วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน

 

ขุนช้างขุนแผน 
เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวสยามในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง จนนักภาษาศาสตร์ นามวิลเลี่ยม เก็ดนี่ย์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามักคิดบ่อยๆว่า หากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเกิดสูญหายไปหมด ทุกอย่างอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่ จากข้อเขียนที่อัศจรรย์นี้"
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นการแต่งขึ้นร้องแบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) เพื่อความบันเทิง ในลักษณะเดียวกับมหากาพย์ของยุโรป อย่างเช่นของโฮเมอร์ โดยคงจะเริ่มแต่งตั้งแต่ราวอยุธยาตอนกลาง (ราว พ.ศ. 2143) และมีการเพิ่มเติม หรือตัดทอนเรื่อยมา จนมีรายละเอียดและความยาวอย่างที่สืบทอดกันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงไว้เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นเห็นว่าเป็นกลอนชาวบ้าน ที่มีเนื้อหาบางตอนหยาบโลน และไม่มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ. 2310 จึงไม่มีต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนเหลืออยู่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูงในหมู่ชาวไทย จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก
สำหรับเนื้อหาของขุนช้างขุนแผนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย
หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบด้วย....(ตัดตอนส่วนหนึ่งจากคำนำของกรมศิลปากรที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่าย ในการพิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2513).....
วรรณกรรมไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2553 โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์ 

เรื่องย่อ

ล่าวถึงกำเนิดของตัวละครสำคัญสามตัว คือ ขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย 

พลายแก้วเป็นลูกของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี เมื่อบิดาถูกสมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ประหารชีวิต เพราะความผิดที่ได้ฆ่ากระบือเป็นจำนวนมากหน้าพระที่นั่ง เนื่องจากกระบือแตกตื่นขวิดผู้คน เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเพื่อล่ากระบือ มารดาจึงพาไปอยู่กับญาติที่เมืองกาญจนบุรี 

ขุนช้างเป็นลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง บิดาถูกโจรฆ่าตาย 

นางพิมเป็นลูกของพันศรโยธากับนางศรีประจัน บิดาเป็นไข้ป่าถึงแก่ความตาย

ทั้งพลายแก้ว ขุนช้าง และนางพิมเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก 

พลายแก้วได้บวชเป็นสามเณรและ เล่าเรียนวิชาที่กาญจนบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ 

ส่วนขุนช้างแต่งงานกับนางแก่นแก้วได้ปีกว่าภรรยาก็ตาย 

นางพิมพบกับเณรแก้วที่วัดเมื่อคราวไปทำบุญกับมารดา ต่างก็จำกันได้จึงมีจิตผูกรักต่อกัน 

ต่อมาได้นางสายทองพี่เลี้ยงของนางพิมเป็นสื่อนัดแนะ จนเณรแก้วได้เสียกับนางพิม และได้นาง สายทองด้วยเมื่อถูกสมภารให้ออกจากวัดป่าเลไลยก์ ก็ไปอยู่กับสมภารคงวัดแค และได้เล่าเรียนวิชาทางไสยศาสตร์หลายอย่าง ต่อมาเมื่อทราบว่าขุนช้างได้มาสู่ขอนางพิม เณรแก้วจึงลาอาจารย์สึกแล้วให้มารดาสู่ขอนางพิมและแต่งงานกันตามประเพณีเมื่อเกิดศึกเชียงใหม่ยกมาตีเมืองเชียงทอง อันเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาทรงทราบถึงความสามารถของพลายแก้ว ก็รับสั่งให้เข้าเฝ้า และแต่งตั้งให้แม่ทัพไปรบที่เชียงทอง จนตีเมือง เชียงทองได้ชัยชนะ แล้วยกทัพตามทัพเชียงใหม่ไปถึงลำพูน ตั้งค่ายที่บ้านจอมทอง 

แสนคำแมนได้ยกนาง ลาวทองให้เป็นภริยา หลังจากพลายแก้วไปแล้วไม่นาน นางพิมได้ล้มป่วย เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นวันทองจึงหายป่วย 

ขุนช้างซึ่งยังต้องการนางเป็นภริยาได้ใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าพลายแก้วตายแล้ว และอ้างว่าเมื่อสามีไปทัพตายภรรยาจะถูกริบเป็นม่ายหลวง ประกอบทั้งถูกมารดาบังคับเฆี่ยนตี นางวันทองจึงเข้าพิธีแต่งงานกับขุนช้าง แต่ยังรออยู่ไม่ยอมร่วมหอ

              ฝ่ายพลายแก้ว เมื่อมีชัยชนะกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน คุมไพร่พลห้าร้อยมีหน้าที่รักษาเขตแดนทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อเดินทางมาสุพรรณบุรีทราบเรื่องจากนางวันทอง ก็มีความโกรธจะฆ่าขุนช้าง แต่นางลาวทองซึ่งมากับขุนแผนด้วยได้ห้ามไว้ นางวันทองกับนางลาวทองเกิดทะเลาะกันด้วยความหึงหวง เป็นเหตุให้นางวันทองกล่าวถ้อยคำก้าวร้าวขุนแผน ขุนแผนโกรธถึงกับจะฆ่านางวันทองพร้อมทั้งแสดงอาการไม่ไยดี พานางลาวทองไปอยู่กาญจนบุรี 

นางวันทองคิดว่าขุนแผนสิ้นรักนางแล้วจึงยอมเป็นภริยาขุนช้าง

 ต่อมาขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง ใช้มนต์สะกดผู้คนในเรือนแล้วเข้าห้อง เห็นขุนช้างนอนอยู่กับนางวันทองก็โกรธ จึงมัดขุนช้างกับนางวันทองติดกัน แล้วให้ตามผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้รับรู้ พร้อมแจ้งให้กำนันทราบแล้วก็กลับไป ต่อมามีรับสั่งให้ขุนแผนเข้าไปฝึกหัดราชการที่กรุศรีอยุธยา พอถึงเวรขุนแผน บังเอิญนางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนฝากเวรไว้กับขุนช้างซึ่งได้รับราชการอยู่ด้วยกัน แล้วออกไปเผ้าไข้ นางลาวทอง เมื่อสมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการไม่เห็นขุนแผนก็รับสั่งถามถึง ขุนช้างคิดกำจัดขุนแผน จึงทูลว่าขุนแผนละทิ้งหน้าที่ไปหาภริยาจึงทรงกริ้ว สั่งลงโทษขุนแผนให้ออกตระเวนอยู่ตามชายแดน ห้ามเข้ามาในกรุงและกักขังนางลาวทองไว้ในพระราชวัง ขุนแผนเมื่อทราบความจริง จึงผูกพยาบาทขุนช้าง ขณะเดียวกันก็แสวงหาของวิเศษที่ทำให้มีฤทธิ์มาก คือกุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอก โดยได้ฝากตัวอยู่กับหมื่นหาญซึ่งเป็นนายซ่องโจรได้นาง บัวคลี่ ลูกสาวหมื่นหาญเป็นภริยา ต่อมาหมื่นหาญไม่พอใจที่ขุนแผนไม่ยอมออกปล้น จึงคิดกำจัดเสีย โดยให้นางบัวคลี่วางยาพิษ แต่พรายได้กระซิบให้ขุนแผนรู้ ขุนแผนจึงฆ่าบัวคลี่ ควักเอาลูกในท้องไปทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง เมื่อกลับมากาญจนบุรีก็ทำพิธีตีดาบตามตำรามหาศาสตราคม ให้ชื่อว่าดาบฟ้าฟื้น แล้วเดินทางไปแสวงหาม้าสีหมอกตามตำราที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อได้แล้วก็เดินทางกลับกาญจนบุรี

                ต่อมาขุนแผนคิดถึงนางวันทองจึงเดินทางไปสุพรรณบุรี ขึ้นเรือนขุนช้างในเวลากลางคืน สะกดผู้คนให้หลับแล้วเดินหาห้องนางวันทอง พบนางแก้วกิริยาบุตรีพระยาสุโขทัยซึ่งบิดานำมาขายให้ขุนช้าง ได้เป็นภริยาแล้วมอบเงินให้ไว้ไถ่ตัว ขุนแผนได้พานางวันทองหนีไปจากบ้านขุนช้าง ชุนช้างพาพวกพ้องติดตามไปทันในป่าแต่สู้ขุนแผนไม่ได้ จึงเข้ากราบทูลกล่าวโทษขุนแผนต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงมีหมายรับสั่งให้จับขุนแผนกับนางวันทองส่งมากรุงศรีอยุธยา ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังมีครรภ์ เข้ามอบตัวต่อเจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรทำใบบอกส่งตัวขุนแผนกับนางวันทองเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา นางแก้วกิริยาซึ่งได้ไถ่ตัวเป็นอิสระแล้ว ได้พบขุนแผนกับนางวันทองซึ่งถูกจองจำโซ่ตรวนระหว่างถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ชำระคดีระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง คณะตุลาการตัดสินให้ขุนแผนชนะคดีและได้นางวันทองคืนไป
            เมื่อขุนแผนชนะความแล้วไม่นานก็คิดถึงนางลาวทอง ซึ่งถูกกักขังอยู่ จึงขอให้จมื่นศรีเสาวรักษ์ ผู้ที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วยทูลขออภัยโทษให้นางลาวทอง พอกราบทูล พระพันวษาทรงกริ้วมากสั่งให้เอาขุนแผนไปจองจำไว้ นางแก้วกิริยาได้เข้าไปปรนนิบัติขุนแผนอยู่ในคุก ส่วนนางวันทองถูกขุนช้างกับบ่าวไพร่มาฉุดคร่าไปสุพรรณบุรี นางจึงอยู่กับขุนช้างจนคลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายงามขุนช้างคิดกำจัดพลายงามอยู่ตลอดเวลาเพราะรู้ว่าเป็นลูกขุนแผน เมื่อพลายงามอายุ 10 ขวบ ขุนช้างได้ลวงพลายงามไปป่าเพื่อฆ่าให้ตาย แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ นางวันทองให้พลายงามเดินทางไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี นางทองประศรีได้เลี้ยงดูพลายงาม และพาไปเยี่ยมขุนแผนในคุก นางได้สั่งสอนคาถาอาคมต่าง ๆ ตามตำราของขุนแผนให้จนแก่กล้าเหมือนขุนแผน พออายุได้ 13 ปี พลายงามก็มาอยู่กับ จมื่นศรีฯ เพื่อให้พาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

ต่อมาเกิดศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระเจ้าล้านช้างได้ส่งนางสร้อยทองราชธิดามาถวายสมเด็จพระพันวษา และพระเจ้าเชียงใหม่ได้มาชิงนางสร้อยทองไปในระหว่างทาง สมเด็จพระพันวษาโปรดโปรดให้หาผู้อาสายกทัพไปรบ จมื่นศรีฯได้นำพลายงามเข้าอาสา ทรงโปรดให้พลายงามยกทัพไปพร้อมกับพระราชทานอภัยโทษให้ขุนแผนและนางลาวทอง โปรดให้ขุนแผนไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ด้วย ก่อนไปขุนแผนให้รับนางทองประศรีมาอยู่กับนางลาวทองและนางแก้วกิริยาในกรุงศรีอยุธยา ตอนขุนแผนกรีธาทัพไปตีเชียงใหม่นางแก้วกิริยาก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า พลายชุมพล

            ระหว่างเดินทัพไปตีเชียงใหม่ ขุนแผนได้แวะเยี่ยมเจ้าเมืองพิจิตร และรับม้าสีหมอก ซึ่งฝากไว้เมื่อคราวเข้ามอบตัวด้วย พลายงามได้สู้รบกับทัพเมืองเชียงใหม่จนได้ชัยชนะ ได้นางสร้อยทองคืน ในการยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ขุนแผนได้นำพระเจ้าเชียงใหม่ มเหสี และนางสร้อยฟ้าผู้เป็นธิดาลงมาด้วย สมเด็จพระพันวษาทรงแต่งตั้งให้ขุนแผนเป็นพระสุรินทรฦาไชย ครองเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลายงามให้เป็นจมื่นไวยวรนาถ ให้พระเจ้าเชียงใหม่กลับไปครองเมืองเช่นเดิม ทรงแต่งตั้งนางสร้อยทองให้เป็นพระสนม และพระราชทานสร้อยฟ้าแก่จมื่นไวย ฯ ซึ่งได้แต่งงานกับนางสร้อยฟ้าและศรีมาลาพร้อมกัน

             ในวันแต่งงาน ขุนช้างซึ่งมาในงานด้วยได้ดื่มเหล้าจนเมาแล้วเกิดทะเลาะกัน จมื่นไวย ฯ บันดาลโทสะทำร้ายขุนช้าง ต่อมาขุนช้างเข้าเฝ้ากราบทูลกล่าวโทษจมื่นไวย ฯ เมื่อมีการสืบเรื่องที่ขุนช้างทำร้ายจมื่นไวย ฯ สมัยเมื่อเป็นเด็กขึ้น ขุนช้างปฏิเสธ จึงมีการพิสูจน์โดยการดำน้ำก็ปรากฏว่าขุนช้างแพ้ รับสั่งให้ประหารชีวิตขุนช้าง แต่จมื่นไวย ฯ ได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ต่อมาจมื่นไวย ฯ คิดแค้นที่แม่ไปอยู่กับขุนช้าง จึงลอบขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึก อ้อนวอนและบังคับนางวันทองไปกับตน นางไม่อาจขัดขืนได้ก็ยอมไป ขุนช้างแค้นเคืองมากที่จมื่นไวยฯ ลักนางวันทองไป จึงทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกากล่าวโทษจมื่นไวยฯ เมื่อโปรดให้ไต่สวนคดีตามฎีกาของขุนช้าง ให้นางวันทองซึ่งเป็นคนกลางตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับขุนช้าง ขุนแผน หรือจมื่นไวย ฯ นางทูลตอบว่ารักทั้ง 3 คนเท่า ๆ กัน สมเด็จพระพันวษาทรงกริ้วหาว่าเป็นคนสองใจ จึงรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิต แม้ว่าจมื่นไวยฯ ได้กลับไปเข้าเฝ้าทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และทรงโปรดพระราชทานก็ตาม แต่เพชฌฆาตได้ลงดาบก่อนที่จะยับยั้งไว้ทัน นางวันทองจึงถูกประหารชีวิต

ฝ่ายนางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลา ภริยาของจมื่นไวย ฯ มีเรื่องทะเลาะ
วิวาทกันด้วยความหึงหวงอยู่เสมอ เนื่องจากหมื่นไวย ฯ รักนางศรีมาลา

มากกว่า นางสร้อยฟ้าจึงให้เถรขวาดทำเสน่ห์เพื่อจมื่นไวย ฯ จะได้หลงรัก จมื่นไวย ฯ หลงเสน่ห์จนถึงกับทุบตีนางศรีมาลา และพลายชุมพลได้เข้าขัดขวาง พลายชุมพลจึงหนีไปพบพ่อและแม่ที่กาญจนบุรี เล่าเรื่องจมื่นไวย ฯ ให้พ่อแม่ฟัง แล้วไปอยู่กับตายายที่สุโขทัย ฝ่ายขุนแผนก็มากรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้เสน่ห์ ส่วนนางศรีมาลาก็แจ้งข่าวไปเมืองพิจิตรว่าตนป่วย ให้พ่อกับแม่รีบลงมา เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ซ้ำขุนแผนกลับทะเลาะกับจมื่นไวย ฯ ถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก จนต้องเดินทางกลับกาญจนบุรีด้วยความแค้น
             พลายชุมพลเมื่อไปอยู่กับตายายที่สุโขทัยก็บวชเป็นเณร ได้เล่าเรียนหนังสือและวิชาคาถาอาคมจนเชี่ยวชาญ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตนหนีมาก็แค้นใจมาก จึงได้นัดหมายกับขุนแผนจะไปล้างแค้นจมื่นไวย ฯ จึงสึกจากเณรแล้วปลอมตัวเป็นมอญใหม่ คุมทัพหุ่นยกมาทำทีจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ขุนแผนยกไปต่อสู้ ขุนแผนทำเป็นแพ้ให้พลายชุมพลจับตัวไป จมื่นไวย ฯ อาสาออกรบเดินทัพมาพบเปรตนางวันทองห้ามทัพไว้แต่ไม่สำเร็จ เมื่อจมื่นไวย ฯ กับพลายชุมพลรบติดพันกันอยู่ ขุนแผนเข้ามาจะฟันจมื่นไวย ฯ จมื่นไวย ฯ จึงหนีเข้ามากราบทูลให้สมเด็จพระวษาทรงทราบ จึงโปรดให้นางศรีมาลาไปรับขุนแผนและพลายชุมพลเข้ามา ขุนแผนกราบทูลเรื่องจมื่นไวย ฯ ถูกเสน่ห์ พลายชุมพลกับจมื่นไวยฯ อาสาไปจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวนำของมึนเมาไปมอมเถรขวาด จนรู้รายละเอียดแล้วจึงจับเถรขวาดขังไว้ แต่เถรขวาดก็สะเดาะโซ่ตรวน แปลงตัวเป็นจระเข้หนีไปได้
               เมื่อโปรดให้มีการไต่สวนคดีทำเสน่ห์ โดยให้นางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นางสร้อยฟ้าเป็นฝ่ายแพ้ จึงโปรดให้ประหารชีวิตนางสร้อยฟ้า แต่นางศรีมาลาทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ เพราะนางสร้อยฟ้ากำลังมีครรภ์ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยา นางสร้อยฟ้าจึงเดินทางไปเชียงใหม่ พบเถรขวาดระหว่างทาง จึงเดินทางไปด้วยกัน ต่อมานางคลอดบุตรให้ชื่อว่าพลายยงพงศ์นพรัตน์ ฝ่ายนางศรีมาลาก็คลอดลูกเป็นชายเช่นกัน ขุนแผนตั้งชื่อให้ว่า พลายเพชร ฝ่ายเถรขวาดซึ่งได้เป็นสังฆราชเชียงใหม่คิดจะแก้แค้นพลายชุมพล จึงแปลงตัวเป็นจระเข้อาละวาดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ถูกพลายชุมพลจับได้ และถูกลงโทษประหารชีวิต แล้วพลายชุมพลได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงนายฤทธิ์มหาดเล็กรักษาพระองค์


วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ตำนานรัก วังบัวบาน

ตำนานรักวังบัวบานแห่งน้ำตกห้วยแก้ว

เพลง วังบัวบาน


ร้อนลมหน้าแล้ง 
ใบไม้แห้งร่วงลอย
หล่นทยอยเกลื่อนตา 
ไหลตามกระแสน้ำพา 
ลอยมาทั้งกลีบดอกไม้ 
จากหุบผาไหลมาสู่ในวังน้ำ 
สุสานเทวีผู้มีความช้ำ เหนือใคร 
ดอกไม้ใบไม้ไหลมา
คล้ายพวงหรีดร้อยมาลา 
ไหลมาบูชาบัวบาน
น้ำวังนี้หนอ 
เป็นที่ก่อเหตุการณ์ 
ที่บัวบานฝังกาย 
ยึดเอาเป็นหอเรือนตาย 
รองกายไว้ด้วยแผ่นน้ำ 
จากหุบเขาแนวไพรสู่ในเวียงฟ้า 
ฝากไว้เพียงชื่อเลื่องลือเนิ่นช้า 
ฝังจำฝากคำสัตย์นำนึกตรอง
หลงทางสุดหวังคืนครอง 
หลงตัวจำต้องลาระทม
เอาวังน้ำไหลเย็น 
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม 
เป็นเสียงประโลมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย
 
***

"บัวบาน" มีตำนานเล่าขานถึง 4-5 เรื่อง 
จึงไม่แน่ใจว่าเป็น"บัวบาน"ไหนที่ถูกต้อง แต่ทั้งหมดก็คือที่มาของ “วังบัวบาน” วังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้ว อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า "วังคูลวา" หรือ "วังกุลา" ตามเรื่องเล่าถึง"คูลวา-กุลา" ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ ซึ่งคำว่า "คูลวา-กุลา" ในภาษาล้านนาหมายถึงแขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติซึ่งถือว่าไม่เป็นที่พึงต้อนรับ
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดี บันทึกไว้ว่า วังน้ำแห่งนี้ เปลี่ยนชื่อ เป็น"วังบัวบาน" เมื่อ พ.ศ.2497 เมื่อมีเหตุหญิงสาวชื่อ "บัวบาน" ตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ อุดม รุ่งเรืองศรี ได้เขียนถึง"บัวบาน"ไว้ในเวบ lannaworld ถึงการเสียชีวิตว่ามีทั้งเชื่อว่าอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และถูกฆาตรกรรม แต่ทุกตำนาน มีเรื่องที่เหมือนกัน นั่นคือ"บูชารัก" โดยกล่าวถึงที่มาของทั้งหมดจาก 4-5 ที่มา ศิริพงษ์ ศรีโกศัย นักจัดรายการวิทยุที่ใช้นามแฝงว่า"ย่าบุญ" เล่าเรื่อง"บัวบาน"เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ว่าที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการหลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่

บัวบาน เป็นครูสอนในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยวและโรงเรียนฮั่วเอง มีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์ ต่อมา ครูบัวบานถูกทหารคนดังกล่าวสลัดรัก ทำให้เจ้าตัวเสียใจมากและได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น
ขณะที่ เจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ตุลาคม 2541 โดยยืนยันว่า บ้านของครูบัวบานที่ศิริพงษ์กล่าวมานั้นถูกต้อง แต่ข้อมูลที่แตกต่างกันก็คือ ครูบัวบานเป็นคนสวยที่ถูกกล่าวขานทั้งล้านนา ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2482-2488)
เจ้าบุญศรีเล่าวว่า ครูบัวบาน สอนที่โรงเรียนวัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง เชียงใหม่ และในช่วงสงครามนั้น ก็มีทหารหน่วยราบจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งฐานทัพที่วัดฟ้าฮ่าม นายทหารหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อครูบัวบานคนสวย ก็สนิทสนมและคยหาเป็นคู่รักกัน ต่อมา นายร้อยตรีผู้นั้น ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ แต่ได้สัญญากับครูบัวบานว่าจะขึ้นมาแต่งงานกัน แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะนายทหารหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ระหว่างที่รอ ครูบัวบานที่เริ่มตั้งท้องก่อนนายทหารหนุ่มกลับกรุงเทพฯก็เริ่มครรภ์โตมากขึ้น และเมื่อรู้ความจริงว่าเธอถูกหลอก ครูสาวคนสวยจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตาย

อย่างไรก็ตาม ในบทความชื่อ "วังบัวบาน" ของสมาน ไชยวัณณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "คนเมือง ฉบับดำหัว" ฉบับต้อนรับสงกรานต์ 2511 กลับชี้ว่า ครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ โดยบทความดังกล่าว ได้อ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรักของครูบัวบาน ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี โดยครูบัวบาน เกิดมาในครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงดี ฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในตัวเมืองเชียงใหม่ และมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง บังเอิญครูประชาบาลหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว สมานเขียนในบทความนี้ว่า วันหนึ่ง ครูประชาบาลคนรักเก่าของครูบัวบานป่วยหนักอยู่ในบ้านกลางเมืองเชียงใหม่ เจ้าตัวก็ได้สารภาพกับภรรยา บุตรและญาติสนิทว่า ตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้งๆที่ตนก็มีภรรยาอยู่แล้ว จากนั้น เมื่อครูบัวบานตั้งครรภ์ ก็ได้นัดครูประชาบาลคนรักไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว ครูบัวบานรู้เรื่องครอบครัวของแฟนหนุ่ม แต่ได้ขอให้เขาจัดวานแต่งกับตนเพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้าน และเพื่อลูก หลังเจรจาพูดคุยกันอยู่พักหนึ่ง ครูหนุ่มก็บอกว่าตนไม่อาจด่วนทำอะไรลงไปได้ เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้ จึงผละจากแล้ววิ่งหนีไปโดยระมัดระวัง จนเกิดอุบัติเหตุตกจากหน้าผาลงสู่ "วังคูลวา-กุลา" สมานเขียนด้วยว่า ผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานเสียชีวิต ทำให้ครูหนุ่มคนนั้นต้องกลายเป็นอัมพาต เพราะเกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้นจนหลังหักและกลายเป็นอัมพาต เจ้าตัวจึงยอมเปิดปากสารภาพกับสมาน และย้ำว่าครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ

แต่ในวิทยานพินธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณ-กรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2531 ของสุธาทิพย์ สว่างผล กลับเป็นอีกเรื่อง โดยสุธาทิพย์อ้างอิงจากนิทานพื้นบ้านไทย ของ วสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ.2522 ที่กล่าวถึงครูบัวบาน ว่ามีปลัดอำเภอหนุ่ม รักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน และได้หมั้นหมายกันไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดข้อง แต่อุปสรรครักก็มี เพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนันทุกชนิด จนติดหนี้ติดสินไปทั่วเมือง และทำผิดด้วยการยักยอกเงินของทางราชการไปใช้หนี้และเล่นการพนัน ต่อมา ปลัดหนุ่มคนนั้น ได้ขอเงินจากบัวบานว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด เมื่อหมดตัว ลัดอำเภอหนุ่มก็ได้นัดบัวบานไปสารภาพผิดที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กลับทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทำให้บัวบานทนไม่ได้ จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานผู้หนึ่ง คือนางอรุณ หมู่ละสุคนธ์ เลขที่ 130 ถนนแก้วนวรัฐ อ.เมือง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 นางอรุณเล่าว่า บัวบานและหนุ่มชาวภาคกลาง รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และเมื่อเกิดเรื่อง บัวบานเสียชีวิตชายหนุ่มก็หายหน้าไป ทำให้ญาติของบัวบานคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายมากกว่า
ทั้งหลายทั้งหมดคือความอาภัพรักของ"บัวบาน" สิ่งที่เหมือนกันในทุกเรื่องก็คือ บัวบานเป็นสาวสวยและผิดหวังในความรัก ก่อนจะเสียชีวิตที่"วังบัวบาน" จากเรื่องราวดังกล่าว มีเรื่องเล่าต่อว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นคำกลอนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดยใช้นามปากกา"เลิศ ลานนา" (มีคนกล่าวว่าเป็นนามปากกาของบุญเลิศ พิงค์พราวดี) บ้างก็ว่าภิกษุที่แต่งกลอนนั้น เป็นพระอยู่ที่วัดดอยสุเทพ ต่อมา "สนิท ส." (สนิท สิริวิสูตร) นักแต่งเพลงชาวเชียงใหม่ ก็ได้นำบทกลอนดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นเพลง คือเพลง"วังบัวบาน" โดยให้ อรุณ หงสวีณ แต่งทำนอง และ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง อัดแผ่นเสียง  

นิราศเมืองเพ็ชร

 

นิราศเมืองเพ็ชร

        ๏ โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย
พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ
ไปเมืองเพ็ชร์บุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ
อธิฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ
ถึงต่างเขตรของประสงค์คงอาสา
จึงจดหมายรายทางกลางคงคา
แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อย
ได้เห็นแต่แพแขกที่แปลกเพศ
ขายเครื่องเทศเครื่องไทยได้ใช้สอย
ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงลอย
เปนหงส์ห้อยห่วงธงใช่หงส์ทอง
ถึงวัดพลับลับลี้เปนที่สงัด
เห็นแต่วัดสังข์กระจายไม่วายหมอง
เหมือนกระจายพรายพลัดกำจัดน้อง
มาถึงคลองบางลำเจียกสำเนียกนาม
ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส
ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม
ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม
คิดถึงยามปลูกรักมักเปนเตย
จนไม่มีที่รักเปนหลักแหล่ง
ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย
ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ
ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก
ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง
ต้องขัดข้องแขงกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม
ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์
ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
ฤๅหลวงชีมีบ้างเปนอย่างไร
คิดจะใคร่แวะหาปฤกษาชี
ก็มืดค่ำอำลาทิพาวาส
เลยลีลาสล่วงทางกลางวิถี
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี
มาถึงที่ก็จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เปนห่วง
แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเปนแต่ปะได้ประตา
ก็ลอบรักลักลาคิดอาไลย
จะแลเหลียวเปลี่ยวเนตรเปนเขตสวน
มะม่วงพรวนหมากมะพร้าวสาวสาวไสว
พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้
หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบลออง ฯ
๏ โอ้รื่นรื่นชื่นเชยเช่นเคยหอม
เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง
เปนเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกษฐ์โปรดปรานประทานนาม
โอรสราชอารามงามเจริญ
มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก
กุฏิตึกเก๋งกุฏิ์สุดสรรเสริญ
ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน
จนเรือเดินมาถึงทางบางขุนเทียน
โอ้เทียนเอ๋ยเคยแจ้งแสงสว่าง
มาหมองหมางมืดมิดตะขวิดตะเขวียน
เหมือนมืดในใจจนต้องวนเวียน
ไม่ส่องเทียนให้สว่างหนทางเลย ฯ
๏ บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิตร
พอป้องปิดเปนหลังคานิจาเอ๋ย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย
ได้พิงเขนยนอนอุ่นประทุนบัง ฯ
๏ ถึงคลองขวางบางระแนะแวะข้างขวา
ใครหนอมาแนะแหนกันแต่หลัง
ทุกวันนี้วิตกเพียงอกพัง
แนะให้มั่งแล้วก็เห็นจะเปนการ ฯ
๏ ถึงวัดไทรไทรใหญ่ใบชอุ่ม
เปนเซิงซุ้มสาขาพฤกษาศาล
ขอเดชะพระไทรซึ่งไชยชาญ
ช่วยอุ้มฉานไปเช่นพระอนิรุท
ได้ร่วมเตียงเคียงนอนแนบหมอนหนุน
พออุ่นอุ่นแล้วก็ดีเปนที่สุด
จะสังเวยหมูแนมแก้มมนุษย์
เทพบุตรจะได้ชื่นทุกคืนวัน ฯ
๏ ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ
เขาเลื่องฦๅบอนข้างบางยี่ขัน
อันบอนต้นบอนน้ำตาลย่อมหวานมัน
แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟัง ฯ
๏ ถึงวัดกกรกร้างอยู่ข้างซ้าย
เปนรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง
ถูกทลุปรุไปแต่ไม่พัง
แต่โบสถ์ยังทนปืนอยู่ยืนนาน
แม้นมั่งมีมิให้ร้างจะสร้างฉลอง
ให้เรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ด้วยที่นี่ที่เคยตั้งโขลนทวาร
ได้เบิกบานประตูป่าพนาไลย ฯ
๏ โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า
กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด
ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
ช่างเปนไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้
ใครแลดูเราก็นึกรำฦกถึง
จะปรับไหมได้ฤๅไม่อื้ออึง
เปนที่พึ่งพาสนาพอพาใจ
โอ้นึกนึกดึกเงียบยะเยียบอก
เห็นแต่กกกอปรงเปนพงไสว
ลดาวัลย์พันพุ่มชอุ่มใบ
เรไรไพเราะร้องซ้องสำเนียง
เสียงกรอดเกรียดเขียดกบเข้าขบเคี้ยว
เหมือนกรับเกรี้ยวกรอดกรีดวะหวีดเสียง
หริ่งหริ่งแหร้แม่หม้ายลองไนเรียง
แซ่สำเนียงหนาวในใจรำจวญ
เหมือนดนตรีปี่ป่าประสายาก
ทั้งสองฟากฟังให้อาไลยหวน
ดังขับขานหวานเสียงสำเนียงนวล
เมื่อโอดครวญคราวฟังให้วังเวง ฯ
๏ ถึงศีร์ษะกระบือเปนชื่อบ้าน
ระยะย่านยุงชุมรุมข่มเหง
ทั้งกุมภากล้าหาญเขาพานเกรง
ให้วังเวงวิญญาเอกากาย
ถึงศิษย์หามาตามเมื่อยามเปลี่ยว
เหมือนมาเดียวแดนไพรน่าใจหาย
ถึงศีร์ษะละหานเปนย่านร้าย
ข้างฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน
ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม
โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น
ไม่เห็นแจ้งแคลงทางเปนกลางคืน
ยิ่งหนาวชื้นช้ำใจมาในเรือ
ถึงย่านซื่อสมชื่อด้วยซื่อสุด
ใจมนุษย์เหมือนกระนี้แล้วดีเหลือ
เปนป่าปรงพงพุ่มดูครุมเครือ
เหมือนซุ้มเสือซ่อนร้ายไว้ภายใน
ถึงบ้านขอมลอมฟืนดูดื่นดาษ
มีอาวาสวัดวาที่อาไศรย
ออกชวากปากชลามหาไชย
อโณไทยแย้มเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ ฯ
๏ ข้างฝั่งซ้ายชายทเลเปนลมคลื่น
นภางค์พื้นเผือดแดงดังแสงเสน
แม่น้ำกว้างว้างเวิ้งเปนเชิงเลน
ลำภูเอนอ่อนทอดยอดระย้า
หยุดประทับยับยั้งอยู่ฝั่งซ้าย
แสนสบายบังลมร่มรุกขา
บรรดาเรือเหนือใต้ทั้งไปมา
คอยคงคาเกลื่อนกลาดไม่ขาดคราว
บ้างหุงต้มงมงายทั้งชายหญิง
บ้างแกงปิ้งปากเรียกกันเพรียกฉาว
เสียงแต่ตำน้ำพริกอยู่กริกกราว
เหมือนเสียงส้าวเกราะโกร่งที่โรงงาน
เห็นฝูงลิงวิ่งตามกันสอสอ
มาคอยขอโภชนากระยาหาร
คนทั้งหลายชายหญิงทิ้งให้ทาน
ต่างลนลานล้วงได้เอาไพล่พลิ้ว
เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย
กจ้อยร่อยกจิริดจิดจีดจิ๋ว
บ้างเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิว
ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลย
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร
เพราะแสนสุดเสนหานิจาเอ๋ย
ที่ลูกอ่อนป้อนนมนั่งชมเชย
กระไรเลยแลเห็นน่าเอนดู
แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ
จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู
ทั้งลิงเผือกเทือกเถามันเจ้าชู้
ใครแลดูมันนักมันยักคิ้ว
บ้างกระโดดโลดหาแต่อาหาร
ได้สมานยอดแสมพอแก้หิว
เขาโห่เกรียวประเดี๋ยวใจก็ไพล่พลิ้ว
กลับชี้นิ้วให้ดูอดสูตา
ได้ชมเล่นเห็นแต่นกวิหคกลุ้ม
เที่ยวดุ่มดุ่มเดินดินกินมัจฉา
กลางสมุทผุดโผล่ล้วนโลมา
ดูหน้าตาแต่ละตัวน่ากลัวเกรง
ล้วนหัวบาดวาดหางไปกลางคลื่น
ศีร์ษะลื่นเลี่ยนโล่งดูโจ่งเหม่ง
ดูมากมายหลายอย่างยิ่งวางเวง
จนน้ำขึ้นครื้นเครงเปนคราวเรือ
บ้างถอนหลักชักถ่อหัวร่อร่า
บ้างก็มาบ้างก็ไปทั้งใต้เหนือ
บ้างขับร้องซ้องสำเนียงจนเสียงเครือ
ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เปนประมงค์หลงละโมภด้วยโลภลาภ
ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สีน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเปนแปลง
ในลำคลองสองฟากล้วนจากปลูก
ทลายลูกดอกจากขึ้นฝากแฝง
ต้นจากถูกลูกชิดนั้นติดแพง
เขาช่างแปลงชื่อถูกเรียกลูกชิด ฯ
๏ ถึงบ้านบ่อกอจากมิอยากสิ้น
เหมือนจากถิ่นท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิตร
อันใบจากรากกอไม่ขอคิด
แต่ลูกชิดชอบใจจะใคร่ชม
ถึงคลองที่อีรำท่าแร้งเรียก
สุดสำเนียกที่จะถามความปฐม
เขาทำน้ำทำนาปลาอุดม
เปนนิคมเขตรบ้านพวกพรานปลา
ที่ปากคลองกองฟืนไว้ดื่นดาษ
ดูเกลื่อนกลาดเรียงรายทั้งซ้ายขวา
ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชลา
ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ ฯ
๏ ฤๅบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ
ช่างปั้นน้ำเปนตัวน่ากลัวเหลือ
ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ
ล้วนรกเรื้อรำเริงเปนเซิงซุ้ม
ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า
ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เปนคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม
ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่มเต็ม
ลำภูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม
มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม
บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน
โอ้เอนดูปูไม่มีซึ่งศีร์ษะ
ท้าวระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน
เปนเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ
เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า
อุส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ
เมียมันคาบคีบเนื้อเปนเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย
ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ
สมเพชสัตว์ทัศนาพฤกษาสล้าง
ล้วนโกงกางกุ่มแกมแซมแสม
สงัดเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อเหลียวแล
เสียงแอ้แจ้จักระจั่นหวั่นวิญญา ฯ
๏ ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง
ชวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา
ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา
แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่
เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด
ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน ฯ
๏ ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน
ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน
ต่างแขงข้อถ่อค้ำที่น้ำวน
คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน
เข้ายัดเยียดเสียดแซกบ้างแตกหัก
บ้างถ่อผลักอึดอัดขัดเขมน
บ้างทุ่มเถียงเสียงหญิงขึ้นเกนเกน
ล้วนโคลนเลนเปื้อนเปรอะเลอะทั้งตัว
ที่น้อยตัวผัวเมียลงลากฉุด
นางเมียหยุดผัวโกรธเมียโทษผัว
ด้วยยากเย็นเข็นฝืดทั้งมืดมัว
พอตึงตัวเต็มเบียดเข้าเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ
เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเรียงเคียงลำขยำขแยะ
มันเกาะแกะกันจริงจริงหญิงกับชาย ฯ
๏ จนตกทางบางสะใภ้ครรไลยล่อง
มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย
ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย
ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี
บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง
เปนดอกติ่งแตกประดับสลับสี
บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพ็ชรโนรี
เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเฌอ
มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ
เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ
เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก
ไว้เปนลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้
อุส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย
ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม
พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย ฯ
๏ ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน
น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย
บ้างย่างปลาค่าเคียงเรียงเรียงราย
ดูวุ่นวายวิ่งไขว่กันใหญ่น้อย
ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก
กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย
ลูกค้ารับนับกันเปนพันร้อย
ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกะบุง
นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย
กำไรรวยรวมประจบจนครบถุง
บ้างเหน็บท้องป่องปุ่ยตุ่ยตุ่ยตุง
ต่างบำรุงรูปร่างสำอางตา ฯ
๏ พอออกช่องล่องลำแม่น้ำกว้าง
บ้านบางช้างแฉกแชไปแควขวา
ข้างซ้ายตรงลงทเลพอเวลา
พระสุริยามืดมัวทั่วแผ่นดิน
ดูซ้ายขวาป่าปะโลงหวายโป่งเป้ง
ให้วังเวงหวั่นไหวฤทัยถวิล
เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน
ไปหากินแล้วก็พากันมารัง
บ้างเคียงคู่ชูคอเสียงซ้อแซ้
โอ้แลแลแล้วก็ให้อาไลยหลัง
แม้นร่วมเรือนเหมือนนกที่กกรัง
จะได้นั่งแนบข้างเหมือนอย่างนก
นี่กระไรไม่มีเท่ากี่ก้อย
โอ้บุญน้อยนึกน่าน้ำตาตก
ต้องลมว่าวหนาวหนังเหมือนคั้งคก
จะได้กกกอดใครก็ไม่มี
จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง
ทเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธยาเปนราตรี
แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา
สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม
ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา
แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม
แลแอร่มเรืองรุ่งชั้นกุ้งฝอย
เปนหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย
ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย
ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก
หวนรำฦกแล้วเสียดายไม่วายโหย
แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย
ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น
จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง
เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น
ทเลโล่งโว่งว่างน้ำค้างกระเซ็น
ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม
จะเปรมปรีดิ์ดีใจมิใช่น้อย
น้องจะพลอยเพลินอารมณ์ด้วยชมโฉม
โอ้อายจิตรคิดรักลักประโลม
ทรวงจะโทรมตรงช่องปากคลองโคน
ด้วยมืดค่ำสำคัญที่นั่นแน่
เรียกแสมตายห่าพฤกษาโกร๋น
ลำพูรายชายเลนดูเอนโอน
วายุโยนยอดระย้าริมสาคร
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง
ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัศร
เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร
ยังอาวรณ์แหวนประดับด้วยลับตา ฯ
๏ ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด
เห็นเมฆกลัดกลางทเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา
ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน
ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ
ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง
ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น
โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง
น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง
มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ
ยิ่งแจวทวนป่วนปั่นยิ่งหันเห
ลมทเลเหลือจะต้านทานไม่ไหว
เสียงสวบเสยเกยตรงเข้าพงไพร
ติดอยู่ใต้ต้นโกงกางแต่กลางคืน
พอจุดเทียนเชี่ยนขันน้ำมันคว่ำ
ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน
เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น
เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่
ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง
ลมรินรินกลิ่นกลบอบลออง
ได้ปกครองคุมเครือเมื่อเรือค้าง
เขาหลับเรื่อยเหนื่อยอ่อนนอนสนิท
พี่นี้คิดใคร่ครวญจนจวนสว่าง
เสียงนกร้องซ้องแซ่ครอแครคราง
ทั้งลิงค่างครอกโครกละโอกโอย
เสียงชนีที่เหล่าเขายี่สาน
วิเวกหวานหวัวหวัวผัวผัวโหวย
หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย
ชนีโหยหาคู่ไม่รู้วาย
เหมือนวิตกอกน้องที่ตรองตรึก
เหลือลำฦกอาไลยมิใคร่หาย
จะเรียกบ้างอย่างชนีก็มีอาย
ต้องเรียกสายสวาทในใจรำจวญ
จนรุ่งแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น
ต้องค้างตื้นติดป่าพากันสรวล
จะเข็นค้ำล้ำเหลือเปนเรือญวน
พอเห็นจวนน้ำขึ้นค่อยชื่นใจ
ต้นแสมแลดูล้วนปูแสม
ขึ้นไต่แต่ต้นกิ่งวิ่งไสว
เขาสั่นต้นหล่นผอยผลอยผลอยไป
ลงมุดใต้ตมเลนเห็นแต่ตา
โอ้เอนดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ
ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุบแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา
กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุบแจงเอ๋ยเผยฝาหาเข้าเปียก
แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงาออกมากิน
ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น
มันอยากเปนลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย
โอ้นึกอายด้วยจุบแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา
แต่หากว่าพูดยากเปนปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย
จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก
พอลอยลำน้ำมากออกจากป่า
ได้แอบอาไศรยแสมอยู่แต่ดึก
ในดงฟืนชื่นชุ่มทุกพุ่มพฤกษ์
ผู้ใดนึกฟันฟาดให้คลาดแคล้ว
แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง
ไปตามร่องน้ำหลักปักเปนแถว
ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้ว
ค่อยคล่องแคล่วเข้าชะวากปากตะบูน
น้ำยังน้อยค่อยค้ำพอลำเลื่อน
ไม่มีเพื่อนเรือปลาดช่างขาดสูญ
ในคลองลัดทัศนายิ่งอาดูร
เปนดินพูนพานจะตื้นแต่พื้นโคลน
ป่าปะโลงโกงกางแกมแสม
แต่ล้วนแต่ตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น
ตลอดหลามตามตลิ่งล้วนลิงโลน
อ้ายทโมนนำหน้าเที่ยวคว้าปู
ครั้นล้วงขุดสุดอย่างเอาหางยอน
มันหนีบนอนร้องเกลือกเสือกหัวหู
เพื่อนเข้าคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู
ลากเอาปูออกมาได้ไอ้กะโต
ทั้งหอยแครงแมลงดามันหาคล่อง
ฉีกกระดองกินไข่มิใช่โง่
ได้อิ่มอ้วนท้วนหมดไม่อดโซ
อกเอ๋ยโอ้เอนดูหมู่แมลงดา
ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง
ตามหล้าแหล่งเลนเคมเลมภักษา
เขาจับเปนเหนสมเพชเวทนา
ทิ้งแมลงดาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด
เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ
ก็บรรไลยแลกลาดดาษดา
แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว
ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้นักหนา
โอ้อาลัยใจอย่างนางแมลงดา
แต่ดูหน้าในมนุษย์เห็นสุดแล
จนออกช่องคลองบางตะบูนใหญ่
ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม
นกกระลางยางกรอกรอกกะแต
เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดาร
ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ
มาทรงเบ็ดกะโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทเลเอาเพดาน
แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา
แต่เดี๋ยวนี้ที่วังก็รั้งร้าง
เปนรอยทางทุบปราบราบรุกขา
ยังแลเลี่ยนเตียนดีที่พลับพลา
นึกระอาอนิจจังไม่ยั่งยืน
เดิมเปนป่ามาเปนวังตั้งประทับ
แล้วก็กลับไปเปนป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน
นึกสอื้นอายใจมาในเรือ
ถึงบางหอหอใครที่ไหนหนอ
มาปลูกหอเสนหาในป่าเสือ
อันย่านนี้ที่บนบกก็รกเรื้อ
ทั้งทางเรือจรเข้ก็เฉโก
ถึงเจ้าสาวชาวสวรรค์ฉันไม่อยู่
จะโศกสู้เอกาอนาโถ
ด้วยพรั่นตัวกลัวเสือก็เหลือโซ
เห็นแต่โพทเลจรเข้ลอย
ทั้งเหลืองดำคร่ำคร่าล้วนกล้าแกล้ว
จนเรือแจวจวนใกล้มิใคร่ถอย
ดูน่ากลัวตัวใหญ่มิใช่น้อย
ต่างคนคอยภาวนาอุส่าห์สำรวม
เห็นนกบินกินปลาล้วนน่ารัก
นกปักหลักลงน้ำเสียงต้ำป๋วม
นกกระเต็นเต้นตามนกกามกวม
กับเหี้ยต้วมเตี้ยมต่ายตามชายเลน ฯ
๏ ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิพิศถาน
เขานับถือฦๅอยู่แต่บุราณ
ใครบลบานพระรับช่วยดับร้อน
ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส
ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร
พฤกษาออกดอกช่ออรชร
หอมขจรจำปาสารภี
ต้นโพไทรไม้งอกตามซอกหิน
อินทนิลนางแย้มสอดแซมศรี
เหล่าลั่นทมร่มรอบขอบคิรี
สุมาลีหล่นกลาดดาษดิน
ได้ชมเพลินเดินมาถึงน่าโบสถ์
สมาโทษถือเทียนเวียนทักษิณ
เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน
กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ
ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ
ถวายธูปเทียนอุทิศพิศถาน
ขอเดชะพระสัมฤทธิพิสดาร
ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง
ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง
กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง
แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง
จะแต่งตั้งบายศรีมีลคร
ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย
เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร
สาธุสะพระสัมฤทธิประสิทธิพร
ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชก
แล้ววันทาลาเลียบลงเหลี่ยมเขา
พอบังเงาแดดร่มทั้งลมตก
ออกนาวามาทางบ้านบางครก
มะพร้าวดกดูสล้างสองข้างคลอง
มีส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน
ตลอดล้วนเรียงรายเรียกขายของ
เขาเลียนล้อต่อถามตามทำนอง
ไม่ยิ้มย่องนิดหน่อยอร่อยใจ
จนเรือออกนอกชวากปากบางครก
ต้องเลี้ยววกไปตามลำแม่น้ำไหล
เปนถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร
เขาทำไร่ถั่วผักปลูกฟักแฟง
แต่ฟักทองร้องเรียกว่าน้ำเต้า
ฟักเขียวเล่าเรียกว่าขี้พร้าแถลง
ล้วนเลี้ยงวัวทั่วถิ่นได้กินแรง
แต่เสียงแปร่งเปรี้ยวหูไม่รู้กลัว
เจ้าสำนวนชวนตีแต่ฝีปาก
พูดด้วยยากชาวบางกอกจนกลอกหัว
แสนแสงอนค้อนว่าค่อนด่าวัว
เขาตัดหัวแขนห้อยร้อยประการ
ล้วนแช่งซ้ำล้ำเหลืออ้ายเสือขบ
ลำเลิกทบทวนชาติเสียงฉาดฉาน
อ้ายวัวเถ้าเขาล้มคือสมภาร
มันขี้คร้านทดเข้าเขาจึ่งแทง
ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงไสย
ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเปนความแคลง
จะพายแรงฤๅว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก
สำนวนนอกน้ำเพ็ชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวเข้าเบา
บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดม ฯ
๏ ถึงบางกุ่มหนุ่มแก่สาวแซ่ซ้อง
มีบ้านสองฟากข้ามนามประถม
ข้างซ้ายมือชื่อบ้านสท้านยายนม
น่าใคร่ชมชื่นจิตรคิดรำพึง
อย่างไรฤๅชื่อเช่นนั้นขันหนักหนอ
ฤๅแกล้งล้อจะให้นึกลำฦกถึง
ถึงบ้านโพโอ้นึกไปฦกซึ้ง
เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเปนแพ่งตำแหน่งพี่
สถิตย์ที่ทับนาพออาไศรย
เปนคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ
จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง
เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเปนหอ
จนผู้เถ้าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ
เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน ฯ
๏ โอ้สงสารท่านรองเคยครองรัก
เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร
เคยร่วมใจไหนจะร่วมน่วมที่นอน
ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง
ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย
แสนเสียดายดูหน้านึกอาไลย
ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค
เมื่อยามยากจนมาได้อาไศรย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไลย
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่
จะขอสูให้เปนเนื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ
ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวตน
ทั้งนารีที่ได้รักลักลำฦก
เปนแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน
ขอสมาอย่าได้มีราคีปน
เปนต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป
แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิตร
แนบสนิทนับเชื้อว่าเนื้อไข
จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้องอายใจจำลากลัวช้าการ ฯ
๏ ถึงอารามนามที่กุฎีทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ริมอารามข้ามน้ำทำตะพาน
นมัสการเดินมาในวารี
ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย
ตวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี
ประทับที่หน้าท่าพลับพลาไชย
ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน
นรินทรท้าวพระยามาอาไศรย
ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบไภย
ให้มีไชยเหมือนเช่นนามอารามเมือง
ดูเรือแพแซ่ซ้องทั้งสองฟาก
บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง
ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไป
ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง
มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาไศรย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรไลย
ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง
เฝ้าค่อนทรวงเสียใจอาไลยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว
พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์
ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม
เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้
ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง
เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ
โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก
ไม่พบพักตร์พลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสกุลแบ่งบุญไป
ให้ท่านได้สูสวรรค์ชั้นวิมาน
แล้วอำลาอาไลยใจจะขาด
จำนิราสแรมร้างห่างสถาน
ลงเรือจอดทอดท่าหน้าตะพาน
แสนสงสารศิษย์หาออกมาอึง
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก
ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ได้เคยเห็นเปนฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเยิน
ทั้งที่ปรางค์นางใหญ่ได้ให้ผ้า
เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ
ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์ ฯ
๏ แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่
ยังรักใคร่ครองจิตรสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม
เขารับสมปราถนาสามิภักดิ์
จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว
ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก
เมื่อเปนบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก
เขารับรักรู้คุณกรุณา
ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น
เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา
พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ
เปนคราวเคราะห์เพราะเปนบ้านิจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเปนกอเตย
ไม่เห็นเลยว่าจะเปนไปเช่นนั้น
โอ้คิดถึงพึ่งบุญท่านขุนแพ่ง
ไปหน้าแล้งรับแขกแรกวัสสันต์
ตำเข้าเม่าเคล้าน้ำตาลทั้งหวานมัน
ได้ช่วยกันคั้นขยำน้ำกะทิ
เขาไปเที่ยวเกี่ยวเข้าอยู่เฝ้าห้อง
เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโหสิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ
ยังปริปริปริ่มพร้อยเปนรอยราย
ครั้นไปเยือนเรือนหลานบ้านวัดเกาะ
ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย
ต้องใช้สีทับทิมจึ่งยิ้มพราย
วิลาสลายลอยทองสนองคุณ
แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่
ที่นับในน้องเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ
เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเปนเจ้าสาว
ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ
เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนบุญคุณมาประสายาก
ต้องกระดากดังหนึ่งศรกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์
ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก
จะมาผูกมือบ้างอย่าหมางหมอง
แล้วมาเรือเหลือลำฦกเฝ้าตรึกตรอง
เที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือน ฯ
๏ แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง
เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตรไม่บิดเบือน
จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง
เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิไสย
พอวันพระศรัทธาพากันไป
เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
สาธุสะพระนอนสิงขรเขา
พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง
ยี่สิบวาฝากั้นเปนบัลลังก์
ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย
พระเนตรหลับทับพระบาทไสยาสน์เหยียด
อ่อนละเมียดอาสนะพระเขนย
พระเจ้างามยามประธมน่าชมเชย
ช่วยรำเพยพัชนีนั่งวีลม
แล้วนึกว่าหน้าหนาวมาคราวนี้
ถึงแท่นที่พระสถิตย์สนิทสนม
ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม
ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง
ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัคสมาน
มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล
ได้พบพานภายน่าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม
ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร
คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม
หนึ่งผ้าข้าได้ห่มประธมพระ
ขอทิฏฐะจงเห็นเปนปัจฉิม
ให้มีใหม่ได้ดีสีทับทิม
ทั้งขลิบริมหอมฟุ้งปรุงสุคนธ์
ทั้งศิษย์หาผ้ามีต่างคลี่ห่ม
คลุมประธมพิศถานการกุศล
ขอเนื้อหอมพร้อมกันเหมือนจันทน์ปน
ได้เยาะคนขอจูบรักรูปเรา
แล้วลดเลี้ยวเที่ยวไปบันไดอิฐ
ต่างเพลินพิศเพิงผารุกขาเขา
จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา
โมกข์แมงเม่าไม้งอกซอกศิลา
เหล่าลั่นทมยมโดยร่วงโรยกลิ่น
ระรวยรินรื่นรื่นชื่นนาสา
โบสถ์วิหารลานวัดทัศนา
ล้วนศิลาแลสอาดด้วยกวาดเตียน
มีกุฎีที่พระสงฆ์ทรงสถิตย์
พฤกษาชิดชั้นไผ่เหมือนไม้เขียน
น่าสนุกรุกขชาติดาษเดียร
เที่ยวเดินเวียนวงรอบขอบคีรี
พอแดดร่มลมชายสบายจิตร
เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตรแคว้นแดนพริบพรี
เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์
มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะโองยาวก้าวตีนปีนทะยาน
กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง
แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ
ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง
ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง
ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ
รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาไลย
ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง
เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกสราบุบผาพวง
ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจง ฯ
๏ โอ้อกน้องท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิตร
ไม่มีมิตรที่จะชมสมประสงค์
กับหนูน้อยพลอยเพลินเที่ยวเดินวง
ขึ้นถึงองค์พระเจดีย์บนคีริน
ต่างเหนื่อยบอบนอบน้อมอยู่พร้อมพรั่ง
บ้างหยุดนั่งเอนนอนกับก้อนหิน
เห็นประเทศเขตรแคว้นในแดนดิน
มีบ้านถิ่นทิวไม้ไรไรราย
คีรีรอบขอบเขื่อนดูเหมือนเมฆ
แลวิเวกหวาดหวั่นยิ่งขวัญหาย
เห็นทเลเคหาหน้าหาดทราย
ดูเรียงรายเรี่ยเรี่ยเตี้ยติดดิน
ได้ชมเพลินเมินมุ่งดูทุ่งกว้าง
มีแถวทางเถื่อนท่าชลาสินธุ์
ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน
บ้างโบยบินว้าว่อนบ้างร่อนเรียง
ที่ไร้คู่อยู่เดียวก็เที่ยวร้อง
ประสานซ้องสกุณาภาษาเสียง
กินปลีเปล้าเขาไฟจับไม้เรียง
กรอดเคียงคู่กรอดแล้วพลอดเพลิน
รอกกระแตแลโลดกระโดดแล่น
กระต่ายเต้นตามลำเนาภูเขาเขิน
ที่ทุ่งกว้างกลางหนเห็นคนเดิน
หาบน้ำตาลคานเยิ่นหยอกเอินกัน
ทั้งล้อเกวียนเดียรดาษดูกลาดเกลื่อน
ทุกถิ่นเถื่อนทุ่งแถวแพ้วจังหัน
โสมนัสทัศนาจนสายัณห์
แล้วพากันเข้าในถ้ำน่าสำราญ
มีพระไสยาสน์พระบาทเหยียด
คนมันเบียดเบียนขุดสุดสงสาร
พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน
โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย
ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ
โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย
ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย
ต่างแหงนเงยชมฉง้อนก้อนศิลา
เปนลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ
แลสลับเลื่อมคล้ายลายเลขา
กลางคิรินหินห้อยย้อยระย้า
ดาษดาดูดูดังพู่พวง
ฉะเช่นนี้มีฤทธิ์จะคิดช้อน
เอาสิงขรเข้าไปตั้งริมวังหลวง
เห็นหนุ่มสาวชาวบุรินสิ้นทั้งปวง
จะแหนหวงห้องหับถึงจับกุม
เขาตั้งอ่างกลางถ้ำมีน้ำย้อย
ดูผอยผอยเผาะลงที่ตรงหลุม
เปนไคลคล้ำน้ำแท่งกลับแขงคุม
เปนหินหุ้มอ่างอิฐสนิทดี
แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม
บ้างงอกเงื้อมเงาระยับสลับสี
เปนห้องน้อยรอยหนังสือลายมือมี
คิดถึงปีเมื่อเปนบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเปนหมอน
เห็นห้องหินศิลลาน่าอาวรณ
เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี
พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคนึงถึงตัวกลัวต้องตี
ต่อช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินมาถิ่นเถื่อน
ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา
แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ
เหมือนจะแนะนำจิตรให้คิดเห็น
เหลือรำฦกนึกน่าน้ำตากระเด็น
โอ้จำเปนเปนกรรมจึงจำไกล
มาเห็นถ้ำน้ำตาลงพรากพราก
แต่เพื่อนยากยังไม่เห็นว่าเปนไฉน
จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ
ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง
อันถ้ำนี้ที่มนุษย์หยุดกินน้ำ
มิใช่ถ้ำของอิเหนาถ้ำเขาหลวง
เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง
แต่เขาหวงเขาห้ามต้องขามใจ
จึงเขียนกลอนนอนค้างไว้ต่างพักตร์
หวังประจักษ์มิ่งมิตรพิสมัย
จะภิญโญโมทนาให้อาไภย
อย่าน้อยใจเลยถ้ำขออำลา
แล้วลัดออกนอกลำเนาภูเขาหลวง
ดูเด่นดวงเดือนสว่างกลางเวหา
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างที่กลางนา
เสียงปักษาเพรียกพลอดบนยอดตาล
มาตามทางหว่างโตนดลิงโลดจิตร
แต่พวกศิษย์แสนสุขสนุกสนาน
เห็นกระต่ายไล่โลดโดดทยาน
เสียงลูกตาลกรากตึงตลึงแล
ต่างชิมชมดมเดินเจริญรื่น
เที่ยวชมชื่นเขตแขวงด้วยแสงแข
ต่างลดเลี้ยวเที่ยวเด็ดดอกแคแตร
ได้เห็นแต่นกน้อยต้อยตีวิด
สักสองยามตามทักล้วนปักษา
เสียงแจ้วจ้าจ้อยเจี๋ยวเตี๋ยวเตี๋ยวติด
โอ้ฟังฟังหวังสวาทไม่ขาดคิด
ช่างไม่ผิดเสียงสาวชาวพริบพรี ฯ
๏ แล้วเลี้ยวลงตรงหน้าวัดพระธาตุ
พอเดือนคลาดคล้อยจำรัสรัศมี
ดูพระปรางค์กลางอารามก็งามดี
แต่ไม่มีเงาบ้างเปนอย่างไร
สาธุสะพระมหาตถาคต
ยังปรากฏมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส
พอไก่ขันวันทาลาครรไลย
ลงเรือใหญ่ล่องมาถึงธานี
จึงจดหมายรายความตามสังเกต
ถิ่นประเทศแถวทางกลางวิถี
ให้อ่านเล่นเปนเรื่องเมืองพริบพรี
ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ
ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม
พระประธมที่ลำเนาภูเขาขุน
กุศลนั้นบรรดาที่การุญ
รับส่วนบุญเอาเถิดท่านที่อ่านเอย ฯ

เนื้อเพลง