วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

อาณาจักรสุโขทัย

 ก่อนกำเนิดแคว้นสุโขทัย

          บริเวณที่ราบตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยม ปิง น่าน ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมย และที่ราบตอนบนของ       แม่น้ำป่าสัก เคยเป็นที่ชุมนุมของบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่     ๑๙-๒๑  บริเวณดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญมาก่อน นั่นคืออาณาจักรพุกามทางด้านตะวันตกและอาณาจักรเขมร ในด้านตะวันออก

          ก่อนกำเนิดแคว้นสุโขทัยซึ่งมีทั้งศิลาจารึกและโบราณสถานมากมาย เป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นแว่นแคว้นที่ปรากฏขึ้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ดินแดนสุโขทัยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อได้ศึกษาย้อนเวลาขึ้นไปอีกจากหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งพบเครื่องมือหินที่เขาเขน เขากา อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย หรือแม้กระทั่งการพบโครงกระดูกมนุษย์ที่บ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้พบเครื่องมือหินที่สัมพันธ์กับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

          ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ อาจอยู่ต่อเนื่องกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนกระทั่งถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นแถบบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบทวารวดีโดยได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้แก่ การค้นพบลูกปัด เครื่องมือเครื่องใช้เหล็ก สำริด เหรียญเงินที่มีรูปพระอาทิตย์ รวมทั้งหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ที่วัดชมชื่น ในเขตเมืองเก่าศรีสัชนาลัย ซึ่งมีแท่งดินเผามีลวดลายปรากฏร่วมด้วย

          การค้นพบโบราณสถานในศิลปะเขมรตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ในแถบบ้านนาเชิง อำเภอคีรีมาศ เรียกตามปากชาวบ้านว่าปรางค์ปู่จานั้น เป็นหลักฐานการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่สำคัญ แต่การกำหนดอายุให้แน่นอนทำได้ลำบาก เนื่องจากลักษณะสำคัญได้ชำรุดสูญหายไปเป็นอันมาก อย่างไรก็ดีหากคิดว่าวัฒนธรรมเขมรผ่านเข้ามาทางเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แสดงว่าดินแดนที่ต่อมาเป็นแคว้นสุโขทัยนี้ได้เคยมีการติดต่อกับอาณาจักรเขมรโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ แล้วก็ได้

          การแผ่กระจายของวัฒนธรรมเขมรปรากฏเป็นระยะต่อเนื่องเรื่อยมา นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลักฐานโบราณสถานที่เด่นชัดได้แก่ ศาลตาผาแดง ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับสมัยบายน ในศิลปะเขมร เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และดูเหมือนว่านี่เป็นพัฒนาการของเมืองในวัฒนธรรมเขมรในบริเวณที่ราบเชิงเขาประทักษ์เป็นครั้งแรก

          ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอาณาจักรเขมร เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานและถือเป็นศาสนาหลักในราชอาณาจักรของพระองค์ การสร้างศาสนสถานซึ่งแต่เดิมประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดู เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  มีการนำเรื่องราวทางพุทธศาสนามาประดับสถาปัตยกรรมและใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแทน ลักษณะดังกล่าวนี้ยังปรากฏตามศาสนสถานในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันหลายแห่ง  ตัวอย่างเช่น ที่ปรางค์สามยอดกับปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่จังหวัดลพบุรี และที่ปราสาทวัดพระพายหลวงเมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น

          ชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรแถบสุโขทัยยังคงอยู่สืบต่อกันมา เรื่องราวการตั้งตนขึ้นเป็นอิสระเพื่อปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน ซึ่งต่อมาเป็นบรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบันได้เริ่มปรากฏขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมืองสุโขทัย

          ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบอยู่ในอุโมงค์วัดศรีชุม ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองสุโขทัยได้ให้เรื่องราวเกี่ยวกับสุโขทัยในระยะต้นว่า เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมเจ้าเมืองสุโขทัยสิ้นพระชนม์ลง ขอม สบาดโขลญลำพงได้เข้าครอบครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุมที่ครองเมืองราด ได้ชักชวนพระสหายคือพ่อขุนบางกลางหาว เข้าร่วมชิงเมืองสุโขทัยกลับคืนมาได้ แต่พ่อขุนผาเมืองกลับยกเมืองสุโขทัยของพระบิดา พร้อมกับได้มอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนามศรีอินทรบดินทราทิตย์ของพระองค์ให้กับพระสหาย พ่อขุนบางกลางหาวจึงมีพระนามเป็นที่รู้จักกันว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ปกครองกรุงสุโขทัยเป็นต้นราชวงศ์สุโขทัยสืบมา

          สุโขทัยนามเมืองที่มีความหมายว่ารุ่งอรุณแห่งความสุขนั้น เมื่อสิ้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมืองโอรสองค์ใหญ่ได้ปกครองต่อมา ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าในระยะต้นนี้ศูนย์กลางของเมืองยังคงอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง ซึ่งมีพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมและมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ หรือย้ายมาที่เมืองใหม่ที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางแล้ว แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงพระอนุชาได้ขึ้นปกครองสุโขทัยต่อมา ข้อมูลจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ บอกให้ทราบว่าได้ย้ายเมืองมาอยู่ตรงที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางแล้ว ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงความเกรียงไกรของพ่อขุนรามคำแหงไว้มากมาย พระองค์ทรงเป็นนักรบผู้ปรีชาสามารถเอาชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา อาณาเขตของแคว้นสุโขทัยในสมัยนี้แผ่ขยายไปถึงเมืองหลวงพระบางและสุดแหลมมลายู ในทางตะวันตกติดเขตแดนเมาะตะมะ   อาณาเขตที่กว้างใหญ่นี้นักวิชาการเชื่อว่า เป็นความสัมพันธ์ของเมืองสุโขทัยกับบรรดาเมืองน้อยใหญ่เหล่านี้ในลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง

          พ่อขุนรามคำแหงทรงนำพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่กำลังเจริญอยู่ที่นครศรีธรรมราช เข้ามาเผยแพร่ที่สุโขทัย อันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความนับถืออย่างใหม่ให้แก่คนสุโขทัย พระองค์ทรงโปรดให้มีการฟังเทศน์ในวันธรรมสวนะ

          ศิลาจารึกได้ให้ภาพความเป็นผู้นำของพ่อขุนรามคำแหงทั้งในทางโลกและทางธรรม กล่าวคือทรงมีความสามารถในการเป็นนักรบที่ปกครองไพร่ฟ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดี บ้านเมืองเป็นปกติสุข ประชาชนมีอิสระในการทำการค้า ถึงกับมีคำกล่าวว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า” พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา โปรดให้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกลางเมืองศรีสัชนาลัยอันเป็นเมืองคู่ของสุโขทัย และก่อสร้างอาราม พระพุทธรูปต่างๆขึ้นในสุโขทัย ในช่วงเทศกาลออกพรรษา พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างขึ้นไปไหว้พระในเขตอรัญญิกที่วัดสะพานหินเพื่อกรานกฐิน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์ไทยในเวลาต่อมา ความเป็นปึกแผ่นของเมืองสุโขทัยนอกจากจะมีกำลังที่เข้มแข็ง บ้านเมืองเป็นสุขดังกล่าวแล้ว ยังมีตำนานเล่ากันในสมัยหลังต่อมาว่า พระองค์คือผู้ที่ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นพระองค์แรกด้วย

          เมื่อสิ้นรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัยไม่สามารถดำรงความเป็นบ้านเมืองที่รุ่งเรืองมากเหมือนแต่ก่อนไว้ได้ อาจเป็นในสมัยของพระยาเลอไท โอรสของพ่อขุนรามคำแหงหรือภายหลังสมัยของพระยาเลอไทก็ได้  ที่เมืองต่าง ๆ ภายในแคว้นสุโขทัยได้แตกแยกกันเป็นอิสระปกครองกันเอง ไม่ยอมขึ้นกับเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นศูนย์กลางเช่นเดิม  ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ พระมหาธรรมราชาลิไท พระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งขณะนั้นครองเมืองศรีสัชนาลัย จึงนำกองทัพเข้ามาปราบจนเป็นผลสำเร็จ ได้ขึ้นครองสุโขทัย และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่แคว้นสุโขทัยซึ่งประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง

          ในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทเมืองสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ได้อาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากนครพัน อันเป็นเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของพม่า ขณะนั้นพุทธศาสนาจากลังกากำลังเจริญอยู่ที่นั่น ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา พระมหาธรรมราชาลิไทได้ออกผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาขึ้นเรียกว่า เตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง เพื่อสั่งสอนอบรมประชาชนของพระองค์ ให้เลื่อมใสในพุทธศาสนาด้วย

          ในสมัยนี้มีความเจริญรุ่งเรืองอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับพุทธศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธานั่นคือ ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซึ่งมีความงดงาม เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนถึงความรู้ทางเทคนิควิทยาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมทีเดียว เช่น การสร้างพระพุทธรูปลีลาอันเป็นงานประติมากรรมลอยตัวที่หล่อได้อย่างวิเศษสุด เจดีย์ทรงดอกบัวตูมอันเป็นเอกลักษณ์ของทรงสถูปสุโขทัย ก็นิยมสร้างขึ้นในสมัยนี้จนเป็นแบบฉบับที่ลงตัว

          พระมหาธรรมราชาลิไททรงพระปรีชาสามารถ ทรงเห็นคุณประโยชน์ของพุทธศาสนา จึงได้นำมาปรับใช้ในด้านการเมืองการปกครอง  โปรดให้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนของพระองค์ ตลอดจนคนต่างเมือง โดยเฉพาะแคว้นล้านนาและกรุงศรีอยุธยา มีโอกาสได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ การสร้างเจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นเสมือนเครื่องหมายความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาในเมืองต่างๆ จึงเกิดขึ้นในสมัยนี้ เช่น วัดบรมธาตุนครชุม กำแพงเพชร , วัดสวนดอก เชียงใหม่ , วัดเจดีย์ยอดทอง พิษณุโลก เป็นอาทิ (ปัจจุบันวัดที่กำแพงเพชรและเชียงใหม่ดังกล่าว ไม่มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมปรากฏให้เห็นแล้ว)

 

การสิ้นสุดของแคว้นสุโขทัย

       ตั้งแต่ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา เกิดอาณาจักรที่มีอำนาจขึ้น ๒ อาณาจักร ทางเหนือของสุโขทัยมีอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สามารถแผ่อาณาเขตมาถึงเมืองตากซึ่งเคยเป็นของสุโขทัย ส่วนทางใต้ของสุโขทัย คือ อาณาจักรอยุธยาที่ได้ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ และสามารถควบคุมเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ได้ เป็นเหตุให้กษัตริย์ของสุโขทัยในระยะนี้ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก

          ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพมายึดเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ได้ พระมหาธรรมราชาลิไทต้องถวายบรรณาการเพื่อขอเมืองคืน อาจเป็นเหตุให้พระองค์ต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น เมื่อทรงได้รับคืนเมืองสองแควแล้ว และโปรดให้พระขนิษฐาของพระองค์ปกครองสุโขทัยแทน เหตุการณ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ราชบัลลังก์สุโขทัยได้ถูกทำลายคุณลักษณะในการเป็นที่ตั้งอำนาจอันชอบธรรมของผู้ที่จะปกครองแคว้นสุโขทัยทั้งมวลลงไป

          ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ พระมหาธรรมราชาลิไททรงพยายามฟื้นฟูความเป็นเมืองศูนย์กลางของสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง ทรงเสด็จกลับสุโขทัยพร้อมไพร่พลบริวารที่เป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ของแคว้นสุโขทัยที่ยังจงรักภักดี แต่พระองค์ก็ไม่สามารถแสดงบทบาทด้านการเมืองต่อไปได้นาน พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๓ – ๑๙๑๔ อันเป็นเวลาที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ่องั่ว) ได้เสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา และส่งกำลังเข้ายึดเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ ในแว่นแคว้นไว้ได้หมด

          ประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัยในช่วงเวลาต่อไปประมาณครึ่งศตวรรษ เป็นเรื่องที่กษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่มีอำนาจอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี พยายามที่จะเข้าครอบงำแคว้นสุโขทัยทีละเล็กทีละน้อย โดยการสมรสระหว่างเจ้านายของทั้งสองราชวงศ์ การใช้ระบบขุนนางเข้าแทรกซึม ตลอดจนการสนับสนุนด้านกำลังแก่เจ้านายสุโขทัยที่เป็นพรรคพวก เครือญาติ ที่ฝ่ายสุพรรณภูมิมีศักดิ์เหนือกว่า

          ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าอย่างน้อยก็เมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ ที่แคว้นสุโขทัยทั้งหมด ได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ที่ชาวอยุธยาเรียกว่าเมืองเหนือแล้ว เพราะในปีนี้เป็นปีที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (สมเด็จเจ้าสามพระยา) ได้ส่งโอรสที่สมภพจากพระชายาราชวงศ์สุโขทัย มาครองเมืองพิษณุโลก ในตำแหน่งพระราเมศวร อันเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช ปกครองกลุ่มเมืองเหนือทั้งมวล โดยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง

วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ พ.ศ.2340 - 2347

 

พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340

พระเจ้าปดุงแห่งพม่ายังคงทรงมีขัตติยมานะในการกอบกู้หัวเมืองล้านนาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคงให้กลับไปคืนแก่พม่า พระเจ้าปดุงทรงแต่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2340 แม่ทัพพม่าคืออินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพพม่าผู้ซึ่งได้เอาชนะทัพฝ่ายไทยในการรบที่เมืองทวายเมื่อพ.ศ. 2337 เนเมียวจอดินสีหสุระยกทัพจำนวน 55,000 คน มาทางเมืองนายและแบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองปั่น และอีกส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองหางหรือเมืองแหง ลงมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ และส่งทัพบางส่วนไปตั้งมั่นที่เมืองลำพูนและเมืองลี้ พระยากาวิละนำญาติพี่น้องจัดทัพออกรบต่อการกับพม่า แต่ฝ่ายพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่หลายครั้งอย่างต่อเนื่อง จึงให้คนถือศุภอักษรลงไปกรุงเทพฯ ขอพระราชทานทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ รายละเอียดการรบระหว่างสยามและพม่าในครั้งนี้ ปรากฏในเพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่จำนวน 20,000 คน ดังนี้;

  • ฝ่ายพระราชวังบวรฯ : กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ และพระยากลาโหมราชเสนา (พระไชยบูรณ์)
  • ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)

นอกจากนี้ เจ้าอุปราชอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ อนุชาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ยกทัพลาวเวียงจันทน์จำนวน 20,000 คน เพื่อมาช่วยเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน จากนั้นมีพระราชบัณฑูรให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพล่วงหน้าไปตั้งที่เมืองลำปางก่อน ให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเสด็จยกทัพไปสู้กับพม่าที่เมืองลี้ จากนั้นทัพฝ่ายวังหน้าและวังหลวงจากเมืองลำปางจึงแข่งขันกันเข้ายึดเมืองลำพูนจากพม่า กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพวังหลวงไปตั้งที่ทางใต้ของเมืองลำพูน ส่วนกรมขุนสุนทรภูเบศร์และพระยากลาโหมราชเสนายกทัพวังหน้าไปตั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือของลำปางทางเมืองป่าซาง ทั้งทัพวังหน้าและวังหลวงเข้าโจมตีเมืองลำพูน นำไปสู่การรบที่ลำพูน ฝ่ายทัพพม่าที่เมืองลี้ยกมาโจมตีทัพไทยที่ลำพูน ทัพฝ่ายไทยสามารถเข้ายึดเมืองลำพูนได้สำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ฝ่ายพม่าที่ลำพูนแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่

ทัพของทั้งวังหน้าและวังหลวงยกจากลำพูนขึ้นไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ นำไปสู่การรบที่เชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ในเวลานั้น ทัพลาวเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์จำนวน 20,000 คนมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทัพหลวงของกรมพระราชวังหลังฯ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นจักรเจษฎา จำนวนอีก 20,000 คน ได้ยกมาสมทบที่เชียงใหม่เช่นกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเข้าตีทัพพม่าทางตะวันตกของเชียงใหม่ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ยกเข้าตีทางแม่น้ำปิงทางตะวันออก เจ้าอนุวงศ์ยกเข้าตีทางห้วยแม่ข่า กรมพระราชวังหลังและกรมหลวงจักรเจษฎาทรงยกเข้าตีทางวังตาล พระยากาวิละยกทัพออกมาตีจากในเมืองเชียงใหม่ ทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินถอยร่นกลับไป แม่ทัพพม่าคนหนึ่งชื่อว่าเนเมียวจอดินสีหสุระ ถูกสังหารในที่รบ แม่ทัพพม่าชื่อว่าอุบากอง (Upagaung) ถูกจับเป็นเชลย เมื่อมีชัยชนะเหนือพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพเสด็จคืนพระนคร

เชียงใหม่ตีเมืองสาดและเชียงตุง

อาณาจักรล้านนาเปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านรัฐกันชนระหว่างสยามและพม่า หัวเมืองล้านนาต่าง ๆมีข้อเสียเปรียบพม่าประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนเนื่องจากสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่และเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ ต่างดำเนินนโยบาย”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ยกทัพออกไปโจมตีเมืองต่าง ๆเพื่อกวาดต้อนกำลังพลเข้ามาในเมืองล้านนา ในพ.ศ. 2345 พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งให้นายจอมหง ซึ่งเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน ให้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าเมืองสาด (Mong Hsat) และพระเจ้าปดุงทรงประกาศยกย่องราชาจอมหงแห่งเมืองสาดให้เป็นเจ้าเหนือหัวเมืองล้านนาทั้งปวงทั้งห้าสิบเจ็ดหัวเมือง พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้อุปราชน้อยธรรม ยกทัพเชียงใหม่ขึ้นไปโจมตีเมืองสาดในเดือนเมษายนพ.ศ. 2345 อุปราชน้อยธรรมสามารถเข้ายึดเมืองสาดได้อุปราชน้อยธรรมจับกุมตัวราชาจอมหง รวมทั้งจับกุมทูตพม่าซึ่งได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ายาล็องแห่งเวียดนาม จากนั้นอุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพเลยไปโจมตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย ประชากรเมืองเชียงตุงเป็นชาวไทเขิน อุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้อีกเช่นกัน เจ้าฟ้าศิริไชยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป อุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเมืองเชียงตุงจำนวน 6,000 คน และจากเมืองสาดอีก 5,000 คน มาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุงถูกทำลายและว่างร้างลง

พระเจ้าปดุงทรงพิโรธพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ที่ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดและจับทูตพม่าไป จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง

สงคราม

พระเจ้าปดุงทรงจัดทัพพม่าเข้ารุกรานเชียงใหม่อีกครั้งในพ.ศ. 2345 โดยมีอินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพคนเดิมซึ่งได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่ครั้งก่อนเมื่อพ.ศ. 2340 มาเป็นโบชุกหรือแม่ทัพใหญ่อีกครั้ง ทัพพม่าประกอบด้วยทัพย่อยนำโดย;

  • ชิดชิงโป
  • ปไลโว
  • มะเดมะโยงโกงดอรัด
  • นามิแลง
  • ตองแพกะเมียวุ่น
  • มะยอแพกะเมียวุ่น

เนเมียวจอดินสีหสุระนำทัพพม่าเข้ายึดเมืองลำพูนแล้วล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้านจำนวนเจ็ดค่าย ทำค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นหนาวางแผนที่จะล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลานาน

ในระหว่างก่อนหน้านี้ พระยากลาโหมราชเสนาคนเก่า และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ได้ถึงแก่กรรมลง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ขึ้นว่าที่กลาโหมราชเสนา และแต่งตั้งพระยามหาวินิจฉัยขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่อีกครั้งดังนี้;

  • ฝ่ายพระราชวังบวร: กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา
  • ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)

เจ้าอนุวงศ์อุปราชแห่งเวียงจันทน์ยกทัพลาวมาเข้าร่วมการต่อสู้กับทัพพม่าในครั้งนี้อีกเช่นกัน

การยกทัพไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ใช้เส้นทางเดินทัพคล้ายคลึงกับเมื่อพ.ศ. 2340 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว พระอาการมากมีพิษร้อนต้องแช่อยู่ในสาคร เสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่มิได้ จึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าบำเรอภูธรกรมขุนสุนธรภูเบศร์ พร้อมทั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ยกทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯ ไปที่เมืองลี้ก่อน ในครั้งนี้ฝ่ายหลักของไทยยกทัพไปทางเมืองลี้ (เส้นทางตะวันตก) แทนที่ยกไปทางเมืองลำปาง (เส้นทางตะวันออก) เหมือนครั้งก่อน ทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชนั้นด้วยเหตุบางประการรั้งรอล่าช้ายกทัพฝ่ายวังหลวงติดตามหลังทัพฝ่ายวังหน้าไป เมื่อไปถึงเมืองลี้แล้วได้ข่าวว่าทัพพม่าจะยกทัพมาจากทางเมืองป่าซาง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชเห็นว่าทัพไม่พร้อมเพรียงจึงถอยทัพลงไปอยู่หลังทัพของวังหน้า

ฝ่ายพระยากาวิละอยู่รักษาป้องกันเมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรฯ ประชวรอยู่ที่เมืองเถิน จึงให้ท้าวมหายักษ์ผู้มีร่างกายแข็งแรงนำความข้อราชการไปกราบทูลที่เมืองเถิน ท้าวมหายักษ์เดินทางผ่านวงล้อมของพม่าออกไปโดยปราศจากการต่อต้าน ไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีตราให้ท้าวมหายักษ์ไปมอบให้แก่พระยากาวิละว่า ฝ่ายกรุงเทพได้ยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองเชียงใหม่แล้ว

กองทัพวังหน้าและวังหลวงยกทัพผ่านเมืองลี้ขึ้นไปถึงเมืองลำพูน พระยาเสน่หาภูธรมีใบบอกลงมากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถินว่า พระยามหาวินิจฉัยว่าที่จ่าแสนยากรนั้นอ่อนแอ ของพระราชทานตั้งพระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากรแทน กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงแต่งตั้งให้พระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตียึดเมืองลำพูนได้สำเร็จ

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรอยู่ที่เมืองเถิน เสด็จนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้ จึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังหลังฯ ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่แทน กรมพระราชวังหลังฯ เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ พระราชทานพระแสงดาบให้แก่กรมพระราชวังหลังฯ เป็นอาญาสิทธิ์ให้กรมพระราชวังหลังฯ ทรงมีพระอำนาจบัญชาทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้

ทัพฝ่ายยกจากลำพูเข้าโจมตีทัพพม่าที่เชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เชิญท้องตรารับสั่งให้แก่แม่ทัพนายกอง และมีพระบัญชาให้แม่ทัพนายกองเข้าหักตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้น ไปกินข้าวในเมืองเชียงใหม่ มิฉะนั้นจะมีโทษ ทัพทั้งฝ่ายวังหน้าวังหลวงยกเข้าตีเชียงใหม่ กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพฝ่ายวังหลวงเข้าตีเชียงใหม่ตั้งแต่สามยาม ฝ่ายพม่ายิงปืนใส่อย่างหนัก ฝ่ายไทยหลบอยู่ตามคันนา พระยาพิชัย (โต) ร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก” พระยาพิชัย (โต) นำทัพไทยฝ่ากระสุนของพม่าเข้าไป ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้แตกหนี ทัพวังหน้าวังหลวงฝ่ายไทยเข้าระดมโจมตีเมืองเชียงใหม่จากทุกทิศทาง จนสามารถตีทัพพม่าแตกถอยไปได้ เนเมียวจอดินสีหสุระจึงพ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง พระยากาวิละให้กองกำลังเมืองเชียงใหม่ออกติดตามสังหารฝ่ายพม่าที่กำลังหลบหนีได้จำนวนมาก

เมื่อขับไล่ทัพพม่าไปจากเขียงใหม่ได้แล้ว เจ้านายทุกพระองค์แม่ทัพนายกองจึงมาเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองเถิน ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยกทัพลาวเวียงจันทน์มาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ทัน มาถึงเมืองเชียงใหม่หลังจากที่พม่าแพ้ไปแล้วเจ็ดวัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพิโรธกองทัพฝ่ายวังหลวง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ที่ถอยทัพไปอยู่หลังทัพของวังหน้าที่เมืองลี้ และทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ที่ยกทัพมาไม่ทันการรบ จึงทรงมีพระราชบัณฑูรปรับโทษให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนจากพม่าให้ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและกรมพระราชวังหลังฯ จึงเสด็จกลับพระนคร

การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในพ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย ทางฝ่ายกรุงเทพสามารถจัดทัพขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่ ขับไล่ทัพฝ่ายพม่ากลับไปได้เฉกเช่นทุกครั้ง หลังจากที่ได้ชัยชนะเหนือพม่าที่เชียงใหม่ในพ.ศ. 2345 นี้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ประทับอยู่ที่เมืองล้านนาเพื่อจัดเตรียมทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน นำไปสู่สงครามเชียงแสนในพ.ศ. 2347

พระยากาวิละนำตัวราชาจอมหงเมืองสาดลงไปกรุงเทพไปเข้าเฝ้าฯ ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2345 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้สถาปนาพระยากาวิละ ผู้ซึ่งมีความชอบป้องกันเมืองเชียงใหม่และล้านนาจากการรุกรานของพม่าไว้ได้หลายครั้ง ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระราชทานพระนามว่า พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์องค์อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นเจ้าประเทศราชเป็นอธิบดีในหัวเมืองล้านนาทั้งห้าสิบเจ็ดเมือง

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จกลับพระนครแล้ว อาการพระประชวรทุเลาลง ทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2346 อาการพระประชวรกำเริบขึ้นมาอีก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2346 ต่อมาอีกสามเดือน เกิดความว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงร่วมมือกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) วางแผนการกบฏ จึงมีพระราชโองการลงพระราชอาญาสำเร็จโทษพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตด้วยท่อนจันทน์ และให้ประหารชีวิตพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

ในพ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) ทัพฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ทัพฝ่ายลาวเจียงจันทน์ พร้อมทั้งเจ้าอุปราชน้อยธรรมเมืองเชียงใหม่ เจ้าคำโสมเมืองลำปาง ฝ่ายล้านนา และเจ้าอัตวรปัญโญเมืองน่าน ยกทัพโดยพร้อมกันเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน จนสามารถยึดเมืองเชียงแสนจากพม่าได้ หัวเมืองล้านนาทางเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม อำนาจของพม่าในหัวเมืองล้านนาจึงหมดสิ้นไปอย่างถาวร

ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ พ.ศ.2312 - 2339

 

ล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม 

นับตั้งแต่การเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี ในพ.ศ. 2312 สะโตมังถาง หรือโป่มะยุง่วน มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วนเป็นสมัยแห่งการกดขี่ พม่ามีคำสั่งให้ชายชาวล้านนาทั้งปวงสักขาดำตามแบบพม่า และหญิงล้านนาให้เจาะหูแบบพม่า เรียกว่า “สักขาถ่างหู” พญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเชียงใหม่ และนายกาวิละ บุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปาง เกิดความขัดแย้งกับโป่มะยุง่วน ในเรื่องที่โป่มะยุง่วนลิดรอนอำนาจของขุนนางล้านนาพื้นเมืองเดิม พญาจ่าบ้านและนายกาวิละไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองที่กรุงอังวะ เพื่อร้องเรียนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของโป่มะยุง่วน พระเจ้ามังระพระราชทานท้องตราให้แก่พญาจ่าบ้านมายังเมืองเชียงใหม่ มีพระราชโองการให้โป่มะยุง่วนคืนอำนาจให้แก่ขุนนางล้านนา แต่โป่มะยุง่วนไม่รับท้องตรา ยกทัพมาจับกุมตัวพญาจ่าบ้าน (บุญมา) จึงเกิดการปะทะกันระหว่างพญาจ่าบ้านและโป่มะยุง่วนขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปหาโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) ที่เมืองหลวงพระบาง โปสุพลาจึงนำพญาจ่าบ้านกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่

ในพ.ศ. 2317 โปสุพลาเตรียมการยกทัพพม่าจากเชียงใหม่ลงมาโจมตีธนบุรี พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และนายกาวิละแห่งลำปางมีความคิดที่จะเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม พญาจ่าบ้านขออาสาต่อโปสุพลาไปขุดลอกเส้นทางแม่น้ำปิงเพื่อเตรียมการให้ทัพเรือพม่ายกลงไป เมื่อพญาจ่าบ้าน (บุญมา) เดินทางลงไปถึงเมืองฮอด ก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองตาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สองในพ.ศ. 2317 เจ้าพระยาจักรียกทัพไปถึงเมืองลำปาง นายกาวิละจึงลุกฮือขึ้นสังหารขุนนางและทหารพม่าในลำปางไปจนเกือบหมดสิ้น นายกาวิละนำทางทัพของเจ้าพระยาจักรีไปถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นหัวเมืองล้านนาได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ จึงแยกตัวจากพม่ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในขณะที่หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือได้แก่เชียงแสน เชียงราย ฝาง พะเยา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนายกาวิละขึ้นเป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงแสนจึงกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในดินแดนล้านนา

ในพ.ศ. 2318 พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ปรากฏว่าในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจา  แห่งพม่าส่งทัพจำนวนถึง 90,000 คน มาเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพลไม่เพียงต่อการป้องกันเมืองเชียงใหม่ จึงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ถอยไปอยู่ที่เมืองตาก ทัพพม่ายกไปตีเมืองลำปาง พระยากาวิละต้านทานทัพพม่าไม่ได้เช่นกัน จึงทิ้งเมืองลำปางลงใต้ไปอยู่ที่เมืองสวรรคโลก จากนั้นทัพพม่าจึงกลับไป พระยากาวิละกลับมาครองเมืองลำปาง ในพ.ศ. 2319 พระยากาวิละส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองทางเหนือต่อล้านนาต่าง ๆให้เป็นกบฏแยกตัวจากพม่า เจ้าฟ้าเมืองยอง เจ้าเมืองฝาง และพระยาแพร่มังไชยซึ่งถูกจับกุมตัวไปไว้ที่เชียงแสนตั้งแต่สงครามเก้าทัพ จึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อพม่า  ในปีต่อมาพระยาวิเชียรปราการพยายามที่จะรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ เดินทางไปธนบุรีแล้วกลับขึ้นมาใหม่โยกย้ายไปมาหลายแห่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีท้องตราเรียกตัวพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ถูกจำคุกถึงแก่กรรมในคุกนั้น นับแต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คนป่าขึ้นทึบสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ บ้านเมืองล้านนาโดยรวมตกอยู่ในสภาพ “บ้านห่าง นาห่าง บ้านอุก เมืองรก ไพทางใต้ค็กลัวเสือไพทางเหนือค็กลัวช้าง บ้านเมืองบ่หมั่นบ่เที่ยง”    

สงครามกับพม่า

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้นายน้อยธรรมน้องชายของพระยากาวิละเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ แต่ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างยังไม่สามารถตั้งเมืองอยู่ได้ พระยากาวิละจึงมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง (หรือป่าช้าง) เพื่อรวบรวมผู้คนไปตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางและเวียงป่าซางของพระยากาวิละกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของล้านนาและสยามในการต้านทานการรุกรานของพม่า ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 เจ้าชายปะกันแมงสะโดสิริมหาอุจนาพระอนุชาของพระเจ้าปดุงยกทัพหัวเมืองไทใหญ่มาที่เมืองเชียงแสน เจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาและธาปะระกามะนี (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) ยกทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจำนวน 30,000 คน เข้าโจมตีและล้อมเมืองลำปาง นำไปสู่การล้อมเมืองลำปาง นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังยกทัพไปตีเมืองแพร่จับกุมตัวพระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่กลับไปเป็นเชลย พญากาวิละรักษาเมืองลำปางอยู่ได้เกือบสามเดือน ทางฝ่ายกรุงเทพฯ จึงส่งทัพขึ้นมานำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ช่วยเหลือขับไล่พม่าให้พ้นไปจากเมืองลำปางได้สำเร็จใน พ.ศ. 2329 กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป แต่ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน

ต่อมาในพ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนีนำกองทัพเข้ามาสมทบก่อนกลับเมืองเชียงแสน เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านเข้าขอสวามิภักดิ์ต่อสยาม พระยาแพร่มังไชยอยู่ที่เมืองยองร่วมมือกับเจ้าฟ้ากองเมืองยอง ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละ พระยากาวิละจึงส่งตัวธาปะระกามะนีลงมาที่กรุงเทพฯ  ฝ่ายพม่าตีเมืองเชียงแสนคืนไปได้และยกทัพจากเชียงแสนและเมืองฝาง เข้าโจมตีเมืองลำปางและยกมาทางเมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง) เข้าตีเมืองป่าซาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองลำปาง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสามารถขับทัพพม่าออกไปจากลำปางได้สำเร็จ หลังจากที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองร้างเป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งให้เรียบร้อย เพื่อเป็นเมืองสำหรับการรับศึกพม่าทางเหนือ ให้พระยากาวิละรวบรวมผู้คนจากลำปางมาตั้งเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละยังคงอยู่ที่เวียงป่าซางอยู่จนถึง พ.ศ. 2339 จึงเข้าครองเมืองเชียงใหม่


วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

สด.43 คืออะไร-สำคัญอย่างไร

 

สด.43 คืออะไร-สำคัญอย่างไร

ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหารตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 7

โดยการเกณฑ์ทหารจะมีขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี เมื่อมีอายุย่างเข้า 18 ปีในปีนั้นๆ จะต้องไปที่อำเภอเพื่อ แสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่ออายุครบ 20 ปี จะต้องไปพบสัสดีที่อำเภออีกครั้ง เพื่อรับใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) และหมายเรียกแบบ สด.35

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการจับใบดำใบแดง และเอกสารสำคัญที่ต้องรับหลังจากนั้น คือ “สด.43”

เอกสารดังกล่าว คือใบยืนยันรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ใบผ่านเกณฑ์ทหาร” ซึ่งเป็นเอกสารที่กองทัพบกจะให้กับชายไทยทุกคน

ใบ สด.43 คือเอกสารรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ใบผ่านเกณฑ์ทหาร” โดยคณะกรรมการเกณฑ์ทหารจะเป็นผู้ออกให้ภายในวันเดียวกับวันเกณฑ์ทหารเลย

โดยภายในเอกสารจะระบุชัดว่า จับได้ใบดำ ใบแดง หรือขอผ่อนผัน ซึ่งต่างถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชายไทยทุกคนจะใช้ยืนยันต่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทห้างร้าน ว่าปีนั้นตัวเองได้มาแสดงตัวเพื่อเข้ารับการตรวจเลือกแล้ว และจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสมัครงานหรือขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเดิมเมื่อหมดอายุได้

สำหรับข้อมูลสำคัญบนใบ สด.43 ประกอบด้วย

  • ชื่อนามสกุล
  • เลขประจำตัวประชาชน
  • วันเดือนปีเกิด
  • ผลการตรวจเลือก (ผ่อนผัน ไม่ต้องรับราชการ จับสลากได้ใบดำหรือใบแดง : ตรงนี้ทหารจะเป็นคนเขียน)
  • สถานที่ตรวจเลือก
  • วันที่ออกใบรับรอง
  • ช่องพิมพ์ลายนิ้วมือ
  • ตอนท้ายจะลงลายเซ็น ประธานกรรมการและกรรมการ

สด.43 ชำรุด-สูญหาย ต้องทำอย่างไร

กรณีใบ สด.43 ชำรุดหรือสูญหาย สามารถขอรับใบแทนใหม่ได้ โดยแจ้งต่อสัสดีเขต หรือ สัสดีอำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารภายในกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันที่ ใบ สด.43 ชำรุดหรือสูญหาย

โดยหลักฐานที่ใช้ในการขอใบแทน สด.43 มีดังนี้

  1. สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับจริงพร้อมสำเนาเอกสาร 2 ฉบับ
  2. บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริงพร้อมสำเนาเอกสาร 2 ฉบับ
  3. รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย ฉบับจริงพร้อมสำเนาเอกสาร 2 ฉบับ

ใบ สด.43 ที่มีอยู่ ราชการออกให้จริงหรือไม่

ชายไทยทุกคนจะได้รับใบ สด.43 จากประธานกรรมการเกณฑ์ทหารในวันตรวจเลือกทหารกองเกินเท่านั้น

แต่ถ้าหากได้รับโดยที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน หรือได้รับจากบุคคลอื่น หรือในวันอื่น แสดงว่า ใบ สด.43 ฉบับนั้น ไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้ ถือว่าเป็นของปลอม และสามารถขอตรวจสอบได้ที่ กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

ใบ สด.43 ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นของปลอมหรือไม่ 

การจะพิสูจน์ใบ สด. 43 ว่าเป็นของปลอมหรือของจริงได้ ต้องพิจารณาในหลายจุด โดยส่วนสำคัญคือลายเซ็นของคณะกรรมการตรวจเลือกฯ การตรวจเทียบความเป็นบุคคลเดียวกับคนที่เดินทางมาคัดเลือกที่หน่วยนั้นๆ




วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ล้านนา หลังจากถูกพม่าปกครอง (พ.ศ. 2094 - พ.ศ. 2317)

 หัวเมืองเชียงใหม่  เป็นประเทศราชของกรุงหงสาวดี กรุงศรีอยุธยา และกรุงอังวะ โดยระยะแรก (พ.ศ. 2101–2206) ยังมีอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ในระยะหลัง (พ.ศ. 2207-2317) จึงถูกยุบรวมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า

ประวัติศาสตร์

อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองขึ้นต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของเชียงใหม่จึงแยกตัวเป็นอิสระ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการอีกต่อไป ในยุคนี้ล้านนาถูกเข้าแทรกแซงอำนาจจากอาณาจักร์ล้านช้างและอยุธยาซึ่งล้านช้างเป็นฝ่ายชนะในการแทรกแซงล้านนา ส่งผลให้ล้านช้างได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือหัวเมืองล้านนาทุกหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองแต่ละหัวเมืองได้ยอมอ่อนน้อมและอยู่ภายใต้อำนาจ ส่งผลให้อาณาจักร์ล้านนากลายเป็นรัฐในอารักขาของล้านช้างในที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งพระยาโพธิสาลราชได้กลายเป็นจักรพรรดิที่อยู่เบื้องหลังของการรวมล้านนาเข้าไว้กับล้านช้างในช่วงสั้นๆโดยให้บุตรชายได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ส่วนตนครองเมืองหลวงพระบางต่อไป ซึ่งเมืองหลวงพระบางในช่วงนี้มีอำนาจเหนือแคว้นล้านนาทุกหัวเมือง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอูได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามพระเจ้าผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดครองนครเชียงใหม่เป็นประเทศราชได้สำเร็จ รวมทั้งได้เข้าได้ยึดเมืองลูกหลวงและเมืองบริเวณของเชียงใหม่ไปเป็นประเทศราชด้วย ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากยุ่งกับการศึกกับกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงให้ "พระเจ้าเมกุฎิ" ทำการปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้หงสาวดี ต่อมา "พระเจ้าเมกุฎิ" ทรงคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้ง "พระนางวิสุทธิเทวี" เชื้อสายราชวงศ์มังรายพระองค์สุดท้าย ขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่แทน จนกระทั่งพระนางราชเทวีสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งสาวถีนรตรามังซอศรีมังสรธาช่อ พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง มาปกครองแทน

พ.ศ. 2157 พระเจ้าอโนเพตลุนแห่งอังวะ ซึ่งเป็นราชนัดดาในพระเจ้าบุเรงนอง เห็นว่าตั้งแต่สิ้นเจ้าเมืองเชียงใหม่สาวถีนรตรามังซอศรีมังสรธาช่อ ซึ่งยอมเป็นประเทศราชของอยุธยา ตั้งแต่นั้นมาก็เกิดความวุ่นวายแย่งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายพม่าคือ พระช้อย และฝ่ายล้านนาคือ พระชัยทิพ เห็นเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งเลยยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่รู้ว่าพม่ายกมาก็ทิ้งเมืองพากันลงมาอยู่ที่ลำปาง แต่ในที่สุดก็เสียเมืองลำปางให้พม่า

พ.ศ. 2207 พระเจ้าปเยแห่งอังวะได้ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ตั้งเมืองเชียงแสนเป็นอีกหัวเมืองหนึ่งคู่กับเมืองเชียงใหม่ และใช้เป็นฐานสำคัญในการยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ประเทศราชของกรุงหงสาวดี (พ.ศ. 2101 - 2139)

1พระเมกุฏิสุทธิวงศ์พ.ศ. 2094 - 2107 (13 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101 ปกครองภายใต้อำนาจพม่า
2พระนางวิสุทธิเทวีพ.ศ. 2107 - 2121 (14 ปี)
3นรธาเมงสอพ.ศ. 2121 - 2139 (18 ปี)

ประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2139 - 2158)

1นรธาเมงสอพ.ศ. 2139 - 2150 (11 ปี)
2พระช้อย (ครั้งที่ 1)พ.ศ. 2150 - 2151 (1 ปี)
3พระชัยทิพ (มังกอยต่อ)พ.ศ. 2151 - 2156 (5 ปี)
4พระช้อย (ครั้งที่ 2)พ.ศ. 2156 - 2158 (2 ปี)

ประเทศราชของกรุงอังวะ (พ.ศ. 2158 - 2206)

1เจ้าพลศึกศรีสองเมือง (เจ้าเมืองน่าน)พ.ศ. 2158-2174 (16 ปี)
2พระยาหลวงทิพเนตรพ.ศ. 2174-2198 (24 ปี)
3พระแสนเมืองพ.ศ. 2198-2202 (4 ปี)
4เจ้าเมืองแพร่พ.ศ. 2202-2215 (13 ปี)
5อุปราชอึ้งแซะพ.ศ. 2215-2218 (3 ปี)
6เจพูตรายพ.ศ. 2218-2250 (32 ปี)
7มังแรนร่าพ.ศ. 2250-2270 (20 ปี)

เอกราช (พ.ศ. 2270 - 2306)

1เทพสิงห์พ.ศ. 2270-2270 (1 เดือน)
2องค์คำพ.ศ. 2270-2302 (32 ปี)
3องค์จันทร์พ.ศ. 2302-2304 (2 ปี)
4เจ้าขี้หุด (อดีตภิกษุวัดดวงดี)พ.ศ. 2304-2306 (2 ปี)

ส่วนหนึ่งของอังวะ (พ.ศ. 2306 - 2317)

1โป่อภัยคามินี (โป่อะเกียะคามุนี)พ.ศ. 2306-2311 (5 ปี)
2โป่มะยุง่วนพ.ศ. 2311-2317 (6 ปี)

ล้านนาสมัยพม่าปกครอง (พ.ศ. 2101 – 2317)

 

นับเป็นยุคแห่งความอ่อนแอของล้านนา ในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่พม่าปกครอง แต่จะมีบางช่วงที่อยุธยายกทับขึ้นมายึดเชียงใหม่ได้ เช่น สมัยพระนเรศวรและสมัยพระนารายณ์ นอกจากนั้นมีบางช่วงที่เชียงใหม่และเมืองต่าง ๆ แยกเป็นรัฐอิสระ เช่น ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเป็นช่วงที่พม่าประสบปัญหาการเมืองภายใน เมื่อพม่าแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วจะยกทัพมาปราบล้านนา ดังนั้นจึงควรเข้าใจว่าอำนาจพม่าในล้านนาไม่สม่ำเสมอ แต่ด้วยเหตุผลที่ช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่พม่าปกครองล้านนา จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัยพม่าปกครอง ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2101) จนถึง พ.ศ. 2317 สมัยพระเจ้าตากสิน ล้านนาจึงตกเป็นเมืองประเทศราชสยาม ล้านนาในสมัยพม่าปกครองเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 216 ปี นโยบายของพม่าที่ปกครองล้านนาได้ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขตามการเมืองภายใน ของพม่าและปรับตามสภาพการเมืองในท้องถิ่นล้านนา ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้แบ่งตามพัฒนาการเป็นสองสมัย

  • สมัยแรก ระหว่าง พ.ศ. 2101 – 2207 คือประมาณร้อยปีแรก ช่วงนี้ล้านนามีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรพม่า เนื่องจากล้านนามีความแตกต่างกับพม่าทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม คนต่างชาติต่างภาษา พม่าจึงกำหนดให้เป็นเขตที่มีการปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง คือคงให้เจ้าเมืองคนเดิมสามารถปกครองตนเองได้ โดยยอมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกษัตริย์พม่า ดังพบว่า บุเรงนองแต่งตั้งให้พระเมกุฏิกษัตริย์เชียงใหม่ปกครองตนเองตามเดิม แต่ต้องส่งส่วยเป็น ช้าง ม้า และแพรพรรณต่าง ๆ ทุกปี และในราชการสงครามต้องส่งกำลังร่วมรบ ต่อมาพม่าเข้าจัดการควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้น เพราะในสงครามระหว่างพม่ากับอยุธยา พ.ศ. 2106 พระเมกุฏิไม่ได้ช่วยพม่ารับอยุธยาอย่างจริงจัง บุเรงนองจึงปลดพระเมกุฏิออกใน พ.ศ. 2107 แล้วแต่งตั้งพระนาง วิสุทธิเทวีซึ่งเป็นพระชายา ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นกษัตริย์ เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีสิ้นเจ้ามังนรธาช่อ โอรสของบุเรงนองกับพระนางวิสุทธิเทวี เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นการสิ้นสุดของการปกครองเชียงใหม่ โดยเชื้อสายของราชวงศ์มังราย อย่างไรก็ตามเชื้อสายมังนรธาช่อ ปกครองต่อมา 2 องค์ หลังจากนั้นพม่าส่งข้าหลวงมาประจำการที่เชียงใหม่ ส่วนตำแหน่งเข้าเมืองอื่น ๆ ในล้านนาพม่าควบคุม โดยการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนและปูนบำเหน็จความดีความชอบ ข้าหลวงพม่าที่เชียงใหม่จะทำหน้าที่ปกครองเชียงใหม่ และดูแลเมืองอื่น ๆ ในล้านนา

ในส่วนการปกครองภายในของล้านนา คงปฏิบัติไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน พม่าจะควบคุมนโยบายที่สำคัญคือ ตำแหน่งเจ้าเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในรูปการเกณฑ์แรงงานและ การส่งส่วยไปให้พม่า อย่างไรก็ตามการปกครองของพม่ามีการควบคุมที่เข้มงวด โดยเฉพาะการเกณฑ์แรงงานทำสงครามและการส่งส่วย

  • สมัยที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2207 – 2317 ประมาณ 110 ปีหลัง ฐานะของล้านนาเปลี่ยนไป คือถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรพม่าโดยกษัตริย์พม่าส่งขุนนางชาว พม่ามาปกครองร่วมกับชาวล้านนา กำหนดให้ขุนนางพม่ามีตำแหน่งสำคัญและมีอำนาจอย่างแท้จริง ส่วนขุนนางล้านนาอยู่ในกำกับของขุนนางพม่า นอกจากนั้นใน พ.ศ. 2244 พม่าใช้วิธีแยกเชียงแสนออกเป็นเขตสำคัญ เพื่อทอนกำลังของเชียงใหม่ลง เนื่องจากเชียงใหม่เป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านพม่า เมืองเชียงแสนเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพม่าจนกระทั่งพม่าหมดอำนาจในล้านนา ใน พ.ศ. 2347

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระเจ้าฉินบูชินหรือมังระ (พ.ศ. 2306 – 2319) แห่งราชวงศ์คอนบอง ปกครองล้านนาได้เพียง 11 ปี (พ.ศ. 2306 – 2317) เชียงใหม่ก็หันไปสวามิภักดิ์ต่อสยาม นโยบายพม่าช่วงสุดท้ายนี้ปกครองอย่างเฉียบขาดมากขึ้นโดยส่งโป่แม่ทัพ มาปกครองแทนเมียวหวุ่นซึ่งโป่มักจะใช้อำนาจขูดรีดเก็บเกี่ยว ผลประโยชน์มาเป็นของตนอย่างมาก และใช้อำนาจตามอำเภอใจสร้างความทุกข์ยากแก่ราษฎรนอกจาก นั้นข้าหลวงพม่าขัดแย้งกับขุนนางท้องถิ่น เพราะโป่ดึงอำนาจและผลประโยชน์จากส่วยและเกณฑ์แรงงานไพร่ไปจากท้องถิ่น โดยที่ขุนนางท้องถิ่นเสียผลประโยชน์จากส่วยและยังถูกข่มเหงอีกด้วย ความขัดแจ้งระหว่างโป่กับขุนนางท้องถิ่นนำไปสู่การสู้รบ ดังพบว่าพระญาจ่าบ้าน (บุญมา) รบกับโป่หัวขาว พระญาจ่าบ้านมีกำลังไม่พอจึงชักชวนพระเจ้ากาวิละร่วมกันสวามิภักดิ์พระเจ้า ตากสิน กองทัพพระเจ้าตากสินและร่วมกับผู้นำชาวล้านนาช่วยกันขับไล่พม่าไปจาก เชียงใหม่สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2317 นับตั้งแต่นั้นมา เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย

น่าสังเกตในสมัยพม่า ปกครองมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองตอบโต้พม่าอย่างต่อเนื่อง พม่าก็ใช้วิธียกทับมาปราบกันเป็นระยะ ๆ การต่อต้านพม่าของชาวล้านนามีข้อจำกัดเพราะความเป็นรัฐในหุบเขาเป็นเงื่อนไข ทำให้ความร่วมมือกันทำได้ยาก ดังนั้นแต่ละเมืองมักต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและพม่าคงพบข้อจำกัดนี้ จึงใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครองโดยแบ่งแยกเมืองต่าง ๆ ออกจากกัน ให้ทุกเมืองขึ้นกับพม่า

การต่อต้านอำนาจพม่าได้ปรับ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือช่วงแรก ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เมื่อพม่ายึดครองล้านนาใหม่ ๆ ลักษณะการต่อต้านอยู่ในกลุ่มเจ้านครรัฐต่าง ๆ เจ้านครรัฐที่ต่อต้าน เช่น พระเมกุฏิ หรือท้าวแม่กุ เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง โดยมีพระไชยเชษฐา จากล้านช้างเป็นผู้นำ กองทัพพม่าได้ยกมาปราบปรามสำเร็จ สาเหตุที่เจ้านครรัฐต่อต้านเพราะพม่าได้ดึงผลประโยชน์จากท้องถิ่นไปพม่า คือการให้ส่งบรรณาการและส่วย และเกณฑ์กำลังคน ดังนั้นแม่เจ้านครยังมีหน้าที่ปกครองตามจารีตของตนเอง แต่อยู่ในฐานะเสียผลประโยชน์ ในระยะหลังคือปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 กลุ่มการเมืองท้องถิ่นต่อต้านพม่ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่นมีกลุ่มพระสงฆ์ คนบุญ มีกลุ่มไพร่ตั้งเป็นกองโจร และกลุ่มเจ้านครรัฐ แต่ละกลุ่มกระทำกันไปตามลำพัง เพราะพม่าพยายามเข้าควบคุมที่ตำแหน่งเจ้าเมืองมากขึ้น คำตำแหน่งเจ้าเมืองสำคัญเป็นชาวพม่า ส่วนเมืองระดับเล็กนั้นอาจเป็นชาวพม่าหรือไทใหญ่ หากเป็นชาวพื้นเมืองก็ต้องภักดีต่อพม่าลักษณะเช่นนี้ทำให้การเคลื่อนไหวลง สู่ระดับล่ามมากขึ้น สถานการณ์ในล้านนาในช่วงปลายสมัยพม่าปกครองจึงเกิดรัฐบาลท้องถิ่นกระจายตัว อยู่ทั่วไป ซึ่งบางครั้งก็สู้รับกันเอง บางครั้งก็สู้รบกับพม่า บ้านเมืองล้านนามีสภาพระส่ำระสาย

วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

อาณาจักรศรีวิชัย

 อาณาจักรศรีวิชัย หรือ อาณาจักรศรีโพธิ์ ก่อตั้งโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ ในช่วงที่อาณาจักรฟูนันล่มสลาย มีอาณาเขตครอบคลุมมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีของประเทศไทยในปัจจุบัน พื้นที่อาณาจักรแบ่งได้สามส่วน คือส่วนคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะชวา โดยส่วนของชวาได้แยกตัวออกไปตั้งเป็นอาณาจักรมัชปาหิต ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยอ่อนแอลง อาณาจักรมัชปาหิตได้ยกทัพเข้ามาตีศรีวิชัย ได้ดินแดนสุมาตราและบางส่วนของคาบสมุทรมลายูไป และทำให้ศรีวิชัยล่มสลายไปในที่สุด ส่วนพื้นที่คาบสมุทรที่เหลือ ต่อมาเชื้อพระวงศ์จากอาณาจักรเพชรบุรี ได้เสด็จมาฟื้นฟูและตั้งเป็นอาณาจักรนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้ระบุว่า ศรีวิชัยสถาปนาในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 1225 เล็กน้อย มีการพบศิลาจารึกภาษามลายูโบราณเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยทั้งที่สุมาตรา และที่วัดเสมาเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช และพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต เมืองไชยา ระบุว่าศรีวิชัยเป็นเมืองท่าค้าพริก ดีปลีและพริกไทยเม็ด โดยมีต้นหมากและต้นมะพร้าวจำนวนมาก

หลวงจีนอี้จิง เคยเดินทางจากเมืองกวางตุ้ง ประเทศจีนโดยเรือของพวกอาหรับ ผ่านฟูนันมาพักที่อาณาจักรศรีวิชัยในเดือน 11 พ.ศ. 1214 เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะเดินทางต่อผ่านเมืองไทรบุรี ผ่านหมู่เกาะคนเปลือยนิโคบาร์ ถึงเมืองท่า ตามพรลิงก์ที่อินเดีย เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา หลวงจีนอี้จิงบันทึกไว้ว่า พุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย ประชาชนทางแหลมมลายูเดิมส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ได้ติดต่อกับพ่อค้าอาหรับมุสลิมที่เดินทางผ่านเพื่อไปยังประเทศจีน ดังนั้นในเวลาต่อมาศาสนาอิสลามจึงได้เผยแพร่ไปยังมะละกา กลันตัน ตรังกานู ปาหัง และปัตตานี จนกลายเป็นรัฐอิสลามไป ต่อมาใน พ.ศ. 1568 อาณาจักรศรีวิชัยได้ตกอยู่ใต้อำนาจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมัชปาหิตของชวาใน พ.ศ. 1940 แต่มีหลักฐานจากตำนานเมืองเพชรบุรีว่า อาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะตำนานฯ ระบุว่าก่อนพระพนมวังจะได้สถาปนาอาณาจักรนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 1830 นครศรีธรรมราชมีสภาพเป็นเมืองร้างมาก่อน

 เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น  ดินแดนทางแหลมทองได้เกิดการตั้งอาณาจักรศรีวิชัย (จีนเรียก ชิลิโฟชิ หรือ คันโทลี หรือโคยิงขึ้นภายใต้การนำของราชวงศ์ ไศเลนทร์ มีอาณาเขตครอบคลุมแหลมมลายู  เกาะชวา  เกาะสุมาตรา  ช่องแคบมะละกา  ช่องแคบซุนดา และบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย  ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยสามารถควบคุมเส้นทางค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียรวมทั้งอาหรับ เปอร์เซีย และยุโรปได้

 อาณาจักรศรีวิชัยนี้มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตราของ อินโดนีเซียขึ้นมาถึงบริเวณแหลมโพธิ์  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี     และเมืองท่า(ตามพรลิงค์หรือตำพะลิงค์)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช     มีการพบศิลาจารึกภาษามาเลย์เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยนี้ที่วัดเสมาเมือง   จังหวัดนครศรีธรรมราช  ส่วน เมืองครหิ ในสมัยศรีวิชัยนั้นเป็นเมืองท่าค้าพริก ดีปลีและพริกไทยเม็ด  โดยมีต้นหมากต้นมะพร้าวอยู่มาก  แต่ก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่าเมืองครหินั้นไม่น่าจะใช่เมืองไชยา  กล่าวคือ ในหนังสือจู ฝาน จีน ของจีนเจา จู เกวาะ ได้ระบุชื่อเมืองต่างๆที่ขึ้นแก่อาณาจักรซัมฮุดซี หรือชาวกะ  มีชื่อเมืองเกียโลหิ   ซึ่งยุติชื่อว่าเป็นเมืองครหิ ตรงกับคำที่จารึก(ภาษาเขมร)ครหิที่อยู่บนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งพบอยู่ใกล้วัดเวียง เมืองไชยา ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวที่สุมาตราที่สั่งขึ้นมาให้อำมาตย์คลาไน ผู้ครองเมืองครหิจัดการหล่อขึ้นเมื่อพ..๑๗๒๖ ตรงกับมหาศักราช ๑๑๐๕    จึงมีข้อถกเถียงถึงว่า ครหิ นั้นเป็นการแสดงอำนาจทางเขมรหรือเกาะสุมาตรา  ซึ่งน่าจะเป็น ครหิ ที่เกิดขึ้นหลังจาก อาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายลงแล้วหรือไปขึ้นอยู่กับเมืองตามพรลิงค์ในพ..๑๗๐๐ ดังนั้นเมืองไชยานั้นคงจะไม่ใช่เมืองครหิและน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยเสียมากกว่าเมืองปาเล็มบัง                

เมืองไชยานั้น ได้มีการสร้างเจดีย์แบบมหายาน ให้องค์เจดีย์เป็นรูปสีขระ แปลว่า แบบภูเขา คือเจดีย์ที่มียอดจำนวนมาก ตามคติให้มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เช่น พระพุทธเจ้าพุทธะ  พระมัญชุศรี พุทธะ   พระญาณิพุทธะ   เป็นต้น  ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่ว่า พระเจ้ากรุงศรีวิชัยให้สร้างไอษฎิเคหะ คือ เรือนอิฐหรือปราสาทอิฐขึ้น ๓ หลัง สำหรับประดิษฐานพระปฏิมาของ ปัทมปาณี  วัชรปาณี และมารวิชัย    ในพื้นที่เมืองไชยาแห่งนี้ พบว่านอกจากจะสร้างเจดีย์ที่พระบรมธาตุแห่งนี้แล้วยังมี เจดีย์ที่วัดแก้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแต่ชำรุด  และเจดีย์ที่วัดหลง  เดิมนั้นเหลือแต่ฐานที่อิฐที่มีลักษณะเดียวกัน     พระบรมธาตุไชยาองค์ปัจจุบันนี้ได้รับการบูรณะใหม่  เดิมนั้นเป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนอุโมงค์ที่บรรจุหีบศิลาใบใหญ่ใส่พระบรมธาตุและสิ่งของต่างๆ เดิมที่พื้นมีรูระบายอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ ซม ๒ แห่งต่อมาได้อุดเสีย       ต่อมาแม่น้ำพาเอาดินมาถมบริเวณหมู่บ้านเวียงสูงประมาณ ๓ เมตรหรือ ๖ ศอก ส่วนพระเจดีย์นี้จมลงไปในดินประมาณเมตรครึ่ง   ต้องขุดแต่งกัน     เมืองครหิแห่งนี้หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยหมดอำนาจลงก็ถูกทิ้งร้างมาจนถึงสมัยอยุธยา  พุทธศาสนาจึงได้ฟื้นฟูขึ้นโดยมีการสร้างพระพุทธรูปศิลาทึบขนาดใหญ่จากหินที่เขานางเอ อยู่หลังสวนโมกข์   มีอยู่ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ องค์    

สำหรับคำว่า ไชยา นั้นน่าจะนำมาจากคำว่า ศรีวิชัย ซึ่งขุดพบศิลาจารึกพ..๑๓๑๘ ที่ระบุชื่อ พระยาศรีวิชัยนั้นว่า ศรีวิชเยนทรราชา,ศรีวิชเยศวรภูบดี และศรีวิชยนฤบดี  ที่หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินเมืองศรีวิชัย

นั่นหมายถึงศุนย์กลางอำนาจของพวกไศเรนทร(ราชาแห่งจอมเขา)อยู่ที่บริเวณเมืองไชยา ซึ่งเหมาะสมที่จะติดต่อกับอินเดียโดยเฉพาะที่เบ็งคอล  และเป็นเหตุให้พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ที่เป็นฝีมือของช่างแบบปาละแท้เดินทางมาประดิษฐานที่เมืองไชยาได้   โดยเฉพาะการติดต่อมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนามหายานในเบ็งคอล  จนมีความปรากฏในจารึกแผ่นทองแดงพบที่นาลันทาเมื่อพ..๑๓๙๒ ว่า ด้วยการที่ไศเรนทรอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยแห่งนั้นไปจากไชยา   ในบริเวณเมืองไชยานั้นมีเขาน้ำร้อนเป็นภูเขาประจำวงศ์ไศเรนทรสำหรับใช้ประดิาฐานพระเป็นเจ้าตามลัทธิพราหมณ์ แม้จะมีการนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ยังยึดถือเป็นประเพณีการอาบน้ำร้อนที่ออกมาจากพุบนเขานั้นถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีการจัดทำสระน้ำสำหรับอาบของพระราชาตามประเพณีของอินเดีย   เรื่องนี้หากรวมไปถึงบริเวณเขานางเอ แล้วจะพบว่าหน้าถ้ำนั้นมีสระบัวขนาดใหญ่สองสระ  น่าจะมีบริเวณที่เหมาะสมให้ราชาแห่งไศเรนทรสร้างวังประทับร้อนอยู่บนเนินที่เขานี้ เพราะมองเห็นสระน้ำได้สวยงาม และหากจะทิ้งทองประจำวันลงสระตามตำนานราชาแห่งซาบากก็ทำได้

เมืองไชยาโบราณนี้เดิมเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองตามพรลิงค์(เมืองนครศรีธรรมราช)ซึ่งมีชุมชนเมืองเก่า และสร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา  เจดีย์ที่วัดแก้ว  เจดีย์ที่วัดเวียง  เจดีย์ที่วัดหลง และพระอวโลกติเกศวรอย่างชวาอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะพระอวโลกิเตศวรขนาดเท่าคนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี    เส้นทางติดต่อนั้นมีแม่น้ำหลวง(แม่น้ำตาปี)ไหลผ่านเมื่อสำรวจเส้นทางน้ำพบว่าไปได้ถึงคีรีรัฐซึ่งมีทางข้ามไปลงที่แม่น้ำตะกั่วป่าได้อย่างสบาย น่าจะเป็นเส้นทางเดินของชาวอินเดียทางหนึ่ง   สำหรับเมืองตามพรลิงค์นั้นมีพระมหาธาตุองค์เดียว เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในสมัยหลังและมีหาดทรายแก้วกับลุ่มแม่น้ำน้อย   ประการสำคัญอ่าวบ้านดอนนั้นเป็นแหล่งที่เรือสินค้าจากจีนใช้เป็นท่าจอดเรือในสมัยโบราณได้และรอบอ่าวบ้านดอนนั้นก็เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญ ในจารึกพ..๑๗๗๓ ระบุว่า พระเจ้าจันทภาณุยังมีอำนาจอยู่เหนือดินแดนรอบอ่านบ้านดอน

สำหรับเมืองครหินั้นน่าจะอยู่แถวใต้เขมรลงมาทางญวน หรือแถวคอคอดกระ

พุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย หลวงจีนอี้จิง เคยเดินทางจากเมืองกวางตุ้งประเทศจีนทางเรือของอาหรับผ่านฟูนัน    มาพักที่อาณาจักรศรีวิชัยนี้  ในเดือน ๑๑ พ.๑๒๑๔ เป็นเวลาสองเดือน ก่อนที่จะเดินทางต่อผ่านเมืองไทรบุรี    ผ่านหมู่เกาะคนเปลือยนิโคบาร์      ถึงเมืองท่าตามรลิปติที่อินเดีย เพื่อสืบพระพุทธศาสนา หลวงจีนอี้จิงบันทึกไว้ว่า ประชาชนทางใต้ของแหลมมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งได้อิทธิพลมาจากพ่อค้ามุสลิมอาหรับ ที่เดินทางผ่านเพื่อไปยังประเทศจีน  ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ไปยัง  มะละกา  กลันตัน ตรังกานู  ปาหัง และปัตตานีจนกลายเป็นรัฐอิสลามไป 

ต่อมาในพ..๑๕๖๘(.. 1025) อาณาจักรศรีวิชัยถูกอาณาจักรโจฬะ  จากอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ ยกทัพเรือเข้าโจมตีทำให้อ่อนกำลังลง หลังจากนั้นในพ.ศ.๑๙๔๐ อาณาจักรศรีวิชัยได้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต  ที่มีอำนาจจากชวา

อาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นได้แผ่อำนาจลงมายังหัวเมืองต่างๆตลอดแหลมมาลายู และมีเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองสำคัญที่คอยดูแลหัวเมืองทางใต้

พระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์องค์ที่ ๑๗ (องค์สุดท้าย) ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

 


พระนางวิสุทธิเทวี หรือ สมเด็จเจ้าราชวิศุทธ (? — พ.ศ. 2121) เป็นขัตติยราชนารีพระองค์หนึ่งที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา และเป็นพระกษัตรีย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่การปกครองอาณาจักรล้านนาจะตกไปสู่การปกครองของราชวงศ์ตองอู

พระนางวิสุทธิเทวีได้ให้การยอมรับอำนาจของพม่า เป็นที่รู้จักในนามพระมหาเทวี ( ผู้สนองนโยบายการขยายอำนาจจากล้านนาไปสู่กรุงศรีอยุธยาและล้านช้างโดยใช้ล้านนาเป็นที่มั่น ทรงส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับเชียงใหม่ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ส่งกองทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองกองทัพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีมากของพระเจ้าบุเรงนอง รวมไปถึงพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนาง

ด้วยที่ทรงพระราชฐานะที่พระนางเป็นเจ้านายอาวุโสตำแหน่งพระมหาเทวี หรือกษัตรีย์แห่งล้านนาที่ให้ความร่วมมือแก่พม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ดังการพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะ และหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี

ข้อสันนิษฐาน

กรณีพระตนคำ

แต่เดิมศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล เคยสันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีเดิมมีพระนามว่า "พระตนคำ" ผู้เป็นพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้าที่พระเจ้าบุเรงนองนำไปเป็นองค์ประกันและเรียนรู้วัฒนธรรมพม่า และภายหลังได้ตกเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองโดยปริยาย

ครั้นเมื่อ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้สอบทำเนียบพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองอย่างละเอียดก็มิพบนาม พระตนคำ, วิสุทธิเทวี หรือราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่เลยแต่อย่างใด แต่พบนามของสตรีเชียงใหม่ตำแหน่งบาทบริจาริกานางหนึ่ง ความว่า "นางผู้เป็นชาวเชียงใหม่ (Zinme) นามว่าเคงเก้า (Khin Kank) ซึ่งให้กำเนิดพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองนางหนึ่งนามว่าราชมิตร"

ภายหลังศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ และเห็นว่านรธาเมงสอมิใช่เชื้อพระวงศ์มังรายอย่างที่เข้าใจ ส่วนพระนางเคงเก้าจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือพระวิสุทธิเทวี หรือพระวิสุทธิเทวีจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป

กรณีเป็นพระราชชนนีของนรธาเมงสอ

และเชื่อกันมาแต่เดิมว่า นางอาจเป็นพระราชชนนีในนรธาเมงสอ พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระนาง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการตีความโคลงบทหนึ่งของ "โครงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่" ที่มีเนื้อความระบุว่า

ได้แล้วภิเษกท้าวเทวี
เป็นแม่มังทราศรีเร่งเรื่อง
เมืองมวลส่วยสินมีตามแต่ เดิมเอ่
บ่ถอดถอนบั้นเบื้องว่องไว้วางมวล

นักภาษาศาสตร์ทั้ง ดร. ประเสริฐ ณ นคร และสิงฆะ วรรณสัย ถอดความดังกล่าวได้ว่า

"แล้วอภิเษกมหาเทวี [มหาเทวีวิสุทธิ] ผู้เป็นแม่มังทรา [นรธาเมงสอ เจ้าเมืองสาวัตถี–ตามความเข้าใจของผู้แปล] ขึ้นเสวยราชย์เหมือนเดิม ให้รวบรวมสินส่งส่วยเหมือนแต่ก่อน ไม่ทรงถอดถอนออก แต่มอบอำนาจให้ปกครองเมืองทั้งสิ้น"

รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ให้ความเห็นว่า "มังทรา" มาจากคำว่า "เมงตะยา" อันมีความหมายตรงตัวในภาษาพม่าว่า "ธรรมราชา" เป็นสมัญญานามที่ใช้ระบุหรือนำหน้ากษัตริย์พม่าทั่วไป และในโคลงบทที่ 12 นี้ได้ใช้คำว่า มังทรา แทนพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นคำว่า แม่มังทราศรี ก็จะหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดิน และมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นแม่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป ซึ่งก็อาจจะเป็นมารดาของอดีตกษัตริย์ คือ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็เป็นไปได้

รวมทั้งโคลงบทที่ 15 ของเรื่องเดียวกันนั้นที่กล่าวถึงภูมิหลังของนรธาเมงสอ ก็ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นพระโอรสของพระนางแต่อย่างใด เช่นเดียวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับพม่า (Zinme Yazawin) หรือแม้แต่พงศาวดารโยนกก็มิได้ระบุเช่นกัน

กรณีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ[

จากการศึกษาของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ โดยใช้หลักฐานของพม่าคือพงศาวดารมหายาสะวินเต๊ะ (Mahayazawinthet) กลับพบว่า พระมารดาของนรธาเมงสอ ชื่อ "ราชเทวี" มเหสีอันดับ 3 ของบุเรงนอง พระนางเป็นธิดาของสตุกามณีแห่งดีมเยง มีนามเดิมว่า เชงทเวละ พระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2106 ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2107 ฉะนั้นพระนางวิสุทธิเทวี จึงมิใช่พระมารดาของนรธาเมงสอ แต่มหาเทวีวิสุทธิอาจเป็นมารดาของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์

โดย รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้นำตัวพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไปหงสาวดี และสถาปนามหาเทวีวิสุทธิซึ่งชราภาพแล้วครองล้านนา เพื่อที่มหาเทวีจะได้ไม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า ด้วยเหตุผลนี้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์อาจมีฐานะเป็นพระโอรสของมหาเทวีวิสุทธิก็เป็นได้

ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะเห็นตรงกับ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ แต่ได้เพิ่มเติมด้วยว่าพระนางวิสุทธิเทวีคงเป็นพระชายาของพระเมืองแก้ว

พระประวัติ

ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหน้า) เป็นรูปดอกบัวในกรอบวงกลม
ตราครั่งประจำพระองค์ (ด้านหลัง) จารึกพระนาม "สมเดจเจ้าราชวิศุทธ" ด้วยอักษรฝักขาม

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้านายดั้งเดิมมาจากที่ไหน หรือทรงสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งใน จารึกวัดชัยพระเกียรติ ที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าโดยขุนนางพม่าของพระเจ้าบุเรงนอง ระบุพระนามของพระนางวิสุทธิเทวีว่า "...สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าตนเป็นเหง้าในนพบุรี..." ซึ่งคำว่า "เหง้า" นี้ ฮันส์ เพนธ์สันนิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่าที่จารึกใช้คำว่าเหง้านี้ อาจเป็นเพราะมหาเทวีพระองค์นี้ทรงมีเชื้อสายพญามังราย กอปรกับชื่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าก็เป็นชื่อตั้งเพื่อถวายพระเกียรติพญามังรายและพระมหาเทวีวิสุทธิผู้มีเชื้อสายของพญามังราย ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะอธิบายว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงมาจากเมืองนาย ซึ่งถูกส่งมาเป็นพระชายากษัตริย์ล้านนาตามพระราชธรรมเนียม อย่างไรก็ตามพระราชประวัติอันมืดมนซึ่งปรากฏบทบาทของพระองค์เพียงช่วงครองราชย์เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบและไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับพระประวัติตอนต้นของพระองค์ จึงกลายเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏชัดเจนเมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็นพระมหาเทวี คือเป็น "พระราชชนนีของพระมหากษัตริย์"

ทั้งนี้ตำแหน่งพระมหาเทวีเป็นตำแหน่งที่มีบทบาททางการเมืองสูง ดังจะเห็นจะได้จากพระราชประวัติของมหาเทวีจิรประภา และมหาเทวีสิริยศวดี และเป็นที่แน่นอนว่าพระองค์ต้องเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่' ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระราชชนนีในพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ โดยปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ร่วมประกอบพระราชกรณียกิจร่วมกับพระราชโอรสบ่อยครั้ง

เสวยราชย์

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2016 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ล้านช้างทรงสนับสนุน หลังพม่าเสร็จศึกที่อาณาจักรอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ แล้วพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับ ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)

"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."

หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเชียงใหม่แต่ก่อนทรงนามพระวิสุทธิเทวีขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."

เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้ว หลังพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็พิราลัย โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า

มหาอัคคราชท้าวเทวี
ยามหงอกกินบุรีถ่อมเถ้า
ทำทานชู่เดือนปีศีลเสพ นิรันดร์เอ่
เห็นเหตุภัยพระเจ้าราชรู้อนิจจา

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระองค์ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูงโดยมีหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ มายืนยันจากพระนามที่ปรากฏ ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่ (จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ), มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่), พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า), สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว (ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน) พระนางวิสุทธิเทวีมีพระสถาภาพเป็นมหาเทวีผู้ทรงอำนาจสูง ทรงผ่านการราชาภิเษกสองครั้ง พระองค์มีพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนางที่ให้ความร่วมมือกับพม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากกษัตริย์พม่า รวมทั้งขุนนางพม่าที่รั้งเมืองเชียงใหม่ ดังการพบเมื่อคราวมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระองค์ได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี

พระราชกรณียกิจ

การศาสนา

ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า

“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”

แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวีได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม (หรือ วัดหลวงบ้านแปะ) ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และได้ทำตราหลวงหลาบเงินเพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูด และบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะและคนไทยให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใด ๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน

การต่างประเทศ

ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า

“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญในหงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และเมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัว บัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัย เป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”

และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพ

เป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเอง ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัด แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพหยั่งรู้สถานการณ์ แม้ว่าโครงสร้างราชวงศ์จะขาดความมั่นคงแต่ล้านนาก็จะคงอยู่ได้ด้วยพระราชอำนาจและบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ที่ซึ่งเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตร่วมสมัยมิอาจแข่งขันได้

อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระนางนั้น ยังได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"

พิราลัย

พระนางวิสุทธิเทวีพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2121 โดยใน ตำนานเมืองลำพูน กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็พิราลัย ดังความว่า "...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..." พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา ดังปรากฏความใน พงศาวดารโยนก ความว่า

"นางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั่น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา"

และแม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายด้านการปกครองอย่างระมัดระวังและประนีประนอมแต่ก็รักษาพระเกียรติยศไว้อย่างสมบูรณ์จนสิ้นรัชกาล


เนื้อเพลง