหัดช้างเถื่อนที่จับได้ พิเคราะห์ดูก็คล้ายกับการสอบเด็กในโรงเรียนคือสอนความรู้เป็นชั้น ประถม มัธยม และอุดมเป็นขั้นๆ โดยลำดับขึ้นไป ความรู้ชั้นประถมและชั้นมัธยม หัดช้างที่จับได้ทุกตัวหมด แต่ความรู้ชั้นอุดมนั้นจะใช้ช้างตัวไหนสำหรับทำการอย่างใด ก็ฝึกหัดช้างตัวนั้นให้ชำนิชำนาญการอย่างนั้นโดยเฉพาะ

วิธีฝึกหัดชั้นประถมนั้น เมื่อแรกคล้องได้ช้างเถื่อนพาไปถึงที่หัดแล้วเอาเชือกที่ผูกกับทามที่คอช้างเถื่อนพาไปผูกโยงไว้กับเสาตะลุงหรือต้นไม้ข้างหน้าทางหนึ่ง เอาปลายเชือกบาศที่ยังติดตีนช้างอยู่ไปผูกไว้กับเสาหรือต้นไม้ข้างหลังอีกทางหนึ่ง เหมือนอย่างขึงช้างไว้ตรงกลาง เอาไว้อย่างนั้นจนสงบดิ้นรน เป็นแต่เอาน้ำสาดตัวช้างบ่อยๆ ให้ชุ่มชื่น ครั้นเห็นค่อยสงบกระวนกระวายแล้ว จึงให้ช้างต่อเข้าไปเทียบข้าง ปลดสายเชือกข้างหน้าออกจากเสาหรือต้นไม้ มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ แล้วแก้ปลายเชือกบาศมาไว้กับตัวช้างต่อ ให้ช้างต่อพาช้างเถื่อนไปลงน้ำและกินหญ้า วันละครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง จนช้างเถื่อนคุ้นกับช้างต่อที่คนขี่มีกิริยาเริ่มเชื่อง จึงเอาแปรสถานไปผูกไว้แต่กับเสาตะลุงที่ในโรง และปลดเชือกบาศออกจากตีน ถึงตอนนี้คนเลี้ยงเริ่มเอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน แต่เมื่อถึงเวลา ช้างต่อยังเข้าผูกพาไปลงน้ำกินหญ้าอยู่ทุกวันตามเคย เมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนเลี้ยงที่เอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน จนเห็นสิ้นกิริยาปองร้าย คนเลี้ยงก็ค่อยเข้าใกล้ชิดจนถึงลูบคลำตัวและเกาให้ชอบใจช้าง และลองให้คนขึ้นหลังในเวลาเมื่อเดินติดข้างไปกับช้างต่อ ลองขี่กลางหลังดูวันละครู่ละยาม จนเห็นเคยไม่สะบัดสะบิ้งแล้ว ก็ค่อยเลื่อนที่นั่งออกไปจนถึงขี่คอ เมื่อคนขี่คอได้เสมอแล้ว ก็หย่อนสายโยงทามยาวออกไปให้ช้างเถื่อนเดินสะดวกยิ่งขึ้นโดยลำดับ คนขี่คอก็ฝึกหัดให้รู้วิธีที่คนขี่ใช้เท้าและขอบังคับช้างยิ่งขึ้น เขาว่าการฝึกหัดชั้นนี้เพียงสัก ๓ เดือน ก็อาจจะขี่ช้างที่จับได้ใหม่ให้เดินตามช้างต่อโดยลำพังได้ ดูเป็นสำเร็จการศึกษาชั้นประถมเพียงนี้

ฝึกหัดชั้นมัธยมนั้น เริ่มเมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนจนคนอาจจะหัดได้โดยลำพังแล้ว สอนให้ลงหมอบและลุกขึ้นตามคำสั่งของคนขี่อย่างหนึ่ง สอนให้งอขาหน้าส่งคนขึ้นขี่คออย่างหนึ่ง สอนให้เอางวงจับเชิงใส่ปลอกตีนข้างหน้าของตนอย่างหนึ่ง กับผูกเครื่องสัปคับบรรทุกของบนหลังอย่างหนึ่ง เขาว่าหัดผูกเครื่องสัปคับยากกว่าอย่างอื่น เพราะช้างรำคาญหลังมักสะบัดไม่ใคร่ยอมให้บรรทุกง่ายๆ นอกจากนี้ก็เห็นจะมีอย่างอื่นอีก เช่นหัดให้หักกิ่งไม้หรือถอนต้นไม้ที่กีดขวางทางเดินเป็นต้น อันจำต้องให้ช้างทำได้ในเวลาเมื่อใช้การงาน เขาว่าฝึกหัดชั้นมัธยมก็เป็นเวลาราว ๓ เดือน รวมเวลาฝึกหัดช้างตั้งแต่จับได้ไปราว ๖ เดือนก็ใช้การงานได้

แต่ในระหว่างเวลาที่ฝึกหัดอยู่นั้น ถ้าช้างยังไม่เชื่องสนิท หลุดไปได้ ก็กลับไปเข้าโขลงอยู่กับช้างเถื่อนอย่างเดิม ช้างเช่นนั้นเรียกว่า “ช้างอุทาม” ลืมความรู้ซึ่งคนได้ฝึกหัด และนิสัยกลับไปเป็นช้างเถื่อนยิ่งขึ้นตามเวลา แต่ผู้ชำนาญการจับช้างอาจจะรู้ด้วยสังเกตกิริยา มีเรื่องเล่ากันมา ว่าคล้องช้างที่เพนียดครั้งหนึ่งเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ คล้องได้ช้างพลายใหญ่ตัวหนึ่งที่ในเพนียด ล่อเอาเข้าซองได้แล้ว คนกำลังผูกทาม กรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล ทรงสังเกตกิริยาช้างตัวนั้น ตรัสแก่พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นแต่หมอช้างมีฝีมือ ว่า “อ้ายเอี่ยม ช้างตัวนี้ดูจะเป็นช้างอุทาม” หมอเอี่ยมได้ฟังตรัสก็ฉวยขอปีนขึ้นขี่คอช้างตัวนั้น ลองขยับขาบังคับช้างตัวนั้นเห็นทำตาม รู้ว่าเป็นช้างอุทาม ก็ทูลขอให้เปิดประตูซอง ขี่ช้างตัวนั้นทั้งมีเชือกบาศติดตีน พาไปโรงหัดได้โดยลำพังตัว ก็ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าหมอเอี่ยมกล้าหาญมาแต่ครั้งนั้น เพราะช้างอุทามตัวนั้นจะกลับใจไปเป็นช้างเถื่อนเสียเพียงไรก็ไม่รู้ เมื่อขี่ออกนอกซองแล้ว ถ้าเอาไว้ไม่อยู่ หมอเอี่ยมก็ต้องตาย จึงชมกันว่ากล้าหาญนัก หมอเอี่ยมก็ได้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับแต่นั้นมาจนได้เป็นพระยาเพทราชา แต่ช้างที่หัดจนเชื่องราบ เคยอยู่กับคนช้านานแล้ว ถึงจะปล่อยก็ไม่กลับไปเป็นช้างเถื่อน มีเรื่องตัวอย่างปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่ามีช้างงาสั้นตัวหนึ่งซึ่งลักษณะเข้าตำราว่าเป็นช้างวิเศษ ขึ้นระวางเป็นช้างต้นชื่อว่า “พระบรมจักรพาล” ถูกตัดแต่งปลายงามาหลายครั้งจนทะลุถึงโพรงไส้งา เห็นกันว่าจะตาย พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้พาช้างตัวนั้น ตามเสด็จขึ้นไปยังพระพุทธบาท ให้ทำเครื่องด้วยดอกไม้สดแต่งพระบรมจักรพาล แล้วทรงอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาปล่อยไปในป่าที่เขาพระพุทธบาทนั้น แต่ช้างตัวนั้นเคยอยู่กับคนมาเสียช้านาน ไม่ชอบอยู่ป่า เที่ยวหากินไปถึงเมืองลพบุรี เห็นบ้านเมืองก็เข้าไปนอนที่หน้าศาลากลางเสมอทุกคืน เจ้าเมืองกรมการบอกมากราบทูล พระเจ้าบรมโกศทรงสงสาร ก็โปรดให้ไปรับกลับเข้ามาเลี้ยงไว้ดังเก่า

ฝึกหัดช้างชั้นอุดมนั้น คือหัดให้รู้จักทำการเฉพาะบางอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อช้างมีความรู้ชั้นมัธยมแล้ว ดังเช่นประสงค์จะให้ช้างตัวนั้นเป็นช้างต่อ ก็ฝึกหัดให้ทำการไปด้วยกันกับช้างต่อจนชำนาญ ถ้าจะใช้ช้างตัวนั้นทำป่าไม้ ก็หัดให้ลากขนไม้ซุงไปด้วยกันกับช้างที่ทำป่าไม้เป็นทำนองเดียวกัน ผู้จับช้างเถื่อน เป็นพนักงานหัดชั้นประถมและมัธยม เพราะจะขายช้างได้ต่อเมื่อหัดแล้ว แต่การหัดความรู้ขั้นอุดม ผู้ทำการนั้นๆ หัดเอาเอง

ที่พรรณนามานี้เป็นการฝึกหัดช้างที่ใช้กันในพื้นเมือง แต่การฝึกหัดช้างหลวง เป็นระเบียบหนึ่งต่างหาก ในทำเนียบกรมพระคชบาล มีพนักงานฝึกหัดเรียกว่า “ครูช้าง” เป็นแผนกหนึ่ง ตัวหัวหน้าเป็นที่ขุนสิทธิกรรมอนันต์พระคชศาสตร์คนหนึ่ง ขุนศรีชัยทิศสิทธิพระคชศาสตร์คนหนึ่ง แต่ตำราหัดช้างหลวงจะเป็นอย่างไรฉันไม่เคยพบ ได้แต่สันนิษฐานตามเค้าที่สังเกตดูในทำเนียบบ้าง ในเรื่องพงศาวดารบ้าง กับที่ได้เห็นประเพณีที่ยังมีอยู่ชั้นหลังบ้าง การฝึกหัดช้างหลวงเบื้องต้น ก็คงฝึกหัดความรู้ชั้นประถมและมัธยม เหมือนอย่างช้างสามัญ แต่เห็นจะเพิ่มฝึกหัดมิให้ตื่นไฟหรือตื่นเสียงและตื่นของแปลกตาต่างๆ อันจะต้องพบเมื่อใช้ราชการ ต่อจากนั้นถึงชั้นอุดม เห็นจะหัดช้างเป็น ๔ ประเภท คือ ช้างรบประเภทหนึ่ง ช้างต่อประเภทหนึ่ง สองประเภทนี้ล้วนเป็นช้างพลาย ช้างหลัง (หัดให้เดินเรียบในเวลาผูกสัปคับให้คนนั่ง หัดแต่ช้างพัง) ประเภทหนึ่ง กับช้างบรรทุกอีกประเภทหนึ่ง อย่างนี้มีทั้งช้างพลายและช้างพัง จะว่าแต่ด้วยหัดช้างรบ ช้างรบแต่โบราณเห็นจะมี ๓ อย่าง (ในตำราจะเรียกต่างกันอย่างไร ฉันไม่รู้แน่ จะเรียกต่อไปตามคำของฉันเอง) คือ “ช้างชน” อย่างหนึ่ง “ช้างไล่” (น่าจะตรงกับที่เรียกในหนังสือเก่าว่า “ช้างดั้ง”) อย่างหนึ่ง “ช้างเขน” อย่างหนึ่ง ช้างชนนั้นเป็นช้างงา สำหรับขุนพลทั้งสองฝ่ายขี่คอขับให้ชนกัน และตัวเองก็รบกันบนคอช้าง เป็นการชิงชัยกันตัวต่อตัวทั้งช้างที่ชนและคนที่ขี่ แต่โบราณนับถือกันว่าเป็นวิธีรบยากกว่าอย่างอื่นเรียกว่า “ยุทธหัตถี” ขุนพลคนไหนชนะก็ขึ้นชื่อลือเกียรติว่าเป็นนักรบอย่างวิเศษ ต้องเลือกช้างขนาดใหญ่ที่กล้าหาญว่องไวดีถึงชั้นที่สุด หัดเป็นช้างชน แต่ช้างชนนั้นคนขี่อย่างไรและผูกเครื่องอย่างไร มีปัญหาอยู่ ด้วยสังเกตดูรูปภาพชนช้างที่เขียนไว้เก่าก่อนรัชกาลที่ ๔ เขาเขียนช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า ขุนพลขี่คอมีแต่ควาญท้ายอย่างเดียวกับขี่ช้างตกน้ำมัน แต่รูปภาพเขียนชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เช่นรูปภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง ที่เขียนไว้ ณ หอราชกรมานุสรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น เขียนช้างชนผูกเครื่องคชาธารปักเศวตฉัตร มีคนนั่งอยู่บนคชาธารอีกคนหนึ่ง เหมือนกันทั้งช้างของสมเด็จพระนเรศวรฯ และของพระมหาอุปราชาหงสาวดี จึงเกิดปัญหาว่า ที่จริงช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า คนขี่ ๒ คน หรือผูกเครื่องคชาธารมีคนขี่ ๓ คน ฉันคิดดู เห็นว่าการทำยุทธหัตถีขี่ช้างชนกันนั้น เหมือนขุนพลฝากชีวิตไว้กับช้างด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าช้างชนเพลี่ยงพล้ำลงอย่างใด ขุนพลก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นต้องอยากให้ช้างของตนชนได้คล่องแคล่ว ปราศจากอะไรที่ขัดขวางเป็นธรรมดา ก็คชาธาร(อย่างเช่นผูกหุ่นไว้ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ) เป็นของหนัก เอาขึ้นไปบรรทุกหลังช้างตั้งโงงเงงไว้เช่นนั้น ย่อมเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ช้างชนได้คล่องแคล่ว ถ้าไปเจอช้างข้าศึกผูกเครื่องมั่นตัวเปล่า ก็จะแพ้แต่แรก ถึงแม้ชนกันด้วยช้างผูกคชาธารทั้งสองฝ่าย ถ้าเผอิญเชือกผูกคชาธารฝ่ายไหนขาดหรือเพียงแต่หย่อน ทำให้คชาธารเอนเอียงลงมาห้อยอยู่ข้างช้างๆ ก็ต้องแพ้ ใครเลยจะสมัครขี่ช้างชนด้วยมีเครื่องเสี่ยงภัยถึงเพียงนั้น ฉันเห็นว่าที่จริงเครื่องผูกช้างชนคงเป็นเครื่องมั่นหลังเปล่าเช่นนั้นจึงจะชนได้ถนัด เหตุใดจึงมาเขียนรูปช้างชนให้ผูกเครื่องคชาธารขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ คิดดูก็เหมือนจะได้เค้า ด้วยในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนั้น ช้างพระที่นั่งมีเจ้ารามราฆพขี่กลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ ช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มีหมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ และว่านายมหานุภาพกับหมื่นภักดีศวรถูกปืนตายเมื่อชนช้าง ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารเห็นความที่กล่าวว่า ช้างทรงมีคนขี่กลางช้างเหมือนอย่างคชาธาร ผิดกับช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าอย่างสามัญ ก็เขียนลงว่าผูกเครื่องพระคชาธาร อันเป็นของมีจริงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบัญชาการรบในสนาม มิใช่สำหรับทรงเมื่อชนช้าง ช่างเขียนเขียนตามคำที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร รูปภาพช้างชนจึงกลายมาเป็นผูกคชาธาร เห็นว่าจะพลาดไปด้วยเหตุอย่างนี้ คิดต่อไปถึงข้อที่ช้างสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีคนขี่กลางช้างในเวลาที่ชนนั้น เห็นว่าช้างชนแต่โบราณอาจจะผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่ ๓ คนเช่นนั้น เป็นแบบใช้ทั่วไปก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะมีแต่ช้างพระที่นั่งก็อาจจะเป็นได้ เช่นเดียวกับช้างต่อที่พระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง ก็มีคนกลางช้างเพิ่มขึ้นผิดกับช้างคนอื่นขี่ ถึงมีในกฎมนเทียรบาลบทหนึ่งว่า “ถ้าพระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียกเชือกบาศจะคล้องช้างเถื่อนที่โตใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ห้ามมิให้คนกลางช้างส่งเชือกบาศถวาย” ช้างชนก็จะเป็นอย่างเดียวกันได้ดอกกระมัง ฉันจึงไม่กล้าลงความเห็นยืนยันว่าช้างชนคนขี่ ๓ คน หรือ ๒ คน ที่เอาปัญหามากล่าวไว้ ประสงค์แต่จะคัดค้านข้อที่ว่าช้างชนผูกเครื่องคชาธารเป็นสำคัญ เพราะรูปภาพที่เห็นกันทุกวันนี้ เขียนมีคชาธาร ชวนให้เข้าใจผิดอยู่โดยมาก

“ช้างไล่” นั้น สำหรับจู่โจมไล่แทงข้าศึกให้แตกฉาน หรือบุกรุกเข้าไปทำลายค่ายเขื่อนของข้าศึก เลือกช้างที่คล่องแคล่วรวดเร็ว เห็นจะเป็นชนิดที่เรียกว่า “ช้างระวางเพรียว” ในทำเนียบ ผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่คอกับควาญท้าย (อาจจะมีคนกลางช้างด้วยก็เป็นได้) ช้างไล่ได้ใช้รบศึกมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงหเสนี) รบญวนที่เมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทร์ฯ ตั้งอยู่ที่เมืองอุดง เป็นเวลาฤดูน้ำ ญวนได้เปรียบด้วยมีเรือมาก จึงยกกองทัพเรือขึ้นไปจากเมืองพนมเปญหมายจะตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทร์ฯ มีแต่กองทัพบก จึงให้รวมพลจัดขบวนทัพซุ่มไว้ข้างในเมือง ปล่อยให้พวกญวนขึ้นบกได้ตามชอบใจ พอเห็นพวกญวนขึ้นจากเรือแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์ฯ ก็ให้กองทัพช้างไล่รายกันเป็นแนวออกนำหน้าทหารราบ ให้ช้างเข้าไล่แทงพวกญวนล้มตายแตกตื่นจนรวนเร แล้วให้ทหารราบตามเข้าตีซ้ำ กองทัพญวนก็แตกพ่ายหนีกลับไป ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดซึ่งใช้ช้างรบในเมืองไทย

“ช้างเขน” นั้น สำหรับนำพลเข้าตีประชันหน้ากองทัพข้าศึก ล้วนช้างงาขนาดใหญ่อย่างที่เรียกว่า “ระวางใหญ่” ผูกเครื่องมั่นมีสัปคับสำหรับทหารปืนอยู่บนนั้นอีก ๒ คนนอกจากหมอควาญ เคยเห็นแต่ในขบวนแห่ แต่คิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นช้างรบแบบเก่าก่อนอย่างอื่น มีแต่สมัยเมื่อยังใช้หอกซัดและธนู ก่อนมีช้างไล่และช้างชน

วิธีหัดช้างรบ จะทำอย่างไรบ้างฉันไม่เคยพบในตำรา แต่ยังมีตำราขี่ช้างแต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งหอสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ปรากฏอยู่ ในตำรานั้นว่าถึงการซักซ้อมช้างรบหลายอย่าง มีซ้อมชนเป็นต้น สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรคล้ายกับการกีฬา และยังมีเป็นประเพณีสืบมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ฉันได้ทันเห็นหลายอย่าง สังเกตดูพอเป็นเค้าได้ว่าการฝึกหัดช้างรบนั้น หัดให้กล้าอย่างหนึ่ง หัดให้อดทนต่อบาดเจ็บอย่างหนึ่ง และหัดให้ทำตามคนขี่บังคับในทันทีอย่างหนึ่ง ลักษณะการซ้อมช้างรบมีหลายอย่าง เรียกว่า “บำรูงา” อย่างหนึ่ง “ล่อแพน” อย่างหนึ่ง “ผัดพาน” อย่างหนึ่ง “แทงหุ่น” อย่างหนึ่ง “ล่อช้างน้ำมัน” อย่างหนึ่ง (ฉันไม่เคยเห็นช้างบำรูงา แต่นอกจากนั้นเคยเห็นทั้ง ๔ อย่าง) เดี๋ยวนี้สูญไปหมดแล้ว จึงจะพรรณนาไว้ในนิทานนี้

ที่เรียกว่า “ช้างบำรูงา” นั้น คือฝึกซ้อมช้างชน เลือกช้างรบที่กำลังตกน้ำมันทั้ง ๒ ตัว ผูกเครื่องมั่นมีหมอควาญขี่ให้ซ้อมชนกัน เหตุใดจึงเลือกช้างกำลังตกน้ำมัน อธิบายว่าธรรมดาช้างพลายมักเป็นสัดปีละครั้งหนึ่ง ในเวลาเป็นสัดนั้น ที่ตัวช้างมีน้ำมันตกทั้งข้างหน้าข้างท้าย จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “ช้างตกน้ำมัน” ช้างกำลังตกน้ำมันมักดุร้ายและมีกำลังมากกว่าเวลาอื่น ช้างที่ไม่ตกน้ำมันมักกลัวเกรงไม่กล้าสู้ เพราะฉะนั้นช้างที่ขี่ทำยุทธหัตถี จึงใช้ช้างกำลังตกน้ำมัน เมื่อซักซ้อมก็ใช้ช้างกำลังตกน้ำมันเหมือนกัน แต่ช้างตกน้ำมันคนขี่บังคับยาก เพราะกำลังคลั่งน้ำมัน ไม่ทำร้ายแต่ช้างพัง นอกจากนั้นอะไรเข้าไปยั่วก็เกิดโทสะ อยากแต่จะแทง คนขี่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบังคับช้างจึงอาจขี่ช้างตกน้ำมันได้ เวลาจะให้ช้างบำรูงา ต้องเลือกสรรหมอควาญที่ดีทั้งสองข้าง ในตำราว่าให้แต่งตัวอย่างโอ่โถง นุ่งผ้าตามแบบในคชศาสตร์ หมอใส่เสื้อตาระกำใส่พวงมาลัยสวมศีรษะกับทั้งคอและข้อมือทั้งสองข้าง ควาญก็ใส่พวงมาลัยเช่นนั้นเหมือนกัน (แต่ไม่ใส่เสื้อ) ที่สนามบำรูงาหน้าพลับพลานั้นปัก “เสาปอง” (เป็นเสาอย่างเตี้ยๆ) สองแถว เรียงกันเป็นระยะสัก ๕ วาไว้ข้างหลังช้างชนทั้งสองฝ่าย สำหรับวัดเชือกบาศซึ่งผูกตีนหลังช้างรั้งไว้ ให้ชนกันได้เพียงปลายประถึงกันมิให้ถึงแพ้ชนะ เพราะธรรมดาของช้างถ้าชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เมื่อจะบำรูงา ให้ช้างพังตั้ง ๑๐ ตัวเดินนำบังตาช้างชนมิให้แลเห็นกัน ให้ช้างชนไปยืนอยู่ที่หน้าเสาปอง เอาเชือกปาศคล้องตีนหลังทั้งสองข้าง คลี่ปลายเชือกบาศไปวัดกับเสาปองไขว้กันไปจนตลอดแนว ผูกไว้ระยะแต่ปลายงาช้างชนประกันดังกล่าวแล้ว เมื่อล่ามช้างแล้ว หมอควาญต้องทำพิธีบูชาก่อน คือประนมมือยกขอขึ้นถึงศีรษะ เสกบูชาพระรัตนตรัย แล้วลดขอลงมาเพียงบ่า เสกบูชาครูปัทยาย แล้วลดขอลงมาวางถึงกะพองและหลังช้าง ก้มหัวลงถึงขอแทนถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่สุด เสร็จบูชาแล้วสั่งให้เหล่าช้างพังที่บังหน้าถอยออกไป แล้วหมอควาญทั้งสองฝ่ายก็ไสช้างเข้าชนกัน วิธีชนนั้นมีคำในตำรากล่าวว่า “ให้ผู้ขี่ช้างแก้ไขช้างให้ ชน ขวิด ค้อนโยน ป้องกัน ให้เป็นท่วงทีทั้งสองฝ่าย” ดังนี้ ชวนให้เข้าใจว่าผู้ขี่จะให้ช้างชนอย่างไร อาจจะแนะได้ แต่ช้างนั้น ชนกันเต็มกำลังจริงๆ ข้อนี้เห็นได้ในเรื่องพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้า (บางฉบับเรียกพระแก้วฟ้า) ราชบุตรสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทอดพระเนตรช้างบำรูงา ว่าครั้งนั้นงาช้างพระยาไฟหักเป็น ๓ ท่อน ก็เพราะชนกันเต็มกำลังนั่นเอง ดูก็สมกับที่ถือกันมาแต่โบราณว่า การชนช้าง ต้องเก่งทั้งคนทั้งช้างจึงจะเอาชัยชนะได้ แต่ช้างบำรูงาเห็นจะให้ชนกันไม่ช้านัก พอสมควรแก่เวลาแล้ว เมื่อจะเลิกในตำราว่าให้คนขี่รั้งช้างให้ถอยออกไปทั้งสองฝ่าย เมื่อช้างถอยไปถึงเสาปอง ให้หมอควาญรำขอและเล่นหน้าเยาะเย้ยกันทั้งสองฝ่าย และทำพิธีบูชาอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อก่อนชน แล้วจึงเรียกเหล่าช้างพังให้เข้าไปบังหน้า พาช้างชนกลับไปโรงทั้งสองตัว เป็นเสร็จกระบวนช้างบำรูงา

ซ้อมช้างอย่าง “ล่อแพน” นั้น สำหรับซ้อมช้างไล่ เวลารบไม่จำต้องใช้ช้างตกน้ำมันเหมือนช้างชน แต่ซ้อมถวายทอดพระเนตรอย่างกีฬา ใช้ช้างตกน้ำมันเสมอ มีที่ท้องสนามชัย ทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมอควาญขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า มายืนอยู่ที่หัวสนามทางด้านเหนือ กรมม้าเลือกม้าตัวดีที่คล่องแคล่วและใจกล้าตัวหนึ่ง ผูกเครื่องแผงอย่างเต็มยศให้ขุนม้าผู้เชี่ยวชาญขี่ ขุนม้านั้นก็แต่งตัวเต็มยศโพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง มือถือ “แพน” ทำด้วยไม้รวกยาวสัก ๖ ศอก ผูกผ้าสีเป็นปล้องๆ ในจนพู่ที่อยู่ปลายรำแพน ขับม้าสะบัดย่างเข้าไปจนถึงหน้าช้าง ชักม้าหันหน้ากลับแล้วยื่นปลายแพนเข้าไปล่อใกล้ๆ ช้าง พอช้างขยับไล่ก็ขับม้าวิ่งล่อมาในสนาม แต่มิให้ห่างช้าง ถือแพนเอาปลายล่อให้ช้างฉวย ดูเหมือนถือกันว่าถ้าช้างฉวยเอาแพนได้ก็เป็นช้างชนะ ถ้าฉวยไม่ได้ก็เป็นม้าชนะ ไล่กันมาหวิดๆ จนคนดูออกเสียวไส้ เห็นได้ว่าม้าและคนขี่ดีหรือเลว ด้วยมีม้าบางตัวไม่กล้าเข้าใกล้ช้าง และคนขี่บางคนพอช้างไล่ก็ขับม้าหนีเตลิดเปิดเปิง ชวนให้เห็นว่าขลาดเกินไป ในตำราว่าถ้าช้างฉวยได้แพน ให้หมอควาญหยุดไล่และรำขอเล่นหน้าเยาะเย้ย ถ้าช้างไม่ได้แพน ก็ให้ไล่ตลอดจนถึงปลายสนามแล้วหยุดไล่เป็นเสร็จการล่อแพน บางทีเปลี่ยนช้างเปลี่ยนม้าให้ล่อสองเที่ยวหรือสามเที่ยวก็มี

มีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อรัชกาลที่ ๓ มีช้างงาของหลวงตัวหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ขึ้นระวางชื่อว่า “พลายไฟภัทธกัลป์” แต่คนเรียกกันเป็นสามัญตามชื่อเดิมว่า “พลายแก้ว” เป็นช้างฉลาดแต่ดุร้ายตกน้ำมันทุกปี แทงคนที่ไปล่อตายหลายคนจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ถึงมีรูปภาพเขียนไว้ (อยู่ที่ในพิพิธภัณฑสถาน) ช้างพลายแก้วตัวนั้นอยู่มาจนถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง ขึ้นระวางเป็น “เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด” เป็นม้าขี่คล่องแคล่วฝีตีนดี ทั้งเต้นน้อยและวิ่งใหญ่ก็รวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ถึงเกิดอยากทรงม้าสายฟ้าฟาดตัวนั้นล่อแพนช้างพลายแก้วเวลาตกน้ำมัน ตรัสสั่งให้มีการล่อแพนพลายแก้วที่สนามในวังหน้า เสด็จทรงม้าสายฟ้าฟาดสะบัดย่างเข้าไปถึงหน้าช้างแล้วชักตลบหลัง ทรงยื่นแพนล่อช้างตามตำรา พอพลายแก้วขยับตัวจะไล่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงกระทบพระบาทขับม้าจะให้วิ่ง แต่อย่างไรม้าสายฟ้าฟาดเข้าใจว่าโปรดให้เต้นก็เต้นน้อยย่ำอยู่กับที่ไม่วิ่งหนีช้าง แต่หมอช้างที่ขี่พลายแก้ววันนั้นปัญญาไว คงเป็นคนสำคัญที่กรมช้างเลือกสรรไป เขาแก้ไขด้วยใช้อุบายก้มตัวลงเอามือปิดตาพลายแก้วทั้งสองข้าง แล้วขับเบนให้วิ่งไล่เฉไปเสียทางอื่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงพ้นอันตราย เล่ากันมาอย่างนี้

ซ้อมช้างอย่าง “ผัดพาน” นั้น ดูเหมือนจะสำหรับซ้อมช้างให้ทำลายเรือน ซ้อมถวายทอดพระเนตรที่สนามชัยอย่างเช่นล่อแพน แต่ลักษณะผัดพานนั้นปลูกปะรำไม้ไผ่ทางหัวสนามปะรำหนึ่ง ทางท้ายสนามปะรำหนึ่ง เป็นปะรำยาว ๕ ห้องกว้างสัก ๒ เท่าตัวช้าง สูงแต่เพียงเหนือตาช้าง หลังคาปะรำทอดรำไม้ไผ่ขวางเรียงกันไป ไม่ผูกติดกับแปเหนือเสา แล้วดาดกระแชงเหมือนกันทั้งสองปะรำ หมอควาญขี่ช้างน้ำมันไปยืนอยู่ในสนามตรงกลางระหว่างปะรำทั้งสองข้าง ทำพิธีบูชาและถวายบังคมแล้วจึงบ่ายหน้าช้างไปทางปะรำด้านหนึ่งก่อน ขณะนั้นคนผัด (ในตำราเรียกว่า “คนพาน” เพราะถือพัดใบตาลรูปอย่างวาลวิชนี) ก็ออกมาจากปะรำ คนผัดนั้นแต่งตัวนุ่งกางเกงสั้นเหนือเข่า หัวสวมมงคลเหมือนอย่างคนชกมวย ถือด้ามพัดมือหนึ่ง ถือขอบพัดมือหนึ่ง เป็นท่าป้องหน้าเดินเข้าไปหาช้าง จนใกล้ได้ระยะพอจะวิ่งหนีพ้นก็ลดพัดลงถือมือเดียว ย่างเท้า “ออกพักสามท่า” (คล้ายย่างสามขุม) แล้วตบมือกับใบพัดร้องว่า “ผัดพ่อ” ทำเหมือนหนึ่งจะยื่นพัดให้ช้าง พอช้างไล่ก็วิ่งหนี แต่มือถือพัดยื่นให้ช้างล่อไปใกล้ๆ อย่างหวุดหวิด เห็นได้ว่าต้องเป็นคนใจกล้าและได้ฝึกหัดคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ในตำราว่าช้างอาจจะฉวยพัดได้ แต่ฉันไม่เคยเห็นถึงอย่างนั้น เห็นแต่คนผัดวิ่งหนีเข้าไปในปะรำ ช้างไล่กำลังตามมุ่งคนล่อ ถึงปะรำหัวช้างก็เกยรำไม้ไผ่ที่ทอดไว้เป็นขื่อกับกระแชงที่มุง ดันเอากระจุยไปสักครึ่งปะรำ หมอจึงเหนี่ยวช้างให้ถอยหลังออกมา พอพ้นปะรำหมอควาญก็เล่นไหล่ใส่หน้าเยาะเย้ยตามตำรา แล้วขับช้างกลับไปยืนอยู่กลางสนามหันหน้าไปทางปะรำอีกข้างหนึ่ง คนผัดในปะรำนั้นก็ออกมาผัดล่ออย่างเดียวกัน ในเวลานั้นคนขึ้นทอดไม้มุงกระแชงปะรำแรกให้ดีดังเก่า ล่อช้างทางปะรำที่ ๒ แล้วก็กลับมาล่อทางปะรำที่ ๑ อีกซ้ำสองเที่ยวสามเที่ยวแล้วเป็นเสร็จ เปลี่ยนตัวคนผัดทุกครั้ง แต่คนผัดช้าง เห็นจะหาได้ไม่ยาก เพราะพวกคนคะนองเห็นเป็นการกีฬาอย่างสนุก ด้วยต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าการอย่างอื่น

ซ้อมช้าง “แทงหุ่น” นั้น ในตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่กล่าวถึง ตัวฉันเองก็ได้เคยเห็นครั้งเดียวเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ซ้อมขู่พวกจีนอั้งยี่แต่ต้นรัชกาลที่ ๕ ดังกล่าวไว้ในนิทานที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่ แต่เห็นได้ว่าสำหรับซ้อมช้างหักค่ายข้าศึก ด้วยทำเป็นค่ายขึ้นที่หัวสนาม มีหุ่นรูปคนรายประจำอยู่ในนั้น เมื่อหมอควาญขี่ช้างมายืนอยู่ในสนาม คน(จริงๆ) พวกที่แอบอยู่ในค่ายยิงปืนออกมา พอช้างแลเห็นไฟได้ยินเสียงปืน หมอควาญก็ขับให้วิ่งสวนควันเข้าไปรื้อค่ายแทงรูปหุ่นคนที่รักษาค่าย ต่อช้างหัดได้ดีถึงขนาดจึงทำได้เช่นนั้น

การซ้อมช้างรบ ๔ อย่างที่พรรณนามานี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะได้เคยมีช้างบำรูงาหรือไม่ สงสัยอยู่ ช้างแทงหุ่นถ้าว่าตามตาเห็นก็เคยมีครั้งเดียว ได้ดูกันมากแต่ล่อแพนกับผัดพาน ถึงสองอย่างนั้นก็ผลัดกันมีแต่ปีละครั้งในเดือน ๕ เมื่อวันแห่คเชนทรัสวสนาน แต่มีการซ้อมช้างอีกอย่างหนึ่งซึ่งโปรดให้เป็นกีฬาสำหรับชาวพระนคร คือ “ล่อช้างตกน้ำมัน” มีบ่อยๆ แทบทุกปี ด้วยถึงฤดูหนาวในระหว่างเดือนอ้ายกับเดือนสาม มักมีช้างพลายตกน้ำมัน บางตัวเป็นช้างดุชอบไล่แทงคน เวลาช้างเช่นนั้นตกน้ำมัน กรมช้างไม่เอาไปลงน้ำแต่เช้าตรู่เหมือนช้างอื่น รอไว้จนถึงเวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา เมื่อคนจ่ายตลาดกันเสร็จแล้ว จึงเอาช้างตกน้ำมันตัวนั้นไปลงน้ำ และอนุญาตให้คนเข้าผัดล่อได้ ก็เกิดเป็นการสนุก ชอบใจคนทั้งหลายทั้งพวกอยากดูและพวกคะนองที่อยากเสี่ยงภัยล่อช้างเล่นให้สนุก คงมีช้างพลายบางตัวที่ตกน้ำมันทุกปี และชอบไล่คนจนขึ้นชื่อลือนามมาทุกรัชกาล ว่าตามที่ฉันเคยได้ยินชื่อ เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีพลายสิงห์ทองตัวหนึ่ง กับพลายแก้วที่เล่ามาแล้วตัวหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมไอยเรศตัวหนึ่ง กับอีกตัวหนึ่งขึ้นระวางชื่อพลายอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว แต่คนชอบเรียกกันว่า “อ้ายห้าว” เขาว่ามันเป็นช้างชอบสนุก ไล่คนทันก็เป็นแต่คลึงเลีย ไม่แทงใครให้ตาย ฉันเคยรู้จักตัวคนที่ถูกอ้ายห้าวคลึงคนหนึ่ง แต่ก็บอบช้ำเจ็บป่วยอยู่นานจึงกลับเป็นปรกติ ในรัชกาลที่ ๕ มีพลายศักดิ์ตัวหนึ่ง กับพลายชมพูอยู่ในโรงวังหน้าตัวหนึ่ง ฉันได้เคยแต่ดูสองตัวที่ออกชื่อข้างหลังเมื่อฉันยังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก

สมัยนั้น ถนนหน้าพระลานทางฟากข้างเหนือ มีโรงช้างเรียงกันมาแต่ตรงป้อมเผด็จดัสกร จนถึงหัวถนนหน้าพระธาตุ เป็นโรงเดี่ยวไว้ช้างพลายที่ขึ้นระวางแทบทั้งนั้น ทางถนนหน้าพระธาตุทางฟากตะวันออกก็มีโรงช้าง เป็นโรงเดี่ยวบ้างกับโรงยาวสำหรับไว้ช้างพังบ้าง เรียงกันไปจนตลอดสถานกรมศิลปากรบัดนี้ ช้างพลายศักดิ์อยู่โรงต้นแถวตรงป้อมเผด็จดัสกร ไปลงน้ำต้องเดินทางถนนหน้าพระลาน จนถึงท่าพระซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่าช้าง” เพราะฉะนั้นเวลาพลายศักดิ์ตกน้ำมัน ถนนหน้าพระลานจึงเป็นสนามกีฬา สำหรับคนล่อพลายศักดิ์ตอนสาย แต่พอรู้กันว่าพลายศักดิ์ตกน้ำมัน เวลาเช้าแต่ ๗ นาฬิกาก็มีคนมาคอยดูมากมาย ที่เป็นชั้นผู้ดีก็ขึ้นดูบนป้อมหรือกำแพงพระราชวังบ้าง ที่บนกำแพงวังกรมสมเด็จฯ ซึ่งอยู่หน้าประตูวิเศษชัยศรีบ้าง ที่วังท่าพระบ้าง แอบดูอยู่ตามโรงช้าง หรือตามร้านหรือโรงแถวที่ท่าพระบ้าง แต่ที่อื่นไม่แลเห็นได้ไกลเหมือนป้อมบนกำแพง คนดูโดยมากขึ้นบนป้อมบนกำแพงวังไม่ได้ จึงต้องดูอยู่ในท้องถนน คอยหลบหลีกหาที่แอบแฝงต่อเมื่อช้างไล่มาใกล้ มีคนเกลื่อนเต็มถนนแต่เช้าทุกวัน มีคนหนุ่มคะนองอีกพวกหนึ่งชอบเล่นล่อช้างตกน้ำมัน พวกนี้ไปคอยอยู่ใกล้ๆ กับโรงช้างตกน้ำมัน ก่อนเวลาช้างน้ำมันลงน้ำสักครึ่งชั่วนาฬิกา กรมช้างเขาให้เอาช้างพลายตัวอื่นที่โรงอยู่ในหนทางช้างน้ำมันจะผ่านหลบไปไว้เสียที่อื่น พอจวนจะถึงเวลาช้างตกน้ำมันจะออกจากโรง เขาให้ช้างพังมีหมอควาญขี่ตัวหนึ่งเดินล่วงหน้าไปก่อน คนขี่ช้างพังตีฆ้องกระแตไปตามทาง เป็นสัญญาณให้คนทั้งหลายรู้ว่าช้างตกน้ำมันจะตามมาข้างหลัง พวกเจ้าของโรงร้านที่อยู่ริมทางก็พากันปิดประตูหน้าถังและพากันหลบซ่อนตัว ช้างพังผ่านไปสักครู่หนึ่งแล้วจึงให้ช้างตกน้ำมันออกจากโรง หมอควาญที่ขี่ช้างตกน้ำมันแต่งตัวนุ่งกางเกงสีแดงคาดผ้าไม่ใส่เสื้อ หมอถือขอสั้นควาญถือขอยาว พอช้างออกพ้นประตูโรง พวกคนผัดกองหนึ่งก็เข้าล่อข้างหน้าให้ไล่มาพักหนึ่ง พอช้างรอ พวกคนผัดกองหลังก็เข้าล่อให้ช้างหวนกลับไปไล่ย้อนทางข้างหลัง ช้างวิ่งไล่ไปทางไหน พวกคนดูอยู่ในถนนทางนั้นก็พากันวิ่งหนี พวกที่วิ่งหนีอยู่ก่อนกลับหันหน้ามาเดินตามช้าง ครั้นช้างกลับหน้าไล่ไปทางนั้นอีกก็วิ่งหนีอีก เหมือนนัดผลัดกันวิ่งหนีอยู่ทั้งสองข้าง ดูขันอยู่ การล่อช้างตกน้ำมันผิดกับผัดพาน เพราะคนล่อช้างตกน้ำมันไม่ได้ฝึกหัดเลือกสรรมาล่อช้างเหมือนคนผัดพาน แล้วแต่ใครอยากจะล่อก็เข้าไปล่อเป็นหมู่ใหญ่ เสี่ยงภัยเอาเองตามชอบใจ เคยมีคนล่อคนหนึ่งขาเป๋วิ่งกะเผลกๆ แต่วิ่งเร็วและใจก็กล้า ถึงเวลาช้างตกน้ำมัน เป็นมาล่อทุกปี จนคนดูรู้จักหน้าได้หมด หนีไล่หวุดหวิดกันทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ยินว่าใครล้มตาย หมอช้างที่ขี่พลายศักดิ์เวลาตกน้ำมันนั้นชื่อสุข จะเป็นขุนหมื่นชื่อใดในทำเนียบฉันไม่รู้ เรียกกันแต่ว่า “ตาสุข” หรือ “หมอสุข” พวกคนดูและคนล่อช้างชอบทั้งนั้น เพราะโดยปรกติหน้าที่ของแกมีเพียงขี่ช้างออกจากโรงไปลงน้ำที่ท่าพระ เมื่อช้างกินน้ำอาบน้ำแล้วก็ขี่กลับไปเข้าโรง ถ้ามีคนล่อ ก็ให้ช้างวิ่งไล่ เมื่อขาไปลงน้ำเที่ยวหนึ่ง กับไล่เมื่อขากลับอีกเที่ยวหนึ่ง แต่ตาสุขแกมักขับช้างไล่ย้อนไปย้อนมาวันละหลายเที่ยว ให้ดูกันวันละสักชั่วโมงหนึ่งแล้วจึงให้ช้างเข้าโรง แต่สังเกตดูแกให้ช้างไล่มากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกันทุกวัน ภายหลังจึงรู้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เขาว่าถ้าวันไหนแกได้เหล้าของกำนัลของคนดูพอแก่ใจ ช้างก็เล่นสนุก ถ้าวันไหนได้เหล้าน้อยไปช้างก็เข้าโรงเร็ว นัยว่าตลอดเวลาที่พลายศักดิ์ตกน้ำมัน ตาหมอสุขกับควาญไม่ต้องซื้อเหล้ากินทีเดียว แต่ธรรมดาช้างตกน้ำมัน คลั่งน้ำมันถึงไล่คนแต่ในเวลาน้ำมันชุก พอน้ำมันเหือดแห้งก็ไม่ไล่ ถึงหน้าหนาวจึงเป็นฤดูกีฬาสำหรับเล่นช้างน้ำมัน เพียงปีละ ๑๕ วัน แต่ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์อื่นเสด็จออกทอดพระเนตร มีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ถึงโปรดให้สร้างพลับพลาน้อยขนาดสองห้องไว้บนหลังคาป้อมขันเขื่อนเพชรที่ริมประตูวิเศษชัยศรีหลังหนึ่ง สำหรับทอดพระเนตรล่อช้างตกน้ำมัน แต่เมื่อสร้างนั้นฉันยังเด็กไม่ทันเห็นเสด็จออก เคยเห็นแต่พลับพลานั้น ยังอยู่มาจนรื้อหลังคาป้อมจึงสูญไป แต่การที่เอาช้างน้ำมันออกขี่ให้คนล่อ มีแต่ช้างหลวงในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่อื่นแม้จนในอินเดียที่ฉันได้ไปเห็น ณ เมืองชัยปุระ ดังเล่าในนิทานที่ ๕ ถ้าช้างตกน้ำมันเป็นแต่เอาล่ามแหล่งไว้กับที่ หาเอาออกขับขี่ไปไหนๆ ไม่ ล่อช้างน้ำมันจึงเข้าลักษณะเป็นกีฬาหลวงอย่างหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.

เนื้อเพลง