วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567

สุนทรภู่ ผลงาน

 

ผลงานสุนทรภู่ ประเภทนิราศมี 9 เรื่อง
1. นิราศเมืองแกลง 2350
2. นิราศพระบาท 2350
3. นิราศภูเขาทอง 2371
4. นิราศเมืองเพชร 2371-2374
5. นิราศวัดเจ้าฟ้า 2375
6. นิราศอิเหนา 2375-2378
7. นิราศสุพรรณ 2377-2380 
8. รำพันพิลาป 2385
9. นิราศพระประธม 2385-2388

กลอน สุนทรภู่ วรรณกรรม นิทาน
ประเภทนิทาน แยกเป็น ดังนี้

ประเภทนิทานมี ๕ เรื่อง 
1. โคบุตร 
2. พระอภัยมณี 
3. พระไชยสุริยา 
4. ลักษณะวงศ์ 
5. สิงหไกรภพ


ประเภทสุภาษิตมี ๒ เรื่อง 
1. สวัสดิรักษา 
2. เพลงยาวถวายโอวาท

ประเภทบทละครมี ๑ เรื่อง 
1. อภัยนุราช

ประเภทเสภามี ๒ เรื่อง 
1. ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม 
2. พระราชพงศาวดาร


ประเภทบทเห่กล่อมมี ๔ เรื่อง 
1. จับระบำ 
2. กากี 
3. พระอภัยมณี 
4. โคบุตร


วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพชรพระอุมา เรื่องย่อ ตอนที่ 2 ดงมรณะ

 ดงมรณะ เป็นตอนที่สองของเพชรพระอุมาจำนวน 4 เล่ม ได้แก่ดงมรณะ เล่ม 1 - 4

เรื่องย่อ

ดงมรณะ เล่ม 1

ภายหลังจากรพินทร์นำคณะนายจ้างผ่านดงทากมาถึงยังแม่น้ำใหญ่ ในขณะที่กำลังหาวิธีข้ามก็พบกับอุปสรรคในการเดินทาง เนื่องจากในแม่น้ำมีจระเข้ขนาดใหญ่จำนวนมาก รพินทร์จึงหาวิธีข้ามแม่น้ำ บริเวณที่แคบที่สุดด้วยการยิงตัวสมเสร็จเพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อความสนใจจนสามารถข้ามได้สำเร็จ และหยุดพักค้างแรมในหุบเขากลางดงกล้วย ในตอนเย็นรพินทร์แสดงฝีมือการทำอาหาร คือลูกหมูหันบ้านป่า ยัดไส้ด้วยใบกล้วยให้คณะนายจ้างได้ลองชิม  คืนนั้นระหว่างพักผ่อน เกิดอาถรรพณ์ป่ากับปางพักของคณะนายจ้าง ขณะที่ไชยยันต์อยู่ยามเกิดตาฝาดมองเห็นเสือดาวขนาดใหญ่กลายเป็นหญิงสาวแรกรุ่น นั่งห้อยเท้าอยู่บนเถาวัลย์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายชิงช้า ไชยยันต์คิดว่าตนเองไม่สบาย จึงปลุกเชษฐามาอยู่ยามต่อ และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เชษฐาฟัง เมื่อเชษฐาอยู่ยาม เชษฐาได้พบเห็นหญิงสาวเช่นเดียวกับไชยันต์เช่นกัน โดยหญิงสาวได้เดินเข้ามาหาเกือบจะถึงบริเวณเขตที่พัก แต่สิ่งที่ทำให้เชษฐาตกใจคือ หญิงสาวมีหน้าตาถอดแบบดารินออกมาทุกกระเบียดนิ้ว  รพินทร์ที่เฝ้าดูเหตุการณ์ตลอดเข้าช่วยเหลือด้วยการยิงแสกหน้าเสือดาวด้วยปืน.458

เมื่อเชษฐาได้สติ จึงได้เห็นหญิงสาวแรกรุ่นที่มีใบหน้าเหมือนดารินกลายเป็นเสือดาวขนาดใหญ่ก็ตกใจ รพินทร์พยายามจะโน้มน้าวใจให้คณะนายจ้างคิดว่าเป็นเพียงตาฝาดเท่านั้น ส่วนพรานเกิดเชื่อว่าเป็น "เสือสมิง" ที่เกิดจากการฆ่าและกินมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้วิญญาณสิงสู่อยู่ในร่างของเสือดาวและสามารถสร้างภาพมายาหลอกล่อให้มนุษย์ติดกับดักได้เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครู่ เมื่อถึงเวลาเช้าทุกคนตื่นมาดูเสือดาวที่ถูกยิงตาย พรานเกิดได้ทำการกรีดบริเวณหนังตรงหน้าผาก ให้เป็นชิ้นเท่าฝ่ามือแล้วชโลมด้วยขี้เถ้าเก็บไว้ ก่อนออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำคณะนายจ้างไต่สันเขาดอยนางขึ้นไปจนถึงเวลาประมาณเที่ยง ก็เริ่มมองเห็นบริเวณของป่าหวายอยู่เบื้องล่าง ก่อนหยุดพักผ่อนชั่วครู่และลงจากดอยนางในช่วงเวลาประมาณบ่ายเศษ ๆ และพบเจอกับร่องรอยเกวียนที่รพินทร์ให้พรานบุญคำเป็นผู้ควบคุมและมอบหมายให้เดินทางล่วงหน้ามาก่อน

คณะเดินทางทั้งหมดพบซากควายที่ใช้ในการเทียมเกวียนนอนตายเนื่องจากถูกงูจงอางกัด รพินทร์นำคณะนายจ้างและลูกหาบเดินทางต่อจนเข้าใกล้เขตป่าหวายในตอนค่ำ แต่เกิดปะทะกับโขลงช้างของไอ้แหว่ง พญาช้างสารเกเรที่เคยมาป้วนเปี้ยนแถวปางพัก รพินทร์มีโอกาสเผชิญหน้ากับไอ้แหว่งซึ่ง ๆ หน้า แต่ในขณะที่เหนี่ยวไกปืนเพื่อเล็งบริเวณเนินน้ำเต้า แต่กระสุนในปืนไรเฟิลของรพินทร์หมด ทำให้เสียโอกาสในการพิชิตพญาคชสารและเป็นการเปิดโอกาสให้ไอ้แหว่งและเหล่าบริวารหนีรอดไปได้ คณะนายจ้างทุกคนปลอดภัยไม่ได้รับอันตรายจากการปะทะในครั้งนี้ แต่ต้องสูญเสียลูกหาบจำนวน 3 คน[9]และเกวียนจำนวน 3 เล่ม ที่ถูกโขลงช้างของไอ้แหว่งถล่มเสียราบคาบ ทำให้ลูกหาบที่ติดตามคณะเดินทางสูญเสียขวัญและกำลังใจ เชษฐาในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง ปลุกปลอบขวัญของบรรดาลูกหาบที่ขวัญหนีดีฝ่อจากการปะทะกับไอ้แหว่ง ด้วยการให้สัญญาจะจ่ายเงินค่าคำขวัญให้แก่ลูกหาบที่เสียชีวิต รายละหนึ่งหมื่นบาทเมื่อเดินทางกลับพร้อมด้วยพรานชดและถึงหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง โดยจะฝากหนังสือลายมือของเชษฐาไปถึงคุณอำพล เมื่อคณะเดินทางแยกทางกับลูกหาบตามสัญญาว่าจ้างที่หมู่บ้านหล่มช้าง

รพินทร์และคณะนายจ้างตั้งใจจะหยุดพักการเดินทางหนึ่งวัน เพื่อพักผ่อนตามอัธญาศัย และในวันมะรืนจะบ่ายหน้ามุ่งไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อพักแรมและสร้างปางพักถาวรบริเวณไหล่เขาริมหน้าผา เชษฐานำปืนไรเฟิลที่เตรียมไว้สำหรับในการเดินทาง ออกมาแจกจ่ายให้แก่ลูกหาบเพื่อใช้ในการป้องกันตัวจากอันตราย ดารินเปลี่ยนปืนที่ใช้จากเดิมคือ .470 มาเป็นบีเวอร์ .300 แม็กนั่มแทน เพราะปืนขนาดเล็กอานุภาพในการยิงน้อยไม่สามารถใช้ต่อสู้กับสัตว์ใหญ่ได้ ตกดึกดารินฝันว่าเจ้าป่านุ่งขาวห่มขาว หนวดเครายาวมาทวงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ดารินจึงแก้บนตามที่ขอไว้ด้วยสก็อตวิสกี้ ตกดึกประมาณตีสอง ปางพักของคณะเดินทางได้ถูกล้อมด้วยโขลงช้างบริวารของไอ้แหว่ง รพินทร์นำคณะนายจ้างและลูกหาบหลบหนีการโจมตีขึ้นไปตั้งหลักบนเนินเขา ไชยยันต์และแงซายช่วยกันฝังระเบิดไนโตรกลีเซอรีนบริเวณเนินเขาทั้ง 4 ด้าน ผลจากการปะทะครั้งใหญ่กลางดึกนี้ ทำให้ลูกหาบเสียชีวิตจากการถูกหินที่เกิดจากแรงระเบิดหนึ่งคน แต่ที่ร้ายแรงมากที่สุดคือเชษฐา ที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาอ่อนเหนือเข่าด้านซ้ายขึ้นไปเล็กน้อย เป็นแผลฉกรรจ์ ลึกและยาว ศีรษะแตกอีกสองแห่ง สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ชีพจรเต้นอ่อนและหมดสติ

ดารินทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิต แต่เชษฐาสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากต้องให้เลือดโดยด่วน ดารินต้องการเลือดกรุ๊ป เอ เนกาทีฟที่หายากและไม่มีในกรุ๊ปเลือดที่นำติดตัวมา แงซายเสนอตัวเข้าช่วยเหลือด้วยการให้เลือดแก่เชษฐา ซึ่งเป็นกรุ๊ปเดียวกัน ภายหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น เชษฐาหลับด้วยฤทธิ์ยาจนค่ำถึงรู้สึกตัว และรับรู้ถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตนเองจนไม่สามารถเดินได้ชั่วคราว แต่ขวัญและกำลังใจของเชษฐากลับดีเยี่ยม ไม่หวั่นแม้แต่น้อยในการเตรียมวางแผนออกตามไล่ล่าไอ้แหว่งในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางต่อไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรจนถึงเนินเขาแห่งหนึ่งจึงหยุดพัก และจัดตั้งเป็นกองบัญชาการชั่วคราวในการโจมตีกับโขลงช้างของไอ้แหว่งหากเกิดการปะทะกันโดยไม่คาดฝัน  ในขณะพรานพื้นเมือง แงซายและลูกหาบช่วยกันสร้างปางพัก รพินทร์ออกเดินสำรวจรอบบริเวณปาง พบร่องรอยของไอ้แหว่งที่ขาหลังด้านซ้ายหักและมุ่งหน้าพาร่างที่บาดเจ็บของมันกลับไปยังเขานาง รพินทร์ ไชยยันต์และแงซาย ออกติดตามร่องรอยของไอ้แหว่งตามที่มันทิ้งไว้ มุ่งหน้าไปทางเขานาง รพินทร์ติดตามไอ้แหว่งอยู่ 6 วันก็ไม่พบเจอตัวแม้แต่เงา จึงย้อนกลับมาเพราะพบร่องรอยของไอ้แหว่งที่หวนย้อนกลับมาปางพัก พร้อมกับวางแผนในการออกติดตามใหม่ เชษฐาที่อาการดีขึ้นมากพร้อมที่จะออกตามล่าไอ้แหว่งกับรพินทร์โดยมีดารินขอติดตามไปด้วย

รพินทร์และคณะนายจ้างแกะรอยไอ้แหว่งประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงจากป่าหวาย เกิดปะทะกับโขลงของไอ้แหว่ง ดารินยิงสุ่มสี่สุ่มห้าใส่โขลงช้างที่ดาหน้าเข้าหาอย่างประสงค์ร้ายด้วย .300 เวเธอร์บี แม็กนั่ม ผลปรากฏว่ากระสุนนัดนั้นโดนไอ้แหว่งเข้าที่ท้องอย่างจัง เป็นบาดแผลฉกรรจ์หลบหนีไป รพินทร์ติดตามรอยไอ้แหว่งไปจนถึงน้ำตกใหญ่และค้นพบด่านทางลับเข้าหุบหมาหอน ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายหลังน้ำตก

ดงมรณะ เล่ม 2

แงซายเป็นคนนำพาทั้งหมดผ่านเข้ามาภายในถ้ำโดยอ้างว่าเป็นการบอกกล่าวจากพระธุดงค์ที่เลี้ยงดูมา ดารินพบซากพญาคชสารยืนตายอย่างสมศักดิ์ศรีที่บริเวณช่องแคบภายในถ้ำ ก่อนจะอโหสิกรรมทุกสิ่งทุกอย่างให้ ภายหลังจากปราบไอ้แหว่งสำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างออกเดินทางจากป่าหวายมุ่งหน้าหมู่บ้านหล่นช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ระยะเวลา 3 วันในการเดินทางด้วยเกวียน แต่ถ้าตัดทางขึ้นเขาก็จะร่นระยะเวลาเหลือเพียง 2 วัน ระหว่างการเดินทางพบเจอโขลงของแม่แปรก แต่ไม่เกิดเหตุร้ายใด ๆ ก่อนถึงหมู่บ้านพุเตยในเวลาเย็นและหยุดพักแรมหนึ่งคืน รพินทร์พบความผิดปกติของหมู่บ้านพุเตยที่ปราศจากผู้คน กลายเป็นหมู่บ้านร้าง

เชษฐารู้สึกถึงความผิดปกติรอบนอกบริเวณปางพักและหมู่บ้านพุเตย ยิ่งตกดึกเสียงหมาเห่าและหอนที่โหยหวนสร้างความหวาดกลัวให้แก่บรรดาลูกหาบและดาริน ดังไปทั่วราวกับเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น รพินทร์อธิบายถึงสาเหตุของหมู่บ้านพุเตยที่ร้างเพราะอหิวาต์ ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านต้องพากันอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย และซากศพของผู้ที่เสียชีวิตถูกห่อด้วยเสื่อตามหน้าบ้านและขั้นบันได รวมถึงยะขิ่น ลูกสาวของผาเอิงที่เสียชีวิตด้วย ก่อนจะวางเวรยามกำหนดในแต่ละจุดเพื่อดูแลความปลอดภัยแก่คณะนายจ้าง พรานเกิดกับพรานเส่ยเป็นเวรยามผลัดแรก ในขณะทำหน้าที่เวรยามพรานเส่ยเห็นยะขิ่น หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงคู่รักของตนเองมาหา พร้อมกับชักชวนให้ไปด้วยกัน พรานเส่ยพยายามจะตามยะขิ่นไปแต่ถูกพรานเกิดขัดขวางเนื่องจากมองไม่เห็นยะขิ่น จึงออกอุบายหลอกล่อพรานเกิดจนสำเร็จและหนียามไปพรอดรักกับยะขิ่น[20] รพินทร์ที่ตรวจสอบความเรียบร้อยรอบปางพักพบว่าพรานเส่ยหายตัวไปในขณะเข้าเวรยาม จากการสอบถามพรานเกิดทำให้รู้ว่าพรานเส่ยถูกผียะขิ่นพาตัวไป จึงออกติดตามค้นหาเพื่อนำตัวกลับ ก่อนจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตของพรานเส่ย โดยมีคณะนายจ้างและพรานพื้นเมืองคู่ใจอีก 3 คนติดตามไปด้วย

ตลอดเส้นทางการเดินทางจากปางพักมุ่งหน้าเข้าภายในหมู่บ้านพุเตย เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็นของซากศพที่นอนเกลื่อนกลาด เสียงนกแสกและเสียงเห่าหอนยังคงดังต่อเนื่อง ไชยยันต์หวาดผวากับสภาพโดยรอบของหมู่บ้านพุเตยและถูกเหล่าวิญญาณผู้ตายภายในหมู่บ้านหลอกหลอน ทำให้ขวัญเสียขลาดกลัวขาดสติยั้งคิดถึงกับยิงปืนเข้าใส่ลูกมะพร้าวที่เต็มไปด้วยขนรุงรังเนื่องจากมองเห็นเป็นศีรษะมนุษย์ รพินทร์มาหยุดที่หน้าบ้านของผาเอิง ก่อนก้าวขึ้นเรือนก็พบกับพรานเส่ยที่ถูกผียะขิ่นสิงสู่ และพยายามต่อสู้ขัดขวางทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้นำตัวพรานเส่ยจากไป รพินทร์พยายามหว่านล้อมให้ยะขิ่นปล่อยตัวพรานเส่ยแต่ก็ไร้ผล เพราะต้องการเอาตัวพรานเส่ยไปอยู่ด้วยกัน พร้อมกับแสดงอิทธิฤทธิ์จนรพินทร์ต้องเผาหมู่บ้านพุเตยเพื่อช่วยเหลือพรานเส่ยออกมา วันรุ่งขึ้นรพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางมาประมาณชั่วโมงเศษ ๆ ก็เริ่มขึ้นเนิน การเดินทางเริ่มลำบากขึ้นตามลำดับจนรพินทร์รู้สึกตัวว่านำพาคณะนายจ้างมาผิดทาง จึงย้อนกลับไปอ้อมเขาอีโก้และหยุดพักแรม แต่คืนนั้นเกิดเหตุการณ์ประหลาดแก่ปางพัก งูขนาดใหญ่มีหงอนได้ปรากฏตัวขึ้น ควายที่ใช้เทียมเกวียนในการเดินทางถูกงูใหญ่คาบหายไปหนึ่งตัว

รพินทร์และคณะนายจ้างออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น ถึงหมู่บ้านหล่มช้างในตอนสาย ๆ และพบกับเจ้ามุ ลูกชายของคะหยิ่นหัวหน้ากะเหรี่ยงหมู่บ้านหล่มช้างที่ถูกหมูขวิดจนไส้ไหล ดารินช่วยปฐมพยาบาลและเย็บบาดแผลที่ท้องให้แก่เจ้ามุ ก่อนเดินทางถึงหมู่บ้านหล่มช้างในตอนเที่ยง ภายหลังรพินทร์และเชษฐาได้ทราบจากแงซายถึงเรื่องราวเมื่อครึ่งปีก่อน ที่มีหมอสอนศาสนามิชชันนารีสองสามีภรรยาถูกคะหยิ่นฆ่าตาย เนื่องจากรับคำท้าในการรักษาโรคให้หายภายใน 3 วันแต่กลับรักษาไม่หาย ภายหลังพบกับคะหยิ่น ดารินรู้สึกหมั่นไส้ในคำโอ้อวด จึงท้าด้วยการยิงมะขวิดด้วยปืน .300 จนคะหยิ่นยอมรับในฝีมือของดารินและยกย่องให้เป็นแม่มด ที่หมู่บ้านหล่มช้าง รพินทร์และคณะนายจ้างพบเกวียนของพรานชด ที่ฝากไว้กับคะหยิ่นก่อนออกเดินทางต่อเพื่อค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมา จอดไว้ใต้ต้นตะแบกบริเวณลานหน้าบ้านของคะหยิ่น คะหยิ่นช่วยเหลือคณะเดินทางของเชษฐาที่ยังบาดเจ็บด้วยการเกณฑ์ลูกบ้านไปตัดไม้สร้างบ้านให้พักชั่วคราว ระหว่างการก่อสร้าง ลูกบ้านของคะหยิ่นถูกงูใหญ่มีหงอนจำนวนสองตัวออกอาละวาด รพินทร์และคณะนายจ้างอาสาช่วยปราบงูใหญ่ให้เป็นการตอนแทน โดยวางแผนการโจมตีด้วยการใช้ธนูติดระเบิด

แงซายใช้ไม่ไผ่ทั้งลำมาทำธนู ขึ้นสายด้วยริ้วหนังวัว หางสำหรับตัดลมใช้หางนกเงือก ลูกธนูที่ใช้ยาวหนึ่งหลา ติดระเบิดไนโตรกลีเซอรีนประมาณ 7 นิ้ว วัดจากหัวธนูเข้ามา ก่อนใช้งานจริงได้ทดลองยิงก่อนหนึ่งดอก ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ รุ่งขึ้นงูใหญ่มีหงอนทั้งสองตัวออกอาละวาด ตัวหนึ่งถูกเชษฐายิงด้วย .458 กระสุนเข้าที่ตาซ้ายบอดสนิททันที ได้เลื้อยหลบหนีไป รพินทร์ ดาริน ไชยยันต์ แงซาย พรานบุญคำและคะหยิ่นออกติดตามร่องรอยของหยดเลือดที่ไหลจากบาดแผลไป คะหยิ่นนำทั้งหมดลัดเลาะไปตามแนวเขา และพบกับเหวซึ่งเบื้องล่างเป็นบ่อโคลน คะหยิ่นจึงใช้วิธีการเลื้อยเหมือนงูไปบนผิวใบไม้จำนวนมากที่ปกคลุมพื้นโคลนนั้นเข้าไปขึงเชือกกับต้นไม้และให้ทุกคนไต่เชือกตามไป

ดงมรณะ เล่ม 3

คะหยิ่นนำคณะไปจนเจองูใหญ่ โดยลอดเข้าไปในระหว่างช่องเขาซึ่งงูใหญ่ตัวนั้นนอนพาดขวางอยู่ เกิดการปะทะกันขึ้นกับงูใหญ่ทั้งสองตัว แงซายปะทะกับงูใหญ่มีหงอนตัวผู้ด้วยการยิงธนูติดระเบิดจำนวน 2 ดอก ดอกแรกเข้าที่บริเวณกลางลำตัว ดอกที่สองปักติดแน่นที่เพดานปากด้านบน ส่วนงูใหญ่ตัวเมียโดนที่บริเวณกลางลำตัวและใกล้กับส่วนคอ แหลกละเอียดตายคาที่ทั้งสองตัว ไชยยันต์เก็บเกล็ดงูใหญ่ซึงมีขนาดเกือบเท่ากระด้งกลับมาฝากเชษฐา เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าสามารถปราบงูยักษ์ทั้งสองตัวได้สำเร็จ

ภายหลังจากปราบงูใหญ่ได้สำเร็จตามสัญญา คณะเดินทางทั้งหมดพักอยู่ที่หมู่บ้านหล่มช้างราวหนึ่งเดือน รอจนกระทั่งอาการของเชษฐาดีขึ้นจนเกือบปกติ จึงออกเดินทางต่อโดยมีแต่รพินทร์ คณะนายจ้าง แงซายและพรานพื้นเมืองคู่ใจอีก 4 คนเท่านั้น ส่วนพวกลูกหาบให้เดินทางกลับหนองน้ำแห้ง ฝ่ายคะหยิ่นนั้นขอสวามิภักดิ์และติดตามไปกับคณะเดินทางด้วยด้วยความสำนึกในบุญคุณและความสามารถ เชษฐาจึงมอบปืนลูกซองเรมิงตัน โมเดล 870 แบบปั๊มแอคชั่นให้คะหยิ่นเป็นปืนคู่มือ

หลังจากส่งคณะลูกหาบกลับหนองน้ำแห้ง ราว 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น รพินทร์ก็นำคณะนายจ้างออกเดินทางจากหล่มช้าง บ่ายหน้าสู่เขาหัวแร้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางราว 20 กิโลเมตร โดยตั้งใจจะให้ถึงในเที่ยงของวันรุ่งขึ้น แงซายบอกว่าตนได้เคยผ่านเขาหัวแร้งเข้าไปในป่านรกดำแล้ว ราวเที่ยงวัน พบหลักฐานการเดินทางผ่านมาของพรานชดและหนานอิน และบทกลอนตัดพ้อชีวิตที่พรานชดเขียนไว้ที่แผ่นหินด้วยถ่าน พร้อมชื่อ วันเวลาที่พรานชดแวะพักแรม เช้าของวันต่อมาก็พบร่องรอยของมนุษย์ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนและเป็นใคร จนในที่สุด รพินทร์ แงซาย และพรานบุญคำก็ลงความเห็นว่าเป็นชนเผ่าสางเขียว คนป่าเผ่าดุร้ายหลงสำรวจ

นอกจากนี้คณะเดินทางยังได้พบร่องรอยการตั้งที่พักของมะราบรี (ชนเผ่าตองเหลือง) และการปะทะกันระหว่างสางเขียวและมราบรีในบริเวณใกล้ๆกัน และยังได้ปะทะกับกลุ่มสางเขียวซึ่งกำลังรุมฆ่ามราบรีสองคนอีกขนานใหญ่ ซึ่งรพินทร์สามารถช่วยชีวิตมราบรีคนหนึ่งไว้ได้ ส่วนลูกสาวของมราบรีคนนั้นถูกฆ่าตาย

ระหว่างออกเดินทางต่อ รพินทร์และคณะนายจ้างพบกับส่างปา พรานต่องสูผู้นำทางและคนรับใช้ของฝรั่งผิวขาว ที่หลงทางและกำลังหาทางเข้าประเทศไทย โดยเดินทางตัดผ่านทางแม่ฮ่องสอน และพบฝรั่งสองสามีภรรยา มาเรีย ฮอฟมัน และ ดร.สเตเกล ฮอฟมัน นักสำรวจสมุนไพร ฝ่ายรพินทร์เตือนดร.ฮอฟมันถึงเผ่าสางเขียว แต่ดร.ฮอฟมันไม่สู้จะใส่ใจนัก ทั้งสองคณะตกลงกันว่าจะพักอยู่ร่วมกันวันหนึ่ง แล้ววันมะรืนค่อยแยกทางกันต่อไป แต่แล้วในราวเที่ยงของวันถัดมานั่นเองก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ขณะที่ดร.ฮอฟมันและมาเรียลงไปอาบน้ำที่ลำธาร และคณะเดินทางของเชษฐาพักผ่อนอยู่บนที่พัก ก็เกิดเสียงปืนดังขึ้นมาจากลำธารสองนัด

ดงมรณะ เล่ม 4

รพินทร์และคณะนายจ้างพุ่งลงไปที่ลำธารทันที และพบว่า ดร.ฮอฟมันถูกสางเขียวฆ่าด้วยหอกที่ลำธาร และมาเรียผู้เป็นภรรยาถูกจับตัวไป ส่างปาเข้าต่อสู้เพื่อช่วยเหลือนายสาวแต่ถูกธนูอาบยาพิษจากเผ่าสางเขียว ได้คะหยิ่นช่วยแก้พิษให้ คณะเดินทางปะทะกับเผ่าสางเขียวจนกระทั่งแงซายยิงธนูติดระเบิดขึ้น ขับไล่สางเขียวแตกหนีไป รพินทร์และคณะนายจ้างต่างมีความเห็นตรงกันในการออกติดตามช่วยเหลือและชิงตัวมาเรียกลับมาจากพวกสางเขียว พร้อมกับฆ่าสางเขียวตายเป็นจำนวนมาก ตกดึกคืนนั้น ปางพักของเชษฐาได้ถูกเจ้าลู ลูกชายของหัวหน้าเผ่าสางเขียวใช้ยารมด้วยหนังคางคกตากแห้งเพื่อทำให้สลบ แต่รพินทร์และเชษฐาคอยระวังตัวอยู่แล้วจากแผนการที่เจ้าเกอะ มราบรีที่รพินทร์ช่วยชีวิตเอาไว้ และเป็นพ่อของนางเที๊ยะ ที่ถูกสางเขียวฆ่าตายพร้อมกับกินหัวใจ 

รพินทร์จับเจ้าลูเป็นตัวประกันโดยติดต่อสื่อสารด้วยภาษาว้า และบังคับให้พาไปยังถิ่นของสางเขียว เพื่อเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนตัวกับมาเรีย แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ซูซูผู้พ่อของเจ้าลูยอมแลกตัวกับมาเรีย แต่มุมบาหมอผีประจำเผ่าสางเขียวไม่ยอม จึงเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นระหว่างรพินทร์ คณะนายจ้างและเผ่าสางเขียว รพินทร์บุกเข้าชิงตัวมาเรียจากแท่นบูชายัญ มุมบาโดนเจ้าเกอะเอาหอกแทงตายแต่เจ้าเกอะก็โดนสางเขียวตัดหัวในทันทีเช่นกัน แงซายพลาดท่าโดนหอกของสาวเขียวที่สะบัก ทั้งหมดพากันหลบหนีจากถิ่นของสางเขียวเมื่อได้ตัวมาเรียกลับคืนมาแล้ว รพินทร์และคณะนายจ้างพากันถอยกลับอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ทันการเพราะฝ่ายสางเขียวยิงตอบโต้ด้วยธนูเพลิง เผาสะพานเชือกข้ามเหว เชษฐา ไชยยันต์และคนอื่นข้ามฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย เหลือเพียงรพินทร์และดารินที่ข้ามมาไม่ทัน

รพินทร์เกิดเป็นไข้จับสั่น แต่ก็พยายามพาดารินหลบหนีฝูงหมาในจำนวนมากที่ตามไล่ล่า ดารินเห็นผีนางเที๊ยะมาช่วยเหลือด้วยการนำทางไปหลบในถ้ำที่หน้าผาแห่งหนึ่ง ตลอดทั้งคืนดารินคอยดูแลรพินทร์และคอยระวังตัวจากฝูงหมาไน เจ้าลูพาสางเขาพยายามปีนขึ้นไปยังถ้ำแต่ก็ถูกดารินยิงเสียชีวิตด้วยปืนและกระสุนที่เหลือติดตัว รุ่งขึ้น แงซาย ไชยยันต์และคะหยิ่นข้ามฝั่งมาเพื่อช่วยเหลือและถล่มหมู่บ้านสางเขียวจนราบเป็นหน้ากลองด้วยธนูติดระเบิด ซูซูหัวหน้าเผ่าโดนระเบิดตาย สางเขียวที่เหลือขอยอมแพ้จึงเป็นการยุติการต่อสู้โดยสิ้นเชิง แงซายช่วยเหลือรพินทร์และดารินจากถ้ำที่หลบซ่อนตัวอย่างปลอดภัย ก่อนเดินทางกลับไปยังเขาหัวแร้ง

เมื่อกลับถึงปางพัก มาเรียขอติดตามร่วมเดินทางไปกับคณะเดินทางด้วย เชษฐามอบปืน .460 เวเธอร์บี แมกนั่มของ ดร.ฮอฟมันให้แงซายเป็นผู้ถือแทนปืน .375 เอฟเอ็น พร้อมกับให้ทดลองทางปืน (ขณะนั้นเหลือกระสุน 35 นัด) ส่วน .375 ของดารินมอบให้ส่างปาเป็นผู้ถือแทน แงซายทดลองทางปืนกับต้นไม้ใหญ่ ซึ่งรู้ภายหลังจากยิงกระสุนนัดแรกว่าเป็นต้นตะเคียน ตกตอนเย็นพรานพรานบุญคำที่ออกไปปลดทุกข์บริเวณนั้น วิ่งกระหืดกระหอบมาแจ้งแก่รพินทร์ถึงรอยปืนที่ต้นตะเคียน มียางไหลซึมออกมาสีแดงคล้ายเลือด

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพชรพระอุมา เรื่องย่อ ตอนที่ 1 ไพรมหากาฬ

 ไพรมหากาฬ เป็นตอนที่หนึ่งของเพชรพระอุมาจำนวน 4 เล่ม ได้แก่ไพรมหากาฬ เล่ม 1 - 4



เรื่องย่อ

ไพรมหากาฬ เล่ม 1

ในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง รพินทร์ ไพรวัลย์ พรานล่าสัตว์ หัวหน้าหมู่บ้านหนองน้ำแห้งได้นำสัตว์ที่ดักได้มาส่งแก่นายอำพล ผู้อำนวยการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ ที่สถานีส่งสัตว์ออกขายต่างประเทศ และได้รับการนำแนะจากนายอำพลให้รู้จักกับคณะเดินทางจากพระนคร ที่ต้องการว่าจ้างรพินทร์ ให้เป็นพรานนำทางเพื่อออกติดตามค้นหา หม่อมราชวงศ์อนุชา วราฤทธิ์ หรือพรานชด ซึ่งเป็นน้องของ พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ พี่ชายของ หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ และเพื่อนของ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย ผู้ซึ่งหายสาบสูญไปในป่าลึก คณะนายจ้างมีรายละเอียดข้อมูลเพียงคร่าว ๆ ที่พรานชดประชากร ออกเดินทางเข้าป่าเพื่อค้นหา "ขุมทรัพย์เพชรพระอุมา" ที่เป็นตำนานเล่าขาน โดยที่รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่เคยได้ยินจากหนานไพร ครูพรานของรพินทร์ให้คณะนายจ้างทราบ และข่าวคราวของพรานชด ที่เคยพบที่โป่งกระทิงในขณะที่พรานชดกับหนานอิน พรานคู่ใจกำลังจะออกเดินทางเพื่อค้นหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมา

วันรุ่งขึ้นรพินทร์เสนอเงื่อนไขสัญญาจ้างในการเป็นพรานนำทางคือเงินสดจำนวนสองแสนบาท สำหรับดูแลแม่ที่แก่ชราและทรัพย์สมบัติหนึ่งในสามส่วนของขุมทรัพย์เพชรพระอุมาถ้าค้นหาพบ ก่อนออกเดินทางหนึ่งสัปดาห์คณะนายจ้างได้เตรียมสัมภาระในการเดินทาง อีกสองวันต่อมาจึงล่วงหน้ามายังหมู่บ้านหนองน้ำแห้งพร้อมกับสัมภาระ เสบียงที่ทยอยขนมาโดยรถจี๊ปของบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ สำหรับอาวุธปืนชนิดต่าง ๆ และกระสุนจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น รพินทร์นำพรานพื้นเมืองสี่คนได้แก่พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย พรานคู่ใจของเขาไปด้วย แต่เมื่อทั้งหมดพร้อมออกเดินทางเพื่อติดตามค้นหาบุคคลที่สูญหาย ได้มีกะเหรี่ยงพเนจรชื่อแงซาย มาสมัครเป็นคนรับใช้ ขอติดตามร่วมคณะนายจ้างไปโดยที่ไม่ต้องการค่าตอบแทน เชษฐาซักไซ้ไล่เลียงประวัติของแงซายและรับไว้ให้ร่วมคณะเดินทาง รุ่งขึ้นทั้งหมดออกจากหมู่บ้านหนองน้ำแห้งแต่เช้า ถึงเขาโล้นในตอนบ่าย รพินทร์จัดเกมส์เบา ๆ สำหรับทดสอบฝีมือในการยิงปืนให้คณะนายจ้างในการไล่ราวเลียงผา ซึ่งก่อนหน้านั้นในระหว่างการเดินทาง เชษฐายิงกวางได้หนึ่งตัว ไชยยันต์ยิงหมูป่าได้อีกหนึ่งตัวเพื่อใช้สำหรับเป็นเสบียงในการเดินทาง

คืนนั้นคณะนายจ้างถูกเสือโคร่งลายพาดกลอนชื่อไอ้กุด มาป้วนเปี้ยนแถวปางพัก รุ่งขึ้นรพินทร์จัดให้คณะนายจ้างขึ้นห้างยิงสัตว์ ตกดึกของคืนนั้นไอ้กุดมาลากลูกหาบไปเป็นเหยื่อหนึ่งคน ซึ่งเป็นศพลูกหาบศพแรกของการเดินทาง รพินทร์นั่งเฝ้าซากลูกหาบเพื่อล่อให้ไอ้กุดย้อนกลับมากินซาก เชษฐาเป็นคนเหนี่ยวไกปืนยิง 2 นัดซ้อนแต่กระสุนพลาดไม่โดนจุดที่สำคัญทำให้ไอ้กุดรอดไปได้ คณะนายจ้างจึงต้องออกตามล่าตัวไอ้กุดต่อ และรพินทร์เป็นคนเหนี่ยวไกปืนสังหารไอ้กุดได้สำเร็จ และออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังโป่งกระทิง ระหว่างการเดินทาง ไชยยันต์ยิงวัวแดงขนาดใหญ่ได้หนึ่งตัวพร้อมกับการที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากฝีมือการยิงของตนเอง รพินทร์และคณะนายจ้างปะทะกับโขลงช้างก่อนถึงโป่งกระทิงจนเกิดการต่อสู้ เชษฐายิงช้างใหญ่ล้มไปหนึ่งตัวและเป็นเหตุให้พญาคชสารหรือไอ้แหว่ง ช้างใหญ่เกเรที่ใบหูแหว่งข้างหนึ่งบุกมายังปางพักแรมของคณะนายจ้าง เช้าวันรุ่งขึ้นในขณะที่รพินทร์และคณะนายจ้างตามแกะรอยกระทิงในป่าผาก รพินทร์และดารินช่วยชีวิตแงซายจากเสือที่ซ้อนรอยสะกดตามรอยเท้าของแงซาย

ไพรมหากาฬ เล่ม 2

พรานบุญคำเดินทางกลับมาจากบริษัทไวล์ดไลฟ์ของนายอำพล ภายหลังจากที่นำหนังไอ้กุดไปมอบให้ในเวลาประมาณสี่โมงเย็น พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ที่ถูกโขลงของไอ้แหว่งถล่มปางพักที่พุบอนเมื่อสามชั่วโมงที่ผ่านมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโป่งกระทิง พรานบุญคำเอาชีวิตรอดมาได้ด้วยการหลบเข้าไปในกอไผ่ แต่อินลูกหาบที่ติดตามไปด้วยเสียชีวิตคาที่ ในวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างย้อนกลับไปยังตำแหน่งที่พรานบุญคำและอินถูกโขลงช้างถล่ม โดยมีพรานบุญคำเป็นผู้นำทาง พบเจอกับซากของอินที่เละจนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ ปืนของพรานบุญคำหล่นอยู่บริเวณกอไผ่ ในระหว่างเดินทางกลับพบกับโขลงของไอ้แหว่ง รพินทร์พาเชษฐาไปดูช้างใหญ่ด้วยวิธีการคลานคืบแบบชนิดประชิดตัวกลางโขลงช้าง ซึ่งสร้างความตื่นตกใจระคนทึ่งในตัวของรพินทร์เป็นอย่างมาก แต่โขลงช้างได้กลิ่นมนุษย์ที่อยู่เหนือลม ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างโขลงของไอ้แหว่ง รพินทร์และคณะนายจ้างซึ่งยิงช้างใหญ่ล้มถึง 8 ตัว

ในวันรุ่งขึ้นของการเดินทาง รพินทร์นำคณะนายจ้างไปนั่งห้างที่เตรียมไว้โดยแบ่งเป็นคู่ ๆ คือคู่ที่หนึ่งรพินทร์และดาริน คู่ที่สองเชษฐากับพรานบุญคำและคู่ที่สามไชยยันต์กับเกิด ขณะนั่งห้างดารินแสดงฝีมือในการยิงปืนด้วยการยิงกระทิงโทนขนาดใหญ่ในตอนดึก แต่กลับถูกอาถรรพณ์ของป่าเล่นงานทั้งคืนจนต้องทำพิธีขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขา เชษฐาที่นั่งห้างคู่กับพรานบุญคำโชคไม่ดีที่สัตว์ไม่เข้าทางปืนทำให้ไม่ได้อะไรติดมือกับปางพัก แต่สำหรับไชยยันต์เกิดไปยิงลูกกระทิงตายแต่แม่กระทิงกลายเป็นกระทิงลำบาก ถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายทำให้ไชยยันต์ต้องออกตามล่าแม่กระทิงที่ยิงไว้เมื่อคืนกับรพินทร์ แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น รพินทร์ถูกกระทิงเหยียบได้รับบาดเจ็บในขณะที่ไชยยันต์ยิงกระทิงลำบากซึ่งถูกเสือสามตัวรุมล้อมเล่นงานอยู่ได้สำเร็จ

คณะนายจ้างหยุดพักแรมหนึ่งคืนก่อนออกเดินทางต่อ รพินทร์ได้รับทราบข่าวของพรานชดจากแงซาย ที่เคยติดตามพรานชดจากห้วยเสือร้องไปยังหมู่บ้านหล่มช้าง แต่แงซายคลาดกับพรานชดเป็นระยะเวลา 5 วัน และเข้าเขตแดนดงมรณะอยู่ประมาณ 2 วัน ซึ่งแงซายโชคร้ายถูกงูพิษกัด แต่ได้พระธุดงค์มาช่วยชีวิตเอาไว้พร้อมกับเล่าเรื่องราวของเมืองมรกตนคร ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของแงซายให้คณะนายจ้างฟัง รุ่งขึ้นพรานพื้นเมืองของรพินทร์ นำเกวียนไปเอาเนื้อกระทิงและหนังเสือสามตัวที่ถูกไชยยันต์ยิงทิ้งไว้ตั้งแต่เช้ามืด รพินทร์แจ้งข่าวกะเหรี่ยงที่ผาเยิงโดนโขลงของไอ้แหว่งถล่มปางพักเสียราบเป็นหน้ากลอง ฝรั่งนักสำรวจชาวอเมริกัน จำนวน 3 คน นายแพทย์ที่มาสำรวจพืชพรรณเกี่ยวกับสมุนไพร นายทหารที่ร่วมเดินทางมาด้วยและกะเหรี่ยงนำทาง ไม่มีผู้ใดรอดชีวิตจากการบุกถล่มของโขลงไอ้แหว่งแม้แต่คนเดียว

ตอนบ่ายของวันเดียวกัน รพินทร์พาเชษฐาไปดักยิงเสือ ขากลับได้งาช้างกำจัดซึ่งเป็นของหายากที่เกิดจากการที่ช้างเอางามาถูกับต้นไทรและหักคาลำต้นมาอันหนึ่ง รพินทร์เปิดใจเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองให้เชษฐาฟังเกี่ยวกับพ่อที่เป็นพรานล่าสัตว์แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมอง และพาเชษฐาไปแอบดูช้างที่กำลังตกมันและเสือสองตัวต่อสู้เพื่อแย่งชิงเหยื่อที่ล่ามาได้โดยมองดูเฉย ๆ และไม่ยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงจรห่วงโซ่อาหารของสัตว์ภายในป่า แต่ในช่วงเวลาประมาณหัวค่ำ ช้างป่าที่กำลังตกมันในตอนบ่ายซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่รพินทร์พาเชษฐาไปแอบดู บุกเข้ามาถล่มปางพักของคณะนายจ้างและถูกแงซายยิงที่เนินน้ำเต้าล้มลงคาที่ คณะนายจ้างพักแรมที่โป่งกระทิงอีกเพียงคืนเดียวก็จะออกเดินทางต่อ ช่วงหัวค่ำเชษฐาเรียกให้แงซายมาพบและให้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดงมรณะให้ทุกคนฟัง แงซายเล่าถึงสัตว์และพืชที่มีขนาดใหญ่ที่พบเจอมาให้คณะนายจ้างฟัง ซึ่งเห็นเป็นเรื่องขบขันและไม่มีใครเชื่อตามคำบอกเล่าของแงซาย

ไพรมหากาฬ เล่ม 3

รพินทร์เล่าถึงเนวิน ผู้ที่มอบลายแทงขุมทรัพย์เพชรพระอุมาของมังมหานรธาให้แก่ตัวเอง ซึ่งออกเดินทางจากห้วยเสือร้องจำนวน 4 คน พร้อมด้วยอาวุธครบมือขาดแต่เครื่องเวชภัณฑ์และหายสาบสูญไป คืนนั้นในตอนดึก รพินทร์เป็นไข้จากบาดแผลที่ถูกวัวกระทิงเหยียบ ดารินช่วยปฐมพยาบาลและให้ยานอนหลับทำให้รพินทร์หลับสนิทจนไม่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปางพัก กลิ่นดอกลำเจียกตลบอบอวลทั่วทั่งปางพักพร้อมกับชีวิตของเลินลูกหาบ ที่เสียชีวิตปริศนาด้วยสภาพที่ถูกสูบเลือดออกจากตัวจนเกือบหมด เช้าวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างจึงได้รู้ว่ามีลูกหาบภายในขณะเดินทางเสียชีวิต เมื่อทำการฝังศพเลินเสร็จเรียบร้อยก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เขตป่าหวาย แต่กลับเผชิญหน้ากับฝูงกองทัพลิงกังที่ดุร้ายจำนวนมาก รพินทร์ พรานพื้นเมืองคู่ใจทั้งสี่และคณะนายจ้างเปิดฉากต่อสู้กับกองทัพลิง ยิงลิงกังตายร่วมร้อยและสอยจากยอดไม้อีก 27ตัว ระหว่างออกเดินทางต่อพบรอยของไอ้แหว่งซึ่งล่วงหน้ามาก่อนประมาณ 2 วัน รพินทร์กับบุญคำแยกทางจากคณะนายจ้างเพื่อไปสำรวจร่องรอยของไอ้แหว่ง และนัดพบกันที่โป่งน้ำร้อนในตอนค่ำ และกลับมาพร้อมข่าวไอ้แหว่ง มีมหิงสาขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเดินตามรอยของมัน

ในขณะพักแรมที่ปางพัก เกิดฝนตกหนักทำให้มีหมอกลงหนาทึบไปทั่วบริเวณ รพินทร์และคณะนายจ้างรอให้หมอกบางก่อนจึงจะออกเดินทางในเวลาเก้าโมงเช้า บ่ายหน้าไปยังหุบชมดโดยตั้งใจจะไปถึงในเวลาประมาณเที่ยง ระหว่างทางในการเดินทาง มีเสือดำซุ่มอยู่บนต้นไม้แต่ดารินส่องมองด้วยกล้องส่องทางไกลไม่เห็น รพินทร์เข้าช่วยเหลือด้วยการยิงจากปืน.270 ของดารินที่ติดกล้องขยายสี่เท่า[7] เมื่อถึงหุบชมดขบวนเกวียนทั้งหมดก็แยกทางกันโดยให้ขบวนเกวียนไปรอที่ห้วยยายทอง มีบุญคำเป็นผู้ควบคุมขบวนเกวียนไปยังป่าหวาย รพินทร์นำคณะนายจ้าง เกิดและแงซายที่ติดตามไปด้วยมุ่งหน้าออกเดินทางต่อไป ในช่วงหัวค่ำคณะนายจ้างได้มีโอกาสเห็นภาพงูเหลือมวิดน้ำหาปลา ในช่วงเวลาตอนใกล้รุ่งโขมดดงเข้ามายังปางพัก แงซายรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพบและเกิดการยิงปะทะกันขึ้น โขมดดงถูกยิงได้รับบาดเจ็บหลบหนีไป รุ่งเช้ารพินทร์นำคณะนายจ้างและออกตามล่าโขมดดง แต่กลับพบแหล่งอัญมณีน้ำงามและบ่อพลอย และปราบโขมดดงได้สำเร็จและได้ทับทิมเม็ดงามจากท้องของโขมดดง รพินทร์มอบทับทิมให้เชษฐาเป็นผู้เก็บไว้แทน

ช่วงบ่ายรพินทร์นำคณะนายจ้างออกเดินทางต่อ ระหว่างทางได้เห็นภาพเสือดาวถูกงูเหลือมรัดจนตาย ช่วงเวลาก่อนพลบค่ำ รพินทร์พบรอยมหิงสาพร้อมรอยเลือดในปลักโคลน ซึ่งเกิดจากการที่เชษฐายิงโดนขาหลังซ้ายและบาดเจ็บหนีไป และหยุดพักในตอนค่ำที่ลำธารในเขตห้วยยายทอง สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าเสือชุมที่สุดแห่งหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างได้ออกติดตามมหิงสาที่ลำบากด้วยฝีมือของเชษฐาที่ต้องมาจบชีวิตลงด้วยฝีมือการยิงของดาริน ด้วยปืน .470 แต่ในคืนนั้นในระหว่างพักแรมที่ปางพักซึ่งรพินทร์ตั้งใจจะนำคณะนายจ้างไปสมทบกับบุญคำที่ป่าหวาย แต่เกิดเหตุน้ำป่าไหลเข้าพังปางพัก พัดทุกคนกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง

ไพรมหากาฬ เล่ม 4

รพินทร์และดารินถูกน้ำป่าพัดมาสลบอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน ซึ่งเป็นระยะทางห่างจากปางพักประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ถ้าเดินเลาะตามธารตัดป่าจะเป็นระยะทางเพียง 20 กิโลเมตร รพินทร์ยิงไก่เป็นอาหารเช้าให้ดารินและพยายามหาทางกลับยังปางพัก ดารินได้รพินทร์ช่วยชีวิตจากเสือดาวที่แอบซุ่มอยู่และกระโจนเข้าใส่ ตลอดระยะทางที่ระหกระเหินอยู่ภายในป่า รพินทร์พยายามปลอบขวัญดารินให้กลับคืนสู่ปกติด้วยการร้องเพลงนิ้งหน่องและแสดงอาการปกติตลอดระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกดี ๆ ที่ดารินมีต่อรพินทร์

แต่รพินทร์และดารินกลับพบกับกองทัพหมาไนจำนวนมาก และต้องหลบหนีขึ้นต้นไทรใหญ่เพื่อหลบคมเขี้ยวแหลมคม รพินทร์และดารินอยู่บนต้นไทรใหญ่จนกองทัพหมาไนยอมล่าถอยจึงออกเดินทางต่อ จนพบถ้ำของเสือแม่ลูกอ่อนที่ทิ้งลูกเสือจำนวนสามตัวไว้หน้าถ้ำเพื่อหาอาหาร ดารินเห็นความน่ารักของลูกเสือจึงตรงไปจับและลูบคลำด้วยความเอ็นดู แต่ปัญหาใหญ่กลับตามมาเมื่อรพินทร์ให้รีบหนีจากลูกเสือเพราะกลิ่นตัวของดารินไปติดตามขนและลำตัว ถ้าเสือแม่ลูกอ่อนกลับมาและได้กลิ่นแปลกปลอมจากตัวลูกจะออกตามไล่ล่าผู้ที่มีกลิ่นเดียวกับลูกของมัน จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการฆ่าลูกเสือทั้งสามทิ้ง เมื่อเสือแม่ลูกอ่อนกลับมาพบลูกตายเกลื่อน ด้วยความโกรธจึงย้อนกลับไปกัดคนตัดไม้ริมชายป่าเสียชีวิต 3 คน และลากมายังต้นตะเคียนที่รพินทร์และดารินหลบซ่อนอยู่

ดารินเห็นชายตัดไม้ที่เสียชีวิตเป็นศพที่สาม ขี่คร่อมอยู่บนหลังเสือพร้อมกับชี้บอกตำแหน่งของดารินบนต้นตะเคียนด้วยอาถรรพณ์ของป่าและความโกรธแค้นของเสือ รพินทร์ปลอบขวัญดารินและยิงเสือแม่ลูกอ่อนในขณะที่กำลังกระโจนเข้าใส่ แล้วมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านคนตัดไม้เพื่อขอความช่วยเหลือ ระหว่างทางดารินถูกงูเหลือมรัด และได้รพินทร์ช่วยเหลือจึงถูกงูเหลือมกัดแทน จนหาทางออกจากป่าได้สำเร็จและพบกับโต๊ะถะ กะเหรี่ยงหัวหน้าหมู่บ้านผาเยิง ซึ่งช่วยออกตามหาเชษฐาและคนอื่นที่หลงเหลืออยู่ แงซายที่ถูกน้ำพัดไปพบกับบุญคำและเกิด จึงพากันเดินเลาะชายป่ามาสบทบกับรพินทร์ที่ผาเยิง ซึ่งเกิดปัญหาใหญ่ในการถูกเสือรบกวน บุกเข้ามาทำร้ายและคาบเอาพวกกะเหรี่ยงผาเยิงที่ออกไปตัดไม้ไปเป็นเหยื่อ รพินทร์รับปากจะช่วยเหลือในการปราบเสือ

คืนนั้นรพินทร์นำคณะนายจ้างออกไปปราบเสือตามสัญญากับกะเหรี่ยงผาเยิง ดารินยิงเสือได้มากกว่าใครและเป็นการยิงในระยะกระชั้นชิดในขณะที่กำลังกระโจนเข้าใส่ รวมจำนวนเสือทั้งหมดที่คณะนายจ้างยิงได้คือ 16 ตัว วันรุ่งขึ้นรพินทร์และคณะนายจ้างออกเดินทางจากห้วยแม่เลิง โดยยึดเอาตำแหน่งสันเขาในการมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดระยะการเดินทาง ซึ่งเต็มไปด้วยความลำบาก แงซายเข้าช่วยเหลือการเดินทางด้วยการตอกทอยเพื่อตัดหน้าผาสูงชันและช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางได้ 30 กิโลเมตร พักค้างแรกที่บนภูเขาที่มีทะเลสาบหนึ่งคืนก่อนจะลัดเลาะลงขอบหุบหมาหอน ถึงป่าพรุซึ่งมีดงทากจำนวนมาก แต่ดารินยืนกรานกระต่ายขาเดียวด้วยความกลัวจนรพินทร์ต้องช่วยเหลือด้วยการให้น้ำมันกันทากทาจึงยอมผ่านดงทากถึงบึงใหญ่ที่มีจระเข้จำนวนมาก นอนผึ่งแดดและลอยคออยู่ในน้ำ

เพชรพระอุมา จากนามปากกาของพนมเทียน

 


เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และนับว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลาย ๆ ครั้งในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ก จำนวน 48 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน (เดิมเป็นชนิดปกแข็งจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก หรือ 16 หน้ายก และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 ยก แบ่งเป็นสามภาคได้แก่ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม ภาคสอง จำนวน 15 เล่ม และ ภาคสาม จำนวน 14 เล่ม แต่ปัจจุบันได้รวบรวมเนื้อหาในแต่ละภาคและลดลงคงเหลือเพียงแค่ 48 เล่ม) [4] แบ่งเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 และทำการปรับปรุงต้นฉบับเดิมพร้อมกับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544 และตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2547 อีกทั้งยังมีการทำเป็น eBook โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ในปี พ.ศ. 2556

โดยเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก คิงโซโลมอนส์ไมนส์ (King Solomon's Mines) หรือ สมบัติพระศุลี นวนิยายของเซอร์เฮนรี ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่ผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา

จุดเริ่มต้นของเพชรพระอุมา

พนมเทียนเริ่มต้นการเขียนเพชรพระอุมาในปี พ.ศ. 2507 โดยตกลงทำข้อสัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา (ซึ่งปัจจุบันสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ได้ยุติกิจการไปแล้ว) ในการเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในป่าจำนวนหนึ่งเรื่อง โดยมีข้อกำหนดความยาวของนวนิยายเพียงแค่ 8 เล่มจบเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ต้องเขียนเพชรพระอุมาเพิ่มเติมต่อจนครบ 10 เล่ม และขอยุติการเขียนตามข้อสัญญา[6] แต่ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยายังไม่อนุญาตให้พนมเทียนยุติการเขียน และได้ขอร้องให้เขียนเพิ่มเติมต่ออีก 5 เล่ม พร้อมกับบอกกล่าวถึงความนิยมของนักอ่านที่มีต่อเพชรพระอุมา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนต้องมีการตีพิมพ์ซ้ำหลาย ๆ ครั้งด้วยกันในระยะปลาย ๆ ของเล่มที่ 10[6] จนสถิติการตีพิมพ์และการจัดจำหน่ายของนวนิยายเรื่องนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการตอบรับจากนักอ่านหลาย ๆ รุ่นเป็นอย่างดีในการช่วยขัดเกลาเนื้อเรื่องของเพชรพระอุมา และแจ้งเตือนแก่พนมเทียนถึงชื่อตัวละครหรือสถานที่ที่ปรากฏในเพชรพระอุมาที่มีการผิดพลาด

เพชรพระอุมาออกวางจำหน่ายในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ก เป็นแบบรายวันคือ 10 วัน ต่อหนังสือ 1 เล่ม และยังคงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปจนถึงเล่มที่ 40 จนกระทั่งมีความยาวถึง 98 เล่ม เนื้อเรื่องก็ยังไม่สามารถจบลงได้[6] จนกระทั่งเพชรพระอุมาฉบับพ็อตเก็ตบุ๊กเล่มที่ 99 ได้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 จึงได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "จักรวาลรายสัปดาห์" ในปี พ.ศ. 2513 เป็นระยะเวลา 5 ปี และตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" ในปี พ.ศ. 2518 เป็นระยะเวลาอีก 6 ปี พนมเทียนก็ยังไม่สามารถจบเรื่องราวการผจญกัยในป่าของเพชรพระอุมา จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์ต่อใน "จักรวาลปืน" ในปี พ.ศ. 2525 อีก 8 ปี เรื่องราวทั้งหมดจึงสามารถจบลงได้ในปี พ.ศ. 2533

ระยะเวลาในการเขียน

เพชรพระอุมาใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี[8] ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนั้นมาจากการที่พนมเทียนเป็นนักเขียนอาชีพ และยึดถือเอาสิ่งสำคัญที่สุดของงานเขียนก็คือผู้อ่าน[9] โดยตราบใดที่งานเขียนของตนเองยังคงได้รับความนิยมและมีผู้สนใจติดตามอ่าน ตราบนั้นความสุขใจในการเขียนก็เป็นสิ่งที่มีความสุขมากที่สุดของพนมเทียน ทำให้เนื้อเรื่องของเพชรพระอุมาถูกสร้างสรรค์และเขียนแต่งขึ้นตามจินตนาการ ร่วมกับประสบการณ์ในการเดินป่าอย่างละเอียดลออ จนกระทั่งมีความยาวมากทั้งภาคแรกและภาคสมบูรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ สามารถจินตนาการตามตัวอักษรและสร้างอารมณ์ร่วมในการติดตามเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องของตัวละครต่าง ๆ ได้

พนมเทียนนั้นมีวิธีการเขียนเนื้อเรื่องเพชรพระอุมาในรูปแบบการเขียนของตนเอง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพยายามเขียนบรรยายถึงลักษณะท่าทาง ตลอดจนอากัปกิริยาต่าง ๆ ของตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเพชรพระอุมา โดยไม่ยอมให้เป็นการเขียนที่เรียกได้ว่าเขียนแบบผ่านเลยไป ทำให้ผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดไม่ได้อรรถรสและความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง แต่พนมเทียนจะเขียนโดยแจกแจงอากัปกิริยาทุกขณะและทุกฝีก้าวของตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นการกระทำต่างหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่นกระทิงหรือเสือโคร่งถูกรพินทร์ ไพรวัลย์ยิงล้มลง ก็จะเขียนบรรยายเริ่มตั้งแต่รพินทร์และคณะเดินทางพบเจอกับสัตว์ เกิดการต่อสู้หรือติดตามแกะรอยจนถึงประทับปืนและเหนี่ยวไกยิง จนกระทั่งสัตว์นั้นล้มลงเสียชีวิต หรือแม้แต่การพูดจาเล่นลิ้นยั่วยวนกวนประสาทของแงซายและรพินทร์ ไพรวัลย์ จนถึงการพร่ำพรรณนาคำรักหวานซึ้งระหว่างไชยยันต์ อนันตรัยและมาเรีย ฮอฟมัน พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยมจนสามารถทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าในขณะนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง จนทำให้เพชรพระอุมากลายเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก

ความเป็นมาของโครงเรื่อง

ปกหนังสือนวนิยายเรื่องคิงโซโลมอนส์ไมนส์

โครงเรื่องของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนวความคิดของเรื่องคิงโซโลมอนส์ไมนส์ ของ เซอร์ฯ แฮกการ์ด ซึ่งเป็นเค้าโครงของการผจญภัยเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง โดยก่อนหน้าที่พนมเทียนจะเขียนเพชรพระอุมาก็ได้มีการวางโครงเรื่องคร่าว ๆ ไว้เช่นเดียวกับงานเขียนอื่น ๆ ซึ่งโครงเรื่องคร่าว ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนวางเอาไว้เพียงเล็กน้อยโดยกำหนดให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยในป่าของนายพรานผู้นำทางคนหนึ่งเท่านั้น

และต่อมาภายหลังได้เขียนเนื้อหาสำคัญของโครงเรื่องเพิ่มเติม จนกลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า ที่รับจ้างวานนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเล่าขาน ก่อนออกเดินทางมีกะเหรี่ยงพเนจรมาขอสมัครเป็นคนรับใช้และขอร่วมติดตามไปกับคณะเดินทางด้วย จนกระทั่งเมื่อบุกป่าฝ่าดงและอันตรายต่าง ๆ ไปถึงจุดหมายปลายทางความจริงก็ปรากฏว่า กะเหรี่ยงลึกลับที่ร่วมเดินทางมาด้วยนั้นกลายเป็นรัชทายาทที่แท้จริงของเมืองมรกตนคร เมืองลับแลที่ไม่ปรากฏในแผนที่ พรานผู้นำทางและคณะเดินทางได้ช่วยกันทวงชิงและกอบกู้ราชบัลลังก์คืนให้แก่กะเหรี่ยงลึกลับได้สำเร็จพร้อมกับได้พบขุมทรัพย์เพชรพระอุมาที่เป็นตำนานเล่าขานมาแต่โบราณ

จากโครงเรื่องเดิมของคิงโซโลมอนส์ไมนส์ เพียงแค่ 4 บรรทัดเท่านั้น แต่พนมเทียนสามารถนำมาเขียนเป็นเพชรพระอุมาโดยเล่าเรื่องราวการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์ รวมทั้งภูมิประเทศในป่าดงดิบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ไปจนจรดชายแดนพม่าและน่าจะล่วงเลยไปถึงแถบเทือกเขาหิมาลัย (เพราะในตอนท้ายเรื่องมีฉากที่ต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีหิมะตก) ในปัจจุบัน โดยดึงประเด็นจุดสำคัญของชีวิตการเดินป่าของตนเองที่เคยผ่านมาก่อนผสมเข้าในไปโครงเรื่องของเพชรพระอุมาด้วย

ต้นแบบของโครงเรื่อง

พนมเทียนนำเอาความรู้ความชำนาญในการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์จากประสบการณ์จริงของตนเอง มาเป็นพื้นฐานในการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา โดยเค้าโครงเรื่องและส่วนประกอบต่าง ๆ ได้นำมาจากเรื่องเล่าขานและสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนักท่องไพรรุ่นอาวุโส หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟของพรานพื้นเมืองต่าง ๆ ยามพักผ่อนภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการล่าสัตว์และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

เพชรพระอุมามีองค์ประกอบหลัก ๆ ที่พนมเทียนนำมาเป็นต้นแบบของโครงเรื่อง ดังนี้[11]

  1. นำมาจากประสบการณ์การเดินป่าของตนเองส่วนหนึ่ง
  2. เก็บเรื่องเล่าจากการล้อมวงรอบกองไฟของพรานพื้นเมืองและนักท่องไพรต่าง ๆ
  3. เรื่องเล่าเก่า ๆ จากบรรพบุรุษ ถึงความลึกลับและอาถรรพณ์ต่าง ๆ ของป่าในวัยเด็ก
  4. เกิดจากแรงสร้างสรรค์และจินตนาการของตนเอง

ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาเขียนเพชรพระอุมา พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ อารมณ์และจินตนาการของตัวละครในนวนิยายได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งต้นแบบของโครงเรื่อง ก็มาจากประสบการณ์จริงบวกกับจินตนาการของพนมเทียนนั่นเอง

โครงเรื่อง

เพชรพระอุมาเป็นนวนิยายที่มีความยาวทั้งสิ้น 48 เล่ม 12 ตอน แบ่งออกเป็นสองภาคคือภาคแรกและภาคสมบูรณ์ ภาคละ 24 เล่ม จำนวน 6 ตอน ซึ่งภาคแรกของเพชรพระอุมาได้แก่ ไพรมหากาฬ, ดงมรณะ, จอมผีดิบมันตรัย, อาถรรพณ์นิทรานคร, ป่าโลกล้านปีและแงซายจอมจักรา สำหรับภาคสมบูรณ์ได้แก่ จอมพราน, ไอ้งาดำ, จิตรางคนางค์, นาคเทวี, แต่ปางบรรพ์และมงกุฎไพร ซึ่งเค้าโครงเรื่องในภาคแรกและภาคสมบูรณ์ของเพชรพระอุมามีดังนี้

ภาคแรก

เพชรพระอุมาเป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย เพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย พรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายนานาชนิด ที่ทำให้คณะเดินทางต้องเสี่ยงภัยและเผชิญกับสัตว์ร้ายในป่าดงดิบ อาถรรพณ์ของป่า นางไม้ ภูตผีปีศาจหรือแม้แต่สัตว์ประหลาด ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลาในการเดินทาง พลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับของอาณาจักรนิทรานคร ต่อสู้กับจอมผีดิบร้ายมันตรัยที่มีพละกำลังกล้าแข็งและมีอำนาจอย่างแรงกล้า ผ่านห้วงเวลาเหลื่อมซ้อนกันจนหลุดผ่านเข้าไปในยุคของโลกดึกดำบรรพ์ และค้นพบปริศนาความจริงของกะเหรี่ยงลึกลับในฐานะคนรับใช้และองค์รักษ์ประจำตัวของดาริน ที่ติดสอยห้อยตามคณะเดินทางมายังเนินพระจันทร์และมรกตนคร ซึ่งฐานะที่แท้จริงของแงซายถูกเปิดเผยและคณะเดินทางของเชษฐาได้พบเจอกับบุคคลที่ออกติดตามค้นหารวมทั้งช่วยกันกอบกู้บัลลังก์คืนให้แก่แงซายจนสำเร็จ

ภาคสมบูรณ์

ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางกลับจากเมืองมรกตนครของแงซาย รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้ถูกว่าจ้างให้ออกติดตามหาเครื่องบินที่สูญหายพร้อมด้วยระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง รพินทร์จำใจรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินที่สูญหายไปจากแผนที่ประเทศไทย โดยมีชาวต่างชาติจำนวน 4 คน เป็นผู้ว่าจ้าง แต่เมื่อเชษฐาและดารินซึ่งเป็นอดีตนายจ้างของรพินทร์ ได้ทราบข่าวการรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางของรพินทร์ ก็เกรงว่าจะถูกฆ่าทิ้งเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เนื่องจากเป็นงานลับขององค์กร จึงออกติดตามคณะนายจ้างใหม่ของรพินทร์

การติดตามค้นหารพินทร์และคณะนายจ้างฝรั่ง คณะเดินทางของเชษฐาได้เผชิญหน้ากับมันตรัยที่ฟื้นคืนชีพที่อาณาจักรนิทรานคร และกับเล่าถึงอดีตชาติของดารินและรพินทร์ที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตในชาติปางก่อน รวมทั้งพยายามล่อลวงเอาตัวดารินไปยังอาณาจักรนิทรานคร เพื่อให้ได้ในตัวของจิตรางคนางค์หรือดารินในชาติปัจจุบัน แต่ก็ได้เชษฐาและไชยยันต์มาช่วยเหลือไว้อย่างทันท่วงที และปราบมันตรัยด้วยบ่วงนาคบาศก์ได้สำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างฝรั่งบุกป่าเพื่อค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์จนพบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากแงซายในรูปของจิตใต้สำนึก จนภายหลังทั้ง 2 คณะได้เดินทางมาพบกันที่เมืองมรกตนคร แงซายรวบรัดให้ดารินและรพินทร์แต่งงานกันที่เมืองมรกตนคร ก่อนจะอำลากันเป็นครั้งสุดท้ายในการพบกันระหว่างบุคคลทั้งหมด

การตีพิมพ์เพชรพระอุมา

เพชรพระอุมาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊กจำนวน 98 เล่ม ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารจักรวาลรายสัปดาห์ โดยตีพิมพ์ต่อเนื่องจากสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยาตั้งแต่เล่มที่ 99 ต่อเนื่องจนถึงเล่มที่ 268 ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 และฉบับรวมเล่มจำนวน 22 เล่ม แบ่งเป็น

  • เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ ฉบับรวมเล่ม จำนวน 4 เล่ม และ
  • เพชรพระอุมา ตอนมรกตนคร ฉบับรวมเล่ม จำนวน 18 เล่ม

ต่อมาได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชวนะบุตร ในปี พ.ศ. 2518 จำนวน 22 เล่ม แบ่งเป็นตอน ๆ รวมทั้งสิ้น 5 ตอน ได้แก่ เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ จำนวน 5 เล่ม, ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม, ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม, ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 5 เล่ม และตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม และได้รับการตีพิมพ์เพชรพระอุมาภาคสมบูรณ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ภายหลังจากพนมเทียนเขียนเพชรพระอุมาภาคแรกจบ โดยเริ่มเพชรพระอุมา ตอน จอมพราน ในวันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2525 และได้นำภาคแรกมาตีพิมพ์ซ้ำจนจบในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2527 และตีพิมพ์ภาคสามของเพชรพระอุมา ตอน มงกุฎไพร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2533 โดยนิตยสารจักวาลปืน

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปัจจุบันตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน แบ่งการตีพิมพ์เป็นสองครั้งด้วยกัน โดยตีพิมพ์ครั้งแรก 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 5 ตอน ดังนี้

ภาคแรก
  1. ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม
ภาคสมบูรณ์
  1. ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 5 เล่ม
  3. ตอน นาคเทวี จำนวน 5 เล่ม
  4. ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 5 เล่ม
  5. ตอน มงกุฎไพร จำนวน 5 เล่ม

และตีพิมพ์ครั้งปัจจุบัน 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 6 ตอน ดังนี้

ภาคแรก
  1. ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน อาถรรพ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม
ภาคสมบูรณ์
  1. ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
  2. ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 4 เล่ม
  3. ตอน จิตรางคนางค์ จำนวน 4 เล่ม
  4. ตอน นาคเทวี จำนวน 4 เล่ม
  5. ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 4 เล่ม
  6. ตอน มงกุฎไพร จำนวน 4 เล่ม

ปลายปี พ.ศ. 2556 เพชรพระอุมาได้จัดทำเป็นรูปแบบ eBook เป็นครั้งแรกโดยแพรวสำนักพิมพ์ โดยเริ่มเปิดตัวภาคแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 และเริ่มจำหน่ายในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 พร้อมกันที่ร้านนายอินทร์และ Naiin.com โดยแบ่งเป็น 2 ภาค 12 ตอน 48 เล่มเหมือนหนังสือ โดยที่ผู้อ่านต้อง download Application Naiin Pann และใส่ code ของหนังสือแต่ละตอนลงใน Application

เพชรพระอุมา (เรื่องย่อ)

 เนื้อเรื่องเพชรพระอุมา เป็นเนื้อเรื่องทั้งหมดของนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาจำนวน 48 เล่ม แบ่งเนื้อเรื่องเป็นสองภาคคือภาคแรก จำนวน 6 ตอน 24 เล่ม และภาคสมบูรณ์ จำนวน 6 ตอน 24 เล่ม



เนื้อเรื่องภาคแรก

เพชรพระอุมา เป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัยเพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจันพรานเกิดและพรานเส่ยพรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายนานาชนิด ที่ทำให้คณะเดินทางต้องเสี่ยงภัยและเผชิญกับสัตว์ร้ายในป่าดงดิบ อาถรรพณ์ของป่า นางไม้ ภูตผีปีศาจหรือแม้แต่สัตว์ประหลาด ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลาในการเดินทาง พลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับของอาณาจักรนิทรานคร ต่อสู้กับจอมผีดิบร้ายมันตรัยที่มีพละกำลังกล้าแข็งและมีอำนาจอย่างแรงกล้า ผ่านห้วงเวลาเหลื่อมซ้อนกันจนหลุดผ่านเข้าไปในยุคของโลกดึกดำบรรพ์ และค้นพบปริศนาความจริงของกะเหรี่ยงลึกลับในฐานะคนรับใช้และองค์รักษ์ประจำตัวของดาริน ที่ติดสอยห้อยตามคณะเดินทางมายังเนินพระจันทร์และมรกตนคร ซึ่งฐานะที่แท้จริงของแงซายถูกเปิดเผยและคณะเดินทางของเชษฐาได้พบเจอกับบุคคลที่ออกติดตามค้นหารวมทั้งช่วยกันกอบกู้บัลลังก์คืนให้แก่แงซายจนสำเร็จ

  • ไพรมหากาฬ
  • ดงมรณะ
  • จอมผีดิบมันตรัย
  • อาถรรพณ์นิทรานคร
  • ป่าโลกล้านปี
  • แงซายจอมจักรา

เนื้อเรื่องภาคสมบูรณ์

ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางกลับจากเมืองมรกตนครของแงซาย รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้ถูกว่าจ้างให้ออกติดตามหาเครื่องบินที่สูญหายพร้อมด้วยระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง รพินทร์จำใจรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางออกติดตามค้นหาซากเครื่องบินที่สูญหายไปจากแผนที่ประเทศไทย โดยมีฝรั่งจำนวน 4 คน เป็นผู้ว่าจ้าง  แต่เมื่อพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ และ หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ ซึ่งเป็นอดีตนายจ้างของรพินทร์ ได้ทราบข่าวการรับจ้างเป็นพรานผู้นำทางของรพินทร์ ก็เกรงว่าจะถูกฆ่าทิ้งเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เนื่องจากเป็นงานลับขององค์กร จึงออกติดตามคณะนายจ้างใหม่ของรพินทร์

การติดตามค้นหารพินทร์และคณะนายจ้างฝรั่ง คณะเดินทางของเชษฐาได้เผชิญหน้ากับมันตรัยที่ฟื้นคืนชีพที่อาณาจักรนิทรานคร และกับเล่าถึงอดีตชาติของดารินและรพินทร์ที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตในชาติปางก่อน รวมทั้งพยายามล่อลวงเอาตัวดารินไปยังอาณาจักรนิทรานคร เพื่อให้ได้ในตัวของจิตรางคนางค์หรือดารินในชาติปัจจุบัน แต่ก็ได้เชษฐาและไชยันต์มาช่วยเหลือไว้อย่างทันท่วงที และปราบมันตรัยด้วยบ่วงนาคบาศย์ได้สำเร็จ รพินทร์นำคณะนายจ้างฝรั่งบุกป่าเพื่อค้นหาซากเครื่องบินและระเบิดนิวเคลียร์จนพบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากแงซายในรูปของจิตใต้สำนึก จนภายหลังทั้ง 2 คณะได้เดินทางมาพบกันที่เมืองมรกตนคร แงซายรวบรัดให้ดารินและรพินทร์แต่งงานกันที่เมืองมรกตนคร ก่อนจะอำลากันเป็นครั้งสุดท้ายในการพบกันระหว่างบุคคลทั้งหมด 

  • จอมพราน
  • ไอ้งาดำ
  • จิตรางคนางค์
  • นาคเทวี
  • แต่ปางบรรพ์
  • มงกุฎไพร

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ครูสุรัฐ พุกกะเวส

    


ครูสุรัฐ พุกกะเวส มีชื่อเดิมว่า "สุรัสน์" เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2467 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนโต ของนายประสงค์ และ นางสาลี่ พุกกะเวส เป็นหลานปู่ของ พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ ( สังข์ พุกกะเวส )ผู้ขอพระราชทานนามสกุล "พุกกะเวส" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เป็นนักประพันธ์คำร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียง มีผลงานเพลงมากมาย เช่น เพลงบุพเพสันนิวาส, อุษาสวาท, ปทุมไฉไล, และที่เด่นคือ เพลงสดุดีมหาราชา

           ในวัยเยาว์ ครูสุรัฐ อยู่ในอุปการะของนายชิน พุกกะเวส ผู้เป็นญาติ เพื่อศึกษา โดยโยกย้ายไปหลายโรงเรียน เริ่มจาก โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ , โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม , หลังจากนั้นจึงมาเรียนต่อกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนมัธยมวัดสระเกศ , โรงเรียนพระนครวิทยาลัย , โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ แล้วกลับไปศึกษาที่โรงเรียนวัดทรงธรรม ที่จังหวัดสมุทรปราการ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ความเป็นคนขยันหมั่นเพียร จึงได้เข้ามาศึกษาต่อมัธยม 6 อีกครั้งที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด จนจบ เท่ากับ สุรัฐ จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงสองหน

            เมื่อจบมัธยม 6 แล้ว ครูสุรัฐ คิดอยากจะเป็นนักเรียนนายเรือ แต่การทดสอบเพื่อเข้าศึกษาในนั้น มีการทดสอบว่ายน้ำ โดยลอยคอ 6 นาที ซึ่งครูสุรัฐทำไม่ได้ จึงได้เปลี่ยนไปสมัครเป็นครูโรงเรียนประชาบาลบางบ่อ พักหนึ่ง เมื่อทางโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และ การเมือง ( ต.ม.ธ.ก. )ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษา ครูสุรัฐ จึงไปสมัคร และเรียนจนจบ นับเป็นรุ่นที่ 4 ของสถาบันนี้ จากนั้นได้ไปเข้าทำงาน เป็นเลขานุการ ของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และทำงานในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งเลขานุการโรงแรม ( รัตนโกสินทร์ ) และ ภาพยนตร์ ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

              สุรัฐ เป็นผู้ร่วมอยู่ในวงสุนทราภรณ์ร่วมกับเอื้อ สุนทรสนาน มาตั้งแต่ครั้งทำงานเป็นเลขานุการโรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2486 และมีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงให้กับสุนทราภรณ์หลายเพลง โดยเพลงแรกในชีวิตการประพันธ์ของสุรัฐ คือ เพลง "หาดแสนสุข" โดยสุรัฐ แต่งคำร้อง ครูเวส สุนทรจามร แต่งทำนอง มี สุปาณี พุกสมบุญ นักร้องของกรมโฆษณาการ ในขณะนั้น เป็นผู้ขับร้อง

หลังจากเพลงหาดแสนสุข ครูเอื้อ จึงเห็นความสามารถ และไว้ใจ ได้มอบทำนองเพลงมาให้สุรัฐ แต่งคำร้องอีก จนเกิดเป็นเพลงอีกมากมาย เช่น  ดอกไม้เมืองเหนือ,หญิงสาวกับความรัก, กลิ่นดอกโศก,ห่วงอาลัย ฯลฯ และคงประพันธ์คำร้องให้วงสุนทราภรณ์เรื่อยมา จนถึงเพลงสุดท้าย ที่ครูเอื้อ ให้ทำนองก่อนถึงแก่กรรมไม่นาน คือ เพลง "พระเจ้าทั้งห้า "

นอกจากประพันธ์เพลงให้ลงสุนทราภรณ์แล้ว สุรัฐ ยังได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น ร่วมกับ สมาน กาญจนผลิน และ ชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์เพลง " สดุดีมหาราชา" ขึ้น นับเป็นเพลงสำคัญคู่กับ "สรรเสริญพระบารมี" มาจนปัจจุบีน และประพันธ์ เพลง "หน่วยแพทย์อาสา" เพื่อบรรเลงในวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2497 ก่อตั้งโรงพิมพ์ "สุรัสน์การพิมพ์" เพื่อรับงานใบปลิวและโฆษณาภาพยนตร์ และตีพิมพ์นิตยสารรายปักษ์เกี่ยวกับภาพยนตร์บันเทิง ชื่อนิตยสาร "ดาราไทย" แต่ปัจจุบันไม่ได้ตีพิมพ์แล้ว และโรงพิมพ์สุรัตน์การพิมพ์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท สยามออฟเซ็ท จำกัด"

เมือ่ พ.ศ. 2501 สุรัฐ สร้างภาพยนตร์เรื่อง "สาวน้อย" จากนวนิยายของ "อาษา" กำกับการแสดงโดย ส. อาสนจินดา มีเพลงประกอบที่มีชื่อคือ เพลงสีชัง ประพันธ์โดย สง่า อารัมภีร ขับร้องโดยหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์

              นอกจากนี้ ยังเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการก่อตั้ง "สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย" โดยได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม ถึง 2 สมัย

           สุรัฐ พุกกะเวส เริ่มป่วยด้วยอาการต่อมลูกหมากโต ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2526 จึงทำการผ่าตัดในเดือนสิงหาคมปีนั้น ภายหลังตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค ได้ทำการรักษาเรื่อยมา แต่อาการไม่ดีขึ้น ท้ายที่สุดเกิดอาการไตวาย แพทย์ต้องทำการล้างไตตลอด จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมอายุได้ 69 ปี 2 เดือน 7 วัน

ได้บริจาคร่างให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ เป็นเวลา 2 ปี จึงได้นำศพมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ( เป็นกรณีพิเศษ ) ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539

ผลงานบางชิ้นของครูสุรัส  การะเกด กุหลาบเชียงใหม่ เกล็ดแก้ว คนองรัก คำรักคำขวัญ คูหาสวรรค์ งอนแต่งาม ดวงชีวัน ดอกไม้เมืองเหนือ ใต้ร่มไทร ทางชีวิต ธนูรัก นานแล้วไม่พบกัน นาวาทิพย์ น้ำตาลใกล้มด บุพเพสันนิวาส ปทุมไฉไล ปทุมมาลย์ ปางหลัง ผู้ชายนะเออ ฝากใจกับจันทร์ พระเจ้าทั้งห้า (เพลงสุดท้ายในชีวิตของ เอื้อ สุนทรสนาน พ.ศ. 2523) พรานรัก เพลงราตรี เพลินลีลาศ  ไฟสุมขอน มองยิ่งงาม มาลีรุ่งอรุณ ยอดยาใจ ยูงกระสันต์เมฆ รอยบุญรอยกรรม รักเธอด้วยใจ ราตรีสวรรค์ เรือมนุษย์  แรกพบสบรัก(นำมาเป็นแบรคกราว์วเสียงของบทความนี้) แว่วเสียงเธอ ศึกในอก สดุดีมหาราชา เสียงเพลงรัก หญิงสาวกับความรัก ห่วงรักห่วงอาลัย ห่วงอาลัย
 เหนือเกล้า อุษาสวาท ฯลฯ 

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567

แคว้นสุพรรณภูมิ

 


สุพรรณภูมิ  

ชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ปรากฏอยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกที่เล่าเรื่องราวของเมืองสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง ผู้เสวยราชสมบัติที่เมืองสุโขทัยเมื่อประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ประมาณ 50 ปี ในตอนที่กล่าวถึงเมืองสุพรรณภูมินั้นได้จารึกข้อความไว้ว่า

“พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยา…หาเป็นครูอาจารย์…หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้าง ช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง…เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว”

ความในศิลาจารึกตอนนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้นมีความสามารถหลายด้าน หาคนเสมอเหมือนได้ยาก ทางด้านการรบทัพจับศึกนั้นก็สามารถปราบปรามบ้านเมืองต่างๆ ออกไปได้ทั้งสี่ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศหัวนอนที่เป็นด้านทิศใต้นั้น ศิลาจารึกได้ระบุชื่อเมืองเรียงตามลำดับตั้งแต่เหนือลงใต้ ไปจนจรดฝั่งทะเลปลายแหลมทองเลยทีเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อระบุชื่อเมืองผ่านเลย เมืองพระบางซึ่งปัจจุบัน คือท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ไปแล้ว ก็เป็นชื่อเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองทั้งหลายเหล่านี้คือเมืองแพรก ปัจจุบันคือเมืองสรรค์ในเขตท้องที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

เมืองสุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน

จากลำดับการเรียกชื่อเมืองอย่างเป็นระเบียบจากเหนือลงใต้เช่นนี้ เมืองสุพรรณภูมิก็ควรที่จะหมายถึงเมืองสุพรรณบุรีที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ได้ หากแต่ว่าเดิมมิได้คิดว่าจะเป็นเมืองสุพรรณบุรี อาจเป็นเพราะหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับที่มีอยู่ รวมทั้งฉบับของวันวลิตที่เขียนขึ้นเก่าที่สุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2182 ไม่มีตอนใดในฉบับใดเลยที่เรียกชื่อเมืองสุพรรณบุรีว่าเมืองสุพรรณภูมิ รวมทั้งเรื่องราวที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ ก็เป็นเรื่องก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 จึงทำให้คิดกันว่า เมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้นยังมิได้เกิดขึ้น เมืองสุพรรณภูมิจึงเป็นเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้ ต้องเป็นเมืองอยู่ที่อื่น

อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่สุด คือจารึกหลักที่ 48 “จารึกลานทองวัดส่องคบ” พบในเจดีย์วัดส่องคบที่เป็นวัดร้าง ในเขตท้องที่อำเภอเมืองชัยนาท เป็นจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 1951 ในจารึกแผ่นนี้ได้มีการระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิสองครั้ง แสดงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนี้ เมืองสุพรรณภูมิยังคงอยู่สืบต่อมาจากสมัยที่มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวล้านนา ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. 2060 หลังจากจารึกลานทองวัดส่องคบประมาณ 100 ปี ในตอนที่เล่าเรื่องพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึง “…วัตติเดชอำมาตย์ ซึ่งครองเมืองสุพรรณภูมิ…” อยู่ด้วยในตอนหนึ่ง วัตติเดชอำมาตย์นี้ตามเรื่องราว หมายถึง ขุนหลวงพระงั่วขณะที่ครองอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ก่อนที่จะเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ แสดงว่า เมืองสุพรรณภูมิในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้น คือเมืองเดียวกันกับเมืองสุพรรณบุรีนั่นเอง และเหตุที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับไม่มีการกล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิเลย แม้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรียังคงใช้ชื่อว่าสุพรรณภูมิอยู่ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเหล่านี้ล้วนแต่เขียนขึ้นในสมัยหลัง สมัยที่มีการเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิเป็นชื่อเมืองสุพรรณบุรีแล้ว จึงใช้ชื่อที่รู้จักกันดีแล้วในสมัยที่เขียนพงศาวดารมาเขียนเรื่องราวทุกตอนด้วยชื่อเดียวกันหมด ดังนั้นจึงยังคงปรากฏชื่อเมืองเดิมอยู่ในเอกสารที่มีการผลิตร่วมสมัยกับที่ยังมิได้เปลี่ยนชื่ออยู่เท่านั้น คือในจารึกลานทองวัดส่องคบ กับหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์


หลักฐานทางโบราณคดีของเมืองสุพรรณภูมิ

เมืองสุพรรณบุรีจึงเป็นเมืองที่มีมาก่อนนานแล้ว ตั้งแต่สมัยเดียวกันกับที่พ่อขุนรามคำแหงครองเมืองสุโขทัยเมื่อครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 โดยมีชื่อเก่าว่าเมืองสุพรรณภูมิ หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงว่าเป็นเมืองที่มีอายุเก่าถึงสมัยนั้นได้ คือพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เรียกว่า พระป่าเลไลยก์ ที่วัดใหญ่หรือวัดป่าเลไลยก์ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นวัดที่อยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันตก

พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้อาจจะพิจารณายุคสมัยการก่อสร้างได้ลำบาก เนื่องจากได้มีการซ่อมแซมกันหลายครั้งหลายสมัย แต่อาคารแคบๆ ของเดิมอันเป็นที่ประดิษฐานพรุทธรูปองค์นี้นั้น สามารถแสดงได้อย่างชัดเจนถึงแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “พระคันธกุฎี” อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่นิยมทำกันในดินแดนต่างๆ ร่วมสมัยกับสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ เจดีย์เรือนธาตุแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่วัดสนามชัย วัดร้างนอกเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณฯ ในเขตท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ก็อาจเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอีกชิ้นหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรีที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยที่กล่าวถึงนี้

เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดสนามชัย สุพรรณบุรี (ภาพจาก หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี)

สิ่งสําคัญที่แสดงว่า ตัวเมืองสุพรรณภูมิกับเมืองสุพรรณบุรีตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันคือ ซากกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้ปรากฏร่องรอยให้เห็นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วยกำแพงเมืองป้อมปราการทำด้วยอิฐ มีคูเมืองล้อมรอบ โดยด้านตะวันออกใช้แม่น้ำท่าจีนเป็นคูเมือง แผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ไว้เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยมีตัวเมืองอันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดในปัจจุบัน ซ้อนทับลงบนบริเวณเดียวกัน

ลักษณะเด่นของเมืองนี้คือ การทำป้อมลอยเป็นเกาะอยู่ในคูเมือง ไม่มีส่วนเชื่อมต่อกับกำแพง ลักษณะป้อมอยู่กลางน้ำนี้น่าจะตรงกับที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “หอโทน” ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อรับศึกพม่า ลักษณะป้อมกลางน้ำนี้มีที่เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกและที่เมืองพิจิตรเก่า

ซึ่งเมืองเมืองเหล่านี้ล้วนมีประวัติการก่อสร้างอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ป้อมและกำแพงเมืองสุพรรณบุรีที่กล่าวถึงนี้ เมื่อพิจารณาร่วมกับแบบศิลปะของปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี อันเป็นศูนย์กลางของเมืองแล้ว สามารถประมาณได้ว่าคงสร้างขึ้นราวหลังพุทธศตวรรษที่ 20 กำแพงเมืองแห่งนี้น่าจะถูกรื้อไปในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้มีพระประสงค์จะรับศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธาเป็นหลัก จึงรื้อป้อมกำแพงของเมืองอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบกรุงศรีอยุธยา ป้องกันมิให้พม่ายึดไว้เป็นฐานสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานข้ามปี

จากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร สามารถเห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีแต่เดิมเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ปรากฏร่องรายของคูเมืองเดิม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคร่อมอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำท่าจีน เมืองๆ นี้จึงมีพื้นที่ภายในกำแพงเมืองอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำ คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกอันเป็นฝั่งเดียวกันกับที่ตั้งเมืองที่มีกำแพงก่อด้วยอิฐตามที่กล่าวมาแล้ว ร่องรอยที่เลือนมากของคูเมืองรุ่นเก่ากว่าทางด้านทิศตะวันตกนั้น จะเข้ามาชิดกับแม่น้ำท่าจีน มากกว่าด้านเดียวกันของกำแพงก่อด้วยอิฐของเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นั่นคือเมืองสุพรรณบุรีในภาพถ่ายทางอากาศทางฝั่งตะวันตก จะมีพื้นที่น้อยกว่าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ปัจจุบัน ถ้าพิจารณา ณ ภูมิประเทศที่ตั้งจะไม่เห็นร่องรอยของเมืองสุพรรณบุรีที่มีแม่น้ำผ่านกลางนี้แล้ว นอกจากจะตรวจดูจากภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแล้วเท่านั้น แสดงถึงการเป็นเมืองรุ่นเก่าที่มีส่วนของเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำ ถูกเมืองที่มีกำแพงป้อมปราการก่อด้วยอิฐสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสร้างซ้อนทับอยู่ ร่องรอยของเมืองในภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแสดงถึงการเป็นเมืองที่มีอยู่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ดังนั้น เมืองนี้จึงควรเป็นเมืองที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุชื่อว่า สุพรรณภูมิ นั่นเอง


ความสัมพันธ์ระหว่างสุพรรณภูมิกับสุโขทัย

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงความสามารถของพ่อขุนรามคำแหง ที่ปราบบ้านเมืองใหญ่น้อยออกไปทั้ง 4 ทิศนั้น นักวิชาการส่วนมากเห็นว่าเป็นการกล่าวเกินจริง น่าจะเป็นถ้อยคำที่คิดขึ้นเพื่อยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมากกว่า อย่างไรก็ดี การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เมื่อกล่าวถึงบ้านเมืองที่ปราบได้ทางทิศใต้ มีลักษณะการเลือกกล่าวเฉพาะเมืองที่อยู่ทางฟากตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังได้ให้ข้อสังเกตไว้แต่ต้นแล้ว การที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 เลือกกล่าวเฉพาะกลุ่มเมืองดังกล่าวนี้ อย่างน้อยย่อมแสดงข้อเท็จจริงบางประการในลักษณะความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือเมืองสุพรรณบุรี ร่องรอยความสัมพันธ์กับดินแดนสุโขทัยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี คือลักษณะของการสร้างเมืองกับลักษณะทางพุทธศิลปะในสมัยต่อมาที่มีความคล้ายคลึงกัน ส่วนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา ล่วงผ่านไปหลังจากที่แสดงให้เห็นในศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว คือ ลักษณะการบอกเล่าเป็นตำนานในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ โดยในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยึดเมืองชัยนาทหรือสองแควได้ไปจากพระมหาธรรมราชาลิไทแล้ว พระองค์ก็ได้ให้ขุนหลวงพระงั่วแห่งเมืองสุพรรณภูมิมาครองเมืองนี้

การที่มีการเล่าเรื่องเช่นนี้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ น่าจะเป็นเพราะผู้แต่งหนังสือเล่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะความเกี่ยวข้องของบุคคลของเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองสุโขทัย หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้เมืองสองแควคืนโดยการทูลขอจากสมเด็จพระรามาธิบดี ขุนหลวงพ่อจั่วจึงเสด็จกลับเมืองสุพรรณภูมิอย่างเดิม

หนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ได้เล่าเรื่องเดียวกันนี้ต่อไปอีกในลักษณะตำนานว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคตลง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้นำพระพุทธสิหิงค์ไปยังพระนครของพระองค์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเรื่องตำนานในตอนนี้กับเวลาทางประวัติศาสตร์จะตรงกับสมัยที่ขุนหลวงพ่องั่วจากเมืองสุพรรณบุรีมาเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้ว แต่ตำนานในหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ยังคงเรียกกษัตริย์ของอยุธยาในสมัยนี้ว่าพระเจ้ารามาธิบดีเหมือนเช่นเดิม แต่ก็มีในบางครั้งที่เรียกว่าเจ้าเดช ซึ่งตรงกันกับวัตติเดชในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ อันหมายถึงขุนหลวงพ่องั่วแห่งเมืองสุพรรณบุรี

เรื่องที่เล่าในนิทานพระพุทธสิหิงค์ในลักษณะตำนานตอนนี้นั้น ได้แสดงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์สุพรรณบุรีอย่างชัดเจน โดยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งเป็นเชื้อสายทางสุโขทัย อยากได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมา พระองค์จึงทำอุบายส่งพระมารดาของพระองค์ไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระนางได้ทำตนให้พระราชาลุ่มหลงเพื่อทูลขอพระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาให้พระโอรสของพระนางจนเป็นผลสำเร็จ

ความสัมพันธ์ในเรื่องการแต่งงานเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย ได้ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นบันทึกเรื่องราวอย่างชัดเจน ในจารึกหลักที่ 38 “ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร” ที่กล่าวถึงเชื้อพระวงศ์จากภาคกลางพระองค์หนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์น่าจะหมายถึงเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณบุรี ก่อนที่จะได้ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ตามศิลาจารึกหลักนี้พระองค์ได้เสด็จมาเสวยราชย์ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 1940 พระองค์มีพระมารดาและเครือญาติทางฝ่ายพระมารดาเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ในดินแดนสุโขทัยด้วย

ในที่สุด หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เป็นจารึกหลักที่ 49 “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์” ได้แสดงอย่างชัดเจนไม่มีข้อสงสัยว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา โอรสของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี พระองค์ก็มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงของสุโขทัย และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปก็มักจะปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณบุรี มักจะมีเชื้อสายทางมารดามาจากราชวงศ์สุโขทัย เป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1


สรุป

เมืองสุพรรณภูมิที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกหลักที่ 1 “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย” นั้น คือเมืองเดียวกันกับที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุพรรณบุรี ข้อความที่กล่าวในศิลาจารึกหลักนี้ถึงความเก่งกล้าของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่ออกไปไกลทั้ง 4 ทิศ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการส่วนมากว่าจะเป็นข้อเท็จจริงตามความหมายที่เป็นตัวอักษร แต่ความหมายในเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งที่เมืองสุโขทัยมีกับเมืองเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะเมืองสุพรรณภูมิหรือภายหลังคือเมืองสุพรรณบุรี ที่ถูกระบุชื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ใต้อำนาจ การปราบปรามของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สามารถแสดงเค้าเงื่อนความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองสุพรรณบุรีได้ในระยะแรกเริ่ม

เมื่อกาลเวลาล่วงไป หลักฐานที่ผลิตขึ้นตามช่วงเวลานั้น ๆ ที่มีลักษณะเป็นเรื่องตำนาน และในที่สุดก็เป็นลักษณะการบอกเรื่องราวในศิลาจารึก ก็ได้ให้ข้อเท็จจริงของลักษณะความสัมพันธ์การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง ซึ่งสามารถนำย้อนไปขยายภาพความสัมพันธ์ของราชวงศ์ทั้งสองที่เห็นเค้าเงื่อนอยู่บ้างในศิลาจารึกที่กล่าวถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันระหว่างราชวงศ์ของสุพรรณบุรีกับของสุโขทัยนั้น น่าจะมีมานานแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง


เนื้อเพลง