วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566

นางอุทัยเทวี

 




อุทัยเทวี เป็นนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องหนึ่ง โดยตัวละครเอกของเรื่องนี้คือ นางอุทัยเทวี หญิงสาวชาวบ้านที่มีเชื้อชาติเป็นพญานาค ต่อมาได้อภิเษกกับ เจ้าชายสุทธราช โอรสกษัตริย์แห่งการพนคร โดยมีบันทึกในลักษณะกลอนสวด (ประพันธ์ด้วยกาพย์สุรางคนาค์ 28 - กาพย์ยานี 11) ซึ่งได้รับความนิยมมากในอดีต แต่ในภายหลังก็มีการแต่งให้มีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่องให้มีความวิจิตรพิศดารขึ้น เช่น การกลับชาติมาเกิด ฯลฯ เพื่อให้เหมาะกับการเล่าแบบนิทานชาดก
 

 เรื่อง อุทัยเทวี      
           กล่าวถึงนครบาดาลอันเป็นเขตปกครองของ พญานาคราช พระองค์ทรงมีพระมเหสีทรงพระนามว่าวิมาลา มีพระธิดาผู้มีสิริโฉมงดงามองค์หนึ่งนามว่า สมุทมาลา ซึ่งเป็นที่รักดังดวงตาดวงใจ 
เมื่อพระธิดาสมทมาลาเจริญวัยขึ้นถึงคราวจะได้คู่ครอง ธิดาพญานาคเกิดนึกอยากจะขึ้นไปเที่ยวเล่นบนเมืองมนุษย์ พญานาคและพระมเหสีจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง เนื่องด้วยเกรงว่าจะถูกพญาครุฑที่เป็นศัตรูเก่าจับตัวไป พญานาคราชจึงสั่งให้เหล่านางนาคพี่เลี้ยงคอยดูแลพระธิดาอย่าให้คลาดสายตา แต่ด้วยความดื้อรั้นในที่สุดนางสมุทมาลาก็แอบหนีขึ้นไปบนโลกพิภพจนได้แล้วแปลงตัวเป็นหญิงสาวสวย ขณะที่ธิดาพญานาคราชซึ่งแปลงร่างเป็นหญิงสาวกำลังเดินเล่นเที่ยวอยู่ในป่าตามลำพัง รุกขเทวดาเห็นความงามของนาง ก็มี ใจปฏิพัทธ์ จึงจำแลงกายเป็นมานพรูปงามลงมาหาแล้วเกี้ยวพาราสีจนได้นางเป็นชายา ครั้นพระอินทร์ทราบเรื่องเห็นว่ารุกขเทวดาเอาแต่มัวเมาในความรักไม่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าตามที่ได้รับมอบหมาย จึงเรียกตัวไปสอบสวนและลงโทษให้ไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ ส่วนธิดาพญานาคเมื่ออยู่คนเดียวตามลำพังนางก็เกิดความหวั่นกลัว ครั้นจะกลับไปยังเมืองบาดาลก็เกรงว่าพระบิดาจะลงโทษเพราะบัดนี้ตนกำลังตั้งครรภ์อยู่ นางจึงตัดสินใจสำรอกลูกในท้องออกมาเป็นไข่ฟองหนึ่ง พร้อมพ่นพิษนาคคุ้มครองไว้ไม่ให้ไข่ถูกทำลาย แล้วใช้ผ้าสไบของตนห่อไข่ไว้พร้อมกับนำไปซุกไว้ในพงหญ้าริมหนองน้ำโดยถอดแหวนวิเศษไว้ให้ลูกในห่อนั้นด้วย ครั้นรออยู่อีกระยะหนึ่งเห็นว่ารุกขเทวดาไม่กลับมาหาตนแน่ นางจึงกลับไปอยู่ในบาดาลตามเดิม


             ขณะนั้นมีคางคกใหญ่ตัวหนึ่งกำลังหิวจนตาลาย ครั้นเห็นฟองไข่ของธิดาพญานาคด้วยความหิวคางคกก็รีบกินแล้วกลืนลงท้องทันที พิษของพญานาคทำให้คางคกตัวนั้นถึงแก่ความตาย เป็นเวลาเดียวกับที่ไข่ครบกำหนดคลอดพอดี พอเปลือกไข่แตกออกภายในก็มีเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูคนหนึ่งออกมา เด็กน้อยจึงอาศัยอยู่ในซากคางคกตัวนั้น ด้วยเข้าใจว่าเป็นแม่ของตน ที่ชายป่าใกล้หนองน้ำแห่งนั้นมีกระท่อมปลูกอยู่หลังหนึ่ง เจ้าของเป็นชายชราชื่อว่า ตาโถถาด มีภรรยาชื่อว่า ยายกาวัล ทั้งสองมีฐานะยากจนไร้บุตรหลานคอยดูแล ต้องเก็บผักหักฟืนหาปูหาปลาเลี้ยงชีวิตกันตามลำพัง
              วันหนึ่งสองตายายมาช่วยกันหาปลาในหนองน้ำนั้น หากันตั้งแต่เช้าจรดเย็นไม่พบปลาสักตัวพบแต่ซากคางคกตัวเดียวเท่านั้น จึงจะโยนทิ้งแต่ซากคางคกนั้นกลับพูดขึ้นเป็นเสียงเด็กผู้หญิงบอกกับสองตายายว่า "ตาจ๋ายายจ๋าได้โปรดเมตตาสงสารหนู พาหนูไปอยู่ด้วยนะจ๊ะ" 
 สองตายายเกิดเมตตาสงสารเห็นว่าซากคางคกนั้นพูดภาษาคนได้ก็นำกลับบ้านไปด้วย วันนั้นสองตายายไม่มีอาหารเย็นเลย เพราะว่าจับปลาไม่ได้สักตัว จึงชวนกันไปเก็บผักจากข้างรั้วหมายจะนำมาทำอาหารกินกันตามมีตามเกิด เด็กหญิงลูกธิดาพญานาคจึงออกจากซากคางคก ใช้แหวนวิเศษที่แม่ทิ้งไว้ให้เนรมิตข้าวปลาอาหารล้วนแต่ของดีๆ ขึ้นมามากมาย แล้วรีบกลับเข้าไปหลบอยู่ในซากคางคกอย่างเดิม สองตายายกลับมาก็นึกแปลกใจว่าใครกันนะนำอาหารมาให้ วันรุ่งขึ้นสองตายายจึงได้แกล้งทำทีออกไปหาผักหาปลา แล้วย่องกลับมาแอบดูจึงรู้ความจริง จึงช่วยกันอ้อนวอนให้เด็กหญิงออกจากซากคางคกมาอยู่ข้างนอก่เสีย แต่เด็กหญิงลูกธิดาพญานาคยังอาลัยซากคางคกอยู่ จึงขอกลับไปอาศัยอยู่อย่างเดิม ตายายก็ตามใจ 

             15 ปีผ่านไป เด็กหญิงเติบโตเป็นสาว มีรูปร่างหน้าตางดงาม ผิวขาวเหมือนแสงอาทิตย์ยามอุทัย ตายายจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า อุทัยเทวี 
วันหนึ่งถึงคราวที่จะได้พบเนื้อคู่ นางอุทัยเทวีนึกอยากไปทำบุญที่วัดจึงเนรมิตดอกไม้ธูปเทียนแล้วให้ตายายพาไป ความงามของนางเป็นที่ร่ำลือของผู้ที่ได้พบเห็นโดยเฉพาะหนุ่มๆ ในครั้งนั้นเผอิญ เจ้าชายสุทราชกุมาร โอรสท้าวการพ และ พระนางกาวิล ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาเที่ยวงานบุญที่วัดด้วยเช่นกัน เมื่อเจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนางอุทัยเกิดมีใจรักใคร่เสน่หา จึงสั่งให้ข้าราชบริพารไปสืบเรื่องราวของหญิงสาวที่พบ ครั้นนางอุทัยเทวีเห็นมีคนตามมาถึงบ้านนางก็รีบเข้าไปซ่อนตัวในซากคางคก ทหารคนสนิทของเจ้าชายสุทราชกุมารสอบถามตายายว่า "นางที่ไปวัดกับตายายนางเป็นใครอยู่ที่ไหนหรือ" ตายายไม่ยอมบอกความจริง ทหารคนสนิทของเจ้าชายสุทราชกุมารจึงได้ข่มขู่ตายาย ว่าเจ้าชายต้องการตัวหลานสาวไปเป็นชายา ตายายได้ฟังดังนั้นก็โกรธที่ทหารของเจ้าชายมาแสดงอำนาจจึงบอกว่าจะยอมยกนางให้ก็ต่อเมื่อเจ้าชายสามารถสร้างสะพานเงินสะพานทองจากวังมาสู่ขอที่บ้านของตนเท่านั้น
        เมื่อพระเจ้าการพเจ้าเมืองฯ ทราบเรื่องทรงพิโรธยิ่งนักสั่งให้ทหารไปจับตัวสองตายายมาลงโทษฐานลบหลู่พระเกียรติยศ แต่พระนางกาวิลทูลคัดค้านเพราะเกรงว่าจะเป็นที่ครหา ด้วยไปขอลูกหลานชาวบ้านแต่เขาไม่ยกให้แล้วพาลหาเรื่องประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง พระเจ้าการพ เลยแก้เผ็ดด้วยการมีรับสั่งให้ตายายสร้างตำหนักเงินตำหนักทองรอรับเสด็จเจ้าชายภายใน 7 วัน หากสร้างเสร็จไม่ทันต้องมีโทษ นางอุทัยเทวีเห็นว่าสองตายายต้องมาเดือดร้อนเพราะตน เที่ยงคืนคืนนั้นจึงออกมาจากซากคางคกใช้แหวนวิเศษของธิดาพญานาคผู้เป็นมารดา เนรมิตปราสาทเงินปราสาททองที่พระเจ้าการพต้องการแล้วเสร็จในชั่วพริบตา 
      ฝ่ายเจ้าชายสุทราชกุมารด้วยความรักที่มีต่อนางอุทัยเทวีจึงอธิษฐานขอให้พระอินทร์มาช่วยเนรมิตสะพานเงินสะพานให้ พระอินทร์เล็งญาณวิเศษเห็นว่าทั้งสองคนเป็นเนื้อคู่กัน สร้างสมบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อนจึงเนรมิตสะพานเงินสะพานทองให้ พระเจ้าการพเห็นว่าทั้งสองต่างเป็นผู้มีบุญญาธิการเสมอกัน จึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางอุทัยเทวีเป็นราชเทวีของเจ้าชายสุทราชกุมารอย่างสมพระเกียรติ นางอุทัยเทวีได้เนรมิตสระน้ำไว้ริมพระราชวังเพื่อใช้เป็นที่สรงน้ำ เนื่องจากนางชอบเล่นน้ำตามเชื้อสายนาคราช  
กล่าวฝ่ายพระเจ้ากัญจาราช และพระนางสันตา แห่งจุโลมนคร พระธิดาของพระองค์คือเจ้าหญิงฉันนา เป็นคู่หมั้นกับเจ้าชายสุทราชกุมาร ด้วยพระเจ้าการพเคยให้สัญญากับพระเจ้ากัญจาราชไว้ว่า เมื่อพระราชบุตรและพระราชธิดาของทั้งสองถึงวัยครองเรือนก็จะให้อภิเษกสมรสกัน แต่เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานถึง 15 ปี จนพระเจ้าการพทรงลืมเลือน 
        พระเจ้ากัญจาราชจึงมีราชสาสน์มาทวงถาม พระเจ้าการพขอให้เจ้าชายสุทราชกุมารไปอภิเษกกับเจ้าหญิงฉันนาคู่หมั้นเดิม ด้วยเกรงว่าหากผิดใจกับพระเจ้ากัญจาราชอาจเกิดศึกสงครามขึ้นได้ ซึ่งเมืองการพเป็นเมืองเล็กกว่าย่อมเสียเปรียบ เจ้าชายสุทราชกุมารเกรงอาณาประชาราษฎร์จะเดือดร้อนจึงรีบนำความไปปรึกษากับนางอุทัยเทวี นางอุทัยเทวีเชื่อในน้ำพระทัยของเจ้าชายสุทราชกุมารและเห็นแก่บ้านเมืองก็อนุญาตให้พระสวามีไปอภิเษกสมรสตามข้อผูกมัด เจ้าชายสุทราชกุมารจึงได้ให้ช่างปั้นรูปเหมือนของตนไว้ให้นางอุทัยเทวี และนำรูปเหมือนของพระชายาไปยังจุโลมนครด้วยเพื่อเป็นที่ระลึก พร้อมรับสั่งว่าอีกไม่นานจะกลับมาหานางเช่นเดิม 
        หลังจากอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฉันนาด้วยความจำเป็นแล้ว เจ้าชายสุทราชกุมารก็ไม่ได้สนใจไยดี ด้วยมีใจรักคงมั่นต่อนางอุทัยเทวีเท่านั้น เจ้าหญิงฉันนาเกิดความน้อยพระทัยเมื่อทราบความจริงจากข้าหลวงคนสนิทก็คิดริษยา จึงสั่งให้นำรูปนางอุทัยเทวีไปทิ้งน้ำเสีย แต่แทนที่เจ้าชายสุทราชกุมารจะลืมเลือนนางอันเป็นที่รัก กลับยิ่งเฝ้าเพ้อคร่ำครวญถึงแต่นางอุทัยเทวีไม่สร่างซา มิหนำซ้ำยังพลอยโกรธเคืองเจ้าหญิงฉันนาทำให้หมางเมินยิ่งกว่าแต่ก่อนเข้าไปอีก เจ้าหญิงฉันนายังไม่ยอมสำนึกตัวหันมาสร้างความดีเอาชนะใจเจ้าชาย กลับเชื่อแรงยุยงของข้าหลวงคนสนิท นางทำการว่าจ้างสองตายายผู้วิเศษให้ไปลวงจับเอานางอุทัยเทวีมากักขังไว้สองตายายขี่เรือพยนต์เหาะมาหานางอุทัยเทวีถึงเมืองการพแล้วลวงว่าเจ้าชายสุทราชกุมารให้มารับไปอยู่ด้วยกัน นางอุทัยเทวีหลงเชื่อจึงนั่งเรือไปกับสองตายาย นางจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าหญิงฉันนา ด้วยความแค้นเจ้าหญิงฉันนาสั่งให้เฆี่ยนนางอุทัยเทวีจนสลบ แล้วให้สองตายายเจ้าเล่ห์นำไปทิ้งแม่น้ำเพราะเข้าใจว่านางอุทัยเทวีนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว นางอุทัยเทวีมีเชื้อสายนาคราชพอร่างถูกน้ำนางก็ฟื้นขึ้นมา 
        ขณะนั้นเองแม่ค้าขายขนมพายเรือผ่านมาพบจึงช่วยเอาไว้ และพาไปเลี้ยงไว้ที่บ้านของตนซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ นางอุทัยเทวีอาสาพายเรือขายขนมแทนแม่ค้าโดยแปลงกายเป็นหญิงชราแต่มีผมดำสนิท แล้วพายเรือไปขายแถวท่าน้ำพระราชวังที่เจ้าชายสุทราชกุมารประทับอยู่ ส่วนเจ้าหญิงฉันนานั้นผลกรรมได้ตามสนองทำให้ผมหงอกขาวโพลนหมดทั้งศีรษะ นางข้าหลวงคนสนิทเห็นหญิงชราพายเรือมาขายขนมแต่มีผมดำสนิท จึงพาหญิงชรามาเฝ้าเจ้าหญิงฉันนาเพื่อให้ช่วยรักษาผมที่หงอกขาวให้ หญิงชราจึงโกนผมเจ้าหญิงฉันนาและเอาปลาร้าพอกจนทั่วแล้วใช้หม้อดินครอบเอาไว้ บอกว่าเป็นยาวิเศษอีก 7 วัน จะมาเอาหม้อที่ครอบไว้ออก ในที่สุดแผลที่ถูกมีดโกนผมบาดทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเจ้าหญิงฉันนาสิ้นใจในเวลาต่อมาเพราะหมอหลวงทำการรักษาไม่ทัน 
เจ้าชายสุทราชกุมารบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าหญิงฉันนา เมื่อสึกแล้วจึงลาพระเจ้ากัญจาราชกลับไปยังเมืองการพของตนตามเดิม พระเจ้าการพได้มอบราชสมบัติให้เจ้าชายสุทราชกุมารและนางอุทัยเทวีครอบครอง บ้านเมืองก็สงบสุขเจริญรุ่งเรืองนับแต่นั้นมา 

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

 



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  

 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2424 

เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 32 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

 

 พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423  เพลาอีกบาตรหนึ่ง ถึง 3 โมงเช้า ณ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังชั้นใน มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนนี 7 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421 - 2430)
  2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2424 - 2468)
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (พ.ศ. 2425 - 2430)
  4. สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2426 - 2463)
  5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. 2428 - 2430)
  6. สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2432 - 2467)
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย (พ.ศ. 2435 - 2466)
  8. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2436 - 2484)

แม้ตอนประสูติ พระราชชนนียังดำรงพระยศเป็น พระราชเทวีอยู่ ยังมิได้ดำรงพระยศ พระอัครมเหสี แต่ตามขัตติยราชประเพณีในรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสธิดาดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมทุกพระองค์ พระอิสริยยศเดิมของพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม เมื่อพระชนมพรรษาเจริญครบเดือน สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ยังมิได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียกว่า "ลูกโต" พระประยูรญาติในพระราชสำนักดำเนินรอยตามพระบรมราชอัธยาศัยเรียกพระองค์ท่านว่า "ทูลกระหม่อมโต" จัน ชูโต เป็นพระพี่เลี้ยง

ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2431 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2432) ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฏสุริยสันตติวงษ อดิสัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมาร ทรงศักดินา 50,000 ตามอย่างเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงตั้งเจ้ากรมเป็นกรมขุนเทพทวาราวดี รับพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ในขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้นทรงศึกษากับนายโรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant) ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 พระชนมายุได้ 12 พรรษาเศษ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อในหลักสูตรภาษาละตินและเรขาคณิต(เทียบเท่าแผนการเรียนภาษาอังกฤษ-คณิตศาสตร์(ศิลป์-คำนวณ)) ณ ประเทศอังกฤษ ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดฯให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารสืบแทนสมเด็จพระเชษฐา


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษหลายแขนง ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากแซนเฮิสต์แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2444 แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเสด็จในฐานะผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศใกล้เคียง เสด็จนิวัตพระนครตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเสด็จผ่านสหรัฐและประเทศญี่ปุ่น ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2445

ทรงผนวช

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2447 เวลาเช้า 3 โมงเศษ ทรงผนวชเป็นครั้งที่ 3 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ถึงเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน กับพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์พระองค์เดิม ผนวชแล้วประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถึงวันที่ 11 ธันวาคม ศกนั้น จึงทรงลาผนวช แล้วปฏิญาณพระองค์ถึงไตรสรณคมน์และรับศีล ยังทรงประทับในวัดบวรนิเวศวิหารต่อจนเช้าวันที่ 15 ธันวาคม จึงเสด็จฯ กลับ

ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนครไว้แด่พระองค์ เป็นการรับสนองพระเดชพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุดด้วยระหว่างทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นี้ ทรงรับเป็นประธานการจัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งงานสำคัญบรรลุโดยพระราชประสงค์อย่างดี

การขึ้นครองราชย์


เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทั้ง ๆ ที่พระองค์นั้นได้รับการสถาปนาตั้งไว้ในพระรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 แต่ก็ทรงเศร้าสลด ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติสำหรับพระองค์เองกับการสูญเสียพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) แท้ ๆ ทูลเชิญเสด็จลงที่ห้องแป๊ะเต๋งบนชั้น 2 พระที่นั่งอัมพรสถาน และท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ชุมนุมอยู่ พระปิตุลาได้คุกพระชงฆ์ลงกับพื้นกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทันใดทุกท่านที่ชุมนุมอยู่ที่นั้น ก็ได้คุกเข่าลงกราบถวายบังคมทั่วกัน และในคืนนั้นได้มีประกาศภาษาไทยให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม จึงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[19]

ในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 จึงรับบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน์อัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ทรงเห็นชอบกับคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาบดีให้เฉลิมพระปรมาภิไธย "สมเด็จพระรามาธิบดี" แทนคำว่า "สมเด็จพระปรเมนทร" จึงมีพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว" และเมื่อยกรามาธิบดีเป็นคำนำพระปรมาภิไธยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้นเรศรามาธิบดี เป็นนเรศราธิบดี แทน


เหตุการณ์ในรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติในช่วงที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากเหตุภัยแล้ง พ.ศ. 2450-2453 และเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งแนวคิดทางการเมือง หรือข่าวคราวการปฏิวัติในต่างประเทศได้ไหลบ่าเข้ามาสู่ผู้มีการศึกษาในสยาม

ในเดือนแรกหลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงปรับโครงสร้างกองทัพโดยการยุบกรมยุทธนาธิการ ทรงตั้งกระทรวงกลาโหมที่มีอำนาจบัญชากองทัพบกอย่างเดียว และทรงยกแยกกรมทหารเรือออกมาตั้งเป็นกระทรวงทหารเรือ มีอำนาจบัญชากองทัพเรืออย่างเดียว[24] อย่างไรก็ตาม การคลังสยามในเวลานั้นอยู่ในภาวะขัดสน ถึงกระนั้น กองทัพก็ยังคงเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด รายจ่ายด้านการป้องกันอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 24.3 ขณะที่รายจ่ายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรม การศึกษา และพาณิชยกรรมรวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้น

รัฐบาลสยามในรัชสมัยพระองค์ยังค่อนข้างมีหัวแบบอนุรักษนิยม ต่อต้านการรับเงินทุนจากต่างชาติ และมีอคติต่อการให้สัมปทานต่อต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินทุนในสยามมีน้อย ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้น เหตุอื้อฉาวที่พระองค์ทรงย่ำยีเกียรติของทหารบกเมื่อครั้งเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทำให้นายทหารส่วนใหญ่ไม่ค่อยนับถือพระองค์ ถึงขนาดที่หลังครองราชย์แล้ว พระองค์ถูกหว่านบัตรสนเท่ห์บริภาษอย่างรุนแรงว่าพระองค์ "เป็นคนเลวทรามไม่ควรจะอยู่บนพื้นโลก" ซึ่งพระองค์ทรงตอบโต้ไว้ต่อบัตรสนเท่ห์ดังกล่าวว่า "พวกเก๊กเหม็งในกรุงเทพออกจะฟุ้งสร้านมาก พูดอึงไปถึงเรื่อง “รักชาติ” “ราษฎรเปนใหญ่” ฯลฯ ซึ่งเกิดเปนขี้ปากของพวกคนไทยเชื้อจีนขึ้นก่อน แล้วคนไทยหนุ่มๆที่ชอบคบเจ๊กพลอยเก็บขี้ปากของมันมาพูดกันบ้าง" ข้อความนี้สะท้อนได้ว่า พระองค์ทรงมองประชาธิปไตยเป็นแนวคิดเพ้อเจ้อที่ถูกเสี้ยมโดยชาวไทยเชื้อสายจีน

นอกจากนี้ พระมงกุฎเกล้ามีความโปรดปรานใกล้ชิดบรรดามหาดเล็กเป็นพิเศษ ทรงสนใจอยู่แต่กับโขนการละคร ในรัชสมัยของพระองค์ มหาดเล็กกลายเป็นหน่วยราชการที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่านายทหาร คราวที่พระองค์พระราชทานเงินของขวัญวันเกิดมหาศาลให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ ได้เกิดปฏิกิริยาจากนายทหารที่ว่า "พระเจ้าแผ่นดินรักคนใช้มากดีไหม...ให้เงินทีตั้ง 100 ชั่ง หมายความว่ากระไร... พระเจ้าแผ่นดินเอาแต่เล่นโขน เอาเงินมาสร้างบ้านซื้อรถให้มหาดเล็ก...ทำไมพระราชาองค์นี้จึงโปรดมหาดเล็ก แต่ผู้หญิงไม่ชอบเลย"

ตั้งกองเสือป่า

ด้วยความที่การที่พระมงกุฎเกล้าทรงขาดบารมีเหนือกองทัพ นายทหารในกองทัพภักดีต่อผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ของตนมากกว่ากษัตริย์ เรื่องนี้พระองค์ทรงตระหนักเป็นอย่างดี ทรงมองว่าพระองค์ต้องเร่งสร้างความจงรักภักดีให้ขยายออกไปอย่างเร่งด่วนในหมู่ข้าราชการ พระองค์จึงทรงตั้งกองกำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า "กองเสือป่า" ขึ้นเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ตัวพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง "นายกองใหญ่" มีเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารบางส่วนเป็นคณะผู้บังคับบัญชา และมีข้าราชการพลเรือนเป็นพลเสือป่า

การเป็นสมาชิกเสือป่าเป็นหนทางใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และยังได้สิทธิยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ทำให้เครือข่ายเสือป่าขยายตัวทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว การที่ผู้บังคับบัญชาเสือป่าคือเหล่าผู้ใกล้ชิดพระองค์ ทำให้ในที่สุด เครือข่ายเสือป่าเริ่มแทรกแซงระบบราชการจนเสียหาย บางครั้งมีการเรียกตัวพลเสือป่าที่เป็นข้าราชการมาซ้อมรบ ทำให้ข้าราชการผู้นั้นขาดจากงานราชการปกติ บ้างก็เบียดบังงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนกองเสือป่า การซ้อมรบเสือป่าก็ไม่มีความจริงจังเพื่อฝึกฝนความชำนาญ มักจัดฉากให้กองเสือป่าหลวงของพระองค์ชนะอยู่เสมอ มีครั้งหนึ่งที่ทรงซ้อมรบแพ้เจ้าพระยายมราช ก็รับสั่งให้คุมตัวเจ้าพระยายมราชมาและตัดสินใหม่ให้พระองค์ชนะ การซ้อมรบของเสือป่าจึงเป็นเพียงเพื่อความสำราญสนุกสนานของกษัตริย์ อาวุธของกองเสือป่าก็หยิบยืมมาจากกองทัพบกแทบทั้งสิ้น

ความกระด้างกระเดื่องในหมู่ทหาร

การตั้งกองเสือป่าสร้างความคับแค้นใจแก่ทหารบกที่รู้สึกว่าถูกเบียดบังหน้าที่และทรัพยากร ในด้านกองทัพเรือยิ่งเลวร้าย มีการตัดค่าวิชาเดินเรือ มีการตัดเบี้ยเลี้ยงนักเรียนนายเรือเหลือวันละสลึง บรรดาทหารต่างรู้สึกว่าถูกกษัตริย์ทอดทิ้ง ในขณะที่มหาดเล็กและผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทต่างได้ดิบได้ดี


ความคับแค้นใจที่ทหารเรือมีต่อพระองค์ ทำให้ทหารเรือแสดงออกโดยการเอาตอร์ปิโดประดับบนโต๊ะเสวยในงานเลี้ยงโรงเรียนนายเรือที่พระองค์เสด็จเป็นประธาน หรือการก่อวิวาทกับบรรดามหาดเล็กบ่อยครั้ง นำไปสู่การปลดพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากตำแหน่งอาจารย์เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2454 มีเนื้อความว่า "พวกนายทหารเรือที่ได้ศึกษาวิชาการมาจากโรงเรียนนายเรือมีความอิ่มเอิบกำเริบใจ จนไม่รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน มีความมัวเมาไปด้วยกำลังโมหจริตแห่งตน...นี่เพราะผู้ฝึกสอนและเปนใหญ่ปกครองละเลยไม่กำหราบศิษย์ อันมีจิตร์ฟุ้งสร้าน ศิษย์จึงมีความละเลิงใจ"

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเล็งเห็นหลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน ทรงโน้มน้าวให้พระมงกุฎเกล้าแก้ไขนโยบายหลายอย่าง เช่นทรงมองว่าการตั้งกองเสือป่ามีหลักการที่ดีแต่ก็มีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขมาก แต่คำแนะนำทั้งหมดถูกพระมงกุฎเกล้าเพิกเฉย

กบฏ ร.ศ. 130

ความคับแค้นใจต่อการปกครองของพระองค์จากเหตุปัจจัยข้างต้น ทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่งและวางแผนลอบปลงพระชนม์และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ก็ระบอบสาธารณรัฐ) ซึ่งคณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ  ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์, ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ, ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร, ร.ต.เขียน อุทัยกุล

คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้งกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะผู้ก่อการทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์

ภายหลังการกวาดล้างกบฏ พระมงกุฎเกล้าให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์สยามออฟเซิร์ฟเวอร์ ทรงแสดงท่าทีสนับสนุนให้เกิดระบบรัฐสภาเมื่อถึงเวลาอันควร

สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง


พ.ศ. 2457 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในทวีปยุโรป ทรงให้ความสนใจและติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิด ในตอนแรกพระองค์มีนโยบายวางตัวเป็นกลาง แต่ก็เริ่มเอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายไตรภาคี (บริเตนใหญ่, ฝรั่งเศส และรัสเซีย) ในที่สุด ประเทศสยามประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และประกาศสงครามต่อจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 การตัดสินพระทัยในครั้งนั้นได้รับการคัดค้านจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนสยามไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเป็นจำนวนมาก จึงนิยมและเคารพเยอรมนีเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ และเยอรมนีไม่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้สยามมาก่อน

ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเปลี่ยนสถานะของสยามจากบ้านป่าเมืองเถื่อนห่างไกลเป็นประเทศที่เชิดหน้าชูตา และได้เป็นสมาชิกแรกก่อตั้งของสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นใหม่หลังสงคราม และยังได้แก้ไขสนธิสัญญาที่สยามเสียเปรียบต่อประเทศอื่นๆด้วยกันถึง 13 ประเทศ การตัดสินพระทัยครั้งนี้ของพระองค์นับว่าถูกต้อง และช่วยกอบกู้ความนิยมของพระองค์ในหมู่ราษฎรได้ไม่น้อย

พระชนมชีพหลังสงครามโลก

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับพระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปการแสดง จนนับได้ว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของศิลปะด้านการแสดง ทั้งแบบจารีตคือ โขน ละครนอก ละครใน และละครแบบใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลของประเทศตะวันตก อันได้แก่ ละครร้อง ละครพูด ละครดึกดำบรรพ์ ความสนพระทัยของพระองค์ต่องานแสดงนั้น มิใช่เพียงแต่การทอดพระเนตรดังเช่นรัชกาลที่ผ่านมา แต่ได้มีส่วนพระราชนิพนธ์บทละครทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศรวมประมาณ 180 เรื่อง ทรงควบคุมการแสดง และทรงแสดงร่วมด้วย

ในช่วงปลายรัชกาลทรงใช้เวลาส่วนพระองค์ไปกับการพระราชนิพนธ์บทละคร และบทความเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พระองค์ได้ออกหนังสือข่าวของ "ดุสิตธานี" ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ คือ ดุสิตสมัย รายวัน และดุสิตสมิธ ราย 3 เดือน ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องตลกขบขัน เบ็ดเตล็ด และกวีนิพนธ์ ลักษณะเด่นคือมีการ์ตูนล้อการเมือง หนังสือพิมพ์เป็นเวทีแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและสนามสำหรับแสดงโวหาร พระราชนิพนธ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ได้แก่ "โคลนติดล้อ" เป็นการเขียนถึงสังคม ความเป็นอยู่ และการเมืองของไทย

การสวรรคต


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยทรงได้เสวยพระกระยาหารผิดสำแดงและทรงพระบังคน มีมดมาเกาะพระบังคนหมอจึงสรุปว่า มีเบาหวานแทรกซ้อนแต่พระอาการก็ทรงกับทรุด จนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวมพระชนมพรรษาได้ 44 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา แต่รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน และถือว่าวันพระมหาธีรราชเจ้าตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ส่วนพระบรมราชสรีรางคารได้เชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระปฤศฤๅงค์ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ส่วนพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์กลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ อีกส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว

ชีวิตส่วนพระองค์

ความรัก และการอภิเษกสมรส

เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา พระธิดาพระองค์กลางในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ถึงกับมีการหมายมั่นว่าพระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณาจะได้เป็นสมเด็จพระราชินีในอนาคต แต่หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศก็มิได้สนพระทัยในพระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณานัก และเมื่อตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ แต่ก็มีพระราชกระแสว่า "ก็ฉัน ไม่รักนี่นา"

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเพลินไปกับการอุทิศพระองค์เพื่อดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ในอันที่จะทรงนำสยามประเทศก้าวขึ้นสู่การยอมรับของนานาอารยประเทศ กระทั่งปี พ.ศ. 2460 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว จึงได้มีพระราชกระแสทรงพระราชปรารภกับคุณมหาดเล็กที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า "รบศึกยังไม่ชนะ ยังไม่มีเมีย ชนะศึกมีเมียได้แล้ว" ทว่าเมื่อกองทหารอาสาที่ไปร่วมรบในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปเดินทางกลับมาถึงพระนคร ยังไม่ทันครบเดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงพระประชวรเรื้อรังมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็มาด่วนเสด็จสวรรคตไปอีกพระองค์หนึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 ในพระราชสำนักจึงต้องมีการไว้ทุกข์ถวายต่อเนื่องกันมาอีกหลายเดือน เสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แล้ว จึงได้มีพระราชดำริให้มีการรื่นเริงเพื่อคลายทุกข์โศก เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพ ครั้งที่ 2 ที่ศาลาวรนาฏเวทีสถาน พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า "อยากจะให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมการประกวดภาพแบบนี้บ้าง" จึงได้ทรงกำหนดให้มีการประกวดภาพครั้งที่ 3 ที่พระราชวังพญาไท ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทำให้พระองค์ได้พบกับหม่อมเจ้าวรรณวิมล พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามของพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยพระนามของหม่อมเจ้าวรรณวิมล เปลี่ยนเป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี พร้อมกับขนิษฐาอีก 4 องค์ ที่รวมไปถึงหม่อมเจ้าวรรณพิมล ก็ได้รับพระราชทานพระนามเป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ และต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ได้สถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี แต่ด้วยมีเหตุพระราชอัธยาศัยไม่ต้องกัน จึงมีพระบรมราชโองการถอนหมั้นลงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2464) และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464 ได้สถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของอดีตพระวรกัญญาปทานขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน จึงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ราชาภิเษกสมรสในภายหน้า แต่ในวันที่ 27 ตุลาคม ของปีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงราชาภิเษกสมรสกับเปรื่อง สุจริตกุล อดีตนางสนองพระโอษฐ์ของอดีตพระวรกัญญาปทาน ได้รับการแต่งตั้งมีราชทินนามเป็น พระสุจริตสุดา แต่ก็มิได้ตั้งครรภ์ตามพระราชประสงค์


ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) จึงได้ราชาภิเษกสมรสกับประไพ สุจริตกุล น้องสาวของพระสุจริตสุดา และได้มีราชทินนามเป็น พระอินทราณี

ด้วยเหตุที่พระอินทราณีได้ตั้งครรภ์ จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธอ และพระบรมราชินี ตามลำดับ แต่ในปลายปีเดียวกันนั้นก็ได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ทั้งสองพระองค์มิได้ราชาภิเษกสมรสหรือมีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน ท้ายที่สุดจึงตัดสินพระทัยแยกกันอยู่

ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงตกพระครรภ์หลายครั้ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 ได้มีการเขียนพระราชพินัยกรรมขึ้น โดยได้เขียนไว้ว่าว่าห้ามนำพระอัฐิของพระองค์ตั้งคู่กับพระอัฐิของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากจะตั้งก็ให้ตั้งคู่กับเจ้าจอมสุวัทนา เพราะทรงยกย่องว่าเป็น "เมียดีจริงๆ" และยังเป็นที่ทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสสืบไปได้ และด้วยเกิดเหตุหลายประการเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี อันมีเรื่องการตกพระครรภ์หลายครั้ง เป็นเหตุผลประการหนึ่ง จึงมีการลดพระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ลงเป็น พระวรราชชายา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะประสูติกาลพระบุตรในไม่ช้า ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักและมีพระอาการรุนแรงขึ้น ในยามนั้นพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน” จนรุ่งขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต  รวมพระชนมพรรษา 44 พรรษา ครองราชสมบัติรวม 15 ปี

พระราชธิดาพระองค์นั้นต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้” ต่อมาเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา พร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 จนในปี พ.ศ. 2501 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ นิวัติกลับประเทศไทยเป็นการถาวรและประทับที่วังรื่นฤดีร่วมกัน ท้ายที่สุด สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

ลักษณะวงศ์





รื่นรื่นชื่นกลิ่นผกามาศ

บุปผชาติลมชายไม่หายโหย

พระหอมกลิ่นสุกรมเมื่อลมโชย

ยิ่งดิ้นโดยกรมจิตคิดรำจวน

เห็นนางนกกกลูกประคองกอด

สะท้อนทอดหฤทัยอาลัยหวน

เหมือนแม่เจ้าคราวกอดถนอมนวล

เลี้ยงสงวนลูกไว้ไม่ไกลกาย

ลักษณ์วงศ์ เป็นนิทานหนึ่งในห้าเรื่อง ที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้  ได้แก่ โคบุตร
พระอภัยมณี  พระไชยสุริยา  ลักษณวงศ์  และสิงหไตรภพ 

เรื่องลักษณวงศ์นี้  สุนทรภู่ได้แต่งไว้ตั้งแต่ต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2  แล้วมาแต่งต่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  มีความยาวถึง  9  เล่มสมุดไทย  (เป็นสำนวนที่ผู้อื่นแต่งต่ออีก 30 เล่ม)  นับว่าเป็นเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง  รองจากพระอภัยมณี และสิงหไตรภพ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อเมื่อคราวตกยาก หลังจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ และสุนทรภู่สึกจากพระครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นมีผู้อื่นแต่งเรื่องลักษณวงศ์ต่อไปอีก  เป็นกลอนสุภาพอีก 7 เล่มสมุดไทย  แล้วต่อด้วยบทละครอีก 23 เล่มสมุดไทย รวมเป็น 39 เล่มสมุดไทย แต่สำนวนกลอนในตอนหลังเทียบกับสุนทรภู่ไม่ได้เลย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่ของสุนทรภู่

เรื่องย่อ

กษัตริย์ผู้ครองเมืองพาราณสีพระนามว่าท้าวพรหมทัต มีมเหสีทรงพระสิริโฉมงดงามพระนามว่าสุวรรณอำภา และพระโอรสพระนามว่าลักษณวงศ์ พระชันษาได้ ๘ ปี วันหนึ่งทั้งสามพระองค์เสด็จประพาสป่า นางยักขิณีคิดกำจัดมเหสีและพระโอรส จึงแปลงเป็นกวางทองมาล่อให้ท้าวพรหมทัตไล่ติดตามจนพลัดกับเหล่าเสนา แล้วกลับร่างเป็นยักษ์ แกล้งบอกว่าพระมเหสีวางอุบายให้ลวงมาฆ่า แล้วนางยักขิณีแปลงเป็นนางงาม อ้างว่าได้รับพรจากเทพยดา พวกยักษ์และผีป่าจึงเกรงกลัว พร้อมทั้งอาสาไปส่งจนถึงเมือง

ท้าวพรหมทัตโกรธแค้นนางสุวรรณอำภาเป็นอันมากจึงตรัสสั่งให้นำไปประหาร ลักษณวงศ์อ้อนวอนขออภัยโทษให้แก่พระมารดาแต่ไม่โปรด จึงเศร้าโศกเสียพระทัยและติดตามพระมารดาไปถึงสถานที่ประหาร ทรงกอดนางไว้ไม่ห่างทำให้เพชฌฆาตไม่อาจประหารได้ ด้วยความสงสารจึงพากันไปกราบทูลท้าวพรหมทัต แต่พระองค์กลับสั่งให้ประหารลักษณวงศ์ไปเสียด้วยกัน ครั้นพระอินทร์ทรงทราบก็เสด็จลงมาช่วย บันดาลให้เพชฌฆาตเงื้อดาบค้างไม่อาจฟันลงได้ เพชฌฆาตจึงปล่อยทั้งสองพระองค์ให้หนีไปในป่า แล้วกลับมากราบทูลท้าวพรหมทัตว่าได้ประหารเสร็จแล้ว ท้าวพรหมทัตจึงเสด็จกลับเมืองพร้อมด้วยนางยักษ์แปลง ได้นางเป็นมเหสี มีพระธิดาพระนามว่าทัศโกสุม

ฝ่ายนางสุวรรณอำภากับพระลักษณวงศ์เดินทางระหกระเหินจนอ่อนกำลัง ขณะบรรทมหลับ ท้าววิรุญมาศขุนยักษ์มาพบและบังคับนางสุวรรณอำภาไปเมืองมยุราเพื่อเป็นมเหสีของตน โดยขู่ว่าหากไม่ยอมไป จะสังหารลักษณวงศ์ซึ่งต้องมนตร์สะกดหลับสนิทอยู่ นางจึงจำใจเดินทางไปกับขุนยักษ์ เมื่อตั้งสัตย์อธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไม่ขอมีพระสวามีอื่นอีก ทำให้ประเวณีในร่างกายของนางหายไป แต่นางลวงท้าววิรุญมาศให้หลงเชื่อว่า เมื่อนางคลายความห่วงอาลัยในพระโอรสลงแล้วก็คงจะได้สมความปรารถนา ท้าววิรุญมาศดีพระทัย จึงสั่งให้เหล่านางกำนัลเฝ้าดูแลปรนนิบัตินางสุวรรณอำภาเป็นอย่างดี

ส่วนลักษณวงศ์ตื่นขึ้นไม่เห็นพระมารดา ก็เที่ยวร้องเรียกหาและออกติดตามจนพบนางทิพเกสรที่อาศรมพระฤๅษีมหาเมฆ พระฤๅษีเล็งญาณรู้ว่าลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรเป็นคู่สร้างกัน แล้วบอกลักษณวงศ์ให้ทราบเหตุที่เกิดกับพระบิดาและพระมารดา พร้อมทั้งชวนให้อยู่เรียนวิชาและเวทมนตร์ต่าง ๆ เมื่อลักษณวงศ์เล่าเรียนและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงขอลาไปช่วยพระมารดา โดยสัญญาว่าเสร็จธุระแล้วจะกลับมารับนางทิพเกสร พระฤๅษีจึงให้พระขรรค์และศรเป็นอาวุธประจำกาย พร้อมทั้งเสกขึ้ผึ้งเป็นม้าทรงสำหรับเหาะเหินเดินทางได้รวดเร็ว ลักษณวงศ์ไปช่วยพระมารดาได้สำเร็จ สามารถสังหารท้าววิรุญมาศและได้ครองเมืองมยุรา แต่ยังมารับนางทิพเกสรไม่ได้ เพราะพระมารดาขอร้องให้ไปปราบนางยักษ์ที่เมืองพาราณสีก่อน

ลักษณวงศ์พร้อมด้วยพระมารดากรีธาทัพยักษ์ไปล้อมเมืองพาราณสี นางยักษ์แปลงอาสาออกรบ เมื่อเหล่าเสนาไล่จับจึงกลับร่างเป็นยักษ์และถูกจับได้ ท้าวพรหมทัตดีพระทัยที่ได้พบนางสุวรรณอำภาและพระลักษณวงศ์ ตรัสสั่งให้นำนางยักษ์ไปถ่วงทะเล แล้วให้จัดการสมโภชทั้งสองพระองค์ และปกครองเมืองพาราณสีอย่างสงบสุขสืบมา

ฝ่ายนางทิพเกสรเฝ้ารอลักษณวงศ์มารับจนกระทั่งพระฤๅษีวายชนม์ นางเศร้าโศกเพราะขาดที่พึ่งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย กินรีห้านางผ่านมาจึงช่วยไว้แล้วพาไปอยู่ด้วยกันที่ถํ้า เมื่อลักษณวงศ์เดินทางมารับที่พระอาศรมจึงไม่พบใคร แต่นางกินรีน้องสุดท้องช่วยพาไปพบนางทิพเกสรและได้นางเป็นพระชายา รวมทั้งได้ร่วมภิรมย์กับนางกินรีทั้งห้าด้วย หลังจากนั้นลักษณวงศ์พานางทิพเกสรเดินทางกลับเมืองพาราณสี เมื่อพักบรรทมระหว่างทาง มหิงสาวิชาธรมาลักพานางไป แล้วจันทาวิชาธรต่อสู้ช่วงชิงจนต้องอาวุธสิ้นชีพทั้งคู่ นางทิพเกสรต้องเดินทางในป่าเพียงลำพัง เทพยดาสงสารเกรงว่าจะได้รับอันตรายเพราะเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว จึงแปลงเป็นพราหมณ์นำแหวนมาให้สวมใส่ ทำให้ร่างกายของนางเปลี่ยนเป็นพราหมณ์น้อย หากถอดแหวนก็จะกลับร่างเป็นสตรีตามเดิม พร้อมทั้งบอกทิศให้นางเดินทางไปตามหาลักษณวงศ์

ด้านลักษณวงศ์เมื่อมนตร์สะกดคลายก็ตื่นขึ้น ครั้นไม่พบนางทิพเกสรก็เฝ้าแต่เศร้าโศก เที่ยวตามหาไปจนถึงเมืองยุบลของท้าวกรดสุริกาล ได้พระธิดายี่สุ่นเป็นมเหสีและครองเมืองยุบล ฝ่ายนางทิพเกสรทรงครรภ์ แต่รูปเนรมิตของพราหมณ์พรางไว้จึงมองไม่เห็น นางเดินทางตามหาลักษณวงศ์จนเข้าเขตเมืองยุบล ได้พบพรานป่าคนหนึ่ง บอกให้รู้ข่าวลักษณวงศ์เป็นกษัตริย์เมืองยุบลและได้มเหสีองค์ใหม่ นางทิพเกสรเสียพระทัยมากและขอให้นายพรานพาเข้าถวายตัว เมื่อลักษณวงศ์เห็นพราหมณ์เกสรมีรูปร่างหน้าตาและนํ้าเสียง อีกทั้งชื่อคล้ายกับนางทิพเกสรก็สงสัย ส่วนพราหมณ์เกสรนั้นเฝ้ารับใช้ใกล้ชิด จนเป็นที่โปรดปรานมาก ทำให้ลักษณวงศ์ห่างเหินจากนางยี่สุ่นและเหล่าสนมกำนัลทั้งหลาย นางยี่สุ่นอิจฉาพราหมณ์เกสรจึงคิดอุบายใส่ความว่าพราหมณ์ทำกิริยาเชิงชู้สาวกับตน ลักษณวงศ์หลงเชื่อโดยไม่ไต่สวนความให้ถ้วนถี่ ตรัสสั่งให้นำพราหมณ์เกสรไปโบยและจองจำแล้วประหารชีวิต เมื่อเพชฌฆาตลงดาบประหาร ร่างพราหมณ์เกสรกลับเป็นนางงามและคลอดพระโอรส ลักษณวงศ์ทราบเรื่องจึงรีบเสด็จไปที่ลานประหาร ครั้นเห็นว่าเป็นนางทิพเกสรก็เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดประมาณจนสลบไป ครั้นสร่างโศกแล้วจึงสั่งให้เคลื่อนพระศพเข้าเมือง และจัดพิธีถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ


วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566

หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต นครสวรรค์

 


หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต นครสวรรค์

หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ) อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ประวัติ ลึกๆแล้ว ยังไม่มีใครรวบรวมไว้เลย ที่มีปรากฏอยู่ ก็จะเป็นประวัติ ย่อๆ

หลวงพ่อทอง เป็นพระธุดงค์รูปหนึ่ง ที่ธุดงค์ มาจาก จ.อุตรดิตถ์ ผ่านมาเห็นสภาพวัด ซึ่งขณะนั้นได้เป็นวัดร้าง ปกคลุมด้วยป่าไผ่ และต้นไม้น้อยใหญ่ มีความสงบร่มรื่น จึงได้ปักกลด เจริญภาวนา ครั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้พบเห็น จึงได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์ ให้พำนักจำพรรษา และได้ช่วยกัน บูรณะปฏิสังขรณ์วัดด้วยความที่หลวงพ่อทอง ท่านเป็นพระเถราจารย์ ที่เข้มขลัง เรืองเวทย์รูปหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ทุกหมู่เหล่า การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในปี พ.ศ 2481 หลวงพ่อทอง เป็นพระเกจิอีกหนึ่งองค์ ที่ได้เข้าร่วม ในงานพิธีหล่อพระพุทธรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ต่อมาทางคณะสงฆ์ได้ส่ง พระสมุห์ทองใบ มาช่วยในงานบูรณะวัด จนถึง ปี พ.ศ 2484 หลวงพ่อทอง ก็ได้ มรณภาพลง พระสมุห์ทองใบก็ได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสต่อจาก หลวงพ่อทอง ในปีพ.ศ 2485หลวงพ่อทอง วัดเขากบ เป็นพระเถราจารย์ที่มีคุณงามความดี มีวิชาที่เข้มขลัง เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน ทุกหมู่เหล่า น้ำมนต์ หลวงพ่อทอง ศักดิ์สิทธ์มาก แต่จะเป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่า น้ำมนต์ หลวงพ่อทอง ให้อฐิษฐานแล้วให้ดื่มได้อย่างเดียว ห้ามใช้อาบโดยเด็ดขาด

หลวงพ่อทองหรือหลวงปู่ทองป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดวรนาถบรรพต ท่านมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน แม้จะมรณภาพไปนานแต่ก็เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป อีกทั้งชื่อเสียงของหลวงปู่ทองที่มีอาคมขลังและความศักดิ์สิทธิ์ยังเลื่องลือจนปัจจุบัน โดยมีเรื่องเล่าขานถึงหลวงปู่ทองมากมาย อาทิ ครั้งหนึ่งเมื่อท่านขึ้นไปพอกปูนยอดเจดีย์อยู่บนนั่งร้านที่สูงกว่า 20 ศอก แล้วเกิดพลัดตกลงมาจากนั่งร้านลงมาถึงพื้นดินแทนที่จะได้รับบาดเจ็บท่านกลับลุกขึ้นปัดฝุ่นที่จีวรแล้วกลับขึ้นไปพอกปูนต่อ เป็นที่อัศจรรย์ กับผู้พบเห็นจนเลื่องลือว่าท่าน มีวิชาตัวเบา อีกเรื่องที่เล่าขานกันมาจนปัจจุบันว่าหลวงปู่ทองสามารถย่นระยะทางได้ โดยมีผู้พบเห็นท่านบิณฑบาตไกลถึงบ้านแดนเขตบรรพตพิสัย บ้านบางแก้วบ้าง บ้านหาดทรายงามบ้าง ครั้งหนึ่งท่านรับกิจนิมนต์ไปถึงกรุงเทพฯ ขากลับท่านให้ลูกศิษย์กลับมาก่อนโดยท่านแวะเสวนาธรรมกับพระนักธรรมใน กทม.ก่อน แต่เมื่อลูกศิษย์กลับมาถึงวัดก็พบว่าหลวงปู่ทองจำวัดอยู่ก่อนแล้วจึงเป็นที่ล่ำลืออีกว่าท่านสามารถย่นระยะทางได้ จนวันนี้ทางวัดได้จัดหล่อรูปเหมือนเท่าองค์จริงท่านไว้ในวิหาร ซึ่งมีประชาชนทั้งทางใกล้ไกลเดินทางมานมัสการท่านเป็นประจำมิได้ขาด 

ประวัติวัด
วัดวรนาถบรรพต (วัดกบ) ตั้งอยู่บนถนนธรรมวิถี ตำบลปากน้ำโพ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือวัดวรนาถบรรพตบนพื้นที่ราบ และ บนเขากบ ซึ่งเป็นเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่หน้าเทศบาลนครนครสวรรค์ไม่ห่างไกลจากพื้นที่ราบเท่าใดนัก
แต่ทั้ง 2 แห่งเป็นวัดเดียวกันมีโบราณสถานน่าสนใจอยู่หลายสิ่ง คือภายในบริเวณวัดบนพื้นที่ราบมีเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาหรือทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ลักษณะแบบศิลปะสุโขทัย,พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ยาวประมาณ 10 วาเศษ ในพระอุโบสถหลังเก่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ส่วนบนยอดเบฃขากบนั้นมีรอยพระพุทธบาทจำลอง (รอยเท้าซ้าย) ประดิษฐานอยู่ ซึ่งวัดวรนาถบรรพตมีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 20 ค้นพบโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อปลายปี พ.ศ. 2464 ที่ยอดเขากบ ปัจจุบันกรมศิลปากรนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวิชิรญาณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ
จากข้อความในศิลาจารึกนั้นกล่าวถึงพญาบาลเมืองสร้างวัดที่เมืองปากพระบาง มีเจดีย์วิหารขุดตระพัง ปลูกบัวนานาพรรณเพื่อเป็นพุทธบูชา ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในรามอาวาส สร้างพุทธปฏิมาดูงามนักหนาในวิหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ พญารามผู้น้องซึ่งมาสิ้นพระชนม์ลง ณ เมืองพระบาง
ส่วนรอยพระพุทธบาทจำลองนั้น ตามหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 3 พบที่เมืองนครชุม กำแพงเพชร กล่าวถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไท) นำรอยพระพุทธบาทจำลองที่ทางลังกาทวีปนำมาบรรณาการแก่ สุโขทัย 2 รอยด้วยกันโดยรอยซ้ายให้ประดิษฐานไว้มี่ยอดเขาปากพระบาง ส่วนอีกรอยหนึ่งนั้นนำขึ้นไปยังเมืองสุโขทัยประดิษฐานไว้ที่วัดกระพังทอง ซึ่งยังคงมีหลักฐานอยู่จนทุกวันนี้
รอยพระพุทธบาทจำลองปัจจุบันยังคงให้ประชาชนสักการบูชาในวิหารบนยอดเขากบ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ,พระพุทธรูปหิน ปางนาคปรก สมัยเชียงแสน เป็นต้น
ในส่วนของการสร้างวัดวรนาถบรรพตหรือวัดกบนั้นมีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เมื่อครั้งประมาณปี พ.ศ. 2415 มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ทอง เดินทุดงค์มาปักกรดอยู่ข้างหมู่บ้านเชิงเขา ทุกเช้าหลวงพ่อทอง จะเดินออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ทั่วไป จนวันหนึ่งหลวงพ่อทองไปพบเจดีย์ใหญ่เก่าแก่มาก หลวงพ่อสนใจมากตรงไปที่บ้านเล็กๆพบสองตายายจึงถามว่า “โยมชื่ออะไร ที่ดินแปลงนี้เป็นของใคร” ตาตอบหลวงพ่อว่า “พระคุณเจ้า ตัวชื่อ ตากบอยู่ด้วยกันกับยายเขียด ที่แห่งนี้เป็นของฉันเองมีอยู่ร้อยไร่เศษกว้างคลุมยอดเขานั่นเทียว ส่วนเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์เก่าแก่ชาวบ้านแถบนี้นับถือกันมากหากหลวงพ่อจะใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่พำนักฉันก็ยินดีถวายให้เป็นที่สร้างวัดเพราะฉันกับยายก็แก่มากแล้ว” หลวงพ่อทองได้รับถวายที่ดินจากตากบ-ยายเขียด ต่อมาชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆก่อนสร้างอุโบสถและศาลาขึ้นอีกเพื่อชาวบ้านใช้ประกอบพิธีทางศาสนา
ต่อมาตากบ-ยายเขียดถึงแก่กรรมแล้วหลวงพ่อทองจึงกำหนดที่ดินทั้งหมดทั้งที่ราบและบนยอดเขาเป็นที่ดินของวัด และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดเขากบ” ตามชื่อของเจ้าของที่ดิน หลังจากการฌาปนกิจศพ ตากบ-ยายเขียดแล้วหลวงพ่อยังให้ช่างปั้นรูปจำลองตากบยายเขียดไว้ที่หน้าบุโบสถจนกระทั่งทุกวันนี้
เนื่องจากในสมัยนั้นเชิงเขากบเป็นป่าสักมากมายหลวงพ่อจึงตั้งชื่อว่า “เขากบทราวสีจอมคีรี ณ ป่าสัก” ซึ่งต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อดีตอธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพฯ สมัยนั้นท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลเห็นว่าวัดกบ ตั้งอยู่เชิงเขาจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น วัดวรนาถบรรพต ซึ่งอธิบายได้ว่า คำว่า วร แปลว่า ยอดเยี่ยม,ประเสริฐ นาถ แปลว่า ที่พึ่ง ส่วน บรรพต แปลว่า ภูเขา รวมความแปลได้ว่า ภูเขาซึ่งเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดกบ และวัดเขากบ จนติดปากมาทุกวันนี้ 

เนื้อเพลง